งานบำเพ็ญเพื่อรื้อวัฏฏะ
วันที่ 25 ธันวาคม 2549 เวลา 18:40 น.
สถานที่ : กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กทม.

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส

ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม กทม.

เมื่อค่ำวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

งานบำเพ็ญเพื่อรื้อวัฏฏะ

 

          สำหรับเราที่อยู่ในป่าแต่ก่อนไม่มีปรอท เอายันกันว่าบางคืนนอนไม่หลับเลยตลอดรุ่งไม่หลับ แสดงว่าหนาวมากอยู่ แต่ว่าเราไม่เคยเอาผ้าห่มไปด้วย ไม่เอา มีจีวร -สังฆาฎิพับครึ่ง ซ้อนกันนอน ให้เท่านั้น นอนไม่หลับก็ไม่หลับ เราไม่เคยเอาผ้าห่มไปด้วย ไปไหนไม่เอา ต้องดัดกันตลอดนะ นี่ละนักภาวนา ต้องมีการดัดตลอดๆ ถ้าให้เป็นไปตามนั้น โอ้ยไม่ได้กิเลสมันพองตัว มีความอ่อนแอท้อแท้ ต้องดัดอยู่ตลอด สำหรับเรามันนิสัยวาสนาหยาบ มันต้องได้ใช้การทรมานอยู่อย่างนี้ตลอดนะ ไปเที่ยวที่ไหนผ้าห่มไม่เคยมีติดตัว ไม่ให้มี มีผ้าสังฆาจีวรพับครึ่งนอนเท่านั้น นอนได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ตลอดรุ่งไม่หลับก็ไม่หลับ ที่จะหาผ้าห่มมาห่มนี้ไม่มีสำหรับเรา ดัดอยู่ตลอด

          ถ้าเราจะรวมหน้าที่การงานความหนักในชีวิตของเราแล้วนี้ งานนักบวชหนักมากทีเดียว แต่หนักในระยะที่ฟัดกับกิเลสนะ ออกจากนั้นแล้วมันก็ไม่หนัก กิเลสเท่านั้นพาให้หนัก คือพาให้สู้ กิเลสเบาบางไปเท่าไรก็ยิ่งหนักนะความเพียร ไม่ใช่ว่ากิเลสเบาบางลงไปความเพียรจะเบา ไม่ได้เบานะ เวลาล้มลุกคลุกคลานนี้ก็ฝึกทรมานไปอีกอย่างหนึ่ง เรายังคาดหมายตัวเองผิดไป คือเวลาล้มลุกคลุกคลานลำบากลำบน ถูไถไปมา จิตก็ดื้อก็ด้าน คึกคะนองทุกแบบทุกฉบับ สติไม่ทันมัน เสียเปรียบมันอยู่เรื่อยๆ

          ได้พูดปลอบโยนตัวเอง เออ เวลามันลำบากลำบนยังไม่มีทุนมีรอนอย่างนี้ก็ทนเอาเสียก่อน ว่าอย่างนั้น เวลามีทุนมีรอนมีกำลังวังชาแล้วมันจะค่อยสบายไปๆ นี้พูดปลอบโยนตนเองด้วยความคาดคะเนเอา ไม่ใช่ความจริงนะ ถูไถไปแบบหนึ่ง ปลอบโยนใจตัวเองไปแบบหนึ่ง แต่ความมุ่งมั่นมันรุนแรงอยู่แล้วก็ต้องปลอบโยนไปอีกแบบหนึ่ง เพื่อเสริมความมุ่งมั่นให้มีกำลังมากขึ้น เวลาหนักเข้าๆ นั่นละกิเลสมันก็อ่อนถ้าความเพียรหนัก

          สติสำคัญมากนะ ความเพียรขึ้นอยู่กับสติ ใครสติดี..นักภาวนาในวงกรรมฐานท่านปฏิบัติกันอย่างนั้น สติเป็นพื้นฐานเลยเชียว เผลอสติไปปั๊บขาดความเพียรแล้วนั่น สติต้องวางเป็นพื้นฐานไว้เสมอ กิเลสจะออกลำบากอยู่นะถ้าสติดีอยู่แล้ว กิเลสจะไม่ขึ้น ขึ้นกับสังขารความคิดความปรุง สติดีอยู่แล้วก็ค่อยแน่นหนามั่นคง ความสงบก็ค่อยมี แล้วก็ปลอบโยนตนเองไป เวลาลำบากลำบากมาก กิเลสมันรุนแรงนี้สติเอาไว้ไม่อยู่นะ ตั้งพับล้มผล็อยๆ จนงงในตัวเอง นี่ละเวลากระแสของกิเลสมันรุนแรง

          นี่หมายถึงนักภาวนา เพื่อฆ่ากิเลสให้สิ้นซากไปจากใจจึงต้องใช้วิธีนี้ ใช้วิธีอื่นไม่ได้นะ สำหรับประชาชนนี้เขามีศีลมีธรรม ระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ เขาเป็นมงคลของเขา สำหรับพระ มงคลของพระคือความสิ้นสุดวิมุตติพระนิพพาน มันต่างกันตรงนี้นะ เมื่อมีความมุ่งมั่นอันสูงส่งขนาดนั้นแล้วความเพียรจะมาอ่อนแอท้อแท้เข้ากันไม่ได้ ความเพียรมันต้องหนักแน่นๆ ไปที่ไหนหนักแน่นมันก็มาอยู่ที่สติ การตั้งสติระวังตัวตลอดเวลา

          เพราะฉะนั้นท่านจึงชอบไปอยู่องค์เดียว ไปอยู่ในป่าลึกๆ คือไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย มีแต่ต้นไม้ใบหญ้า มีสัตว์มีอะไรเขาก็อยู่ตามภาษาเขา สำหรับเราเองนี้คอยดูเรื่องจิตมันคึกมันคะนอง สติเป็นตัวควบคุม ถ้าสติไม่ดีความคึกความคะนองมันก็กำเริบไปได้ ถ้าสติดีความคึกความคะนองมันจะออกจากสังขารมันก็ปรุงไมได้ จิตใจก็ตั้งรากตั้งฐานเป็นความสงบร่มเย็น ท่านเรียกว่าสมถธรรม คือความสงบใจในเบื้องต้น

          จากนั้นความเพียรไม่ถอยมันก็ก้าวเข้าสู่ความแน่นหนามั่นคง คือสงบแน่นเข้าไป แน่นเข้าไปจนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ คือความแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่วอกแวกคลอนแคลน แน่นปึ๋งอยู่ตลอดเวลา ท่านเรียกว่าสมาธิ ฝึกกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ ผู้มุ่งต่อมรรคผลนิพพานนั้นละเป็นผู้ต้องใช้กำลังวังชา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายามทุ่มกันลง จะทำอ่อนแอท้อแท้นี้ไม่ได้ ไม่ทันกันกับกิเลส ซึ่งตัวมันผาดโผนอยู่พอแล้ว มันผาดโผนบนหัวใจสัตว์โลก ในหัวใจของเราก็เช่นเดียวกัน มากี่กัปกี่กัลป์

          ทีนี้เวลาจะเอามันลงให้อยู่ใต้อำนาจนี้มันต้องเอากันอย่างรุนแรง วิธีการใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การภาวนาจิตจะสงบร่มเย็นต้องได้ใช้วิธีนั้นให้มากทีเดียว ปลอบโยนตนเองก็ปลอบ ความมุ่งมั่นเพื่อมรรคผลนิพพานก็รุนแรง การปลอบโยนก็ต้องปลอบโยน เอา เวลามันลำบากลำบนอย่างนี้ยังตั้งหลักตั้งฐานไม่ได้ก็ทนเอาเสียก่อน ต่อไปค่อยมีรากมีฐานขึ้นเป็นลำดับแล้วจะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยสะดวกๆ ราบรื่นไปเรื่อยๆ งานหนักๆ อย่างนี้ก็จะค่อยเบาลง ความคาดความคิดมันก็คาดไป ปลอบโยนจิตใจไปเรื่อยๆ ความเพียรก็หนุนเข้าไป หนุนเข้าไป

          ทีเราว่าอย่างนี้ว่าจิตใจมีความสงบร่มเย็น ได้กำลังทางด้านจิตใจไปแล้ว ความเพียรจะเบาลงหรือว่าภาระทั้งหลายจะเบาลงนี้เป็นความคาดคิดต่างหากนะ ไม่ได้เข้าสู่ความจริงได้เลย แต่เวลาจิตใจมีรากมีฐาน มีความสงบร่มเย็น มีความแพรวพราวภายในใจแล้วทีนี้งานยิ่งหนักขึนๆ นะ นี่คือความจริง งานยิ่งหนักขึ้นทุกวัน คืองานความสนใจ ความอุตส่าห์พยายาม ความซอกแซกซิกแซ็กด้วยสติปัญญา หนักเข้าๆ ทีนี้งานมันก็ยิ่งหนัก ซึ่งเราคาดเอาไว้ว่าพอได้กำลังวังชาแล้วจิตใจจะค่อยสะดวกสบายเบาไปๆ จนกระทั่งกิเลสสิ้นไป นี้เป็นความคาดความด้นเดา ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น

          เวลาจิตมีหลักมีเกณฑ์มากเข้าเท่าไรกำลังวังชา ศรัทธา ความเพียร ความมุ่งมั่นนี้ยิ่งหนักเข้าๆ ทุกอย่างยิ่งหนัก ทีนี้งานมันก็หนักขึ้นๆ ยิ่งเข้าขั้นปัญญา ปัญญาพิจารณา คำว่าปัญญาผู้ไม่เคยปฏิบัติจะไม่เข้าใจ ในวงกรรมฐานท่านใช้กันเพื่อรื้อภพรื้อชาติ ถึงมรรคผลนิพพาน ท่านใช้กันอย่างนี้ ท่านใช้โดยการพิจารณาธาตุขันธ์ พอจิตมีความสงบบ้างแยกธาตุแยกขันธ์ แยกเขาแยกเรา แยกหญิงแยกชาย แยกสัตว์แยกบุคคล แล้วเข้าในตัวของเรา ตั้งแต่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เหล่านี้เป็นเครื่องหลอกตาของคนโง่ กิเลสมันหลอก อันนั้นก็สวยอันนี้ก็งาม มีแต่ความสวยความงามก็เพิ่มกิเลสเข้าไป

          ทีนี้ทางด้านปัญญาท่านแยกแยะ พิจารณาให้เห็นตามหลักความจริงทั้งภายนอกภายใน ดูตั้งแต่ผมชะทุกวันล้างทุกวัน ร่างกายของเรานี้เครื่องนุ่งห่มใช้สอยที่อยู่ที่อาศัย จะสะอาดสะอ้านขนาดไหนก็ตาม ถ้าลงร่างกายตัวอสุภะอสุภังตัวสกปรกโสมมได้ไปเกี่ยวข้องแล้วมันจะสกปรกไปตามๆกัน บ้านเรือนต้องเช็ดต้องถูต้องชะต้องล้าง ร่างกายก็ต้องชำระล้างอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้คิดกันว่าเราชำระล้างของสกปรก ใครมุ่งไปแต่ว่าความสะอาดๆ ให้กิเลสหลอกตาไปเรื่อยๆ

          ทีนี้ทางผู้ที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์ท่านย้อนกลับลูกศร ท่านพิจารณาสิ่งเหล่านี้เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก มันสกปรกหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขึ้นไป ตั้งแต่ผิวหนังมันก็ยังมีขี้เหงื่อขี้ไคล พิจารณาเข้าไปในส่วนร่างกาย จากหนังเข้าไปเยิ้มไปด้วยบุพโพโลหิต น้ำเน่าน้ำหนอง ของสกปรกโสมมเต็มอยู่ในร่างกายนี้หมด นี่ลปัญญาเข้าสอดเข้าแทรก เพื่อจะถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมันสำคัญตนผิดแล้วเพิ่มพูนกิเลสภาระอันหนักให้มากเข้า พิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญา นี่ท่านบอกไว้ นี่เวลาทางด้านปัญญา

          จิตมีความสงบจิตย่อมอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดเรื่องนั้นปรุงเรื่องนี้แล้วนำเข้าสู่ปัญญา พิจารณาปัญญา ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเข้าไปเรื่อย กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง อาหารเก่าอาหารใหม่ ในบุคคลแต่ละคนๆ ก็คือส้วมคือถาน ไม่มีผิดอะไรกับที่เราให้ชื่อให้นามว่าส้วมว่าถานอยู่ตามบ้านตามเรือน อันนี้เป็นส้วมเป็นถานทั้งอยู่ปรกติ ทั้งเคลื่อนไหวไปไหนมาไหน ส้วมถานอันนี้มันไหวของมันอยู่ตลอดเวลา เวลาไปเกี่ยวข้องกับอะไรสิ่งนั้นต้องสกปรกโสมมต้องชะต้องล้าง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใช้สอย เวลานำมาทีแรกสะอาด พอมานุ่งห่มไม่ได้กี่วันกี่เวลาแล้วสกปรกต้องชะต้องล้าง ต้องซักต้องฟอก

นี่ละปัญญา พิจารณาดูสิ่งเหล่านี้เข้าไป เพราะร่างกายเป็นของสกปรกอยู่แล้ว อะไรจะสะอาดเท่าไรมานี้ต้องมาสกปรกด้วยกัน บ้านเรือนที่อยู่ที่อาศัยร่างกายเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์คละเคล้ากับสิ่งใดสิ่งนั้นจะกลายเป็นของสกปรกขึ้นมา ต้องชะต้องล้าง ต้องเช็ดต้องถู นั่นละท่านพิจารณาทางด้านปัญญา เข้ามาในร่างกาย เอาตัวร่างกายนี้คือส้วมเคลื่อนที่ ไปไหนมันก็เคลื่อนไปเคลื่อนมาก็คือส้วมเคลื่อนที่ ภายในเต็มไปด้วยของสกปรกโสมม นี่ท่านจะรื้อถอนสิ่งเหล่านี้ออก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นซึ่งเป็นกิเลสตัวสำคัญมันก็ถอนตัวออกมา ถอนตัวออกมา พิจารณาร่างกายมีความละเอียดลออเท่าไรๆ สติปัญญายิ่งคล่องตัวๆ เข้าไป

นี่ละจะพูดถึงเรื่องการพิจารณาให้ฟัง นักปฏิบัติถึงความพ้นทุกข์ ท่านมีลำดับลำดาแห่งการดำเนินของท่าน ไม่ใช่อยู่ก็ข้าสำเร็จอรหันต์ สำเร็จอรหันต์เวลาเทศน์หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ด้นเดาเกาหมัด เพราะมีแต่ใจ สำคัญตนอยากให้เขาเคารพนับถือชมเชย แล้วปั้นเรื่องขึ้นมาจอมๆปลอมๆ ออกมา เพราะหัวใจมันปลอม มันไม่ได้บริสุทธิ์ ตกลงเจ้าของก็ไม่ได้เรื่อง สอนคนอื่นก็ไม่ได้เรื่อง

เมื่อพิจารณาตามหลักธรรมชาติที่ว่านี่แล้วได้เรื่องได้ราวเป็นลำดับ เพราะเจ้าของได้เรื่องได้ราวได้หลักได้เกณฑ์มาจากการพิจารณานี้จนคล่องตัว ชำนิชำนาญจนผ่านไปได้โดยลำดับ เช่นร่างกายนี้เราจะเอาแต่ร่างกายนี้เป็นฐานก้าวเดินโดยถ่ายเดียวไม่ได้ เมื่อถึงขั้นมันผ่านผ่านของมัน ร่างกายที่ว่าเป็นตัวอสุภะอสุภังเมื่อมันพิจารณารอบแล้วร่างกายนี่มันก็ปล่อยของมัน คำว่าอสุภะอสุภังนี้ไม่มี จิตผ่านไปแล้ว ทีนี้ก็เป็นนามธรรม ร่างกายส่วนหยาบผ่านไปแล้ว การพิจารณาว่าอสุภะอสุภังก็ไม่มีความหมายอะไร นี่ละการพิจารณาผ่านไปอย่างนี้

พอจากนั้นก็เป็นนามธรรม มี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นอย่างนั้น ไม่มีคำว่าอสุภะอสุภัง เพราะร่างกายนี้เป็นตัวอสุภะอสุภังพิจารณารอบหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถอดถอนตัวเรียบร้อยแล้วจากส่วนร่างกายนี้มันก็หมดปัญหา การพิจารณาร่างกายคำว่าอสุภะอสุภังหมดปัญหา ก้าวเข้าสู่นามธรรมคือความคิดความปรุงคิดดีคิดชั่ว คิดเรื่องอะไรขึ้นมาก็เป็นเรื่องของสังขาร เป็นเรื่องของกิเลสออก โดยนามธรรมไม่เป็นรูปเป็นกายอย่างนี้ ไม่เอารูปกายเป็นหินลับปัญญา เพราะผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

ทีนี้ก็พิจารณาแต่เรื่องเกิดเรื่องดับของสังขาร เพราะร่างกายส่วนหยาบผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ก็ยังเหลือนามธรรม ความคิดความปรุง สัญญา สังขาร วิญญาณ มันคิดมันปรุงขึ้นจากใจ คิดขึ้นมากน้อยคิดเพียงไรก็ดับไป ๆ สติปัญญายิ่งแหลมคม แย็บออกรู้กันทันที ดับกันทันที ไม่เป็นรูปเป็นนาม ไม่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่เป็นหญิงเป็นชาย ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวน่ากล้า เช่นเรากลัวเสือ เวลาพิจารณาผ่านขั้นของรูปกายนี้แล้วเสือคำว่าน่ากลัวก็ไม่มี

นั่นละเป็นอย่างนั้นละท่านพิจารณาทางด้านปัญญา พอว่าเสือนี้ปรุงแพล็บดับหมด จะเอาเสือมาจากไหนพอจะให้กล้าให้กลัว มันดับไปด้วย คือจิตมันว่างเข้าไป ว่างเข้าไป บุคคลหญิงชายว่างไปหมด ไม่มีคำว่าสวยว่างาม ไม่สวยไม่งามผ่านไปหมด ทีนี้เวลาเราเห็นสัตว์ภายนอกมันก็เป็นแบบเดียวกัน เช่นว่าเสือเป็นสัตว์ที่น่ากลัว มองดูเสือทีแรกมันก็แยกธาตุแยกขันธ์ของมัน ดังที่เคยสอนไว้แล้วในปฏิปทาของพระกรรมฐาน  เอามาเทียบเคียงกัน นี่เป็นระยะๆ นะ พอเลยจากนี้แล้วมันก็หมดนะ

เช่นว่ากลัวเสือ กลัวอะไรมัน กลัวตามันเหรอ ตาเราก็มีไม่เห็นกลัว เอามาสอนกัน สวนหมัดกัน สวนหมัดกัน กลัวเขี้ยวมันเหรอ เขี้ยวเราก็มีไม่เห็นกลัว ไปกลัวอะไรเขี้ยวเสืออยู่ไกลๆ แน่ะ กลัวหนังกลัวขนกลัวอะไร ของเรามีสมบูรณ์หมด ไม่เห็นกลัว ไปกลัวอะไรนอกๆนานา ไล่ไปจนกระทั่งหมดตัวเสือ กับตัวเรามันก็พอๆ กัน ไม่เห็นมีอะไรแปลกต่างกัน มันมีครบสมบูรณ์เหมือนกัน เทียบกันได้ทุกอย่าง มันก็ผ่านไปได้ด้วยเหตุด้วยผล

จากนั้นก็ซัดลงไปถึงหางเสือ คนเราไม่มีหาง เสือมีหาง เอาจะติดเสือตรงนี้เหรอ เป็นอย่างไรกลัวหางมันเหรอ มันจะติดแล้วนะทีนี้น่ะ เอากลัวหางมันเหรอ ไล่ไปๆ ปรุงตรงไหน เสือมีเราก็มีเหมือนกัน สู้กันได้ สู้กันได้ ลบล้างกันได้ พอไปถึงหางแล้วทีนี้เสือมีหาง เราไม่มีหาง กลัวหางมันเหรอ เราไม่มีทีนี้ หางเราก็มีไม่เห็นกลัว มันพูดไม่ได้ แต่ติดเสือตรงนี้ มันพลิกปั๊บ นั่นละปัญญา กลัวหางมันเหรอ ตั้งแต่ตัวมันเองมันยังไม่เห็นกลัว หางติดอยู่กับมัน เราไปกลัวมันหาอะไร แน่ะมันแก้กันไปอย่างนั้น นี่ในขั้นพิจารณาเรื่องสัตว์เรื่องเสือที่น่ากลัวไม่น่ากลัว ซึ่งอยู่ในรูปกายในอสุภะอสุภัง

พอผ่านจากนี้แล้วมันจะว่างของมัน ร่างกายนี้หมด พิจารณานี้ไม่มีคำว่าอสุภะอสุภัง ผ่านปึ๋งๆ ๆ ไปเลย ก็มีตั้งแต่ว่าอนิจจังแปรสภาพ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ จากนั้นจิตก็ว่าง เวลาถึงขั้นมันว่างว่างนะ ร่างกายมีมันก็ไม่ยอมพิจารณา มันอิ่มแล้ว จะพิจารณาอย่างไรรู้รอบหมดแล้ว มันก็ก้าวเข้าสู่ความว่างเปล่า ความว่างเปล่านี้ตั้งเป็นรูปหญิงรูปชายรูปสัตว์รูปเสือขึ้นมาไม่ทัน ตั้งขึ้นพับดับไปพร้อม ดับไปพร้อม ที่จะแยกว่าน่ากลัวหรือไม่น่ากลัวไม่ทัน เหมือนแสงหิ่งห้อยหรือฟ้าแลบนั่นแหละ พับดับหมดๆ นั่นการพิจารณาจิตใจเป็นอย่างนั้น

จากนั้นจิตก็ว่างไปหมด รูปอะไรไม่มี อยู่ในป่าในเขากำหนดดูเสือไม่มี ว่างไปหมดเหมือนกัน พอปรุงว่าเสือแป๊บดับพร้อมๆ ไม่ทันให้กล้าให้กลัวแหละ มันดับไปพร้อม สุดท้ายมันก็มารู้ตัวเองว่าปรุงหลอกเจ้าของ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากสังขารคือความคิดความปรุง พอปรุงพับดับพร้อม เกิดที่สังขาร สังขารเกิดว่ารูปสัตว์รูปเสือก็ปรากฏ สังขารดับรูปสัตว์รูปเสือก็ดับ เวลามันปรุงขึ้นพับมันก็ดับอย่างรวดเร็ว ไม่ทันได้แยกธาตุแยกขันธ์ว่าน่ากลัวไม่น่ากลัว จากนั้นจิตมันก็ว่างไปหมด

นี่ละการพิจารณาทางวงกรรมฐานท่านพิจารณา ท่านมีหลักมีเกณฑ์ มีแถวมีแนวไป ไม่ใช่อยู่ๆ ข้าเป็นอรหันต์นะ มันอย่างไรกัน เราก็เคยมีพระที่ชอบโอ้อวดตัวเอง อยากให้เขาเคารพนับถือว่าตนเป็นพระผู้วิเศษศักดิ์สิทธิ์ ว่าตนเป็นอรหัตอรหันต์เวลาเทศน์ออกมานี้ฟังเสียงเทศน์มันฟังไม่ได้ นี่หรือสำนวนพระอรหันต์เทศน์อย่างนี้เหรอ  เทศน์ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีเหตุมีผล สุดท้ายมันก็ลบกันทันที เทศน์ไม่มีภูมิ นั่น แม้แต่สมาธิก็ไม่มีภูมิจะเอาอรหัตอรหันต์มาจากไหน จะเชื่อได้ลงคอเหรอ มันลบกันทันที ความรู้ที่เหนือกันลบกันได้กับความรู้ที่จอมปลอม เป็นอย่างนั้นนะ

การพิจารณานี้มันเป็นแถวเป็นแนวไปโดยลำดับ อย่างที่พูดนี้ละ เมื่อมันถึงขั้นว่างนี้พิจารณาอะไรไม่ได้มันว่างหมด ว่างหมดเลย ต้นไม้ภูเขาเห็นพอเป็นรูปเป็นร่าง เป็นลางๆ แต่ส่วนใหญ่มันทะลุไปหมดเลย จะพิจารณาหาอะไรมันว่างแล้ว เมื่ออยู่ในขั้นว่างว่าง ก็มีแต่ความคิดความปรุงของสังขารที่ปรุงขึ้นมา ปรุงแล้วดับๆ ไม่ว่าดีว่าชั่วและดับทั้งนั้นๆ นี่มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาจากใจ เกิดขึ้นที่ใจ ดับลงที่ใจ หมุนเข้าไปหาที่ใจ นั่นปัญญา

นี่เราพูดถึงเรื่องวงกรรมฐาน ให้พระได้พิจารณาบ้าง บวชเข้ามาไม่รู้กรรมฐานมันเกินไป ทีนี้เวลามันละเอียดลออเข้าไปแล้วก็ดังที่ว่า กรรมฐานไม่มี ว่างหมดเลย เหลือแต่ความเกิดความดับของจิต ละเอียดมาก จิตนี้ว่างไปหมด ปรากฏตั้งแต่ความเกิดความดับของสังขารที่ปรุงขึ้น ดีก็ดี ปรุงชั่วก็ดีเกิดแล้วดับๆ ทั้งนั้นๆ แล้วทบทวนเข้าไปหารากใหญ่ของมันที่เป็นวัฏจักรวัฏจิต พาโลกทั้งหลายให้หมุนเวียน หมุนเข้าไปหา อวิชฺชาปจฺจยา สังขารเกิดขึ้นมาจากอวิชชา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

เมื่อแตกสังขารออกไปแล้วกิ่งก้านสาขาดอกใบไม่มีสิ้นสุด พอสังขารเกิดแล้วสังขารดับพับอะไรไม่แตก ไหลเข้าไป ตามเข้าไป จนกระทั่งถึงอวิชชาที่เกิดของสังขาร ฟาดอวิชชาขาดสะบั้นลงไปหมดแล้ว หมด สังขารตัวไหนเป็นกิเลสไม่มี เมื่อสมุทัยคืออวิชชาดับไปแล้วสังขารเหล่านี้ก็กลายเป็นขันธ์ล้วนๆ สังขารไม่มีกิเลส มีกิเลสมาจากสมุทัยพาให้เป็นกิเลส เมื่อสมุทัยคืออิวชชาดับลงไปแล้วสังขารเหล่านี้ก็ไม่มีกิเลส ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ สังขารล้วนๆ ไม่มีกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านมีแต่ขันธ์ล้วนๆ คิดปรุงเหมือนเรานี่คิด แต่ท่านคิดไม่มีกิเลส เพราะกิเลสดับหมดแล้ว สังขารเป็นความคิดความปรุงใช้การใช้งานได้เวลาต้องการเท่านั้น นั่นละการพิจารณาธรรมทั้งหลาย มันเป็นขั้นๆๆ เข้าไป ถ้าไม่รู้ด้นเดาไม่ได้นะ มันต้องเป็นขึ้นจากภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติรู้ด้วยเป็นสมบัติของตนด้วยเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้น พ้นด้วยเป็นสมบัติของตนด้วย เป็นอย่างนั้นการพิจารณาธรรมทางภาคปฏิบัติ ภาคจิตตภาวนา ท่านพิจารณาอย่างนั้น สอนอย่างนั้น

จนกระทั่งเข้าถึงอวิชชาดับ พอดับแล้วสังขารที่เป็นกิเลสก็ดับไปด้วยกัน เหลือแต่สังขารซึ่งเป็นขันธ์ล้วนๆ เป็นเครื่องมือใช้ธรรมดาๆ อย่างพระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านก็มีสังขารความคิดความปรุง สัญญาความมั่นความหมาย แต่ไม่มีกิเลสเข้าแฝง  ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ขันธ์ไม่มีกิเลสเจือปนคือขันธ์ของพระอรหันต์ขันธ์ของพระพุทธเจ้านั้นแล ใช้ไปพอถึงวันกาลเวลาขันธ์เหล่านี้ก็แตกกระจายไปตามโลกสมมุติไปเสีย วิมุตติหลุดพ้นพ้นอยู่แล้ว มีปัญหาอะไร อนุปาทิเสสนิพพานดีดผึงเลย เป็นอย่างนั้นการปฏิบัติธรรม

ธรรมของพระพุทธเจ้าท้าทายเรื่องมรรคผลนิพพาน จ้าอยู่ตลอดเวลาในหัวใจของผู้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะครึจะล้าสมัยไปไหน ไม่มี มีแต่กิเลสหลอกลวงสัตว์โลก ผู้ที่มันออกมาแสดงอย่างนั้นมันไม่ได้สนใจกับอรรถกับธรรม มันสนใจแต่เรื่องกิเลส คลังกิเลสเอามาหลอกธรรมหลอกได้อย่างไร ธรรมเหนือกว่าแล้ว หลอกออกมาแง่ใดมันก็รู้กันทันทีๆ นี่ละเรื่องตามความเกิดตายของตัวเอง ตามร่องตามรอยเข้าไปจนถึงจุดสุดท้ายที่เป็นที่สุดของความเกิดตายก็ได้แก่อวิชชา พออวิชชาขาดสะบั้นลงไปแล้วจิตบริสุทธิ์ผึงขึ้นมาแล้วหมด เรื่องความเกิดความตายไม่มี หมดโดยสิ้นเชิง

          รู้ สนฺทิฏฺฐิโก ครั้งสุดท้าย รู้ผลงานของตนในขั้นสุดท้าย คือวิมุตติหลุดพ้น ดังที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า     ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ ความรู้ความเห็นอันเลิศเลอได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราตถาคต อกุปฺปา เม วิมุตฺติ  ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงนี้ไม่มีการกำเริบอีกแล้ว อยมนฺติมา ชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา จะเกิดเพียงเท่านี้  นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว ตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะไม่ถือกำเนิดเกิดอีกต่อไปเลย ท่านแสดงเป็นการท้าทายหรือเป็นสักขีพยานอันสำคัญแก่เบญจวัคคีย์

          พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้รู้ธรรมเห็นธรรมในเบื้องต้น สำเร็จพระโสดา ขึ้นอุทานในเวลานั้นว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น สิ่งที่ไม่ดับคืออะไร คือธรรมที่รู้เห็นอยู่นี่ ประจักษ์ใจอยู่นี้ นี่กระแสพระนิพพาน โสตะแปลว่ากระแส สายความสว่างไสวแห่งความไม่เกิดไม่ตายเห็นอยู่นี่น่ะ อันนี้ไม่ดับ นอกนั้นเกิดแล้วดับทั้งนั้น อันนี้ไม่ดับ ความหมายว่าอย่างนั้น

          พระพุทธเจ้าก็ทรงเปล่งพระอุทานรับกันกับพระอัญญาโกณฑัญญะว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ได้รู้แล้วหนอ นั่นละอุทานของพระพุทธเจ้ารับกันกับพระอัญญาโกณฑัญญะที่ท่านมีดวงตาเห็นธรรม วีตมลํ ธมฺมจกฺขุ อุทปาทิ พระอัญญาโกณฑัญญะเปล่งอุทานขึ้นมา พระพุทธเจ้าเปล่งอุทานรับ แน่แล้วทีนี้จะก้าวเข้าสู่ความไม่เกิด จะถึงนิพพาน เข้าถึงกระแสนิพพานแล้วจะไม่เกิด

          พอเทศน์ในวันหลังต่อมาท่านก็เทศน์ในอนัตตลักขณสูตร มีแต่อนัตตาๆๆ อะไรถือเป็นตนเป็นตัวเป็นเขาเป็นเราไม่ได้ เป็นสิ่งที่ควรปล่อยวางโดยประการทั้งปวง ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา แม้ที่สุดสิ่งที่เคลือบแฝงอยู่ภายในจิตนี้ก็เป็นอนัตตา ฟาดอันนี้ขาดสะบั้นลงไป หมด พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าบรรลุอรหัตตบุคคลด้วยอนัตตลักขณสูตร ท่านแสดงไว้อย่างนั้น แล้วธรรมเหล่านี้อยู่ที่ไหนเวลานี้ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันก็มีอยู่ทุกผู้ทุกคน ถ้านำมาคลี่คลายพินิจพิจารณามันจะเสริมปัญญาเป็นลำดับ เพราะธรรมเหล่านี้เป็นหินลับปัญญา พิจารณารู้ได้

          จิตครั้งพุทธกาลกับจิตสมัยปัจจุบันนี้ก็จิตคนจิตสัตว์เหมือนกัน เรายิ่งเป็นจิตคนควรแก่การที่จะรู้เห็นอรรถธรรมตามทางของศาสดาได้โดยสมบูรณ์ เราก็พิจารณาซินักภาวนา มีแต่กินแล้วนอนกรแล้วนินมันไม่เกิดประโยชน์อะไรนะ ธรรมพระพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆตลอดไปเลย เราอย่าทำตัวเป็นคนครึคนล้าสมัยแล้วไปเหยียบย่ำทำลายธรรมของพระพุทธเจ้าว่าครึว่าล้าสมัย มันจะจมนะ เอาให้ดี พิจารณาให้ดี

          การภาวนาเพื่อความสงบใจนี้มากที่สุด นี่ละสมบัติภายใน พอจิตเริ่มมีความสงบแล้วจะเริ่มเย็น เริ่มมีหลักมีฐานภายในใจ สำหรับภายนอกต่างท่านต่างเราได้อาศัยกันไป สมบัติภายนอกเป็นของไม่แน่นอน อยู่กันด้วยความเสี่ยงทาย เขาไม่พรากเราก็พราก เขาไม่ทำลายเราก็ทำลาย เขาไม่ตายเราก็ตาย แต่จิตดวงนี้ไม่เคยตาย ยิ่งได้ธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องประดับใจด้วยแล้วยิ่งสง่างามเป็นลำดับลำดา สง่างามสุดขีดบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน เป็นธรรมธาตุเต็มหัวใจ

          นั่นสิ้นสุดแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ฆ่ากิเลสได้สิ้นสุดลงไปแล้วในขณะที่กิเลสขาดสะบั้นลงไปจากจิตใจโดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ นั่นละงานการบำเพ็ญตัวเองเพื่อรื้อวัฏฏะออกจากใจได้สิ้นสุดลงไปในขณะนั้น จากนั้นไม่มีรื้ออะไร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านจึงหมดงานทำ ไม่มีงานต่อไป งานของท่านก็คือการรื้อถอนกิเลส งานฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลส

          พอเสร็จแล้วก็วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ พรหมจรรย์คือการรื้อถอนกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกอันใหญ่หลวงขอวัฏวนนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว งานที่ควรทำอย่างยิ่งก็คืองานแก้กิเลสอันนี้ก็ได้ทำเรียบร้อยแล้ว งานอื่นที่ยิ่งกว่างานแก้กิเลสนี้ไม่มี ก็เรียกว่าสิ้นสุด ตั้งแต่บัดนั้นไม่มีงานละทำ งานที่จะเป็นข้าศึกให้ได้ทำไม่มี พระพุทธเจ้า-พระอรหันต์ท่านไม่มีงานฆ่ากิเลสอีกเลย หมดโดยสิ้นเชิง ก็มีแต่ครองธาตุครองขันธ์ไปเท่านั้น อยู่ไปวันหนึ่งๆ

          การภาวนาของท่านมีอยู่สองประการ การภาวนาเวลามีชีวิตอยู่ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนท่านทำเช่นเดียวกับเรา แต่การพิจารณาเพื่อความสะดวกในธาตุในขันธ์ ระหว่างธาตุขันธ์อยู่ด้วยกัน มีการเปลี่ยนอิริยาบถพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปมา เคลื่อนไหวไปมาเพื่อความสะดวกในธาตุในขันธ์ แล้วการพิจารณาอรรถธรรมทั้งหลายในวงแคบจนกระทั่งออกเป็นวงกว้าง จนกระทั่งถึงพิจารณาดูสัตวโลก ออกจากการภาวนาของท่านทั้งนั้นแหละ

          งานที่จะถอดถอนกิเลสของท่านท่านไม่มี มีแต่งานดูสัตวโลก ควรที่จะแนะนำสั่งสอนประเภทใดท่านก็สอน ถ้าไม่ควรก็ปิดเสียๆ เหมือนคนไข้เข้าห้องไอซียู ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่หมอเขายังรักษามารยาทนะ เขายังปฏิบัติบำรุงรักษาทั้งๆ ที่หมดทางที่จะแก้ไขแล้ว คอยแต่ลมหายใจเท่านั้น หมอเขาก็ยังรักษามารยาท อันนี้ทำไปลักษณะนั้นแหละ อยู่กันไป อยู่กันไป ธาตุขันธ์มันก็มีแต่ลมหายใจเป็นเครื่องตัดสิน พอลมหายใจสิ้นแล้วขาดสะบั้นไปหมด จิตใจที่ปล่อยวางแล้วโดยสิ้นเชิงในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ดีดผึงเลย ถึงนิพพานทั้งเป็น

          นี่ละธรรมพระพุทธเจ้าสดๆ ร้อนๆ อยู่อย่างนี้ การทำบุญได้บุญสดๆ ร้อนๆ การทำบาปได้บาปสดๆ ร้อนๆ นรกมีอยู่สดๆ ร้อนๆ อเวจีที่ไหนมีอยู่สดๆ ร้อนๆ สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน มีอยู่สดๆ ร้อนๆ ใครทำบาปทำบุญเป็นบาปเป็นบุญสดๆ ร้อนๆ ให้พากันระมัดระวัง อย่าเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้จืดจาง ไม่มีจืดจาง ถ้าจืดจางไปแล้วพระพุทธเจ้าองค์หลังมาตรัสรู้ท่านจะได้รู้ได้เห็นอะไรมันจืดจางไปหมดแล้ว แต่นี้องค์ไหนมาตรัสรู้ก็บอกสิ่งเหล่านี้ว่ามีๆ ก็คือไม่จืดจางว่างเปล่า เป็นของคงเส้นคงวาหนาแน่นอยู่ตามเดิม สิ่งที่ชั่วชั่วตามเดิม สิ่งที่ดีดีตามเดิม

          ให้พยายามระมัดระวังรักษา แล้วกีดกันสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย พยามยามบำรุงรักษาสิ่งทีดีให้ดีงามขึ้น ผู้นั้นก็จะแคล้วคลาดปลอดภัยเป็นลำดับไป จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้นำไปประพฤติปฏิบัตินะ เรามีครูมีอาจารย์ฟัง ธรรมก็เป็นธรรมที่แท้จริง อย่างที่เราสอนเวลานี้เราไม่ได้สงสัยในการสอน เราไม่ไปหาลูบคลำที่นั่นที่นี่ ถอดออกมาจากหัวใจจากการปฏิบัติของตน ได้เหตุได้ผลประการใดประจักษ์อยู่ในหัวใจเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ไม่ต้องไปถามผู้ใด จ้าอยู่ในนี้แล้วสอนออกไปด้วยความถูกต้องแม่นยำ จึงไม่สงสัยในการสอนธรรมแก่โลกทั่วๆไป ผู้ฟังให้ฟังตามนี้แล้วปฏิบัติตามนี้จะได้ผลเป็นที่พอใจตลอดไปๆ พากันจดจำเอานะ

          การเทศนาว่าการเทศน์ไปๆ มันก็เหนื่อยเหมือนกัน มันต้องได้พัก ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนที่เทศน์เครื่องมือดี เทศน์ไปสักเท่าไรก็ได้ เดี๋ยวนี้เครื่องมืออ่อนแล้ว ธาตุขันธ์อ่อนๆ ธรรมไม่มีวัย แต่ธาตุขันธ์มีวัย มันชำรุดทรุดโทรม ธรรมในใจไม่มีวัย เพราะใจไม่มีวัย ใช้ได้ตลอดไป แต่นี้ธาตุขันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือของใจชำรุดๆ ธรรมะก็ต้องได้อ่อนลงไปตามอันนี้

          จึงขอให้ท่านทั้งหลายนำไปปฏิบัติ อยู่ในบ้านในเรือนอย่าปล่อยอรรถปล่อยธรรม ปล่อยคุณงามความดี พุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้ติดใจเสมอ นี้เป็นธรรมที่เลิศเลอ เข้าอยู่ในจิตใจผู้ใดจิตใจผู้นั้นเลิศเลอ เหมือนหนึ่งว่าตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกฝีก้าวนะ ถ้ามีพุทโธก็ดี ธัมโมก็ดี สังโฆ หรือธรรมบทใดก็ดีอยู่ภายในใจเท่ากับตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยกันนั้นแหละ ถ้าไม่มีธรรมบทนี้มีแต่เรื่องกิเลสตัณหาพาจมตลอด พากันจดจำเอานะ

          เอาละการแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่ธาตุแก่ขันธ์ กาลเวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องลูกหลานทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ

          วันที่ ๒๕ ธันวา ทองคำที่ได้ตั้งแต่เช้าถึงค่ำวันนี้ได้ ๑ กิโล ๔ บาท ๗๐ สตางค์ ทองคำที่ได้ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวา ถึงค่ำวันนี้ได้ ๑๔ กิโล ๘ บาท ๓๒ สตางค์ หวุดหวิดเกือบ ๑๕ กิโล เดี๋ยวมันจะถึง ๑๕ กิโลจนได้ สรุปทองคำน้ำไหลซึมถึงวันที่ ๒๕ ทองคำที่หลอมแล้วและยังไม่ได้หลอม ๓๖๒ กิโล ๕๐ บาท ๕๗ สตางค์นะ ถ้ารวมกับ ๓๗ กิโลครึ่งที่มอบแล้วเข้าด้วยกัน ก็เป็นจำนวน ๔๐๐ กิโล ๑๗ บาท ๖๘ สตางค์นะ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน FM 103.25 MHz

 

 

 

 

 

 

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก