ความสงบเป็นคุณค่าของใจ
วันที่ 9 กันยายน 2525
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระและฆราวาส     วัดป่าบ้านตาด  . อุดรธานี

วันที่     กันยายน   พุทธศักราช   ๒๕๒๕

“ความสงบเป็นคุณค่าของใจ”

 

(จากคณะมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ มหาสารคามมากราบหลวงตา)

พักเครื่องซะหน่อยแล้วค่อยเริ่ม วันหนึ่ง วันหนึ่ง รถออกวิ่งไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เดี๋ยวพวกหนึ่งมาติดเครื่อง เดี๋ยวคณะหนึ่ง รถต้องวิ่งเรื่อย วันนี้ติดเครื่องหลายหนนะ ตอนเช้า ฉันจังหัน เกือบจะพูดได้ว่าแทบทุกวัน แขกมามาก คนมามาก เต็ม วันเสาร์ วันอาทิตย์ แล้วบวกกับวันพระด้วยแล้ว ก็ยิ่งมาก เหมือนกับมีงานเต็ม อย่างงั้นก็ต้องได้พูดเรื่องอรรถ เรื่องธรรม นั้นแหละที่ว่า รถออกเบอร์หนึ่ง ออกวิ่ง ติดเครื่อง พวกญาติโยมติดเครื่อง ไม่มีญาติโยมเทศน์คนเดียวได้ยังไง นะโมตัสสะ คนเดียว เขาจะว่าหลวงตาบ้า เราก็ไม่อยากให้ลูกศิษย์ของเราเหมือนกับว่า ขายขี้หน้ากัน ครูบาอาจารย์เราเป็นบ้า นี้ใครอยากฟัง พ่อเป็นบ้า แม่เป็นบ้า อาจารย์เป็นบ้า ไม่น่าฟังทั้งนั้น มีเหตุที่พูดก็ต้องพูด เหมือนกับว่าติดเครื่องแล้ว บางวัน เรียกว่าทั้งวันก็ยังได้ วันเสาร์ วันอาทิตย์ คณะนั้นเข้า คณะนี้ออก ไม่ได้ดับเครื่อง วิ่ง ติดอยู่อย่างนั้น

 

ฟังเป็นยังไง มีความมุ่งหมายอยากฟังแง่นั้นแง่นี้ หรืออยากฟังภาคทั่ว ๆ ไป หรืออยากฟังอะไรบ้างก็ว่า (คณะมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒกราบเรียน : มีเรื่องอยากกราบเรียนหลวงปู่เป็นพิเศษ พอมีเวลา ๓-๔ นาที เพราะว่าต้องไปที่อุดร)  พระป่าไม่ค่อยเหมือนพระบ้าน ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วย เวลาติดเรื่องแล้วรถยังวิ่งตะพัดตะพือก็ยังมี อันนี้เวล่ำเวลาไม่ทราบเป็นยังไงนะ เวลาเทศน์ไปเทศน์ไปอาจลืมเวล่ำเวลา คงต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ทางนี้ก็เหยียบคันเร่งไปเรื่อย น้ำมันหมดก็ยังเหยียบคันเร่ง ไม่ถอย พระป่าเป็นอย่างงั้น ไม่งั้นก็ไม่เรียกพระป่า

(คณะมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒกราบเรียน : เรียนถามว่า พระอาจารย์มีญาติโยมมาเข้า ๆ ออก ๆ เป็นประจำ ไม่รู้ขาด ทุกวัน หลวงปู่มีวิธีทำให้ใจสบายได้ยังไง ผมจะได้เอาส่วนนั้นไปใช้บ้าง บางทีมีลูกศิษย์ลูกหามาถาม บางทีมันจะได้ไม่เกิดอารมณ์วุ่นวายบ้าง) 

ข้อนี้เราก็ไม่ยืนยันได้เหมือนกัน พระวัดนี้อาจเป็นพระที่วุ่นวายมากกว่าฆราวาสก็ยังได้ แม้นอยู่ในวัดนะ อย่าเข้าใจว่าเข้ามาอยู่ในวัดจะสงบทีเดียวนะ ไม่แน่นักนะ ต้องขึ้นอยู่กับอุบายการฝึกฝนอบรมตนเอง แต่สถานที่เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมได้ดี

 

ต่อไปนี้พูดธรรมะให้ท่านทั้งหลายฟังพอสมควรก่อนแล้ว หากท่านผู้ใดมีข้อข้องใจอะไร แล้วค่อยสนทนากัน ตามกาลควร ขณะฟังถ้าเราอยากจะเข้าใจเรื่องอรรถ เรื่องธรรมดี ให้ทำความรู้ไว้กับตัวเอง เมื่อทำความรู้ไว้กับตัวเอง ไม่ส่งไปนู้นไปนี้ จิตกับธรรมก็เข้าใจกันได้ สัมผัส สัมพันธ์เหมือนกับคนอยู่ในบ้าน มีแขกคนมาหาก็รู้เรื่อง ว่าใครไปมาธุระอะไร เป็นหญิงเป็นชาย รู้ ถ้าไม่อยู่ในบ้าน แม้จะเข้ามาขโมยของในบ้านก็ไม่รู้ จิตใจของเราเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของธาตุขันธ์ ถ้าจิตอยู่กับตัวฟังอะไรเราก็รู้เรื่องดีมาก

 

คำว่า ดี ทั้งโลก รู้กัน และต้องการกันทั้งนั้น ไม่ว่าวัตถุ สิ่งของ สัตว์ พาหนะ เพื่อนฝูง หญิง ชาย ดี เป็นสิ่งที่ต้องการกันทั้งนั้น อะไรถ้าเป็นของดีแล้วชอบทั้งนั้น นี่คือความรู้สึกของมนุษย์เราทั่ว ๆ ไป มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน และที่อาจมองข้ามอยู่บ้าง หรืออาจมองข้ามกันไปจำนวนมาก ก็คือลืมมองดูตัวเอง สิ่งนั้นดีก็รู้ ก็ชอบ สิ่งนี้ดีก็ชอบ คนนั้นดีก็ชอบ แต่เจ้าของดีหรือไม่ดี ไม่ค่อยสนใจดูมันก็ไม่ปรากฏของดี ให้เจ้าของเป็นที่ภูมิใจได้ เพราะฉะนั้น คำว่า ดี จึงยกเจ้าของเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อเจ้าของให้ดี ฟังอรรถ ฟังธรรมท่าน หรือเรียนหนังสือ ฟังอรรถ ฟังธรรมท่าน หรือเรียนหนังสือ ฟังอรรถ ฟังธรรม หรือเรียนหนังสือ ฟังอรรถ ฟังธรรมไปมากน้อย ก็น้อมเข้ามา เพื่อจะปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนดี ก็ย่อมดีขึ้นได้ในตัวของบุคคล

 

นี่ท่านทั้งหลายก็เป็นระดับหัวหน้า เป็นอาจารย์ มุ่งเสาะแสวงหาอรรถ หาธรรมก็เป็นความถูกต้องดีแล้ว ตามหลักของผู้ต้องการความเป็นคนดี และผู้เกี่ยวข้องดี เราแต่ละราย ละราย มีความเกี่ยวโยงไปถึงบริษัท บริวาร ลูกศิษย์ ลูกหามากมาย เพราะงั้นการปรับปรุงตัวเราให้เป็นคนดี มีเหตุผล จึงเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งสำหรับเรา   แบบพิมพ์สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้ามีแบบพิมพ์อันดีแล้ว สิ่งที่ตกออกไปจากแบบพิมพ์ สำเร็จออกไปจากแบบพิมพ์ย่อมเป็นของดี รูปร่าง ลักษณะจะเป็นแบบพิมพ์ เราเป็นครูเป็นอาจารย์ก็เป็นแบบพิมพ์อันหนึ่งของผู้น้อยที่ได้มาศึกษาอบรมจากเรา

 

การปฏิบัติตัวด้วยศีล ด้วยธรรม จึงทำให้คนดีได้ไม่สงสัย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความจริง ศีลธรรมเป็นของดีอยู่ดั้งเดิม เป็นของดีมาดั้งเดิม  ไม่เคยทำผู้หนึ่งผู้ใดล่มจม เสียหาย เพราะความมีศีลธรรมนี้เลย พระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาเอกสอนโลก ก็คือความเป็นคนดีเลิศมาแล้ว ด้วยการประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เป็นคนดี เมื่อเป็นคนดี สิ่งที่บรรจุอยู่ในองค์ของท่านล้วนแล้วแต่เป็นของดี เรียกว่า ธรรม นำธรรมเหล่านั้นมาสั่งสอนโลก คำว่าโลกนี้ไม่ใช่โลกมนุษย์เราเท่านั้น ที่เป็นภาระของพระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอนให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์  แม้เทวดา อินทร พรหม ยังต้องได้รับความอนุเคราะห์ ช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีของดี ท่านเหล่านั้นมีของดีสู้พระพุทธเจ้า คือไม่มากดีเหมือนพระพุทธเจ้า ไม่ดีเลิศเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีสิ่งที่ดีเลิศอยู่ภายในพระทัย คือพระทัยของท่านบริสุทธิ์ ธรรมกับใจที่บริสุทธิ์กลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เป็นธรรมชาติที่เลิศด้วยกัน

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดี เมื่อกระจายไปทางไหนจึงดีทั้งนั้น เหมือนอย่างของดีเอาไปขายที่ไหนไม่ค่อยล้าสมัย ไม่ตกข้าง ขายดิบขายดี เมื่อเป็นสินค้า เป็นของดี ถ้าเป็นสินค้า ถ้าเป็นของปลอมขายยากนอกจากคนโง่มาติดต่อ มาซื้อของปลอมจากเรา คนดีเขาจะหาซื้อตั้งแต่ของดีทั้งนั้น ของไม่ดีเขาไม่เอา ของปลอมเขาไม่เอา เอาแต่ของดี พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นศาสดาองค์แท้จริง ไม่ใช่ศาสดาจอมปลอม ธรรมที่พระองค์ทรงอุตส่าห์พยายามขุดค้นขึ้นมาได้ จึงเป็นธรรมที่เลิศ ประเสริฐ และธรรมเหล่านี้แลกระจายทั่วดินแดนแห่งชาวพุทธผู้นับถือทั้งหลาย มาตั้งแต่ครั้งตรัสรู้ทีแรก จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา สองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ธรรมนี้ก็ไม่เคยครึ ไม่เคยล้าสมัย เป็นธรรมที่ทันสมัย ล้ำยุค ล้ำสมัยตลอดไป ถ้าคนยังต้องการความจริงอยู่ ธรรมนี้จะไม่เป็นโมฆะ  นอกจากจิตใจของสัตว์โลกจะใฝ่ทางต่ำเสียมากมาย ยิ่งกว่าจะสนใจในทางที่ดี อาจเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ ศาสนาจะหมดจากโลกไป เพราะขาดความนับถือ ของจริงกลายเป็นของปลอมไป เห็นว่าเป็นของปลอมไป แต่ส่วนของปลอมนั้นยกยอปอปั้นให้เป็นของจริงขึ้นมา ของปลอมก็ทับถมของดี เช่นเดียวกันกับ มูลสด มูลแห้ง มันกลบทองคำทั้งแท่งไว้เช่นนั้น  ทองก็เป็นทอง มูลสดมูลแห้งก็เป็นมูลสดมูลแห้ง แต่อันนี้มีอำนาจมากกว่า กลบไว้หมด ไม่ให้เห็นของดีเสียด

 

ธรรมเป็นของเลิศของประเสริฐ แต่เมื่อสิ่งชั่วช้าลามก มันมีอำนาจมากกว่า มันกลบธรรมหรือลบล้างธรรมอันเป็นของจริงนั้น ไม่ให้ปรากฏในจิตใจของสัตว์โลก มีตั้งแต่สิ่งจอมปลอมทั้งหลายเต็มหัวใจ สิ่งนั้นก็เข้าใจว่าเป็นของดิบของดีไปเสีย ยกยอปอปั้นกันขึ้นมา ผลของมันก็เกิดความเดือดร้อนแก่โลก ไม่ค่อยสนใจ เพราะฝ่ายต่ำมันมีอำนาจ มันเกลี้ยกล่อมจิตใจของสัตว์โลก ให้เคลิ้มไปตาม ไม่ให้เห็นโทษของมันได้เลย เมื่อเป็นเช่นนั้นธรรมก็ไม่เป็นประโยชน์สำหรับโลก แม้ธรรมจะมีคุณค่าเต็มอยู่ในธรรมก็ตาม  แต่ก็ไม่สามารถกระจายไปสู่โลกที่ไม่สนในนั้นได้ แต่สำหรับเราทั้งหลายเป็นผู้ต้องการความจริง ดีย่อมทราบว่าดี ชั่วยอมรับว่าชั่ว การปรับปรุงแก้ไขตนเอง ก็ปรับปรุงแก้ไขไปตามความรู้สึกที่ธรรมท่านแสดงไว้ อันใดที่เห็นว่าไม่ดี แต่เป็นความเสียหายแก่ตนและส่วนรวม เราก็พยายามแก้ไขดัดแปลง ถอดถอนละเว้นสิ่งนั้น แม้จะอยากทำเพียงไร อยากพูดเพียงไร อยากคิดเพียงไร ก็หักห้ามกลั้นกลางเอาไว้ ไม่ให้ทำ ไม่ให้พูด ให้คิด ให้ทำ ให้พูดแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวม นี่ชื่อว่าผู้ดัดแปลงตนเองเพื่อความเป็นคนดี

 

ของดีจะปรากฏจากการดัดแปลง แก้ไข หรือบำรุงรักษานี้แล เป็นสิ่งสำคัญกว่าอื่น ความต้องการเฉย ๆ ความอยากได้เฉย ๆ ยังไม่เกิดประโยชน์ ต่อเมื่อได้เริ่มลงมือทำลงไปจึงได้เกิดประโยชน์ ตะกี้นี้ได้พูดถึงเรื่องของดี ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ คนดีเราก็ชอบ สามีดีเราก็ชอบ ภรรยาดีเราก็ชอบ ลูกดีเป็นที่พึงใจ หลานดีเป็นที่พึงใจ สมบัติ บริวารมีแต่ของดิบของดีเป็นที่พึงใจ คำว่าของดีไม่เคยล้าสมัย เพราะฉะนั้นการประพฤติตัวให้เป็นคนดีนี้ จึงไม่เป็นสิ่งที่ล้าสมัยเช่นเดียวกัน แม้ใครจะตำหนิติเตียน ซึ่งออกมาจากฝ่ายต่ำของจิตใจผู้นั้น ๆ มาติเตียนคนประพฤติปฏิบัติตัวดี

 

เข้าวัด เข้าวา จำศีล นั่งสมาธิภาวนา ว่าเป็นคนครึ คนล้าสมัยก็ตาม นั่นเป็นเรื่องของมารกับศาสนาย่อมเป็นข้าศึก คอยลบล้างกันอยู่เสมอ ให้เราทำความเข้าใจเช่นนั้น จึงถูกต้องตามหลักศาสนธรรมที่ทรงสอนไว้ตามหลักความเป็นจริง เพราะอธรรม มีอำนาจขึ้นไปก็ย่อมมีอำนาจลบล้างธรรมได้โดยไม่ต้องสงสัย คนชั่วมีจำนวนมากก็สามารถลบล้างคนดีไปได้ เกิดความด้าน ความอาย ความกระดากกระเดื่องในการที่จะประพฤติตัวให้เป็นคนดี ให้เหลวแหลก แหวกแนวไปตามเขานั้น ถือว่าเป็นเกียรติ ถือว่าเป็นความดี นี่เป็นเรื่องของฝ่ายต่ำ มักจูงมักลากคนที่มีนิสัยฝ่ายต่ำอยู่แล้ว ให้เป็นไปในทางนั้น และผู้เป็นคนดี เมื่อกำลังไม่พอ หรือไม่พินิจพิจารณาพอเหมาะ พอสมควรก็อาจจะล้มไปตามเขาก็ได้

 

เพราะฉะนั้นหลักใหญ่ที่เราจะยึดให้เป็นคนดีได้ตลอดไป ในสถานที่ อิริยาบถต่าง ๆ ตลอดที่จะทำคนอื่นให้ดีด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับหลักการปฏิบัติ ถือหลักธรรมเป็นกฎ เป็นเกณฑ์  ถือหลักธรรมเป็นที่ฝากเป็นฝากตาย เป็นที่ยอมรับ ไม่ถือสิ่งต่าง ๆ ความติฉินนินทา ความชมเชย สรรเสริญต่าง ๆ มาเป็น ยิ่งกว่าหลักความจริง ผู้นั้นก็ดำเนินตนไปได้ด้วยความสะดวกกาย สบายใจ เพราะเราเป็นผู้หวังพึ่งตนเอง เรารับผิดชอบในตัวของเราเอง ไม่ใช่คนอื่น คนใดที่จะมารับผิดชอบเรา เราเป็นผู้รับผิดชอบเรา สิ่งใดที่จะเป็นภัยต่อเรา เราต้องพยายามระมัดระวังรักษา หรือกำจัดปัดเป่าเอาไว้ ไม่ให้เกิดขึ้น มีขึ้น สิ่งใดมีผล มีประโยชน์แก่ตน พยายามสั่งสมสิ่งนั้น งานนั้น กาลนั้นให้เกิด มีขึ้นภายในตน นี่ชื่อว่าผู้รับผิดชอบตน เหมาะสมอย่างแท้จริง

 

ในเบื้องต้น มีข้อข้องใจถึงเรื่องความสงบ ความสงบก็เป็นคู่แข่งกับความวุ่นวาย ส่ายแส่ ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นจากอารมณ์ต่าง ๆ ที่จิตคิดขึ้นมา เพราะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ที่สัมผัสสัมพันธ์กัน ตาได้เห็นสิ่งที่ไม่พอใจ จิตใจก็ปรุงแต่งให้มีความเดือดร้อน ก่อกวนตัวเอง ฟังเสียงไม่เป็นที่พึงใจ ก็เกิดอารมณ์ให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ภายในใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่กวนจิตใจให้เกิดความวุ่นวาย ส่ายแส่ และเกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ ส่วนความสงบนั้นเป็นธรรมประเภทหนึ่ง พยายามรักษาจิตใจ อย่าให้วุ่นวายกับสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย สิ่งใดที่จะเป็นไปเพื่อความสงบแก่ใจ นำสิ่งนั้นเข้ามาใกล้ชิดติดแนบกับใจ เช่น เราต้องการความสงบในเวลานี้ เรานั่งภาวนา หรือยืนภาวนาก็ได้ ในอิริยาบถทั้ง ๔ ได้ทั้งนั้น

 

พยายามนำธรรมบทใด ก็ตามมาเป็นอารมณ์ของใจ เช่น พุทโธ พุทโธ เป็นต้น ไม่เสียดายความคิดต่าง ๆ ซึ่งเคยก่อกวน ยุแหย่ก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายเหล่านั้น  แต่คิดเฉพาะอารมณ์ที่จะเกิดความชุ่มเย็นแก่จิตใจ เช่น อารมณ์แห่งธรรม คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือธรรมบทใดก็ตาม เป็นต้น ให้จิตได้ยึดนั้นเป็นหลัก ใจเมื่อมีหลักยึดจะเกิดความสงบขึ้นภายในตัว ผิดกับยึดอารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัย เข้ามาสู่ใจเป็นไหน ๆ อารมณ์ที่เป็นภัยก็เหมือนยาพิษ อยู่ในธรรมชาติของมัน มันก็เป็นพิษอยู่ในตัวของมัน แต่มันไม่แสดง แต่เมื่อมาเกี่ยวข้องกับเรา รับประทานเข้าไปมากน้อย มันก็แสดงพิษให้เห็น อารมณ์ที่เป็นภัย มันก็เป็นภัยอยู่ตามหลักธรรมชาติของมัน เมื่อเราเข้าไปเกี่ยวข้องอารมณ์นั้นเข้ามาสู่ใจของเรา ใจของราก็กลายเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา ท่านจึงให้หยุด ให้ระงับ ในขณะที่จิตคิดเช่นนั้น ให้หักห้ามจิตเข้ามาสู่ธรรม อันเป็นอารมณ์แห่งความสงบ ใจย่อมได้รับความสงบ

 

คำว่า ใจสงบ เป็นอย่างไร อาจไม่ได้ทราบก็มี แต่จะทราบได้ทั่วหน้ากันก็คือใจวุ่นวาย เพราะใคร ๆ ก็วุ่นวายในโลกอันนี้ เราไม่สงสัย ไม่ว่าหญิงว่าชาย ไม่ว่าผู้ใหญ่ ผู้น้อย ไม่ว่าคนเรียนมาก เรียนน้อย  ไม่ว่าคนมีความรู้มาก คนมีความรู้น้อย จะไม่พ้นอารมณ์เหล่านี้เข้าไปก่อกวนได้เลย เพราะฉะนั้นจิตต้องว้าวุ่น ขุ่นมัวตาม ๆ กัน เนื่องจากสิ่งที่จะทำให้จิตได้รับความสงบ ร่มเย็นนั้น เราไม่ค่อยได้ใส่ใจ ไม่ค่อยได้ศึกษา เราไม่ได้อบรม เราไม่ได้ปฏิบัติ ผลแห่งความสงบจึงไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ความสงบของใจจึงไม่ค่อยรู้เรื่องกัน ต่อเมื่อได้ประพฤติปฏิบัติดังที่กล่าวมาย่อ ๆ นี้ นำมาเป็นอารมณ์ของใจ ระมัดระวังรักษาใจ อย่าให้ไปคิดในสิ่งที่เป็นพิษ เป็นภัย แต่ให้คิดในสิ่งที่เป็นคุณโดยถ่ายเดียวเท่านั้น แต่ก็จะได้รับความสงบ ร่มเย็น

 

คำว่า ใจสงบ มีหลายขั้น สงบพอให้สบาย ๆ แค่นั้นเราก็พอใจสำหรับคนที่ไม่เคยปรากฏความสงบขึ้นภายในใจ เพียงใจสงบเบาะ ๆ เท่านั้น ก็สบายแล้ว เมื่อเกิดความสบาย เพราะความสงบเป็นต้นเหตุ ใจย่อมมีกำลัง เกิดความเชื่อในเหตุที่ตนกระทำ เพราะความเชื่อผล คือความสงบเย็นใจซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แล้วก็จะมีความอุตส่าห์พยายามขึ้นไปโดยลำดับ จนกลายเป็นความสงบละเอียดลออเข้าไป นี่คือความสงบของใจเป็นเช่นนี้ ตามหลักธรรมท่านว่า สมณะธรรม ธรรมคือความสงบทางใจ หรือ สมาธิธรรม เป็นความสงบและความแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่วอกแวกคลอนแคลน มีฐานความมั่นคงเป็นที่ตั้งเป็นที่รับอยู่ นี่เรียกว่า จิตสงบ

 

จากสงบแล้วก็เป็นพื้นฐานแห่งสมาธิขึ้นมา นี่จะเห็นได้ที่ใจไม่มีที่อื่น และจะเกิดได้ด้วยวิธีการทำความสงบ เช่น สมถะธรรม ได้แก่การภาวนา เมื่อใจสงบแล้ว จิตใจย่อมมีอาหารเป็นเครื่องดื่ม ความเย็นใจ สบายใจ มีธรรมารส เป็นที่เสวยของใจ ใจย่อมไม่วุ่นวายกับสิ่งภายนอกซึ่งคอยยุแหย่ก่อกวนมากาลก่อน มีความรักใคร่ใส่ใจต่อความสงบ มีความรักใคร่ ใส่ใจต่อธรรมที่ทำให้เกิดความสงบ โดยสม่ำเสมอ ใจนั้นเย็น ไม่ว่าใจของผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ว่าใจของใครก็ตาม ถ้ามีความสงบร่มเย็นแล้วย่อมทราบตัวเอง และมีความกระหยิ่ม พอใจในความสุข และมีแก่ใจที่จะอบรมจิตใจของตนให้มีความสงบให้แนบแน่น หรือละเอียดลออยิ่งกว่านั้นไปโดยลำดับ

 

หลักธรรมท่านสอนเพื่อความสุขแก่สัตว์โลก ท่านสอนที่ใจเป็นสำคัญก่อนอื่น ทีนี้ใจเมื่อได้รับสงบแล้ว ความโกรธก็ไม่แสดงง่าย  ๆ ความโลภก็ไม่แสดงออกมาอย่างผาดโผน ความหลงแม้ยังมีอยู่ภายในจิตใจ ก็ไม่แสดงความหลงจนเป็นที่น่าเกลียด น่าอิดหนาระอาใจ น่าสลดสังเวช ความโลภ ความโกรธ ความหลงของคนมีธรรมกับคนไม่มีธรรมนั้นต่างกัน คนไม่มีธรรมหาที่หักห้ามไม่ได้ ถ้าเป็นรถก็ไม่มีเบรก มีแต่คันเร่ง  สำหรับคนมีธรรมเหมือนรถที่มีเบรก มีคันเร่ง ไปพร้อม ๆ กัน ควรหักห้าม หักห้ามไว้เสีย ควรปล่อยก็ปล่อย ควรเร่งก็เร่ง ในหน้าที่การงาน เกิดผล เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวมแล้ว เร่ง งานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความราบรื่นดีงาม

 

งานใด กิจใจเป็นไปเพื่อเสื่อมเสียแก่ตน และผู้อื่น ก็เหยียบเบรก หรือห้ามล้อไว้เสีย ยับยั้งกันไว้ หรืองดเลย เพราะงั้น ความโลภก็ดี   ความโกรธก็ดี   ความหลงก็ดี  ความรัก ความชังก็ดี  ของคนไม่มีธรรมกับคนมีธรรมนั้นจึงต่างกันอยู่มาก เพราะคนหนึ่งมีสิ่งยับยั้ง มีเบรก มีสติ มีปัญญา คอยพินิจพิจารณา ระมัดระวังเสมอ ไม่ให้ผาดโผน โลดแล่น คนเราก็สวยงาม สงบร่มเย็นด้วยการหักห้าม แม้จะยังละไม่ได้ ก็ยังหักห้ามใจได้ พองามตางามใจ ธรรมเป็นสิ่งที่ทำบุคคลให้งามอย่างนี้ ไม่ใช่งามเพราะรูปร่างกลางตัวเฉย ๆ ความที่งามทั้งรูปร่างกลางตัวด้วย

งามทั้งจิตใจมีธรรมเป็นเครื่องประดับ งามด้วยมารยาทแห่งศีลธรรมที่เข้าเคลือบแฝงด้วย ก็ยิ่งงามเพิ่มคุณภาพ คุณสมบัติของผู้นั้น มากยิ่งขึ้น

 

ท่านจึงสอนให้มีธรรมเป็นเครื่องประดับกาย วาจา ใจ มารยาท โลกเราถ้ามีธรรมเคลือบแฝงอยู่ เมื่อไหร่แล้วยังเป็นโลกที่น่าดูน่าชม ถ้าเป็นแดดก็มีร่มไม้ มีเครื่องป้องกันแดด ป้องกันฝน ไม่ปล่อยให้แผดเผาซะอย่างเดียว ผิดกับคนที่ไม่ธรรมเป็นไหน ๆ  ความมีคุณค่า ความสงบเย็นใจจึงหนีธรรมไปไม่ได้ ใครต้องการความสุข ความเจริญมากน้อยเพียงไร ความเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะยังความสมหวังแก่คนผู้นั้นไปโดยลำดับลำดา  แต่ความต้องการโดยหาเหตุผล หาอรรถ หาธรรมไม่ได้ ส่วนมากความต้องการ ชนิดเหล่านั้นมักจะเสริมคนให้เสีย ถ้าว่าอยากได้ก็ไม่มีเมืองพอ ไม่มีการหักห้าม ไม่มีความพอดี ไม่มีคำว่าควรไม่ควร อยากได้ก็อยากดะไป โลภก็โลภดะไปเลย โกรธก็โกรธดะไปเลย ยิ่งผู้มีอำนาจด้วยแล้วถืออำนาจเป็นใหญ่เป็นโต ไม่คำนึงถึงความผิดถูก ใช้อำนาจดะเลย เสีย

 

แต่ผู้มีธรรมไม่ใช่อย่างงั้น นำมาใช้ให้เหมาะสมต่อหน้าที่ การงานและบุคคล ตลอดสังคมนั้น  เรียกว่า ธรรม  ธรรมอยู่ในสถานที่ใด บุคคลใด ย่อมทำความเหมาะสม ให้บุคคลและสังคมนั้น ๆ เป็นลำดับลำดาไป ธรรมจึงไม่ควรละเว้นสำหรับคนที่ต้องการสงบน่าดูในตน และสังคม ตลอดถึงชาติบ้านเมือง ถ้าปราศจากธรรม คือความเหมาะสม ความสงบ ร่มเย็น ความพอดีพองามเสียอย่างเดียวเท่านั้น โลกนี้ก็ล่มจมไปได้ ดังพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าพุทธันดร“ภัทธกัป”  “สูญกัป” คำว่า “ภัทธกัป” เป็นภัทรกัปที่เจริญด้วยศีลด้วยธรรมในหัวใจมนุษย์“สูญกัป”นั้นไม่มีเลยคำว่าศาสนา บาปไม่มีนความรู้สึกของสัตว์โลก บุญ นรก สวรรค์ ไม่มีความรู้สึกในหัวใจสัตว์โลก ลบล้างไปหมด บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี  สวรรค์ไม่มี

 

หัวใจประเภท ชนิดที่ ความจริงอะไรไม่มีเลย นั่นแหละ คือเป็นหัวใจที่ร้อนที่สุด ท่านเรียกว่า “สูญกัป” คือ เป็นเวลาที่ว่างจากศีลจากธรรม แล้วหาความสุขไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่สั่งสมความทุกข์ร้อนขึ้นภายในตน ให้เจริญแทนที่ธรรมทั้งหลาย จึงกลายเป็นโลกที่ร้อนแรงตามกัน   คำว่า “ภัทธกัป” ก็หมายถึง ช่องเวลาที่มีศาสนธรรม คนมีความสนใจใคร่ธรรม ยอมรับความจริง ที่มีอยู่ เป็นอยู่ทั้งหลาย แล้วปฏิบัติ ควรละ ควรถอน  ควรสั่งสมอบรม ให้ดีขึ้นตามหลักความจริง  ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่วแล้ว โลกนั้น  หรือเวลานั้น  ช่วงนั้น ก็เป็นช่วงที่เจริญ เจริญในหัวใจมนุษย์  มนุษย์มีศีลธรรม ยอมรับความจริง สำหรับกิเลสฝ่ายต่ำ ซึ่งเป็นข้าศึกของธรรม และเป็นข้าศึกของเราเองนั้น มันไม่เคยยอมรับความจริง  เพราะกิเลสนั้นเป็นตัวปลอมอยู่แล้วทั้งตัวมันหมด  ไม่ว่ากิเลสประเภทใด  ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความเกลียด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำลายจิตใจของสัตว์โลก

 

แต่ธรรมพยายามละสิ่งที่เป็นภัยทั้งหลายเหล่านี้ แม้ละไม่ได้ ก็ให้มียาป้องกัน ให้มียารักษา จนกระทั่งถึง รักษาให้หายขาด นี้ไม่รุนแรง เป็นเครื่องบังคับ กำกับกันอยู่ตรงนี้ เรื่องของกิเลสจะไม่มีความพอดี เช่นความโลภ โลภขนาดไหนจึงจะพอดี กับความต้องการของกิเลส ไม่เคยมี เหมือนกับไฟได้เชื้อ เราไสเชื้อเข้าไปสู่ไฟมากน้อยเพียงไร  ไฟไม่มีทางดับด้วยเชื้อ แต่จะลุกลามไปโดยลำดับ ลำดับ ตามที่ได้เชื้อมากน้อย การถอยเชื้อออกเสียไฟจะระงับดับลงได้ การถอยสิ่งที่ไม่ดี คือ ไม่ยอมทำ ลดการกระทำไม่ดี นั้นให้น้อยลงโดยลำดับ ก็เท่ากับเราถอยเชื้อออกจากไฟ จิตใจก็ไม่ลุกลาม ความอยากก็ไม่รุนแรง ความโกรธ ก็มีเหตุ มีผล มีที่ยับยั้งชั่วตวง พอเหมาะ  พอสม

 

พระเดชก็ใช้พอดี พระคุณมีเป็นพื้นฐาน พระคุณคือความดีประจำจิตใจ หน้าที่การงาน การติดต่อกับสังคมมากน้อย ผู้มาเกี่ยวข้อง  เป็นพระคุณ  พระเดชเวลาจะใช้ก็ใช้ตามความจำเป็น จะใช้อำนาจก็ไม่นอกเหนือไปจากอำนาจของกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎข้อบังคับของศีลธรรม ดำเนินไปตามนั้นก็ไม่ผิด นี่เวลาจะใช้พระเดช ก็เป็นอรรถ เป็นธรรม พระคุณก็มี ไม่มีพระเดชแบบป่า ๆ เถื่อนอย่างงั้น นั่นแหละพระเดชของกิเลส มันเป็นแบบป่า ๆ เถื่อน ๆ ทำคนให้เสียหาย ทำคนให้บอบช้ำ ทำคนให้เคียดแค้น ทำคนให้ก่อกรรมก่อเวรแก่กัน เพราะอำนาจของกิเลส มีจำนวนมาก ถ้าไม่มีธรรมเข้าแทรก  ถ้ามีธรรมเข้าเป็นเครื่องแก้ หรือ เคลือบแฝง หรือเป็นเครื่องค้ำประกันแล้ว พระเดช พระคุณไปด้วยกันมาแต่กาลไหน ๆ  ใช้ได้ทั้งนั้น ใช้กันมาตลอด  ทีนี้ย้อนเข้ามาหาตัวเรา ที่จะให้เป็นคนดี มีความสงบ ร่มเย็นภายในตัวของเรา ก็พึงน้อมธรรมเข้ามาปฏิบัติต่อสิ่งเลวร้ายทั้งหลายที่มีอยู่ภายในจิตใจ

 

ความโลภเป็นสิ่งเลวร้ายอันหนึ่ง ทำให้จิตใจวุ่นวายส่ายแส่ เช่นอย่างคนเราสองคนนั่งอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งไม่มีความโลภ อยู่เฉย ๆ สบาย คนนี้สงบ   คนหนึ่งมีความโลภภายในจิตใจ คนนั้นเดือดร้อนมาก ระส่ำระสาย วุ่นวายไปหมดภายในจิตใจ คนหนึ่งไม่โกรธ คนนั้นสงบเย็น

คนหนึ่งโกรธอยู่ภายในจิตใจ แม้ไม่แสดงออกมาก็เป็นฟืนเป็นไฟเผาอยู่ที่หัวใจ สิ่งนี้จึงไม่ใช่ของดีความหลงงมงายก็เหมือนกัน หาเหตุหาผลไม่ได้ หลงตัวจนลืมเนื้อลืมตัว ลืมดี ลืมชั่ว ลืมความพอดีพองามไปหมด นี่ก็ไม่ดี เราเอามาเทียบเพียงคนสองคนอยู่ด้วยกัน  คนหนึ่งแสดงความโลภออกมาจากกำลัง จากอำนาจของความโลภ กับคนหนึ่งไม่โลภ คนทั้งสองใครน่าดูกว่ากัน คนหนึ่งไม่มีความโกรธ  คนหนึ่งความโกรธเต็มหัวใจ แล้วแสดงออกมาทางกิริยาอาการอีกด้วย คนทั้งสองใครคนไหนน่าดูกว่ากัน

 

แล้วย่นเข้ามาหาตัวของเรา ขณะที่โลภจิตใจของเราสบายไหม ไม่สบายเลย ขณะที่โกรธจิตใจของเราสบายไหม ไม่สบายเลย ขณะที่ไม่โลภนั้นแลเป็นเวลาที่สบาย  ขณะที่ไม่โกรธนั้นแลเป็นขณะที่สบาย  ขณะที่ไม่รักนั้นแลเป็นขณะที่สบาย   ขณะที่ไม่ชังนั้นแลเป็นขณะที่สบาย ไม่ใช่ขณะโกรธเป็นขณะสบาย ขณะโลภเป็นขณะสบาย  ขณะรักเป็นขณะสบาย  ขณะชังเป็นขณะสบาย  สิ่งเหล่านี้เป็นของที่เคยมีอยู่ในหัวใจของโลกแล้ว  ถ้าสิ่งเหล่านี้ทำให้โลกไดรับความสบายแล้วโลกนี้เป็นโลกที่สบายมานานแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องแนะนำสั่งสอนเพื่อการละการถอนกันเลย ก็เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ดี ท่านจึงได้สอน เมื่อมันจำเป็นจำใจ มันมีอยู่ มันแก้ไม่ได้ก็มียาป้องกันมัน รักษาไม่ให้มันลุกลามมากไป  ถ้าควรจะแก้ไข หรือรักษาได้ให้มันขาดก็ยิ่งเป็นของดี เหมือนอย่างคนเป็นโรค  โรคชนิดไหนก็ตาม ขึ้นชื่อว่าโรค ย่อมหาความสบายกายภายในกายภายในใจไม่ได้ จึงต้องหายามารักษา เมื่อยามารักษาไม่หายก็ต้องพยายามรักษามันไป แต่ต้องการให้หายขาดเป็นเหมาะที่สุด

 

เมื่อโรคมันหายขาดแล้ว เป็นยังไง คนนั้น สบายมั้ย สบาย  โรคภายในจิตใจก็เหมือนกัน โรคคือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ความรัก  ความชัง  ความเกลียด เป็นโรคเสียดแทงหัวใจทั้งนั้น เมื่อยังไม่ได้ ยังไม่หายก็พยายามรักษาอย่าให้มันลุกลามมากไป  ถ้าควรรักษาให้หายได้ เป็นยาวิเศษที่สุดแล้ว  เป็นคนวิเศษที่สุดแล้ว รักษาให้หายได้แล้ว สบายแสนสบาย  เขาโลภเราไม่โลภ เราสบาย   เขาโกรธเราไม่โกรธ เราสบาย  เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขย่า ก่อกวนจิตใจให้ผิดปกติทั้งนั้น  ถ้าเป็นน้ำ แม้จะเป็นน้ำใสก็ตาม เมื่อถูกกวนเสมออย่างน้อยต้องขึ้นฟอง ถ้ามีตะกอนอยู่ภายใต้ก้นโอ่งด้วยแล้วก็ขุ่นไปหมด

 

จิตใจเมื่อถูกรบกวนอยู่เสมอด้วยของสกปรกทั้งหลายดังที่กล่าวมานี้ จิตใจย่อมขุ่นมัว จิตใจขุ่นมัวไม่ใช่ของดี ทำตัวให้เกิดความทุกข์มากมายก่ายกอง กวนมากเท่าไหร่ยิ่งเกิดความทุกข์มาก แล้วไร้ค่าด้วยจิตใจดวงนั้น หาคุณค่าไม่ได้เลย เพราะงั้นจึงได้ต้องระมัดระวังรักษาสิ่งที่ไม่มีคุณค่า อย่าให้มันมายุ่งกวนจิตใจจนกลายเป็นใจที่หาคุณค่าไม่ได้ เราพึงรักษาด้วยศีลด้วยธรรม  นี่เป็นสิ่งที่ดีงาม ขอให้ทุกท่านนำนี้ไปประพฤติปฏิบัติ  คำว่า ความสงบเย็นใจนั้น พระพุทธเจ้า ไม่มีใครที่จะมีพระเมตตายิ่งกว่าพระองค์ในสามแดนโลกธาตุนี้ ตรัสรู้ธรรมก็รู้อย่างถึงใจ เห็นโทษทั้งหลายก็เห็นโทษอย่างถึงใจ เห็นคุณแห่งธรรมทั้งหลายก็เห็นอย่างถึงใจ   ความถึงใจทั้งโทษและคุณย่อมเป็นพลังของใจที่จะให้มีพระเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย

 

เพราะฉะนั้นการประกาศศาสนธรรมแก่สัตว์โลก จึงทรงสั่งสอนด้วยประทานธรรมไว้ด้วยพระเมตตาล้วน ๆ ไม่มีหวังสิ่งตอบแทนใดแก่สัตว์โลกเลย ก็คือพระพุทธเจ้านั้นเอง  พระพุทธเจ้าทรงค้นธรรมมาให้พวกเราทั้งหลายได้รู้จักดี จักชั่ว บาป บุญ คุณ โทษ  ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย

และไม่มีใครที่จะมีความรู้ ความฉลาด ความสามารถในการค้นคว้าสิ่งเหล่านี้หรืออรรถธรรมทั้งหลายมาสั่งสอนโลกได้อย่างพระพุทธเจ้าเลย เราเพียงได้รับโอวาทคำสั่งสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อกำจัดความชั่ว ความไม่ดีทั้งหลายออกจากตนเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นความลำบากมากไปแล้ว เราจะสิ้นศาสนาภายในจิตใจโดยไม่ต้องสงสัย  ศาสนาหมดสิ้นภายในจิตใจนี้จะมีแต่ไฟลุกลามอยู่ภายในหัวใจทั้งกลางวันกลางคือ กลายเป็นโลกันตนรกขึ้นภายในจิตใจโดยไม่ต้องสงสัย

 

เพราะฉะนั้นหัวใจเราทุกคนไม่ต้องการโลกันตนรก นอกจากต้องการสวรรค์ วิมาน

ให้เกิดขึ้นภายในใจ ด้วยความสุข ความเย็นใจเท่านั้น ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเหตุนี้ธรรมจึงเป็นของจำเป็นสำหรับเราทุกคน สมกับพระพุทธเจ้าประทานไว้ด้วยพระเมตตาล้วน  ๆ นำธรรมเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติในจิตใจของเรา  ความสงบของจิตใจเราจะเห็นเป็นของแปลกประหลาดและอัศจรรย์อยู่มาก ในเมื่อเราไม่ได้รับความสงบเลย มีแต่ความฟุ้งซ่าน วุ่นวาย ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงหลับ วันหนึ่ง คืนหนึ่งหาความสงบไม่เจอ เพราะเราไม่ได้หา เราไม่รู้วิธีหา เมื่อท่านแนะแนวทางแล้วเรานำไปประพฤติปฏิบัติแล้วจะเกิดความสงบ เย็นใจขึ้นมา นั้นแหละ คุณค่าของใจ และคุณค่าของตัวเรา และคุณค่าของศาสนาจะปรากฏขึ้นในเวลาที่เราปรากฏความสงบ เย็นใจนั้นแล

 

แล้วส่วนปัญญาอะไรที่ท่านอธิบายไว้เป็นธรรมะขั้นสูงนี้ยังไม่อธิบาย อธิบายตั้งแต่เพียงความสงบเย็นใจของเรานี้เป็นพื้นฐานอันดีอยู่แล้ว ขอให้ทุกท่าน นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นความสุขของเรา ก็จะเป็นความสุข ความเจริญแก่ท่านทั้งหลาย การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร จึงขอยุติเพียงเท่านี้ และท่านผู้ใดมีข้อข้องใจจะถามก็ถามได้

 

เปิดดูข้อมูล วันต่อวัน ทันต่อเหตุการณ์ หลวงตาเทศน์ถึงเรื่องอะไร ทาง internet www.luangta.com

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก