|
/body onLoad="MM_preloadImages('../images/link_2_6_a.gif')">
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" page="dhamma_online";
/SCRIPT LANGUAGE="javascript1.1" src="http://truehits1.gits.net.th/data/e0008481.js">
|
|
|
มีสติแล้วจะมีธรรมแทรก |
|
วันที่ 15 สิงหาคม 2545
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด |
| | ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
| |
ค้นหา :
มีสติแล้วจะมีธรรมแทรก
ใครลืมกระเป๋าไว้ที่ในครัว กระเป๋าเล็ก ๆ เท่า ๓ นิ้วนี่ละ ทางสามแยก ถ้าดูสามแยกที่ในครัวไม่เห็น ให้ไปดูสามแยกดงเค็งโน่นนะ มันมีหลายสามแยก ใครอะไรวางเลอะเทอะไปหมด สติสตังไม่จดจ่อ ไปที่ไหนลืมนั้นลืมนี้ยุ่ง อยู่ในวัยที่ควรจดจ่อ ๆ ถ้าเป็นวัยแก่ชราแล้วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จดเท่าไรก็จดเถอะ ขันธ์ ๕ เป็นไปแบบขันธ์ ๕ ถ้ามันยังพร้อมอยู่นี้ สติจับปั๊บมันจะได้ความ ๆ ตลอด เรื่องสตินี่สำคัญมากนะ ตั้งแต่พื้น ๆ ของการบำเพ็ญธรรม จนกระทั่งที่สุดหลุดพ้น สติจำเป็นตลอดไปเลย ท่านจึงบอกว่า สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ฟังซิทั้งปวง ครอบหมดเลย
อย่างเราอยู่ในบ้านในเรือนเรา มีสติทำอะไรไม่ค่อยผิดพลาด ถ้ามีธรรมแทรกเข้าไปแล้วสติจะค่อยมี ถ้าไม่มีธรรมเลยนี้สติเลอะ ๆ เทอะ ๆ ไปเลย ดิ้นไปตามความทะเยอทะยานความหวังนั้นหวังนี้ยุ่งไปหมด สติก็เลยไม่มีความหมายอะไร ถ้ามีธรรมจับปั๊บ สติธรรมแล้วนั่น สติธรรมแล้วอยู่ที่ไหน แม้อยู่ลำพังจะรู้ตัว จะสัมผัสกับเรื่องอะไร สติจะทำความรับทราบ ๆ ไม่ค่อยผิดพลาดนะ ในบรรดาความเพียรทั้งหลายเครื่องชำระกิเลส สติเป็นที่หนึ่งเลยเทียว ตั้งรากฐานปั๊บจะชำระแก้ไขแบบไหน ๆ สติหยั่งลงไปแล้ว ทีนี้กระจายออกไปเลย ปัญญาออกสติติดตาม ๆ
เมื่อวานไปดงศรีชมภูก็ไม่ค่อยได้พูดธรรมะกับพระมากนัก ไปสาย ๆ ตั้งเอาของไปส่งเฉย ๆ ไปนี้เก็บดะไปตั้งแต่ทางออกจากอุดรไปหนองคาย เก็บดะ ๆ ไปเรื่อยพวกอาหารสดอะไร จากนั้นก็เก็บไปเรื่อยจนกระทั่งเข้าปากคาด เข้าไปตีตลาดปากคาดตกทะเลแล้วเราก็เข้าไปดงศรีชมภู ไม่อยู่นานเมื่อวานนี้ ดูไม่ถึงชั่วโมงออกมาเลย เพราะนัดกับกองบินไว้ พอมาถึงก็เข้าทางจงกรมเลยจนลืมเวลาของพวกนี้จะมา มาถึง ๓ โมงเป๋งก็เข้าทางจงกรม จน ๔ โมงกว่าๆ ถึงออกมา ลืม พอออกมาพระท่านรออยู่แล้ว บอกว่าพวกนั้นมารออยู่แล้วพวกทหารอากาศ กองบิน ก็สอนธรรมให้เป็นคติแก่เขาทั่ว ๆ ไป ให้ได้อรรถได้ธรรมไปพินิจพิจารณาบ้าง ตั้งแต่ตื่นเช้ายันค่ำมีแต่กิเลสควบคุม ๆ สติปัญญาทางด้านธรรมะที่เป็นเครื่องแก้ไขดัดแปลงหรือต้านทานกันนี้ไม่ค่อยเห็นมี จึงเรียกว่าเราเป็นบ๋อยกลางบ้านของกิเลสด้วยความยอมใจเพราะรู้ไม่ทันมัน อะไรมันก็เหยียบหัวเรา ว่ามาเป็นเรา ๆ ไปเสียหมด มันก็สนุกเหยียบละซิ
ภัยของสัตว์โลกไม่มีอะไรนะ มีกิเลสอันเดียวเท่านั้น มันแผ่ไปได้หมดทุกสัตว์ทุกบุคคลเข้าได้หมดในหัวใจ ใครไม่ทราบ ศาสดาองค์เอกเท่านั้นเองมาแยกออกว่าเป็นธรรมเป็นกิเลส แต่ก่อนไม่รู้ทั้งธรรม ไม่รู้ทั้งกิเลส ในหัวใจเรามันมีทั้งสองอย่าง แต่กิเลสเป็นเจ้าอำนาจ ธรรมไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นสัตว์จึงได้วิ่งไปตามที่มันผลักมันดันมันเตะมันถีบอะไรไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่ามันเป็นภัยต่อหัวใจเรา ต่อตัวของเรา ต่อส่วนรวม ต่อกว้างขวางไปไหนต่อไปหมดเลย มีแต่กิเลสเป็นตัวภัยตัวหลอกลวง ๆ พูดอย่างนี้เหมือนหนึ่งว่าจะสุดวิสัยจะสอนโลกนะ คือมันละเอียดขนาดนั้นละกิเลส มีธรรมเท่านั้นจับมันได้หมดเลย อันนี้สำคัญมากนะ ธรรมเท่านั้นที่จะจับกิเลสได้ บังคับกิเลส แก้กิเลส ฆ่ากิเลสได้ มีแต่ธรรมอย่างเดียว นอกนั้นไม่มีบอกงี้เลย
สามแดนโลกธาตุมีแต่เรื่องอำนาจของกิเลสทั้งหมด ธรรมไม่มีเพราะไม่มีใครสนใจ แม้มีศาสนาอย่างพุทธศาสนาเรานี้ เป็นศาสนาชั้นเอกเทียว ก็ไม่มีใครสนใจ ในโลกคิดดูซิว่า พุทธศาสนามีอยู่ในหัวใจโลกมากน้อยเพียงไร มันไม่ค่อยมี มีแต่ศาสนาของกิเลส คลังกิเลสทั้งนั้น มันก็เป็นกิเลสไปหมด ทั้ง ๆ ที่ประกาศตนว่าเป็นเจ้าของศาสนา และเป็นผู้ถือศาสนานั้น ๆ มันก็เป็นเรื่องกิเลสเสียหมด เพราะความรู้นั้นเป็นความรู้อยู่ใต้อำนาจของกิเลส เจ้าของศาสนานั่นเป็นบ๋อยของกิเลส ประกาศตนเฉย ๆ สำคัญตน ยกตนขึ้นเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นเจ้าของศาสนานั้น ๆ แล้วสอนโลกก็สอนด้วยอำนาจของกิเลสทั้งนั้น สอนด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ไหน
มีพุทธศาสนาเท่านั้น สอนด้วยอำนาจแห่งธรรมล้วน ๆ เลย นี่อันนี้มีอยู่ในหัวใจใครบ้าง มีพอสองสามคนไหมทั้งโลกเรานี่ จึงว่าเกิดยากนะพระพุทธเจ้า อันดับหนึ่ง จากนั้นก็ประสิทธิ์ประสาทธรรมให้บรรดาสัตว์โลก อันนี้ก็เกิดยากอีกแหละ เกิดยากเป็นลำดับลำดาไป พระพุทธเจ้าเกิดยากเป็นอันดับหนึ่ง บรรดาสาวกทั้งหลายก็เป็นอันดับต่อมา ๆ สัตว์โลกอันดับต่อมา ความรู้คือธรรมที่จะแก้พิษภัยของตัวเองซึ่งเกิดจากกิเลสนี้ มีธรรมเท่านั้น จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร จะเป็นธรรมทั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อแก้กิเลส นอกนั้นไม่มีทาง มันละเอียดขนาดนั้นนะ โอ้โห ๆ เราก็ดี
เราก็ไม่เคยคาดเคยคิด ว่าจะได้เห็นเรื่องกิเลสกับธรรมอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนในหัวใจ ไม่เคยเห็นไม่เคยคาด ก็คิดดูซิอย่างพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ติดแนบอยู่หัวใจมาแต่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ติดแนบ ๆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ครั้นเวลาปฏิบัติ ๆ มันก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป จนกระทั่งถึงขณะที่พูดนี่ฟ้าดินถล่มผางเท่านั้น พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลงในธรรมธาตุอันเดียวกันหมด นั่นเห็นไหมล่ะ ใครบอก รู้อย่างจัง ๆ ไม่ต้องถามใครอีกด้วย ขึ้นอุทานด้วยนะ โอ้โห พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ยังไง ลงน้ำมหาสมุทรดังที่พูดแล้วนั่น เป็นอันเดียวกันแล้ว เราไม่เคยเห็นนั่นซี พระพุทธเจ้าองค์ไหนตรัสรู้ ทั้งพระอรหันต์ ทั้งพระพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้วก็เหมือนแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ไหลเข้าสู่มหาสมุทร เป็นมหาสมุทรอันเดียวเท่านั้น จะว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ไม่ได้ เจ้าของหากรู้เอง ตัดออกหมดเลยอดีตที่ผ่านมา มาเป็นมหาสมุทรอย่างเดียวเท่านั้น นี่พุทโธ ธัมโม สังโฆ เมื่อกิเลสขาดสะบั้นไปแล้ว ธรรมทั้งแท่งคือธรรมธาตุ ที่ว่าสามท่านแยกออกไปเพื่อนี่ทางเข้ายึด ยึดเข้ามา ๆ หาจุดใหญ่ จับปั๊บพุทโธก็ถูกจุดใหญ่ จับธัมโมก็ถูกจุดใหญ่ จับสังโฆถูกจุดใหญ่ ทีนี้เวลาจับถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเหนี่ยวแล้วพรึบเข้าอันเดียวกันหมด นั่น จากสามเข้านี้ ไม่ได้ถามใครเลย
เราพูดจริง ๆ เราไม่ได้ถามใครนี่วะ ก็มันเป็นขึ้นด้วยที่เราไม่เคยคาดเคยคิด พุทโธ ธัมโม สังโฆ ติดหัวใจมาจนกระทั่งถึงขณะนั้น ไม่มีจะเป็นอื่นไปเลย แล้วไม่ได้คิดด้วยว่าจะเป็นอย่างอื่นอย่างใดต่อไปจากพุทโธ ธัมโม สังโฆ นี้ว่างั้นนะ แต่พอเป็นธรรมแท่งเดียวแล้วผางขึ้นมาเท่านั้น พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอันเดียวกันแล้ว นั่นเห็นไหมล่ะ นี่ละใครพูดอย่างนี้มีไหม นี่เราพูด มันรู้นี่ รู้อย่างนั้น ไม่เคยคาดเคยฝันเลย เวลาถึงที่เต็มที่เรียกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วเป็นอันเดียวกันทั้งนั้น ธรรมธาตุเหมือนมหาสมุทรทะเลหลวง มองไปไหนสุดสายตาก็เป็นธรรมธาตุอันเดียวกันหมดเลย แล้วถามหาพระพุทธเจ้าที่ไหนล่ะ พระพุทธเจ้ามีกี่องค์ ดูน้ำมหาสมุทรมากขนาดไหน ดูเอา แล้วถามหาพระพุทธเจ้าองค์ไหนที่ไหน
พระรูปพระโฉมพระสรีระนั้นเป็นเรือนร่างของธรรมธาตุต่างหาก ธรรมธาตุที่อยู่ในหัวใจท่านที่บริสุทธิ์แล้วนั้น นั้นแหละมหาสมุทร ผางออกมานั้นจ้าไปหมดเลย ไม่สนใจเลยในสามแดนโลกธาตุนี้ว่าจะถามใคร ว่างั้นเลยนะ ไม่มีอะไรเลิศยิ่งกว่าธรรมชาติที่รู้ ๆ ที่ทรงไว้นี้ แล้วจะไปถามหาอะไร เอาอะไรมาเป็นพยาน ธรรมชาตินี้ครอบโลกธาตุหมดแล้ว จะเอาอะไรมาเป็นใหญ่เป็นโตมาเป็นพยาน ผางขึ้นมาเท่านั้นไม่ถามใครทั้งนั้นแหละ
อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้แล้วว่า สนฺทิฏฺฐิโก คือผู้ปฏิบัติจะรู้เองเห็นเองเป็นลำดับลำดาไป จนกระทั่งถึง สนฺทิฏฺฐิโก ขั้นสุดยอดคือนี้เอง ผางขึ้นมาเท่านั้นหมดเลย ถามหาพระพุทธเจ้าทำไมเท่านั้นเอง สนฺทิฏฺฐิโก ก็คือพระพุทธเจ้าเองเป็นผู้ตรัสเอาไว้ ถ้าหากว่ายังไปถามพระพุทธเจ้าอยู่ สนฺทิฏฺฐิโก ที่ทรงประกาศไว้แต่ต้นนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรซี ก็ต้องไปขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ประทานลงมาแล้วนี่ เป็นความเด็ดขาดแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ ใครรู้เข้าก็เป็นแบบเดียวกันหมด จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก
ไม่รู้มากไม่เป็นมากก็ตามเถอะ ขอให้มีวี่แววของศาสนาติดอยู่ในหัวใจเถอะชาวพุทธเรานะ จะยังพอมีหวัง นอกนั้นอย่าหวัง อย่าหวังพึ่งเป็นพึ่งตายกับมัน เกลื่อนเต็มโลกธาตุอย่าไปหวังนะ บอกชัด ๆ อย่างนี้ ตั้งแต่เรายังไม่ตายมันก็พังให้เห็นต่อหน้าต่อตา แล้วเราตายแล้วมันจะไปไหน แน่ะมันก็ตัวพัง ตัวเราก็พัง ตัวเขาก็พัง อาศัยอะไรได้ล่ะ อาศัยกันไปชั่วระยะกาลนี้ ให้รีบดูหัวใจตัวที่สมบุกสมบันที่ไปเกิดที่นั่นที่นี่ไม่เคยตาย คือหัวใจดวงนี้ ตัวนี้สมบุกสมบันมากนะ โลกเขาไม่มองหัวใจ เอาทั้งร่างกายนี้เป็นหัวใจเลย เขาไม่ได้เอาใจเป็นหัวใจ เพราะฉะนั้นโลกถึงหลงตลอดไป เวลาธรรมเบิกออก ๆ ก็แยกออกได้ซีร่างกายนี้ สัดไหนส่วนไหนก็กลายเป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอาการสี่อย่างห้าอย่าง ถ้าไม่มีธรรมเข้าไปรู้ไปแยกแล้วไม่รู้ มันเป็นเราทั้งหมดเลย ทุกอย่างเป็นเรา แม้แต่ตดออกมาก็เป็นเรา มันอยู่ในนั้นมันเป็นเราหมดนะ ทั้งตดทั้งขี้เป็นเราหมด ถ้าแยกแล้วอะไรมันรู้หมดนี่ ไม่มีใครบอกมันก็รู้ นี่จึงว่าธรรมเลิศเลอ ๆ
พระพุทธเจ้าถึงได้ท้อพระทัยล่ะซี ใครจะรู้ได้เห็นได้ พอจ้าขึ้นมานี้มองดูโลกมันมืดแปดทิศแปดด้านมาตั้งกัปตั้งกัลป์แต่กาลไหนไม่รู้นะ มันมืดมาอย่างนั้นตลอด คือกิเลสทำสัตว์โลกให้มืดบอด กิเลสครอบไว้หมด เวลาธรรมจ้าขึ้นมามันเห็นหมดว่าไง วิสัยของความรู้คาดไม่ได้นะ วิสัยของใจที่เป็นนักรู้ กลมกลืนกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วเป็นธรรมทั้งแท่งแล้วจ้าไปหมดเลย นั่นละท่านจึงเรียกว่าธรรมเลิศ ในสามแดนโลกธาตุไม่มีอะไรเลิศยิ่งกว่าธรรม ธรรมเท่านั้นเลิศ นอกนั้นไม่มี เวลารู้ขึ้นแล้วไม่ต้องถามใครอีกเหมือนกัน
เวลามันมืดมันมืดจริง ๆ นะจิตนี่ ไม่ใช่เล่นนะ มืดมันก็ยินดีในความมืด เห็นไหมกิเลสหลอก มันไม่ให้ยินร้ายกับความมืดตัวเองนะ มันก็ยินดีกับความมืดของมันอยู่งั้นแหละ กิเลสเข้าตรงไหนกล่อมได้ทั้งนั้นยังบอกแล้ว เข้าตรงไหนกล่อมได้หมด ขี้เกียจก็กล่อมได้ ขี้เกียจขี้คร้าน โมโหโทโส กล่อมให้พอใจทั้งนั้น ไม่ว่ารักว่าชังกล่อมได้ทั้งนั้น กิเลสเข้ากล่อมได้หมดให้หลงตามทั้งนั้น จะให้ว่าอันนี้ไม่ดีไม่เอาไม่มี ถ้าลงกิเลสได้กล่อมแล้วดีหมด ชั่วก็ดี อะไรดีทั้งนั้น ส่วนดีไม่ค่อยกล่อมไปนะ มีแต่กล่อมไปหาลงนรก คือดีนี้จะพ้นจากอำนาจของมันไป กล่อมว่าดีนี้จะไปทางธรรม จะออกจากอำนาจของมัน มันไม่กล่อม มันปัดด้วยไม่ให้ธรรมเข้ามายุ่ง ให้มีแต่เรื่องกิเลสทำหน้าที่บีบบี้สีไฟสัตว์โลกให้จมอยู่นี้ตั้งกัปตั้งกัลป์ไปตลอดเท่านั้นเอง
เรื่องของกิเลสอย่าเข้าใจว่ามันจะพาใครได้รับความสุขความสบายนะ ไม่มี มีแต่เป็นเครื่องล่อ ล่อเพื่อจม ๆ ล่อไปเรื่อยจมไปเรื่อย ๆ แล้วไม่เข็ดหลาบในการถูกล่อลวงของกิเลสนะ เวลามันมืดมันมืดจริง ๆ เราพูดอย่างนี้เรายังระลึกได้เวลาเป็นเด็ก ออกไปจากบ้านนี้แหละ ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกต้นหมากอึก ต้นหนาม ๆ ผู้ใหญ่เขาตัดเอาต้นของมันทิ้งไปไว้ข้างทาง ทีนี้อีตาบัวมันดื้อไม่เข้าท่า พอไปเห็นต้นเป็นพุ่มสวยงามมาก มันคิดสนุกอย่างนั้นนะกิเลสตัวนี้เข้าใจไหม มันว่าเป็นกิเลสเมื่อไร ไปกับเด็กเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าเรามาก อายุเขาเกินเราไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ปี เรียกว่าเขาเป็นเด็กขั้นผู้ใหญ่ เราไปด้วยกันกับคนนี้ ไปเห็นต้นนี้เขาถอนรากมันไว้ทิ้งไว้ข้างทาง มันพุ่มสวยงามมาก
นี่บทเวลาจะคิดนะ ไปเห็นสวยงามมาก เลยไปลากเอานั้นมาขวางทางไว้ มึงจะทำอะไรไอ้นี่น่ะ ไอ้ผู้ใหญ่กว่าเขาว่า มึงจะทำอะไร เอามาขวางทาง มึงขวางหาพ่อมึงอะไร อย่างนั้นละภาษาภาคอีสานเขาสนุกกัน มึงขวางหาพ่อมึงอะไร มึงไม่รู้จักหนามมันกีดขวางทางคนเหรอ แล้วมึงขวางไว้หาอะไร กูขวางไว้เวลาเขามานี้เขาด่าคำหนึ่งก็ช่างหัวเขา เราสนุกของเรา เขาจับดึงหลีกทางออกก่อนเขาจะไป เขาจะด่าเรา เราก็สนุก แน่ะคิดดูซิประสาเด็ก มันเป็นอย่างนั้นนะ เอาออก โอ๊ย ขู่ใหญ่เลยนะ ตกลงเรานั่นแหละเป็นผู้จับออก ทีแรกเราเอามาขวางทางไว้ ไอ้นั่นขนาบเอาเสีย ก็เลยไม่ลืม
อย่างนั้นมันก็ทำได้นะ ถ้าธรรมดาจะทำได้ยังไง ไปด้วยกันผู้ใหญ่เขายังรู้ มึงเอามาขวางอะไร ขวางให้คนมาเจอเข้าแล้ว เขาจะด่าเราก็สนุกของเรา ไปแล้วนะหนีไปแล้วยังคิดสนุก มึงจะขวางหาพ่อหาแม่มึงอะไร โฮ้ เข้าท่าดี เอาออก ตกลงเราก็เลยดึงออก แล้วก็เลยไม่ลืมนะ อย่างนั้นนะเด็ก ผู้ใหญ่ไปด้วยกันเขาก็ยังรู้ใช่ไหม มึงมาขวางหาพ่อมึงเหรอ เอาออก ว่างั้นนะ เลยตกลงก็ไปจับอันนั้นดึงออก มันเป็นอย่างนั้นความคิด ไปด้วยกันผู้ใหญ่เขารู้เรื่อง เด็กไม่รู้เรื่อง มีแต่ความสนุก นี่จิตมันเป็นขั้น ๆ
เวลาออกไปบวชค่อยเปลี่ยน นั่นละที่นี่ธรรมเริ่มเข้า ธรรมเริ่มเข้าไป เป็นฆราวาสญาติโยมเขาเหมือนเรา เราเหมือนเขา ไม่ได้ระลึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ อะไรเลย ไม่นึกนะ มันดิ้นไปตามเรื่องของกิเลสซึ่งเป็นนิสัยของมันเอง นิสัยของมันก็คือนิสัยกิเลสนั่นแหละ เป็นอย่างนั้นโดยถ่ายเดียวไม่ได้คิด เวลาบวชปั๊บที่นี่เปลี่ยน รู้ตัวว่าเปลี่ยนแล้ว เริ่มจะเข้าไปวัด ฝึกหัดนาคจะบวชเป็นพระ เริ่มฝึกหัด เราก็ไม่เคยฝึกหัดตัว ไปอยู่อย่างนั้นท่านมีกฎมีเกณฑ์ มีฝึกหัดทำนั้นทำนี้ เราก็ไม่ใช่คนขี้เกียจแต่ทำตามนิสัยเจ้าของ ไม่ได้ถูกบังคับเหมือนนั้น อันนั้นมีข้อบังคับอยู่นี้ก็เลยทำ นั่นละเริ่มแล้ว ครั้นบวชแล้วก็สอนเจ้าของเลย ทีนี้มาบวชเป็นพระแล้วนะ ชีวิตของพระกับชีวิตของฆราวาสไม่เหมือนกัน กิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่าง พระต้องเป็นพระ ฆราวาสต้องเป็นฆราวาส เป็นคนละโลกแล้ว สอนเจ้าของ
จิตเริ่มเข้าธรรม เริ่มรักษาธรรม ระมัดระวังตัวเองเรื่อย ๆ มันก็เลยเป็นชีวิตใหม่ขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่มันหยาบอยู่นะในหัวใจนั่นแหละ แต่ความรู้สึกว่าเป็นพระแล้วต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของพระ นั่นละมันบีบบังคับกันไว้ จนเคยชินไปนะ รักษาทุกวัน ๆ เคยชินไป ๆ อย่างทุกวันนี้ไม่ทราบรักษาไม่รักษา คือมันชินแล้ว อะไรผิดถูกมันรู้ทันที ไม่ได้ตั้งท่าตั้งทางเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนตั้งท่า ตั้งท่าอยู่ขนาดนั้นมันก็ยังผิดได้ แต่เวลาเคยชินแล้วไม่ตั้งมันก็ตั้งอยู่ในตัวของมันมันรู้เอง อะไรจะผิดรู้ ปัดพับ ๆ ไปเลย นี่ฝึกทางนี้เสียก่อนส่วนหยาบ
การประพฤติตัว การระมัดระวังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัว เป็นหยาบ ๆ ไปเสียก่อน จากนั้นก็ฝึกทางด้านภาวนา ทีนี้ละเอียดแล้วนะ เข้าสู่กระแสของจิต จิตจะคิดเรื่องอะไร ๆ ผิดถูกชั่วดี สติจะค่อยติดตาม เริ่มเข้าภาวนา นั้นเรียกว่าขึ้นเวที ระมัดระวังรักษาสติตลอดเลย มันเป็นขั้น ๆ สิ่งที่เป็นภัยต่อสติที่เราตั้งนั้นก็คือกิเลส ที่มันฝังจมอยู่เป็นเวลานานนั้นแหละ เวลาเราพยายามระมัดระวังมันก็ค่อยรู้คลื่นของกิเลสคลื่นของธรรม รับกันฟัดกันละที่นี่ ต่อไปมันก็รู้กันเรื่อย ๆ นี่ละการฝึกเจ้าของมันเป็นระยะ ๆ มาอย่างนี้
ต่อไปจิตเมื่อได้รับการฝึกฝนอบรม การรักษาตัวตลอดเวลา ก็ค่อยฟื้นตัวเองขึ้นมา จิตใจคิดเรื่องอะไรตีเข้ามา ๆ ไม่ให้คิด บังคับเข้ามาเรื่อย ต่อมาก็หดย่นเข้ามา ๆ คิดเรื่องอะไรเป็นเรื่องของกิเลสตีทันที ๆ ก็หดเข้ามาย่นเข้ามา นี่เรียกว่าฝึกตัว เป็นขั้น ๆ ไปอย่างนี้ จนกระทั่งเราฝึกไม่หยุดแล้วจิตของเราที่เคยว้าวุ่นขุ่นมัวก็ไม่ว้าวุ่นนะ มันค่อยสงบตัว ความสงบตัวของจิตเป็นความสบาย จากนั้นก็มีความสว่างไสวขึ้น เป็นขั้น ๆ นะ สงบเสียก่อนยังไม่สว่าง พอรู้ตัวบ้าง จากนั้นก็มีความสว่างไสวประจำใจ แล้วทั้งสงบทั้งสว่างไสว จากนั้นก็แสดงความแปลกประหลาดขึ้นมาเรื่อย ๆ ให้เป็นจุดสนใจเรื่อย
เราก็เข้มงวดกวดขันเข้าด้วย การรักษารักษาไม่หยุดไม่ถอย จิตเมื่อได้รับการรักษาอยู่ก็แคล้วคลาดปลอดภัย ค่อยเย็นเข้าไป ๆ นี่ละการฝึก ฝึกเรา ตัวจิตนี่นะ ร่างกายฝึกมันหาอะไร มันเป็นเครื่องมือของจิต จิตสั่งการอะไรร่างกายนี้ก็เคลื่อนไหวไปตาม ว่าจะไปมันก็ก้าวเดิน แน่ะ ว่าจะนั่งก็นั่ง มันเป็นเครื่องมือของใจที่สั่งให้ยืนให้เดินให้นั่งให้นอน ให้ประกอบหน้าที่การงาน ผิดถูกชั่วดีอะไรขึ้นอยู่กับใจทั้งหมด ใจอันนี้มันอยู่ในนี้ เราไม่รู้ว่าใจคืออะไร เราก็รู้หมดทั้งร่างนี้ว่าเป็นใจ ความจริงไม่ใช่ เวลาฝึกเข้าไปๆ พอจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้วจะเห็นตัวใจนะ ตัวใจจะตะล่อมเข้ามา ร่างกายเป็นเหมือนภาชนะ ใจนี้เหมือนกับวัตถุอันหนึ่งเราวางไว้กลางภาชนะ ร่างกายนี้เป็นภาชนะ วัตถุเช่นมะนาวเป็นต้น เอามาวางไว้ปั๊บ นี่มะนาว นี่ภาชนะมันก็รู้ นี่จิต นี่อาการของจิต มันก็รู้ ตั้งแต่จิตเริ่มสงบแล้วจะค่อยเริ่มรู้ใจดวงนั้น
จิตมีความสงบมากเท่าไร ยิ่งแน่นหนามั่นคง ยิ่งเห็นชัดว่า ร่างกายทุกส่วนเป็นอันหนึ่งต่างหาก จิตเป็นอันหนึ่งต่างหาก รู้เอง ๆ นี่เวลามันกลั่นกรองตัวเองเข้ามา จิตแต่ก่อนมันคละเคล้าไปหมดเลย ไม่รู้อะไรเป็นอะไร เวลาเราฝึกมาแล้วมันก็ค่อยหดย่นเข้ามาๆ จนเป็นความรู้เด่นชัดอยู่ในท่ามกลางหัวอก อยู่ตรงนี้เลย ไม่ได้อยู่บนสมอง บนสมองคือสถานที่ทำงานของความจำ การศึกษาเล่าเรียนขึ้นอยู่กับความจำจะมาทำงานอยู่ที่สมองทั้งหมด เรื่องความจำขึ้นสมอง คนจึงเข้าใจว่าจิตคือมันสมอง เวลาเข้าทางด้านภาวนามันถึงเห็นได้ชัด
สมองเป็นสถานที่ทำงานของความจดความจำ จะว่าปัญญาก็ไม่เชิง คือปัญญาจริง ๆ มันรู้อยู่ที่นี่ มันไม่ได้ออก ทีนี้พอภาคปฏิบัติธรรม พอจิตเริ่มสงบ สงบที่นี่ ไม่ได้สงบที่สมองนะ สงบมากน้อยสงบที่ท่ามกลางอกๆ เรื่อย เรื่องปัญญาออกก็ออกท่ามกลางอก ไม่ได้ออกนี่นะ ปัญญาทางโลกสงสารอาจจะออกทางมันสมองซึ่งเป็นสถานที่จดจำหน้าที่การงานทั้งหลาย อยู่นี้จริง ๆ เราจะเห็นได้ชัดเวลาเราเรียนมาก ๆ นี้สมองทื่อเลยมันไม่จำ มันไปทื่ออยู่บนสมองนะ ไม่ได้ทื่ออยู่นี่นะ เวลาเรียนมาก ๆ เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติมากเท่าไรจิตมีความสงบมากเท่าไร มันมาสงบที่นี่ ๆ สว่างที่นี่ ทีนี้จิตแย็บออกไปรู้ที่นี่ ปัญญาสอดส่องไปออกจากนี้ ๆ ไปเลย สมองไม่ขึ้น นั่น มันเห็นได้ชัดๆ อย่างนี้ไม่ต้องถามใคร
ภาคปฏิบัติจึงเข้าหาตัวจริงคือจิตอยู่ตรงกลางอก สงบก็คือจิตสงบเองก็สงบที่ท่ามกลางอก แย็บออกมาในเรื่องปัญญาก็ดีเรื่องอะไรก็ดี ก็ออกจากจิต มันก็ออกจากท่ามกลางอกนี้ไปเรื่อย ๆ สว่างจนกระทั่งเจ้าของอัศจรรย์เจ้าของ มันก็เป็นอยู่นี้นะ มันไม่ได้เป็นอยู่บน ก็เคยพูดให้ฟังแล้ว ที่ว่าจิตของเราทำไมจึงสว่างเอานักหนา อัศจรรย์เอานักหนา มันก็อัศจรรย์อยู่ตรงนี้ มันไม่ได้อยู่บนสมอง รู้ได้ชัดทางภาคปฏิบัติจิตตภาวนา รู้สถานดั้งเดิมของจิตในท่ามกลางอก ในบาลีท่านก็บอกแล้วว่า คุหาสยํ คือจิตอยู่ท่ามกลางถ้ำคือหัวใจ อยู่ท่ามกลางอก จิตอยู่ในนั้นแหละ เวลาแสดงขึ้นมาจากภาคปฏิบัติ ก็อยู่ตรงนั้นจริง ๆ สว่างมากสว่างน้อยอยู่ที่นี่ จนกระทั่งกระจายไปไหนมันก็จ้าอยู่นี่แล้ว อันนี้เป็นฐานไว้แล้ว สว่างจ้าไป ตัวนี้เป็นฐานของความสว่าง แน่ะ มันไม่ได้ขึ้น อยู่ตรงนี้นะ ๆ มันสว่างจ้าไปหมดมันก็ออกจากอันนี้ นั่นละจิตแท้ ไม่ใช่ร่างกายนะ
ร่างกายเป็นเครื่องมือของจิตต่างหาก เหมือนอย่างอันนี้เป็นเครื่องมือของเรา เราจะทำอะไรจะสับจะยำเอามีดมา เอาอะไรมาก็แล้วแต่มาสับมาฟันนั้นฟันนี้ เสร็จแล้วทิ้งวางไว้ ๆ จิตสั่งงานเหมือนเราเอามือไปจับอันนั้นอันนี้มาทำงาน พองานอะไรเสร็จแล้วก็ทิ้งไป ๆ ปล่อยเครื่องมือไป อันนี้เรื่องขันธ์ห้านี้เป็นเครื่องมือของจิต สั่งทางไหนตาดู หูฟัง เรื่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นทางเดินของจิต เพื่อสัมผัสสัมพันธ์สิ่งต่าง ๆ นี่เรียกว่าเป็นเครื่องมือของจิต อันนี้เราหมายถึงเครื่องมือของจิตเกี่ยวกับทั่ว ๆ ไป คนเราจะเห็นด้วยตาเป็นเครื่องมือของจิต ที่ตาดีอยู่มองเห็นได้ชัด หูเป็นเครื่องมือของการฟัง ถ้าหูดีมันก็ฟังได้ชัด จมูก ลิ้น กาย เป็นเครื่องมือของจิตทั้งนั้น ๆ มันรู้ นี่ที่เราใช้เครื่องมือ
ทีนี้เวลาภาวนาเป็นความรู้ความเห็น เป็นขึ้นมาจากใจจริง ๆ แล้ว ที่นี่เครื่องมือส่วนด้านวัตถุ ส่วนหยาบ ๆ นะ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้สำหรับดู รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันนี้เป็นเครื่องมือส่วนหยาบของขันธ์ ที่ละเอียดเข้าไปกว่านั้น จิตมีภาชนะเป็นของตัวเอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มาอยู่ในจิตนี้หมด มันรู้มันเห็นอยู่ภายใน ไม่ต้องอาศัย ตา หู จมูก นั่นมันเป็นชั้น ๆ ถ้าไม่ปฏิบัติมันไม่รู้อย่างนี้นะ เมื่อปฏิบัติมันรู้ของมันแล้วจะไปถามใคร ก็มันรู้ที่ตัวเอง ไปถามใคร เป็นอย่างนั้นนะ ท่านบอกว่าหูทิพย์ ตาทิพย์อะไรเหล่านี้ นั่นเรียกว่า อายตนะภายในของจิตสืบต่ออยู่ภายใน อายตนะแปลว่า เครื่องสืบต่อ เครื่องประสานสืบต่อ อายตนะภายนอกก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะภายในคือ จิตอันเดียว อาการทุกอย่างจะออกจากนั้น รับรู้รับเห็นเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม อะไรเหล่านี้ มันจะเป็นอายตนะรับกัน ๆ เลยจากนี้แล้ว นิพพานแท้ สิ่งเหล่านี้ไม่มีฟังให้ดีนะ
เราอย่าเข้าใจว่า เทวดา อินทร์ พรหม จะไปกองกันอยู่นิพพาน ไม่มีนะ นี้เป็นแดนสมมุติแล้วก็อายตนะนี้ใช้กับแดนสมมุติ คือใจดวงนี้ใช้กับแดนสมมุติ พวกเปรตพวกผีก็รู้ก็เห็น พวกสัตว์นรกอเวจีอะไร ๆ หยาบละเอียดขนาดไหนมันเห็นอยู่ภายใน ๆ จนกระทั่งเทวบุตรเทวดา ท้าวมหาพรหมเห็นอยู่ในนี้ เป็นอายตนะอันนี้สำหรับรับสิ่งเหล่านี้ ๆ ส่วนธรรมชาติคือนิพพานที่บริสุทธิ์แท้แล้ว สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติไม่มีเลย นั่น มันต่างกันอย่างนั้นนะ เราอย่าเข้าใจว่านิพพานจะมีเต็มอยู่ด้วยเทวบุตร เทวดา อันนี้เป็นชั้นสมมุตินะ ตั้งแต่นี้ถึงพรหมโลก เรียกว่า ขั้นสมมุติทั้งหมด ส่วนเลยจากนั้นได้แก่นิพพาน ไม่มี สิ่งเหล่านี้จึงไม่ปรากฏ ขึ้นชื่อว่าสมมุติแม้เม็ดหินเม็ดทรายไม่มีในนิพพาน นั้นละธรรมชาตินั้นไม่มีอะไรกวน
กวนก็คือสมมุติละกวน เช่น พระอรหันต์ท่านมีธาตุมีขันธ์ครองธาตุครองขันธ์อยู่ ทั้ง ๆ ที่ใจท่านบริสุทธิ์แล้ว ท่านก็ยังต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ พาอยู่ พากิน พาหลับ พานอน พาขับ พาถ่าย ไปมาอย่างเรานี้เกี่ยวกับเรื่องธาตุขันธ์ จิตที่บริสุทธิ์แล้วก็ปฏิบัติตามนี้จนกว่าธาตุขันธ์จะหมดสภาพของมัน นั่น มันต่างกัน แต่สำหรับจิตที่บริสุทธิ์จริง ๆ แล้วนั้นน่ะ สิ่งเหล่านี้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แม้จะอยู่ด้วยกันก็ไม่เข้าไปเกี่ยว ยิ่งธาตุขันธ์ดับพรึบลงไปแล้วหมดโดยประการทั้งปวง เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ล้วน ๆ นั้นคือ ปล่อยสมมุติโดยประการทั้งปวงแล้ว เช่น ตาย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์นิพพาน ปล่อยสมมุติโดยประการทั้งปวงหมด นั่น ทีนี้เรื่องสมมุติจึงไม่มีเลย
เวลาท่านยังครองธาตุครองขันธ์ จิตของท่านจะเป็นวิมุตติก็ตาม ธาตุขันธ์เป็นสมมุติ ก็จะต้องได้รับผิดชอบกันอยู่โดยดี แน่ะ มันก็เป็นขั้น ๆ พอรู้แล้วมันก็รู้เองอันนี้ จะไปถามใคร ธรรมพระพุทธเจ้าเรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ขอให้ดำเนินตามเถอะ นิสัยวาสนาของผู้ใดมีขนาดไหน ๆ ที่ทำความปรารถนาไว้แต่ก่อน จะมาแสดงขึ้นที่นั่นหมด เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ท่านจึงมีลึกตื้นหยาบละเอียดต่างกันในสิ่งที่เป็นสมมุตินะ จึงได้รับเอตทัคคะ เลิศเลอทางนั้น ๆ ต่างกัน นี่ก็เรื่องสมมุติทั้งนั้น ที่ว่าเลิศทางนั้นทางนี้ ธรรมชาตินั้นแล้วเหมือนกันหมด นั่น เป็นอย่างนั้นนะ แล้วธรรมนี้ผู้ที่สอนถูกต้องแม่นยำที่สุด เป็นศาสดาองค์เอก เป็นศาสนาคู่โลกคู่สงสารมีพุทธศาสนาเท่านั้น บอกว่าเท่านั้นเลย
พระพุทธเจ้าองค์ไหนมาตรัสรู้ก็ตรัสแบบเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกันไม่สงสัย สอนแบบเดียวกัน ศาสนานอกนั้นเป็นศาสนาของคนมีกิเลสด้นเดาเกาหมัดไปอย่างนั้น นำศาสนาของตัวเองไปสอนโลก ศาสนาของตัวเองก็เป็นคลังกิเลส สอนโลกก็เอาคลังกิเลสไปสอนอยู่โดยดี ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าที่มีแต่คลังแห่งธรรมล้วน ๆ นั่นมันต่างกันนะ เพราะฉะนั้น การนับถือพุทธศาสนาเราเลิศเลอแล้วนะ นิสัยวาสนาของเราได้มาพบพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่เลิศเลอสุดยอดแล้ว สอนออกมาแต่ละบทละบาท เป็น สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขั้นใด ๆ ของสัตว์นะ สัตว์หยาบสัตว์ละเอียดขนาดไหน จะทรงรู้ทรงเห็นสอนตามนั้น ๆ
เห็นจนกระทั่งถึงฝ่ายดี สวรรค์ชั้นพรหม รู้หมดเลย จนกระทั่งนรกอเวจี รู้ตลอด อันนี้กระจายออกไปอีก เป็นพวกเปรตพวกผี มีอยู่ทั่วแดนโลกธาตุก็รู้เห็นโดยตลอด นี่ธรรมเป็นอย่างนั้น ท่านเห็นหมดนี่นะ จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบ อะไรมีไม่ลบล้าง บอกว่ามี ส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียดทั้งหลายอยู่สถานที่ใดยอมรับว่ามีๆ ไม่ลบล้าง คือพุทธศาสนาของเรา ตรัสออกมาด้วยความชอบธรรม ไม่ลำเอียง จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว พูดถึงมรรคถึงผลก็ชอบแบบเดียวกัน กระจายออกไปข้างนอก สิ่งใดที่ทรงรู้ทรงเห็นนำมาสอน ๆ ก็เป็นสวากขาตธรรม ไม่ผิดพลาด สอนตรงไหนแล้วไม่ผิด
ธรรมที่จะไปก็เหมือนกัน สอนถูกต้องแม่นยำถึงนิพพานกึ๊กเลย ไม่ผิดพลาดนะ มีศาสนาพระพุทธเจ้าผู้สิ้นกิเลสนี้เท่านั้นตรัสเป็นแบบเดียวกันตลอดมา นอกนั้นก็เป็นธรรมดาให้ชื่อเฉย ๆ ว่าศาสนา ๆ ตัวผู้เป็นเจ้าของประกาศตนว่าเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นเจ้าของศาสนาไปสอนเขา ก็คือคลังกิเลสเหมือนกันกับบริษัทบริวารที่เขามารับโอวาทจากเรา ไม่ได้เหมือนพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าสิ้นกิเลส พวกนั้นกองกิเลสคลังกิเลสมาก็พระพุทธเจ้าสิ้นกิเลส แน่ะ มันต่างกันนะ ศาสนาที่มีกิเลส เขาก็คลังกิเลส อาจารย์ก็คลังกิเลส เขาก็บอดอาจารย์ก็บอด เขาก็หนวกอาจารย์ก็หนวก แล้วจะสอนกันให้ถูกต้องแม่นยำได้ยังไง ไม่ถูก ว่าอย่างนี้เลย
เราได้เกิดพบพุทธศาสนาเลิศเลอแล้วนะ ขอให้ระลึกถึงตัวเองเสมอ วันหนึ่ง ๆ ขอให้มีสติ รู้สึกตัวบ้าง พอรู้สึกตัวมันจะมีธรรมแทรกเข้าทันที เพราะสติก็เป็นธรรมแล้วนะ พอมีสติอยู่นี้ จะทำหน้าที่การงานอะไร ความระลึกตัวจะรอบ ๆ นะ แล้วคนเราไม่ค่อยผิดพลาด จากนั้นก็ระลึกถึงบุญถึงบาป ถึงดีถึงชั่ว ระลึกย้อนหน้าย้อนหลัง จนกระทั่งว่า เราเกิดมานี้เราไม่รู้อะไรก็ตามเถอะ เวลานี้เราก็รู้อยู่ เราทำอะไร ทำผิดหรือทำถูกดีหรือชั่วประการใด นี้ก็มาทดสอบตัวเอง แก้ไขตัวเองไป นี่สติเห็นไหม กระจายไปถึงปัญญาได้ ถ้ามีสติหยั่งไปแล้วปัญญาจะออกกระจายออกไป เวลาไม่มีสติแล้วมันไม่มีแหละ ปัญญาก็มีแต่กิเลสเอาไปถลุงหมด เป็นปัญญาของกิเลสเครื่องมือของกิเลสไปหมดเสีย ไม่เป็นปัญญาเครื่องมือของธรรมฆ่ากิเลสนะ
โอ๊ย.เราจริง ๆนะ คือจวนตายเท่าไรแทนที่จะมาห่วงใยเจ้าของ มันไม่มีก็บอกว่าไม่มี จะให้ว่ายังไงอีก หายใจฝอด ๆ นี้ก็ดูอาการของธาตุของขันธ์ที่เขาทำงานซึ่งยังไม่ถึงวาระสลายของเขาหรือยุติของเขา ก็ดูกันไป รักษากันไป รับผิดชอบกันไปเท่านั้น แต่ธรรมชาติอันนั้นแล้ว มีอะไรกับสมมุติเหล่านี้ มันไม่มี นั่น มันจะมีอะไร พออันนี้ดับลงไปแล้ว เอ้อ หมดที่นี่ขึ้นชื่อว่าสมมุติ หมดโดยประการทั้งปวง มาหมดตอนสุดท้ายคือขันธ์ดับ ในบรรดาพระอรหันต์ สมมุติทั้งปวงจะหมดในวาระสุดท้าย คือตายหรือนิพพาน นั่นละหมด ทีนี้สมมุติทั้งปวงเรียกว่า เรียบไปเลยไม่มี นั้นละ ปรมํ สุขํ ทุกอย่างไม่มีสมมุติเข้าเจือปนเลย
เวลามีธาตุมีขันธ์ก็ยังมีสมมุติได้รับผิดชอบ แม้ใจบริสุทธิ์เต็มส่วน ความเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ก็ยังมี เช่น พาอยู่พากิน พาขับพาถ่าย พาหลับพานอน พาไปพามา เจ็บท้องปวดศีรษะ มีแต่เรื่องขันธ์กวนนะ จิตท่านจะมีอะไร ท่านหมดโรคแล้ว โรคกิเลสมีอยู่ในหัวใจเสียดแทงหัวใจ พอกิเลสพังลงไปโรคของท่านก็หมด ท่านจะไปเยียวยาอะไรอีก เรียกว่า วุสิตํ พฺรหมฺจริยํ กตํ กรณียํ ซิ การประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อละถอนสิ่งชั่วช้าลามกทั้งหลายนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่กิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจ เรียกว่า กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำก็คือคือละกิเลสฆ่ากิเลสที่เป็นตัวภัยนี้แหละ พออันนี้เสร็จสิ้นลงไปแล้วก็หมดงานการ พระอรหันต์จึงไม่มีคำว่าละกิเลสอีก ตั้งแต่กิเลสขาดสะบั้นลงไป จนกระทั่งนิพพาน พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จะไม่มีพระองค์ใดเลยมาชำระกิเลสอีก ไม่มี
เพราะฉะนั้นกิริยาที่แสดงออกทั้งหมด เป็นกิริยาของผู้สิ้นกิเลสทั้งนั้น เราจะไปถือเอาว่าหนักว่าเบา ว่าอ่อนว่านิ่มนวล ว่าแข็งกระด้าง ว่าดุว่าเดือดไม่ได้นะ ฟังให้ดี กิริยาท่าทางเหล่านี้ท่านใช้ตามสมมุติไปอย่างนั้น ขึงขังตึงตัง มีแต่ธรรมออกมาด้วยความเมตตาครอบ ๆ ๆ กิเลสตัวไหนจะมาทำให้เป็นพิษเป็นภัยจากการแสดงออก เช่น ดุ ๆ ด่า ๆ นี้ ดุด่าของกิเลสมันเป็นไฟมาพร้อม ดุด่าของธรรมเป็นน้ำดับไฟมันต่างกันอย่างนี้นะ กิริยาท่าทางของท่านผู้สิ้นกิเลสกับกิริยาท่าทางของกิเลสต่างกันมากนะ ภายในต่างกัน ภายนอกเหมือนกัน เพราะเป็นเครื่องมือใช้เหมือนกัน ควรดุ ๆ คึกคัก ๆ ขึงขังตึงตัง เป็นได้ด้วยกันทั้งฝ่ายกิเลสทั้งฝ่ายธรรม แต่ฝ่ายธรรมนี้ไม่มีพิษออกมา ฝ่ายกิเลสมีพิษออกมาพร้อม ต่างกันอย่างนี้นะ ให้พากันเข้าใจนะ พูดเท่านั้นละวันนี้
อ่านธรรมะหลวงตาวันต่อวัน ได้ที่ www.luangta.com |
** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก
ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์
และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์
|
|
|
|