หลักทรัพย์ หลักใจ
วันที่ 27 ตุลาคม 2524
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

หลักทรัพย์  หลักใจ

 

            รูปลักษณะ บรรยากาศของวัดและของพระผู้ปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างแท้จริง วัดนั้นขาดเขิน วัดนี้บกพร่อง วัดนั้นไม่มีอันนั้น วัดนี้ไม่มีอันนี้ แต่สถานที่ทำความเพียรมีเกลื่อนตามที่ต่างๆ ของวัด เราเห็นเราฟังถึงใจจริงๆ ให้เป็นอย่างนั้นแหละจึงถูกตามลักษณะของพระผู้ปฏิบัติ ไปที่ไหนก็เหลือๆ เฟือๆ ฟุ่มเฟือย อู๊ย…เต็มไปหมด เกลื่อนไปหมด มีแต่วัตถุท่วมตัวพระ ทุกสิ่งทุกอย่างเกลื่อนกล่นล้นเหลือ ท่วมทั้งปากทั้งท้อง ร่างกาย บริเวณที่อยู่อาศัยปรนปรือไปด้วยวัตถุเครื่องบำรุงบำเรอจนน่ากลัวมากกว่าจะน่าอยู่ แต่ในจิตใจแห้งผากจากธรรม แต่รกรุงรังด้วยสิ่งดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์อะไร

            พระพุทธเจ้าท่านมีบาตรลูกเดียวเท่านั้นไปบิณฑบาตมาเสวย ท่านไม่มีสำรับสำเริบอันนั้นอันนี้หาบหามกันมาอย่างที่เป็นอยู่นี่ ทางดำเนินของพระพุทธเจ้าที่นำสัตว์โลกให้เกิดความสงบสุขเป็นอย่างนั้น ทางให้เกิดความทุกข์มันเหลือเฟือทุกอย่าง แต่ใจยิ่งหิวโหยโรยแรงลงทุกวัน แทนที่จะเป็นสุขไปตามความเหลือเฟือนั้นๆ และหาบหามกองทุกข์มาใส่เจ้าของ ความอยากมันมีความเพียงพอเมื่อไร ไม่เคยเห็นความอยากมันเพียงพอ เหมือนไฟไม่พอกับเชื้อนั่นแหละ ไสเชื้อเข้าไปเท่าไรมันยิ่งส่งเปลวขึ้นจรดเมฆโน้น ความอยากก็เหมือนกัน ใครอวดเก่งไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้าก็ลองดู ตั้งหน้าตั้งตาเสาะแสวงหาเครื่องปรนปรือความอยาก ผลจะเป็นอย่างไร เจ้าของนั่นแลจะทราบเอง

            เหล่านี้เราก็พยายามแนะ บางทีก็สั่งขาดไปเลยก็มีเพราะเกรงจิตตภาวนาจะฉิบหาย วัตถุเครื่องก่อสร้างเครื่องอยู่เครื่องกินหรูหรา ทางจงกรมเสือร้อยตัวเข้าไปอยู่นั้นก็มองไม่เห็นเพราะมันรก ไม่ย่องไม่เดินหย็อกๆ แหย็กๆ บ้างเลยในวันคืนหนึ่งๆ เดินก็เดินเข้าหาเสื่อหาหมอน คนเราถ้ากินมากๆ มันต้องชอบนอนมาก กินมาก นอนมาก ขี้เกียจมาก กิเลสมันก็เพิ่มขึ้นมากๆ

            พอตื่นขึ้นมาก็งัวเงียคลำนั้นคลำนี้หาแต่เรื่องกิน ปากทำงานทั้งวันไม่มีเวลาหยุด ไม่ทราบว่าโกโก้ ไม่ทราบว่ากาแฟ ไม่ทราบน้ำส้มน้ำหวาน ไม่ทราบก๋วยเตี๋ยวผัด ก๋วยเตี๋ยวน้ำเต็มไปหมด จิ๊บๆ จิ๊บๆ กินทั้งวันทั้งคืน ปากไม่ยอมให้อยู่ว่างได้เลย ปากทำงานแทบล้มแทบตายไม่เห็นอกเห็นใจปากบ้าง ถ้าสมมุติว่าปากคนเราเกิดเบื่อเพราะให้ทำงานเหลือกำลัง มันตั้งทนายความขึ้นว่าความ ต้องฉิบหายหมดมนุษย์เรา ไม่มีใครจะออกจากเรือนจำแหละ อยู่ในเรือนจำอัดแน่น คนนั้นมีปากก็ถูกปากฟ้องเอา คนนี้ก็มีปากก็ถูกปากฟ้องเอา คนไหนก็มีปากมีแต่แบบที่ว่ากินไม่หยุดไม่ถอย กินไม่ยับไม่ยั้ง กินจนแทบล้มแทบตาย ปากก็พูดก็คุย ทั้งเคี้ยว ทั้งกลืน ทั้งคุย ปากทำงานไม่หวาดไม่ไหว ก็แต่งทนายขึ้นฟ้องเอาน่ะซิ พวกนี้เข้าคุกกันหมดไม่มีเหลือแหละ พวกปากไม่ว่าง พูดไม่หยุด กินไม่ถอย ไม่เห็นใจปากกันบ้างเลย

            กินไม่หยุด แต่งานไม่ทำมันได้อะไร นักภาวนาก็มีแต่นอน กินมากๆ แล้วหมูร้อยตัวสู้ไม่ได้ หมูร้อยตัวคือตัวหนึ่งมันนอน ตัวหนึ่งมันหากิน ไอ้เรานี้นอนกันวันยันค่ำ คืนยังรุ่งหมูสู้ไม่ได้ ทำไมนอนวันยังค่ำเล่า…ก็มันง่วงว่ะ ทำไมมันง่วง โอ๊ย เมื่อเช้านี้กินมากไปหน่อย ฉันมากไปหน่อย มันหน่อยอะไร ท้องจนจะแตก ยังว่าหน่อยๆ ไปได้นี่ พวกเรามันเก่งอย่างนี้ กินจิ๊บๆ จั๊บๆ กินไม่หยุดไม่ถอย เงินเวลาไปกระเป๋าขนาดนี้อัดแน่นจนปริ มันจะแตกกระเป๋าน่ะ เวลากลับมาแฟบ…ไม่มีอะไรเหลือ ยาทันใจไม่ต้องกินแก้ปวดหัวกันละ เมื่อได้จ่ายหมดกระเป๋าแล้วมันหายเอง ก่อนที่เงินยังไม่เกลี้ยงกระเป๋า หัวราวกับจะระเบิดเพราะปวดมาก กระเป๋าแทบขาดเปิดปากไม่ทัน

            ถ้าไม่ได้จ่ายวันหนึ่งๆ อยู่ไม่ได้ มันดิ้นรนกระวนกระวายเพราะเป็นนิสัยของคนสุรุ่ยสุร่าย นิสัยของนักจ่าย ไม่ได้จ่ายอยู่ไม่ได้ ปวดหัวตัวร้อนขึ้นมา นี่เป็นนิสัยของคนไทยเราไม่ว่าภาคไหนๆ เหมือนกันหมด อะไรๆ ผ่านสายหูสายตามาไม่ได้ เป็นคว้ามับๆ ลิงวิ่งตามไม่ทัน ทำไมลิงวิ่งตามไม่ทัน ก็ลิงมันไม่ได้วิ่งหาซื้อและควักกระเป๋าเหมือนเรานี่ นี่ซิลิงไม่ทันคน ไม่ทันตรงควักกระเป๋าซื้อนี่เอง อะไรๆ ก็คว้าๆ ซื้อๆ

            นักซื้อก็คือเมืองไทยเรา ถ้าเป็นของทำในเมืองไทยแล้วไม่สนใจ ไม่อยากเหลือบอยากมองเลยมันไม่ทันสมัย ถ้าเป็นของเมืองนอกแล้วทันสมัย แม้ที่สุดทำในเมืองไทย ยังต้องเอาตราเมืองนอกมาตี ไม่งั้นคนไทยไม่มอง เพราะคนไทยแผนสูง แต่ตัวเองเป็นยังไงไม่รู้นะ ใจเป็นยังไงไม่รู้ นี่นิสัยอันนี้แก้ไม่ตกเพราะเป็นนิสัยเห่อไม่เข้าเรื่อง  ถ้าไม่เอาธรรมเข้าไปแก้ การนำธรรมเข้าไปแก้ ก็ความสันโดษ ความมักน้อยนั่นแล สิ่งเหล่านี้จะตกไปได้ แก้ มหิจฺฉตา ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความไม่ยินดีในสมบัติที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งเท่ากับความไม่ยินดีในตัวเอง ไม่เหลียวแลตัวเอง ซึ่งเท่ากับทอดทิ้งตัวเอง บ้านเมืองย่อมถูกบั่นทอนไปในตัว สุดท้ายก็ไปไม่รอด ถ้าคนในชาติไม่เห็นชาติเป็นสมบัติมีค่า ต่างก็ทำลายกันทั้งทางอ้อมและทางตรง

            ลูกเต้าหลานเหลนเกิดขึ้นมาก็เห็นแต่พ่อแต่แม่เป็นนักจับจ่ายใช้สอยสุรุ่ยสุร่าย เด็กจะเอาวิชามาจากไหน ก็ต้องเอาวิชาสุรุ่ยสุร่ายนี้แหละไปสังหารตนเองและเพื่อนฝูงต่อๆ ไปถึงกุลบุตรสุดท้าย สังหารกันไปเรื่อยๆ ด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อตามเพื่อนและใช้ไม่รู้จักประมาณ เราเป็นชาวพุทธควรจะรู้จักประมาณ ควรมีขอบเขตเหตุผลในการจับจ่ายใช้สอย และความเป็นอยู่ทุกด้านตามหลักศาสนาที่สอนไว้ ถ้าไม่อยากให้คนเมืองอื่น ศาสนาอื่นเขาว่าให้คนไทยเราว่า เมืองลิง ถือศาสนาก็ถือแบบลิง ไม่สนใจคุณค่าสาระของศาสนา อะไรผ่านตาก็คว้ามับๆ แบบกินไม่เลือก

            ที่น่าชมเมืองไทยเราเกี่ยวกับการนับถือพุทธศาสนานี้ยกให้ จะเอาศาสนาไหนมาหลอกก็ไม่เอนไม่เอียง นี่ชื่อว่ามีหลักเกณฑ์ เอาศาสนาไหนมาหลอกก็ไม่สนใจ นอกจากพุทธศาสนา แม้จะอยู่ในเรือนจำ ถามก็ต้องบอกว่าถือพุทธศาสนาทันที เพราะเป็นเครื่องฝังใจด้วยความนับถือศาสนา ไม่หลงศาสนา ไม่เห่อศาสนา อันนี้เรายกให้เมืองไทยเราเป็นเหมือนๆ กัน เป็นผู้ถือแน่นหนามั่นคง ถึงไม่ได้ปฏิบัติตามศาสนา มีแต่การนับถือก็ยังเป็นหลักใจอันหนึ่ง แต่ที่จะให้ดีแท้ก็นับถือด้วยปฏิบัติด้วยนั้นเหมาะสมมาก  คือความนับถือก็มีการกราบไหว้บูชาธรรมดา นี้เรียกว่านับถือ การปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา การประพฤติตัวให้เป็นคนดีไปตามวัยตามเพศของตน นั่นเรียกว่าการปฏิบัติ ผลก็ดียิ่งขึ้น

            เราพูดถึงหลักใจของชาวพุทธก็คือความนับถือศาสนานี้เป็นหลักได้ดี เป็นที่น่าชมเชยอยู่มาก แต่อย่างอื่นมักเหลวไหล การซื้อ การเห่อกัน การตื่นกันนี่ อู๊ย พิลึกไม่อาจพูดได้หมด เอาอย่างกันในทางไม่ดีก็ง่าย ไม่คำนึงถึงเหตุถึงผลอะไรแหละ นี่แสดงว่าไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีหลักใจจากธรรมปฏิบัติบ้างเลย การปฏิบัติธรรมทำให้คนมีหลักใจและหลักทรัพย์

            หลักพระพุทธศาสนาตามเรื่องของพระดังที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ท่านไม่ได้ฟุ่มเฟือย ท่านไม่ได้เหลือเฟือ พระพุทธเจ้าเป็นนักประหยัด ขณะเดียวกันก็เป็นนักเสียสละ ประหยัด กระเหม็ดกระแหม่ มัธยัสถ์ เป็นธรรมพวกเดียวกัน แต่ไม่ใช่ตระหนี่ ความตระหนี่เป็นอย่างหนึ่ง ความมัธยัสถ์ ความรู้จักประมาณเป็นอย่างหนึ่ง ความประหยัดนี่เป็นความมีหลัก ความตระหนี่เป็นความเหนียวแน่นเข้ากับใครไม่ได้ ใครไม่อยากคบ เพราะเขากลัวตับจะหลุดหายไปกับมือยาวๆ ของคนขี้เหนียวแต่โลภมาก เห็นแก่ตัวจัด เอารัดเอาเปรียบเป็นหนึ่ง ไม่มีโลกไหนกล้าสู้

            ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวกับความโลภมากนั้นเป็นคู่กัน คนเราเมื่อตระหนี่มาก ความเห็นแก่ตัวก็มาก ยังฝังรากฐานลงลึกอีกด้วย ความโลภก็มาก ได้เอารัดเอาเปรียบคนอื่นแล้วดี นิสัยเช่นนั้นเข้ากับใครไม่ค่อยได้หรือไม่ได้ เข้าไปไหนคอยแต่จะกัดตับกัดปอดเขาไปเรื่อยๆ เพื่อนฝูงใครไปคบค้าสมาคมคนเช่นนั้นต้องตับหายบ้าง ปอดหายบ้าง ไส้หายบ้าง ไส้ใหญ่หายบ้าง ไส้น้อยหายบ้าง สุดท้ายไม่มีอะไรติดตัวเพราะความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภมาก ความเอารัดเอาเปรียบมันกัดเอาๆ จากบุคคลที่แสนตระหนี่ถี่เหนียว โลภมาก เอารัดเอาเปรียบมากนั้น แม้การสละของคนประเภทนั้นก็สละแบบสละเหยื่อใส่ปลายเบ็ดเพื่อเกาะปากปลา ให้น้อยเพื่อได้มาก  ภัยของมนุษย์เราก็คือคนประเภทที่กล่าวนี้ ซึ่งไม่ด้อยกว่าภัยอย่างอื่นๆ คนซื่อ คนมีธรรม คนโง่ จึงมักเป็นเหยื่อเสมอ

            คนเราถ้าตระหนี่แล้ว จะสละอะไรแต่ละชิ้นนี้มันเหมือนดึงตังเมนะ เคยเห็นไหมตังเม เขาขายตังเมอยู่ตามตลาด ทุกวันนี้จะมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ มันเหนียวมากตังเมนั่นน่ะ เวลาดึงออกขายนี่ ดึงๆๆ เสียงดังตั๊บ นี่หลุดออกมานิดเดียวเท่านั้น นี่ก็ดังตั๊บออกมาแค่นี้ ข้าบริจาคนะ…ประกาศลั่นทั่วเมืองไทย อยากจะให้เขาออกทั้งวิทยุ ออกทั้งโทรทัศน์ว่าเรานี้เป็นผู้ใจบุญบริจาคเท่านั้นเท่านี้ นั่นละตังเม ลงมันได้ออกต้องดังตั๊บ เสียงลั่นเลย นั่นคนเชื่อบุญเชื่อกรรมอะไรกัน คนเชื่อกิเลสที่เป็นนายเหนือหัวต่างหาก ประกาศโฆษณาให้กิเลสมันดีใจ ให้เขานับถือ แม้ไม่ดีก็ขอให้เขาว่าตัวนี่ดีก็พอ นี่แหละความตระหนี่จึงเป็นภัยต่อโลก เป็นภัยต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไป ธรรมท่านจึงสอนให้ระวัง มันทำลายตัวเองนั่นแลก่อนอื่น แล้วก็ไปทำลายผู้อื่นไม่มีประมาณ

            ความเสียสละนี้เป็นมิตรต่อคนและสัตว์ทั่วๆ ไปได้เป็นอย่างดี ไปไหนเย็นไปหมด ความเสียสละออกมาจากความเมตตา ใจกว้างขวาง น้ำใจกว้างขวาง มีความเมตตาอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ร่วมโลก พระพุทธเจ้าของเราเป็น มหาการุณิโก นาโถ  หิตาย สพฺพปาณินํ นั่นฟังซิ เป็นผู้มีเมตตามหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วโลกธาตุ ความมัธยัสถ์ก็อยู่กับพระพุทธเจ้า นั่นแลทางศาสนาท่านดำเนินมา ผู้นับถือศาสนาเป็นความล่มจม เป็นผู้ล่มจมจึงไม่มี มีแต่เป็นผู้เจริญและชุ่มเย็น เฉพาะอย่างยิ่ง เจริญภายในจิตใจซึ่งเป็นจุดสำคัญมากยิ่งกว่าการเจริญด้านอื่นๆ ถ้าจิตใจเจริญแล้ว โลกเราอยู่ได้เป็นความสงบสุข วัตถุเจริญแต่ใจไม่เจริญ โลกหาความสุขไม่ได้ ดีไม่ดีถ้าไม่มีธรรมแทรกบ้างยิ่งเป็นฟืนเป็นไฟ ถ้าโลกก็เจริญ ด้านจิตใจก็เจริญด้วย โลกเจริญก็เป็นเครื่องประดับกันให้สวยงามและเป็นสุข

            พระพุทธเจ้า  พระสาวกท่าน ออกไปบำเพ็ญเพื่ออรรถเพื่อธรรมมาแจกจ่ายพวกเรานั้น เป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเป็นทั้งตาย ความยากความลำบาก ทรงต่อสู้และต่อสู้ด้วยกันทั้งนั้น บรรดาสาวกไม่ใช่จะเป็นคนธรรมดาสามัญเราทั่วๆ ไปเหมือนกันหมด ออกมาจากตระกูลพระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมภี จำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นผู้มีสกุลอันละเอียดอ่อน เวลาออกมาบวชแล้วก็ทำตัวเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือเหมือนกับผ้าเช็ดเท้า ไม่ให้มีคุณค่าอันเป็นเรื่องของกิเลสตัวทิฐิมานะจะเข้าอาศัย สละออกหมดจนกลายเป็นผ้าขี้ริ้ว ไม่ถือเนื้อถือตัว แต่คุณธรรมนั้นเหมือนกับผ้าขี้ริ้วห่อทองอยู่ภายในใจ ใจทรงสมบัติตั้งแต่สมาธิสมบัติ ปัญญาสมบัติ จนกระทั่งมหาสมบัติ คือวิมุตติหลุดพ้นภายในจิตใจ นั่นท่านดำเนินมาด้วยความเขียมๆ ทั้งนั้น ความอดอยากขาดแคลน ท่านไม่ได้นิยมความสมบูรณ์พูนผลกับสิ่งภายนอกอะไรนัก นอกไปจากความสมบูรณ์พูนอรรถพูนธรรมภายในใจ เพราะฉะนั้นศาสนาในครั้งพุทธกาล สำหรับผู้ปฏิบัติจึงต่างกันมากมายกับสมัยปัจจุบันนี้

            สมัยนี้เป็นอย่างไร ถ้าวัดไหนหรูหรา มีการก่อสร้าง มีตึกรามบ้านช่อง มีโบสถ์สักกี่ชั้น มีตึกกี่ห้องกี่หับ มีโรงแถวโรงแรมให้คนเช่าได้มาก วัดนั้นเจริญ นั่นมันผิดอะไรกับตลาดเขาเจริญล่ะ วัดเจริญต้องเจริญด้วยอรรถด้วยธรรม ไม่ใช่เจริญด้วยทรัพย์สมบัติเงินทองห้องแถวอย่างนั้น ซึ่งขัดกับศาสนธรรมที่สอนไว้ คำว่าวัดเจริญก็เจริญด้วยข้อวัตรปฏิบัติของพระหรือของบุคคลที่เกี่ยวข้องในวัดนั้นๆ เจริญด้วยการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เจริญด้วยสมาธิ เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยวิมุตติหลุดพ้นอย่างนั้นต่างหาก

            คำว่าวัดเจริญ เจริญด้วยคุณธรรมไม่ใช่เจริญด้วยวัตถุ หลักศาสนาเป็นมาอย่างนั้น แล้วค่อยกลายมาๆ จนกลายเป็นศาสนเงินขึ้นมาแทนศาสนธรรมดังที่รู้ๆ กันอยู่นี่แล ศาสนเงินเป็นยังไง….รู้เอา ไม่แปลมากแหละ เพราะหลวงตาบัวเรียนน้อยรู้ไม่ลึกซึ้งกว้างขวาง ให้ท่านทั้งหลายนำไปพิจารณาตีแผ่แขนงออกไปเอง ก็จะทราบความจริงความเท็จของสิ่งเหล่านี้ ถ้าธรรมเจริญด้วยการปฏิบัติ พระเณรก็สงบเย็น ทายกทายิกา ประชาชนผู้ปฏิบัติธรรมก็สงบเย็น สงบเย็นอยู่ที่จิตใจ การแสดงออกก็งามตาเย็นใจ ธรรมปฏิบัติแผ่ไปถึงไหนย่อมเย็นไปถึงนั้น

            เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงเรื่องความมัธยัสถ์ ความมัธยัสถ์คือความถือไม่ลืมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม ไม่ตื่นเต้น มีหลักมีเกณฑ์ภายในใจ มีมากมีน้อยไม่ตื่น สิ่งใดที่นำมาใช้ ยังใช้ได้อยู่ก็ใช้มันไปเรื่อย หากชำรุดก็ซ่อมแซมเรื่อยไป จนกระทั่งหมดความสามารถที่จะซ่อมแซมได้แล้วก็ปล่อยทิ้ง การจะปล่อยทิ้งนั้นจะควรเป็นประโยชน์อะไรได้อีก ก็นำไปเป็นประโยชน์ในกิจการนั้นต่อไป  จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของมันว่า หาประโยชน์ไม่ได้แล้วก็ทอดอาลัย นั่นแลพระครั้งพุทธกาลท่านทำอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่นพระอานนท์ ผ้าจีวรท่านขาด ท่านก็เอามีดยำแล้วขยำกับดินเหนียวฉาบทาฝากุฏิท่าน ทางเมืองอินเดียคงร้อนมากหรือไง ทำฝาผนังกุฏิด้วยดินเหนียว ท่านนำไปพอกฝากุฏิไม่ทิ้ง อะไรๆ เมื่อยังใช้ได้อยู่ ท่านพยายามซ่อมแซมใช้อย่างนั้นตลอดไป

            มาสมัยปัจจุบันนี้ก็คือท่านอาจารย์มั่น ผ้าจีวร สบง ผ้าอาบน้ำ แม้ที่สุดผ้าเช็ดมือไม่ทราบว่ากี่ปะกี่ชุน มองดูที่ปะๆ ชุนๆ นั้นเหมือนเสือดาว ในจีวร สบง ผ้าอาบน้ำ เครื่องบริขารใช้สอยของท่าน ใครจะไปเปลี่ยนให้ไม่ได้นะ “มันใช้ได้ดีอยู่ ไม่เห็นหรือ”  นั่น มันเจ็บขนาดไหนล่ะ ท่านสอนอย่างนั้นด้วย ท่านทำอย่างนั้นด้วย ท่านไม่ตื่นเต้นหลงใหลกับอะไร พระองค์ไหนมาหานี่จี้แต่เรื่องสมาธิ จี้แต่เรื่องปัญญา สอนอรรถสอนธรรมเพื่อความสงบร่มเย็น เจริญทางภายใน ส่วนภายนอกท่านไม่เห็นว่าอะไร ท่านไม่สนใจ และท่านก็เจริญอย่างนั้น ท่านหาอะไรท่านก็เจริญทางนั้น หาธรรมก็เจริญในธรรม หาอะไรก็เจออันนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่ด้วยกัน หาทุกข์เจอทุกข์ หาสุขเจอสุข หาอะไรก็เจออันนั้น สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในโลกทำไมจะไม่เจอ

            นี่เราก็ให้พยายามหาศีลหาธรรมให้เป็นความสงบเย็นใจ โลกกำลังรุ่มร้อน เพราะหัวใจโลกมันรุ่มร้อน เหตุที่รุ่มร้อนก็เพราะไม่มีธรรมเป็นน้ำดับไฟ มีแต่ไฟ มีแต่เชื้อไฟไสเข้าไปๆ ภายในหัวใจของทุกคนๆ แล้วก็ระบาดสาดกระจายเป็นไฟประลัยกัลป์เผากันไปหมด ไม่ว่ากว้างแคบ โลกจึงร้อน ไม่ใช่ร้อนเพราะไฟ เพราะดวงอาทิตย์แผดเผา แต่ร้อนเพราะไฟราคะตัณหา ไฟโลภ ไฟโมโหโทโสแผดเผาต่างหากโลกจึงร้อน

            ถ้ามีน้ำดับไฟคือธรรมะเป็นเครื่องทดสอบ พินิจพิจารณาการประพฤติปฏิบัติระหว่างมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันตลอดสัตว์ทั่วๆ ไป มีธรรมเป็นเครื่องปกครองแล้ว โลกก็เย็น อยู่ด้วยกันก็อยู่ด้วยความเมตตาสงสาร ด้วยการให้อภัยกัน เล็งดูใจเขาใจเราว่ามีคุณค่าเหมือนๆ กันเท่าๆ กัน รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกันแล้วคนเราก็ให้อภัยกันได้ เพราะเล็งเห็นเจตนาของกันและกัน ย่อมไม่เย่อหยิ่งจองหองพองตัวเหยียบย่ำทำลายกัน

            สำคัญที่อยู่กับมนุษย์ตาดำๆ ด้วยกันแล้วปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนหัวมนุษย์ หวังเสวยสุขแต่ตนคนเดียวในท่ามกลางแห่งความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั้งหลายนี่ซิ มนุษย์ทั้งแผ่นดินเอามาเป็นเขียงส้วมเราเสีย ให้เราขึ้นไปเหยียบถ่ายลงบนหัวเขานั่นน่ะ เราเอาความสุข เราเอาความเป็นมนุษย์สำหรับเราคนเดียว แล้วให้มนุษย์ทั้งหลายเป็นเขียงส้วมเสียอย่างนั้น มนุษย์ตัวอุบาทว์จัญไรทำโลกให้เดือดร้อนฉิบหายคนนั้นจะอยู่กับใครได้เล่า เพราะมันทำผิดประเพณีของโลกและศีลธรรมเหลือประมาณที่จะให้อภัย มนุษย์ประเภทนี้อยู่กับใครไม่ได้ ไปอยู่ไหนอยู่ไม่ได้ คบกับใครไม่ได้ ประเภทที่หาศีลหาธรรมไม่ได้ย่อมเป็นฟืนเป็นไฟแก่ส่วนรวมมาก ยมบาลก็ไม่กล้ารับเข้าบัญชี กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกให้แตกกระจาย และหม้อนรกแตก

            ประเภทที่มองเห็นจิตเห็นใจซึ่งกันและกันว่ามีคุณค่ามีน้ำหนักเหมือนๆ กัน ย่อมให้อภัยกันได้ อยู่ด้วยกันได้เป็นผาสุก ไม่มีการดูถูกเหยียดหยามกันว่านั้นเป็นชั้นนั้น นี้เป็นชั้นนี้ นั้นมีฐานะอย่างนั้น นี้มีฐานะอย่างนี้ อันเป็นเรื่องของกรรมแต่ละคนๆ ฐานะของแต่ละคนๆ ซึ่งใครๆ ก็ไม่ต้องการอยากเป็นคนจน อยากเป็นคนโง่ ต้องการเป็นคนเฉลียวฉลาด  มีฐานะ  มียศถาบรรดาศักดิ์เหมือนกัน แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้ก็จำเป็นสุดวิสัย มอบให้กับคำว่า สัตว์ย่อมมีกรรมต่างๆ กันเสีย มีอย่างไรก็ใช้สอย เสวยไปตามกรรมของตนที่มี ให้อภัยกันว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มันก็เย็นกันไป คนเราที่เชื่อธรรมย่อมเชื่อกรรม ไม่เชื่อกิเลสตัวพาให้เย่อหยิ่งจองหอง

            อย่าเอากรรมดีชั่วของแต่ละคนไปคละเคล้ากัน ว่าคนนั้นต่ำกว่าฉัน ฉันสูงกว่าคนนั้น คนนั้นโง่กว่าฉัน ฉันฉลาดกว่าคนนั้น เมื่อเอากรรมไปคละเคล้ากันย่อมจะดูถูกเหยียดหยามกัน กระทบกระเทือนกัน ผลก็เดือดร้อนมนุษย์เรา ถ้าเชื่อว่ากรรมเป็นของๆ ตนด้วยกัน ทราบว่ากรรมเป็นของๆ ตนแต่ละรายๆ แล้วก็ไม่เดือดร้อนและไม่กระทบกระเทือนกัน เช่นเดียวกับคนนั้นสามีของเรา คนนี้ภรรยาของเขา ต่างคนก็เป็นภรรยาของใครของเรา แม้จะมาคละเคล้าหรือประสานในกิจการงานด้านต่างๆ ด้วยกันก็ได้จะเป็นอะไรไป เพราะต่างก็ทราบแล้วว่านั้นเป็นของเขา นี้เป็นของเรา อันนี้ก็เหมือนกัน เรื่องกรรมดีกรรมชั่วก็เป็นของใครของเรา ไม่นำมาคละเคล้ากันแล้ว โลกเราก็อยู่ด้วยกันได้สบายๆ นี่แหละหลักศาสนาสอนให้พากันเข้าใจอย่างนี้ และนำไปประพฤติปฏิบัติด้วยนะ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นในตัวเอง ส่วนรวมก็พลอยเย็นไปด้วย ถ้าต่างคนต่างสนใจปฏิบัติธรรมตามเพศของตน

            ควรฝึกหัดบ้างมนุษย์เรา ไม่มีการฝึกหัดเลยไม่ดี สิ่งใดก็ตามถ้ายังไม่เข้าในข่ายแห่งการฝึกหัดดัดแปลงแล้วก็ยังใช้การใช้งานไม่ได้ ไม้จะเป็นไม้เนื้อแข็งเนื้ออ่อนก็ต้องเอามาดัดแปลงให้เป็นขื่อ เป็นต้นเป็นเสา เป็นกระดาน เป็นพื้น เป็นฝา ต่างๆ ตามความต้องการ ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้เป็นขั้นเป็นตอน มนุษย์เราจะให้ดีอย่างไร ก็ดัดแปลงตัวเอง อยู่เฉยๆ จะให้ดีนั้นดีไม่ได้ จะดีแต่ชื่อเฉยๆ ชื่อนายดี ว่างั้น มันก็ดีแต่ชื่อ ตัวคนไม่ดีถ้าไม่ได้ดัดแปลงแก้ไขให้เป็นคนดี

เอาเท่านั้นแหละวันนี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก