ธรรมเหนือโลกเหนืออย่างนี้
วันที่ 23 กรกฎาคม. 2542 เวลา 18:30 น.
สถานที่ : วัดป่าเขาน้อย อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระและฆราวาส ณ วัดป่าเขาน้อย อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร

เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒(เย็น)

ธรรมเหนือโลกเหนืออย่างนี้

เวลาไม่มีอะไรจริง ๆ เราก็จะงัดนิทานออกล่ะซิ นิทานแบบไม่ต้องพูดมากมีนี่ นิทานเรานะ แต่พวกนี้มาไม่ทราบว่ามีวาสนาหรือไม่มีไม่รู้นะ ใครไม่มีวาสนาไม่ได้ฟังนะนิทานอย่างนี้ ต้องเป็นคนมีวาสนาถึงจะได้ฟัง นิทานนี้มันนิทานหายากนะ ไม่ค่อยมีใครเล่าแหละ มีแต่หลวงตาองค์เดียวเก็บไว้ในกระเป๋า นาน ๆ งัดออกทีหนึ่ง

คำว่า สู นี่เข้าใจไหม คือถ้าเป็นเอกพจน์ เช่นอย่างพูดกันสองต่อสองนี้เรียกว่ามึงว่ากู ถ้ามีแต่สองคนขึ้นไปเป็นพหูพจน์เรียกว่าสู สองคนก็เรียกว่าสู ถ้าคนเดียวเรียกว่ามึงว่ากู ภาษาภาคอีสานเขาเรียกอย่างนั้น นี่ภาษาภาคอีสาน พวกนี้พวกอ่อนภาษาจึงต้องอธิบายให้ฟัง งัดออกมาเรื่อยละเรื่องตลกนี่ ทีนี้ก็เริ่มละนะ

คือมีพ่อตาคนหนึ่งเขาไปเผาสวนเผาไร่เขา ตื่นเช้าไปแต่เช้าเลย ลูกสาวกับลูกเขยจะตามหลังไปส่งข้าวพ่อ พ่อไปก่อนไปเผาไร่เผาสวนรออยู่นั้น ให้ลูกเขยลูกสาวตามหลังไป นึกว่าเขาจะไปแต่เช้าซี ทางนี้ก็เผาไร่เผาสวนอยู่นั้นเสียจนกระทั่งตะวันเที่ยง ถึงเห็นหาบกล่องข้าวเหนียวต้อนแต้น ๆ ไป มันโมโหเต็มกำลัง โมโหสุดขีดเพราะความหิวมาก ตั้งแต่เช้าจนตะวันเที่ยงข้าวยังไม่ได้ตกท้องเลย ทีนี้เวลาโมโหมาก ๆ จะพูดอะไรมันก็จะเลยเถิดเลยแดน ถ้าจะพูดตามความโมโหมากดีไม่ดีฆ่าเขาสองคนถึงจะมากินข้าว ความโมโหมากเป็นอย่างนั้นละ

ทีนี้เวลาเขาไปแล้วมันโมโหมากก็เลย พูดอะไร ๆ มันก็ไม่สมใจจะทำยังไง พอเขาเอาข้าวไปวางปุ๊บก็ สูนี่ ๆ จะว่าอะไรก็ไม่ว่า ว่าสูนี่ ๆ ทำไมถึงมาสายเอานัก กูอดข้าวจะตาย หิวข้าวจะตายความหมายว่างั้น แต่จะพูดอะไรมากไปมันก็แค้นมากเกินไป เพราะฉะนั้นถึงพูดแต่เพียงว่า สูนี่ ๆ เท่านั้น ทีนี้มองเห็นลูกสาวลูกเขยเมื่อไรพอเจอหน้าทีไรก็ สูนี่ อยู่ตลอด คือความโมโหมันยังไม่หายเข้าใจไหม กี่วันก็ยังสูนี่ ๆ อยู่งั้นละ นี่ละเรียกว่านิทานย่อ คือโมโหสุดขีด พูดอะไรมันก็จะเลยเถิดเลยแดน เลยเอาแต่แค่ย่อ ๆ ว่า สูนี่ ความหมายคือว่ามันมาสายจนเกินไป กูอดข้าวหิวข้าวจนจะตาย สูยังไม่รู้อยู่เหรอ ความหมายว่างั้น แต่ไม่พูดไปมาก มีแต่ สูนี่ ๆ จบแล้วนิทานสูนี่

ท่าน…ให้ระวังนะ การที่อนุญาตให้เขาสร้างนั้นสร้างนี้ยุ่งไปหมด แล้ววัดนี้จะกลายเป็นทำเลท่องเที่ยวไปนะ เสียทางด้านปฏิบัติพระกรรมฐาน นี่สร้างรอบด้าน ไปไหนมีแต่เรื่องก่อเรื่องสร้าง สร้างเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นพระพุทธรูปก็จริง แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรื่นเริงบันเทิงของพวกกิเลสสกปรก แล้วมาเที่ยว เที่ยวแล้วจุ้นจ้าน ๆ ทางวัดเลยเสียทางด้านภาวนา นี่ไม่ใช่ของดีนะ

พระพุทธเจ้าเคารพธรรมมากกว่าให้คนเคารพพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้ากราบธรรม นี่เราเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมบูชาพระพุทธเจ้า แล้วมาสร้างสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา ใครมาขอสร้างอะไรก็ เออ ๆ เรื่อยไป แบบนี้มันเข้ากันได้กับนิทานวัวหนองกะปาด ใครมาขออะไรก็ เออ ๆ เรื่อยไป คนนั้นก็สร้างนั้น คนนี้ก็สร้างนี้ มันก็เลยยุ่งใหญ่อย่างนี้ มันเข้าลักษณะเป็นวัวหนองกะปาด คือเขาเรียกบ้านหนองกะปาด พวกปาดที่มันร้องอ้วด ๆ บ้านหนองกะปาด ที่บ้านนั้นเราก็ไปเห็นแล้วแหละ คือมันนิทานสด นิทานปัจจุบันนี้ไม่ใช่นิทานนมนานอะไร

แกเลี้ยงวัวฝูงเอาไว้ แล้วเขาก็ไปซื้อวัวแก เขาจะซื้อไปไหนก็ไม่รู้กับเขาแหละ วัวตัวนั้นเจ้าของจะขายสี่บาท แต่เขาไปต่อให้เพียงสามบาท ต่อกันไปต่อกันมาอยู่นั่นละ นั่งก็นั่งชันเข่าด้วยแบบท่าน…นั่ง ใครว่าอะไรก็เออ ๆ ชันเข่าไปด้วยล่ะซี ทีนี้เวลานั่งชันเข่าแล้ว ทางโน้นเขาก็ต่อจะให้สามบาท ทางนี้ก็สี่บาท ต่อไปต่อมา เมียก็ขึ้นบันไดมามาเห็นหำผัวล่ะซี ผัวก็เออ ๆ อยู่นี้แล้ว แบบท่าน…ละ ใครมาขออะไรก็ เออ ๆ ไม่ดูหำเจ้าของล่ะซี ใครมาขอสร้างอะไรก็เออ ๆ แล้วไม่ดูมันปล่อยอะไรไว้นั้นน่ะ ทีนี้เมียขึ้นมาก็มาเห็นผัวปล่อยหำแล้วก็อายเขา พอเมียมองมาทางนี้ก็ขยิบตาใส่ผัว ขยิบตาใส่ปั๊บแล้วก็เข้าห้อง

ทีนี้ผัวนึกว่าเมียให้ขึ้นราคาวัว ทีแรกสี่บาทก็ฟาดห้าบาท ๆ นึกว่าเมียขยิบตาให้ขึ้นราคา ต่อกันอยู่ผัวจะเอาสี่บาท เขาจะให้สามบาท ต่อกันไปต่อกันมาอยู่งั้น มันปล่อยอะไรออกมาไม่รู้ซี เมียมองเห็นก็อายเขาก็เลยขยิบตาใส่ผัว ผัวนึกว่าเมียให้ขึ้นราคา ทีแรกก็สี่บาทเลยฟาดเป็นห้าบาท ๆ เขาก็ว่านี่มันยังไงนี่ สี่บาทก็ยังลงกันไม่ได้แล้วจะเอาห้าบาทหกบาทยังไง ไม่เอาละพวกเรา เขาก็เลยลงหนีไป

พอเขาลงหนีไปแล้วเมียออกมา ก็ที่เขามาซื้อนั่นสามบาทก็ควรให้เขาแล้ว ทำไมจึงไม่ให้เขาเสียล่ะ ทางผัวก็ว่า ก็แกขยิบตาใส่ฉันล่ะซิ นึกว่าให้ขึ้นราคาฉันก็ขึ้นราคา จะไม่ขยิบยังไงก็ปล่อยหำให้เขาดูอยู่นั่น เมียว่า ก็ปล่อยหำให้เขาดูอยู่นั่น อายเขาทนไม่ไหวก็เลยขยิบตา อู๊ย เสียดาย ๆ สี่บาทสามบาทเขาไม่สนใจเลยที่นี่ เขาไปเลย สุดท้ายหำก็ปล่อย ขาดทุนสูญดอก ทุกอย่างปล่อยหมด นี่ระวังนะท่าน…ให้ระวังนะ คนนั้นสามบาทคนนี้สี่บาทก็เออ ๆ เรื่อยไปนะ แล้วใครจะมาขยิบตาใส่ล่ะ อย่าว่าไม่บอกนะ นี่บอกแล้วนะ นิทานนี่จบแล้ว นิทานห้าบาทจบแล้ว

มันเป็นได้จริง ๆ การก่อการสร้าง วัดปฏิบัติต้องคำนึงสิ่งเหล่านี้ให้มากทีเดียว ใครสร้างอะไรต่ออะไรสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะ มาท่องเที่ยวครั้นไปแล้วก็ไปร่ำลือกันล่ะซี ว่าที่นั่นมีอะไรท่องเที่ยว หือ ๆ เข้าไปละ มาละ คนนั้นมาคนนี้มา สุดท้ายก็มาเที่ยวดูระเกะระกะ ป้วนเปี้ยน ๆ คนนั้นเข้าคนนี้ออก วัดเลยกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พระหาความสงบสงัดไม่ได้ เสียทางด้านจิตตภาวนา นี้เป็นทางให้เสียได้ เพราะฉะนั้นจึงเตือน อย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้านะ ทำอะไรให้คำนึงเสมอ ไอ้พวกนี้มันไม่คำนึงอะไร มันหาสนุกสนาน ว่าอะไรก็ตื่นกันไปนั่นละ ทีนี้ทางวัดก็เลยพลอยให้เสียด้วย ต้องระวัง

สร้างโน้นสร้างนี้สำหรับวัดกรรมฐานไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ให้สร้างธรรมขึ้นที่ใจ สร้างอรรถสร้างธรรมขึ้นที่ใจด้วยจิตตภาวนา ให้ดูหัวใจตัวเอง การภาวนาคือการดูความคิดปรุงของใจด้วยสติ จะเดินจะเหินจะนั่งจะไปจะมา ประกอบหน้าที่การงานอะไร สติกับจิตจ่อกัน ดูความเคลื่อนไหวของจิตอยู่เสมอ นี้เรียกว่านักภาวนา พากันจำเอานะพวกพระลูกพระหลาน สติกับจิตนี้จ่อตลอด ไม่ใช่ว่าเวลานี้ทำงานนั้น เวลานั้นทำงานนั้น ปล่อยสติ ไม่เป็นท่า สติกับจิตต้องจับกันตลอดเวลา นี่คือนักภาวนา ไม่ว่ายืนว่าเดินว่านั่งว่านอนสติจับอยู่กับผู้รู้

ถ้าผู้ไม่มีหลักใจก็ให้เอาคำบริกรรม จับไว้กับคำบริกรรมเช่นพุทโธ ไปไหนไม่เผลอพุทโธเลย ให้ติดอยู่กับคำว่าพุทโธ คำใดก็ตามที่เรานำมาบริกรรม ให้จิตติดอยู่นั้น บริกรรมคำนั้นติดแล้วมีสติอยู่กับคำบริกรรมนั้น ทำงานอะไร ๆ ก็ตาม เช่น เราจับกระโถนนี้คำว่าพุทโธก็ติดไม่ให้เผลอกับนี้ จับก็จับแต่อันนี้ก็ไม่เผลอ นั่นเรียกว่าผู้ทำงานผู้ภาวนา ถ้าเผลอนั้นเผลอนี้ไม่เรียกว่ามีความเพียร เดินจงกรมอยู่ก็ตามถ้าสติกับคำบริกรรมในขั้นบริกรรมเผลอกันไม่ได้นะ นี่หมายถึงนักภาวนาคือพระ ไม่มีงานอะไรมีแต่งานภาวนาล้วน ๆ ให้ปฏิบัติอย่างที่กล่าวมานี้

ไปไหนเคลื่อนไหวไปมาที่ไหนสติกับคำบริกรรมให้ติดแนบกันตลอดเวลา นี้เรียกว่าภาวนา เดินจงกรมก็ดี นั่งอยู่ก็ดี เป็นภาวนาล้วน ๆ ถ้ามีสติกำกับใจกำกับคำบริกรรม นี่คือเวลาวางรากฐานทีแรกหนักมากนะ มันคอยแต่จะเผลอตลอดเวลา ต้องบังคับกันหนัก ตรงนี้หนักมาก ตั้งใจให้มีรากมีฐานมันหนักมาก คือบังคับสติไม่ให้เผลอให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ๆ นี่หมายถึงพระผู้ภาวนาให้พากันทำอย่างนั้น

ถ้าจิตถึงขั้นที่จะปล่อยคำบริกรรมได้แล้วก็รู้เอง คือความรู้จะเด่นอยู่ในท่ามกลางอกนี้ เรียกว่าจิตสงบจิตเป็นสมาธิแล้ว ความแน่นหนามั่นคงแห่งความรู้จะเด่นอยู่ที่ใจ เราเอาสติจับไว้ที่ความรู้อันนั้น ไม่ต้องบริกรรมมันก็รู้กันเอง ถ้ายังบริกรรมได้อยู่ให้บริกรรม ถ้าคำบริกรรมยังสู้ความรู้ที่เด่นนั้นไม่ได้ ก็ให้อยู่ความรู้ที่เด่นนั้นด้วยสติอีกเหมือนกัน นั่นเป็นขั้น ๆ ที่อธิบายให้ฟังนี้เราเคยดำเนินมาแล้วทั้งนั้น ที่มาสอนเพื่อนฝูงทั้งหลายนี้ เราได้ดำเนินมาแล้ว ได้เห็นผลมาเรียบร้อยแล้วจึงได้นำมาสอน

เพียงเรากำหนดเอาความรู้เฉย ๆ โดยที่ฐานแห่งความรู้นั้นยังไม่เด่น จิตเผลอจนได้ แล้วเจริญขึ้นก็เสื่อมได้สบาย ๆ ถ้ามีคำบริกรรมกำกับแล้วไม่เสื่อม ให้ติดแนบอยู่กับคำบริกรรมนั้น นี่เคยได้ทำมาแล้ว จึงเป็นบทสำคัญที่นำมาสอนหมู่เพื่อนได้ด้วยความถูกต้อง เราเคยเล่าแล้ว ในหนังสือเราก็พูด เทปเทศน์เราก็เคยเทศน์ ที่ว่าจิตของเราเสื่อมเป็นเวลาปีกว่านั่น นี่เป็นครูเอก จึงได้นำมาสอนไว้เพื่อผู้ดำเนินตามจะได้ถือเป็นคติ เรื่องความพลั้งเผลอเป็นอย่างนั้น ๆ

ภาวนาปีแรกจิตได้รากได้ฐานสำคัญมากนะ พรรษา ๗ หยุดการเรียนพรรษา ๗ เพราะเรียนหนังสืออยู่ ๗ ปี พอออกจากเรียนแล้วเข้าป่าเลย จิตก็เริ่มเจริญตั้งแต่ปีพรรษา ๘ ทีนี้เราไม่รู้จักวิธีรักษาล่ะซี มันเจริญจริง ๆ นะจิตนี้ มีความสงบแน่นปึ๋ง ๆ ไปที่ไหนความรู้นี้เด่น ๆ ทีนี้เราไม่รู้วิธีปฏิบัติ ความเพียรของเราเรียกว่าจะลืมตัวไปก็ไม่ผิด ความเพียรของเราไม่สืบไม่ต่อกันไป มันก็เสื่อมจนได้ ทีนี้มันเสื่อมลงแล้วทำยังไงให้เจริญมันก็ไม่เจริญ ที่มันเจริญแล้วเสื่อม ๆ อยู่นั้นเป็นเวลาปีกว่า ๆ นะ

เพียงเข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง คือเข้าความสงบได้บ้างไม่ได้บ้างเท่านั้น เรารีบออกหนีทันทีเลย เร่งใหญ่ มันก็มีแต่เจริญกับเสื่อม ๆ แต่แล้วก็ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติต่อมัน จนกระทั่งคิดอะไรมันก็หมดทางคิดแล้ว เลยมาสะดุดใจ เอ๊ จะเป็นเพราะเราไม่ได้บริกรรมนี้หรือยังไงนา จิตเราจะเผลอเพราะเราไม่มีคำบริกรรมกำกับใจนี้ก็อาจเป็นได้ พอหวนมาระลึกจุดนี้แล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะเอาคำบริกรรมกำกับ เราชอบพุทโธนะ นิสัยเราชอบพุทโธ แต่เรานิสัยจริงจังมากนะ ทำอะไรจริงทุกอย่าง

ทีนี้พอเรื่องความเสื่อมความเจริญเป็นมาเสียมากต่อมาก เจริญแล้วไม่อยากให้เสื่อมเท่าไร มันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตาอยู่อย่างนั้นตลอดมา เราจึงได้มาแก้ไขใหม่ ที่มันเป็นอย่างนี้ก็คงจะเป็นเพราะเราขาดคำบริกรรมนั่นแหละมันถึงจะเสื่อมได้ ต่อนี้ไปเราจะไม่ให้มันเผลอจากคำบริกรรมเลย แล้วเราก็ทำอย่างนั้นด้วย เอ้า ทีนี้ปล่อย จิตจะเจริญจะเสื่อมไปไหนก็เจริญไปเสื่อมไป แต่คำบริกรรมนี้จะไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้เผลอเลย เราก็จับคำบริกรรมนั้นตลอด ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งหลับไม่ให้มีเผลอเลยเทียว นั่นฟังซิน่ะ ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งหลับไม่เผลอไปไหนได้เลย บังคับกันตลอด นั่นละหนักมากนะ

การบังคับสติไว้ไม่ให้เผลอเป็นของเล่นเมื่อไร บังคับอยู่ภายในใจ เดินจงกรมก็ดี นั่งก็ดี อิริยาบถใดก็ตามความเผลอนี้ไม่ให้มีเลย ทีนี้ความเพียรมันก็เลยตึงไปโดยสม่ำเสมอ สุดท้ายจิตก็ค่อยสงบตัวเข้าไป ๆ จนกระทั่งมีความเจริญขึ้น เจริญขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ไม่ปล่อยคำบริกรรมนั้น จนกระทั่งถึงจิตเวลาละเอียดเข้าไปจริง ๆ นี้ คำบริกรรมนี้หายไปได้นะ เป็นในเราเอง เวลาบริกรรมหนักเข้า ๆ จิตละเอียดลง ๆ ทีนี้พอจิตละเอียดเต็มที่แล้วนั้นเรานึกคำบริกรรมไม่ออกเลย ไม่มี แต่ความรู้ไม่ละ ความรู้นี้ละเอียดแน่ว นึกบริกรรมไม่ได้เลยเหมือนอย่างที่เรานึกแต่ก่อน นึกไม่ออกไม่มี

เหลือแต่ความรู้อย่างเดียว เกิดความสงสัย เอ๊ นี่ทำไงคำบริกรรมที่เราเคยบริกรรมมา คราวนี้หมดต่อหน้าต่อตานี้จะทำไง แต่สิ่งที่ไม่หมดคือความรู้ ความรู้ละเอียด เอ้า หมดก็หมดไป บริกรรมไม่ได้ก็ไม่ต้องบริกรรม แต่จะไม่ให้เผลอจากผู้รู้อันนี้ ให้สติจ่ออยู่กับความรู้อีก สืบต่อกันไปกับคำบริกรรมที่หมดไป เหลือแต่ผู้รู้ เอ้า สติจับเข้าไปหาผู้รู้ ทีนี้พอสมควรแล้วมันก็คลี่คลายออกมาความรู้อันนั้นนะ พอมันคลี่คลายออกมาพอนึกบริกรรมได้ เอาบริกรรมเข้าไปเลย พุทโธ ๆ ติดเข้าอีก มันก็บริกรรมได้อีก เวลามันละเอียดเข้าไปจริง ๆ ไปถึงจุดนั้นแล้วมันก็ปล่อย

ทีนี้เราก็รู้จักวิธีปฏิบัติ พอถึงจุดคำบริกรรมไม่มีแล้วก็ปล่อย แต่สติไม่ปล่อยกับจุดนั้น นานเข้า ๆ ก็เจริญขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงแน่นหนามั่นคง คำบริกรรมก็ค่อยหายไปเอง เอาความรู้ที่เด่นชัดนั้นเป็นจุดตั้งของสติเลย สติจับอยู่กับจุดผู้รู้ผู้เด่น ๆ นั้น คำบริกรรมก็ไม่เอาละที่นี่ มันหากปล่อยของมันเองรู้เอง เหลือแต่ความรู้เด่น เด่นขึ้นเรื่อย ๆ จนแน่นหนามั่นคง จิตเป็นสมาธิเต็มตัว รู้

นี่ละวิธีบริกรรมภาวนา ให้พระลูกพระหลานทั้งหลายยึดไปปฏิบัติ อย่าทำสักแต่ว่าทำ บริกรรมบ้างไม่บริกรรมบ้าง เผลอบ้างไม่เผลอบ้าง เถลไถลใช้ไม่ได้นะ การภาวนาต้องเอาจริงเอาจัง นี่ได้ทำมาอย่างนั้นด้วยความจริงจังทุกอย่าง จึงสอนได้แบบไม่สะทกสะท้าน เพราะเราเคยดำเนินมาแล้ว นี่หมายถึงขั้นตั้งหลักตั้งฐานของจิตใจเบื้องต้น ต้องมีหนักในการบังคับสติไม่ให้เผลอกับคำบริกรรม ให้ติดแนบกันเป็นลำดับ

เมื่อจิตมีฐานมีความสงบเด่นดวงแล้ว สติให้ตั้งอยู่กับความสงบเด่นดวง คือรู้เด่นดวงนั้น ไม่เผลอ สติเปลี่ยนเข้าไปอยู่จุดผู้รู้ไม่อยู่กับคำบริกรรม ต่อไปจิตก็แน่นหนามั่นคงเข้าเรื่อย ๆ จนประหนึ่งว่าจิตนี่มันแน่นเข้า ความแน่นของมันนี้เหมือนหินนะเวลามันแน่นจริง ๆ อยู่ในหัวใจเรานี้ จะคิดเรื่องราวอะไรก็คิด แต่พอกำหนดมาที่นี่ ฐานแห่งความแน่นหนามั่นคงของจิตจะเด่นตัวตลอดเวลา นี่เรียกว่าสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วที่นี่

พอจิตเป็นสมาธิ ทีนี้ออกทางด้านปัญญา เพราะจิตเป็นสมาธิจิตย่อมไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ ไม่อยากดูรูป ไม่อยากฟังเสียง ไม่อยากคิดปรุงเรื่องโลกเรื่องสงสารอะไรทั้งนั้น อยู่กับความสงบสบายนั้น เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ ไม่อยากคิดอยากปรุงแต่งเรื่องอะไรเหมือนแต่ก่อน อยู่กับความสงบนี้ก็เย็นพอแล้ว นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์ จิตอิ่มตัวในอารมณ์ แล้วให้พาจิตที่สงบนี้ออกทางด้านปัญญา

ปัญญานี้แยบคายมากเป็นลำดับลำดา ไม่ได้สิ้นสุด สมาธินี้เมื่อเวลาเต็มภูมิแล้วเหมือนน้ำเต็มแก้ว จะทำให้เลยนั้นยังไงก็ไม่เลย แน่นหนามั่นคงเต็มภูมิ ๆ อยู่แค่นั้น กี่ปีก็อยู่เท่านั้น ถ้าเราไม่ใช้ปัญญาเพื่อขยายความรู้นี้ให้ละเอียดสุขุมเข้าไป เพียงสมาธิเต็มภูมิแล้วอยู่เท่านั้นแหละ ไม่ออกนะ ให้เลยนั้นไม่เลย จึงต้องได้ใช้ปัญญาพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ แยกสกลกายออก ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ กายของเรากายของเขาเทียบเคียงดู นี่เรียกว่าปัญญา พิจารณาเรื่องอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา เต็มอยู่กับกายเรากายเขา เทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วน จิตจะค่อยขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ปัญญาจะค่อยก้าวเดินออกไป

ทีนี้ปัญญาก้าวเดินไม่เหมือนสมาธินะ สมาธิเหมือนน้ำเต็มแก้ว ปัญญานี้เลยแก้วออกไปอีก ล้นแก้วไปได้สบาย ๆ สมาธิอยู่เพียงขอบปากแก้ว ถ้าเป็นน้ำก็อยู่ขอบปากแก้วไม่เลย แต่ปัญญาแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เลยขอบปากแก้วออกไปอีก ตามแต่กิเลสประเภทใดซึ่งเป็นเหมือนกับเชื้อไฟ มีมากมีน้อยเท่าไร สติปัญญาคือไฟจะลุกลามไหม้ไปเผาไปเรื่อย ๆ ทีนี้ความรู้นี้ก็จะละเอียดลออสุขุมขึ้นไปโดยลำดับ ความแยบคายของปัญญาก็ยิ่งแยบคาย ละเอียดลออคล่องตัวไปเป็นลำดับ โดยอาศัยการพิจารณาเป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา

จะสงบบ้างในเวลาเข้าสมาธิเรียกว่าพักงาน เวลาเข้าสมาธิก็ให้มี ถ้าปล่อยให้ปัญญาพิจารณาด้วยความเพลินของตัวเองมีนะ เวลาปัญญาได้เพลินแล้วจะไม่สนใจกับทางสมาธิ จะมีแต่เพลินการแก้การไขการถอดถอนกิเลสเป็นลำดับลำดาไป เรียกว่าเพลินในงาน ผลของงาน เลยลืมพักผ่อนหย่อนตัวก็เสียทางนี้

เมื่อจิตใจของเราเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าด้วยการพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วก็ให้พักสมาธิ สงบอารมณ์อยู่ในสมาธิ ไม่ต้องคิดต้องปรุงเรื่องปัญญาใด ๆ ทั้งนั้น นี่เรียกว่าดำเนินงานพอดิบพอดี พอจิตรวมเข้าสู่สมาธิแล้วจิตมีกำลัง ออกจากสมาธิแล้วควรแก่การงานคือทางด้านปัญญาอีกต่อไป แล้วพิจารณาต่อไป เป็นอย่างนั้นนะ

ปัญญานี้ถ้าลงได้เห็นเหตุเห็นผลแล้วยังไงก็ถอยไม่ได้ สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นเรื่องของกิเลส ๆ นั้นจะเป็นเหมือนเชื้อไฟ ปัญญานี้จะเผาไหม้ไปเป็นลำดับลำดา ๆ ขาดไปเรื่อย ๆ กิเลสตัวใดขาดออกไปยังไงเห็นชัดด้วยทางปัญญา เพียงสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ เพียงสงบอารมณ์สงบกิเลส ไม่ใช่ประเภทฆ่ากิเลสเหมือนปัญญา ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส เวลาก้าวเข้าแล้วจะฆ่ากิเลสเป็นลำดับ กิเลสตัวใดค่อยหลุดลอยไปก็รู้ ๆ เป็นลำดับ

ทีนี้ปัญญาเริ่มก้าวเดิน เริ่มเห็นผลของการพิจารณาตัวเองแล้วจะเพลินในความเพียรต่อไป ไม่ค่อยจะพักผ่อน ความเพียรจะเป็นไปเอง หมุนตัวไปเอง ๆ ตลอดเวลา จากนั้นก็กลายเป็นธรรมจักร เป็นปัญญาอัตโนมัติหมุนฆ่ากิเลสโดยลำพังตัวเอง ไม่ต้องบีบต้องบังคับเหมือนแต่ก่อนแล้ว พากันจำเอานะพวกปฏิบัติพระกรรมฐานเรา นี่แสดงให้ฟังด้วยความถูกต้องไม่สงสัย เพราะเราได้ดำเนินมาแล้วอย่างนี้โดยสมบูรณ์

พอถึงธรรมขั้นปัญญาออกก้าวเดินแล้วนั้น กิเลสจะเริ่มหมอบนะ แต่ก่อนกิเลสออกเพ่นพ่าน ๆ สติปัญญานี้ตั้งไม่ทัน ถูกมันปัดทีเดียวตกห้าทวีป พอสติปัญญานี้ได้ก้าวออกแล้วกิเลสจะค่อยหมอบไปแหละ ได้คุ้ยเขี่ยขุดค้นกันตลอดไปเรื่อย ฆ่าไปเรื่อย ๆ ทีนี้สติปัญญาก็เหมือนไฟ สิ่งทั้งหลายที่ควรพิจารณาเหล่านั้นก็เป็นเหมือนเชื้อไฟ มันไหม้ไปโดยลำดับ ฆ่ากิเลสไปโดยลำดับลำดา ขั้นนี้แล้วเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ทำงานด้วยตัวเอง แก้ไขถอดถอนกิเลสไปโดยลำพังตัวเอง แล้วช่องทางที่จะถึงความหลุดพ้นนั้น เปิดกว้างออกไป ๆ ทุกข์ทั้งหลายที่เคยเป็นมาเห็นโทษมันหนักเข้าไปเรื่อย ๆ เห็นคุณของความหลุดพ้นหนักเข้า ๆ ทีนี้สติปัญญาก็หมุนตัวเป็นเกลียวไปเลย นี่เรียกว่าปัญญาออกทำงาน ให้พากันจำเอาไว้

ถึงขั้นสติปัญญาออกทำงานแล้ว ทางพ้นทุกข์นี้จะเบิกกว้างออกไป ๆ ประหนึ่งว่านิพพานนี้อยู่ชั่วเอื้อม มันขยับใส่กันเรื่อยไม่มีถอย นี่เรียกว่าความเพียรกล้า ได้รั้งเอาไว้ไม่งั้นมันจะเลยเถิดในการพิจารณา ได้รั้งเอาไว้ รั้งเข้าสู่สมาธิหรือพักผ่อนนอนหลับ เวลามันเพลินจริง ๆ มันไม่ได้นอนนะ เราจะให้สติปัญญานี้พักตัวพอนอนได้ ไม่มีทาง จะหมุนตลอดเลย ฆ่ากิเลส เพลินฆ่ากิเลสไปโดยลำดับลำดา จึงต้องได้รั้งเอาไว้ให้พักนอน ถึงเวลานอนแล้วให้นอน ถ้าหากว่าเราไม่พักให้มันจะไม่ยอมนอน สว่างก็สว่างไปเฉย ๆ ทำงานตลอด แก้กิเลสตลอดไปเรื่อย ๆ ไปเลย นี่เรียกว่าสติปัญญาทำงานโดยอัตโนมัติ จึงต้องได้รั้งเอาไว้ให้พักผ่อนนอนหลับ พักผ่อนทางสมาธิ พักผ่อนนอนหลับ จากนั้นก็ก้าวทางด้านปัญญา

ปัญญานี้จะพุ่ง ๆ ยิ่งกิเลสละเอียดเข้าเท่าไร สติปัญญานี้ยิ่งละเอียดแหลมคม ไม่เคยคาดเคยคิดหากรู้หากเห็นในหัวใจตัวเอง นั่นละทีนี้ความหมุนเพื่อความหลุดพ้นไม่ต้องมีใครบอก หากเป็นไปเอง ๆ นี่การพิจารณาทางด้านปัญญาให้พากันจำเอา ปัญญาขั้นนี้จะไม่มีหยุด จะถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาคำว่าเผลอไม่มี หากเป็นหลักธรรมชาติของมันเอง คำว่าเผลอสติสตังอย่างนี้ไม่มีเลย สติปัญญาเป็นอันเดียวกันหมุนเป็นเกลียวเดียวกันไปเลย นี่ถึงขั้นรวมตัวที่จะสังหารกิเลสประเภทต่าง ๆ ส่วนละเอียดนั้นละ เข้าไปโดยลำดับ ๆ ด้วยสติปัญญาที่เกรียงไกรที่แหลมคม

เรื่องทำงานของสติปัญญานี้ ถ้ากิเลสยังไม่สิ้นไม่สุดขาดสะบั้นไปเมื่อไรแล้วจะไม่มีเวลาหยุด เจ้าของต้องรู้จักประมาณเอง คือถ้าหากว่าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางร่างกายของเรา เพราะไม่ได้หลับได้นอน บางคืนสองคืนสามคืนมันไม่ยอมนอน แต่ทำงานไม่หยุดมันก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทางสังขารร่างกายเรา ใจเราก็เหนื่อยเพราะปัญญาทำงาน จึงต้องได้พัก บังคับให้พัก มันไม่อยากนอนก็บังคับให้นอน เวลาจะนอนก็บังคับในสมาธิด้วยคำบริกรรม

เช่น เราเคยกำหนดพุทโธ เวลานั้นเราจะพักจิตของเราให้เข้าสู่ความสงบหรือนอนหลับ เราต้องบังคับสติกับคำบริกรรมนั้นให้ติดกับใจ เหมือนเราเริ่มภาวนาเบื้องต้น ไม่งั้นมันจะโดดออกไปทำงาน มันเพลินในงานเกินกว่าที่จะมาพักอยู่ในสมาธินี้ เพราะมันเห็นผลของงาน จึงต้องได้ใช้คำบริกรรมพักจิตให้สงบ จากนั้นบางทีก็หลับได้ เวลาจิตสงบเข้าไป ๆ แล้วก็หลับได้ ถ้าไม่หลับก็อยู่ในความสงบแน่ว ถอนออกมาจากนั้นเรื่องปัญญาไม่ต้องบอก พอเราปล่อยมือนี้ผึงเลยทันที ปัญญาอยากจะออกอยู่แล้ว ที่ว่าบังคับไม่อยู่ก็คืออยากออกทำงานนั่นเอง ไม่ใช่เพลิดเพลินไปที่ไหน จะออกแก้กิเลส จึงต้องให้พิจารณา

ผู้ปฏิบัติทั้งหลายให้กำหนดตามที่อธิบายให้ฟังนี้ เรื่องการพิจารณากายนี้สำคัญมากนะ เอาให้แหลกเอาให้ชำนิชำนาญ การพิจารณากายชำนิชำนาญเท่าไรสติปัญญานี้ยิ่งผาดโผนโจนทะยาน กายนี่เป็นสำคัญมากที่สุดในบรรดาการพิจารณา พิจารณาร่างกายนี้สำคัญมากที่สุด ให้เน้นหนักจุดนี้ให้มาก ขั้นนี้เป็นขั้นหยาบต้องได้ทำงานกันอย่างหนัก กิเลสประเภทต่าง ๆ รวมอยู่ที่กายนี้หมดไม่อยู่ที่ไหน พอพิจารณาร่างกายหมดปัญหาไปแล้ว เรื่องอะไรก็ยุบยอบไปหมด ตัวออกสนามจริง ๆ คือร่างกาย กิเลสอยู่กับร่างกาย กามกิเลสก็อยู่ตรงนี้เองให้จำเอาเสีย

เวลาผ่านนี้แล้วมันเหมือนไม่มีอะไรนะโลกอันนี้น่ะ มันว่างมันเปล่าไปโดยลำดับ ความดูดดื่มของจิตก็ไม่เป็นการรบกวนตัวเองมากไปเหมือนขั้นนี้นะ หากเพลินไปในความเพียร ดูดดื่มไปเรื่อยเพลินไปเรื่อย ดูดดื่มไปเรื่อย ไม่มีอะไรกวนใจให้สะทกสะท้านหรือให้เป็นความทุกข์มากยิ่งกว่าเรื่องร่างกาย ให้พิจารณาให้มากนะ ใครนักภาวนาพิจารณากายมาก ผู้นั้นละจะเป็นผู้ที่แก้กิเลสได้เป็นลำดับลำดา ถ้าใครไม่สนใจในจุดนี้ไม่มีความหมายนะ ภาวนาไม่ได้เรื่อง ให้จำเอาไว้คำนี้น่ะ

ท่านจึงสอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นั่นละจุดใหญ่อยู่ตรงนั้น ให้พิจารณาตรงนั้น เลยนี้แล้วไม่ต้องบอกละเรื่องความเพียร ที่จะหมุนตัวไปเพื่อความพ้นทุกข์นี้ หมุนไปเองเป็นอัตโนมัติ ตรงนี้ละตรงร้ายแรงตรงหนักมากที่สุดคือตรงนี้ ให้เน้นหนักในจุดนี้ให้มาก พอผ่านนี้ไปแล้วเป็นที่แน่ใจแล้ว ถึงจะยังไม่พ้นทุกข์เพราะกิเลสยังมีอยู่ ก็แน่ใจว่าจะพ้นอยู่นั้นแหละ ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ๆ เรื่อยไป จับกันหวุดหวิด ๆ ไปเรื่อย ๆ พอผ่านอันนี้ไปแล้ว แน่ ๆ ให้พากันปฏิบัติอย่างนี้

เวลานี้ครูบาอาจารย์ที่จะแนะนำทางด้านจิตตภาวนาโดยความถูกต้องไม่ค่อยมีนะ นี่ไม่ได้อวดนะ นี้ไม่สะทกสะท้าน สิ่งเหล่านี้ผ่านมาหมดแล้ว การแนะนำสั่งสอนจึงอาจหาญชาญชัยทุกด้านทุกทางแห่งธรรมทั้งหลาย เกี่ยวกับเรื่องการถอดถอนกิเลสนี้ไม่จนว่างั้นเลย เพราะผ่านมาหมดแล้ว ความรู้ในหัวใจนี้มันครอบโลกธาตุแล้ว จะเอาอะไรมาอับมาจน มันอับจนอยู่ที่กิเลสบีบหัวใจเท่านั้น พูดให้มันชัดเจนอย่างนี้ละ เราอย่าเข้าใจว่าอะไรมาบีบบังคับหัวใจให้อับให้จนให้โง่เง่าเต่าตุ่น มีแต่เรื่องกิเลสทั้งนั้น พอกิเลสได้เปิดออกหมดแล้วไม่มีอับมีจน โล่งไปหมด โลกธาตุนี้ว่างเปล่าไปหมด

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่โมฆราชมาณพว่า

สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต

อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา

เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ

ดูก่อนโมฆราช เธอจงมีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกนี้เป็นของสูญเปล่าว่างเปล่า ถอนอัตตานุทิฏฐิที่สำคัญว่าเป็นตนเป็นตัวเป็นเราเป็นเขาเสีย จะข้ามพ้นพญามัจจุราชไปได้ พญามัจจุราชจะมองไม่เห็นผู้พิจารณาโลกนี้ว่าเป็นของว่างเปล่าอยู่อย่างนี้ นั่นแปลออก

คือจิตเวลาผ่านนี้ออกไปแล้วมันว่างหมดเลย ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ หนาแน่นขนาดไหน จิตทะลุไปหมด ท่านจึงเรียกว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ คือมันว่างเปล่าไปหมด ไม่มีอะไรมาติดมาข้องมาคาภายในใจ มีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้นบีบบังคับจิตใจ ติดที่หัวใจ ติดก็ติดกิเลส คาก็คากิเลส พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้วไม่มีติดมีข้องมีคากับอะไร นั่นละจึงเรียกว่าโลกว่างเปล่า แล้วจิตไม่มีขอบเขตแห่งความรู้ของตน

ก็กิเลสเท่านั้นเป็นผู้ปักปันเขตแดนเอาไว้ว่ามีขนาดนั้นมีขนาดนี้ ความรู้ลึกตื้นหยาบละเอียดขนาดนั้นขนาดนี้ เป็นเรื่องของกิเลสปักปันเขตแดนให้จิตอยู่ในขอบเขตนั้น ไม่ให้เลยนั้นไป พอกิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจหมดแล้ว จิตนี้ครอบโลกธาตุฟังซิน่ะ ความรู้นี้ครอบโลกธาตุ ไม่มีอะไรมาเป็นฝั่งเป็นฝากีดกันบังคับไว้ เหมือนกิเลสที่มันเป็นตัวการสำคัญบีบบังคับเอาไว้นั้นเลย นั่นละจิตของผู้พ้นแล้วจึงไม่มีอะไรจนตรอกจนมุม ว่างเปล่าไปหมด

เอ้า เทวดาก็สอนได้อย่าว่าแต่มนุษย์เรานี้เลย พรหมโลกท้าวมหาพรหมก็สอนได้ ธรรมนี้เหนือท้าวมหาพรหม เทวดาขั้นใดภูมิใดสอนได้ทั้งนั้น เพราะธรรมนี้เหนือทุกขั้นทุกภูมิแล้ว แล้วเหตุใดจะมาสอนมนุษย์ไม่ได้ เหตุใดจะมาติดปัญหาของกิเลสแห่งมนุษย์ที่อยู่ในหัวใจมนุษย์ ไม่ติด ไม่มีอะไรติด นอกจากว่าควรจะพูดหนักเบามากน้อยเพียงไร สำหรับผู้มาศึกษาอบรมได้รับประโยชน์ตามกำลังของตนเท่านั้น ธรรมะจะออกพอดิบพอดีกับกำลังของผู้มารับมาฟัง หากว่าไม่ควรจะได้รับประโยชน์ ธรรมะเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรในการแสดง จึงเหมือนไม่มี ท่านไม่แสดงเสีย จะแสดงเฉพาะที่เหมาะสมกับผู้มาศึกษาอบรมเท่านั้นว่ามีกำลังมากน้อยเพียงไร ถ้าเลยนั้นก็สอนไม่ได้ไม่เกิดประโยชน์

เช่น เขามาเรียน ก.ไก่ ก.กา เราจะสอนปริญญาตรี ปริญญาโท เอก ให้เด็กอย่างนั้นเข้ากันไม่ได้นะ ขั้นใดภูมิใดที่ควรจะสอนตามขั้นภูมิของผู้มาศึกษา มันหากเป็นความพอเหมาะพอดีของครูของอาจารย์นั้นแลที่จะสอนได้ นี่ละพากันจำเอา เรื่องความรู้นี้ไม่มีคำว่าอัดอั้นตันใจ มีขอบมีเขต แม่น้ำมหาสมุทรจะกว้างแสนกว้าง ลึกแสนลึก มันก็มีฝั่งของมัน ฝั่งโน้นฝั่งนี้ ความลึกตื้นขนาดไหนก็วัดได้ว่ามันลึกเท่านั้นเท่านี้ แต่ความรู้ของจิตที่หลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้วนี้ ครอบโลกธาตุเลย ไม่มีฝั่งมีฝา ไม่มีเขตมีแดน เพราะเลยสมมุติไปหมดโดยประการทั้งปวงแล้ว

ท่านไม่ติดท่านเสียเอง ไม่ติดตัวเองด้วยกิเลสเสียอย่างเดียวไม่ติดอะไรในโลกอันนี้ มันติดตัวเองเท่านั้นแหละ ถ้าไม่ติดตัวเองเสียอย่างเดียวไม่ติดอะไรทั้งนั้นในโลกธาตุนี้ นี่ละจิตเวลาพ้นแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรมาบีบมาบังคับได้เลย โล่งไปหมด นี่ละผลแห่งการอบรมจิตใจ

เวลาถูกบีบบี้สีไฟนี้คับแคบตีบตันที่สุดไม่มีอะไรเกินใจที่กิเลสบีบบังคับนะ กิเลสหนาเท่าไรมันยิ่งบีบบังคับให้ตีบให้ตันอั้นตู้ เห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่วไปหมด พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปหมด ถ้าลงมันสว่างแล้วเห็นตามความจริงไปหมด ไม่ฝืนความจริง แต่กิเลสนี้ฝืนตลอด ถ้าดีบอกว่าไม่ดีเสีย ไม่ดีบอกว่าดีเสีย นี่เรื่องของกิเลสปลอมตลอดหลอกตลอด ถ้าเป็นธรรมของจริงแล้วพูดตามหลักความจริง รู้ยังไงแสดงมาอย่างนั้น ๆ

อย่างพระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงให้เราได้ยินได้ฟังทุกวันนี้ เป็นของเล็กน้อยเมื่อไร เป็นของสด ๆ ร้อน ๆ มีมาตั้งกัปตั้งกัลป์ว่า บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน เปรตผีประเภทต่าง ๆ มีมาประจำโลกสมมุตินี้กี่กัปกี่กัลป์แล้ว เราจะโยกย้ายเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นอย่างไรได้ล่ะ ก็เมื่อมันเป็นมาอย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์แล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรม ก็มาทรงเห็นทรงรู้สิ่งเหล่านี้ ไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาลบล้างสิ่งเหล่านี้ว่าไม่ให้มี มันมียังไงก็ต้องสอนตามที่มีที่เป็นที่รู้ที่เห็นนั้นเท่านั้น จะไปลบล้างมันไม่ได้

เช่น นรก มีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่มาตรัสรู้ ตรัสรู้แล้วจะไปลบนรกได้ยังไง ก็มันมีมาตั้งแต่เมื่อไร เราอย่าไปอาจหาญไปลบล้างนะว่านรกไม่มีถ้าไม่อยากถูกเผาทั้งเป็น ให้ระวังให้ดีนะ บาป บุญ นรก สวรรค์ เป็นศาสดาองค์เอกทั้งนั้นสอนแบบเดียวกันหมด ไม่มีใครลบล้าง ไม่มีใครแก้ไขดัดแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นพอเหมาะพอดีกับความเป็นจริงของมันอยู่แล้ว ท่านก็สอนตามหลักความเป็นจริงนั้น ให้พากันปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เราจะมีฝั่งมีฝามีเขตมีแดนมีที่ยึดที่เกาะ ถ้าหากไม่มีธรรมเป็นที่ยึดของใจแล้ว โลกนี้ โอ๋ย ไขว่คว้าไปเท่าไรก็จมไปทั้งนั้น ไม่มีที่ยึดที่เกาะได้เลยนอกจากธรรมเท่านั้น จึงให้พากันยึดธรรมเป็นหลักใจไว้

ไปที่ไหนอย่าลืมพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ การทำบุญให้ทานอย่าปล่อยอย่าวาง นี้คือเกาะยึดของหัวใจเรา เจริญเมตตาภาวนา นี้คือธรรมเครื่องยึดของหัวใจ อย่าปล่อยอย่าวาง หลักใหญ่ของหัวใจอยู่ตรงนี้ อย่าเร่ ๆ ร่อน ๆ ไขว่โน้นคว้านี้ คว้าน้ำเหลวทั้งนั้นละ มหาเศรษฐีตายจมลงนรกมีจำนวนน้อยเมื่อไร ไม่ได้น้อยนะ คือไขว่คว้าหาสิ่งที่ไร้สาระ เอามาสำคัญว่าเป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา ตายแล้วไม่ได้เป็น ตั้งแต่ร่างกายเจ้าของมันก็ยังพัง จะให้สมบัติเหล่านั้นมาเป็นของเจ้าของได้ยังไง ก็ต้องพังแบบเดียวกันกับเรา ไม่มีอะไรคว้าก็เลยลงนรกปึ๋งเลย นั่น ถ้ามีธรรมเป็นเครื่องยึดแล้วไม่ลง

เพราะฉะนั้นจึงให้พากันสร้างหลักใจไว้ให้ดี อย่าปล่อยอย่าวาง หลวงตานี้เป็นห่วงจริง ๆ ไปเทศน์ที่ไหนไม่เว้นเรื่องที่พึ่งคือหลักใจ ต้องได้เทศน์เน้นหนักตลอดเวลา พอมองดูแล้ว โห มันจะดูไม่ได้นู่นน่ะจะว่ายังไง ไม่ได้โอ้อวดนะ บางครั้งเรายังพูดได้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้เคียงกัน เรายังพูดได้เต็มปากเลย เพราะความรู้มันรู้เต็มหัวใจจะไม่ให้พูดได้ยังไง นอกจากไม่พูดเฉย ๆ รู้ก็รู้ไปอย่างนั้น ปล่อยไว้เหมือนไม่รู้ไม่ชี้ ผ่านไปเสียแบบหูหนวกตาบอดไปเสีย ทีนี้บางทีมันคันฟันนี้ก็ออกบ้างล่ะซิ คันฟันคือให้พูดเสียบ้างเถอะว่างั้น

เช่น มีแต่เราดูหัวใจโลกอย่างเดียว ดูเสียจนเบื่อจนเอือมจนระอา เราอยากให้โลกมาดูหัวใจเราบ้างเป็นยังไง คือเอามาเทียบกันดู ว่างี้เลย ที่มันเป็นอยู่เวลานี้ว่างั้นเลยกับหัวใจโลกต่างกันยังไง นี่ละบางครั้งพูดเหมือนกันนะ พูดตามหลักความจริงไม่ได้โอ้ได้อวด ถึงไม่พูดหลักความจริงก็รู้เห็นกันอยู่อย่างนี้ พูดออกมาแล้วก็เป็นความจริงอยู่นี้ ไม่มีคำว่าได้ว่าเสียสำหรับเราเอง จะมีได้มีเสียเฉพาะผู้ที่ฟัง คนที่เขาไม่เชื่อตามหลักความจริงเขาก็ดูถูกเหยียดหยาม หาว่าโอ้ว่าอวด นั่นก็สร้างฟืนสร้างไฟเผาตัวเอง นี่เรียกว่าเสียเพราะการฟัง ผู้ที่มีความเชื่อเคารพนับถือปฏิบัติตามนั้น ผู้นั้นก็เป็นกุศลธรรมสิริมงคลแก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นการพูดออกไปจึงมีได้ทั้งทางได้ทางเสีย ถ้าไม่พูดก็ไม่มีได้มีเสีย สำหรับผู้ที่พูดนั้นพูดก็ตามไม่พูดก็ตาม ธรรมชาติที่รู้ที่เห็นเป็นอยู่นี้ไม่มีคำว่าได้ว่าเสีย คงเส้นคงวาอยู่อย่างนั้น

นี่เราห่วงจริง ๆ นะ ชาวพุทธเรานี้จะไม่มีอะไรเป็นที่ยึดที่เกาะในหัวใจเลยนะ มันไขว่มันคว้าลม ๆ แล้ง ๆ หาสาระไม่ได้ ถือว่ามาเป็นสาระ ได้เงินบาทหนึ่งขึ้นมาก็ว่าเป็นของตนเสีย ไปเป็นเปรตเป็นเล็นเกาะอยู่นั้นเสีย มีตึกรามบ้านช่องสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย จิตก็ไปเกาะนั้นเสีย ๆ เวลาตายถ้าบาปไม่หนักมากก็ไปเป็นเปรตเป็นผีเฝ้าสมบัติเหล่านั้น แต่สร้างบุญสร้างกุศลไม่เกาะนะ พาไปเลย พากันจำเอานะ ของเหล่านั้นเป็นของอาศัยชั่วกาลเวลา ส่วนบุญกุศลธรรมทั้งหลายนี้เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายไปได้จริง ๆ ให้พากันยึดกันเกาะนะ

นี่เราห่วงจริง ๆ นะ การเทศน์จึงได้เปิดหัวอกให้พี่น้องทั้งหลายฟัง วันนี้ก็เปิด เพราะระยะนี้เป็นระยะที่ช่วยชาติบ้านเมือง จึงต้องได้เปิดปูมหลังให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายได้ทราบทั่วถึงกัน ทั้ง ๆ ที่รู้มานานสักเท่าไรแล้ว แต่ก่อนเหมือนไม่รู้ไม่เห็น เพราะไม่เคยพูดอย่างนี้ ใครมาศึกษาอบรมกับเรา เราก็สอนไปตามขั้นภูมิของผู้จะรับได้มากน้อยเพียงไรเท่านั้น แต่เราไม่เคยบอกว่าเรารู้อย่างนั้นเห็นอย่างนี้ ที่มาเปิดก็ปี ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นปีช่วยบ้านเมืองนี้เอง จึงได้เปิดปูมหลังให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบ ไม่ใช่เปิดเพื่ออวดนะ เปิดปูมหลังให้ทราบว่าการที่มานำพี่น้องทั้งหลายนี้ มาด้วยแบบเหตุผลกลไกอะไร หรือแบบหัวชนฝาออกมา

นี่เราไม่ได้ออกมาด้วยแบบหัวชนฝานะ ก่อนที่จะมาเป็นผู้นำพี่น้องทั้งหลายเราเชื่อตัวเราเองร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เพราะการปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติเต็มหัวใจเราแล้ว เราจึงมานำพี่น้องทั้งหลาย จึงได้เปิดปูมหลังให้ฟังอย่างนี้ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันก็กรรมของสัตว์เท่านั้นเอง เราไม่ได้มีได้มีเสียจากการเปิดออกมาหรือไม่เปิดออกมา นี่สองปีนี้เปิด พูดอย่างชัดเจนเลย มันประจักษ์อยู่ในหัวใจ แม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้านี้ก็ไม่ทูลถามท่าน ถามท่านหาอะไร ก็รู้อยู่เห็นอยู่ด้วยกันก็จะไปถามกันหาอะไร เพราะของอันเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน ไปถามกันหาอะไร นี่ละที่ท่านไม่ถามกัน องค์ใดไปเจอเข้าแล้วหายสงสัยทันที ๆ เพราะเป็นของอันเดียวกัน รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น นี่ ใครมองมาก็เห็นอย่างเดียวกันรู้อย่างเดียวกัน ถามกันหาอะไร ว่านี่ภูเขาเหรอ ภูเขาหรือกระโถนก็รู้กันอยู่นี้ใช่ไหมล่ะ ก็เห็นด้วยกันนี้ไปถามกันหาอะไร นั่นก็เหมือนกัน ธรรมทั้งหลายประเภทใดขั้นใดภูมิใดมันประจักษ์ ๆ อยู่อย่างนี้ แล้วจะถามกันหาอะไร พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สนฺทิฏฺฐิโก ให้ปฏิบัติ รู้ด้วยตนเองนั้นแลจะไม่ต้องถามใคร คือพระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติ เพื่อให้เจ้าของรู้เองเห็นเอง ชี้ทางบอกเข้าไป เอ้า ให้ไปช่องนี้ให้ไปดู ๆ เมื่อเข้าไปตามช่องนั้นแล้วไปเจอไปเห็นแล้วก็หายสงสัย อ๋อ ๆ ทันทีเลย

นี่ครูบาอาจารย์ที่จะให้การแนะนำสั่งสอน ด้วยความถูกต้องแม่นยำหายสงสัยในแนวทางดำเนินนี้ จะไม่ค่อยมีนะ นี่ละที่ว่าวิตกวิจารณ์มาก เพราะเราแก่ลงไปทุกวัน ๆ ผู้ที่จะสืบหน่อต่อแขนงออกไปในธรรมทั้งหลายทางภาคปฏิบัตินี้ นับว่าร่อยหรอลงทุกวัน ๆ จึงทำให้วิตกวิจารณ์ห่วงใยประชาชน เพื่อนฝูง พระเณร จึงต้องได้แนะนำเต็มกำลังความสามารถในโอกาสที่พอทำได้ นี่ก็สอนอย่างนี้แหละ เช่นเวลานี้ก็มามีโอกาสที่จะได้สอนก็สอนให้ฟังอย่างนี้ สอนให้ได้ยินได้ฟังทั่วถึงกัน ด้วยความไม่สงสัยในสิ่งใด เราสอนออกมานี้เราถอดจากหัวใจเรามาสอน ไม่ได้ไปลูบไปคลำตามตำรับตำรานะ

เรียนเราก็เคยเรียน เรียนตามตำรับตำราเราก็เคยเรียน เรียนด้วยความจำมากับรู้ด้วยความจริงในหัวใจเรานี้ต่างกันมาก ไม่ได้เหมือนกัน เรียนในตำรับตำรา ตั้งแต่บาป บุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน มีหรือไม่มีมันสงสัยไปตลอด ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์พอที่จะยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะความจำของตนนั้นได้เลย เรียนไปถึงไหนความสงสัยตามต้อนไปเรื่อย ๆ ว่าบาปมี มีหรือไม่มีนะ จนกระทั่งนรก สวรรค์ มีหรือไม่มีนะ ท่านบอกไว้ด้วยของมีอยู่อย่างนั้น แต่เวลาเราเรียนไปแล้วมันกลับสงสัย กิเลสไปลบล้างว่ามีหรือไม่มีนะ

ทั้ง ๆ ที่ท่านสอนในสิ่งที่มีนั้นด้วยความรู้ความเห็นของท่านแล้ว แต่เวลาเราตาบอดมีแต่ความจำเฉย ๆ เอ๊ นรกมีหรือไม่มีนะ ทีนี้เวลาปฏิบัติมันจ้าเข้าไป ๆ มันก็เหมือนกับว่าท่านชี้เข้าไป ๆ ให้ดูที่นี่ อ๋อ ๆ เรื่อย อ๋อเรื่อยไปเลย นี่ละความจริงที่รู้ขึ้นภายในใจกับความจำที่จำมาจากตำรามันต่างกัน จำมาจากตำรานี้มันไม่ได้ละกิเลสตัวไหนได้ เราก็เรียนมาแล้วเราไม่เคยละกิเลสตัวไหนได้ แต่เวลาภาคปฏิบัติรู้ขึ้นมาตรงไหนละกิเลสเป็นลำดับลำดา อย่างน้อยตีกิเลสให้สงบลงไป มากกว่านั้นฆ่ากิเลสเป็นลำดับด้วยการรู้จริงเห็นจริง รู้ด้วยความจำเป็นอย่างหนึ่ง รู้ด้วยความจริงจากภาคปฏิบัติของตัวเองเป็นอย่างหนึ่ง มันต่างกันอย่างนี้

ที่นำมาสอนนี้เราไม่ได้นำเอาปริยัติมาสอนนะ ปริยัติเราก็สอนมาเหมือนกัน เราบอกตรง ๆ เลยสารภาพตรง ๆ เลยว่าเราสงสัยตลอด เราไม่เคยมีอะไรติดเนื้อติดตัวเป็นที่ฝากเป็นฝากตายกับความจำของตัวเองได้เลยว่า แน่ใจว่ามีอย่างนั้น ว่านรก สวรรค์ นิพพาน มี มันก็จำได้เฉย ๆ ความสงสัยมันก็คืบคลานไปตาม พอไปเจอตัวจริงเข้าตรงไหน ความสงสัยหายทันที ๆ มีแต่ อ๋อ ๆ เรื่อย นั่นมันต่างกันนะ นี่ละความจำกับความจริง ความจริงคือปฏิบัติด้วยตัวเอง รู้จริงเห็นจริงในสิ่งที่มีที่เป็น หายสงสัย แต่ความจำจำได้เฉย ๆ จำได้แต่ชื่อ ไม่เห็นตัวจริงมันก็สงสัยวันยังค่ำ

เช่นอย่างวัดนี้น่ะ เราเรียนว่าวัดนี้อย่างนั้นอย่างนี้มันก็ยังสงสัย แม้จะไม่ถึงขนาดลบล้างว่าวัดนี้ไม่มีก็ตาม เอ๊ วัดนี้จะตั้งอยู่ที่ไหนนา มีลักษณะยังไงนะ วาดภาพหลอกตัวเองไว้เลย วัดนี้เห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้ พอมาถึงแล้วความจริงที่ประจักษ์กับตาของเรากับความคาดเอาไว้มันต่างกันใช่ไหมล่ะ ความคาดเอาไว้มันล้มเหลวไปทันที ความจริงที่มาเห็นประจักษ์นี้จะขึ้นแทนที่ อันนี้ก็เหมือนกัน ท่านว่าสมาธิ สมาธิความจำกับสมาธิความจริงมันต่างกัน เรียนจิตตั้งมั่นเรียกว่าสมาธิ จำได้ว่าอย่างนี้ แต่จิตเรามันเหมือนลิงมันไม่ได้ตั้งมั่น จำได้แต่ชื่อเฉย ๆ จิตมันเหมือนลิง ทีนี้พอมาปฏิบัตินี้จิตมันเชื่อง มันรู้เป็นสมาธิ อ๋อ เป็นอย่างนั้นนะ พากันจำเอานะ

นี่สอนอย่างแม่นยำ พูดอย่างอาจหาญชาญชัย เพราะได้ประจักษ์หัวใจทุกอย่างไม่มีลี้ลับบรรดาที่นำมาสั่งสอนประชาชนพระเณรทั้งหลาย เราไม่มีสงสัยแล้ว เปิดหัวอกออกสอนทีเดียว เช่นอย่างบาป บุญ นรก สวรรค์ มีนี้ อย่านะ ใครอย่ากล้าหาญ ใครอย่าอวดรู้อวดฉลาดท้าทายพระพุทธเจ้าว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี ถ้าไม่อยากจมทั้งเป็นว่างั้นเลย ยอมรับขนาดนั้นนะ สด ๆ ร้อน ๆ สิ่งเหล่านี้มีอยู่สด ๆ ร้อน ๆ มาตั้งกัปตั้งกัลป์ ไม่มีใครสามารถจะลบล้างได้ เหตุใดเราจะเก่ง เราคนเดียวไปลบล้างสิ่งเหล่านี้ได้ แล้วผลแห่งการลบล้างสิ่งเหล่านี้ก็คือจมลงในสิ่งที่ว่าไม่มีนั้นแหละ มันไปจมอยู่นั้นนะ เพราะไม่มีใครลบล้างได้นี่

ถ้าหากว่าลบล้างได้แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาลบหมด นรกไม่ให้มี ตถาคตลบมันหมดแล้วแหละ อยากไปทำบาปหาบกรรมอะไรก็ให้ไปเถอะไม่ตกนรกแหละ เราลบหมดแล้ว พระพุทธเจ้าจะสอนอย่างนั้น นี้องค์ไหนก็แบบเดียวกัน ไม่ให้ไปลบ พระพุทธเจ้าองค์ไหนลบไม่ได้ล้างไม่ได้ ต้องสอนตามความมีความเป็นนั้น แล้วส่วนที่ควรหลีกสอนให้หลีก อย่าเข้าไปนะตรงนั้น สอนสิ่งที่ควรบำเพ็ญที่เป็นของดี สอนเข้าไปให้เร่งบำเพ็ญเข้าไป ท่านก็บอกอย่างนั้น

ความจริงกับความจำมันต่างกัน จะว่าฟ้ากับดินมันก็ไม่ห่างยิ่งกว่านี้นะ ธรรมชาตินั้นบอกใครไม่ได้แต่ไม่สงสัย จะให้ไปถามใคร ถามหาอะไรว่างั้นเลย ก็จัง ๆ อยู่กับหัวใจนี้จะถามหาอะไร ถามใครวะ ใครรู้ยิ่งกว่าเรารู้เราเวลานี้ เราเป็นผู้รู้อันนี้เห็นอันนี้ เขาไม่รู้ไปถามเขาหาอะไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ต้องหาใครมาเป็นพยาน ของจริงเท่านั้นเป็นพยานกันได้เลย ที่รู้ที่เห็นอยู่เวลานั้นเป็นพยานของผู้รู้นั้นได้เลย นี่ก็เวลามันจังเข้าไปในหัวใจนี้แล้วมันก็แบบเดียวกัน ถามกันหาอะไร พากันจำเอานะ

นี่บอกเปิดขนาดนั้นนะ เปิดที่ว่านี้เราเปิดด้วยความเมตตานะ ด้วยความเมตตาสงสาร เป็นที่มั่นที่หมาย เป็นจุดหมายปลายทาง จะไม่เสียหวังที่เราปฏิบัติตามธรรมพระพุทธเจ้าที่สอนไว้อย่างไร สิ่งนั้นมีโดยตรงอยู่แล้วว่างั้น ไม่ได้สอนแบบงู ๆ ปลา ๆ นะพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์สอน มีแต่กิเลสละงู ๆ ปลา ๆ หลอกคนให้งู ๆ ปลา ๆ ไปเสียไม่ยอมเชื่อฟัง แล้วจมลงในนรก ๆ ตลอดเวลา หลั่งไหลลงนรกนี้ โห คือมันไม่มีวันมีคืนมีปีมีเดือน มันตลอดเลย เพราะการสร้างความชั่วช้าลามกทำได้ตลอดทั้งสัตว์ทั้งบุคคล แล้วจะไปนิยมว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลจึงจะลงนรกได้อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่นิยม

บาปกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ตีตราเอาไว้เลยว่า นี้คือผู้จะลงนรก ผู้ทำความดีก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องหาใครมาชักมาจูง ไปเอง บุญพาไป เป็นอย่างนั้นนะ จำกันให้ดีนะ นี่สอนจริง ๆ สอนเปิดหัวอกนะ เปิดหัวอกด้วยความเมตตาไม่ใช่เปิดธรรมดานะ ไอ้เรื่องความอยากโอ้อยากอวด อยากหาอะไร ถ้าอยากก็แสดงว่ายังบกพร่องล่ะซิถึงอยากถึงหิว อยากให้เขาชมเชย อยากให้เขาสรรเสริญอย่างนั้นอย่างนี้ อยากอยู่หิวอยู่แสดงว่าเป็นความสุขได้ยังไง มันยังหิวอยู่นั้นน่ะ อยากให้เขาชมเชย อยากให้เขาสรรเสริญ ยังอยากอยู่สมบูรณ์ได้ยังไง ผู้สมบูรณ์แล้วเรียกว่าพอ คำว่าพอเท่านั้น นอกนั้นเป็นส่วนเกินไปหมดไม่ใช่คำว่าพอ พอคำเดียวนั้นพอหมด

ยังอยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้อยู่ มันก็ไม่พอล่ะซิมันถึงอยาก จึงว่านินทาก็ตาม สรรเสริญก็ตาม เป็นส่วนเกินส่วนเศษส่วนเหลือทั้งนั้น ไม่ใช่ของจริงคือพอ คำว่าพออันเดียวพอแล้ว

โห เวลามันได้แสดงความอัศจรรย์อะไรเกินโลกเกินสงสาร พูดไม่ได้ว่างั้นเลย พระพุทธเจ้าจึงท้อพระทัย ทั้ง ๆ ที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาจนกระทั่งได้ตรัสรู้แล้วมองดูสัตวโลกนี้มืดตื๋อเลยทั่วแดนโลกธาตุ โอ้โห อย่างนี้จะทำยังไง จะสอนได้ยังไง ท้อพระทัย ดังที่เทศน์ตอนบ่าย จึงทรงเล็งญาณพิจารณาเลือกเฟ้นดู มันจะมืดไปเสียหมดนี้เหรอ จะไม่มีชิ้นเหลือพอเป็นสาระอะไรบ้างหรืออยู่ในโลกวัฏจักรนี้น่ะ จึงทรงพิจารณา ก็จึงไปเห็นที่ว่าแร่ธาตุต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในโลกมืดอันนี้มันยังมี

แร่ธาตุต่าง ๆ ก็คือว่า คนที่มีอุปนิสัยปัจจัยยังมีอยู่ ถึงไม่มากก็ยังมีในโลกมืดนี้ พระองค์จึงทรงสอน แล้วหยิบเอาถอดเอา ๆ ตามแร่ธาตุที่มีจริง นอกนั้นก็ปล่อยให้กิเลสมันเอาไปถลุงเสีย เพราะมันหวงมาก พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์จะมายกโลกธาตุนี้ไปไม่ได้นะ กิเลสมันหวงมากทีเดียว ต้องมาถอดเอา ๆ ตามแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นสาระนั้นแหละ

เวลานี้ผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผลจะไม่ค่อยมีนะ แต่ปฏิบัติเพื่อกิเลสนี้มันเต็มโลกเต็มสงสาร ในวัดในวาในพระในเณร มีแต่เพื่อกิเลสกันเสียมากต่อมาก จะเพื่ออรรถเพื่อธรรมอะไร ก็เท่ากับสร้างส้วมสร้างถานให้กิเลส มีแต่การก่อนั้นสร้างนี้ยุ่งไปหมดนะเวลานี้ สร้างหัวใจด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาด้วยจิตตภาวนา นี้ถูกต้องกับผู้มาสร้างอรรถสร้างธรรมเข้าสู่ใจ อันนี้ถูกต้อง เวลานี้มันไม่มีนะ ไปที่ไหนมีแต่หรูหราฟู่ฟ่า กิเลสตีตลาดไปหมด ไม่ได้มองดูหัวใจที่กิเลสเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้อยู่ในนี้ กิเลสมันหลอกออกไปนู่นนะ อันนี้ละที่เราสลดสังเวช พูดแล้วเหมือนว่าเราเป็นบ้าคนเดียว โลกเขาเป็นคนดีหมดเลย เราพูดจึงลำบากนะ

แต่ถ้าจะให้พูดตามหลักความจริงก็คือว่า ถ้าเราพูดให้เขาว่าเราเป็นบ้าคนเดียว เขาเป็นคนดีทั้งหมด ทีนี้ตอบรับกันเลย ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นบ้ากันทั้งโลกนั้นแหละ เราเป็นคนดีคนเดียวเขาจะมาเชื่อยังไง เพราะโลกนี้มันเป็นโลกบ้าทั้งนั้น ว่างั้นเต็มยศนะ มันไม่มีใครจะเห็นด้วยนะ นี่ละที่ว่าสายตาของธรรมดูกิเลส เห็นอย่างนั้นท่านถึงฆ่ากิเลสได้ เรื่องของกิเลสนี้ โอ้โห ไม่มีใครรู้ใครเห็นกัน กิเลสเต็มหัวใจก็ไม่รู้ กิเลสเต็มบ้านเต็มเมืองไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นไม่มีใครสนใจ เพราะมันเป็นกิเลสอย่างเดียวกันหมด ในสายตาของธรรมจับปุ๊บลงไปนี้ จ้าหมดเลย นั่นละพระพุทธเจ้าท้อพระทัย ไปพูดอะไรก็ไม่มีใครจะเชื่อถือได้ เพราะเขาเป็นแบบเดียวกัน เราเป็นแบบนี้เขาเป็นแบบนั้นจะเข้ากันได้ยังไง นี่ละที่สำคัญมาก

นี่พูดจริง ๆ มันเป็นขึ้นในตัวเรา เราตัวเท่าหนูนี่ก็เป็น เพราะฉะนั้นมันถึงวิ่งถึงพระพุทธเจ้า เป็นพยานกันได้โดยไม่สงสัยเลย นี่จึงพูดให้ฟัง กิเลสนี้แหละถ้าเทียบแล้วเหมือนกับแก้วครอบดำหมดทั้งแก้วเลย ดวงไฟจะสว่างขนาดไหนมันก็อยู่ใต้อำนาจของแก้วครอบดำ ๆ นั้นหมดเลย มองแสงก็ไม่เห็น ถึงจะสว่างขนาดไหนก็สว่างอยู่ในแก้วครอบ แก้วครอบมันครอบไว้หมดเลย นี่จิตถึงจะรู้ขนาดไหน กิเลสมันก็เป็นเหมือนแก้วครอบดำ ๆ มันปิดไว้หมดเลย มันจึงมีขอบเขต อยู่ในขอบเขตของมันที่ปิดเอาไว้ พอเปิดจ้าเข้าไปแล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นซิความรู้อันนี้ มันจ้าครอบโลกธาตุ ของเล่นเมื่อไรวะ มันเป็นขึ้นอย่างจัง ๆ ที่เราไม่เคยคาดเคยคิดว่าจะรู้จะเห็น

แม้ที่สุดท่านว่านิพพานนี้มันก็ยังคาดนะ นิพพานเห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้ ในหนังสือบางเล่มเรายังเห็นอีกนะ เราเป็นคนอ่านเองแล้วทำให้ โอ้โห เขาว่า ความยาวของนิพพานวัดผ่าศูนย์กลางอย่างนั้นอย่างนี้ มีในหนังสือเราไปอ่านแล้ว โอ้โห เราสลดสังเวชนะ นี่เหรอนิพพาน แล้วมาอวดโลก เอาหลับตามาอวดซิ เรามันลืมตาอ่านนี่วะพูดให้มันตรง ๆ

นิพพานกว้างยาวขนาดนั้นขนาดนี้ วัดผ่าศูนย์กลางได้เท่านั้นเท่านี้ เขียนในหนังสือนั้น เราเห็นประจักษ์นี่ เราเห็นด้วยตาของเราเองแล้วเทียบ อ่านแล้วสลดสังเวชนะ โห อย่างนี้ก็มาอวดโลก กิเลสมันไม่มีอะไรอวดมันก็เอานิพพานของมันมาอวด นี้คือนิพพานของกิเลสพูดง่าย ๆ ว่างั้นนะ นิพพานของพระพุทธเจ้าไม่ได้อวด แต่ใครรู้แล้วไม่มีทางสงสัย ไม่มีคำว่าวัดผ่าศูนย์กลางพระนิพพาน

คืออย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้มานี้นะ ท่านทั้งหลายฟังให้ดีนะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้มานี้กี่กัปกี่กัลป์นานเท่าไรแล้ว จำนวนน้อยเมื่อไร เรานับพระพุทธเจ้า หนึ่ง สอง สามองค์ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งถึงวันตายนับไม่หยุดก็ไม่ครบพระพุทธเจ้า มากขนาดไหนพระพุทธเจ้าฟังซิ คือมีมากี่กัปกี่กัลป์มาแล้ว ตรัสรู้มาเรื่อย ๆ ไม่หยุดไม่ถอย ยังจะตรัสรู้ต่อไปอีก แล้วจะเอาน้อยมาที่ไหนวะ ทีนี้บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ ๆ มีจำนวนมากขนาดไหน พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมีสาวกอรหันต์มากขนาดไหน เหล่านี้ล้วนตั้งแต่บริสุทธิ์เหมือนกันหมด

ทีนี้เราเอาตัวของเราออกเลยเทียว พอจิตมันดีดผึงขึ้นจากท่ามกลางอริยสัจ ๔ เท่านั้นละ จ้าเลย กระเทือนถึงกันหมดเลย พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ พระสาวกพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์มีกี่องค์ถึงกันหมด โดยไม่ต้องไปถามพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นพยาน จ้าหมด เหมือนกันหมดเลย ไม่ต้องไปถามกันให้เสียเวล่ำเวลา นั่นละท่านรู้อย่างเดียวกันท่านจะถามกันหาอะไร

ทีนี้ผู้ไม่รู้ก็ต้องวัดผ่าศูนย์กลางอย่างนั้นอย่างนี้ล่ะซิ นี่ละศูนย์กลางนิพพานของกิเลสกับนิพพานเหล่านั้นมาวาดอันนี้ไม่ได้ แต่ท่านไม่สงสัยท่านไม่ได้ถามกันนะ ท่านไม่ได้มาวาดภาพวัดผ่าศูนย์กลางอย่างนั้นอย่างนี้ กับพวกบ้ากิเลสเหล่านี้ นิพพานของพวกเรานะ ต่างกันอย่างนั้นนะ ผึงขึ้นองค์เดียวเท่านั้นละกระเทือนถึงกันหมดเลย ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าองค์ใด เป็นอันเดียวกันหมดเลย เป็นธรรมธาตุล้วน ๆ อันเดียวกันหมดเลย ดูอันนี้แล้วแล้วหมดเลย ถึงกันหมดเลย

เหมือนกับแม่น้ำที่ไหลลงไปจากสายต่าง ๆ พอถึงมหาสมุทรแล้วเป็นมหาสมุทรอันเดียวกันหมด ถามกันหาอะไร แม่น้ำสายต่าง ๆ เวลายังไม่ถึงก็ต้องเป็นสายนั้นสายนี้ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่านอะไรก็ว่ากันไป พอถึงมหาสมุทรแล้วจะเรียกอย่างนี้ไม่ได้นะ เรียกว่ามหาสมุทรคำเดียวเท่านั้นกระเทือนถึงกันหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน จิตที่ยังไม่เข้าถึงธรรมธาตุนั้นก็เป็นเหมือนแม่น้ำสายต่าง ๆ

เช่น เราบำเพ็ญคุณงามความดีนี้ แต่ละคน ๆ เท่ากับแม่น้ำสายต่าง ๆ เวลาแก่กล้าเข้าไปก็ไหลใกล้เข้าไป ๆ พอถึงมหาวิมุตติมหานิพพานธรรมธาตุนี้แล้ว ปึ๋งทีเดียวเท่านั้นถึงกันหมดเลย ไม่ต้องไปถามหากันอีกแล้ว เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ เข้าไปถึงมหาสมุทรแล้วเป็นอันเดียวกันหมด ไม่ต้องไปถามหาว่ามาจากสายไหน ๆ ทีนี้พอเข้าถึงธรรมธาตุอันนั้นแล้วเป็นอันเดียวกันหมด ไม่ต้องไปถามมาจากไหน ๆ นี่เหมือนกันอย่างนั้น นี่คือความจริง พระพุทธเจ้ามาวาดภาพอย่างนี้ไม่ได้นะ แต่ท่านไม่ได้สงสัยกันแม้องค์เดียวท่านไม่สงสัยกันเลย

พอผางขึ้นจุดเดียวเท่านั้นกระเทือนถึงกันหมดเลย ที่อุบัติของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงไหน รู้จนกระทั่งสถานที่อุบัติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายขึ้นตรงไหน ขึ้นท่ามกลางอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผุดขึ้นตรงกลางนี้เป็นอันเดียวกันหมด พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ สาวกทุก ๆ พระองค์ ขึ้นจุดเดียวกันนี้ทั้งนั้น ไม่มีจุดอื่นเป็นที่ขึ้นที่เกิดที่อุบัติของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นศาสนาใดก็ตามดังพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เวลาสุภัททะมาทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า วันนั้นท่านจะมาปรินิพพาน ด้วยการหยั่งทราบด้วยพระญาณท่านเรียบร้อยแล้วว่า เดือนหกเพ็ญเป็นวันที่ท่านจะปรินิพพาน หรือวันตายของท่าน พอถึงวันนั้นแล้วท่านก้าวเดินมาเลยอย่างสง่าผ่าเผย ท่านสะทกสะท้านกับอะไร มาตามพระญาณหยั่งทราบแล้วว่า ถึงเวลานั้นเราจะนิพพาน แล้วที่มานี้ก็หมายถึงพราหมณ์คนนี้คนหนึ่ง เขามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมถึงพระนิพพานอยู่ในวันนั้นด้วย

พอมาถึงพราหมณ์แก่คนนั้นก็รำพึงในตัวเอง นี่เราก็ถือทิฐิมานะนี้มานานแล้ว คือพราหมณ์นี้เป็นชาติอริยกะ พระพุทธเจ้าของเราก็เป็นอริยกะ พราหมณ์คนนี้แกก็เป็นชาติอริยกะเหมือนกัน แต่แกถือว่าแกเป็นคนเฒ่าคนแก่ สิทธัตถราชกุมารพระพุทธเจ้าของเรานี้เป็นเพียงลูกเพียงหลาน แม้จะเป็นอริยกะด้วยกันก็ตาม แต่ยังถือว่านี้เป็นลูกเป็นหลานยังไม่ยอมมาถาม ถือทิฐิมานะ ทีนี้เมื่อถึงวันจนตรอกแล้วก็ อ้าวจะทำยังไง วันนี้ก็ทราบแล้วว่าพระพุทธเจ้าจะมานิพพานที่นี่ พระพุทธเจ้าตรัสคำไหนไม่เคยเคลื่อนคลาดเลย วันนี้พระพุทธเจ้าจะมานิพพานนี้แน่ ๆ หากเราจะถามก็ถามเสียวันนี้ ไม่ถามวันนี้หมดหวังว่างั้น จึงตัดสินใจละทิฐิมานะ ความเป็นอริยกะ เป็นปู่ย่าตายายนั้นออกเสีย แล้วมาทูลถามพระพุทธเจ้า

พอมาถาม ท่านก็รับสั่งทันที มาถึงทีแรกถูกพระอานนท์ห้ามไว้ก่อนไม่ให้เข้าเฝ้าท่าน เวลานี้พระองค์กำลังเพียบเต็มที่แล้ว ทรงทราบ เพราะท่านมุ่งมาเพื่อพราหมณ์คนนี้ ก็รับสั่งให้เข้ามาหาทันทีเลย เรามาที่นี่เพื่อพราหมณ์คนนี้แหละ เอาให้เข้ามาเดี๋ยวนี้ ๆ พอเข้ามาก็มาถามถึงเรื่องศาสนามีมากมาย ใครก็ว่าศาสนาใครเก่ง ๆ มาถามพระพุทธเจ้า อย่าถามเราไปมากเลยเวลาเรามีน้อย คือจะตาย ถึงเวลาแล้วตาย เอ้า เราจะพูดให้ฟังย่อ ๆ ถ้าศาสนาใดมีอริยสัจ ๔ มีมรรค ๘ ศาสนานั้นแลเป็นศาสนาที่ครองมรรคครองผล เหล่านั้นท่านไม่พูดถึงเลย สั่งสอน คือบอกว่าเมื่อศาสนาใดมีมรรค ๘ มีอริยสัจ ๔ ศาสนานั้นจะเป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผลเต็มสมบูรณ์

รีบให้พระอานนท์บวชให้เดี๋ยวนี้ แล้วอย่ามาเป็นกังวลกับการตายของเรา พอบวชแล้วให้รีบออกไปบำเพ็ญสมณธรรม ให้เป็นปัจฉิมสาวกในคืนวันนี้พร้อมกับการตายของเรา พราหมณ์ผู้นั้นพอบวชแล้วก็ออกไปบำเพ็ญสมณธรรม ถึงเวลาพระพุทธเจ้านิพพาน ทางนั้นก็ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นปัจฉิมสาวก แน่ไหมพระพุทธเจ้า เคลื่อนคลาดที่ไหน พระญาณหยั่งทราบ นี่ละอริยสัจ ท่ามกลางนี้ อุบัติขึ้นนี้ทั้งนั้น ไม่ต้องไปถามใครกระเทือนกันทั่วแดนธรรมธาตุ บรรดาพระพุทธเจ้าพระสาวกทั้งหลายตรัสรู้แล้ว ธาตุขันธ์สลายลงไปแล้วจิตนี้เป็นธรรมธาตุ เป็นมหาสมุทรมหาทะเลหลวงเหมือนกันกับน้ำสายต่าง ๆ ไหลเข้ารวมกันนั่นเอง นี่ก็เหมือนกันอย่างนั้น

นี่ละศาสนาเราเป็นศาสนาที่ทรงมรรคทรงผล ศาสนาเลิศเลอที่สุด ขอพี่น้องทั้งหลายอย่าได้ปล่อยวางพุทธศาสนานะ เป็นศาสนาที่เลิศเลอ เป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลสโดยสมบูรณ์แล้ว ศาสนาเหล่านั้นเราไม่ได้ตำหนินะ เป็นศาสนาของคลังกิเลส เจ้าของศาสนาเป็นคลังกิเลสมีกิเลสเต็มตัว ย่อมมีลูบ ๆ คลำ ๆ กำดำกำขาวหาความแน่นอนไม่ได้เหมือนกันหมด แต่ศาสนาพุทธของเรานี้เป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลส หาความสงสัยไม่ได้ ตรงแน่วเหมือนกันหมด ให้จำอันนี้ไว้ก็แล้วกัน

นี่ละที่พูดถึงว่าเวลามันเป็นขึ้นมา พอผึงขึ้นมาเท่านั้นเอง ที่เราเคยคาดว่านิพพานเห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่พ้นนะไอ้เรื่องความคาดความหมายนี้มันคาดของมันนะ ท่านว่านิพพานอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็คิดว่า เอ๊ นิพพานเห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอหลักธรรมชาติความจริงผึงขึ้นเท่านั้น ความคาดหมายนิพพานนั้นล้มเหลวไปหมดเลย โอ้โห เป็นอย่างนี้เหรอ แต่ก็เรียกว่านิพพานนั้นแหละ หากกับความคาดความหมายไม่ได้ตรงกันเลยกับธรรมชาติที่เป็นจริงขึ้นในหัวใจของเราเอง

ผางขึ้นเท่านั้น โอ้โห อย่างนี้เหรอ นิพพานแท้เป็นอย่างนี้เหรอ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อย่างนี้เหรอ พระอรหันต์ทั้งหลายทั่วแดนโลกธาตุท่านตรัสรู้อย่างนี้เหรอ อย่างที่เป็นอยู่นี้ นั่นละไปถามท่านทำไมล่ะ อ๋อท่านตรัสรู้ ท่านตรัสรู้อย่างนี้เอง ความหมายก็ว่างั้น ผู้สิ้นกิเลสสิ้นอย่างนี้เอง จะถามใครที่ไหนถามหาอะไร

ทีนี้เวลามันเป็นถึงขนาดนั้นแล้ว ความคาดความหมายที่เราเคยคาดเคยคิดไว้แต่เบื้องต้น ล้มเหลวไปหมดเลย ไม่มีอะไรมาติดในธรรมชาติซึ่งเป็นธรรมธาตุล้วน ๆ นี้ได้เลย แล้วจากนั้นก็ท้อใจพูดตรง ๆ นะ มันท้อจริง ๆ นะ พออันนี้จ้าขึ้นหมดแล้ว โอ้โห โลกอันนี้เราเคยเกิดแก่เจ็บตายมากี่กัปกี่กัลป์ มันย้อนไปนะ ทุกสัตว์ทุกบุคคลเต็มโลกธาตุนี้เป็นนักท่องเที่ยวนักเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะนับภพนับชาติของใครได้ว่ามากน้อยต่างกันอย่างไร มันมากต่อมากเหมือนกัน นานแสนนานเหมือนกัน

ตกนรกหมกไหม้กี่ครั้งกี่หน กิเลสก็ปิดไว้ไม่ให้รู้เสีย ก็ไม่เข็ดไม่หลาบ ไปสวรรค์ชั้นพรหมก็ไม่ทราบกี่ครั้งกี่หน ขึ้นแล้วลงลงแล้วขึ้น ตกนรกอเวจีเป็นเปรตเป็นผีประเภทต่าง ๆ ในจิตดวงเดียวนี้ เพราะอำนาจแห่งบาปแห่งบุญที่สิงอยู่ในจิตนั้น พาให้ไปเกิดในที่ต่าง ๆ เพราะอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วของตัวเอง สูง ๆ ต่ำ ๆ มันเกิดมากี่ครั้งกี่หน ไปเกิดที่ไหนความทุกข์ติดตามติดแนบไป ๆ ทุกแห่งทุกหน เวลามันจ้ามันเห็นหมดแล้วที่นี่ โอ๋ โลกนี้เกิดมาเป็นอย่างนี้ เราก็เคยเป็นมาอย่างนี้กี่กัปกี่กัลป์เหมือนกับโลกทั้งหลาย เวลามาคำนึงคำนวณนะ เวลาเห็นชัดเจนขนาดนั้น

โอ๋ย เราเกิดมากี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ แล้วอำนาจวาสนาเรามียังไงถึงได้มาหลุดพ้นอย่างนี้ได้ แสดงว่าเรานี้ก็มีวาสนาถึงได้มาเป็นอย่างนี้ แล้วอัศจรรย์ตัวเองด้วยนะ โห เรายังมีวาสนาอยู่เหรอถึงได้มาพบมาเห็นธรรมอันเลิศเลอ ที่ไม่เคยคาดเคยคิดอย่างนี้ประจักษ์ใจตัวเอง ทีนี้ท้อใจ จะสั่งสอนใครลงธรรมชาติเป็นอย่างนี้แล้ว อย่างที่รู้ที่เห็นแล้ว สอนใครก็จะไม่มีใครเชื่อ สอนไปหาอะไร เขาจะหาว่าบ้ากันทั้งโลก เพราะเขาเป็นแบบเดียวกันทั้งโลก โลกธาตุนี้เป็นแบบเดียวกันหมด เราคนเดียวที่มารู้มาเห็นนี้จะมาสอนเขาให้มาเชื่อถือนี้มันเป็นไปไม่ได้ นี่ละที่ว่าท้อใจ

พระพุทธเจ้าท้อพระทัยก็คืออย่างนี้ มันเป็นพยานถึงกันได้เลย สอนใครใครเขาก็จะหาว่าบ้าเกิดประโยชน์อะไร โอ๊ย อยู่ไปกินไปวันหนึ่งพอยังชีวิตให้เป็นไปถึงขันธ์แตกสลายแล้วก็พอแล้ว สอนอะไรไปที่ไหนเขาก็จะหาว่าบ้าทั้งหมด นี่ละเหตุที่ว่าท้อใจ สอนใครจะไม่มีผลอะไรเลย นอกจากเขาจะหาว่าบ้ากันทั้งนั้น เพราะเขาเป็นโลกเดียวกัน เราเป็นอย่างนี้เขาเป็นอย่างนั้น

ทีนี้ก็ทบทวนด้วยความท้อใจที่จะสั่งสอนโลกต่อไปแล้ว ก็มาทบทวนไปมา พินิจพิจารณาแล้วก็มาสะดุดขึ้นมาว่า ถ้าหากว่าเราเห็นว่าโลกทั้งหลายนี้เขาจะไม่สามารถรู้ได้อย่างเราแล้ว เราเป็นเทวดามาจากไหน เราทำไมถึงรู้ได้เห็นได้ เขาก็เป็นมนุษย์มนาเหมือนกันกับเรา เราก็เป็นมนุษย์เหมือนเขา ทำไมเราถึงรู้ได้เห็นได้ รู้ได้เพราะเหตุใด พอว่าเพราะเหตุใดมันก็วิ่งถึงทางดำเนินมาล่ะซิ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ สอนไว้ยังไง ๆ คือสายทางเดินเข้ามา เรารู้ได้เพราะเหตุใด อ๋อ รู้ได้เพราะเหตุนั้น ๆ คือเราปฏิบัติมาอย่างนั้น ๆ ตามสายทางที่พระพุทธเจ้าสอนมาแล้วเรียบร้อย แล้วก้าวมาจนมาถึงที่นี่

ก็เมื่อมีเส้นทางมีสายทางเดินมาอย่างนั้น ทำไมเรารู้ได้เขาจะรู้ไม่ได้ เมื่อมีทางเข้ามาอยู่แล้วทำไมเขาจะรู้ไม่ได้เห็นไม่ได้ เขาต้องมาได้ไม่มากก็น้อย ทีนี้ยอมรับนะ อ๋อ ได้ ถึงไม่มากก็ได้ ลงแล้วนะที่นี่ เรายังมาได้มาตามสายทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้ เป็นสายทางที่ถูกต้องแม่นยำต่อมรรคผลนิพพานโดยตรงอยู่แล้ว เราก็มาได้เห็นได้อย่างนี้ เมื่อเราสอนคนทำไมเขาจะไม่ปฏิบัติดำเนินเมื่อมีสายทาง ทำไมเขาจะไม่รู้ได้เห็นได้ล่ะ ต้องรู้ได้เห็นได้ไม่มากก็น้อย ทีนี้จึงมีแก่ใจที่จะสอน ทีแรกมันปิดตันเลย จะไม่ยอมสอนใคร เหมือนว่าเป็นใบ้ไปเลย สอนใครก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะมันเลยเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เกินกว่าที่เราจะนำมาคาดมาหมาย นี่ละที่พระพุทธเจ้าทรงท้อพระทัย

ธรรมอันนี้เลิศเลอขนาดไหน เพราะฉะนั้นจึงมาเทียบที่โลกทั้งหลายเป็นบ้ากันอยู่เวลานี้ เอ้า พูดให้มันตรง ๆ นะ นี่ละบ้ากิเลส คือกิเลสหลอกตลอดเวลา เอาหยาบ ๆ มาเทียบกัน ไม่ว่าอะไร ๆ ของกิเลสนี้จะมีแต่ให้ดิบให้ดี ๆ บ้านหลังนี้ขนาดนี้แล้วไม่พอให้ทำให้ใหญ่กว่านี้อีกดีนะ แล้วขยายอีก ได้หลังหนึ่งแล้วยังไม่พอ ให้อีกสองหลังสามหลัง หลังนี้ตกแต่งอย่างนี้ หลังนั้นตกแต่งอย่างนั้น ให้มีแต่ของสดสวยงดงามเรื่อย ๆ จากนั้นในห้องในหับที่นอนหมอนมุ้งโต๊ะเตียงอะไรให้เรียบให้สวยให้งามให้ขัดให้สีให้ดีนะ นี่กิเลสมันจะหลอกไปเรื่อย ๆ

ทางนี้ก็สวยงามนะ อันนั้นดี อันนี้ดี ตกแต่งกันเรื่อยเป็นบ้ากันเลย ที่นอนก็ตกแต่งหมอนมุ้งตกแต่ง ห้องน้ำห้องส้วมขัดถูกันเสียคนแก่เดินเข้าไปล้มทั้งหงายเลย เพราะกิเลสตกแต่งไว้อย่างดี นี้มีแต่สวยทั้งนั้นงามทั้งนั้น นี่กิเลสตกแต่ง ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ คนแก่อย่างหลวงตาบัวนี้ไปต้องได้ระวังนะ ไปวัดไหนที่กิเลสมันตกแต่งไว้สดสวยงดงามนั้น ตรงนั้นต้องได้ระวัง ต้องมีอะไรไปปูไว้ไม่งั้นเหยียบพลาดทีเดียวหงายหมาลงเลย อย่าว่าหงายคนเลย

นี่ละกิเลสมันตกแต่งว่าสวยว่างามสะอาดสะอ้านที่สุด ในสายตาของธรรมที่เหนือโลกเหนือสงสารมาจับมาดู นี่สกปรกสุดยอดคือเรื่องของกิเลส นั่นเห็นไหม แล้วอันนั้นสะอาดขนาดไหน จึงมาตำหนิกิเลสที่ว่ามันสะอาดสุดยอดนี้ว่าเป็นความสกปรกสุดยอด เอามาเทียบกันซิเรื่องธรรมเป็นยังไง นั่นละสายตาของธรรมดูกิเลส ไม่อย่างนั้นไม่เรียกว่าเหนือกิเลส ไม่เรียกว่าโลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลก เหนือทุกอย่าง เห็นหมด กิเลสจะมาวาดลวดลายอะไรไว้เห็นหมดรู้หมด แต่จะมาสอนโลกแบบพวกเรา ๆ ท่าน ๆ โอ๋ย เขาจะหาว่าบ้า เดี๋ยวเขาเอาไม้ไล่ตีหลงทิศไปอย่าว่านะ เพราะเขาเป็นแบบเดียวกันนี้ ของใครก็แบบเดียวกันหมด

แม้ในวัดในวาก็แบบเดียวกันจะว่ายังไง แล้วเข้าในวัดนี้ไปตำหนิพระไม่ได้นะ พระจะไล่ตีเอาหลงทิศ มีแต่ของสวยของงามโก้ ๆ หรู ๆ เรื่องของกิเลสทั้งนั้นตีตลาดเรารู้ไหม ธรรมจับเข้าปั๊บเห็นหมดเลย นี่ละเรียกว่าธรรมเหนือโลก ธรรมสุดวิสัยที่โลกจะเชื่อถือได้เป็นอย่างนั้นนะ ให้พากันพิจารณาให้ดีนะ นี่ละธรรมเหนือโลกเหนืออย่างนี้เอง มันเหนืออยู่ที่หัวใจจ้าตลอด สิ่งใด ๆ มันเหนือหมด เห็นอะไรรู้อะไรเป็นเรื่องของสมมุติทั้งนั้น มันเหนือสมมุติเสียทุกอย่างจะไม่เห็นทุกอย่างได้ยังไง พูดแล้วโมโห พูดเท่าไรมันก็ฟังอย่างนั้นละไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร กลับไปนี้มันก็ไปอีกแบบหนึ่ง อู๊ย ทุกขัง

เอาละพอเหนื่อยแล้ว


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก