แนะการสร้างวัด-ภาวนา
วันที่ 11 พฤษภาคม 2542
สถานที่ : วัดหนองบัว จ.ประจวบคีรีขันธ์
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดหนองบัว จ.ประจวบคีรีขันธ์

เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒

แนะการสร้างวัด-ภาวนา

ที่นี่เป็นวัดป่าให้เป็นธรรมชาตินะ เราอย่าไปดัดแปลงมันมากเกินไป ให้ปล่อยเป็นธรรมชาติ ๆ ไปดัดแปลงมากเกินไป เช่นโล่งเสียหมดอย่างนี้ก็ไม่เหมาะ อย่าดัดแปลงไปเหมือนโลกเขา ที่ไหนจะเป็นป่าบ้างก็ให้เป็น เป็นที่ทำเลภาวนา ทางจงกรมสำคัญมากนะ ให้ทำภาวนาแหละดี ตรงไหนไม่ควรดัดแปลงมากก็อย่าดัดแปลงมาก ให้ปล่อยไว้เป็นธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างก็อย่าให้หรูหรามากไป เหล่านี้เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องกังวลวุ่นวาย เรื่องของธรรมชำระออก เรื่องกังวลเหล่านี้ชำระออก ๆ ดังที่เทศน์เมื่อวานนี้ คือทำความสะอาดจิตใจ อันนั้นมันสะอาดภายนอกมันสกปรกภายใน สร้างอารมณ์สร้างความวุ่นวายขึ้นมา ไม่เหมาะ

พวกตั้งใจปฏิบัติธรรมผมก็แนะ เพราะทางด้านกรรมฐานนี้ไม่ค่อยจะมีพระเราเข้าใจนัก โลกเขาเป็นยังไงก็หมุนไปตามโลกเสีย วัดเลยหมุนไปตามโลก ไม่เหมาะ เพราะฉะนั้นวัดก็ควรให้เป็นวัด เช่นสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อย่างนี้อย่าให้หรูหรามากไป ไม่เหมาะ ส่วนกำแพงให้เริ่มได้เลย กำแพงที่ยังไม่รอบเราจะทำให้รอบเพื่อกันถนน กำแพงมี ทางตาก็กันได้ หูก็กันได้บ้าง ถ้ามีกำแพง ส่วนสมบัติภายในวัดนี้ก็กันได้ ถ้าไม่มีรั้วไม่มีกำแพงมันรุ่มร่าม ๆ ไม่ดี

ให้พยายามอบรมทางด้านจิตใจพวกสมาธิภาวนาให้หนักมือนะ อันนี้งานสำคัญมากงานสะอาด งานสะอาดภายในนี้ไม่มีใครได้เห็นแหละ ผลแห่งศาสนาคือความเลิศภายในใจ ให้พากันจำเอา ผลของศาสนาคือความสว่างกระจ่างแจ้งภายในใจ สะอาดภายในใจ นี่เรียกว่าผลของศาสนา คือความสกปรกที่ก่อเรื่องราวให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายให้ได้รับความทุกข์นั้นก่อที่ใจนี่เอง ใจนี้ตัวสร้างอารมณ์ การสร้างอารมณ์คือสร้างความสกปรก สร้างความทุกข์ขึ้นภายในใจ จึงต้องได้มีการชำระกัน

เช่น วัดป่าวัดกรรมฐานท่านชำระภายใน ให้จิตใจสงบเย็น จากเย็นแล้วก็อย่างที่เทศน์เมื่อวานนี้ สว่างกระจ่างแจ้ง อย่างนี้ชาวพุทธเราไม่ค่อยเห็นนะ แม้แต่ชาวพระก็ยังไม่ค่อยเห็นอย่าว่าแต่ชาวพุทธเลย ชาวพระก็ไม่เห็น มองข้ามกันไป ทั้งฆราวาสทั้งพระมองข้ามจุดสำคัญ

เดี๋ยวนี้มีแต่ความสกปรกภายในใจด้วยกัน เพราะธรรมเข้าแทรกไม่ได้ กิเลสมันจะตีออกไปข้างนอก คือกิเลสมันไม่ให้เข้าไปแตะภายใน นี้คือกองไฟของกิเลส อยู่ภายในใจของพวกเรา มันสร้างอารมณ์ขึ้นมา เหมือนกับก่อเปลวไฟขึ้นเผา ยุ่งนั้นยุ่งนี้ก็ก่อความทุกข์ขึ้นมาที่ใจ ใจสกปรกเสียอย่างเดียวมันก็กว้านสิ่งสกปรกเข้ามา เป็นฟืนเป็นไฟเข้ามาเผาใจ ทีนี้เวลาเราอบรมใจ เราพยายามสงบใจแล้วก็จะเป็นอันสงบอารมณ์ภายนอกสิ่งก่อกวนไปพร้อม ๆ กัน

พอสงบใจใจเย็นเท่านั้นเราจะเห็นโทษความวุ่นวายทั้งหลาย ที่จิตออกไปแสดงซึ่งเราไม่รู้แต่ก่อน พอจิตสงบนี้จะเห็นผลเห็นคุณค่าขึ้นที่ความสงบ แล้วก็เห็นโทษแห่งความวุ่นวายทั้งหลายไปในขณะเดียวกัน นี่เรียกว่าศาสนาซักฟอก คือซักฟอกสิ่งสกปรก สิ่งสกปรกอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ ท่านจึงสอนให้มาซักฟอกที่ใจ ให้อารมณ์น้อยลง อารมณ์ของใจมีแต่อารมณ์ของกิเลสเป็นฟืนเป็นไฟ คิดยุ่งตลอด ไม่มีสิ้นสุดยุติคืออารมณ์ของใจที่กิเลสผลักดันให้คิดให้ปรุง ทีนี้เวลาอบรมใจ อารมณ์เหล่านี้จะค่อยจางไป ทีแรกบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์ของธรรม เช่น พุทโธ ๆ เราภาวนา ให้ทำความสงบชาวพุทธเรา

เวลานี้ชาวพุทธเราขาดที่พึ่งภายในใจมากจริง ๆ จนน่าวิตก ไม่ใช่ธรรมดานะ เพราะฉะนั้นการไปเทศนาว่าการที่ไหน เราจึงต้องเน้นหนักทางด้านจิตตภาวนาให้สร้างที่พึ่งของใจขึ้น แล้วจะเป็นคู่แข่งกับสิ่งภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสลุกลามเผาไหม้จิต ตัวกิเลสนี้แหละมันผลักดันให้ออกไปคิดยุ่งเหยิงวุ่นวาย แล้วมันก็กว้านเอาอารมณ์เรื่องนั้น อารมณ์เรื่องนี้เข้ามามาเผาใจ ใจก็เลยเป็นฟืน ทีนี้เวลาเราอบรมภาวนา คำว่าพุทโธนี้เป็นความคิดเหมือนกัน แต่เป็นความคิดเพื่อระงับความคิดที่เป็นกิเลส ความคิดที่ว่าพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ เป็นคำบริกรรมนี้ ความคิดเป็นมรรคเป็นธรรม ความคิดอันนี้แลจะระงับความคิดภายนอกได้ ท่านจึงสอนให้ภาวนาพุทโธ ๆ ให้จิตอยู่กับพุทโธ

มันจะมีธรรมชาติอันหนึ่งอยู่ภายในผลักดันออกไป อยากคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่หยุดไม่ถอย นี้คือเรื่องของกิเลส เราบังคับไม่ให้มันคิด ให้มันคิดอยู่กับพุทโธ ๆ ทีแรกเอากันอย่างหนัก ไม่ใช่เล่นนะ ทุกข์มาก บังคับจิตให้อยู่กับอารมณ์อันเดียวคือพุทโธ เพราะมันอยากไปอยู่กับอารมณ์ที่เป็นฟืนเป็นไฟที่เคยเป็นมา ทีนี้เวลาเราอบรมจิตของเราแล้ว พออารมณ์แห่งธรรมนี้มีกำลังขึ้น ๆ แล้วจิตจะค่อยสงบเข้ามา ๆ เรื่องอารมณ์ภายนอกที่ก่อกวนสงบไปตาม ๆ กัน ทีนี้ก็เย็นขึ้น เริ่มเห็นคุณค่าของใจ เริ่มสัมผัสธรรมคือความสงบเย็นใจ

นี่เรียกว่าศาสนา คือเป็นน้ำที่สะอาดชะล้างสิ่งที่สกปรก ได้แก่อารมณ์ทั้งหลายที่มันคิดยุ่งอยู่ภายในใจนี้ เป็นอารมณ์สกปรก ก่อกวน สั่งสมทุกข์ขึ้นมา เมื่อเราภาวนาอบรมจิตของเราให้สงบแล้ว ความคิดปรุงทั้งหลายนั้นจะสงบตัวเข้ามา ๆ เย็นสบาย นี่เรียกว่าหลักของใจ เรือนของใจ ที่พึ่งของใจ ให้เอาจุดนี้นะ อย่าพากันคิดเสียจนลืมเนื้อลืมตัว

เวลานี้ชาวพุทธชาวพระเราคิดแบบนั้นกัน แล้วพระก็วิ่งตามโลกเขาเวลานี้ โลกเขาเป็นยังไงพระก็วิ่งตาม วัดก็วิ่งตามโลกเขา เลยกลายเป็นว่าศาสนาวิ่งตามกิเลสไป กิเลสลากเอาลากไปเรื่อย ๆ เพราะกำลังกิเลสมากกว่า เพราะฉะนั้นเราถึงต้องดัด ฝึกจิตให้มีภาวนา เราจะเห็นโทษแห่งความวุ่นวายทั้งหลายเข้ามาเป็นลำดับ ๆ สุดท้ายสร้างความสุขสร้างที่ใจนะ ไม่ได้สร้างที่วัตถุเงินทองข้าวของถิ่นฐานบ้านเรือนบริษัทบริวาร ยศถาบรรดาศักดิ์อะไรนะ สร้างขึ้นที่จิตนี้ต่างหาก จิตได้หลักแล้วค่อยปล่อยสิ่งเหล่านั้นมา ได้หลัก ๆ พากันสร้างพระเรา ตั้งใจปฏิบัติ

วัดเราที่ไหนไม่จำเป็นให้เตียนโล่งหมดก็ได้ เป็นป่าอยู่บ้างก็ให้เป็นป่าธรรมชาติ ถ้ามันโล่งหมดนี้ก็เป็นภาระมาก ต้องปัดต้องกวาดยุ่งตลอดเวลา เมื่อเป็นป่าเป็นอะไรอยู่เราก็ให้โล่งในที่ที่ควรโล่ง ถ้าเป็นป่าก็ให้เป็นป่าไป นั่นละเหมาะ กุฏินั้นเหมาะแล้ว หลังเล็ก ๆ กระต๊อบ ๆ เหมาะกับผู้เห็นภัยของกิเลส เหมาะกับผู้เห็นคุณของธรรม กุฏิกระต๊อบ ๆ เหมาะ ไอ้หรูหราฟู่ฟ่ากี่ชั้นกี่ห้องกี่หับโดยไม่จำเป็นนั้นเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ สร้างขึ้นด้วยความจำเป็นมี นี่มันไม่จำเป็นนะ มันตื่นกันเฉย ๆ วัดเรานี้เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นส้วมเป็นถานไปแล้วนะให้พากันสำนึก

