สำคัญที่หลักใจ
วันที่ 22 ธันวาคม 2547 เวลา 8:30 น.
สถานที่ : สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   วิดีโอแบบ(Win Narrow Band)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ

เมื่อเช้าวันที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

สำคัญที่หลักใจ

 

          ทุกวันนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนพอเทศน์จบแล้วหายเงียบเลยนะ เลยระลึกไม่ได้ว่าได้เทศน์หรือไม่เทศน์ มันเป็นอย่างนั้นเดี๋ยวนี้ ความจำแทบจะไม่มีนะ ไปที่ไหน ๆ มาระลึกไม่ได้เลย ต้องระลึกนานแล้วค่อยแย็บออก พอจับได้ ๆ ความจำเสื่อมมากทีเดียว แต่สังขารนี้ไม่ปรากฏว่าเสื่อมนะ สังขารคือความคิดความปรุง เราสังเกตเรื่อยมา สังขารไม่เห็นเปลี่ยนแปลงไปไหน คิดได้ตลอด ๆ แต่สัญญานี้รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงหดเข้ามาๆ  ทำอะไรไปนี่หายเงียบ พูดอะไรไปแล้วหายเงียบ จำไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงจะแย็บออกนิด ๆ ไม่มากนะ ความจำจึงเสื่อมเอามาก

          พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นนี้รู้สึกว่าสมบูรณ์ทุกอย่าง จนกระทั่งวันท่านมรณภาพนะ สมบูรณ์ทุกอย่าง ตาก็ดี หูดีตลอด ความจดความจำนี้ดีตลอดนะ ท่านปรากฏว่าไม่มีอะไรบกพร่อง นอกจากร่างกายนี้อ่อนลง ๆ แต่ส่วนประกอบทั้งหลายนี้ เช่นความคิดความจำ ตา หู ดีหมด อายุท่าน ๘๐ พอดีนะ พอย่างเข้า ๘๐ ก็ไปเลย ๘๐ ปีไป อันนี้ท่านพูดไว้นานแล้วนะที่อายุ ๘๐ อย่างนั้นแหละเห็นไหมล่ะ ท่านพูดไว้ธรรมดา ๆ ท่านว่าอายุไม่เลย ๘๐ ท่านบอกไว้เลย บอกมานาน

          เวลาสุดท้ายเราไม่ลืม เราไปเที่ยวก็พูดกันด้วยดี เรียบร้อยตกลงอะไร ท่านตกลงให้ทุกอย่าง ๆ เลยนะ เวลาจะไปเราก็บอกว่าวันมาฆบูชานี้จะไม่ได้กลับมา เพราะเราไปนี้พึ่งขึ้นสามค่ำเดือนสาม แน่ะก็ยังไม่กี่วัน “เอ้อไม่มาก็ไม่เป็นไร” ท่านว่างั้น “ให้มาฆบูชาในนี้เลย” ท่านว่างั้นนะ เปิดทางให้สะดวกโล่ง ดูเหมือนเราไปขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๓ แรม ๑ ค่ำเดือนมีนา ก็ไม่นานนะเรากลับมา “ไปยังไง อยู่ยังไง” ท่านว่างั้นนะ ท่านไม่เคยทำอย่างนั้นนะ “หาวิเวกที่ไหน เหล่านี้ ๆ วิเวกทั้งนั้น” เอ๊ะแปลก รู้สึกสะดุดใจ ท่านก็มีอะไรของท่านแน่ล่ะ

          “หาวิเวกที่ไหน” ท่านพูดนิสัยท่านเด็ด ๆ ๆ เวลาท่านออกเด็ด ๆ “หาวิเวกที่ไหน เหล่านี้ ๆ มีแต่วิเวกทั้งนั้น มีตลาดตเลที่ไหน” ท่านว่างั้น พอจากนั้นมาก็เริ่มป่วย ป่วยเมื่อวานซืน ก็วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๔ แรมค่ำหนึ่งเราก็มา ท่านบอกเลย นี่ล่ะเป็นครั้งสุดท้ายการเจ็บไข้ของเรา เป็นครั้งสุดท้าย เอายาเทวดามารักษาก็ไม่หาย บอกไว้เลยนะ อย่าเอายามายุ่งนะ ท่านว่างั้น แต่มันจะไม่ตายง่ายนะ โรคนี้เป็นโรคทรมาน ท่านว่างั้น

          เราจับไว้ทุกแง่ทุกมุม แต่ก่อนความจำมันก็ดีอยู่พอประมาณ ท่านว่าอะไร เพราะมันจ่อตลอด นี่ล่ะเป็นครั้งสุดท้ายจะไม่หายเลยตลอดไปถึงวันตาย ท่านว่างั้นนะ แต่ไม่ตายง่ายนะ เป็นโรคทรมาน เราก็ไม่ลืม เรื่องหยูกเรื่องยาอย่าเอามายุ่ง เอายาเทวดามาใส่ก็ไม่หาย ท่านบอกงั้นเลย ที่ท่านดุเราแสดงว่าท่านเริ่มป่วยแล้ว ธรรมดาก็เรียกว่าเราต้องไปอยู่ใกล้ชิดคอยดูแลท่าน ความหมายว่างั้น พอมาท่านขู่เลยเชียว ก็ท่านให้ไปได้ดิบได้ดี เวลาขากลับมานี้ขู่ใหญ่เลย เราก็แปลกใจท่านต้องมีอะไรแน่ๆ  พอสักเดี๋ยวก็แย็บเข้ามา “นี่ก็เริ่มป่วยแล้วนะ ป่วยเมื่อวานซืน นี่เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เริ่มป่วยนี่ตลอดไปเลยไม่หาย เอายาเทวดามาใส่ก็ไม่หาย” ท่านว่า

          ที่ท่านดุเราหมายความว่าท่านเริ่ม ความหมายของโลก ๆ เราก็เรียกว่าอยากให้เราอยู่ใกล้ชิดกับท่าน ปรึกษาหารือเรื่องอะไร เพราะท่านจะปล่อย ปรกติท่านก็อยู่ธรรมดาเหมือนว่าปล่อย แต่เราดูแลพระเณรตลอด เราทุกข์มากอยู่นะเวลาอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์ ตาต้องสอดต้องส่อง หูต้องฟัง ดูแลพระเณร เพื่อความเรียบร้อยในวัด  ไม่ให้มีอะไรระเกะระกะขวางหูขวางตาท่าน เพราะเรามาเองอย่าให้ท่านได้ลำบากลำบน เราจึงคอยสอดส่องตลอดเวลา พอเรามาท่านขู่เลย นี่ล่ะที่ว่า ๘๐ ปีนี้ท่านบอกมานานแล้วแหละ ท่านว่าอายุท่านไม่เลย ๘๐ ท่านบอกไว้เลย

          บางทีนับข้อมือก็มี การนับข้อมืออายุของท่านคือเตือนพระเณร ใครจะรีบเร่งขวนขวายให้รีบเร่งนะ เวลานี้เรายังมีชีวิตอยู่ใครขัดข้องทางด้านจิตใจอะไรให้ถามมา  เราตายแล้วมันแก้ยากนะแก้จิตใจ ท่านว่างั้น ทางด้านจิตใจมันลำบากมากนะ ว่างั้น เราก็ไม่ลืม นี่ก็จวนแล้วนะ บางทีท่านนั่งวันอุโบสถท่านยังนับมือ ๘๐ นะ ใครอย่านอนใจนะ ท่านบอก ใครจะรีบให้รีบนะ ไม่นานนะ บางทีท่านก็นับข้อมา อายุท่านเท่านี้แล้วก็นับไปเท่านั้น ๆ พอถึง ๘๐ ปั๊บ นั่นเห็นไหมมันจะนานอะไร ท่านว่า ให้เร่งความเพียร ความหมาย เวลาเรามีชีวิตอยู่นี้ใครขัดข้องทางด้านจิตใจอะไรท่านจะแก้ให้ ท่านบอกงั้นเลย การแก้จิตใจมันลำบากมากนะ ไม่รู้แก้ไม่ได้นะ ท่านว่า

          พอเริ่มป่วยปั๊บบอกเลยล่ะ ผมป่วยเมื่อวานซืน ป่วยธรรมดานี่แหละ ธรรมดาท่านไม่เคยพูดเรื่องเจ็บป่วย ไม่สนใจพูด แต่วันนั้นพูดแล้ว บอกว่านี้เป็นครั้งสุดท้าย การป่วยคราวนี้จะไม่หายตลอดไปเลยถึงวันนั้นแหละ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ  ท่านพูดอะไรไม่เคยเคลื่อน พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพูดไม่เคยเคลื่อน แต่ว่า ๘๐ นี้พูดมานานแล้วนะ จวนเข้ามา ๓ ปี ๔ ปีนี้ ๗๖-๗๗ ท่านเริ่มเร่งพระเณรแล้วนะ บอกให้รีบนะ ๆ ๘๐ เท่านั้นนะ ย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่ ใครจะเร่งให้เร่งนะ เราไม่ลืม แล้วเป็นไปตามนั้น ๆ ไม่มีเคลื่อนท่านพูดอะไร เพราะท่านพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ท่านถึงออกมา ๆ ออกมาคำไหนแม่นยำ ๆ ทุกอย่าง

          เราจึงได้พูดว่าจอมปราชญ์ในสมัยปัจจุบันก็มีหลวงปู่มั่นองค์เดียว รอบคอบจริงๆ นะ ไม่มีที่ต้องติเลย ทั้งภายนอกภายในรอบตลอด คิดดูซิอยู่กับท่านถึง ๘ ปี หาข้อตำหนิแม้ข้อเดียวไม่ได้เลยมีหรือคนเรา เอะท่านทำไมทำอย่างนั้นไม่มีเลย ยอมรับ ๆ ท่านเก็บหอมรอมริบ เรื่องหลักธรรมหลักวินัยไม่ให้เรี่ยราดได้เลย เก็บหอมรอมริบเรียบหมด ทีนี้เราก็เรียนมาเหมือนกัน ท่านทำอะไรมันก็รู้หมด

        โห เหมือนฟ้าดินถล่มนะ ที่หลวงปู่มั่นมรณภาพเหมือนฟ้าดินถล่มเลย วงกรรมฐานโอ๋ยแตกกระจัดกระจาย พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมรณภาพเพียงองค์เดียวเหมือนหนึ่งว่าฟ้าดินถล่ม บรรดาวงกรรมฐานแตกกระจัดกระจายเกาะกันไม่ติด สามปีสี่ปีจึงค่อยเริ่มเกาะกันติด พอเสร็จแล้วองค์นั้นท่านก็ไปที่นั่น องค์นี้ไปที่นี่ ไม่ทราบจะเกาะใครพระเณรยุ่งไปหมดเลย

          ท่านอาจารย์ขาวท่านก็อยู่ในภูเขา อยู่ในป่า ท่านอาจารย์ฝั้นท่านก็อีกแห่งหนึ่ง อยู่คนละแห่ง ท่านอยู่ลำพังท่าน แต่ก่อนไม่ค่อยมีพระเณรไปเกาะ พอหลวงปู่มั่นมรณภาพเท่านั้นทีนี้พระเณรวิ่งวุ่นหาที่เกาะที่ยึด ตอนนั้นเราก็อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน เราก็ดี เราก็แบบของเราเหมือนกัน เข้ากับใครไม่ได้ ระยะนั้นเราเข้ากับใครไม่ได้เลย เพื่อนฝูงก็คอยจะเกาะจะติดเรา สลัดตลอด กลางวันก็ขโมยหนี กลางคืนขโมยหนี มันอยู่ไม่ได้ อยู่ได้องค์เดียวเท่านั้น

          นี่ล่ะจิตเวลามันเข้าชุลมุนแล้วมันจะไม่ให้ใครมาเกาะเลยนะ จะอยู่องค์เดียว ๆ ตลอดทั้งวัน กับความเพียรนี่พรากจากกันไม่ได้เลย ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน เว้นแต่หลับ พอตื่นขึ้นมานี้เอาแล้วเรียกว่าขึ้นเวทีแล้ว หมุนติ้ว ๆ นั่นล่ะทีนี้พระเณรก็วิ่งวุ่น เพราะเราก็วุ่นภายในของเรา พระเณรก็วิ่งวุ่นหาที่ยึดที่เกาะ เรานี้สลัดเรื่อย หลบนั้นหลบนี้ หลบเข้าป่าเข้าเขา ไปอยู่ที่ไหนไม่ได้นาน อย่างมากดูเหมือนจะไม่เลย ๑๕ วัน เดี๋ยวพระเณรติดตามทัน หลบนี้ปั๊บ หลบนู้นปั๊บ ออกจากนั้นหลบนู้นปั๊บ อยู่อย่างนั้น เพราะงานอันนี้อยู่กับใครไม่ได้ แล้วพระเณรก็ยุ่ง หลังจากนั้นมาแล้วประมาณสามสี่ปี พระเณรถึงเกาะติดครูบาอาจารย์ องค์นั้นอยู่ที่นั่นไป องค์นั้นอยู่ที่นั่นไป เราถึงไม่มากก็ไป ไปหาเรา แต่อยู่ทีละสามองค์สี่องค์ หลบอยู่ในป่า

          ทางด้านจิตใจเป็นสำคัญมากนะ การฝึกทรมาน ถ้าครูบาอาจารย์ที่จิตใจมีความแน่วแน่ มีหลักมีเกณฑ์แล้วการแนะนำสั่งสอนผู้มาอาศัยก็ได้รับประโยชน์เต็มกำลัง ๆ ถ้าสอนกันแบบสุ่มสี่สุ่มห้าที่ได้ยกยอขึ้นว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ไม่ได้เรื่องนะ อาจารย์ทางฝ่ายกรรมฐานต้องเป็นหลักภายในจิตใจทางด้านจิตตภาวนา ไม่ใช่เสกสรรว่ามีอายุพรรษามากแล้วสมควรเป็นอาจารย์ พระกรรมฐานดูกันไม่ได้ดูอายุพรรษานะ ดูจิตใจต่างหาก

          ถ้าจิตใจดีแล้วนั่นล่ะติด บรรดาลูกศิษย์ลูกหาเข้าไปเกาะ ๆ คือดีอยู่ที่จิตใจ ถ้ามีหลักใจดีแล้วดี เป็นแต่เพียงครูเป็นอาจารย์ด้วยอายุพรรษามากพระกรรมฐานไม่ติด ท่านรู้เร็ว กรรมฐานรู้กันได้เร็ว คือหลักใจเป็นสำคัญ ถ้ามีหลักใจแล้วเกาะติดไม่ยาก  เข้าเลย ๆ ถ้าไม่มีหลักใจนี่เป็นครูเป็นอาจารย์ก็สักแต่ว่าชื่อ เรื่องกรรมฐานเป็นเรื่องธรรมล้วน ๆ ยอมรับกันโดยหลักธรรมชาตินะ ไม่ใช่ยอมรับนับถือกันด้วยอายุพรรษาอะไร ชื่อเสียงอะไร กรรมฐานไม่มี จะมีเฉพาะหลักใจ องค์ใดมีหลักใจยังไงมันหากรู้กันเอง กรรมฐานเข้าถึงๆ เลย กรรมฐานติดพันครูบาอาจารย์ คือครูบาอาจารย์นั้นมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่เกาะไม่ติดพระกรรมฐาน

          เพราะงั้นหลวงปู่มั่นถึงพูดเสมอว่า นี่จวนแล้วนะ ใครให้เร่งเร่งนะ บางทีนับข้อมือ คือท่านแน่ของท่านว่า ๘๐ ๘๐อยู่อย่างนั้นไม่บอกไปไหนเลย พอก้าวเข้าปีนั้น ย่าง ๘๐ ก็เริ่มป่วย บอกเลย นี่ล่ะครั้งสุดท้าย ผิดไหมล่ะ คือความแน่อยู่ในหัวใจ ไม่ต้องไปหาพยานที่ไหน มันแน่อยู่ที่หัวใจแล้ว การอบรมทางด้านจิตใจมันออกมาจากคุณธรรมในใจ พูดอะไรเจ้าของเชื่อถือเจ้าของแล้ว เจ้าของมีหลักเกณฑ์ในเจ้าของ พูดให้ใครฟังมันเป็นยังไง ความจริงอยู่ในเจ้าของ จริงแล้วออกไปจะปลอมที่ไหน มันก็ต้องยอมรับคนเรา พูดออกไปก็ยอมรับ ๆ ถ้าเจ้าของปลอมไปไหนไม่มีใครยอมรับแหละ มันสำคัญอยู่ที่หลักใจ เช่นมีฤทธิ์มีเดชออกจากใจ เพราะใจมีฤทธิ์มีเดช มีรสมีชาติอยู่ในนั้นเสร็จเลย จึงว่าธรรมทั้งหลายรวมอยู่ที่ใจ ท่านจึงสอนให้อบรมใจให้ดี ถ้าอบรมใจดีแล้วจะค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้นไปโดยลำดับ

          วันนี้ไม่พูดอะไรมากนัก ทีนี้ให้พร

 

         

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุอุดร

FM 103.25 MHz

 

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก