หัดตาย
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2518 ความยาว 30.24 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘

หัดตาย

 

            การปฏิบัติถึงคราวเด็ดมันต้องเด็ด ถึงคราวเฉียบขาดต้องเฉียบขาด มันเป็นไปตามจังหวะหรือตามเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจิตนี่เองแหละ ถึงคราวจะอนุโลมก็ต้องอนุโลม ถึงคราวจะผ่อนสั้นผ่อนยาวไปตามเหตุตามกาลตามธาตุตามขันธ์ก็มี ถึงคราวหมุนติ้วไปตามอรรถตามธรรมโดยถ่ายเดียวก็มี

            เวลาจำเป็น ใจซึ่งควรจะเด็ดเดี่ยวต้องเด็ดเดี่ยวจนเห็นดำเห็นแดงกัน อะไรๆ จะสลายไปที่ไหนก็ไปเถอะ แต่จิตกับธรรมจะสลายจากกันไม่ได้ การปฏิบัติเป็นอย่างนั้น เราจะเอาแบบเดียวมาใช้นั้นไม่ได้ เพราะธรรมไม่ใช่แบบเดียว กิเลสไม่ใช่ประเภทเดียวแบบเดียว ประเภทที่ควรจะลงกันอย่างหนักก็มี ประเภทที่ควรจะผ่อนผันสั้นยาวไปตามบ้างก็มีตามกาลตามสมัย หรือเกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์กำลังวังชาของตัวก็มี ถึงคราวจะทุ่มเทหมดไม่มีอะไรเหลือเลยก็มี เมื่อถึงคราวเช่นนั้นอะไรจะเหลืออยู่ไม่ได้ มันหากบอกในจิตเอง รู้อยู่กับจิตเอง “เอ้า ? ทุ่มลงไปให้หมด กำลังวังชามีเท่าไรทุ่มลงไปให้หมดอย่าสงวนไว้ กระทั่งจิตตัวคงทนไม่แปรไม่แตกสลายเหมือนสิ่งอื่นๆ ก็ไม่สงวนหวงแหนไว้ในขณะนั้น”

            “เอ้า ! จิตจะดับไปด้วยการพิจารณาในสิ่งทั้งหลายที่เห็นว่าดับไป ๆ ก็ให้รู้ว่าจิตนี้มันดับไป จะไม่มีอะไรเหลือเป็น “ความรู้” อยู่ในร่างกายเรานี้ ก็ให้รู้ด้วยการปฏิบัติธรรมนี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดมาเป็นแบบฉบับ”

            ถึงคราวที่จิตมันจะล้าง ล้างโลกออกจากใจนี่นะ โลกคือกิเลสนั่นแล จะรั้งรองอมืองอเท้าอยู่ไม่ได้ ต้องสู้จนหัวใจขาดดิ้นไม่มีคำว่า “ถอย” สมมุติทั้งปวงที่มันแทรกอยู่ภายในจิตใจรวมเป็นกองสูงเท่าภูเขานี้ก็ตาม ต้องสู้จนตายหรือชนะแล้วหลุดพ้นอย่างเดียว! เพราะเป็น “สงครามล้างโลก” ถึงคราวที่จะล้างให้หมด ต้องสู้ตายขนาดนั้น ล้างจนจิตไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

            “เอ้า ให้มันหมดไปด้วยกันเสีย กิเลสมันก็ดับไป ๆ จิตที่รู้นี้จะดับได้ด้วยเพราะถูกทำลายด้วยสติปัญญาก็ให้มันรู้มันเห็นซิ ไม่ต้องเสียดาย ! เพราะเราหาความจริง ใจจะดับลงไปด้วยก็ให้รู้ว่าเป็นความจริงอันหนึ่ง” ถ้ากิเลสดับไปใจก็ดับไปด้วย ไม่มีความรู้ใดๆ เหลืออยู่ เหลือแต่ร่างกายเป็นหัวตอเพราะไม่มีใจครอง ก็ให้มันรู้กันในขณะปฏิบัตินี้แลดีกว่ากาลอื่นใด”

            “ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ทำไมยังเหลืออยู่ในโลก สาวกอรหัตอรหันต์ท่านบำเพ็ญได้บรรลุธรรม อะไรๆ ขึ้นชื่อว่ากิเลสดับสูญไปหมดภายในจิตใจ แต่ทำไมใจที่บริสุทธิ์จึงไม่ดับ แล้วเหตุใดพวกเราถึงจะมาดับทั้งจิตด้วยจนหาความบริสุทธิ์ไม่เจอเลย! ถ้ามันจะแหวกแนวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ให้มันรู้ให้มันเห็น แต่ถ้าจะไม่แหวก ลงถึงกิเลสดับหมดจริงๆ แล้วจะไม่แหวกแนว ยิ่งจะเห็นของจริงอันวิเศษได้อย่างชัดเจน” อะไรจะหนักยิ่งกว่าการสู้รบกับกิเลส และอะไรจะทุกข์ยิ่งกว่ากิเลสทับจิต เป็นไม่มีในโลกนี้!

               ความโกรธเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ความโลภ ความหลง ก็เป็นกิเลส แต่ละประเภทล้วนทับถมจิตใจเป็นฟืนเป็นไฟเผาใจเราเรื่อยๆ มาไม่มีเวลาสร่างซา ไม่มีอะไรจะทุกข์ ยิ่งกว่านี้ การแก้ความโกรธด้วยอุบายต่างๆ แก้ความโลภ ความหลง ด้วยอุบายต่างๆ ก็ต้องได้ทำหนักมือ ย่อมเป็นทุกข์ลำบากเพราะการกระทำเหมือนกัน กิเลสทับถมเราให้เป็นทุกข์แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไร เวลาเราสู้กับกิเลสย่อมเป็นทุกข์ แต่ได้รับผลประโยชน์ตามกำลังของความเพียร คือกิเลสสลายตัวลงไปเป็นลำดับ จนกิเลสไม่มีเหลือเลย นั่นคือผลซึ่งเกิดจากการทำด้วยความเป็นทุกข์ การสู้กับกิเลสด้วยความเป็นทุกข์ หรือเราเป็นทุกข์เพราะการสู้กับกิเลส ผลปรากฏขึ้นมาเป็นความสุขอย่างไม่คาดไม่ฝัน ต้องเทียบเคียงเหตุผลอย่างนั้น เพื่อหาทางรอดพ้นจากบ่วงแห่งมารตัวมีเล่ห์เหลี่ยมร้อยสันพันคม และทำสัตว์ให้ล่มจมอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมันอย่างเกลื่อนกล่นล้นโลกเรื่อยมา ยากจะมีผู้เล็ดลอดไปได้

            ปกติจิตใจเสาะแสวงหาเหตุก่อกวนตนอยู่เสมอไม่ว่าจิตของใคร เรื่องของกิเลสเคยเป็นอย่างนั้นเรื่อยมา ไม่เคยเปลี่ยนแปลงแผนการมาทางดีต่อมนุษย์และสัตว์ทั่วโลกเลย

         เรื่องของสติปัญญาก็ต้องตามสอดส่อง อันไหนที่เห็นว่าเป็นภัยต้องได้ระงับและต้องฝืนกัน ถ้าไม่ฝืนไม่เรียกว่า “ต่อสู้เพื่อป้องกันตัว” หรือเอาตัวรอดเพื่อแก้ความทุกข์ที่กิเลสเป็นต้นเหตุสร้างขึ้นนั้นออกจากใจ แม้ลำบากก็ต้องสู้ ขืนคิดไปมากพูดบ่นไปมากก็ยิ่งปล่อยไฟให้เผาเรามากขึ้นในดวงใจ หาความสุขไม่ได้เลย

            อุบายวิธีแก้เจ้าของแก้อย่างนี้ ปกติของจิตถ้าเราเสริมเท่าไร คล้อยไปตามเท่าไร มันยิ่งจะปรุงแต่เรื่องที่จะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ตนเรื่อยๆ นั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ นอนอยู่ก็เป็นทุกข์ อยู่ที่ไหนก็มีแต่กองทุกข์หาความสุขไม่ได้ จิตเป็นไฟทั้งกองจากความคิดปรุงต่างๆ เพราะฉะนั้นการแก้จึงแก้ลงที่จิตนี้

            การระงับ การแก้กิเลสต่างๆ ด้วยอุบายปัญญา ถึงจะหนักบ้างเบาบ้างทุกข์บ้างลำบากบ้างยังพอสู้ เพื่อจิตได้พ้นจากภัยคือความทุกข์ความเดือดร้อนจากกิเลสก่อไฟเผาด้วยความคิดปรุงและความสำคัญมั่นหมายต่างๆ เราต้องยอมรับความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากการต่อสู้นั้นๆ จะชื่อว่า “เป็นผู้รักตน” ไม่ปล่อยอะไรให้เข้ามาเผาลน ราวกับใจไม่มีเจ้าของรับผิดชอบ ที่ปล่อยใจให้เร่าร้อนหากำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง แล้วแต่จะเป็นอย่างไรตามบุญตามกรรมนั้น มันก็เจอแต่เรื่อง “ตามบุญตามกรรม” เรื่องยถากรรมไปเรื่อย ๆ หาสาระภายในใจเลยไม่มี สุดท้ายก็หาความหมายในตัวไม่มี!

            การแก้ตัวเองนั้นเพื่อหาสารคุณ เพื่อหาความจริง เพื่อพบความมุ่งหมายอันสำคัญภายในใจ เพราะเราทั้งคนมีความหมายเต็มตัว จะปล่อยให้สิ่งที่จะมาทำลายความหมายมาทำลายสารคุณภายในจิตใจ โดยไม่มีการต้านทานไม่มีการแก้ ไม่มีการต่อสู้กันเลยนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าเราแพ้วันนี้วันหลังเราก็แพ้อีก เพราะเราไม่สู้ศัตรูนั้น ถ้าเราไม่สู้แล้วเขาไม่ถอยเป็นอันขาด เพราะได้ท่าได้ทีแล้ว ยิ่งจะเหยียบย่ำทำลายหนักมือเข้าไปโดยลำดับ

            ถ้าเรามีทางต่อสู้มีทางแก้กันบ้าง สิ่งนั้นก็เบาลง อะไรที่เกิดขึ้นคิดขึ้น เห็นว่าเป็นของไม่ดีรีบแก้มันไม่นอนใจ สิ่งนั้นก็ไม่มีทางกำเริบต่อไป เพราะมีสิ่งระงับมีสิ่งดับกันอยู่เสมอ

            ภัยของจิตใจก็คือกิเลสนั้นแล ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง นั้นเป็นภัย เราให้รู้มันเราแก้มัน แม้จะยังพ้นไปไม่ได้ก็ตาม การมีสิ่งแก้กันนั้นก็พอสู้กันไปได้ ถ้ามีแต่พิษอย่างเดียวไม่มียาแก้เลยนั้นมันก็แย่ การสั่งสมแต่พิษภัยขึ้นภายในจิต อุบายแก้ไขไม่มีเลยมันแย่จริงๆ แม้จะบ่นตำหนิตนมากน้อยก็ไม่เกิดประโยชน์ มันต้องแก้!

            เราเป็นคนทั้งคน จิตทั้งดวงมีสาระเต็มดวง จะปล่อยให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายโดยไม่มีการแก้ไขการต่อสู้กันเลยนั้น ไม่สมควรกับเราซึ่งเป็นเจ้าของจิตใจ ต้องคิดอย่างนี้เสมอ และเร่งเครื่องเข้าเผชิญหน้าท้าทายกับกิเลสทุกประเภทว่า “มาเถิด กิเลสตัวใดที่ยังไม่เคยตาย จะได้ทราบความตายเสียในวันนี้เดี๋ยวนี้ เรากำลังรอเขียนใบตายให้อยู่แล้วเวลานี้ กิเลสตัวใดไม่เคยมีใบตายติดมือ ให้โผล่ตัวออกมารับมือกับเรา” นี่ วิธีปลุกใจให้มีความอาจหาญชาญชัย เพราะใจไม่ผิดอะไรกับช้างม้าตัวพาเข้าสู่สงครามในครั้งก่อนๆ โน้น พอได้รับการปลุกใจจากเจ้าของผู้ฉลาดเท่านั้น ช้าง ม้าจะเกิดความฮึกเหิมผาดโผนโลดเต้นขึ้นทันที แล้วพาเจ้าของวิ่งเข้าสู่แนวรบไม่กลัวตาย

            แต่การฝึกจิตนี่สำคัญมาก เพราะจิตเราไม่เคยฝึก เคยแต่ปล่อยไปตามยถากรรมตั้งแต่ไหนแต่ไรมา หรือตั้งแต่วันเกิด จะมาหักห้ามเอาให้ได้อย่างใจในวันหนึ่งขณะเดียวนั้นมันเป็นไปไม่ได้ การเริ่มฝึกก็คือเริ่มหักห้ามจิตใจ ได้บ้างเสียบ้าง เพราะถือว่าเป็นขั้นเริ่มแรก ที่เรายังไม่สามารถอนุโลมปล่อยไปก่อนก็มี เมื่อมันหนักเข้าจริงๆ เราก็ต้องอนุโลมไปก่อน แต่หาทางแก้ไขหักห้ามมันอยู่เสมอภายในใจเพราะกำลังเรายังไม่พอ ถ้าไม่ปล่อยบ้างจะไปสู้เขาได้อย่างไร ก็ต้องยอมปล่อยไปก่อน โดยทำความเข้าใจไว้ แล้วค่อยขยับความเพียรเข้าไปเรื่อยๆ เร่งไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีการต่างๆ

            เอ้า ทุกข์บ้างทนเอาบ้างจะเป็นไรไป เพราะเราเคยทน ทำไมโลกนี้เกิดขึ้นมาใครก็ไม่เคยคิดทนเรื่องทุกข์ แต่มันจำเป็น เขาทนได้เราก็ทนได้ แต่เวลาเราจะทนบ้างเกี่ยวกับการฝึกจิตที่ได้รับความทุกข์ต่างๆ นั้นทำไมจะทนไม่ได้ สิ่งที่ควรทนและพอจะทนได้เราก็ต้องทน โลกนี้ไม่ใช่โลกสุขล้วนๆ มันมีทุกข์เจือปนอยู่ด้วยกันทุกคนและไม่ว่างานใด มันมีทุกข์เจือปนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าการทำงานแล้ว งานทางโลกก็ต้องมีทุกข์เพราะการทำงาน งานทางธรรมก็ต้องมีทุกข์เพราะการทำงาน ให้อยู่เฉยๆ จะไม่ให้มีทุกข์ ทั้งๆที่เราต้องทำงานอยู่มันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีทุกข์ เราก็ยอมรับเพราะการทำงาน แต่ทุกข์เพราะการทำงานทางด้านกุศลนี้มันเกิดผล ไม่ใช่เป็นทุกข์เฉยๆ โรคเกิดขึ้นภายในกายเรา เป็นความทุกข์ความลำบากและไม่เกิดผลดีอะไร เรายังต้องอดทนต่อมัน ถ้าเราไม่พิจารณาให้เกิดผลดี ถ้าเราพิจารณาให้เกิดผลด้วยอุบายวิธีต่างๆ ของสติปัญญา ทุกข์ก็เป็นเครื่องหนุนปัญญาให้แหลมคมได้ และเกิดผลเป็นความสงบ เป็นความรู้เท่าทันกัน ปล่อยความกังวลได้ เพราะทราบความจริงด้วยการพิจารณา นี่ก็เป็นผลดี จะทำให้เกิดผลดีผลชั่วมันเกิดได้ทั้งนั้น

            ที่ว่าจะทำอะไรลงไปก็กลัวจะลำบาก กลัวจะทุกข์ หาแต่เรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายใส่ตัวนี้ มันเคยมีเคยเป็นมาแล้ว ขออย่าให้มันมารบกวนเรามากมายนักเลย ไม่ว่าอะไรถ้าเป็นของดีแล้ว มักจะมีอะไรมาต้านทานมาขัดขวางไม่อยากจะให้ทำ นี่คืออุบายของกิเลสที่เคยอยู่เหนือหัวใจเรามานาน จงทราบไว้เสียบ้างว่านี้คือเรื่องของฝ่ายต่ำมาเหยียบย่ำทำลายเรา และอยู่เหนือจิตใจเราต่อไปไม่ยอมลง ควรจะผลักมันออกไปก็ให้ผลักไปบ้าง ควรจะต่อสู้ด้วยวิธีใดก็ต่อสู้บ้าง หรือจะต่อสู้จนเวทีพังกิเลสพังก็จะเป็นไรไป ขอแต่อย่าให้เราพังก็แล้วกัน คำว่า “เราพัง” นี้ไม่อยากได้ยินเลย

            เอ้า แพ้บ้างชนะบ้างไม่เป็นไร! ยังมีการต่อสู้ แสดงว่ายังไม่ตายใจกับเขาทีเดียว ต้องฝืนกันบ้างอย่างนี้ ฝืนไปฝืนมาความฝืนก็ค่อยมี “วันเคยชิน” ขึ้นมา อุบายที่จะสนับสนุนการฝืนก็มีขึ้นมา ต่อไปก็ทันกันไปเอง อย่าลืมคำว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ”ที่เคยแสดงแล้วว่าพระองค์เป็นนักรบ นักปราบข้าศึกองค์เอก จงยึดท่านเป็นขวัญใจเวลาเข้าสู่แนวรบหรือเวลาปกติ ไม่มีอะไรขวาง นอกจากเป็นสิริมงคลอย่างเดียว

            พระพุทธเจ้าไม่เป็นผู้ล้างมือคอยเปิบ ท่านถึงขั้นสลบไสลนั้นนะ! คนไม่ทุกข์มากจะสลบไสลหรือ ท่านมีความลำบากลำบนแค่ไหน การทำงานเป็นอย่างนั้น เป็นคติตัวอย่างได้ทุกพระอาการที่แสดงออกมา เราในฐานะพุทธบริษัทไม่ได้เหมือนพระพุทธเจ้าทุกกระเบียดนิ้วก็ตาม ได้แบบศิษย์มีครูก็ยังดี ถือท่านเป็นคติตัวอย่างทั้งการบำเพ็ญทั้งการยึดถือ ฝากเป็นฝากตายในองค์ “พุทธะ” หรือพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่เอากิเลสเป็นครูท่าเดียว จะทำความเพียรเมื่อไรท่าใด ถูกแต่ท่ากิเลสดัดเอา ๆ ฟังเสียงแพ้ว่า “ยอมแล้ว ๆ” กระเทือนไปทั่วจักรวาล เสียงช้างสารก็ไม่ดังเท่าเสียงนักรบยอมแพ้กิเลส นี่มันน่าโมโหจะตายไป!

            คนเราถ้าเห็นกิเลสเป็นภัยบ้างแล้ว ผู้นั้นยังมีทางจะแก้ไขและผ่านพ้นไปได้ ถ้าเห็นกิเลสกับเราเป็นอันเดียวกัน หรือเห็นว่าไม่เป็นเรื่องของกิเลส แต่เป็นเรื่องของเราหมด ก็หาทางแก้กันไม่ได้ เพราะจะกระเทือนคำว่า “เรา” ดีไม่ดีถูกกล่อมให้หลับสนิทไม่มีวันรู้สึกตัวได้เลย แบบนี้คือแบบ “จม”

            ถ้าสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อเรา สิ่งที่ให้ความทุกข์ความลำบากแก่เรานั้น เราเห็นว่าเป็นกิเลส เรากับกิเลสก็ถือว่าเป็นข้าศึกกันและต้องต่อสู้กัน ถ้ามีการต่อสู้กันก็แสดงว่าเป็นคนละคน ไม่ใช่เป็นอันเดียวกันเสียจนหมดเนื้อหมดตัว ยังพอมีสติบ้าง ความเป็นผู้มีสติบ้างนี้แหละ เป็นเหตุให้ต่อสู้ความคิดในแง่ต่างๆ ที่เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่เรา พยายามฝ่าฝืนและแก้ไขด้วยปัญญาจนเรื่องนั้นผ่านไป และพยายามแก้ไขให้ผ่านไปด้วยอุบายสติปัญญาเรื่อยๆ ต่อไปใจก็ราบรื่นไม่ฝืนมากเหมือนขั้นเริ่มแรกฝึก แม้ทุกข์ก็ยอมรับ การทำงานต้องทุกข์ ทุกข์เพราะผลอันดีไม่เป็นไร ขณะที่เราสู้ สู้ได้ขนาดไหนก็สู้กันไป ทำกันไป ฝ่าฝืนกันไปด้วยความเห็นทุกข์ นี่เป็นทางเดินของนักปราชญ์ท่านเคยตะเกียกตะกายมาแล้ว ก่อนที่ท่านจะหลุดพ้นล้วนแต่ตะเกียกตะกายมาด้วยกันทั้งนั้น จะมาล้างมือเปิบเอาเฉพาะเราคนเดียวซึ่งเป็นลูกศิษย์ของตถาคต แต่กลับแหวกแนวยิ่งกว่าครูมีอย่างหรือ !

            ครูมีความทุกข์ ลูกศิษย์ก็ต้องมีความทุกข์บ้าง เพราะเดินตามครู ร่องรอยท่านเดินอย่างนั้น เราจะหนีจากร่องรอยท่านไปไหน ก็ต้องยอมรับทุกข์ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยชอบธรรม ทุกข์เพราะการบำเพ็ญไม่สำคัญเท่าใดนัก แต่ทุกข์เวลาจะตายนี่ซิใครจะช่วยเราได้ ! ทุกข์เวลาทำงาน ถ้ามันทุกข์มากๆ เรายังพักผ่อนการงานได้ ทุกข์ก็ระงับไป ถ้าจะสู้ไม่ไหวเพราะความทุกข์นี้หนักมากเกินไป เราผ่อนงานลงบ้างความทุกข์ก็ผ่อนลง เราหยุดงานความทุกข์ก็ดับไป เช่น เรานั่งภาวนานานมันเป็นทุกข์มาก เราหยุดเสียก่อนพักนี้ทุกข์ก็ดับไป ก็พอระงับกันไปได้

         แต่ทุกข์เวลาจะตายนั้นน่ะมันระงับไม่ได้! นอนอยู่มันก็ทุกข์ ทุกข์หมดทั้งตัวในขณะนอน ลุกขึ้นนั่งมันจะหายไหม ก็ไม่หาย เดินจะหายไหม ก็ไม่หาย อาการใดก็ไม่หายทั้งนั้น อิริยาบถทั้งสี่เอามาต่อสู้ หรือเอามาใช้กับความทุกข์ในขณะที่จะตายนั้น ไม่ได้ผลทั้งนั้น เราเอาอันนี้มาเทียบบ้างซิ เวลานั่งนานยืนนานเดินนาน หรือต่อสู้กับเวทนาขณะที่มันเจ็บมากปวดมากขึ้นตอนที่เรานั่งภาวนานาน ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะที่เราพิจารณานี้จะเกิดขึ้นมากน้อย ถ้าสู้ไม่ไหวเราถอยได้ นี่อันหนึ่งเป็นข้อลดหย่อนผ่อนผันไปตามความจำเป็น แต่อย่าถือเป็นความจำเป็นจนกิเลสได้ใจ ถึงกับนั่งภาวนาไม่ได้ เดินจงกรมไม่ได้ ให้ทาน รักษาศีล ไม่ได้ ต้องมีท่าต่อสู้อยู่เสมอ

            ในขณะที่เราจะตาย ทุกขเวทนามันเผาเราหมดทั้งตัวเพราะถอยไม่ได้ ถอยไปอิริยาบถใดก็เป็นไฟไปด้วยกัน ทุกข์อันไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน เอาสองข้อนี้มาเทียบกันดู ก่อนตายเรายังต้องทนทุกข์อยู่ ขนาดที่สู้ไม่ไหวยังต้องทนจนกระทั่งตาย การภาวนานานบ้างนี้ยังพอสู้ไหวนี่ พอถอยได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ คิดดูเรามาเทียบกันดู ความขยัน ความบึกบึน ความมีแก่ใจ ความอาจหาญย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอุบายปัญญาแง่หนึ่ง เวลาจิตมันถอยมันท้อต้องเอาอุบายปัญญานี้มาใช้ เพื่อเป็นกำลังใจหนุนขึ้นมาให้เกิดความกล้าหาญไม่สะทกสะท้าน ต่อสู้กันได้ชัยชนะไปโดยลำดับๆ ในขณะนั้นก็มีด้วย

            อุบายปัญญา คิดดูให้ดี ให้ทันกลมายาของกิเลส เวลาจะตายมันเป็นอย่างนั้นด้วยกันทุกคนไม่มีใครมีข้อยกเว้น !

            อิริยาบถทั้งสี่ จะเอาไปใช้ประโยชน์ในการผ่อนคลายทุกขเวทนาซึ่งแสดงขึ้นในเวลาจะตายนั้นไม่ได้ผลเลย มีแต่จะ “แตก” ท่าเดียว มีแต่ทุกข์ท่าเดียว กระทั่งแตกไป ขณะที่เราจะสู้กับทุกข์เพื่อการทำความดี ทำไมจะสู้กันไม่ได้ ก็มันยังไม่แตกนี่ มันทุกข์ขึ้นมาจริงๆ เราถอยได้ นี่ก็ยังพอฟัดพอเหวี่ยงกันไปด้วยอุบายปัญญา เวลาจะเอาจริง “เอ้า ขณะที่มันจะตาย อะไรจะตายก็ตายไปเถอะ เรื่องสติปัญญาถึงขั้นแหลมคมเต็มที่แล้วภายในใจ จะรักษาดวงใจนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีทุกขเวทนาตัวใดที่จะเข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจนี้ให้เสียไปได้ นี่เรียกว่า “แน่ใจเต็มที่ !”

            ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์นั้นก็ดับไป ไม่มีอะไรดับ นอกจากทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น มีทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นภายในกาย มีกายที่เป็นตัวเกิดนี้เท่านั้นเป็นทุกข์ เป็นผู้จะดับจะสลาย ไม่มีอันใดดับอันใดสลาย นอกจากสิ่งนี้ สิ่งที่ผสมกันนี้สลายเท่านั้น

            ส่วนจิตไม่มีอะไรผสม นอกจากกิเลสเท่านั้นที่มาผสมจิต กิเลสเป็นสิ่งที่ดับไปได้ แต่จิตล้วนๆ ดับไม่ได้ ไม่มีดับ จิตจะดับไปไหน อะไรจะสลายก็สลายไปจะเสียดายมันทำไม ความเสียดายเป็นความเยื่อใย เป็นเรื่องกดถ่วงจิตใจ ความเสียดายนั้นคือความฝืนคติธรรมดาแห่งหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ และเป็นข้าศึกและผู้อาลัยเสียดายอีกด้วย

            เอ้า ทุกข์เกิดขึ้นมากน้อยก็เป็นเรื่องของทุกข์ ทุกข์จะดับไปก็เป็นเรื่องของทุกข์ เราเป็นผู้รู้ รู้ทั้งที่ทุกข์เกิดขึ้น ทั้งทุกข์ตั้งอยู่ ทั้งทุกข์ดับไป ธรรมชาตินี้เป็น “ผู้รู้” ไม่ใช่ผู้เกิดผู้ดับ จะกลัวความเกิดความดับ กลัวความล่มความจมในจิตอย่างไรกัน มันจะล่มจมไปไหน พิจารณาอย่างนี้เพื่อจะฟื้นฟูจิตใจขึ้นมาจากตมจากโคลน เพื่อให้ใจได้เห็นชัดรู้ชัดตามความจริง จิตใจจะล่มจมไปไหนถึงกลัวนักหนาในขณะจะตาย มันหลอกกันเฉยๆ นี่! ตามความเข้าใจของท่านของเรา ถ้าพูดถึงว่าหลอกกันนะ แต่ไม่มีใครจะมีเจตนาหลอกใครแหละ ตายๆๆนี่น่ะ

            โลกเขาสมมุติกันมาอย่างนั้นนับกัปกัลป์ไม่ได้แล้ว เมื่อพิจารณาเข้าถึงความจริงแล้ว “โอ๋ นี่มันหลอกกัน” ความจริงไม่มีอะไรตาย! ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายลงไปแล้วก็ไปอยู่ตามธาตุเดิมของเขา จิตที่กลัวตายนี้ยิ่งเด่น มันไม่ได้ตายนี่ เห็นชัดๆอย่างนี้ อะไรเป็นสาเหตุให้จิตตายไม่มี เห็นชัดๆ อยู่ว่าไม่มี ใจยิ่งเด่น ผู้ที่รู้ที่พิจารณาสิ่งทั้งหลายนั้นยิ่งเด่น

            เราไม่หวงอะไร จะไปก็ไปเมื่อถึงคราวแล้ว ผู้ที่รู้ก็รู้ตามเหตุตามผล ไม่ถอยในเรื่องรู้ ผู้ที่สลายก็สลายไป ไม่อาลัยไม่เสียดาย ไม่หวง หวงทำไม? มันหนัก ยึดไว้ทำไม? สิ่งเหล่านี้เป็นของหนักมาก

            การรู้ตามเป็นจริง ปล่อยวางตามสภาพของมัน นั่นแลคือความจริง ไม่กังวล ถึงอยู่ไปอีกมันก็จะตายอย่างนี้ อยู่เพื่อตาย! อยู่เพื่อแตก! เวลานี้ พิจารณาให้เห็นความแตกดับเสียก่อนตั้งแต่ยังไม่แตก นี่เป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้มีปัญญา นี่ขั้นสำคัญ !

            ผู้พิจารณาเช่นนี้จะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เห็นชัดตามเป็นจริง ที่ชื่อว่า “เวทนา”นั้น มันเป็นอะไร มันก็เวทนานั่นแล มันเป็นเราเมื่อไร มันเกิดขึ้นมันดับไป เราทำไมจะเกิดขึ้นดับไปอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งเช่นนั้น ถ้าเวทนาเป็นเรา ถ้าเวทนาเป็นเราแล้ว เอาที่ไหนเป็นที่แน่ใจว่า “เป็นเรา” หรือสาระอะไรว่าเป็นเราได้ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ว่าเราเกิดขึ้น ทุกขเวทนาดับไปก็ว่าเราดับไป มีแต่เราเกิดเราดับอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งหาความแน่นอนที่ไหนได้! ถ้าเราจะไปเอาเรากับทุกขเวทนามาบวกกันมันไม่ได้เรื่อง เหลวไหลทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเพื่อความจริง เพื่อความไม่เหลวไหลต้องให้ทราบ ทุกข์มันเกิดขึ้นมากน้อย ต้องให้ทราบว่าทุกข์เกิดขึ้นคือเรื่องของทุกข์ มันตั้งอยู่ก็คือเรื่องของทุกข์ มันดับไปก็คือเรื่องของทุกข์ เราผู้รู้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของความรู้นี่!

            “สัญญา” จำได้แล้วมันดับ เราเห็นไหม มันเกิดมันดับอยู่อย่างนั้น เป็น “เรา”ได้อย่างไร เอาความแน่นอนกับมันได้ที่ไหน ท่านจึงว่า “สญฺญา อนิจฺจา สญฺญา อนตฺตา”

            “สังขาร” ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงเท่าไรมันก็ดับไปพร้อมกันทั้งนั้น ถ้าเราจะเอา“เรา” เข้าไปสู่สังขาร มันเกิดดับวันยังค่ำ หาความสุขไม่ได้เลย

            “วิญญาณ” มันกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบเมื่อไรมันรู้ ๆ รู้แล้วดับไปพร้อมๆ กัน ทั้งขณะที่เกิดที่ดับมันขึ้นในขณะเดียวกัน เราจะเกิดดับ ๆ เกิดดับอยู่อย่างนั้น หาความแน่นอนเที่ยงตรงได้อย่างไร

            เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นอาการอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แลคือใจ ความรู้เป็นสิ่งที่แน่นอน เป็นสิ่งที่ตายตัว ขอให้รู้สิ่งภายนอกอันจอมปลอมทั้งหลายนี้ ว่าเป็นสภาพอันหนึ่งๆ เท่านั้น จิตนี้จะตั้งตัวได้อย่างตรงแน่วไม่หวั่นไหว จะเกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว จะไม่เกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว จะดับไปก็ไม่มีอะไรหวั่นไหว เพราะจิตรู้เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาอาการที่อาศัยกันอยู่ และรู้ทั้งตัวจริงคือธรรมชาติของจิตแท้ว่าเป็นตัวของตัวแท้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยปัญญาซักฟอกด้วยดีแล้ว ผู้นี้เป็นผู้แน่นอน นี่แหละท่านผู้แน่นอน คือท่านผู้รู้ธรรมชาติที่แน่นอน และรู้ถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหลายตามความเป็นจริง ปล่อยวาง สลัดปัดทิ้งออกตามส่วนของมัน ส่วนไหนที่จริงให้อยู่ตามธรรมชาติแห่งความจริงของตน เช่น จิต เป็นต้น

            นี่หลักความจริง หรือหลักวิชาที่เรียนมาเพื่อป้องกันตัว เพื่อรักษาตัว เพื่อความพ้นภัย เปลื้องทุกข์ทั้งหลายออกจากตัว นี่คือหลักวิชาแท้ เรียนธรรมเรียนอย่างนี้เรียนเรื่องของตัวเอง เรียนเรื่อง “ความรู้” ความคิดต่างๆ เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็น “อาการ ๕ อย่าง” นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับใจ ถึงกับเหมาว่า นี่เป็นตนเป็นของตน ให้รู้ตามความเป็นจริงของมันทุกอาการ แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพแห่งอาการของมัน

            นี่ เรียกว่า “เรียน” เรียกว่า “ปฏิบัติ” เรียกว่า “รู้” รู้ก็ละก็ถอน!

            ถ้ารู้จริงแล้วต้องละต้องถอน เมื่อละถอนแล้ว ความหนักซึ่งเคยกดถ่วงจิตใจที่เนื่องมาจาก “อุปทาน” ก็หมดไป ๆ เรียกว่า “จิตพ้นจากโทษ” คือความจองจำจากความสำคัญมั่นหมายที่เป็นเหตุให้จองจำ พ้นอย่างนี้แลที่ว่า “จิตหลุดพ้น” ไม่ได้เหาะเหินเดินฟ้าขึ้นไปที่ไหน พ้นตรงที่มันข้องนั่นแหละ ที่มันถูกจองจำนั่นแหละ ไม่ได้พ้นที่ไหน รู้ที่มันหลงนี่แหละ สว่างที่มันมืดนั่นเอง นี่จิตสว่าง คือสว่างที่ตรงมืดๆ มืดมนอนธการ มืดอยู่ภายในตัวเอง

            ทีนี้เวลาพิจารณาปฏิบัติไป สติปัญญาเกิดขึ้น ๆ ส่องแสงสว่างให้เห็นความจริงในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน ทราบว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกี่ยวข้อง สลัดออกได้โดยลำดับๆ เมื่อความสว่างรอบตัวก็ปล่อยได้หมด

            “ธมฺโม ปทีโป” จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึง “จิต” ดวงที่สว่างรอบตัวไม่มีอะไรเจือปนเลยจะหมายถึงอะไร! นี่เรียกว่า “ธรรมแท้” ธรรมแท้ที่เป็นสมบัติของเราหมายถึงธรรมนี้ ที่เป็นสมบัติของเราแท้ ที่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าก็ที่ประทานไว้เป็นตำรับตำรา!

            เราเรียนเท่าไรก็มีแต่ความจำ ไม่ใช่เป็นตัวของตัวแท้ เอาความจำนั้นเข้ามาปฏิบัติให้เป็นความจริง จนปรากฏขึ้นเป็น “ธมฺโม ปทีโป” เฉพาะภายในใจเรานี้เป็นสมบัติของเราแท้ นี้แลคือ “ธรรมสมบัติ” ของผู้ปฏิบัติ

            พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์อย่างนี้ที่ประทานศาสนาไว้ ให้รู้จริงเห็นจริงตามนี้“สนฺทิฏฺฐิโก” ไม่ทรงผูกขาด ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเอง “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ”ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้เฉพาะตน คือหมายถึงรู้อย่างนี้” นี่เป็นผลของการปฏิบัติธรรม เมื่อได้ผลเต็มที่แล้ว อยู่ไหนก็อยู่เถอะ แสนสบาย หมดกังวล โลกจะมีมากมีน้อยเพียงใดมีความวุ่นวายขนาดไหน ผู้นี้ไม่วุ่น เพราะผู้นี้ไม่เป็นโลก ผู้นี้ไม่หลง

            เรื่องโลกมันกว้างขวางมาก ไกลจากตัวของเราออกไป เฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งวันทั้งคืน ก็คือ “ขันธ์ห้า” กับ “จิต” นี่แหละ มันเกี่ยวข้องกันจนจะแยกกันไม่ออก แต่นี้เรายังสามารถแยกออกได้ ทำไมเราจะไปหลงว่าเป็น “โลก” ด้วยกัน

            นี่แหละการปฏิบัติ ผลเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้แน่นอนไม่เป็นอื่น ขอให้ผลิตขึ้นมาพิจารณาขึ้นมา ปัญญาหุงต้มกินไม่ได้ ใช้ได้แต่แก้กิเลส ใช้แก้ความงมงายของเจ้าของเท่านั้น ให้พิจารณา เรียนตรงนี้แหละเรียนธรรม อย่าไปเรียนที่อื่นให้มากมายก่ายกอง เพราะพิษอยู่ตรงนี้ โทษภัยก็อยู่ตรงนี้ แก้ตรงนี้แล้ว คุณค่าอันสำคัญก็เกิดอยู่ที่นี่เอง!

เอาละ การแสดงธรรมขอยุติ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก