พวกเราอยู่ในประเภทที่สามมากที่สุด
วันที่ 17 สิงหาคม 2545
สถานที่ : ไม่ระบุ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เรามุ่งเหลือเกินนะวงงานต่าง ๆ วงราชการต่าง ๆ ให้มีศาสนาเข้าเป็นหลัก ๆ จะมีหลักใจของวงราชการทั้งหลายนับแต่ผู้ใหญ่ลงมา เพราะเรื่องศาสนานี้เป็นเรื่องที่ตายใจได้เลย ถ้ามีแต่โลกล้วน ๆ มันเป็นภัยไปในตัวของมัน มีศาสนาค่อยแทรกค่อยแซงอยู่ในนั้นเรียกว่าเป็นน้ำเชื่อม ให้รู้ดีรู้ชั่วรู้ผิดรู้ถูกรู้บุญรู้บาป การงานก็จะสะอาดไป ๆ เพราะเมื่อรู้แล้วมันก็เลือก อันไหนไม่ถูกตัดออก ๆ เดินตั้งแต่ที่มันถูก ที่ถูกก็มีแต่เรื่องธรรม เรื่องกิเลสจะถูกที่ไหน มันไม่ได้ถูก หากนิยมเป็นบ้ากันเฉย ๆ เราพูดอย่างนี้แล้ว นี่ละภาษาธรรมฟังเอาซิ มันไม่มีคุณอะไรนะถ้าไม่มีธรรมเข้าไป เรียกว่าเป็นเจ้าของก็ได้ ถ้าลงว่าธรรมเป็นเจ้าของดีทั้งนั้น ธรรมแทรกมีส่วนดี ถ้าไม่มีธรรมเลยเหลวไหล

 ธรรมนี้เป็นเรื่องที่โลกตายใจกันได้ เรื่องกิเลสตายใจไม่ได้ แม้แต่พวกเดียวกันก็ยังไว้ใจกันไม่ได้ เช่นอย่างพวกโจรผู้ร้ายเหล่านี้ มันมีพวกมีพ้องเหมือนกัน แต่ก็ไว้ใจกันไม่ได้ คอยแต่จะหักหลังกัน คอยเอาเล่ห์เอาเหลี่ยมใส่กันอยู่ตลอดเวลา ถ้าธรรมแล้วไม่มี เรื่องธรรมนี้ตายใจได้ตลอด ๆ เลย สมกับศาสดาองค์เอกที่ทรงรู้ทรงเห็นเลือกเฟ้นทุกสิ่งทุกอย่างแล้วนำมาสอนโลก เหมาะ

 เราอยากพบอยากเห็นเหลือเกินเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ต้องเป็นแกน ๆ ไปเลย ในวงงานต่าง ๆ จะดีไปเรื่อย ๆ เลยนะ คือหัวหน้า ๆ ละเป็นหลักใหญ่ มีธรรมในใจ ๆ ถ้าหัวหน้าเป็นโจรเป็นมาร งานเหลวไหลไปหมด เป็นอย่างนั้นนะ หัวหน้าเป็นคนดี แม้ลูกน้องจะโกโรโกโสบ้าง มันก็มีที่ระวังที่ละอายไม่ค่อยผาดโผน แต่ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนชั่วแล้วผาดโผนได้เลย ถือเป็นอำนาจป่าเถื่อนเข้ามาเพิ่มเข้าอีกไปอีกนะ

 ศาสนาเป็นของเล่นเมื่อไร โลกไม่เห็นน่ะซี ก็เกิดมากับกิเลส อยู่กันตั้งแต่วันเกิดมาตลอดไปจนวันตาย ตายแล้วกิเลสติดอยู่ในใจก็เกิดอีก รังกิเลสก็ไปด้วย เมื่อไม่มีธรรมชะล้างเข้าไปก็หาความสะอาดไม่ได้ มันก็สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้ไปทุกภพทุกชาตินั้นแหละ เพราะกิเลสอยู่ภายในใจ ทีนี้เมื่อมีธรรมแทรกกันเข้าไปแล้ว ยังมีสุขมีทุกข์เจือปนกันไป ถ้าไม่มีธรรมมีแต่ไฟล้วน ๆ นั่นแหละ เราอย่าไปหวังพึ่งเลยพึ่งกิเลส กิเลสมันเป็นตัวดีดตัวดิ้น ตัวเสาะตัวแสวงไม่มีใครเกินกิเลส เรื่องดีดเรื่องดิ้นเรื่องเสาะเรื่องแสวงนี้ไม่มีอะไรเกินกิเลส แต่มันแสวงไปตามเรื่องกิเลสล่ะซี ทีนี้กิเลสมันก็เป็นภัย นั่น ออกมาแง่ไหนมันก็เป็นภัย ถ้าธรรมแทรกเข้าปั๊บมันก็มีการคัดเลือก นั่นละจึงต้องมีธรรมเสมอ

 ถ้าต่างคนต่างมีธรรมตายใจกันนะ เราดูซิสัตว์เขาก็ไม่รู้ว่า วัดนี้ปกครองกันอยู่ด้วยกันด้วยวิธีการใด แต่สัตว์เขาก็รู้ ไม่เบียดเบียนทำลายเขา จุ้นจ้าน ๆ เต็มไปหมด เมื่อเช้านี้ได้ไล่มัน มันมากเช้านี้กระต่าย ใครปล่อยออกมาจากกรงก็ไม่รู้ เมื่อเช้า ๕ ตัว ๖ ตัว เราเดินจงกรมมันวิ่งวุ่น ไม่สนใจกับเรา ฟังซิ เขาหยอกเล่นกันตลอดเขาไม่สนใจกับเรา วิ่งเพ่นพ่านเดี๋ยวจะมาชนขาเราเข้า ก็เขาไม่กลัวเรา วิ่งเพ่นพ่าน มึงอะไรพวกนี้ เขาไม่สนใจเขาหยอกกันเล่นเต็มอยู่นั้น ๕ ตัว ๖ ตัว เมื่อเช้ามีมาก เพราะฉะนั้นจึงอดถามไม่ได้ซี ใครปล่อยกระต่ายออกมาจากกรงมากมายนักเมื่อเช้านี้ มากวนเราเดินจงกรม มันมีวันมากวันน้อย อย่างน้อยไม่เคยขาดวันละตัว จะอยู่ในย่าน ๒ ตัว ๓ ตัว เที่ยวอยู่ทางจงกรมเรา เราเดินมันก็เที่ยวอยู่ตามทางจงกรม ๒ ตัว ๓ ตัว อยู่ในเกณฑ์นี้แหละ แต่เมื่อเช้านี้ ๕-๖ ตัวนะ มันไล่กันอึกทึกเลย

 ไล่ไม่ไล่เฉย ๆ มันวิ่งเข้ามาหาเรา คือมันไม่กลัวคน มันไล่กันมามันก็วิ่งมาหาเรา บางทีเรากำลังเดินอยู่นี้ปึ๊ดมา จะเหยียบหัวมันละซี นี่เขาทราบเมื่อไรว่าเรามีอะไร ที่เขาอาศัยอยู่นี้เขาไม่รู้ว่ามีธรรมหรือไม่มีธรรม เขาก็รู้แต่ว่าปลอดภัยไหม ไม่ทำลายเขา เขาก็ไม่กลัว ทีนี้สัตว์ก็ชุ่มเย็น

 หลวงตาขาหนูอยากจะตัดกิเลส แต่กำลังของธรรมไม่เพียงพอ

 กำลังของธรรมคืออะไรล่ะ

 คือฝ่ายดีค่ะ

 แล้วเราไปทำอย่างไรมันถึงไม่พอ ฝ่ายดีมีอยู่ที่ไหน ไปหาใกล้หาไกลที่ไหนจึงไม่พอ มันอยู่ไกลห่างกันขนาดไหน จะต้องสละเวล่ำเวลาไปหาทางไกล จึงจะได้กลับมาแล้วก็มาต่อสู้กับกิเลส ถึงว่ากำลังไม่พอ แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนมันถึงได้มีกำลังเอามากมาย มันก็อยู่ในหัวใจเรานั่นซี ใจนี่มีทั้งธรรมมีทั้งกิเลสอยู่นั้น ถ้าเป็นธรรมล้วน ๆ แล้ว ใจนี้ก็เรียกว่าเป็นธรรมธาตุ เป็นนิพพานธรรม ใจล้วน ๆ เป็นใจบริสุทธิ์ เช่น ใจพระพุทธเจ้า ใจพระอรหันต์ คือใจนิพพานธาตุ ใจของสามัญชนนี้กิเลสอยู่ในนั้น นี่ละตัวก่อกวน

 ถ้ากิเลสเข้ามาในใจมาก จิตก็มองดูเฉย ๆ แต่ไม่สามารถที่จะสกัดกั้นกิเลสตัวนั้น

 มันเป็นอะไรถึงได้มองดู มันดีมันชั่วยังไง จะแก้กันยังไง อุบายวิธีของธรรมก็ต้องขึ้นในเวลานั้นซี ถ้าไม่ดียังไงก็รู้แล้วว่ามันไม่ดี แก้กันยังไง แน่ะ แก้ด้วยความดี สมมุติว่ามันอยากทำไม่ดี เราก็ไม่ทำเสีย แก้กัน มันก็อย่างงั้น ใครยังไม่ขึ้นต่อกรกับกิเลสเสียก่อนอย่ามาคุยนะ ว่างี้เลยเรา พูดจริง ๆ เราพูดอย่างไม่มีสะทกสะท้าน สามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรที่จะผ่านหัวใจเลย พูดให้มันจริงจังกับบรรดาพี่น้องทั้งหลาย นี่ละธรรมมีอยู่หรือไม่มี ศาสนามีหรือไม่มี ใครมาสอนอย่างนี้ เราถึงได้ปฏิบัติแล้วก็มารู้เห็นอย่างนี้ ผู้ที่มาสอนท่านรู้ก่อนเราแล้ว ใครรู้ก่อน ก็พระพุทธเจ้า แล้วสามแดนโลกธาตุมีใครมารู้ก่อนรู้ธรรม ก็มีพระพุทธเจ้าเท่านั้น

 นี่ละฟังเอาซิ ธรรมมีอยู่หรือไม่มี กิเลสมีอยู่ตลอดเวลามันเป็นยังไง เราก็ไม่คิดว่ากิเลสมีนะ ก็มีแต่ว่าเรา ๆ ไปหมด กิเลสเข้ามาเป็นเรา ดีชั่วอะไรก็ว่าเราไปหมด ไม่ได้ไปตำหนิกิเลสซึ่งมันแทรกอยู่ในนั้น แล้วมันเอาตัวของมันมาเป็นเราเสีย ทีนี้อะไรก็มีแต่เราไปหมด เลยหาทางแก้กิเลสไม่ได้เพราะกลัวจะโดนเราเข้าไป เราคือตัวภัยนั่น ตัวกิเลส นี่กล้าพูดจริง ๆ กล้าพูดทุกอย่าง คือมีแต่ธรรมล้วน ๆ นะที่พูดนี่ จะเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดขนาดไหนก็ตามจะไม่มีกิเลสเข้ามาแฝงเลย เป็นแต่ธรรมล้วน ๆ ไปเลย กิริยาท่าทางจะขึงขังตึงตังก็เป็นพลังของธรรม ไม่ใช่พลังของกิเลสตัวเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้นะ นั่นละท่านจึงเรียกว่าพลังของธรรมกับพลังของกิเลสมีด้วยกัน อยู่ที่ใจดวงเดียว

 เวลากิเลสมีกำลังมากนี้ กระดิกพลิกแพลงมีแต่กิเลสไหวตัวเพื่อหารายได้ของมัน แล้วก็สร้างความทุกข์ให้สัตว์โลกตลอดมา ถ้ามีธรรมแล้วก็ระงับดับกัน ๆ ไปพยายามเสาะแสวงหาธรรมมากเท่าไร ธรรมก็ยิ่งมีมากขึ้น กิเลสก็ค่อยอ่อนตัวลง มันเป็นอารมณ์อันหนึ่งอยู่ในใจ อารมณ์อันหนึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ของกิเลส แสดงออกมาให้อยากนั้นอยากนี้ อยากไปอยากมา อยากพูดอยากจา อยากคิดอยากทำ เรื่องดีเรื่องชั่ว ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสไม่ค่อยคำนึง เอาความอยากเป็นประมาณ อยากอะไรก็ทำไปตามความอยาก นี่เรื่องของกิเลส ทีนี้ธรรมนี้ อยากอะไรธรรมพิจารณา ผิดถูกชั่วดีประการใดเลือกเฟ้น นี่เรียกว่าธรรม อยู่ในใจดวงเดียวกันนั้น

 ทีนี้เวลาเราทำการอบรมอยู่นี้ก็เรียกว่าสังเกตความเคลื่อนไหวของใจเรา ซึ่งมีทั้งธรรมมีทั้งกิเลส กิเลสเคลื่อนไหวยังไง ธรรมก็ค่อยแก้กัน ๆ อย่างนั้นเรียกว่าธรรม มันเป็นอารมณ์อันหนึ่งด้วยกันทั้งสอง แต่ส่วนมากอารมณ์ของกิเลสจะหนาแน่นตลอดมา ธรรมนี้อารมณ์แทบไม่ปรากฏนะถ้าไม่ใช่นิสัยเป็นมาดั้งเดิม เช่นอยากทำบุญให้ทาน อยากซึ่งเป็นความดี ๆ มันเป็นอยู่ในนิสัย นั้นละธรรมอยู่ในจิตมันฝังอยู่ลึก ๆ ไม่เคยมีใครบอกมันก็เป็นความอยากของจิตอันหนึ่งขึ้นมา เป็นฝ่ายธรรม นั่นเรียกว่าธรรมเกิดอยู่ในใจ เรื่องของกิเลสก็เกิดขึ้นไปทางทำลายเจ้าของ ทำลายผู้อื่นผู้ใดไม่เลือกแหละ ถ้าเป็นฝ่ายธรรมไม่เจตนาว่าจะทำลายคนอื่นก็ตาม มันหากมีการรักษาเจ้าของ ระมัดระวัง ปลดเปลื้องอยู่เรื่อย ๆ นี้เรียกว่าอารมณ์ของธรรม เกิดขึ้นจากใจอันเดียวกัน

 ทีนี้เวลาอารมณ์ของธรรมมีมากขึ้น ๆ มันก็ยิ่งเห็นอารมณ์ของกิเลสเป็นภัยหนักเข้า ๆ นั่นต่างกันนะ ทีแรกไม่เห็น ครั้นต่อมามันก็เห็นก็รู้ ต่อมาก็เป็นข้าศึกกันเลย แย็บออกมาก็เอากันเลย นั่นธรรมมีกำลังมากเป็นอย่างนั้น อยู่ในใจดวงเดียวกัน มันปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ในใจดวงเดียวกัน แก้กันตรงนั้น จนกระทั่งอันนี้บริสุทธิ์หมดแล้ว อะไรที่จะมาดีดมาดิ้นให้เป็นเรื่องของกิเลสไม่มี เช่น พระอรหันต์ท่านไม่มีที่จะคิดอยากทำอันเป็นเรื่องของกิเลสที่จะฝังใจ แล้วใจท่านก็ไม่มีอะไรฝังด้วยนะ หมด ไม่มีอะไรฝัง ทำไปตามเป็นกิริยาของสมมุติ

 คือขันธ์ ๕ นี้เป็นสมมุติ จิตที่บริสุทธิ์แล้วครองขันธ์ ๕ อยู่นี้ก็ดูแลกันไปธรรมดา ที่จะอยากให้ดูดให้ดื่มไปตามขันธ์ ๕ นี้ไม่มี หากรับผิดชอบอยู่นั้น เช่น หิวข้าวก็หิวแต่จิตอันนั้นไม่มี แต่ก่อนหิวข้าวจิตมันกระวนกระวายได้จริง ๆ มันเป็นความหิวได้ถึงจิต ครั้นเวลาจิตบริสุทธิ์แล้วถึงจะหิวข้าวก็รู้ว่าหิวข้าวอยู่ในวงขันธ์ มันไม่ซึมซาบถึงภายในจิต เป็นอย่างนั้นนะ ไม่ว่าอะไรสิ่งที่มีประจำขันธ์ยังมี แต่ไม่ซึมซาบถึงใจ เรียกว่าสิ่งที่มีประจำขันธ์ ประจำขันธ์ด้วย ประจำจิตด้วย นั่นเรียกว่ากิเลส ถ้ามีเฉย ๆ ดีดดิ้นไปธรรมดานี้เรียกว่ากิริยาหรือสิ่งที่มีประจำขันธ์ เช่นอยากหลับอยากนอนอยากกินอยากอะไรอย่างนี้ เป็นความอยากของขันธ์ยังมีอยู่ประจำ จิตไม่เข้ามาแทรกไม่เกี่ยวข้องกัน นี่เรียกว่าความอยากประจำขันธ์ ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ ไปเสีย สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นภัย

 เพราะจิตเป็นจิตบริสุทธิ์แล้ว ขันธ์ก็กลายเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไป ถึงจะคิดจะปรุงเรื่องอะไรมันก็เกิดกับดับ ๆ ไม่มีอะไรรับช่วงมันเหมือนมีกิเลส กิเลสก็อวิชชานั้นแหละสำคัญ ตัวนั้นรับช่วงหรือหนุนไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุดยุติ เมื่ออันนั้นสิ้นสุดลงไปแล้วอันนี้ยุติ คิดปรุงเรื่องดีเรื่องชั่วปรุง แล้วเกิดดับ ๆ เท่านั้นไม่มีเงื่อนต่อ คิดเรื่องอะไรก็มีขันธ์ เช่นสังขารขันธ์ คิดปรุงเรื่องอะไรคิดได้เหมือนคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปแต่ท่านไม่ติด หากเป็นหลักธรรมชาติของจิตอย่างนั้น ไม่ได้ซึมซาบ บังคับก็ไม่ได้เพราะเป็นหลักธรรมชาติแล้ว สิ่งที่หมดโดยสิ้นเชิงก็คือกิเลส หมดในจิตท่าน สิ่งที่ยังเหลืออยู่ก็คือขันธ์ที่ท่านเคยรับผิดชอบมา ก็รักษากันไปรับผิดชอบกันไป จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายเช่นตาย สมมุติของพระอรหันต์จึงจะหมดโดยสิ้นเชิง

 ท่านว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ก็คืออันนี้แหละที่ยังเหลืออยู่ให้ท่านรับผิดชอบอยู่ พออันนี้สิ้นลงไปแล้ว เช่นว่าตายปั๊บอย่างนี้ เรียกว่าสมมุติหมดโดยประการทั้งปวง ในพระอรหันต์ไม่มีเลย นั่นละ อนุปาทิเสสนิพพานล้วน ๆ จิตของท่านไม่เป็นอะไรแล้ว คือมันเลยสมมุติ สิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งหมด อะไร ๆ แสดงออกมาก็เป็นสมมุติ มันเกิดกับสมมุติ ดับกับสมมุติไปเท่านั้นไม่เลย อันนี้ไม่เลย ธรรมชาติที่เป็นวิมุตติเป็นหลักธรรมชาติของตัวเองเสียไม่ก้าวก่ายกัน บังคับให้ซึมซาบก็ไม่ซึม เวลามันยังมีอยู่บังคับมันไม่ให้ยึดมันก็ยึด เวลามันรู้พอแล้ว มันปล่อยเสียพอแล้วก็กลายเป็นหลักธรรมชาติไป เป็นหลักธรรมชาติของใครของเรา ของส่วนสมมุติของส่วนวิมุตติไป ไม่เข้าถึงกัน

 อย่างที่พระสารีบุตรนั่น ท่านโดดข้ามคลองไป นี่เป็นนิสัยอยู่ในขันธ์ มันหากมีอยู่ในขันธ์ของท่าน โดดข้ามคลองไปแล้วโดดกลับไปกลับมา สนุกเล่นเหมือนเด็ก จนกระทั่งพระปุถุชนว่า โอ๊ย นี่เป็นจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ แล้วเป็นพระอัครสาวกข้างขวา แล้วทำไมจึงมาทำเล่นเหมือนเด็ก นี่ปุถุชนมันอวดดียกโทษพระสารีบุตร แล้วเรื่องราวก็ขึ้นถึงพระพุทธเจ้า นั้นมีพระพุทธเจ้ารับรองนั่นซี ทุกวันไม่มีใครรับรองใคร พระพุทธเจ้ารับรอง เออ นี่เป็นนิสัยของเธอ เธอเคยเป็นลิงมาหลายภพหลายชาติ นิสัยของลิงนี้ติดเธอ ทีนี้เรื่องก็สงบไปหายไป เพราะพระพุทธเจ้าตัดสินให้ พวกเราไม่มีใครตัดสินกันซี นั่นละคือนิสัย

 เช่นอย่างผู้ที่มีกิริยามารยาทที่สวยงามมากที่สุด จนพระทั้งหลายมองดูพระองค์นั้นว่าเป็นพระอรหันต์ กิริยาของท่านเหมือนผ้าพับไว้เลย สวยงามมาก อันนี้ก็กระเทือนถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ว่าพระองค์นี้ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วเหรอ ทำไมดูอากัปกิริยาท่าทางทุกอย่างเหลือบซ้ายมองขวา เป็นเหมือนคนมีสติตลอดเวลา ดูอากัปกิริยาน่าเคารพเลื่อมใสตลอด ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วเหรอ พระองค์ก็รับสั่งว่ายัง แล้วทำไมท่านถึงสวยงามนัก อันนี้เธอเคยเป็นราชสีห์มา แล้วบอกติดกันเสียด้วยนะ เคยเป็นราชสีห์มาตั้ง ๕๐๐ ชาติ ราชสีห์ทุกวันเขาเรียกสิงห์โตละมั้ง กิริยามันเหมือนแมว ราชสีห์เหมือนเสือเหมือนแมว กิริยาของท่านก็เหมือนกัน เรียบอย่างนั้น

 ครั้นเวลาพระสงฆ์ทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องมรรคผลของท่าน บอกว่ายัง ท่านก็เลยอธิบายให้ฟัง นี้เธอเคยเป็นราชสีห์ ราชสีห์เป็นสัตว์ที่มีสติ ความระมัดระวังมีอยู่กับราชสีห์ พวกเสือ พวกแมว มีระมัดระวัง แต่ท่านยกราชสีห์ขึ้น จะไปไหนมาไหนราชสีห์ไม่ใช่ไปแบบเพ่นพ่าน มีสติสตังระมัดระวังรักษา นี้เธอเคยเป็นราชสีห์มาแล้ว นิสัยนั้นถึงติดตัวเธอมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ ก็อย่างงั้นแล้ว คือความเคยชินของนิสัยติดมามันก็เป็นอย่างนั้น

 นี่พูดถึงว่าผู้สวยงามนะ สวยงามถึงขนาดพระเข้าใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่พระพุทธเจ้ารับสั่งว่ายังไม่เป็น เรื่องราวมีอย่างนี้เลยประชุมสงฆ์ขึ้นนะ นั่น พระองค์ทรงเห็นเหตุการณ์แล้ว ประชุมสงฆ์ขึ้นเรื่องของพระสันตกาย พระองค์นี้ชื่อสันตกาย ผู้มีกายสงบ แปลออกแล้วนะ ท่านจึงแสดงเป็นบทภาษิตขึ้นว่า สนฺตกาโย สนฺตวาโจ สนฺตมโน สุสมาหิโต วนฺตโลกามิโส ภิกฺขุ อุปสนฺโตติ วุจฺจติ ผู้มีกาย วาจา ใจ อันสงบจากบาปธรรมทั้งหลายเรียบร้อยแล้ว เป็นผู้มีโลกามิสคือเครื่องสมมุติทั้งหลายนี้ อันคายเสียหมดแล้ว ผู้นั้นแลเรียกว่า อุปสนฺโตติ วุจฺจติ เป็นผู้สงบอย่างราบคาบ สงบโดยสิ้นเชิงคือเป็นพระอรหันต์ นี่พระสงฆ์ทั้งหลายฟัง พระสันตกายได้สำเร็จอรหันต์ในวันนั้นนะ นั่นละท่านได้สำเร็จแล้วที่นี่ แต่ก่อนท่านยังไม่สำเร็จ

 คือนิสัย จิตอันนี้มันเคยสั่งสมนิสัยอะไรมามันก็เป็น อย่างเคยเป็นลิงมันก็เป็น อย่างที่พระสารีบุตรโดดไปแล้วก็โดดกลับไปกลับมา เหมือนเด็กเล่นน้ำ โดดข้ามคลองข้ามไปข้ามมา พระปุถุชนทั้งหลายเห็นก็ยกโทษเอาละซิ พระพุทธเจ้าตัดสินให้ นี่คือนิสัยท่านเคยเป็นลิงมา แล้วพระสันตกายท่านเคยเป็นราชสีห์มา กิริยาท่าทางจึงต่างกันอย่างนี้แหละ เคยชิน ราชสีห์ไปที่ไหน ท่านอธิบายไว้ยาวแต่เราไม่เอามาพูดมากละ พูดย่อ ๆ เอาเลย เรื่องของลิงก็ดีเรื่องของราชสีห์ก็ดี ท่านอธิบายมายืดยาวแต่เราย่นเอามาเลย เพราะว่าเคยเป็นลิงเราก็เคยรู้แล้วลิงใช่ไหม จะไปพรรณนาหาโคตรหาแซ่มันอะไรลิง เข้าใจเหรอ เคยเป็นลิงมันก็รู้แล้ว ลิงเป็นยังไง มันหลุกหลิก เคยเป็นราชสีห์ เสือ หรือแมวดูมันก็รู้แล้ว ไปหาโคตรหาแซ่เขามาอะไร สัตว์เหล่านี้มีสติมีความระมัดระวังตัวเป็นอย่างมากว่างั้น

 ทีนี้ย่นเข้ามาหาผู้ที่จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือกิเลสได้ ต้องเป็นผู้มีสติ นั่นฟังซิ เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีความระมัดระวัง เป็นนักใคร่ครวญ พินิจพิจารณา ในสิ่งที่เกี่ยวข้องรอบด้าน นั่นฟังซิ ท่านสอนเข้ามา นี่ให้เป็นราชสีห์ภายในเข้าใจไหม ราชสีห์นี้ปราบกิเลส สติก็เป็นราชสีห์ ปัญญาเป็นราชสีห์ ความพากความเพียรทุกด้านทุกทางเป็นความระมัดระวัง เป็นราชสีห์ไปตาม ๆ กันหมด ความชั่วช้าลามกซึ่งเป็นเหมือนกับกิเลสทั้งหลายนี้ มันก็แหลกไป ๆ นั่น ท่านสอนมีบทหนักบทเบา มีข้างในข้างนอก ย่นเข้ามา กระจายออกไป พระพุทธเจ้าสอนโลก ท่านไม่ได้สอนแบบเถรตรงนี่นะ ย้อนหน้าย้อนหลัง เช่น โอปนยิโก เห็นอะไรก็ตามน้อมเข้ามาพิจารณาจนเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นมา นั่นละเรื่องของธรรมเป็นอย่างนั้น

 อันนี้เราก็พูดเบื้องต้นว่า ถ้าใครยังไม่ขึ้นต่อกรกับกิเลสเสียก่อนอย่าด่วนมาคุยนะ ว่าอย่างนี้เลย เราพูดอย่างป้าง ๆ เลย ไม่สะทกสะท้านกับใคร การต่อกรกับกิเลส ไม่มีอะไรที่จะละเอียดแหลมคมยิ่งกว่ากิเลส แล้วก็เป็นคู่แข่งกับธรรม ธรรมเมื่อถึงขั้นแหลมคมเหมือนกันแล้วเป็นอย่างนั้น แชมเปี้ยนนี้เราก็ว่าเขารวดเร็วนะ แชมเปี้ยนนักมวยที่เขาต่อยกัน แต่แชมเปี้ยนระหว่างกิเลสกับธรรม ระหว่างสติปัญญา มหาสติมหาปัญญากับกิเลสฟัดกันนี้มองไม่ทัน คือมันเป็นเอง รับกันเอง สังหารกันเอง ถึงขั้นสังหารกันเองแล้วไม่ต้องบอก ไม่ระลึกถึงละเรื่องว่าความเพียร ๆ ความเพียรยังไง ก็มันเพียรอยู่แล้วจะเพียรหาอะไรอีก เพียรเพื่อความพ้นทุกข์โน้น แบบเหล่านี้เป็นแบบที่หมุนเพื่อความพ้นทุกข์ เรียกว่าความเพียรได้ ถ้าธรรมดาแล้วเพียร เพียรอะไร ก็มันเพียรแทบเป็นแทบตายอยู่แล้วเพียรอะไรอีก ความหมายก็ว่างั้น เพียรเพื่อความพ้นทุกข์ เท่านั้นเข้าใจ หมุนเหล่านี้หมุนเพื่อความพ้นทุกข์

 นี่ละถ้าได้ขึ้นต่อกรกับกิเลสแล้วรู้ทุกอย่าง นี่ละผลของการต่อกร ตกออกมาเต็มหัวใจแล้วนี้มองไปที่ไหนมันรู้หมดจะว่าไง ทีนี้กิเลสมันละเอียดยังไง สำหรับสายตาของธรรมประเภทนั้นแล้ว กิเลสไม่ได้ละเอียด แย็บมารู้ทันที แต่มันละเอียดสำหรับสายตาของปุถุชนที่ตาบอดกันละซิ หาอะไรมันก็ไม่เห็นไม่รู้ สอนให้เข้าใจก็ไม่เข้าใจ มันทั้งบอดทั้งหนวกทั้งดื้อทั้งด้านด้วยนะ ปุถุชนเรา นี่เรื่องกิเลสมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้เรื่องธรรมเวลาเข้าถึงกันแล้ว มันเป็นอย่างนั้นแหละ กิเลสแหลมคมที่สุด แต่ไม่มีอะไรเหนือธรรมได้ ธรรมแหลมกว่านั้นอีก แย็บมารู้แล้ว มันจะละเอียดขนาดไหนทางนี้จับได้แล้ว ปั๊บขาดสะบั้นไปแล้ว นี่ถึงขั้นอัตโนมัตินะ

 ขั้นตะเกียกตะกายก็มีอีกขั้นหนึ่ง ขั้นเป็นอัตโนมัติก็มีอีกขั้นหนึ่ง ขั้นอัตโนมัตินี้ เราไม่อยากพูดนะว่าความเพียร ที่ท่านบอกว่าผู้มีความเพียรกล้า มีความเพียรนี้มีมันเพียรยังไง เช่นอย่างเราเพียรอยู่เวลานี้ก็ไม่เห็นว่าเราได้เพียรอะไร มันก็เป็นไปในหลักธรรมชาติของมัน หมุนไม่หยุด แล้วมันเพียรยังไง ต่อมาก็สรุปลงมาว่า อ๋อ เพียรเพื่อความพ้นทุกข์ ความพ้นทุกข์อยู่ข้างหน้า การตะเกียกตะกายนี้เป็นประโยคแห่งความเพียรทั้งนั้น เออ ยอมรับ ถ้าจะว่าเพียรถูไถกันไปในเวลาประกอบความเพียรนี้ ถูอะไรจนได้รั้งเอาไว้ มันถูกันอะไร แน่ะ ถ้าว่าเพียรเพื่อความพ้นทุกข์อยู่ข้างหน้านั้น เออ ยอมรับ เป็นอย่างนั้นนะ ท่านผู้มีความเพียรกล้า กล้าอย่างนี้แหละ ท่านหมุนของท่านไปอย่างนี้

 นี่ละธรรมให้ท่านทั้งหลายทราบ เวลาเกิดขึ้นแล้วจะเกิดขึ้นที่ใจรู้ขึ้นที่ใจ ไม่ต้องถามใคร รู้หมดในหัวใจตัวเอง กิเลสมีมากมีน้อยเวลาธรรมจับเข้าไปนี้ก็รู้กันหมด แต่ก่อนมันเต็มอยู่ทุกคน มันไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นกิเลสละซิ ไม่งั้นคนเราจะทำความเสียหายได้ยังไง เพราะมันไม่รู้ กิเลสเอาเราเข้าไปแทรกเสีย อะไร ๆ ก็เป็นเราๆ เราเลยเป็นใหญ่เป็นโตในทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนความชั่วทั้งหลายมันไม่มอง มันทำไปเลย นั่น มันเป็นอย่างนั้น เมื่อมีธรรมเข้าแล้วมันก็รู้ละซิ ท่านจึงสอนให้มีความระมัดระวังอยู่โดยสม่ำเสมอ นี่ละความละเอียดของกิเลสกับธรรม ให้ขึ้นต่อกรกันด้วยจิตตภาวนาล้วน ๆ แล้ว รู้หมดเลยไม่สงสัย แล้วไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าเสียด้วย จะว่าอะไร ก็ของอันเดียวกัน เวลารู้ก็รู้อย่างเดียวกัน ถามกันหาอะไร นั่นละท่านว่า สนฺทิฏฺฐิโก รู้กันเป็นลำดับลำดา ๆ สนฺทิฏฺฐิโก ไปเรื่อย ๆ พอถึงขั้นสุดยอดแล้ว สนฺทิฏฺฐิโก ตัดสินผางทีเดียวหมดปัญหา

 นี่ละธรรมมีอยู่หรือไม่มี ท่านทั้งหลายพิจารณานะ มันอยู่ในหัวใจดวงเดียวกันนั้น กิเลสก็เต็มตัวเรามันก็อยู่ในหัวใจเรา มันผลักดันออกมาจากใจให้ทำความชั่วเสียหายต่าง ๆ ทีนี้ธรรมก็ผลักดันออกมาจากใจ ให้หักให้ห้ามให้เสาะแสวงหาคุณงามความดีใส่ตน ๆ ส่วนธรรมนี้รู้สึกว่า จะไม่เปิดเผยเหมือนกิเลส กิเลสมันออกแสดงตัวได้อย่างเปิดเผยตลอดมา ธรรมนี้ไม่ค่อยแสดงได้นะ นอกจากผู้มีนิสัยฝังอยู่ภายในจิตเป็นความคิดอยากทำความดี ถึงไม่รู้ว่าเป็นความดีก็ตาม มันหากอยากทำ เช่น เห็นเขาทานอยากทาน เห็นเขาทำความดีอะไรก็อยากทำ ได้ยินอรรถยินธรรมเคารพเลื่อมใสใจดูดดื่ม นั่น จิตใจเป็นธรรมมันดูดดื่มในสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าจิตเป็นธรรม

 พอจิตมีอุปนิสัยเต็มแล้วมันหากเป็นเอง มีแต่จะออกจากทุกข์ อย่าง พระยส กุลบุตร ไม่เห็นเหรอ อยู่ที่ไหนวุ่นวายทั้งนั้น นั่น ถึงกาลเวลาที่จะออกแล้ว อยู่ที่ไหน ๆ ก็วุ่นวาย เขาจะให้อยู่ที่ไหนไม่อยากอยู่ พ่อแม่มีลูกคนเดียว สมบัติเงินทองเอาวางไว้อยู่คนละฟากมองไม่เห็น มีแต่กองสมบัติเงินทอง ไม่ยินดี มีแต่เรื่องวุ่นวาย ๆ นั่นเห็นไหม ถึงกาลเวลาจะออก นี่ละอำนาจแห่งธรรมดลบันดาลตลอดนะ อยู่ที่ไหนมองดูแล้วดูไม่ได้ทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนตั้งแต่เกิดมามันก็อยู่ได้มาอย่างนั้นนะ ถึงเวลามันแก่เข้าไปแล้วมันก็เป็นอย่างนั้น จะให้มันเป็นลูกอ่อนๆ ไม่ได้นะผลไม้ มันแก่แล้วมันก็ต้องเป็นผลไม้แก่ละซิ อันนี้จิตใจมันแก่ต่อมรรคต่อผลแล้ว มันก็หมุนของมันไปเอง สุดท้ายก็ออกไปเสีย มันขัดข้องที่นี่ วุ่นวาย บ่นพึมพำ ๆ เดี๋ยวก็ไปเจอพระพุทธเจ้า มา ๆ ที่นี่ไม่ขัดข้องไม่วุ่นวาย สอนธรรมให้เสีย นั่นเห็นไหม สำเร็จ นี่ละอุปนิสัยแก่กล้าแล้ว

 ท่านเหล่านี้เป็นพวก อุคฆฏิตัญญู คอยที่จะรู้ ๆ เสาะหาแต่ที่จะออกถ่ายเดียว นี่ประเภทหนึ่ง เป็นประเภทที่รวดเร็ว ถ้าพูดถึงเรื่องความทุกข์ในการประกอบความเพียร ก็ไม่เหมือนประเภท ๒-๓-๔ นั้น ประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ค่อยลำบากมากนัก ประเภทที่ ๓ ยาก ก็ดังที่เคยพูดแล้ว ประเภทที่ ๔ ไม่ต้องถามถึงแหละ หมดลมหายใจเมื่อไรก็ไปเลย ประเภทที่ ๓ ต้องได้ฟัดได้เหวี่ยง อย่างพวกเรานี้รู้สึกจะอยู่ในประเภทที่ ๓ มากที่สุดนะ ครูบาอาจารย์ที่มาปรากฏชื่อลืมนามแนะนำสั่งสอนเราด้วยความแน่ใจ ในมรรคในผลของท่านที่บำเพ็ญมานั้น ท่านก็ทุกข์เหมือนกัน เราจะเห็นได้เวลาไปสนทนาธรรมะ ปัจจุบันนี้แหละ

 เราก็ว่าความเพียรของเรานี่มันจะเป็นจะตาย ครั้นเวลาไปคุยกันแล้วของท่านก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เราก็อีกแบบหนึ่ง โถ ท่านเด็ดไปทางนั้นตามนิสัย คนหนึ่งเด็ดไปทางหนึ่ง ความเพียรละกิเลสนั่นแหละ แต่เด็ดไปคนละทิศละทาง เป็นอย่างนั้นนะ องค์ไหนพูดขึ้นน่าฟัง โอ๊ย.ลืมไม่ลงนะ จิตใจท่านเด็ดเฉียบขาดในเวลาที่จะเข้าด้ายเข้าเข็มจริง ๆ ถอยไม่ได้นะ องค์ไหนมักจะมีแต่อย่างนั้นทั้งนั้น เท่าที่ผ่านมานี้ครูบาอาจารย์องค์ไหนไม่เห็นว่าสะดวกสบายนะ เวลาเล่าให้ฟังถึงปฏิปทาการดำเนินของท่าน โถ ไม่ใช่เล่น แน่ะเป็นอย่างนั้น นี่พวกเนยยะ ต้องเอากันแทบเป็นแทบตายถึงจะพอลืมหูลืมตาได้บ้าง ถ้าไม่เอาจริงเอาจังกิเลสกลืนหมดเลยไม่มีเหลือ

 พูดถึงเรื่องกิเลสมีหรือไม่มี ธรรมมีหรือไม่มี มรรคผลนิพพานมีหรือไม่มี อยู่ในหัวใจเรานั่น พระพุทธเจ้าเอาจากหัวใจมาสอนโลก มรรคผลนิพพานเอาออกจากหัวใจมาสอนโลก สอนโลกโลกก็โลกกิเลส กิเลสก็อยู่ในหัวใจของสัตว์โลกเหมือนกัน สอนลงไปที่ใจ รู้ขึ้นมาที่ใจ ก็สอนลงที่ใจชำระที่ใจ เป็นมรรคผลนิพพานขึ้นที่ใจ ไม่เป็นที่อื่นที่ใด เราอย่าไปหาตามดินฟ้าอากาศ กาลนั้น สถานที่นั่นที่นี่ เวล่ำเวลานั้นนี้ ให้กิเลสมันหลอกไป ๆ โห.นานแล้วศาสนา เช่น พุทธศาสนาของเราเวลานี้ ศาสนาล่วงไปเท่านั้นปีเท่านี้เดือน ว่าไปอย่างนั้น แต่กิเลสมันล่วงไปกี่ปีกี่เดือน มันเหยียบหัวสัตว์โลกมากี่กัปกี่กัลป์ไม่เห็นถามนะ เมื่อไรมันจะหมดมรรคหมดผลของมัน มรรคคือทางเดินเพื่อเป็นกิเลส ผลก็คือกองทุกข์ที่กิเลสสร้างขึ้นมา เมื่อไรมันจะหมดผลเหล่านี้ ก็ไม่เคยเห็นพูดถึง กิเลสมันครองหัวใจโลกมานานแล้ว ต่อไปนี้ชราคร่ำคร่าปลดเกษียณไปแล้วแหละ กิเลสจะปลดเกษียณพวกเราจะได้สบาย แล้วสบายกันไหม พิจารณาซิ

 บทเวลาจะประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว มีแต่จะปลดเกษียณทั้งนั้น โอ้.แก่แล้วไปไม่ไหว พวกสมัครปลดเกษียณ ครั้นจะสร้างคุณงามความดีมีแต่คนจะสมัครปลดเกษียณทั้งนั้น ถ้าสร้างความชั่วนี้ โห.เขียนใบสมัครเต็มบ้านเต็มเมือง แน่ะมันเป็นอย่างนั้น แล้วโลกอันนี้ว่างจากความทุกข์ได้ยังไงก็เมื่อสัตว์โลกไหลลงไปตามกิเลสลากเข็นลงไปทางต่ำ ๆ มันก็แน่นอยู่อย่างนั้น มีแต่กองทุกข์ ไปที่ไหนมีแต่กองทุกข์ ความสุขมีที่ไหน เราอย่ามองกันเผิน ๆ เอาธรรมจับ ๆ เห็นหมดจะว่ายังไง มันจะอะไรก็ตามข้างนอก ดูข้างในปั๊บเห็นเลย รู้เลยมันเป็นยังไง ไฟเผาหัวใจ ไฟคืออะไร ก็คือกิเลสนั้นแหละ กิเลสมันไม่เลือกชาติชั้นวรรณะนะ มันอยู่ที่หัวใจ การประดับประดาตกแต่งภายนอกนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ภายในเป็นอีกอย่างหนึ่ง

 พอพูดถึงเรื่องนี้ก็ให้ระลึกถึงคนผู้นี้เขาเป็นเพื่อนกัน รูปร่างลักษณะเหมือนกัน นี่อาจารย์มหาทองสุกเล่าให้ฟัง เราก็เลยไม่ลืมนะ ชื่อหนึ่งชื่อไอ้ปื๊ด ไอ้หนึ่งชื่อไอ้ปุ๊ด เขาเป็นคู่กันมาอยู่วัดสระปทุม ท่านอาจารย์มหาทองสุกท่านก็อยู่วัดสระปทุม คู่นี้เขาถึงเวลาเย็น.เขาแต่งตัวนี้ผู้ว่า ข้าหลวงสู้ไม่ได้นะ การแต่งเนื้อแต่งตัวเขา ตำรวจมองหน้าเขา ไม่กล้าจะไปตรวจเขา ถือไม้ตะพดเสียด้วยนะ สถานที่สำคัญ ๆ เขาจะเดินกึ๊ก ๆ ดูนั้นดูนี้ เหมือนข้าราชการใหญ่เจ้าอำนาจใหญ่ไปตรวจราชการว่างั้นเถอะ ไอ้พวกตำรวจก็มองหน้าไม่กล้าจะไปตรวจเขาละซิ ไอ้ปื๊ดกับไอ้ปุ๊ดน่ะ เขามักจะไปเรื่อย ๆ เช่น สถานีรถไฟหรือเป็นที่ไหนที่ชุมนุมชน เขามักจะไปเป็นคู่กัน นี่ท่านอาจารย์มหาท่านเล่าให้ฟัง ท่านก็ไม่ใช่เป็นคนนิสัยชอบหัวเราะนัก แต่ท่านก็อดหัวเราะไม่ได้

 เข้าท่านะสองคนนี้ เขาท่าใหญ่จริง ๆ ใครๆ ไม่รู้ได้ง่าย ๆ กลัวทั้งนั้น พวกตำรวจก็ยังกลัว เพราะท่าเขาใหญ่ เช่นอย่างตำรวจมองหน้าเขานี้เขาเฉย ท่าเขาเหมือนตำรวจนี้เป็นหมาตัวหนึ่ง เขาเฉย ทีนี้เวลาขากลับมาละซิ ขึ้นสามล้อคนละคัน แต่ก่อนมีสามล้อ สามล้อในกรุงเทพเกลื่อนไป ครั้นเวลามาปวดหนักละซิ ภาษาของเราทั่ว ๆ ไปเขาว่า ปวดขี้ เข้าใจไหม ปวดหนักปวดเบาแต่งเป็นภาษาไพเราะเพราะพริ้งให้กิเลสหัวเราะเฉย ๆ เพราะกิเลสมันสกปรก ว่าปวดหนักปวดเบามันก็อยากหัวเราะ มันไม่ตรงกับศัพท์ของกูวะ เข้าใจว่าอย่างนั้น ทีนี้พอมันปวดหนักมาก ๆ มันก็ขี้ใส่ตรงรางแท็กซี่ละซิ เข้าใจไหม มันไปไม่ไหว ว่าจ้างแท็กซี่ไป พอขี้เสร็จเรียบร้อยแล้วมันก็ปิดกึ๊กแล้วมันก็ไป เอาละเท่านี้พอ พอละซิขี้เต็มถังแล้ว จบเท่านั้นละ

 เวลาปวดขี้ขึ้นสามล้อ ไอ้นั้นจนกระทั่งป่านนี้มันล้างสามล้อมันสะอาดแล้วยังก็ไม่รู้นะ นานแล้ว นี่อาจารย์มหาทองสุกเล่าให้ฟัง เราพูดเรื่องคนท่าใหญ่มันเป็นอย่างนั้นนะ กิเลสมันท่าใหญ่มากนะ เราเป็นยังไงดูเจ้าของเอาซิ ถ้าจะหาความพากความเพียรท่าใหญ่ขึ้นมานะ ท่าเสื่อท่าหมอนขึ้นมาแล้ว เอาละวันนี้พูดเท่านี้

 สรุปทองคำและดอลลาร์เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหา ทองคำได้ ๓ บาท ดอลลาร์ได้ ๒๐๗ ดอลล์ เมื่อวานได้เพิ่มมาอีก ๕ บาท มันก็คง ๘ บาท ๕๐ สตางค์ เมื่อวานนี้เราไปโน้นได้มา ๕ บาท ๕๐ สตางค์ อันนี้ ๓ บาท มันก็เป็น ๘ บาท ๕๐ สตางค์ ทองคำที่ได้หลังจากการมอบแล้วเวลานี้ ๒๐๐ กิโล ๔๑ บาท ๑๐ สตางค์แล้วนะ รวมทองคำทั้งหมดได้ ๕,๒๖๐ กิโล กฐินทองคำ ๘๔,๐๐๐ กองนั้น ทองคำได้แล้ว ๘๙ กอง ๒๒ บาท ๑ สลึง คือคำว่าทองคำหมายถึงว่า เป็นกองกฐินทองคำล้วน ๆ ไม่ใช่เงินสด เป็น ๘๙ กอง เท่ากับทองคำ ๒๒ บาท ๑ สลึง เป็นทองคำแท้ ทีนี้เงินสดที่ได้แล้วก็คือกฐินทองคำ แต่ถวายเป็นเงินสดมา ๑,๗๖๘ กอง เท่ากับ ๒,๘๒๘,๘๐๐ บาท

 รวมกฐินทั้งหมดได้ ๑,๘๕๗ กอง ยังขาดอยู่อีก ๘๒,๑๔๓ กอง กรุณาทราบตามนี้นะ เราจะพยายามเอาให้ได้

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก