เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
ประกาศศาสนาแบบธรรมแบบโลก
เราเป็นชาวพุทธ ให้ถือหลักธรรมเป็นที่ตั้ง ธรรมเมื่อเราน้อมนึกขึ้นภายในใจ ธรรมจะปรากฏขึ้นภายในใจ พุทโธก็เป็นธรรม ธัมโมก็เป็นธรรม สังโฆก็เป็นธรรม เรานึกที่ใจของเราชื่อว่าใจของเรามีธรรม ถ้าไม่นึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่นึกถึงธรรมใดๆ เลย ใจก็ไม่เป็นธรรม ใจก็ไม่เป็นพุทธเป็นสงฆ์ ใจก็ไม่เป็นพุทธบริษัท จึงสำคัญอยู่ที่ใจ การปฏิบัติก็ปฏิบัติที่ใจ
พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ ๒๕๑๙ ปีนี้แล้ว เราเกิดมาไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า แต่เราปฏิบัติตามศาสนธรรมที่ท่านทรงสั่งสอนไว้แล้ว ก็ชื่อว่าเราได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า หรือเป็นลูกเต้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัทของท่าน และชื่อว่าเป็นผู้อุปถัมภ์อุปัฏฐากใกล้ชิดสนิทกับท่านด้วยการปฏิบัติธรรมของเรา
ยิ่งเราได้เห็นได้รู้อรรถรู้ธรรมขึ้นเป็นลำดับ นับแต่ความสงบเยือกเย็นภายในใจจนมีความเฉลียวฉลาด จิตใจมีความสว่างกระจ่างแจ้ง ละกิเลสได้เป็นลำดับลำดา ก็ชื่อว่าเราได้เห็นพระพุทธเจ้า ได้เห็นตถาคตเป็นลำดับลำดาขึ้นไป ถ้าเราปฏิบัติจนถึงวิมุตติหลุดพ้นเลย ก็ชื่อว่าเราได้เห็นตถาคตเต็มองค์ เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เต็มองค์ทีเดียว ข้อสำคัญจึงอยู่กับเรา
ส่วนภายนอกเอาแน่นอนไม่ได้ แม้จะเอาแน่นอนไม่ได้ อย่างน้อยภายในของเราก็ให้มีความแน่นอน มีความมั่นคงต่อหลักธรรมด้วยการปฏิบัติ จะเป็นสิริมงคลแก่เราอยู่เสมอ คำว่าข้างนอกเอาแน่นอนไม่ได้นี้ เช่น เราต้องการพระสงฆ์จากประเทศไทยไปอยู่ประเทศอังกฤษ นี่เป็นความต้องการของเรา แต่การที่จะเป็นไปได้ตามใจหวังหรือไม่ เร็วหรือช้านานเพียงไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ควรจะเป็นไปได้ช้าหรือเร็ว หรือจะเป็นไปไม่ได้ มีหลายอย่างด้วยกันที่จะทำให้เอาความแน่นอนไม่ได้
เราจึงถือการปฏิบัติของเราเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเทียบกับเราได้ปฏิบัติพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่โดยสม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่พระสงฆ์ในเมืองอังกฤษเราก็ไม่มี พระพุทธเจ้าก็ไม่มีถ้าพูดตามสมมุติ แต่มีอยู่ภายในจิตใจของผู้ปฏิบัติ นี่เป็นของสำคัญ เราควรจะปฏิบัติที่ตรงนี้ ได้ก็เอา เมื่อไม่ได้ก็จำเป็น จะทำอย่างไร เหตุผลควรจะได้มันต้องได้ ถ้าเหตุผลไม่ควรจะได้มันก็ไม่ได้อยู่นั่นเอง แม้จะอยากมากน้อยเพียงไรก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะนั้นเกี่ยวกับสิ่งภายนอก
สิ่งภายในจึงจำเป็นกว่าที่เราพอจะสามารถทำได้ตามกำลังทุกเวลา ให้มีใจหนักแน่น ตั้งความหวังไว้ที่ใจนี้ด้วยการปฏิบัติ ผลจะปรากฏขึ้นมาเป็นที่ร่มเย็นแก่ตัวเราเอง เช่น นึกพุทโธๆ เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า นึกธัมโมเรายังไม่เคยเห็นพระธรรม ก็จะรู้จะเห็นขึ้นที่ใจ นึกถึงพระสงฆ์ก็เหมือนกัน อยู่ที่นี่ชื่อว่าคนมีวัตร ไม่เป็นคนวัตรร้าง คนมีวัตรคือ ภาวนาวัตร สมาธิวัตร วัดอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อมีสมาธิวัตร มีภาวนาวัตรแล้วก็เรียกว่าเรามีวัด ไม่เป็นคนวัดร้าง
วัดภายนอกนั้นเอาแน่นอนไม่ได้ แม้พระมีอยู่ถ้าปฏิบัติไม่ดีก็เหมือนกับวัดร้าง วัดมีอยู่แต่ไม่มีพระก็เหมือนวัดร้าง ที่พยายามรักษาวัดไม่ให้ร้างก็คือ พยายามรักษาตัวของเราด้วยการปฏิบัติดังที่แสดงมาแล้วนี้
สมาธิภาวนาอย่าลดละ เราอยู่ที่ไหนก็เหมือนเราอยู่กับพระ เราอยู่กับวัด อยู่กับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แม้ไม่ปรากฏเห็นองค์ท่านเดินมาเหมือนคนทั่วๆ ไปก็ตาม แต่ก็เป็นความแน่นอนว่าเรามีพระ มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระสงฆ์อยู่ที่ใจของเรา นี่เป็นสิ่งสำคัญ จงพยายามรักษาวัดนี้ เสาะแสวงวัดนี้ให้มีขึ้น รักษาวัดนี้ให้เจริญรุ่งเรือง วัดนี้แหละจะแสดงผลขึ้นที่ตัวของเราผู้มีวัตร
เรื่องได้พระสงฆ์ไปปฏิบัติไปอุปถัมภ์อุปัฏฐากแนะนำสั่งสอนก็ดีอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราตั้งความหวังไว้มาก เมื่อไม่ได้ก็จะเกิดความเสียใจและวุ่นวายไปหมด ยิ่งร้ายกว่าที่เราไม่ตั้งความหวังเสียอีก เราอยู่สบายๆ ด้วยการอบรมตัวซึ่งเนื่องมาจากครูอาจารย์ได้เคยแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว นั้นแหละเป็นความดีความชอบสำหรับเรา แม้จะไม่มีพระมาสร้างวัดอยู่กับเรา ก็ไม่เสียไม่ว้าเหว่ ไม่ปราศจากที่พึ่งพระที่มีอยู่ภายในใจเราตลอดเวลา
พระสงฆ์ที่จะไปอยู่ทางโน้น ท่านก็ต้องพยายามอบรมท่านให้มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ ใครขอมาก็ส่งไปสุ่มสี่สุ่มห้า ตัวเองก็รักษาตัวไม่คุ้ม สั่งสอนตัวเองก็ไม่ได้ ไม่ทราบว่าสมาธิเป็นยังไงปัญญาเป็นยังไง ไม่เคยปรากฏภายในจิตใจเลย แต่แล้วก็จะไปสอนสมาธิ สอนปัญญา สอนวิมุตติหลุดพ้นให้คนอื่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเอาแต่ชื่อไปสอน เอาแต่ความจำไปสอน ไม่เอาความจริงไปสอนเพราะไม่รู้ความจริง อย่างนี้ก็เป็นการลำบาก ดีไม่ดีมีทางเสียได้ จึงไม่ควรภูมิใจโดยถ่ายเดียวเมื่อมีพระหรือได้พระไปอยู่ด้วยสมเจตนาที่ต้องการ ส่วนเสียอาจมีแฝงอยู่ดังที่กล่าวมา
จิตใจที่ไม่มีหลักเกณฑ์นี้เป็นจิตใจที่ไม่แน่นอน ถ้าจิตใจมีหลักเกณฑ์นั้นเป็นความแน่นอน รู้ประจักษ์ว่าอะไรควรอะไรไม่ควรอยู่กับตนเอง และปฏิบัติดำเนินไปด้วยความราบรื่นดีงาม พระอย่างนี้หายาก เพียงความอยากได้ของเราก็อยากได้พระ แต่พระที่จะไปแนะนำสั่งสอนให้เข้าอกเข้าใจ พร้อมทั้งท่านก็มีหลักมีเกณฑ์ประหนึ่งว่า เป็นเครื่องรับรองอยู่ในตัวของท่านแล้ว แม้คนอื่นไม่ได้รับประโยชน์ แต่ท่านก็เป็นประโยชน์สำหรับท่านเองไม่มีเสีย พระอย่างนี้หายากมาก แม้ในเมืองไทยเองก็หาไม่ง่ายเลย อย่าว่าแต่เมืองอังกฤษไม่มีพระและหาพระยากเลย
ถ้าหลักใจไม่มี คนอื่นก็ไม่เกิดประโยชน์ ตัวเองก็ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากนั้นยังจะเป็นความเสื่อมเสียแก่ตนเองอีก ไม่ใช่ของดี ผู้นำคนอื่น ตัวเองต้องมีหลักเกณฑ์เครื่องนำทาง คนอื่นจึงจะได้รับประโยชน์ด้วย
นี่แหละหลักของพระพุทธศาสนาที่ท่านสั่งสอนโลกท่านสั่งสอนอย่างนี้ มีกฎมีเกณฑ์มีเหตุมีผล ไม่ใช่สั่งสอนกันไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ สุ่มสี่สุ่มห้า สอนแบบโลกประกาศศาสนาแบบโลก ประกาศศาสนาแบบธรรมกับแบบโลกนั้นผิดกัน พระพุทธเจ้าประกาศศาสนานั้นประกาศแบบธรรม สาวกประกาศศาสนาแบบธรรม คือ ตนเองก็ปฏิบัติตนเองก็รู้ สั่งสอนด้วยเมตตาธรรม ไม่ได้สั่งสอนด้วยความโลภความโลเลด้วยโลกามิสใดๆ เข้ามาเคลือบแฝงเลย
ไม่เกี่ยวกับเรื่องมีบริษัทบริวารมากหรือไม่มาก คนนับถือมากหรือไม่มากอะไรท่านไม่สนใจ สนใจแต่ที่จะให้เป็นประโยชน์แก่คน ให้คนได้เข้าอกเข้าใจในเนื้ออรรถเนื้อธรรมที่สั่งสอนไป เพื่อจะเป็นความสุขความเจริญแก่เขาทั้งด้านจิตใจและความประพฤติต่างๆ ให้มีหลักมีเกณฑ์จากการแนะนำสั่งสอน ครั้งพุทธกาลท่านสอนอย่างนั้น
ที่ว่าสอนศาสนาเป็นแบบโลกเป็นยังไง หัวใจเราก็เป็นโลก เมื่อหัวใจยังเป็นโลกแล้ว ย่อมมีทั้งความโลภ มีทั้งความโกรธ มีทั้งความหลงเป็นไปกับศาสนา เป็นไปกับการสั่งสอน ก็ไม่เป็นผลเป็นประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น ตัวผู้สอนเองก็สั่งสมความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาแฝงไปในตัวด้วย แทนที่จะเป็นนักเสียสละตามหลักศาสนาที่นำไปสอนเขา นี่แลที่ว่าสอนศาสนาแบบโลก อย่างนี้ไม่ถูก ดีไม่ดีผู้สอนศาสนากลับทะเลาะกันเสียอีก เพราะต่างคนต่างนำความโลภไปสอนนี่ โลภก็คือโลกนั่นเอง ออกมาจากโลกแล้วก็เรียกว่าโลภ แตกแขนงออกมาเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง
สอนเขาให้ละกิเลส แทนที่จะให้เขาละกิเลสแต่ตนกลับสั่งสมกิเลส ด้วยความอยากมีบริษัทบริวารมาก อยากให้คนเคารพนับถือมาก อยากได้อติเรกลาภมาก อยากมีอำนาจวาสนามาก อยากมีชื่อเสียงโด่งดัง อยากมีกิตติศัพท์กิตติคุณมาก อยากให้เขารู้ทั่วดินแดน อย่างนี้มันเป็นโลกทั้งนั้น ไม่เป็นธรรมดังพระพุทธเจ้าแลสาวกท่านสั่งสอนศาสนา
การสั่งสอนเพื่อความเป็นธรรมนั้น ย่อมเป็นไปด้วยความสม่ำเสมอ ถือธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่เอาเรื่องโลกามิสเข้ามาเกี่ยวข้องภายในใจของผู้สอน การสอนก็มีเหตุมีผล สอนมีกฎมีเกณฑ์ มีความพอดี มีประมาณเป็นหลักเป็นที่ตั้ง ท่านสอนๆ กันอย่างนั้นแต่ครั้งพุทธกาล จึงมีความราบรื่นดีงามเสมอมา
วัดก็เหมือนกัน พระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างก็ตั้งใจเป็นธรรม ไม่ให้เป็นโลก ทุกวันนี้มันแปรเป็นโลกไปเกือบจะไม่มีเหลือแล้วจะว่าไง อยู่ในวัดแต่เรียนวิชาทางโลก เพื่อจะได้ความรู้วิชาแล้วสึกออกไปทำราชการงานเมืองหาอยู่หากิน อาศัยเพศของศาสนาเป็นที่อยู่อาศัยพอเลี้ยงชีพ แต่เจตนานั้นมุ่งไปทางโลกเสีย คำว่าเป็นโลกส่วนมากเป็นอย่างนั้นแล เวลานี้กำลังเป็น ดูเอา ต่างมีหูมีตา นี่พูดตามความจริงจึงไม่ผิด ผู้เป็นต่างหากผิด ผู้พูดตามเรื่องความจริงพูดได้ไม่ผิด ถ้าพูดตามความจริงผิด ธรรมก็สอนโลกไม่ได้ เพราะสอนตามความจริงนี่
ทั้งนี้ไม่ได้ตำหนิ พูดความจริง ถ้าเรียนทางโลกเพื่อสั่งสอนโลก นั่นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าสั่งสอนโลกโดยธรรมดาของโลก โลกเขาเรียนวิชาแขนงต่างๆ พอได้รู้วิธีสอน เช่นโลกเรียนและสอนกันนั้นไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องของโลกที่เคยปฏิบัติต่อกันมาแล้ว
ฆราวาสเรียนธรรมและสอนธรรมเป็นงานอาชีพ ก็ไม่มีใครสะดุดตาสะดุดใจ เพราะเป็นฆราวาสและเป็นอาชีพของเขา ส่วนพระผู้สอนศาสนาไปทำอย่างนั้นมันขัดกัน ดังนั้น จึงได้กล่าวการสอนศาสนาแบบโลก สอนศาสนาแบบธรรมไว้ เพื่อพิจารณาเลือกเฟ้นดัดแปลงเอาตามที่เห็นควร
แต่อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วย่อมเหนือโลกเสมอ จงเรียนธรรมให้จบภายในจิตใจเถอะ ให้มีความรู้ความฉลาดแตกฉานภายในใจ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติด้วยศีลสมาธิปัญญาเถอะ เรื่องโลกกับธรรมนี้เป็นความเกี่ยวเนื่องกัน จะต้องสั่งสอนคนได้อย่างองอาจกล้าหาญในเหตุและผลที่ตนเคยผ่านมา และถึงใจทั้งผู้สั่งสอนและผู้รับฟัง ดังพระพุทธเจ้าแลสาวกท่านประกาศสอนธรรมเป็นตัวอย่าง
ไม่มีอะไรจะสั่งสอนคนได้ถูกต้องดีงามยิ่งกว่าเรื่องธรรม เพราะฉะนั้นการเรียนธรรมล้วนๆ นี้ก็เป็นการเรียนโลกอยู่ในตัวเสร็จ เพราะโลกกับธรรมคละเคล้ากันอยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องไปหาโรงร่ำโรงเรียนเรียนกันเพื่อสอบปริญญานั้นปริญญานี้ภายในวัด ซึ่งพอได้ใบประกาศแล้วก็เผ่นๆ มันเป็นโลกไปเสียด้วยอาการอย่างนี้แล
หน้าที่การงานอะไรก็เป็นโลกไปหมด นี่แหละธรรมกลายเป็นโลก วัดก็กลายเป็นบ้านไปเสียละซิ พระเอาหน้าที่ของฆราวาสมาจัดมาทำอยู่ในวัดอย่างเป็นล่ำเป็นสันนี่ ทีแรกก็มีขยะแขยงเอียงอายบ้าง ต่อมาก็ชินชาหน้าด้านไปหมด ใครตำหนิติเตียนบ้างไม่ได้ คอยแต่จะหาเรื่องหาราวหาเล่ห์หาเหลี่ยมยิ่งกว่าสุนัขคอยจะกัดกันเสียอีก นั่น เรียนธรรมยังไงถึงเป็นอย่างนั้น เรียนธรรมจริง แต่ใจมิได้เป็นธรรมด้วย มันเป็นโลกเป็นกิเลสเต็มหัวใจถึงได้เป็นอย่างนั้น
เรียนธรรมเพื่อธรรมก็ต้องแก้ทิฐิมานะ แก้สิ่งที่จะกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน จึงจะถูกตามความหมายของธรรม ใจหนักในเหตุผล เมื่อถูกตำหนิติเตียนก็ยอมรับด้วยเหตุผล เขาชมก็ยอมรับด้วยเหตุผล...ถ้าจะรับ ถ้าไม่รับก็ให้ทราบด้วยเหตุผล แล้วปล่อยวางไว้ตามความจริง ทั้งความติเตียนทั้งความสรรเสริญ บรรดาโลกธรรมแปดเข้าไปสัมผัสอายตนะไม่ซึมซาบใจเลย แม้สัมผัสก็เพียงรับรู้ไม่ซึมซาบเข้าภายในจิตใจได้ นี่ชื่อว่าผู้เรียนธรรมผู้รู้ธรรมตามความหมายของธรรม
เมื่อตนไม่มีความบอบช้ำ ไม่รับความกระทบกระเทือนเพราะโลกธรรมมาสัมผัสสัมพันธ์แล้ว ก็เป็นผู้มั่นคง สั่งสอนคนอื่นให้มีความแน่นหนามั่นคงได้ด้วยพลังใจของตัวเอง เราเองก็ไม่มีกำลังใจ ไม่มีความรู้ความฉลาด ไม่มีหลักใจ จะสั่งสอนคนให้มีความรู้ความฉลาดมีหลักจิตหลักใจได้อย่างไร มันลำบากอย่างนี้เอง ฉะนั้นจึงควรพิจารณาด้วยดี
เราอยู่ที่ไหนเราก็มีวัดถ้าทำตัวให้มีวัด ขอให้มีวัตรภายในจิตใจเถอะ อยู่ในบ้านก็มีวัด อยู่ในวัดก็มีวัด อยู่ที่ไหนก็มีวัด ถ้าจิตห่างเหินจากธรรมก็ชื่อว่าห่างเหินจากวัด แม้จะไปอยู่ภายในวัดก็อยู่สักแต่ว่าพื้นที่ พื้นที่ที่ไหนก็มีสมมุติขึ้นให้เป็นวัดเป็นบ้าน มันได้ทั้งนั้นตามความสมมุติให้ชื่อให้นามของคนไม่มีสิ้นสุด เรื่องสมมุติมันเป็นอย่างนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ตัวเราเอง
สั่งสอนตัวเองนี่แหละสำคัญมากกว่าสั่งสอนผู้อื่น คนเราปกติสั่งสอนยาก เราก็เป็นคนๆ หนึ่งสั่งสอนเราให้รู้ยากรู้ง่ายรู้ดีรู้ชั่วในตัวเราก่อนแล้วค่อยสั่งสอนคนอื่น ถึงยากง่ายก็พอสั่งสอนกันไปได้เพราะรู้วิธีการสอน ถ้าตนก็ยังไม่รู้วิธีสอนตนเลย จะไปสั่งสอนคนอื่นให้รู้เรื่องรู้ราวนั้นมันยาก นี่แหละแนวทางของพุทธศาสนาท่านสอนโลกท่านสอนอย่างนี้
แต่ก่อนท่านสอนด้วยปากเปล่าทั้งนั้น ไม่มีคัมภีร์ใบลาน นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาโดยลำดับ พระสงฆ์สาวกไปไหนท่านไม่ได้แบกคัมภีร์ไป คัมภีร์อยู่ในตัวของท่านหมด เพราะความรู้รู้ขึ้นที่ใจ เป็นอยู่ที่ใจ ธรรมอยู่ที่ใจ นำธรรมออกจากใจไปสอนโลกจึงไม่ได้แบกคัมภีร์ใบลานไปด้วย นำอริยสัจ นำคัมภีร์เคลื่อนที่ นำตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ที่อยู่ในองค์ท่านไปเที่ยวสั่งสอนโลกด้วยกันทั้งนั้นในครั้งพุทธกาล
พระสาวกเมื่อรู้เห็นตามพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สอนประชาชนด้วยธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็น ตามขั้นตามภูมิของผู้มารับการอบรมศึกษา ว่าจะควรสอนหนักเบามากน้อยหยาบละเอียดเพียงไร ท่านสอนตามนั้น จนกระทั่งศาสนาล่วงไปได้ตั้งหลายร้อยปี จึงได้มีผู้คิดค้นขึ้นมาว่า หากหมดพระอรหันต์ผู้เชี่ยวชาญในอรรถในธรรมไปแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะลบเลือนและสูญหายไปหมด เพราะไม่มีใครทรงจำไว้ได้ เนื่องจากไม่มีผู้มีความรู้ความเฉลียวฉลาดแตกฉาน จึงได้จดจารึกขึ้นทีหลังเป็นพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก พระสุตตันตปิฎก รวมกันแล้วเป็นสามปิฎก เรียกว่า พระไตรปิฎก
เมื่อได้จารึกลงในคัมภีร์แล้วก็เรียนกัน บ้างก็เรียนเพื่ออรรถเพื่อธรรมเพื่อปฏิบัติจริงๆ บ้างก็เรียนโดยไม่สนใจจะปฏิบัติ เรียนพอได้ชื่อได้นามจากอรรถจากธรรม ซึ่งเป็นชื่อเป็นนามของกิเลสและบาปธรรมในแง่ต่างๆ แล้ว ก็ว่าตนเรียนมากรู้มาก ว่าตนเฉลียวฉลาด แต่จิตใจนั่นสั่งสมกิเลสด้วยความสำคัญตนต่างๆ และพองตัวขึ้นว่าเรานี้จอมปราชญ์ฉลาดแหลมคมไม่มีใครสู้ เราเรียนได้มากรู้ได้มาก นอกจากนั้นยังตั้งชั้นตั้งภูมิให้ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญสามประโยค สี่ประโยค ห้าประโยค หกประโยค เจ็ดประโยค แปดประโยค เก้าประโยค เข้าที่ไหนเหมือนกับแผ่นดินจะถล่มโน่นแน่ะ เพราะมันหนักวิชาความรู้ของนักปราชญ์ด้วยความสำคัญตน แต่ไม่ได้เป็นนักปราชญ์ด้วยความจริง เพราะฉะนั้นความจำกับความจริงจึงต่างกันอยู่มาก
ทีนี้ก็มีแต่ชื่อหาตัวจริงไม่มี ศาสนาก็เลยไปอยู่ในคัมภีร์เสียหมด ไม่อยู่ในหัวใจคน ไม่อยู่กับการประพฤติปฏิบัติของคน สมาธิ ปัญญา ก็อยู่โน้น ในตำราโน่นซึ่งมีแต่ชื่อ ถ้าจะเทียบธนาคารหรือแบงก์แล้วก็มีแต่บัญชีเงิน เต็มอยู่ในแบงก์หรือธนาคารนั้น แต่ตัวเงินจริงๆ ไม่มีในธนาคาร มีแต่ชื่อไม่ทราบว่ากี่ร้อยกี่หมื่นกี่แสน เรื่องที่กล่าวเมื่อเทียบแล้วเป็นอย่างนั้น
ศาสนาเลยมีแต่ชื่อเสีย มรรคผลนิพพานก็มีแต่ชื่อ เอาชื่อไปจำหน่ายขายกินมากมายก่ายกอง อย่างทุกวันนี้ ดูซิ พิมพ์ธรรมะขายกันเกลื่อนไปหมด คอยมาสอดมาแทรกเอาไปแบบนักฉวยโอกาส อย่างที่เราเขียนนี่ก็เหมือนกัน คอยเอาไปลงทีละเล็กละน้อยในหนังสือเพื่อเป็นทางหากิน เรารู้สึกสลดสังเวชใจกับเรื่องพรรค์นี้ นี่เรื่องศาสนาจริงกับศาสนาปลอมแทรกกันไปอย่างนี้แล
ครั้งพุทธกาลกับสมัยปัจจุบันนี้มันผิดกันด้วยเหตุนี้ ถ้าปฏิบัติให้ตรงตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว ศาสนาครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรผิดกัน เพราะเป็นสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้วด้วยกัน ไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเพราะต่างคนต่างมุ่งเหตุมุ่งผล ความทะเลาะเบาะแว้งจะเกิดมาจากไหนถ้าไม่เกิดมาจากทิฐิมานะ ความไม่ลงรอยกันเพราะความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความรู้ของตัว การเข้าตัวนี้จึงเป็นการกระทบกระเทือนมาก
ถ้าการเข้าธรรม คือ เข้ากับเหตุกับผล จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างพระอรหันต์ท่านอยู่ด้วยกันกี่ร้อยกี่พันองค์ ไม่เคยปรากฏว่าได้ชำระคดีอธิกรณ์ท่านเลย ถ้าเป็นปุถุชนแล้ว โอ้โฮ้ย นักมวยแชมเปี้ยนยังสู้ไม่ได้ เขายังมีเวลาขึ้นต่อยกัน มีเวลาให้น้ำ มีเวลาหยุด มวยพวกนี้มวยฝีปากมวยทิฐิมานะ ไม่มียอมไม่มีลงกัน มีแต่จะเอาชนะท่าเดียว ขึ้นชื่อว่ากิเลสแม้เข้าแทรกธรรมก็ไม่ยอมลงรอยกับธรรม ต้องเป็นกิเลสอยู่วันยังค่ำ เมื่อเข้าแทรกหัวใจคนก็ทำให้ไม่ลงใครแต่ไหนแต่ไรมา
เพราะฉะนั้นเพื่อหาตัวจริง จึงควรปฏิบัติตามหลักที่ท่านสอนไว้ จะได้เห็นตัวจริงขึ้นมา จะไม่สงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านรู้ยังไง เห็นยังไง ท่านสอนศาสนายังไง เราจะรู้จะเห็นด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้านั่นแล ปฏิบัติให้จริงให้จัง
เอาเท่านั้นแหละวันนี้ |