พระเราไม่คิดไม่มีใครคิด เพราะพระเป็นลูกศิษย์ตถาคต นักคิดอ่านไตร่ตรองอยู่กับพระหมด พินิจพิจารณา ความอดความทนเก็บความรู้สึกคือพระ เป็นนักพินิจพิจารณา ทุกอย่างต้องพิจารณา อย่าวิ่งไปตามโลกอย่างเดียว เวลานี้ศาสนากำลังวิ่งไปตามโลก กระแสของโลกนี้รุนแรงมาก เกินกว่าที่เราจะคิดติดตามรู้โทษของมัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาสติธรรม ปัญญาธรรม โดยเอาตำรามากางแล้วพิจารณา อ่านตำราเข้าใจแล้วให้ปฏิบัติตามตำรา ตำรานี้คือแนวทางอันราบรื่นดีงามของธรรม ให้ดำเนินตามนั้น

กุฏิที่ทำนี้เหมาะแล้วแหละ หลังเล็ก ๆ เหมาะ ไอ้ที่หลาย ๆ ชั้นมันเป็นความจำเป็นก็เป็นอีกแง่หนึ่ง นี้ทำแบบโก้ ๆ เก๋ ๆ แบบแข่งกัน ศาสนาก็กลายเป็นโลกแข่งกันไป แข่งกันมีแต่เรื่องกิเลสแข่งกันเหยียบหัวพระไปนั้นแหละ กิเลสเอาหัวพระเป็นสนามแข่ง มันเหยียบแล้วมันเอาหัวพระเป็นส้วมเป็นถานขี้รดหัวพระลงไป เราไม่รู้นะ เอาธรรมจับเห็นหมด นี่ละอำนาจที่พระพุทธเจ้าสอนจิตตภาวนา คือจิตสงบจิตเย็นเข้ามานี้ จะเริ่มมองเห็นโทษเห็นภัยเห็นคุณไปพร้อม ๆ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่ดั้งเดิมมันก็ไม่เห็น แต่พอจิตเรามีความสงบสว่างไสวไม่หิวโหยดีดดิ้นแล้ว สงบตัวแล้วมันจะเห็นเป็นลำดับ สว่างออกไปกระจ่างออกไป

ที่นี่ถึงจะใกล้ถนนก็ตาม เราทำกำแพงเป็นเอกเทศสำหรับภาวนาของพระเรา สมบัติของพระคือศีล ศีลสมบัติ นี่ละสมบัติของพระเรา ศีลสมบัติ สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติ วิมุตติสมบัติ นี้สุดยอดแห่งสมบัติของพระ ศีลก็ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อย่าข้ามอย่าเกินพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว นั้นคือทางราบรื่น การฝ่าฝืนพระวินัยเป็นการก้าวออกเหยียบขวากเหยียบหนาม ไม่ใช่ทาง นี่เรียกว่าศีลสมบัติ เรามีศีลบริบูรณ์แล้วเย็นสบาย อบอุ่นภายในตัว ทีนี้เวลาเจริญภาวนา จิตก็ไม่ไประแคะระคายกับศีลของตน ว่าไม่บริสุทธิ์หรือศีลด่างพร้อยอะไรต่ออะไร จิตไม่ไปคิด อารมณ์ก็เย็น ทีนี้เวลาทำภาวนาจิตสงบได้ง่าย เป็นสมาธิสมบัติขึ้นมา พอจิตเป็นสมาธิสมบัติ คือความสงบเย็นใจแน่นหนามั่นคงภายในใจแล้ว ปัญญาพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจนี้ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา

สมถะเบื้องต้นเราก็เอานี้บริกรรมเสียก่อนก็ได้ วิปัสสนาก็คือพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้แยกแยะออกไปว่าอะไรเป็นอะไร ๆ นี่เรียกว่าเป็นวิปัสสนาจากกรรมฐาน ๕ เช่น เราบริกรรมว่า เกสา ๆ ก็ได้ โลมา นขา ทันตา ตโจ บทใดก็ได้ บริกรรมเพื่อให้จิตอยู่สงบกับอันนั้นก็ได้ จากนั้นเราจะพิจารณาว่าเกสาเป็นยังไง กระจายออกไปเป็นปัญญา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นยังไง แยกออกนี่เรียกว่าปัญญา แล้วจิตจะสว่าง เห็นแล้วมันจะถอนตัวเข้ามา ความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นบ่อแห่งความทุกข์ สร้างความทุกข์ขึ้นมา มันจะถอยตัวของมันไปเรื่อย ๆ นี่เรียกว่าปัญญา ถอดถอนตรงไหนที่กิเลสไปปักเสียบไว้ ลึกตื้นขนาดไหน ปัญญาจะตามถอดตามถอนขึ้นมา ๆ

กิเลสมันปักเสียบเอาไว้ด้วยความจอมปลอม ของไม่สวยไม่งามกิเลสมันปักลงไปว่าสวยว่างาม ของไม่จีรังถาวรกิเลสบอกว่าจีรังถาวรแน่นหนามั่นคง ธรรมพิจารณาเข้าไป มันไม่ได้แน่นหนา มันไม่ได้ถาวร มันไม่ได้สวยได้งามอะไร ปัญญาตามถอดตามถอน ความยึดมั่นถือมั่นสิ่งนี้มันก็ถอนตัวออกมา พร้อมกับกองทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความถือมั่นก็ถอนขึ้นมาพร้อม ๆ กัน นี่เรียกว่าปัญญา

เวลาเราพิจารณาทางด้านจิตใจมาก ๆ แล้วนี้ จิตดวงเก่ามันไม่ได้เหมือนเก่านะ โถ อะไรจะมีอานุภาพมากกว่าจิต อะไรจะสว่างกระจ่างแจ้งมากกว่าจิต ไม่มีอะไรเกินในโลกธาตุนี้ ความแผ่อานุภาพจิตนี้แผ่กระจายครอบโลกธาตุ เวลามันติดมันก็ติด อำนาจของกิเลสมันก็แผ่ครอบโลกธาตุเหมือนกัน แผ่ครอบที่จิตนั่นแหละ ทำให้จิตมืดมิดปิดตาเห็นของจริงเป็นของปลอมไปหมด กิเลสเสกให้เป็นของปลอม ทีนี้เวลาธรรมปรากฏขึ้นในใจ ตามถอดตามถอนของปลอมให้คืนสู่ความจริงตามเดิม แล้วก็ปล่อยอุปาทาน เย็น จิตสว่างกระจ่างแจ้ง

เมื่อสว่างแล้วมันก็เห็นล่ะซี อะไร ๆ มันก็เห็น โทษก็เห็น คุณก็เห็น สิ่งที่ควรละก็ต้องสอนให้ละ สิ่งที่ควรบำเพ็ญสอนให้บำเพ็ญ เพราะเห็นอยู่นี่น่ะ อันนี้ไฟนะอย่าไปแตะอย่าไปจับ อันนี้น้ำจับได้เย็น อย่าไปกอดน้ำแข็งก็แล้วกันถ้าไม่ใช่บ้า ท่านก็จะสอนอย่างนั้น อันไหนเป็นโทษท่านบอก ๆ คือท่านเห็นอย่างนั้น เช่นว่านรกท่านเห็นประจักษ์ ภาษาของเราว่าประจักษ์ใจประจักษ์ตา นรกอย่าลบล้าง นี่นรกหรือนี่ไฟ อย่าไปลบล้างหรืออย่าไปจับ ถ้าอยากถูกเผาทั้งเป็นเอ้าจับ จับไฟ จับก็ปึ๋งเลยทันที นั่นละนรกก็เหมือนกัน

ไม่มีใครที่จะสอนแม่นยำยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เพราะสอนด้วยหูแจ้งตาสว่าง เห็นหมดทุกแง่ทุกมุม สัตว์ตาบอดหูหนวกบอกไม่เห็น โดนเอา ๆ ท่านดึงออกลากออกมันยังบืนเข้าไป นี่ละมันสำคัญนะ

เฉพาะอย่างยิ่งเราเป็นพระเป็นกรรมฐานแล้ว จึงต้องได้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้มาก ดีละสถานที่นี่เหมาะ ถึงจะใกล้ทางก็ตามเป็นเอกเทศที่จะอบรมจิตใจ นี่เป็นที่อบรมจิตใจ เป็นที่คลายทุกข์คลายอารมณ์บ้างที่ใจ เวลาหน้าที่การงานยุ่งเหยิงวุ่นวายมาก เข้าไปหาวัด ไปอบรมจิตใจให้สงบเย็น แล้วก็เป็นพลังขึ้นมาควรแก่หน้าที่การงานต่อไปอีกได้ เพราะฉะนั้นวัดจึงเป็นสถานที่ลดหย่อนอารมณ์ที่ตึงเครียดทั้งหลายได้ดี และสงบใจ เป็นความสุขเย็น

ทางภาคนี้ก็ไม่ค่อยมีวัดกรรมฐานมาก เรื่องกรรมฐานนี่สำคัญอยู่ที่ครูอาจารย์เป็นผู้นำ นี่สำคัญมาก นำผิด ๆ ถูก ๆ ไปมากต่อมากนะ ไม่ค่อยจะนำไปตามแถวทางที่พระพุทธเจ้าสอน นำเคลือบ ๆ แฝง ๆ ออกไปนอกลู่นอกทาง สุดท้ายก็กิเลสลากไป เลยกลายเป็นกิเลสนำไปเสียไม่รู้ ครูอาจารย์สำคัญมาก ที่คอยให้คำแนะนำตักเตือนสั่งสอนทางด้านจิตตภาวนา ส่วนคัมภีร์วินัยเราก็เห็นทุกคน ปฏิบัติตามนั้นแล้วก็ไม่มีข้อสงสัย แต่เรื่องของใจนี้ละเอียดลออมาก จึงต้องอาศัยครูอาจารย์แนะ ครูอาจารย์ถ้าไม่ชำนิชำนาญไม่เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจมาแล้วก็สอนผิด ๆ พลาด ๆ ไปอีก จึงว่าสำคัญสำหรับครูอาจารย์ที่จะแนะจะบอก

เพราะจิตนี่พิสดารมากนะ เวลาเราภาวนาเข้าไป แต่ไม่พิสดารกว้างขวางไปเสียทุกองค์นะ หากกว้างขวางถ้าพูดถึงเรื่องกว้างขวาง แต่องค์ที่เลิศเลอเข้าไปอีกยังมี ผู้เด่นกว่ากันยังมี จึงบอกว่ามันเป็นไปตามราย ๆ ผู้กว้างขวางลึกซึ้งมากก็มี ผู้หย่อนลงมากว่านั้นก็มี แต่ยังไงก็ต้องแสดงความกว้างขวางของตนจนได้แหละ อำนาจของจิต เวลาภาวนาเข้าไป สิ่งไม่รู้มันรู้ มันเห็นนี่ แล้วเห็นสิ่งนี้จะปฏิบัติยังไง ถ้ามีครูมีอาจารย์ท่านแนะ เป็นอย่างนั้น แนะให้ปฏิบัติอย่างนั้น นั่นผ่านไปได้ ๆ

ทีนี้ครูอาจารย์ไม่เห็นไม่รู้ เวลาไปถามท่านท่านก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เลยยกยาทั้งหีบทุ่มให้คนไข้ สุดท้ายคนไข้ก็เลยตาย ไม่หาย นี่หมอเถื่อน ถ้าหมอปริญญาแล้วก็ถามดูตรวจดูโรคภัยไข้เจ็บ เสร็จแล้วไม่ต้องไปยกทั้งตู้แหละ หยิบเอาหลอดใดขวดใดขวดหนึ่งมาเม็ดใดเม็ดหนึ่งมาใส่ปั๊บหายเลย นั่นละหมอเถื่อนกับหมอจริงมันต่างกัน

ครูบาอาจารย์ผู้เสกสรรปั้นยอตัวเองว่าเป็นครูเป็นอาจารย์เฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่คุณธรรมภายในจิตใจไม่มีใช้ไม่ได้ เป็นหมอเถื่อน อาจารย์เถื่อน อาจารย์เถื่อนมันมักจะเยอะนะเวลานี้ อาจารย์เถื่อนเยอะนะทุกวันนี้ ระวังนะพวกเรา จะไปเจออาจารย์ยกยาทั้งหีบทุ่มเอาหลงทิศไปนะจะว่าไม่บอก มีเยอะนะ อาจารย์ที่รู้ตามช่องตามทางของด้านจิตใจจริง ๆ นี้มีน้อยมากทีเดียว

อันนี้พิสดารมากนะทางด้านจิตใจ ให้เข้าภาวนารู้ทางด้านจิตใจเสียก่อน เราจึงจะเห็นได้ว่าความพิสดารของจิตพิสดารมาก รู้ซอกแซกซิกแซ็ก ตาไม่เห็นตาภายในทะลุไปหมด ๆ นั่นละที่พระพุทธเจ้าว่า ญาณํ อุทปาทิ คือญาณได้เกิดขึ้นแล้ว คือญาณความหยั่งทราบเกิดขึ้นแล้ว ปญฺญา อุทปาทิ หยาบกว่ากันลงมานะ ญาณํ อุทปาทิ ละเอียดซึ้งมากที่สุด ปญฺญา อุทปาทิ ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นปัญญากับญาณจึงไม่เหมือนกัน เลยจากปัญญาไปก็เป็นญาณ ละเอียดซึ้ง วิชฺชา อุทปาทิ วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างโร่ทั้งกลางวันกลางคืนได้เกิดขึ้นแล้วในใจของท่าน ท่านแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้าฟัง

อยู่ในใจนี้หมดนะ ใจเป็นผู้ทรง ใจพระพุทธเจ้ารู้ ที่กล่าวมาเหล่านี้พระองค์รู้หมดแล้ว บอกว่า ญาณํ อุทปาทิ ญาณของเราได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความสว่างโร่ทั้งกลางวันกลางคืนภายในใจของเรานี้ได้เกิดขึ้นแล้ว แปลว่าอย่างนั้น ละเอียดลออขนาดนั้น

ภาวนามันถึงชัดนะ เพียงเราเรียนตามตำรับตำรานี้ ไม่ว่าท่านว่าเราเรียนได้เหมือนกัน แต่ความรู้ก็เพียงแค่ความจำไม่ได้แตกแขนงเหมือนด้านปฏิบัติ ด้านปฏิบัตินี้แตกแขนง ปริยัติก็เทียบเหมือนกับว่า เราปลูกต้นไม้นี้ขึ้น แล้วแขนงออกเป็นภาคปฏิบัติจะรู้แปลก ๆ ต้นนี้คือว่ารู้ เช่น ญาณํ อุทปาทิ ทางปริยัติท่านบอกว่า ญาณคือความรู้ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราก็จำได้แต่เพียงว่าญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้านั้นเป็นญาณเช่นไรไม่รู้ ถ้าปฏิบัติรู้แล้วก็วิ่งถึงกันเลย อ๋อ ญาณเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ นั่นภาคปฏิบัติมันชัดเจน ๆ

เรื่องจิตนี้ โห พิสดารมากจริง ๆ แต่ถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลายไม่ให้แสดงคุณค่าของตัวขึ้นมา ที่จะแสดงขึ้นมาได้ต้องแสดงขึ้นมาด้วยธรรม ธรรมเปิดเผย เปิดออกมา ๆ เช่นจิตใจวุ่นวายนี้ กิเลสมันปิดบัง ความสงบคือจิตตภาวนาให้มีความสงบเย็น ก็เปิดออก ความสงบเย็น เห็นโทษความวุ่นวาย แน่ะแก้กันไป ๆ อย่างนั้น เรื่องทางด้านจิตตภาวนานี้พิสดารมากจริง ๆ ไม่ใช่ธรรมดา

ความรู้ความเห็นที่เราเรียนมาตามคัมภีร์ใบลาน มันก็ไปตามคัมภีร์ใบลาน ไม่ได้คืบคลานหรือไม่แตกแขนงออกไปไหน มันจะไปแค่นั้นละ แค่ที่จำได้ ๆ ไม่ได้นอกเหนือไปจากนั้น เป็นทางไป เรียนไปตรงไหนก็เป็นทางไปตามที่จดจำได้ เรียนไปตรงไหนก็เป็นทางไป แต่ภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น มันเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อไฟจะมีอยู่ที่ไหน กว้างแคบขนาดไหน มีหยาบละเอียดขนาดไหน ไฟจะลุกลามไหม้ไปหมดเลย นี่ความจริงมีอยู่ที่ไหน หยาบละเอียดขนาดใดเหมือนกับเชื้อไฟ ใจเป็นตัวรู้นี้จะรู้ไปหมด นั่นเรียกว่าความจริง รู้ไป ๆ ลุกลามไป มันต่างกัน

ภาคปฏิบัตินี่พิสดารมาก คนไม่เคยปฏิบัติไม่รู้ ถ้าปฏิบัติแล้วยอมกราบพระพุทธเจ้าทันทีเลย สิ่งที่ทรงแสดงไว้แล้วไม่มีเคลื่อนคลาดจากความจริงแม้แต่น้อยเลย แต่กิเลสมันก็ลบ ๆ เพราะฉะนั้นสัตว์ถึงได้มืดบอด วิ่งตามกิเลส ตกนรกหมกไหม้ ได้รับความทุกข์ความทรมานทั้งมีชีวิตอยู่ทั้งตายไป เพราะกิเลสมันปิดตลอด มีชีวิตอยู่มันก็ปิด ตายไปแล้วมันก็ปิด มันปิดอยู่ที่หัวใจ ไปที่ไหนจึงต้องได้รับความทุกข์เพราะกิเลสอยู่โดยดี ๆ จึงต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องบุกเบิกเพิกถอนกัน ไม่อย่างนั้นไม่ได้นะ

ผมก็แก่แล้วเวลานี้น่ะ ความเมตตาโลกก็เมตตามากจริง ๆ การแนะนำสั่งสอนก็ต้องอาศัยกำลังวังชา ธาตุขันธ์นี้มันมีวัย มีความเฒ่าแก่ชราลงไปได้ ใจไม่มีวัย ธรรมไม่วัย ถ้ามีเครื่องมือใช้ใช้ได้ตลอด แต่ร่างกายมันอ่อนของมัน มันมีวัยนี่ เมื่อใช้หนัก ๆ เข้ามันก็อ่อนลง สุดท้ายก็พังได้ นี่ธาตุขันธ์มีวัย ส่วนธรรมส่วนใจไม่มีวัย ใช้ได้ตลอดถ้ามีเครื่องมือใช้ ถ้ามีเครื่องมือใช้ก็เป็นธรรมตลอด เรียกว่าเป็นธรรมตลอด

เราเป็นห่วงพี่น้องทั้งหลาย ฝ่ายทางเราก็จุดที่ควรเป็นห่วงก็ห่วง จุดที่ปล่อยเลยไปเลย เรียกว่าพิสดารเลยเถิดแล้วเราไม่สามารถจะสอนได้ก็ปล่อย ที่ควรจะแนะนำสั่งสอนได้อย่างนี้ก็สอน ที่มันเข้าห้องไอซียูแล้วก็ไม่ทราบจะทำยังไง หมอก็ดูอยู่อย่างนั้นละหมอนะ ยาก็ยา หมอก็หมอไปดูมันเข้าห้องไอซียู ก็มันไม่สนใจกับหมอกับยานี่ อันนี้ประเภทไอซียูเยอะนะ พวกนี้หน้าด้านมากนะ พวกไอซียูนี้หน้าดื้อหน้าด้านมาก หาญทุกอย่าง สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้กลัวมันหาญ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้หาญมันกลัวมันไม่เอา มันดูถูกด้วยว่าไม่มี หาญกระทำเช่นว่า ให้ทำบุญให้ทาน มันบอกว่าทำบุญไม่ได้บุญ นั่นเห็นไหมมันหาญ กล้าค้านอย่างนั้น

ขอให้พี่น้องทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจนะ ตั้งสรณะที่ใจ อย่าลืมพุทโธ นี้หลักใหญ่มากนะ ใจเราจะตั้งได้เพื่อความสงบ ยับยั้งตัวเองได้ เพราะเราภาวนายับยั้งจิตให้เข้าสู่อารมณ์อันเดียว พุทโธ ๆ ให้จิตสงบอยู่นี้ หลายครั้งหลายหนนานไป ๆ มันจะเป็นฐานขึ้นมา แล้วความสงบเย็นจะปรากฏขึ้นมา แล้วที่พึ่งจะบอกในตัวเองได้ในนี้ ให้ทำจิตให้สงบ พระเราให้อบรมทางภาวนา ให้จิตละเอียดลออเข้าไป หลักอยู่ตรงนี้นะ

นี่เราได้ทำมาแล้ว ปีนี้จึงเป็นปีที่เปิดอกให้พี่น้องชาวไทยเราทราบนะ ปี ๔๑-๔๒ นี้เราเปิดอกให้ฟัง ไปเทศน์ที่ไหนมักจะเปิดอกเพราะเป็นผู้นำ การเป็นผู้นำต้องมีต้นสายปลายเหตุมา เป็นผู้นำเพราะอะไร อยู่ ๆ เอาหัวชนฝามาเป็นผู้นำ ใครก็เชื่อถือได้ล่ะ ต้องแสดงเหตุแสดงผลออกมา เราจึงได้เปิดอก ก่อนจะมาเป็นผู้นำของพี่น้องทั้งหลาย ตัวเองได้บำเพ็ญตัวเองมายังไง นั่นเรียกว่าเปิดปูมหลังแล้ว ได้บำเพ็ญเต็มสติกำลังความสามารถทางภาคปฏิบัติล้วน ๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนมาก็บอก ออกปฏิบัติแก้กิเลสก็บอก ฟาดจนกระทั่งกิเลสสิ้นซากจากใจหมดไม่มีอะไรเหลือเลย เปิดโล่งทั่วแดนโลกธาตุก็บอก ปี ๔๑ นี้เป็นปีบอกนะ

แต่ก่อนเราไม่เคยพูด รู้เท่าไรก็ไม่เป็นของหนัก เหมือนไม่รู้ ใครมาเกี่ยวข้องควรจะสงเคราะห์หนักเบามากน้อยเพียงไรก็แก่ผู้มาเกี่ยวข้อง เราก็สงเคราะห์เทศนาว่าการให้ฟังตามขั้นตามภูมิของผู้มาเกี่ยวข้อง ถ้าควรจะเปิดเต็มที่แบบฟ้าดินถล่ม ให้เหมาะกับจิตดวงที่กำลังจะหลุดพ้นอยู่แล้วนั้น เราก็เปิดทันทีเลย ต่อนั้นก็ทะนุถนอมไป เช่น ผลไม้ ผลไม้ลูกนี้กำลังจะสุกแล้วหรือสุกแล้ว ไม่จำเป็นต้องบ่ม สอยลงมากินเลยก็มี นี่ควรจะบ่ม กำลังจะสุกแล้วเอามาบ่ม อันนี้ยังไม่ควรบ่มปล่อยไว้กับต้นเสียก่อน บำรุงลำต้นให้ดี แนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติให้ดี นั่นเป็นระยะ ๆ เมื่อผลไม้ได้รับอาหารจากลำต้นแล้วมันจะค่อยแก่ของมันไปเรื่อย ๆ

นี่เมื่อได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ พร้อมกับความเพียรของเราหนุนอยู่เรื่อย ๆ ก็ค่อยแก่กล้าขึ้นไป สอนเข้าไปเด็ดเข้าไป ผู้ที่ควรจะหลุดพ้นก็ใส่ตูมเลยให้ออกเลย อย่าอยู่ว่างั้นเลย มันหลายขั้นการสอน นี่เราก็ได้ปฏิบัติตัวของเรามาอย่างนั้น จึงยกหลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ชั้นเอกในสมัยปัจจุบัน เท่าที่เราผ่านมาในครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เรายังไม่เห็นองค์ไหนที่จะแซงหน้าหลวงปู่มั่นไปได้เลย ทางภาคปฏิบัติไม่ว่าวินัย ไม่ว่าธรรม ไม่ว่าข้อวัตรปฏิบัติ ไม่มีเคลื่อนคลาด เพราะเราเรียนแล้วถึงไปนี่ ท่านปฏิบัติออกในแง่ใดมุมใดนี้ เข้ากันได้กับหลักธรรมหลักวินัยข้อใด ๆ ก็เราเรียนมาหมดแล้วมันวิ่งถึงกัน ๆ หาที่ค้านท่านไม่ได้เลย

พูดถึงเรื่องเทศนาว่าการด้านธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่ต้นสุดยอดของธรรมถึงใจ ๆ เราจึงได้ปฏิบัติตัวของเราอย่างถึงใจเรื่อยมา แล้วก็ไม่เคยคิดนะว่าเราจะได้มาเป็นผู้นำของพี่น้องทั้งหลายดังที่เป็นอยู่เวลานี้นะ เราไม่เคยคิด แต่อัธยาศัยของเจ้าของหากมีอยู่อย่างนั้น ได้อะไรมามากน้อยไม่เคยเก็บเลยละ สงเคราะห์โลกตลอด ๆ หมดเนื้อหมดตัวมาตลอด นี่เป็นอัธยาศัยของเราทำด้วยความเมตตา แล้วก็มาถึงวาระนี้แหละที่จะช่วยบ้านช่วยเมืองนี้ มันหาทางออกไม่ได้ จะทำยังไง ๆ สุดท้ายเราต้องเป็นผู้นำเพื่อหาทางออก

เมื่อเราเป็นผู้นำหาทางออก ผู้นำนี้เป็นคนประเภทใด พระประเภทใด เราจะต้องแจงเรื่องของเราให้เขาฟัง นี่ละที่ได้อ่านปูมหลังให้ฟัง เพราะเหตุนี้เอง ไม่ได้บอกด้วยความหิวโหย อยากโอ้อยากอวดนะ เปิดออกมาเพื่อให้ทราบเหตุทราบผล นี่เราก็ได้ช่วยตัวเองเต็มกำลังความสามารถ ในชีวิตนี้เราก็ได้เปิดให้ฟังชัด ๆ ว่า เราได้สละชีวิตมาสองครั้งนี้ ครั้งแรกสละชีวิตเพื่อฆ่ากิเลส เอา กิเลสไม่พังเราต้องพัง กิเลสไม่ตายเราต้องตาย มีสองอย่าง ที่จะให้เป็นคู่แข่งกันต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ฟัดกัน สุดท้ายก็เปิดโล่งขึ้นมา กิเลสพัง เผาศพกิเลสเรียบร้อยแล้วจึงลงมาอย่างสง่าผ่าเผยอย่างองอาจกล้าหาญ เต็มไปด้วยเมตตาต่อโลก ได้ทำประโยชน์เรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงวาระนี้ก็ได้ทำประโยชน์แบบนี้แหละ

เราไม่เคยคิดก็ได้ทำ เราทำด้วยความเมตตาล้วน ๆ ไม่มีอะไรเคลือบแฝงในใจเราเลย ธรรมเราก็พอทุกอย่างแล้ว เราไม่หาธรรมอีกแล้ว เวลาเราหาเราก็บอกเราหา หาธรรมจนเอาชีวิตเข้าแลกเราก็หา ทีนี้เวลาพอเราก็บอกว่าพอ พอแล้วทีนี้ไม่หาแล้ว หัวใจกับเมืองพอเป็นอันเดียวกันแล้ว นิพพานกับหัวใจเป็นอันเดียวกันแล้ว ธรรมกับหัวใจเป็นอันเดียวกันแล้ว พอกับใจนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว หาไปหาอะไร ตรงนั้นแหละพอไม่หาอีก ทีนี้ก็มีความเมตตานี้ล้นพ้นต่อโลกทั้งหลาย จึงต้องอุตส่าห์พยายามช่วยเหลือแบบนี้ ดังที่เห็นอยู่เวลานี้

ขอให้พี่น้องทั้งหลายตั้งใจประหยัดทุกอย่างนะ ดังที่เทศน์นั้นแหละ การใช้จ่าย การอยู่การกินทุกอย่างให้มีความประหยัดมัธยัสถ์ ทุกแง่ทุกมุมของคนไทยเรา ไม่ว่าประชาชนชาวบ้านชาวเมืองตลอดวงราชการต่าง ๆ ให้มีความประหยัด ๆ ในวงของตน ๆ อย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม นี้คือการอุ้มชาติไทยของเราโดยตรง นี่ละคือการอุ้มชาติของเรา การสุรุ่ยสุร่ายนี้คือการทำลายชาติ การประหยัดมัธยัสถ์รู้เนื้อรู้ตัว การกินอยู่ปูวายทุกอย่าง เป็นไปด้วยความรู้ตัว ๆ แล้ว นี่เรียกว่าการอุ้มชาติของเรา ต่างคนต่างอุ้มชาติ ชาติขึ้นได้ไม่สงสัย วันนี้พูดเพียงเท่านั้นนะ ไม่พูดมากแหละสายแล้ว

ให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัตินะ เอ้อ เดินจงกรม จะบอกวิธีเดินจงกรม พระลูกพระหลานอาจไม่เข้าใจ บางทีไม่ทราบว่าเดินยังไง เห็นเขาเดินเราก็เดินก็มี เดินนับก้าวย่างเท้าไปเฉย ๆ ก็มี เดินไม่มีหลักมีเกณฑ์ หลักของการเดินจงกรมคือเปลี่ยนอิริยาบถ คือ นอนนานก็ลำบาก ยืนนานก็ลำบาก เดินนานก็ลำบาก จึงต้องมีผลัดเปลี่ยนให้พอเหมาะพอดีกัน ยืนเดินนั่งนอน ในอิริยาบถเหล่านี้ความเพียรให้ติดแนบตลอดความหมายว่าอย่างนั้น

สติ เช่นผู้ภาวนาอยู่ในขั้นบริกรรมพุทโธ ๆ ก็ให้จิตรู้อยู่กับพุทโธ ด้วยความมีสติ เดินจงกรมกลับไปกลับมาให้มีพุทโธติดอยู่ในใจ รู้ ๆ พุทโธ ๆ ไป พุทโธ ๆ มา บริกรรมคำใดให้คำบริกรรมนั้นกับสติติดแนบกันไป เดินกลับไปกลับมาเช่นเดียวกับบริกรรมพุทโธ นี่เรียกว่าภาวนาที่ถูกต้อง จำเอานะลูกหลาน

วิธีเดินตามเยี่ยงอย่างของครูบาอาจารย์ซึ่งเคยผ่านมาอย่างหลวงปู่มั่น เป็นตัวอย่างได้ชั้นเอกในสมัยปัจจุบัน คือท่านเดินจงกรมท่านมีอยู่สอง เดินจงกรมอย่างหนึ่งเอานี้ การเดินจงกรมถ้าไม่แขกมีคนมีแต่เรานี้มีแต่ผ้าอังสะก็ได้ นี้เป็นกิริยาที่รำพึง กิริยาที่ไม่ลืมตัว กิริยาที่มีสติท่านมักเดินไปอย่างนี้ นี่อันหนึ่ง อันที่สองอย่างนี้ก็ได้ เห็นท่านใช้อยู่สองอย่าง เป็นกิริยาที่รำพึง มีปัญญามีสติ ไม่ได้มองโน้นมองนี้ เถ่อโน้นเถ่อนี้

สติสำคัญมากนะ อย่าปล่อยนะสติ อยู่ไหนสติเป็นพื้นอยู่รักษาจิต พุทโธก็ให้อยู่ที่นี่ มองที่ไหน ๆ ความรู้สึกตัวให้ติดอยู่กับตัว เรียกว่าความเพียร ความเพียรฆ่ากิเลสนี้หนักมากนะ กิเลสมันเหนียวแน่นมากที่สุด เราจะเห็นได้เวลาจะชะจะล้างจะสู้กับมันนี้ ความเพียรของเราต้องหนักมากที่สุด จึงเห็นได้ว่ากิเลสเหนียวมาก ถ้าไม่ใช้สติปัญญาความอุตส่าห์พยายามเต็มเหนี่ยวแล้ว กิเลสจะไม่ถลอกปอกเปิกเลย ขั้นแรกต้องเป็นอย่างนั้น บางทีถึงขั้นจะสลบไสลก็มีฟัดกัน เพราะกิเลสมันหนามันแน่น ทีนี้เวลาซัดเข้าไปนานเข้า ๆ กำลังของธรรมมีมากขึ้น ๆ กิเลสค่อยอ่อนตัวลง ๆ สติปัญญาดีขึ้น ๆ ความเพียรแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ทีนี้ก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันไป ให้พากันจำเอานะ

วันนี้พูดเพียงเท่านั้นละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก