การปฏิบัติของพระอาจารย์
วันที่ 5 มกราคม 2519 ความยาว 39.5 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

การปฏิบัติของพระอาจารย์

 

            ศาสนามีอยู่ในที่ใด ที่นั้นก็ร่มเย็น ผู้ปฏิบัติศาสนาบกพร่อง ณ ที่ใด ที่นั้นก็ร้อน ถ้าศาสนาไม่มีเลย ใจก็ร้อนเป็นไฟ ระยะใดมีศาสนา คือมีสติปัญญาพิจารณารักษาใจ ใจก็เย็น การปราบปรามโจรผู้ร้ายภายในจิตใจ เมื่อเริ่มปราบปรามทีแรกก็เป็นทุกข์ เพราะส่วนมากมีแต่แพ้มัน ก็ยังดีที่เรายังมีกำลังพอต่อสู้มัน ถึงจะได้รับความแพ้บ้าง ก็ยังดีกว่าที่ยอมอย่างหมอบราบเลยทีเดียว โดยหมดทางสู้

         การปฏิบัติทางด้านจิตใจนั้นเป็นขั้นๆ ย่อมมีความยุ่งยาก ความลำบากในการปฏิบัติเป็นธรรมดา เฉพาะอย่างยิ่งในเบื้องต้น คือ ยากชนิดไม่เห็นต้นเห็นปลาย ไม่เห็นเหตุเห็นผล ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ข้ออรรถข้อธรรมที่ได้รับจากตำรับตำรา หรือครูบาอาจารย์ท่านสอนให้พองูๆ ปลาๆ ก็เอามาปฏิบัติ ถูกบ้างผิดบ้าง ตอนนี้แหละยากมาก ความที่อยากรู้อยากเห็นก็มีกำลังมาก แต่ใจไม่ยอมเป็นไปให้ นี่ก็เป็นความทุกข์เดือดร้อนอันหนึ่ง ที่เคยเป็นมาแล้ว มันเหลือแต่ใจ พูดง่ายๆ ความอยากรู้อยากเห็นธรรมภายในจิตใจเหมือนกับจะล้นฝั่ง เวลาปฏิบัติจิตใจไม่เป็นไปตามความที่อยากรู้อยากเห็นก็เดือดร้อน เสียใจ ลางทีนั่งน้ำตาร่วงอยู่ก็มี เพราะการตำหนิตัวเองนั่นแหละ ว่าอำนาจวาสนาน้อย มาบวชให้หนักศาสนาท่านเปล่าๆ มานั่งภาวนาก็หาทางออกทางเข้าไม่ได้ นั่งจมอยู่กับกองทุกข์ มันคิดไปต่าง ๆ ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าตนเป็นคนอาภัพวาสนาน้อยบ้าง วาสนาไม่ถึงธรรมวิเศษนั้นบ้าง ไม่มีวาสนาบ้าง ยุ่งไปหมด

         ความจริงการปฏิบัติของเรายังไม่ถูก คือ เรามุ่งแต่ผล คือรายได้ โดยไม่คำนึงถึงงานที่ทำว่าถูกหรือผิด ความอยากก็มีกำลัง เมื่อไม่สมหวังก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าคำนึงถึงการปฏิบัติของตนว่า ถูกหรือผิด บ้าง มันก็พอจะได้สติปัญญามาทดสอบกันได้ หาความยึดมั่นถือมั่น หรือลดความอยากอันนั้นลงมาบ้าง ความทุกข์ก็จะเบาบางลง

         นี่เวลาภาวนาไป กำหนดอะไร ก็มีแต่จะให้รู้ให้เห็นมรรค ผล นิพพาน ถ่ายเดียว ซึ่งคิดคาดเอาไว้นั่นเอง สวรรค์จะเป็นอย่างนั้น พรหมโลกจะเป็นอย่างนี้ นิพพานจะเป็นอย่างนั้น คาดไปเดาไป ความอยากมันก็รุนแรง อยากรู้ อยากเห็น อยากพ้นทุกข์ แต่การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า มีแต่อยากอยู่เฉยๆ นั่งอยาก นอนอยาก เดินอยาก ยืนอยาก อยู่เฉย ๆ นั่งภาวนาอยาก แต่จิตไม่ทำงานกับภาวนา มีแต่ความอยาก เดินจงกรมอยู่ก็มีแต่ความอยาก จนลืมงานที่ทำ ก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะเหตุให้เป็นไปตามสิ่งที่หมายไม่มีเท่าที่ควร แล้วจะไปถึงจุดที่หมายได้อย่างไร นี่เคยเป็นมาแล้ว รู้สึกงานภาวนานี้ลำบากมากกว่างานอื่นใด

         ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ น่ะ แต่ความอยากคอยแทรกเข้ามา เพราะอยากรู้และอยากให้จิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จิตก็เลยเพลินไปกับความอยากไปเสีย แล้วก็ลืมงานภาวนาจนไม่ทราบว่าพุทโธหายไปไหน สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร จึงบังเกิดความเบื่อหน่าย ความเสียใจ เคยเป็นอยู่เสมอภายในจิตใจ

         แต่จะเป็นทีไรก็ไม่เหมือนจิตที่เสื่อม จิตเสื่อมร้อนมาก เพราะเคยเห็นเหตุเห็นผล เคยได้รับความสะดวกสบาย สงบ เยือกเย็นจิตใจมาแล้ว ปรากฏเป็นพื้นเป็นฐานอย่างชัดเจน แต่แล้วมาเสื่อมไปเสีย จิตนี่จึงร้อนมากจริงๆ ร้อนจนไม่มีที่ยับที่ยั้ง ดีอยู่อย่างหนึ่งที่ร้อนก็ไม่ถอย มีแต่จะเอาให้ได้ท่าเดียว ถ้าหากจิตถอยหรืออ่อนกำลังลงเสีย หรือทอดอาลัยเสียอย่างนี้ ก็คงหมดท่า หมดหวังเลย แต่นี้ยังดีที่จิตไม่ถอย มีแต่จะเอาให้ได้อย่างเดียว ไม่ยอมท้อถอย ด้อยกำลัง ความเพียร

         ที่เสื่อมไปแล้วกลับตัวไม่ได้ ก็เพราะความอยากนั่นแหละไม่ใช่เพราะอะไร จิตอยากรู้อยากเห็นอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว แต่ว่าหน้าที่การงานที่ทำไม่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน มีแต่ความอยาก อยากเท่าไรก็ไม่ได้ผล เพราะผิดกับหลักของเหตุ เหตุไม่ทำให้สมบูรณ์เท่าที่ควรจะรู้ได้ตามใจอย่างไร มันก็รู้ไม่ได้ นั่งอยู่ก็ร้อน นอนอยู่ก็ร้อน เข้าในป่า ขึ้นบนภูเขาในขณะที่จิตเสื่อมก็หาชิ้นดีไม่ได้เลย ไม่ทราบเป็นอย่างไร

         ความร้อนของเพศนักบวชในศาสนานี้มีครั้งนั้นร้อนมากที่สุด ร้อนเพราะความอยากได้ เสียใจที่จิตเสื่อมลงไป ทำอย่างไรก็ไม่ได้กลับคืนมา เสื่อมไปเพียงเล็กน้อย แล้วก็เสื่อมไป เสื่อมไปจนหมด ไม่มีอะไรเหลือสักสตางค์เดียว ปรากฏว่าเหมือนไม่เคยภาวนามาเลย

         เวลานั่งอย่างนี้ร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะความอยากนั้น ความเสียใจที่สมบัติของตนหลุดลอยไป หายไปจากตัว กับความอยากได้กลับมาอีก สองอย่างนี้ประดังกันเข้ามาก็เลยมีกำลังรุนแรง อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย ไม่เกิดประโยชน์ ถึงทุกข์ก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น ไม่รู้ทางออก อยากก็อยากอย่างนั้นแหละ ไม่รู้วิธีการที่จะทำให้สมาธินั้นกลับมาได้ มีแต่ความอยาก ความอาลัยอาวรณ์สิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ แต่ได้หายไปเสีย มีแต่ความเสียใจ เต็มหัวใจ มีแต่ความอยากเฉยๆ ก็ไม่สามารถจะยังธรรมที่หายไปนั้นคืนมาได้ จนกระทั่งหมดอาลัยตายอยากทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว คราวนี้จิตก็เลยทอดธุระในความอยากนั้น

         เรื่องผลอะไรที่เคยอยากได้ ก็อยากมานานแล้ว ทุกข์ก็ทุกข์แสนทุกข์เพราะความอยาก ไม่เห็นได้อะไร กลับมาทีนี้ไม่เอามันแล้ว ปล่อยมันทิ้งให้หมด จะรู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ จะเอาแต่พุทโธเท่านี้ละ จิตมันจะคิดอะไรก็ไม่ยอมให้เผลอ เอามันละ จะไม่รู้จริงๆ เหรอ เป็นยังไงก็เป็นกัน พอทอดธุระแล้วความอยากก็ไม่รุนแรง ทีนี้ความทุกข์นั้นค่อยเบาลงไป ตั้งหน้าทำงานอยู่ไหนก็บริกรรมพุทโธๆๆ อย่างนั้นแล นี้เคยเป็นนิสัยเอาจริงเอาจังมาแต่ดั้งเดิม ทำอะไรก็ทำจริง ไม่เหลาะแหละ นิสัยนี้ได้ชม การบริกรรมพุทโธนั้นไม่ลดละ ปล่อยวาง เดิน ปัดกวาดก็ไม่ยอมให้เผลอ พยายามอยู่อย่างนั้น ปัดกวาดลานวัดก็พยายามระมัดระวังจนจิตเผลอไปชั่วขณะเดียว สติก็ทันกัน ใจรีบกลับมา นี่ถูกต้องดีแล้วทีนี้

         พอทอดธุระแล้ว จิตก็ไม่ไปเกี่ยวข้องกับอดีตที่ผ่านมาแล้วนั้นเลย มันอยู่ในวงปัจจุบัน มีแต่สั่งสมหรือภาวนา พุทโธๆ นี้อย่างเดียวเท่านั้น ได้หรือไม่ได้อะไรก็แล้วแต่ พุทโธจะดลบันดาลให้ จนกระทั่งจิตสงบแล้ว พุทโธก็ไม่จำเป็น ปล่อยคำบริกรรมได้ในขณะนั้น ทีนี้จิตยอมลงแล้ว แต่ก่อนไม่ยอมลง

         พอจิตสงบตัวลงแล้ว คำว่า พุทโธ ก็ไม่จำเป็นต้องบริกรรม เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ เด่นอยู่อย่างชัดเจน แล้วจิตก็อยู่กับความรู้ล้วนๆ นั้นแหละ พอถอยออกมาก็เอาพุทโธอัดเข้าไป ไม่หวัง เพราะเคยหวังมาแล้ว จะเกิดอะไรก็ไม่หวัง จะมีผลอะไรก็ไม่หวัง เคยหวังมาแล้วไม่เกิดผลดีอะไรเลย เห็นโทษแห่งความหวังแล้ว ทีนี้ความหวังแบบปาว ๆ แบบไม่มีเหตุมีผล แบบไม่ทำงาน หวังแต่ผลถ่ายเดียว

         อ้าว ทีนี้จะทำแต่งานๆ คือบริกรรมพุทโธ ไม่ลดละปล่อยวางแม้ขณะหนึ่ง ใจเมื่อได้รับการบำรุงรักษาโดยถูกต้องแล้วใจก็สงบ ค่อยสงบขึ้นมา สงบขึ้นมา แนบแน่นเข้าไป แนบแน่นเข้าไป จนถึงระดับเก่าที่เคยเป็นมาแล้ว คราวที่จิตยังไม่เสื่อมให้เห็นเลย

         ทีนี้แปลกนะ พอถึงระดับเก่าก็ทอดอาลัยไว้อย่างนั้นว่า เอ้า มันจะเสื่อมไปไหนก็เสื่อมไปเถอะ เราเคยต้านทานไว้พอแล้วด้วยความอยาก ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรแม้นิดเดียว ฉะนั้นจิตจะเสื่อมอย่างไรก็เสื่อมไปเถิด แต่จะละพุทโธ ฉันไม่ยอมละ จะอยู่อย่างนั้นเป็นประจำ

         พอถึงวันที่เคยเสื่อมแล้ว ไม่เสื่อม นั่น แน่ใจต่อเหตุเข้าไปอีกเป็นกอง ยิ่งเร่งเหตุคือ บริกรรมพุทโธเข้าไม่หยุด จะหยุดเฉพาะเวลาจิตรวมสงบเท่านั้น ทีนี้จิตแนบแน่นเข้าไปเป็นลำดับๆ นั่งที่ไหนก็สว่างไสว เบาจิตเบาใจ โล่งไปหมด คิดแน่ใจตัวเองว่า ทีนี้ไม่เสื่อม นับเป็นวันสองวันก็แล้ว นับเป็นเดือนก็แล้ว สองเดือนก็แล้ว ไม่เสื่อม แต่ก่อนเพียงสองสามวันก็เสื่อม สองสามวันแล้วลดลงฮวบ เลยหมดตัว พยายามบำรุงอยู่ตั้ง ๑๔–๑๕ วัน กว่าจะถึงที่นั้น พอเข้าไปถึงที่นั้นมันอยู่ได้เพียงวันสองวันแล้วลดลงอย่างปุบปับ หมดตัว ไม่มีอะไรเหลือเลย เหลือแต่ความเสียใจ และความแห้งแล้งเท่านั้น

         คราวนี้จะเสื่อมก็เสื่อมไปเถอะ เคยหวังแล้วไม่เกิดประโยชน์ จะเอาเท่านี้แหละ เอาอันเดียวเท่านี้ คือพุทโธ

         พูดถึงเรื่องความทุกข์ในเวลาจิตเสื่อมนั้น ทุกข์มากจริงๆ ทุกข์จนเข็ดหลาบคาบหญ้า แต่เดชะอย่างหนึ่งที่จิตไม่ถอย มีแต่จะเอาท่าเดียว นี่แหละที่พอทน พออยู่กันได้นะ ถ้าหากจิตท้อถอยเสีย หยุดเสียดีกว่าอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันหมดเนื้อหมดตัว หมดเรื่องสืบต่อไปเลย

         แต่นั้นมาใจเจริญขึ้นเรื่อยมา กี่เดือนก็แน่วแน่ ยิ่งมั่นคงเข้าไป มั่นคงเข้าไป ส่วนคำบริกรรมภาวนาไม่ยอมลดละ จะกระทั่งจิตเด่นอยู่ตลอดมา แล้วถึงปล่อย คือความรู้ของจิตนั่นแหละเด่นดวง ความรู้นั้นแหละเป็นที่พึ่งพิงได้แล้ว จนไม่ต้องอาศัยคำบริกรรมใดมาช่วยสนับสนุน จิตรู้จิตและทรงตัวได้อย่างเต็มที่ ทีนี้ไม่บริกรรมก็ได้ เพราะจิตเด่นอยู่ตลอดเวลา กำหนดตรงนั้นเลย ไปไหนกำหนดอยู่ตรงนั้น รู้อยู่ตรงนั้น เหมือนเรากำหนดพุทโธ อันเป็นฐานของจิตได้เป็นอย่างดี แน่ใจเจ้าของว่า

         ๑.   ฐานมั่นคงขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งมั่นคงกว่าที่เคยเจริญขึ้นแล้วเสื่อมลงเมื่อคราวก่อนนั้น

         ๒.  การกำหนดความรู้นั้น  เมื่อความรู้เด่นดวงแล้ว กำหนดอันนั้นไม่ลดละ กำหนดเช่นเดียวกับกำหนดภาวนาพุทโธ จนละเอียดลงไป ละเอียดลงไป นี่เป็นฐานของจิตอันเป็นที่แน่ใจ

         จากนั้นมาก็เร่งใหญ่ ตอนจะนั่งภาวนาได้ตลอดรุ่งนั้น ก็จากนี่แหละ ทีนี้เริ่มนั่งกำหนด กำหนดลงไปๆ ทีแรกใจก็ลง เพราะมันเคยลง มันลงได้ง่าย เรียกว่ามีหลักมีฐานอันดี กำหนดภาวนาลงไป เมื่อเวทนาอันใหญ่หลวงยังไม่เกิด ภาวนามันก็สงบดี พอถอยขึ้นมาก็เป็นเวลาหลายชั่วโมง เวทนาใหญ่ก็เกิดขึ้น และเกิดขึ้นจนจะทนไม่ไหว ใจที่เคยสงบนั้นก็ล้มไปหมด ฐานดีๆ นั้นล้มไปหมด เหลือแต่ความทุกข์เต็มในส่วนร่างกาย แต่จิตใจไม่ร้อน ชอบกล

         ร่างกายทุกข์มากสั่นไปหมดทั้งตัว นี่แหละตอนที่ได้เข้าตะลุมบอนกันในเบื้องต้นแห่งเหตุที่จะได้อุบายสำคัญขึ้นมา ตอนทุกขเวทนากล้าสาหัสเกิดขึ้นโดยไม่คาดไม่ฝัน คืนวันนั้นก็ยังไม่ได้ตั้งใจว่าจะนั่งจนตลอดรุ่งนะ เราไม่ได้ตั้งสัจอธิษฐานอะไรเลย นั่งภาวนาธรรมดาๆ แต่เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นมามาก “เอ๊ะ นี่ยังไงกันนะ เราจะต้องสู้ให้เห็นเหตุเห็นผลกับเวทนานี้เสียวันนี้” เลยตั้งสัจอธิษฐานในขณะนั้นเลย “เอ้า ถ้าไม่ถึงเวลาลุกจะไม่ลุกจริงๆ เอ้า สู้กันจนถึงสว่างเป็นวันใหม่ วันนี้จะพิจารณาทุกขเวทนาให้เห็นแจ้งเห็นชัดกันสักที ถ้าไม่เห็น แม้จะตายก็ให้มันตายไป ให้รู้กัน ขุดกันลงไป ค้นกันลงไป” นี่แหละตอนปัญญาเริ่มทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง

         เราไม่ทราบ ไม่คาดไม่ฝันว่าปัญญาจะมีความแหลมคม เวลามันจนตรอกจนมุม ไม่มีทางออกจริงๆ ปัญญาก็หมุนติ้วเลย ปัญญาออกขุดค้น สู้กันแบบไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้เลย เวลาจนตรอกปัญญาเกิด จึงทำให้เข้าใจว่า คนเราไม่ใช่จะโง่อยู่เรื่อยไป เวลาจนตรอกย่อมหาวิธีช่วยตัวเองจนได้ นี่ก็เหมือนกัน พอจนตรอกเพราะทุกขเวทนากล้าครอบงำ สติปัญญาค้นเข้าไปถึงทุกขเวทนา เมื่อเวทนาเกิดขึ้นมากๆ เช่นนี้ มันเป็นไปหมดทั้งร่างกาย ทีแรกมันก็ออกร้อนตามหลังมือหลังเท้า ซึ่งไม่ใช่เวทนาใหญ่โตอะไรเลย

         เวลามันใหญ่โตจริงๆ เกิดขึ้นมา ร่างกายเป็นไฟไปหมด กระดูกทุกท่อนทุกชิ้นที่ติดต่อกัน เป็นฟืนเสริมไฟในร่างกายทุกส่วน เหมือนมันจะแตกไปเดี๋ยวนั้น กระดูกต้นคอมันก็จะขาด กระดูกทุกท่อนทุกชิ้นที่ติดต่อกันมันก็จะขาด หัวจะขาดตกลงพื้นในขณะนั้น เวลาเป็นทุกข์ อะไรๆ ก็พอๆ กัน และทั่วไปหมดทั้งร่างกายนี้ไม่ทราบจะไปยับยั้งพอหายใจได้ที่ตรงไหน ที่ไหนก็มีแต่กองไฟ คือความทุกข์มากๆ ทั้งสิ้น เมื่อหาที่ปลงใจไม่ได้ สติปัญญาก็ขุดค้นลงไปที่ทุกขเวทนานั้น โดยหมายเอาจุดที่มันทุกข์มากกว่าเพื่อน อันไหนที่มันเป็นทุกข์มากกว่าเพื่อน สติปัญญาพิจารณาขุดค้นลงที่ตรงนั้น โดยแยกทุกขเวทนาออกให้เห็นชัดเจนว่า เวทนานี้เกิดมาจากไหน ใครเป็นทุกข์ ถามสกลกายส่วนต่างๆ อาการต่างๆ ต่างอันต่างเป็นอยู่ตามธรรมชาติ หนังก็เป็นหนัง เนื้อก็เป็นเนื้อ เอ็นก็เป็นเอ็น ฯลฯ มีมาแต่วันเกิด ไม่ปรากฏว่ามันเป็นทุกข์มาตั้งแต่วันเกิดติดต่อกันมา เหมือนเนื้อหนังที่มีอยู่ตั้งแต่วันเกิดนี้ ส่วนทุกข์เกิดขึ้นและดับไปเป็นระยะๆ ไม่คงอยู่เหมือนอวัยวะเหล่านั้นนี่

         กำหนดลงไป อวัยวะส่วนไหนซึ่งเป็นรูป อันนั้นก็จริงของมันอยู่อย่างนั้น ทุกขเวทนาขณะนี้มันเกิดอยู่ตรงไหน ถ้าว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเวทนาทั้งหมด ทำไมมันจึงมีจุดเดียวที่มันหนักมาก แน่ะ แยกมันออกไป สติปัญญาตอนนั้นหนีไปไหนไม่ได้แล้ว ต้องวิ่งอยู่ตามบริเวณที่เจ็บปวด และหมุนติ้วรอบตัว แยกเวทนากับกาย ดูกายแล้วดูเวทนา ดูจิต มีสามอย่างนี้เป็นหลักใหญ่

         จิตก็เห็นสบายดีนี่ ถึงทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไร จิตก็ไม่เห็นทุรนทุราย เกิดความเดือดร้อนระส่ำระสายอะไรนี่ แต่ความทุกข์ในร่างกายนั้นชัดว่าทุกข์มาก มันก็เป็นธรรมดาของทุกข์ และกิเลสที่มีอยู่ มันต้องเข้าประสานกัน ไม่เช่นนั้นจิตจะไม่เกิดความเดือดร้อน หรือกระทบกระเทือนไปตามทุกขเวทนาทางกายที่สาหัสในขณะนั้น ปัญญาขุดค้นลงไป จนกระทั่งกายก็ชัด เวทนาก็ชัด จิตก็ชัด ตามความจริงของแต่ละอย่างละอย่าง

         จิตเป็นผู้ไปหมาย ไปสำคัญเวทนาว่าเป็นนั้นเป็นนี้ก็รู้ชัด พอมันชัดเข้าจริงๆ เช่นนั้นแล้ว เวทนาก็หายวูบไปเลย ในขณะนั้น กายก็สักแต่ว่ากาย จริงของมันอยู่อย่างนั้น เวทนาก็สักแต่เวทนา และหายวูบเข้าไปในจิต ไม่ได้ไปที่อื่นนะ พอเวทนาหายวูบเข้าไปในจิต จิตก็รู้ว่าทุกขเวทนาดับหมด ทุกขเวทนาดับหมดราวกับปลิดทิ้ง นอกจากนั้นกายก็หายหมดในความรู้สึก ขณะนั้นกายไม่มีในความรู้สึกเลย เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ เพราะยังเหลืออยู่อันเดียว คือความรู้และเพียงสักแต่ว่ารู้เท่านั้น จิตละเอียดมาก แทบจะพูดอะไรไม่ได้เลย สักแต่ว่ารู้ เพราะละเอียดอ่อนที่สุดอยู่ภายใน ร่างกายหายหมด เวทนาหายหมด เวทนาทางกายไม่มีเหลือเลย ร่างกายที่กำลังนั่งภาวนาอยู่นั้นก็หายไปหมดในความรู้สึก เหลือแต่ความสักแต่ว่ารู้ จะคิดจะปรุงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี ขณะนั้นจิตไม่คิดปรุงเลย ถ้าไม่ปรุงก็เรียกว่า ไม่ขยับเขยื้อนอะไรทั้งนั้น จิตมันแน่ว คือแน่วอยู่โดยลำพังตนเอง เป็นจิตล้วนๆ ตามขั้นของจิตที่รวมสงบ นี่ไม่ได้หมายถึงอวิชชาไม่มีนะ

         อวิชชามันแทรกอยู่ในนั้นแหละ เพราะจิตยังไม่ถอนออกจากอวิชชา มันก็มีจิตกับอวิชชาที่สงบตัวอยู่ด้วยกัน เพราะอวิชชาไม่ออกทำงาน ขณะที่ถูกตีต้อนด้วยปัญญา อวิชชาก็หดตัว สงบลงไปแทรกอยู่กับใจเหมือนตะกอนนอนก้นโอ่งฉะนั้น ขณะนั้นเกิดความอัศจรรย์ขึ้นมา ทุกขเวทนาไม่เหลือ กายหายหมด สิ่งที่ไม่หายมีอันเดียว คือความรู้อันละเอียดที่พูดไม่ถูก คือสักแต่ว่าปรากฏเท่านั้น พูดนอกออกไปจากนั้นไม่ได้  สิ่งที่สักแต่ว่าปรากฏนั้นแล คือความอัศจรรย์ยิ่งในขณะนั้น ไม่ขยับเขยื้อนภายในจิตใจ ไม่กระเพื่อมไม่อะไรทั้งหมด สงบแน่วอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งพอแก่กาลแล้วก็ขยับ คือใจเริ่มถอยออกมา และกระเพื่อมแย็บแล้วหายเงียบไป การกระเพื่อมมันเป็นเองของมันนะ เราไปหมายไม่ได้ ถ้าไปหมายก็จะถอน คือจิตพอดิบพอดีของมันเอง กระเพื่อมแย็บอย่างนี้มันก็รู้ พอกระเพื่อมแย็บมันก็ดับไปพร้อม สักประเดี๋ยวกระเพื่อมแย็บอีก หายไปพร้อม แล้วค่อยถี่เข้า ถี่เข้า

         นี่ละจิตเวลามันลงถึงฐานเต็มที่แล้ว ขณะที่จะถอนก็ไม่ถอนทีเดียว เรารู้ได้ชัดขณะนั้น มันค่อยกระเพื่อม คือ สังขารมันปรุงแย็บขึ้นมา หายเงียบไป ยังไม่ได้ความอะไร กระเพื่อมแย็บแล้วดับไปพร้อม แล้วประเดี๋ยวแย็บขึ้นมาอีก ค่อยๆ ถี่เข้า พอถี่เข้าถึงวาระสุดท้ายก็รู้สึกตัว ถอนขึ้นมาเป็นจิตธรรมดา แล้วก็รู้เรื่องร่างกาย เวทนาก็หายเงียบ เวลาจิตถอนขึ้นมาแล้ว เวทนายังไม่มี ยังหายเงียบอยู่ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาที่เวทนาจะเกิดขึ้นมาใหม่

         นี่ได้หลักเกณฑ์ที่นี่และแน่ใจ เกิดความเข้าใจว่า ได้หลักในการต่อสู้กับเวทนาว่า อ๋อ เป็นอย่างนี้เอง ทุกข์มันเป็นอันหนึ่งต่างหากแท้ๆ กายเป็นอันหนึ่ง จิตเป็นอันหนึ่งต่างหาก แต่เพราะความลุ่มหลงอย่างเดียว จึงได้รวมทั้งสามอย่างมาเป็นอันเดียวกัน จิตเลยกลายเป็นความหลงทั้งดวง จิตก็เป็นผู้หลงทั้งดวง แม้ทุกขเวทนาจะเกิดตามธรรมชาติของมันก็ตาม แต่เมื่อยึดเอามาเผาเรามันก็ร้อน เพราะความสำคัญนี้เองพาให้ร้อน

         เมื่อนานพอสมควรแล้ว ทุกขเวทนาก็เกิดขึ้นอีก เกิดขึ้นอีก เอาอีก ต่อสู้กันอีก ไม่ถอย ขุดค้นลงไปอีก อย่างที่เคยขุดค้นมาแล้วแต่หนก่อน แต่เราจะเอาอุบายที่เคยพิจารณาแก้ไขในระยะก่อนมาใช้ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ มันต้องเป็นอุบายสติปัญญาคิดขึ้นมาใหม่ ผลิตขึ้นมาใหม่ ให้ทันกับเหตุการณ์ซึ่งเป็นเวทนาเหมือนกัน แต่อุบายวิธีก็ต้องให้เหมาะสมกันในขณะนั้นเท่านั้น เราจะไปยึดเอาอุบายวิธีที่เราเคยพิจารณารู้ครั้งนั้นๆ มาแก้ไม่ได้ มันต้องเป็นอุบายสดๆ ร้อนๆ เกิดขึ้นในปัจจุบัน แก้กันในปัจจุบัน ใจก็สงบลงได้อีกอย่างแนบสนิทเช่นเคย

         ในคืนแรกนั้น ลงได้ถึงสามหน แต่สู้กันแบบตะลุมบอนถึงสามหน พอดีสว่าง โอ๊ย เวลาต่อสู้กันแบบใครดีใครอยู่ ใครไม่ดีใครไป ด้วยเหตุผลโดยทางสติปัญญาจริงๆ  ใจเกิดความอาจหาญรื่นเริงไม่กลัวตาย ทุกข์จะมีมากมีน้อยเพียงไร ก็เป็นเรื่องของมันธรรมดา เราไม่เข้าไปแบกหามมันเสียอย่างเดียว ทุกข์มันก็ไม่เห็นมีความหมายอะไรในจิตเรา จิตมันรู้ชัด กายก็ไม่มีความหมายอะไรในตัวของมัน และมันก็ไม่มีความหมายในตัวเวทนา และมันก็ไม่มีความหมายในตัวของเราอีก นอกจากจิตไปให้ความหมายมัน แล้วก็กอบโกยทุกข์เข้ามาเผาตนเองเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นใดเข้ามาทำให้ใจเป็นทุกข์

         ตื่นเช้าขึ้นมาให้รู้สึกห้าวหาญมากผิดธรรมดา อยากจะกราบเรียนความรู้ความสามารถถวายท่านอาจารย์มั่น ทั้งนี้เนื่องจากมันเกิดความห้าวหาญอย่างพูดไม่ถูก ทำไมถึงอัศจรรย์ชนิดนี้ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติมาก็ไม่เคยเป็น ใจมันขาดวรรคขาดตอนกับอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น และรวมลงด้วยความองอาจกล้าหาญจริง ๆ รวมด้วยการพิจารณารอบหมดแล้ว มันถึงได้สงบตัวเข้าไปแบบอาชาไนย เมื่อถอยออกมาแล้วก็ยังมีความอาจหาญเต็มตัว ไม่คิดกลัวเป็นกลัวตายอะไรทั้งสิ้น ด้วยความมั่นใจว่า เราเคยพิจารณาอย่างนั้นๆ มาแล้ว เมื่อทุกขเวทนาเป็นขึ้นคราวหน้าคราวหลัง เราก็ไม่กลัวเพราะเป็นทุกขเวทนาอันเก่า คือทุกข์ก็ทุกข์หน้าเก่า กายก็กายอันเก่า ปัญญาอันเก่าที่เคยใช้อยู่นี้แหละ ใจจึงไม่กลัวตาย จนถึงเกิดความอะไรๆ บอกไม่ถูก ถ้าเป็นโลกก็เรียกว่าท้าทายกัน อย่างออกหน้าออกตา ไม่มีสะทกสะท้านต่อความเจ็บความตายเลย

         นั่นเห็นไหม ใจเมื่อคราวกล้า กล้าเต็มที่ หาญเต็มที่ และสู้ไม่ถอย เอาเถอะ พูดง่ายๆ แบบตรงไปตรงมาเป็นอย่างนั้น

         เมื่อถึงคราวตายก็เอาเถอะ จิตเป็นไม่ถอย เมื่อถึงคราวจะตายน่ะ ความตายจะเอาทุกข์มาจากไหนที่ยิ่งไปกว่านี้ไม่มี ทุกข์ก็แค่ทุกข์ที่มีอยู่ในขันธ์เท่านั้น มีมากมีน้อยก็ได้รู้กันแล้วในขันธ์นี้ ทุกข์จะเกิดมากน้อย หนักเบาขนาดไหนก็ไม่เหนือจากความรู้ความสามารถ ไม่เหนือจากสติปัญญาไปได้ สติปัญญาเป็นผู้สามารถจะตามรู้ได้หมด ดังที่ได้รู้มาแล้ว ดังที่ได้เคยถอดถอนกันมาแล้ว จึงทำให้เกิดความกล้าหาญมาก

         เวลาตายก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เมื่อสติปัญญามีรอบตัวอยู่เช่นนี้แล้ว จะตายก็ตายเถิด ความเกิดกับความตายเป็นของคู่กัน จะแยกจากการเกิดแล้วไม่ให้ตายย่อมไม่ได้ เพราะเป็นความจริงเท่ากัน

         คราวต่อไปก็เอาอีก ก็รู้เหมือนนั้น รู้เหมือนนั้นอยู่เรื่อย ชนะทุกที ลงได้ทุ่มกำลังขนาดนั้นแล้ว ไม่มีวันไหนที่จะได้ตำหนิตนว่า นั่งตลอดรุ่งทั้งคืน ไม่มีผลอะไรปรากฏเลย แต่คืนใดที่จิตพิจารณายาก ลงได้ยาก ก็มีความบอบช้ำไปทั่วร่างกาย ปรากฏว่าระบมไปหมด การได้อุบายและกำลังใจนั้น คืนไหนก็คืนนั้น ได้อย่างเด่นทุกคืน จนกระทั่งเรื่องความตายนี้มันไม่กลัวเลย ก็จะเอากลัวมาจากไหน ความตายก็เป็นธรรมดา คือ ปัญญาแยกแยะลงไปจนกระทั่งอันไหนมันตาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อหนังกระดูกนี้ มันเป็นส่วนธาตุเดิม ธาตุดิน

ธาตุดินนี้มันตายเมื่อไร สลายลงไปแล้วเป็นอย่างไร กำหนดตามลงไปก็รู้ว่า ลงไปสู่ธาตุเดิมของมัน ธาตุน้ำก็ลงไปสู่ธาตุน้ำตามเดิมของมัน ธาตุลม ธาตุไฟก็ลงไปสู่ธาตุเดิมของตนเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรฉิบหาย มีแต่เพียงว่าธาตุเหล่านี้มาประชุมหรือมาผสมเข้ากันเป็นก้อน อาศัยจิตเข้าไปสิง ตัวเจ้ามหาหลงเข้าไปสิงเท่านั้น ก็ไปแบกเอาหมด นี่เป็นตัวของตน ไปจับจองเอา นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา จึงไปกอบโกยเอาทุกข์ทั้งมวลแบบรับเหมาหมด ด้วยความสำคัญอันนั้นเข้ามาเผาลนตนเองเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น

         ตัวจิตนี้เองเป็นนักโทษ ธาตุขันธ์เขาไม่ได้เป็นนักโทษ เขาไม่ได้เป็นตัวข้าศึกอะไรแก่เรา เขามีความจริงของเขาอยู่อย่างนั้น แต่เราไปแบกไปหาม ไปสำคัญต่างหาก ความทุกข์จึงเป็นเราเป็นผู้ผลิตขึ้นมาเอง สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลิตให้เรา ไม่มีอะไรมาให้ทุกข์แก่เรา แน่ะ มันเข้าใจอย่างนี้ เราเองเป็นผู้สำคัญผิด เป็นผู้ทุกข์ เพราะสำคัญผิดเป็นเหตุ ให้เป็นทุกข์เกิดขึ้นมาเผาลนจิตใจให้เดือดร้อน เห็นได้ชัดว่า ไม่มีอะไรตาย

         จิตก็ไม่ตาย มันยิ่งเด่น พิจารณาธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลงถึงธาตุเดิมของเขาเต็มที่ แล้วจิตยิ่งเด่นชัด คำว่าตายที่ไหนตาย อะไรตาย อาการเหล่านี้มันก็ไม่ตาย ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่ตาย จิตล่ะมันตายอย่างไร จิตยิ่งรู้ ยิ่งเด่น ยิ่งเห็นได้ชัด อันนี้มันก็ไม่ตาย แล้วมันกลัวตายอะไร อ้อ นี่หลอกกัน นั่นแน่ะ หลอกกันมาตั้งกัปตั้งกัลป์ ความจริงแล้วไม่มีอะไรตาย

         คำว่า หลอก นี่ ไม่ได้หมายความว่าด้วยเจตนา หลอกเพราะความหลงพาเป็นต่างหาก กลัวตาย อ๋อ โลกกลัวตาย กลัวอย่างนี้ เมื่อเรียนไม่ถึงความจริงของมันเพราะไม่ทราบอะไรตาย ก็มันไม่มีอะไรตายนี่ ต่างอันต่างจริงอยู่เพียงเท่านี้ รู้ชัดเจน จิตมันประกาศตนโดยธรรมชาติ เห็นความอัศจรรย์ทุกครั้งอย่างเด่นชัด

         เวลามันดับหมดจริงๆ ด้วยการพิจารณา ทั้ง ๆ ที่ทุกขเวทนามันเหมือนจะส่งตัวไปถึงเมฆนั่นแน่ะ ความทุกข์ความร้อนเป็นฟืนเป็นไฟภายในร่างกาย แต่แล้วมันก็ดับลงด้วยอำนาจของสติปัญญาอย่างราบ ไม่มีอะไรเหลือเลย ร่างกายก็ดับไปด้วยกันในความรู้สึก ไม่ปรากฏเลย เลยเป็นความรู้อันเดียว เหมือนอยู่ในกลางอากาศ แต่ก็ไม่ไปเทียบกันเวลานั้น มันว่างไปหมด แต่ความรู้นั้น รู้อยู่ชัดเจน มีอันเดียวเท่านั้น สิ่งที่แปลกในโลกนี้มีอันเดียว คือใจ

         ดิน น้ำ ลม ไฟ กับใจ ไม่สัมผัสสัมพันธ์ จึงหมดความรู้สึกจากดิน จากน้ำ  จากลม จากไฟ จากร่างกายทุกส่วน เหลือแต่ความรู้อยู่ลำพังตนเองล้วนๆ เป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย เป็นความรู้ที่อัศจรรย์จากการพิจารณารอบคอบแล้วถอนตัวออกมาจากสิ่งเหล่านั้น เด่น ชัดเจน อัศจรรย์

         ถ้าลงจิตได้เป็นเช่นนั้นแล้ว แม้จะเป็นอยู่สักกี่วันกี่คืนก็ตาม ก็ไม่มีความหมายถึงทุกขเวทนาว่า ร่างกายจะแตกจะดับ หรือจะเจ็บจะปวดที่ไหน มันไม่มี จะเอาอะไรมามี กาล สถานที่ไม่มีในขณะจิตนั้น นี่ก็ทำให้หยั่งถึงเรื่องพระสาวกหรือพระพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน ท่านถึงออก เข้าเท่าไรก็เข้าได้ ถ้าลงจิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรเลยเช่นนั้น เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ ซึ่งสักแต่ว่าปรากฏขึ้นนี้เท่านั้น ไม่มีกาล สถานที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จะนั่งอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็นั่งเถอะ แม้ร่างกายทนไม่ไหว มันจะแตกก็สลายไปเฉยๆ นั่นแน่ะ โดยไม่กระทบกระเทือนถึงธรรมชาตินั้นเลย

         ทีนี้จิตยอมรับแล้ว เชื่อจริงๆ  ในการเข้านิโรธสมาบัติ ได้เท่านั้นวันเท่านี้วัน ของท่านผู้วิเศษทั้งหลาย ลงถึงจิตชั้นนี้แล้ว ไม่ถอนตัวออกมาสู่อะไร ๆ เข้าไปกี่วัน กี่เดือนก็ไม่รู้ความหมายอะไร ร่างกายมันมีสุข มีทุกข์ที่ไหน ไม่มีเลย ร่างกายมันไม่มีความรู้สึก เวทนามันก็ไม่มีความรู้สึก เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นั่งอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็นั่งได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ทำให้เชื่อถึงเรื่องพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเข้านิโรธสมาบัติ เลยถืออันนี้เป็นหลักฐานยืนยันภายในจิต ใครจะว่าบ้าก็ว่าไป ปากเขามี หูเรามี อยากฟังก็ฟังไป ไม่อยากฟังก็เฉยเสีย เรื่องนี้เรื่องนั้นก็รู้ไปเห็นไป ไม่มีใครผูกขาดนี่

         แม้เราจะไม่นั่งไปนานก็ตาม แต่ขณะจิตที่มันสงบตัวขนาดนั้นชั่วระยะเดียว ก็พอเป็นหลักฐานพยานได้กับท่านที่เข้าสู่นิโรธสมาบัติได้เป็นเวลานานๆ เพราะเป็นลักษณะนี้ ลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย ร่างกายก็มีแต่ร่างกาย เปื่อยพังไปหมด มันทนไม่ไหว เพราะร่างกายมันเป็น อนิจฺจํ  ทุกฺขํ อนตฺตา มันก็เปื่อยไปเฉยๆ โดยที่จิตนั้นไม่รับทราบเลย มันเป็นขั้นที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญา นี่เป็นขั้นของปัญญาอบรมสมาธิ คือจิตดวงนี้มันเต็มภูมิเต็มฐานของความสงบเช่นนั้น เพราะปัญญาค้นคว้าอย่างเต็มเหตุเต็มผลแล้ว รวมลงไปนี้รวมอย่างองอาจกล้าหาญ รวมอย่างละเอียดมากทีเดียว ลำพังจิตที่เต็มไปด้วยกำลังของสมาธิ กำหนดแล้วลงไปเลยนั้น มันแน่วอยู่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ลึกซึ้ง ละเอียดเหมือนอย่างนี้ แต่จิตที่สงบลงด้วยอำนาจของปัญญานั้นละเอียดทุกครั้งไป ถ้าลงได้ตะลุมบอนขนาดนี้แล้วเป็นผลขึ้นมา จะต้องสงบเต็มที่ ดังที่เป็นอยู่นี้

         นี่เป็นรากฐานหรือเป็นต้นทุนแห่งความอาจหาญ หรือเป็นเชื้ออันสำคัญที่ให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องของจิต อะไรจะสูญสิ้นไปเพียงไรก็ตาม แต่ธรรมชาติที่รู้นี้ไม่สูญ เห็นได้ชัดเจน เห็นก็เห็นกันอย่างชัดเจน ในขณะที่ไม่มีอะไรเข้าเกี่ยวข้องเลยในความรู้สึกนั้น มีสักแต่ว่ารู้อันเดียวเท่านั้น จึงเด่นมาก นี่จะว่าขั้นสมาธิหรือขั้นปัญญา มันพูดไม่ถูกนะ เวลาจิตเป็นจริงๆ เป็นอย่างนั้น

         แต่นั้นมาก็เรื่อย ๆ พิจารณาเรื่อย ออกทางปัญญานี้ ขยับขยายออกอย่างกว้างขวางแล้วก็ย่นเข้ามา พอเข้าใจเป็นลำดับลำดาแล้ว จิตก็ปล่อยเข้ามา ปล่อยเข้ามา ย่นเข้ามา เข้าวงแคบๆ มาเรื่อยๆ ๆ พิจารณาถึงธาตุ ถึงขันธ์ แยกธาตุแยกขันธ์

         ทีนี้จะเริ่มเป็นสมุจเฉทปหาน คือ จะละกันได้โดยเด็ดขาด จากการพิจารณาในวาระต่อมานั้น มันชนะกันได้ชั่วกาล พอให้เป็นหลักฐานพยานยืนยันได้เท่านั้น ในเวลาที่เรายังพิจารณามันไม่เด็ดขาด ยังไม่เป็นสมุจเฉทปหาน เวลาพิจารณาทางด้านปัญญานี้มันเข้าใจได้ชัด ขาดออกจากกัน ถอนออกจากกัน ขาดออกเป็นลำดับๆ ขาดไม่มีชิ้นต่อ ขาดไปโดยลำดับ ๆ เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ

         รูปก็ขาดจากความยึดมั่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ขาดจากความยึดมั่นถือมั่น จะว่าใจขาดจากเขาก็ถูก ขาดไปเรื่อยๆ เหลือแต่ความรู้ คือจิตกับอวิชชาที่ฝังจมอยู่ภายในนั้น ค้นเข้าไป ตีให้แหลก ฟันให้แหลกละเอียดด้วยสติปัญญาอันทันสมัย จิตอวิชชาก็แตก พอจิตอวิชชาแตกไปแล้วก็หมด

         ความอัศจรรย์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของอวิชชาทั้งเพ นั่นรู้แล้วที่นี่

         นั่นเพียงเป็นฐานที่อยู่ที่อาศัย เป็นเชื้อที่จะให้เกิดความเชื่อมั่นไปโดยลำดับๆ แต่ต่อมาเลยเป็น ถ้าจะพูดว่าดีก็ดี ถ้าจะมุ่งถึงธรรมอันละเอียดแล้ว ดีอันนั้นก็เป็นดีอยู่กับอวิชชา ไม่ใช่ดีแท้ ไม่ใช่ดีที่บริสุทธิ์ ดีแต่ปนอยู่กับชั่วกับทุกข์ ทุกข์ยังมีทางเกิดได้อยู่ มันให้เจียระไนเข้าไปอีกที เข้าไปอีกที จนแหลกละเอียดภายในจิต อะไรเป็นเชื้อมีความแปลกปลอมปนอยู่ในจิต ชำระให้หมด ฟอกให้หมด จนไม่มีเหลือแล้ว หมด จิตหมดดวงที่สมมุตินิยมว่า อันนั้น อันนี้ หมด

         ในตอนนี้จิตถึงความบริสุทธิ์ล้วนๆ ถึงไม่มีสมมุติโดยประการทั้งปวง นั่นหมดแท้ เป็นอัศจรรย์ ไม่อัศจรรย์ก็ไม่พ้นทุกข์ นี่เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นธรรมพ้นสมมุติ

         การกล่าวมาทั้งนี้มันยากหรือไม่ยากก็ขอให้พิจารณากัน จนถึงขั้นจะสลบไสล บางครั้งเป็นไฟไปหมดทั้งตัวเลย ขณะที่เวทนากล้าสาหัสจริงๆ เหมือนกับจะเป็นไฟทั้งร่างกายนี้เลย เสร็จแล้วก็ผ่านของมันไปได้ ก็แก้ของมันไปได้ด้วยสติปัญญา เพราะฉะนั้น เรื่องของสติปัญญาแล้วจึงไม่จนตรอก ถ้าเรานำมาใช้ คนเราไม่ใช่จะโง่อยู่เสมอไป เมื่อถึงคราวจนตรอกต้องช่วยตนเองไปจนได้ ใครจะยอมให้จมอยู่เฉยๆ ทั้งๆ ที่สติปัญญาก็มีพอจะแก้ หรือมีช่องทางพอจะเล็ดลอดออกมาได้ พอที่จะบึกบึนออกมาได้ ใครจะยอมตายจมอยู่เฉยๆ เล่า ต้องหาทางออกด้วยกันจนได้นั้นแล

         เมื่อทุกขเวทนามันพอกพูนเข้ามาแล้ว ยังไม่มองเห็นทางใดที่จะแก้ทุกขเวทนาได้ นอกจากสติปัญญาค้นคว้าจนมีช่องออกจนได้ ฉะนั้นปัญญาจึงไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใด เมื่อถึงวาระที่จิตจะพิจารณาในคราวจนตรอก หากรวมตัวมาเอง ช่วยกันจนได้

         พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไปอยู่ในที่สำคัญๆ ซึ่งเป็นสถานที่จนตรอกนั่นเอง อยู่ง่ายๆ เพื่อสติปัญญาจะได้ทำงานให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและเห็นความสามารถของตน ดีกว่าคอยให้ผู้อื่นช่วยโดยถ่ายเดียว เมื่อพูดถึงกาล สถานที่ นั่นก็ช่วยให้สติปัญญาเกิดได้ ไปอยู่ในที่กลัวๆ สติมันดี ปัญญาก็แหลมคม พิจารณาอะไรก็คล่องแคล่วแกล้วกล้า ถ้าได้รับความสะดวกสบายละก็มันขี้เกียจ กินมาก นอนมาก แน่ะ เรื่องของจิตเป็นยังงั้น อยู่ตามธรรมดาขี้เกียจมาก อืดอาดมาก เนือยนายมาก ถ้าอยู่ในสถานที่ไม่น่ากลัว ความนอนใจก็มีขึ้น ก็ประมาทอีกแล้ว นอนเหมือนหมูอีกแล้ว

         ถ้าอยู่ในสถานที่กลัว มันตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาจิตนี่ เมื่อความตื่นตัวมีอยู่ ความรู้สึกตัวมันก็มีอยู่ตลอด เพราะความตื่นตัวนั้นคือความมีสติ สติปรากฏอยู่ในตัว มีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นความเพียรอยู่เสมอ อะไรมาสัมผัสสัมพันธ์ก็เข้าใจ เพราะความไม่นอนใจ เพราะความมีสติประจำตัว สถานที่เหมาะสมต่างๆ ท่านจึงสอนให้ไปอยู่ เพราะเป็นเครื่องส่งเสริม หรือเครื่องสนับสนุนความพากเพียรได้ดี

         มีกุฏิอยู่สะดวกสบายดังที่อยู่นี้ อะไรมันก็ปรนปรือไปหมด อาหารการขบฉันก็ล้นบาตร ท่วมทั้งวันทั้งคืนด้วยน้ำส้ม น้ำหวาน โกโก้ กาแฟ อาหารหวานคาว ไหลมาจากทิศต่างๆ ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญาก็นอนกอดอาหารอยู่ราวกับหมูนอนเฝ้ารำ แล้วก็ขึ้นนอนบนเขียง

         ส่วนธรรมนั้นไม่มีหวังจะได้ครองละ ขึ้นชื่อว่าพระกรรมฐานที่เก่งแบบนี้มันต้องจบแบบนี้แน่ไม่สงสัย ความมีสติปัญญามันต้องคิด ปัจจัยสี่มีมากมีน้อย จะต้องหาอุบายฟิตตัวเสมอ ระวังตัวเสมอ ไม่นอนใจ เหมือนแม่เนื้อตั้งท่าระวังภัย ในที่ไม่ต้องระวังเรื่องอาหารอย่างนี้ ใจก็คิดของมันไปอีกแบบหนึ่ง ที่ดัดสันดานเช่นนั้นจะเอาอะไรมาเหลือเฟือ อะไรๆ ก็มีแต่ขาดๆ เขินๆ บกๆ พร่องๆ ข้าวบิณฑบาตมา บางวันก็พอ บางวันก็ไม่พอ อย่างนี้ก็ไม่วิตกกังวล เพราะเคยอดเคยอิ่มมาแล้ว อดเพียงวันสองวันมันไม่ได้ตาย มันคิดแก้ตัวเอง อย่างนั้นเสีย ใจก็ไม่เป็นกังวล

อาหารหรืออะไรก็เหมือนกัน มีแต่ข้าวเปล่าๆ มาฉัน ก็ไม่เห็นเป็นกังวล ก็เรามาสถานที่อย่างนี้นี่ มีอะไรก็กินไปซี จะเป็นอะไร จะหากับที่ไหน ข้าวเคยเลี้ยงกันมาตั้งแต่วันเกิดอยู่แล้วนี่ กินแต่ข้าวจะเป็นไรไป ถ้ากินแต่กับไม่ต้องกินข้าวจะได้ไหม ถ้าเก่งจริง การกินกับก็กินมามากแล้ว ทำไมไม่อิ่มเสียบ้าง นี่เรามาแสวงธรรมนะ ไม่ใช่มาหากิน จะมายุ่งกับท้องอะไรกันนักนี่ เราเคยกินมามากแล้วไม่เห็นวิเศษวิโสอะไร มาหาธรรมอันวิเศษจะมายุ่งกับการอยู่การกินมีอย่างเหรอ นักธรรมไม่ใช่นักกินนี่นะ แก้มันไปได้ปั๊บ ๆ ผลสุดท้ายก็ไม่มีกังวล นั่นวิธีของพระกรรมฐานท่านปราบตัวเอง ซึ่งก็คือปราบความโลภโลเลในปัจจัยสี่นั่นเอง

         ผลจากการแก้ไขตนเอง เรื่องฉันไม่ฉัน ใจก็หมุนติ้วอยู่อย่างนั้น นั่งภาวนาก็ไม่เมื่อย อาหารไม่มีในท้อง จะไปง่วงอะไร ยิ่งไม่กินแล้ว ยิ่งไม่ง่วงเลย ภาวนาสบาย

         นี่คืออุบายการเสี้ยมสอนพระให้ไปเจริญธรรม รุกฺขมูลเสนาสนํ บ้าง ให้อยู่ในป่าในเขาลำเนาไพร ที่เปลี่ยวๆ ที่น่ากลัวบ้าง อาหารสัปปายะ อาหารเป็นที่สบายบ้าง คำว่าสบาย หมายถึงไม่ทำให้ธาตุขันธ์กำเริบ ไม่เป็นโทษเป็นภัย แล้วยังจิตไม่ให้กำเริบ เกี่ยวกับอาหารสัปปายะ อาหารที่สบายนี้ มีข้าวเปล่าๆ บ้าง อาหารมีเพียงเล็กน้อยภาวนาดี เป็นที่สบาย สำหรับผู้มุ่งธรรม

         แต่ผู้มุ่งบำรุงท้องให้กายจะไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เดี๋ยวตายจะว่าไม่บอก ธรรมดาแล้วกินมากๆ อาหารมีแต่กับดีๆ กินแล้วนอนเหมือนหมู มันจะเป็นที่สบายอย่างไร มันก็สบายของกิเลสน่ะซี มันไม่สบายในคลองอรรถคลองธรรม สบายเรื่องของกิเลส ของหมูต่างหาก แน่ะ

         คำว่า อาหารสัปปายะ ต้องหมายถึงเกิดประโยชน์จากการฉัน ฉันน้อยๆ มันให้เกิดประโยชน์ นั่งภาวนาที่ไหนจิตแน่วไปเลย ถ้าเกี่ยวกับสมาธิ จิตแน่วไปเลย ถ้าเกี่ยวกับปัญญาแล้วหมุนติ้วไปเลย มันคล่องแคล่วผิดกันอยู่มาก

         ธรรมมักจะเกิดในที่ขาดแคลน ในที่กันดาร ในที่จนตรอกจนมุม ไม่เกิดในที่เหลือเฟือ ไม่เกิดในที่ปรนปรือ ไม่เกิดในสถานที่สะดวกสบาย มันนอนใจอย่างนั้นแหละ นิสัยคนเราชอบเป็นอย่างนั้น

         พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่หอปราสาทราชมณเฑียรมานานเท่าไร แล้วเสด็จออกทรงผนวช ใครจะไปทุกข์ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พุทธะก็เกิดในที่เช่นนั้น สาวกมาจากสกุลต่างๆ สกุลพระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี ฟังดูซิ

         คนมั่งมี เวลาออกมาเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสของพระพุทธเจ้าแล้ว อ้าว เป็นอย่างไร เป็นตายก็ตาย ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอะไรทั้งสิ้น นอกจากธรรมอย่างเดียว นั่น ท่านได้รับอรรถรับธรรมในที่กันดาร เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า แน่ะ

         เราจะเอาอันไหนทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นมาแล้ว ธรรมเกิดในที่เช่นนั้น ในทางคับขัน ลำบากลำบนเช่นนั้น ธรรมมักเกิดกับกองทุกข์ หากกองทุกข์ไม่มี สติปัญญาก็ไม่เกิด ไม่ได้คิด ก็ไม่เกิดสติปัญญา ธรรมก็ไม่เกิด ทุกข์มีมากก็เป็นหินลับปัญญา ค้นคว้าให้เห็นชัดเจนในเรื่องของทุกข์ อย่างนี้ก็เอาตัวรอดไปได้ เลยเป็นยอดคน  เอาละ เอวํ

 

ggggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก