เย็นใต้ร่มพระบารมี
วันที่ 18 กรกฎาคม. 2547 เวลา 14:00 น.
สถานที่ : กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพ
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์ ณ กรมประชาสัมพันธ์ กทม.

ออกอากาศเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

เย็นใต้ร่มพระบารมี

 

วันนี้เป็นวันมหามงคลแก่พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ ซึ่งท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้นิมนต์หลวงตามาแสดงธรรม จะเรียกว่าเพื่อเปิดหูเปิดตาธรรมะให้พี่น้องทั้งหลายทราบทั่วหน้ากันก็ได้ เพราะธรรมะนี้ ส่วนมากจะเป็นธรรมะออกจากป่าจากเขา มาแสดงให้พี่น้องทั้งหลายฟัง จากการปฏิบัติของตนที่ได้ผลมากน้อย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นต้นแห่งพระพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในป่าในเขา ตั้งแต่วันเสด็จออกทรงผนวช สรุปความลงแล้วเป็นเวลา ๖ ปี ด้วยวิธีการต่างๆ ในการฝึกทรมานพระองค์เพื่อความตรัสรู้ สุดท้ายก็ได้ตรัสรู้ด้วย อานาปานสติ ทรงเจริญอานาปานสติ ได้ตรัสรู้ธรรม ในผลเบื้องต้นที่ได้บรรลุธรรมเป็นลำดับลำดาก็คือ เจริญอานาปานสติ

ในปฐมยามได้ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงระลึกชาติย้อนหลังของพระองค์ได้จำนวนหาประมาณไม่ได้ตลอดมา หายสงสัยในการเกิดการตายของพระองค์และสัตว์ทั้งหลายทั่วๆ ไปในวันนั้น ด้วยความรู้แจ้งแห่งความเป็นมาในร่องรอยของพระองค์ที่ได้ผ่านมาในภพน้อยภพใหญ่ ประกอบด้วยความสุขความทุกข์ที่เจือปนกันมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันในวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น พอมัชฌิมยามก็ทรงบรรลุธรรม จุตูปปาตญาณ ทรงรู้แจ้งแทงทะลุในการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายทั่วแดนโลกธาตุ ว่าเป็นเหมือนพระองค์เองไม่มีอะไรผิดแปลกจากกัน

การเกิดการตายทุกตัวสัตว์ในสามแดนโลกธาตุนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่การคลุกเคล้ากันไปด้วยความสุข ความทุกข์ ความทรมานต่างๆ เรื่อยมา มาเทียบกับภพของพระองค์ที่ทรงรู้ผ่านมาแล้ว และสัตว์ทั้งหลายที่เป็นอยู่นี้ก็เป็นอันเดียวกัน คือ เรียกว่านักท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในภพน้อยภพใหญ่ในสามแดนโลกธาตุนี้ด้วยกันไม่มีวันจบสิ้นลงได้ พระองค์จึงทรงประมวลเรื่องการเกิด-ตายของพระองค์และสัตว์โลกเข้ามาหาเหตุผล ว่าเป็นมาเพราะเหตุใด สัตว์ทั้งหลายทั้งเขาทั้งเราจึงต้องเกิด-ตายไม่มีหยุดมีสิ้นลงได้ หาที่ยุติไม่มีเลย มีอะไรเป็นต้นเหตุ

พระองค์ก็ทรงพิจารณามาหาต้นเหตุ ก็มาได้จุดที่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น อวิชชานี้แลพาสัตว์ให้งมงายตาย-เกิดอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ไม่สุดไม่สิ้น ตัวนี้เป็นตัวเหตุอันสำคัญ พระองค์ทรงพิจารณาอวิชชาตัวนี้ ที่พาสัตว์ทั้งหลายให้เกิด-ตายไม่หยุดหย่อนจนกระทั่งถอนพรวดขึ้นมาจากพระทัย อวิชชาสิ้นเสร็จลงไปในขณะนั้น ตรัสรู้ขึ้นมาเป็นศาสดาเอกของโลก ใน ปัจฉิมยาม เป็นยามที่พระองค์ตรัสรู้ธรรม รู้แจ้งแทงทะลุในบรรดาสามแดนโลกธาตุของสัตว์ เปรต ผี มนุษย์มนา เทวดา อินทร์ พรหม  รู้แจ้งแทงทะลุไปหมดจากพระทัยที่เปิดโล่งออกหมดแล้ว โดยกิเลสที่ปิดบังหุ้มห่อมาตั้งกัปตั้งกัลป์ไม่ให้ทราบสายทางที่เป็นมาอย่างไรต่ออย่างไรกระทั่งปัจจุบันนี้ ได้เปิดโล่งออกหมด เหลือแต่พระทัยกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วรู้แจ้งแทงทะลุ ที่เรียกว่า โลกวิทู รู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง เป็นอันว่าสุดสิ้นในความเกิด-ตายของพระองค์เอง แล้วพิจารณาในพระทัยในการที่จะสั่งสอนสัตว์โลกที่เป็นนักท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายแบกหามกองทุกข์มาตลอดนี้ ด้วยธรรมที่ทรงตรัสรู้แล้วนั้นโดยลำดับลำดามา

นี่คือผลแห่งการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าที่เป็นต้นแห่งพระพุทธศาสนาของเรา นี่แหละต้นแห่งพุทธศาสนา ที่แสดงออกในเบื้องต้นก็ตั้งแต่พระองค์เสด็จออกจากหอปราสาทราชมณเทียร เสด็จเข้าอยู่ในป่าในเขาทรงบำเพ็ญพระองค์ ได้ตรัสรู้แล้วทรงเล็งญาณดูสัตวโลก แม้จะทรงท้อพระทัยในความมืดบอดของสัตว์ ไม่สามารถที่จะรื้อขนไปได้ตามพระทัยหวังก็ตาม แต่สัตว์โลกที่มีจำนวนมากซึ่งจะค่อยเล็ดลอดไปตามธรรมของพระพุทธเจ้าให้พ้นจากกิเลสทั้งหลายไปได้ก็ยังมีอยู่จำนวนมาก พระองค์จึงได้ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกแล้วแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกต่อไป มีเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งอยู่ในป่าในเขาเช่นเดียวกัน  ท่านเหล่านี้ก็ได้บรรลุธรรมขึ้นเป็นพยานของบรมศาสดา  แล้วประกาศเป็นศาสนธรรม หรือเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของสัตว์โลกเรื่อยมา

เบื้องต้น ก็เป็น พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ พระธรรมเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ฝากเป็นฝากตายได้ตลอดมา ถึงพระสงฆ์ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ได้เป็นสรณะพึ่งเป็นพึ่งตายต่อสัตว์โลกชาวพุทธเราตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ต้นเหตุที่เป็นมาของพระพุทธเจ้า ก็เสด็จออกมาจากหอปราสาทราชมณเทียรเข้าอยู่ในป่าในเขาลำเนาไพร บำเพ็ญพระองค์จนได้ตรัสรู้แล้วสั่งสอนสัตว์โลกมีเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งอยู่ในแดนแห่งป่าเช่นเดียวกัน แล้วได้ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาบรรลุธรรมขึ้นมาตลอดกว้างขวางไม่มีประมาณเรื่อยมา นี่คือพุทธศาสนาของเรา

ท่านที่เป็นชาวพุทธเกิดมาไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า ไม่เคยรู้พระธรรม ไม่เคยเห็นพระสงฆ์ก็ตาม ขอให้เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้แล เป็นทางยึดทางเหนี่ยวที่จะเข้าถึงองค์ศาสดา ถึงองค์พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้ ภายในใจของผู้ปฏิบัติโดยลำพังตนเอง รู้ลำพังตนเองด้วยกันทุกรายนั่นแล นี่ได้ชี้แจงถึงเรื่องภาคปฏิบัติ เรื่องของศาสนาพระพุทธเจ้าของเรานี้ออกมาจากไหน ศาสนานี้ออกมาจากป่าจากเขาลำเนาไพร ที่อยู่ของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ของพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย และท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทางของศาสดาทั้งหลายเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่อยู่ในป่าในเขาลำเนาไพร เพื่อการบำเพ็ญเป็นความสะดวกสบาย ชำระสะสางสิ่งมัวหมองหรือมืดตื้ออยู่ภายในใจออกได้ ด้วยสถานที่ที่เหมาะสมในการบำเพ็ญธรรมตลอดมา นี่ศาสนากระจายออกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ยังเหลืออยู่เวลานี้ ก็คือพระที่ท่านอยู่ในแดนป่าแดนเขา บำเพ็ญสมณธรรมตามทางเดินของศาสดา ถือป่าถือเขาเป็นสถานที่บำเพ็ญ เป็นสถานที่ทำงาน เพื่อชำระสะสางกิเลสตัณหาซึ่งมีอยู่ภายในใจให้จางออกไปๆ แล้วบรรลุธรรมขึ้นมา องค์นั้นสำเร็จพระโสดา องค์นี้สำเร็จพระสกิทาคา องค์นั้นสำเร็จพระอนาคา องค์นี้สำเร็จพระอรหันต์ ล้วนแล้วตั้งแต่สำเร็จอยู่ในป่าในเขา จากการบำเพ็ญในป่าในเขาเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ธรรมเป็น อกาลิโก ไม่เลือกกาล สถานที่ เวล่ำเวลา ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ท่านผู้ใดปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เช่น พระสงฆ์ สุปฏิปันโน อุชุ ญาสามีจิปฏิปันโน ท่านผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงต่อธรรม ย่อมได้บรรลุธรรมตามสถานที่ที่เหมาะสมของตนและความเพียรที่ประกอบด้วยดี ราบรื่นดีงาม จึงสำเร็จผลขึ้นมา องค์นั้นสำเร็จเป็นโสดา องค์นี้สำเร็จเป็นสกิทาคา องค์นั้นสำเร็จเป็นพระอนาคา องค์นี้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เรื่อยมา ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าของเราจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เป็น อกาลิโก ตลอดมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบำเพ็ญ

การบำเพ็ญศาสนธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ก็เท่ากับการเดินตามเสด็จพระพุทธเจ้าตลอดเวลา สิ่งใดที่ควรจะรู้จะเห็น จะเป็นขึ้นภายในจิตใจ จะรู้จะเห็นขึ้นไปตามแถวทางที่เราดำเนินตามศาสดานั่นแล ดังว่า โสดา สกิทาคา อนาคา นี่ก็เป็นผลสำเร็จขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติของตนเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไม่เคยมีคำว่ากาล สถานที่ เวล่ำ เวลา

ศาสนาเรียวแหลมหรือศาสนาเจริญ เจริญอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ เรียวแหลมอยู่กับผู้ที่ไม่ปฏิบัติ ผู้มีจิตใจจืดจางว่างเปล่าจากศีลจากธรรม ไม่นำไปประพฤติปฏิบัติ คนนั้นก็อยู่ด้วยความเหือดแห้งจากศีลจากธรรม และเหือดแห้งจากความสุขความเจริญ ความสมหวังทั้งหลายไปโดยลำดับลำดา ท่านผู้ใดตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องนี้แล้ว จะเป็นผู้ยิ้มแย้มแจ่มใสในจิตใจ กาย วาจา ความประพฤติ หน้าที่การงานทุกอย่างจะเป็นไปด้วยอรรถด้วยธรรม ราบรื่นดีงาม ไม่แสลงแทงตาคนอื่น และไม่แสลงแทงใจตัวเองเพราะความประพฤติผิดของตน นี่คือศาสนา

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยิ่งใหญ่มากครอบโลกธาตุ เพราะเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิง ไม่มีผู้ใดที่จะสิ้นกิเลสแล้วเป็นเจ้าของของศาสนาได้เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา การที่ว่าศาสนาๆ นั้นแปลว่าคำสอน คำสอนนี่สอนไปอย่างไรก็ได้ สอนไปทางกิเลสก็ได้ สอนไปทางด้านธรรมะก็ได้ เป็นคำกลางๆ ที่เรียกว่าศาสนาๆ แต่ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้านี้ เป็นศาสนาที่สอนด้วยความเป็นธรรม ละชั่ว ทำดี ละกิเลสตัณหาซึ่งเป็นเครื่องพัวพัน ผูกพันจิตใจของสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็คือกิเลส

เราอย่าเข้าใจว่าต้นไม้ ภูเขา ดิน ฟ้า อากาศหรือฟ้า แดด ดิน ลมที่ไหนจะมาให้คุณ ให้โทษต่อตัวของเรา นอกจากใจที่เต็มไปด้วยกิเลส รวงรังของกิเลสก็คือใจ ความโลภก็เกิดจากใจ ความโกรธ ราคะตัณหาเกิดจากใจ สิ่งเหล่านี้แลเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้หัวใจของสัตว์โลก ไม่มีดินฟ้าอากาศตรงไหนมาเป็นภัย หัวใจที่เต็มไปด้วยกิเลสนี้เป็นภัยทั้งนั้น ตั้งแต่กาลไหนกาลใดมาถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นภัยเรื่อยไป ถ้าไม่สนใจละก็ผูกพันกับฟืนกับไฟ เกิดตายที่ไหนก็มีแต่ความผิดหวังๆ เพราะจิตใจไม่มีธรรมเป็นเครื่องฉุดเครื่องลากขึ้นมาให้มีความแคล้วคลาดปลอดภัยได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้มีศีลมีธรรม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เกาะไว้ในเวลาจะเป็นจะตาย ขอให้มีความดีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเราไว้

เกิดมาเฉยๆ ใครก็เกิดได้ด้วยกัน สัตว์ก็เกิดได้ มนุษย์ก็เกิดได้ เทวบุตรเทวดาเกิดได้ด้วยกัน แต่เกิดด้วยบาปด้วยกรรม เกิดด้วยบุญด้วยกุศลนี้ต่างกัน ผู้เกิดด้วยบาปก็ตนเป็นผู้สร้างบาปทำบาปเสียตั้งแต่บัดนี้ชาตินี้ ครั้นต่อไปก็เป็นคนบาป วันนี้เป็นคนบาป วันต่อไปก็เป็นคนบาปเพราะสร้างบาปส่งเสริมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงวันตาย ก็มีตั้งแต่การสร้างบาป หาบบาปหามกรรม ไปแล้วก็มีแต่บาปแต่กรรมนั่นแล ฉุดลากไปสู่สถานที่เป็นความไม่สมหวังตลอดไป จะไปเกิดในภพใดชาติใด ก็เป็นไปด้วยอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วของตน

เพราะฉะนั้น ธรรมท่านจึงแสดงว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตํ กรรมย่อมเป็นเครื่องจำแนกแจกสัตว์ให้มีความประณีตเลวทรามต่างกัน เลวทรามก็ได้แก่การทำกรรมชั่ว ความประณีตได้แก่การทำกรรมดี ผู้ทำกรรมชั่วจะได้รับผลชั่วตลอดไป ไม่มีสิ่งใดที่จะเหนือกรรมดีกรรมชั่วนี้ไปได้ในแดนพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงแสดงไว้เป็นแบบเดียวกันว่า นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ ไม่มีอานุภาพใดที่จะเหนือกรรมดีกรรมชั่วนี้ไปได้ กรรมดีกรรมชั่วนี้ครอบไว้หมด เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงต้องเกิด-ตายไปตามบุญตามกรรม ไปชั่วก็มี ไปดีก็มี

อย่างที่แสดงไว้ทุกแห่งทุกหนตาม โลกวิทู ของพระพุทธเจ้าที่แสดงไว้แล้วอย่างแจ้งชัด ในบรรดาสัตว์โลก พวกเปรต พวกผี เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม สัตว์นรกอเวจี ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ มีมาดั้งเดิม พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาก็ทรงรู้ทรงเห็นสิ่งเหล่านี้ซึ่งออกมาจากกรรมดีกรรมชั่วของตน ไม่มีใครที่จะเกิดเหนือกรรมดีกรรมชั่วไปได้ นอกจากผู้ที่หลุดพ้นแล้วจากกรรมดีกรรมชั่ว คือ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น ท่านเหล่านี้เป็นผู้พ้นแล้วภายในจิตใจ ไม่มีที่จะมาอยู่ในกฎแห่งกรรมนี้ นอกจากขันธ์เท่านั้น ขันธ์นี้เป็นเรื่องของธาตุ ของสมมุติทั้งปวง ขันธ์ของพระอรหันต์กับขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลายย่อมเหมือนกัน คือ มีกาย มีความสุข ความทุกข์ เฉยๆ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้มีเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าอยู่ในวงของกรรมเช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปปรินิพพาน พอเสด็จไปถึงครึ่งทางทรงกระหายน้ำ ให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้เสวย เวลาพระอานนท์ไปตักน้ำมีแต่น้ำขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปหมด มาถวายพระพุทธเจ้าไม่ได้ แล้วกราบทูลว่า น้ำขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปหมด พระองค์ก็ทรงรับสั่ง ไม่ได้ปฏิเสธนะ ว่า เออ ถูกแล้วอานนท์ ตั้งแต่ก่อนเราเป็นนายโคต่าง เป็นพ่อค้า นำโคไปจำนวนเป็นร้อยๆ ตั้งสี่ห้าร้อยตัว แล้วลงกินน้ำในบึงในบ่อ น้ำจะกว้างขนาดไหนก็ตาม แต่จำนวนโคเป็นร้อยๆ เลยกวนน้ำให้ขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปหมด แม้โคเหล่านั้นก็ได้กินน้ำที่ขุ่นเป็นตมเป็นโคลนนั้นแล กรรมอันนี้แหละที่มาถึงเราเวลานี้ ให้น้ำขุ่นเป็นตมเป็นโคลนไปหมด

แต่กรรมนี้เป็นของไม่เที่ยง ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงได้ ให้พระอานนท์กลับไปตักน้ำมาอีก พอไปตักน้ำครั้งสุดท้ายนี้ ก็เป็นน้ำใสสะอาดปราศจากความมัวหมองทั้งหลาย นี่เป็นกรรมแห่งธาตุขันธ์ของพระองค์ กรรมอันนี้ตามถึงเพียงธาตุขันธ์ แต่พระจิตที่บริสุทธิ์นั้น กรรมเหล่านี้ไม่สามารถที่จะติดตามท่านได้เลย เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ นี่ละเรื่องของกรรม ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ติดตามได้แค่ธาตุแค่ขันธ์ ไม่สามารถจะบีบบังคับจิตใจท่านให้ได้รับความทุกข์ความลำบากเหมือนคนมีกิเลสทั้งหลายเลย เป็นผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ ส่วนเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ยอมรับเสมอโลกทั่วๆ ไป เพราะธาตุขันธ์นี้เป็นสมมุติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นสมมุติด้วยกันก็เข้ากันได้สนิท ด้วยเหตุนี้เองบรรดาพระพุทธเจ้า พระอรหันต์จึงยอมรับในกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ปฏิเสธเรื่องกรรมที่จะติดตามภายในพระจิตหรือจิตของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย

พวกเราเวลานี้อยู่ในอำนาจแห่งกรรม จึงให้พากันเคารพธรรม อย่าเอาความอยาก ความทะเยอทะยานเข้าไปกลบ ไปปิดเรื่องความจริง คือ กรรมดีกรรมชั่วนั้นเสีย แล้วจะทำตั้งแต่สิ่งที่ชอบใจ ซึ่งส่วนมากเป็นความชั่วเสียมากต่อมาก ครั้นทำลงไปแล้ว เราบอกว่าไม่เป็นบาป ความจริงเป็นบาปอยู่แล้วตั้งแต่เรายังไม่ทำ เหมือนไฟเป็นของร้อนอยู่แล้ว เราจะบอกว่าไฟไม่ร้อนก็ตาม ไฟนั้นร้อนอยู่แล้วตั้งแต่เราไม่บอกไม่ว่า ไฟก็ร้อน พอไปแตะเข้าเท่านั้น ไฟก็ร้อนทันที

กรรมชั่วก็เหมือนไฟ กรรมดีเหมือนน้ำ แตะเข้าไป ทั้งร้อนทั้งเย็นจะถูกในเวลาสัมผัสสัมพันธ์นั้นแล กรรมดี กรรมชั่ว เราจะไปหาโลกไหนมารับรองตัวของเรา เพราะเราเป็นผู้ทำกรรมดี กรรมชั่วเอง ผลจะเป็นของเราผู้ทำนั้นแหละ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะมารับผลดีชั่วทดแทนกันได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นสัตว์โลกก็ไม่จำต้องได้รับความทุกข์ความทรมาน เราทำกรรมชั่ว เมื่อบาปกรรมเกิดขึ้นมาโยนให้คนอื่นเสีย เรามีแต่ความดี อย่างนี้ไม่มี ด้วยเหตุนี้ท่านจึงให้เคารพกรรม

กมฺมสฺสโกมฺหิ คือ กรรมเป็นของๆ ตนด้วยกันทุกคน ทำแล้วจะเป็นของใครไม่ได้ กมฺมสฺสโกมฺหิ กมฺมทายาโท กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรณา ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ให้ดีให้ชั่วแก่ผู้ทำ เราผู้ทำบาป ผลของกรรมก็ได้รับความทุกข์ ผู้ทำบุญ ผลของกรรมก็เป็นบุญเป็นกุศลไป นี่เป็นสมบัติประจำตนของสัตว์ทั้งหลายทั่วๆ หน้ากัน ไม่มีคำว่าลำเอียง

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงให้ระมัดระวัง การทำทำเพื่อเราทุกอย่าง เราไม่ได้ทำเพื่อดินฟ้าอากาศที่ไหน ทำชั่วโยนให้ฟ้าให้อากาศ ดินฟ้าอากาศไม่รับ แต่เราผู้ทำนี้แลเป็นผู้รับผลของความชั่ว ความดีก็เหมือนกัน ทำลงไปแล้วโยนลงไปไหน ตู้ไหน คัมภีร์ใดที่จะเก็บความดีของผู้นั้นทำไว้ทำนี้ไม่มี เก็บไว้ที่หัวใจของผู้ทำด้วยกัน จะทำมามากน้อย จำได้ ไม่ได้ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือว่า ดีก็ดี ชั่วก็ดี เราทำเรียบร้อยแล้ว ผลทั้งสองอย่างนี้จะเป็นสมบัติของเรา เมื่อเราเชื่ออย่างนี้ตามพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนแล้ว เราก็เป็นลูกศิษย์มีครู ท่านแนะนำสั่งสอนอย่างไร เราอยากทำ ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีก็อย่าทำ ไม่อยากทำ แต่สิ่งนั้นดีเราก็ต้องฝืนใจทำ เพราะเดินตามครู แล้วเราจะประสบพบเห็นแต่ความสุข ความเจริญ ความดีงาม

ในภพนี้เรายังโง่ ก็พยายามสอนตนให้ฉลาดโดยธรรม ไอ้เรื่องความฉลาดตามกิเลสนั้น มันฉลาดด้วยกันทั่วโลกทั่วสงสาร ไม่มีใครว่าตัวโง่แหละทั้งสามโลกนี้ แม้ทุคตะเข็ญใจมันก็ว่ามันฉลาด เศรษฐีกุฎุมพี จอมนักปราชญ์ดอกเตอร์ดอกแต้ที่ไหน ก็มีแต่คนฉลาดๆ แต่เวลาทำกรรมนี้เป็นความโง่ที่สุด ให้กิเลสหลอกทำความชั่วช้าลามกได้เพราะความรู้สูงๆ นั้นแลเป็นความทะนงตน ว่าตนความรู้สูง เรียกว่าเป็นจอมปราชญ์ๆ มันจอมปราชญ์ของกิเลส ไม่ใช่จอมปราชญ์ของอรรถของธรรม เรียนมามากเท่าไรกลายเป็นความทะนงพอกพูนความชั่วทั้งหลายให้เกิดขึ้น คนที่เรียนมาสูงๆ ถ้าไม่มีธรรมแล้วมักจะทำตั้งแต่ความชั่วช้าลามกมากกว่าตาสีตาสาที่อยู่ในท้องนา

เพราะกิเลสนี้เป็นสิ่งที่แหลมคมมากที่สุด ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่ากิเลส หลอกได้หมด ใครที่เรียนมาก็เป็นวิชาของกิเลสที่ผลิตให้ทั้งนั้น เราจึงเป็นเครื่องมือของกิเลสได้เป็นอย่างดี ด้วยความทะนงตน เย่อหยิ่งจองหองว่ารู้หลักนักปราชญ์ฉลาดแหลมคม ความจริงมันฉลาดไปตามกิเลส มันโง่ต่ออรรถต่อธรรมโดยไม่รู้สึกตัว ไม่มีใครโง่ยิ่งกว่าพวกที่ทะนงตนว่าเป็นผู้ฉลาดนี้แล ถ้าเป็นธรรมแล้ว อยู่ที่ไหน ไม่ว่าคนโง่คนฉลาด มีธรรมแล้วกลายเป็นคนดีไปด้วยกัน โง่ก็โง่ด้วยความเป็นธรรม ฉลาดๆ ด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นคนดี  สร้างแต่ความดีงามทั้งหลาย ก็มีตั้งแต่สั่งสมความดี ความสมบูรณ์พูนผลขึ้นมาแก่ตน ตายแล้วนี้จะนำเราไปสู่สถานที่ดีคติที่เหมาะสม บาปนี้ไม่พาใครไปสถานที่เหมาะสม เอาให้จมลงนรกๆ จนได้

เปรต ผี อสุรกาย ที่เต็มโลกเต็มสงสารมีใครเห็นบ้าง มีแต่พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้เชี่ยวชาญทั้งนั้นท่านเห็น แต่ท่านตาดีหูดีท่านไม่มีทิฐิมานะ ใครจะลบล้างว่าท่านไม่เห็น ลบล้างว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีก็ตาม ความรู้ความเห็นความเป็นจริงของท่าน รู้อยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว ท่านยอมรับตามความจริงทุกอย่าง นี่คือจอมปราชญ์ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ระมัดระวัง ให้เคารพกัน แม้แต่สัตว์อยู่ในท้องท่านก็ไม่ให้ทำลาย เพราะเหตุใด คือ ให้สิทธิ์เสมอภาคกัน ในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตอยู่รักสงวนชีวิตของตนด้วยกันหมด ไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนมาจากสถานที่ใด โรงเรียนใด เรื่องความตายนี้สัตว์หรือคนรู้ด้วยกัน กลัวด้วยกันไม่อยากตาย กลัวตายด้วยกันทั้งนั้นแหละ

เมื่อเป็นเช่นนั้นให้ดูหัวใจเรา เรากลัวตาย ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน นี่ละสถานที่จะไปเกิดมันไม่กลัวนะ มีแต่ความอยากความทะเยอทะยานฉุดลากให้พาไปทำตั้งแต่ความชั่วช้าลามก ความอยากเป็นคนชั่วไม่มีใครอยาก แต่การทำชั่วทำอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ความชั่วนั้นแลกลับมาเป็นภัยต่อตนเอง เพราะฉะนั้นจึงให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ สมนามว่าเราเป็นลูกชาวพุทธ ไม่ใช่เป็นผู้ดื้อด้านหาญธรรม ฝืนธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ใครจะฝืนไปไหนก็ฝืนไปเถอะไม่มีทางดีเลย คิดดูดังพระเทวทัตก็อวดว่าตัวรู้ตัวฉลาด จะเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า ครั้นสุดท้ายเราก็เห็นมิใช่หรือในประวัติของเทวทัต นี่มันก็เสีย ความทะนงตนว่าเป็นคนดิบคนดี เย่อหยิ่งจองหอง ก็ทำให้ตนจมไปได้อย่างนั้นแล นี่กิเลสพาให้เป็น

ส่วนพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาโดยหลักธรรมชาติ เป็นพระทัยที่บริสุทธิ์ สอนโลกด้วยความเมตตาสงสาร ด้วยความบริสุทธิ์ใจล้วนๆ จึงเป็นศาสดาตลอดมา พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ขอให้ท่านทั้งหลายยึดเข้ามาเป็นหลักใจ จะทำดีทำชั่วให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ภายในตัว เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ดินฟ้าอากาศ อยู่กับหัวใจของชาวพุทธเราทุกคน ทำชั่วจะเป็นของเรา ทำดีจะเป็นของเรา ให้พากันเลือกเฟ้นก่อนที่จะทำ อย่าได้ทะนงตน

สมัยปัจจุบันนี้เป็นสมัยจรวดดาวเทียม กิเลสมันหนามันแน่นเข้าทุกวันๆ ลบบาปลบบุญไม่ให้มี แต่การกระทำพอกพูนแต่บาปแต่กรรมตลอดเวลา นี่ละที่มันจะมาเป็นภัย มหาภัยแก่ตัวของเราเอง ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าแล้ว บาปมีบุญมีมาตั้งแต่กาลไหนๆ ตั้งกัปตั้งกัลป์.ไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดที่ลบล้างสิ่งเหล่านี้ได้เลย จึงต้องบัญญัติไปตามสิ่งที่มีที่เป็นซึ่งลบล้างไม่ได้ เช่น บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี ตลอดเปรตผีประเภทต่างๆ มี ทรงทราบด้วยพระญาณของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ท่านจึงไม่ลบล้าง วางไว้ปล่อยไว้ตามหลักความเป็นจริง สิ่งใดที่ควรหลีกเว้นเพราะจะเป็นภัย ก็ห้ามสัตว์ พวกเปรตพวกผีเป็นเพราะกรรมอันนั้นๆ พาให้เป็น ก็มาสั่งสอนสัตว์โลกไม่ให้ทำ รวมความลงแล้วเรียกว่า ไม่ให้ทำบาป

เรารักตัวของเราต้องทำแต่ความดีงาม รักตัวของเราทำแต่ความชั่วช้าลามก ก็เท่ากับเอาฟืนเอาไฟมาเผาเราทั้งเป็นทั้งตายนั้นแหละ ไปที่ไหนมีแต่ฟืนแต่ไฟของตัวเองที่ก่อขึ้นมาแล้วเผาตัวเองๆ โลกอันนี้มีแต่ก่อไฟเผาตัวๆ โลกกว้างที่ไหนมันไม่ได้กว้าง มันแคบที่หัวใจเรามีแต่ฟืนแต่ไฟ บางคนก็อยากตายไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด มันไม่แล้ว ตายไปแล้วก็กรรมอยู่กับตัวของเรา ออกจากภพนี้แล้วไปภพหน้ามันก็เป็นไฟอีก เผาตัวเองอีก ว่าตายเสียดีกว่า ตายไปแล้วมันก็ชั่วอีกๆ ตายตั้งกัปตั้งกัลป์ ด้วยความปรารถนาอยากหนีจากทุกข์ด้วยความลามกของจิตใจอย่างนี้ ตายไปเท่าไร เกิดไปเท่าไร เกิดกับความชั่วช้าลามกกับกองทุกข์ไปตลอดเวลา นี่อำนาจของกิเลสมันหลอกสัตว์โลกให้จมไปเรื่อยๆ สัตว์เขาก็ไม่อยากตาย ทำไมมนุษย์เรามีความเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าสัตว์ ทำไมอยากตาย ถ้าไม่ลืมตัว โง่กว่าสัตว์ทั้งหลายไป สัตว์เขาไม่อยากตาย เราเป็นมนุษย์เราก็ไม่อยากตาย เราสร้างคุณงามความดีตามทางของศาสดา เพราะเราเป็นลูกชาวพุทธ

ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมอันเลิศเลอของพระพุทธเจ้าที่มาสอน ไม่พาสัตว์ทั้งหลายให้มีความล่มจมจากคำสอนพระพุทธเจ้า แม้นิดหนึ่งไม่เคยมีเลย ไม่เหมือนกิเลสที่สอนออกมาแง่ใดมุมใด มีแต่สอนเพื่อให้สัตว์ล่มจมๆ เรายังจะยอมเชื่อมันตลอดไป ไม่ยอมฟังเสียงธรรมของพระพุทธเจ้า เราก็จะจมตลอดไป ภพนี้ชาติหน้าไม่มีปัญหาอะไร มันอยู่กับเราคนเดียว เหล่านี้มีแต่มืดกับแจ้ง สถานที่เกิดที่อยู่ เกิดด้วยอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วของเรา ไปเกิดที่ไหนก็จะได้รับความทุกข์ความลำบาก เพราะกรรมเป็นของๆ ตนที่สร้างขึ้นแล้ว ดีเป็นของเรา ชั่วเป็นของเรา ให้เชื่อตัวเรา เชื่อตัวเราแล้วก็เรียกว่าเชื่อพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตามหลักความจริง เชื่อพระธรรม พระสงฆ์ ท่านก็ปฏิบัติดีปฏิบัติจริงมาแล้ว สอนธรรมก็แบบเดียวกัน เป็นแต่ภูมิมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกัน ดังพระพุทธเจ้าที่สอนโลก พอตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเท่านั้น ไม่ต้องไปหาใครมาเป็นสักขีพยาน สอนโลกได้ถึงสามแดนโลกธาตุ เทวดา อินทร์ พรหม กามโลก รูปโลก อรูปโลก พระองค์ทรงสอนได้หมด แล้วพวกเรามีใครสอนได้ แม้แต่สอนเราคนเดียวก็ไม่เห็นได้เรื่องได้ราว สอนให้ทำดี มันไพล่ไปทำชั่วเสีย สอนให้ไปทำบุญให้ทาน มันกลับเข้าป่าเข้ารก เข้าโรงสุรายาเมา ระบำรำโป๊ไปเสีย นี่มันเถลไถล สอนเราคนเดียวก็สอนไม่ได้ แล้วจะไปสอนมนุษย์หรือผู้อื่นได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าสอนได้ทั้งสามโลกธาตุ นอกจากนั้นที่รองลงมาก็คือบรรดาสาวก มีความเฉลียวฉลาด ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเต็มภูมิของสาวกแต่ละองค์ๆ จะเป็นท้องช้าง ท้องหนู ท้องสัตว์อะไรก็ตาม แต่ก็เต็มพุงๆ เหมือนกัน สาวกก็ภูมิความรู้ของสาวก เมื่อรู้แจ้งแทงทะลุในธรรมเต็มภูมิแห่งตนแล้วก็ไปสอนโลก โดยไม่ต้องไปหาหยิบยืม ไปเรียนจากพระพุทธเจ้าอีกเลย ว่าข้าพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ไปสอนธรรมแก่โลกนี้ธรรมบกพร่องไม่พอ ไปศึกษาจากพระพุทธเจ้าอีก มาสอนโลกอีก อย่างนี้ไม่เคยมี บรรดาสาวกองค์ใดก็ตามเมื่อบรรลุธรรมขึ้นในใจ เรียกว่าธรรมเต็มหัวใจ รู้แจ้งแทงทะลุเต็มภูมิของตนเอง แล้วก็สอนให้เต็มภูมิของตัวเอง แก่บรรดาโลกที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เราเกิดในแดนพุทธศาสนา ขออย่าลืมเนื้อลืมตัว หลวงตารู้สึกเป็นห่วงพี่น้องทั้งหลายมากนะ แทนที่จะมาห่วงตัวเองกลับไม่ห่วง ตั้งแต่ก่อนนั้นห่วง ห่วงจริงๆ พอระลึกถึงความตายนี้ แหม จิตใจเดือดร้อนวุ่นวายขึ้นทันทีทันใด ต้องไปหาอารมณ์อื่นมากลบเอาไว้ คิดเรื่องความเพลิดความเพลินรื่นเริงบันเทิง มากลบความกลัวตายนี้ ซึ่งมันก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนนี้ลงโดยลำดับๆ พออยู่ได้ๆ ไม่อยากระลึกถึงความตาย

ทีนี้พอเข้ามาเกี่ยวข้องกับอรรถกับธรรม เฉพาะอย่างยิ่งเข้ามาบวชในแดนพุทธศาสนา เรียกว่าเข้ามาดัดตนเองทีเดียว ฝึกฝนตนเองตามแบบตามฉบับของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระวินัยนั้นคือศาสดาของเราแทนพระพุทธเจ้า เรายึดหลักธรรมหลักวินัยไว้เป็นหลักใจ หลักความประพฤติ หน้าที่การงาน กิริยาเคลื่อนไหวไปมาทุกอย่าง ไม่ให้พรากจากหลักธรรมหลักวินัย แล้วจิตใจเราค่อยอบอุ่นๆ เรื่องความกลัวตายค่อยเบาไปๆ สุดท้ายคำว่า มรณัสสติ เลยมาเป็นสนามรบกับกิเลส ระลึกถึงความตายเมื่อไรมันเหมือนกับเหยียบเบรกห้ามล้อ รถมันจะวิ่งเร็วขนาดไหนก็ตาม เมื่อเหยียบเบรกแล้วมันต้องเบาลงๆ

จิตใจเรามันจะเพลิดเพลินขนาดไหนก็ตาม เมื่อเวลามีธรรมสกัดเข้าไป เช่นอย่างเพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิง อยากได้อยากมี อยากดีอยากเด่น อยากมีความรู้ความฉลาด เป็นนักปราชญ์ที่แหลมคมกว่าโลกเขา นี่เรียกว่าไม่รู้ตัว มีธรรมะเข้าไปถึงเรื่องความตายนี้ ท่านจะไม่ตายเหรอ ท่านเกิดอยู่ในท่ามกลางแห่งความตายเหมือนโลกทั่วๆ ไป ท่านจะเก่งไปที่ไหน ท่านระลึกถึงความตายบ้างซิ โลกนี้เกิดมาตายด้วยกันทุกคน นี่สร้างตั้งแต่ความชั่วช้าลามก มีแต่ความลืมเนื้อลืมตัว ท่านไม่ระลึกถึงความตายบ้างเหรอ ระลึกถึงความตายแล้วท่านจะได้สร้างความดีงาม เพียงเท่านั้นก็เหยียบเบรกห้ามล้อ แล้วความกลัวตายเป็นเครื่องกระตุกให้ทำความดีงามต่อไป และหยุดสิ่งชั่วช้าลามกทั้งหลาย ต่อจากนั้นมาความกลัวตายเบาลงๆ

ยิ่งเข้าไปภาวนา หลังจากศึกษาเล่าเรียนมาแล้วนี้ ก็เรียนให้พี่น้องทั้งหลายทราบ วันนี้ได้ออกมาสนามแห่งพี่น้องชาวไทยเราทั้งประเทศ จะได้ยินได้ฟังเสียงอรรถเสียงธรรมที่หลวงตาได้ปฏิบัติมาตั้งแต่วันบวช เข้าใกล้ชิดติดพันตั้งแต่วันบวช วินัยคือองค์ศาสดา ธรรมคือองค์ศาสดาติดแนบอยู่กับหัวใจ ตั้งแต่นั้นตลอดมาไม่เคยปรากฏว่าได้ล่วงเกินธรรมวินัยข้อใดที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตน มีแต่ความอบอุ่นด้วยการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติวินัยซึ่งเป็นองค์ศาสดา ประหนึ่งว่าตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกฝีก้าวไปด้วยการปฏิบัติ จิตใจก็อบอุ่นขึ้นมาๆ พิจารณาเรื่องความตายอาจหาญขึ้นมา สุดท้ายก็ มรณัสสติๆ นี่เราจะตายแล้วนะ ให้รีบเร่งขวนขวายเสียตั้งแต่บัดนี้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ เมื่อลมหายใจขาดแล้วเทวดาก็ตายเหมือนกัน ท่านจะเก่งกว่าใครที่ไหนวะ นี่สอนเราเอง

ความตายก็เลยเป็นหินลับสติปัญญาให้รู้เนื้อรู้ตัวไปโดยลำดับ ทีนี้ความตายเลยกล้าหาญชาญชัยขึ้นมา เร่งความพากความเพียร ประกอบความพากความเพียร นี่เรียกว่า ธรรม วิริยธรรม สมถธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม วิมุตติธรรม ขึ้นในการปฏิบัตินี้เอง บำเพ็ญศีลก็บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เป็นที่อบอุ่นนับแต่วันบวชมา ก้าวออกมาจากโบสถ์เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว แต่ธรรมยังไม่สมบูรณ์ก็พยายามบำรุงจิตใจของเราวอกแวกคลอนแคลน ว้าวุ่นขุ่นมัวตลอด ตีเข้ามาด้วยคำบริกรรม คือ คำว่า พุทโธ ก็ได้ ธัมโม ก็ได้ สังโฆ ก็ได้

นี้คือธรรมที่เป็นน้ำดับไฟ มันจะคิดขึ้นช่องไหน ความคิดความปรุงเพื่อกิเลสตัณหา คิดออกไป ธรรมนี้ตีเข้าไป เอา พุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดก็ตามที่เราชอบปิดช่องมันที่มันคิดทางกิเลส ให้เอาช่องของธรรมนี้ปิด เอาธรรมนี้ไปปิดเอาไว้ไม่ให้มันคิด จิตใจไม่ได้คิดแล้วสั่งสมแต่ธรรมขึ้นมาด้วยคำว่า พุทโธ ก็ได้ ธัมโม ก็ได้ สังโฆ ก็ได้ จิตใจเกิดความสงบร่มเย็นขึ้นมาๆ กิเลสไม่ได้ก่อกวนเพราะไม่ได้ออกทำงาน ทำงานก็เพื่อมาทำลายเรานั้นแหละ ทีนี้เมื่อมันไม่ได้ออกทำงานมีแต่ธรรมทำงาน ธรรมก็ส่งเสริมจิตใจให้มีความสงบร่มเย็นขึ้นไปโดยลำดับลำดา จนจิตมีความแน่นหนามั่นคง อยู่ที่ไหนอบอุ่น นี่ภาคปฏิบัติ ให้ท่านทั้งหลายทราบเอาไว้นะ

ภาคปริยัติ คือ การศึกษาเล่าเรียนมาด้วยความจดความจำ จะถือเป็นสมบัติของตนเองไม่ได้ เรียนสูงขนาดไหนคนเราไปทำความชั่วได้อย่างสบายไม่สะทกสะท้าน หน้าด้านที่สุดคือผู้เรียนมากๆ แต่ไม่มีธรรมในใจ ทำได้ทุกแบบทุกฉบับ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมรู้ธรรมภายในใจนี้ทำไม่ลง ไม่มีที่ลับที่แจ้ง ประหนึ่งว่าองค์ศาสดาติดอยู่ในหัวใจ พอจะทำอะไรลงไปในทางไม่ดี สติจะสะกิดไว้ นี่ไม่ควร นี่ไม่ถูกทันที นี่คือองค์ศาสดาสอน ก็ปฏิบัติตามองค์ศาสดา จิตใจมีความแน่นหนามั่นคงขึ้นด้วยสมาธิภาวนา ให้ท่านทั้งหลายนำไปปฏิบัติบ้างนะ

เรื่องสมาธิภาวนาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย นี่ละหัวใจของพระพุทธศาสนาคือภาวนานะ การให้ทานเราให้ได้ตามนิสัยวาสนาของเรา ทำไปธรรมดาๆ ไม่หนักแน่นอะไรนัก ก็เป็นธรรมดาๆ ถึงหนักแน่นก็อยู่ในนิสัยอันนี้แหละ ทีนี้พอภาวนาเข้าไปจิตใจมีความสงบเยือกเย็น เห็นผลประจักษ์ขึ้นภายในจิตใจเป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ ทีนี้เลยมากระจายเรื่องทานก็พิถีพิถัน รักษาศีลก็พิถีพิถัน การทำหน้าที่การงานอะไรที่จะเตลิดเปิดเปิงเหมือนแต่ก่อนที่กิเลสฉุดลากไปนั้น กลับรู้ตัวๆ ยับยั้งชั่งตัวได้ดีเพราะมีธรรมภายในใจจากภาวนา

จากนั้นจิตก็มีความสงบเย็นขึ้นไปๆ ก้าวออกไปทางด้านปัญญา พินิจพิจารณาทางด้านปัญญา แยกธาตุแยกขันธ์แยกสกลกาย แยกเขาแยกเรา แยกทั่วโลกธาตุ มีตั้งแต่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หาที่ยึดที่เกาะไม่ได้ เราจะยึดอะไรเกาะอะไร นี่ธรรมพระพุทธเจ้า ให้สอนอย่างนี้ เพื่อปล่อยวางในสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้น โดยถือว่าเป็นสาระจนลืมเป็นลืมตาย คนทำชั่วเพราะความลืมเป็นลืมตายนั้นแหละ ทีนี้เมื่อจิตย้อนเข้ามาสู่ภายในจิตตัวเองด้วยบทภาวนาแล้ว จิตใจจะสว่างไสว ใจจะกลายเป็นของประเสริฐขึ้นมาจากการภาวนานะ ไม่มีใครบอกก็รู้เอง

พอจิตใจสงบเย็น ความแปลกประหลาดขึ้นแล้วภายในใจ อ๋อ ใจเรานี้ตั้งแต่วันเกิดมาไม่เคยเห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ ได้เห็นแล้วในวันนี้ เพราะอะไร เพราะภาวนา นั่น จิตก็สว่างขึ้นมาๆ พอสว่างขึ้นมาเพียงหนเดียวเท่านั้น จะเป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจ เรียกว่าเป็นอจลศรัทธา เชื่อไม่หยุดไม่ถอย เชื่อไม่หวั่นไม่ไหว ใครว่าบุญว่าบาปว่ามรรคผลนิพพานไม่มีก็ตาม เชื่ออยู่ภายในใจของตัวเอง หนักแน่นในการทำความดีทั้งหลาย หนักแน่นในการภาวนาเข้าไปๆ จิตใจยิ่งส่งเสริมความดีงามขึ้นไปเรื่อยๆ อบอุ่นไปเรื่อยๆ สว่างกระจ่างแจ้งไปถึงด้านการพิจารณาทางด้านปัญญา กระจ่างออกไปหมด

ปัญญานี้แหลมคมมากนะ ตั้งแต่คลี่คลายสกลกายของเขาของเราออกทั่วแดนโลกธาตุ เป็นแดน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังที่พระอัญญาโกณฑัญญะท่านถึงกระแสแห่งธรรมคือความแน่นอนแล้วว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับทั้งนั้น หาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ แม้เท่าเส้นผมก็ไม่มี นั่นเพราะอะไร เพราะท่านได้หลักแล้วคือใจนี้ เป็นใจที่แน่นอนแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลงแปรปรวนเหมือนสิ่งเหล่านั้น นี่ละเมื่อใจได้ปรากฏขึ้นอย่างนี้แล้ว ความแปลกประหลาดอัศจรรย์และหลักอันดีงามทั้งหลายจะอยู่ที่ใจของเรา สิ่งเหล่านั้นจะค่อยจางไปๆ ที่เราฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกับมันตั้งแต่ก่อนนั้น จะจางเข้ามาๆ เพราะสู้ธรรมไม่ได้ ธรรมภายในใจนี้เลิศเลอ ใจเริ่มเลิศเลอขึ้นไป ทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยปล่อยวางเข้ามาๆ

นี่ย่นธรรมะให้ท่านทั้งหลายได้ทราบพอเป็นคติตัวอย่างจากภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัตินี้เป็นภาคความจริง ภาคปริยัติเป็นภาคความจำ เรียนมาจำมาๆ จะถือเป็นสมบัติ ถือเป็นหลักฐานของตนเองก็ไม่ได้ ดีไม่ดีผู้เรียนมามากๆ เป็นเจ้าทิฐิมานะ เป็นผู้สร้างบาปสร้างกรรมไม่มียางอายมีเยอะ นี่เพราะความจำ แต่ภาคปฏิบัตินี้ได้รู้ได้เห็นอะไรแล้วทำไม่ลง สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายไม่มีใครรู้ใครเห็นก็ตาม เจ้าของรู้เจ้าของเห็นเจ้าของว่าไม่ควรๆ ศาสดาเตือน สติ ธรรมวินัย สติเตือนตลอด ศีลของเราก็บริสุทธิ์ ธรรมของเราก็เจริญงอกงามขึ้นโดยลำดับๆ นี้กระจ่างแจ้งขึ้นภายในจิตใจ นี่เป็นสมบัติของตน ภาคปฏิบัติเป็นสมบัติของตนแท้ ภาคปริยัติเป็นแต่ปากทางเพื่อให้ก้าวเข้ามาสู่ปฏิบัติ

ถ้าจำเฉยๆ ไม่สนใจปฏิบัติก็ยิ่งลืมตัวเรื่อยไป ถ้าสนใจปฏิบัติก็จะได้เห็นความจริงจากภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัตินี้รู้เท่าไรเห็นเท่าไรก็ยิ่งเป็นสมบัติของตัวมากขึ้นๆ  ตั้งแต่สมถธรรมก็เป็นเจ้าของแล้ว สมาธิธรรมเราก็เป็นเจ้าของแล้ว ปัญญาธรรมทุกขั้นเราเป็นเจ้าของแล้ว จนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้น เราเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ๆ จากภาคปฏิบัติของเรา ไม่ใช่ภาคความจำ นี่ละพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้ปฏิบัติ

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เกี่ยวโยงกันโดยลำดับแยกกันไม่ออก ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน เล่าเรียนมาแล้วให้มาปฏิบัติเพื่อเป็นผลขึ้นมาภายในตัวๆ เมื่อปฏิบัติแล้วผลต้องปรากฏ ความสงบก็เป็นขึ้นมา ความแน่นหนามั่นคงเป็นขึ้นมา สมาธิเป็นขึ้นมา ปัญญาเป็นขึ้นมา สุดท้ายวิมุตติเป็นขึ้นมาภายในใจจากภาคปฏิบัติ เรียกว่าปฏิเวธธรรม ธรรมคือความรู้แจ้งแทงทะลุ ไปจากธรรมทั้งสามประเภทที่เกี่ยวโยงกันนี้แล ถ้ามีแต่ปริยัติก็เรียกว่า ถ้าเป็นคนก็ไม่เต็มบาท ขาดบาทขาดตาเต็ง มีปฏิบัติเข้าไปนั่นละเต็มเข้าไป เริ่มเต็ม แล้วมีปฏิบัติเข้าไป ปฏิเวธคือความรู้แจ้ง ซึ่งเป็นผลแห่งการปฏิบัติ ก็รวมเข้ามาหากันๆ สุดท้ายปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นธรรมแท่งเดียวของผู้ปฏิบัติได้ ก็ผู้นั้นแลเป็นเจ้าของ

นี่ละภาคปฏิบัติ เราเป็นเจ้าของด้วยกัน รู้สิ่งใดเห็นสิ่งใดแล้วไม่สงสัย พระพุทธเจ้ารู้สิ่งใดไม่สงสัย รู้บาปรู้บุญรู้นรกสวรรค์ เปรตผีประเภทต่างๆ พระองค์ไม่สงสัย ไม่หาใครมาเป็นพยาน อันนี้ผู้ปฏิบัติธรรมแบบเดียวกันก็ต้องเต็มภูมิของสาวกองค์นั้นๆ ใครมีภูมิขนาดไหนเต็มหัวใจๆ ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้า แม้สอนโลกก็ไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้า เต็มหัวใจด้วยกัน นี่แหละธรรมภาคปฏิบัติ เป็นสมบัติของตนเต็มสัดเต็มส่วน ความหลุดพ้นก็เป็นของตนด้วยกัน นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย บรรดาท่านผู้ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วเป็นความเสมอภาคกันหมด ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน ธรรมชาตินั้นเสมอกันหมด แต่ภูมินิสัยวาสนาที่จะทำประโยชน์แก่โลก กว้างแคบหนาบางขนาดไหน เป็นไปตามนิสัยวาสนา ภูมิพระพุทธเจ้าเป็นอย่างหนึ่ง สาวกแต่ละองค์ๆ เป็นอย่างหนึ่ง ผลเกิดขึ้นที่จะนำมาสั่งสอนสัตว์โลกจึงต่างกันๆ

วันนี้ได้แสดงธรรมเหล่านี้เพื่อให้พี่น้องทั้งหลายทราบ ว่าศาสนาไม่ใช่ของเล่น อย่าเห็นว่าเป็นตุ๊กตาเครื่องเล่นของเด็ก ถ้าเห็นเรื่องกิเลสแล้วเป็นทองทั้งแท่งๆ ไปหมดนะเวลานี้ เห็นอรรถเห็นธรรมเป็นมูตรเป็นคูถไปแล้วเวลานี้ หัวใจมันต่ำลงเท่าไรยิ่งเห็นมูตรเห็นคูถเป็นของดิบของดี ถ้าใจสูงขึ้นไปก็เห็นทองคำธรรมชาติเป็นของดิบของดี ให้ฟื้นตัวของเราให้เป็นทองคำธรรมชาติ ที่มันจมอยู่ในมูตรในคูถด้วยความขี้โลภ ขี้โกรธ ขึ้หลง มานานแสนนาน พาจมนี้มาตั้งกัปตั้งกัลป์ มันพาเราวิเศษวิโสอะไรบ้าง ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้าพาโลกให้วิเศษวิโส จนกระทั่งถึงหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง มีมามากต่อมากจากพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ขอให้ท่านทั้งหลายกรุณาจดจำธรรมเหล่านี้ไว้

วันนี้ประมวลธรรมมาสอนพี่น้องทั้งหลาย ทางภาคปฏิบัติก็แสดงให้เห็น อย่างที่หลวงตามาแสดงนี้ หลวงตาแสดงมาจากภาคปฏิบัติเอง ปริยัติก็เรียนมา จากนั้นก็มาปฏิบัติ ผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติเป็นที่แน่ใจๆ ไม่ว่าบาปบุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน หายสงสัยทันทีภายในจิตใจ การสอนโลกจึงไม่มีสะทกสะท้านว่าจะหวั่นไหว ว่าจะผิดจะพลาดไปในธรรมทุกขั้นที่มาสอน สอนด้วยความจริง ถอดออกมาจากหัวใจๆ นี้โดยลำดับลำดา จนถึงวิมุตติพระนิพพาน นิพพานเราก็ไม่สงสัย หัวใจเป็นนิพพานอยู่แล้ว

ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน กลัวเป็นกลัวตายก็กลัวมา ต่อจากนั้นมาก็กล้าหาญชาญชัยต่อความตาย จากนั้นไม่กล้าไม่กลัว หมดโดยประการทั้งปวงในแดนสมมุติที่ทำให้กล้าให้กลัวไม่มีแล้ว หมดในวิมุตตินั้นแล เรียกว่าธรรมธาตุก็ได้ มหาวิมุตติ มหานิพพานก็ได้ นี้ไม่มีคำว่ากล้าว่ากลัว พอแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจากการประพฤติปฏิบัติตนในธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นธรรมพระพุทธเจ้าจึงเป็น อกาลิโก อย่าว่าสมัยนั้นสมัยนี้ อันนี้กิเลสเอามาหลอกนะ สมัยนั้นมรรคผลนิพพานมี สมัยนี้มรรคผลนิพพานเรียวแหลม ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป สุดท้ายก็ว่าบาปไม่มีบุญไม่มี นี้คือกิเลสมันปิดหูปิดตาเราให้เป็นคนตาบอดทั้งๆ ที่ตาใสยิ่งกว่าตาแมว แต่เวลามันบอดมันบอดทางใจ มันไม่ได้สนใจกับบุญกับกุศล สนใจตั้งแต่บาปแต่กรรมเรื่อยไปอย่างนั้น

เกิดในภพใดๆ เราจะไปหวังเอาความดิบความดีจากภพใดชาติใด ถ้าไม่หวังเอาความดีจากความดีของตนที่ทำอยู่เวลานี้อย่าไปหวังนะ โลกไหนไม่มี ออกจากเรา กมฺมสฺสโกมฺหิ กรรมดีเป็นของเรา เป็นมงคลแก่เรา พาเราให้พ้นจากทุกข์ กรรมชั่วเป็นของเรา พาเราให้ล่มจมลงโดยลำดับ ให้เอาตัวของเราเป็นตัวประกัน อย่าเอาดินฟ้าอากาศ ภพนั้นภพนี้มาเป็นตัวประกัน ผิดทั้งเพ ให้เอาตัวของเราเป็นตัวประกัน กมฺมสฺสโกมฺหิ เราเป็นผู้ทำกรรม กรรมดีกรรมชั่วเราต้องรับ ให้ถือตัวเป็นตัวประกันแล้วให้ระมัดระวัง สิ่งใดที่จะเป็นภัยแก่ตัวของเราให้พากันระมัดระวังด้วยดี จะสมกับว่าเราเป็นลูกชาวพุทธ

วันนี้ก็ได้แสดงธรรมเห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา แล้วต่อไปนี้ก็จะเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถของเรา วันนี้ได้มาแสดงธรรมเพื่ออนุโมทนามหากุศลสมภารของท่าน โดยการแสดงธรรมในที่ชุมนุมชน เรียกว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ท่านทั้งหลายจะได้ยินได้ฟังอรรถธรรมจากหลวงตาที่แสดงธรรมเวลานี้ ผลเหล่านี้ออกมาจากป่า พระพุทธเจ้ารู้ธรรมในป่า สาวกรู้ธรรมในป่า นี้ปฏิบัติธรรมในป่าตั้งแต่วันออกปฏิบัติ เห็นอรรถเห็นธรรมมากน้อย ละกิเลสได้มากน้อยละได้ในป่าในเขา ไม่ได้มาละในตลาดลาดเลกระดูกหมูกระดูกวัว ก็บอกว่าไม่ได้ละ ละอยู่ในป่าในเขา

พระพุทธเจ้าสอนเวลาบรรพชาแล้วว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย ท่านทั้งหลายอุปสมบทแล้ว จงไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ในป่าในเขา ตามถ้ำเงื้อมผา ป่าช้าป่ารกชัฏ ซึ่งเป็นสถานที่สะดวกในการประกอบความพากเพียร ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นข้าศึกก่อกวนจิตใจให้การบำเพ็ญไม่สะดวก และจงทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด นี่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เรียกว่าเป็นคำสั่งไปเลยก็ได้ ให้ไปอยู่ในป่าในเขา และให้ทำความอุตส่าห์พยายามประกอบอยู่นั้นตลอดชีวิตเถิด นี่ฟังซิ ส่วนอยู่ในแดนบ้านแดนอะไรพระพุทธเจ้าไม่ว่า บวชแล้วให้ไปอยู่ในบ้านนะ ให้ไปอยู่ในตลาดลาดเลที่กระดูกหมูกระดูกวัวชุมๆ นะ ท่านทั้งหลายจะได้ตรัสรู้กระดูกหมูกระดูกวัว แล้วเอามาอวดตถาคตหน่อย ไปพากันเข้าไปอยู่ในตลาดตเลกระดูกหมูกระดูกวัวนะ พระองค์ไม่เห็นสอน แต่พระไปตามอัธยาศัย ทีแรกไปตามอัธยาศัย

ให้อยู่ในป่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง ที่ไปอยู่ในแดนบ้านพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ไปอยู่ แต่ไม่ทรงบังคับ ให้เป็นตามอัธยาศัย มันก็ไหลเข้าไปอยู่ในบ้าน ครั้นเข้าไปอยู่ในบ้านแล้วเข้ากระดูกหมูกระดูกวัว เอากระดูกหมูกระดูกวัวมาเหยียบธรรมของพระพุทธเจ้า หาว่าอยู่ในป่าในเขาเป็นคนครึคนล้าสมัย วิกลจริต พระพุทธเจ้าวิกลจริต สาวกทั้งหลายวิกลจริต ผู้ปฏิบัติอยู่ในป่าวิกลจริต ศาสนาพุทธวิกลจริตไปเสีย เพราะอำนาจของกิเลสมันปิดมันบัง มันทำให้ตาบอดไปหมด แล้วสอนคนอื่นให้ตาบอดไปด้วย เราผู้นับถือพุทธศาสนาให้จำคำเหล่านี้ให้ดี นี่สอนไว้อย่างถูกต้อง

พระพุทธเจ้าทรงชมเชยในการอยู่ในป่าในเขา ไม่ได้ทรงชมเชยอย่างอื่นใดยิ่งกว่าการบวชแล้วให้อยู่ในป่าในเขา นี่ก็ได้นำมาให้ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติ ได้พินิจพิจารณา เพราะศาสนานี้มีทั่วโลกดินแดน ดีก็มีชั่วก็มี ให้พากันยึดแล้วไปปฏิบัติ ความสุขความเจริญจะมีแก่ท่านทั้งหลายเอง การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรแก่ธาตุแก่ขันธ์แก่กาลเวลา ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาท่านทั้งหลายทั่วประเทศไทยเทอญ

 

รับฟังรับชมพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.Luangta.com หรือ www.Luangta.or.th

และรับฟังจากสถานีวิทยุสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ FM 103.25 MHz

หรือสถานีวิทยุอุดร FM 103.25 MHz


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก