ากที่ตนทำไว้แล้วเป็นเครื่องหนุน
วันที่ 11 สิงหาคม 2519 ความยาว 26.01 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

วิบากที่ตนทำไว้แล้วเป็นเครื่องหนุน

กรรมที่ทางศาสนาระบุไว้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญก็คือ บาป บุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน กรรม หลักใหญ่คือกรรม ที่กล่าวไว้นี้ทั้งหมดเป็นพุทธพจน์คือออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า หากว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นของจริง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ปลอมหมด แม้องค์พระพุทธเจ้าเองก็ปลอม ให้เราพิจารณาดู เพราะที่กล่าวทั้งหมด ที่ระบุไว้นี้ทั้งหมด เป็นพุทธพจน์คือออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเอง ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะอุตริเขียนขึ้นมาได้ สอนมาอย่างนี้ได้ ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงรู้แล้ว เช่นธรรมที่จะนำมาสั่งสอนโลกก็ทรงรู้แล้วประจักษ์พระทัย

เหตุที่จะรู้ธรรมถึงขั้นสูงสุดวิมุตติพระนิพพานก็ทรงบำเพ็ญ เป็นต้นเหตุแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน การบำเพ็ญเรียกว่ากรรม ภาษาทั่วๆ ไปเราเรียกว่าการงานคือการกระทำ การกระทำนี้แลที่ท่านให้ชื่อว่าตัวกรรม ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดีและชั่วนั้นเป็นวิบาก เป็นสุขเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นผลออกมาจากการกระทำดีและชั่วที่เรียกว่ากรรมๆ นั้นแล เมื่อธรรมพระองค์เป็นผู้ทรงรู้ทรงเห็นประจักษ์พระทัย สิ่งที่มีอยู่ ซึ่งอยู่ในวิสัยของพระพุทธเจ้าจะทรงรู้ทรงเห็น จะพ้นพระญาณของพระองค์ไปไม่ได้ ต้องทรงรู้ทรงเห็น ปิดไม่อยู่

การได้ทรงรู้ทรงเห็นสิ่งใดประจักษ์พระทัยแล้ว และนำสิ่งนั้นออกมาแสดงแก่สัตว์โลกด้วยความแน่พระทัย หากสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิดแล้ว พระพุทธเจ้าก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะธรรมที่จะยังพระองค์ให้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็คือวิสุทธิธรรมได้แก่ความบริสุทธิ์หมดจด สว่างกระจ่างแจ้ง โลกวิทู รู้แจ้งเห็นจริงโลกโดยชัดเจนทั้งโลกนอกโลกใน ในสามโลกธาตุนี้ไม่นอกเหนือไปจากข่ายคือพระญาณของพระองค์ที่จะทรงทราบได้เลย การตรัสเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ แม้ที่สุดเรื่องพระนิพพาน พระองค์จึงสามารถตรัสได้อย่างองอาจกล้าหาญตามหลักความจริงที่สิ่งนั้นๆ มีอยู่

คิดดู พระนิพพานยังนอกโลกไปอีก ยังสามารถตรัสไว้ได้ เพราะพระองค์ทรงรู้พระนิพพาน นอกโลกก็ตรัสได้ แล้วในโลกทำไมจะตรัสไม่ได้ จะสอนไม่ได้ จะรู้ไม่ได้ โลกนี้คือว่ากามโลก รูปโลก อรูปโลก กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี่เรียกว่าในแหล่งแห่งวัฏจักร มีอยู่สามโลกนี้ เรียกว่าโลก ในวงของโลก พระนิพพานที่นอกไปจากโลกนี้แล้วเรียกว่าโลกุตรธรรม ธรรมที่เหนือโลก เหนือโลกพระองค์ยังสามารถรู้ได้เห็นได้ ทำไมสิ่งอยู่ในโลกจะรู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้ เมื่อสิ่งอยู่นอกโลกสามารถรู้ได้ สิ่งในโลกมีอยู่ในโลก จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่พระองค์จะไม่สามารถรู้เห็น และไม่ใช่สิ่งสุดวิสัยที่พระองค์จะนำสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งพระองค์เห็นแล้ว ประจักษ์ด้วยพระทัยนั้นมาสอนโลกไม่ได้ การสอนโลกจึงสอนตามสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับสัตว์ทั่วๆ ไป แต่บรรดาสัตว์ไม่สามารถที่จะรู้สิ่งที่สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับตนนั้นเท่านั้น ทั้งไม่รู้วิธีที่จะแก้ไข ปลีกตัวออกจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้น

บุญบาปเป็นผลของกรรมดีกรรมชั่ว คำว่ากรรมใครจะปฏิเสธได้ว่าไม่ทำ ขึ้นชื่อว่าสัตว์โลกนี้แล้วต้องทำกรรมด้วยกัน กิริยาแห่งการกระทำของสัตว์มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น อยู่เฉยๆ ไม่ได้ต้องมีกิริยาออกมาจากใจเป็นต้นเหตุ ความคิดปรุงต่างๆ ไปทางดีทางชั่ว ท่านเรียกว่ากรรม คือการกระทำภายในใจ พูดออกมาทางวาจา และแสดงออกไปทางกายคือความประพฤติการกระทำ เหล่านี้เรียกว่ากรรมทั้งหมด

คำว่ากรรมนี้ก็แยกออกเป็น กุศลกรรม อกุศลกรรม อัพยากตกรรม คือการกระทำที่จะยังบาปให้เกิดขึ้น การกระทำที่จะยังบุญให้เกิดขึ้น การกระทำที่เป็นกลางๆ ไม่จัดว่าเป็นบุญเป็นบาปนั้นประการหนึ่ง การกระทำนี้แลซึ่งจะเป็นผลยังให้สัตว์โลกนี้ได้รับเสวยสุขทุกข์ดีชั่วต่างๆ กัน เพราะการกระทำเป็นของไม่แน่นอนในตัวบุคคลและสัตว์ที่ทำอยู่ทุกๆ ระยะนั้น ทำดีก็มีทำชั่วก็มี ผลดีผลชั่วจึงต้องตามมา โดยที่เราจะมีเจตนาหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญที่ทำลงไปแล้ว

เมื่อเราปฏิเสธการกระทำไม่ได้ เราก็ลบล้างบุญบาปไม่ได้ การกระทำเป็นบุญเป็นบาปยังมีอยู่ตราบใด คือการกระทำดี กระทำชั่วยังมีอยู่ตราบใด คำว่าบุญบาปคือความสุขความทุกข์ที่จะพึงตามมานั้นเราลบล้างไม่ได้ ถ้าไม่ลบล้างกรรมนี้ซึ่งเป็นตัวเหตุนั้นเสีย เมื่อผลวิบากคือผลมันมีอยู่กับใจ ฝังอยู่ภายในจิตใจ การเคลื่อนย้ายของใจจึงจะเคลื่อนย้ายไปตามอัตโนมัติหรืออิสระของตนไม่ได้ ต้องไปตามอำนาจแห่งวิบากที่ตนทำไว้แล้วเป็นเครื่องหนุน ถ้าหากว่าเป็นฝ่ายต่ำก็ผลักลงไป กดขี่บังคับทรมานจิตใจของผู้นั้น ถ้าเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นเครื่องส่งเสริม การกดถ่วงลงไปก็สู่ที่ต่ำ เป็นมนุษย์ก็มนุษย์ต่ำ ได้รับแต่ความทุกข์ความลำบาก เป็นสัตว์ก็ทำนองเดียวกัน แล้วลงไป

อบายมุขคืออะไร นรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ว่าอยู่แล้ว แล้วแต่จะไปยังไง เพราะอำนาจของวิบากฝ่ายต่ำจะกดลงไปให้ไปสู่ฝ่ายต่ำ วิบากฝ่ายดีก็ให้มาเกิดเป็นมนุษย์ มีอวัยวะสมบูรณ์บริบูรณ์ มีสติปัญญา มีอำนาจวาสนา สูงยิ่งกว่านั้นก็ขึ้น ทีแรกก็ไปสวรรค์ เพราะวิบากเกิดขึ้นจากการทำดีของตัวนั้นแลพาให้ไปสวรรค์ ไม่เคยเห็นสวรรค์ก็เห็น ก็รู้ ก็ได้ไป เมื่อมีบุญ บุญพาไปเอง

สวรรค์ก็มี ๖ ชั้น จาตุม ดาวดึงส์ เรื่อยขึ้นไป ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมิตวสวัตดี แล้วก็ก้าวขึ้นพรหม ๑๖ ชั้น มีพรหมกายิกา เป็นต้น นี่ล้วนแล้วตั้งแต่จิตเป็นผู้จะไป ไม่ใช่อวัยวะร่างกายของเรานี้จะไป อันนี้ไม่มีทางไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่หยาบ หยิบยืมมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อถึงกาลแล้วต้องส่งคืนตามเดิมของเขา จิตที่เป็นตัวของตัวโดยลำพังไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไป ไปสูงไปต่ำตามอำนาจแห่งวิบากที่ทำแล้ว สูงขึ้นไปก็ถึงพรหมโลก สูงยิ่งกว่านั้นก็เรียกว่าโลกุตรธรรม ธรรมเหนือโลก ได้แก่พระนิพพาน เรื่องแถวเรื่องแนวของจิตที่จะเป็นไปเพราะอำนาจแห่งวิบาก ก็บ่งชัดเจนอยู่เช่นนี้ แล้วคำว่าบาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน จะไม่มีได้อย่างไร เมื่อสิ่งเหล่านี้ประทับตราอยู่กับตัวเองด้วยกันทุกคน คือการกระทำ

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม เมื่อมาตรัสรู้แล้ว การตรัสรู้ก็ตรัสรู้ตามความจริงแห่งสภาวะทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอยู่ การสอนก็ต้องสอนตามความจริงอย่างเดียวกันหมด ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดที่จะสอนแหวกแนวให้ผิดจากกันไป ตามตำรับตำราท่านว่าไว้อย่างนั้น ว่าสอนแบบเดียวกันหมด จะมีต่างกันอยู่บ้างก็ตามอายุหรือตามอำนาจวาสนาของพระพุทธเจ้าที่มีต่างกันอยู่บ้าง ส่วนไหนที่แปลกต่างท่านก็บอกเอาไว้ เช่น พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีอายุถึง ๘๐,๐๐๐ ปี พระชนมายุท่าน ประชาชนก็มีอายุตั้ง ๘๐,๐๐๐ ปี การสั่งสอนสัตว์โลกก็สั่งสอนเป็นเวลานาน ๔๐,๐๐๐ ปี การประกาศศาสนาอยู่ถึง ๔๐,๐๐๐ ปี บางองค์ก็ ๓๐,๐๐๐ ปี ลดลงมาเป็นลำดับ

การลงอุโบสถปาฏิโมกข์ ๗ ปี ลงอุโบสถสังฆกรรมประชุมสงฆ์ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ ที่ผิดกันท่านบอกไว้อย่างนี้ บางองค์ก็ ๖ ปี บางองค์ก็ย่นลงมาๆ ส่วนศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้ พระองค์เองก็ยอมรับว่าเราไม่มีอำนาจวาสนาในการปกครองพระสงฆ์ให้จีรังถาวร หรือให้มีความสามัคคีกันถึง ๗ ปีเช่นนั้น เพียง ๑๕ วันก็พอเหมาะ ถ้าเลยจากนั้นไปพระสงฆ์ก็แตกกันได้ เพราะฉะนั้น ๑๕ วันจึงมีการประชุมสงฆ์ลงปาฏิโมกข์เสียครั้งหนึ่งๆ เรื่อยมา สิ่งที่แปลกต่างกันท่านก็บอกไว้อย่างนี้

คิดดูซิบางองค์ ๗ ปีถึงประชุมปาฏิโมกข์กันหนหนึ่ง ๖ ปีย่นลงมาๆ ปีหนึ่งลงอุโบสถสังฆกรรมทีหนึ่ง พระสงฆ์ก็อยู่ได้ด้วยความผาสุก มีความสามัคคีกลมกลืนกันดี ไม่แตกไม่ร้าว ส่วนศาสนาของพระพุทธเจ้าได้ภายใน ๑๕ วันเท่านั้น เห็นว่าเป็นความเหมาะสม ใน ๑๕ วันประชุมสงฆ์ลงอุโบสถครั้งหนึ่ง ท่านบอกไว้อย่างนี้ นี้เป็นความแปลกต่างกัน ในบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ นอกนั้นเหมือนกันหมด

สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่กระทำบาปทั้งปวงหนึ่ง กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลคือความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง สจิตฺตปริโยทปนํ การยังจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์หนึ่ง เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านสอนอย่างนี้เหมือนกันหมด จากนั้นท่านก็ขยายความออกไปว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโรไม่กล่าวร้าย ไม่ทำลายผู้อื่น สำรวมในปาฏิโมกข์  มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการขบการฉัน นฺตญฺจ สยนาสนํ ให้แสวงหาอยู่ในสถานที่วิเวกสงัด  เอตํ พุทฺธาน สาสนํ อีกเหมือนกัน นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อธิจิตฺเต จ อาโยโค การกระทำจิตให้ยิ่ง นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย เพราะฉะนั้นการสอนเรื่องบาปเรื่องบุญ หรือเรื่องกรรมก็ดี นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมโลกหรือนิพพานก็ดี จึงสอนแบบเดียวกันหมด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของมีอยู่ สอนตามสิ่งที่มีอยู่ สัตว์ที่ลงนรก ที่ไปสวรรค์ พรหมโลกจนกระทั่งถึงนิพพาน ก็เช่นเดียวกับเราไปจ่ายตลาดนี้จะว่าไง

ถ้าหากสามารถรู้ได้ด้วยญาณอย่างพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก พวกที่มาเกิดเป็นมนุษย์ก็คือพวกเรา พวกที่เกิดเป็นสัตว์ก็ดังที่เราเห็นอยู่แล้วนั้น เช่น สุนัข หมู หมา เป็นต้น เราปฏิเสธได้ไหมสิ่งเหล่านี้ว่าไม่มี เราเห็นด้วยตาของเราเราก็ไม่สงสัย สิ่งที่ทรงทราบด้วยพระญาณดังพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์จะเอาความสงสัยมาจากไหน เพราะทราบชัดๆ เห็นชัดๆ เช่นเดียวกับเราเห็นด้วยตาเนื้อ เรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล เรื่องวัวเรื่องควาย หมู หมา เป็ด ไก่

นั่นเขาไม่ใช่คน แต่เขาเป็นสัตว์ชนิดนั้นๆ เราก็ไม่สงสัย เพราะเป็นสิ่งที่เห็นด้วยตาอยู่แล้ว ข้อนี้ฉันใด เรื่องคำว่ากรรมก็ดี บุญก็ดี บาปก็ดี นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมโลกก็ดี นิพพานก็ดี ผู้เสวยกรรมนั้นๆ ตามอำนาจแห่งการกระทำของตนที่จะพาให้เกิดในสถานที่นั้นๆ ก็ดี  เป็นสิ่งที่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับที่เราทั้งหลายเห็นๆ รู้ๆ เรื่องของสัตว์ทั้งหลายอยู่นี้ และไปกันมากันอยู่เรื่อยๆ เราเห็นอยู่นี้ นี่เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะทรงทราบด้วยพระญาณ ไม่มีอะไรสงสัย

ผู้ที่สงสัยก็คือพวกหูหนวกตาบอดอย่างพวกเรา บางทีก็เลยปักใจลงไปเสียว่าความไม่เห็นนั้นแลคือความไม่มี  แต่สิ่งที่เราไม่เห็นนั่นแลมักจะโดนหน้าผากเราอยู่เสมอ สิ่งใดที่เราเห็นไม่ค่อยจะโดนกัน หลีกกันได้ สิ่งที่เราไม่เห็นนั่นแล มักโดนมันอยู่เสมอ เช่นกระดูกเป็นต้น ถ้าเราเห็นเราจะไปโดนทำไม โดนกระดูก โดนหัวตอ โดนรากไม้ โดนไปทำไม โดนหิน เหยียบขวากเหยียบหนาม เหยียบมันทำไม ก็เพราะไม่เห็น เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ในสถานที่เหยียบย่างไปนั่นแล  แต่ความที่ว่าไม่มีนั้นน่ะ ไม่สามารถที่จะลบล้างสิ่งนั้นๆ ที่มีอยู่โดยลำพังตนเองได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเหยียบขวากเหยียบหนาม โดนไม้ โดนตอกันอยู่เรื่อยๆ ด้วยความไม่เห็นของเรา

การที่สัตว์โลกได้รับความทุกข์ ความลำบากทรมานหาทางไปไม่ได้ ก็เพราะความไม่รู้ไม่เห็น ความหูหนาตาเถื่อนนั้นแล ไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่มี แต่ผู้นี้ไม่เห็น ผู้นี้ไม่รู้ต่างหาก จึงต้องโดนเอาๆ ผู้ที่ว่านรก สวรรค์ ไม่มีนั่นแลคือผู้ที่โดนตั้งแต่ทุกข์อยู่เรื่อยๆ มีแต่ไฟนรกแผดเผาอยู่เรื่อยๆ คือผู้ที่ว่าไม่มี เพราะเกิดความประมาท แล้วความประมาทนั่นแลเป็นการสร้างไฟขึ้นมาเผาตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไม่ให้ประมาท สิ่งใดที่พระองค์ท่านได้ประกาศสอนลงไว้แล้ว สิ่งนั้นเป็นความจริง ไม่มีทางเป็นอื่น

คนตาบอดไม่เชื่อคนตาดีจะเชื่อใคร คนโง่ไม่เชื่อคนฉลาดจะเชื่อใคร พระพุทธเจ้าเป็นคนประเภทใดที่เราจะไม่เชื่อท่าน ถ้าหากว่าเป็นประเภทอย่างพวกเรานี้แล้วก็เป็นศาสดาสอนโลกไม่ได้ ความเป็นศาสดาจึงมีพระอำนาจวาสนา บุญญาภิสมภารเหนือโลก จึงเป็นศาสดาของโลกได้ เราพวกคนโง่หูหนาตาเถื่อน จึงต้องได้เชื่อพระพุทธเจ้า แล้วพยายามดำเนินตามพระองค์ ดังที่เราทั้งหลายได้มาบำเพ็ญอยู่เวลานี้ และบำเพ็ญตลอดมา ยังจะบำเพ็ญอีกต่อไป ก็เพราะความเชื่อต่อพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นแล ชื่อว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง อันเป็นเข็มทิศทางเดินให้ไปด้วยความราบรื่นชื่นใจ

การบำเพ็ญคุณงามความดีจะเป็นประเภทใดก็ตาม เป็นการบำรุงส่งเสริมตนเองโดยตรง คนอื่นยังได้รับความสุขความสบายอีกด้วย เจ้าของก็ได้รับบุญกุศลอีกด้วย เช่นอย่างการให้ทาน หลุดจากมือเราไปก็ไปอยู่ในมือคนนั้น คนนั้นก็ได้รับความสุขด้วยวัตถุอันนั้น และได้รับความปีติยินดี มีความปีติยินดีย้อนมาถึงผู้ให้อีกด้วย ผู้ให้ก็ได้บุญได้กุศลได้ความปีติยินดีเป็นเครื่องฝังอยู่ภายในจิต นี้แลคือบุญคือกุศล อาการที่ให้ด้วยเจตนา เจตนานั้นแล จะยังกุศลให้เกิดขึ้น สิ่งที่ให้ไปนั้นก็ร่วงโรยไปธรรมดา หมดไปสิ้นไป แต่เจตนาที่ให้อันเป็นความดีเป็นกุศลธรรมอยู่ภายในจิตใจนี้ ไม่ร่วงโรย ไม่หายไปไหน ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจผู้เป็นตัวการแห่งเจตนาของการให้ทาน

การรักษาศีลก็เช่นเดียวกัน ใครเป็นคนรักษา ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้บำรุงรักษาตัวเอง การภาวนาก็เช่นเดียวกัน จิตใจมีความวอกแวกคลอนแคลน ระส่ำระสาย คิดโน้นคิดนี้ ก็พยายามฝึกหัดดัดแปลงจิตใจของตนด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยศรัทธาความพากเพียร ขันติความอดความทน ความดีทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากความพยายามเหล่านี้ก็เป็นสมบัติของเรา ฝังอยู่ที่ใจนั้นแล ใจจึงเป็นบ่อแห่งสมบัติ สุดท้ายก็ใจนั้นแล จะเป็นผู้บริสุทธิ์วิมุตติพระนิพพาน จะเป็นธรรมดวงเลิศก็คือใจดวงนั้น

เท่าที่ยังเลิศไม่ได้ ก็เพราะมีสิ่งที่เลวทรามต่ำช้ามันหมักหมมอยู่ภายในจิตใจ ฉะนั้นจึงต้องได้พยายามชำระสิ่งนี้ออกไปด้วยความพากเพียรของเรา วันหนึ่งแน่นอน เมื่อเราก้าวเดินคือบำเพ็ญอยู่โดยสม่ำเสมอ จะถึงฝั่งแห่งความพ้นทุกข์โดยไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับเราเดินทาง เดินอยู่ไม่หยุดไม่ถอย เดินไปเรื่อยๆ ทุกวันทุกคืน จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง ก็สมมักสมหมาย การบำเพ็ญก็เหมือนกัน ไม่ได้เสียหายไปไหน บำเพ็ญเท่าไรก็ได้ ได้อยู่เรื่อยๆ เมื่อบำเพ็ญอยู่ไม่หยุดไม่ถอยก็เพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ ยกผู้เป็นเจ้าของให้พ้นจากทุกข์ไปได้ ท่านเรียกว่าถึงพระนิพพาน

เราทั้งหลายเป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพุทธบริษัท ก็คือลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือพุทธมามกะ ธรรมมามกะ ดำเนินตามหลักธรรม ความดีงามทั้งหลายซึ่งเป็นสมบัติของเรา จะแสดงผลเป็นที่พึงพอใจ เพราะไม่มีผู้อื่นผู้ใดจะมาแย่งชิงเอาไปได้ อโจรหรโณ นิธิ โจรผู้ร้ายก็มาปล้นเอาไปไม่ได้ ฝังอยู่ภายในจิตใจ ท่านเรียกว่าปุญญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญ ฝังอยู่ภายในจิตใจของผู้นั้นๆ ไปที่ไหนก็ไปเถิด คนมีบุญ ตายที่ไหนก็คือคนมีบุญเป็นผู้ตาย อยู่ที่ไหนก็คือคนมีบุญเป็นผู้อยู่เป็นผู้ไป

ความมีบุญนี้ไปที่ไหนก็ไม่จนตรอกจนมุม มีแต่ความสุขสำราญบานใจอยู่เสมอ นักปราชญ์ทั้งหลายท่านจึงสอนให้บำเพ็ญบุญ จะได้มีความรื่นเริงบันเทิงทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โลกนี้เราก็ได้อาศัยดังที่เป็นมาแล้วนี้ โลกหน้าเราก็จะต้องอาศัย เพราะเรายังไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปได้ ต้องอาศัยบุญเป็นเครื่องพยุงเราให้มีความสุขความสบายในภพนั้นๆ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางก็หมดปัญหากันไป

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้

 

รับชมรับฟังพระธรรมเทศนาของหลวงตา ได้ที่

www.luangta.com หรือ www.luangta.or.th

และทางสถานีวิทยุเสียงธรรม FM103.25MHz พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก