นอนใจจ่ายกิเลส
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2528 เวลา 19:00 น. ความยาว 76.21 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๘

นอนใจจ่ายกิเลส

เพียงเราสุขภาพลด ไม่ค่อยจะได้ทำอะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยเกี่ยวกับหมู่เพื่อน ก็เห็นความเหลวไหลของพระของเณรเด่นขึ้น ๆ แล้วนะ ยิ่งมาใหม่เรื่อย ๆ มาก็ระเกะระกะขวางหูขวางตาอยู่งั้นละ เจ้าของไม่รู้ เก้ง ๆ ก้าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ว่าตั้งใจมาศึกษา แต่ดูแล้วมันขวางอยู่อย่างนั้น เราไม่อยู่ก็ต้องแน่ใจว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่เราอยู่ก็ยังเห็นอยู่ชัด ๆ มองไปพับปิดไม่อยู่ ตลอดถึงการส่งเสียงก็เหมือนกัน เหมือนโรงลิเกละคร ทำให้ผิดปกติไปโดยลำดับลำดา เพราะครูบาอาจารย์ชำรุดทรุดโทรม ไม่ค่อยจะได้อบรมสั่งสอน ก็เป็นอย่างวัดทั้งหลายที่เห็นนั้น พระเณรเลยหากฎหาระเบียบไม่ได้ เลอะ ๆ เทอะ ๆ โลเลไปหมด มีมากเท่าไรยิ่งช่วยกันทำลายลง ๆ นี่ก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน เริ่มแล้วนะนี่

เพียงเราไม่ค่อยได้มาสนใจอะไรนัก ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ของเจ้าของเท่านั้น ก็เห็นแล้วความจะเริ่มเลอะ ๆ เทอะ ๆ ของหมู่คณะมันบอก ผู้ใหม่ก็มาเรื่อย ๆ หนักมากเข้าไปก็จะเอากิเลสออกจ่ายตลาดต่อกันเท่านั้นซิ ไม่ได้เอาธรรมออกจ่ายตลาด เลยวัดทั้งวัดพระเณรทั้งวัด กลายเป็นตลาดค้าขายจ่ายกิเลสกัน ไม่มีธรรมเป็นเครื่องจ่ายต่อกัน กลายเป็นเรื่องอวดดิบอวดดี ทะเลาะเบาะแว้งเพราะทิฐิมานะ ซึ่งล้วนแล้วแต่กิเลสทั้งนั้นออกจ่ายกัน จ่ายมากจ่ายน้อยจ่ายทั่ววัดทั่ววาทั่วพระทั่วเณร เพราะว่าใคร ๆ ก็มี คนนั้นก็ออกจ่ายคนนี้ก็ออกจ่าย สุดท้ายก็เลอะไปหมดเลย นี่คิดเต็มหัวใจ

ตลอดถึงประชาชนญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้องเหล่านี้ก็เหมือนกัน เราไม่ได้ไว้ใจพระเณรว่าจะปฏิบัติรอบคอบต่อเขาเพียงไร เรียบร้อยดีงามเพียงไร เพราะนิสัยของกิเลสมีอยู่ภายในตัวอยู่แล้ว อันนั้นจะออกก่อนแหละ ธรรมจะออกไม่ได้ มันบอกชัด ๆ อยู่นะ การรับประเคนสิ่งของก็เหมือนกันขวางหูขวางตา ประชาชนญาติโยมเขาไม่รู้กฎรู้ระเบียบ เขามาเกี่ยวข้องกับพระ พระจะบังคับใส่กฎใส่ระเบียบ ดุด่าว่ากล่าวเขาตามกฎตามระเบียบของพระทีเดียวก็ไม่เหมาะ

ถ้าผู้ใหญ่พูดเป็นอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่ดุเป็นอย่างหนึ่ง พระเณรทั้งหลายดุเป็นอย่างหนึ่ง ความรู้สึกของคนจะไม่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ดุเขามีความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่พระเณรไปดุเขาจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง จะเป็นแง่ลบไปหมดไม่มีคำว่าแง่บวก สำหรับครูบาอาจารย์ดุยังมีแง่บวก ถึงจะมีแง่ลบบ้างตามนิสัยของเขา แต่การแสดงออกของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นอรรถเป็นธรรมอยู่แล้วก็ไม่เสีย และเขาไม่เพ่งเล็งอะไรมากเหมือนผู้น้อย ถ้าผู้น้อยไปใช้กิริยาอาการอะไรกับเขานี่มันจะผิด ผิดกันอยู่มากกับครูบาอาจารย์แสดงออก อย่างนี้ให้พากันระมัดระวังนะ อย่าเห็นแก่ดุแก่ด่าแก่ว่าไป เอาแบบเอาฉบับครูบาอาจารย์ไปใช้ซึ่งไม่ใช่ฐานะที่ควรจะใช้สำหรับตัว นี้ผิดอย่านำไปใช้ ให้ใช้กิริยานิ่มนวลอ่อนหวานกับเขา ธรรมดาของพระผู้ปฏิบัติต้องเป็นความสวยงาม อย่าแสดงอาการโฮกฮาก ๆ ดุด่าขู่เข็ญเขาท่านั้นท่านี้ ผิด

เราวิตกมากเรื่องเหล่านี้ และก็มีได้ในวัดเรา ทำไมมีไม่ได้ คือเราสอนเพื่อวัดเรานี้ด้วยก่อนอื่น สอนพระเณรเรานี้ด้วยก่อนอื่น เพราะพระเณรเราจะเป็น เนื่องจากญาติโยมเขามาเกี่ยวข้องมากน้อยอยู่เสมอ ผมอยู่ผมไม่อยู่เขาก็มาอย่างนั้น การปฏิบัติต่อประชาชนญาติโยมจะรอบคอบขนาดไหน ดูพระดูเณรที่ควรจะรอบคอบไม่รอบคอบก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นี้แล้ว จะให้ไว้ใจที่ตรงไหนว่าจะราบรื่นดีงามต่อการต้อนรับขับสู้กัน มันต้องมีเป็นแบบฉบับของนิสัยเจ้าของนั่นแหละออกไป แบบหลักธรรมหลักวินัยนี้จะไม่มี เขาไม่รู้กฎระเบียบของวัด เขาผิดพลาดอะไรก็บอกเขาโดยดีให้รู้เรื่องรู้ราว การดุด่าว่ากล่าวเขา เขารู้เรื่องอะไร ผลดีไม่มี นอกจากให้เขายกโทษให้เขาเกลียด เกลียดพระเพียงองค์เดียวนี้ก็เกลียดทั้งวัด ไม่พอใจพระองค์เดียวก็เท่ากับไม่พอใจทั้งวัด เสียองค์เดียวก็เท่ากับเสียไปทั้งวัด นี่ละเกี่ยวโยงกันอยู่อย่างนี้

การรับประเคน ถ้าหากจำเป็นที่เขาจะมารับประเคนก่อนหลังอะไรก็รับให้เขาเสีย อย่าทำเป็นเมินเฉยไป ให้รู้ให้ดู ดูประชาชนดูฆราวาสญาติโยม เราอย่าไปดูแต่ว่าเราเป็นพระมีอำนาจวาสนามาก ว่าเขาจะเคารพเสมอไป ต้องดูความเหมาะสม พูดกับเขาก็พูดโดยดี พอเหมาะสมแล้วหยุดไม่พูดมาก พูดให้พอได้ถ้อยได้ความพอเหมาะพอดี หากถึงคราวจำเป็นที่จะต้องพูดที่จะต้องเกี่ยวข้องให้ระมัดระวังเสมอ อย่าพูดแบบพล่าม ๆ เป็นแบบเถระเถโรกับเขา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเถระในคุณธรรมตลอดอายุพรรษา เขามาก็เพื่อวัดเพื่อวาเพื่อครูเพื่ออาจารย์ หลักใหญ่เป็นอย่างนั้น เราต้องคิดเพื่อไปตามนั้น ไม่ได้คิดว่าเขานี่มาด้วยความเคารพเราเลื่อมใสเราถ่ายเดียว คนเรามีกิเลสมันต้องแบกมาหามมานั่นแหละ ไอ้เราก็มีกิเลสก็ออกจ่ายกันไป ผลได้ก็มีแต่ความล่มจมเสียหายกระทบกระเทือน ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ผมไม่ใช่จะอยู่กับหมู่กับเพื่อนตลอดไป ถ้าธาตุขันธ์เป็นดังที่เคยเป็นมาแล้ว ก็ต้องได้ปลีกเนื้อปลีกตัวออกไปสงบอารมณ์พอให้สบาย ๆ แล้วก็กลับมารับภาระเกี่ยวข้องกับหมู่คณะใหม่ หมู่เพื่อนอยู่เมื่อเชื่อธรรมแล้วก็ต้องถือหลักธรรมหลักวินัย เป็นครูเป็นอาจารย์เป็นศาสดา เท่ากับอยู่กับหัวใจเราทุกคน ถ้าอย่างนั้นก็งามตางามในใจของเรา งามในหมู่คณะ งามในการเกี่ยวข้องประสานกัน ทั้งระหว่างพระเณรด้วยกัน ทั้งระหว่างพระเณรกับประชาชนญาติโยม จะเป็นความเหมาะสมไปเรื่อย ๆ

อย่างผมใครก็ไม่ถือสา มันผิดกัน จะว่าอะไรใครผมก็ว่ามาพอแล้ว ประชาชนญาติโยมไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด เหตุผลที่ควรจะพูดหนักเบามากน้อยที่เห็นสมควรแล้วเราพูดได้ทั้งนั้น พูดแล้วก็ไม่ได้เป็นอารมณ์ว่าได้ขัดข้อง เพราะได้พูดหนักไปหรือเบาไปอย่างนี้ไม่มี เพราะเราแน่ใจในเหตุในผลที่พูดออกไปหนักเบามากน้อยเรียบร้อยแล้ว ใครจะนับถือไม่นับถือ เลื่อมใสไม่เลื่อมใส นั้นเป็นเรื่องของคน เรื่องของธรรมต้องคงเส้นคงวา ให้ถูกต้องตามหลักเหตุผล ทั้งแง่หนักเบามากน้อยในการพูด เราจึงไม่ได้วิตกวิจารณ์สำหรับเรา แต่หมู่เพื่อนนั่นซิจะพอดีหรือไม่พอดี ถ้าเจ้าของไม่พอดีแล้วจะแสดงออกแต่ความไม่พอดีนั่นแหละเป็นส่วนมาก จงพากันระมัดระวัง เราอยู่กับโลกถึงไม่เกี่ยวกับโลก ก็จำต้องได้เอาโลกมาพิจารณาเพื่อปฏิบัติต่อกันให้เหมาะสม จะทำยังไง ก็ต้องได้ปฏิบัติต่อกันอย่างที่ว่านี้อยู่โดยดี

มาศึกษาอบรมอย่าให้ได้หนักอกหนักใจนะ ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ เอาหลักธรรมหลักวินัยเป็นกฎเป็นเกณฑ์ เอาคำพูดคำจาซึ่งแสดงออกโดยเหตุโดยผลเป็นหลักเป็นเกณฑ์ อย่านำกิเลสออกมาพูดออกมาแสดงต่อกัน จะอยู่กับครูอาจารย์ก็ตาม ไม่อยู่กับครูอาจารย์ก็ตาม ผิดทั้งนั้น เพราะเวลานี้เรามาเพื่อจะฆ่ากิเลสกำจัดกิเลส ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ เราจะส่งเสริมธรรม อะไรจะเป็นธรรมอะไรจะเป็นวินัย นั่นละเป็นหลักของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักของครูอาจารย์ภายในใจเรา ให้เรานำอันนั้นมาใช้เสมออย่าให้ห่างไกลจากจิตใจ

ผมสั่งสอนหมู่เพื่อนมาก็มากต่อมาก ที่ออกสังคมมานี้ได้ ๓๐ กว่าปีแล้ว ทุ่มเทลงหมดทุกสิ่งทุกอย่าง การเทศน์ก็มากต่อมาก อัดเทปไว้ก็มากต่อมาก ดูจะไม่มีใครมากกว่าผมแหละเราพูดตามความจริง หนังสือก็มากต่อมากซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคติ เป็นอรรถเป็นธรรมจากสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นมาแสดง ถ้าจะเป็นประโยชน์ก็ควรจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้อ่านได้ยินได้ฟังได้ศึกษาไปโดยลำดับลำดา ไม่จำเป็นที่จะต้องมากอดแข้งกอดขาผมอยู่ตลอดไป

วันนี้เวลานี้ธาตุขันธ์มันชำรุด ไม่ได้ชำรุดเหมือนโรคทั้งหลายที่เป็นกัน โรคนี้มันโรคตายง่ายด้วย จึงต้องได้ระมัดระวังอยู่โดยลำพังเจ้าของ นอกจากจะพูดหรือไม่พูด พูดไปผลเสียก็มี แต่ไม่พูดหมู่เพื่อนก็ไม่ได้ข้อคิด ที่จะเป็นเครื่องเตือนตนเองให้มีความเข้มแข็งในอรรถในธรรมในความพากเพียร ก็จะมานอนใจอยู่ว่าเป็นของเที่ยงของแน่นหนาถาวร

นี่แสดงให้เห็นดังพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูด ผมไม่ได้ลืมนะ เวลาลงอุโบสถสังฆกรรมตอนบ่ายโมง เพราะพระมีจำนวนมากมาจากที่ต่าง ๆ ต้องเอาบ่ายโมงเป็นเวลาฟังปาฏิโมกข์ เช่นอย่างวัดนี้เป็นศูนย์กลาง วัดนั้น ๆ เต็มไปหมดในตำบลแถวนั้น ฉันจังหันแล้วต่างองค์ต่างมา พระ ๕๐-๖๐ ส่วนเณรที่ติดตามพระมาไม่นับ ท่านพูดเสมอเรื่องความตั้งอกตั้งใจ เรื่องการอยู่ด้วยกันไม่ใช่เป็นของจีรังถาวร ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรยึดอย่างมั่นใจอย่างตายใจท่านว่า ครูอาจารย์เป็นของไม่แน่นอน อย่านอนใจว่าได้มาอยู่กับครูกับอาจารย์แล้ว ว่าท่านจะอยู่ตลอดไปกับเรา

หนักเข้า ๆ ท่านก็เปิดออกมา ใครจะเข้มแข็งความพากความเพียรอะไรก็ให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเป็นอะไรภายในจิตใจ เอ้า ให้มาถามมาเล่าให้ฟัง ภิกษุเฒ่าจะแก้ให้ นั่นท่านว่าท่าน ภิกษุเฒ่า ๆ นี่เวลาภิกษุเฒ่าตายแล้วยากนะ ใครจะแก้เรื่องจิตใจทางด้านจิตตภาวนา นี่ไม่นานนะท่านย้ำลง ไม่เลย ๘๐ นะ นั่นฟังซี ท่านรู้ล่วงหน้าไว้หมดแล้ว ย่นเข้าไป ๆ ท่านจนนับข้อมือให้ดู นี่เวลานี้อายุก็เท่านั้นแล้ว และนับไปเท่านั้น ๆ พอถึงจุด ๘๐ ก็นี่มันนานอะไร พากันมานอนใจอยู่ได้เหรอ ถึงขนาดนั้นนะท่านพูด พูดเปิดใจเทียว ลูกศิษย์ลูกหาใครจะไปว่าท่านโอ้อวด พระเณรก็ไม่มีกิเลสเครื่องโอ้อวดภายในใจ ก็มีแต่สลดสังเวชเท่านั้น จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติก็เร่งท่านว่า

ไอ้เราเองก็เหมือนกับว่าจิตนี่มันสั่นริก ๆ อยู่ พอได้ยินอย่างนั้นแล้วความเพียรก็หนัก เวลาครูอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้พึ่งพาอาศัยร่มเงาท่านแก้ข้ออรรถข้อธรรมที่สงสัย ก็เร่งความเพียรเข้าเต็มที่ ๆ พอท่านย่างเข้า ๘๐ พับท่านก็เริ่มป่วยแหละ พอป่วยแล้วท่านบอกไว้เลยเชียว แน่ะฟังซิ ซึ่งท่านเคยป่วยเคยไข้มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เป็นไข้มาลาเรียเป็นไข้อะไร ท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตาย แต่พอเป็นคราวนี้เพียงเริ่มเป็นเท่านั้นไม่ได้มากอะไรเลย ท่านบอกว่าผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ เพราะเราอยู่อำเภอวาริชภูมิ เราไปถึงวันค่ำหนึ่ง ท่านก็ป่วยวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ผมจำได้ขนาดนั้นนะ

วันค่ำหนึ่งเราก็ไปถึงท่าน ผมเริ่มป่วยตั้งแต่วานซืน วานซืนก็หมายถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ นี่ป่วยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายนะ ไม่หาย ยาจากเทวดาชั้นพรหมไหน ๆ ก็มาเถอะท่านว่า ไม่มียาขนานใดในโลกนี้จะมาแก้ให้หาย ไข้นี้จึงเป็นไข้สุดท้าย แต่ไม่ตายง่ายนะ เป็นโรคทรมาน เขาเรียกว่าโรคคนแก่ อย่าไปหาหยูกหายามาใส่มารักษา มันเป็นไปตามสภาพของขันธ์นี้แหละ ท่านว่าอย่างนั้น เอามารักษาก็เหมือนกับใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำไม้ที่ตายยืนต้นแล้วนั่นแหละ จะให้มันผลิดอกออกใบออกผลเป็นไปไม่ได้ ยังแต่เวลาของมันเหลืออยู่ที่จะล้มลงจมแผ่นดินเท่านั้น นี่ก็อยู่แต่มันยังไม่ล้มเท่านั้นเอง จะให้หายด้วยยาไม่หายนะ นี่เพียงเริ่มเป็นเท่านั้นท่านบอกแล้ว แน่ไหมท่านอาจารย์มั่น ฟังซิ ผมถึงได้กราบสุดหัวใจผม ท่านเปิดออกมาอย่างนั้นไม่มีอะไรผิด ย่างเข้า ๘๐ ไม่เลย ๘๐ หนา ก็ฟังซิ

โรคนี้เป็นไข้วาระสุดท้าย จะไม่หายจนกระทั่งตาย จะตายด้วยป่วยคราวนี้แหละท่านว่า แต่ไม่ตายง่าย เป็นโรคทรมาน ก็จริงตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๑๒ ฟังซิ ๗-๘ เดือนท่านเริ่มป่วยไปเรื่อย ๆ เหมือนกับค่อยสุมเข้าไป ๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างว่านั้น นั่นละความรู้ของท่านละเอียดลออ ผิดกันไหมกับความรู้ของพวกเรา นี่แหละความสามารถฉลาดรู้ของจิต จะมาวัดมาเหวี่ยงมาเทียบเคียงกันไม่ได้

เรื่องจิตเป็นของพิสดารมากทีเดียว อย่างภูมิของพระพุทธเจ้ากับภูมิของสาวกนี้ แม้จะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยกันก็ตาม แต่ภูมิความรู้ที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพกว้างขวางลึกซึ้ง ไม่มีภูมิใดเกินภูมิของพระพุทธเจ้า แน่ะ แม้ความบริสุทธิ์จะเสมอกันก็ตาม นี่เป็นอย่างนั้น

เรื่องของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ปฏิบัติมาด้วยดีแล้วในธรรมก็เหมือนกัน ธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังจะได้ยินได้ฟังจากท่านทั้งนั้น ไม่เห็นไม่มีในคัมภีร์ หาจนวันตายก็ไม่เจอ ธรรมที่ออกมาจากภาคปฏิบัติ ออกมาจากจิตใจของท่านล้วน ๆ จะไม่ปรากฏในตำรับตำราเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเอาเพียงตำรับตำรานั้นมากั้นมากาง มากีดมากันความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย

ดังพระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว ธรรมมีขนาดไหนที่ทรงแสดง ก็ไปจดจารึกได้เพียงกอบหนึ่งกำหนึ่งเท่านั้น จะมาอวดได้หรือคัมภีร์ ความรู้ที่นอกคัมภีร์ซึ่งไม่สามารถจะจดจำเอาจากท่านได้นั้นมีเท่ากับน้ำมหาสมุทร กว้างขวางขนาดไหนลึกซึ้งขนาดไหน ผู้ไปจดจารึกมาก็ขึ้นอยู่กับนิสัยอีก ไม่ทราบว่านิสัยนั้นเป็นนิสัยอะไร ความรู้ความสามารถขนาดไหน พอที่จะจดจารึกธรรมของท่านมาได้ให้เต็มสัดเต็มส่วน นี่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

ถ้าเป็นปุถุชนไปจดจารึกมาก็จะได้แค่ความจำ ความจริงยังไม่ได้ปรากฏขึ้นมา ไม่วิ่งประสานกันเลยกับความจริงของท่านที่แสดงออก จะได้แต่ความจำออกมา แม้จะเป็นความดิบความดีเป็นแนวทางสำหรับผู้ปฏิบัติก็ตาม แต่จะให้ลึกซึ้งเต็มที่เหมือนภูมิของท่านผู้บริสุทธิ์ไปจดจารึกมานั้นไม่เหมือน ผิดกันคนละโลกเลย เพราะธรรมนี้เป็นปัจจุบันธรรม พระพุทธเจ้านิพพานไปนานเพียงไรก็ตาม ความจริงเมื่อเข้าถึงแล้วจะเหมือนกัน วิ่งสะเทือนถึงกันหมด นั่นละความจริงต่อความจริงเข้ากันได้ รื้อฟื้นออกมาได้เต็มกำลังความสามารถแห่งภูมิพระอรหันต์องค์นั้น ๆ นั่นจะได้ความจริงออกมา

ถ้าเป็นปุถุชนแล้วจะได้แต่ความจดความจำมาอย่างลอย ๆ นี่ผิดกันอย่างนั้น เพียงในสมัยปัจจุบันนี้อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์นี้ ไม่มีใครที่จะเอามาแข่งกันได้แล้วผมยอมรับ ดังที่พูดไว้ในปัญหา(คำถาม-คำตอบ) นั้น วันหนึ่ง ๆ ธรรมะเกิดขึ้นนี้ไม่มีประมาณเลยท่านว่า ฟังซิ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ขึ้นมา ไม่เคยเห็นก็เห็นขึ้นมา ไม่ว่าส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ไม่คาดไม่ฝันว่าจะรู้จะเห็นจะเป็นขึ้นมา เป็นขึ้นมาอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ไม่มีกาลสถานที่อิริยาบถเลยท่านว่า เป็นขึ้นมาได้ทุกเวล่ำเวลา นั่นฟังซิ จึงได้เชื่อเรื่องพระพุทธเจ้า ภูมิของศาสดาว่ากว้างขวางลึกซึ้งเท่ากับท้องฟ้ามหาสมุทร ท่านว่าอย่างนั้น

ก็จิตดวงนั้นเป็นสถานที่เกิดแห่งธรรมทั้งหลาย แล้วลบล้างกิเลสซึ่งเป็นผู้ผลิตเรื่องของตัวขึ้นมาตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใด ซึ่งเป็นโรงงานของมัน ได้ลบล้างออกจากจิตดวงนั้นไปหมดโดยสิ้นเชิง จิตดวงนั้นเป็นธรรมทั้งดวง ทำไมกระดิกออกมาจะไม่เป็นธรรม พอแย็บออกมาก็เป็นธรรมแสดงออกมา ๆ กิเลสไม่มีอยู่ในนั้นจะเอาอะไรมาแสดงกีดขวางธรรม เพราะจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว มีแต่ธรรมทำงานทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่บริสุทธิ์แล้วก็ทำงาน

ธรรมเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าแต่ยังไม่บริสุทธิ์ต้องคิดค้นอุบายขึ้นมาโดยอัตโนมัติให้เป็นอรรถเป็นธรรมเพื่อแก้กิเลสเลยแหละ ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วก็ยังต้องเป็น เป็นพัก ๆ พัก ๆ ไป ถ้ามีข้อสัมผัสสัมพันธ์อะไรที่ควรจะพิจารณาให้กว้างแคบหนักเบาแค่ไหน จะต้องแสดงเต็มภูมิจนกระทั่งหายสงสัย ในแง่อรรถแง่ธรรมลึกตื้นหยาบละเอียดนั้น ๆ แล้วถึงจะยุติ แล้วก็มีเรื่องผ่านมาอีก ผ่านขึ้นมาอีก ที่ควรจะได้พิจารณาอีกไปอยู่เรื่อย ๆ อย่างนั้น รู้อยู่เรื่อย ๆ อย่างนั้น เป็นขึ้นมาเอง ๆ เพราะกิเลสไม่มี สิ่งที่จะมากีดขวางจิตใจไม่มีในจิตดวงนั้น มีแต่ธรรมทั้งแท่งธรรมทั้งดวง จิตทั้งดวงเป็นธรรมทั้งนั้น จึงมีแต่ธรรมออกแสดงล้วน ๆ ความจริงเต็มสัดเต็มส่วน นี่ละต่างกันอย่างนี้ จิตของท่านผู้บริสุทธิ์กับจิตที่มีกิเลสคอยกีดคอยขวาง คอยบีบบังคับอรรถธรรมให้เกิดไม่ได้ ต่างกันอย่างนี้

สิ่งที่เคยรักก็ไม่รัก ที่เคยชังเคยเกลียดเคยโกรธ ก็ไม่มีอะไรมาเกลียดมาโกรธมารักมาชัง เพราะมันหมด สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสทั้งนั้น มีแต่หลักธรรมชาติตามความจริง ๆ เห็นแล้วผ่านไป รู้แล้วผ่านไป ได้ยินแล้วผ่านไป โดยไม่ต้องกีดต้องขวางต้องต้านทานกัน ต้องบังคับบัญชาต่อสู้กันเหมือนแต่ก่อน เพียงได้เห็นได้ยินได้ฟังก็ผ่าน ๆ นั่นละจิตของท่านผู้บริสุทธิ์เป็นอย่างนั้น ที่นี่จิตของพวกเราไม่เป็นอย่างนั้นซิ มันเป็นคลังกิเลส แย็บออกมาอันไหนมีแต่เรื่องของกิเลส ทำให้หงุด ๆ หงิด ๆ ให้วุ่นให้วาย มีแต่กิเลสทำให้วุ่นให้วาย ธรรมแท้ไม่มีเรื่องเหล่านี้ ให้อิดหนาระอาใจ ให้อ่อนแอท้อแท้ในคุณงามความดีทั้งหลาย ให้มันฉุดลงไป ๆ เรื่อย ๆ เพราะมันมีอยู่ในนั้น มันดึงดูดมันฉุดมันลากตลอดเวลา

ถ้าไม่ฝืนกันจริง ๆ แล้วไปไม่รอดให้มันแหละ จนกว่าสติปัญญามีกำลังเพราะความเพียรหนุนไม่หยุดไม่ถอย สิ่งต่ำทรามทั้งหลายจึงจะค่อยลดตัวลงไป ๆ กำลังของธรรมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปกำลังทางฝ่ายด้านธรรมะนี้ก็หนักมากกว่า มีกำลังมากกว่าก็กำจัดกันได้ง่าย ๆ ลงไปโดยลำดับ จนถึงขนาดกิเลสตัวฉลาดมันหมอบมันหลบมันหลีก แล้วตามต้อนกันด้วยอรรถด้วยธรรม ด้วยปัญญาอย่างเกรียงไกร เอารื้อฟื้นขึ้นมาได้หมด หลบซ่อนอยู่ที่ไหนก็ไม่มีเหลือ ถึงขั้นปัญญานี้ได้เกิดขึ้นแล้วกิเลสมีเท่าไรนับวันได้เลย

นี่เป็นอัตโนมัติ เป็นหลักธรรมชาติ เพราะฉะนั้นพระอนาคามีท่านตั้งแต่ได้ระดับพระอนาคามีแล้ว จึงเป็นอัตโนมัติในจิตดวงนั้น เช่นเดียวกับผลไม้ที่เริ่มห่ามแล้วนั่นละเทียบกับขั้นอนาคา แก่เต็มที่แล้วก็จะค่อยสุกไปเรื่อย ๆ แก่ไปเรื่อย ๆ จะเอาลงมาบ่มหรือให้อยู่กับต้นก็ไม่พ้นที่จะสุก นั่นเป็นอัตโนมัติแล้ว ไม่มีคำว่าจะเหี่ยวจะแห้งจะเน่าจะเสียไป เหมือนจิตที่ยังไม่แน่นอน เหมือนผลไม้ที่ยังไม่แน่นอนต่อความสุก เมื่อมันแก่แล้วจนกระทั่งถึงขั้นห่ามแล้วนั้นยังไงก็ไม่เป็นอื่น จะไปในทางสุกโดยถ่ายเดียว จิตเมื่อได้ระดับแล้วก็เหมือนกัน จะค่อยแก่เป็นหลักธรรมชาติของตัวเองไปเรื่อย ๆ

นี่ที่ว่าท่านเลื่อนขึ้นไปอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา คือความเปลี่ยนแปลงของจิต ค่อยเปลี่ยนแปลงตัวเองไปโดยหลักธรรมชาติของขั้นพระอนาคามี ค่อยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุกเต็มที่แล้วท่านว่านิพพาน นั่นอย่างนั้น ไม่กลับมาเกิดอีก เป็นจิตที่แน่นอนตายตัวต่อความบริสุทธิ์โดยถ่ายเดียว คำว่าแน่นอนก็มีหลายขั้น เช่นอย่างพระโสดานี้ก็แน่นอนว่าเท่านั้นชาติเท่านี้ชาติ ท่านจะมาเกิดได้เท่านั้นเท่านี้ นี่เพียงความแน่นอนอันหนึ่ง แต่ไม่มีกาลเวล่ำเวลาบังคับอะไรมาก บางทีถึง ๗ ชาติ แน่ะ ไปถึง ๗ ชาติ นั่นก็มี ๓ ชาติก็มี ชั้นหนึ่ง เอกพีชี มาเกิดอีกชาติเดียว หรือสำเร็จพระโสดาแล้วขึ้นอรหัตอรหันต์เลยในชาตินั้นก็ได้

แต่ส่วนมากที่ว่า เอกพีชี ในชาติเดียวนี้ คงหมายถึงว่ามาเกิดอีกชาติเดียว ผู้ที่บรรลุพระโสดาแล้วก้าวไปเรื่อย ๆ เช่น พระอานนท์ ไม่ได้ยินท่านว่าเป็นเอกพีชีนี่ เพราะเป็นชาติปัจจุบัน ไม่ใช่ชาติสืบต่อจากชาตินี้ไปพอที่จะเรียกว่าเอกพีชี มีพืชอันหนึ่งที่จะมาเกิดอีกทีหนึ่ง นั่นจิตเป็นอย่างนั้นเมื่อถึงขั้นเป็นไป แม้แต่ภายในจิตของเรานักปฏิบัติเมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็ทราบชัด ๆ คือมันหมุนไปเองนะ สติปัญญาหมุนไปเอง ความเพียรเป็นไปเองไม่ต้องบังคับบัญชา นอกจากต้องรั้งเอาไว้ในกาลที่ควรรั้ง

ความท้อแท้อ่อนแอเหลวไหล ความขี้เกียจขี้คร้านซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสนี้หายหน้าไปหมด มีแต่ความบึกบึน มีแต่ความมุ่งมั่นหมั่นเพียรให้หลุดให้พ้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้นเต็มหัวใจ สติปัญญาก็หมุนตัวไปอย่างนั้น ความเพียรก็เป็นไปตามสติปัญญา ยืนเดินนั่งนอนมีแต่ความเพียรที่จะละจะถอดจะถอน ที่จะหลบจะหลีก ที่จะแก้จะไขกิเลสอยู่ภายในจิตใจตลอดเวลา นั่นเป็นอัตโนมัติ ทีนี้จิตก็ค่อยเปลี่ยนภูมิของตัวเองไปในนั้น เปลี่ยนเข้าไป ๆ ผลสุดท้ายก็พุ่งถึงหลักชัยโดยสมบูรณ์ในชาตินั้น คือมันเป็นเองรู้ชัด ๆ อยู่ภายในใจ

เพราะฉะนั้นพระอนาคามีเมื่อตายไปแล้วท่านจึงไม่กลับมาเกิด เพราะเป็นหลักธรรมชาติอันนี้เอง แก่ไปเอง ๆ โดยหลักธรรมชาติ เหมือนผลไม้ที่แก่เต็มที่แล้วก็เริ่มห่าม ๆ ไม่ไปสุกจะไปไหน ก็ต้องไปหาความสุกงอม จิตเราก็สุกเหมือนกันอย่างนั้น ถึงขั้นยังไม่แน่นอนก็ต้องได้ล้มลุกคลุกคลาน ขั้นเริ่มต้นนี่หนัก พอได้สมาธิความสงบใจขึ้นมาแล้ว จะเบาบางจากอารมณ์ทั้งหลายที่ก่อกวนไปโดยลำดับลำดา พอถึงขั้นวิปัสสนาแล้วเปิดโลกแหละที่นี่ ควรจะพิจารณากว้างแคบขนาดไหนหากเป็นเต็มภูมิของใจ เป็นไปเอง

ธรรมที่กล่าวมาอยู่นี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่หัวใจของผู้ปฏิบัติด้วยกันทุกคน ศาสนาก็คือธรรมเป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยมีอยู่กับทุกคน ให้ตั้งใจปฏิบัติ อย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ เหลว ๆ ไหล ๆ ให้หนักใจ ผู้ที่จะก้าวให้พ้นจากทุกข์ไม่ใช่ผู้เหลาะ ๆ แหละ ๆ ความเหลาะ ๆ แหละ ๆ เหลว ๆ ไหล ๆ เป็นเรื่องของกิเลสทำงานบนหัวใจเรา บนกายวาจาใจเรา ไม่ใช่เรื่องธรรม ความจริงความจังความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรม ความพากความเพียรอันเป็นเรื่องที่จะชำระกิเลสเท่านั้นเป็นเรื่องของธรรม

ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ผมเรื่องเป็นห่วง ห่วงหมู่เพื่อน ไปอยู่ไหนก็ห่วง เพราะรู้แล้วว่าต่างองค์ต่างมาหวังพึ่งเรา นี่เราก็หัวใจคนทำไมจะไม่รู้เรื่องหัวใจของหมู่เพื่อน ความมุ่งหมายความประสงค์ของหมู่เพื่อน เวลาจำเป็นจะควรเป็นอย่างนั้นก็ต้องได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่ปฏิบัติอย่างนั้นไม่ได้ เวลาอยู่ก็ให้ตั้งอกตั้งใจ อย่ามองกันในแง่ร้าย หลักใหญ่ให้มองกันในแง่เมตตาแง่ให้อภัยเสมอ ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย ธรรมเป็นธรรมชาติเสมอภาค ให้ความประสานความดีต่อกันได้เป็นอย่างดี ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย อาวุโสกับภันเต อยู่ด้วยกันเหมือนอวัยวะเดียวกัน นั้นละธรรมแท้เป็นอย่างนั้น

ว่าคนนั้นไม่ดีคนนี้ไม่ดี มองกันในแง่ร้าย เรื่องความผิดความพลาดนั้นมีได้ ถึงจะเจตนาดีขนาดไหนก็มีได้ ด้วยความไม่รอบคอบ ด้วยความไม่จงใจ แล้วก็ตักเตือนสั่งสอนหรือบอกกล่าวกันให้รู้เรื่องรู้ราว ผู้ฟังก็ให้ฟังเป็นธรรม ผู้สอนก็ให้สอนเป็นธรรม อย่าเอากิเลสออกไปทำงานทั้งการสอนการว่ากัน ผู้ฟังก็อย่าเอากิเลสมาฟังมาทำงานด้วย ให้ธรรมต่อธรรมเข้าประสานกัน ผลประโยชน์จะได้ทั้งสองฝ่าย อยู่ด้วยกันด้วยความสนิทเหมือนอวัยวะเดียวกัน จะมีต่างพ่อต่างแม่ต่างบ้านต่างเมืองอะไรไม่สำคัญ ขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วให้ความเสมอภาคหมด ให้ความสุขต่อกันได้อย่างไม่มีข้อสงสัย

นี่เกี่ยวกับภาระภายนอกผมก็ลดลงมาก เลยเตือนประชาชนญาติโยมที่จะปฏิบัติแต่ก่อนนั้นมันไม่สะดวกและเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างทุกวันนี้เพียงพูดคำสองคำเท่านั้นก็รู้สึกแล้วเหนื่อยแล้ว เราต้องได้ขออภัยและแสดงเหตุผลให้ทราบ ว่าการปฏิบัติต่อประชาชนญาติโยมในเวลาแต่ก่อนกับเวลานี้มีความต่างกัน เพราะธาตุขันธ์เป็นเครื่องบังคับให้ต่างเราก็บอก การแนะนำสั่งสอนจะให้เป็นเหมือนแต่ก่อนเป็นไปไม่ได้ พูดคำสองคำก็ไปเพราะธาตุขันธ์นี้ไม่เห็นแก่ใคร เมื่อขัดกับมันเมื่อไรก็แสดงผลไม่ดีขึ้นให้เห็น

ถ้าอยู่โดยลำพังเจ้าของ กับมาเกี่ยวข้องกับประชาชนพระเณรต่างกันนะ อยู่โดยลำพังเจ้าของมันพอดิบพอดีอยู่นั้น ปฏิบัติต่อกันก็สะดวก เวลามาเกี่ยวข้องกับญาติกับโยมกับพระกับเณรเข้ามาก ๆ เหมือนกับมารับภาระ มันก็กดก็ถ่วงลง หนักหลายหนัก หนักหลายครั้งทนไปได้ยังไงมนุษย์เรามันตายได้ แน่ะ จึงต้องมีหลบหลีกปลีกตัว ผ่อนผันสั้นยาวต่อกันพอให้สะดวกสำหรับโรคนี้ จะได้อยู่ไปยืนนานกว่าปกติหรือยืนนานกว่าการหักโหมมัน

ฟังแต่พูดท่านทั้งหลายก็ทราบนี่ นี่ผมฝืนมานะมาพูดให้ฟัง ทั้ง ๆ ที่พูดไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย พูดด้วยความฝืนก็เป็นอย่างนี้แหละ พูดด้วยความเป็นเองเช่นธาตุขันธ์ยังดีเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดังเคยได้ยินได้ฟังแล้วนั้น พูดโดยมีสิ่งบังคับอยู่ก็เป็นอย่างหนึ่งดังที่เห็นอยู่เวลานี้ เมื่อถึงวาระที่พูดไม่ได้มันพูดไม่ได้จริง ๆ นะ รู้ในเจ้าของมันเป็นอยู่ภายในหัวใจนี้ไม่เป็นที่ไหน ภายนอกดีอยู่หมดส่วนภายในนั้นไม่ดีเลยจะว่ายังไง ต้องได้ระมัดระวังรักษาเจ้าของอยู่ตลอด สุขภาพของเรายิ่งลดลง ๆ ภาระที่เกี่ยวข้องก็ยิ่งมากขึ้น ๆ นี่ซิที่มันมาทับถมกัน ๆ เป็นยังงี้ ถ้าไม่พยายามระมัดระวังให้มาก ๆ ไปไม่ตลอดจริง ๆ

การให้นิสัยผมก็ไม่ได้แน่ใจ ผมจะอยู่จะไปที่ไหน การที่ผมยังไม่ให้ก็ไม่ได้เป็นอาบัติ เพราะไม่ใช่เป็นความตั้งใจไม่รับนิสัยของหมู่เพื่อน พระวินัยท่านก็มี นี่ก็เพราะเรายังไม่แน่ใจนักว่าเราจะไปไหนมาไหนวันไหน ๆ ให้แล้วให้เล่าก็ไม่ได้เรื่องราวอะไร ให้เอาหลักความพึ่งพิง หลักตั้งใจประพฤติปฏิบัตินี้เป็นนิสัยแทนไปก่อน

ที่มาใหม่ก็มากไม่ใช่เหรอ ไม่ทราบมาจากจังหวัดไหนต่อจังหวัดไหน หูมีตามีให้สำเหนียกศึกษาดูกันนะ อย่าให้ผู้เก่าที่อยู่แล้วนี่หนักใจ หนักมากอยู่นะ ผู้มาใหม่ก็ไม่เข้าอกเข้าใจเก้ง ๆ ก้าง ๆ ขวางหูขวางตา ขวางไปทุกสิ่งทุกอย่างทั้ง ๆ ที่ไม่มีเจตนาก็หนักใจได้ เพราะฉะนั้นให้พากันสำเหนียกศึกษา ตาเห็นดูหมู่เพื่อนทำยังไง ๆ พูดยังไง ๆ ให้ฟังเพื่อความเป็นอรรถเป็นธรรมแก่ตัวเอง สมกับมาศึกษาและอบรม อย่ามาเที่ยวเก้ง ๆ ก้าง ๆ เฉย ๆ ว่าวัดนั้นดีก็ไปดู วัดนี้ดีก็ไปดู ว่าครูบาอาจารย์องค์นั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไป นี่หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ แบบลอยลม ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้สึกนี้มันหดมากจริง ๆ นะ หดเข้ามามาก มันไม่อยากอะไร ๆ กับอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่อยากสนใจกับอะไรเลย อยู่ลำพัง ๆ ไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ก็มีแต่มืดกับแจ้งเท่านั้นประมวลมาหมดแล้ว วันคืนปีเดือนนี้จะพาให้ยืดยาวไปไหน ๆ มันก็ยืดยาวของมันอยู่อย่างนั้น ด้วยมืดกับแจ้งนั้นแหละ แต่อายุธาตุขันธ์นี้ไม่ได้ยืดยาวไปไหน นอกจากตัวของมันที่แสดงความ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ตลอดเวลานี่

ผมน่ะอยากให้หมู่เพื่อนรู้เห็นอรรถเห็นธรรม ดังที่ศาสดาและสาวกท่านรู้ท่านเห็นท่านเป็น อย่าเอาอดีตมาเป็นอุปสรรคมากีดขวางตัวเอง เอาอนาคตมากีดขวางตัวเอง ซึ่งกิเลสมันไปคาดเอาไว้ปิดทางเอาไว้ ว่าครั้งนั้นท่านสำเร็จมรรคผลนิพพานรอท่านอยู่ ครั้งนี้ไม่สำเร็จเพราะมรรคผลนิพพานไม่มี ท่านนิพพานนานไปแล้ว กิเลสอยู่บนหัวใจมีช้ามีนานที่ไหน เราต้องคิดอย่างนั้นซิ กิเลสคือกิเลสอยู่ในหัวใจของทุกคน ธรรมก็คือธรรมเป็นเครื่องแก้กิเลสในหัวใจของทุกคน เมื่อผลิตขึ้นมาใช้มันก็ทันกัน จึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา พร้อมเสมอที่จะแก้กิเลสทุกประเภท ขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วมีแต่แก้กิเลสทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจะนิพพานไปนานไม่นานไม่สำคัญ

พระองค์นิพพานไปนานเท่าไร กิเลสควรจะหลุดลอยไปตามท่านมันไม่เห็นหลุดลอย คงเป็นกิเลสอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องคิดซิ และธรรมที่จะผลิตขึ้นมาปราบกิเลสให้ราบเรียบภายในหัวใจเรานี้ ทำไมจะผลิตไม่ได้ มันอยู่ในใจดวงเดียวกัน ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานทั้งกิเลสและธรรมทำงานอยู่ด้วยกันตามแต่ฝ่ายใดมีกำลังมาก ฝ่ายนั้นก็ทำงานได้มากกว่าเท่านั้นเอง เวลากิเลสมีมากก็มีแต่เรื่องของกิเลสทำงานบนหัวใจ เมื่อได้ผลิตธรรมขึ้นมาไม่หยุดไม่ถอย ธรรมเริ่มปรากฏขึ้นและมีมากขึ้น ๆ ธรรมก็ทำงานบนหัวใจ ไล่กิเลสออกไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความบริสุทธิ์ขึ้นมาได้เหมือนครั้งพุทธกาล

ที่ท่านว่าศาสนาล่วงไป ๕,๐๐๐ นั้นจะหมด นั่นก็หมายถึงความรู้สึกความสนใจของผู้ใฝ่ธรรมด้อยลง ๆ จนกระทั่งหมดไป ไม่มีใครสนใจในอรรถในธรรมเลย ศาสนาก็หมดไปในหัวใจคนนั้นต่างหาก ส่วนความจริงแห่งธรรมแท้ความจริงแห่งกิเลสแท้ไม่มีอะไรหมด คงเส้นคงวาอยู่ในหัวใจ แต่กิเลสมีอำนาจมากมันไม่ยอมให้ธรรมปรากฏขึ้นเลย จะคิดเรื่องอรรถเรื่องธรรมถูกมันปิดมันกั้นไว้เสีย คนก็เลยหมดความสนใจในธรรม ถูกกิเลสลากจูงไปเสียจนแหลก นี่ละที่ว่าศาสนาหมด หมดในหัวใจของคนต่างหาก ธรรมไม่ได้หมด ธรรมจะหมดไปไหน ธรรมกับโลกเป็นคู่เคียงกัน เพียงแต่ว่าใครจะผลิตขึ้นมาหรือไม่ผลิตขึ้นมา ธรรมถึงจะปรากฏหรือไม่ปรากฏเท่านั้น

บิณฑบาตให้สำรวมนะ การรับบาตรก็ให้มีความเคารพในการรับ เคารพธรรมเคารพบิณฑบาต ข้อบิณฑบาตเป็นวัตรของตน รับสักแต่ว่ารับ รับวิ่งผ่านเขาดูไม่ได้นะ จะช้าหรือเร็วก็ให้อยู่ในความสวยงาม อย่าให้เร็วเกินไปรีบด่วนเกินไปไม่น่าดู เอาความน่าดูความเหมาะสมถูกต้องกับข้อวัตรในการบิณฑบาต เวลารับบาตรก็ดูอยู่ในบาตร ตาจ้องอยู่ในบาตร กำหนดให้เป็นธรรมอยู่ในบาตร ไม่มองดูผู้ดูคนดูใคร ๆ ทั้งนั้น นี่หลักบิณฑบาต พิจารณาในนั้น จะว่าเป็นธาตุหรือไม่ธาตุ หรือภาวนาอะไรก็ให้อยู่ในใจ ตาทอดลงในบาตร

เดินไปก็เหมือนกัน อย่ามองโน้นมองนี้ เถ่อโน้นเถ่อนี้แบบนักเลง พระนักเลงเป็นอย่างนั้น ถ้าพระของศากยบุตรแล้วมีความสำรวมสวยงามมาก จะช้าหรือเร็วอย่ามาวิตกวิจารณ์กับผม ผมก็ไปของผมตามเวลาของผมทุกวันไป มาถึงก่อนหลังก็ไม่สำคัญ ผมไม่ได้ให้หมู่เพื่อนรีบร้อนเพราะผม ให้ไปโดยอรรถโดยธรรม มาโดยอรรถโดยธรรม

พูดไปนาน ๆ เหนื่อยแล้ว เอาละพอเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก