นักรบ นักหลบ
วันที่ 3 ธันวาคม 2518 ความยาว 29.4 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

นักรบ นักหลบ

 

        การแสดงธรรมในครั้งพุทธกาล ทรงแสดงจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเป็นส่วนมาก จากนั้นก็สาวกแสดง ซึ่งล้วนแต่ถอดเอาธรรมของจริงออกมาจากใจล้วนๆ ไม่มีปลอมเลย จะเป็นสาวกแสดงก็ตาม พระพุทธเจ้าแสดงก็ตาม เพราะท่านรู้ธรรมของจริงและแสดงธรรมของจริงด้วยกัน ท่านรู้ธรรมที่ใจ แสดงออกมาจากใจ การแสดงธรรมลึกตื้น หยาบละเอียด มากน้อย จึงมีแต่ของจริง ซึ่งถอดออกมาจากใจล้วนๆ ผู้ฟังจึงดูดดื่ม ขณะที่ฟังก็เป็นภาคปฏิบัติไปในตัว

         จิต ได้รับความสงบเยือกเย็นในขณะฟัง และได้อุบายแปลกๆ ต่างๆ ในขณะฟัง จิตใจเพลิดเพลินต่อการสดับตรับฟังไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ผู้มีความมุ่งหวังต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อถอดถอนกิเลสอย่างเต็มใจอยู่แล้ว จึงถือการฟังเป็นสำคัญ และมีความพอใจในการฟัง ไม่มีความอิ่มพอ หรืออิดหนาระอาใจในการฟัง

         แม้สมัยปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น คราวที่ท่านอาจารย์มั่นท่านยังมีชีวิตอยู่ พอถึงวันประชุม พระรู้สึกยิ้มแย้มแจ่มใสว่าวันนี้จะได้ฟังธรรมจากท่าน ดูอากัปกิริยาองค์ไหน องค์ไหน ก็มีความกระหยิ่มยิ้มย่องทั่วถึงกัน เพราะท่านเคยได้อุบายจากการฟังมาเป็นประจำ และเป็นภาคปฏิบัติจิตตภาวนาไปในขณะฟังนั้นด้วย ซึ่งเกิดผลดีกว่าการปฏิบัติโดยลำพังตัวเอง

         การฟังธรรม ผู้ที่มาฟังนั้น มีภูมิจิตภูมิธรรมต่างกันเป็นลำดับลำดา ตั้งแต่พื้นๆ คือผู้ที่ฝึกหัดใหม่ๆ และผู้มีหลักฐานทางด้านจิตใจขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงธรรมส่วนละเอียด

         การแสดงธรรม ท่านจะเริ่มตั้งแต่พื้นๆ หมายถึงสมาธิภาวนาไปเรื่อยๆ และอธิบาย “สมาธิ” ตามขั้นของสมาธินั้นๆ ตามขั้นของ “ปัญญา” ขั้นนั้นๆ จนถึงที่สุดแห่งธรรม

         ท่านจะสรุปลงสู่ความพยายามของผู้ปฏิบัติธรรม ให้ต่างคนต่างมีแก่ใจ ในสมัยปัจจุบันเป็นเช่นนั้น ยิ่งผู้ปฏิบัติได้พรากจากท่านไปสู่สถานที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรในที่นั้นๆ บางทีเดือนหนึ่งก็มี สองเดือนก็มี กลับมาฟังธรรมจากท่าน นั่นแหละยิ่งได้ฟังธรรมเผ็ดร้อน ซึ่งทรงรสทรงชาติอย่างสมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากพระที่ท่านมาจากที่ต่าง ๆ เป็นเหตุ เวลามาถึงก็เล่าธรรมถวายท่าน ทั้งฝ่ายเหตุคือการปฏิบัติบำเพ็ญในสถานที่นั้นๆ การปฏิบัติอย่างนั้นๆ ผลเป็นอย่างนั้นๆ เล่าถวายท่านจบแล้ว ท่านก็เริ่มเทศน์

         คือการที่เล่านี้ ไม่ได้มาเล่าในที่ประชุม เวลามาถึงก็ไปหาท่านโดยเฉพาะ ท่านก็แก้ปัญหาข้อข้องใจตามจุดที่ควรแก้ให้ในขณะนั้นตอนหนึ่งแล้ว จุดไหนที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะทั่วไป ท่านก็นำมาอธิบายตอนประชุมกัน ตอนนี้แหละเป็นตอนที่น่าฟังมาก ไพเราะเพราะพริ้ง จับใจจนหาที่เปรียบมิได้

         บรรดาผู้ที่ได้รับการอบรมศึกษามาจากท่านในขณะนั้น จึงรู้สึกได้ผลได้ประโยชน์เป็นที่พึงพอใจมากทีเดียว

         ครั้งพุทธกาลเราทราบแล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานพระโอวาทเองและอบรมพระ เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ตามพุทธกิจที่พระองค์ทรงดำเนิน เมื่อพระองค์ประทานพระโอวาทแก่บรรดาพระสงฆ์ จิตทุกดวงก็ต่างตั้งไว้ในระดับพอดีกับกำลังความสามารถของตน ธรรมเทศนาที่ประทานออกมานั้น ย่อมล่วงไหลเข้าสู่จิตใจ โดยเฉพาะตามขั้นตามภูมิของแต่ละองค์ พอเหมาะพอสม พอดิบพอดี เรื่อยๆ ไป

         องค์ที่ภูมิจิตอยู่ในระยะนี้ เมื่อสดับธรรมจากท่านแล้ว ก็หายสงสัยในขั้นที่ตนกำลังบำเพ็ญ และติดอยู่โดยลำดับๆ เพราะธรรมะท่านบุกเบิกทางให้เราผ่านไป ทีละเล็กละน้อย ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ หลายครั้งหลายหนก็ผ่านไปได้ นั่นแหละที่ว่าพุทธบริษัทครั้งพุทธกาลฟังธรรมท่านได้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน เป็นจำนวนมาก จึงมีหลักฐานยืนยันในวงปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

         ประการหนึ่งครั้งพุทธกาล ใจคนผิดกันอยู่มากกับสมัยปัจจุบันนี้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในครั้งโน้น  ไม่ค่อยมีอะไรเป็นเครื่องกวนใจ และส่งเสริมกิเลสมากเหมือนปัจจุบันนี้ ซึ่งมองไปทางทิศใด ฟังไปทางทิศใด เต็มไปด้วย “เพชฌฆาต” เครื่องสังหารธรรม สังหารคนให้เสียหายและล่มจมไปอย่างสดๆ ร้อนๆ ไม่สมกับคำว่า “โลกเจริญ” สมกับการเรียนมาก รู้มากเลย

         ครั้งโน้นมีธรรมชาติ ธรรมชาติที่อาศัยกันอยู่เท่านั้น เหมือนอย่างจดหมายของหลวงพ่อองค์หนึ่งที่มีมาวันนี้เอง อ่านแล้วชื่นใจ ท่านพูดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่มีแต่ป่าแต่เขา เสียงนกและสัตว์ต่างๆ สนุกภาวนาตลอดกาล เรื่องยั่วยุกิเลสก็ไม่มาก คนก็ตรงไปตรงมา ธรรมก็เป็นธรรมของจริง เมื่อแสดงออกไปมากน้อย ก็เป็นที่ซาบซึ้งสำหรับผู้ฟังโดยลำดับลำดา เมื่อฟังแล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญของตนตามจริตนิสัย เมื่อเกิดข้อข้องใจอะไรก็มาทูลถาม พระองค์ก็ทรงชี้แจงให้ทราบ และประทานโอวาทให้ทั่วถึงกัน

         นี่เป็นธรรมประเพณีในครั้งพุทธกาล ท่านดำเนินมาโดยลำดับลำดา ถือการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญมาก ยิ่งกว่ากิจอื่นใดในวงพระศาสนา ผิดกับสมัยปัจจุบันนี้มาก

         สมัยนี้ เราทุกคนก็พอจะทราบกันได้ว่าเป็นอย่างไร

         ความเคลื่อนไหวของศาสนา และผู้ประพฤติธรรม มีผิดแปลกกันอยู่มาก ครั้งโน้นมีหลักเกณฑ์สำคัญประจำใจของนักบวช และพุทธบริษัททั่วไป คือการปฏิบัติเพื่อมรรคผล นิพพาน จริง ๆ การแสดงออกแห่งธรรม จากความรู้จริง เห็นจริง เป็นสิ่งที่แจ่มแจ้งชัดเจน ตามเหตุตามผลตามความสัตย์จริง ไม่มีคลาดเคลื่อนเลื่อนลอย ผู้ฟังก็ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะผู้แสดงธรรมไม่มีความสงสัยในการแสดง ว่าแสดงไปนั้น เห็นจะถูก หรือน่าจะถูก น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่มี! สำหรับท่านผู้รู้จริง เห็นจริงในธรรมโดยสมบูรณ์แล้ว ท่านแสดงอย่างตรงไปตรงมา เฉพาะอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ ไม่ปรากฏมีคำว่า “เห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้” แฝงอยู่ในโอวาทของท่านเลย ท่านสอนอย่างเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ตรงไปตรงมา ตามหลักความจริงแห่งธรรมแท้

         เวลาไปอยู่กับท่าน ก็เป็นเวลาหลายปี ไม่เคยได้ยินคำว่า “เห็นจะเป็นอย่างนั้น” มีแต่ว่า “ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้” และเน้นหนักลงไปอย่างเข้มข้นทีเดียว ฟังท่านเทศน์อย่างถึงใจ จิตใจมันพองขึ้นเหมือนว่า พระนิพพานนั้นจะเอื้อมถึงอยู่ในขณะนั้น

         ท่านเทศน์เปิดทางให้มองเห็นของจริง จริง ๆ แต่มันไปไม่ได้ เหมือนกับเอื้อมมือถึงอยู่ แต่จับไม่ได้ เป็นลักษณะนั้น นี่แหละการเทศน์ออกมาจากความรู้จริงเห็นจริง ผลจึงต่างกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าทรงแสดงเองก็เป็นอย่างนั้น บรรดาพระสาวกแสดงก็เป็นอย่างนั้น ท่านพระอาจารย์แสดงก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะท่านรู้จริง เห็นจริง เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าในความบริสุทธิ์ ส่วนธรรมอื่นๆ นั้น ก็เป็นไปตามภูมิวาสนาของท่าน แต่เรื่อง “สัจธรรม” นั้นเป็นความแจ่มแจ้งสมบูรณ์เต็มที่ภายในใจด้วยกัน ถึงขั้นพระอรหันต์แล้วต้องสมบูรณ์เต็มที่

         การแสดงธรรมออกจากความจริงทั้งหลายดังกล่าวนี้ จึงแสดงได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถเต็มธรรม เต็มใจ ไม่มีสงสัย ไม่มีสะทกสะท้าน ว่าอันนั้นน่าจะถูก อันนี้น่าจะถูก ไม่มีในจิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะท่านรู้จริงเห็นจริง อย่างแจ่มแจ้งไม่มีอะไรสงสัย

         การแสดงธรรม จะเป็นประเภทใดก็ตาม ท่านแสดงได้โดยละเอียดทั่วถึง สมาธิก็แจงไปอย่างละเอียดลออ แสดงถึง “ฐานของสมาธิ” ปัญญาทุกขั้น แสดงให้ถึงฐานของปัญญานั้นๆ จนถึงขั้น “วิมุตติ หลุดพ้น” แสดงออกมาจากใจจริง ที่รู้จริง เห็นจริงแล้ว

         ผู้ฟังก็สามารถเข้าใจได้ แม้จะยังละยังถอนไม่ได้ ก็เป็นเครื่องปลูกศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความตั้งมั่นภายในใจ ให้มีความแน่นหนามั่นคงขึ้นได้โดยลำดับ ๆ ท่านจึงตักตวงเอามรรค เอาผล นิพพาน กันเรื่อยมาไม่ขาดวรรคขาดตอน

         สมัยโน้นเป็นสมัยตักตวงมรรค ผล นิพพาน เป็นสมัยตักตวงข้อวัตรปฏิบัติ การบำเพ็ญก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มกำลัง ผลที่พึงได้รับจึงเป็นที่พึงพอใจ

         สมัยของพวกเรานี้เป็นสมัย “ลูบคลำ” ลูบนั้น คลำนี้ คลำไปคลำมา ก็ได้แต่ความสกปรกโสมมเต็มหัวใจ สิ่งเป็นอรรถเป็นธรรม พอจะเป็นเครื่องถอดถอนกิเลสไม่มี มีแต่เครื่องพอกพูนกิเลส เรียนหรือจดจำมาได้มากน้อย ก็มีแต่เรื่องจะพอกพูนกิเลสแทบทั้งนั้น มันตรงกันข้ามกับสมัยพุทธกาลอย่างมากจนไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

         จะว่า “ธรรมไม่มีผล” สมัยนี้ ก็ถูก เพราะคนไร้ผล เนื่องจากความไร้เหตุ เหตุที่จะเป็นไปเพื่อผลนั้นๆ ไม่ค่อยมี หรือไม่มี ผลจะมีได้อย่างไร! ไร้เสียหมด! ไม่สนใจ ไม่ประพฤติปฏิบัติ ผลจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะผลเกิดขึ้นจากเหตุตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

         เหตุดีผลดี เหตุเต็มที่ ผลก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย เหตุไม่มี ผลจะเอามาจากไหน ธรรมก็สักแต่ว่าธรรมที่มีอยู่ในตู้ ในหีบ ในคัมภีร์ใบลาน ที่ท่านแสดงไว้อย่างไรก็มีอยู่อย่างนั้น ถ้าคนไม่ประพฤติปฏิบัติให้เป็นไป ผลก็ไม่ปรากฏ

         เรื่องของกิเลส ก็อยู่กับใจของคน ไม่อยู่กับตำรับตำรา ในตำรับตำรามีแต่ชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะ มีแต่ชื่อของ มรรค ผล นิพพาน ตัวกิเลสจริงๆ และ มรรค ผล นิพพาน จริงๆ อยู่ที่ใจ ซึ่งอยู่กับบุคคล

         เมื่อตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ตั้งใจถอดถอนกิเลสอาสวะต่างๆ ที่มีอยู่ในหัวใจ อย่างจริงจัง ทำไมจะถอนไม่ได้ เพราะธรรมเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส มาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วและพร้อมที่จะถอนเสมอ ถ้าเรานำธรรม คือเครื่องมืออันถูกต้องไปถอดถอนจริงๆ ดังพระพุทธเจ้า และพระสาวก ท่านดำเนินมา และสั่งสอนไว้แล้ว เพราะฉะนั้นสมัยโน้นกับสมัยนี้ จึงไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกัน เพราะกิเลสบาปธรรมมีอยู่ที่ใจด้วยกัน จงพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดมัน ตามหลักธรรมที่ประทานไว้โดยถูกต้องแล้วนั้น

         คำว่า “กิเลส” นั้น ถ้ามันเป็นตัวของเรา เราเป็นกิเลส กิเลสเป็นเรา มันก็ไม่น่ากลัว น่าขยะแขยง นอกจากรัก ชอบ และพอใจ เพราะมันกลายเป็นเรื่อง “ของเรา” แต่ถ้าแยกกิเลสออกจากเรา เรากับกิเลส ก็ถือว่าเป็นข้าศึกกัน และมีท่าทางต่อสู้กัน นั่นแลกิเลสจะเป็นของน่ากลัวมากขึ้น การต่อสู้เพื่อเอาชนะกิเลสด้วยหลักธรรม ก็จะมีกำลังมากขึ้นตามๆ กัน

         ในวงผู้ปฏิบัติเพื่อฆ่ากิเลสจริง เมื่อเวลากิเลสกระเพื่อมตัว เป็นความรัก เป็นต้น ท่านจะปราบทันที ไม่ได้รอแม้นาที ต้องปราบหรือกำจัดกันในเดี๋ยวนั้นนั่นแล ไม่ยอมให้ขวางใจอยู่ได้นาน เพราะความเห็นโทษของมัน

         ฉะนั้น คนเรา ถ้าถือ ความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด เป็นต้น ที่เป็นกิเลส ว่าเป็นตน จะไม่สนใจแก้ไขเลย นอกจากจะส่งเสริมให้พอกพูนขึ้นถ่ายเดียว ดังโลกทั่วไปปฏิบัติกันมา ตั้งกัปตั้งกัลป์ ไม่มีใครเห็นโทษของมันบ้างเลย จึงยากแก่การสั่งสอน และการฟัง การปฏิบัติ ทั้งสองฝ่าย การจะฆ่ากิเลสเพียงแต่ละตัวก็เท่ากับเจ้าของจะถูกฆ่าด้วย จึงไม่มีใครค่อยสนใจชำระสะสาง หรือฆ่ามัน กลัวความสุขซึ่งราวกับเนื้อติดฟันนั้นจะสิ้นไป ราวกับกิเลสเป็นตัวให้ความสุขแก่โลกอย่างแท้จริงนั่นแล

         ด้วยเหตุนี้ การทำความดีที่จะกะเทาะเปลือกกิเลสบ้าง จึงไม่มีใครอยากทำกัน แต่ความอยากพ้นทุกข์นั้นรู้สึกว่าเกินตัว จึงเข้ากันไม่ได้ ระหว่างสุขล้วน ๆ กับคนที่เป็นคลังกิเลส เพราะไม่กล้าแตะกิเลส กลัวเจ้าของผู้แตะถูกทำลายด้วย ไม่ว่าท่านว่าเราจึงอยู่กันด้วยความคลุกเคล้ากับทุกข์ประเภทต่างๆ เรื่อยมา และจะเรื่อยไป ไม่กังขา

         ตามความจริงทางของนักปราชญ์ท่าน ท่านตำหนิและกลัวกิเลสมาก เพราะเป็นสาเหตุ ก่อภัยน้อยใหญ่ ไม่มีประมาณเรื่อยมา ไม่มีลดหย่อนผ่อนเบาลงบ้างเลย ท่านจึงสอน “ให้ฆ่ามันเสีย” ราคะ โทสะ โมหะ ตลอดบริวารของมัน ท่านกลัวและสอนให้ฆ่าเสียสิ้นไม่มีเหลือ ซึ่งเท่ากับเหลือทุกข์ไว้เผาตัวนั่นแล เมื่อหมดสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็เท่ากับ “หมดภัย หมดเวร” ไม่มีอะไรมาเขย่าก่อกวนอีกต่อไป

         เพราะฉะนั้นความโลภ ซึ่งเป็นพ่อ เป็นปู่ ของกิเลสทั้งหลาย ก็เท่ากับเสือร้ายใหญ่ตัวหนึ่ง ที่กัดและกินไม่เลือก คือโลภไม่เลือกกาลสถานที่เวล่ำเวลา คนตายฉิบหายวายปวงไปเพราะอำนาจแห่งเสือร้าย คือความโลภนี้มากมาย แต่ใครไม่อาจทราบได้ ความโลภนี้ มันยังมีอำนาจหลอกปิดป่าช้าได้ด้วย ผู้โลภมากจึงราวกับจะตายไม่เป็น กับโลกเขาเหมือนไม่มี “ป่าช้า” แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่มี รูปร่าง หัวหาง กลางตัว แต่ตัวมันเหมือนมนุษย์และสัตว์ ฉะนั้นจึงไม่มีใครกลัวกัน ถ้ามีรูปร่างเหมือนเสือละก็ ใครก็เผ่นเอาตัวรอดเพราะความกลัวตาย ถ้า ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นตัวเป็นตน ก็คือเสือร้ายเราดี ๆ นี้เอง ใครจะไปกล้าหาญต่ออำนาจของมันได้ ก็ต้องกลัวกันทั้งนั้นแล

         เอ้า! ถ้าราคะก็ดี โลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี เหล่านี้ เป็นรูปเป็นร่างเช่นเดียวกันหมด สมมุติว่า “ราคะ” นี้ ก็คือไฟทั้งกอง ความโลภ ก็คือยักษ์ใหญ่ตัวหนึ่ง โทสะ ก็คือเสือร้ายตัวหนึ่ง โมหะ ก็คือไฟสุมกองแกลบใหญ่กองหนึ่ง ลักษณะท่าทางของมัน น่ากลัวต่างๆ กัน ต่างก็เคยทำลายคนและสัตว์มามากต่อมาก ถ้านำศพคนตายมากองไว้ ก็กองจรดเมฆ ใหญ่กว่าภูเขาทั้งโลกที่มารวมกันเข้าเสียอีก เพราะสิ่งเหล่านี้สังหารทำลาย แต่เวลานี้มันถูกฆ่าตายแล้ว หามมาทิ้งไว้ที่นี่ เอ้า! ประกาศให้โลกมาดูกัน แต่ละตัว ละตัว ร้ายกาจที่สุด! โลกพินาศฉิบหายเพราะมันมามากต่อมากแล้ว มันได้ถูกฆ่าแล้ว ใครจะต้องการดู ก็มาดูหน้าตาของมันที่ร้ายกาจมากเสียให้เต็มตา ว่ามันน่ารัก หรือน่ากลัวขนาดไหน

         เมื่อต่างคนต่างมาดู ก็ได้เห็นตัว “มหาภัย” อย่างเต็มตา หน้าตื่น และกลัวตัวสั่นขวัญหนีดีฝ่อไปตามๆ กัน คนเราเมื่อเห็นโทษประจักษ์ตา ประจักษ์ใจแล้ว ย่อมกระเสือกกระสนหาทางออกจนได้ ไม่ยอมนอนกอดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหาอยู่ด้วยความหลงเพลิน ดังที่เคยเป็นมา และเป็นอยู่แน่นอน เพราะความจริงแล้ว ใครจะเป็นสัตว์ขี้ขลาดกลัวยิ่งกว่ามนุษย์เราไม่มี! เมื่อไปเจอมหาภัยอย่างจัง ๆ ด้วยตาตัวเองแล้ว

         ต้องมีแก่ใจ และพอใจที่จะถอดถอนและฆ่ามัน ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งสามอย่างนี้แล คืออสรพิษ ตัวร้ายกาจที่สุดในโลกทั้งสาม ถ้าแยกออกมาเป็นตนเป็นตัวแล้ว เรียกว่า “จอมโลก” ผู้บังคับบัญชาผู้คนให้รบราฆ่าฟันกัน การก่อความพินาศฉิบหายให้แก่โลก ก็คือตัวไฟสามกองพลนี้แล

         ใครต้องกลัวกันทั้งนั้น ถ้าหากเราแยกตัวของกิเลสออกมาได้อย่างยิ่งต่างคนต้องต่างกลัว จนตัวสั่น นั่นแล แต่เมื่อ กิเลสกลับมาเป็นตัวของเราเสียเองแล้ว เราไม่สามารถจะแยกได้ เรากับกิเลสก็จำต้องอยู่ด้วยกัน เพราะความไม่รู้ว่ากิเลสมาเป็นเรา และเราเป็นกิเลส กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความโลภนี้ มันโลภได้วันยังค่ำไม่มีถอย จะเอาให้ตายกับความโลภก็ได้ ความโกรธ โกรธจนตาดำตาแดงก็โกรธได้ ด้วยความไม่รู้สึกตัวว่าผิด จึงพอใจโกรธ ความหลง หลงไม่มีวันตื่นตัวพอได้สติบ้างเลยก็หลงได้  เพราะกิเลสทั้งมวลเป็นเรื่องของเราเสียเอง เรายึดมันว่าเป็นเรา มันก็ไม่เห็นอะไรว่าเป็นภัย ทั้งๆ ที่มันเป็นภัยแก่ตัวอยู่เรื่อยมา ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่ากิเลสที่มีอยู่ในจิตใจของเรา แม้ล้วนเป็นภัยด้วยกันก็ตาม แต่เราก็ไม่เห็นว่ามันเป็นภัย จึงอยู่ด้วยกันได้ยังงี้แหละ

         เอ้า เกิด ก็เกิด ทุกข์ ก็ทุกข์ เสียใจ ก็เสียใจ เพราะอำนาจกิเลสพาให้เป็นไป เพราะกิเลสเป็นเรานี่ ถึงขนาดจะสลบไสล ก็พอใจสลบไสล เสียใจ ขนาดตั้งสติไม่ได้ แทบเป็นบอเป็นบ้าไป มันก็พอใจเป็นไปตามกิเลส ร้องไห้ ก็พอใจร้องไห้ เพราะถือว่ากิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลส

         ถ้าพิจารณาแยกระหว่างกิเลสกับเราออกดูบ้างพอรู้เรื่องกัน เราจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ต้องมีท่าต่อสู้กัน เมื่อมีท่าต่อสู้กัน ก็ต้องมีความแพ้ ความชนะกันจนได้ และเห็นภัยของกันและกัน อย่างชัดเจนละทีนี้

         การประพฤติปฏิบัติตนก็เข้มแข็ง ความคิดในแง่ใด ที่จะเป็นไปเพื่อความนอนใจเป็นไปเพื่อความสั่งสมกิเลส เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ตน เป็นไปเพื่อความล่าช้า ย่อมถือว่ามันเป็น “ภัย” เช่นเดียวกันหมด เหล่านี้ คือ ลูก หลาน เหลนของกิเลส ถ้าไม่ใช่กิเลสตัวจริง ก็คือ ลูกเต้าหลานเหลนของมัน มันเป็นลูกเต้าเหล่ากอของเสือทั้งนั้นแหละ แม่มันเป็นเสือ พ่อมันเป็นเสือ ลูกมันจะเป็นอะไร ถ้าไม่เป็นเสือน่ะ คิดดูตรองดูก็พอทราบได้ ไม่สงสัย

         ฉะนั้น จงพยายามฆ่ามันไปเรื่อยๆ ด้วยความเห็นโทษของมัน พยายามแยกกันออก อุบายของสติปัญญาที่จะแยกกิเลสกับตัวออกต้องแยกอย่างนี้ คือ หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลง หลายแง่ หลายกระทง ย่อมผ่านพ้นไปได้ ถ้าไม่หาอุบาย เอาอะไรมาแก้เครื่องผูกมัดตัวเรากับกิเลส ก็กอดคอกันตายตลอดกัปตลอดกัลป์ ไม่มีวันผ่านพ้นกองทุกข์ ความทรมานกาย ทรมานใจไปได้

         ท่านว่า “วัฏวน วัฏเวียน” ไม่มีต้นไม่มีปลาย คือไม่ทราบว่าต้นทางอยู่ที่ไหน ปลายทางอยู่ที่ไหน วนเวียนกันอยู่เหมือนมดไต่ขอบด้ง ที่วนไปเวียนมา ไต่ไปไต่มา หาทางออกไม่ได้

         เรื่อง “วัฏสงสาร” กับ “หัวใจของสัตว์โลก” มันก็วกไปเวียนมาอยู่อย่างนั้น มาทีไรก็มาตื่นแต่ของเก่านั่นแล เกิดเท่าไรก็ว่าตนไม่เคยได้เกิด ตายเท่าไรก็ยังเข้าใจว่าตนไม่เคยตาย ไม่เคยทุกข์ ไม่เคยลำบากมาแล้ว เรื่องของตัวแท้ ๆ ก็ไม่ทราบได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ยังจะอวดฉลาด ให้กิเลส “วัฏวน”  หัวเราะเยาะเย้ยอยู่หรือ ถ้าไม่อายตัวเองก็ควรอายกิเลสบ้าง พอมีทางออกจากมัน แม้ไม่ได้มากก็นับว่าเป็นผู้เห็นภัย ความเห็นภัยและพยายามแก้ไขอยู่เสมอ วันหนึ่งจนได้ที่จะทราบหน้าทราบตาของมันอย่างชัดเจน และพยายามแยกมันออก แยกกันออก ตัวนี้ก็เห็นชัด ตัวนั้นก็เห็นชัด ตัวนี้ก็เป็นภัย ตัวนั้นก็เป็นภัย ตัวไหนก็เป็นภัย สิ่งที่ยังแก้ไม่ได้ ก็เห็นว่าเป็นภัย

         พยายามเข้าไป เหมือนเราพยายามถอนเสี้ยนหนามออกจากเท้าเรานี่แหละ ถอนออกมาได้แล้ว นี่ก็คือหนาม ที่ยังถอนไม่ได้ก็คือหนาม แล้วจะนอนใจได้อย่างไร พยายามถอนออก ถอนออกได้ จนไม่มีอะไรติดอยู่ที่ฝ่าเท้า แล้วหายามาใส่เสีย ให้หายเป็นปกติ นั่น!

         กิเลส ที่รู้เห็นแล้ว ก็เป็นอันรู้เห็นแล้ว ที่ฆ่าตายแล้ว ก็เป็นอันว่าตายแล้ว ส่วนที่ยังอยู่ ก็คือกิเลสประเภทเดียวกัน มันจะต้องเสียดแทงจิตใจเราอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกันถ้าแยกไม่ได้ หรือถอดถอนมันไม่ได้

         ความมุ่งมั่น ความมุมานะที่จะแก้มันไม่ลดละ ย่อมแก้ไปได้โดยลำดับ พระพุทธเจ้าทรงเป็นแนวหน้าแห่งนักรบ สาวกอรหัตอรหันต์ท่านเป็น “ลูกนักรบ” เราเป็นพุทธบริษัท ก็คือลูกของนักรบ อย่าเป็น “นักหลบ” ก็แล้วกัน ให้เป็นนักรบไปเรื่อย ๆ สู้กันไปเรื่อย ๆ เราสู้เพื่อชัยชนะยกตนขึ้นจากหล่มลึก จะยากลำบาก ก็ต้องยกจนขึ้นได้ ถ้าเราไม่ยก ใครจะยก เราไม่ถอน ใครจะถอนหนามออกจากตัวเอง ความเจ็บเป็นของเรา เราเป็นผู้เจ็บ การถอนหัวหนามออก ต้องเป็นเรื่องของเรา เราเป็นผู้ถอน เราจะเป็นผู้หายจากความเจ็บปวด

         กิเลสเสียดแทงใจ ก็คือใจเรา มันเสียดแทงอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง เป็นของดีเมื่อไร จงพยายามถอดถอนออกเป็นลำดับๆ สติปัญญาคิดขึ้นมา หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงต่างๆ สติปัญญาเป็นสิ่งที่ผลิตได้ พิจารณาได้ ต้องพิจารณา อย่านอนใจ คิดค้นขึ้นมาให้เกิดอุบายปัญญาต่างๆ แตกแขนงออกไปไม่มีสิ้นสุด

         ครูบาอาจารย์ก็เป็นแต่เพียงผู้แนะให้ หรือหยิบยื่นอุบายให้เรา ปัญญาก็ยื่นให้ทั้งดุ้น เราจึงเอาปัญญาทั้งดุ้นที่ท่านแสดงนั้น ไปแจงออกโดยอุบายต่างๆ เพื่อแตกแขนงออกไป นั่นแหละเป็นอุบายของเราแท้ แล้วกินตลอดวันอวสานแห่งชีวิตก็ไม่หมด สิ่งใดที่เราผลิตขึ้นเองได้ สิ่งนั้นเป็นสมบัติของเราแท้ ใช้ตลอดไปไม่มีวันหมดสิ้น ไม่เหมือนการหยิบยืมจากท่านผู้อื่นมาใช้ การไปหยิบยืมเขามาใช้นั้นมันหมดได้ หลุดไม้หลุดมือ แตกเสียบ้าง สูญหายกระจายไปเสียบ้าง ถ้าเราผลิตขึ้นมาได้ไม่เป็นไร! เอ้า! ใช้หมดไป ผลิตขึ้นมาใหม่ อันนี้แตกไป ผลิตอันนั้นมาแทน ผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ คนมีปัญญาอยู่กับตัวย่อมไม่จนตรอก กิเลสพาคนจนตรอกจนมุม ปัญญาไม่พาให้คนจนตรอกจนมุม สามารถแทงทะลุปรุโปร่งไปได้ด้วยอำนาจของปัญญา

         “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” นั่น! ภาษิตท่านก็ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ปัญญานี้แทงทะลุเข้าไปได้หมด ทุกหนทุกแห่งทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าข้างบน ข้างล่าง อดีต อนาคต ปัจจุบัน ข้างใน ข้างนอก หยาบ ละเอียดของกิเลส ความมืดดำอยู่ที่ไหน กิเลสอยู่ที่นั่น ปัญญาสามารถแทงทะลุปรุโปร่งไปได้ไม่จนมุม กิเลสหาที่หลบซ่อนไม่ได้ และถูกฆ่าตายทุกวันทุกเวลา ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย คือ สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความเข้มแข็ง บึกบึน อดทน ของนักปฏิบัติผู้เอาจริงเอาจัง หวังพึ่งเป็นพึ่งตายกับธรรม ไม่มีการสั่งสมกิเลสขึ้นมาให้รกรุงรังในหัวใจ มีแต่ขุดค้นทำลายโดยถ่ายเดียว

         กิเลสนับวันหมดไป ที่ยังเหลือ ตายไม่หมด ก็หลบซ่อนและหมอบราบลงไป เอ้า! ฆ่ามันลงไป ค้นเข้าไป ฆ่ามันเรื่อยไปด้วย “ตปธรรม”

         “ตปธรรม” คือความเพียร เครื่องแผดเผากิเลส เอาให้กิเลสฉิบหายไปโดยลำดับๆ จนไม่มีเหลือ กิเลสจะสร้างบ้านสร้างเรือนอยู่ที่ไหนอีก หรือจะพาลูกเต้าเหล่ากอของมันมาจากไหนอีก เมื่อถูกฆ่าไปวันหนึ่งๆ หลายๆ ตัว หลายๆ ชนิดแล้ว มันต้องหมดไป หมดไป ผลสุดท้าย ไม่มีกิเลสเหลืออยู่ภายในใจอีกเลย

         ใจก็สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาเต็มดวง ตามธรรมชาติของตน ฉายแสงออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ นี่! อำนาจแห่งธรรมแสดงขึ้นมาจากใจเต็มที่แล้ว!

        ส่วนอำนาจกิเลส แสดงความมืดดำในดวงใจมาประจำภพน้อยภพใหญ่ แม้เช่นนั้นสัตว์โลกก็ติดมันอยู่ทุกวี่ทุกวัน ทุกภพทุกชาติ การได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะกิเลสเท่านั้น การชำระกิเลสแม้จะหนักหรือลำบากเพียงไร ก็เป็นงานที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อยกตนให้พ้นภัย เพราะคนเรามีคุณค่า มีน้ำหนักมากยิ่งกว่าความลำบากในการถอดถอนกิเลสเสียอีก เราต้องพยายามตะเกียกตะกายตามครู คือ พระศาสดาผู้ทรงลำบากทรมานเพราะความเพียรมาแล้วไม่มีใครกล้าแข่ง จะสมนามว่า “เป็นลูกศิษย์มีครู”

         ธาตุขันธ์พิจารณาให้ดี แยกแยะให้ละเอียดลออ จะพิจารณากี่ครั้งกี่หน กี่ตลบทบทวนก็ตาม พิจารณาให้เห็นชัดเจน เอาจนชำนิชำนาญ ชำนิชำนาญแล้วยังไม่พอ พิจารณาจนรู้จนกระทั่งปล่อยวาง เมื่อรู้จริงเห็นจริงแล้วก็ปล่อยวางไปเอง ไม่ต้องบอกไม่ต้องบังคับ เมื่อรู้แล้ว เช่นเดียวกับเราจับอสรพิษขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นอาหาร พอทราบว่าเป็นอสรพิษเท่านั้น มันสลัดทิ้งทันที นี่แหละปัญญา!

        เมื่อได้เห็นจริงในสิ่งเป็นพิษเป็นภัยแล้วก็สลัดปัดทิ้งไปเลย สติปัญญาเป็นผู้บุกเบิกทาง เป็นผู้ชี้แจงว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก พอพิจารณาทราบแล้ว ก็ปล่อยวางเอง ปล่อยเองโดยลำดับๆ

         การปล่อยอุปาทาน ก็คือ การปล่อยภูเขาทั้งลูกออกจากใจเรานั่นแล! ภูเขาอันหนักยิ่งได้แก่กิเลส มากหรือน้อย ก็เท่าตัวเรานี้แหละ ถอดถอนหมดแล้ว ก็ หมดพิษภัยในใจเรา ท่านว่า “บรมสุข!”

        ที่เป็น “บรม” ไม่ได้ ก็คือ กิเลสตัวมืดดำเท่านั้นเอง ปิดบัง กดถ่วง และลดคุณค่าของใจลง ใจทั้งดวงเลยไม่มีคุณค่า พอเอาสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและครอบหัวใจ ออกหมดด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร แล้วจิตที่เคยไม่มีคุณค่า ก็แสดงตัวขึ้นมาด้วยความสว่างกระจ่างแจ้งอย่างเต็มที่ และมีคุณค่าเต็มภูมิ

         ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านประเสริฐ ก็ประเสริฐที่จิตนี้เอง สาวกอรหัตอรหันต์ท่านก็ประเสริฐที่จิตนี้  หลุดพ้นที่จิตนี้ ไม่หลุดพ้นที่ไหน เพราะผู้นี้เป็นผู้ติด ผู้ข้อง ผู้คา ผู้โลภผู้โกรธ ผู้หลงอยู่ที่นี่ เมื่อถอดถอนเอาสิ่งที่ปิดบังกดถ่วงออกหมดแล้ว ใจก็ดีดขึ้นมาที่นี่ ผ่านไปที่นี่ พ้นไปที่นี่ การพ้นทุกข์ พ้นที่ใจ ไม่ได้พ้นที่ไหน พ้นที่ใจนี้เอง!

         ร่างกายมีอยู่ก็ไม่เป็นปัญหา เมื่อจิตใจผ่านพ้นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคต่อใจแล้ว แม้ว่าร่างกายจะเจ็บปวด หรือจะเป็นจะตาย ก็ทราบว่าเป็นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ ร่างกายทั้งหมดนี้ เป็นเช่นเดียวกับสิ่งภายนอกนั้นแหละ มีการตั้งขึ้นแล้ว สลายตัวลงไป อันนี้มันตั้งขึ้นเราก็เห็นแล้ว ตั้งอยู่เราก็เห็นแล้ว มันค่อยแปรของมันไปเป็นลำดับ ๆ เราก็เห็น เราก็รู้อยู่ทุกวัน เพราะเราดูอยู่ เนื่องจากเป็นของของเรา ที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู ยิ่งพิจารณาด้วยปัญญาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดตามความแปรสภาพของขันธ์ มันแปรไป แปรไป ถึงวาระสุดท้ายก็กระจายกันไปหมด! มันกระจายของมันเอง ขันธ์มันแตกของมันเอง เพราะมันตั้งของมันเอง แล้วมันก็แตกของมันไปเอง ไม่มีใครบังคับให้แตกให้สลาย

         ใจของเราซึ่งเป็นผู้รู้ ก็รู้ให้ชัด ถึงความจริงของขันธ์ ก็ยิ่งเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้มีความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้น ด้วยอำนาจของปัญญา ที่แทงทะลุปรุโปร่งตามความจริงทั้งหลายที่แสดงตัวอยู่รอบด้านตลอดเวลา แล้วอะไรจะฉิบหายทีนี้? เมื่อต่างอันต่างจริงด้วยกันแล้ว ไม่มีอะไรจะฉิบหาย!

        เอ้า พรากลงไป อยากเป็นดินก็เป็น ส่วนที่เป็นดิน ไม่ต้องบอกมันก็เป็นของมันเอง ส่วนที่เป็น ลม ไฟ มันก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ต้องบอกมันก็เป็นของมัน เราไม่ต้องไปปรุงไปแต่งมัน ว่าให้เป็นอันนั้น เป็นอันนี้ มันเป็นของมันเอง เมื่อเข้าถึงความจริงกันแล้ว

         ส่วนจิตก็จริงของจิตเอง ไม่ต้องไปเสกสรรว่า จริงหรือไม่จริง  เพียงแต่ให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามความจริงเท่านั้น จิตก็จริงของจิต เมื่อต่างอันต่างจริงแล้ว ก็ไม่กระทบกระเทือนกัน ไม่มีความว่าได้ว่าเสียกัน ที่นี่ปกติอยู่ตัว หมดเรื่องหมดราว

         ขันธ์ก็ไปเสีย จิตก็จากไปเสีย เป็นวาระสุดท้าย สิ้นสุดกันเสียที เรื่องความยุ่งเหยิงเกี่ยวกับธาตุขันธ์!

        “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล” หมดกันเสียที ดังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว หมดความกังวลโดยประการทั้งปวง

         ผู้ยังครองขันธ์อยู่ แม้จิตบริสุทธิ์แล้วก็ยังต้องรับผิดชอบในธาตุในขันธ์อยู่ จึงไม่ใช่ “อนุปาทิเสสนิพพาน” อย่างเต็มภูมิ เพราะความรับผิดชอบ รับภาระ ด้วยการพาเดิน พายืน พานั่ง พานอน ประคับประคองกันด้วยอิริยาบถต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ มันเป็นความกังวล มันยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

         เมื่อมันสลัดกันไปเสียหมด จิตก็บริสุทธิ์เต็มที่ ธาตุขันธ์ออกจากกายก็ลงเป็นธาตุเดิมของเขาเสีย ต่างอันต่างจริง จิตก็ผ่านไปเลย สิ้นกังวล “อนาลโย” หมดอาลัยอย่างเต็มภูมิ นี่เรียกว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” สลัดสมมุติเต็มภูมิของสมมุติ วิมุตติไปเต็มภูมิของ “วิมุตติ” ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกเหมือนเวลาที่ยังครองขันธ์อยู่

         นี่แหละการปฏิบัติธรรม ผลที่จะพึงได้รับขั้นสุดท้ายขั้นสุดยอดเป็นอย่างนี้!

        ความลำบากลำบนมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นอุปกรณ์หรือเป็นเครื่องอุดหนุนจิตใจให้ก้าวขึ้นมาเป็นลำดับๆ จนกระทั่งถึงระดับ “สุดยอด” เพราะฉะนั้นความลำบากลำบนอะไร จึงไม่ใช่สิ่งที่ควรจะอิดหนาระอาใจ เพราะมันเป็นเครื่องหนุน ลำบากก็ลำบากเพื่อหนุนนี้จะเป็นอะไรไป เร่งให้หนักมือ ขี้เกียจตาย เกิดและ “กุสลา ธมฺมา” อยู่ไม่หยุดไม่ยั้งเราสร้าง “กุสลา” ภายในจิตใจไว้ให้เพียงพอเสียเวลายังมีชีวิตอยู่ จะหายห่วง

         “กุสลา ธมฺมา” แปลว่า ความฉลาด หาอุบายความฉลาด แก้กิเลสภายในจิตใจได้เป็นพอ ตายแล้วใครจะ “กุสลา” หรือไม่กุสลา ไม่มีปัญหาอะไรเลย เราสร้าง กุสลา รอบจิตใจของเราแล้ว เป็นพอตัวกันไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น

         ถ้าจิตนี้มันยังโง่อยู่ มันยังไม่รู้หน้ารู้หลังอะไรเลย จะ “กุสลา ธมฺมา” เท่าไร มันก็เท่าเดิมนั่นแหละ ท่านให้เราสร้าง “กุสลา ธมฺมา” ให้เต็มภูมิ ส่วน “อกุสลา ธมฺมา” คือ ความโง่ ให้กำจัดมันออกไป ความโง่ คือ กิเลส กุสลา ธมฺมา คือความฉลาด ปัญญาขัดกันลงไป ถูไถกันไป จนผ่องใสบริสุทธิ์เต็มที่ จะว่า “อพฺยากตา ธมฺมา” ก็ได้ หมดแล้วเรื่องบุญเรื่องบาปภายในจิตใจ! เราแยกไปได้ถึง “ปรมัตถธรรม”

         คำว่า “อพฺยากตา ธมฺมา” เป็นสิ่งกลาง ๆ ไม่บุญไม่บาปในบรรดาสมมุติทั้งหลายก็ได้ เราจะแยกออกไปเป็น “อัพยากตาจิต” คือจิตที่พ้นแล้วจากบุญจากบาป ด้วยประการทั้งปวง เป็นจิตของ “ปุญญปาป ปหินบุคคล” ผู้มีบุญและบาปอันละเสียแล้ว เป็น อัพยากตาจิต ก็ถูก ถึงขั้นนี้แล้วไม่เถียงใคร

         ใครจะให้ชื่อให้นามก็ได้ ไม่ให้ชื่อให้นามก็ได้ ไม่มีปัญหา เพราะธรรมชาตินั้นอยู่กับตัว ตัวเป็นผู้ทรงไว้ ตัวเป็นผู้รู้ ตัวเป็นผู้เห็น ตัวเป็นผู้บริสุทธิ์ จำเป็นอะไรที่จะไปหิวโหยกับชื่อกับนามของมันอีกล่ะ ท่านจึงว่า “หมดปัญหา”

         ทุกข์เพราะความเพียรเพื่อถอดถอนกิเลส มันเป็นความทุกข์ที่เพลิน เพราะมีสิ่งที่ได้มา ทำให้เพลิดเพลินรื่นเริงด้วยผลที่เกิดขึ้นจากความทุกข์ความลำบากในการบำเพ็ญ เกิดขึ้นมาเป็น “ความเบาอกเบาใจ” ถอดถอนกิเลสตัวนั้นได้ กิเลสตัวนี้ได้เป็นลำดับๆ เป็นความเพลิดเพลิน

         เมื่อปฏิบัติถึงธรรมขั้นสูง ท่านเรียกว่า “อุทธัจจะ” ความฟุ้ง คือเพลิน ไม่ใช่อะไรดอก ไม่ใช่ฟุ้งแบบโลกสงสารดอก คือ มันเพลินต่อการพินิจพิจารณาธรรมต่างๆ เพลินต่อการถอดถอนกิเลสชนิดต่างๆ ด้วยปัญญาต่างหาก จนลืมหลับลืมนอน ลืมเข้าที่พักในสมาธิภาวนา มีแต่ปัญญาหมุนติ้วๆ เป็นเกลียวอยู่ เป็นความเพลิน ท่านเรียกว่า “อุทธัจจะ” พอพ้นจากนี้แล้ว มันก็หมดปัญหา หมดเรื่องแล้วก็สบายสุดส่วน!

        เอาละ ยุติเพียงเท่านี้

 

ggggggg


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก