ทุกข์เพราะดิ้นหาสิ่งภายนอก
วันที่ 20 มีนาคม 2545
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

ทุกข์เพราะดิ้นหาสิ่งภายนอก

ปรกติเราไม่ค่อยเป็นอารมณ์กับทางพระมากกว่าโรงพยาบาลนะ พระนี้ปรกติผู้เสาะแสวงหาธรรมท่านอยู่ด้วยความเขียม ๆ ทั้งนั้น ขาดแคลน ๆ เป็นความสมัครใจของท่านนะ ไม่ใช่ไม่มี ขาด ๆ เขิน ๆ นะ เป็นความสมัครใจของท่าน เวลาออกบำเพ็ญยิ่งเขียมยิ่งอดอยาก เจ้าของสมัครอดเอง ถ้าอยู่ธรรมดานี้ก็พอดีและเขียม นั่นพอเหมาะสำหรับพระปฏิบัติ ให้มีเขียม ๆ แล้วอย่างสูงก็พอดี แต่สำหรับวัดป่าบ้านตาดมันพิลึก มันท่วมเสียจนพระจะตายกันทั้งวัด อาหารการกินทุกอย่างท่วมมาตลอด ก็เราเที่ยวทั่วประเทศไทยนี่ไม่ใช่ธรรมดา เห็นหมดเกี่ยวกับเรื่องพระ พระปฏิบัติ พระปริยัติ เราเข้านอกออกในตลอด รู้ตลอดทั่วถึง เพราะฉะนั้นถึงรู้ความเป็นอยู่ของพระ การปกครองพระ ระหว่างปริยัติกับปฏิบัติได้ดี

ผู้ที่ท่านตั้งหน้าตั้งตาไปบำเพ็ญจริง ๆ ไม่มีแหละคำว่าสมบูรณ์ เราพูดอย่างยันเลยบอกไม่มี มีแต่เขียม ๆ ลดลง ๆ ที่จะพอมีรู้สึกจะมีก็น้อยมากนะ คือจิตมุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างเดียว อะไรก็ตามเถอะถ้าความมุ่งมั่นของจิตได้จดจ้องลงตรงไหนแล้ว นั่นละเป็นกำลังใหญ่โตไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคได้ง่าย ๆ ถ้ามุ่งมั่นต่อธรรม จะเป็นความทุกข์ความลำบากขนาดไหนก็ตาม มันไม่ได้อยู่กับความทุกข์ความลำบาก ท่านอยู่กับจุดที่มุ่งมั่นพุ่ง ๆ ทุกข์ยากลำบากท่านพอถูพอไถทั้งนั้นเพื่อจุดนั้น ๆ นี่เราพูดถึงฝ่ายดี ฝ่ายชั่วไม่ต้องพูดแหละ มันไม่เคยอ่อนตัวเรื่องความชั่ว มันดึงดูดหัวใจของสัตวโลกให้อ่อนลงตามมันตลอด ที่จะให้มันผ่อนสั้นผ่อนยาวนี้ไม่มีเลยเรื่องกิเลส ให้เท่าไรยิ่งเสริมให้มันมีกำลังมากขึ้น แล้วยิ่งหยาบ ๆ เรื่อย

ธรรมะท่านมีความพอ มันผิดกันนะ สำหรับกิเลสแล้วไม่มีคำว่าพอ เหมือนเชื้อไฟเสริมไฟนั่นแหละ ไสเข้าไปซิส่งเปลวขึ้นจรดเมฆ คือได้เครื่องส่งเสริม ถ้าเราอยากได้อันนั้น ได้อันนั้นมาแล้วมันคืบเรื่อยนะ ได้อันนั้นมาแล้วพออย่างนี้ไม่มี ถ้าธรรมแล้วพอ ต้องการอย่างนั้น ๆ พอถึงนั้นแล้วพอ พอเป็นขั้น ๆ ไป เรียกว่าธรรม

เราพูดถึงเรื่องอาหารของพระปฏิบัติ จิตท่านไม่ได้มาอยู่กับอาหารการกิน พอเยียวยา ๆ วันหนึ่งพอยังอัตภาพให้เป็นไปเพื่อธรรม ๆ อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เป็นกังวลกับอาหารการบริโภค สำหรับพ่อแม่ครูจารย์มั่นนี้ แหม เด่นเอามากในสมัยปัจจุบันไม่มีเลยนะ มีองค์เดียวนี้เท่านั้นที่เป็นคติตัวอย่างได้เป็นอย่างดีและดีเยี่ยม คือหลวงปู่มั่น การอยู่ด้วยความสงบสงัดนี้เป็นประจำมาเลย ตั้งแต่ท่านเริ่มบวชแล้วออกปฏิบัติ เป็นประจำ หาแต่ที่สงบสงัดในป่าในเขา ๆ ที่ลึก ๆ ลับ ๆ ที่อดอยากขาดแคลน นี้คือพ่อแม่ครูจารย์มั่น ไม่สนใจกับอะไร คือจิตของท่านมุ่งต่อธรรมตลอดเลย ไม่มีความกังวลกับใคร

แม้แต่วัยแก่แล้วท่านยังไม่ถอย ยังชักจูงบรรดาลูกศิษย์ลูกหาตลอด คือชักจูงให้เป็นคติตัวอย่างต่อไปจนวาระสุดท้าย เรียกว่าชักจูง ตอนสุดท้ายชีวิตของท่านเราจะเห็นได้ไปบิณฑบาต ไปบิณฑ์หมู่บ้านไม่ได้ เข้าไปถึงตีนบ้านชายบ้านเขาหมดกำลังแล้วกลับมา คือพวกโยมที่ไปรอใส่บาตรท่านเขารออยู่ตลอดอย่างนี้ เขารอจดรอจ้อง ดูสภาพของท่านตลอด เช่น เขามารออยู่ตามทาง เผื่อท่านไปถึงไหนจะได้ใส่บาตรท่าน ถ้าท่านพอไปได้เขามาเรียงรายอยู่ตามทาง ท่านไม่รับท่านเข้าไป ถึงระยะไหนที่หมดกำลังแล้วท่านก็รับที่นั่นแล้วกลับมา แล้วพวกที่รออยู่ต้นทางทางนี้ก็ได้ใส่บาตรท่านทีหลังเขาด้วยซ้ำ พวกโน้นได้ใส่ก่อน เป็นอย่างนั้นเรื่อย เป็นระยะ ๆ นะ

นี่คือท่านทำให้เป็นคติตัวอย่างแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ไปศึกษากับท่าน สุดท้ายไปไม่ได้ก็ขึ้นบิณฑบาตบนศาลา จนไปไม่ได้แล้วอยู่ จากอยู่แล้วก็ไปเลย นี่เป็นคติอย่างยอดเยี่ยม เราไม่เคยเห็นองค์ใดในประเทศไทย เราไม่ได้ประมาทพระหรือครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราพูดตามที่เราเห็น มีหลวงปู่มั่นเท่านั้น เป็นคติตัวอย่างทางด้านธรรมะเป็นอย่างดีและดีเยี่ยมตลอดเลย สำหรับเกี่ยวข้องกับประชาชนนั้นก็เป็นไปเองตามนิสัยของท่านที่อยู่ในป่าในเขาลึก ๆ ใครจะติดตามท่านไปได้ เพราะถนนหนทางไม่มีแต่ก่อน ไปก็บุกป่าฝ่าดงไปพอหลวมตัว ๆ ไป ที่ไหนก็อยู่เสีย ทางตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ -๖๐๐-๗๐๐ ไม่คำนวณ เพราะอยู่ในกลางเขานี่ ใครจะไปคำนวณทางใกล้ทางไกลสักกี่กิโล แล้วใครจะไปเกี่ยวข้องกับท่านได้ แม้ตั้งแต่พระจะไปยุ่งกับท่านมากก็ไม่ได้นะ

เช่นอย่างอยู่เชียงใหม่นี้ก็เหมือนกัน พระไปอยู่กับท่าน ๒ องค์ อย่างมาก ๓ องค์ ไปมากเท่าไรท่านไล่หนีหมดไม่ให้มาอยู่ แล้วท่านก็อยู่องค์เดียว นั่น อย่างนั้นนะ ถ้าจำเป็นก็สักสอง ถ้าสามไม่อยู่นานแหละท่านไล่เลย เป็นอย่างนั้นนะ นิสัยท่านเป็นอย่างนั้น

นี่มาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟังในเรื่องศีลเรื่องธรรม ที่ให้ความสงบร่มเย็นต่อท่านตลอดมาจนถึงขั้นเลิศเลอ ท่านเป็นอย่างนั้นตลอด แล้วยังมีเกี่ยวข้องกับเรื่องความเมตตาสงสารบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ทำให้เป็นตัวอย่างตลอดไป สำหรับท่านจะหาเอาอะไร ท่านพอทุกอย่าง ท่านอยู่ยังไงท่านก็อยู่ได้แต่ทำไมท่านไม่อยู่ ก็เพราะความเมตตาสงสาร ท่านตะเกียกตะกายจนกระทั่งวาระสุดท้าย ท่านไม่มีอ่อนนะ แต่กำลังธาตุขันธ์ค่อยดึงลง ๆ ท่านก็อ่อนลงตามธาตุขันธ์ จะให้ท่านอ่อนทางด้านจิตใจไม่มี ว่างั้นเลย นี่เป็นปรกตินิสัยของท่านที่ว่าเลิศเลอในสมัยปัจจุบัน บรรดาพระกรรมฐานไม่มีองค์ใดเหมือนท่านเลย เป็นเยี่ยมตลอด ลูกศิษย์ลูกหานี่เปอเลอเปอเต๋อ(เซ่อซ่า) ด้วยความไม่เป็นท่า สิ่งที่เป็นท่ามันไม่มี เป็นอย่างนั้นนะ

อย่างที่มายั้วเยี้ย ๆ นี่ ขี้เกียจดุแล้วก็เลยอยู่ไปอย่างนั้นเราก็ดี หลับหูหลับตามาอยู่เรื่อย ๆ สุ่มสี่สุ่มห้า กันตายไว้ ๕๐ เพราะฉะนั้นมันถึงไม่เลย ๕๐ เด็ดขาดอยู่ ๕๐ ก็พอดีกับสถานที่บำเพ็ญ จากนั้นก็ลดลง ๆ อย่างมากในพรรษาไม่ให้เลย ๕๐ นอกพรรษาบางทีก็มี เพราะมันมาอยู่อย่างนี้ ใครจะมากำหนดกฎเกณฑ์ว่ามีจำนวนเท่าไร ๆ ใครอยากมามันก็มา หลั่งไหลไปมาอยู่เรื่อย ๆ อย่างนี้ อันมาเพื่อการศึกษาอบรมนี่ซีหนักใจมากนะเรา เราหนักใจมากจริง ๆ พระเณรไม่รู้นะ เวลาเราสั่งให้ทำอะไร ๆ นี้พระเณรไม่รู้ พอสั่งก็ใส่ปั๊วะเลย หัวชนเข้าเลยพระเณร ไม่ลืมตาละ หลับตาหัวชนเลย เราใช้อะไรนี้ปุ๊บปั๊บใส่ตูมตาม ๆ หัวชนไปเรื่อย ๆ ทีนี้เราก็ด้อมไปดูผลงาน ไม่รู้นะว่าเราไปดูผลงานเป็นยังไง ผลงานทั้งหมดออกมาจากใจ ใจมีสติมีปัญญาโง่หรือฉลาดมันจะบอกในผลงาน ไม่ต้องไปดูหัวใจก็ได้ ทดลององค์ไหนใส่ปั๊บเข้าไปได้ทุกที ได้ทุกทีไม่มีพลาด อู๋ย เก่งมากพระวัดนี้ พอเราใช้อะไรนี้ปุ๊บปั๊บเลย หลับตาหัวชนไปเลยเทียว ปุ๊บปั๊บ ๆ ทำ หากทำตามนิสัยของเจ้าของนั่นซี มันไม่ได้ทำด้วยเหตุด้วยผลว่าท่านใช้นี่มีอะไร ๆ จะคิดจะอ่านไม่คิดนะ มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นมันถึงเลอะ ๆ เทอะ ๆ

ผู้มาศึกษาอบรมมา แต่ก็มาแบบหัวชนฝา อยู่แบบหัวชนฝา ไปแบบหัวชนฝา มันจึงไม่ค่อยได้คติอะไร ๆ ไปใช้ ผู้มาศึกษาต้องหูเร็วตาเร็วใจเร็ว สอดส่องดู ท่านทำอะไร ๆ สังเกตสังกา นั่นชื่อว่าผู้มาศึกษา อะไรที่ท่านทำยึดปั๊บ ๆ ไม่จำเป็นจะต้องขึ้นธรรมาสน์ นโม ตสฺส สอนอย่างนั้นนะ กิริยาอาการทุกอย่างคำพูดคำจาบอกอะไร ๆ นี้จับปั๊บ ๆ ผู้มาศึกษาต้องเป็นอย่างนั้นนะ ไม่ใช่มาแบบหัวชนฝา นี่มันหัวชนฝาทั้งนั้น มันไม่ได้ใช้สติปัญญาเลย เรียกว่าฝังอยู่ในนิสัยนั้นแล้ว ความไม่ใช้สติปัญญา ก็อยู่แบบเซ่อ ๆ ซ่า ๆ มันฝังอยู่เป็นประจำ เวลาเราจะแย็บออกมาให้ใช้สติปัญญาบ้าง มันก็แบบนั้นออกมาทันที แบบที่เคยเป็นออกมาให้จับได้ตลอดเลย เป็นอย่างนั้นนะ

จึงว่าเรื่องธรรม โอ๊ย ละเอียดลออมากทีเดียว เรื่องโลกมันจะยากอะไร ก็มันมีอยู่กับหัวใจทุกคน พอกพูนจนจะมองหาคนไม่เห็น เห็นแต่เรื่องมืดเรื่องดำกำตาหัวชนฝา ๆ ทั้งนั้น มันไม่ได้ใช้สติปัญญาสอดส่องดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยความสนใจ ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะได้คติตัวอย่างอันดีไปใช้ แล้วประกอบกับการทำความเพียรของตัวเอง เอาคติตัวอย่างอันนั้นไปใช้เป็นสติปัญญาแก้ไขภายใน กิเลสอยู่ภายในมันก็ค่อยจืดค่อยจาง ค่อยเบาค่อยบางไป หากจะไปแบบหัวชนฝาอยู่แบบหัวชนฝานี้ อยู่จนตายมันก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร นี่ที่ว่าเราหนักใจกับหมู่กับเพื่อน จะต้องใช้แบบหูหนวกตาบอด อย่างอยู่ยั้วเยี้ย ๆ อย่างนี้ต้องใช้แบบหูหนวกตาบอดเอานะ เฉยเหมือนไม่รู้ไม่ชี้ ถ้ามันเกินไปนักก็กระตุกเสียทีหนึ่ง ถ้ามันมากเกินไปหนักเกินไปนักก็กระตุกเสียทีหนึ่ง ถ้าจะไปเตือนเรื่อย ๆ บอกเรื่อย ๆ ทั่วทั้งวัดมันเป็นแบบเดียวกันหมดจะไปสอนได้ยังไง แน่ะ มันก็เป็นอย่างนั้น

ท่านทั้งหลายพิจารณาซิ เรื่องธรรมกับโลกละเอียดหรือหยาบต่างกันยังไงบ้าง ต่างกันขนาดนั้นละ แต่ทีนี้ธรรมที่มีอยู่ในใจของท่านผู้ทรงธรรมท่านไม่หนัก คือเรื่องธรรมในใจแล้วจะไม่หนักกับอะไร แบกหามกับอะไร เป็นหลักธรรมชาติ ที่ว่าหนัก ๆ นี้ก็คือพูดออกมาเกี่ยวข้องกับหมู่กับเพื่อน เป็นเรื่องความหนักใจเหมือนโลกเขา แต่ธรรมชาติของใจท่านจริง ๆ แล้วท่านไม่มีอะไร สามแดนโลกธาตุเป็นสมมุติทั้งมวล จิตนั้นปราศจากสมมุติทั้งมวลอีกเช่นเดียวกัน แล้วจะเข้ากันได้ยังไง เข้าไม่ได้ เมื่อเข้าไม่ได้ก็ไม่กระทบกระเทือนให้ท่านลำบากลำบนภายในใจ ลำบากแต่กิริยาอาการสัมผัสสัมพันธ์ เห็นอะไรขวางหูขวางตาอยู่นอก ๆ ที่ผู้มาเกี่ยวข้องมาสัมผัสสัมพันธ์เก้ ๆ กัง ๆ อย่างนั้นมีเยอะ

จึงว่าศาสนาเราจะหมดไปทุกวัน ๆ นะ เวลานี้มีแต่ส้วมแต่ถานครองบ้านครองเมือง เรื่องอรรถเรื่องธรรมที่จะได้ครองบ้านครองเมืองมีน้อยมากทีเดียว แทบจะมองไม่เห็น เราไม่ได้ประมาทดูถูกใคร แต่เอาเรื่องความจริงมาพูดให้ฟัง เพื่อผู้ต้องการความจริงจะได้ไปพินิจพิจารณา แต่โลกมันก็เพลินตายกันอยู่อย่างนั้นว่าเจริญ ๆ เราหาความเจริญจริง ๆ ตามที่โลกเสกสรรนั้นมันไม่มี เพราะเสกสรรด้วยกิเลสลากจมูกไปต่างหาก มันไม่ได้เป็นเหมือนธรรม ธรรมเสกสรรเท่าไรก็ยิ่งเสริมขึ้น ๆ ให้มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ สงบร่มเย็นผ่องใสภายในใจเป็นลำดับลำดา นั่นถ้าส่งเสริมธรรมพอกพูนธรรมก็เป็นอย่างนี้ ถ้าส่งเสริมกิเลสแล้วมีตั้งแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย

ใครจะอยู่ประเทศไหนก็อยู่ซิในสามแดนโลกธาตุ เป็นประเทศหรือเป็นหัวใจที่กิเลสความเป็นฟืนเป็นไฟ ความพาดีดพาดิ้นมันฝังจมอยู่ในหัวใจ แล้วเราจะเอาหัวใจใดมาสงบได้ไม่มี ถ้าไม่มีธรรมเข้าบำรุงรักษา ใครจะหาความสุขขนาดไหนหาจนวันตายก็ตายทิ้งเปล่า ๆ ไม่เจอ ว่าเศรษฐีมีเงินมีทองข้าวของบริษัทบริวารมากเป็นความสุข อย่าไปตื่นเงา อันนั้นเงาของวัตถุต่างหาก จิตที่ไปดิ้นไปดีดกับเงานั้นคือกองทุกข์ มันอยู่ตรงนั้นนะ อันนั้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอา ดีดอยู่ตลอดเวลา ยิ่งผู้มีสมบัติมากผู้นี้ยิ่งดีดดิ้นมาก มากกว่าตาสีตาสาที่อยู่ตามท้องนา อันนี้เขาหาอยู่หากินวันหนึ่งพอเป็นพอไป ร่างกายเขาก็มีทุกข์บ้างเป็นธรรมดาเป็นกาลเป็นเวลา แต่หัวใจเขาไม่ได้ทุกข์มากเหมือนพวกที่สำคัญตนว่ามั่งมีศรีสุข ยศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่ ๆ หลวง ๆ พวกนี้กองทุกข์มากที่สุดเลย ใครฟังให้ฟังนะ นี้อ่านออกมาจากหัวใจมาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ไม่ได้พูดเพื่อดูถูกเหยียดหยามผู้หนึ่งผู้ใด เราเอาหลักความจริงมาพูด

กิเลสก็เป็นความจริงอันหนึ่งที่มันฝังจมอยู่ในหัวใจของสัตว์ พาสัตว์ให้ดีดให้ดิ้นตลอดเวลาหาความสุขความสบายไม่ได้ นี่คือกิเลส ถ้าธรรมแล้วเสาะแสวงหาเท่าไร ความสงบร่มเย็นยิ่งสั่งสมตัวเข้ามา ๆ ภายในใจค่อยเย็นไปเรื่อย ๆ เย็นไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ ก็ยิ่งหมุนตัวเข้าไป ธรรมก็ยิ่งเจริญรุ่งเรือง จิตก็ยิ่งสงบผ่องใสสว่างกระจ่างแจ้งไปโดยลำดับ นั่นถ้าธรรมเข้าสู่ใจ

คำว่าธรรมกับกิเลสมันอยู่ในหัวใจดวงเดียวกัน กิเลสเป็นเครื่องผลักเครื่องดัน เป็นอารมณ์อันหนึ่งมันดันออกมา ดูใจเจ้าของนะอย่าไปดูใจคนอื่น คือคำว่ากิเลส ๆ มันไม่เป็นตนเป็นตัวแหละ ออกมาเป็นอารมณ์อันหนึ่ง แต่ที่มันหนุนอยู่ภายในมันไม่ได้เป็นอารมณ์ เช่นอยากอย่างนี้นะ ความอยากมันหนุนอยู่ภายในให้อยากนั้นอยากนี้ ให้รักก็ดีให้ชังก็ดี มันหนุนออกมาให้รักให้ชังให้เกลียดให้โกรธ นี่เรียกว่ากิเลส คือมันอยู่ภายในใจของเรา มันหนุนออกมา ๆ ทีนี้เราก็ไม่รู้เราก็ว่าเป็นเราไปเสีย สิ่งที่หนุนออกมานั้นว่าเป็นเราไปเสีย ทีนี้เราไม่รู้สึกตัวก็ดิ้นไปตามมัน ต่างคนต่างดิ้นทั่วโลกดินแดนเหมือนกันนี้หมด เพราะไม่มีใครรู้ฉากหลังของมันที่ดันออก ๆ ธรรมท่านจับได้หมด ถ้าจับไม่ได้ก็แก้ไม่ตก ต้องจับได้

นั่นละท่านจึงสอนให้มีสติ ภาวนาให้มีสติ ถ้าสติอยู่กับตัวความรู้สึกก็แจ่มใสชัดเจน อะไรผ่านเข้ามาก็รู้ ๆ ถ้าสติอยู่กับตัว เหมือนคนที่อยู่ในบ้าน มีแขกคนมาจากทิศใดแดนใดก็รู้ว่าคนมาหา เป็นผู้หญิงผู้ชายเข้ามาอะไร ถ้าได้เกี่ยวข้องกันพูดจาปราศรัยกัน เขามาเรื่องอะไรก็ทราบ ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกันเขาผ่านเข้ามาในบ้านก็ทราบ นี่คือคนเฝ้าบ้าน คนอยู่บ้าน มักจะเป็นอย่างนั้นด้วยกัน รู้แขกรู้คน ถ้าไม่มีใครอยู่บ้าน เขาจะเอาไฟมาเผาบ้านทั้งหลังก็ไม่รู้ ฉิบหายไปในบ้านทั้งหลังนั้นแหละ ทีนี้จิตใจเราถ้ามีสติมันก็รู้อย่างนี้แหละ อะไรมาสัมผัสสัมพันธ์ดีชั่ว สติอยู่กับตัวมันจะรู้ ควรแก้ไข ควรหลบหลีกประการใดมันก็หลบหลีก นี่สติมีในใจ

เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ภาวนาให้มีสติ สติเป็นข้อตั้งสำหรับรับทราบสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับตนคือใจ ถ้าสติมีอยู่นั้นแล้วมันก็ทราบ ๆ ถ้าไม่มีแล้วมันจะคิดอะไร เผาจนกระทั่งนอนไม่หลับ บางรายเป็นบ้าไปเลย เพราะความยุ่งมากคิดมากจากความผลักดันของกิเลสมันออกรุนแรง คนนั้นก็ดีดดิ้นตามมันอย่างรุนแรง ถึงขนาดนอนไม่หลับ จากนั้นก็เป็นบ้าไปก็มี สติสตังไม่มี ถูกกิเลสเอาแหลก ๆ เลยไม่ทราบว่าผิดว่าถูก นี่ละถ้าสติไม่มีก็ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก มันก็หมุนไปตามสิ่งที่ผลักดันนั้นแหละ ไปเรื่อย ๆ แล้วผลของมันก็คือความทุกข์ความลำบาก

นี่ละท่านว่าธรรมกับโลก ธรรมเป็นอันหนึ่งเป็นอารมณ์ เราพูดได้ว่าเบา อารมณ์ของธรรม ชนิดหยาบของธรรมนั้นแหละ เราเรียกได้ว่า เบา สัมผัสสัมพันธ์เข้ามากน้อยจะเป็นความเบาขึ้นเรื่อย ๆ เบาจนกระทั่งพูดไม่ถูก คือมันละเอียดถึงขนาดพูดไม่ถูก แต่ความรู้ไม่ลดละ รู้หากนำออกมาพูดไม่ถูก เรียกว่าธรรม เช่น มันดันออกมาให้เป็นความเมตตาสงสาร พลังของธรรมที่มีอยู่ภายในใจของคนนั้นแหละ อยากทำบุญทำทาน อยากเจริญเมตตาภาวนา นี้คือพลังของธรรมเป็นอันหนึ่งดันออกมา เหมือนกิเลสมันดันให้โลภให้โกรธให้ดีดให้ดิ้น นั่นเป็นอารมณ์ของกิเลส อารมณ์ของจิตใจนี้ เป็นอารมณ์ที่ดี อยากทำบุญให้ทาน อยากทำความพากความเพียร สั่งสมกุศลขึ้นภายในจิตใจ นี่เรียกว่าอารมณ์ของธรรม จากนั้นก็หนักเข้าไปเรื่อย อารมณ์ของธรรมหนักเข้าเรื่อย ๆ หนักเข้ามากเท่าไรยิ่งทำให้จิตใจของเราโล่งโถงไปโดยลำดับลำดา

ทีนี้ก็คล้ายคลึงกันกับพวกเศรษฐีดิ้นรนกับรายได้ ทางธรรมะนี้ก็เหมือนกันก็ดิ้นไปเหมือนกันนะ แต่ดิ้นอันนี้ไม่มีฉากหลังให้เกิดความทุกข์ ดิ้นเพื่อความพากความเพียร ดิ้นเพื่อบุญเพื่อกุศล เพื่ออรรถเพื่อธรรม ดิ้นไปเป็นความเพียรไปเสีย ทีนี้พอถึงขั้นใดที่พอ ก็มีว่าพอ ๆ เป็นระยะ ๆ ส่วนกิเลสไม่มีคำว่าพอ ธรรมนี้มี เช่น อย่างท่านภาวนาถึงขั้นจิตสงบเต็มที่แล้ว เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ นี่พอ ถึงขั้นนี้แล้วเต็มภูมิเหมือนน้ำเต็มแก้วในขั้นสมาธิ จะทำให้มากละเอียดลออยิ่งกว่านั้นไม่ได้ อยู่นั้นละพอ แล้วก็ไม่ดีดดิ้นขวนขวายหาอะไร อยู่ด้วยความพอ คือความสงบใจ เย็นใจ สบายใจ อยู่ไหนอยู่ได้ นอนได้ ไปได้มาได้สบายทุกอย่าง เพราะจิตพาให้สบายไม่ยุ่ง เพียงจิตเป็นสมาธิ คือมีจิตตั้งมั่นเป็นตัวของตัว พึ่งตัวเองได้แล้วในธรรมขั้นนี้ก็สบาย ทีนี้ไม่อยากยุ่งกับอะไรเลย อยู่ทั้งวันทั้งคืน อยู่ด้วยความสงบเย็นใจของตัวเอง นี่เรียกว่า พอ ตรงนี้พอ นี่ละธรรมมีขั้นพอนะ

จากนั้นก็ก้าวทางด้านปัญญา หมุนติ้วเหมือนกัน เหมือนพวกเศรษฐีเขาหมุนหารายได้นั้นแหละ หมุนติ้ว ๆ อันนี้หมุนหาทางออก อันนั้นหมุนหาทางเข้า กิเลสหมุนพาสัตว์โลกให้เข้าสู่ที่ล่มจม ส่วนธรรมนี้พาหมุนออก ดิ้นเหมือนกันแต่ดิ้นเพื่อออก ต่างกันอย่างนี้ เมื่อถึงขั้นใดแล้วพอ เป็นระยะ ๆ นะธรรม กิเลสไม่มีคำว่าพอ ได้เท่าไรก็ตามไม่มีพอ สำหรับธรรมนี้ดีดไปก็ดีด แต่ได้ตรงนี้แล้วก็พอ พอก้าวเข้าสู่ขั้นนี้แล้วก็ดิ้นดีดเหมือนกัน แต่ดิ้นออก ไม่ได้ดีดดิ้นเข้าไปเหมือนกิเลสพาดิ้น ธรรมะกล้าเท่าไรก็ยิ่งดิ้น ว่าดิ้นเทียบกันนะ แต่นั้นท่านไม่ได้ว่าดิ้น ท่านฟัดกับกิเลสหมุนติ้ว ๆ เวลามีกำลังมากแล้ว อยู่ไหนอยู่ด้วยธรรม ๆ ไม่มีกิเลสเข้ามาเจือปน มีแต่จะตามห้ำหั่นกับมันเท่านั้น

ธรรมเมื่อมีกำลังมากแล้วหมุนตัวไปเองทีเดียว กิเลสมันพาหมุนตัวไปเองฉันใด ธรรมะเมื่อถึงขั้นหมุนตัวไปเองเพื่อแก้กิเลสและกองทุกข์แล้วก็หมุนตัวไปเอง หมุนติ้ว ๆ จนกระทั่งกิเลสไม่มีติดหัวใจแล้ว กิเลสสิ้นซากไปหมดแล้ว คำว่าดีดดิ้นหมดทันที ไม่ดิ้นกับอะไรอีกแล้วทีนี้ ในบาลีท่านว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ เสร็จแล้วงานแก้วัฏวนซึ่งเป็นกองทุกข์ใหญ่หลวงนี้ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เพราะกิเลสตัวพาให้สร้างทุกข์มันสิ้นซากลงไปแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมาพระอรหันต์ท่านไม่เคยแก้กิเลสอีกเลย นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาทุก ๆ พระองค์ พระสาวกของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มีจำนวนมากน้อยเพียงไร เรียกว่าหยุกกึ๊กทันทีในการที่จะประกอบหรือดิ้นดีดด้วยความเพียรเพื่ออะไรอีก ท่านไม่มีเพื่อ

เพราะรู้แล้วประจักษ์ในใจว่าสิ้นสุดแล้ว กิเลสตัวสร้างทุกข์ก็ม้วนเสื่อไปแล้ว ทุกข์ไม่มีในหัวใจท่านตั้งแต่วันท่านตรัสรู้ขึ้นมา ไม่ว่าพระพุทธเจ้า ไม่ว่าพระอรหันต์ ท่านไม่มีทุกข์ตลอดวันนิพพาน ไม่มีเลย แล้วตลอดอนันตกาล เรื่องความทุกข์นี้ไม่มี ท่านจึงเรียกว่า นิพพานเที่ยง ก็คือความเป็นบรมสุขนี้เป็นประจำ เที่ยงตลอด แล้วกิเลสก็เที่ยงในการที่จะไม่มีกิเลสอีกแล้ว เที่ยงหมด

นี่ละงานของธรรมมีความสิ้นสุดลงได้อย่างนี้ แต่งานของกิเลสไม่มี เหมือนมดไต่ขอบด้ง หมุนไปเวียนมาภพเก่าภพใหม่ กลับไปกลับมาไม่ทราบเป็นของเก่าของใหม่ ดูเอามดไต่ขอบด้ง เขารู้ว่าเป็นของเก่าของใหม่ไหม ไม่รู้นะ ไต่วกไปเวียนมาอยู่ขอบด้งนั้นแหละ ทีนี้จิตใจกับกิเลสมันพาหมุนในวัฏวน วัฏวนเหมือนขอบด้ง จิตใจกับกิเลสหมุนกันไปในขอบด้งอย่างนี้เองไม่มีสิ้นสุด แต่ธรรมมี พอถึงขั้น วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ แล้วสิ้นสุดโดยประการทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าก็ดีพระอรหันต์ก็ดี ท่านจึงไม่มีการแก้กิเลสตั้งแต่วันกิเลสสิ้นซากลงไป เป็นนิพพานเที่ยงขึ้นมาที่ใจของท่านเอง ท่านไม่ถามหานิพพานที่ไหน เพราะนิพพานเป็นชื่ออันหนึ่งต่างหาก หลักธรรมชาตินั้นไม่ใช่ชื่ออันนี้ ท่านก็รู้ประจักษ์ นี่ละเรื่องธรรม ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติก็รู้ก็เห็น

แต่เวลานี้รู้สึกว่าจะหนาแน่นเอามากนะ เฉพาะอย่างยิ่งพูดถึงชาวพุทธเรา รู้สึกว่ากิริยาของศาสนาจะไม่มีติดใจ กาย วาจาเลย จะมีแต่เรื่องกิเลสรุมล้อมอยู่ตลอดเวลาจนมองหาตัวไม่เห็น เห็นแต่กิเลสเต็มตัว ๆ แล้วหนาแน่นเข้าทุกวันนะ เพราะสิ่งที่ส่งเสริมกิเลสให้มากมูนขึ้นโดยลำดับนั้น มันประสับประสานทั้งเมืองนอกเมืองใน ทั้งเขาทั้งเรา มีแต่เครื่องทำจิตใจให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมให้ลืมเนื้อลืมตัว แล้วก็ดีดดิ้นไปตามสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมผัสนั้นตลอดไปทั้งเขาทั้งเรานั้นแหละ ทีนี้คำว่าธรรมอยู่ที่ไหนใครจะไปมองล่ะ ก็เมื่อสิ่งเพลินหูเพลินตามันครอบหัวใจอยู่ตลอดเวลาแล้ว ใครจะมีแก่ใจไปคิดถึงว่าธรรมเป็นยังไงได้ คิดไม่ได้นะ เพราะสิ่งเหล่านี้มันพาชุลมุนวุ่นวาย ถ้านักมวยก็เหมือนนักมวยเข้าวงใน กิเลสเข้าวงในในหัวใจสัตว์ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ไม่มีเวลาสร่างซานะกิเลสเข้าวงใน จึงต้องดีดต้องดิ้น

โลกไหนก็เถอะ สามแดนโลกธาตุนี้เป็นอย่างนี้ด้วยกัน แล้วพากันตื่นหาอะไร เมืองนั้นเจริญเมืองนี้เจริญ มันก็มีแต่อิฐแต่ปูนแต่หินแต่ทรายเหล็กหลา แล้วก็สมมุติขึ้นว่าเป็นเงิน ถ้าเป็นแร่ธาตุ เช่น เหมือนหินสมมุติเป็นเงินก็ได้ ว่านี้เงิน มันก็หินก็แร่ธาตุอันหนึ่งนั้นแหละ ถ้ามาพลิกเป็นกระดาษ เอ้า.สมมุติว่ากระดาษเป็นเงิน จะสมมุติไปไหนมันก็คือกระดาษนั้นแล แน่ะ มันก็มีเท่านั้น เจริญที่ไหน เอาเงินมากอบเต็มหัวอกของเรา ว่าเราเจริญด้วยเงิน ก็เจริญด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ด้วยกระดาษเต็มกระเป๋า เท่านั้นแหละ หัวใจเราไม่มีที่ยึดที่เกาะมันก็ไปยึดไปเกาะสิ่งเหล่านี้ เสกสรรปั้นยอสิ่งเหล่านี้ หึงหวงสิ่งเหล่านี้หนักเข้า ๆ เพิ่มกิเลสมากขึ้น สุดท้ายก็รบราฆ่าฟันกัน นี่ละมีแต่เรื่องความชั่วเพราะจิตมันติดสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นตนเป็นตัว

ถ้ามีธรรมภายในใจแล้วไม่ติด จะมีมากน้อยก็รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีสิ่งเหล่านี้มี เพียงอาศัยไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ส่วนที่อาศัยเป็นประจำได้แก่คุณธรรมที่มีประจำตน นี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่ดีดไม่ดิ้นอันนี้ คือที่พึ่งของใจ อย่างนี้นะ อันนั้นมันที่พึ่งของกาย เมื่อใจหลงไปติดเป็นอารมณ์ว่าเป็นที่พึ่งของตัวเอง แล้วก็กลายเป็นไฟเผาตัวเองไม่รู้ตัว

การกล่าวทั้งนี้เราไม่ได้ประมาทโลกสงสาร ที่สมมุติแร่ธาตุต่าง ๆ ว่าเป็นเงิน สมมุติกระดาษว่าเป็นเงิน มันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ไม่ได้เป็นอื่น ก็สมมุติขึ้นจริง ๆ แล้วการสมมุติท่านไม่ได้ทำสมมุติขึ้นให้หลงขนาดเป็นบ้าดังที่เป็นอยู่ทั่วโลกนี่นะ ท่านสมมุติขึ้นมาใช้สอย การประสับประสานกันแลกเปลี่ยนอะไรกัน ต่างคนต่างมีอันนั้นก็มาแบ่งสันปันส่วนแยกแยะซื้อขายกันธรรมดา พอให้มีความสงบเย็นใจสบายบ้างนะ ท่านไม่ได้สอนให้เป็นบ้ากับกระดาษนั้น ให้เป็นบ้ากับแร่ธาตุอันนั้นอันนี้นะ ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ผู้ตั้งมาก็ตั้งมาให้เป็นสมมุติ เพื่อเป็นความสะดวกสบายในมนุษย์เราที่เป็นสัตว์หมู่สัตว์พวกเต็มบ้านเต็มเมือง ให้ได้อาศัยนี้ไปเท่านั้น ไม่ถึงกับว่าจะต้องติดมันจนเป็นจนตาย ถึงกับถือสิ่งเหล่านี้มาเป็นเรา มาเป็นของเรา พึ่งเป็นพึ่งตายกับสิ่งเหล่านี้ ผู้นั้นจะหมดหวังนะ จะไม่มีทางออก ถ้าอันนั้นเป็นอันนั้นอาศัยอันนั้น ส่วนอรรถส่วนธรรมบุญกุศล ที่เป็นที่พึ่งตายใจของใจจริง ๆ แล้วให้สั่งสมอันนี้ นี้เป็นที่พึ่ง ก็ให้แยกไว้ไปเป็นประเภทหนึ่งเสีย อันนั้นเป็นประเภทหนึ่งเสีย คนเราไม่เดือดร้อนมากนะ ไปถือสิ่งที่ไร้สาระว่าเป็นสาระนี้เดือดร้อนมาก

นี่ละที่ท่านตั้งสมมุติขึ้นมา ตั้งมาอย่างนี้แหละ ให้พากันเข้าอกเข้าใจนะ วันไหนเราก็เทศน์ทุกวัน ๆ เราเหนื่อย วันนี้ก็เทศน์เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ให้เป็นคติตัวอย่าง สร้างที่พึ่งทางใจให้หนักนะ ที่พึ่งทางกายไม่อดอยากหรอก ไปไหนเกลื่อนไปด้วยวัตถุสินค้าต่าง ๆ บ้านเขาเมืองเราเหมือนกันหมด มันไม่ได้อดอยากนะของเหล่านี้ มันอดอยากตั้งแต่ภายในหัวใจเรา อยากได้อยากมีอยากดีอยากเด่น อยากให้เขาร่ำลือถือหน้าว่าเป็นคนมั่งคนมี มียศถาบรรดาศักดิ์ มันเป็นบ้าอันนี้ต่างหากนะที่มันทุกข์อยู่เวลานี้ ไม่ได้ทุกข์เพราะสิ่งของไม่มีกินมีใช้นะ มีกินมีใช้ทั่วไปหมด แต่สิ่งที่มันหลอกเรา มันไม่มีกินมีใช้ในตัวของมันคือมันหิวโหย ได้แก่ธรรมครองใจที่เป็นที่พึ่งจริง ๆ ไม่มีในใจ มันจึงต้องดีดต้องดิ้นหาภายนอก จนกระทั่งเพิ่มทุกข์ขึ้นมามันก็ไม่รู้สึกตัว ให้พากันแยกกันแยะนะ ถ้าไม่แยกแยะแล้วตายจมจริง ๆ

ใครก็มาก็มาหาเห็นไหมล่ะ บ้านใดเมืองใด พ่อตายแล้วแม่ยังก็สืบทอดกันไป แม่ตายแล้วลูกยัง ลูกสืบทอดกันไป มรดกได้มาเท่าไรเราก็ไม่เห็นใครเอาไปได้ ตายแล้วก็ทิ้งเกลื่อนอย่างนั้น ผู้ตายก็ตายไปผู้ยังก็รักษากันไป ๆ ก็ตายกันไป มารักษากันไปถ่ายทอด ไม่เห็นใครได้เป็นสารประโยชน์แก่หัวใจเลย ถ้าไม่สร้างความดี สร้างความดีตายมีแต่ตัวล่อนจ้อนก็ไปได้สบาย มีสมบัติเงินทองก็ไม่ห่วงไปได้สบายเช่นเดียวกัน มันต่างกันอย่างนี้นะ เอาละวันนี้เทศน์เพียงเท่านี้ละ

เปิดดูข้อมูล วันต่อวัน ทันต่อเหตุการณ์ หลวงตาเทศน์ถึงเรื่องอะไร ทาง internet

www.luangta.com


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก