เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒
ส่งเสริมบุญญาบารมี
พวกเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่เสียชาติที่ได้เกิดในท่ามกลางแห่งพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่เลิศตามความเป็นจริง ไม่ใช่เลิศด้วยความสรรเสริญเยินยอโดยหาความจริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าก่อนที่จะเป็นศาสดาเอกในโลก พระองค์ก็ทรงประพฤติปฏิบัติค้นคว้าอยู่เป็นเวลาหกปี ในระยะหกปีที่เสด็จออกจากความเป็นกษัตริย์ไปสู่ความเป็นคนขอทานนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกับคนที่ตกจากสวรรค์ลงไปนรก เพราะฐานะแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินกับฐานะแห่งความเป็นคนขอทานในขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น รู้สึกว่าผิดกันอยู่มากราวกับว่าเป็นคนละโลก จึงเทียบกันได้ว่าเหมือนเราตกจากสวรรค์แล้วลงไปตกนรกนั้นเอง
พระองค์ทรงค้นคว้าด้วยความทุกข์ความลำบากอยู่เป็นเวลาหกปี ในขณะที่ทรงบำเพ็ญด้วยความทุกข์ทรมานพระองค์อยู่นั้น ไม่เป็นความลำบากลำบนเฉพาะการฝึกฝนอบรมหักห้าม หรือต่อสู้กับกิเลสทั้งหลายเพียงเท่านั้น พระอาการทุกส่วนแห่งพระสรีระของพระองค์ที่เคยเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากเกี่ยวกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยสี่ เครื่องนุ่งห่มอาศัย อาหารการบริโภค ที่อยู่ ตลอดถึงหยูกยา เป็นสิ่งที่ลำบากขาดแคลนด้วยกันทั้งนั้น ภายในจิตก็ต้องต่อสู้กับกิเลสซึ่งเคยเป็นข้าศึกต่อธรรมมาแต่กาลไหน ๆ ไม่ลดละ ทางพระกายก็ทรงลำบากทรมานมากจนสลบไปถึงสามครั้ง ถ้าไม่ฟื้นก็เรียกว่าตาย คือไม่พ้นตาย แต่นี่ก็ทรงฟื้นกลับมาได้ถึงสามหนจึงได้ตรัสรู้ธรรม
คำว่าตรัสรู้ธรรมนั้น หมายถึงรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย ทั้งภายนอกภายในใจของพระองค์เอง กิเลสตัณหาอาสวะทุกประเภทบรรดาที่รุมล้อมอยู่ภายในจิตใจและบีบคั้นจิตใจพระองค์อยู่ตลอดมานั้น ก็ทรงรู้แจ้งเห็นชัดและถอดถอนทำลายกันลงได้โดยไม่เหลือเลย เพราะพระปัญญาฉลาดสามารถแหลมคมของพระองค์นั้นเอง เมื่อกิเลสซึ่งเป็นสิ่งต่ำทรามทั้งหลายได้หลุดลอยออกไปจากพระทัยโดยสิ้นเชิงแล้ว ใจดวงนั้นจึงกลายเป็นธรรมทั้งดวงขึ้นมา เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงรู้ทั้งกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งพอกพูนหัวใจและนำความทุกข์มาให้อยู่ตลอดมา และรู้ทั้งธรรมอันเลิศประเสริฐสุดภายในพระทัย ที่ระหว่างใจกับธรรมได้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วนั้น ปัญหาทั้งมวลที่เคยพาให้เกิดแก่เจ็บตายมาโดยลำดับจนกระทั่งชาติปัจจุบัน และกิเลสทั้งมวลที่เคยเสียดแทงจิตใจของพระองค์เรื่อยมานั้น ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงไปไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลยภายในพระทัย พระองค์จึงทรงรู้แจ้งทั้งอรรถทั้งธรรมอันเป็นของเลิศโลกของประเสริฐเหนือโลก และรู้แจ้งทั้งกิเลสตัณหาอาสวะด้วยความเห็นโทษอย่างถึงใจและละได้เด็ดขาด
เมื่อเป็นเช่นนั้นการนำทั้งเรื่องดีเรื่องชั่ว ที่ทรงรู้ทรงเห็นแล้วมาสั่งสอนสัตว์โลก จึงทรงสั่งสอนด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงไม่สะทกสะท้าน ภายในก็ทรงรอบรู้ตลอดทั่วถึงภายนอกก็ทรงรู้รอบขอบชิด ดังในพระคุณของพระองค์ที่เราทั้งหลายได้สวดอยู่เสมอว่า โลกวิทู ทรงรู้แจ้งโลก ก็หมายถึงทั้งโลกนอกโลกใน รู้ตลอดทั่วถึงนั่นเอง โลกนอกกว้างแคบขนาดไหนก็รู้ นรกภายนอก นรกภายใน อันเป็นสื่อที่จะให้พาไปนรกภายนอกพระองค์ก็รู้ สวรรค์ภายใน สวรรค์ภายนอก คือสวรรค์ภายในที่จะให้เป็นสื่อทางก้าวเข้าสู่สวรรค์ภายนอกพระองค์ก็รู้ พรหมโลกภายในที่เป็นพื้นฐานให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งพรหมโลกภายนอก พระองค์ก็รู้ นิพพานในขันธ์พระองค์ก็รู้ นิพพานนอกขันธ์เวลาขันธ์สลายลงไปโดยสิ้นเชิงแล้วพระองค์ก็รู้ จึงเรียกว่า รู้แจ้งโลก คือโลกแห่งขันธ์ก็รู้ โลกภายนอกก็รู้ สภาพทั่ว ๆ ไปพระองค์ทรงรู้แจ้งแทงตลอดไม่มีอันใดปิดบังที่เป็นแง่ให้สงสัย
เพราะฉะนั้น การประกาศธรรมสั่งสอนโลก จึงประกาศได้อย่างถนัดชัดเจนเต็มพระทัย ไม่มีความสะทกสะท้าน เพราะได้เห็นแล้วรู้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจึงได้นำมาแสดง จึงไม่แสดงด้วยอาการด้นเดา คาดคะเนไปต่างๆ นานาเหมือนดังโลกทั่วๆ ไป นี้แหละธรรม จึงจัดว่าเป็น สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้วทุกแง่ทุกมุมทุกขั้นของธรรม
เราได้อุบัติเกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนพร้อมด้วยเหตุและผล อันเป็นแนวทางให้ไปถึงผลอันดีที่พึงหวัง จึงชื่อว่าเราเป็นผู้มีวาสนาอยู่แล้วเวลานี้ เป็นเพียงเราจะส่งเสริมเพิ่มเติมวาสนาบารมีของเราด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้เป็นตัวบุญพูนผลขึ้นมา เป็นเครื่องสนับสนุนจิตใจของเรา ให้ได้ก้าวพ้นจากทุกข์ไปโดยลำดับจนถึงวิมุตติหลุดพ้นเท่านั้น ส่วนวาสนาของเรามีอยู่แล้ว มีอยู่ด้วยกันทุกคน เป็นแต่เพียงว่ามากน้อยต่างกัน เหมือนดั่งตาน้ำที่อยู่ลึกบ้างตื้นบ้าง ผู้บรรลุธรรมได้รวดเร็ว เช่น สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว นั่นก็เหมือนกับตาน้ำอยู่ตื้นๆ ขุดลงไปไม่ลึกนักก็เจอตาน้ำแล้ว และที่อยู่ลึกลงไปกว่านั้นก็มี สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้านั้นก็มี ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้าอย่างนั้นก็มี ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็วอย่างนั้นก็มี มีอยู่ในจิตใจของเรานี้แหละ ปฏิปทาทั้งสี่นี้ไม่นอกเหนือไปจากจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมเลย จงอย่าคิดไปที่อื่นๆ จะผิดจากหลักธรรมอันถูกต้องแม่นยำ
จะเป็นประเภทใดก็ตามในสี่ประเภทนี้ เป็นเรื่องของเราที่จะส่งเสริมเพิ่มเติมบุญญาบารมีของเรา เหมือนกันกับเขาขุดบ่อ ไม่ถึงน้ำไม่ถอย จะอยู่ตื้นหรืออยู่ลึกก็เป็นเรื่องของเราจะขุดให้ถึงน้ำ นาของเรา สวนของเรา จะทำยากทำง่ายเราจำเป็นต้องทำเพราะความจำเป็นบังคับ จะไปทำนาทำไร่ทำสวนของคนอื่นที่เขาทำได้ง่ายๆ เขาไถง่ายๆ ได้ผลมากๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่สมบัติของเรา ไม่ใช่นาไม่ใช่สวนของเรา นิสัยวาสนาของคนก็เช่นกัน จะลึกตื้นหยาบละเอียดก็เป็นบุญวาสนาของเราที่จะสั่งสมอบรม เพื่อพอกพูนคุณงามความดีด้วยความเพียรพยายามของเราเอง เพื่อถึงจุดหมายปลายทาง
พระพุทธเจ้าผู้เป็นสรณะของพวกเรา ท่านไม่เคยย่อท้ออ่อนแอต่อหน้าที่การงานและกิเลสประเภทใดๆ ทั้งสิ้น ปราบให้เรียบด้วยความเพียรพยายาม ด้วยความอดความทน ด้วยพระสติปัญญาของพระองค์ พระองค์ทรงบำเพ็ญตามพระนิสัยวาสนาบารมีของพระองค์เอง ไม่ทรงไปยึดเอาพระนิสัยวาสนาบารมีของพระพุทธเจ้าองค์ใดที่ทรงบำเพ็ญและตรัสรู้เร็วหรือช้ามาดำเนิน ความตรัสรู้เร็วหรือช้าเป็นไปตามพระนิสัยวาสนาของแต่ละพระองค์
เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตก็ควรยึดธรรมบทว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนมาดำเนิน ท่านทั้งหลายได้อุตส่าห์มาจากทางไกล สละทั้งหน้าที่การงานเวล่ำเวลา แม้ชีวิตก็ยอมสละได้ในขณะที่มา ก็แสดงให้เห็นว่าน้ำใจของเรานั้นเป็นน้ำใจของศิษย์ตถาคต คือมุ่งผลประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การแสวงบุญการทำบุญเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับผู้ไม่มีอุปนิสัย แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและคล่องตัวสำหรับผู้มีอุปนิสัยมีจิตใจรักใคร่ในอรรถในธรรมของศาสดา เราก็อยู่ในข่ายแห่งความเป็นผู้มีนิสัยวาสนาอยู่แล้ว จึงอุตส่าห์พยายามมาและบำเพ็ญด้วยความพอใจเลื่อมใสศรัทธาเรื่อยมา
การบำเพ็ญจิต นี่เป็นสิ่งที่ยากกว่าการบำเพ็ญสิ่งทั้งหลายอยู่เป็นธรรมดา การให้ทานก็เป็นบุญเป็นกุศลเครื่องสนับสนุนจิตใจของเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ การรักษาศีลก็เป็นคุณงามความดีเป็นบุญเป็นกุศลที่สนับสนุนจิตใจของเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ แต่ทั้งสองประเภทนี้ คำว่าทาน เป็นความกว้างขวางมาก ทานมาก ทานน้อย ทานอะไรก็ตาม ทานมากี่กัปกี่กัลป์ รักษาศีลมากี่กัปกี่กัลป์ก็ตามจนเราเองก็นับไม่ได้ บุญทั้งหลายนั้นก็มารวมลงที่จิตตภาวนาซึ่งเหมือนกับทำนบใหญ่เป็นที่ไหลรวมแห่งแม่น้ำ ทำนบนั้นเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งน้ำทั้งหลาย จิตตภาวนาก็ย่อมเป็นที่ไหลรวมแห่งคุณงามความดีทั้งหลาย ทานบารมี ศีลบารมี ตลอดกุศลที่สร้างบำเพ็ญด้วยอาการอื่นๆ ย่อมรวมลงมาที่จิตตภาวนาแห่งเดียว ให้เจ้าของผู้บำเพ็ญได้ชมประจักษ์ใจ
จิตเป็นผู้ทำการให้ทาน รักษาศีลภาวนา มากน้อยมาแต่กัปใดกัลป์ใดไม่สูญหายไปไหน ติดแนบอยู่ที่จิตไม่ลบเลือนจืดจาง เป็นแต่เพียงจิตจำไม่ได้ในการกระทำของตนเท่านั้น ส่วนเหตุดีที่ได้ทำแล้วอย่างใด และผลแห่งการทำดีได้ทำไว้มากน้อยเพียงไร ย่อมรวมอยู่ที่จิต เพราะจิตเป็นตัวเหตุคือผู้ทำ จิตเป็นที่รวมเหตุรวมผลทั้งมวล และนำจิตไปเกิดในสถานที่ดี คติที่เป็น สุคโต มีความสุขความเจริญเพราะอำนาจแห่งบุญ นักปราชญ์ทั้งหลายจึงชมเชยสรรเสริญท่านผู้ใจบุญสุนทาน วาระสุดท้ายก็รวมลงที่จิตตภาวนา ซึ่งเป็นที่รวมแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลาย พอจิตเจริญไปโดยลำดับแล้ว จะได้เห็นคุณงามความดีทั้งหลายที่สร้างไว้มารวมตัวอยู่ในที่จิตตภาวนา ซึ่งเป็นทำนบแห่งบุญทั้งหลาย
แต่การภาวนารู้สึกจะลำบากบ้าง อย่างไรก็ตามเราให้ถือพระพุทธเจ้าเป็น ทิฏฐานุคติ สมกับที่เราเปล่งวาจาและจิตใจถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะพึ่งเป็นพึ่งตาย ตลอดวิธีการดำเนินของท่าน เราก็นำมาเป็นแบบฉบับดำเนินตาม แม้จะไม่ได้ตรงตามท่านทุกกระเบียด แต่ก็อยู่ในเกณฑ์แห่งความเป็นศิษย์ที่มีครู พระองค์มีความลำบากยากเย็นเพียงไร แม้จะทรงมีวาสนาบารมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ก็ยังต้องลำบากถึงขั้นสลบไสล คิดดูแม้ท่านได้รับความลำบากลำบน ท่านยังฝ่าฝืนและต่อสู้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ดังพระทัยหมาย แล้วมาเป็นศาสดาของพวกเรา
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ล้วนเอากายเอาใจรองรับทุกข์จากความเพียร เพื่อความดีมาแล้ว สาวกทั้งหลายที่เป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ของพวกเรา ถ้าพิจารณาตามตำรับตำรา ประวัติของท่านแต่ละองค์ๆ นั้นไม่ย่อยเลย บางองค์ฝ่าเท้าแตกเพราะประกอบความเพียรมาก บางองค์จักษุแตกเพราะความเพียรมากไม่ยอมหลับนอน เช่น พระจักขุบาลเป็นต้น นี่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงย่อๆ บางองค์ก็พอปลงผมลงไปมีดโกนจรดลงบนศีรษะเท่านั้น พิจารณา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วบรรลุธรรมในขณะนั้นเลยก็มี นี่เรียกว่า สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ทั้งปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว การปฏิบัติคือการพิจารณาของท่านในขณะที่กำลังปลงผมนั้นเรียกว่า การปฏิบัติ คือพิจารณาแล้วได้บรรลุธรรมในขณะนั้น นี้เรียกว่า สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว ส่วนมากไม่ค่อยมีอย่างนี้ มักมีแต่ความลำบากลำบนทนทุกข์ทรมานมากก่อนจะได้บรรลุธรรม
แม้ท่านผู้ได้บรรลุธรรมอย่างง่ายดายและรวดเร็ว ก็พึงทราบว่าท่านเคยบุกดงหนาป่าทึบแห่งกิเลสมาแล้วในชาติปางก่อน มาชาติปัจจุบันท่านจึงผ่านไปได้ง่าย พวกเรายังไม่ได้ผ่านดงหนาและทุกข์มากมาก่อน ก็ย่อมจะเจอความทุกข์ลำบากกันบ้าง ควรทนเอา เพราะกิเลสไม่เคยไว้หน้าผู้ใด ไม่เคยให้ผู้ใดมีความสุข เนื่องจากกิเลสเป็นข้าศึกต่อธรรม ความใคร่ธรรมมีมากเพียงไร จึงเท่ากับการต่อสู้กับกิเลสที่ขัดแย้งต่อธรรมมากเพียงนั้น ดังนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลาย จึงต้องได้รับความลำบากลำบนในการบำเพ็ญความดีเป็นธรรมดา แต่ผลเป็นที่พอใจและเป็นเลิศ เนื่องจากเหตุเราทุ่มเทลงเต็มความสามารถ
เมื่อสักครู่นี้เราได้พูดกันถึงเรื่องการนั่งภาวนา ทำอย่างไรถึงจะนั่งได้นาน อันนี้มีอยู่หลายแง่ที่ควรจะแยกออกพูดเป็นตอนๆ ไป ผู้เริ่มฝึกหัดใหม่ก็พยายามฝึกหัดไปเรื่อยๆ เมื่อความเคยชินค่อยมีขึ้นเกิดขึ้นแล้ว การนั่งนานก็จะเริ่มเป็นไปและนั่งได้นานเข้าเป็นลำดับ
ประการที่สอง จิตใจเวลาฝึกหัดภาวนามีความสงบเย็น จนถึงกับรวมอย่างสนิทและจิตมีความสุขเพลิดเพลินในเวลาสงบ นั้นก็นั่งได้เป็นเวลานาน จิตไม่ถอนออกมาจากความสงบเมื่อไร กาลสถานที่เวล่ำเวลาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ไม่เข้ารบกวนจิตใจ เพราะใจไม่ออกมารับสิ่งเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ภายในร่างกาย
ประการที่สาม การต่อสู้ในขณะที่ควรต่อสู้ เช่น ทุกขเวทนากล้าสาหัสขณะที่นั่งนาน นี้ ต้องเป็นผู้มีใจเด็ดขาดสำคัญ จะเป็นเพียงรายๆ เท่านั้นไม่ทั่วไป เรียกว่าเป็นกรณีพิเศษนี่ผมได้เคยปฏิบัติมาแล้ว ไม่สงสัยในวิธีการแขนงที่สามนี้ คือนั่งต่อสู้กับทุกขเวทนา พิจารณาด้วยสติปัญญา เพราะทุกข์นี้เป็นสัจธรรม ท่านกล่าวไว้ในตำราว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริงประเภทหนึ่ง สมุทัย อริยสจฺจํ สมุทัยคือกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆ เป็นความจริงประเภทหนึ่ง มคฺค อริยสจฺจํ ข้อปฏิบัติมีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องแก้กิเลสหรือปราบปรามกิเลสก็เป็นความจริงอันหนึ่ง นิโรธ ความดับทุกข์ทั้งมวลภายในจิตใจก็เป็นสัจธรรมของจริงอันหนึ่ง
เมื่อทุกข์เกิดขึ้นภายในร่างกายเรามากๆ เพราะการนั่งนาน เจ็บนั้นปวดนี้แล้วเจ็บปวดขึ้นโดยลำดับ หนักเข้าก็เหมือนร่างกายนี้จะแตกกระจายออกจากกันในขณะนั้น นั่นแหละเป็นขณะที่จะต้องต่อสู้กันให้เต็มที่เต็มฐาน ถึงขั้นเอาเป็นเอาตายเข้าแลกกัน สติปัญญามีเท่าไรทุ่มเทกันลงที่นั่น ไม่นึกไม่อยากให้ทุกข์หาย ความนึกความอยากให้ทุกข์หายเป็นการส่งเสริมกิเลสสมุทัยให้ทุกข์รุนแรงมากขึ้น หายหรือไม่หายก็ตาม แต่พิจารณาทุกขเวทนานี้ให้เห็นเป็นความจริงดังพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ จะพิจารณาสมุทัยอันเป็นกิเลสตัณหานี้ให้เห็นตามความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ด้วยมรรค คือสติปัญญา เป็นต้น แล้วขุดค้นกันลงที่ร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมให้สติปัญญาพรากจากร่างกายและทุกขเวทนานั้นไปที่ไหนเป็นอันขาด
ขุดค้นเทียบเคียงกันทุกสัดทุกส่วนแห่งร่างกายส่วนต่างๆ เช่น ร่างกายเราทุกส่วนเป็นตัวทุกข์จริงๆ แล้ว เวลาคนตายแล้วร่างกายนี้ยังมีอยู่ เอาไปเผาไฟก็ดี ฝังดินก็ดี เขาบ่นว่าอะไร เขาบ่นว่าเขาเป็นสุขเป็นทุกข์ไหม เขาไม่ได้บ่น เวลายังมีชีวิตอยู่นี้ทำไมจึงต้องว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ ถ้าว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์และทุกข์เป็นสิ่งเหล่านี้จริง เวลาทุกข์ดับไปทำไมสิ่งเหล่านี้จึงไม่ดับไปด้วย คือร่างกายส่วนต่างๆ ทำไมไม่ดับไปด้วยถ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจริงๆ แยกแยะค้นตลบทบทวนไม่รู้กี่ครั้งกี่หน
ทุกข์เกิดมากเท่าไรสติปัญญายิ่งหมุนติ้วเข้าสู่ความจริง ไม่ยอมให้ถอยหลังเป็นอันขาด ตายก็เอาดาบหน้า ขึ้นชื่อว่าถอยหลังไม่ให้มี แม้ที่สุดสลบล้มลงไปก็ยอมให้ล้มเพราะสุดวิสัย สติสตังประคองไม่มี แต่พอรู้สึกตัวขึ้นมาจะรีบนั่งทันที ต่อสู้กับทุกขเวทนานี้จนกระทั่งถึงเวลาที่กำหนดไว้เป็นอย่างน้อย สว่างเป็นวันใหม่ขึ้นมาค่อยลุกจากที่ ตามที่ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้การตั้งสัจจะอธิษฐานนั้นมีสองอย่างคือ ตั้งอธิษฐานในขณะเริ่มต่อสู้กับทุกขเวทนาหนึ่ง ได้ตั้งอธิษฐานไว้ก่อนว่า จะนั่งภาวนาจนถึงสว่างวันรุ่งขึ้นจึงจะลุกจากที่หนึ่ง
สติปัญญาแข็งแกร่งเวลานั้นเพราะไม่มีที่พึ่ง จะพึ่งเวล่ำเวลาก็สว่างโน่นถึงจะออกได้ จะพึ่งอะไรก็พึ่งไม่ได้เวลานั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นสติปัญญาก็ต้องช่วยตัวเอง ขุดค้นลงให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนในหลักความจริง เช่น ทุกข์กับกาย แยกกันออกดูจิตกับเวทนากับกาย แยกกันออกเป็นสัดส่วน จนเห็นประจักษ์ภายในใจจริงๆ แล้วหนึ่ง ทุกข์ภายในกายที่เหมือนกับร่างกายจะแตกอยู่เวลานั้นได้หายไปเหมือนกับปลิดทิ้งสอง แม้ร่างกายจะเป็นทุกข์อยู่ก็ตาม แต่ระหว่างจิตกับทุกขเวทนานั้นไม่ยึดถือ ไม่สืบต่อซึ่งกันและกัน ไม่เกี่ยวโยงกัน ไม่ประสับประสานกันเหมือนเวลาธรรมดาที่ไม่ได้พิจารณารู้เท่าทัน ร่างกายกับจิตและทุกขเวทนาก็แยกกันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ กายก็สักแต่ว่ากาย เป็นความจริงอันหนึ่ง ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์เป็นความจริงอันหนึ่ง จิตก็สักแต่ว่าจิตเป็นความจริงอันหนึ่ง เมื่อต่างอันต่างจริงประจักษ์ด้วยปัญญาที่พิจารณาโดยรอบแล้วนั้น ต่างอันต่างก็ไม่กระทบกัน จะนั่งนานสักเท่าไรก็นั่งได้ แม้ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นขนาดตัวสั่นอยู่ก็ตาม จิตจะยิ้มอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะไม่สามารถซึมซาบเข้าถึงใจได้เลยเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่ได้พิจารณารอบตัว
นี่คืออุบายวิธีที่ท่านใช้ในแง่ที่สาม แง่นี้จะเป็นไปได้เฉพาะบางรายเท่านั้น รายนี้ต้องเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวอาจหาญพร้อมด้วยสติปัญญา ไม่ใช่จะนั่งทนทุกข์อยู่เฉยๆ โดยไม่พิจารณา นั้นไม่ใช่ทาง ทุกข์เกิดมากน้อยต้องพิจารณาให้เห็นตามความจริง หายหรือไม่หายไม่สำคัญ สำคัญที่ต้องให้รู้ตามความจริงด้วยสติปัญญาว่าทุกข์เป็นอย่างไรกันแน่ กายเป็นอย่างไรกันแน่ กายเป็นอย่างไรกันแน่ จิตเป็นอย่างไรกันแน่ เมื่อจิตได้พิจารณาเห็นสิ่งเหล่านี้ชัดเจนด้วยปัญญาแล้ว ทั้งร่างกายส่วนต่างๆ ทั้งทุกขเวทนา ทั้งจิต ก็ต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างอยู่ไม่กระทบกระเทือนกัน
นอกจากนั้นเรายังเห็นความอัศจรรย์ความแปลกประหลาดภายในจิตที่เด่นดวง อยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่งจากทุกขเวทนาและจากร่างกายส่วนต่างๆ ไม่คละเคล้าซึ่งกันและกันเลย นี่เป็นความอัศจรรย์ที่ปัญญาสามารถตัดสิ่งเกี่ยวข้องทั้งหลายออกจากใจได้ไม่ยึดมั่นถือมั่น นอกจากความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว จิตยังแสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์ให้เจ้าของได้เห็นได้ชมอย่างภาคภูมิใจไม่มีวันลืม ถ้าจิตไม่ก้าวขึ้นภูมิสูงยิ่งกว่าขั้นนั้นแล้วจะลืมไม่ได้เลย เพราะเป็นธรรมอัศจรรย์ไม่เคยพบเคยประสบมาก่อน นี่คือวิธีการพิจารณาทุกขเวทนา
นอกจากเราเห็นผลประจักษ์ เกิดความกล้าหาญชาญชัยต่อทุกขเวทนาทุกประเภทไม่สะทกสะท้านแล้ว ยังประมวลเรื่องอนาคตที่จะเป็นไปในกาลข้างหน้าเข้ามาสู่วงปัจจุบันได้อย่างอาจหาญด้วย เช่น วาระสุดท้ายที่คนจะตายจะทุกข์มากขนาดไหน ร่างกายนี้ก็จะก้าวเข้าสู่จุดนั้นเหมือนกันในวันเวลาหนึ่งแน่นอน เมื่อถึงกาลนั้นจะทำอย่างไร ก็เมื่อทุกขเวทนาทั้งหลายได้ประมวลกันมา ทราบอย่างชัดเจนด้วยปัญญาในขณะนี้อยู่แล้ว ทุกขเวทนาในวาระสุดท้ายคือเวลาจะตายนั้น จะเป็นทุกขเวทนาหน้าไหนมาหลอกลวงเราให้ลุ่มหลงไปตามเล่า ไม่มีทางที่จะหลอกลวงเราได้ ต้องเป็นความจริงเต็มส่วนดังที่เป็นจริงอยู่เวลานี้ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่น เพราะเป็นสัจธรรมคือความจริงล้วนๆ อันเดียวกัน จิตมีความกล้าหาญทั้งขณะเป็นอยู่นี้ ทั้งขณะจะตายในกาลข้างหน้า หรือจะตายในปัจจุบันนี้ก็ไม่มีความสะทกสะท้าน เพราะแยกระหว่างจิตกับกาย ระหว่างจิตกับเวทนาออกได้อย่างชัดเจนแล้ว จิตเป็นของไม่ตายรู้ได้อย่างชัดๆ ประจักษ์ใจ
เอ๊า ถ้าแยกร่างกายลงไปว่าอันใดตาย ก็ไม่เห็นมีอะไรตาย ซึ้งลงไปถึงธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนน้ำเป็นน้ำ ส่วนลมเป็นลม ส่วนไฟก็เป็นไฟ ส่วนดินก็เป็นดินไปจากก้อนที่ผสมกันว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา เมื่อกระจายตัวลงไปสู่ธาตุเดิมของตนแล้วก็เป็นความจริงแห่งธาตุอยู่เท่านั้น ไม่เห็นมีอะไรฉิบหายและตาย จิตผู้ที่กลัวตายเอามากๆ นั้นก็ไม่เห็นตาย ยิ่งรู้เด่นรู้ชัดรู้ประจักษ์ตัวเองโดยไม่สงสัย ยิ่งรู้ด้วยความผ่องใส ความสง่าผ่าเผย ความองอาจกล้าหาญ เพราะสติปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิกให้จิตแสดงตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่ ตัดฟันสิ่งที่หุ้มห่อเกี่ยวข้องจิตออกได้โดยสิ้นเชิงเว้นอวิชชาค่อยพูดวาระต่อไป นี่คือความอัศจรรย์ของนักภาวนาที่ต่อสู้ทุกขเวทนาด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ต่อสู้ด้วยนั่งคอยทุกข์หรือสู้ทุกข์อยู่เฉยๆ แต่สู้ด้วยสติปัญญา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นพึ่งของตนนั้นมาเด่นชัดในวาระนี้
คนเราจึงไม่ใช่จะโง่อยู่ตลอดไป เมื่อถึงคราวจนตรอกจนมุมแล้วต้องพยายามช่วยตัวเองจนได้ ใครอยากจะล่มจมฉิบหายและตายแบบสิ้นท่าเล่า ต้องช่วยตัวเอง นี่เป็นเรื่องของจิตที่เกี่ยวกับเรื่องการนั่งได้นานนั่งด้วยเหตุนี้ จัดเป็นประการที่สาม
ทีนี้เมื่อได้เห็นผลจากการนั่งประเภทนี้แล้วก็เป็นเหตุให้ทำเรื่อยๆ ทีนี้นั่งธรรมดาๆ ไม่ถึงกับนั่งตลอดรุ่งก็ได้สามสี่ชั่วโมงไม่เห็นมีเหน็ดเหนื่อยปวดขบอะไร เป็นธรรมดาๆ เพราะความเคยชินหนึ่ง เพราะจิตมีความเคยชินต่อการประพฤติปฏิบัติและรู้อรรถรู้ธรรม เพลิดเพลินในธรรม มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมเป็นเครื่องอาศัย ยิ่งกว่าจะมาพึ่งร่างกายอันนี้หนึ่ง ใจจึงเป็นตัวของตัว นั่งเป็นเวลาธรรมดาเรานี้ก็ได้ขนาดสามสี่ชั่วโมงไม่เห็นมีความทุกข์อะไรปรากฏขึ้นมา พอที่จะเป็นการรบกวนจิตใจเลย เป็นธรรมดา นี่มันมีหลายขั้น ขั้นที่สามเป็นขั้นสำคัญที่จะรู้เหตุรู้ผลของความเป็นความตาย รู้ความทุกข์ความลำบากหนักเบามากน้อย รู้ด้วยสติปัญญาแล้วแจ่มแจ้งยิ่งกว่ารู้ด้วยความจดความจำ
เพราะความจำกับความจริงนั้นต่างกันมาก จะยกข้อเปรียบเทียบให้ฟัง สมมุติว่าในประเทศไทยเรา เช่นเขาว่าเมืองอุดรเป็นอย่างนั้นๆ เราไปเห็นเมืองอุดรเป็นอย่างนั้นๆ ผู้ที่ไม่เคยเห็นจังหวัดอุดรจะต้องวาดภาพขึ้นทันทีทันใดว่า จังหวัดอุดรต้องเป็นอย่างนั้นๆ เป็นภาพขึ้นมา อันนั้นเป็นความสำคัญมั่นหมายหลอกต่างหาก ไม่ใช่ความจริง เป็นความจำเพราะคนอื่นเล่าให้ฟัง แล้วก็วาดภาพขึ้นมาหลอกลวงตนเอง นี่เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องใดบุคคลใด ภาพของเรื่องนั้นบุคคลนั้น บ้านนั้นเมืองนั้น จะแสดงขึ้นมาทันที นี่เป็นภาพตามสัญญาอารมณ์ที่เคยตัวประจำจิต ต้องวาดขึ้นมาจนได้ จึงไม่เรียกว่าความจริง ทีนี้พอเราได้เดินทางมาถึงจังหวัดอุดรจริงๆ และเดินไปตามซอกตามซอย ถนนสายต่างๆ จนตลอดทั่วถึงแล้ว ภาพที่เราเคยวาดไว้นั้นมันก็ล้มละลายหายไปเอง เหลือแต่ภาพแห่งความจริงที่เห็นด้วยตานี้เด่นชัดภายในจิตใจ
อันนี้ก็เหมือนกัน เช่นเราวาดภาพว่า สวรรค์จะเป็นอย่างนั้น นรกจะเป็นอย่างนี้ นิพพานจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นความจำจากตำรับตำราที่เรียนมา ตำรับตำรานั้นเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงที่เราได้ปฏิบัติเอง รู้เองเห็นเองว่ากิเลสประเภทใดเป็นอย่างไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีลักษณะอย่างไร มีโทษอย่างไร และวิธีละ ละอย่างไร พอเราละได้ด้วยตัวเองของเราเองไม่ว่ากิเลสประเภทใด รู้คุณค่าแห่งการละกิเลสด้วยตัวเองประจักษ์ใจแล้ว นี่คือความจริง หายสงสัย ว่าบาปเป็นอย่างไรก็หายสงสัย บุญเป็นอย่างไรก็หายสงสัย
เพราะบุญในความจำ บาปในความจำ นรกสวรรค์ในความจำ พรหมโลกในความจำ นิพพานในความจำนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับโลกเขาจำกันและวาดภาพลมๆ แล้งๆ กันเต็มหัวใจ แต่ความจริงที่เราได้รู้เองเห็นเองนี้ผิดกันอยู่มากเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ประจักษ์ใจหายสงสัยโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับเราไปเห็นเมืองอุดรด้วยตาของเราเสียเองนั่นแล กี่ร้อยกี่พันคนจะมาคัดค้านให้เราเห็นผิดพูดผิดจากความจริงนั้น เราเห็นผิดพูดผิดไปไม่ได้ จะให้เราแปรสภาพความรู้ความเห็นตามที่เราเห็นจังหวัดอุดรเป็นอย่างไรแล้ว ให้เป็นอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะให้เป็นไปตามที่เรารู้เราเห็นนั้นเท่านั้น อันนี้เหมือนกัน ผู้ที่รู้จริงเห็นจริงในบาปในบุญนรกสวรรค์ด้วยใจตัวเองจากภาคปฏิบัติแล้วไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความสงสัย ใครจะมาคัดค้านต้านทานประการใดก็ไม่มีความสนใจที่จะไปสงสัยสนเท่ห์หรือเอนเอียง หรือล้มละลายไปกับความเล่าลือในลมปากของเขา เพราะนั้นเป็นเพียงความจำนี้เป็นความจริงเห็นด้วยใจ รู้ด้วยใจประจักษ์อยู่กับใจ
นี่แลพระพุทธเจ้าท่านสอนโลก ท่านไม่ได้สอนแบบเด็กเล่นตุ๊กตา โดยสอนว่า เอ๊า ให้พากันทำบุญให้ทานนะเวลาตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ แต่เวลานี้ยังไม่ได้บุญและความดีใดๆ ติดกายติดใจแหละ คอยไปเอาสวรรค์โน่นทีเดียวนะดังนี้ ในโลกนี้ก็อะไรพาให้เกิดทุกข์เวลานี้ ยังไม่ไปถึงนรกหัวใจก็เป็นฟืนเป็นไฟอยู่แล้ว ร่างกายก็เป็นฟืนเป็นไฟ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันทุกข์ขนาดไหนก็เป็นฟืนเป็นไฟให้เห็นอยู่แล้ว เวลาไปนรกมันก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้นไปอีก เราก็รู้อยู่แล้วในโลกนี้ในกายในใจนี้ ทีนี้บุญคือความสุขความสบายที่มีอยู่ในจิตใจเพราะการสร้างบุญมีจิตตภาวนา เป็นต้น เราก็รู้อยู่ที่ใจนี้อยู่แล้ว เมื่อประจักษ์อยู่กับตัวแล้วเราจะสงสัยที่ไหน เห็นได้ชัด รู้ได้ชัดที่ใจนี่เอง
พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนลงที่ใจ เพราะใจเป็นภาชนะที่สำคัญ ใจเป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับธรรมทุกขั้นทุกภูมิ จนถึงวิมุตติธรรม จะไม่นอกเหนือไปจากใจเป็นผู้รู้ผู้ทรงไว้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้อบรมจิตใจให้ดี เมื่ออบรมจิตใจให้ดีอยู่เสมอๆ ก็เท่ากับเราผลิตคุณภาพอันดีงามตามขั้นตามภูมิเข้าสู่จิตใจ หรือผลิตคุณภาพอันเลิศประเสริฐเข้าสู่จิตใจจนเต็มภูมิแล้ว ใจดวงนั้นก็เป็นใจมรรคใจผลใจนิพพาน เป็นใจที่ทรงคุณค่ามหาศาล เป็นดวงใจที่ประเสริฐ มีชีวิตอยู่ก็รู้อยู่อย่างชัดเจนภายในจิต การระบายหรือแสดงออกก็เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องไม่มีประมาณ
ตรงกันข้ามกับผู้ที่ผลิตยาพิษเข้าสู่ใจ ซึ่งเปรียบเหมือนกับระเบิดที่เขาบรรจุสิ่งที่เป็นพิษเข้าไว้ในตัวของมัน ลงตูมเดียวเท่านั้นก็พินาศไปหมดแล้ว กำลังสะท้อนกำลังแรงของระเบิดก็เป็นภัย พิษของมันก็เป็นภัย เสียงของมันก็เป็นภัย สีแสงของมันก็เป็นภัย เพราะพิษภัยมีหลายประเภทที่เขาบรรจุอยู่ในตัวระเบิดนั้น ทีนี้จิตมันก็มีหลายประเภทที่เป็นพิษ พิษที่เป็นมาจากความโลภก็มี เป็นมาจากความโกรธก็มี เป็นมาจากความหลงก็มี เป็นมาจากราคะตัณหาก็มี เป็นมาจากความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธ ร้อยแปดพันประการภัยมีทั้งนั้น ใจจึงถูกแต่ยาพิษชนิดต่างๆ แผดเผาไม่มีกาลสถานที่อิริยาบถ จะไม่เรียกว่ากองทุกข์ คลังทุกข์ได้อย่างไร เพราะทุกข์ทั้งมวลกองอยู่ที่ใจดวงเดียวนั้น
อะไรเล่าจะสามารถดับทุกข์สมุทัยในหัวใจได้นอกจากธรรม มีธรรมอย่างเดียวสามารถดับทุกข์ทางใจได้ สิ่งทั้งหลายในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่ใช่ยารักษาใจให้หายทุกข์ได้ พระพุทธเจ้ากี่พระองค์มาสอนโลกก็นำธรรมมาสอน มิได้นำสิ่งอื่นใดมาสอน เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เครื่องดับทุกข์ในหัวใจสัตว์ มีธรรมอย่างเดียว แม้จะมีเงินมีทองกองเท่าภูเขา ก็เป็นกองเงินกองทองกองภูเขาเฉยๆ ไม่ใช่กองความสุขความเจริญที่จะมาพยุงจิตใจให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้เลย นอกจากธรรมเท่านั้น สิ่งเหล่านั้นเป็นปัจจัยเพียงอาศัยไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น จะเอามาเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นความสุขความเจริญแก่ใจอย่างแท้จริงเหมือนธรรมคือบุญกุศลย่อมไม่ได้
การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้ประมาทเรื่องโลกามิส สมบัติเงินทองข้าวของ ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกอาศัยทั่วหน้ากันไปตามกาลตามเวลาที่ธาตุขันธ์ยังมีชีวิตแต่อย่างใด แต่กล่าวให้เห็นสารคุณที่มีความแตกต่างกันต่างหาก ระหว่างสมบัติภายนอกกับสมบัติภายใน คืออาหารกายกับอาหารใจ และเพื่อไม่ให้ลืมตัวทั้งสมบัติภายนอกทั้งสมบัติภายใน ใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ใจอยู่ได้ด้วยอาหารของใจคือธรรม ร่างกายก็อยู่ได้ด้วยอาหารของกายคือวัตถุหยาบ เป็นเครื่องเยียวยาปรนปรืออยู่เสมอถึงอยู่มาได้ตลอดทุกวันนี้ จิตใจถ้าจะมีแต่ยาพิษเผาผลาญอยู่ตลอดเวลาจะทรงตัวได้ยังไง มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายส่ายแส่ ทุกอิริยาบถมีแต่ฟืนแต่ไฟเผาจิตใจ ไม่มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดี สมาธิภาวนาบำรุงส่งเสริมอยู่บ้างเลยแล้ว ใจต้องเดือดร้อนหาที่ปลงวางไม่ได้คนเรา
จิตก็ให้เป็นสาระทางจิต อาหารของจิตก็ให้มีคือคุณงามความดี เราจะสร้างด้วยวิธีใด เช่น การให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เป็นการสร้างความดีและเป็นการขวนขวายอาหารเข้าสู่ใจเรา การเสาะแสวงหาสมบัติเงินทองข้าวของในการอาชีพ นั่นก็เป็นความจำเป็นสำหรับอาหารของร่างกาย ใจได้อาศัยบ้างเล็กน้อย เพราะใจเป็นนามธรรม สิ่งเหล่านั้นเป็นวัตถุ ใจจึงสมควรแก่บุญแก่กุศลแก่คุณงามความดีซึ่งเป็นนามธรรมด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ผู้ไม่ประมาทจึงต้องไม่ประมาททั้งทางร่างกายและด้านจิตใจ คือไม่มองข้ามจิตใจ โดยไปเห็นแก่ร่างกายเป็นสำคัญมากกว่า เช่น มองด้านวัตถุมากกว่าด้านนามธรรม ย่อมเป็นการเผลอตัวมองข้ามจิตใจ ใจซึ่งควรจะได้รับการบำรุงรักษาด้วยอาหารที่ถูกต้องคือธรรมให้มีความสุขความเจริญแต่ไม่ขวนขวาย นั่นชื่อว่ามีแต่ร่างกายเป็นใหญ่และมองแต่ทางกาย ทางใจถูกทอดทิ้งไม่เหลียวแล เวลาเกิดทุกข์ขึ้นมาก็คือเรานั่นแลเป็นทุกข์ เพราะกายกับใจอาศัยกันอยู่ด้วยกันที่ควรดูแลให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอกัน
เวลาตายแล้วร่างกายก็แปรสภาพลงไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ จิตใจที่ไม่ตายไปก่อกำเนิดเกิดที่ไหน ก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะไม่มีอาหารของใจเป็นเครื่องเสวย เพราะตนไม่ได้สร้างไว้ตั้งแต่เมื่อเวลามีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้บำเพ็ญคุณงามความดีเพื่อเป็นอาหารของใจทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งถึงวิมุตติพระนิพพาน จะปราศจากคุณงามความดีอันเป็นอาหารของใจโดยเฉพาะไปไม่ได้ ทางที่ถูกและสม่ำเสมอ ทางร่างกายก็วิ่งเต้นขวนขวายหามาบำรุงรักษา เพราะโลกธาตุขันธ์นี้มีความบกพร่องต้องการอยู่เสมอ ไม่ได้อยู่ได้กินก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้หลับได้นอนก็อยู่ไม่ได้ ไม่ได้พักผ่อนนอนหลับบ้างก็อยู่ไม่ได้ ต้องเยียวยารักษากันด้วยวัตถุต่างๆ ด้วยอาการต่างๆ อยู่เป็นประจำ จิตใจก็ต้องได้เยียวยารักษาด้วยธรรมเครื่องบำรุงอันดีงาม เมื่อพร้อมกันอย่างนี้แล้วอยู่ในโลกนี้เราก็เป็นสุข ไปโลกหน้าโลกไหนเราก็มีความสุข เพราะอาหารของใจคือคุณงามความดีได้บำเพ็ญเป็นที่เพียงพอภายในใจอยู่แล้ว
ทีนี้จะอธิบายเรื่องการภาวนาต่อไปอีก ถึงขั้นที่กล่าวว่าเด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ผลที่ปรากฏขึ้นมาก็คุ้มค่า คือเป็นผลเลิศเป็นผลประเสริฐ เป็นผลที่เราไม่เคยรู้เคยเห็น ทั้งๆ ที่หัวใจก็อยู่กับเราทุกวันทุกเวลา แต่เมื่อยังไม่เปิดสิ่งที่รกรุงรังที่ปกคลุมหุ้มห่อใจนั้นออก ความเด่นดวง ความประเสริฐ ความศักดิ์สิทธิ์วิเศษของใจก็แสดงตัวออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเปิดสิ่งเหล่านี้ออก ชำระซักฟอกสิ่งนี้ออกได้มากเพียงไร จิตใจยิ่งแสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์ เด่นดวง องอาจกล้าหาญขึ้นโดยลำดับ
สติปัญญาซึ่งเคยใช้แต่ก่อนแบบล้มลุกคลุกคลาน ภาวนาได้ชั่วหนึ่งนาทีมันเผลอไปแล้วกี่ครั้ง ห้านาทีเผลอไปแล้วสิบครั้งอย่างน้อย นี่สิบนาทีเผลอไปแล้วร้อยครั้งเป็นอย่างน้อย อย่างนี้ก็ตาม ตามหลักของการภาวนาในเบื้องต้นหรือการฝึกฝนในเบื้องต้น ต่อไปสติปัญญาที่ฝึกฝนอบรมอยู่เสมอก็ค่อยมีกำลังวังชา มีความชำนิชำนาญขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสติปัญญาที่ทำหน้าที่ด้วยความสนใจใคร่รู้ใคร่เห็น ไม่ขี้เกียจและพลั้งเผลอ และกลายเป็นมหาสติมหาปัญญาดังครั้งพุทธกาลท่านกล่าวไว้ แต่นี้เราไม่อาจเอื้อมเพราะเราเป็นพระป่าแบบป่าๆ ขอพูดแต่เพียงว่า เป็นสติปัญญาอัตโนมัติคือหมุนตัวไปเอง โดยหลักธรรมชาติของสติปัญญาที่มีกำลังเต็มตัวแล้ว นั่นแหละเรื่องความเพียรแท้ ไม่ต้องบังคับหากหมุนตัวไปเอง
แต่ก่อนมีแต่ความขี้เกียจขี้คร้านและความรำคาญ พอจะนั่งภาวนาเหมือนกับขออภัยมากๆ นะ พูดตามหลักความจริง จูงหมาใส่ฝนนั่นแหละ มันร้องเอ๋งๆๆ ก็มันไม่อยากตากฝนนี่น่ะ อันนี้เราจะภาวนามันก็เหมือนกับจูงหมาใส่ฝนนั่นแล ใจไม่อยากถูกบังคับ ไม่อยากทุกข์เพราะภาวนา แต่ทุกข์เพราะอย่างอื่นไม่สนใจคิด เบื้องต้นมันเป็นอย่างนั้น เมื่อถูกบังคับหลายครั้งหลายหนก็เคยชินไปเอง จนถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวเป็นเกลียวทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนไม่มีหยุดมียั้ง กิเลสที่เคยมีกำลังแต่ก่อนก็ถูกทำลายลงไปๆ สติปัญญายิ่งมีความแก่กล้าสามารถและเชื่อกำลังของตน กิเลสหมอบหาที่หลบซ่อน แต่ก่อนต้องค้นหาธรรม เพราะธรรมหลบซ่อน มีแต่กิเลสโจมตีธรรมแหลกเหลวไปหมด
ต่อมาสติปัญญามีกำลังมาก ฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสขาดสะบั้นตกไปทุกทิศทุกทาง จนได้คุ้ยเขี่ยหากิเลสมันไปไหน เมื่อถึงขั้นไม่ถอย เมื่อถึงขั้นไม่มีคำว่าแพ้แล้วฟัดกันเต็มที่ ความเพียรเป็นไปเอง เป็นอัตโนมัติทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีหยุดหย่อนอ่อนกำลังเลย หมุนติ้วๆ นอนบางคืนไม่ยอมหลับตลอดรุ่ง เพราะการค้นคว้าการพินิจพิจารณาสู้กับกิเลสตลอดเวลา แม้กำลังฉันจังหันก็ทำงานไปตามหน้าที่ของตน ระหว่างจิตกับกิเลส สติปัญญากับกิเลส ไม่สนใจกับรสชาติอาหารเปรี้ยวหวานเผ็ดเค็มอะไรเลย เพราะความรู้สึกทุกด้านไปอยู่กับความเพียรฆ่ากิเลสเสียหมด
ทุกอิริยาบถพูดได้เต็มปากรู้ได้เต็มใจว่า มีอิริยาบถใดขณะใดที่สติได้เผลอไปจากจิตจากความเพียรในการต่อสู้กับกิเลสไม่มีเลย นับแต่ขณะตื่นนอนมาจนกระทั่งปัจจุบันคือขณะที่กำลังรำพึงเรื่องสติอยู่ มีขณะใดบ้างที่สติได้เผลอตัวดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อนไม่มีเลย มีแต่ท่าต่อสู้ตลอดเวลา นั่นจึงเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ คือหมุนไปเองความเพียรเป็นไปเอง ต้องได้รั้งเอาไว้ไม่ยั้งงั้นจะเลยเถิด คำว่ารั้งคือการย้อนจิตเข้าสู่ความสงบคือสมาธิ เพื่อพักผ่อนอารมณ์ที่ตึงเครียดกับงาน การทำงานถึงจะมีผลของงานปรากฏก็ตาม แต่ทำไม่หยุดก็ตายได้คนเรา ต้องมีการพักผ่อนรับประทานอาหาร นอนหลับพักธาตุพักขันธ์แล้วค่อยทำงานต่อไปอีกนั้นเป็นความเหมาะสม เวลาที่เสียไปเพราะการรับประทานอาหาร และที่เสียไปเพราะการพักผ่อนร่างกาย เอ๊า เสียไป เพราะเสียไปเพื่อเป็นประโยชน์ เป็นพลังของร่างกายที่จะทำงานต่อไปได้เพราะอาหารเหล่านี้ เพราะการพักผ่อนเหล่านี้
การพักผ่อนจิตเข้าสู่ความสงบคือสมาธิ ซึ่งไม่ใช่กิริยาแห่งการต่อสู้กิเลสทั้งหลาย เราก็พักเสียในขณะนั้น เพื่อเป็นกำลังหนุนปัญญาให้คล่องตัวและเฉียบขาดในการพิจารณา เช่นเดียวกับมีดที่ได้ลับหินแล้วย่อมคมกล้า ตัดฟันอะไรขาดได้รวดเร็วทันใจ ปัญญาที่ได้รับการหนุนจากสมาธิย่อมทำงานคล่องตัว แต่ปัญญาในขั้นนี้ย่อมเพลินในการพิจารณา ไม่ค่อยคำนึงถึงการพักตัวในสมาธิ จำต้องรั้งเอาไว้เพื่อความพอดี ปัญญาขั้นนี้เพลินกับการฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสอยู่เรื่อยไปจนไม่รู้จักเวล่ำเวลา ต้องรั้งเอาไว้ในสมาธิเป็นกาลเป็นเวลา พอจิตมีกำลังและปล่อยออกจากสมาธิแล้วก็หมุนติ้วเข้าสู่สงคราม ฟาดฟันกับคู่ต่อสู้คือกิเลสไม่มีคำว่าถอย จนกระทั่งได้คุ้ยเขี่ยหากิเลส เพราะกิเลสเข้าขั้นละเอียด สติปัญญาก็เข้าขั้นละเลียดเต็มที่ ต้องค้นหากัน การค้นหากิเลสก็เป็นงาน การต่อสู้กับกิเลสก็เป็นงานจิต ของสติปัญญา
ความจริงกิเลสจะไปไหน มันก็หลบซ่อนอยู่ใต้ลูกตาของปัญญาที่มัวเพลินตัวค้นหามันอยู่นั่นเอง เมื่อปัญญายังไม่ย้อนกลับมาดูลูกตาตัวเมื่อไรก็ยังไม่เจอกิเลส คำว่าลูกตาก็คือ จิตกับอวิชชากำลังกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง ต่อเมื่อปัญญาย้อนกลับมาพิจารณาจิตอันเป็นที่หลบซ่อนของอวิชชา จึงเจอกิเลสคืออวิชชาในจิตนั่นแล เมื่อเจอก็ฟัดกันแหลกบนจิตเวที คือถือเอาจิตเป็นเวทีรบกิเลสอวิชชา สุดท้ายอวิชชาก็พังส่วนจิตไม่พัง แต่กลับดีดตัวขึ้นถึงขั้นโลกุตรอย่างเต็มภูมิ หากจะอุทานในใจว่า ชิตํ เม ชิตํ เม เราชนะแล้วๆ ก็ได้ แต่จะ ชิตํ เม กับอะไร เพราะกิเลสคู่อริก็บรรลัยเกลี้ยงไปแล้ว จะชิตํ เม เพื่อให้ใครรับฟัง ผู้จะฟังได้ก็คือผู้บริสุทธิ์หรือจิตบริสุทธิ์เท่านั้น จะ ชิตํ เม หรือไม่ชิตํ เม จิตดวงนั้นก็ไม่รับว่าได้ว่าเสียด้วย นี่เพราะพอตัวแล้ว
นี่แสดงโดยย่อลงในจุดที่จำเป็น แต่การพิจารณาจำต้องค้นคว้ามาแต่รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรู้เท่าทันเข้ามาโดยลำดับ จนกิเลสไม่กล้าแสดงตัวออกมาเปิดเผยเหมือนคราวที่กำลังเรืองอำนาจบนหัวใจ ปัญญาต้องขุดค้นหากิเลส
ต่อไปนี้ย้อนพิจารณาขันธ์หยาบมีรูปขันธ์เป็นต้น จนถึงวิญญาณขันธ์ไปโดยลำดับตามความถนัด พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส โดยไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ครอบโลกธาตุแล้ว ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ถอยตัวเข้ามาพิจารณารูปคือกายของเรา เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉยๆ ทั้งส่วนร่างกายและจิตใจ สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาจนรู้แจ้งเห็นชัดแล้วปล่อยวางลงไป กิเลสเมื่อถูกไล่ตะล่อมเข้าไป ฆ่าตรงโน้น ฟันตรงนี้เข้าไป ก็รวมเข้าไปสู่จิตดวงเดียว เพราะไม่มีที่ออก ออกทางตาก็ไม่ได้ ทางรูปทางตาก็ตัดแล้วด้วยปัญญา ทางเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตัดแล้วด้วยสติปัญญา จะออกมายึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของตน นี้ก็เป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตัดกันขาดแล้วด้วยสติปัญญา
กิเลสไม่มีทางออกก็เข้าสู่อุโมงค์ อุโมงค์ที่เป็นที่อยู่เดิมของกิเลสคือจิต ท่านว่าจิตอวิชชา รวมตัวลงไปที่นั่น สติปัญญาตามต้อนเข้าไป ฟาดฟั่นหั่นแหลกลงไป แม้กระทั่งจิต เอ๊า ถ้าจิตไม่ทนทานต่อการพิสูจน์ ไม่ทนทานต่อการพิจารณาด้วยสติปัญญาจะแหลกเหลวไปเหมือนกิเลส บรรลัยไปเหมือนกิเลสก็ให้บรรลัยไป จะเป็นหัวตอไม่รู้อะไรเลยก็ให้รู้ ขอให้กิเลสสิ้นไปก็แล้วกัน จิตจะสิ้นไปด้วยจนไม่มีความรู้ติดตัวก็ให้รู้ มันจะเป็นหัวตอก็ให้รู้ทั้งๆ ที่ยังชีวิตอยู่ จะไว้หน้ากิเลสหรือจะสงวนจิตก็สงวนไม่ได้เพราะกิเลสฝังอยู่กับจิต เมื่อถึงขั้นไล่กันเข้าไปจริงๆ แล้วอยู่ในจิต เอาให้แหลก สติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกลงตรงนั้น ขาดสะบั้นไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นี้แลคือแดนแห่งความพ้นทุกข์ จะไปหาที่ไหนกัน มันรู้ขึ้นมาเอง หาธรรมหาที่ไหน กิเลสอยู่ที่ไหน มันรวมลงที่ใจดวงเดียว กิเลสตัณหาอาสวะทั้งมวลขาดสะบั้นลงด้วยอำนาจของมหาสติ มหาปัญญา มหาวิริยะคือความเพียรกล้าตลอดเวลาไม่มีถอย
เมื่อสติปัญญาได้ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสวาระสุดท้ายได้แก่อวิชชา ซึ่งเป็นกิเลสที่แหลมคมที่สุด เพราะเป็นจอมกิเลส จนไม่มีเหลือแล้ว นั้นแลแดนแห่งความพ้นทุกข์ นั้นแลความสิ้นเสร็จแห่งหน้าที่การงานในการฆ่ากิเลส งานที่จะทำต่อไปนี้ไม่มี ท่านกล่าวในปริยัติธรรมว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ พรหมจรรย์การประพฤติเพื่อความหลุดพ้นนั้นได้สิ้นเสร็จลงแล้ว กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี
งานนี้สำเร็จได้ สิ้นสุดได้ ไม่เหมือนงานทั่วๆ ไปที่กิเลสตัณหาพาทำ เกิดแล้วตายตายแล้วเกิด ก็ทำงานอยู่งั้นจนกระทั่งวันตาย งานยังไม่เสร็จ เราตายไปเสียก่อนแล้ว เรื่องกิเลสพาทำเป็นอย่างนั้น งานที่ทำด้วยธรรม งานถอดถอนกิเลสนี้มีวันสิ้นสุดได้ กิเลสสิ้นสุดลงไปเมื่อไร งานก็ยุติกันเมื่อนั้น สติปัญญาที่เคยหมุนตัวเป็นเกลียวอยู่เหมือนกับธรรมจักรก็ยุติลงเอง สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความบริสุทธิ์ล้วนๆ เท่านั้น สติปัญญาก็นำมาใช้ตามกาลตามเวลาตามความจำเป็น ไม่ยึดไม่ถือทั้งสติทั้งปัญญา ไม่ยึดไม่ถือโดยประการทั้งปวง ความสิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้น หลุดพ้นกันที่ตรงนั้น ไม่หลุดที่ตรงไหน หลุดพ้นที่จิตนั้นแล
วันนี้พูดธรรมะรู้สึกว่าเหนื่อยๆ ขอให้ทุกท่านได้นำไปพิจารณา นี้ได้ปฏิสันถารต้อนรับท่านทั้งหลายอย่างเต็มภูมิแห่งความสามารถของผู้แสดงที่จะเป็นไปได้ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอันใดก็หวังว่าได้รับอภัยจากท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน
จึงขอยุติการแสดงเพียงเท่านี้
******** |