ความพิสดารของจิตตภาวนา
วันที่ 22 เมษายน 2536
สถานที่ : วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมครูสอนพระปริยัติธรรมรุ่นที่ ๕ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๖

ความพิสดารของจิตตภาวนา

 

        วันนี้มีโอกาสได้มาพบกับพระลูกพระหลานซึ่งอยู่ในวัยควรเป็นลูกหลาน ในวัยควรเป็นน้องก็ได้มาพบน้องในวันนี้ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่บวชมาในพุทธศาสนา ต่างมาจากที่ต่าง ๆ ในวันนี้ ได้มาประชุมตามหลักวิชาการแห่งพุทธศาสนา แล้วมีโอกาสท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัด ก็ไปนิมนต์หลวงตามาชี้แจงอรรถธรรมทางภาคปฏิบัติให้ท่านทั้งหลายได้ฟังตามโอกาสและธาตุขันธ์อำนวยในวันนี้

        การแสดงธรรมวันนี้จะไม่แสดงทางด้านปริยัติอะไรมากนัก เพราะต่างท่านต่างศึกษามามากพอสมควรแล้ว จะอธิบายทางภาคปฏิบัติซึ่งเป็นความสำคัญในวงพระพุทธศาสนาและในพระเณรของเรา ที่ควรจะได้ยึดเป็นหลักเกณฑ์ที่ว่าการช่วยตัวเอง ให้มีกำลังใจปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งภายนอกภายในได้โดยความราบรื่นดีงาม เพราะภาคปฏิบัติเป็นความสำคัญอยู่มาก หลังจากการศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ภาคปฏิบัติจึงเป็นเหมือนเงาเทียมตัวหรือเงาตามตัว ระหว่างเงากับคนจะแยกจากกันไม่ได้ฉันใด เรื่องปริยัติกับเรื่องปฏิบัติก็แยกจากกันไม่ได้ฉันนั้น จึงจะเป็นศาสนาที่สมบูรณ์แบบที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา

        พระพุทธศาสนาที่กลมกลืนกันด้วยธรรม ๓ ประเภทจึงจะเป็นธรรมที่สมบูรณ์ได้ และได้ผลเป็นที่พอใจแก่ผู้ปฏิบัตินั้นคือธรรมประเภทใดบ้าง คือปริยัติธรรม ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนให้รู้แบบแปลนแผนผังเข็มทิศทางเดินพอสมควรแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นภาคปฏิบัติ คือดำเนินตามเข็มทิศที่ท่านชี้แนวทางบอกไว้ไม่ให้คลาดเคลื่อน ทางหลักพระวินัยก็เป็นความสำคัญ เพราะเป็นชีวิตจิตใจของพระเรา พระเราจะมีความสงบร่มเย็นอบอุ่นภายในตัวเอง ย่อมเป็นผู้ทรงวินัยได้เป็นอย่างดีหาที่ตำหนิความบกพร่องของตนไม่ได้ เพราะการฝ่าฝืนหลักพระวินัย นี่ก็เป็นความสวยงามอันหนึ่งที่จะยังความอบอุ่นให้แก่เรา เรียกว่าพระวินัย ก็เป็นปริยัติด้านหนึ่ง

        พระธรรมคือการอบรมจิตใจของเราให้มีความสงบร่มเย็น ตามแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ มีจิตตภาวนาเป็นสำคัญ เรื่องจิตตภาวนานี้เป็นความพิสดารมาก สำหรับที่เราเรียนในทางด้านปริยัตินั้นไม่ค่อยจะพิสดารเท่าไร เพราะเราจดจำตามตำรับตำราที่ท่านชี้แจงเอาไว้เพียงเท่านั้น เช่น ทำจิตให้สงบด้วยคำบริกรรมบทใดก็ตาม เราก็จดจำได้ตามนั้น ว่าจิตเป็นสมาธิ เราก็จดจำได้ว่าความตั้งมั่นแห่งจิตนั้นเรียกว่าสมาธิ ความรู้เท่าทันในกองสังขารเรียกว่าปัญญา นี่เป็นทางภาคปริยัติ ไม่ค่อยพิสดารกว้างขวางอะไรมากนัก เราเรียนก็เรียนตามตำรับตำรา นอกไปจากตำรับตำราก็จะกลายเป็นเรื่องแหวกแนวไปในการศึกษาเล่าเรียน

        แต่ทางภาคปฏิบัติมีความพิสดารกว้างขวางมาก สำหรับผู้ที่ก้าวขึ้นสู่เวทีคือการดำเนินภาคปฏิบัตินี้จึงจะทราบได้ว่า ธรรมเป็นธรรมชาติที่กว้างขวางพิสดารลึกซึ้งมาก เพียงสมาธิเท่านั้นก็กว้างขวางมากมาย คำว่าสมาธิในตำราท่านสอนไว้ว่าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ นี้คือในตำราท่านสอนไว้ แต่เวลาเรามาบำเพ็ญภายในจิตใจ คำว่าจิตตั้งมั่น ทำอย่างไรจิตจึงจะตั้งมั่นให้ตามความมุ่งหมายของเรา ต้องเป็นผู้มีสติ

        ในธรรม ๔๐ ห้องมีอานาปานสติเป็นต้น ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแล้วแต่เราจะถูกกับจริตจิตใจในธรรมบทใด นำธรรมบทนั้นเข้ามาบริกรรมเป็นเครื่องกำกับใจ ไม่ให้ใจคิดส่ายแส่ไปสถานที่ต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ให้อยู่ในจุดเดียวคือคำบริกรรมนั้นเป็นเครื่องบังคับเอาไว้โดยสม่ำเสมอ ไม่ให้พลั้งเผลอไปที่อื่นใด จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ คำว่าจิตเข้าสู่ความสงบนั้น ได้แก่กระแสของจิตที่ซ่านไปในที่ต่างๆ รวมตัวเข้ามาๆ เพราะอำนาจแห่งความดึงดูดของคำบริกรรมที่ยึดหรือดึงดูดเข้ามาๆ จิตก็ปรากฏเป็นความสงบเย็นขึ้นมาภายในใจ นี้เรียกว่าจิตสงบ

        ในตำราท่านบอกว่าจิตสงบ แต่เมื่อไม่ได้ทำก็ไม่รู้ว่าความสงบอย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร จึงพิสดารอยู่มากในทางภาคปฏิบัติแห่งธรรมทั้งหลาย เมื่อจิตสงบแล้วเราก็ทราบได้ชัดว่า อ๋อ ความสงบนี้สงบที่ใจ ตำรับตำราท่านแสดงไว้นั้นแสดงเข้ามาสู่ใจของเรา เพราะใจของเราวอกแวกคลอนแคลนดีดดิ้นตลอดเวลาหาความสงบไม่ได้ จึงต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องกำกับยึดเหนี่ยวเอาไว้ให้จิตหยุดอยู่ในจุดเดียว ด้วยความมีสติครอบครองอยู่ในนั้น จิตก็ปรากฏเป็นความสงบขึ้นมา

        คำว่าจิตเป็นความสงบ ได้แก่จิตไม่ส่ายแส่ไปในอารมณ์ต่าง ๆ ตามนิสัยของตนที่เคยเป็นมาก่อนที่ไม่ได้ภาวนา พอเราภาวนาจิตของเรามีความสงบเข้ามาสู่ความเป็นอารมณ์อันเดียว คือรู้อยู่จำเพาะตัวนี้เท่านั้น นี่เรียกว่าจิตสงบ ความสงบในตำรานั้นเข้ามากลายเป็นความสงบในหัวใจของเรา นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติ เริ่มปรากฏแล้วว่าปฏิเวธ คือรู้ชัดภายในตัวว่าจิตสงบอย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างนี้ ความจำได้ในตำราเป็นอย่างนั้น ความเป็นในจิตของตนเพราะภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ นี่ก็แยกได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นความจำกับความจริงจึงต่างกัน

        ความจำคือเราเรียนจากตำรับตำรามากน้อยเพียงไร เป็นความจำทั้งนั้น เรายึดเอาความจำนั้นมาเป็นเข็มทิศทางเดินปฏิบัติตามนั้น เช่น ปริยัติท่านสอนว่าให้บริกรรมธรรมบทใดก็ตามในบรรดาธรรม ๔๐ ห้องนั้น เช่น อานาปานสติ เราก็นำอานาปานสติมากำกับใจโดยความมีสติ จนกระทั่งจิตเราเกิดความสงบขึ้นมาเห็นได้ชัดเจนภายในใจของเรา ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยปรากฏว่าจิตนี้ได้รับความสงบ แต่มาบัดนี้ได้สงบแล้วด้วยการภาวนาบทนั้น ๆ  อย่างนี้ก็ประจักษ์ภายในใจของเรา นี้เรียกว่าความจริง

        คือ สมาธิในตำรา ความจำในตำรา กลายมาเป็นความจริงขึ้นในหัวใจของเราผู้ปฏิบัตินี้ นี่เรียกว่าภาคปฏิบัติด้วยการบริกรรมในขั้นเริ่มแรก และผลปรากฏขึ้นมาเป็นความสงบเย็นใจเห็นได้ประจักษ์ นี้ก็เรียกว่าเริ่มเป็นปฏิเวธะแล้ว คือรู้ชัดขึ้นภายในจิตใจของตน ว่าจิตสงบนั้นสงบขึ้นที่ใจ ไม่ได้สงบขึ้นที่ตำรา ตำรานั้นเป็นเพียงความจำ ความจริงแท้จิตสงบที่ใจของเราผู้ปฏิบัติ นี่จึงเรียกว่าจิตนี้ทางภาคธรรมะทางภาคภาวนานี้เป็นความพิสดารอยู่มาก

        เมื่อจิตมีความสงบเข้าไปหลายครั้งหลายหนก็สร้างฐานของตนขึ้นให้เป็นความมั่นคง จิตสงบย่อมไม่ส่ายแส่ไปตามอารมณ์ ทรงความรู้ไว้เด่นชัดภายในจิตใจพร้อมกับความเย็นความสบายภายในใจ นี้เรียกว่าจิตสงบ เมื่อจิตสงบอย่างนี้หลายครั้งหลายหน ในขณะที่จิตสงบแต่ละครั้งๆ นั้นก็สร้างฐานแห่งความมั่นคงขึ้นที่ใจของเรา เมื่อสงบหลายครั้งเข้าไปใจก็เกิดความแน่นหนามั่นคงขึ้นมา ท่านเรียกว่าใจเป็นสมาธิ คือความตั้งมั่นของใจ เพราะมีรากฐานมั่นคงเนื่องจากความสงบเป็นเครี่องหล่อเลี้ยงจิตใจสร้างฐานขึ้นมาหลายครั้งหลายหน จนปรากฏเป็นความแน่นหนามั่นคงขึ้นที่ใจ นี่ท่านเรียกว่าใจเป็นสมาธิ นี่ก็เรียกว่าเป็นความจริงปรากฏขึ้นแล้วในผู้ปฏิบัติ

        ถ้าไม่ปฏิบัติไม่รู้ เรียนสักเท่าไรก็จำได้แต่ตามตำรับตำราเท่านั้นหาความจริงไม่ได้ คำว่าสมาธิก็จำได้แต่ชื่อ องค์ของสมาธิอย่างแท้จริงไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่เมื่อเราได้ปฏิบัติแล้วองค์แห่งความจริงของสมาธินั้นปรากฏขึ้นที่ใจของผู้ปฏิบัติ และเป็นสมบัติของผู้นั้นด้วยไม่เหมือนความจำ ความจำจำได้ก็จริงแต่ถ้าไม่มีภาคปฏิบัติแล้วความจำได้ก็สักแต่ว่าจำได้เท่านั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลนั้นไม่ได้บกบางไปเลยเพราะความจำนั้นๆ เพราะฉะนั้นเพียงความจำเท่านั้นจึงเพียงเป็นปากเป็นทาง ยังไม่จัดว่าได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงไร ต่อเมื่อเราได้นำภาคความจำนั้นเข้ามาสู่ภาคปฏิบัติจนปรากฏเป็นผลแห่งความจริงขึ้นมานั้นจึงชื่อว่าเป็นผลขึ้นมาแล้ว

        ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผลมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ด้วยสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว แม้จะปรินิพพานนานเพียงไรก็ตามคำว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นใดต่อขั้นใด ทรงแสดงให้เป็นไปตามจุดหมายปลายทาง คือจุดหมายแห่งความสิ้นสุดวิมุตติพุทโธ ก็ไม่พ้นจากคำว่าสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้เลย นี่เป็นภาคปฏิบัติ

        เพียงเริ่มสมาธิให้จิตสงบนี้เราก็เห็นผลแล้วภายในจิตใจของเรา จิตสงบย่อมอิ่มตัวเองในอารมณ์แห่งธรรมคือความสงบเย็นใจ ไม่หิวโหยในอารมณ์ เช่น อารมณ์ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ อดีต อนาคต ซึ่งเคยรบกวนจิตอยู่ตลอดเวลานั้น เมื่อจิตมีความสงบแล้วย่อมอิ่มตัวกับอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ อารมณ์เหล่านี้ไม่ก่อกวนจิตใจ ใจมีแต่ความสงบร่มเย็น นี่ได้ผลแล้วในทางภาคปฏิบัติ จิตเป็นสมาธิ จิตมีความสงบร่มเย็น พออยู่พอเป็นพอไป อยู่ที่ไหนสบายจิตที่เป็นสมาธิ ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวไม่เดือดร้อนวุ่นวาย เพราะความส่ายแส่ของจิตไปเที่ยวกว้านเอาอารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาเผาลนตนเองให้เกิดความทุกข์ความทรมาน

        จึงต้องได้อาศัยภาคปฏิบัติ ท่านเรียกว่าปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียนมาแล้วให้มีภาคปฏิบ้ติกำกับกันไป เพื่อจะได้เห็นผลของพระพุทธศาสนาประจักษ์กับเรา อย่าให้มีตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระสาวกทั้งหลายท่านได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นสาวก พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของชาวพุทธเรา แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตน มีแต่เพียงภาคความจำเฉย ๆ ก็ได้แต่ชื่อแต่นามของกิเลสตัณหา ของมรรคผลนิพพาน ส่วนกิเลสเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้หลุดลอยออกไปจากใจ คำว่าบาปว่าบุญก็ไม่ได้หลุดลอยออกไปจากใจเลย มรรคผลนิพพานก็ไม่ปรากฏที่ใจของเรา เพราะอำนาจแห่งเพียงความจำเท่านั้น

        เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้มีภาคปฏิบัติ ให้เห็นความจริงตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงทั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเราไม่เคยโกหกหลอกลวงโลก จึงสมกับพระวาจาว่าสวากขาตธรรม คือ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้วหรือตรัสไว้ดีแล้ว คือดีตั้งแต่ต้นจนอวสาน ดีเพื่อจุดหมายปลายทางที่ถูกต้องแม่นยำไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้นแล จึงเรียกว่าตรัสไว้ชอบ ตรัสไว้ดีแล้ว เมื่อเราปฏิบัติตามดำเนินตามที่ท่านทรงสั่งสอนไว้นั้น ผลจะปรากฏขึ้นที่ผู้ปฏิบัติ

        เฉพาะอย่างยิ่งพระเราเป็นสิ่งสำคัญมากไม่มีหน้าที่การงานอะไร จึงอยากขออาราธนานิมนต์บรรดาพระลูกพระหลานพระพี่พระน้องทั้งหลาย ได้มีความสนใจขวนขวายทางด้านจิตตภาวนาซึ่งเป็นภาคปฏิบัติ ทั้งด้านวินัยก็ให้มีความเคร่งครัด ให้เป็นความสวยงามในองค์พระของเรา ทางด้านธรรมอย่างน้อยก็ขอให้บำเพ็ญจิตตภาวนาให้ใจมีความสงบเย็น เราจะได้ทรงผลของศาสนาว่าเป็นผลอย่างไรประจักษ์กับใจของเราเสียเอง เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เป็นลำดับลำดาไป

        นี่พูดถึงเรื่องสมาธิเท่านี้ก็ประจักษ์แล้วว่าเป็นความจริงเกิดขึ้นที่ใจของเรา เราเป็นเจ้าของของสมาธิ ผู้มีสมบัติคือสมาธิ ได้ครอบครองสมบัติคือสมาธินี้ภายในหัวใจแล้ว อยู่ที่ไหนก็สบาย ท่านเรียกว่าอารมณ์ของจิตได้แก่ความสงบนี้ทำให้จิตใจมีความเอิบอิ่มอยู่ตลอดเวลา อิ่มตัว จึงไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ นี่เป็นภาคสมาธิที่อธิบายเพียงย่นย่อให้บรรดาพระลูกพระหลานพี่น้องทั้งหลายได้ทราบในภาคปฏิบัติ เพราะอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้บำเพ็ญ และไม่ค่อยมีโอกาสที่มีผู้แนะนำและแสดงให้ฟัง วันนี้หลวงตาจึงได้สละเวล่ำเวลามา เพราะเห็นแก่ใจบรรดาท่านทั้งหลาย และในฐานะที่ได้ปฏิบัติมาบ้างพอประมาณตั้งแต่วันบวชแล้วมา เรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี พอสำเร็จเพียงเปรียญประโยค ๓ และนักธรรมเอกเท่านั้นก็ออกทางภาคปฏิบัติ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ จึงเรียกว่าถ้าขึ้นเวทีก็ขึ้นเอาเสียอย่างรอดเป็นรอดตายเดนตายมา จึงได้แนะนำสั่งสอนประชาชนพระเณรทั้งหลายตลอดมากระทั่งทุกวันนี้

        พูดอย่างไม่ปิดปากพูดอย่างเต็มอก เพราะได้ทำอย่างนั้นมาจริง ๆ เพราะหาความจริงจากพระพุทธศาสนาว่าพระพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรม ธรรมประเภทใดบ้างที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุ กระทั่งถึงมรรคผลนิพพาน ได้แก่ตรัสรู้ธรรมถึงแดนพ้นทุกข์ เราก็อยากพ้นทุกข์ พระสงฆ์สาวกท่านดำเนินตามพระพุทธเจ้า ท่านถึงความพ้นทุกข์เป็นพระอรหัตอรหันต์ขึ้นในโลก เราก็อยากทรงมรรคทรงผลเหล่านั้น จึงต้องอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติมาตั้งแต่ออกจากเรียนหนังสือแล้วจนกระทั่งปัจจุบันนี้

        จะได้มากได้น้อยเพียงไรก็ขวนขวายมาสงเคราะห์บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลาย กรุณานำไปพินิจพิจารณาปฏิบัติตาม และให้เป็นที่แน่ใจในตนเองว่า พุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผลตั้งแต่ต้นจนสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลาย เป็นอกาลิโก เสมอต้นเสมอปลาย มัชฌิมา เหมาะสมตลอดเวลาต่อผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่จะต้องได้รับผลตามขั้นภูมิของตนที่ปฏิบัติได้มากน้อย จนกระทั่งสามารถทรงวิมุตติหลุดพ้นไปได้จากสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้านี้แล จะไม่ใช่ธรรมของผู้ใดลัทธิใด

        ขอให้ปฏิบ้ติตนให้ถูกต้องตามหลักศาสนธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วนี้ แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปก็เพียงแต่พระสรีระซึ่งเป็นเหมือนกับโลกทั่ว ๆ ไปเกิดแล้วต้องตาย ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า แต่เรื่องธรรมะที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริงอย่างใดนั้น ย่อมเป็นความจริงอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จึงเรียกว่าอกาลิโก หากาลหาเวลาไม่ได้ เรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วทั้งนั้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตรัสไว้ชอบแล้ว แม้ปรินิพพานไปแล้วธรรมนี้ก็ชอบมาดั้งเดิมตลอดกระทั่งปัจจุบันนี้ สอนว่ากิเลสเป็นกิเลส ธรรมเป็นธรรม สอนว่าดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่ว ในสิ่งใดย่อมเป็นไปตามความจริงนั้น ละชั่วทำดีก็มีอยู่ แล้วละดีไปทำชั่วก็มีประจำโลก พระองค์ก็เห็นก็แนะนำสั่งสอนไว้เรียบร้อยแล้ว

        ขอให้ทุกคนได้นำธรรมะนี้ไปปฏิบัติประดับจิตใจของเรา ที่ควรจะได้ทรงมรรคทรงผลในเพศที่ว่างที่สุด ก็คือเพศของพระ ทุกสิ่งทุกอย่างอาหารปัจจัยมีสมบูรณ์บริบูรณ์ ประชาชนคนศรัทธาทั้งหลายพร้อมเสมอที่จะบริจาคให้ทาน ไม่อดอยากขาดแคลนเพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราไม่ต้องไปกังวลกับอาหารการกินของเรา ให้กังวลตั้งแต่เรื่องของกองทุกข์ที่มันมีอยู่กับใจ ความโลภเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์ภายในจิตใจ ความโกรธเกิดขึ้นเป็นทุกข์ภายในจิตใจ ราคะตัณหานี้เป็นสำคัญมาก เกิดขึ้นแล้วยิ่งบีบคั้นภายในจิตใจมาก โลกทั้งหลายระส่ำระสายวุ่นวายกันมาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน และยังจะวุ่นวายไปตลอดหาที่สิ้นสุดยุติไม่ได้ ก็เพราะอำนาจแห่งราคะตัณหาความไม่มีเมืองพอนี้แล มันกวนสัตว์ทั้งหลายให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย

        เราจะระงับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยวิธีการใด ในธรรมทั้งหลายท่านก็ได้แสดงไว้แล้วว่า ด้วยวิธีการจิตตภาวนาเป็นสำคัญมากที่จะระงับให้มันสงบลงไปด้วย ให้มันขาดสะบั้นลงไปจากจิตใจด้วย ด้วยจิตตภาวนานี้เท่านั้นเป็นสำคัญ จึงควรเร่งจิตใจของเราเพื่อต่อต้านสิ่งเหล่านี้ มีราคะตัณหาเป็นต้น อย่าให้มันรุนแรงขึ้นภายในจิตใจ มันไม่ได้เผาอะไรแหละ เวลาเกิดขึ้นแล้วจะต้องเผาใจ ในต้นเหตุที่มันพาให้เกิดนั้นแล ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เมื่อทำใจให้สงบเย็นลงไปแล้วใจของเราจะสบาย ได้ทรงมรรคทรงผล

        ระยะนี้ได้อธิบายถึงเรื่องสมาธิ ตามหลักธรรมท่านแสดงไว้ว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส ผู้มีศีลเป็นเครื่องรักษาดีแล้วย่อมมีความอบอุ่น จะบำเพ็ญสมาธิภาวนาจิตก็ไม่เป็นอารมณ์กับสิ่งใดพอให้เกิดความเดือดร้อนและกวนใจหาความสงบไม่ได้ จิตผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ด่างพร้อย ย่อมไม่เป็นอารมณ์กับสิ่งใด แล้วการภาวนาก็สงบได้ง่าย นี่เป็นข้อที่หนึ่ง

        สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิเป็นเครื่องหนุน ตามปริยัติท่านว่าเป็นเครื่องอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก แยกมาให้ได้ความชัดเจนลงไปสำหรับภาคปฏิบัติของเราก็คือว่า ปัญญาที่มีสมาธิเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอุดหนุนแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว คือจิตไม่หิวโหยในอารมณ์ พาทำงานอะไรก็ทำ พาพินิจพิจารณาปัญญาจะต้องพินิจพิจารณาถึงเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องเป็นเรื่องตาย อสุภะอสุภัง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่อุปัชฌาย์มอบให้นั้นมอบให้เป็นอาวุธอันสำคัญให้เราพินิจพิจารณา นี่เรียกว่าก้าวทางด้านปัญญา พิจารณาทางด้านปัญญา

        ถือเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เป็นสำคัญกว่าอื่นในขั้นเริ่มแรก เพราะอันนี้หยาบมากติดมาก ได้รับความทุกข์ความทรมานมากเพราะสิ่งเหล่านี้ ท่านจึงสอน โลกทั้งหลายติดกันทั้งนั้น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้หนาแน่นยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก ภูเขาทั้งลูกรถเขาไถไม่กี่วันกี่คืนแตกกระจัดกระจายลงไปเป็นถนนหนทาง เป็นกรวดเป็นทรายไปหมด สร้างนั้นสร้างนี้เป็นที่ทำงานต่างๆ ล้วนแล้วตั้งแต่ออกจากภูเขา เขาทำลายภูเขาให้แตกกระจัดกระจายลงไปได้อย่างง่ายดาย แต่จะมาทำลายภูเขาภูเราคือรูปร่าง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ของหญิงของชาย ของเราของเขา นี้ทำลายได้ยาก และไม่มีใครจะค่อยสนใจทำลายกัน นอกจากจะส่งเสริมกันแบบงู ๆ ปลา ๆ ลม ๆ แล้ง ๆ ไม่สวยก็บอกว่าสวย ไม่งามก็เสกสรรว่างาม เพราะกิเลสพาเสกสรรกิเลสฉุดลากไป ความจริงแล้ว เกสา เป็นยังไง ที่เกิดที่อยู่ของมันเป็นยังไง นี้คือพาก้าวทางด้านปัญญา

        ขอให้พระลูกพระหลานทั้งหลายได้ทราบเป็นแนวทางเอาไว้  หลวงตาจะอธิบายให้ฟังตามที่เคยดำเนินมาแล้วอย่างนี้  ให้พิจารณา  เกสา  โลมา  นขา  ทันตา  ตโจ จะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม ขอให้พิจารณาด้วยความจงใจ  ใจที่มีความสงบมีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้ว ไม่เถลไถลออกนอกลู่นอกทางไปหาอารมณ์ต่าง ๆ เพราะอิ่มในอารมณ์อยู่แล้ว พาพิจารณาทางด้านปัญญาก็พิจารณาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดูผมก็เห็นชัดเจนทั้งเส้นของมันแต่ละเส้น ๆ เป็นยังไง มีคุณค่ามีราคาอะไรประสาผม ขนก็เหมือนกัน เล็บ ฟัน ฟันก็คือกระดูกนั่นเองจะเป็นอะไรไป หนังหุ้มห่อกระดูกหุ้มห่อร่างกายอยู่นี้ก็เสกสรรปั้นยอขึ้นประหนึ่งว่าทองทั้งแท่งสู้ไม่ได้ ทองไม่ค่อยติดกัน ถ้าเป็นรูปหญิงรูปชายนี้ติดมากทีเดียว แล้วสร้างความทุกข์ให้ได้มากมาย

        ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ทำลายภูเขาภูเราอันนี้ลงไป ให้แตกกระจัดกระจายลงไปเป็นอสุภะอสุภังบ้าง เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ แตกกระจายลงไปแล้วเป็นอยู่ในตามสภาพของตน ให้รู้ตามเป็นจริงอย่างนี้ท่านเรียกว่าปัญญา เมื่อปัญญาได้แทงทะลุลงไปอย่างนี้ ภูเขาภูเราก็แตก เมื่อภูเขาภูเราแตกแล้วหลงหญิงหลงชายหลงสัตว์หลงบุคคลกันที่ไหน ความหลงก็เพราะภูเขาภูเรามันเต็มหัวใจทุกคนนั้นแล เมื่อพิจารณาทางด้านปัญญาออกแตกกระจัดกระจายนี้แล้ว ทางย่อมเปิดโล่งไปหมด ไม่มีอะไรมาตีบตันอั้นตู้บีบหัวใจนอกจากภูเขาภูเรานี้เป็นสำคัญ เมื่อภูเขาภูเราแตกแล้วด้วยปัญญา จิตย่อมว่างเปล่าโล่งไปหมดเลย นี่เป็นปัญญาประเภทหนึ่ง

        ปัญญาประเภทนี้เป็นปัญญาที่สำคัญมาก การพิจารณาปัญญาประเภทนี้ผาดโผนโจนทะยาน ต้องเป็นผู้ขึ้นเวทีแล้วเท่านั้นถึงจะทราบ เราทราบทางปริยัติก็เรียนไปพอเป็นแถวเป็นแนว ไม่แยกไม่แยะไม่พิสดารกว้างขวางเหมือนภาคปฏิบัติ เพราะภาคปริยัติเรียนก็ต้องเรียนตามตำรับตำรา ตำราว่ายังไงเราก็ต้องเรียนต้องจำไปตามนั้น ถ้านอกจากนั้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องแหวกแนวไป แต่ทางภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับท่านยกไม้ทั้งท่อนให้ เอ้า เอาไปเลื่อยเอง ไปเลื่อยเอานะ ไม้ท่อนนี้จะเลื่อยให้เป็นอะไร ๆ เอ้า เลื่อยไป เลื่อยออกจาระไนออกไป จะทำเป็นบ้านเป็นเรือนเป็นตึกรามบ้านช่อง เป็นตู้เป็นหีบเป็นอะไรได้ทั้งนั้นจากไม้ท่อนนี้

        นี่ก็ท่านยกธรรมขึ้นมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้เป็นเหมือนกับว่าไม้ทั้งท่อนซุงทั้งท่อน ให้เราจาระไนด้วยปัญญาของเรา แยกแยะเข้าไปจนถึงภายในอาการ ๓๒ ดูตลอดทั่วถึงชัดเจนด้วยปัญญาแล้ววางกันเลย ไม่ต้องบอกว่าปล่อยก็ปล่อยเอง ที่มันยึดมันถือเพราะความไม่รู้นั่นเองมันถึงยึดถึงถือ เมื่อรู้แจ้งชัดเจนแล้วบังคับให้ยึดก็ไม่ยึด ปล่อยสลัดปัดทิ้งไปได้หมด นี่จิตใจโล่ง สติปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นที่ผาดโผนโจนทะยาน เพราะราคะตัณหานี้มันเหนียวแน่นมั่นคงมาก ในโลกอันนี้ไม่มีอะไรเหนียวแน่นยิ่งกว่าราคะตัณหานี้ มันผูกมันมัดสัตว์โลกทั้งหลายให้จมอยู่ตลอดเวลาเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ และสร้างกองทุกข์ขึ้นในขณะเดียวกันๆ ให้เราเห็นชัดเจนอยู่ประจักษ์ ใครจะเรียนมากเรียนน้อยเรียนสูงเรียนต่ำประการใดก็ตาม ถ้าแก้ไขชำระมันไม่ได้ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นเครื่องมือให้กิเลสมันสับมันฟันเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พินิจพิจารณาในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่เรียกว่าปัญญาขั้นหนึ่ง

        ปัญญาขั้นนี้ผาดโผนโจนทะยาน รวดเร็วก็รวดเร็ว หนักก็หนัก จึงเรียกว่าผาดโผนโจนทะยาน เพราะกิเลสประเภทนี้หนัก พอได้ผ่านธรรมชาตินี้ไปแล้วจิตของเราจะไม่มีเรื่องรูปเรื่องร่างเรื่องหญิงเรื่องชายเรี่องเขาเรื่องเรา  เรื่องสวยเรื่องงามจะไม่ปรากฏเลย จากสุภะเป็นอสุภะ จากอสุภะแล้วทั้งอสุภะก็ไม่เป็น สุภะก็ไม่เป็น ปล่อยวางไว้ตามเป็นจริงในสภาพมันตามความเป็นจริงของมัน แล้วจิตผ่านออกไปในท่ามกลางแห่งความเป็นสุภะและอสุภะ นี่ก็เรียกว่ามัชฌิมาอันหนึ่งของจิตที่ก้าวเดินด้วยปัญญา เมื่อพอแล้วทั้งสุภะทั้งอสุภะไม่ยึดไม่ถือทั้งนั้น รู้เท่าตามเป็นจริงหมดแล้วปล่อย

        เมื่อปล่อยนี้แล้วจิตใจจะเบาหวิวๆ ไม่มีอะไรมากดถ่วง เพราะฉะนั้นพระอนาคามีท่านผู้ที่สิ้นธรรมชาติอันนี้ไปแล้วท่านจึงไม่กลับมาเกิดอีก เพราะไม่มีเครื่องดึงดูด อันนี้ดึงดูดมากให้สัตว์ทั้งหลายเกิดแก่เจ็บตายตลอดเวลาเรื่อยมา และยังจะเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุดจุดหมายปลายทางด้วย ถ้าหากว่าฆ่าธรรมชาติตัวดึงดูดนี้ไม่ได้ด้วยอำนาจของปัญญา นี่จึงเป็นประโยคสำคัญมาก อันนี้หนักมาก การพิจารณาก็หนักมาก ต้องเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน พอผ่านอันนี้ไปแล้วจิตใจจะเบาโล่งว่างไปหมด ไม่มีเครื่องดึงดูด จิตใจจะเบาตัวไปโดยลำดับลำดา เพราะฉะนั้นพระอนาคามีจึงเป็นใจในหลักธรรมชาติคืออัตโนมัติ ค่อยชำระตัวเองไป

        คำว่าอัตโนมัตินี้ก็รู้สึกว่าหยาบ ถ้าเทียบแล้วก็เหมือนกับผลไม้เมื่อแก่แล้วเป็นยังไง มีแต่ทางจะสุกโดยถ่ายเดียว ก่อนจะสุกนั้นมันทำหน้าที่อะไรของมัน ผลไม้ที่แก่แล้วนั้นมันจึงจะห่ามไปได้ มันจึงจะสุกไปได้ มันทำงานของมันอย่างไร อันนี้ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ไม่มีคำที่จะพูดก็เรียกว่าอัตโนมัติ จิตถึงขั้นพระอนาคามีแล้วย่อมเป็นจิตอัตโนมัติที่จะหมุนตัวไปเพื่อความหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว ไม่มีคำว่าถอยกลับ กิเลสตัวให้ถอยกลับ ๆ มีแต่กิเลสราคะตัณหานี้เป็นสำคัญมาก ที่ดึงดูดและฉุดกระชากโลกทั้งหลายให้จมแน่ว ๆ จนไม่รู้จักบุญจักบาป ตกนรกอเวจีมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนก็เพราะอันนี้เองเป็นสำคัญ เมื่อผ่านนี้ไปแล้วจะโล่งไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรมากวนใจ จิตมีแต่ความสงบเย็นใจ อย่างเบาไม่ใช่สงบแบบสมาธิ เลยสมาธินั้นไปแล้ว เป็นความว่างเปล่าจากสัตว์จากบุคคล นี่อำนาจของปัญญา ท่านเรียกว่าปัญญา อันนี้ก็อยู่ในขั้นปัญญา

        ท่านว่า ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ นี่แหละขั้นนี้แล จิตที่ปัญญาอบรมแล้ว ซักฟอกแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ คือหลุดพ้นอย่างนี้แล หลุดพ้นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ตั้งแต่ขั้นหยาบๆ มีราคะตัณหานี้เป็นต้น จนกระทั่งอันนี้พังทลายไปหมดจากหัวใจก็รู้ได้ชัดตามเป็นจริง นี่ก็เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก หรือเรียกว่าปฏิเวธธรรม ปรากฏอยู่ในผู้ปฏิบัติเห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องไปถามใคร พูดแล้วสาธุ แม้พระพุทธเจ้าจะมาประทับอยู่ตรงหน้านี้ก็ไม่ทูลถามพระองค์ เพราะ สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศกังวานมาแล้ว ด้วยโอวาทของพระพุทธเจ้านั้นแลจะเป็นโอวาทของใคร ประจักษ์ใจ เพราะเป็นหลักธรรมชาติอันเดียวกัน รู้ได้ชัดเป็นลำดับลำดา ท่านจึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก จากนั้นจิตก็ว่างเปล่าไป ปัญญาประเภทนี้เรียกว่าปัญญาอัตโนมัติ ถ้าในปริยัติของเราท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา

        สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟังหนึ่ง จินตามยปัญญา ปัญญาที่พินิจพิจารณาใคร่ครวญแล้วเกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมาหนึ่ง ภาวนามยปัญญา นี้เกิดขึ้นทางด้านภาวนาล้วนๆ ได้แก่ภาวนาที่มีสมาธิหนุนตัวแล้วเกิดความคล่องแคล่วว่องไว เห็นเหตุเห็นผล เห็นดีเห็นชั่ว เห็นโทษเห็นคุณ ของกิเลสและธรรมไปโดยลำดับลำดาแล้วหมุนตัวไปเอง นี่ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา คือหมุนไปในหลักธรรมชาติของตัวเอง  อันนี้ถ้าจิตไม่เป็นด้วยตัวเองแล้ว เราเรียนในปริยัติเราก็จำได้ดังที่ท่าน ๆ เรา ๆ เรียนกันนั่นแหละ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ก็ได้เพียงเท่านั้น ไม่ทราบสาเหตุเป็นมาอย่างไร ภาวนามยปัญญานี้ต้องเกิดขึ้นจากอำนาจของปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นผล แล้วหมุนตัวไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงธรรมขั้นละเอียดกลายเป็นมหาสติมหาปัญญา ไปจากภาวนามยปัญญานี้ทั้งนั้น

        ธรรมเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนเวลานี้ สวากขาตธรรมครอบไว้หมดแล้ว อกาลิโกครอบไว้หมด ไม่มีคำว่าเรียวว่าแหลม ไม่มีว่าครั้งโน้นศาสนาเจริญครั้งนี้ศาสนาเสื่อม มันเสื่อมที่หัวใจของคน เจริญที่หัวใจของผู้ปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติครั้งไหนก็เป็นครั้งนั้น กิเลสเหยียบย่ำทำลายหัวใจตลอดเวลาหาความสุขความสบายไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติด้วยสวากขาตธรรมนี้แล้ว ยังไงก็เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยลำดับลำดา เสมอต้นเสมอปลาย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่นั้นแล นี่เรียกว่าปัญญาประเภทหนึ่ง ปัญญาขั้นภาวนามยปัญญา

        พอทะลุอันนี้ไปเรื่องราคะตัณหาเกี่ยวกับสุภะอสุภะอสุภังนี้ไปแล้ว การพิจารณาทางด้านปัญญาจะไม่หมุนไปทางสุภะอสุภะ จะหมุนไปทาง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา พิจารณาอารมณ์ต่างๆ รูปร่างกายทั้งของเขาของเรารู้เท่าทันไปหมดแล้ว จิตจะหมดปัญหาในการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับว่าอิ่มตัว เหมือนเรารับประทานอิ่มแล้ว พิจารณาร่างกายนี้รู้หมดทุกสัดทุกส่วนจนปล่อยวางไว้ตามความจริงของมันหมด ไม่มีอะไรที่จะมายึดมาถือในร่างกายนี้แล้ว เรียกว่ารูปขันธ์ได้ปล่อยวางไว้แล้ว ทีนี้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นนามขันธ์ ปัญญาประเภทหนึ่งจะตามกันไปในนี้ นี่เรียกปัญญาละเอียด นี่ก็ต้องใช้ภาวนามยปัญญาเหมือนกัน แต่เป็นภาวนามยปัญญาขั้นละเอียดลงไปโดยลำดับลำดา

        เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เกิดขึ้นภายในกายในจิต เพราะจิตยังไม่บริสุทธิ์ย่อมมีเวทนาเป็นธรรมดาเป็นส่วนละเอียด เป็นสุขเวทนาก็มี ทุกขเวทนาก็จะต้องเป็นคู่เคียงกันไป  พินิจพิจารณาสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเกิดเรื่องดับ เป็นเรื่อง  อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นหินลับปัญญาในขั้นนี้เป็นลำดับลำดา และหมุนตัวเข้าไป ๆ ด้วยอัตโนมัติของปัญญา เรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นไปเองไม่ต้องบังคับ ถึงปัญญาขั้นนี้แล้วไม่ต้องบังคับ เป็นอัตโนมัติหมุนไปในหลักธรรมชาติ จนกระทั่งว่ากิเลสมุดมอดไปเมื่อไรโน้นแล ปัญญาประเภทนี้จึงจะหยุดอยู่ได้ ถ้ากิเลสยังมีเชื้อสืบต่ออยู่ ตปธรรมคือปัญญาประเภทนี้จะต้องหมุนตัวไปเรื่อยๆ เผาไหม้ไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเผาไหม้เข้าไป

        เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้อะไรเป็นฐานของมัน ก็มีแต่จิตเป็นฐานของมัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คนตายไม่มีเวทนา แต่นี้คนเป็นมีเวทนา เวทนาต้องออกมาจากจิต สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดแล้วดับๆ จำได้ไม่ว่าดีว่าชั่ว ปรุงเรื่องอะไรเกิดแล้วดับๆ สติปัญญาตามต้อนกันจนทันเข้าไปโดยลำดับลำดา ปล่อยวางเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปล่อยวางหมด ขันธ์ ๕ ปล่อยวางหมด รูปก็ปล่อยแล้วตั้งแต่ขั้นราคะตัณหา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ปล่อยแล้วในขั้นกลาง นี่ปัญญา ขั้นละเอียดแล้วนะสำหรับปัญญา เข้าเป็นขั้นละเอียดแล้ว แต่เราพูดเป็นขั้นก็ว่าขั้นกลาง ขั้นสุดท้ายคืออะไร คืออวิชชา นี่เป็นขั้นสุดท้าย

        เมื่อตีต้อนสิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วยปัญญาเป็นลำดับลำดา ไม่มีที่ไป บรรดากิเลสทั้งหลายถูกตีต้อนเข้ามาตั้งแต่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มันไปติดไปข้องรูปใดเสียงใดภายนอก ร่างกายของเรานี่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปสัมผัสสัมพันธ์อะไรก็รู้เท่าหมด เวลาได้รู้เท่าร่างกายก็รู้เท่ารูปภายนอกในเวลาเดียวกัน ปล่อยวางได้ในเวลาเดียวกัน แล้วก็มาติดส่วนละเอียดอยู่ภายใน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญญาพิจารณาเข้าไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งรู้เท่าทันแล้วเข้าถึงจิต จิตเป็นยังไงจิต จิตอวิชชา อวิชชาไม่มีที่อยู่เข้าถึงจิต ไปหลบซ่อนอยู่ในจิต การพิจารณาจึงไม่มีไว้มีเว้น

        เอ้า อะไรจะพังก็ให้พัง จิตเมื่ออวิชชาเข้าไปหลบซ่อนอยู่นั้นก็เหมือนอุโมงค์ที่เป็นที่หลบซ่อนของโจร ถ้าเราจะยังเสียดายอุโมงค์อยู่ เราไม่ทำลายอุโมงค์นั้นโจรก็จะอยู่ในอุโมงค์นั้น แล้วทำลายเราจนได้ เพราะฉะนั้นอุโมงค์ก็อุโมงค์ ถ้าโจรยังมีอยู่มากน้อย จะต้องทำลายอุโมงค์นี้ให้แตกกระจัดกระจายไปได้ฉันใด สติปัญญาขั้นแกล้วกล้าสามารถก็พังทะลายเข้าไปในจุดที่อวิชชาเข้าซ่อนตัวอยู่ในจิตนั้น เอ้า จิตจะพังก็ให้พัง เวลาถึงจุดสุดท้ายแล้วจะเป็นพระอรหันต์หัวตอก็ให้รู้ พิจารณาลงไปจนกระทั่งถึงพระอรหันต์หัวตอ ไม่รู้อะไรเลยเพราะถูกทำลายไปด้วยอวิชชาแล้ว ก็ให้มันรู้ ถ้ายังสงวนไว้ก็เท่ากับสงวนอวิชชา ไม่มีทางสงวน เปิดโล่งเข้าไปเลย ฟันเข้าไปแหลกจนกระทั่งแตกกระจายไปหมด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา กลายเป็น อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ จนกระทั่ง นิโรโธ โหติ นี่ลงจุดนี้

        นี่ละพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ที่อริยสัจ ๔ นี้  นี่ละอริยสัจ ๔ จะเป็นอะไรไป เราไม่เห็นเหรออริยสัจ ๔ มีอยู่กับทุกคน ๆ ศาสนาเสื่อมไปไหน ทุกข์ ทุกข์ที่กายที่ใจของเรานี่ก็คือทุกขสัจ สมุทัย ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี่ก็คือสมุทัย มันเกิดที่ไหน เกิดที่หัวใจของเรา ท่านบอกให้กำหนดรู้ให้ละ ละด้วยอะไรถ้าไม่ละด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ นี่ละอริยสัจทำงานเกี่ยวโยงกันในขณะเดียวกัน ไม่ใช่อริยสัจจะไปทำงาน ทุกข์ทำงานแล้วสมุทัยถึงจะไป นิโรธถึงจะเดิน มรรคถึงจะเดิน นั้นเป็นเรื่องปริยัติเราเรียนมา

        ถ้าจะเขียนลงในตัวเดียวกันมันก็อ่านไม่ออก ย้ำลงในที่นั่นมันก็อ่านไม่ออก เพราะฉะนั้นท่านถึงเรียงเอาไว้ว่า ทุกข์ เขียนทุกข์แล้วก็เขียนสมุทัย อ่านทุกข์แล้วก็อ่านสมุทัย แล้วก็อ่านมรรค หรืออ่านนิโรธแล้วก็อ่านมรรค แต่เวลามาปฏิบัติกันจะเกี่ยวโยงกันไปหมดเลยภาคปฏิบัติ เรื่องทุกข์ถึงกำหนดรู้นั่น สติเป็นเครื่องกระตุกตัวเอง ทุกข์เคยมีอยู่แล้ว ทุกข์ด้วยความเผอเรอของเราสามัญชนธรรมดาไปอย่างนั้นมีมาก แต่ทุกข์ที่จะกระเทือนสำหรับผู้ปฏิบัติก็ต้องมีสติ ท่านว่ายังไง ทุกฺขํ ว่าไง ทุกข์พึงกำหนดรู้ รู้ด้วยอะไรถ้าไม่ใช่รู้ด้วยสติ สติมีแล้วทุกข์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไรนั้นคือปัญญาก้าวไปแล้วนั่น ในขณะเดียวกันทำงานด้วยกัน พอพิจารณาเหตุผลตรงนี้ชัดเจนไปโดยลำดับ

        ดังที่กล่าวมาสักครู่นี้ในการพิจารณาทางด้านปัญญามันก็เป็นอย่างนั้น เกี่ยวโยงกันไปโดยลำดับ จนกระทั่งพังอวิชชาให้หมดไม่มีอะไรเหลือแล้วถามหาพระพุทธเจ้าทำไม พระพุทธเจ้าบอกว่ายังไง สวากขาตธรรมตรัสไว้ว่ายังไง ตรัสไว้ว่าให้ไปดูตถาคตที่เมืองอินเดียนะ อย่างนั้นเหรอ ให้ดูที่อริยสัจ อริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นที่กลั่นกรองเป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์ไม่มีเว้น พระสาวกอรหัตอรหันต์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ไม่มีเว้น จะหนีจากอริยสัจ ๔ นี้ไม่ได้เลย นี้เป็นโรงงานผลิตพระอรหันต์ ผลิตผู้สิ้นกิเลส ขึ้นที่ตรงนี้ด้วยกันทุกคน นี่เรียกว่าปัญญาขั้นสุดท้าย ภาวนามยปัญญาจนกลายเป็นมหาสติมหาปัญญา หาความเผลอไม่ได้ ไม่ได้บังคับ

        ลงสติเป็นมหาสติมหาปัญญาแล้วเป็นอัตโนมัติไปในหลักธรรมชาติของตน ไม่มีคำว่าเผลอ เผลอไปไหน ถ้าเผลออยู่จะเรียกว่ามหาสติมหาปัญญาได้ยังไง เมื่อเข้าถึงตัวแล้วก็รู้เองคนเรา เอ้า ขึ้นเวที มวยของเราขนาดไหน เพลงมวยของเราเป็นยังไง ทางมวยของเราเป็นยังไงของเขาเป็นยังไง ระหว่างเรากับเขาได้เปรียบ ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันก็รู้เอง เมื่อขึ้นเวทีแล้วพูดได้ คนเรารู้แล้วพูดไม่ได้มีเหรอ

        พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมาพระองค์เดียวเท่านั้น ทำไมสอนโลกได้ตั้งสามแดนโลกธาตุ ท่านเอาความรู้มาจากไหน เอาความรู้มาจากหลักธรรมชาตินั้นแล เพราะหลักธรรมชาติมีอยู่ทั่วแดนโลกธาตุ เมื่อทรงพิจารณาก็รู้เท่าไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นรกอเวจี สวรรค์ชั้นพรหม จนกระทั่งถึงนิพพาน สัตว์โลกมีมากมีน้อยเท่าไรพระองค์ทรงรู้ทรงเห็นไปหมด นี้คือหลักธรรมชาติมีอยู่ แล้วความรู้ในหลักธรรมชาติของตัวก็แทรกไปหมดรู้ทุกแห่งทุกหน แล้วทำไมจะมาสอนโลกไม่ได้ พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นสอนโลกได้สามแดนโลกธาตุ เป็นยังไง

        นี่ความรู้อันแท้จริง นี่ปฏิเวธะของพระพุทธเจ้า แล้วก็สอนให้พวกเราว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติศึกษาเล่าเรียนแล้วให้พากันตั้งใจปฏิบัติถ้าอยากทรงมรรคทรงผล ทรงความสุขความเจริญสงบเย็นใจจากพระพุทธศาสนา ให้พากันดำเนิน จะเป็นปฏิเวธะในอันดับต่อไป ปฏิเวธะก็เรื่อยๆ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงปฏิเวธะรู้แจ้งแทงทะลุ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่เคยก่อภพก่อชาติมากี่กัปกี่กัลป์ ได้พังทลายลงไปแล้วด้วยยอดแห่งมรรคคืออะไร คือมหาสติมหาปัญญา สติปัญญาอัตโนมัติ นี้แลคือยอดแห่งมรรค ทำลายยอดแห่งสมุทัยได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ให้กลายเป็น อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ จนกระทั่งถึง นิโรโธ โหติ

        นี่ละอริยสัจ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ สาวกทั้งหลายทุกพระองค์ไม่ผ่านนี้เสียก่อนจะปฏิญาณตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้ไม่ว่าท่านว่าใคร ไม่ว่าเราทุกวันนี้ก็เอาเถอะ อริยสัจมีอยู่สมบูรณ์กับเราทุก ๆ คน ให้ดำเนินตามนี้จะสมชื่อสมนามว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว ยังไม่ชอบเฉพาะพวกเรานี้เท่านั้นเอง ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ชอบผลก็จะปรากฏไม่ว่าครั้งโน้นครั้งนี้จะเสมอกัน เพราะธรรมพระพุทธเจ้าเสมอต้นเสมอปลาย เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เหมาะสมตลอดเวลา ใครทำชั่วได้ชั่ว ใครทำดีได้ดีตลอดเวลา ไม่มีที่จะเป็นอย่างอื่นไป

        วันนี้ได้อธิบายธรรมะให้บรรดาพระลูกพระหลานพระพี่พระน้อง ที่มาจากที่ต่างๆ ได้ฟังกัน ด้วยเจตนาเป็นกันเองตามโอกาสที่ควรจะได้สนทนาได้สงเคราะห์สงหากันก็มา ตามธรรมดาแล้วไม่เทศน์ในที่ต่างๆ แล้วทุกวันนี้ เพราะเทศน์หลงหน้าหลงหลังเหมือนคนไม่เคยเทศน์ งานต่าง ๆ ที่เคยรับแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ไม่รับแล้ว หยุดหมด นี่ก็ตั้งหน้าตั้งตามาสงเคราะห์บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลาย ให้พากันนำไปประพฤติปฏิบัติประดับตน ให้เป็นความสง่างามภายในจิตใจ อะไรงามก็สู้ใจงามไม่ได้ อะไรเย็นก็สู้ใจเย็นไม่ได้ เพราะอะไรร้อนก็สู้ใจร้อนไม่ได้ เมื่อแก้กันได้แล้วอะไรเย็นก็สู้ใจเย็นไม่ได้ เย็นนี่เย็นเพราะธรรมของพระพุทธเจ้านั้นแล   ขออย่าให้ห่างเหินจากอรรถจากธรรมแล้วจะมีความสงบร่มเย็น

        เรื่องของโลกมันเป็นอย่างนี้แหละอย่าพากันตื่น เรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องความทะเยอทะยาน มันเป็นฉากของกิเลสพาตีตลาดโลกทั้งหลายให้แหลก อันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี จะเอาอย่างนั้น ๆ แล้วสุดท้ายก็ตายทิ้งเปล่า ๆ กระดูกก็เอาไปไม่ได้ สมบัติเงินทองข้าวของมีมากมีน้อยทิ้งเกลื่อนอยู่โลกอันนี้ไม่มีใครเอาไปได้ แต่เวลายังมีชีวิตอยู่นี้ดีดดิ้นจนกระทั่งไม่รู้จักเป็นจักตาย นี่ก็เพราะอำนาจของสมุทัยกล่อมหัวใจสัตว์โลกนั้นแล ถ้ามีธรรมแล้วมันกล่อมไม่ได้นะ อะไรเป็นอะไรรู้หมด จึงเรียกว่าธรรม ธรรมเหนือโลกจึงเรียกว่าโลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลก ทุกอย่างธรรมต้องเหนือ ไม่เหนือแก้กันไม่ได้ ต้องเหนือตลอดเวลา

        ในอวสานแห่งการแสดงธรรมวันนี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่บรรดาท่านทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก