จิตตานุปัสสนา
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2519 ความยาว 35.11 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙

จิตตานุปัสสนา

 

“จิต”  “ธรรม”

        จิตที่หิวธรรมและอิ่มธรรม  ผิดกับความหิวและอิ่มในสิ่งทั้งหลาย

        คำว่า “หิวธรรม” นี่เรามาแยกออกพูด จิตมีความรักใคร่ชอบใจพอใจในธรรม อ่านธรรมฟังธรรมปฏิบัติธรรมไม่เบื่อหน่ายจืดจาง จิตมีความดูดดื่มอยู่กับธรรมมากน้อยเพียงไร ย่อมมีความสุขมากน้อยเพียงนั้น ไม่เหมือนความดูดดื่มกับสิ่งอื่นๆ มี รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ซึ่งมีเคลือบแฝงกันไป และอย่างหลังนี้มีทุกข์สอดแทรกสับปนไปด้วยเสมอ

        ความ “อิ่มธรรม” ตั้งแต่เริ่มแรกปฏิบัติบำเพ็ญ ท่านเรียกว่า “ปีติ” คือความอิ่มใจ ปีตินี้จะมีไปเรื่อยๆ ตามขั้นแห่งธรรม ถ้าทำจิตใจให้ละเอียด ปีติก็ละเอียด จิตใจหยาบคือยังหยาบอยู่ ปีติแสดงขึ้นก็หยาบ บางรายและบางครั้งท่านก็เรียก “อุเพงคาปีติ” คือเกิดปีติอย่างผาดโผนก็มี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยเป็นรายๆ ไป  ไม่ใช่จะปรุงแต่งให้เป็นดังนั้นได้

        การแนะนำสั่งสอนบรรดาท่านผู้มาอบรมศึกษาไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาส มีความมุ่งหวังอย่างเต็มใจ อยากให้ได้อยากให้เห็น อยากให้รู้ในธรรมทั้งหลาย เพราะความรู้ความเห็นความได้ธรรม ผิดกับความรู้ความเห็นความได้สิ่งอื่นใดในโลก ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรม ยิ่งแสดงธรรมขั้นสูงเท่าไร ลักษณะสุ้มเสียงและเนื้อธรรมจะมีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับๆ จนถึงกับอาจคิดได้ว่าท่านอาจมีโทสะ หรือมีอะไรในทำนองนั้น ขณะได้ยินสุ้มเสียงและเนื้อธรรมเข้มข้นมากๆ ความจริงแล้วเพราะความอยากให้รู้อยากให้เห็นเป็นพลังอันหนึ่งเหมือนกัน ที่ให้แสดงออกมาด้วยความเข้มข้นนั้น ท่านแสดงออกมาจากจิตใจที่มีความมุ่งมั่น มีความหวังต่อบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย และถอดออกมาจากความจริงที่ได้รู้ได้เห็นอยู่แล้วประจักษ์ใจ ไม่ต้องไปคว้าเอามาจากที่ใด ไม่ว่าฝ่ายเหตุและฝ่ายผล เป็นสิ่งที่สมบูรณ์อยู่กับใจที่ได้รู้ได้เห็นจากการบำเพ็ญมาแล้วทั้งนั้น

        การรู้การเห็นซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติจากหลักธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เปิดเผยอยู่กับใจตลอดเวลา ไม่มีความปิดบังลี้ลับแม้แต่วินาทีหนึ่ง เป็นสิ่งเปิดเผยอยู่ตามความจริงของตนทุกๆ สภาวธรรม ไม่ว่าภายในร่างกายและจิตใจ ตลอดจนกิจการภายนอก เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน และรู้ได้ตามหลักธรรมชาติของจิตที่ได้รับการอบรมมาจนพอตัวแล้ว

        แต่ความลุ่มหลง ที่จะไปติดอยู่ในสิ่งต่างๆ ของผู้ไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาก่อน หรือเคยอบรมแต่ยังไม่สมบูรณ์  จึงมักหลงและติดได้ไม่เลือกกาลสถานที่ ที่ใจมีความคิดความปรุงได้ สำคัญมั่นหมายได้ รักได้ ชังได้ เกลียดได้ โกรธได้ ทุกกาลสถานที่และอิริยาบถต่างๆ เพราะสิ่งที่จิตไปคิดไปเกี่ยวข้อง ก็เป็นของที่มีอยู่ตามธรรมชาติของตน สิ่งที่คิดที่ปรุงขึ้นมาภายในจิตใจ ก็ปรุงออกจากสิ่งที่มีอยู่ ต่างอันต่างมีอยู่ด้วยกันจึงคิดได้ติดได้ด้วยกัน

        ท่านว่า “ธรรม” นั้นเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา นอกจากสติปัญญาของเรายังไม่สามารถที่จะทราบความจริงนั้นได้ แม้สิ่งนั้นๆ จะเปิดเผยความจริงนั้นออกมาตลอดเวลานาที สิ่งเหล่านั้นเราจะพึงทราบได้ด้วยอำนาจของสติปัญญานี้เท่านั้น ฉะนั้นใจของปุถุชนเราจึงมักเป็นลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ อยู่เสมอ วันนี้ภาวนาเป็นอย่างนี้ แต่วันนั้นเป็นอย่างนั้นไม่สม่ำเสมอ บางวันไม่รู้เรื่องอะไรเลย บางวันใจมีความสว่างไสว บางวันมีความสงบเย็นใจ เพราะจิตขั้นนี้เป็นลุ่มๆ ดอนๆ ยังไม่สม่ำเสมอ เรียกว่า “ตั้งตัวยังไม่ได้” จึงต้องมีได้บ้างเสียบ้างเป็นธรรมดา

        อย่างไรก็ตามเราไม่ต้องเสียอกเสียใจกับการได้การเสียเหล่านี้ เพราะเป็นการเริ่มแรก จิตของเรายังตั้งตัวไม่ได้แน่นอน หรือยังเกาะธรรมไม่ได้ถนัด ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน แม้ครูอาจารย์ที่สั่งสอนพวกเราท่านก็เคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว ไม่ใช่ปุบปับก็จะตั้งเนื้อตั้งตัวได้ปัจจุบันทันที แล้วเป็นครูสอนโลกได้ดีเต็มภูมิจิตภูมิธรรมถ่ายเดียว ต้องผ่านความล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกันแทบทั้งนั้น

        คิดดู พระพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญด้วยความลำบากอย่างยิ่งอยู่ถึง ๖ พรรษา ชนิดเอาจริงเอาจังเอาเป็นเอาตายเข้าว่า ที่เรียกว่า “ตกนรกทั้งเป็น” ด้วยความอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายทุกด้านทุกทาง ซึ่งล้วนแต่เป็นความทุกข์เพราะความเพียรทั้งนั้นตลอดเวลา ๖ ปี จะไม่เรียกว่าลำบากลำบนได้อย่างไร ขนาดสลบไสลไปก็มี พวกเราก็เป็นลูกศิษย์ท่าน มีความหนาบางต่างกันตามจริตนิสัยหรืออุปนิสัยของแต่ละคน เช่นเดียวกับน้ำในพื้นดิน

        ในพื้นดินนี้น้ำมีอยู่ ขุดลงไปก็เจอ เป็นแต่ลึกตื้นต่างกัน บางแห่งขุดลงไปไม่กี่เมตรก็เจอน้ำ บางแห่งขุดลงไปเสียจนลึกแสนลึกถึงเจอน้ำก็มี เรื่องเจอน้ำนั้นต้องเจอเพราะแผ่นดินนี้เต็มไปด้วยน้ำทำไมจะไม่เจอ ถ้าขุดไม่หยุดก่อนที่จะถึงน้ำ !

        ความเพียรเพื่อเจออรรถเจอธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องเจอโดยไม่ต้องสงสัย เพราะธรรมมีอยู่ตลอดเวลา  “อกาลิโก”  เรื่องความจริงมีอยู่ เป็นแต่สติปัญญาของเราอาจรู้ได้เพียงเท่านั้น ซึ่งต่างกันเกี่ยวกับ “อุปนิสัย” การปฏิบัติจึงมียากมีง่าย มีช้ามีเร็ว ต่างกัน ดังที่ท่านสอนไว้ว่า

            “ทุกขาปฏิปทา  ทันธาภิญญา” ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า  นี่ประเภทหนึ่ง

            “ทุกขาปฏิปทา  ขิปปาภิญญา” ปฏิบัติลำบาก   แต่รู้ได้เร็ว  นี่ประเภทหนึ่ง

            “สุขาปฏิปทา    ขิปปาภิญญา” ทั้งปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว นี่ประเภทหนึ่ง

            “สุขาปฏิปทา    ทันธาภิญญา” ปฏิบัติสะดวก   แต่รู้ได้ช้า   นี่ประเภทหนึ่ง

        นี่เป็นพื้นฐานแห่งอุปนิสัยของสัตว์โลกผู้จะควรบรรลุธรรมทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นไปตามธรรมสี่ประการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นแต่เพียงไม่ทราบว่ารายใดจะเข้าในลักษณะใดแห่งการปฏิบัติและรู้ธรรมตามปฏิปทาสี่นี้ เราเองก็น่าจะอยู่ในข่ายแห่งปฏิปทาทั้ง ๔ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

        แต่จะเป็นประการใดก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของเราควรประพฤติปฏิบัติ ตะเกียกตะกายไปตามความสามารถและวาสนาของตน เพราะไม่ใช่ “อภัพบุคคล” ถ้าเราอยู่ประเภทที่ว่า “ตาน้ำอยู่ลึก”ก็ต้องขุดลงไปจนถึงน้ำ ถ้าอยู่ในประเภท “ตาน้ำตื้น”  เราก็ขุดได้สะดวกและเจอน้ำเร็ว น่าน !

        เรื่องสัจธรรมนั้นน่ะมีอยู่ตื้นๆ รู้ได้เห็นได้ด้วยตาด้วยใจธรรมดาอย่างชัดเจน แต่ความรู้ความเข้าใจ ความสามารถของสติปัญญา อาจมีกำลังยังไม่พอ ซึ่งกว่าจะพอให้ขุดค้นสัจธรรม คือความจริงนี้ขึ้นมาอย่างเปิดเผยและประจักษ์ภายในเวลาอันสมควร จึงต้องอาศัยความพยายาม แต่สำคัญที่ความพากเพียรพยายามเป็นเครื่องหนุน

        เราอย่าท้อถอย นี่เป็นทางของนักปราชญ์ เป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ไปโดยลำดับ  ไม่ใช่ทางอับเฉาเบาปัญญาหรือตกนรก เป็นทางที่จะพยุงเราให้มีความเจริญรุ่งเรืองโดยลำดับ การปฏิบัติเราอย่าไปคาดวันนั้น เดือนนี้ ปีนั้น ซึ่งจะทำให้เรามีความท้อถอยอ่อนแอ ท้อใจ แล้วหมดกำลังใจไปด้วย

        เมื่อหมดกำลังใจเสียอย่างเดียว ความพากเพียรโดยวิธีต่างๆ นั้นจะลดลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งไม่มีความพากเพียรเอาเลยซึ่งไม่ใช่ของดี พึงระมัดระวังเรื่องความคิดที่จะเป็นภัยต่อการดำเนินของตน!

        เราตั้งหน้าเข้าสู่แนวรบด้วยกันอยู่แล้ว ตั้งหน้าจะถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่แล้วด้วยกัน ทำไมเราจะเป็นคนนอกบัญชีไปได้ บัญชีมีอยู่กับการกระทำของเราอยู่แล้วเวลานี้ บัญชีเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อความปลดเปลื้องทุกข์ไปโดยลำดับๆ อยู่กับการกระทำของเราซึ่งกระทำอยู่ทุกวันทุกเวลา เราเองจะเป็นผู้รับรอง หรือเป็นผู้ประกันตัวของเรา โดยอาศัยธรรมของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องมือพิสูจน์หรือขุดค้น

        ท่านได้มอบให้แล้ว  เป็นหน้าที่ของเราจะเข้าสู่แนวรบ เมื่อได้อาวุธแล้วก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้อื่นใด ที่จะทำหน้าที่ในการรบด้วยเครื่องมือที่ได้รับมาแล้วนั้น ทุกข์เพียงไรก็ให้ทราบ ทุกข์เพราะความเพียรไม่ใช่ทุกข์ที่ไร้ประโยชน์ ไม่ใช่ทุกข์ที่ทรมานอย่างการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับผู้ที่ไม่พิจารณาให้เป็นอรรถเป็นธรรม นี่เราพิจารณาเป็นอรรถเป็นธรรมอยู่แล้ว ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อย ก็ให้ทราบไปในตัวว่านี้คือสัจธรรม ซึ่งเป็น “หินลับสติปัญญา” ให้คมกล้าไปกับความเพียรของเรา

        คนมีความเพียร คนมีสติปัญญา ย่อมจะทราบเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นกับตัวได้เป็นอย่างดีมีทุกขสัจ เป็นต้น เราอย่าไปท้อถอยในเรื่องความทุกข์ อย่าไปอ่อนใจในเรื่องความทุกข์ การอ่อนใจในเรื่องความทุกข์ คือการอ่อนใจต่อการประพฤติปฏิบัติ คือความอ่อนใจต่อทางดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ของตน ซึ่งไม่ใช่ของดีเลย

        ทุกข์มากทุกข์น้อยในขณะปฏิบัติ เป็นหน้าที่ของสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร หรือกำลังวังชาของเราจะขุดค้น เพื่อเห็นความจริงของทุกข์ทุกด้าน จะเกิดในด้านใดส่วนใดของอวัยวะ หรือจะเกิดขึ้นภายในจิต ก็เรียกว่า “ทุกข์”  เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้จะเห็นจริงเห็นแจ้งกันด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรของเราเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นที่จะขุดค้นความจริงที่มีอยู่นี้ให้เห็นได้อย่างประจักษ์ใจจนกระทั่งปล่อยวางกันได้ เรียกว่า “หมดคดีเกี่ยวข้องกัน” ที่จะพาเราให้หมุนเวียนเกิดตาย ซึ่งเป็นเหมือนหลุมถ่านเพลิงเผามวลสัตว์

        ครูบาอาจารย์ที่พาดำเนิน และที่ดำเนินมาแล้วมาสอนพวกเรา องค์ไหนที่ปรากฏชื่อลือนามว่าเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนพระเณรมากๆ รู้สึกว่าท่านจะเป็น “พระที่เดนตาย” มาแล้วด้วยกัน ไม่ใช่ค่อยๆ ทำความเพียรธรรมดา แล้วรู้ขึ้นมาเป็นครูเป็นอาจารย์ของบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ควรเรียกได้ว่า “เป็นอาจารย์เดนตายมาแล้ว” ด้วยกันแทบทั้งนั้น

        องค์ท่านเองมีแต่บาตร บาตรก็มีแต่บาตรเปล่าๆ ผ้าสามผืนเป็นไตรจีวร คือ สบง จีวร สังฆาฏิ และผ้าอาบน้ำเท่านั้น ความที่ไม่มีอะไรเป็นของของตัว ต้องอาศัยคนอื่นทุกชิ้นทุกอันเช่นนี้ จะหาความสะดวกความสบายมาจากไหน เพราะเรื่องของพระจะต้องเป็นผู้สม่ำเสมอ เป็นผู้อดผู้ทน จะหิวกระหาย จะลำบากลำบนแค่ไหน ต้องอดต้องทนเต็มความสามารถ ด้วยความพากเพียรแห่งสมณะ หรือแห่ง “ศากยบุตร”หรือ“ลูกตถาคต” เพื่ออรรถเพื่อธรรมที่ตนมุ่งหวังเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

        เวลาทำความเพียรก็ไปทุกข์อยู่กับความเพียร การแก้กิเลส สู้กันกับกิเลสประเภทต่างๆ เพราะกิเลสบางประเภทนั้นผาดโผนมาก เนื่องจากเคยอยู่บนหัวใจของเรามานาน การที่จะกดเขาลงอยู่ใต้อำนาจนั้นย่อมเป็นของลำบากไม่ใช่น้อย แม้เราเองก็ยังไม่อยากจะปลดเปลื้องเขาอีกด้วย ความรู้สึกบางเวลาแทรกขึ้นมาว่า “เขาดีอยู่แล้ว” บ้างว่า“เขาก็คือเรานั่นเอง” บ้าง “ความขี้เกียจ” ก็คือเรานั่นเองบ้าง “เห็นจะไปไม่ไหว” ก็คือเรานั้นเองบ้าง “พักผ่อนนอนหลับให้สบาย” ก็คือเรานั่นเองบ้าง “ทอดธุระเสียบ้าง” “วาสนาน้อยค่อยเป็นค่อยไปเถอะ” ก็คือเราบ้าง หลายๆ อย่างบวกกันเข้า แทนที่จะเป็นความเพียรเพื่อแก้กิเลส เลยกลายเป็นเรื่อง “พอกพูนกิเลส” โดยเจ้าตัวไม่รู้ตัว  เพราะฉะนั้นในการประกอบความเพียรในท่าต่างๆ  เช่น ในท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง หรือท่านอน จึงเป็นความลำบากไปตามกัน

        คำว่า “ท่านอน”ไม่ใช่นอนหลับ ท่านอนคือท่าทำความเพียรของผู้ปฏิบัติธรรม เช่นเดียวกับท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง นั่นเอง บางจริตนิสัยชอบนอนก็มี แต่ไม่หลับ นอนพิจารณาอยู่อย่างนั้นเช่นเดียวกับนั่งพิจารณา ท่านจึงเรียกว่า “จริตนิสัยต่างกัน” ชอบภาวนาดี เวลานอน เวลานั่ง เวลายืน เวลาเดิน ต่างกันอย่างนี้ตามจริตนิสัย  และความพากเพียรทุกประเภทเป็นเรื่องที่จะถอดถอนกิเลส ขุดค้นกิเลสออกจากใจของตน จะเป็นเรื่องง่ายๆ เบาๆ สบายๆ ได้อย่างไร ต้องลำบาก เพราะความรักก็เหนียว ความเกลียดก็เหนียว ความโกรธก็เหนียว ขึ้นชื่อว่า “กิเลส” แล้วเหนียวแน่น และฝังหยั่งลึกลงถึงขั้วหัวใจนั่นแล

        เราจะถอดถอนได้ง่ายๆ เมื่อไร และเคยฝังมากี่กัปกี่กัลป์ ฝังอยู่ที่หัวใจของสัตว์โลกน่ะ การถอดถอนสิ่งที่ฝังจมลึกอย่างนี้ต้องเป็นของยาก เป็นภาระอันหนักไม่ใช่น้อย เมื่อเป็นภาระอันหนัก ความทุกข์เพราะความเพียรก็ต้องมาก ไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใดก็ตาม มันออกมาจากรากเหง้าเค้ามูลของมันคือหัวใจ ฝังอย่างลึกด้วยกันทั้งนั้น เพราะฝังจมกันมานาน เราต้องใช้ความพยายามเต็มที่เพื่อถอดถอนตัวอุบาทว์เหล่านี้ออกให้ได้ จะได้เป็นบุคคลสิ้นเคราะห์สิ้นกรรมเสียที ไม่เป็นคนอุบาทว์โดนแต่ทุกข์ถ่ายเดียวตลอดไป

        แต่การกล่าวดังนี้อย่าคาดคะเนหรือสำคัญเอาว่า “เรานี้ยิ่งลึกกว่าเพื่อน” นี่ก็จะยิ่งเป็นการจมลงไปอีกด้วยอุบายของกิเลสหลอกเรา

        นี่เราพูดถึงความเพียร หรือความทุกข์ความลำบากของครูของอาจารย์ ที่ท่านมาแนะนำสั่งสอนให้เรา ท่านต้องใช้ความอุตส่าห์พยายาม จนกระทั่งได้เหตุได้ผลจากการประพฤติปฏิบัติ เรียกว่า “มีต้นทุนขึ้นมาภายในจิตใจ” ใจก็ตั้งหลักได้ สติปัญญาก็พอคิดอ่านไตร่ตรองได้

        ตอนนั้นแหละเป็นตอนที่เพลิน เพลินต่อการถอดถอนกิเลสทุกประเภท ไม่มีการท้อถอยอ่อนใจ มุ่งหน้ามุ่งตาที่จะถอดถอนให้หมด จนไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตใจเลย ทีนี้ความเพียรก็เก่ง ไม่ว่าท่าไหนเก่งทั้งนั้น อุตส่าห์พยายามพากเพียร ความคิดใคร่ครวญต่างๆ  ละเอียดลออไปตามๆ กัน หรือ “สุขุมไปตามๆ กัน” เพราะธรรมรวมตัวเข้าแล้วมีกำลังด้วยกัน ศรัทธาก็รวม วิริยะก็รวม รวมไปในจุดเดียวกัน  “พละ ๕”  รวมอยู่ในนั้น  “อิทธิบาท ๔”  รวมลงไปภายในจิตที่เคยเต็มไปด้วยกิเลสทั้งหลาย

        แม้จะยากก็เถิด !  อารมณ์คำว่า “ยาก” ก็ค่อยหมดไปเมื่อปรากฏผลขึ้นภายในที่เรียกว่า “ต้นทุน” นั้นแล้ว ยากก็เหมือนไม่ยาก แต่ก่อนเรายังไม่มีต้นทุน ค้าด้วยกำปั้นมันก็ลำบากอยู่บ้าง พอมีเครื่องมือมีต้นทุนบ้างแล้ว ถึงจะลำบากก็เหมือนไม่ลำบาก เพราะความพอใจ สติปัญญามีพอต่อสู้ ความพากเพียรไม่ถอยหลังไม่ลดละ จิตใจก็มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับๆ เป็นความสง่าผ่าเผยขึ้นที่ดวงใจดวงที่เคยอับเฉามาเป็นเวลานานนั้นแล นี่คือผลที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติด้วยความทุกข์ยากลำบาก ด้วยความเพียรท่าต่างๆ จิตโล่งด้วยความสงบเย็น พูดถึงความสงบก็สงบ คือสงบจิต ไม่ใช่สงบแบบคนสิ้นท่า สงบอย่างเยือกเย็น เวลาถึงกาลปัญญาจะออกพิจารณาค้นคว้าก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย สู้ไม่ถอย  กลางคืนกลางวันเต็มไปด้วยความพากเพียร ความลำบากลำบนด้วยปัจจัยสี่ไม่สนใจ  ขอให้ได้ประกอบความพากเพียรเต็มสติกำลังความสามารถ เป็นที่พอใจของนักปฏิบัติเพื่อหวังรู้ธรรม  ผู้หวังรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมโดยถ่ายเดียวเท่านั้น

        ผลสุดท้ายจิตที่เคยมืดดำก็เปิดเผยตัวออกมา ให้เห็นเป็นความสว่างกระจ่างแจ้งเป็นความอัศจรรย์ ! อุบายสติปัญญาที่เคยมืดมิดปิดตาคิดอะไรไม่ออก ก็กลายเป็นสติปัญญาที่หมุนตัวออกมาด้วยลวดลายแห่งความเฉลียวฉลาด ทันกับเหตุการณ์ของกิเลสที่แสดงตัวออกมาทุกแง่ทุกมุม

        เมื่อสติปัญญาเข้าขั้นนี้แล้ว กิเลสที่เคยสั่งสมตัว สั่งสมกำลังมานั้น ก็ลดน้อยลงไปโดยลำดับๆ จนสามารถพูดได้ว่ากิเลสไม่มีทางสั่งสมตัวได้ แม้แต่กิเลสที่มีอยู่ก็ถูกทำลายไปโดยลำดับด้วยสติปัญญาขุดค้น ไม่มีวันมีคืน มีปีมีเดือน มีอิริยาบถใดๆ เป็นอุปสรรคกีดขวางความเพียร มีแต่ธาตุแห่งความเพียรไปทั้งวันทั้งคืน  นี่หมายถึงสติปัญญาหมุนตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าอิริยาบถใดๆ

        ยิ่งเห็นชัดเจน จิตยิ่งเด่น เหนือกิเลสขึ้นมาเป็นลำดับๆ เพราะฉะนั้นคำว่า “ไม่ยอมแพ้กิเลสนี้” ทำไมจะพูดไม่ได้ ! เมื่อเห็นประจักษ์ใจในกำลังของตัวว่าเป็นผู้สามารถแค่ไหนอยู่แล้ว

        สติปัญญาที่ออกตระเวนค้นคว้าหากิเลสนั้นหมุนรอบตัวอยู่ตลอดเวลา กิเลสตัวไหนจะสามารถออกมาเพ่นพ่านกล้าหาญต่อสติปัญญาประเภทนี้ก็ออกมา ต้องโดนดีกับสติปัญญาชนิดสะบั้นหั่นแหลกแตกกระจายไม่สงสัย นอกจากจะหลบซ่อนตัว แม้หลบซ่อนก็ต้องตามขุดค้นกันไม่หยุดหย่อนอยู่นั่นแล  เพราะถึงคราวธรรมะได้ทีแล้ว นี่แหละที่ท่านว่า “สติปัญญาอัตโนมัติ” หรือ “มหาสติ มหาปัญญา”  ต้องทำงานขุดค้นไม่หยุดไม่ถอยอย่างนี้แล

        เวลาไปเจอกับกิเลสชนิดใดเข้าแล้ว นั่นถือว่าเจอข้าศึกเข้าแล้ว และพัลวันหรือตะลุมบอนกันเลยจนเห็นเหตุเห็นผล จนกระทั่งถึงความปล่อยวาง หรือละกิเลสประเภทนั้นได้ เมื่อหมดประเภทนี้แล้วก็เหมือนไม่มีอะไรปรากฏ แต่สติปัญญาขั้นนี้จะไม่มีหยุดไม่มีถอย จะคุ้ยเขี่ยขุดค้นอยู่อย่างนั้น มันอยู่ที่ตรงไหนขุดค้นหาสาเหตุ เสาะท่านั้นแสวงท่านี้ ขุดค้นไปมาจนเจอ พอปรากฏตัวกิเลสขึ้นมาปั๊บ จับเงื่อนนั้นปุ๊บ ตามเข้าไปค้นคว้าเข้าไปทันทีจนได้เหตุได้ผลแล้วปล่อยวาง

        นี่การแก้กิเลสขั้นนี้ ต้องแก้ไปเป็นลำดับๆ เช่นนี้ก่อน จนกระทั่งกิเลสมันรวมตัว ที่เคยพูดเสมอว่า “อวิชชา”  นั่นน่ะรวมตัว ธรรมชาตินั้นต้องผ่านการขุดค้นภายในจิต  ขุดค้นเฉพาะจิต เมื่อได้ที่แล้ว เวลาถอนก็ถอนพรวดเดียวไม่มีเหลือเลย ส่วนกิ่งก้านของมันนั้น ต้องได้ตัดก้านนั้นกิ่งนี้เรื่อยไป สาขาไหนที่ออกมากน้อย เล็กโตขนาดไหน ตัดด้วยปัญญา ๆ ขาดลงไป ๆ ผลสุดท้ายก็ยังเหลือ  “หัวตอ” ถอดหัวตอถอนหัวตอนี้ยากแสนยาก แต่ถอนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือพรวดเดียวหมด ! ก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ! สิ้นวัฏจักรสิ้นที่จิต พ้นที่จิต บริสุทธิ์ที่จิต หมดปัญหาเกิดตายทั้งมวลที่จิตนี่แล

        นี่แหละความทุกข์ความลำบากในการประกอบความเพียรมามากน้อย เราจะไม่เห็นคุณค่าอย่างไรเล่า เมื่อกองทุกข์ทั้งมวลมากน้อยซึ่งทับอยู่บนหัวใจ ได้ทลายลงไปหมดด้วยอำนาจแห่งความเพียรที่ว่า ทุกข์ๆ ยากๆ ลำบากของเรานั้นคุ้มค่า ! ตายก็ตายไปเถอะตายด้วยความทุกข์เพราะความเพียร ไม่เสียดายชีวิต เพราะได้เห็นคุณค่า หรือได้เห็นผลของความเพียรเป็นอย่างไรบ้างประจักษ์กับจิตของตนเองแล้ว

        ฉะนั้นการบำเพ็ญเพียร ต้องเป็นผู้ไม่ท้อถอย มีอะไรพิจารณากันภายในจิตใจ มืดเราก็ทราบว่ามืด จิตไม่เคยมืด ความรู้จริงๆ ไม่ปิดตัวเอง ทุกข์ขนาดไหนก็ทราบว่าทุกข์  สุขขนาดไหนก็ทราบ มืดก็ทราบว่ามืด สว่างก็ทราบว่าสว่าง หนักเบาแค่ไหน ผู้รับรู้ รับรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมอาภัพกับสิ่งใดทั้งหมด ไม่ปิดกั้นตัวเองเลย ผู้นี้คือผู้รับรู้อยู่ตลอดเวลา  แม้จะถูกกิเลสรุมล้อมอยู่ขนาดไหน ความรู้อันนี้จะรู้เด่นอยู่เสมอ รู้ตัวเองอยู่เสมอ สมกับชื่อว่า “ผู้รู้คือจิต”

        นี่แหละจะเอาผู้นี้แหละให้พ้นจากสิ่งเกี่ยวข้องหรือสิ่งพัวพันทั้งหลาย มาเป็นอิสระภายในตนเอง เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นี้ จึงต้องได้พิจารณาแก้ไขกันเต็มกำลัง  ยากง่ายลำบากเพียงไรก็ต้องทำ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นภัยต่อเรา ไม่มีชิ้นส่วนที่ปราชญ์ทั้งหลายน่าจะยกย่องกันบ้างเลย! เรารู้เห็นมันว่าเป็นตัวทุกข์ประจักษ์ใจ ถ้าไม่ถอดถอนพิษภัยออกจากจิตใจแล้ว เราก็ไม่มีทางก้าวเดินออกจากทุกข์ได้เลย เช่นเดียวกับการถอนหัวหนามออกจากเท้าเรานั่นแล

        การถอดถอนหัวหนามออกจากเท้า ถ้าเราถือว่าเจ็บปวดมากไม่กล้าถอน นั่นแหละคือเท้าจะเสียหมด เพราะหนามฝังจมอยู่ที่นั่น เป็นต้นเหตุสำคัญที่จะทำให้เท้าเรากำเริบมากถึงกับเสียไปหมด เพราะฉะนั้นโดยทางเหตุผลแล้ว จะทุกข์ลำบากขนาดไหน ต้องถอนหัวหนามออกจากเท้าจนได้ ไม่ถอนหนามนั้นออกเสียเป็นไปไม่ได้ เท้าจะกำเริบใหญ่ และจะทำให้อวัยวะส่วนอื่นเสียไปด้วยมากมาย ฉะนั้นแม้จะทุกข์ขนาดไหน ก็ต้องถอนออกให้ได้โดยถ่ายเดียว

        การบำเพ็ญเพียรเพื่อถอดถอนหนาม คือกิเลสเป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่ถอนมันเสียจะเป็นอย่างไร? การถอนหัวหนามคือกิเลสด้วยความเพียร จะทุกข์ยากลำบากขนาดไหนก็ต้องทำโดยเหตุผล ตายก็ต้องยอม เพื่อให้หนามนี้ออกจากจิตใจ จะไม่ต้องเสียดแทงกันไปนานตลอดกัปนับไม่จบสิ้นได้!

        พูดถึงกิเลส มีอยู่ทุกแห่งหนในบรรดาสัตว์บุคคล มีอยู่รอบตัวของเรามากมายไม่มีเวลาบกพร่องเบาบางลงบ้างเลย แต่หาได้ทราบไม่ว่านั่นคือกิเลสทั้งมวล เวลาพิจารณาแล้วถึงได้รู้ว่ามันมีอยู่รอบตัวเรา และกวาดเข้ามาหาตัวเราทุกวันเวลา ไม่มีคำว่า “หนัก” ว่า “พอแล้ว” เลย มันติดรูป ติดเสียง ติดกลิ่น ติดรส ติดสมบัติพัสถานต่างๆ มากต่อมากจนกลายเป็นกิเลสไปหมด เพราะจิตพาให้เป็น สิ่งเหล่านั้นเขาไม่เป็นกิเลส แต่จิตไปติดกับสิ่งใด เราก็ถือว่าสิ่งนั้นเป็นกิเลส จำต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจนตามสิ่งนั้น เพื่อจิตจะได้หายสงสัยและถอนตัวเข้ามาส่วนแคบ และพิจารณาง่ายเข้า จนสุดท้ายก็มาอยู่ที่ในธาตุขันธ์ของเรานี่แหละ!

กิเลสคือความรักความสงวนตัวนี่สำคัญมาก ไม่มีอันใดจะเหนือความรักตัวสงวนตัวไปได้ เมื่อกิเลสประเภทนี้ไม่มีที่เกาะแล้ว จึงต้องย้อนกลับเข้ามารวมตัวอยู่ในใจดวงเดียว มันต้องได้ใช้สติปัญญาขับไล่กันที่ตรงนี้ ไล่ตรงนี้ไล่ยากหน่อย ยากก็ไล่ เพราะแม้ตัวจัญไรเข้ามารวมที่นี่ ก็มาเป็นกิเลสอยู่ที่นี่เหมือนกันกับเวลาซ่านอยู่ข้างนอก เป็นเสี้ยนเป็นหนามทิ่มแทงเหมือนกัน เป็นพิษเป็นภัยเหมือนกัน ต้องไล่ให้ออกด้วยการพิจารณาเรื่องธาตุขันธ์ แยกแยะออกดูให้เห็นตามความเป็นจริงทุกแง่ทุกมุม พิจารณาแล้วพิจารณาอีก จนเป็นพื้นเพของจิตได้อย่างมั่นคงและชัดเจนว่า “สักแต่ว่าธาตุ สักแต่ว่าขันธ์ เท่านั้น”!

        เมื่อพิจารณาเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วมันเป็นเช่นนั้น  “มันสักแต่ว่า.ๆ” เมื่อพิจารณาถึงขั้น  “สักแต่ว่าแล้ว” จะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร! เพราะปัญญาหว่านล้อมไปหมด ปัญญาชำระไปหมด ชะล้างไปหมด มลทินคือกิเลสที่ไปติดพันอยู่กับใจ ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องติดพันอยู่ที่ตรงไหน สติปัญญาชะล้างไปหมด ปลดเปลื้องไปโดยลำดับๆ สุดท้ายก็รู้ขึ้นมาอย่างชัดเจน “สวากขาตธรรมทั้งปวง ก็เป็นธรรมที่ซึ้งใจสุดส่วน  ใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมและสิ่งใด”

        รูปก็สักแต่ว่ารูป ไม่ว่าอาการใดที่เป็นอยู่ในร่างกายเราที่ให้นามว่า “รูป” ก็สักแต่ว่าเท่านั้น ไม่ยิ่งกว่านั้นไป จะยิ่งไปได้อย่างไรเมื่อจิตไม่ส่งเสริมให้มันยิ่ง ความจริงจิตเป็นผู้ส่งเสริม จิตเป็นผู้กดถ่วงตัวเองต่างหาก เมื่อสติปัญญาพิจารณารู้ตามหลักความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จริงของมันเอง  “สักแต่ว่า” นั่น! เมื่อ “สักแต่ว่า” แล้ว จิตไม่เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้มีคุณค่ามีราคายิ่งกว่าตนพอจะไปหลงยึดถือ จิตก็หายกังวล รูปก็สักแต่ว่า ถึงยังเป็นอยู่ก็สักแต่ว่า ตายไปแล้วก็สักแต่ว่าความเปลี่ยนแปรสภาพของมันเท่านั้น

        เวทนาเกิดขึ้นมาก็สักแต่ว่า เมื่อสลายลงไปก็สักแต่ว่า ตามสภาพของมันและตามสภาพของทุกอาการ ๆ ปัญหาทั้งปวงในขันธ์ในจิตก็หมดไปโดยลำดับ

        สุดท้ายจิตที่มีความรักความสงวนด้วยอำนาจแห่งกิเลสประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เกาะอยู่ในนั้น ก็พิจารณาลงไป ซึ่งเรียกว่า “จิตตานุปัสสนา”  คือความเห็นแจ้งในจิตและอาการของจิตทุกอาการว่า “สักแต่ว่าจิต” คือเป็นสภาพหนึ่งๆ เช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ถือจิตเป็นตน ไม่สำคัญจิตว่าเป็นตน ถ้าถือจิตว่าเป็นตนเป็นของตนจะพิจารณาไม่ได้ เพราะความรักความสงวนความหึงหวง กลัวว่าจิตจะเป็นอะไรต่ออะไรไปเสีย แล้วกลายเป็นกำแพงกั้นไว้ จึงต้องพิจารณาตามที่ท่านว่า “จิตตานุปัสสนา”  พิจารณาลงไปให้เห็น  “สักแต่ว่าจิต” คิดก็สักแต่ว่าคิด ปรุงขึ้นมาดีชั่วก็สักแต่ว่าปรุง แล้วก็ดับไป ๆ สักแต่ว่า ๆ จนถึงรากฐานของ “จิตอวิชชา”

        รากฐานของ “จิตอวิชชา” คืออะไร? คือกิเลสชนิดละเอียดสุดอยู่ภายในจิต ไม่พิจารณาจิตนั้นไม่ได้  จิตจะสงวนจิตไว้  แล้วพิจารณากิเลสประเภทนี้ต่างหากนั้น ย่อมหาทางไม่ได้! เพราะกิเลสประเภทสงวนตัวมันหลบอยู่ในอุโมงค์ คือจิตนี้แหละ! จะเสียดายอุโมงค์อยู่ไม่ได้ ถ้าโจรเข้าไปอาศัยอยู่ในอุโมงค์นี้เราจะเสียดายอุโมงค์ไม่ได้ ต้องระเบิดหมดทั้งอุโมงค์นั่นน่ะ  ให้มันแตกทลายกลายเป็นชิ้นส่วนไปหมด นี่ก็เหมือนกัน ระเบิดด้วยสติปัญญาให้หมดเลยที่ตรง “อุโมงค์ คือจิตอวิชชา” นี้ให้สิ้นซากไป

        เอ้า ถ้าจิตเป็นจิตจริง ทนต่อการพิสูจน์ ทนต่อความจริงจริงๆ จิตจะไม่ฉิบหาย  จะฉิบหายไปแต่สิ่งที่เป็นสมมุติเท่านั้น! ธรรมชาติตัวจริงของจิตแท้ๆ จะไม่ฉิบหาย และอะไรจะเป็น “วิมุตติ”? ถ้าจิตสามารถเป็นวิมุตติได้ ทนต่อการพิสูจน์ ทนต่อการพิจารณาทุกอย่างได้ ก็ให้จิตรู้ตัวเอง จิตนั้นจะยังคงเหลืออยู่

        อันใดที่ไม่ทนต่อการพิจารณา อันใดที่เป็นสิ่งจอมปลอม ก็จะสลายตัวของมันไป จงพิจารณาลงที่จิต  ดีชั่วเกิดขึ้นก็แต่เพียงแย็บๆๆ  อยู่ภายในจิต ดับไปก็ดับที่จิต ค้นลงไปพิจารณาลงไป เอาจิตเป็นสนามรบ

        เราเอาเสียง เอากลิ่น เอารส เป็นสนามรบ พิจารณาด้วยปัญญา ผ่านเข้ามาถึงขั้นเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสนามรบ พิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วปล่อยวาง ๆ ปล่อยวางไปตามเป็นจริง

        อ้าว!ที่นี่กิเลสมันไม่มีที่ซ่อนก็วิ่งเข้าไปอยู่ในจิต ต้องเอาจิตเป็นสนามรบอีก ฟาดฟันกันด้วยปัญญาสะบั้นหั่นแหลกลงไปเป็นลำดับๆ โดยไม่มีข้อแม้ข้อยกเว้นว่าจะควรสงวนอะไรไว้เลย อันใดที่ปรากฏจะพิจารณาฟาดฟันให้อันนั้นแหลกไปหมด ให้รู้เข้าใจไปหมด นั่น!

        สุดท้ายกิเลสก็ทนตัวอยู่ไม่ได้ กระจายออกไป นั่น ! ของจอมปลอมต้องสลายตัวไป ของจริงอันดั้งเดิมแท้ได้แก่จิต ก็เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ขึ้นมาแทนที่ที่กิเลสหายไป หาความสลายหาความฉิบหายไปไม่มีเลย นี้แลคือความประเสริฐแท้ เราชนะเพื่ออันนี้  ธรรมชาติแท้ไม่ตายไม่ฉิบหาย ถึงจะถูกพิจารณาขนาดไหนก็ตาม แต่สติปัญญาจะฟาดฟันจิตให้แหลกละเอียดจนฉิบหายไปหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ นั่น

        สุดท้ายจิตก็บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา  พอจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว  ปัญญาก็หมดหน้าที่ไปเอง หรือหมดภาระหน้าที่ของตนไปเองตามหลักธรรมชาติของสติปัญญา พอจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้วปัญญาก็หมดหน้าที่ไปเอง หน้าที่ของตนไปเอง ตามหลักธรรมชาติของสติปัญญาที่เป็นสมมุติฝ่ายแก้กิเลสทั้งมวล นอกจากเราจะนำไปใช้บางกาลบางเวลาในแง่ธรรมต่างๆ หรือธุระหน้าที่ต่างๆ เท่านั้น

        ที่จะนำมาแก้ มาทำลายกิเลส ถอดถอนกิเลสด้วยปัญญาดังที่ได้ทำมาแล้วนั้น ไม่มีกิเลสจะให้แก้ให้ถอน สติปัญญาจะถอนอะไร ต่างอันต่างหมดหน้าที่ของตัวไปเองโดยอัตโนมัติหรือธรรมชาติ

        สิ่งที่ยังเหลืออยู่ เหนือสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ได้แก่ความบริสุทธิ์ คือผู้รู้ล้วนๆ ผู้นี้แลเป็นผู้พ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวง พ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ที่ท่านเรียกว่า“วิมุตติ” เราจะไปหา “วิมุตติ”ที่ไหน? ความหลุดพ้นอยู่ที่ไหน? ก็มันติดข้องอยู่ที่ไหน? เมื่อพ้นจากความติดข้องแล้ว มันก็เป็นความหลุดพ้นที่เรียกว่า “วิมุตติ” เท่านั้นเอง การแสดงธรรมจึงยุติเพียงเท่านี้ ไม่มีความรู้ความสามารถแสดงให้ยิ่งกว่านี้ได้

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก