โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์
วันที่ 18 ธันวาคม 2518 ความยาว 25.35 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๑๘

โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์

 

        พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักรบ ทรงสอนพุทธบริษัทให้เป็นนักรบเหมือนกัน วิธีการที่พระท่านไปเที่ยวกรรมฐานในที่ต่างๆ ล้วนเป็นวิธีการของ “นักรบ” ทั้งนั้น ท่านไปตามป่าตามเขาลำเนาไพร อดอยากขาดแคลนไม่สนใจ ตั้งหน้าตั้งตาเข้าสู่แนวรบ เพื่อฆ่ากิเลสซึ่งเป็นตัวก่อกวนทำลายจิตใจของสัตว์โลกตลอดมา ไม่มีอะไรที่จะเป็นภัยนานาชนิด คือ เป็นภัยเล็ก ภัยน้อย ภัยใหญ่ ภัยพิบัติ ภัยรอบด้าน ยิ่งไปกว่ากิเลสสร้างในใจสัตว์โลก

         ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติซึ่งเป็นงานโดยตรงเพื่อถอดถอนกิเลส จงพิจารณาเต็มสติกำลังความสามารถ ให้สมกับที่มองเห็นว่ากิเลสเป็นภัยต่อตัวเองและสัตว์โลกมาแต่กาลไหนๆ เพราะต่างคนต่างมีกัน ต่างคนต่างนำออกมาจ่ายตลาด คือสังคม ให้เดือดร้อนนอนครางไปตามๆ กัน ทั่วดินแดนดังที่เป็นอยู่นี้ เราและโลกจะหาความสงบร่มเย็นจากไหน การจ่ายตลาดกิเลสมันไม่เหมือนจ่ายอาหารสด อาหารแห้ง ที่นำมารับประทานเพื่อประโยชน์แก่ร่างกายนี้

         การจ่ายกิเลสคือความโลภ ความกริ้วโกรธ ความลุ่มหลงงงงันด้วยราคะตัณหาตามืดบอดนี้ มันทำให้โลกและเราร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่มีเวลาสร่างซาบ้างเลย พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เป็น “นักรบ” กับมัน เพราะทรงเห็นโทษและทรงดำเนินมาแล้ว ได้ผลอย่างไร ก็ทรงนำวิธีการที่ถูกต้องและได้ผลเป็นที่พอพระทัยมาแล้วนั้น มาสั่งสอนสัตว์โลก คือ พวกเราที่กำลังกำดำกำขาวหาทางออกไม่ได้อยู่เวลานี้ ผู้ใดเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระองค์ก็เป็นสิริมงคล และ มีชัยชนะแก่ตนไปโดยลำดับ ไม่อับจนทนทุกข์ทรมานไปนาน ผู้ไม่เชื่อฟังท่านยิ่งกว่าการเชื่อฟังกิเลสของตัว ก็ช่วยไม่ได้ จะต้องปล่อยให้กิเลสเป็นผู้รับผิดชอบเอง ผลจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่มีใครกล้าเสี่ยง เช่นเดียวกับโจรผู้ร้ายจับเจ้าของทรัพย์ไป ไม่มีใครกล้าเสี่ยงภัยแทนเขาได้ ฉะนั้นเราชาวพุทธจึงไม่ควรประมาทนอนใจ ในขณะที่ยังพอตะเกียกตะกายได้อยู่ เวลาไปเจอความจนตรอก ก็จะเจอคำว่า “สายเสียแล้ว” ในขณะเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ของดีเลย

พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ปรากฏว่าได้ทำประโยชน์แก่โลกมากมายจนคณนานับไม่ได้ ทรงสั่งสอนสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ไปได้ไม่มีประมาณ ขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่ก็มีจำนวนมากมายที่ได้รับแสงธรรมจากพระองค์ นอกจากนั้นพระโอวาทก็ยังเป็นแนวทางอันถูกต้องดีงามเรื่อยมา เพื่อบรรดาผู้ที่นับถือได้น้อมรับไว้ และได้นำไปประพฤติปฏิบัติตาม ดังเราทั้งหลายปฏิบัติบำเพ็ญอยู่เวลานี้

อย่าเข้าใจว่า “พระพุทธเจ้า เสด็จเข้าปรินิพพานไปนานแล้ว มรรค ผล นิพพาน หมดเขตหมดสมัยไปแล้ว” นั้นเป็นความเข้าใจผิด ซึ่งมีฝังใจอยู่แทบทุกคนโดยไม่ทราบว่าเป็นความคิดผิด และตัดทอนผลประโยชน์ของตัว อันจะพึงได้พึงถึงจากการประพฤติการปฏิบัติตามศาสนา อันเป็น “สวากขาตธรรม” มาดั้งเดิม

ถ้าคิดว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้วนั้น เป็นไปตามกาลตามสมัยธรรมดา ก็ไม่มีความผิดและเสียหายอะไร แต่สำคัญที่ว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว” เหมือนกับการรื้อถอนเอาศาสนธรรมไปด้วยหมด ทั้งฝ่ายมรรคฝ่ายผล ยังเหลือแต่ชื่อคัมภีร์ใบลานและตัวหนังสือเท่านั้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ความคิดในลักษณะนี้จึงเป็นความคิดที่ผิด

ก่อนที่จะเสด็จปรินิพพาน พระองค์ก็ได้ประทานพระโอวาทไว้กับพระอานนท์ ตอน ที่พระอานนท์ไปทูลถามท่านว่า “เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วนานเท่าใด มรรค ผลนิพพาน จึงจะหมดเขตหมดสมัย” ท่านรับสั่งเฉียบขาดเผ็ดร้อนว่า “อานนท์ถามทำไม? โอวาททั้งหมดที่เราตถาคตสั่งสอนไว้แล้วเพื่อ มรรค ผล นิพพาน ทั้งนั้น เราไม่ได้เอา มรรค ผล นิพพาน ของใครทั้งสิ้นไป นอกจากตัวของเราเองเท่านั้นที่เราชำระบริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว อันเป็นสมบัติของเราโดยเฉพาะเพียงเท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไรบกพร่อง

หากผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมยังมีอยู่ พระอรหันต์ไม่สิ้นไปจากโลก อานนท์อย่าสงสัย” นั่น

พระธรรมวินัยนั้นแล จะเป็นครูเป็นอาจารย์แทนเราตถาคต เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว” นั่นฟังดูซี นี่เป็นหลักธรรมสำคัญมาก

เพราะฉะนั้น การปรินิพพานจึงเป็นเรื่องของพระองค์โดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่อง มรรค ผล นิพพาน ที่พระองค์จะทรงรื้อถอนไปหมด ดังที่ส่วนมากเข้าใจกัน เช่น เข้าใจว่าศาสนาล่วงไปนานแล้ว เวลานี้ มรรค ผล นิพพาน หมดไปแล้ว ใครปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเพียงใด ก็ไม่มีหวังได้รับ มรรค ผล นิพพาน เป็นเครื่องตอบสนอง การคิดเช่นนั้นเป็นความเข้าใจผิด

ความจริงศาสนาล่วงไปไหน พระโอวาทยังมีอยู่ทุกบททุกบาทโดยสมบูรณ์ ความบกพร่องก็คือ การปฏิบัติตามเท่านั้น ที่พาให้เป็นผู้บกพร่อง แม้จะสมบูรณ์ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตาม เป็นสำคัญกว่า สถานที่ กาลเวลา

การที่ศาสนธรรมจะบกพร่อง เพราะการปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นไม่ปรากฏ นอกจากพระโอวาทที่พระองค์ประทานด้วยพระองค์เองจากพระโอษฐ์ เมื่อปรินิพพานแล้วก็ยุติ “พุทธภาระ” ในส่วนนั้นทั้งหมด ก็หมดไป ผู้ที่ควรจะได้รับประโยชน์ในระยะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็เป็นอันว่าผ่านไป เพราะสุดวิสัยที่จะทรงแสดงได้เหมือนขณะยังทรงพระชนม์อยู่

แต่พระโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วเพื่อ มรรค ผล นิพพาน โดยตรงนั้น ไม่มีอะไรบกพร่อง หรือขาดหายไปกับการปรินิพพานของพระองค์เลย ศาสนธรรมยัง “คงเส้นคงวาเรื่อยมา” ตลอดปัจจุบันนี้

เบื้องต้นได้พูดถึง “นักรบ” พระพุทธเจ้าทรงเป็น “นักรบชั้นเอก ชั้นเยี่ยม” ไม่มีใครบอกทางกลอุบายวิธีที่จะรบกับกิเลสทั้งปวง ไม่มีใครบอกไม่มีใครสอน เรียกว่า “สยัมภู”

เมื่อเริ่มบำเพ็ญทีแรกก็เป็นความด้นเดา เป็นธรรมดาของทางที่ไม่เคยเดิน จำต้องสงสัย สุดท้ายก็ดำเนินถูกต้อง จนชำระกิเลสออกหมดจากพระทัย กลายเป็นพระพุทธเจ้าองค์เอกขึ้นมาให้โลกกราบไหว้บูชา แล้วทรงนำ “อุบายวิธีที่ถูกต้องนั้น” มาสั่งสอนโลกโดยลำดับๆ ผู้ที่เชื่อตามพระองค์ก็ได้สำเร็จ มรรค ผล นิพพาน ตามเสด็จท่านทัน

จากนั้น ก็ประทานพระโอวาทไว้ให้ผู้เคารพนับถือทั้งหลายปฏิบัติตามเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไม่ปรากฏว่าธรรมบทใดบาทใดบกพร่องไปเลย ที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” นี่เป็นทางดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผลโดยตรง

ส่วนที่เป็น “พระสูตร” นั้น คัมภีร์นี้ เป็นเรื่องกล่าวไว้เพื่อเตือนใจให้คติเป็นแขนงๆ ไป แต่ส่วนสำคัญจริงๆ ที่เป็น “องค์แห่งการปฏิบัติ” หรือ “องค์แห่งมรรค” หรือ “มรรค ผล นิพพาน” จริงๆ แล้ว ก็ได้แก่ “สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป, จนกระทั่งสัมมาสมาธิ” นี้ เคลื่อนคลาดไปไม่ได้ ทางนี้เป็นทางดำเนินโดยตรง ใครจะไปตัดลัดให้ขาด ทอนลงไปยิ่งกว่านี้ไม่ได้ จะทำให้ยืดเยื้อยิ่งกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นธรรมที่จำเพาะเหมาะสมแล้วในการแก้กิเลสทุกประเภท ไม่มีกิเลสตัวใด ประเภทใด จะเหนืออำนาจ “มรรค” ที่เป็น “มัชฌิมา” นี้ไปได้ เพราะธรรมนี้ คือ ธรรมในท่ามกลางความเหมาะสม

คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึง “ปัญญาความเฉลียวฉลาด” ความเฉลียวฉลาดนั้นแล เป็นเครื่องชำระ หรือฟาดฟันหั่นแหลกกิเลสทุกประเภทอย่างทันสมัย เพราะกิเลสมันก็เฉลียวฉลาดไปแบบหนึ่งของมัน ไปแบบผูกมัดสัตว์โลก ธรรมที่เรียกว่า “ปัญญา” นี้ เป็นความเฉลียวฉลาดในการถอดถอน ในการแก้สิ่งที่ผูกมัดนั้นออกจากจิตใจ

“สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป” สองอย่างนี้เป็นเรื่องของ “ปัญญา” “สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว, สัมมาวายาโม, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ” นี่เป็นองค์ประกอบไปโดยลำดับๆ นี่เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง และมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่มีอะไรบกพร่อง

ถ้า “มรรค” คือ ข้อปฏิบัตินี้บกพร่องในรายใด อิริยาบถใด ผู้นั้นก็ชื่อว่า “การดำเนินของตนบกพร่อง” ถ้า “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้สมบูรณ์ในใคร ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชายไม่ว่านักบวช หรือฆราวาส ผู้นั้นได้ชื่อว่า “ปฏิบัติดำเนินโดยถูกต้อง” จะถึงจุดที่หมายไม่เนิ่นนาน ไม่มีทางปลีก ทางแวะ คือ ทางมัชฌิมานี่เท่านั้น นอกนั้นเอาแน่ไม่ได้!

นี่เป็นทางดำเนินที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านดำเนินมาแล้ว ทรงรู้ทรงเห็นด้วยการดำเนินอย่างนี้ ประทานไว้แก่สัตว์โลกแบบเดียวกันนี้ ผู้ปฏิบัติก็ปฏิบัติตามนี้

ธรรม คือ “มัชฌิมา” นี้ จึงเป็นธรรมที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการแก้กิเลสทุกประเภท ไม่มีกิเลสตัวใดจะนอกเหนืออำนาจ “มัชฌิมาปฏิปทา” นี้ไปได้ เราจึงเป็นที่แน่ใจกับธรรมนี้ มีแต่จะพยายามส่งเสริมให้ธรรมนี้มีกำลังมากขึ้น

คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” คือ ปัญญา พิจารณาให้รอบตัว กิเลสมันอยู่รอบใจ ปัญญาต้องพิจารณาให้รอบใจรอบตัว กิเลสอยู่รอบตัว ปัญญาต้องหมุนไปรอบตัว กิเลสออกไปแผ่อำนาจไกลขนาดไหน ปัญญาตามต้อนตามตี ด้วยอุบายแยบคายของตน เพื่อสลัดตัดทิ้งกิเลสประเภทนั้นๆ ออกได้โดยลำดับๆ อย่าให้มีอะไรเหลือ

มีสติปัญญาเป็นสำคัญ สติติดตามงานที่ปัญญาทำการขุดค้นไปไม่ลดละ ขณะกำหนดหรือพิจารณาก็ให้มีสติติดตาม สติกับปัญญา นี้สำคัญมากในการดำเนิน “มรรค”

อะไรที่เรียกว่า “กิเลส”? กิเลสทุกวันนี้คืออะไร? เครื่องมือของกิเลสคืออะไร? ได้อธิบายมาแล้ว เราเคยทราบแล้ว เครื่องมือของกิเลส ก็คือ พวกสังขาร ความคิด ความปรุง เหล่านี้เป็นต้น อันนี้แหละเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเอาไปใช้ ไปคิด ไปปรุงไปแต่ง ไปสำคัญมั่นหมาย สิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ สิ่งนั้นว่าดี สิ่งนี้ว่าชั่ว ว่าไปอย่างนั้นแหละ เพลงกลมายาของกิเลส

เราก็คล้อยตาม หลงตาม ชนิดไม่เบื่อ จึงถูกหลอก ถูกต้มตุ๋นไปตลอดกาล เมื่อหลงตามกิเลสแล้ว ผลที่ปรากฏขึ้นมา คืออะไร? ก็คือ ความโศกเศร้า ความทุกข์ ความทรมานทางจิตใจ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงต้องตามแก้ สิ่งใดที่กิเลสเสกสรรขึ้นมา ปัญญาทำลายความเสกสรรนั้น ให้ลงสู่หลักความจริง

ความจริง คือ ธรรม ความแปลกปลอม คือ เรื่องของกิเลส แยกแยะให้เห็นตามความจริง เช่น เป็นสัตว์เป็นบุคคล อะไรเป็นสัตว์ อะไรเป็นบุคคล มันติดเรื่องอะไร อะไรเป็นสัตว์ พิจารณาให้รู้ให้ทราบว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จริงหรือปลอม?

คำว่า “คน” ว่า “หญิง” ว่า “ชาย” มีอะไรอยู่ในนั้น ความจริงนั้น ก็ส่วนต่างๆ แห่งธาตุผสมกันอยู่เท่านั้น กิเลสอาสวะ มันว่า “เป็นคน เป็นสัตว์ ว่าสวย ว่างาม ว่าจีรังถาวร ว่ามีคุณมีค่าน่าพึงใจ ใคร่ได้ใคร่เห็น ใคร่อยากได้เป็นของตน” อะไรๆ มีค่าไปหมด บทเราจะตาย มันไม่บอกไม่เตือนเลย เห็นไหมเรื่องของกิเลส

เรื่องกิเลสที่จะทำให้คนหลงคล้อยตามมัน หรือล่มจมตามมัน มันหลอกว่า “มีค่า” ทั้งนั้นแหละ อะไรก็ตาม ว่ามีค่าไปหมด เราไม่ได้ใช้หัวคิดใช้ปัญญา ให้เห็นตามจริงก็เชื่อมันไป ก็ล่มจมตามมันไปเรื่อยๆ นั่น! ผลมีแต่ความทุกข์ ความลำบากภายในจิตใจ นี่เพราะอำนาจแห่งความเชื่อกิเลส เพราะความคล้อยตาม เคลิบเคลิ้มไปตามกิเลส

ปัญญาจึงต้องตามพิจารณาแยกแยะ เอ้า ยกตัวอย่าง เช่นคน อะไรเป็นคน? มีอะไรบ้าง ที่เรียกว่าเป็นคน แยกกันออก หนังหรือเป็นคน ผมหรือเป็นคน เล็บหรือเป็นคน ฟันหรือเป็นคน กระดูกนี้หรือเป็นคน? รวมไปหมดนี้หรือเป็นคน และดูตามความจริงให้เห็นชัดด้วยปัญญา ในขณะที่กำลังพิจารณาแยกแยะ

ผมก็เรียกว่า “ผม” มันเป็นชื่อของผม แล้วนี่มันคนที่ไหน? ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ละอย่าง ละอย่าง มันก็เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น มารวมกันแล้ว เรียกว่า “คน” แน่ะ! จะรวมกันขนาดไหน มันก็สิ่งนั้น ๆ แม้จะรวมให้เท่าภูเขาทั้งลูก มันก็คือ สิ่งนั้น ๆ อยู่นั่นเอง จะพอให้ลุ่มหลงที่ไหน จงแยกจากกันให้เห็นชัดเจนด้วยปัญญา จนถึงความแตกสลายของมัน สลายลงไป แล้วมันไปเป็นคนที่ไหนกันอีก มันเป็นสัตว์ตัวไหนกันอีก มันก็เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ตามเดิมของมันนั่นเอง แม้แต่อยู่ในร่างกายของเราที่ประชุมกันอยู่ มันก็เป็นตามธรรมชาติของมัน พิจารณาแยกแยะลงให้เห็นตามความจริงนี้ชื่อว่า “ธรรม”

เมื่อเห็นตามความจริงนี้แล้ว จะไปสงสัยอะไร ไปติดไปข้องกับสิ่งใด อันนั้นเป็นนั้น อันนี้เป็นนี้ ก็ทราบว่าอันนั้นเป็นนั้น อันนี้เป็นนี้ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อันนั้น เมื่อปัญญาหยั่งทราบชัดลงไปแล้ว จิตจะแยกตัวออกมาเอง แยกตัวออกมาด้วยอำนาจของปัญญา ท่านเรียกว่า “แก้กิเลส” แก้ตรงนี้

กิเลส คือ ความผูกมัด คือ ความยึดความถือ ความแบกความหาม ไม่รู้จักหนักจักเบา ไม่รู้จักเป็นจักตาย แบกไปหมดหามไปหมด ยึดไปหมด ดีก็ยึด ชั่วก็ยึด รักก็ยึด ชังก็ยึด เกลียดก็ยึด โกรธก็ยึด อะไรๆ ยึดหมด คือ ตัวกิเลส ไม่ถอยหลังมีแต่ยึด ยึดเท่าไรก็จมลงไป ผู้ที่ยึดนั้นก็จมไป จมไป จมไปเรื่อย ๆ เพราะกิเลสเหยียบย่ำทำลาย

เมื่อปัญญาขุดค้นลงไปให้ถึงรากฐานของความจริงแล้วจิตก็ดีดขึ้นมา ดีดขึ้นมา นั่น! นี่เรียนหลักความจริง ผลเป็นอย่างนี้ ธรรม คือความจริง สอนตามความจริง  ผู้พิจารณาก็พิจารณาให้เห็นตามความจริง เช่นท่านอยู่ในป่าในเขา มีความทุกข์ความลำบากทรมานขนาดไหนท่านไม่สนใจ ท่านพอใจปฏิบัติ พิจารณาในสถานที่เหมาะสมเช่นนั้น เพื่อแก้กิเลสซึ่งมีอยู่ภายในใจท่านโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่เถลไถลเป็นอย่างอื่น อยู่ไหนก็รื่นเริง

งานการอะไรก็ตาม ถ้าเราทำลงไปหากมีแต่ความบังคับบัญชาเฉยๆ โดยไม่มีรสมีชาติ ไม่มีความดึงดูด ไม่มีความพอใจแล้ว มันทำไปไม่ได้ ไม่ว่างานทางโลก ไม่ว่างานทางธรรม งานทางโลกก็ทำไปไม่ตลอดเหมือนกัน ใครจะไปบังคับจิตใจอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มงาน ไม่ว่างานชิ้นไหนมีแต่การบังคับให้ทำ แม้แต่อยู่ในบ้านในเมืองก็มีการบังคับให้อยู่ มันก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ไปไหนก็ถูกบังคับจำจองให้ไป ไม่ได้ไปด้วยความสมัครใจ มันจะเป็นไปได้ยังไงคนเรา ไปก็ไปไม่ได้ อยู่ก็อยู่ไม่ได้ ทำงานก็ทำไม่ได้ จะรับประทานอะไรไม่มีรสมีชาติเลย ก็บังคับให้รับประทาน เมื่อถูกบังคับไปเสียหมดอย่างนี้ โลกจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครจะทำ มีแต่ถูกบังคับไปหมด มันเป็นไปไม่ได้! สิ่งเหล่านี้ต้องล้มละลาย งานการทั้งหลายต้องล้มละลายไม่สงสัย แต่นี่เพราะเหตุใด โลกจึงเป็นโลก งานจึงเป็นการเป็นงาน ก็เพราะมีเหตุมีผล มีเครื่องดึงดูดพาให้ทำถึงทำ แม้ว่าลำบากก็มีเหตุมีผลที่ควรทำ ต้องบังคับใจทำเพราะเหตุผลนั้นๆ

เมื่อทำลงไปแล้ว ผลที่พึงได้รับก็เป็นเครื่องสนับสนุน เป็นสิ่งพึงใจ เป็นเครื่องประจักษ์กับใจ เป็นเครื่องพาให้ดูดดื่ม ให้เกิดความพอใจ คนเราจึงทำได้ด้วยการบังคับบ้าง ด้วยความพอใจบ้าง ต่อไปก็เป็นความพอใจ

การงานทั้งหลายไม่ว่าชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ มันสำเร็จไปได้ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ เมื่อพอใจโดยทางเหตุทางผลแล้ว ความอุตส่าห์พยายามมันเป็นมาเอง นี่เราพูดถึงทางโลก งานของทางโลกเป็นอย่างนี้ มันมีรสมีชาติ มีเครื่องดึงดูดให้พาทำ ให้เป็นให้ไปมันจึงเป็นไป มันจึงทำได้ งานไม่สูญพันธุ์

คนและสัตว์ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก ก็เพราะความดึงดูด มันมีอยู่ในใจทุกๆ รายไป เว้นพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีอะไรดึงดูดใจท่านได้

แยกมาทางเรื่องงานของศาสนา งานแก้กิเลสอาสวะ งานบำเพ็ญคุณงามความดีก็มีรสมีชาติเช่นเดียวกัน การทำทานให้ทาน แม้ทรัพย์จะหมดไปก็ตาม เราก็ทราบว่าเราให้ เมื่อสิ่งนี้ได้หมดไปจากมือเรา ก็เพื่อคนอื่นได้รับความสุขความสบายจากการให้ของเราอย่างเห็นประจักษ์อยู่นี่ หลุดจากมือเราไปก็ไปอยู่ในมือคนที่เราให้ คนนั้นได้รับความสุขความสบายเพราะการเสียสละของเรา เราก็เห็นชัดๆ คือ เรายื่นความสุขให้เขา เขามีความหิวโหย มีความลำบากลำบน ไม่ได้อยู่ได้กิน มีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้น ไม่สะดวกสบายก็เป็นทุกข์ ไม่ได้กินอิ่มหนำสำราญก็เป็นทุกข์ อะไรๆ เกิดขึ้นมา เช่นความกระทบกระเทือนร่างกายและจิตใจเป็นทุกข์ทั้งนั้น เมื่อเราเสียสละให้เขา จะให้ข้าวให้น้ำก็ตาม ให้ที่อยู่ที่อาศัยก็ตาม ให้เงินให้ทองก็ตาม ให้ขนมข้าวต้มก็ตาม ล้วนแต่เป็นการเอาความสุขให้เขา หลุดจากมือเราไปก็เป็นความสุขแก่เขา เราเห็นประจักษ์

นี่แหละ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ หมดเท่าไรก็หมดไปเพราะความสุขเห็นประจักษ์อยู่ในสิ่งที่เราให้ ไม่เสียผลเสียประโยชน์ คนอื่นได้รับความสุขตามเจตนาของเราจริงๆ เห็นได้ชัด! นี่ผลแห่งการให้ทานก็เห็นชัดๆ อยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น “ทาน” จึงไม่เสื่อมไปจากโลก โลกเห็นเหตุเห็นผลประจำหลักธรรมอยู่เช่นนี้แล้ว เรื่องการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันนี้ จะเป็นไปจนกระทั่งถึงวันไม่มีมนุษย์คนใด สัตว์ตัวใดเหลืออยู่ในโลก “ทาน” จึงจะหมดไป!

เรื่องรักษาศีลก็เหมือนกัน ศีลเป็นอย่างไร? ทำความร่มเย็นอย่างไรให้แก่เราบ้าง เราไม่ไปเบียดเบียนใคร อันใดที่ขัดข้องต่อจิตใจและสมบัติของเขา เป็นอันตรายต่อจิตใจและสมบัติเขา เราไม่ทำ ใครมาทำเรา เราก็เสียใจ ต่างคนต่างรู้จิตใจของกันและกันแล้วก็ทำกันไม่ลง ต่างคนต่างก็เย็น ถ้าเราไม่ไปทำลายจิตใจของใครสมบัติของใคร เราก็เย็น ไม่ว่าศีลประเภทใดมีความเย็น และก็พอใจจะรักษา “ศีล” ถึงจะรักษายากก็พอใจ เพราะเหตุผลบ่งบอกอยู่อย่างชัดเจน เราเองก็ภูมิใจ เราไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ฆ่าไม่ทำลายใคร ไม่ฉก ไม่ลัก ไม่ปล้น ไม่สะดมของใคร ทรัพย์สมบัติของใครที่ไม่ใช่ของเราแล้วเราไม่เอา เราอยู่ด้วยความภูมิใจอย่างนี้เพราะศีลของเรา เราก็พอใจรักษาและภาคภูมิใจ

การภาวนา เอ้า! พูดถึงการภาวนา ถึงจะทุกข์จะลำบาก ก็เราทำงานนี่ เพื่อ “ฆ่า” ตัวอันเป็นเสนียดจัญไรที่มีอยู่ภายในจิตใจเรา ซึ่งเหมือนกับเสือร้ายที่อยู่ภายในใจ เพราะคำว่า “กิเลส” นั้นมันมีหลายประเภท ความโลภก็เป็นเสือร้ายตัวหนึ่ง ความโกรธก็เป็นเสือร้ายตัวหนึ่ง ความหลงก็เป็นเสือร้ายตัวหนึ่ง แตกแขนงออกไปเป็นลูกเป็นหลานของเสือร้ายทั้งนั้น ล้วนแล้วแต่กัดแต่กินแต่ฉีกมนุษย์และสัตว์กินทั้งนั้น

เสือร้ายเหล่านี้ ไม่เอาอะไรเป็นอาหาร นอกจากเอาหัวใจของสัตว์โลกนี้เท่านั้นเป็นอาหาร ฉีกอยู่อย่างนั้น กัดอยู่อย่างนั้น ไม่ตายก็ทำให้เสียสุขภาพภายในจิตใจ ถ้ามากกว่านั้นเสียสุขภาพทางร่างกายอีกด้วย คนที่เสียใจมากมักเป็นบ้าเป็นบอไปก็ได้ แล้วจะไม่เสียสุขภาพทางร่างกายด้วยได้อย่างไร นี่แหละ “เสือร้าย” มันมีอยู่ภายในใจ

การแก้ไข การทำลายเสือร้ายเหล่านี้ มันเป็นความถูกต้องดีงามนี่ ลองพิจารณาดูซิทำไมจะไม่พอใจ คนเราเมื่อทำลายข้าศึกศัตรูได้เป็นวรรคเป็นตอนแล้ว ทุกข์ก็พอใจทุกข์เพราะความเพียร เมื่อทราบแล้วว่าสิ่งนี้เป็น “อสรพิษ” เป็นเสือร้ายอยู่แล้ว เราจะเลี้ยงมันไว้ทำไม เลี้ยงมันไม่เกิดคุณประโยชน์อะไร นอกจากคอยทำลาย คอยเบียดเบียน คอยยุแหย่ก่อกวนจิตใจเราให้ชอกช้ำขุ่นมัวเดือดร้อน นอนไม่หลับ กินไม่ได้ โดยถ่ายเดียว ซึ่งล้วนแต่เสือร้ายมันเข้าไปทำลายจิตใจคนและสัตว์ทั้งสิ้น

การภาวนาเพื่อถอดถอน หรือเพื่อทำลายเสือร้ายประเภทนี้ให้ตายลงไป นับแต่พ่อแม่ลูกหลานของมันลงไป เพื่อบ้านเมือง ซึ่งหมายถึง “จิตใจ” ของเราจะได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ทำไมเราจะไม่พอใจทำ!

นี่แหละ “ศากยบุตร พุทธชิโนรส” คือ บริษัทของพระพุทธเจ้า ที่มีความพอใจต่ออรรถต่อธรรม ต่อการบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา ก็เพราะเหตุผลอย่างนี้เอง ท่านถึงทำกันมาไม่ขาดวรรคขาดตอน

เอ้า! ทุกข์ก็ทุกข์ ตายก็ตาย เมื่อเข้าสู่สงครามแล้วไม่ตายก็ให้ได้ชัยชนะ ตายก็ตาย นี่เราเข้าสู่สงคราม คือการรบกับกิเลส สู้กับกิเลสที่เป็นเสือร้าย หรือเป็นปัจจามิตรตัวสำคัญ ที่มันทำลายจิตใจเรามาตลอดเวลา นี่พอได้สติสตัง และมีเครื่องศาสตราวุธ ได้แก่ “ธรรม” เป็นเครื่องต่อสู้แล้ว เราก็ต้องสู้!

เอ้า! สู้ด้วยวิธีการต่างๆ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ถอย นั่งก็สู้ นอนก็สู้ ยืนก็สู้ เดินก็สู้ อาการต่างๆ มี “ต่อสู้” ท่าเดียว กิเลสมันจะมีมากมายมาจากที่ไหน แม้มีมากเพียงไร การสู้อยู่ไม่ยอมถอย และเข่นฆ่าอยู่ไม่ถอย ไม่มีการส่งเสริมกิเลส มีแต่การทำลายกิเลสไปโดยถ่ายเดียว มันก็ต้องค่อยหมดไปๆ ตายไปๆ ตายที่นั่นตายที่นี่อยู่ไม่หยุด มันจะยกกองพัน กองพล มาจากโลกไหน เอ้า! ยกมา จะฆ่าให้ตายหมด ไม่ให้เหลือไว้ให้ก่อกวนและทำลายอีกต่อไป

นั่งอยู่ก็ฆ่ากิเลส นอนอยู่ก็ฆ่ากิเลส กิเลสตายเกลื่อนอยู่ตามที่นั่งที่นอน หมอน มุ้ง ทางจงกรมและที่นั่งสมาธิภาวนา ร่มไม้  ในถ้ำ เงื้อมผา ชายป่า ชายเขา มีแต่ศพของกิเลสที่ถูกฆ่าตายเกลื่อนไปหมดทุกทิศทุกทาง ไม่ต้องไปเผาศพมัน กุสลา ธัมมา ไม่ยุ่งละ ฆ่ากิเลส มันฆ่าง่ายจะตายไป ไม่ต้องไปหานิมนต์พระมากุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา ยุ่งไปยุ่งมา ลำบากเปล่า แต่ฆ่าด้วย “กุสลา ธัมมา” คือ ความฉลาดที่เกิดจากใจเราเอง

ฆ่าตัวพิษตัวภัยอยู่ในจิตใจของตนให้หมด เอาให้มีความเข้มแข็ง กิเลสมันสู้ความเข้มแข็งไม่ได้ สู้สติ สู้ปัญญาไม่ได้ เพราะเป็น “ศาสตราวุธ” ที่ทันสมัยที่สุด ตั้งแต่สมัยใดๆ มาไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใด ล้วนแต่ใช้สติปัญญานี้ทั้งนั้นเป็นเครื่องปราบปรามกิเลส อาศัยความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายามเป็นเครื่องหนุนหลัง กิเลสก็ตายไปด้วยอุบายอันนี้ ด้วยวิธีการอันนี้ เราจะเอาวิธีการอะไรมาใช้ ถ้าไม่ใช้วิธีการอันนี้ ยากก็เป็นวิธีการที่ชนะกิเลส เป็นวิธีการจะเอาชนะต่อกิเลส วิธีที่จะปราบปรามกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือ ยากก็ปราบ ง่ายก็ปราบ ไม่ถอย! จนกระทั่งเสือร้ายภายในใจฉิบหายตายไปหมดแล้วเราก็อยู่สบาย!

ชัยชนะมีแล้วภายในใจ เพราะกิเลสตายไปหมด ไม่มีอะไรมายุ่งมากวน ไม่มีอะไรมากัดมาฉีก มายุแหย่ทำลาย แสนสบาย! อยู่ไหนๆ ก็สบาย “สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอ! สุขหนอ!” ดังพระมหากัปปิน ท่านเปล่งอุทาน เวลาบรรลุอรหัตผล ผ่านพ้นความทุกข์ทรมานเพราะกิเลสไปหมดแล้ว

แต่ก่อนท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ยุ่งยากกับกิจบ้านการแผ่นดินเสียจนไม่มีเวลาจะบรรทม พอเสด็จออกทรงผนวชได้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว อยู่ที่ไหน ก็ “สุขํ วต สุขํ วต สุขหนอ สุขหนอ” ก็สุขนะซี ไม่มีอะไรมาบังคับใจ ไม่มีอะไรมากดขี่ ไม่มีอะไรมากัดมาฉีก มายุมาแหย่ ก่อกวนภายในใจ

โล่งไปด้วยอรรถด้วยธรรม โล่งไปด้วยความบริสุทธิ์ ว่างเปล่าไปหมดโลกธาตุ ไม่มีอะไรเข้ามายุ่งกวนจิตใจเลย ว่างไปหมด!

นี่แหละ ว่างจากกิเลส ตัณหา อาสวะ เหลือแต่ใจที่บริสุทธิ์ ล้วนๆ จึงกลายเป็นใจที่ว่างไปหมด ว่างความทุกข์ ว่างจากความโศกโศกาลัย ว่างจากสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร ภายในจิตใจไม่มีเลย นั่น! ว่างอย่างนั้นแสนสบาย!

นี่ คือ ผลแห่งการรบ คือ ผลแห่งการกระทำที่เป็นความลำบากยากเย็นขนาดไหน ผลก็เป็นที่ยอมรับกันว่า “ประเสริฐอย่างนี้!” แล้วเหตุใดพุทธบริษัทเราจะไม่พอใจ ดังที่เราทั้งหลายบำเพ็ญอยู่ในเวลานี้ ก็เป็นของยากของลำบาก แต่เราก็พอใจทำ เพราะเหตุผลบอกอยู่แล้วว่า การทำนี้เป็นผลประโยชน์อย่างนี้ เราต้องทำ ยากก็ทำ ง่ายก็ทำ เป็นก็สู้ ตายก็สู้ ขึ้นชื่อว่า “นักรบ” ไม่ใช่  “นักหลบ”

นี่แหละศาสนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แม้ปรินิพพานไปแล้วก็ตาม ธรรมใดที่ทรงชี้ไว้แล้วโดยถูกต้อง สิ่งนั้นจะไม่เปลื่ยนแปลงไปจากความถูกต้องนั้นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างจริงตามสัดตามส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม” ตรัสไว้ชอบแล้ว “นิยยานิกธรรม” เป็นธรรมที่จะนำบุคคลผู้ปฏิบัติให้พ้นไปจากทุกข์ได้โดยลำดับ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย จึงเป็นที่ภูมิใจที่เราได้เกิดในท่ามกลางแห่ง “ศาสนธรรมอันถูกต้องดีงามของพระพุทธเจ้า” เหมาะสมที่สุด มนุษย์เป็นภูมิที่อำนวยที่สุด เหมาะสมที่สุดกับศาสนธรรม ท่านจึงได้ประกาศศาสนาลงไว้ที่มนุษย์เรา

มนุษย์ได้แก่ใคร ถ้าไม่ได้แก่เรา ใจนี่เหมาะสมกับธรรม ได้แก่ใจใคร ถ้าไม่ได้แก่ใจเราผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่เวลานี้ มีเท่านี้เป็นที่เหมาะสมที่สุด จึงขอให้สู้ เอ้า! หัวขาดเถอะ! ชื่อว่า “เป็นศิษย์ตถาคต” แล้ว ถ้าตายในแนวรบ เชื่อแน่ว่า พระพุทธเจ้าจะทรง “กุสลา” เอง ถ้าเราได้เป็นนักรบจริงๆ อย่างนั้นแล้ว

เอาละ พูดย่อ ๆ

 

ggggggg

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก