กองทัพธรรมไม่เหมือนกองทัพโจร กองทัพโจรไปที่ไหนพินาศสันตะโร กองทัพธรรมไปที่ไหนชุ่มเย็นเป็นสุข ต่างกัน นี่ละกองทัพโจรกองทัพธรรม ให้พยายามสั่งสมกองทัพธรรมไว้ภายในใจของเราทุกคน เราเกิดมาอยากสมหวังทุก ๆ คน ทุกใจไม่ว่าดวงใดเกิดมาต้องการความสมหวังด้วยกันทั้งนั้น เวลาเกิดก็เกิดในที่สมหวังอยู่ในที่สมหวัง อะไรอยู่ให้สมหวังทั้งนั้น เมื่อสมหวังแล้วก็เป็นความสุข แต่นี้มันก็เป็นไปได้เป็นไปไม่ได้เพราะอำนาจแห่งกรรมของแต่ละคน ๆ แต่ละราย ๆ นั้นแลทำไว้ไม่เหมือนกัน ถ้าทำชั่วแต่ต้องการความสมหวังมันก็ไปทางชั่วเสีย คือไปทางทุกข์ ถ้าทำความดีเอาไว้ หวังไม่หวังก็ไปดีโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงพากันสร้างความดีเอาไว้ภายในใจ
ท่านแสดงไว้ว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตํ กรรมเป็นเครื่องจำแนกแจกสัตว์ทั้งหลายให้ประณีตและเลวทรามต่างๆ กันไปโดยลำดับลำดาไม่มีสิ้นสุดท่านว่า คำว่ากรรม แปลว่า การกระทำของเรา การกระทำมีความเคลื่อนไหวออกมาได้ ๓ ทาง ทางจิตใจทางหนึ่ง คือความคิดทางใจและเคลื่อนออกมาทางวาจาและเคลื่อนออกมาทางกายเป็นความประพฤติ ท่านเรียกว่ากรรม ผลเกิดขึ้นจากการทำ คำว่ากรรมนั่นแปลว่าการกระทำ คือทำดีทำชั่วนี้เป็นส่วนมาก เวลาทำดีผลก็ปรากฏเป็นของดีขึ้นมา ใครเป็นคนทำไม่ต้องไปจดจำลงทะเบียนบัญชีเหมือนอย่างบัตรประชาชนเรา ใครทำไว้นั้นแหละเป็นเจ้าของของกรรมโดยหลักธรรมชาติแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องลงทะเบียนบัญชีบัตรประชาชนประจำตัวแหละ
การกระทำลงไปนั้นแลคือการลงบัญชีตัวเองว่าได้ทำดีแล้วได้ทำชั่วแล้ว ไม่มีที่แจ้งที่ลับ การทำนั่นแหละเป็นที่เปิดเผยแล้วด้วยการกระทำของแต่ละราย ๆ ไม่ว่าการทำดีทำชั่วเป็นเครื่องเปิดเผยแล้วด้วยหลักความจริงและตีตราเข้าสู่หัวใจตนเองผู้กระทำนั้นแลเป็นเจ้าของแห่งกรรมดีกรรมชั่วนั้น ๆ เพราะฉะนั้นจึงได้เลือกเฟ้นกรรมต่าง ๆ ที่เราจะทำ อย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้า ถ้าทำลงไปแล้วปัดออกก็ไม่ออกเพราะเราเป็นคนทำเอง ไม่ว่าดีว่าชั่วทำสิ่งใดลงไปต้องติดเข้าไปภายในใจนั่นแหละ
ใจเป็นเครื่องสั่งสมเป็นธรรมชาติหรือภาชนะสั่งสมกรรมดีกรรมชั่วต่าง ๆ เพราะใจไม่ตาย ใจไม่มีป่าช้า ที่ว่าตายที่นั่นตายที่นี่นั้นหมายถึงร่างกายต่างหาก ร่างกายหมดสภาพแล้วก็สลายตัวออกไป เขาเรียกกันทั้งโลกนั้นแหละว่าเป็นคนตายสัตว์ตาย แต่ใจดวงที่อาศัยอยู่ภายในร่างนั้นไม่ตายไม่เคยตายมาแต่กาลไหน ๆ และจะไม่ตายไปตลอดกาลไหน ๆ อีกเช่นเดียวกัน ใจนี่แหละจึงเป็นของสำคัญที่ควรจะได้รับการเหลียวแลในทางที่ถูกที่ดีเพื่อให้ไปเป็นสุข ๆ ไปภพไหนก็ให้เป็นสุข
นอกจากไปในภพที่เป็นสุขเป็นความเจริญแล้วยังเป็นเครื่องตัดวัฏวน คือความยืดยาวแห่งภพแห่งชาติที่ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์นั้นให้หดสั้นเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงตัวปัจจุบันได้แก่ตัวของเรา เช่น ท่านผู้สำเร็จธรรมขั้นต่ำเช่นพระโสดา นี่เรียกว่าตัดกระแสเข้ามาเป็นที่แน่นอนแล้ว ว่าพระโสดาขั้นต่ำอย่างนานกลับมาตายอีก ๗ ชาติและไม่ตกนรกด้วย ยืนยันรับรองเรื่องการตกนรกหมกไหม้ไม่มีในพระโสดาบัน แต่มาเกิดได้ ๗ ชาติ เกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นอย่างต่ำ อย่างกลางมาเกิดอีก ๓ ชาติ นี่เรียกว่าย่นเข้ามา อย่างอุกฤษฏ์หมายถึงอย่างเยี่ยมแล้วมาเกิดเพียงชาติเดียว ท่านเรียกว่าเอกพีชี มาเกิดเป็นชาติเดียว ในชาตินั้นอาจจะบรรลุธรรมถึงสิ้นสุดวิมุตติพระนิพพานไปทีเดียวก็ได้ อย่างหนึ่งกลับมาเกิดอีกชาติหนึ่ง มีอยู่ ๒ ประเภท
นี่แหละธรรมท่านเป็นเครื่องตัดย่นวัฏฏะเข้ามาให้เป็นที่แน่นอน ถ้าถึงขั้นพระโสดาแล้วก็เรียกว่าแน่นอนว่าชาตินี้ อย่างนานไม่เลย ๗ ชาติ ย่นเข้ามา ๓ ชาติ ย่นเข้ามาชาติหนึ่ง แล้วสิ้นสุดเรื่องความเกิดตายซึ่งเป็นเรื่องของความทุกข์เกี่ยวโยงกันไปโดยลำดับลำดานั้น ขาดสะบั้นลงไปตาม ๆ กันกับความเกิดนั้นแล
ความไม่เกิดเป็นยังไง นั่นละความเลิศคือความไม่เกิดดังพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่าน ท่านเลิศด้วยความไม่เกิด ท่านเลวเพราะความเกิด เราเลวเพราะความเกิด เพราะความเกิดนี้มีความทุกข์ความทรมาน จนกระทั่งถึงวันตายความทุกข์จะเกาะติดแนบไปกับกายกับใจตลอดเวลา ความทุกข์กับเรื่องการเกิดอัตภาพร่างกายขึ้นมานี้เป็นเงาตามตัว ผู้ที่เกิดจึงเป็นผู้ที่แบกหามทุกข์ไปโดยลำดับ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เกิดด้วยความมีบุญมีกุศลนั้น ถึงจะมีทุกข์ก็มีสุขเป็นเครื่องแก้กันอยู่เสมอ เหมือนกับว่าเราหลบร้อนเราไปอาศัยที่ร่มไม้ชายคาให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ นั่นคือกองบุญของเรามี ถ้าผู้ไม่มีความดีเลยมีตั้งแต่ความชั่วก็แผดเผาตลอดเวลาเป็นการทุกข์ทรมานในภพชาตินั้น ๆ เพราะฉะนั้นการเกิดการตายอยู่ในภพชาติต่าง ๆ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์นี้จึงเป็นสิ่งที่ลำบากมากทรมานมากสำหรับสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีบุญมีความดีทั้งหลาย
ผู้มีบุญมีความดีนั่นน่ะเดินทางไปเหมือนกันคือเกิดตายเหมือนกัน เกิดของคนดีกับตายของคนดี อยู่ของคนดีนั้นมีแต่ความต่างกันมากทีเดียว นี่แหละท่านว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปต่าง ๆ กัน มาเกิดด้วยกันแม้จะเกิดในท้องแม่เดียวกันก็ตาม ลูกมีกี่คน สมบัติคือกรรมนั้นน่ะเป็นนิสัยของตัวเองเป็นสมบัติของตัวเอง เป็นของตัวเอง ไม่ได้อาศัยพ่อแม่ละ เรียกว่านิสัยที่ได้สั่งสมมายังไงเป็นนิสัยดีนิสัยชั่ว นิสัยหยาบละเอียด ตลอดถึงมีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหัตภูมิได้ก็ตาม ก็เกิดในท้องแม่เดียวกันนั่นแหละ แต่อัธยาศัยใจคอไม่เหมือนกัน
นิสัยใจคอของลูกแต่ละคน ๆ ที่เกิดในท้องแม่เดียวกันนั้นไม่เหมือนกัน ก็เพราะกรรมเป็นของตัวด้วยกันทุกคน ไม่ได้มาแบ่งสันปันส่วนกัน เป็นของของตัวแต่ละคน ๆ เป็นแต่เพียงว่ามาอาศัยท้องแม่เกิดเท่านั้น ส่วนกรรมนั้นเป็นของตัวทุกคน ๆ เวลาเกิดมาแล้วก็การสร้างกรรมก็เป็นของตัวของแต่ละคน ๆ เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นผลจึงเป็นของตัวแต่ละคนด้วยกัน นี่ท่านให้แยกอย่างนี้
เราอย่าหวังตั้งแต่ผลอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเหตุว่าดีชั่วประการใด เราต้องคำนึงถึงเหตุก่อนผลจะได้รับนะ ถ้าเราจะทำสิ่งนั้นผลจะเป็นอย่างไร เราต้องคำนึงถึงเหตุเสียก่อน ถ้าจะเป็นผลชั่วแล้วเราก็ไม่ทำ ถ้าเป็นผลดีแล้วยากลำบากเราก็ฝ่าฝืนทำจนได้นั่นแหละ แล้วก็เป็นของดีขึ้นมาภายในตัวของเรา นี่เรียกว่าผู้มีเหตุมีผลทำตัวให้เป็นอย่างนั้น ถ้าผู้ไม่มีเหตุมีผลจะมีแต่ความทะเยอทะยานความอยาก อยากอะไรก็ทำตามความอยาก ๆ ส่วนมากร้อยทั้งร้อยความอยากนั้นเป็นทางโล่งของกิเลสเปิดทางให้สัตว์ทั้งหลายล่มจมกันมากต่อมากมาแล้ว
ความอยากที่จะเป็นอรรถเป็นธรรมนั้นมีน้อยมาก ถ้ายังไม่เคยได้สั่งสมและไม่มีความเคยชินกับการศีลกับการทำบุญให้ทานแล้วจิตใจมักจะอยากไปทางฝ่ายต่ำเสมอ จึงต้องได้หักห้ามกัน เมื่อเราหักห้ามกันหลายครั้งหลายหนแล้วจิตก็ค่อยอ่อนตัวลงไปในทางชั่วและแข็งตัวไปในทางที่ดี แล้วค่อย ๆ กลายเป็นคนดีไปเรื่อย ๆ นี่ละอำนาจของจิต ที่เกิดตาย ๆ ไม่มีป่าช้า เป็นสิ่งที่ลำบากมากสำหรับบุคคลผู้ไม่ใคร่ครวญในการกระทำของตนและพาจิตได้รับความทุกข์ความทรมานรับเคราะห์รับกรรมก็คือจิตนั้นแหละ ทำลงไปก็จิต ทำด้วยความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ไม่พิจารณาเหตุผลดีชั่วประการต่าง ๆ ครั้นทำลงไปแล้วผลแห่งความชั่วทั้งหลายก็ไปเข้าสู่ตัวเองผู้ทำ เมื่อเข้าสู่ตัวเองแล้ว ผลคือความทุกข์ความทรมานก็อยู่กับคนนั้น จะไปแบ่งสันปันส่วนให้ใครต่อใครช่วยเหลืออีกไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของคนคนเดียว นี่เรารู้ตั้งแต่บัดนี้แล้วเราให้พากันสร้างความดี
อยู่ในบ้านสร้างได้ความดี ตั้งแต่อยู่ในบ้านเรายังสร้างความชั่วได้ คิดชั่วก็ได้คิดดีก็ได้ ไม่ว่าอยู่สถานที่ใด อิริยาบถทั้งสี่เว้นแต่หลับสนิทเท่านั้น ยืนก็ทำชั่วทำดีได้ เดินนอนทำชั่วทำดีได้ทางจิตใจเป็นสำคัญ มันคิดอยู่ภายในจิตใจ คิดดีคิดชั่วคิดในแง่ต่าง ๆ ไม่แสดงออกทางกายทางวาจาก็แสดงออกทางจิตใจอยู่เสมอ นี่ท่านเรียกว่าจิตสร้างกรรมอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องให้มีศีลมีธรรมเป็นเครื่องกำกับ ถ้าคิดในแง่ใดเป็นความชั่วให้ระงับดับมันทันที อย่าส่งเสริมมัน ให้คิดในทางที่ดีนั้นแหละเราส่งเสริม ให้คิดทางที่ดีเสมอเราก็ส่งเสริม เมื่อส่งเสริมไปแล้วทางที่ดีก็มีกำลัง เมื่อทางดีมีกำลังแล้วจะคิดออกในแง่ใด จนกระทั่งถึงระบายออกมาทางกายทางวาจาก็เป็นความดีไปตาม ๆ กันไปหมด แล้วก็กลายเป็นนิสัยที่ชินในความดี คนที่มีนิสัยชินในความดีเรียกว่าเป็นผู้คล่องแคล่วในการที่จะตัดวัฏวนกองทุกข์ทั้งหลายออกจากตัวเองให้สั้นลง ๆ โดยลำดับลำดาจนกระทั่งถึงหลุดพ้นไปได้ดังพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่าน
นั่นละผู้ไม่เกิดคือผู้ประเสริฐเหมือนพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่าน ท่านไม่เกิด แต่ท่านไม่สูญ ท่านบริสุทธิ์พุทโธเป็นธรรมทั้งแท่งแล้ว หาความทุกข์ความทรมานแม้เม็ดหินเม็ดทรายเข้าไปแทรกไม่มีเลย ธรรมนั้นแลท่านเรียกว่าธรรมประเสริฐเลิศเลอทั้งหลายคือธรรมไม่เกิด ไอ้ธรรมเกิดน่ะมันเกิดเป็นสัตว์ก็ได้ เกิดเป็นเปรตเป็นผีก็ได้ เกิดเป็นยักษ์เป็นมารก็ได้ เกิดในนรกอเวจีที่ไหนเกิดได้หมด คำว่าเกิดไม่เลือก เกิดเป็นเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมก็ได้ มันสับวนกันไปเปลี่ยนกันมาอยู่เช่นนี้ไม่แน่นอนเรื่องความเกิดนี่
การไม่เกิดเสียอย่างเดียวท่านว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ความทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดคือผู้บริสุทธิ์พุทธะแล้ว ดังพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านนี้ยังไงท่านก็ไม่เกิด ท่านก็เป็นธรรมทั้งแท่งไปตลอดอนันตกาล นี่ละท่านว่านิพพานเที่ยง คือเที่ยงที่หัวใจนั่นเองไม่ใช่เที่ยงที่ไหน หัวใจกับพระนิพพานวัดระดับกันได้อันเดียวกัน ดูในใจเจ้าของก็รู้ ท่านว่า สนฺทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองในผู้เป็นนั้นแหละ เมื่อบำเพ็ญเข้ามาก ๆ เข้าด้วยอำนาจแห่งความดีหนุนเข้า ๆ ไปก็ถึงจุดหมายปลายทางแห่งความไม่เกิดไม่ตาย มีแต่ความบริสุทธิ์พุทโธเป็นธรรมทั้งแท่งภายในจิตใจแล้วท่านเรียกว่า บรมสุข บรมสุขเกิดกับความดีผู้สร้างความดีต่างหาก เพราะฉะนั้นให้เราทั้งหลายจงพากันสร้างความดี
อย่าเสียดายความชั่ว ความชั่วนี้เคยเป็นโจรเป็นมารลบล้างเรามามากต่อมากแล้ว ได้รับความทุกข์ความทรมานเพราะความชั่วนี้มีมากต่อมาก ให้พากันเข็ดหลาบอย่าพากันทำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยเข็ดหลาบเรื่องความชั่วแล้วเป็นอันว่าติดพันตลอดเวลาไม่มีความจืดจางเลย ถ้าทำความดีแล้วทำนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วก็เข็ด ๆ หลาบ ๆ ไปเสียไม่อยากทำ เช่นอย่างนั่งภาวนา นั่งภาวนาจิตยุ่งไปโน้นยุ่งไปนี้มาแล้วก็มาทวงเอามรรคผลนิพพานจากเวลานั่ง เรานั่งเป็นเวลาเท่านั้นนาทีเท่านี้นาทีไม่เห็นได้มรรคได้ผล มันจะได้อะไรจิตมันวิ่งไปห้าทวีปโน่น ครั้นมาแล้วก็มาทวงเอามรรคผลนิพพาน มันก็ได้แต่กิเลสเต็มหัวใจล่ะซิ นี่เราอย่าให้เป็นอย่างงั้น
ภาวนาก็ให้นึกพุทโธ ๆ ก็ให้อยู่ในใจ อย่าลืมนะคำว่าพุทโธเป็นเรื่องใหญ่โตมากในหัวใจของเรา คนมีพุทโธประจำใจการทำชั่วย่อมไม่รุนแรง อย่างมากก็ว่าพอทำแต่ไม่รุนแรง มีการยับยั้งชั่งตัวและไม่ทำความชั่ว คนมีพุทโธในใจพอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงครูบาอาจารย์ได้เท่านั้นจิตจะชะงักทันทีในการทำชั่ว แล้วหักตัวลงมา เป็นคนดีได้สงบใจสงบได้ นี่เรียกว่าน้ำดับไฟ ธรรมคือน้ำ กิเลสตัณหาคือไฟ โทสคฺคิ ไฟคือโทสะ มันเกิดมันรุนแรงจะทำลายใครก็ได้ในโลกนี้ไม่เลือกหน้า แต่น้ำดับไฟคือระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ด้วยสติเท่านั้นเองแล้วจิตจะหยุดทันทีเหยียบเบรกห้ามล้อ จิตก็หยุดจากการทำชั่ว
นี้ให้เรามีสติระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ และการทำอะไรขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้วจะไม่ค่อยมีกำลังและไม่มีกำลังตลอดถึงการว่าไม่ให้ทำ ถ้าผู้ไม่มีสตินั้นมักจะทำเต็มเหนี่ยวละ ครั้นเวลาได้ทุกข์ก็ทุกข์เต็มยัน ทรมานสุดขีดสุดแดนหาประมาณไม่ได้เพราะความไม่มีสติ สติจึงเป็นของสำคัญมากให้ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอเป็นของดี คำว่าสตินั้นระลึกรู้ภายในตัวเอง พอมาระลึกรู้ตัวเมื่อไรก็เรียกว่าคนรู้ตัวคนได้สติ พอได้สติแล้วก็รู้ดีรู้ชั่ว จะทำดีทำชั่วมันก็หักห้ามตัวเองได้ ถ้าคนไม่มีสติเลยนี้มีแต่ความอยากดึงไปลากไปเข็นไปท่าเดียว แล้วทำความชั่วได้อย่างเต็มเหนี่ยว ทุกข์จะแสนสาหัสทรมานแสนสาหัสก็เพราะความเลินเล่อเผลอสติของตัวเองนั้นแล ไม่หักห้ามตัวเองในเวลาอยากทำความชั่วต่าง ๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อเราทราบอยู่อย่างนี้แล้วให้พยายามหักห้ามตัวเองด้วยสติ ให้มีพุทธะอยู่ในใจ พุทธะท่านไม่ทำลายใครนี่ พุทธะท่านไม่โลภ โลภจนไม่มีเมืองพอจนไม่มีป่าช้า ท่านไม่โลภแบบนี้ ความอยากมีเหมือนกันคนเรา สัตว์ก็มีความอยาก อยากธรรมดานี้ท่านไม่เรียกว่าความโลภ ไอ้อยากเลยบ้านเลยเมืองเลยโลกเลยสงสาร อยากจนเป็นน้ำล้นฝั่ง อยากจนไม่มีป่าช้าเผาคนประเภทนั้น นั่นท่านเรียกว่าความอยาก
ความโลภประเภทนั้นไม่มีในพระพุทธเจ้า ผู้ระลึกถึงพุทโธอยู่ในใจก็ไม่มี ความโลภเหล่านี้ก็ระงับดับตัวลงไปให้อยู่ในความโลภหรือความอยากธรรมดา เป็นไปธรรมดาของคนผู้มีศีลมีธรรม ความโกรธก็ไม่รุนแรงถ้ามีพุทธะ ๆ พุทโธอยู่ในใจ ความโกรธไม่รุนแรง ราคะตัณหาความทะเยอทะยานวิ่งเต้นเผ่นกระโดดไม่รู้หน้ารู้หลังนี้ ก็รู้จักตัวเอง ก็รู้ประมาณหักห้ามตนเองได้ มีขอบมีเขตมีเหตุมีผลบังคับตนเองด้วยธรรม นี่ละผู้มีธรรมกับผู้ไม่มีธรรมทำอะไรจึงต่างกันมาก
คนไม่มีธรรมทำอะไรมีแต่ชั่วช้าลามกทั้งนั้น คนมีธรรมทำอะไรลงไปมีแต่ความดิบความดี แล้วผลแห่งความดีนั้นแหละเข้ามาสนับสนุนตนให้เป็นคนดีทั้งบัดนี้และต่อไปข้างหน้า ตลอดถึงภพนี้ภพหน้า อำนาจแห่งความดีด้วยสติของเราที่จดจ่อระมัดระวังรักษาตัวด้วยดีนี้เป็นสิริมงคลมาก จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายได้นำธรรมะเหล่านี้ไปปฏิบัติ สติให้อยู่กับตัวเสมอ ไปที่ไหนระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆเสมอ กิเลสตัณหาซึ่งเป็นตัวภัยนั้นจะไม่รุนแรง เพราะมีน้ำดับไฟไว้ภายในจิตใจ
ต่อไปนี้จะอนุโมทนาให้พร