ปราบ-ขู่
วันที่ 1 มกราคม 2519 ความยาว 28.08 นาที
สถานที่ : ศาลาโรงครัว วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ปราบ-ขู่

 

         ในมงคลสูตรท่านกล่าวไว้พวกเราฟังจนชินหู สวดสาธยายจนชินปาก คือ “อเสวนา จ พาลานํ” แปลความว่า การไม่คบคนพาลสันดานหยาบ การคบบัณฑิตผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” ท่านว่าเป็นมงคลอันสูงสุด

         เราอาจคิดแต่ในแง่ภายนอก  คบคนพาลสันดานหยาบนอกๆ อย่างนั้น นั่นก็ถูกในการเกี่ยวกับสังคม เพราะมนุษย์เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีเพื่อนฝูงญาติมิตรเกี่ยวข้องกับสังคมมากน้อย นี่ท่านสอนแง่หนึ่ง แต่อาจคิดในแง่เดียวเท่านั้น สำหรับตนเองเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิตนั้นเลยลืมคิด ถ้าหากเราคิดแต่เพียงแง่เดียว เราก็ลืมคิดเรื่องตัวเรา เป็นแต่เพียงไม่ไปคบคนพาลภายนอกแล้วก็ถือว่าดี แต่การที่เราคบคนพาลภายในคือใจเราเองนั้น เราไม่ทราบว่าคบกันมานานเท่าไร ความจริงคบกันมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้

         คนพาลภายในหมายถึงอะไร ? หมายถึงตัวเราเอง ซึ่งเป็นคนๆ หนึ่งที่มีจิตเป็นพาล คอยกีดกันคอยฉุดลาก คือกีดกันในทางที่ดี ไม่ให้ทำความดีได้โดยสะดวกสบาย หาเรื่องนั้นมาขัดข้อง หาเรื่องนี้มายุแหย่ให้ล้มเหลวไปตามมันจนได้เรื่อยๆ มาที่เรียกว่า  “พาลภายใน” คำว่า “พาล” นั้น ทางพุทธศาสนาท่านหมายถึงความคิดที่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือนร้อนเสียหาย ท่านเรียกว่าคนพาลหรือคนเขลา จะมีความรู้ความฉลาดมากน้อยเพียงไรไม่สำคัญ ถ้ายังทำตนและคนอื่นให้เดือดร้อนอยู่แล้ว ความรู้นั้นท่านไม่เรียกว่าเป็นความรู้ที่ดีที่ฉลาด เพราะเป็นความรู้ที่ยังผู้นั้นให้เป็นคนเลวลงทางความประพฤติที่แสดงออก ตลอดคนอื่นให้ได้รับความเดือนร้อนเสียหายด้วยความคิดเป็นโจร ความคิดเป็นข้าศึก ความคิดแอบทำสิ่งไม่ดีแก่ตนอยู่เนืองๆ และคล้อยตามความคิดเห็นนั้นโดยไม่ยอมเห็นโทษของมัน บางครั้งถึงกับแสดงออกให้คนอื่นรู้และรังเกียจ นี่ท่านเรียกว่า “ใจพาลภายใน”ซึ่งมีอยู่กับทุกคน จะต่างกันบ้างก็เพียงมากหรือน้อย แสดงออกหรือไม่แสดงออกให้คนอื่นรู้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่มีอยู่กับตัวเราตลอดมา เราเคยคบค้าสมาคมกับพาลตัวนี้มานานแสนนานจนบัดนี้ เราก็ยังมีความสนิมกับพาลของเราอยู่ โดยไม่รู้สึกตัวว่าเรามีพาล เราคบกับพาลคือ ความคิดและการกระทำที่เราไม่รู้สึกตัวว่าเป็นความผิด ท่านเรียกว่า “พาลภายใน”

         จงพยายามเลือกเฟ้นความคิดที่เห็นว่าไม่ดี ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียดที่มีอยู่ภายในใจอันนี้ อย่าปล่อยให้ใจสั่งสมความเป็นพาล และตั้งบ้านเรือนอยู่บนหัวใจไปนาน ความคิดใดที่ไม่ดี เป็นไปบนหัวใจตลอดกาล บ้านเรือนคือร่างกาย เจ้าของคือใจที่อาศัยอยู่ด้วยกันจะเสียความมั่นคง ทรงความดีไว้ไม่ได้

         ความคิดใดที่เป็นไปเพื่อสั่งสมทุกข์ขึ้นมา ความคิดนั้นท่านเรียกว่า “เป็นพาล” การเชื่อหรือคล้อยตามความคิดที่ไม่ดีไม่ถูกนั้น ท่านเรียกว่า “คบคนพาลภายใน” ซึ่งแยกตัวออกห่างยากกว่าพาลภายนอก ผู้เป็นบัณฑิตท่านเห็นโทษทั้งพาลภายในทั้งพาลภายนอก และหลีกเว้นไม่คบและเชื่อถือ ทั้งคอยระวังอย่างอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่สนิทติดจมอยู่กับคนพาลทั้งสองจำพวกนั้น

         ปกติคนเราทุกคนมีพาลรอบด้านทั้งภายในภายนอก ความเป็นอยู่ ความเคลื่อนไหว ทุกคนอยู่ในท่ามกลางแห่งพาลทั้งสองจำพวกดังกล่าวมา ผู้ต้องการความสงบสุขทั้งทางส่วนตน ครอบครัวและส่วนรวม จึงควรระวังภัยจากมารทั้งสองจำพวกนั้น เฉพาะอย่างยิ่งมารภายในที่เกิดกับใจตัวเองสำคัญมาก ควรระวังเสมอ ชื่อว่าเป็นผู้เห็นภัยของคนพาลทั้งภายนอกภายใน และจงคบบัณฑิตนักปราชญ์ ซึ่งหมายถึงภายนอกด้วยภายในด้วย ดังที่เราคบครูอาจารย์เพื่อนฝูงที่มีความรู้ดี ความประพฤติดีงามสม่ำเสมอ ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา เอียงหน้าเอียงหลัง อันเป็นอาการแห่ง “อคติสี่” ซึ่งเป็นของไม่ดี จะเป็นญาติเป็นมิตรหรือเพื่อนฝูงอะไรก็ได้ สำคัญที่ต้องเป็นคนดีเชื่อถือได้ หรือฝากผีฝากไข้ฝากเป็นฝากตายได้ยิ่งเป็นการดีมาก

ในบรรดาบัณฑิตที่ควรคบค้าสมาคม ตลอดถึงครูอาจารย์ที่ให้อุบายสั่งสอนอันดีงามแก่เรา ชื่อว่าบัณฑิต ไม่ต้องมีความรู้ความฉลาดถึงขนาดต้องแบกตู้พระไตรปิฎกมายืนยัน หรือมีความรู้ความฉลาดขั้นปริญญาตรี โท เอก ก็ตาม สำคัญอยู่ที่ความคิดความเห็น การประพฤติตัวเป็นธรรม ซึ่งเป็นเครื่องชักจูงให้คนอื่นได้คติและได้รับประโยชน์อันชอบธรรม และเห็นเป็นความถูกต้องดีงามไปด้วย เหล่านี้ท่านเรียกว่า “บัณฑิต” เป็นผู้ควรแก่การคบค้าสมาคมระยะสั้นหรือยาว ย่อมเป็นมงคลแก่ผู้คบ ไม่เสียหายล่มจมแต่อย่างใด ยังจัดว่าผู้รู้จักเลือกคบ เป็นผู้มีชีวิตชีวาอันอุดมมงคลเสียอีก ทางพระพุทธศาสนาท่านหมายคนอย่างนั้นว่า “บัณฑิต”

        ส่วน “บัณฑิตภายใน” ได้แก่ความคิดอุบายวิธีต่างๆ ที่จะเป็นไปเพื่อคุณงามความดีแก่ตนและผู้อื่น นับแต่พื้นความคิดเห็นอันเป็นเหตุจะให้เกิดคุณงามความดี จนกระทั่งถึงสติปัญญาที่จะถอดถอนกิเลสออกจากจิตใจเป็นลำดับๆ เป็นขั้นๆ ของสติปัญญา เรียกว่า “บัณฑิต, นักปราชญ์” เป็นชั้นๆ ไปจนถึงขั้น “มหาบัณฑิต”

         “มหาบัณฑิต” ได้แก่ท่านผู้ทรงมหาสติมหาปัญญานั่นแล เลยขั้น “มหาบัณฑิต”ไปแล้วก็ถึง “วิมุตติ” เรียกว่า “จอมปราชญ์” หรือ “อัครมหาบัณฑิต” เลยขั้นมหาบัณฑิตไปแล้วก็เป็น “จอมปราชญ์” ได้แก่ผู้เฉลียวฉลาดรอบตัวภายในใจ คือพระอรหันต์ สิ้นกิเลสอาสวะโดยประการทั้งปวง นี่เป็นมงคลอันสูงสุดทั้งสองอย่างคือ “อเสวนา จ พาลานํ” ไม่ให้คบคนพาลภายนอก ทั้งคนพาลภายใน “ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” ให้คบบัณฑิตนักปราชญ์ผู้เฉลียวฉลาดทั้งภายนอกและภายใน พยายามฝึกตัวให้มีความเฉลียวฉลาดทันกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อใจของตนนี้ เรียกว่า “บัณฑิต นักปราชญ์” ให้คบผู้นี้ เพื่อจะได้สั่งสมส่งเสริมความเป็นปราชญ์ให้มีกำลังมากขึ้นโดยลำดับๆ เพราะอาศัยท่านผู้ดีมีสติปัญญาฉลาด “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” เป็นมงคลอันสูงสุดอีกข้อหนึ่ง

         อีกข้อหนึ่งท่านกล่าวว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การเห็นสมณะผู้สงบกายวาจาใจ เป็นมงคลอันสูงสุดเช่นเดียวกัน

         คำว่า “สมณะ” ตามหลักธรรมที่ท่านแสดงไว้ มี ๔ ประเภท

                  “สมณะที่ ๑ ได้แก่ พระโสดาบัน  สมณะที่ ๒ ได้แก่ พระสกิทาคามี

                   สมณะที่ ๓ ได้แก่ พระอนาคามี  สมณะที่ ๔ ได้แก่ พระอรหันต์

การเห็นสมณะเหล่านี้ชื่อว่าเป็นมงคลอันสูงสุด นี่เป็นมงคลขั้นหนึ่ง เป็นสมณะขั้นหนึ่งๆ จากภายนอก

         ทีนี้เราพยายามทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลทั้งสี่นั้น หรือสมณะทั้งสี่นั้น ได้แก่พระโสดา สกิทา อนาคา อรหัตผล ขึ้นภายในจิตใจของตน นี้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้แจ้งซึ่งมรรคผลทั้ง ๔ รวมเป็น ๘ เป็นมงคลอันสูงสุด

         ในมงคลสูตรที่ท่านแสดงไว้นี้มีแต่ธรรมสำคัญๆ ทั้งนั้น แต่มีแยกดังที่ว่านี้ จงแยกแยะพิจารณาข้างนอกพิจารณาข้างในเทียบเคียงกัน

         เทวดาทั้งหลายมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ถึง ๑๒ ปี ไม่มีใครสามรถแก้ปัญหานี้ได้เลย จึงพากันมาทูลถามปัญหานี้กับพระพุทธเจ้า โดยที่ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ขึ้นแล้วในโลก และเป็นผู้สามารถชี้แจงอรรถธรรมหรือปัญหาในแง่ต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจแก่ผู้ข้องใจทั้งหลาย จึงได้พากันมาทูลถามพระพุทธเจ้า ตามมงคลสูตรที่ท่านยกไว้เบื้องต้น

         แต่เวลาที่ท่านสวดมนต์ท่านยกเอาตั้งแต่ “อเสวนา จ พาลานํ”เรื่อยมาเลย ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องเทวดาทั้งหลายจากโน้นจากนี้มากมาย มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามปัญหา ท่านตัดออกเสียหมด เอาแต่เนื้อๆ คือมงคลสูตร ๓๘ ประการนี้ เป็นคุณแก่ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจนกระทั่งทุกวันนี้ เราจึงควรเจริญมงคลสูตรนี้

         สูตรใดก็ตามเป็นที่แน่ใจ หรือเป็นที่สนิทกับจริตนิสัยดังที่กล่าวใน ๒-๓ บทเบื้องต้นนั้นว่า “ไม่คบคนพาลและให้คบบัณฑิต, การเห็นสมณะให้ปรากฏขึ้นภายในจิตใจ ชื่อว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันสูงสุดไว้ภายในใจ

         คำว่า “เทวดา” ตั้งแต่วันเกิดมาเราไม่เคยรู้เคยเห็น คิดดูซิมนุษย์ด้วยกัน แม้พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง สาวกอรหัตอรหันต์ท่านก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งๆ แต่ทำไมท่านสามารถรู้เห็นเทวดา จนถึงกับแนะนำสั่งสอนเทวดาให้ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนล้านๆ ไม่ใช่ทำธรรมดา!

         บางเรื่องกล่าวไว้ในสูตรต่างๆ ว่า “เทวดามาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นโกฏิๆ แล้วไม่ใช่เพียงแต่เทศน์วันหนึ่งวันเดียว เทศน์จนกระทั่งพระองค์ปรินิพพาน ฟัง “พุทธกิจ” ท่านแสดงไว้ว่า “อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหากํ” ตั้งแต่หกทุ่มล่วงไปแล้ว ทรงแก้ปัญหาหรือแนะนำสั่งสอนเทวดาชั้นต่างๆ ที่มาทูลถามปัญหา ท่านถือเทวดาเหมือนกับมนุษย์ทั้งหลาย สอนเทวดาเหมือนกับสอนมนุษย์ทั้งหลายนี่เอง ท่านถือเป็นธรรมด๊าธรรมดาเช่นเดียวกับเรามองเห็นคนทั่วไปโดยธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นพวกเทวบุตรเทวดาชั้นต่างๆ ประจักษ์ด้วยพระญาณของพระองค์คือตาทิพย์ เช่นเดียวกับเรามองเห็นสิ่งต่างๆ หรือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยตาเนื้อของเรา

         แต่เมื่อเราไม่มีตาทิพย์เหมือนพระพุทธเจ้า ไม่สามารถมองเห็นเทวดาทั้งหลาย จึงกลายเป็นปัญหาโลกแตกอย่างทุกวันนี้ ที่พระพุทธเจ้าแสดงอย่างนั้นด้วยพระจักขุญาณของพระองค์ กับที่เรามาด้นเดาและคาดคะเนด้วยความมืดบอดของเรา จึงเป็นที่น่าสลดสังเวชอย่างยิ่งทีเดียว

         นี่แหละระหว่างคนตาดีกับคนตาบอด ระหว่างคนโง่กับคนฉลาด มันผิดกันอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์ด้วยกันก็ตาม พระองค์สามารถสอนเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์ ตลอดถึงสัตว์นรก เปรต อมนุษย์มนา ไม่มีจำกัดขอบเขตมีมากมายก่ายกอง พุทธภาระจึงหนักมากสำหรับพระพุทธเจ้า ตามพุทธวิสัยคือวิสัยของพระพุทธเจ้า ที่ทำประโยชน์แก่โลก

         พวกเราเป็นคนหูหนวกตาบอด ไม่สามารถมองเห็นทั้งเทวบุตรเทวดาอินทร์พรหมอะไรต่ออะไร แม้ที่สุดจะสั่งสอนตัวเองก็ยังไม่ได้ แล้วเราจะเอาความรู้อันมืดบอดนี่ไปเทียบกับพระพุทธเจ้าหรือ? ข้อนี้จะเป็นไปได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงมีพระภาระมากขนาดไหน ยังสามารถนำภาระนั้นไปได้ตลอดทั่วถึงจนกระทั่งวันปรินิพพาน ไม่มีภาระของผู้ใดที่จะหนักหนายิ่งกว่า “พุทธกิจ-พุทธภาระ” ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ พระพุทธเจ้าเป็น “พุทธวิสัย” ของศาสดา นำพุทธภาระไปได้ตลอดทั่วถึง

         สำหรับพวกเราไม่มีความสามารถอย่างท่าน แม้แต่จะสั่งสอนตนเพียงคนเดียวก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำทำลาย ขี้รดเยี่ยวรดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง บางทีเดินจงกรมมันก็ขี้รดบนหัวอยู่ที่หัวทางจงกรม นอนภาวนามันก็ขี้รดเยี่ยวรดอยู่ที่นอน นั่นคนทั้งคนกลายเป็น “ส้วม” ! เป็น “ถาน” ของกิเลสตัณหาทุกอิริยาบถด้วยความไม่มีสติ พิจารณาซี ดูมันต่างกันไหม? พระพุทธเจ้ากับพวกเราชาวส้วมชาวถานของกิเลสน่ะ!

         ถ้าหากจะพิจารณาแล้ว นำคติท่านมาเป็นประโยชน์ เป็นคติเครื่องพร่ำสอนตัวเองให้เกิดประโยชน์จากธรรมที่กล่าวมานี้ได้ มีบทสำคัญอยู่ว่า พระพุทธเจ้าทำไมสามารถสั่งสอนพระองค์ได้ แล้วเป็นครูของสัตว์โลกทั้งสามโลกธาตุโดยตลอดทั่วถึง แต่เราจะสามารถสอนตัวเรา และแก้กิเลสตัณหาอาสวะซึ่งมีอยู่ภายในใจเราเพียงดวงเดียวเท่านั้น ทำไมจะทำไม่ได้ ทำไมจะปล่อยตัวให้กิเลสตัณหาอาสวะทั้งหลายขี้รดเยี่ยวรดอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน ตั้งแต่เล็กจนถึงเฒ่าแก่ชรา ตายไปกับขี้กับเยี่ยวของกิเลสคละเคล้าเต็มตัวมีอย่างเหรอ! มันสกปรกขนาดไหนกิเลสอาสวะน่ะ แล้วทำไมให้มันขี้รดเยี่ยวรดเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่มีความขยะแขยงต่อมันบ้างเหรอ?

เพียงเราคนเดียวก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด ก็ยังนอนยังนั่งให้กิเลสตัณหาอาสวะมันขี้รดเยี่ยวรดตลอดมาในอิริยาบถทั้งสี่ ยังจะเป็นส้วมเป็นถานมันอยู่อีกหรือ? ควรพิจารณาตัวเอง นี่เป็นคติอันสำคัญที่เราจะนำมาใช้สำหรับตัวเอง กิเลสมันมีอำนาจวาสนาขนาดไหน พระพุทธเจ้า พระสาวกอรหัตอรหันต์ หรือพุทธบริษัททั้งหลายตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ท่านก็เป็นคนๆ หนึ่ง แต่ทำไมท่านปราบมันได้ เอามันมาเป็นส้วมเป็นถานได้ ขี้เยี่ยวรดมันได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้? คิดค้นจับมันฟัดมันเหวี่ยงด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียร จนมันกลายเป็นส้วมเป็นถานของเราเสียทีไม่ดีหรือ?

         เอ้า พยายามมองดู มองไปทางไหนก็มีแต่ห้องน้ำห้องส้วมของกิเลส มันก็น่าสลดสังเวชเหมือนกัน เอ้า ฟิตตัวให้ดี แก้ให้ได้กับมือ วันนี้มันอยู่ที่ไหนกิเลสน่ะ?มันอยู่ที่หัวใจเรานี่! ไม่ได้อยู่ตรงไหน แต่ว่าเรามักจะเข้าใจว่า กิเลสมันเป็นเพื่อนสนิทของเรา และเป็นเราเสียทั้งหมด นี่แหละ! ที่มันแก้ไม่ตก เพราะเห็นว่ากิเลสมันเป็นเรา จึงไม่กล้าแตะต้องทำลายมัน กลัวจะเป็นการทำลายตนที่รักสงวนมากไปด้วย

         ถ้าถือว่ากิเลสเป็นกิเลสและกิเลสเป็นภัยแล้ว ก็มีทางแก้ไขได้ หาอุบายพิจารณาแก้ไขตัวเองให้ได้ พูดถึงการแก้ก็ไม่มีอะไรที่จะแก้ยากยิ่งกว่าแก้กิเลส กิเลสคืออะไร? ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้นนั่นแล

         มนุษย์เรามีหัวใจ สัตว์มีหัวใจ ทำไมจะไม่อยากได้อยากมี ทำไมจะไม่อยากโลภ “เมืองพอ” ของความโลภมันมีที่ไหน “เมืองพอ” ของความโกรธมันมีที่ไหน? “เมืองพอ”ของความหลงมันมีที่ไหน? มันไม่มีขอบเขต มันกว้างขวางยิ่งกว่าแม่น้ำท้องฟ้ามหาสมุทร เพราะฉะนั้นมันจึงแก้ยาก เพราะมันกว้างแสนกว้างจึงเป็นของแก้ได้ยาก แต่ถึงกว้างขนาดไหนก็ตาม รากฐานของสิ่งเหล่านี้มันก็อยู่ที่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้น ประมวลลงมาฆ่าที่ตรงนี้! ตัดรากแก้วของมันออกที่ตรงนี้แล้วมันก็ตายไปหมด เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ถูกถอนรากแก้วแล้วต้องตายถ่ายเดียวฉะนั้น!

         ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิ่งก้านสาขาของมัน แตกกิ่งแตกก้าน แตกใบแตกดอก แตกผลออกไปมากมายเพียงใดก็ตาม มันขึ้นอยู่กับต้นของมัน มันมีต้นมีอาหารที่หล่อเลี้ยงมันจึงเจริญเติบโต แตกกิ่งแตกก้านออกไปได้ แต่ถ้าพยายามตัดสิ่งสำคัญๆ ของมันซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจออกแล้ว มันจะไม่มีทางแผ่กระจายไปได้มากมายดังที่เคยเป็นมา จะค่อยอับเฉาหรือค่อยยุบยอบตายลงไปโดยลำดับ จนกระทั่งตายหมดโดยสิ้นเชิงหลังจากถอนรากแก้ว คือ “อวิชชา” ออกหมดแล้ว ด้วยอำนาจของ “มหาสติ มหาปัญญา ศรัทธาความเพียร” ไม่มีอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่าธรรมดังกล่าวนี้ ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งกับการฆ่ากิเลสทั้งสามประเภทอันใหญ่โตนี้ให้หมดไปจากใจ

         คำว่า “สมณะที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓ ที่ ๔” จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับๆ และปรากฏขึ้นมาอย่างแจ้งชัดประจักษ์ใจเป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” รู้เองเห็นเอง ในวงผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะไม่รู้ที่อื่น จะรู้ขึ้นกับตัวเองนี้ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะธรรมะท่านวางไว้เป็นสมบัติกลาง นี่เป็นจุดที่จะตัดกิเลสอาสวะทั้งหลาย ต้องสู้มัน! เวลานี้เราได้สติสตังมาพอสมควรแล้ว ได้รับการอบรมจากอรรถจากธรรม ได้ศึกษาเล่าเรียนมาพอสมควร ได้ฟังโอวาทจากครูอาจารย์มาพอสมควร ปัญหาอันใหญ่ก็คือเรื่องของเราที่จะฟิตตัวให้มีสติปัญญาทันกับกลมายาของกิเลส ซึ่งมีร้อยเล่ห์พันเหลี่ยมร้อยสันพันคมภายในใจ ให้ขาดลงไปโดยลำดับๆ

         กิเลสขาดลงไปมากน้อย ความสุขความสบายก็ค่อยปรากฏขึ้นมาภายในใจ ความเย็นใจนี้เย็นยิ่งกว่าสิ่งทั้งหลายเย็น สุขใจสุกไม่มีงอม สุกไม่มีเปื่อยมีเน่า สุขอย่างสม่ำเสมอ สุขสุดยอด จึงเป็น “สุข อกาลิโก”ไม่มีสลายเปลี่ยนแปลงไปไหน เป็นความสุขที่ยอดเยี่ยมคงเส้นคงวา ไม่มีสมมุติใดมาทำลายได้อีก นี่แหละที่ท่านเรียกว่า “ความสุขของนักปราชญ์”

         พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบความสุขประเภทนี้ สาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ค้นพบความสุขประเภทนี้ ท่านจึงปล่อยวางความสุขสมมุติโดยประการทั้งปวง ที่เคยเกี่ยวข้องกันมา ไม่เพียงแต่สุข ทุกข์ก็ปล่อยโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน เป็นผู้หมดห่วงใยหมดป่าช้า ไม่ต้องมาวนเวียนตาย-เกิดกันไม่หยุดไม่ถอยในกำเนิดต่างๆ ภพน้อยภพใหญ่ที่เรียกว่า “วัฏวน”วนไปวนมา ตัดกงจักร “วัฏวน” นี้ออกจากใจเสียได้ เป็นความสุขเป็นความสบายอันล้นพ้น

         นี่คือความสุขของมนุษย์แท้ สมกับภูมิของมนุษย์ที่มีความเฉลียวฉลาด เจอความสุขนี้แล้ว สิ่งใดๆ ก็ปล่อยไปหมด นี่ในธรรมบทที่ว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ” ก็เข้าในจิตดวงนี้ แม้ “นิพฺพานสจฺฉิกิริยาจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” ก็เช่นเดียวกัน การทำพระนิพพานให้แจ้ง คือเวลานี้พระนิพพานถูกปิดบังด้วยกิเลสประเภทต่างๆ จนมืดมิดทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีความสง่าผ่าเผยขึ้นภายในจิตใจแม้นิดหนึ่งเลย

         พระอาทิตย์แม้จะถูกเมฆปิดบัง แสงสว่างส่องมาไม่เต็มที่เต็มฐานได้ก็ตาม แต่เป็นบางกาลบางเวลา ย่อมมีการเปิดเผยตัวออกได้อย่างชัดเจน ที่เรียกว่า “ท้องฟ้าอากาศปลอดโปร่ง” จิตใจของเราที่ถูกกิเลสหุ้มห่อปิดบังอยู่นี้ ไม่มีวันปลอดโปร่งได้เลย มืดมิดปิดตาอยู่อย่างนั้น นั่นแหละท่านว่า “ให้ทำพระนิพพานให้แจ้ง” พระนิพพานก็หมายถึงจิตนั้นเองไม่ได้หมายถึงอะไรอื่น ที่พระนิพพานยังแจ้งไม่ได้ก็เพราะสิ่งปิดบังทั้งหลายคือกิเลสนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนก้อนเมฆปิดบังพระอาทิตย์ เมื่อชำระด้วยความเพียรมีสติปัญญาเป็นผู้บุกเบิกแล้ว พระนิพพานซึ่งเป็นตัวจิตล้วนๆ นั้น ก็ค่อยแสดงตัวออกมาโดยลำดับ จนกระทั่งทำพระนิพพานแจ้งอย่างประจักษ์

         นี่ก็ “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” เป็นมงคลอันสูงสุด ไม่มีมงคลอันใดในโลกนี้จะสูงยิ่งกว่าการพบสมณะสุดท้ายคือพระอรหัต และการทำพระนิพพานให้แจ้ง คือถึงความบริสุทธิ์ของใจ นี่เป็นมงคลอันสูงสุด ทำให้ประจักษ์กับใจเราเอง ทั้งจะได้รู้ชัดเจนว่า ศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นน่ะสอนโลกอย่างปาวๆ เล่นๆ หรือว่าสอนจริงๆ หรือใครเป็นคนเล่น ใครเป็นคนจริง โอวาทเป็นของเล่น หรือผู้ฟังผู้ถือเป็นคนเล่น หรือ อะไรจริงอะไรไม่จริง พิสูจน์กันที่หัวใจเรา นำโอวาทนั้นแหละเข้ามาพิสูจน์ เป็นเครื่องมือเทียบเคียงว่าอะไรจริงอะไรปลอมกันแน่

         เมื่อธรรมชาตินี้จริงขึ้นมาล้วนๆ ที่ใจแล้ว ตำราธรรมของพระพุทธเจ้า แม้ที่เขียนเป็นเศษกระดาษซึ่งตกอยู่ตามถนนหนทางยังไม่กล้าเหยียบย่ำ เพราะนั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เหยียบไม่ลง เพราะลงได้เคารพหลักใหญ่แล้ว ปลีกย่อยก็เคารพไปหมด พระพุทธรูปก็ตาม จะเป็นอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ “พุทธ ธรรม สงฆ์” แล้ว กราบอย่างถึงใจเพราะเชื่อหลักใหญ่แล้ว

        หลักใหญ่คืออะไร? คือหัวใจเราถึงความบริสุทธิ์ เพราะอำนาจแห่งธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้แจงแสดงบอกแนวทางให้รู้ทั้งเหตุและผล จึงเคารพไปหมด ดังท่านอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน

         ในห้องนอนใดที่ถูกนิมนต์ไปพัก ถ้ามีหนังสือธรรมะอยู่ต่ำกว่าท่าน ท่านจะไม่ยอมนอนในห้องนั้นเลย ท่านจะยกหนังสือนั้นไว้ให้สูงกว่าศีรษะท่านเสมอ ท่านจึงยอมนอน

         “นี่ธรรมของพระพุทธเจ้า เราอยู่ด้วยธรรม กินด้วยธรรม เป็นตายเรามอบกับธรรม ปฏิบัติได้รู้ได้เห็นมากน้อยเพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เราจะเหยียบย่ำทำลายได้อย่างไร! ท่านว่า “เอาธรรมมาอยู่ต่ำกว่าเราได้อย่างไร ท่านไม่ยอมนอน ยกตัวอย่างที่ท่านมาพักวัดสาลวันเป็นต้น ในห้องนั้นมีหนังสือธรรมอยู่ ท่านไม่ยอมนอน ให้ขนหนังสือขึ้นไว้ที่สูงหมด นี่แหละ! ลงเคารพละต้องถึงใจทุกอย่าง” เพราะธรรมถึงใจ

         ความเคารพ ไม่ว่าจะฝ่ายสมมุติไม่ว่าอะไรท่านเคารพอย่างถึงใจ ถึงเรียกว่า “สุดยอด” กราบพระพุทธรูปก็สนิท ไม่มีใครที่จะกราบสวยงามแนบสนิทยิ่งกว่าท่านอาจารย์มั่นในสมัยปัจจุบันนี้ เห็นประจักษ์ด้วยตากับใจเราเอง ความเคารพในอรรถในธรรมก็เช่นเดียวกัน แม้แต่รูปพระกัจจายนะ ที่อยู่ในซองยาพระกัจจายนะ พอท่านได้มา “โอ้โห ! พระกัจจายนะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้านี่! ท่านรีบเทยาออก เอารูปเหน็บไว้เหนือที่นอนท่าน ท่านกราบ “นี่องค์พระสาวก นี่รูปของท่าน” นั่น! “มีความหมายแค่ไหนพระกัจจายนะ จะมาทำเป็นเล่นอย่างนี้ได้เหรอ?” แน่ะ! ฟังดูซิ

         นี่แหละเมื่อถึงใจแล้ว ถึงทุกอย่าง เคารพทุกอย่าง บรรดาสิ่งที่ควรเป็นของเคารพท่านเคารพจริง นั่น ท่านไม่ได้เล่นเหมือนปุถุชนคนหนาหรอก เหยียบโน่นเหยียบนี่เหมือนอย่างพวกเราทั้งหลาย เพราะไม่รู้นี่ คอยลูบๆ คลำๆ งูๆ ปลาๆ ไปในลักษณะของคนตาบอดนั้นแล ถ้าคนตาดีแล้วไม่เหยียบ อันไหนจะเป็นขวากเป็นหนามไม่ยอมเหยียบ สิ่งใดที่จะเป็นโทษเป็นภัยขาดความเคารพ ท่านไม่ยอมทำ นักปราชญ์ท่านเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนคนตาบอดเหยียบดะไปเลย โดยไม่คำนึงว่าควรหรือไม่ควร (เสียงเครื่องบินดังไม่หยุด ท่านเลยหยุดเทศน์)


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก