เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๙
จิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้
พระกรรมฐานท่านผู้ปฏิบัติมุ่งอรรถมุ่งธรรม มุ่งมรรคผลนิพพานจริงๆ เราดูท่านน่าดูอย่างซึ้ง น่าดูอย่างบอกไม่ถูกก็มี น่าดูที่พอพูดได้ก็มี ในกิริยาที่ออกมาจากใจซึ่งมีความเข้มแข็ง มีสติสตัง มีความระมัดระวังของท่าน อยู่ไหนท่านอยู่แบบอนาถาดูไม่ค่อยกังวลอะไร เหมือนไม่มีความกังวลอะไร ท่านน่ะสบาย ผู้ไปดูความเป็นอยู่ของท่านแล้วสลดสังเวชเพราะสงสารท่าน ท่านอยู่อย่างจนๆ เขียมๆ ในปัจจัยสี่ ในป่าในถ้ำ ในภูเขาอันเป็นสถานที่บำเพ็ญของท่าน ทั้งนี้ก็เป็นมาดั้งเดิมแต่พระพุทธเจ้าพระสาวกที่พาดำเนินมา
หลักใหญ่ที่ออกมาจากความมุ่งมั่นแห่งธรรมนั้นแสดงออกมาเป็น อปฺปิจฺฉตา คือความมักน้อย เหมือนนกมีแต่ปีกกับหางคืออวัยวะเท่านั้น บินไปหากินผลไม้ที่สุกตามที่ต่างๆ พออิ่มท้องแล้วก็บินไป ไม่ได้มีความห่วงใยต้นไม้นี้ว่าเราเคยกิน ผลไม้นี้เป็นของเรา เปือกตมนี้เป็นของเรา เราติดสถานที่นี่ เราชอบสถานที่นี่ นกไม่มีอารมณ์ยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น
ผู้ปฏิบัติก็เหมือนกัน ไปที่ไหนแล้วเป็นอันว่าผ่านไปๆ ไม่เป็นสัญญาอารมณ์กับสิ่งต่างๆ ซึ่งเคยได้อยู่อาศัย เคยสนิทสนมมาแล้ว ความไม่เป็นอารมณ์เหล่านี้ก็เพราะความมุ่งมั่นต่อธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับแม่เหล็กอันหนึ่ง ดึงดูดความรู้สึกต่างๆ ให้เข้าไปสู่จุดเดียวนั้น กิริยาอาการที่แสดงออกจึงส่อให้เห็นว่าแม่เหล็กนั้นดึงดูด คือความมุ่งมั่นนั้นดึงดูดให้กิริยาอาการทุกอย่างหนักไปในธรรม จึงเป็นกิริยาที่น่าดูน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้ได้เห็นได้ยิน
การภาวนาของท่านไม่ได้ถือแต่เวลานั่ง เวลาเดินจงกรม เวลานั่งภาวนา ท่านถือสติเป็นสำคัญ ความระมัดระวังสติตั้งคอยรักษาจิต เพราะจิตนั้นเทียบแล้วก็เหมือนนักโทษ ตอนนั้นยังไม่มีคุณค่าอะไรพอจะเรียกว่า นักคุณ เอาอย่างนี้ดีกว่า ควรเรียกว่านักโทษดีกว่า เหมือนผู้ต้องหา คำว่านักโทษก็ได้แก่ความรุ่มร้อนที่มันกลุ้มรุมอยู่ภายในจิต ผู้ต้องหาก็ถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลาย หาเรื่องนั้นใส่หาเรื่องนี้ใส่ หาเรื่องนั้นมาทุบหาเรื่องนั้นมาตี อยู่ทำนองนั้น ไม่มีใครช่วยเหลือได้เลย
เราจะเรียกว่า จิตเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเราอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ผิด เพราะจิตไม่มีความปรุโปร่งโล่งทะลุภายในตัวเองพออยู่เป็นปกติสุขได้เลย มีแต่ถูกรุมล้อมด้วยกิเลสอยู่ตลอดเวลายืนเดินนั่งนอน อิริยาบถทั้งสี่ไม่เคยมีอิสระ
ความไม่มีอิสระ ความอยู่ใต้อำนาจแห่งความกดขี่บังคับมันเป็นความสุขที่ไหน มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น เพราะความเป็นน้อยเขา นอกจากความเป็นน้อยแล้ว เจ้านายบังคับเราก็คือตัวกิเลส มันจะไว้หน้าใคร บีบบังคับอยู่ตลอดเวลา จะหาความสุขที่ไหน จึงเรียกว่าผู้ต้องหา เรียกว่านักโทษกวนตัวเอง หาความสุขก็ไม่เจอ มองไปไหนก็มืดแปดทิศแปดด้าน ทางที่จะเล็ดลอดออกไปก็ไม่มี จิตก็ต้องเรียกร้องหาผู้ช่วยเหลือ แล้วใครจะเป็นผู้ช่วยเหลือจิตที่ได้รับความทุกข์ความกดขี่บังคับนอกจากเรา คำว่าเรามีขึ้นมาอีกอันหนึ่ง แทรกกันขึ้นมาจากจิตนั่นแล ก็หมายถึงสติปัญญา หมายถึงความรู้สึกชนิดหนึ่งที่แทรกผุดขึ้นมาจากใจมาเป็นความรับผิดชอบใจ มีสติปัญญาคอยควบคุมรักษา ผู้นี้แลที่จะให้ความช่วยเหลือได้
เมื่อผู้นี้สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ผู้ต้องการที่จะรื้อถอนจิตออกจากความกดขี่บังคับก็ต้องพยายามทางสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเข้าให้มาก เพื่อจิตจะได้เบาบางจากสิ่งกดถ่วงทั้งหลายลงโดยลำดับ เรานี้แลเป็นผู้ให้ความหวังความพ้นทุกข์ มีกำลัง มีศรัทธา มีความเพียรกล้า มีความอดความทน เป็นผู้เหนียวแน่นแก่นนักรบก็ที่ตรงนี้เอง
เพราะในโลกนี้ไม่มีอันใดมีคุณค่าหรือใหญ่ที่สุดยิ่งกว่าจิต จิตเป็นสิ่งที่ครอบโลกธาตุ เพราะจะคิดเรื่องอะไรก็มีจิตเท่านั้น ออกจากใจผู้เดียวไปให้ความหมายในสิ่งต่างๆ ถ้าดีก็ดีเลิศ ถ้าเลวก็เลวที่สุด ได้แก่จิตดวงเดียวนี้ เมื่อจิตนี้ทำได้ทั้งสองอย่าง ใครจะต้องการความเลวที่สุดเล่า ยิ่งผู้มุ่งต่อความดีอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความเชื่อความเสื่อมใสตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า และผู้ปฏิบัติเป็นนักบวชด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะหนักแน่นในทางความพากเพียรให้มากขึ้นโดยลำดับ
จิตเมื่อมีผู้ช่วยเหลือ ก็ย่อมได้รับความสว่างไสวความเบาภายในตัวเอง ถ้าโรคก็เรียกว่าพอหลับพอนอนได้ ไม่ครวญครางอยู่ทั้งวันทั้งคืนนัก พอมีเวลาหลับได้ แม้จะมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็พอทนได้ ไม่ถึงกับต้องร้องครางเพื่อความล้มตายถ่ายเดียวเพราะมียา ยาเข้าไปกำราบปราบปราม หรือยาเข้าไประงับโรคร้ายให้บรรเทาเบาบางลงไป คนไข้ก็พอนอนหลับได้ พักได้ พอทนได้กับทุกขเวทนาไม่สาหัสจนเกินไป
จิตเมื่อได้อาศัยธรรมเป็นธรรมโอสถ กิเลสประเภทต่างๆ ซึ่งเปรียบเหมือนกับโรคก็ค่อยถอยตัวลงไป จิตใจก็พอมีความสงบสุข เรียกว่าพอนอนหลับได้ด้วยความสงบเย็นใจ เพราะใจนี้เหมือนกับคนไข้นั่นเอง และพยายามโดยทางหยูกยา คือความพากเพียรเข้าเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตค่อยสบายหายวันหายคืนไป ความสว่างกระจ่างแจ้งก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งไม่เคยเห็นก็เห็น รู้เห็นขึ้นที่ใจ เพราะใจเป็นสิ่งที่ละเอียดที่สุดในโลกนี้ไม่มีอะไรเสมอเหมือน แม้จะถูกกิเลสกดขี่บังคับหนักเบาขนาดไหน ความคล่องแคล่วว่องไวของจิตไม่เคยลดละตัวเองเลย ยิ่งได้ปลดเปลื้องสิ่งโสมมทั้งหลาย สิ่งกดถ่วงทั้งหลายออกได้โดยลำดับด้วยแล้ว ก็ยิ่งแสดงความคล่องแคล่วว่องไว ความเฉลียวฉลาดแหลมคมยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความอัศจรรย์ภายในตัวเองโดยที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน
เพียงแต่สมาธิสงบอย่างเต็มที่ให้เราเห็นเท่านั้น ก็เห็นเป็นความอัศจรรย์ของเราโดยไม่ต้องไปถามใคร เวลาสงบจริงๆ มันขาดหมดนี่ ไม่มีอะไรสืบต่อกันเลย เพียงขั้นสมาธิที่สงบแนบแน่นอย่างเต็มที่ก็เห็นได้ชัดกับตัวเอง หายการไขว่คว้าที่เคยเป็นมา มีแต่ตั้งหน้าบำเพ็ญสมาธิภาวนาเพื่อผลอันยิ่งใหญ่ต่อไปไม่ลดละท้อถอย
ความที่จิตขาดจากอารมณ์อะไรทั้งหมด ไม่มีอะไรมาประสับประสานยุ่งกวน เวลานั้นแลเป็นเวลาที่จิตสงบและเป็นตัวของตัวเต็มที่ในขั้นสมาธิ ผลที่เกิดขึ้นจากความสงบก็คือความสุข ความอัศจรรย์เห็นได้อย่างชัดเจน แม้สมาธินั้นจะค่อยผ่านไป ขณะนั้นจะผ่านไป กลายมาเป็นจิตธรรมดาก็ตาม ความเชื่อในผลที่เคยรู้เคยเห็นจากการปฏิบัติของตนนั้นจะไม่ถอดถอนเลย จิตใจก็มีความสงบเย็นเป็นพื้นฐานของใจ ไม่วอกแวกคลอนแคลนเหมือนแต่ก่อนที่จิตยังไม่ได้หลักยึดเป็นที่พอใจ
คำว่า อจลศรัทธา ก็เกิดขึ้นมาเอง คือเชื่อไม่หวั่นไหว ทีนี้เชื่อแน่แล้วว่าผลแห่งการประพฤติปฏิบัติในแง่จิตตภาวนาเป็นเช่นนี้ นี่เป็นอจลศรัทธา อจลา สุปติฏฺฐิตา ความเชื่อไม่หวั่นไหวโยกคลอนตั้งดีแล้ว ดังท่านสวดอนุโมทนาตอนเช้า เป็นหลักของใจหลักของความเชื่อมั่น จะเห็นหรือไม่เห็น รู้หรือไม่รู้ก็ตาม ต้องการทุกเวลาก็ตาม ความพยายามจะพยายามอยู่เรื่อย ผลปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ และปรากฏผลสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย จนกระทั่งให้สงบได้ทุกเวลา จับได้ทุกเวลา ตามความชำนาญของจิตเป็นอย่างนั้น
จิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ ถ้าฝึกไม่ได้พระพุทธเจ้าก็ไม่สอนให้ฝึก พระพุทธเจ้าก็ไม่บริสุทธิ์เพราะฝึกไม่ได้ มันเป็นอฐานะ คือเป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นได้ แล้วจะเป็นได้ยังไง แต่นี้เป็นฐานะ สิ่งที่ควรเป็นไปได้ ศาสนธรรมที่สั่งสอนโลกก็เป็นฐานะ เหมาะกับโลกทั้งหลาย ในธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ เป็นธรรมที่อยู่ในฐานะของโลกที่จะปฏิบัติได้ตามสติกำลังของตนด้วยกัน
สิ่งใดที่เป็นอฐานะ พระพุทธเจ้าจะไม่นำมาแสดงให้สัตว์โลกเสียเวล่ำเวลาเลย และพระองค์เองก็ไม่ทรงสอนให้เสียเวลาเหมือนกัน ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้อยู่ในวิสัยของสัตว์โลก ที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติได้แม้ไม่ทุกรายก็ตาม แต่มีจำนวนมากต่อมากที่จะสามารถรู้ได้ เป็นไปได้ตามธรรมแง่นั้นๆ รวมแล้ว ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อจริตนิสัยของสัตว์ที่มีจำนวนมาก จะได้เลือกเอาตามจริตนิสัยหรือความถนัดของตนไปปฏิบัติจนปรากฏผลขึ้นมา
เรานักปฏิบัติจิตตภาวนา ถ้ายังไม่จนตรอกมักไม่เชื่อตัวเองได้ เมื่อจนตรอกสักทีสองทีเข้าไป จนตรอกด้วยการต่อสู้ ไม่ใช่จนตรอกด้วยความสิ้นท่าถอยหลัง เมื่อจนตรอกจริงๆ แล้วก็สู้กัน สู้ด้วยสติ สู้ด้วยปัญญา ไม่ได้สู้ด้วยความอดทนเฉยๆ โดยไม่มีสติปัญญาเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการต่อสู้ สู้อย่างนี้ผลจะแสดงขึ้นมาให้เราเชื่อตัวเองได้
ส่วนมากคนเราถ้าไม่จนตรอก สติปัญญาก็ไม่เกิด อยู่ปกติก็เหมือนโง่ด้วยกันทุกคน แต่ธรรมดาทั่วๆ ไปแล้ว คนเราไม่ใช่จะโง่อยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาฉลาดมันมีได้ เช่นเวลาจนตรอกคนเราต้องหาช่องหาทางความคิดความอ่านต่างๆ ในแง่สติปัญญาเอาให้เต็มสติปัญญาจนขนาดว่าเอาตัวรอดได้นั่นเอง คิดจนเต็มภูมิเพื่อเอาตัวรอด หมดสติปัญญาแล้วจึงจะยอมตาย ถ้ายังพอมีท่าคิดท่าสู้อยู่แล้วจะไม่ยอมตายง่ายๆ คนเรา นั่นแหละสติปัญญาเกิดตรงนั้นแหละ นักปฏิบัตินั่นแลจะรู้ความโง่ความฉลาดของตนจากการต่อสู้ในเวลาคับขันจนตรอกจนมุม เช่นทุกขเวทนากล้าในเวลานั่งภาวนานานๆ และเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหนักๆ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ จะแสดงฤทธิ์เดชแห่งธรรมทั้งหลายมีสติธรรม ปัญญาธรรมเป็นต้นขึ้นมาเพื่อช่วยตัวเองในเวลานั้น ใครๆ ไม่ยอมตายอยู่เฉยๆ แหละ ต้องสู้ ต้องพิจารณา
เช่นทุกขเวทนาเกิดขึ้นในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ถือทุกขเวทนานั้นเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณาไม่ลดละท้อถอย ไม่ปรุงไม่หมายให้ทุกขเวทนาดับไป ความอยากให้ทุกข์ดับไปนั้นเป็นภวตัณหา กามตัณหา ความอยากให้ทุกข์หายนั่นละคือกิเลส ถ้ามันหายด้วยความอยากจริงๆ ก็ไม่ต้องหาหยูกหายามารักษากัน ใครก็อยากหายด้วยกันทุกคน โรคต้องหาย ความเจ็บปวดนั้นๆ ต้องหายด้วยความอยากให้หาย แต่นี้ไม่ได้หายด้วยความอยาก เพราะความอยากเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้นโดยความสำคัญของตน จึงไม่ต้องไปอยากให้ทุกขเวทนาหาย พิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริงของมันด้วยสติปัญญา มันจะหายมันก็หาย มันไม่หายก็ให้รู้ว่ามันไม่หายด้วยการพิจารณา ไม่ตั้งความอยากให้หายสู้มัน จะเป็นการเสริมสมุทัยและเพิ่มทุกข์ยิ่งขึ้น
พิจารณาลงตามความจริงให้เห็นทุกข์ ท่านว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริง เป็นของจริงอย่างไรบ้าง พอค้นเข้าไปเจอแล้วยอมรับเอง โอ้ คำว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริง จริงอย่างนี้เอง นั่น พอว่าจริงอย่างนี้เองแล้วมันถึงใจแล้วนั่น ทีนี้ทุกข์ไม่สามารถเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจได้เลย เพราะแยกกันออกแล้ว ถ้าลงได้ทราบทุกข์ว่าเป็นของจริงประจักษ์ใจแล้ว ทุกข์ภายในใจก็ไม่มีในขณะนั้น ทุกข์ในร่างกายก็เป็นสัดเป็นส่วนไม่กระทบกระเทือนถึงใจเลย เพราะแยกจากกัน ทุกข์เป็นอันหนึ่ง ใจเป็นอันหนึ่ง ไม่ใช่ทุกข์เป็นเรา เราเป็นทุกข์ มันแยกกันได้ในขณะที่ปัญญาพิจารณารอบกาย เวทนา จิต
จงคิดถึงเวลาจะเป็นจะตาย มาเทียบเคียงกับความทุกข์ธรรมดาของเราที่เป็นอยู่เพราะการเจ็บป่วย เพราะการนั่งภาวนานานๆ กับทุกขเวทนาในเวลาจะตาย มันมีข้อหนักแน่นต่างกันอย่างไรบ้าง เพียงเท่านี้เราสู้ไม่ได้เราท้อถอย บทเวลาจะเป็นจะตายนั้นเป็นเรื่องที่หนักมาก มันจะตายแน่ๆ จิตท้อถอยก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะทำให้เสียท่าเสียที เพราะไม่มีสติปัญญาพอจะแก้ไขตัวให้รอดไปได้ในเวลาจำเป็นนั้น ฉะนั้น จำต้องเตรียมพร้อมกับการต่อสู้กิเลส ตัวกลัวทุกข์กลัวตายให้รอบตัวไว้แต่บัดนี้ แม้เวลาจะตายซึ่งเป็นเรื่องธาตุขันธ์ จิตก็ไม่หวั่นไหวโยกคลอน ตายไปอย่างสุคโตของผู้องอาจกล้าหาญต่อคติธรรมดาซึ่งเป็นหลักความจริง
นี่จึงเชื่ออย่างฝังลึกในการพิจารณาทุกขเวทนาด้วยสติปัญญา เพราะเคยพิจารณาและเห็นผลมาแล้ว เห็นผลอย่างประจักษ์โดยไม่ต้องไปถามใครอีกแล้ว เวลาทุกข์มากๆ นั้นไม่มีทางไปจริงๆ เราก็ตั้งใจต่อสู้อยู่แล้วนี่ ตั้งท่าต่อสู้อยู่แล้วมันจะถอยไปไหน เอ้า ถอยไม่ได้ ทุกข์มีเท่าไร เอ้าจงแสดงให้หมด เราจะฟังอริยสัจมีทุกขสัจเป็นต้นจนกระทั่งตาย ถ้าไม่ตายถึงเวลาแล้วจึงจะออกจากสมาธิลงเวทีกันครั้งหนึ่ง แต่เวลานี้จะสู้กันบนเวที ชนะกันบนเวที หรือตายบนเวทีด้วยท่าสมาธินี้เท่านั้น
ทุกข์มีมากเท่าไรสติปัญญาจะนอนอยู่ไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆ ทุกข์ก็ยิ่งบีบบังคับเข้าไปๆ อยากให้หายเท่าไรยิ่งทุกข์มาก จะทำไง มันก็ต้องได้จับทุกข์ขึ้นเป็นที่พิจารณาซิ เอ้า มันทุกข์ที่ตรงไหน ทุกข์ที่ตรงไหนมาก จิตจ่อเข้าไปตรงนั้น สติจ่อที่ตรงนั้น ปัญญาคลี่คลายดูตรงที่ว่าเป็นทุกข์นั้น กำหนดพิจารณาลงไปจริงๆ มันก็ประจักษ์ใจว่าอวัยวะส่วนต่างๆ มันมีของมันอยู่ตั้งแต่วันเกิดโน้น ทุกข์พึ่งมาปรากฏในเวลานี้ แล้วทำไมว่าอวัยวะส่วนนั้นส่วนนี้เป็นทุกข์ มันหลอกเรานี่ อาการต่างๆ มันมีอยู่ตามความจริงของมัน
ทุกข์มันก็เป็นความจริงของมันอันหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับไฟได้เชื้อ มันลุกลามส่งแสงพุ่งขึ้นจรดเมฆก็ตาม ไฟนั้นก็ไม่ทราบความหมายของตนว่าร้อนหรือส่งแสงไปถึงไหน คนต่างหากเป็นผู้ไปให้ความหมายในเปลวไฟนั้น อันนี้ความทุกข์ที่จะแสดงขึ้นมากน้อยเขาก็ไม่ทราบความหมายของเขา ไม่ทราบตัวเองว่าเขาเป็นอย่างไร เป็นแต่จิตนี้ไปให้ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ กับเขา เมื่อไปให้ในทางผิดก็เผาตัวเองเข้าอีก ถ้าให้ในทางถูก เข้าใจตามความจริงของเขาด้วยปัญญาชอบ ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ กายส่วนต่างๆ ก็สักแต่ว่ากาย ความรู้คือจิตนี้ก็สักแต่ว่าจิต แน่ะมันขาดกันที่ตรงพิจารณารอบนี้แล
ทุกข์ เมื่อเราพิจารณาเห็นความจริงอย่างประจักษ์ใจนี้แล้ว ทุกข์ก็ดับไปประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง แม้ทุกข์จะไม่ดับแต่ก็ไม่สามารถจะประสับประสาน หรือทำจิตใจของเราให้กระทบกระเทือนได้เลย ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยเราก็ดูได้อย่างไม่ลำเอียง ดูได้ด้วยสติปัญญาของเราอย่างเต็มภูมิ ไม่มีความสะทกสะท้านหวั่นไหว
เช่นเดียวกับเราดูเปลวไฟที่แสดงเต็มที่อยู่ด้วยความห่างไกล ไม่ให้ความร้อนนั้นมาสัมผัสตัวเรา เราก็สนุกดู นี่เราดูทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย จะมากจะน้อยเราดูด้วยความมีสติรู้รอบคอบแล้ว ทุกข์ก็ไม่สามารถแผดเผาเราได้ ที่ท่านว่าอริยสัจเป็นของจริง จริงอย่างนี้ ไม่ใช่จริงด้วยความจำได้เฉยๆ แต่จริงด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญาจริงๆ แล้วเราจะค้านพระพุทธเจ้าได้ที่ตรงไหน หาที่ค้านไม่ได้ ก็ต้องกราบท่านอย่างราบคาบเท่านั้นซิ
ตอนที่จิตพิจารณารอบหมดแล้วนั้น จิตต้องแสดงความสง่าผ่าเผย ความองอาจกล้าหาญที่สุด เด่นดวง ความสว่างกระจ่างแจ้งก็เด่น ความองอาจกล้าหาญก็เด่น เด่นทุกอย่างขึ้นชื่อว่าสิ่งที่พึงใจปรารถนา เด่นขึ้นหมดในเวลานั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะไปตำหนิทุกข์ก็ตำหนิไม่ลง ก็ไม่ทราบจะไปตำหนิเขาทำไมกัน เพราะเขาเป็นความจริงของเขาอย่างนั้น ร่างกายส่วนต่างๆ ที่ว่าเขาเป็นทุกข์ก็จะไปตำหนิได้ลงคอยังไง เพราะเขาไม่ได้เป็นทุกข์ เขาเป็นส่วนนั้นๆ ของเขาต่างหาก ต่างอันต่างจริง นอกจากจิตเราเป็นบ้าหาเรื่องใส่เขา แล้วก็กอบโกยทุกข์เข้ามาเผาตัวเท่านั้น จึงไม่มีอะไรที่น่าชมในขณะนั้น
เมื่อพิจารณารอบแล้วจิตก็เด่นดวง นอกจากนั้นยังเกิดความอาจหาญไปถึงอนาคตคือวาระสุดท้ายของธาตุของขันธ์ เอ้อ เวลาจะตายนั่นน่ะ ทุกขเวทนาจะหนักเบามากน้อยเพียงไรจนถึงขนาดตาย มันก็เป็นทุกขเวทนาตัวที่เรากำลังพิจารณาอยู่เวลานี้ และตัวที่เรารู้อยู่เวลานี้ จะเป็นทุกขเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราพอให้ลุ่มหลงมันนา มันอาจหาญขนาดนั้น ทีนี้ความกลัวตายก็ไม่มีปัญหา จิตไม่กลัว
ความตายก็ไม่มีปัญหา เพราะเป็นส่วนผสมของธาตุ หมดกำลังของมันแล้วก็สลายตัวลงไปตามความจริงเท่านั้น ถ้าความปลอมแล้วก็ว่าเราเกิด แล้วก็ว่าเราตาย แล้วก็ว่าเราจะฉิบหายป่นปี้ไม่มีอะไรเหลือ สิ้นสุดกันเพียงเท่านี้ เราจะไม่มีอะไรสืบภพสืบชาติ ได้รู้ได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อไปอีกเหมือนขณะที่เป็นอยู่นี้ นี่ความจอมปลอมของจิตมันหลอกอย่างนี้ หากความจริงแล้วไม่หลอกไม่เขย่า
ตายก็ทราบอยู่ ส่วนผสมคือธาตุขันธ์นี้สลายตัวลงไป ธาตุไหนก็ลงไปสู่ธาตุเดิมของตน ดินก็ลงไปสู่สภาพดิน ลม ไฟ น้ำ ก็ลงไปสู่สภาพเดิมของเขาตามความจริง แม้จะอยู่ในร่างกายมันก็เป็นธาตุ เป็นส่วนของใครของมันอยู่นั้น เป็นแต่มาผสมกันเข้าเป็นรูปเป็นร่าง ที่โลกให้ชื่อว่าเป็นหญิงเป็นชาย เป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคล เพราะอำนาจของจิตอวิชชาเข้าไปยึดครองต่างหาก ความจริงจิตก็เป็นจิตมาดั้งเดิมจะเป็นอะไรไป
ความเสกสรรความสำคัญต่างๆ ของกิเลสนั่นแลหลอกเรา เพราะฉะนั้น จึงต้องแก้สิ่งหลอกลวงทั้งหลายออกด้วยสติปัญญา จนเข้าใจตามความปลอมของมันประจักษ์ใจแล้วก็หายกังวล การปฏิบัติธรรมปฏิบัติอย่างนี้ และเวลารู้ก็รู้อย่างนี้
คำว่าสนฺทิฏฺฐิโก ดังพระพุทธเจ้าประทานไว้นั้นไม่มีปัญหา จะรู้เอง ก็เราปฏิบัติเองทำไมจะไม่รู้เอง ความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด มอบไว้กับผู้ปฏิบัติทุกคนจะพึงรู้พึงเห็น ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันท่านผู้รู้ทั้งหลายพึงรู้จำเพาะตน นอกจากท่านผู้รู้แล้วก็ไม่มีใครจะรู้ คนมืดคนหลงจะไปรู้ได้ยังไง รู้ธรรมน่ะ
เราเคยอยู่กับทุกข์มานาน เราทำไมถึงกลัวทุกข์อยู่ตลอดเวลา กลัวอย่างหวั่นอย่างไหว อย่างไม่มีท่าต่อสู้ให้เห็นความจริงของมันบ้างเลย ความกลัวนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับเราแม้น้อย นอกจากสั่งสมกิเลสเพิ่มแก่เราเข้าอีก และเพิ่มทุกข์เข้าไปอีกเท่านั้น เพราะความกลัวเป็นตัวภัยทำให้เราเกิดความหวั่นความไหวไขว่คว้าหาหลักยึดลมๆ แล้งๆ จึงควรพิจารณาเรื่องความกลัวเหล่านี้ จนเห็นตามความจริงแล้วก็ไม่กลัว ถ้ารู้ความจริงแล้วไม่กลัว กลัวอะไร อะไรตาย จิตไม่ตาย สิ่งเหล่านี้ก็สลายลงตามสภาพของมัน นอกจากนั้นจิตที่ได้ชำระสะสางตนด้วยดีแล้ว ไม่ต้องถามถึงภูมิอันดีของจิต
จิตดวงที่ดีอยู่แล้วไปที่ไหนก็ดี ไม่ละความดีของตน เข้าสู่ภพกำเนิดไหนก็ดี จะเอากำเนิดเลวที่ไหนมาสวมจิตได้ทั้งๆ ที่จิตดีอยู่ ภพกำเนิดใดที่เหมาะสมกับจิตที่จะก้าวเข้าสู่ภพภูมินั้นๆ จิตจะก้าวเข้าเองเพราะจิตดีอยู่แล้ว ของชั่วจะเข้าถึงของดีได้ยังไง ปัจจุบันเป็นอย่างไร อนาคตเป็นเครื่องส่อถึงกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ชำระจิตเสียตั้งแต่บัดนี้ ให้เห็นความจริงของจิตของธรรมแต่ยังไม่ตายเป็นเหมาะที่สุด เอาจนเห็นตัวภพตัวชาติประจักษ์ใจ เพราะตัวภพตัวชาติอยู่กับใจเราเอง สิ่งที่กิเลสตัวหน้าด้านสันดานเลวปฏิเสธเหยงๆ อย่างไม่มียางอายต่อความจริงบ้างเลย เช่นบาปไม่มี บุญไม่มี ตายแล้วไม่ได้เกิด คือตายแล้วสูญเหล่านี้ ก็มีอยู่ในจิตดวงนี้ จิตต้องรู้ต้องเห็น ปิดไม่อยู่ เพราะมีอยู่กับใจ รู้ขนาดกิเลสอาย หน้าหงายหายหน้าไปเลยไม่กล้ามาแหยมได้อีกนั่นแล
เราแบกภพแบกชาติแบกกำเนิดเกิดตายมากี่กัปกี่ล้านกัลป์ เรายังมาเป็นปัญหาสงสัยภพชาติในตัวเราอยู่อะไรอีก ถ้ายังไม่เห็นก็จงมองดูตัวเราขณะนี้ซิ เห็นไหมนี่มันตัวภพหรือตัวอะไรกัน จะว่าเราฉลาด ฉลาดที่ตรงไหน เพียงเรื่องของตัวที่คลุกเคล้ากันอยู่กับภพชาติไม่ทราบกี่ภพกี่ชาติ เรายังไม่สามารถทราบได้ ยังแบกความสงสัยอยู่เต็มหัวใจของผู้เป็นนักก่อสร้างช่างรับเหมาการเกิดตาย แล้วจะว่าเป็นคนฉลาดได้อย่างไร จะว่าเราฉลาดได้อย่างไร ภพชาติอยู่กับเรา ถ้าอยู่นอกโลกนอกสงสารนั้นก็สุดวิสัย เราไม่รู้ได้เพราะอยู่ห่างไกลกัน แต่นี่อยู่ตัวเราเองทุกรายไม่มียกเว้น เรื่องภพเรื่องชาติเรื่องเกิดเรื่องตายนี้อยู่กับเรา เราไม่ทราบได้ว่าเหตุที่จะเกิดเป็นเพราะอะไร การเกิดมาเป็นภพน้อยภพใหญ่ดีชั่วต่างๆ เป็นเพราะเหตุไร ทั้งๆ ที่การเกิดการตายมีสาเหตุด้วยกันทั้งนั้น แต่เราไม่สามารถทราบได้ จะเรียกว่าเราฉลาดได้ยังไง ถ้าไม่เรียกว่าโง่เต็มตัว เพราะปัญญาไม่รอบตัวรอบใจจะเรียกว่าไง ถ้าจะให้ฉลาดเต็มตัวก็เรียนวิชาจิตนี้ให้ดีให้จบซิ
จิตนี้แลเป็นตัวการสำคัญ กิเลสอาสวะประเภทต่างๆ ดีชั่วทั้งมวล บาปบุญคุณโทษรวมอยู่ที่จิต ออกจากจิตนี้เป็นกิริยาแห่งการทำ ผลก็ย้อนเข้ามาหาสู่จิต เมื่อปฏิบัติชำระเข้าไปด้วยภาคปฏิบัติจิตตภาวนาโดยลำดับ จะสามารถทราบได้โดยไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องถามใครซึ่งเป็นการลบลวดลายของ สวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบแล้ว ให้เสียศักดิ์ศรี เพราะภาคจิตตภาวนาเป็นภาคจะให้รู้ความจริงทุกส่วนที่ไม่ต้องถามใคร สนฺทิฏฺฐิโก บอกเอง มีอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่ฝังจมอยู่ในจิตเป็นสำคัญในวงวัฏจิต
พระพุทธเจ้าไม่ทราบสิ่งดังกล่าวนี้ พระองค์จะเอาอะไรไปสอนโลกล่ะ เรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องบุญเรื่องบาปอันเป็นสิ่งที่มีอยู่กับใจ เป็นสิ่งที่ใจจะรู้จะเห็นด้วยการปฏิบัติ เมื่อรู้เห็นแล้วก็นำออกมาพูดได้เต็มปากไม่สะทกสะท้าน ดังพระพุทธเจ้าสอนโลกท่านสอนตามสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นความจริงล้วนๆ ทั้งนั้น เป็นแต่โลกไม่รู้ไม่เห็นตามสิ่งที่เป็นที่มีนั้นเท่านั้น จึงยุ่งนุงนังไม่จบสิ้นกันเรื่อยมา นอกจากไม่รู้ไม่เห็นแล้วยังมีการปฏิเสธ แต่การปฏิเสธด้วยความไม่ยอมรับตามหลักธรรมคือความจริง นั่นไม่ทราบว่าได้ความรู้ความฉลาดมาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากอวิชฺชาปจฺจยา พาสัตว์ให้มืดบอดจอดจมจะได้วิชชาวิเศษมาจากไหน นั่นยอมรับทันที
ไม่คิดอ่านไตร่ตรองพอให้กิเลสเสียเวลารอฟังบ้าง เช่นไม่เชื่อบุญว่ามี ไม่เชื่อบาปว่ามี ไม่เชื่อนรกสวรรค์ว่ามี ความรู้นี้ไปเอามาจากไหน ถ้าไม่เอามาจากคลังกิเลสดังกล่าวแล้วน่ะ ถ้าว่าไปรู้ไปเห็นความไม่มีมาแล้วจึงมาบอกเพื่อนมนุษย์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ก็ด้นเดาเชื่อง่าย ฝ่ายที่หวานปาก หวานคอ หวานลิ้น ก็คือกิเลสวัฏฏ์นั่นแล จะเป็นเราเป็นท่านที่ไหน ฉะนั้นจึงอย่ามัวเพลินฟังเพลงกล่อมของมันไปช้านานจะเสียการณ์ จะว่าไม่บอก
เรื่องของกิเลสโลกย่อมเชื่อง่าย ถ้าเป็นเรื่องของธรรมสัตว์โลกไม่ค่อยเชื่อและเชื่อได้ยาก เพราะถูกปิดบังถูกกีดกันจากกิเลสมารภายในใจ ทำให้จิตใจปลอมไปทั้งดวง ความจริงเข้าซึมซาบไม่ได้ กิเลสไม่ยอมต้อนรับ ถ้าของปลอมแล้วรับกันวันยังค่ำคืนยังรุ่งไม่มีคำว่าปิดประตูพอแล้ว กิเลสกับใจกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน นอนอยู่ด้วยกันกินอยู่ด้วยกัน จมอยู่ด้วยกันไม่มีวันมีคืนเลย ไม่มีขึ้น มีแต่จมดิ่ง กิเลสชอบ เพราะใจกับกิเลสเป็นอันเดียวกัน ของจริงถึงแทรกเข้าไม่ได้
เรายังมีความเชื่อความเลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เราประพฤติปฏิบัติค้นหาความจริงซึ่งมีอยู่กับตัวของเราทำไมจะไม่พบ ทำไมจะไม่รู้ ทำไมจะไม่เห็น ปราบลงไปซิพญามารภายในใจดังกล่าวมา ปราบพญามารตัวพาให้มืดมิดปิดใจออกแล้ว ความสว่างแห่งธรรมจะแสดงออกมาเอง และยอมรับตามสิ่งที่มีที่เป็นนั้นๆ โดยลำดับจนตลอดทั่วถึง
อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดภพน้อยภพใหญ่ สาเหตุให้ดีให้ชั่วให้โง่ให้ฉลาด มันเป็นมาจากไหน จงพิจารณาด้วยปัญญาจะทราบกับตัวเอง วิธีการปฏิบัติของจิตตภาวนาจะไม่หนีจากจุดนี้เลย เมื่อพิจารณาเข้าไป ปัญญาจะเข้าไปถึงจุดนี้แหละ ปิดกั้นไม่อยู่ จะเปิดเผยออกโดยลำดับ อะไรจะให้เกิด ให้ดีให้ชั่วต่างๆ เป็นเพราะอะไร ทราบชัดๆ เข้าไปตามลำดับ เอ้า สาเหตุที่จะให้เกิดไม่ว่าภพน้อยภพใหญ่ ภพดีขนาดไหน เช่น พรหมโลกหรืออรูปภพ ซึ่งถือว่าเป็นภพละเอียด ก็สามารถทราบได้ภายในใจว่ามีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดในภพนี้ ค้นเข้าไปจะรู้หมด รู้เข้าไปจนกระทั่งไม่มีภพ ไม่มีอะไรเหลือภายในจิตเลย หมดเรื่องเกิดๆ ตายๆ หมดเชื้อที่จะให้เกิดในภพน้อยภพใหญ่ภายในจิต ก็ทราบได้ชัดว่าหมด ทีนี้หมดแล้ว หมดปัญหาโดยสิ้นเชิง
เรื่องความเกิดความตายนี้เป็นปัญหาใหญ่โตมาก จากจิตดวงเดียวนี้เท่านั้นที่หลงตัวเอง เมื่อมาทราบเรื่องของตนพร้อมทั้งต้นเหตุที่ตนเป็นผู้สั่งสมมาด้วยเหตุใดอย่างชัดเจนแล้วก็หมดปัญหา นี่เรียกวิชาจิต คือเรียนเรื่องตัวเองเรียนอย่างนี้ รู้เรื่องตัวเองรู้อย่างนี้ ใครจะว่าโง่ว่าฉลาดก็ตาม ถ้าเรียนเรื่องของตัวจบแล้วเป็นจอมปราชญ์ ดังพระพุทธเจ้าแลสาวกท่านเป็นจอมปราชญ์ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องหาใบประกาศนียบัตรมาแขวนคอเหมือนขิกเหมือนขอก็ได้ นี้เรียนเพื่อรู้จริงๆ ต้องรู้อย่างนี้
ธรรมของพระพุทธเจ้าจริงอย่างนี้แล ท้าทายด้วยการพิสูจน์ เอ๊า พิสูจน์ซิถ้าตั้งใจจะพิสูจน์จริงๆ จะเห็นความจริงจากการพิสูจน์ด้วยหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าโดยภาคปฏิบัติไม่สงสัย เรื่องความเกิดความตาย นรก สวรรค์ อย่าไปหาพิสูจน์ด้วยการด้นเดาคาดคะเน แล้วเอาเรื่องบ้าๆ บอๆ มืดๆ ดำๆ มาพูดกันหลอกกันไปวันยังค่ำหาความจริงไม่ได้ เหมือนกระต่ายตื่นตูม ขาหักไปเปล่าๆ นั่นแหละ ถ้าพิสูจน์เข้าหาความจริงด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมภาคจิตตภาวนา ความจริงมีอยู่ทำไมจะไม่รู้ไม่เห็น พระพุทธเจ้ารู้จากความจริงอันนี้ สาวกทั้งหลายรู้จากความจริงอันนี้แท้ๆ ธรรมท่านก็สอนไว้แล้วเพื่อความจริง ธรรมก็เป็นความจริงอยู่แล้ว ทั้งสอนเพื่อความจริงด้วย ความจริงก็มีอยู่ด้วย ผู้ปฏิบัติก็ปฏิบัติจริงด้วย ทำไมเราจะไม่รู้ไม่เห็น ต้องรู้ต้องเห็น ท่านผู้เรียนจบแล้วท่านแสนสบาย คือเรียนเรื่องของจิตจบแล้วแสนสบาย
ไม่มีอะไรจะสบายในโลกทั้งสามนี้เท่าการเรียนจิตจบ ท่านจึงว่าเหนือโลกโลกุตรธรรม ธรรมเหนือโลก ก็คือจิตเหนือโลกสมมุติทั้งปวงนั่นเอง แต่ก่อนอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลายทั้งวันทั้งคืนไม่มีการลดหย่อนผ่อนคลาย จิตเรียกร้องหาผู้ช่วยเหลือแสนทุกข์ทรมานอีกทางหนึ่ง เวลาได้รับการช่วยเหลือเต็มที่ก็หลุดพ้นไปได้โดยสิ้นเชิงไม่มีอะไรเหลือ เป็นอิสระเต็มตัวตลอดอนันตกาล
เอาละการแสดงธรรมเท่านี้ เหนื่อย |