อะไรคือจิต จิตพระอรหันต์
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2518 ความยาว 39.33 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘

อะไรคือจิต –จิตพระอรหันต์

        

            ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า “ใจ” มีภาษาเดียวเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด มีเพียงความรู้คือใจนี้ ฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นภาษาเดียว พอนึกออกมาก็เข้าใจ แต่เวลาแยกออกมาพูดต้องเป็นภาษานั้นภาษานี้ ไม่ค่อยเข้าใจกัน ความรู้สึกภายในจิตใจนั้นเหมือนๆ กัน ธรรมกับใจจึงเข้ากันสนิท เพราะธรรมก็ไม่ได้เป็นภาษาของอะไร ธรรมก็คือภาษาของใจ ธรรมอยู่กับใจ”

            ความสุขความทุกข์อยู่กับใจ การทำให้สุขหรือให้ทุกข์เกิดขึ้นก็ใจเป็นผู้คิดขึ้นมา ผลที่ปรากฏขึ้นเป็นสุขเป็นทุกข์ ใจเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้รับภาระในผลของตนที่คิดขึ้นมา ใจกับธรรมจึงเข้ากันได้สนิท ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด เรื่องธรรมนั้นเข้ากันได้ทั้งนั้น เพราะใจกับธรรมเป็นของคู่ควรกันอยู่แล้ว

            ใจนี้คือแก่นในสกลกายของเรา เป็นแก่นอันหนึ่งหรือเป็นของแข็ง หรือเป็นสาระสำคัญที่มีอยู่ในร่างกายนี้ ได้แก่ใจเป็นหลักใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นจากใจ เช่น ความคิดความปรุง เกิดแล้วดับ ๆ ก็หมายถึงความกระเพื่อมของใจกระเพื่อมขึ้นมา คือความคิดปรุง ความหมายเกี่ยวกับการคาดการจดจำนั้นหมายถึงสัญญา ยาวออกไปก็เป็นสัญญา สั้นก็เป็นสังขาร คือปรุงแพล็บก็เป็นสังขาร สัญญา คือความหมายความจำ วิญญาณหมายถึงการรับรู้ในขณะที่สิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัสอายตนะภายใน เช่น ตากับรูปสัมผัสกันเกิดความรู้ขึ้นมา เป็นต้น เหล่านี้มีการเกิดการดับอยู่ประจำตัวของเขาเอง ท่านจึงเรียกว่า “ขันธ์” แต่ละหมวดแต่ละกองรวมแล้วเรียก ว่า “ขันธ์”

ขันธ์ห้ากองนี้มีการเกิดการดับกันอยู่เป็นประจำ แม้แต่พระขีณาสพท่านก็มีอาการเหล่านี้เช่นเดียวกับสามัญชนทั่วๆ ไป เป็นแต่ว่าขันธ์ของท่านเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องบังคับบัญชาใช้ให้ทำนี้ ปรุงนี้คิดนั้น เป็นขันธ์ที่คิดโดยธรรมชาติของมันเอง เป็นอิสระของขันธ์ ไม่มีอะไรมาบังคับให้คิดนั่นปรุงนี่เหมือนจิตสามัญชนทั่วๆ ไป ถ้าจะเทียบขันธ์ของสามัญชนทั่วไป ก็เหมือนนักโทษที่ถูกบังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา ความคิดความปรุง ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผู้บังคับบัญชาออกมา ให้คิดอย่างนั้นให้ปรุงอย่างนี้ ให้สำคัญมั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ คือมีกิเลสเป็นนาย หัวหน้า บังคับบัญชาขันธ์เหล่านี้ให้แสดงตัวขึ้นมา

            ส่วนพระขีณาสพคือพระอรหันต์ท่านไม่มี ปรุงก็ปรุงธรรมดา พอปรุงแล้วก็ดับไปธรรมดาไม่มีเชื้อต่อ ไม่มีเชื้อกดถ่วงจิตใจ เพราะไม่มีอะไรบังคับเหมือนดังขันธ์ที่มีกิเลสปกครองหรือมีกิเลสเป็นหัวหน้า ผิดกันตรงนี้ แต่ความจริงนั้นเหมือนกัน

            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ความแปรสภาพของแต่ละขันธ์ๆ มีประจำตัวด้วยกัน นับแต่รูปขันธ์คือกายของเรา เวทนาขันธ์ ได้แก่ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ นี่ก็เกิดดับๆ สัญญา สังขาร วิญญาณ มีเกิดมีดับประจำตนอยู่ตลอดไป

            ส่วนความรู้จริงๆ ที่เป็นรากฐานแห่งความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดดับๆ นี้ไม่ดับ เราจะพูดว่า “จิตนี้ดับไม่ได้” เราจะพูดว่า “จิตนี้เกิดไม่ได้” เพราะฉะนั้นจิตที่บริสุทธิ์แล้วจึงหมดปัญหาในเรื่องเกิดเรื่องตาย ที่เกี่ยวกับธาตุขันธ์ไปถือกำเนิดเกิดที่นั่นที่นี่ แสดงตัวอันหยาบออกมา เช่น เป็นสัตว์เป็นบุคคลเหล่านั้น เป็นต้น จึงไม่มีสำหรับจิตท่านที่บริสุทธิ์แล้ว

            แต่ถ้าไม่บริสุทธิ์ ก็พวกนี้แหละไปเกิดไปตาย หมายป่าช้าอยู่ไม่หยุด เพราะจิตที่ไม่ตายนี้แหละ

            ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนโลก เฉพาะอย่างยิ่งคือโลกมนุษย์เรา ผู้ที่รู้ดีรู้ชั่ว รู้บาปบุญคุณโทษ และรู้วิธีการที่จะแก้ไขดัดแปลงหรือส่งเสริมได้ เข้าใจในภาษาธรรมที่ท่านแสดง ท่านจึงได้ประกาศสอนโลกมนุษย์เป็นสำคัญกว่าโลกอื่นๆ เพื่อจะได้พยายามดัดแปลงหรือแก้ไขสิ่งที่เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์และเป็นโทษ ออกจากจิตใจกายวาจา และสอนให้พยายามบำรุง ส่งเสริมความดีที่พอมีอยู่บ้างแล้วหรือมีอยู่แล้ว และที่ยังไม่มีให้มีให้เกิดขึ้น สิ่งที่มีแล้วบำรุงรักษาให้เจริญ เพื่อเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความชุ่มเย็นมีความสงบสุข มีหลักมีเกณฑ์ด้วยคุณธรรมคือความดี หากได้เคลื่อนย้ายจากธาตุขันธ์ปัจจุบันนี้ไปสู่สถานที่ใด ภพใดชาติใด จิตที่มีความดีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ ย่อมเป็นจิตที่ดี ไปก็ไปดี แม้จะเกิดก็เกิดดี อยู่ก็อยู่ดี มีความสุขเรื่อยๆไป

จนกว่าจิตนี้จะมีกำลังสามารถอำนาจวาสนา มีบุญญาภิสมภารที่ได้สร้างโดยลำดับลำดา นับตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ต่อเนื่องกันมา เช่นวานนี้เป็นอดีตสำหรับวันนี้ วันนี้เป็นอดีตสำหรับวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันที่เราได้สร้างความดีมาด้วยกันทั้งนั้น และหนุนกันเป็นลำดับ จนกระทั่งจิตมีกำลังกล้าสามารถ เพราะอำนาจแห่งความดีนี้เป็นเครื่องสนับสนุน แล้วผ่านพ้นไปได้

            คำว่า “สมมุติ” คือการเกิดการตายดังที่เป็นอยู่นั้น จะไปเกิดในภพที่เงียบๆ ละเอียดขนาดไหนก็ตาม ที่เป็นเรื่องของสมมุติแฝงอยู่นั้นจึงไม่มี ท่านผ่านไปหมดโดยประการทั้งปวง นี่ได้แก่จิตพระอรหันต์และจิตพระพุทธเจ้า พูดถึงเรื่องนี้ก็ยังมีเรื่องของ “พระวังคีสะ” พระวังคีสะ ท่านเก่งมากในการที่ดูจิตผู้ที่ตายแล้ว ไปเกิดในภพใดแดนใด ตั้งแต่ท่านเป็นฆราวาส ใครตายก็ตาม จะว่าท่านเป็นหมอดูก็พูดไม่ถนัด ท่านเก่งทางไสยศาสตร์นั่นแหละ เวลาใครตายเขานำเอากะโหลกศีรษะมาให้เคาะ ป๊อก ๆๆ กำหนดดูทราบว่าอันนั้นไปเกิดที่นั่น ๆ เช่นไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็บอก ไปเกิดในสวรรค์ก็บอก ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นเปรตเป็นผีอะไรท่านบอกหมดไม่มีอัดมีอั้น บอกได้ทั้งนั้น ขอให้ได้เคาะกะโหลกศีรษะของผู้ตายนั้นก็แล้วกัน

            พอท่านวังคีสะได้ทราบจากเพื่อนฝูงเล่าให้ฟังว่า พระพุทธเจ้ายังเก่งกว่านี้อีกหลายเท่า ท่านอยากได้ความรู้เพิ่มเติม จึงไปยังสำนักพระพุทธเจ้าเพื่อขอเรียนวิชาแขนงนี้เพิ่มเติมอีก พอไปถึงพระพุทธเจ้าท่านก็เอาศีรษะพระอรหันต์มาให้เคาะ “เอ้า ลองดูซิไปเกิดที่ไหนเคาะแล้วฟัง เงียบ, เคาะแล้วฟัง เงียบ, คิดแล้วเงียบ กำหนดแล้วเงียบ ไม่ปรากฏว่าเจ้าของกะโหลกศีรษะนี้ไปเกิดที่ไหน!

            ท่านจนตรอก ท่านพูดสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่ทราบที่เกิด”

            ทีแรกพระวังคีสะนี้ว่าตัวเก่งเฉลียวฉลาด จะไปแข่งกับพระพุทธเจ้าเสียก่อนก่อนจะเรียนต่อ พอไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์เอากะโหลกศีรษะพระอรหันต์มาให้เคาะนี่ ซิ ! ท่านมาติดตรงนี้! ทีนี้ก็อยากจะเรียนต่อ ถ้าเรียนได้แล้วก็จะวิเศษวิโสมาก เมื่อการณ์เป็นไปเช่นนั้นก็ขอเรียนที่สำนักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนวิชาให้ สอนวิธีให้ คือสอนวิชาธรรมนี่ให้ ฝึกปฏิบัติไป ๆ พระวังคีสะก็เลยสำเร็จพระอรหันต์ขึ้นมา เลยไม่สนใจจะไปเคาะศีรษะใครอีก นอกจากเคาะศีรษะเจ้าของ รู้แจ้งชัดเจนแล้วหมดปัญหาไปเลย นี่เรียกว่า “เคาะศีรษะที่ถูกต้อง”!

            เมื่อยกเรื่องจิตที่ไม่เกิดขึ้นมา กะโหลกศีรษะของท่านผู้บริสุทธิ์แล้ว เคาะเท่าไรก็ไม่รู้ว่าไปเกิดที่ไหน! ทั้งๆ ที่พระวังคีสะแต่ก่อนเก่งมาก แต่จิตที่บริสุทธิ์แล้วหาที่เกิดไม่ได้ ! เช่น “พระโคธิกะ” ก็เหมือนกัน นี้ก็น่าเป็นคติอยู่ไม่น้อย ท่านไปบำเพ็ญสมณธรรมเจริญขึ้นไปโดยลำดับๆ แล้วเสื่อมลง เจริญขึ้นเสื่อมลง ฟังว่าถึงหกหน หนที่เจ็ดท่านจะเอามีดโกนมาเชือดคอตนเอง “โอ้ เสียใจ” แต่กลับได้สติขึ้นมา จึงได้พิจารณาธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์ในวาระสุดท้าย อันนี้เราพูดย่อเอาเลย ตอนท่านนิพพาน พวกพญามารก็มาค้นหาวิญญาณของท่าน พูดตามภาษาเราก็ว่า “ตลบเมฆเลย”  การขุดการค้นหาวิญญาณของท่านนั้นไม่เจอเลย ไม่ทราบว่าท่านไปเกิดที่ไหน

            พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งว่า “การที่จะค้นหาวิญญาณของพระโคธิกะที่เป็นบุตรของเรา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วโดยประการทั้งปวงนั้น จะขุดจะค้นจะพิจารณาเท่าไร หรือพลิกแผ่นดินค้นหาวิญญาณท่านก็ไม่เจอ มันสุดวิสัยของ “สมมุติ” แล้วจะเจออย่างไร! มันเลยวิสัยของคนที่มีกิเลสจะไปทราบอำนาจจิตของพระอรหันต์ท่านได้!

            ในวงสมมุติทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดจะสามารถตามวิถีจิตของพระอรหันต์ท่านได้ เพราะท่านนอกสมมุติไปแล้ว จะเป็นจิตเหมือนกันก็ตาม ลองพิจารณาดูซิ จิตของเราที่กำลังล้มลุกคลุกคลานอยู่เวลานี้ก็ตาม เมื่อได้ถูกชำระเข้าไปโดยสม่ำเสมอไม่หยุดไม่ถอย ไม่ละความเพียรแล้ว จะค่อยละเอียดไปได้ จนละเอียดถึงที่สุด ความละเอียดก็หมดไป เพราะความละเอียดนั้นเป็นสมมุติ เหลือแต่ธรรมชาติทองทั้งแท่งหรือธรรมทั้งดวง ที่เรียกว่า “จิตบริสุทธิ์” แล้วก็หมดปัญหาอีกเช่นเดียวกัน เพราะกลายเป็นจิตประเสริฐ เช่นเดียวกับจิตของท่านที่พ้นไปแล้วนั้นนั่นแล

            จิตประเภทนี้เป็นเหมือนกันหมด ไม่นิยมเป็นผู้หญิงผู้ชาย นี่เป็นเพศหรือสมมุติอันหนึ่งต่างหาก ส่วนจิตนั้นไม่ได้นิยมว่าเป็นหญิงเป็นชาย ความสามารถในอรรถในธรรมจึงมีได้ทั้งหญิงทั้งชาย และความสามารถที่บรรลุธรรมขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นไปได้ ก็เป็นไปได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไม่มีกฎเกณฑ์ที่จะบังคับกันได้ ขอแต่ความสามารถอำนาจวาสนาของตนพอแล้ว เป็นอันผ่านไปได้ด้วยกันทั้งนั้น

            เพราะฉะนั้นเราจึงควรพยายามอบรมจิตใจของเรา อย่างน้อยก็ให้ได้ความสงบเย็น จะด้วยธรรมบทใดก็ตาม ที่เป็นธรรมซึ่งจะกล่อมให้จิตมีความสงบ แล้วปรากฏเป็นความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมาภายในจิตใจ พึงนำธรรมบทนั้นมาเป็นเครื่องกำกับ มาเป็นเครื่องพึ่งพึง เป็นเครื่องยึดของจิต เช่น อานาปานสติ ซึ่งเป็นกรรมฐานสำคัญบทหนึ่งในวงปฏิบัติทั้งหลาย รู้สึกว่าอานาปานสติจะเป็นธรรมที่ถูกกับจริตนิสัยของคนจำนวนมากกว่าธรรมบทอื่นๆ และนำเข้ามาประพฤติปฏิบัติภายในจิตใจของเราให้ได้รับความสงบเย็น

            เมื่อใจเริ่มสงบ เราก็จะเริ่มเห็นสาระของใจ หรือจะเริ่มเห็นใจว่าเป็นอะไร เป็นอย่างไร ก็คือความที่จิตรวมกระแสของตัวเข้ามาสู่จุดเดียว เป็นความรู้ล้วนๆ อยู่ภายในตัว นั้นแหละท่านเรียกว่า “จิต” ความรวมตัวเข้ามาของจิตนี้ รวมเข้ามาตามขั้น ตามความสามารถ ตามความละเอียดของจิต ตามขั้นของจิตที่มีความละเอียดเป็นลำดับ ถ้าจิตยังหยาบ รวมตัวเข้ามาก็พอทราบได้เหมือนกัน เมื่อจิตละเอียดเข้าไปก็ทราบความละเอียดลงไปอีกว่า จิตนี้ละเอียด จิตนี้ผ่องใส จิตนี้สงบยิ่ง จิตนี้เป็นของอัศจรรย์ยิ่ง ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับๆ จิตดวงเดียวนี้แหละ!

            การชำระการอบรมเพื่อความสงบ การพิจารณาค้นคว้าแก้ไขสิ่งที่ขัดข้องภายในจิตด้วยปัญญา ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้จิตก้าวหน้า หรือทำให้ถึงความจริงของจิตได้โดยลำดับ ด้วยการกระทำดังที่กล่าวนี้ ใจจะหยาบขนาดไหนก็หยาบเถอะ ถ้าลงความเพียรได้พยายามติดต่อกันอยู่เสมอด้วยความอุตส่าห์พยายามของเราอยู่แล้ว ความหยาบนั้นก็จะค่อยหมดไป ๆ ความละเอียดจะค่อยปรากฏขึ้นมาเพราะการกระทำหรือการบำเพ็ญของเรา จนกระทั่งสามารถผ่านพ้นด้วยการฟาดฟันกิเลสให้แหลกไปได้เช่นเดียวกันหมดไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย

            ในขณะที่เรายังไม่สามารถจะทำอย่างนั้นได้ก็ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ขอให้ทำใจให้มีหลักมีเกณฑ์ เป็นที่ยึดเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ส่วนสกลกายนี้เราก็พึ่งเขามาแล้วตั้งแต่วันเกิด ทราบได้ด้วยกัน พาอยู่พานอน พาขับพาถ่าย พาทำงานทำการ ทำมาหาเลี้ยงชีพ ทั้งเราใช้เขา ทั้งเขาใช้เรา ทั้งเขาบังคับเรา ทั้งเราบังคับเขา เช่น บังคับให้ทำงาน แล้วเขาก็บังคับเราให้เป็นทุกข์ ปวดนั่นเจ็บนี่ ต้องไปหาหยูกหายามารักษา ก็เขานั่นแหละเป็นคนเจ็บ และก็เขานั่นแหละเป็นคนหาหยูกหายา เงินทองข้าวของก็เขาแหละหามา มันหนุนกันไปหนุนกันมาอยู่อย่างนี้

            ไม่ทราบว่าใครเป็นใหญ่กว่าใคร ธาตุขันธ์กับเรา? เราบังคับเขาได้ชั่วกาล และเขาก็บังคับเราได้ตลอด! การเจ็บไข้ได้ป่วย การหิวกระหาย การอยากหลับอยากนอน ล้วนแต่เป็นเรื่องกองทุกข์ซึ่งเขาบังคับเราทั้งนั้น และบังคับทุกด้าน แต่เราบังคับเขาได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ฉะนั้นในกาลอันควรที่เราจะบังคับเขา ให้พาเขาภาวนา เอ้า ทำลงไป เมื่อธาตุขันธ์มันปกติอยู่ จะหนักเบามากน้อยเพียงไรก็ทำลงไป แต่ถ้าธาตุขันธ์ไม่ปกติ มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ต้องรู้ความหนักเบาของธาตุขันธ์ เรื่องใจให้เป็นความเพียรอยู่ภายในตัวอย่าลดละปล่อยวาง เพราะเป็นกิจจำเป็น

            เราอาศัยเขามานานแล้ว เวลานี้มันชำรุดทรุดโทรมก็ให้ทราบว่ามันชำรุด อันไหนที่ควรจะใช้ได้ อันไหนที่ใช้ไม่ได้ เราเป็นเจ้าของทราบอยู่แก่ใจ ที่ควรลดหย่อนผ่อนผันก็ผ่อนผันไป

            ส่วนใจที่ไม่เจ็บป่วยไปตามขันธ์ ก็ควรเร่งความเพียรอยู่ภายใน ไม่ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับ ให้ใจมีหลักมีเกณฑ์ อยู่ก็มีหลัก ตายก็มีหลัก เกิดที่ไหนก็ให้มีหลักเกณฑ์อันดีเป็นที่พึงพอใจ คำว่า “บุญ” ก็ไม่ให้ผิดคาดผิดหมาย ไม่ให้ผิดหวัง ให้มีสิ่งที่พึงพอใจอยู่ตลอดเวลา สมกับเรา “สร้างบุญ” คือความสุขที่โลกต้องการด้วยกัน ไม่มีใครอิ่มพอก็คือความสุขนี่แหละ จะเป็นสุขทางไหนก็ตามเป็นสิ่งที่โลกต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งสุขทางใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพราะการทำคุณงามความดีเป็นลำดับๆ มีภาวนา เป็นต้น

            นี่เป็นความสุขอันเป็นแก่น หรือเป็นสาระสำคัญภายในใจ ฉะนั้นให้พากันบำเพ็ญในเวลาร่างกายหรือธาตุขันธ์ยังเป็นไปอยู่ เมื่อถึงอวสานแห่งชีวิตแล้วมันสุดวิสัยด้วยกัน ทำได้มากน้อยก็ต้องหยุดในเวลานั้น เรียกว่าหยุดงานพักงาน และเสวยผลในอันดับต่อไป

            โน่น! ภพต่อไปโน่น! ควรจะทำได้เราก็ทำ ถ้าผ่านไปเสียหรือหลุดพ้นไปได้ ก็หมดปัญหาด้วยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องยุ่งเหยิงต่อไป นี่พูดถึงเรื่องจิต เพราะจิตเป็นหลักใหญ่ ที่จะพาเราไปดีไปชั่ว ไปสุขไปทุกข์ ก็คือจิต ไม่ใช่สิ่งอื่นใดที่จะพาให้เป็นไป

            คำว่า “กรรม” ว่า “เวร” ก็อยู่ที่จิตเป็นผู้สร้างไว้ ตนจะจำได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่เชื้อของมันซึ่งมีอยู่ภายในใจนั้นก็ปิดไม่อยู่ในการให้ผล เพราะเป็นรากเหง้าอยู่ในจิต เราก็ยอมรับไปตามกรรมนั้น แต่เราอย่าไปตำหนิมัน เมื่อเราทำลงไปแล้วก็เป็นอันทำ จะไปตำหนิได้อย่างไร มือเขียนต้องมือลบ ยอมรับกันไปเหมือนนักกีฬา เรื่องของกรรมเป็นอย่างนั้น จนกว่าจะพ้นไปได้ มันก็หมดปัญหานั่นแหละ

            ต่อไปให้ท่านปัญญา (ภิกษุปัญญาวัฑโฒ Peter John MORGAN ชาวอังกฤษ) อธิบายให้ท่านเหล่านี้ฟัง เพราะมีชาวต่างประเทศอยู่ด้วย


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก