เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๗
หลักการดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผล
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ หน)
ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉตีติ.
วันนี้พระเดชพระคุณสมเด็จ ฯ ท่านเมตตานิมนต์มาแสดงธรรมแก่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลาย แต่การแสดงธรรมนั้นรู้สึกว่าจะไม่สะดวกเลยในธาตุขันธ์ทุกวันนี้ ปกติไม่เคยเทศน์ที่ไหนเลย อยู่ในวัดในวาก็ไม่เทศน์เพราะความจำหลงลืม เทศน์หลงหน้าหลงหลังเหมือนคนไม่เคยเทศน์ หากว่าเทศน์เป็นไปอย่างนั้นก็ขอพี่น้องทั้งหลายจงเห็นใจด้วย วันนี้จะแสดงธรรม ธรรมส่วนมากก็เป็นธรรมะป่าให้พี่น้องชาวกรุงทั้งหลายที่ไม่มีโอกาสได้เที่ยวป่าให้ได้ฟังเสียบ้าง พอเป็นเครื่องระลึกทางด้านจิตใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมะป่า
เราทั้งหลายเป็นชาวพุทธ ปฏิญาณตนนับถือพุทธศาสนาว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกฝากเป็นฝากตาย นี่เป็นคำปฏิญาณตนของชาวพุทธเราที่ได้นับถือมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย แต่คำระลึกทั้งหลายเหล่านี้วันหนึ่ง ๆ เราได้ระลึกถึง พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ สักกี่ครั้งกี่หนก็ทราบไม่ได้ อาจเป็นแต่ชื่อแต่นามว่าเป็นชาวพุทธ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ระลึกถึงความดีความชั่วผิดถูกต่าง ๆ นั้น รู้สึกจะมีน้อยในชาวพุทธของเรา มีน้อยไปทุกวัน ๆ นี่จึงเป็นที่น่าวิตกสำหรับชาวพุทธเราซึ่งควรจะได้รับความร่มเย็นจากศาสนธรรมของพระพุทธเจ้า แต่แล้วกลับกลายเป็นเรื่องของกิเลสไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง
เวลานี้กิเลสกำลังตีตลาดเราทั้งหลายได้ทราบไหม บ้านเมืองกำลังเดือดร้อนวุ่นวายทุกแห่งทุกหน ใครไปมาที่ไหนไต่ถามกันต่าง ๆ นานานี้ล้วนแล้วแต่พูดเรื่องกองทุกข์เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ว่าชาติไม่ว่าชั้นไม่ว่าวรรณะใดมีแต่เรื่องกองทุกข์ ๆ ความจริงแล้วกองทุกข์นี้มาจากไหน เราควรจะสืบให้ทราบสาเหตุของมัน ก็มาจากความผิดนั้นเอง ความผิดถ้าไม่ใช่เรื่องกิเลสจะเป็นเรื่องอะไรไป อันนี้เราทุก ๆ คนควรคิดไว้ การระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในวันหนึ่งอย่างน้อยขอให้ได้วันละ ๔-๕ หนก็ยังเป็นของดี ไม่ระลึกตั้งแต่เรื่องความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหาโดยถ่ายเดียว แต่เวลานี้โลกรู้สึกจะเป็นไปในทางนี้เสียเป็นส่วนมาก จึงได้เตือนท่านทั้งหลายให้ระลึกถึง พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้บ้าง จะเป็นประโยชน์แก่ตนและส่วนรวมเป็นอย่างมากทีเดียว
วันนี้ได้ยกคาถาซึ่งเป็นเครื่องหมายของชาวพุทธเราออกมาแสดงว่า ทานํ เทติ การให้ทานหนึ่ง สีลํ รกฺขติ การรักษาศีลหนึ่ง ภาวนํ ภาเวตฺวา การเจริญเมตตาภาวนาหนึ่ง ทั้งสามประการนี้เป็นคุณค่าของศาสนาและเป็นคุณภาพสำหรับท่านผู้บำเพ็ญ เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโข โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ คือธรรมดาชาวพุทธของเราย่อมมีการให้ทาน การเสียสละมากน้อย เป็นนิสัยของชาวพุทธเรา การรักษาศีลคือการรักษากาย วาจา ใจของตนให้เรียบร้อย การเจริญเมตตาภาวนา คือการสวดมนต์ไหว้พระวันหนึ่ง ๆ ไม่ให้ขาดทั้งตอนเช้าและตอนเย็น จะยุ่งยากขนาดไหนก็ไม่ควรละการทำบุญให้ทานการรักษาศีลอย่างนี้ เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ นั้นคือบางพวกตายแล้วก็ไปสวรรค์ บางพวกตายแล้วไปนิพพานโดยไม่ต้องสงสัย นี้เป็นพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประทานไว้แก่ชาวพุทธเรา
สำหรับชาวพุทธเรามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง เกิดมาก็หลายปีหลายเดือน ตั้งแต่วันเกิดมานี้อายุสักเท่าไร ๔๐-๕๐-๖๐-๗๐ จะถึง ๘๐ ก็มี เราได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อย่างไรบ้างหรือไม่ ความเป็นมาของเรานั้นเป็นมาจากอะไร เราเป็นมาจากอำนาจแห่งบุญแห่งกรรมดีของเราเรียกว่ากุศลกรรม จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วควรจะระลึกรู้สาเหตุแห่งความเป็นมนุษย์ ว่าอะไรพาให้เป็นมนุษย์ ก็ได้แก่บุญกุศลคือทาน ศีล ภาวนา นี้แล นี่เรียกว่าความระลึกถึงความเกิดของตน แล้วปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ตามกำลังแห่งเพศและวัยของตน นี่ก็จะไม่เสียความเป็นมนุษย์ของเรา
การรักษาศีลก็เหมือนกัน เป็นคุณค่าอันสำคัญ ศีล คือความปรกติ หรือแปลว่า หิน ก็ได้ มีความแน่นหนามั่นคงทางด้านจิตใจต่อศีลต่อธรรมเหมือนหิน แน่นเหมือนภูเขาทั้งลูกไม่หวั่นไหว นี่ท่านเรียกว่ารักษาศีล
เจริญเมตตาภาวนา คือเราสวดมนต์ไหว้พระก็เป็นการภาวนาประเภทหนึ่ง เวลาสวดมนต์ไหว้พระก็ให้จิตของเราอยู่ในคำบริกรรมหรือคำสวดมนต์นั้น เรียกว่าเป็นการภาวนาอยู่ในตัว เช่น อิติปิโส ภควาฯ สฺวากฺขาโต ฯ สุปฏิปนฺโน ฯ ให้มีความรู้สึกคือสติอยู่กับคำบริกรรมหรือคำสวดมนต์นั้นก็เรียกว่าภาวนา หลังจากนั้นแล้วเราก็ภาวนาจริง ๆ เช่น จะนั่งพับเพียบก็ตาม จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ ในห้องพระหรือนอกห้องพระนั่งได้ทั้งนั้น แล้วทำความสำรวมใจของตน
เพราะใจนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าทุกสิ่งทุกอย่างคือใจ สิ่งที่เหมาะสมกับใจก็คือจิตตภาวนา ได้แก่ การอบรมจิตของเราให้มีความสงบเยือกเย็น จิตสงบเยือกเย็นเป็นอย่างไร ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นจิตสงบเยือกเย็นก็มีมากชาวพุทธเรา เพราะฉะนั้นจึงควรคิดในเรื่องนี้ให้มาก คำว่าจิตสงบได้แก่จิตไม่คิดส่ายแส่ไปในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เคยคิดเคยอ่านมาแล้วมากมายก่ายกองทั้งอดีตทั้งอนาคต คิดอยู่ตลอดเวลาไม่มีความอิ่มพอนี้เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตคิดอยู่ตลอดเวลา เวลาจิตสงบแล้วจะระงับความคิดความปรุงทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาสู่ตัวเอง คือ เป็นความรู้อย่างเด่นขึ้นภายในหัวอกของเรา
ขอให้พี่น้องทั้งหลายทราบว่าหัวอกคืออะไร ในทรวงอกท่ามกลางอกนี้แลความรู้อยู่ที่ตรงนี้ จิตจะสงบเย็นอยู่ที่ตรงนี้ เริ่มแรกเพียงเท่านั้นเราก็มีความตื่นเต้น มีความอาลัยเสียดาย เวลาจิตของเราถอยออกมาจากสมาธิแล้ว เพราะเป็นความแปลกประหลาดภายในใจ เนื่องจากเราไม่เคยพบเคยเห็นความสงบประเภทนี้ด้วย ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบนี้ด้วย จึงเป็นเหตุให้ตื่นเต้นภายในจิตใจ บุคคลที่ทำการเจริญจิตใจให้มีความแน่นหนามั่นคงจนกระทั่งถึงเป็นสมาธิ คำว่าสมาธิกับความสงบนั้นต่างกัน ความสงบคือจิตเราภาวนาหลายครั้งหลายหนจะค่อยสงบลงไปเรื่อย ๆ สงบหลายครั้งหลายหน ความสงบนั้นแลไปสร้างฐานแห่งสมาธิให้มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นมา จนไม่มีความหวั่นไหว เป็นอยู่ในจิตของตนเอง แม้จะคิดปรุงแต่งเรื่องอะไรได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตที่เป็นความแน่นหนามั่นคงนั้นยังคงเส้นคงวาอยู่ภายในจิต นี้ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ
ขอให้เราทั้งหลายได้อบรมจิตให้เป็นสมาธิ คือให้มีความสงบเยือกเย็นบ้างพอประมาณ เราจะได้เห็นคุณค่าของศาสนา เวลานี้ศาสนาจะมีแต่ตำรับตำราเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มตู้เต็มหีบ จะไม่มีผู้ปฏิบัติเพื่อเอามรรคผลนิพพานออกมาโชว์กันแล้ว เรายังไม่ทราบว่าศาสนาเสื่อม-เสื่อมที่ไหน เสื่อมที่กายวาจาใจของชาวพุทธผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นแล ผลจึงไม่ได้ออกมาโชว์กันบ้าง พูดถึงเรื่องสมาธิก็ประหนึ่งว่าสุดเอื้อมหมดหวัง อยู่เมืองอินเดียโน้น ไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ไม่ได้อยู่ในตัวของเราเอง สมาธิก็ไปอยู่ในอินเดียโน้น ปัญญาก็อยู่อินเดีย มรรคผลนิพพานก็ไปอยู่อินเดียไปเสียหมด ไปตามกาลตามสมัยเวล่ำเวลาขนไปกินหมดไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ตัวเปล่า ๆ แต่ตัวของเราคว้าน้ำเหลวอยู่อย่างนี้ ๆ อย่างนี้ไม่สมควร
เพราะฉะนั้นจงพากันเจริญจิตของเราให้มีความสงบ พอจิตสงบเท่านั้นเราจะหยั่งทราบถึงเรื่องคุณธรรมของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ขั้นสมาธิขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น ว่าไม่นอกเหนือไปจากจิตที่เป็นความสงบให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เลย แล้วเราจะได้มีความหนักแน่นอยู่ในสมาธินี้ อยู่ในการภาวนาให้จิตมีความสงบเรื่อย ๆ ขึ้นไป จนกลายเป็นสมาธิขึ้นมา คำว่าสมาธิคือความแน่นหนามั่นคงของใจ จะยืนจะเดินจะนั่งก็ตาม ความสงบความแน่นหนามั่นคงของใจจะปรากฏเด่นชัดอยู่ตลอดเวลา แม้จิตจะคิดปรุงแต่งเรื่องอะไรได้อยู่ก็ตาม นี่ท่านเรียกว่าสมาธิ
เพียงขั้นสมาธิเท่านี้ก็เป็นเครื่องประกาศให้เห็นแล้วว่า ใจของเรานี้เริ่มมีคุณค่าแล้วเวลานี้ มรรคผลนิพพานเริ่มปรากฏขึ้นมาภายในจิตใจนี้แล้ว มรรคก็คือสมาธินี้แหละเป็นมรรคอันหนึ่งที่จะเป็นทางก้าวเดินไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็ต้องไปจากสมาธิคือความสงบใจนี้แลท่านจึงเรียกว่าสัมมาสมาธิ ขึ้นที่ตรงนี้ก่อน เมื่อจิตสงบเย็นจิตนิ่งลงไปแล้ว จะทำให้จิตเยือกเย็นเป็นสุข ถ้าควรจะรู้เห็นสิ่งใดก็มีเป็นไปตามนิสัย แต่อันนี้จะไม่อธิบายไปให้เสียเวล่ำเวลา เพื่อพี่น้องทั้งหลายจะได้ยึดหลักใจเป็นของสำคัญ เพราะหลักใจเป็นหลักของพระพุทธศาสนา คนเราไม่มีหลักใจคือทำความสงบแก่ใจบ้างเลยนั้น จิตใจก็ลอยลม คว้าน้ำเหลวๆ ได้ยินแต่ชื่อแต่เสียงมรรคผลนิพพานในสมัยโน้น สมัยนี้สุดเอื้อมหมดหวังจะเป็นไปอย่างนั้นถ้าไม่ได้สนใจทางด้านจิตตภาวนา
เมื่อเราได้ตั้งใจปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนา เฉพาะอย่างยิ่งพระของเราที่บวชมาในพุทธศาสนา เป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง หน้าที่การงานก็ลดน้อยลงกว่าใคร โอกาสก็อำนวยมาก ควรจะได้บำเพ็ญจิตตภาวนาให้ได้เป็นผู้ทรงมรรคทรงผลดังครั้งพุทธกาลท่านทรงและแสดงไว้ ในครั้งพุทธกาลมีว่าองค์นั้นสำเร็จพระโสดา องค์นั้นสำเร็จพระสกิทาคา องค์นั้นสำเร็จพระอนาคา องค์นั้นสำเร็จเป็นพระอรหัตตัดกิเลสออกจากใจของตนโดยสิ้นเชิงนั้น ท่านเอาธรรมบทใดท่านเจริญอย่างไรท่านจึงได้เป็นเช่นนั้น ก็ธรรมที่ประกาศไว้แล้วนี้แลมีอริยสัจเป็นสำคัญ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้เรียกว่าทางบุกเบิกเพื่อมรรคผลนิพพาน
เวลานี้ธรรมประเภทเหล่านี้ก็มีอยู่ในตำรับตำรา เราเรียนมาจนคล่องปากคล่องใจหมดแล้ว ยังเหลือแต่ยังไม่ได้นำมาประกอบ คือให้เป็นสมาธิ ให้เป็นปัญญา ขึ้นภายในจิตใจเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงขอให้พากันสนใจจิตตภาวนาซึ่งเป็นที่ทรงมรรคทรงผลอยู่ที่จุดนี้เป็นจุดสำคัญ แม้ผลแห่งการให้ทานก็ดี ผลแห่งการรักษาศีลก็ดี ก็จะเป็นเหมือนกระแสน้ำที่ไหลมาจากทิศต่าง ๆ มารวมลงอยู่ทำนบใหญ่คือจิตตภาวนานี้ทั้งนั้น จิตตภาวนาเป็นทำนบใหญ่เป็นที่รวมแห่งกุศลทั้งหลายรวมลงที่จุดนี้ เวลาจุดสุดท้ายก็มาตัดบทกันที่ตรงนี้เอง ฆ่ากิเลสก็ฆ่าลงที่จุดนี้คือจุดจิตตภาวนานี้แล
จึงขอให้บำเพ็ญจิตใจให้มีความสงบเย็น เราจะได้เห็นผลประจักษ์ว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนั้นตรัสไว้อย่างไร ตรัสไว้ชอบแล้วชอบยังไง ชอบทั้งที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ชอบทั้งที่ปรินิพพานไปแล้ว จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม เราปฏิบัติตามหลักธรรมที่ท่านทรงสั่งสอนไว้แล้ว เริ่มตั้งแต่ศีล สมาธิ ไปโดยลำดับลำดา ก็ชื่อว่าเราก้าวเดินไปตามแถวทางที่ท่านตรัสไว้ชอบแล้ว เราก็ชื่อว่าเป็นผู้เดินชอบแล้ว ก้าวไปชอบแล้ว ปฏิบัติชอบแล้วไปโดยลำดับ ได้ก้าวหนึ่งสองก้าวก็ยืดยาวไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งจะถึงจุดที่หมายและถึงจุดที่หมายได้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้นจึงควรพินิจพิจารณาในจุดนี้ให้มากสำหรับพระเราผู้บวชในพุทธศาสนาแล้วก็ดี
ประชาชนญาติโยมก็มีกองทุกข์ คืออริยสัจเหมือนกัน ควรจะต่างคนต่างสนใจในธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งมรรคผลนิพพานในจิตตภาวนานี้เป็นสำคัญ เพื่อให้ ทาน ศีล ไหลลงสู่จิตตภาวนาให้ได้เห็นเด่นชัดภายในจิตใจว่า ในครั้งพุทธกาลท่านทรงมรรคผลนิพพานท่านทรงอย่างไร ท่านทรงไปตั้งแต่สมาธิมีความสงบเย็น จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่ปัญญา คำว่าปัญญานี้มีขึ้นเป็นลำดับลำดาและกว้างขวางพิสดารมาก สำหรับสมาธินั้นมีความอิ่มพอตัวได้ไม่เหมือนปัญญา ความอิ่มพอของสมาธิเป็นอย่างไร เมื่อจิตเป็นสมาธิเต็มภูมิแล้วจะพิจารณาอย่างไรให้เกินนั้นก็เกินไปไม่ได้ เรียกว่าสมาธิเต็มภูมิ ถึงจะไม่เต็มภูมิก็ตามเรามีความสงบร่มเย็นในจิตใจขนาดไหน เพราะจิตอิ่มอารมณ์ไปโดยลำดับ
อารมณ์ของจิตที่อิ่มนั้นคืออะไร คือ รูปที่เคยรักเคยชอบ เสียงที่เคยรักเคยชอบ กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ที่เคยรักเคยชอบ ซึ่งเคยเป็นข้าศึกต่อจิตใจมานาน จิตใจเรารักชอบหิวโหยกับสิ่งเหล่านี้ เวลาจะให้พิจารณาทางด้านปัญญาจึงไม่ชอบพิจารณา เถลไถลไปในที่ต่าง ๆ ไปตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเหล่านี้แล ท่านจึงสอนให้จิตมีสมาธิเพื่อทรงตัวได้ เมื่อจิตมีสมาธิแล้วจิตก็สงบตัวจิตอิ่มตัว คือ อิ่มอารมณ์ มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ไม่ส่ายแส่หาอารมณ์เหล่านี้ แล้วพาพิจารณาทางด้านปัญญาแยกดูธาตุดูขันธ์ อริยสัจอยู่ที่ตรงนี้ ชาติปิ ทุกฺขา ได้แก่ร่างกายของเรานี้เกิดที่ตรงนี้ ชราปิ ทุกฺขา แก่ก็แก่ที่ตรงนี้ มรณมฺปิ ทุกฺขํ เวลาตายก็ธรรมชาตินี้แลตาย นี่เป็นอริยสัจ เราพิจารณาแยกแยะให้เห็นตามหลักความจริง จะเป็นพิจารณาทางอสุภะอสุภังเป็นป่าช้าผีดิบก็ได้ไม่ผิด จะพิจารณาเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ได้ เป็นไปได้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ การพิจารณานี้ท่านเรียกว่าปัญญา
บังคับปัญญาให้พิจารณาตามสกลกายของเราตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เข้าไปถึงตับ ไต ไส้ พุง พิจารณาแยกแยะให้เป็นของปฏิกูลโสโครก อันเป็นบ่อแห่งความยึดถือของอุปาทานนี้ให้กระจายตัวออกไป ๆ จิตของเราก็จะมีความอิ่มพอในธาตุในขันธ์ มีความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดี ความถือเนื้อถือตัวถือเขาถือเราเข้าไปโดยลำดับ เพราะภูเขาภูเรานี้ได้แก่ตัวของเรานี้แลเป็นภูเขาที่หนักมาก ภูเขาทั้งลูกเราไม่ได้ไปแบกไปหามเขาจึงไม่รู้ว่าเขาหนักหรือเขาเบา แต่ภูเขาภูเราคือร่างกายของเรานี้เราถือเขาถือเรา เราถือมาตลอดแบกมาตลอด หนักมาตลอด เป็นทุกข์มาตลอด เราพิจารณาทางด้านปัญญาให้เห็นตามหลักความเป็นจริงของมันอย่างนี้เรื่อย ๆ พิจารณาเรื่อย ๆ ไป เมื่อจิตมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าต่อการพิจารณา ซึ่งเป็นงานอันหนึ่งของงานทางด้านปัญญาแล้วเราก็ย้อนจิตเข้ามาพักสมาธิ
วันนี้จะอธิบายวิธีการดำเนินสมาธิเพื่อมรรคเพื่อผลให้พี่น้องทั้งหลาย มีภิกษุบริษัทเป็นต้น ได้ยินได้ฟังทั่วถึงกัน เพราะนาน ๆ จะได้มาประสบพบเห็นกันที่หนึ่ง วันนี้จึงขออธิบายถึงเรื่องหลักการดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผล เพื่อให้ศาสนาของพระพุทธเจ้านี้เด่นเป็นตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอย่างออกหน้าออกตา ให้เราผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้เห็นประจักษ์กับใจของเรา ไม่มีแต่เพียงครั้งพุทธกาลในเวลานี้เหลวไหลไม่ให้เป็นอย่างนั้น จึงต้องอธิบายวิธีก้าวเดินเพื่อมรรคเพื่อผลให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกัน มีภิกษุบริษัทเป็นต้น
การพิจารณาทางด้านปัญญา พิจารณาแยกแยะหลายขั้นหลายภูมิหลายวรรคหลายตอน อันนี้เป็นอุบายวิธีการอันหนึ่งของผู้พิจารณา เมื่อจิตเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วก็เข้าสู่สมาธิ คือพักสงบพักเอากำลัง เมื่อจิตถอยออกมาจากสมาธิแล้วก็ทำงาน ได้แก่การพิจารณาทางด้านปัญญา โดยไม่ต้องมาสนใจไยดีกับสมาธิ ให้ทำหน้าที่ด้านปัญญาล้วน ๆ เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วก็มาพักทางสมาธิ นี่ท่านเรียกว่าปัญญา
เมื่อปัญญาได้พิจารณาหลายครั้งหลายหน ในอวัยวะส่วนข้างนอกข้างในเบื้องบนเบื้องล่างเห็นแจ่มแจ้งชัดเจนโดยลำดับแล้ว จิตจะมีความเพลิดเพลินในการเห็นของตน และมีความยินดีในความละความถอน มีความกระหยิ่มยิ้มย่องในการบำเพ็ญทางด้านปัญญาของตนเอง แล้วจะเพลินไปเรื่อยๆ จากนั้นมาก็กลายเป็นภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดขึ้นเองหมุนตัวไปเองเป็นอัตโนมัติ ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา คือปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ เราจะสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งภายนอก รูป เสียง กลิ่น รสเป็นต้น ก็ตามไม่สัมผัสก็ตาม แต่ปัญญานี้จะก้าวเดินอยู่ในวงอริยสัจ พินิจพิจารณาสิ่งเหล่านี้เห็นแจ้งชัดเจนเข้าไปโดยลำดับ และคล่องตัวไปโดยลำดับ จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา ไปจากภาวนามยปัญญานี้แล หมุนตัวไปเองเป็นอัตโนมัติ หมุนไม่หยุดไม่ถอยก็มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความชำนิชำนาญเฉียบแหลมเข้าไปโดยลำดับ ก็กลายเป็นมหาสติมหาปัญญา
คำว่ามหาสติมหาปัญญานั้นท่านเรียกว่าเป็นสติปัญญาที่แก่กล้าสามารถ แก่กล้าสามารถเพื่ออะไร เพื่อแก้เพื่อละเพื่อถอนเพื่อสังหารกิเลสนั้นแล เมื่อมหาสติมหาปัญญาได้ปรากฏขึ้นเด่นชัดแล้วย่อมแน่ใจในมรรคในผล เริ่มมาตั้งแต่ภาวนามยปัญญาได้ปรากฏขึ้นมาแล้วเป็นที่แน่ใจต่อมรรคผลนิพพาน ว่าอย่างไรก็สามารถอาจเอื้อมที่จะได้มรรคผลนิพพานมาครองในวันหนึ่งกาลหนึ่งเวลาหนึ่งโดยไม่อาจสงสัย จิตก็มีความขยันหมั่นเพียรต่อการภาวนาของตนโดยลำดับ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญาแล้วเรียกว่าเป็นสติปัญญาอันเกรียงไกรมาก กิเลสหมอบเรื่อย ๆ หมอบลงไปคุ้ยเขี่ยขุดค้นขึ้นมา มีกิเลสตัวใดที่อาจหาญโผล่ขึ้นมาก็ขาดสะบั้นไป ๆ ด้วยอำนาจของมหาสติมหาปัญญา
จนกระทั่งจิตก้าวเข้าสู่จุดรวมของภพของชาติของวัฏจักรวัฏจิต ได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เราก็พิจารณาพร้อมกันกับร่างกายนี้แล้ว ถอนตัวเข้ามาหมดโดยลำดับ รูปก็ถอน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็รู้เท่าทัน สติปัญญาไหลเข้าสู่จิตใจ เมื่อสติปัญญาไหลเข้าสู่ใจโดยเฉพาะซึ่งเป็นที่อยู่ของอวิชชาแล้ว ย่อมจะทำลายกันที่ตรงนั้น เมื่อมหาสติมหาปัญญาได้ทำลายอวิชชาที่ปรากฏอยู่ภายในจิตให้แตกกระจายลงไป คำว่าอวิชชานี้ได้แก่ยอดของสมุทัย ให้ท่านทั้งหลายทราบเอาไว้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี้แลคือยอดของสมุทัย สติปัญญาอย่างอื่นอย่างใดจะถอนไม่ได้ฆ่าไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่ของมหาสติมหาปัญญา มหาสติมหาปัญญานี้คือยอดของมรรคเพื่อจะสังหารอวิชชาอันเป็นยอดของสมุทัย
เมื่อสังหารอวิชชาแตกกระจายลงไปแล้วเราจะถามหานิพพานที่ไหน ไม่ต้องถามหานิพพาน ไม่ถามหาพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่รู้มาโดยลำดับตั้งแต่ต้นของสมาธิของปัญญาที่กำลังเดิน จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นภายในจิตใจ หลุดพ้นภายในจิตใจของผู้บำเพ็ญนั้นแล มรรคผลนิพพานจะปรากฏขึ้นที่จิตใจของผู้บำเพ็ญ ไม่ได้ปรากฏขึ้นที่ผู้ไม่บำเพ็ญ ใครไม่บำเพ็ญนอนเฝ้ากอดคัมภีร์อยู่เฉย ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เราเรียน-เรียนมากเรียนน้อยได้แต่ความจำมาเฉย ๆ กิเลสก็ไม่ถลอกปอกเปิก ต้องมีภาคปฏิบัติ เช่นอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้เรียกว่าภาคปฏิบัติ
เมื่อปฏิบัติลงไปคำว่าศีลที่มีในตำราก็ย้อนเข้ามาเห็นภายในจิตใจของตนเสีย ว่าสมาธิที่แสดงไว้ในตำราก็เข้ามาปรากฏในจิตของเราเสีย ว่าปัญญาที่ท่านแสดงไว้ในตำรานั้นก็เข้ามาปรากฏในใจของเรานี้เสีย ว่าวิมุตติหลุดพ้นที่ท่านแสดงไว้ในตำราก็มาปรากฏในจิตใจของตนเสีย แล้วก็เป็นปฏิเวธธรรมอย่างเต็มดวงขึ้นมาหรืออย่างเต็มที่ขึ้นมา เรียกว่ารู้แจ้งแทงทะลุ คำว่าแทงทะลุนั้นได้แก่แทงทะลุกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ไม่มีสิ่งใดเหลือภายในจิตใจเลย ท่านเรียกว่าวิมุตติหลุดพ้น
นี่ละศาสนาของพระพุทธเจ้าของเราแสดงตั้งแต่พื้น ๆ แห่งธรรมจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น เป็นศาสนาที่โชว์ได้ทั่วแดนโลกธาตุ ไม่มีศาสนาใด แต่เราไม่ได้นำมาอวดมาอ้างมาเป็นคู่แข่งกัน พูดถึงเรื่องศาสนาแล้วคือศาสนาพุทธเป็นศาสนาอย่างเอก เอกอะไร เอกด้วยมรรคเอกด้วยผล ด้วยอริยสัจ อริยสัจนี้แลเป็นที่อุบัติของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ไม่มีเว้นแม้พระองค์เดียว อริยสัจนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันในวงพระพุทธศาสนาเรา ถ้าผู้ใดปฏิบัติตนอยู่ในหลักของอริยสัจนี้แล้วจะเป็นผู้หลุดพ้นจากภัยโดยลำดับลำดา จนกระทั่งหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงไม่สงสัย ไม่ว่าครั้งพุทธกาล ไม่ว่าครั้งนี้หรือไม่ว่าครั้งไหน ขอให้ดำเนินตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเถิด เพราะธรรมนี้พร้อมแล้วที่จะทรงมรรคผลนิพพานให้แก่ผู้ดำเนินหรือผู้ปฏิบัติตาม
เราทั้งหลายเป็นชาวพุทธ ก็ขอให้นำธรรมเหล่านี้ไปพินิจพิจารณาไปปฏิบัติตน วันหนึ่งคืนหนึ่งอย่าปล่อยเวล่ำเวลาหน้าที่การงาน เข้ามาเหยียบย่ำทำลายตัวเองโดยหาประโยชน์ไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย เพราะคนเรามีแต่เกิดกับตายเท่านั้นแหละ เกิดมาแล้วก็ตาย ถึงได้มารับความยกย่องสรรเสริญกันว่าคนนั้นมั่งคนนี้มี คนนี้มียศถาบรรดาศักดิ์ ก็ว่าไปลมปากมีความสำคัญไปเพียงเท่านั้น เวลารับผิดชอบตนจริง ๆ แล้วก็คือบุญกรรมของเรานั้นแล ถ้าเราได้สร้างบุญสร้างกรรมสร้างคุณงามความดีไว้มากน้อยเพียงไร ก็นั้นแหละเป็นเครื่องยืนยันเป็นเครื่องรับผิดชอบเรา ตายแล้วไม่ต้องนิมนต์พระมา กุสลา ธมฺมา ก็ได้ถ้าลงได้สร้าง กุสลา คือความฉลาดให้ถึงพร้อมภายในตัวเองแล้วอยู่ไหนก็อยู่ ตายในป่าก็ได้ในบ้านก็ได้ ในหุบเขาที่ไหนได้ทั้งนั้น สำคัญอยู่ที่จิตใจเป็นเครื่องยืนยันรับรองตนเองไว้
เวลานี้เรามีความแน่ใจอย่างไรหรือไม่กับพุทธศาสนาที่ท่านแสดงหรือเรานับถือมาโดยลำดับนี้ ถ้ายังไม่แน่ใจก็ให้รีบตั้งใจประพฤติปฏิบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เดี๋ยวจะเสียท่าเสียที ดังคาถาบทหนึ่งท่านแสดงไว้
อิธ เจ นํ วิราเธสิ สทฺธมฺมสฺส นิยามกํ
จิรํ ตุวํ อนุตปฺเปสิ เสริวายํว วาณิโช
แปลใจความออกว่า ถ้าท่านได้พรากจากมรรคผลนิพพาน คือความแน่นอนแห่งธรรมในศาสนานี้เสีย ท่านจะเดือดร้อนในภายหลังสิ้นกาลนาน เช่นเดียวกันกับเสรีววาณิช ซึ่งเป็นผู้พลาดหวังในถาดทองฉะนั้น
ถาดทองในสถานที่นี่ย่นเข้ามาหาตัวของเรานี้ ถาดทองของพ่อค้าคนนั้นยกให้เป็นเรื่องของพ่อค้าคนนั้นไป แล้วน้อมเอาเป็น โอปนยิโก เข้ามาสู่ตัวของเรานี้ว่า ถาดทองคืออะไร คือร่างกายชีวิตจิตใจของเราเวลานี้ได้ผ่านพ้นเวล่ำเวลามานานเท่าไร เราได้สร้างคุณงามความดีไว้ประจำตนและประจำศาสนานี้ไว้มากน้อยเพียงไร ถ้าเราเกิดมาจนขนาดนี้ยังไม่ได้สนใจในคุณงามความดีในอรรถในธรรมทั้งหลาย มีแต่ความเพลิดความเพลินโดยถ่ายเดียวแล้ว เราจะเดือดร้อนในภายหลัง และสิ้นกาลนานด้วย เช่นเดียวกับพ่อค้าที่พลาดหวังนั่นเอง
เวลานี้เรายังมีชีวิตอยู่ให้รีบสร้างตนสร้างตัว ควรจะตั้งมรรคตั้งผลได้ในชาตินี้ก็ขอให้ตั้ง เพราะศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาที่ทรงมรรคผลนิพพานโดยสมบูรณ์มาตลอดกาล ไม่มีกาลไหน ๆ ที่ว่ามรรคผลนิพพานของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้จะบกพร่อง มันบกพร่องสำหรับผู้ปฏิบัตินี้เท่านั้น ถ้าผู้ปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติดีอยู่ ไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาสเรื่องทรงมรรคทรงผลนั้นอยู่กับการปฏิบัติ เพราะสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมนั้นเถิด จะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งมรรคซึ่งผลโดยไม่ต้องสงสัย
ให้เราตั้งอกตั้งใจให้รีบคิดไว้เสียตั้งแต่บัดนี้เวลามีชีวิตอยู่ อย่ามัวแต่เพลิดแต่เพลินรื่นเริงบันเทิง วันนั้นดีวันนี้งาม อันนั้นดีอันนี้ดี ส่วนเจ้าของบกพร่องขนาดไหนไม่สนใจ มองดูแต่ข้างนอกว่าอันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี เจ้าของไม่ดีไม่มองดู ให้ โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาเจ้าของ วันหนึ่งคืนหนึ่งล่วงไปชีวิตจิตใจก็ล่วงไป ๆ แล้วความดีเราได้อะไรบ้าง คำว่าทานเราได้ให้ทานไหม คำว่าศีลเราได้รักษาบ้างไหม อันนี้เป็นคุณสมบัติประจำตัวของเรา เป็นเครื่องยืนยันชีวิตจิตใจและภพชาติของเรา ภาวนา อิติปิโส ภควา ฯ สฺวากฺขาโต ฯ สุปฏิปนฺโน ฯ หรือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เราได้นั่งภาวนาบ้างไหมเพื่อจิตสงบ จิตนี้เป็นกงจักรหมุนติ้วทั้งวันทั้งคืน เหยียบเบรกห้ามล้อไว้ด้วยการภาวนาบ้างจิตใจของเราจะสงบ เมื่อจิตใจสงบแล้วจะเกิดความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ขึ้นภายในใจของเรา แล้วจะมีแก่ใจในการบำเพ็ญจิตตภาวนาและกุศลทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ
คนเราไม่เห็นความจริงของศาสนานั้นแลจึงทำให้อ่อนแอท้อแท้เหลวไหล มีแต่กิเลสเหยียบย่ำทำลายทั้งวันทั้งคืน ถ้าเราได้เห็นความดีที่เกิดขึ้นจากทางศาสนาเพราะการปฏิบัติของเราบ้างแล้ว อย่างไรก็ต้องมีความหนักแน่นมั่นคง เช่นเดียวกับเรามีความหนักแน่นมั่นคงกับกิเลสนั้นแล ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ว่าสิ่งใด ไม่ว่าประเภทใด เรามีความหนักแน่นมั่นคงสนใจกับมันมากทีเดียว ฟังก็ถึงใจ ดูก็ถึงใจ คิดก็ถึงใจ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส ถ้าเป็นเรื่องธรรมแล้วไม่ค่อยถึงใจ ฟังก็ไม่ถึงใจ ดูหนังสืออรรถธรรมก็ไม่ถึงใจ คิดในแง่อรรถแง่ธรรมก็ไม่ถึงใจ เพราะสู้กิเลสไม่ได้ กิเลสมันมีกระแสรุนแรงมากกว่า
เวลาเราฝึกหัดเบื้องต้นเป็นอย่างนี้ ต้องมีกิเลสออกหน้า ๆ เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่กิเลสวางพื้นฐานไว้ให้เราทั้งหลายได้ก้าวเดินตามมันต้อย ๆ น่าสลดสังเวชมากนะ การกินอยู่ปูบายก็ให้กิเลสเป็นผู้ตบแต่งให้เสีย การแต่งเนื้อแต่งตัวก็ให้กิเลสเป็นผู้ตบแต่งให้เสีย การประพฤติเนื้อประพฤติตัวให้กิเลสตบแต่งให้เสีย การใช้การสอยทุกอย่างให้กิเลสตบแต่งให้เสีย ธรรมความพอประมาณความพอเหมาะพอดีไม่ได้มีโอกาสเอื้อมเข้าไปหากิเลสได้เลย เพราะกิเลสตีมือเอาขาดสะบั้นไปดีไม่ดี เพราะกิเลสมีอำนาจมาก ถ้าเห็นก็ให้กิเลสตบแต่งเอาให้เสีย ดูได้ยินได้ฟังทุกอย่างมีแต่เรื่องกิเลสตกแต่งให้ๆ ซึ่งเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัวของกิเลสนั้นแล แล้วในขณะเดียวกันก็สร้างภพสร้างชาติให้ยืดยาวไปไม่มีประมาณ ก็เพราะอำนาจแห่งกิเลสทำงานบนหัวใจเรานั้นแล เพราะธรรมไม่มีเวลาที่จะทำงานได้
ถ้าว่าจะไปวัดไปวาฟังธรรมจำศีลไปทำบุญให้ทาน ก็ถูกกิเลสมันปิดมันกั้นมันกันไว้เสียหมด ว่าไม่สบาย สมบัติเงินทองไม่มีบ้าง มีอำนาจวาสนาน้อยบ้าง อะไรไม่ทันเขาบ้าง แล้วอยู่อย่างนี้ดีกว่า อยู่แบบกิเลสก็ดีกว่าละซิ เพราะกิเลสสร้างตัวเองมันก็ต้องสร้างอย่างนั้น การอยู่ด้วยธรรมนี้ต้องฝ่าฝืนกิเลส ไม่อยากไปก็ไป ไม่อยากทำก็ทำ ไม่อยากให้ทานเราให้ทาน นี่คือการต่อสู้กิเลสเพื่อกิเลสได้เบาบางลงไปบ้าง
กิเลสคนหนึ่ง ๆ น้อยเมื่อไรภูเขาทั้งลูกยังน้อยไป มันหนาแน่นขนาดไหนกิเลสของพวกเรา เรายังภูมิใจอยู่หรือว่าเรามีอำนาจวาสนาเกิดมาได้เป็นมนุษย์ นอกจากนั้นแล้วยังได้มีเงินทองข้าวของ มียศถาบรรดาศักดิ์สูงต่ำอย่างนั้นอย่างนี้ ตื่นลมตื่นแล้งไปเฉยๆ บทเวลาจะตายกิเลสจะพาให้ตายเมื่อไรเราก็ไม่รู้ ตายแล้วไปเกิดในภพใดชาติใดเราไม่เห็นคำนึงคำนวณบ้าง
นี่เราแพ้กิเลสแพ้โดยลำดับอย่างนี้ มีแต่แพ้ทั้งนั้น ในเบื้องต้นเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องฝืน การทำทานก็ฝืน เอ้า มีเงิน ๕ บาท เราแยกเป็นสิบสลึงเสียทำบุญให้ทาน สิบสลึงนั้นเก็บไว้นี่อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่งเราแยกเป็น ๓ ส่วนหรือ ๔ ส่วนตามแต่เหตุผล เราอย่าเอากิเลสเข้ามาเป็นตัวเหตุผล กิเลสจะไม่มีเหตุผลอันใดเลยมีแต่เก็บไว้ ได้มากเท่าไรๆ ยิ่งพอใจยิ่งดี ตายแล้วไม่มีอะไรติดตัวก็พอใจสั่งสมคนเรา นี่เป็นเรื่องของกิเลสสร้างตัวของมันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้ธรรมสร้างตัวเป็นยังไง แบ่งสันปันส่วนซิ เรามีอะไร มีเงินทองข้าวของ มีเครื่องใช้ไม้สอยอันใดที่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านแก่เมืองแก่ศาสนาแก่วัดวาอาวาส เราก็แบ่งสันปันส่วนทำลงไป เพราะการสร้างทั้งหลายเหล่านี้สร้างเพื่อเราทั้งนั้น สร้างเพื่อวัด-วัดก็ไม่ได้ไปสวรรค์ไปนิพพาน สร้างเพื่อผู้ใดผู้นั้นก็ไม่ได้ไปสวรรค์นิพพานเพราะการทำทานของเรา เราเองเป็นผู้จะไปสวรรค์ไปนิพพาน วัตถุไทยทานที่ทานลงมากน้อยก็ไม่ไปสวรรค์ไปนิพพาน ตัวของเราเองเป็นผู้ทานเป็นผู้เสียสละนี้แลจะไปนิพพาน จงสร้างที่ตรงนี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำลายกิเลสให้ร่อยหรอลงไปให้เบาบางลงไปเรื่อย ๆ ด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา
ต่อไปจิตของเราก็มีกำลัง วันหนึ่งๆ ไม่ได้ให้ทานอยู่ไม่ได้ ต้องอยากให้ทานตลอดเวลา มีน้อยอยากให้ทานมาก มีมากอยากให้ทานมากยิ่งกว่านั้น ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่คือธรรมมีกำลังแล้ว การให้ทานมีกำลังแล้วเป็นอย่างนั้น การรักษาศีล การภาวนาเหมือนกัน การภาวนาทีแรกก็ล้มลุกคลุกคลาน จะภาวนาแต่ละครั้งๆ นี้เหมือนกับจะจูงหมาใส่ฝน จูงหมาใส่ฝนมันร้องแหง็กๆๆ มันไม่อยากตากฝน นี่ก็เหมือนกันจะพาทำบุญทำทานนี้มันฝืนจิตใจ ภาวนาแต่ละบทละบาทนี้เหมือนจะเป็นจะตาย ถ้าว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็แอ้ ๆ ๆ ยังไม่จบ อรหํ ก็ไม่จบเพราะกิเลสบีบคอให้พากันเข้าใจเอาไว้
ทีนี้เมื่อฝึกแล้วฝึกเล่าฝึกไม่หยุดไม่ถอยต่อไปผลก็ปรากฏขึ้นมา คือความสงบของใจ ความรวมของใจแล้วเป็นความสงบเป็นเอกจิตเอกธรรมเป็นอันเดียว ท่านเรียกว่าจิตเป็นหนึ่ง เอกัคคตาจิต เพียงเท่านี้เราก็ทราบชัดแล้ว เป็นเครื่องตื่นเต้นมากมายสำหรับผู้ไม่เคยภาวนายังไม่เคยรู้เคยเห็น เพียงจิตเป็นเอกัคคตาขณะเดียวเวลาเดียวเท่านั้นก็เกิดความตื่นเต้นฝังใจอย่างลึกซึ้ง แม้วันหลังจะภาวนาไม่ได้ความสงบเช่นนั้นก็ตาม แต่จิตใจยังฝังลึกในความสงบที่เคยเป็นมาแล้ว เป็นของอัศจรรย์มาแล้วและก็ดูดดื่มเรื่อยไป ครั้นต่อไปก็ปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปรากฏขึ้นมาอย่างเด่นชัด แล้วก้าวเดินทางด้านปัญญาจนกระทั่งถึงสมถวิปัสสนาเรื่อย ถึงวิมุตติหลุดพ้นเป็นไปได้ ทีนี้กิเลสตัวไหนจะมาผ่านไม่ได้เลย เมื่อมีความสามารถแก่กล้าแล้วตั้งแต่ขั้นปัญญาขึ้นไปแล้วกิเลสนี้พัง ๆ ไปเรื่อยจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น กิเลสตัวไหนมาแตะไม่ได้มายุ่งไม่ได้ นี่ถึงขั้นธรรมมีกำลังมากเป็นอย่างนั้น
เวลากิเลสมีกำลังมากนี้ มีแต่ตบแต่งเราบีบบังคับเราให้สร้างตามความเห็นความเป็นของมันนั้นแล แต่เวลาเรามีกำลังมากทางด้านธรรมะแล้ว ทีนี้มีแต่กำจัดกิเลสปัดเป่ากิเลสออกไปโดยลำดับลำดาจนกระทั่งไม่มีเหลือภายในจิตใจโล่งไปหมด ท่านว่านิพพานเที่ยง-เที่ยงที่ตรงไหน ให้เห็นกับหัวใจเจ้าของนั่นซิว่านิพพานเที่ยง-เที่ยงยังไง ว่านิพพานเป็นบรมสุขเป็นบรมสุขยังไง เราเพียงคาดคะเนเดาวันยังค่ำคืนยังรุ่งก็เดาไม่ถูกด้นไม่ได้ เพราะความรู้ของพระพุทธเจ้าและจิตที่หลุดพ้นแล้วเป็นจิตที่เหนือโลกเหนือสงสาร เหนือจักรวาลทุก ๆ ขอบเขตจักรวาลไตรโลกธาตุนี้ วิมุตติหลุดพ้นวิมุตติจิตนั้นผ่านพ้นไปหมดแล้วอยู่เหนือหมด ท่านจึงเรียกว่าโลกุตรธรรม แปลว่าธรรมเหนือโลกล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือปน นี่ละธรรมเหนือโลกคือโลกุตรจิต เป็นผู้พ้นแล้ว วิสุทธิจิตเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว ออกมาจากความสิ้นกิเลสมาสอนสัตว์โลกทั้งหลายผู้ที่เต็มอยู่ด้วยกองกรรมคือกิเลสทั้งหลายนี้ สอนมาทุกวัน ๆ นี้ จึงไม่เหมือนความรู้ของใคร ๆ ที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาจากประเทศใดเมืองใดก็ตาม เป็นความรู้ของคนที่มีกิเลส เรียนมาแล้วก็ไม่พ้นที่จะเป็นข้าศึกต่อตัวเองอยู่นั้นแล เพราะกิเลสเอาไปถลุงเสียหมด ความรู้ที่เป็นธรรมเกิดจากภาคปฏิบัติล้วนๆ ความรู้อันใดเกิดขึ้นมาเป็นคุณๆ ทั้งหมด สังหารกิเลสให้ขาดสะบั้นจากจิตใจ พึงทราบว่าศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นความรู้ที่เหนือโลกคือเหนือกิเลสทั้งหมด จึงมาปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือได้
เราทั้งหลายเป็นลูกศิษย์ตถาคตก็อย่ายอมแพ้กิเลสโดยถ่ายเดียว ถ้ามีแต่การยอมแพ้กิเลสโดยถ่ายเดียวแล้ว เราก็ยอมแพ้ทุกข์ในภพชาติต่าง ๆ เช่นตายแล้วไปตกนรก ใครอยากไปตกนรกไหม เรามาฟังเทศน์อยู่ด้วยกันมีกี่รายนี่ เป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ก็ไม่มีใคร ล้าน ๆ ก็ไม่มีใครต้องการไปตกนรก แล้วเราเสียเองจะเป็นผู้แพ้แล้วไปตกนรกไม่สมควรอย่างยิ่ง จงมีความขยันหมั่นเพียรเอาให้คึกคักเสียตั้งแต่บัดนี้ สร้างคุณงามความดีให้พอตัว
ตายแล้วยังไงก็ต้องเกิดวันยังค่ำไม่สงสัย อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ก็คือ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ นั้นแลจะเป็นอะไรไป จาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แล้วก็ขึ้น ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ แล้วเกิดตาย ๆ อยู่นั้นตลอดไปไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากสำรอกปอกมันออกเสียหมดแล้ว ขาดสะบั้นไปหมดไม่มีอะไรเป็นเงื่อนต่อกันแล้ว เป็นเกาะอยู่กลางน้ำแล้วนั้นแลมหาวิมุตติหรือจิตตวิมุตติ อยู่ในท่ามกลางแห่งความสมมุติมหานิยมมหาสมมุติทั้งหลาย คืออยู่ในท่ามกลางอันนี้แต่ไม่ติดอันนี้ นั่นคือจิตของท่านผู้บริสุทธิ์ เหนืออย่างนี้แหละธรรมของพระพุทธเจ้า เหนือโลกเหนืออย่างนี้
ขอให้พี่น้องทั้งหลายได้คำนึงถึงชีวิตจิตใจของเราทุกคน ๆ ตายแล้วจะไม่มีใครรับผิดชอบเราหนา จะมีแต่เราคนเดียวเป็นผู้รับผิดชอบ เราอยู่กันเป็นหมู่เป็นเพื่อนอย่างนี้ยังมีผู้รับผิดชอบ เช่นอยู่ในบ้านในเรือนก็ครัวเรือนของเรานั้นแลรับผิดชอบเรา ผัวเมียสามีภรรยาหรือลูกเต้าหลานเหลนมีความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน แต่เวลาตายแล้วไม่มีใครรับผิดชอบ ถ้าเราไม่รีบรับผิดชอบเราเสียด้วยการสร้างคุณงามความดีเสียตั้งแต่บัดนี้เราจะเสียท่าเสียที ดังพ่อค้าที่ว่าพลาดโอกาสจากถาดทองคำนั้นเสีย จะเป็นอย่างนั้น เราจะพลาดโอกาสจากอัตภาพของเราที่เกิดมานี้ จะไม่ได้คุณงามความดีอะไรจากมันแหละ จะได้แต่ความชั่วช้าลามก เพราะเอาอันนี้ไปสร้าง ให้กิเลสเป็นผู้บงการแล้วก็สร้างแต่ความชั่วช้าลามก ตายแล้วก็ไปตกนรก แล้วกิเลสมันก็บอกว่านรกไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี นี่มันโกหกโลกโกหกมานานเท่าไร ให้โลกทั้งหลายจมอยู่ในนรกอเวจีมากต่อมากก็เพราะความหลอกลวงของกิเลสนั้นแล
เราเป็นลูกศิษย์ตถาคตอย่าให้กิเลสหลอกลวงได้ เอาให้มันจริงมันจัง ให้ได้รู้เห็นประจักษ์นรกสวรรค์ภายในหัวใจเรานี้จะไม่ถามใครแหละ ผู้ปฏิบัติจริง ๆ แล้วรู้เห็นนรกภายในจิตใจจะสงสัยไปที่ไหน พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้เห็นภายในพระทัยของพระองค์นั้นแลจึงนำมาสั่งสอนสัตว์โลก เช่นเรานั่งอยู่นี้เรามองไปเห็นโน้นมองไปเห็นนี้ นั่นพระองค์ทรงบริสุทธิ์สุดส่วนแล้วก็เป็นโลกวิทู รู้แจ้งเห็นจริงโลกไปหมดทุกสัดทุกส่วน นี่ก็เหมือนกันธรรมะไม่ลำเอียง ผู้ปฏิบัติต้องรู้ต้องเห็นได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า นอกจากมีการต่างกันตามพุทธวิสัยและสาวกวิสัยเท่านั้น จึงขอให้ทำความอุตส่าห์พยายามทุกท่านทุกคน
เกิดมาเราได้แน่ใจแล้วว่าชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์ อย่าลืมเนื้อลืมตัวจนเกินไป ลืมยศถาบรรดาศักดิ์ ลืมความมั่งมีศรีสุข ลืมที่เขายกยอว่าดีว่าเด่นแล้วลืมเนื้อลืมตัวสร้างแต่ความชั่วช้าลามก เอาความชั่วช้าลามกมาเป็นเครื่องประดับตน ไม่สมควรอย่างยิ่งกับเราผู้มีเกียรติแห่งความเป็นมนุษย์และมียศถาบรรดาศักดิ์ ให้สร้างแต่ความดีเป็นเครื่องเสริมเกียรติของเรา วันนี้แสดงธรรมให้พี่น้องทั้งหลายฟังก็เป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะการเทศนาว่าการไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อน ก็ถูไถเอาอย่างนั้นแหละ หากว่าผิดพลาดประการใดก็หวังว่าได้รับอภัยจากบรรดาพี่น้องทั้งหลาย แล้วต่อไปนี้ก็เป็นอวสานแห่งการแสดงธรรม ขอความสวัสดีจงมีแก่บรรดาพี่น้องทั้งหลายโดยทั่วกันเทอญ
|