วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ (ค่ำ)
วันที่ 17 ธันวาคม 2542 เวลา 18:30 น.
สถานที่ : สวนแสงธรรม กทม.

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม กทม.

เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ (ค่ำ)

ทางภาคปฏิบัติกับทางภาคปริยัตินี้ผิดกันมากไม่ได้ธรรมดา เราผ่านมาแล้วทั้งสองถึงรู้ได้ชัดเจน แล้วพูดแน่ใจว่าไม่ผิดทั้งทางด้านปริยัติทั้งทางด้านปฏิบัติ น้ำหนักของธรรมไม่ได้เหมือนกัน ต่างกันมาก ความแน่ใจก็ต่างกันมากทีเดียว ภาคปริยัตินี้เราเรียนมามากน้อย ความสงสัยในสิ่งที่เรียนมานั้นมันคืบคลานไปตาม ๆ กัน ไม่เป็นความแน่ใจ มันหากเป็นของมันเองไม่ว่าใครก็ตามเรียนมานี้ ความสงสัยนี้จะติดตามกันไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้น เช่นว่า บาปมี บุญมี นรกมี จนกระทั่งถึงนิพพานมี และสัตว์ประเภทต่าง ๆ ทั่วแดนโลกธาตุมีอย่างนี้นะ นี้คือความถูกต้องแม่นยำของศาสดาองค์เอกที่สอนไว้แล้วไม่เคลื่อนคลาด

ทีนี้เรื่องของกิเลสภายในใจนี้มันก็ตามลบตามล้าง เราก็ไม่รู้ว่ามันลบมันล้าง แต่สิ่งที่ทำให้เราเกิดความสงสัยนั้นแหละคือกิเลส เอ๊ บาปมีหรือไม่มีนะ บุญมีหรือไม่มีนะ นั่นเห็นไหม มันจะตามกันไปเรื่อยเลยไม่ว่าประเภทไหนของธรรมที่ท่านกล่าวถึงนี้ อย่างที่กล่าวมาตะกี้นี้มันจะสร้างความสงสัยตามไปหมด ๆ จนกระทั่งถึงนิพพาน มันก็จะไปตั้งเวทีต่อยกันอยู่บนนิพพาน นิพพานมีหรือไม่มีนะ บทสุดท้ายที่มันเอาหนักก็คือว่า ลบเลยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี นั่นละบทหนักของกิเลส อันนี้หมายถึงภาคปริยัติ ไม่ว่าท่านว่าเราเรียนเป็นเหมือนกันหมด

เพราะฉะนั้นจึงพูดได้เลยเพราะเราเรียนมาแล้ว ใครจะเรียนมากเรียนน้อยอย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่เข้าภาคปฏิบัติแล้วจะแบกแต่ความสงสัยตลอด ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้ากล่าวแล้วด้วยความถูกต้อง มันจะมัวหมองไปตาม ๆ กันเลยด้วยความสงสัย ๆ เป็นเหตุให้มัวหมอง ลบไป ๆ มัวหมองไปเรื่อย แล้วที่มันหนักกว่านั้นมันลบหมดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี คือกิเลสล้วน ๆ ลบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มี แต่ธรรมล้วน ๆ แล้วบอกว่ามีล้านเปอร์เซ็นต์ก็ล้านเปอร์เซ็นต์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ผิดที่ตรงไหนไม่มีผิด แต่กิเลสมันลบไปหมด นี่ละเรื่องความจำ

เราก็เคยพูดให้ฟังแล้วถึงเรื่องเราเองนี่มุ่งต่อมรรคผลนิพพาน ตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่มันก็เป็นอยู่ในหัวใจก็ได้พูดให้ฟังแล้ว มันฝังอยู่ลึก ๆ ไม่บอกใคร หากเป็นอยู่ในหัวใจ เรียนหนังสืออยู่ไม่เคยลดละการภาวนาก็บอก แต่ไม่แสดงตัวให้ใครทราบในเวลาเรียน เรียกว่าเก็บเงียบเลยไม่ให้ใครรู้ พวกเดียวกันไม่รู้ หากเป็นอยู่ แล้วเราก็ทำของเราอยู่ตลอด การภาวนาไม่เคยละ พอหยุดจากการเรียนแล้วเราก็ภาวนาของเรา ๆ มาเว้นเวลาที่จวนสอบ ต้องเน้นหนักทางการเรียนมากแล้วผ่อนลง จะให้หยุดไม่หยุด หากผ่อนเวลาทำภาวนาลง เพราะมันจวนสอบก็ต้องเร่งซิ แต่ไม่หยุด มันก็รู้

เวลาเราเรียนมาก ๆ นั้นความสงสัยไม่ได้เบาบางลงนะ เต็มอยู่ในหัวใจนี่ ทีนี้ใครเรียนมากน้อยเพียงไรก็ตาม จึงเรียกว่าหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ ว่าอย่างนั้นเลย สงสัยหมด ดีไม่ดีสงสัยมากยิ่งกว่าผู้ไม่เรียนเสียอีก เราอย่าเข้าใจว่าผู้เรียนมาจะได้หลักได้เกณฑ์นะ ไม่ได้ว่างี้เลย ก็เราเป็นมาแล้วนี่ ทั้ง ๆ ที่เรามุ่งหน้าต่อมรรคผลนิพพานขนาดนั้น หวังจะได้มรรคผลนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น ความสงสัยมันยังเป็นขวากเป็นหนามกั้นทางเราได้จะว่าไง สงสัยตลอด ที่จะปลงความสงสัยนี้ลงได้เต็มเลยนะ เต็มตามนิสัยของปุถุชน เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์นิสัยของปุถุชน ไม่ใช่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ของความบริสุทธิ์ใจ เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในความเชื่อต่อมรรคผลนิพพาน

เฉพาะอย่างยิ่งนิพพานว่างั้นเลย เชื่อเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย หลวงปู่มั่นตีแตกกระจายทันที โล่งหมดเลย เห็นไหมล่ะ เราเรียนมาก็แบกความสงสัยไปหาท่าน สงสัยทั้งนั้นนะ พอท่านตีลงแตกกระจายหายสงสัย ทีนี้ก็พุ่งเลย นี่ภาคปริยัติ ที่ท่านสอนท่านก็สอนภาคปฏิบัติท่านถอดออกมาจากหัวใจของท่าน เหมือนว่านี่น่ะ ๆ เห็นไหม ๆ อยู่งั้น ก็เราลืมตาดูอยู่นี้จะไม่เห็นยังไงจะไม่เชื่อได้ยังไง มันก็ต้องยอมรับ จากนั้นก็ปฏิบัติละที่นี่นะ ที่ว่าบาปว่าบุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน มันจะเกี่ยวโยงกับความรู้อันนี้ทั่วถึงไปหมด วิ่งถึงกันหมด แล้วจะปฏิเสธได้ยังไง มันเห็นเป็นลำดับลำดา ๆ กว้างออกโดยลำดับลำดาในหัวใจดวงนี้

กว้างไปไหนเห็นไปไหนมีแต่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แล้ว ๆ นั่นเห็นไหมล่ะ ท่านแสดงไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ตาบอดเท่านั้นจะไม่เห็น พอเราไปเจอเท่านั้น อ๋อ ๆ นั่นเห็นไหม นี่ภาคปฏิบัติ พอเจอเข้าเท่านั้นไม่ต้องถามใคร อ๋อทันที อ๋อเรื่อย ๆ มีแต่อ๋อเรื่อย นี่ภาคปฏิบัติ

ถ้าพูดถึงเรื่องสมาธิ เอาหลักใหญ่นี้ก่อน หลักเกณฑ์ที่จะแตกแขนงเป็นกิ่งก้านออกไป รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ออกจากต้นลำนี้ พอต้นลำนี้ดีแล้ว ทีนี้แขนงมันก็ค่อยแตกไปตามจริตนิสัยของใครจะรู้กว้างขวางมากน้อย มันจะแตกเหมือนกิ่งไม้ ไม้ต้นหนึ่งกิ่งก้านจะไม่เหมือนกัน มันจะแตกแขนงออกไปตามลำต้นของมันแต่ละต้น ๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน มันจะแตกออกไปเหมือนกัน ทีนี้เวลาความรู้อันนี้รากฐานคือต้นลำของมันได้แก่สมาธิขึ้นไป สมาธิคือจิตสงบแล้ว จิตสงบก็เหมือนกับน้ำนิ่ง น้ำนิ่งมันก็สะอาด ไม่ใช่สะอาดคือมันใส ตะกอนนอนก้น น้ำก็เรียกว่าข้างบนสะอาด เริ่มเจอสมาธิเข้าไป อ๋อ สมาธิเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องถามใครนะ ความจริงอยู่กับหัวใจ เป็นแต่เพียงว่ากิเลสตัวสงสัยมันปิดเอาไว้ไม่ให้เห็น พอเปิดนี้ออกไปก็เห็น อ๋อ อ๋อเรื่อย สมาธิขั้นใดไม่ต้องถามใคร กล้าพูดได้เลยสมาธิขั้นใด ๆ เต็มอยู่ในหัวใจไม่พูดได้ยังไง ก็รู้ ๆ อยู่นี่ พูดออกด้วยความรู้นี่จะสงสัยไปไหน มันถึงกล้าหาญ นักปฏิบัตินี้กล้าหาญ พูดจริง ๆ อย่างนี้เลย ปริยัติไม่กล้านะ คือได้แต่ความจำไม่ได้ความจริง ภาคปฏิบัตินี้ได้ทั้งตัวได้ทั้งรอย เหมือนกับเราตามรอยโค ตามรอยทีแรกได้รอยเสียก่อน ไม่ปล่อยรอย แกะรอยไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงตัวโค พอเห็นตัวโค อ๋อ ตัวโคเป็นอย่างนี้ ปฏิเสธได้ยังไง เพราะรอยนี้ก็รอยโค ไปเจอก็เจอตัวโคจะไปสงสัยที่ไหนอีก นี่ละที่พูดถึงเรื่องตามรอย คือตามรอยสมาธิ ทุกขั้นของสมาธิ ตามรอยปัญญาทุกขั้นของปัญญาเรื่อย ๆ จนเป็นมหาสติมหาปัญญา เป็นรอยทั้งนั้น ตามไป ๆ เรื่อย ไปเจอสมาธิก็เป็นตัวสมาธิ เหมือนโคตัวหนึ่งเหมือนอันนั้นอันหนึ่ง ๆ ตามรอยก็ไปเจอเอา ๆ ความสงสัยก็ตกไป ๆ เรื่อย ๆ นี่มันแน่ใจอย่างนั้นนะภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านสั่งสอนโลกท่านถึงไม่มีหวั่นไหว เพราะท่านถอดออกมาจากของจริง ไม่ได้ลูกคลำเอาจากคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ความจำนั้นความจำนี้ เวลาถึงความจริงแล้วท่านไม่ได้ไปสนใจกับตำรับตำรา คือไม่สนใจกับรอยมันว่างั้นเถอะ ถึงตัวโคกับจับโคเลย ใครจะไปหางมเงากับรอยโคอีกล่ะ ตามรอยก็ตามรอยโคจะเอาโคนี่ ไม่ได้เอารอยมัน พอตามเข้าไปไปถึงสมาธิ อ๋อ ก็จับสมาธิแล้วได้แล้ว รอยของสมาธิดำเนินมายังไง ก็มีแต่จะก้าวหน้าเรื่อยไปปล่อยเรื่อยไป นั่นภาคปฏิบัติมันชัดอยู่ในหัวใจนี่นะ

นี่ละมรรคจิตคือทางของจิต อยู่ในภายใน ทางเดินด้วยเท้าเราก็เห็นอยู่นี่ ทางเดินทางจิตต้องได้เดินทางด้านจิตตภาวนา เป็นทางเปิดโล่งเหมือนกัน ทางของจิตล้วน ๆ รู้เห็นภายในจิตล้วน ๆ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เหมือนอย่างทางภายนอก ทางภายในนี้เป็นความรู้ของจิตสติปัญญาของจิตจะรอบตัวไปพร้อม ๆ กันเลย อะไรผิดอะไรถูกมันจะพินิจพิจารณาใคร่ครวญไปเรื่อย ๆ พอถึงขั้นสมาธิมันก็เต็มใจ เป็นสมาธิเต็มภูมิก็รู้ จากนั้นก็ก้าวออกทางด้านปัญญา ยิ่งจะขยายออกละที่นี่ สมาธิเรียกว่าตีกิเลสความฟุ้งซ่านวุ่นวายกับอารมณ์ต่าง ๆ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเครื่องก่อกวนและก่อฟืนก่อไฟเผาเรานั้น เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้วสิ่งเหล่านั้นจะระงับดับไป ๆ เหลือแต่ความสงบเย็นใจเป็นรากฐานสำคัญ นี้เป็นกำลังมาก มีรสชาติมาก เกินกว่าที่เราจะไปหารสชาติจากการได้เห็นการได้ยินนั้น อันนี้รสชาติของธรรมเหนือนั้นแล้ว เหนือนั้นแล้วก็ปล่อยรสชาติจากการได้เห็นการได้ยินได้ฟังเข้ามาสู่รสชาติความรู้ภายในใจ มันก็ปล่อยเข้ามาอย่างนั้น รสชาติของธรรมท่านบอกว่าชำนะซึ่งรสทั้งปวง รสใด ๆ ก็ตามพอเจอรสชาติของธรรมแล้วมันจะค่อยปล่อยไป ๆ เรื่อย ๆ เหนือนี้ปล่อยนี้ ๆ ไปเรื่อย ๆ มันเห็นอยู่ในตัวของจิตนั้นเอง

ทีนี้พอก้าวออกทางด้านปัญญา อันนี้กว้างขวางมาก ไม่ได้เป็นเหมือนสมาธิ สมาธิก็กว้างอยู่ในภูมิสมาธิ แต่ปัญญานี้ยังกว้างไปอีกเต็มภูมิของปัญญา ถ้ากิเลสยังไม่หลุดลอยเสียเมื่อไรแล้ว ปัญญาที่จะฆ่ากิเลสนี้มาพร้อม ๆ กัน พร้อม ๆ กันเลย นั่นเห็นไหมถึงขั้นมันแล้ว พอขั้นปัญญาออกก้าวเดินแล้ว ทางที่จะไปนิพพานนี้ก็เบิกกว้างออก ๆ ปัญญาออกกว้างออก ๆ กิเลสค่อยจางไป ๆ ทีนี้ก้าวออกเรื่อย ๆ ต่อนั้นไปก็เร่งเครื่องเลย นั่นละท่านว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ในปริยัติท่านบอกว่าภาวนามยปัญญา

แต่ก่อนเราก็เรียนว่าปัญญาเกิดได้ ๓ ทาง ท่านบอกไว้ในปริยัติ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง ๑ จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการคิดอ่านไตร่ตรอง ๑ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ๑ จุดนี้ละจุดสำคัญ ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ ๑ ก็เราเพียงความจำ ปัญญาประเภทนี้ถ้าไม่เกิดในใจเรา เราจะรู้ได้ยังไง มันก็ต้องสงสัยวันยังค่ำนั่นซิ พอก้าวเข้าทางด้านปฏิบัตินี้พอไปถึงปัญญาขั้นนี้ ไหวตัวแล้วนะ นั่นละปัญญาขั้นนี้เข้าไปถึงแล้วปัญญาไหวตัว พอไหวตัวนี้ก็ออกก้าวเดิน ก้าวเท่าไรก็ยิ่งคล่องแคล่วว่องไว ยิ่งเฉลียวฉลาด ยิ่งแหลมคมออกไปเรื่อย ๆ ปัญญานี้แตกแขนงออกไปไม่มีกำหนด นั่น ปัญญาเรื่องของเล่นเมื่อไร นี่ละปัญญาภาคปฏิบัติ จากนั้นก็กว้างออกไป เรื่องภัยทั้งหลายคือกิเลสนั่นละเป็นภัยต่อธรรม ไม่ใช่อะไรนะ จะมีหยาบละเอียดขนาดไหนปัญญานี้จะปราบเรื่อย ๆ เป็นอัตโนมัติ ถึงขั้นนี้แล้วความเพียรนี้รั้งเอาไว้นะ ถึงขั้นปัญญาภาวนามยปัญญา เรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ปัญญาเป็นเองเกิดเอง สัมผัสสัมพันธ์กับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต่าง ๆ ภายนอกก็ตาม ไม่สัมผัสก็ตาม สติปัญญาความเพียรที่ฆ่ากิเลสนี้ฆ่าไปตลอด ได้สิ่งภายนอกมาเป็นเครื่องเทียบเคียงก็ฆ่ากิเลสอีก ไม่มีอะไรมาเทียบเคียงกิเลสมีอยู่กับใจแล้ว สติปัญญาเพื่อฆ่ากิเลสก็มีอยู่กับใจแล้ว มันก็ฟัดกันอยู่ในนี้อีก เป็นขั้น ๆ อย่างนี้

นี่ละธรรมพระพุทธเจ้าแท้ ฆ่ากิเลสแท้ เป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ ที่มาสอนโลกอยู่เวลานี้ ไม่มีใครเอาออกมา มีแต่อยู่ในตำรับตำราล็อกไว้ในตู้ในหีบ ให้กิเลสเพ่นพ่านเต็มบ้านเต็มเมือง งัดอันนี้ออกมาซิ นี่ละที่จะปราบกิเลสด้วยธรรมประเภทนี้ พระพุทธเจ้ามาปราบกิเลสเอาธรรมประเภทสด ๆ ร้อน ๆ จากพระทัยของพระพุทธเจ้า จากใจของพระอรหันต์ออกมา เมื่อธรรมประเภทนี้ออกมาแล้วกล้าหาญชาญชัยไม่มีสะทกสะท้าน เพราะกิเลสพังจากใจท่านหมดแล้วท่านจะเอาอะไรมาสะทกสะท้าน จิตใจครอบโลกธาตุสว่างจ้า

ที่มันปิดบังเพราะอะไร กิเลสเท่านั้น ๆ ว่าอย่างอื่นว่าไม่ได้นะ เมฆหมอกดินฟ้าอากาศอะไรที่จะมาปิดบังจิตใจให้มืดมัวไม่มี มีแต่กิเลสเท่านั้น กิเลสบางไปเท่าไรจิตก็ค่อยสว่างออก ๆ ฟาดเสียกิเลสพังหมดไม่มีอะไรเหลือแล้ว จิตสว่างจ้าครอบโลกธาตุ ก็ชี้นิ้วได้เลยมีกิเลสเท่านั้นปิดบังหัวใจ อย่างอื่นอย่างใดไม่มี สามแดนโลกธาตุไม่มีอะไรปิดหัวใจได้ มีแต่กิเลสเท่านั้น พอกิเลสพังหมดแล้วไม่มีอะไรปิด จ้าอยู่ตลอดเวลาครอบโลกธาตุจะว่าไง มันก็ชี้นิ้วได้ อ๋อ มีกิเลสเท่านั้นมาปิดบัง ตั้งแต่มืดจนกระทั่งไม่เชื่อบุญเชื่อบาป นี่กิเลสประเภทหนาแน่นนะ เหล่านี้เป็นเครื่องปิดบังอย่างมิดตัวจนกระทั่งถึงตายแล้วสูญ อันนี้หนักมากกิเลสประเภทนี้

ทีนี้เวลาธรรมเบิกกว้างออกไป ๆ ความจริงมียังไงธรรมจะรู้เห็นตามความจริง เช่นว่าสูญไม่มี ธรรมก็บอกว่าไม่มี คำว่าสูญไม่มี แต่กิเลสมันหลอกว่ามี ตายแล้วสูญอย่างนี้ ธรรมเปิดเข้าไปนี้มันไม่มีสูญ เบิกกว้างออก ๆ รู้ ทีนี้จะไปถามใคร นั่นละขั้นปัญญา ตั้งแต่สติปัญญาอัตโนมัติไปแล้วยิ่งเบิกกว้าง ความเพียรอัตโนมัติคือได้รั้งเอาไว้ ๆ ไม่งั้นมันเร่งเกินไป ๆ เร่งต่อความพ้นทุกข์พูดง่าย ๆ เร่งต่อการปราบกิเลส เหมือนหนึ่งว่าจะให้มันสิ้นซากไปเสียเดี๋ยวนี้ ๆ มันหมุนติ้วใส่กันระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกัน มันหมุนติ้วตามกันอย่างนั้น นี่เรียกว่าไฟได้เชื้อ

ทีนี้กิเลสมีมากมีน้อยเพียงไรมันเหมือนเชื้อไฟ ธรรมเหมือนไฟ เผาไหม้เข้าไปเรื่อย ๆ เป็นอัตโนมัติ กิเลสหนาบางขนาดไหนไฟนี้จะลุกลามไปตามกิเลสที่มีหนาบาง ให้ดับไม่ดับ ถ้ากิเลสไม่ดับเสียก่อนแล้วไฟจะดับไม่ได้ เผาไหม้ไปเรื่อย ๆ เลย กิเลสมีมากมีน้อยสติปัญญาอัตโนมัติจะหมุนตัวไปตามเหล่านี้ เผาไหม้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งก้าวเข้าไปมหาสติมหาปัญญา อันนั้นเป็นขั้นที่ซึมซาบ คือกิเลสซึมซาบ ละเอียดสุดจึงเรียกว่าซึมซาบ มหาสติมหาปัญญานี้เป็นสติปัญญาที่เหมาะสม เรียกว่าไฟนี้เหมาะสมกับเชื้อประเภทนี้ มันก็เผากันไปเรื่อยแบบซึมซาบเหมือนกัน เป็นอัตโนมัติ ๆ

ความเพียรที่เคยว่าขี้เกียจขี้คร้านมาแต่เมื่อไร ๆ หายหน้าไปหมดเลยไม่มีอะไรเหลือ มีแต่ได้รั้งเอาไว้ คือความเพียรกล้าว่างั้นเถอะ กล้าต่อความพ้นทุกข์ในเดี๋ยวนั้น ๆ มันกล้า ถ้าจะพูดว่าความเพียรพยายาม โอ๋ย ไม่มีละเรื่องพยายาม มีแต่จะได้รั้งเอาไว้เพราะมันพุ่ง ให้มันเห็นอย่างนั้นซิผู้ปฏิบัติน่ะ พอถึงขั้นนี้แล้วเบิกกว้างที่นี่นะ เรื่องความเห็นทุกข์ในหัวใจกับกิเลสที่เป็นตัวสร้างทุกข์นี้จะเห็นเต็มหัวใจ ๆ เรื่องความเห็นคุณค่าของธรรมที่จะหลุดพ้นจากกิเลสกองทุกข์ทั้งหลายเต็มหัวใจด้วยกัน เมื่อต่างอันต่างเต็มหัวใจ ใจดวงเดียวเป็นผู้รับไว้แล้ว ทำไมจะไม่มีกำลังในการสลัดตัวออกจากทุกข์ล่ะ สลัดออกจากกิเลสล่ะ มันก็ผึง ๆ ออกมาเลย นี่ละท่านเรียกว่าความเพียรกล้า

ดังที่ท่านแสดงไว้ในตำรา แต่ก่อนเราก็ไม่เชื่อนะ พอมาเห็นเรื่อง เราเอาตัวของเรายันเลย เอาตัวของเรายันที่อื่นไม่ถนัด เอาตัวของเราออกยันเป็นพยานเลย เวลาทำความเพียรมันมีวันมีคืนที่ไหน ไม่ได้มีนะ ไม่ได้มีคำว่าหิวว่ากระหายว่าหนาวว่าร้อน ไม่มีเลย กิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับความหนาวความร้อนฟ้าแดดดินลมอะไรทั้งนั้น หิวกระหายไม่มี เวลากิเลสฟัดกันในวงใน เหมือนนักมวยต่อยกันในวงในเขาไม่ได้คำนึงเรื่องอะไร มีแต่จะต่างฝ่ายต่างฟัดกันให้แหลกไปเท่านั้น อันนี้ก็เหมือนกันเวลาได้เข้าวงใน ธรรมเข้าวงในแล้วมีแต่จะฟัดกิเลสให้แหลกถ่ายเดียวเท่านั้น จึงไม่มีเวล่ำเวลา

เวลามาหยุดพักนี้ โถ กี่ชั่วโมงไม่รู้นะทำความเพียร คือลืมหมด เห็นไหมล่ะ นี่เราเห็นในตำราเวลาเราเรียนหนังสืออยู่ ก็ไม่ได้คิดมากอะไรนัก เวลาเรียนก็มุ่งแต่เรียน ท่านว่าพระโสณะนี้ได้รับเอตทัคคะ คือเลิศในทางความเพียร ถึงกับขนาดที่ว่าฝ่าเท้าแตก เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก แต่เรื่องความเพียรจะเก่งกันทั้งนั้นแหละ นักภาวนาที่จะหลุดพ้นเป็นอรหัตบุคคลขึ้นมานี้แก่กล้าทั้งนั้น แต่ผู้นี้รู้สึกว่าจะเด่นกว่าเพื่อน ก็เลยยกออกมาพูดเหมือนว่าให้แปลกกันบ้างพูดง่าย ๆ แต่ความจริงเรื่องความเพียรนี้เหมือนกัน ลงธรรมจักรนี้ได้เข้าในหัวใจแล้วเป็นอัตโนมัติเหมือนกันหมด

เวลามันเป็นในหัวใจเราเองนั่นซิ ไม่รู้วันรู้คืนนะ ถ้าลงได้เดินจงกรมแล้วไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มันอยู่ภายในไม่ได้ออกภายนอก ว่าเย็นร้อนอ่อนแข็งหนาวร้อนอะไรมันไม่เคยสนใจ หิวกระหายกับน้ำกับท่าอะไรไม่เคยสนใจเลย ก็มันไม่ปล่อยกันนี่ เรียกว่านักมวยเข้าวงใน สติปัญญากับกิเลสฟัดกันในวงใน มันไม่ได้สนใจอะไร แล้วมันจะไปคำนึงถึงเวล่ำเวลาอะไร พอออกจากที่มาแล้วมองเห็นกาน้ำนี้ โดดใส่ผึงนะ นี่เรียกว่าพักให้น้ำ มองเห็นกาน้ำนี้โดดใส่ผึง ดื่มน้ำเข้าไปนี่สำลักกั๊ก ๆ มันจะตาย กลืนไม่ทัน โน่นน่ะเห็นไหม พอออกจากนั้นนะ แต่สติปัญญาภายในมันมีของมันประจำไม่ใช่ว่าปล่อยตัวเลยนะ เป็นแต่เพียงว่าไม่ปล่อยเท่านั้นพูดง่าย ๆ ความตั้งท่าตั้งท่าอยู่ ทีนี้เวลามาเห็นกาน้ำ โถ แล้วได้มาคลำดูฝ่าเท้าเจ้าของมันออกร้านเสมือนไฟลนนะ ฝ่าเท้านี้ออกร้อนเป็นกำลัง เวลาออกมาจากทางจงกรมแล้วมานั่ง เอ๊ ฝ่าเท้านี่มันแตกเหรอ เอาฝ่าเท้ามาคลำดู เอ๊ ไม่เห็นแตกนี่ ทำไมมันออกร้อนมากนักหนา มันเป็นอย่างนั้นนะ คือมันไม่ได้เดินวันหนึ่งวันเดียว เดินมาเป็นประจำ มันไม่ถอยตลอดเวลาแล้วฝ่าเท้าจะไม่แตกได้ยังไง อันนี้ไม่แตกเราก็บอกไม่แตก แต่เรื่องออกร้อนออกร้อนจริง ๆ นี่ละเป็นเครื่องยืนยันกับพระโสณะ โอ๋ ที่ท่านเดินจงกรมฝ่าเท้าแตกเป็นอย่างนี้เอง คือไม่มีสนใจกับเวล่ำเวลาความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ออกร้อนไม่ออกร้อนฝ่าเท้าไม่สนใจเลย จนกระทั่งมาดูถึงเห็น มันก็ยันกันเลย อ๋อ นี่ที่ท่านเดินจงกรมถึงฝ่าเท้าแตกอย่างนี้เอง เราถ้ามากกว่านี้มันก็จะแตกแน่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่แตกก็บอกว่าไม่แตก นี่ละพระโสณะท่านทำความเพียรจนฝ่าเท้าแตก

ถ้าธรรมดาเราเดินจงกรมขยำย่ำยีกันไปถูไถกันไปนี้ ส่วนมากฝ่าเท้าไม่แตกนะ หมอนจะแตกก่อน เราว่างั้นนะพูดง่าย ๆ หมอนจะแตกก่อนฝ่าเท้า พระโสณะท่านฝ่าเท้าแตกกิเลสแตก พวกเรามันหมอนแตก ถูกันไปถูกันมาเลยหมอนแตก นี่เราพูดถึงเรื่องความเพียรภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นนะ มันจริงมันจังทุกอย่าง แน่ทุกอย่างไม่สงสัย ไม่ต้องไปถามใคร เพราะฉะนั้นการเทศนาว่าการของท่านผู้ปฏิบัติที่รู้จริงเห็นจริง ไม่มีคำว่าย่อหย่อน ที่จะเฉื่อย ๆ ชา ๆ ไม่มี ท่านเด็ดท่านเด็ดขาดสะบั้นเลย เพราะพลังของจิตพลังของธรรม ออกมาจากความจริง ๆ มีพลังมาก ไม่ว่าจะธรรมขั้นใดเป็นพลังมากที่สุด ออกมาจากอันใหญ่นี้ พุ่ง ๆ เลย

ในสังโยชน์เบื้องบนท่านแสดงไว้แต่ก่อนผมก็ไม่เข้าใจ ว่าสังโยชน์เบื้องบน ๕ นั่น เช่น อุทธัจจะ ท่านพูดไว้ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่สังโยชน์เบื้องบน ๕ อุทธัจจะ นอกนั้นเราก็ไม่ว่าเพราะเราเข้าใจมาโดยลำดับ อุทธัจจะแต่ก่อนเราสงสัย ว่าไปถึงที่โน่นแล้วอุทธัจจะจะไปฟุ้งซ่านรำคาญอะไรอีกนา พอมาถึงขั้นนี้แล้วอุทธัจจะ คือมันเพลินในความเพียรด้วยสติปัญญาเกินไป มันไม่อยากพักผ่อน ความเพลินเกินไปเรียกว่าเกินประมาณไม่พอดี เรียกว่าสังโยชน์เครื่องข้องอันหนึ่ง ความหมายว่างั้น มันเพลินมันเพลินในความเพียรต่างหาก ที่จะให้เพลินกับโลกสงสารอย่าไปคิดเรื่องอย่างนั้น เพลินกับการฆ่ากิเลส เพลินเสียจนไม่มีวันมีคืนมีเดือนมีอิริยาบถอะไร ไม่มีเลย มีแต่เพลินฟัดกับกิเลสตลอดเวลา ลืมเข้าพักสมาธิ ไม่พักสมาธิเพื่อเอากำลัง มันเพลินฆ่ากิเลสอย่างเดียวก็ไม่รู้จักประมาณ อ๋อ นี่ท่านเรียกอุทธัจจะ เป็นอย่างนี้ มันรู้อย่างนี้นะไม่ไปถามใครเลยละ แต่ก่อนเราก็เรียนมามันก็สงสัยมาพร้อมกัน แต่พอภาคปฏิบัติจับเข้าไปนี้จับได้หมดเลย อุทธัจจะ ความฟุ้งเกินไป เพลินเกินไปในธรรมะขั้นละเอียด นี่เรียกว่าอรหัตมรรค ท่านติดอยู่ในสังโยชน์ ๕ ประการนี้ ผู้ก้าวเดินอรหัตมรรคติดอยู่ในสังโยชน์ ๕ ประการนี้

นี่เราพูดถึงเรื่องความจริงกับความจำนี้มันต่างกันมากนา ความจำจำไปเท่าไรไม่มีน้ำหนัก เรียนไปที่ไหน ๆ ก็ไม่มีน้ำหนัก เป็นตัวของตัวไม่ได้ หาความแน่นอนใจไม่ได้ พอความจริงมันรู้จริง ๆ เห็นจริง ๆ จะเปิดโล่งขึ้นมาในหัวใจ ทีนี้น้ำหนักมันจะขึ้นมาพร้อมกัน ๆ ไม่สงสัย แน่ใจมั่นใจตลอดไปเลย มีน้ำหนักมากต่างกัน เวลาได้รู้ได้เห็นแล้วก็พูดออกมาอย่างเต็มเหนี่ยวเลยไม่สงสัย ไม่สะทกสะท้านว่าจะผิดไป นั่น นี่ละภาคปฏิบัติมันต่างกันอย่างนี้

นี่ละที่ว่างานฆ่ากิเลส อันนี้ก็ไม่มีในพระไตรปิฎกนะ เราก็เรียนก็อย่างนั้นจะให้ว่าไง เช่นอย่างท่านว่าวัฏจิตวัฏจักรอย่างนี้ มันดำเนินของมันในหัวใจของสัตว์ คือกิเลสมันหมุนตัวของมันหาผลประโยชน์ของมันบนหัวใจสัตว์ จะสร้างความทุกข์ความลำบากทรมานให้สัตว์ตลอดมาเป็นอัตโนมัติของมัน มันจะคิดออกในแง่ใด ๆ เป็นกิเลสเพื่อหาผลประโยชน์ของมันและสร้างทุกข์ให้สัตว์ตลอดไปอย่างนั้น กี่กัปกี่กัลป์ก็เป็นมาอย่างนี้ เกิดแก่เจ็บตาย ๆ ซึ่งเป็นผลของกิเลสสร้างตัวขึ้นมาตลอดมานี้ กี่กัปกี่กัลป์แล้วรายหนึ่ง ๆ คำนวณได้เมื่อไร มันสร้างมาด้วยอัตโนมัติของมัน ถ้าไม่มีธรรมเข้าเป็นเครื่องคัดค้านต้านทานแล้ว มันจะสร้างของมันไปอีก ที่เป็นมานานขนาดไหน เกิดแก่เจ็บตายมานี้กี่ภพกี่ชาติ ต้นไม่มีแล้วปลายก็ไม่มี มันจะเป็นของมันตลอดไปอย่างนี้ ถ้าไม่มีธรรมเข้าเป็นเครื่องหักห้ามต้านทานกัน เพราะฉะนั้นศาสนาจึงมี เพื่อหักห้าม เพื่อตัดทอนกัน เพื่อแบ่งเอา อย่าให้แต่วัฏจักรของกิเลสเอาไปกินเสียหมด ทางธรรมะวิวัฏจักรดึงถอนออกมา ๆ ที่ศาสนามีมาก็เพื่อสัตวโลกจะได้บำเพ็ญคุณงามความดี เพื่อต้านทานหรือตัดวัฏวนความเกิดแก่เจ็บตายของตนที่ไม่มีสิ้นสุดนั้น ให้หดย่นเข้ามา ๆ ด้วยการสร้างความดี นี้เป็นเครื่องตัดทอน นอกนั้นไม่มี สามแดนโลกธาตุจะเอาอะไรมาต้านทานกิเลสตัดทอนกิเลสไม่มีทาง มีแต่ธรรมคือความดีงามนี้เท่านั้น เท่านั้น ๆ ว่างั้นเลย

เราจึงเห็นได้ชัดตอนที่ คือกิเลสมันทำงานของมันอย่างนี้มาทุกตัวสัตว์นะ คืออัตโนมัติของมัน สร้างภพสร้างชาติเกิดแก่เจ็บตาย ใครเชื่อว่าตายแล้วสูญไม่สูญก็ตาม หลักธรรมชาติของกิเลสมันก็เป็นของมันอย่างนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า บาปบุญนรกสวรรค์มีหรือไม่มี แต่หลักธรรมชาติของมันมันจะสร้างตัวมันตลอด เพราะฉะนั้นเวลาธรรมเข้าไปแทรกนี้ ว่าบาปมีบุญมีอย่างนี้มันถึงค้านทันที เพราะจะขัดขวางทางเดินของมันเพื่อวัฏจักรแก่สัตว์

ทีนี้เวลาปฏิบัติ ในเบื้องต้นของสัตวโลกเป็นมาอย่างนี้ คือมันเป็นอัตโนมัติในเรื่องของกิเลสที่สร้างภพชาติบนหัวใจสัตว์ ให้เกิดแก่เจ็บตายมาตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใด แล้วมันจะสร้างมันโดยอัตโนมัติไปอย่างนี้ตลอดถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องคัดค้านต้านทาน นี่เรียกว่าอัตโนมัติของกิเลสสร้างตัวเอง ทีนี้ธรรมะของเราเวลาไม่มีกำลังต้องใช้ความหนุนให้มาก ๆ บีบบังคับทำความพากความเพียร คือกิเลสมีอำนาจมากมันต้านทานมาก ดีไม่ดีต้องล้มตามมันไม่กล้าทำความดีเลย นี่คืออำนาจของกิเลส

เราอย่าเข้าใจว่าการสร้างคุณงามความดีเป็นของยาก กิเลสตัวยากมันคัดค้านต้านทานไว้ไม่ให้สร้างความดี ธรรมท่านจะมีภัยต่ออะไรต่อใครที่ไหนไม่มี กิเลสต่างหากเป็นภัย กิเลสต่างหากเป็นผู้ต้านทานไม่ให้เราสร้างความดีประเภทต่าง ๆ เวลากิเลสหนา โถ มันเอาจริง ๆ เอาให้ล้มทั้งหงาย ๆ เลยเก่งไหม ทีนี้เราไม่ถอยเราพยายาม ต่อไปก็ค่อยต้านทานเรื่อย ๆ แล้วการสร้างความดีก็ค่อยราบรื่น ทางนั้นค่อยจางไป ๆ ทางนี้ก็หนักเข้า ๆ ทำความดี เรื่อย ๆ จนก้าวเข้าสู่ทางด้านภาวนา เอาทีนี้จะให้เห็นชัด ๆ นะเรื่องธรรมสังหารกิเลส

ธรรมะทั้งหลายความดีทั้งหลายนี้รวมเหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ บุญกุศลที่เราสร้างมามากน้อยกว้างแคบขนาดไหน จากกัปไหนกัลป์ใดก็ตาม เป็นเหมือนแม่น้ำสายต่าง ๆ ไหลเข้ามา ๆ จิตตภาวนาเป็นทำนบใหญ่สำหรับรวมกุศลทั้งหลายที่เราสร้างมานั้นให้ลงสู่จุดจิตตภาวนา เป็นทำนบใหญ่ ทีนี้เวลาเราภาวนานี้เริ่มตั้งตัวขึ้น ๆ บุญกุศลทั้งหลายที่สร้างมามากน้อย ไม่ต้องบอกว่าสร้างมาแต่เมื่อไร ๆ จะไหลเข้ามาที่นี่ ๆ เป็นเครื่องหนุนกัน ๆ นั่นเห็นชัดอย่างนั้นนะ จนกระทั่งจิตได้หลักได้เกณฑ์ก้าวเข้าสู่สมาธิ ก้าวเข้าสู่ปัญญา ทีนี้เอาละนะพอก้าวเข้าสู่ปัญญาแล้ว สติปัญญาจะกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ทีนี้ฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติเหมือนกันกับกิเลสทำลายหัวใจสัตว์เป็นอัตโนมัติ ธรรมะทำลายกิเลสซึ่งเป็นตัวสร้างวัฏจักรให้สัตว์ก็เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน หมุนติ้ว ๆ เลย

ถึงขั้นนี้แล้วอย่างไรก็แน่ นับวันที่จะผ่านพ้นทุกข์ไปเมื่อไร ๆ เพราะฉะนั้นนักภาวนาก้าวเข้าถึงขั้นนี้แล้วจึงรอไม่ได้ ต้องได้ยับยั้งเอาไว้ พักผ่อน รั้งเอาไว้ พักทางสมาธิ พักผ่อนนอนหลับบ้าง ถ้าเอาตามเรื่องของสติปัญญาฆ่ากิเลสนี้จะไม่มีเวลาพักหนา มันเพลินตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องบังคับให้นอนถึงเวลานอนแล้ว มันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะเป็นจะตาย การต่อสู้ก็ต้องเหน็ดเหนื่อย สติปัญญาใช้งานไม่เหนื่อยได้ยังไง ต้องเหนื่อย ต้องพัก ๑) พักผ่อนนอนหลับ ๒) พักเข้าสู่สมาธิเพื่อจิตสงบ เรียกว่าพักงาน พอออกจากนี้แล้วมีกำลัง ทีนี้ออกนะ ทางด้านสติปัญญานี้จะเป็นเอง พอเปิดปั๊บนี้มันจะออกทันทีเลย สติปัญญาอัตโนมัติ นี่ละฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติ นี่เรียกว่าธรรมฆ่ากิเลสฆ่าวัฏจักรโดยอัตโนมัติ เพื่อเป็นวิวัฏจักรคือเป็นนิพพานขึ้นมาที่ใจ มันจะเป็นของมันเอง หมุนติ้ว ๆ พอถึงขั้นนี้แล้วมองเห็นละที่นี่ เหมือนว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อม ๆ หมุนติ้ว ๆ

ปัญญาขั้นใด ๆ จะรวมตัวเข้ามาในความเพียรทั้งหมด คล่องแคล่วแกล้วกล้า เฉลียวฉลาดแหลมคม ละเอียดลออ จะขึ้นมาที่นี่ ๆ กิเลสละเอียดขนาดไหนสติปัญญานี้จะเหนือกว่า ๆ ทำลายกันไปเรื่อย ให้ต่ำกว่าไม่ต่ำ สติปัญญาขั้นนี้ไม่มีต่ำกว่า ติดตามแหลกไปเลย ติดตามเผาแหลก ๆ เผาแหลกเลย จึงเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ เป็นสติปัญญาที่เกรียงไกรมาก ในพระไตรปิฎกท่านไม่ได้แสดงเอาไว้นะ แต่ภาคปฏิบัตินี้คือแก่นแห่งการฆ่ากิเลสว่างั้นเลย นั่นเห็นไหมชัดไหมล่ะ ไม่ต้องไปถามไม่ต้องไปหาพระไตรปิฎก นี้คือพระไตรปิฎกในหลักธรรมชาติ พระพุทธเจ้าฆ่ากิเลสแบบนี้ พระอรหันต์ฆ่ากิเลสแบบนี้ บอกจัง ๆ ในหัวใจผู้ปฏิบัติ ไม่ต้องไปหาพระไตรปิฎก

พูดแล้วสาธุ ไม่ได้ประมาทนะ พระไตรปิฎกท่านจะแสดงไว้เป็นปากเป็นทางที่สำคัญ ๆ ที่จะให้ท่านชี้แจงไปหมดทุกแง่ทุกมุม ชี้แจงไม่ไหว มันจะเลยความจดความจำของโลกทั้งหลายแล้วท้อถอยน้อยใจ ว่าฟั่นเฝือเหลือประมาณว่างั้นเถอะนะ ท่านจึงเอามาเฉพาะที่สำคัญ ๆ เช่น อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ ธรรมที่จำเป็น โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เหล่านี้เป็นความจำเป็น เรียกว่าส่วนใหญ่ของธรรม ให้ได้นี้แล้วค่อยแตกแขนงไปเองความหมายว่างั้น เวลาเข้านี้มันก็เป็นแบบเดียวกัน เข้าพระไตรปิฎกในนี้มันจะกระจ่าง ๆ ขึ้นไปหมด

ที่เรียกว่าไฟได้เชื้อนั้น ก็คือว่ากิเลสเป็นเชื้อไฟ ละเอียดเท่าไรไฟคือสติปัญญาธรรมนี้จะละเอียดลออเหนือกว่า ๆ เผาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสิ้นซาก เชื้อไฟหมดแล้วไฟก็ดับเอง ไม่ต้องบอกไม่ต้องบังคับให้ดับเพราะไม่มีเชื้อจะเผาแล้ว ไฟก็ดับเอง เมื่อกิเลสสิ้นซากไปแล้ว ที่เรียกว่ามหาสติมหาปัญญานั้นเป็นมรรคนะ เป็นเครื่องมือทั้งนั้นเพื่อสังหารกิเลส เมื่อกิเลสมุดมอดลงไปแล้วอันนี้ก็ระงับตัวไปเอง มหาสติมหาปัญญาเพื่อฆ่ากิเลสระงับตัวไปเอง นั่นเรียกว่าสิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้น แล้วท่านก็ไม่ถามใครอีก รู้เอง

เหมือนอย่างไฟไหม้เชื้อ ก็เชื้อมันหมดแล้วจะไปถกเถียงต่อต้านหรือว่าให้ไฟได้ยังไงว่าไฟทำไมถึงดับ ก็มันหมดเชื้อแล้วจะให้มันไหม้อะไรความหมายก็ว่างั้น มันหมดเชื้อแล้วมันก็หยุดของมันเอง อันนี้ก็เหมือนกันสติปัญญามันก็เป็นแบบนั้น แบบซึมซาบก็ซึมซาบ สติปัญญานี้ซึมซาบเผาตลอด จนกระทั่งหมดไม่มีอะไรแล้ว สติปัญญานี้เป็นมรรคคือทางเดิน เครื่องมือระงับเอง กิเลสก็เป็นสมุทัย เป็นอริยสัจ มรรคนี้ก็เป็นอริยสัจ เรียกว่ามรรคสัจ ระงับเอง ทีนี้ธรรมชาตินั้นผุดขึ้นตรงนั้นละที่นี่ ความวิมุตติหลุดพ้นขึ้นท่ามกลางแห่งอริยสัจ นี้ไม่ใช่อริยสัจ ที่แก้แก้อันนี้ให้หลุดพ้นจากโทษต่างหาก ฝ่ายสมุทัยฝ่ายทุกข์นี้เป็นฝ่ายผูกมัด ฝ่ายมรรคฝ่ายนิโรธเป็นฝ่ายถอดฝ่ายถอนฝ่ายเบิกออกให้จิตนี้หลุดพ้น เมื่อเต็มเหนี่ยวแล้วจิตนี้ก็หลุดพ้นผึงออกไปเลย อริยสัจทั้งสี่ก็เป็นทางก้าวเดิน หมดปัญหาทันทีในขณะที่จิตนี้หลุดพ้นปึ๋งไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงกล้าพูดได้เลยว่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุก ๆ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ หลุดพ้นในท่ามกลางแห่งอริยสัจ ๔ นี้ทั้งนั้น ไม่มีที่อื่นเป็นที่หลุดพ้นบอกกันได้เลย พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ไม่ถาม ขึ้นตรงนี้ทั้งนั้น ชัดอย่างนั้นซิภาคปฏิบัติ สงสัยใครหาอะไร ของจริงพระองค์สอนไว้แล้ว สนฺทิฏฺฐิโก ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงสุดยอดของ สนฺทิฏฺฐิโก รู้เองเห็นเอง ๆ โดยลำดับ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นก็ สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศป้างสุดยอดแล้วถามใคร นี่ละภาคปฏิบัติมันต่างกันอย่างนี้นะ สด ๆ ร้อน ๆ ธรรมพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเวลาสอนโลกถึงมีพิษมีสงต่อกิเลส

เวลานี้กิเลสกำลังลูบจมูกฝ่ายธรรมทั้งหลาย ธรรมไม่ได้ลูบจมูกกิเลสแหละ มีแต่กิเลสลูบจมูก เอาให้มันฟาดหัวกิเลสพังซิ พอถึงที่ของมันแล้วจะไปทูลถามพระพุทธเจ้าอะไร พระพุทธเจ้ามีจำนวนมากขนาดไหนไม่ทูลถามเลย กระเทือนถึงกันหมดเลย ดังที่เคยอธิบายข้อเปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนแม่น้ำมหาสมุทร แม่น้ำสายไหนก็ตามไหลมารวมถึงมหาสมุทรแล้ว แม่น้ำสายต่าง ๆ หมดความหมายทันที กลายเป็นแม่น้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมดแล้ว นี้จิตวิมุตติของท่านผู้บำเพ็ญ จะเป็นรายใด ๆ ซึ่งเทียบกับแม่น้ำสายต่าง ๆ เมื่อไหลเข้าใกล้เข้ามา บารมีแก่กล้าเข้ามา ๆ ถึงจุดนี้ปึ๋งแล้วเรียกว่าถึงมหาวิมุตติมหานิพพานหรือธรรมธาตุ เหมือนกันกับแม่น้ำสายต่าง ๆ เข้ามาถึงมหาสมุทรทะเลหลวงแล้ว พูดได้คำเดียวว่าน้ำมหาสมุทร จะว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ไม่ได อันนี้ก็เรียกว่าธรรมธาตุ เรียกว่ามหาวิมุตติมหานิพพานเท่านั้น ทั้งสองอย่างนี้สูญไปไหน ฟังซิน่ะ น้ำมหาสมุทรสูญไหมไปดูซิ ตาไม่บอดไปดู ถ้าคนตาบอดยกหมดทั้งโคตรทั้งแซ่ไปมันก็จะไปลบมหาสมุทรแล้วก็ตกมหาสมุทรตายด้วยนะ เพราะตาไม่เห็นมันบอกมหาสมุทรไม่มี มันก็จะไปตายกองกันอยู่มหาสมุทร จะตายแบบนั้น อันนี้มันก็จะตายกองกันอยู่ในนรก มันว่านรกไม่มี นั่นละมหันตทุกข์อยู่ตรงนั้น มันจะไปตายกองกันอยู่นั้น เข้าใจไหมที่พูดนี่นะ นี่ละมหาวิมุตติมหานิพพานหรือธรรมธาตุเทียบกับมหาสมุทรทะเลหลวง จิตที่เข้าถึงนี้ปั๊บแล้วเป็นธรรมธาตุไปด้วยกันหมดเลย ทีนี้พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ กระเทือนถึงกันหมด เหมือนน้ำที่ลงมหาสมุทรแล้วกว้างแคบขนาดไหนกระเทือนถึงกันหมดไม่ต้องไปถามกัน จิตเมื่อก้าวเข้าถึงธรรมธาตุหรือมหาวิมุตติมหานิพพานกระเทือนถึงกันหมด ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงไม่สงสัยพระพุทธเจ้าว่ามีมากมีน้อยเพียงไร สงสัยอะไร เครื่องประกาศมันบอกอยู่ในตัวของเราเสร็จ พอก้าวออกนี้ปั๊บเป็นมหาวิมุตติมหานิพพานแล้ว ถ้าธรรมธาตุก็ธรรมธาตุ ไปถามหาอะไร แล้วสูญไปไหนธรรมธาตุ มหาวิมุตติมหานิพพานสูญไปไหน


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก