เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕
เรื่องดุ เรื่องดี
ขอเผดียงท่านทั้งหลายให้ทราบทั่วกันก่อนว่า ส่วนมากเขาร่ำลือเหลือเกินว่า อาจารย์มหาบัวนี้ดุ แต่สาเหตุที่มาทำให้อาจารย์มหาบัวดุนั้นเขาไม่พูด มีแต่พูดว่าอาจารย์มหาบัวดุ ใครก็บอกว่าอาจารย์มหาบัวดุ สาเหตุที่อาจารย์มหาบัวดุนั้นเพราะเหตุไรเขาไม่ได้บอก นี่ก็แสดงว่าลำเอียง ไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นธรรมสมเป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นความสม่ำเสมอแล้วต้องซักซ้อมกันว่าเพราะเหตุไรท่านถึงดุ นั่นจะได้เรื่องได้ราว อันนี้มีแต่อาจารย์มหาบัวดุๆ ถ้าพูดแบบโลกเราก็ต้องเสียเปรียบตลอดเวลาใช่ไหมล่ะ ท่านทั้งหลายมีแต่ได้เปรียบถ่ายเดียว ไม่ยอมเสียเปรียบบ้างเลย อาจารย์มหาบัวเสียเปรียบตลอด เพราะไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อยที่อยู่นอกกำแพงวัดป่าบ้านตาดเขาเล่าลือกันทั้งนั้นแหละ ว่าอาจารย์มหาบัวดุๆ นอกจากในกำแพงวัดคือพระในวัดนี้อาจไม่รู้เหมือนผู้อยู่นอกกำแพง คนนอกกำแพงนี้รู้กันหมด เสียงแซดเลยว่าอาจารย์มหาบัวดุ
แต่ในกำแพงวัดนี้คงจะเป็นพระเซ่อ พระอยู่นี้ปริญญาตรีก็มี ปริญญาโทก็มี ปริญญาเอกก็มี พวกฝรั่งมังค่ามาเต็มหมดอยู่ในนี้จนกระทั่งรับไม่ได้ เพราะมากเกินอัตรารับ เวลานี้ยังเหลืออยู่ห้าองค์ เรารับไม่ได้เกินกว่านี้ พระมาจากที่ไหนก็ตาม ส่วนมากพระอยู่ที่นี่มีพระทางภาคกลางมากกว่าเพื่อน ท่านเหล่านี้เวลาอยู่นอกกำแพงท่านก็ฉลาดดี กิเลสท่านก็เบาบาง พอก้าวเข้ามาในกำแพงวัดนี้แล้วกลายเป็นพระกิเลสหนาปัญญาหยาบไปตามๆ กัน เซ่อๆ ซ่าๆ ไปหมด เพราะอาจารย์มหาบัวพาเซ่อเข้าใจไหมล่ะ พระพวกนี้อาจไม่รู้ก็ได้ว่าอาจารย์มหาบัวดุน่ะ นอกกำแพงวัดเขารู้กันทั้งนั้น ร่ำลือกันพิลึก
ไปที่ไหนมีแต่อาจารย์มหาบัวดุๆ แต่พระที่เข้ามาอยู่นี่ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มี คงไม่ทราบว่าดุไม่ดุ บางองค์อยู่ ๒๐ กว่าปีก็มี ส่วนมากมีแต่พระเก่าๆ ไม่ค่อยหนีไปไหนแหละ แต่เราก็ไม่ขับไล่ท่านนะ ก็ไม่ทราบจะขับไล่ยังไงเพราะไม่มีเหตุผลที่ควรขับไล่นี่ จึงมีแต่พระเก่าๆ พระใหม่เข้ามาอยู่ไม่ค่อยได้เพราะที่อยู่อาศัยเต็มหมด
การจะดุหรือไม่ดุตามหลักธรรมชาติหลักธรรมดาของธรรมแล้ว ควรดุก็ต้องดุ ควรดีต้องดี ควรชมต้องชม ควรตำหนิต้องตำหนิ นี้เป็นหลักธรรม นิคฺคยฺห ปคฺคยฺห เป็นธรรมประจำหรือเป็นคู่เคียงของศาสนามาดั้งเดิม แยกกันไม่ออก ในธรรมสองประเภทนี้ นิคฺคยฺห ได้แก่การดุด่าว่ากล่าว หรือตำหนิติเตียนในคนที่ผิดหรือพระที่ผิด ปคฺคยฺห ชมเชยสรรเสริญผู้ที่ทำถูกให้มีแก่จิตแก่ใจว่าการทำนี้ทำถูกต้องแล้ว และส่งเสริมให้ทำดียิ่งขึ้นกว่านี้ไปอีก ธรรมทั้งสองบทนี้เป็นหลักธรรมประจำศาสนาแยกกันไม่ออก เพราะพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งบัญญัติเอง ใครไม่กล้าอุตริบัญญัติขึ้นมาเองได้
พระเวลาก้าวเข้ามาในกำแพงนี้ กลายเป็นพระมืดหนาปัญญาหยาบไปหมด ไม่ทราบว่าหรือยังไงก็ไม่รู้นะว่าอาจารย์มหาบัวดุ เขาร่ำลือกันทั้งโลก พระพอก้าวเข้ามาในกำแพง กำแพงคงปิดหูปิดตาหมด พระวัดนี้จึงไม่อาจทราบได้ บางองค์อยู่ ๒๐ กว่าปีก็มี ๑๘-๑๙ ปี ๑๕-๑๖ ปี มีแต่พระเก่าๆ เต็ม พระใหม่เข้าไม่ได้ เข้ามาก็ชั่วคราวแล้วก็ต้องผ่านออก เพราะพระเก่าไม่ยอมหนี เต็มอยู่นี่ พระที่มาใหม่ก็อยู่ไม่ได้ นี่ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทั้งโลกเขารู้กันทั้งนั้นว่าอาจารย์มหาบัวดุ แต่พระในกำแพงวัดนี้ทำไมถึงไม่รู้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ให้ท่านทั้งหลายนำไปพิจารณาหน่อยนะเรื่องนี้ บางทีอาจได้ข้อคิด
เรื่องของศาสนามีเหตุมีผลทุกอย่าง ศาสนาไม่มีเหตุมีผล ไม่มีความถูกต้องแม่นยำ จะเป็นที่ยึดที่นับถือ เป็นที่เคารพเลื่อมใสฝากเป็นฝากตายของโลกไม่ได้ เฉพะอย่างยิ่งชาวพุทธ จะฝากไปทำไมไม่เกิดประโยชน์ ฝากเป็นฝากตายด้วยสิ่งเหลวไหลใช้ไม่ได้ ต้องเห็นว่าสิ่งนั้นดีและปลอดภัย เข้าไปพึ่งสิ่งใดสิ่งนั้นต้องปลอดภัย แน่ใจว่าปลอดภัย ไปพึ่งผู้ใดย่อมเห็นว่าผู้นั้นปลอดภัยร่มเย็นถึงจะพึ่งได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าไปพึ่งไปแอบอิง ต้องแน่ใจว่าสิ่งนั้นให้ความร่มเย็นให้ความปลอดภัยได้ นั่น
นี้ก็เหมือนกัน พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ออกมาจากศาสดาองค์เอก คือพระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอเหมือน ความรู้ความสามารถทุกสิ่งทุกอย่าง สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นครูของทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สามไตรโลกธาตุนี้ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาสอนทั้งนั้นเป็นยังไง ใครสามารถสอนโลกได้ทั้งสามโลก เราเพียงคนเดียวเท่านั้นยังสอนเราไม่ได้ มันยังเถลไถลไปได้ ลองพิจารณาดูซิในตัวของเราเอง เราสอนเราเองเพียงคนเดียวยังสอนไม่ได้ ยังเถลไถลไปจะว่ายังไง นี่พระพุทธเจ้าสอนได้ทั้งสามโลก เก่งขนาดไหน
ธรรมะเป็นสิ่งที่แน่ใจตายใจได้ เราจึงเปล่งวาจาพร้อมทั้งจิตใจน้อมระลึกถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ขอฝากเป็นฝากตายกับพระพุทธเจ้า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ขอฝากเป็นฝากตายไว้กับพระธรรม สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ขอฝากเป็นฝากตายไว้กับพระสงฆ์ เพราะท่านเหล่านี้เป็นธรรมดวงเลิศด้วยกันทั้งสาม เรียกว่าพระรัตนตรัย รัตนะแปลว่า แก้ว ตรัย แปลว่า สาม รวมเป็นแก้วสามดวงอันประเสริฐ นี่แลเราฝากชีวิตจิตใจไว้กับนี้ ไม่ใช่ขี้หมูราขี้หมาแห้งก็ สรณํ คจฺฉามิ นี่ท่านทั้งหลายเคยได้ยินไหม ขี้หมูราขี้หมาแห้ง สรณํ คจฺฉามิ น่ะ จะไป สรณํ คจฺฉามิ ยังไงขี้หมา ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นกฎเป็นเกณฑ์อย่างนั้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์แก่ตน และเป็นหลักเป็นเกณฑ์แก่คนอื่นอีกด้วยแล้ว ทำไมจะเอานอกเหตุนอกผลมาสั่งสอน มาดุด่าว่ากล่าวกันมีเหรอ ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาตรงนี้
การแนะนำสั่งสอน พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาสิ่งที่พระองค์ทรงดำเนินมาแล้ว ทั้งผลที่ได้รับเป็นที่พึงพอพระทัยมาสั่งสอนสัตว์โลก เห็นว่าถูกต้องแม่นยำแล้ว เช่น ยารักษาโรค หมอต้องค้นคว้าเสียแทบล้มแทบตาย ได้มาแล้วยังต้องมาทำการทดลองอีก จนเป็นที่แน่ใจแล้วจึงนำเอายานั้นไปรักษาคนไข้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ปรากฏชื่อลือนาม เราได้กราบไหว้บูชากันอยู่อย่างสมัยปัจจุบันนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ฝึกทรมานตนมาแล้ว ท่านฝึกฝนอบรม ฝึกทรมานตนเองเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้งเหตุทั้งผล ทดสอบจนเป็นที่แน่ใจแล้วว่า เจ้าของเองผู้ฝึกฝนทรมานเจ้าของก็ไม่มีอะไรเสียหายเพราะการฝึกนั้น นอกจากเป็นประโยชน์โดยถ่ายเดียว จากเหตุและผลของการฝึกฝนอบรมตัวเองที่เห็นว่าถูกต้องแล้ว จึงได้นำอุบายเหล่านั้นมาแนะนำสั่งสอนประชาชน ควรดุต้องดุ ควรด่าต้องด่า ควรดีต้องดี เพราะท่านแนะนำสั่งสอนท่าน ฝึกทรมานท่าน ท่านทำอย่างนั้นมาแล้ว ยิ่งเวลาท่านฝึกทรมานท่านด้วยวิธีต่างๆ ยิ่งหนักมากยิ่งกว่าการมาสอนประชาชนเป็นไหนๆ สอนประชาชนนี้เพียงปากเท่านั้นแหละ ลมปากว่าไป เขาจะเอาก็เอา เขาไม่เอาก็เป็นเรื่องของเขา
แต่ท่านฝึกท่าน ท่านไม่เป็นอย่างนั้น ว่าเอาหนาวันนี้หนา ใส่ลงไปขาดสะบั้นลงไป เอ้าวันนี้ต้องนั่งเท่านั้นชั่วโมงนะ เอ้า วันนี้เดินจงกรมเท่านั้นชั่วโมง จะหนีไปไหนไม่ได้ อย่างน้อยต้องให้ได้ตามเวลาที่กำหนดนั้นถึงจะออกไปได้ นั่งก็เอ้าอย่างน้อยต้องให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้นั้นถึงจะออกได้ มากกว่านั้นจะนั่งตามอัธยาศัยขนาดไหนก็ได้ เมื่อพ้นเวลา พ้นเขตพ้นแดนพ้นความสัตย์ความจริงที่ตั้งไว้แล้ว ท่านฝึกท่านท่านฝึกจริงจังอย่างนั้น เอ้า จะกินหรือไม่กินก็ตามข้าวนี่ เราเคยกินมาแล้วตั้งแต่วันเกิด ระยะนี้เราจะไม่กิน เราจะภาวนาอย่างเดียว ก็ไม่กินจริงๆ นั่นหนักไหมท่านฝึกท่าน เดินจงกรมก็เอ้า ฟาดตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จแล้ว จนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาดตอนบ่ายสามโมงสี่โมง กี่ชั่วโมงที่ไม่ให้ออกจากทางจงกรม นั่น
ขออภัย ถ้าลงท่านได้ตั้งสัจอธิษฐานของท่านแล้ว แม้จะปวดหนักปวดเบาก็ตามเถอะนะ จะเจ็บจะปวดอะไรก็ให้มันทะลักในที่นั่งสมาธิภาวนานั้นเลย ถ้าเราจะมีข้อแม้เว้นแต่ปวดหนักปวดเบา พอนั่งภาวนาเกิดเหนื่อยบ้างนิดหน่อย ความขี้เกียจเกิดขึ้นแล้ว มันจะหาทางเถลไถลออกไปแล้ว โอ๊ย ปวดหนัก โอ๊ย ปวดเบา แล้วไปเงียบเผ่นเลย อย่างนั้นใช้ไม่ได้ เอ้านั่งภาวนาเว้นแต่ปวดหนักปวดเบานะ ถ้าอย่างนี้แล้วเป็นเสร็จให้มัน ไปไม่รอดนะ
เอ๊า จะปวดหนักก็หนักเถอะ จะปวดเบาก็เบาเถอะ เวลาเกิดมาจากท้องแม่ก็อยู่บนตักแม่ ขี้รดตักแม่สักเท่าไร เยี่ยวรดตักแม่มาเท่าไร ไม่ว่าผ้าว่าสิ่งของเครื่องใช้อะไรๆ ของแม่ไม่เลือกไม้เว้น มันขี้รดใส่หมด แม่ยังเอาไปซักได้ ทำไมเราโตแล้วจนได้มาบวชเป็นพระกรรมฐานขนาดนี้ มานั่งภาวนาขี้ทะลักออก เยี่ยวทะลักออกใส่สบงจีวรเพราะการนั่งภาวนานาน เวลาลุกออกจากที่แล้วจะซักไม่ได้มีเหรอ เอาเถอะ วันนี้อะไรจะออกก็ให้มันออกไป ไม่ห่วง ห่วงแต่ภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น เราจะนั่งตั้งแต่บัดนี้ จนกระทั่งสว่างเป็นวันใหม่ตามเวลาที่ตั้งคำสัตย์ไว้เท่านั้น
รวมเวลาของการนั่งแบบสละตายแต่ละครั้งๆ เป็นเวลา ๑๒ ชั่วโมงบ้าง ๑๓ ชั่วโมงบ้าง ไม่ยอมให้เคลื่อนจากที่นั่งนั้นเลย อะไรจะขาดให้ขาดไป หัวไม่ทนให้ขาดไป แขนไม่ทนให้ขาดไป ร่างกายส่วนไหนไม่ทนให้ขาดไป อะไรไม่ทนให้ขาดไป แต่ความสัตย์ที่ตั้งไว้นี้จะขาดไปไม่ได้ นั่นฟังซิ ท่านฝึกท่านๆ เอาอย่างนั้น ท่านเอาจริงเอาจัง กรุณาคิดดู การที่ท่านทำอย่างนั้นจะทุกข์ขนาดไหน ทรมานขนาดไหน หักโหมขนาดไหน
อุบายวิธีการแนะนำเจ้าของทรมานเจ้าของท่านก็ได้ทำมาแล้ว ผลเกิดขึ้นจากการฝึกฝนทรมานเป็นยังไงท่านได้รู้ได้เห็นมาแล้ว การทำเช่นนั้นเหมือนกับเป็นการทดสอบมาแล้วทั้งเหตุทั้งผลเป็นที่พอใจแล้ว เมื่อใครมาเกี่ยวข้องท่าน ท่านต้องคิดแง่อรรถแง่ธรรมหนักเบามากน้อยที่จะควรแนะนำสั่งสอน ดุด่าว่ากล่าวไปตามเหตุการณ์ เป็นเหตุเป็นผลของท่านที่จะนำออกปฏิบัติต่อประชาชนรายนั้นๆ ตามความเหมาะสม ตามความเห็นควรของท่านต่างหาก ไม่ใช่บวชมาแล้วก็เพื่อดุโลกดุสงสารดะไปเลยอย่างนั้น ดุทำไม ดุไม่มีเหตุมีผล ธรรมมีเหตุมีผล ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีเหตุผลในการปฏิบัติรักษาตัว การสั่งสอนผู้อื่นก็ควรมีเหตุผลจึงจะถูก
ความดุด้วยอารมณ์โกรธไม่พอใจเป็นเรื่องของกิเลส แต่ดุด้วยธรรมไม่มีอารมณ์โกรธ ไม่เป็นกิเลส เป็นธรรมและชอบธรรม ส่วนมากมักเข้าใจกันว่าท่านโกรธ เวลาแสดงธรรมมีอาการเข้มข้น นั่นท่านเข้มข้นเพื่อปราบกิเลส ช่วยคนด้วยพลังของธรรมต่างหาก มิใช่ด้วยพลังของกิเลสตัวโมโหโทโส ชาวพุทธเราส่วนมากไม่เข้าใจกัน ทั้งนี้เพราะไม่เคยพบเคยเห็นธรรมและพลังของธรรมภายในใจ เคยเห็นแต่กิเลสและพลังของกิเลสภายในใจอย่างเดียว ผลที่ได้รับจากการเห็นการได้ยินจึงเป็นว่า ท่านดุท่านโกรธ ความจริงท่านดุเพราะเหตุผลกลไกลอะไร
เพราะการดุมีสองประเภท ดุด้วยพลังของธรรมก็มี ดุด้วยพลังของกิเลสก็มี เราควรพิจารณาให้ละเอียดบ้างสมกับเราเป็นชาวพุทธ และเป็นนักธรรมะ ควรพิจารณาทางเหตุทางผลจึงจะเห็นผลเห็นประโยชน์ในศาสนา ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่กิเลสเหยียบย่ำทำลายเราอยู่ตลอดเวลา ไปไหนก็เอากิเลสออกหน้าออกตาไปอวดพระท่าน ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความคิดทางใจ มีแต่กิเลสออกทำงานอย่างออกหน้าออกตาเสียหมด ธรรมทำงานไม่ได้ หาทางก้าวออกไม่ได้ เหตุผลก็ไม่มีติดตัว สิ่งที่ติดตัวและเต็มหัวใจก็คือกิเลส
คนเราถ้ามีเหตุผลก็คือมีธรรมนั่นเองอยู่ในใจ จะพูด จะคิด จะทำหน้าที่การงานใดเหมาะสมทั้งนั้น เพราะอยู่ในขอบเขตแห่งเหตุแห่งผล บังคับตัวไว้ในทางดีด้วยเหตุผลอรรถธรรม เอ้า กิเลสมันผาดโผนขนาดไหน ธรรมะต้องผาดโผนขนาดนั้น ฟัดกันลงไปให้กิเลสแตกกระจาย กิเลสมันโหดร้าย เราโหดดีจะเป็นไรไป นั่นฟังซิ นั่นแลวิธีแก้เจ้าของ วิธีฝึกทรมานเจ้าของ ไม่อย่างนั้นไม่ดีนะคนเรา
อย่างว่าถือศาสนา สักแต่ว่าถือเฉยๆ เมื่อถามว่าถือศาสนาอะไร ถือศาสนาพุทธ ใครก็ถือศาสนาพุทธ พอเริ่มตกฟากก็ถือศาสนาพุทธ แต่ศาสนาพุทธเป็นยังไง ปฏิบัติยังไงถึงจะเป็นผลเป็นประโยชน์สมกับชื่อกับนามว่าเป็นชาวพุทธและเป็นศาสนาพุทธ ไม่สนใจนี่ซิ สิ่งที่ทำลงไปส่วนมากจึงมักมีแต่สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อพุทธ ต่อชาวพุทธ ต่อตัวเอง คำว่าถือศาสนาพุทธมันก็คือเทวทัตถือศาสนาพุทธนั่นเอง ถ้าเราไม่ปฏิบัติตาม มิหนำซ้ำยังไปทำสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อศาสนาและตัวเราเองอีกด้วย จะเกิดผลเกิดประโยชน์อะไร นอกจากความเสียหายอย่างเดียว ท่านทั้งหลายควรพิจารณาเรื่องเหล่านี้ ใจและการกระทำของชาวพุทธเราจะได้มีหลักมีเกณฑ์กว่าที่เป็นอยู่เวลานี้ และได้รับประโยชน์จากการนับถือ และการปฏิบัติศาสนาเท่าที่ควร
นี่แหละมาหาหลวงตาบัว ท่านทั้งหลายอยากจะฟังนักฟังหนาเรื่องดุ ดุยังไงวันนี้ฟังเสีย ฟ้าร้องเปรี้ยงๆอยู่บนฟ้าโน้นก็ไม่เห็นเป็นไร ฝนตกมายังเย็นได้ใช่ไหม เวลาเงียบๆ ไม่มีเสียงฟ้าคึกฟ้าคะนองบ้าง เสียงฟ้าเปรี้ยงโน้นเปรี้ยงนี้บ้าง ฝนก็ไม่มีสักหยดสักหยาด พอฟ้ากระหึ่มๆ เออ นี่ดูเหมือนฝนจะตกแล้วนะ หาอะไรมารองน้ำซิ นี่ใช่ไหม เสียงฟ้ามันดังลั่นแต่ฝนตกลงมามันเย็น นี่เสียงครูบาอาจารย์ดังลั่น แต่น้ำอรรถน้ำธรรมอาจเย็นก็มี ให้พิจารณาเอาเอง วันนี้ได้เทศน์ต้อนรับท่านทั้งหลายเรื่องดุเรื่องดีนะ ให้พากันนำไปปฏิบัติ ได้ให้ธรรมะอย่างนี้แล้วกรุณานำไปปฏิบัติตัวเองหนา ที่พูดอย่างนี้เพื่อเป็นคติสำหรับท่านทั้งหลายผู้อุตส่าห์มา
การฝึกใครก็ไม่ฝึกทรมานยากยิ่งกว่าฝึกคน คำว่าคนท่านทั้งหลายอย่าไปหมายถึงคนนั้นคนนี้อันเป็นการเหยียบย่ำทำลายดูถูกเหยียดหยามกัน ให้หมายถึงตัวของท่านของเราแต่ละคนๆ นี้ การสอนใครก็ไม่สอนยากยิ่งกว่าสอนคน การฝึกทรมานไม่มีฝึกอะไรทรมานอะไรยากยิ่งกว่าฝึกทรมานคน นั่น คนคือใคร คนคือเรานั่นแลจะเป็นใครที่ไหนไป ให้น้อมเข้ามาหาตัวของเราแต่ละท่านละคน คนก็คือเรานี้ ฝึกยากก็คือเรานี้จะเป็นผู้ฝึกให้ได้ ให้อยู่ในขอบเขตเหตุผลก็คือเรานี้ ย้อนเข้ามาสู่ตัวเรานี่แล ฝึกยากคือเรา เราจะฝึกให้ได้แม้ยากขนาดไหนก็คือการฝึกเราเพื่อเป็นคนดี นี่ได้ประโยชน์ การปฏิบัติตามหลักศาสนาต้องมีหนักมีเบาสับปนกันไปบ้างซิ ถ้าอยากพบของดีน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมเพื่อให้เป็นคนดีทั้งนั้น แต่พวกเราชาวพุทธ มักจะไปทำสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อศาสนาและเป็นข้าศึกต่อตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เหลือแต่ชื่อน่ะซิ ว่าถือศาสนาพุทธๆ ความจริงของพุทธไม่ทราบจะทำยังไง เพราะเราไม่เคยทำตาม ไม่เคยปฏิบัติก็ไม่ได้เรื่องได้ราว ท่านว่าให้ทานได้บุญอย่างนั้นนะ รักษาศีลอย่างนั้นนะก็มีแต่ชื่อ ไม่ได้เรื่อง ต้องให้จริงจังทุกอย่าง ภาวนาก็ให้จริง การรักษาตัวก็ให้จริง ประพฤติปฏิบัติตัวตามหลักศีลหลักธรรมก็ให้จริงจัง แล้วเย็นไปหมดนะคนเรา
ถ้าไม่มีศีลมีธรรมเสียอย่างเดียว ไม่มีโลกไหนจะร้อนยิ่งกว่าโลกมนุษย์เรา เพราะโลกมนุษย์เรานี้มีแต่คนฉลาด ฉลาดกว่าสัตว์ การทำความเสียหายมนุษย์จึงสามารถทำได้ทุกแง่ทุกมุมยิ่งกว่าสัตว์เป็นไหนๆ ทีนี้เมื่อเวลามนุษย์เราได้รับการอบรมในทางที่ดีด้วยอรรถด้วยธรรมแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะทำความร่มเย็นให้แก่กันตลอดถึงสัตว์ทั้งหลายได้ยิ่งกว่ามนุษย์เรา
มนุษย์เราเป็นเยี่ยมเรื่องความฉลาด ถ้าฉลาดทางดีแล้วก็เป็นเยี่ยมในทางให้ความร่มเย็นแก่กัน เป็นประโยชน์แก่กัน ถ้าเป็นทางเสียแล้วก็มนุษย์นี้ตัวพินาศฉิบหายที่สุดเลย ยักษ์สู้ไม่ได้ เราไม่เคยเห็นยักษ์ เห็นแต่มนุษย์เป็นยักษ์ ฆ่ากัน กัดกัน ฉีกกัน ตีชิงวิ่งราว ตระบัดยักยอก ปล้นจี้รีดไถ คดโกง ไม่มีใครสู้ได้ สัตว์เขาไม่ทำอย่างนั้น มนุษย์แท้ๆ ทำ นี่ถึงว่ามนุษย์ก่อความเดือดร้อนให้แก่กันได้มากมาย ที่เขาลงหนังสือพิมพ์นั้นเพียงเอกเทศๆ นะ
ที่มันเป็นอยู่ทุกหย่อมหญ้า เขาไม่สามารถจะนำมาลงหนังสือพิมพ์ได้มีมากต่อมาก ฟังแต่ว่าหย่อมหญ้าเป็นไร มันเต็มไปหมด ก็เพราะมนุษย์เราทั้งนั้นเป็นผู้ไปทำ เหตุใดมนุษย์จึงทำได้ลงคอ เพราะมนุษย์ไม่มีศีลธรรมก็ไม่มียางอาย ทำได้ทุกกาลสถานที่ และทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีกระดากอาย
เมื่อคนเรามีศีลธรรมย่อมมียางอาย การเชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มียางอาย กลัวบาป ไม่ทำสุ่มสี่สุ่มห้าคนเรา นอกจากเชื่อกิเลสเท่านั้นที่ไม่มียางอาย ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าคนเราย่อมมียางอายและรู้สิ่งที่ควรไม่ควร เราให้เทียบกันว่า กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ เราเคยได้ถึงมันไหม ไม่ว่าราคะ โทสะ โมหะ สรณํ คจฺฉามิ เราขอถือมันเป็นสรณะมีไหม แต่หัวใจนั้นฝังกับมันอยู่แล้วจนธรรมขุดค้นไม่ถึงตัว เพราะมันฝังอยู่ลึก กิเลสฝังใจน่ะ
พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ เราเปล่งอย่างออกหน้าออกตา แต่เวลาทำกิเลสเอาไปใช้หมดกินหมด นี่ซิมันจึงไม่เกิดประโยชน์ มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่วโลกก็เพราะเราหันหลังให้ธรรม ทั้งๆ ที่เราเป็นชาวพุทธ แต่หันหลังให้พุทธ หันหน้าให้กิเลส กิเลสคือตัวย่ำยีตีแหลก อะไรจะเกินกิเลสไม่มีในโลก
ความโลภก็ให้มันเกิดขึ้นมาซิ มันเป็นของดิบของดีเมื่อไร มันทำใครให้เป็นคุณเป็นประโยชน์บ้างความโลภน่ะ เอ้า ความโกรธ ให้มันแสดงขึ้นมาซิ เช่นอยู่ในสังคมนี้ก็เหมือนกัน มีคนหนึ่งมาแสดงความโลภให้เห็นซิ น่าดูไหมและน่าเกลียดไหม นั่น คนหนึ่งมาแสดงความโกรธโมโหโทโสขึ้นมานี่อย่างหาเหตุหาผลไม่ได้ ไล่ตีคนนั้น ไล่ฆ่าคนนี้ น่าดูไหม นี่เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น ถ้าธรรมแล้วมีแต่เหตุแต่ผลอันดีงาม สั่งสอนให้เป็นไปเพื่อความดิบความดีแก่กันและกัน เจอกันเข้าเท่านั้นสนิทเลยๆ ทักทายกันได้เต็มปากสนิทใจไม่ต้องระวัง เพราะธรรมไม่มีพิษภัยเหมือนกิเลส ถ้าเป็นกิเลส โอ้โห สงวนท่าทียิ่งกว่าราชสีห์จะกัดกันเชียวแหละ
คนที่เชื่อใจกันได้เพราะเป็นคนมีธรรม คนมีหิริโอตตัปปะ ย่อมมีเมตตาสงสารซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำกันไม่ลง ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสแล้วไม่มี ขอแต่เราอย่างเดียว ให้เราอย่างเดียว ไปไหนก็ให้เราๆ คนทั้งโลกจะทุกข์ขนาดไหนก็ตาม ให้เราได้อยู่มีความสุขบนหัวเขานั้นเป็นที่ถูกต้องกับกิเลส เมื่อเป็นอย่างนั้นเราจะ สรณํ คจฺฉามิ ที่ตรงไหน น้อมเข้ามาคิดซิ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์แก่เราเองที่เป็นชาวพุทธ จะไม่เสียเหลี่ยม เสียเปรียบให้กิเลสตลอดไปดังที่เคยเป็นมา
ไม่ยกมันขึ้นมาว่ามาประจานบ้างไม่เห็นโทษของมันกิเลสน่ะ เราจะเห็นแต่คุณของมัน บูชามันตลอดเวลาภายในจิตใจ แม้จะไม่หาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชากิเลสก็ตาม แต่ส่วนใจนั้นบูชามันเต็มที่และพอการอยู่แล้ว บูชาพระพุทธเจ้า เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชาแต่มันไม่ถึงใจ ถ้าบูชากิเลสด้วยน้ำใจแล้วมันถึงใจ ความโลภเกิดขึ้นถึงใจ ความโกรธเกิดขึ้นถึงใจ ความรักความชังความเกลียดอะไรเกิดขึ้นมันถึงใจๆ ทุกอย่าง มันซึ้งเข้าถึงใจทุกอย่าง นี่แหละเราเชื่อมันด้วยเหตุนี้ สรณํ คจฺฉามิ มันด้วยเหตุนี้แล เราจึงเป็นบ๋อยของกิเลสหาเวลาฟื้นไม่ได้เลย
ธรรมแง่ใดที่ควรจะเป็นประโยชน์แก่เรามันเหมือนกับของแสลง มันแสลงต่อกิเลส มันไม่อยากแตะไม่อยากต้องกิเลส กิเลสไม่อยากให้มายุ่งกับเรื่องอรรถเรื่องธรรม ถ้าจะไปวัดไปวาฟังธรรมฟังเทศน์ โอ๊ย วันนี้ขาก็จะหัก ขาก็เจ็บก็ปวด ศีรษะก็ปวด ท้องเหมือนกับว่ามีสิบท้อง ปวดไปด้วยกันหมด ในอวัยวะทุกส่วนนี้ปวดเจ็บไปหมดเพราะกิเลสมันตีเอาต่อยเอาๆ มันไม่ให้ขยับเขยื้อนออกไปจากวงของมัน ถ้าจะไปเรื่องของกิเลส อยากมีสิบแข้งสิบขาไปด้วยกันหมด อยากมีสักสิบตา ดูตาหนึ่งไม่พอ อยากได้สิบตาไปดู หูสองหูนี้ไม่พอ อยากได้ตั้งยี่สิบสามสิบหูมันได้สนุกเพลินฟัง เงินในกระเป๋าเต็มเอี๊ยด ยังว่าเงินนี้มีน้อยไป อยากให้มีเต็มเอี๊ยดอีกสักสิบกระเป๋า จ่ายเรียบวุธในพริบตาเท่านั้นเอง ไม่ยากเย็นและเนิ่นนานอะไรเลย นั่นเก่งไหมกิเลสน่ะ
ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสมันอยากเพิ่มเครื่องมือ ใช้ให้มันสนุกสนานรื่นเริง จะตายไม่รู้ แต่ถ้าเรื่องธรรมแล้วปิดหูปิดตาไปหมด ไม่อยากได้ยินไม่อยากได้ฟัง ไม่อยากคิดไม่อยากอ่าน ขาก็ก้าวไม่ออก นี่ละกิเลสมันมีอำนาจมันเหยียบหัวคนเราอย่างนี้แหละให้พากันพิจารณา ถ้าเราอยากทราบก็ปฏิบัติซิ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปฏิบัติ
ธรรมะเป็นของจริงแท้ๆ ปฏิบัติดูซิ เรื่องของกิเลสเป็นยังไงเราจะได้เห็นโทษของมัน ถ้าลงธรรมะส่องเข้าไปแล้วเห็นละโทษของกิเลส ถ้าให้กิเลสส่องกิเลสนี้ไม่มีทาง นอกจากต้มเราให้เปื่อยท่าเดียว
วันนี้ท่านทั้งหลายมาแสวงบุญ คำว่าบุญคือความสุข ความสุขนี้ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่ภูเขา ไม่ใช่ดินฟ้าอากาศ ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่ไฟ แต่ความสุขคือความสุข ใครจะรับสัมผัสความสุขนี้ได้นอกจากใจ ใจเป็นของสำคัญ ท่านทั้งหลายจะมานี้ก็เอาใจมา ใจมีความเชื่อความเลื่อมใส ใจอยากมาก็มา จะสละทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนาแต่ละอย่างๆ มีแต่ใจเป็นผู้นำ ใจเป็นผู้พาทำ
เพราะฉะนั้น บุญจึงเกิดจากกุศลซึ่งแปลว่าความฉลาด คนฉลาดหาบุญย่อมได้ความสุข บุญๆ คือความสุขเกิดขึ้นที่ใจ ใจเป็นผู้จะสัมผัสสัมพันธ์รับทราบและเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่งกับบุญและกุศลทั้งหลาย ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายรักษาใจให้ดี และพยายามพาใจรีบดำเนินในทางที่ถูกต้องดีงาม ผลคือความสุขความสบายนั้น ใจจะเป็นผู้รับเป็นผู้สัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีทางที่จะสัมผัสสัมพันธ์ในบุญและบาป สวรรค์ นิพพานได้เลย นอกจากใจดวงนี้ จึงขอให้รักษาจิตใจของตนให้ดี
ให้มีกฎมีเกณฑ์มีข้อบังคับ คนเราอยากดิบอยากดีต้องบังคับตน ไม่บังคับ ปล่อยให้เถลไถลมันก็เลวไปเรื่อย เหลวไปเรื่อย ไหลไปเรื่อย สุดท้ายก็พังทลาย ตั้งตัวไม่ได้ เขาเรียกว่าอกแตก แล้วก็แหวกแนว ใช้ไม่ได้ คนมีธรรมไม่เป็นอย่างนั้น เย็นสบาย มองดูตัวก็ไม่เห็นมีจุดบกพร่องอะไร คุณงามความดีทำเสมอ ความประพฤติเนื้อ ประพฤติตัวก็ดี อยู่ในหลักศีลธรรม อยู่ในหลักของชาวพุทธ เย็นใจ มองเห็นหน้าเห็นตากัน ทักทายกันด้วยความสนิทสนม ใครจะอยู่ทางทิศใดแดนใดบ้านใดเมืองใด บ้านนอกในเมืองก็ตาม นั้นเป็นคนเหมือนกันหมด มองเห็นกันสนิทกันเลย ด้วยอรรถด้วยธรรม
ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสสนิทไม่ได้นะ พอมองเห็นกันมีแต่จะกัดจะฉีกกัน นั่นเรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น ถ้าเรื่องของธรรมมองเห็นกัน สนิทกลมกลืนกันไปเลย เพราะความเชื่อใจกัน เพราะความเห็นอกเห็นใจกัน ความเมตตาสงสารกัน ความเกรงอกเกรงใจกัน นี้คือเรื่องของธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำนี้ไว้และนำไปปฏิบัติตน
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้ และขออำนาจแห่งบุญกุศลนี้ จงตามคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุขกายสบายใจโดยทั่วกันเทอญ
*********** |