วัฏจักร
วันที่ 14 ธันวาคม 2518 ความยาว 28.32 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)   ข้อมูลเสียงแบบ(Real)

ค้นหา :

เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

วัฏจักร

 

ปัญหาของโลกในปัจจุบันนี้ที่มีมากก็คือปัญหาที่ “ตายแล้วเกิด” ดูจะมีน้อย “ตายแล้วสูญ” รู้สึกว่าจะมีมากขึ้นทุกที ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ต่อจิตใจของนักเกิดนั่นแหละ

การเข้าใจว่าตายแล้วสูญนั้นก็คือเรื่องของกิเลสพาให้เข้าใจ ไม่ใช่ความจริงพาให้เข้าใจ ผู้เชื่อความสำคัญของกิเลสจึงทำผิดเรื่อย ๆ แล้วก็ “เกิด” ไม่หยุด ทุกข์ไม่ถอย ไม่มีเวลาลดน้อย เพราะความคิดเช่นนั้นเป็นการส่งเสริมกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น

คนที่เข้าใจว่าตายแล้วสูญนั้น ย่อมไม่คิดเตรียมเนื้อเตรียมตัวเพื่ออนาคต เพราะหมดหวังแล้ว ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เป็นไป ที่ได้ประสบพบเห็นต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราไม่หวังก็ตามมีอยู่ และสิ่งสำคัญที่มีอยู่ขณะนี้คือมีอยู่ทุกขณะก็คือใจ ปัญหานี้จึงเป็นปัญหา “เพชฌฆาต” เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายตัวเองโดยแท้ การทำลายตัวเองไปในตัวไม่มีชิ้นดีแฝงอยู่บ้างเลยนั้น จัดว่าเป็นคนหมดหวัง ราวกับโลกที่หมดหวัง ไม่มีใครช่วยได้นั้นเอง

ผู้ที่มีความเข้าใจว่าตายแล้วเกิด ย่อมมีการระมัดระวังตัวและกลัวบาป โดยคิดว่าถ้าเกิดแล้วจะเป็นอย่างไร หากว่าเราทำไม่ดีเสียอย่างนี้ เวลาไปโดนความทุกข์เข้าในเวลาไปเกิดใหม่ ก็จะได้รับสิ่งที่ไม่พึงใจทั้งหลายเป็นเครื่องตอบแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนาอย่างยิ่ง แล้วก็ไม่กล้ากระทำ เพราะอย่างไรเสียจิตก็ต้องไปเกิดอีกด้วยผลแห่งกรรมนั้น ๆ ผู้นี้จึงมักมีความระมัดระวังและขยะแขยงต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่พึงปรารถนา และก็ไม่กล้าทำลงไป

แต่พวกที่เชื่อว่าตายแล้วสูญนั้น รู้สึกจะเห็นว่าสูญไปโดยประการทั้งปวง ในเรื่องบาปเรื่องบุญคุณโทษอะไรทั้งหมด พอยังมีลมหายใจอยู่เท่านั้น เมื่อสิ้นลมหายใจแล้วก็หมดหวัง ไม่มีความดี ความสุขสนองตอบ นอกจากความทุกข์ความไม่ดีที่ตนเข้าใจว่าไม่มีเท่านั้น จะให้ผลแก่ผู้นั้น การทำบุญทำบาปจึงไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้นกับเขา นอกจากเป็นความต้องการในปัจจุบัน จะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ ผิดหรือถูกไม่คำนึง ผู้มีความคิดเช่นนี้ได้ชื่อว่าทำลายตนเองไปในตัวทุกระยะที่คิดและทำลงไป

ในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าก็มีไว้ คือเจ้าทิฐิต่าง ๆ ซึ่งมาสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า สัตว์ตายแล้วสูญบ้าง ตายแล้วเกิดบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงบ้าง สัตว์ที่เคยเกิดเป็นชนิดใดก็ต้องเกิดเป็นชนิดนั้นบ้าง เช่นใครเคยเกิดเป็นคนก็ต้องเป็นคนเรื่อยไป เที่ยงต่อกำเนิดของตนที่เคยเกิดเป็นอะไร กลายเป็นความเที่ยงไปหมด นี่ก็เป็นเรื่องของความสำคัญ ไม่ใช่ความจริงซึ่งมีอยู่ในสันดานของสัตว์เต็มโลก

เรื่องของกิเลสเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เมื่อพิจารณาและเรียนเรื่องของกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในใจของเรา ด้วยหลักธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์โดยลำดับแล้ว เราจะยิ่งเห็นกิเลสเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะแทบทุกสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหลอกลวงจากกิเลส อันทำให้สัตว์เป็นภัยเสมอไป แทบจะพูดได้ว่าทุกระยะที่เป็นความกระซิบกระซาบ เป็นความบังคับบัญชา อำนาจมาก อำนาจน้อย มักมีอยู่กับกิเลสทั้งสิ้น จิตใจเราก็คล้อยตามมัน คล้อยตามมันจนลืมตัว ว่าคิดเช่นนั้นเป็นสิ่งถูกต้องไปหมด  แม้ที่ไม่น่าเชื่อก็เชื่อไปเลย ที่เรียกว่า “ลืมตัวอย่างมืดมิด” ไม่ทราบได้ว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นทางถูกหรือทางผิด เพราะเคยเชื่อธรรมชาติที่พาให้งมงายนี้มานานแล้ว

กิเลสเป็นธรรมชาติที่ไม่มีค่าสำหรับผู้ที่มีค่า และความเป็นผู้มีคุณค่าคือตัวเรา จึงต้องระวังเสมอ

การที่จะพิสูจน์เรื่องเกิดเรื่องตายนี้ เราจะพิสูจน์อย่างไร ? ไปเรียนที่ไหนไม่สิ้นไม่สุด และก็ไม่สามารถที่จะระงับดับความสำคัญอันด้นเดาเหล่านั้นได้ นอกจากการปฏิบัติต่อจิตใจโดยเฉพาะ คือ “จิตตภาวนา”  งานนี้เป็นทางตรงแน่วต่อความจริงที่จิตจะพึงทราบ จิตจะต้องทราบด้วยวิธีนี้แน่นอน เพราะปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงทราบจากวิธีนี้เป็นหลักใหญ่

การคิดตรองต้องมี “จิตตภาวนา” เป็นหลักยืนตัว จึงจะสามารถเข้าถึงความจริง อย่างอื่นไม่มีทางทราบได้ จะเรียนมากเรียนน้อยก็ตาม แต่ไม่ได้ประมาทเพราะการเรียนไม่ใช่การชำระกิเลส เป็นการจดจำเอาตามการเรียนมาเฉย ๆ แต่กิเลสก็เป็นกิเลสอยู่โดยดี ถ้าเราไม่แก้กิเลส กิเลสก็มีอยู่เต็มหัวใจตามเดิม ราวกับคนไม่เรียนไม่ละกิเลสนั่นแล เหมือนอย่างเขาสร้าง “แปลนบ้านแปลนเมือง” จะทำแปลนได้กี่มากน้อยมันก็เป็นแปลนอยู่เปล่าดี ๆ นั่นแหละ ถ้าเราไม่ลงมือทำมันก็ไม่เป็นตัวบ้านตัวเรือนขึ้นมาได้

การเรียนธรรม การจดจำชื่อเสียงของกิเลส จะเรียนกันไปขนาดไหนก็เรียนไปจำกันไปแต่ชื่อ ความจริงมันก็เป็น “กิเลส” ของมันอยู่อย่างนั้น ไม่บกพร่องลงบ้างเลยจนนิดเดียวด้วยการท่องจำ จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะจดจำเปล่า ๆ ไม่สามารถจะแก้กิเลสต่าง ๆ ภายในจิตใจได้ นอกจากจะปฏิบัติเพื่อละเพื่อถอนมันไปโดยลำดับ ดังที่ปราชญ์ทั้งหลายพาดำเนินมาจนถึง “ความบริสุทธิ์พุทโธ” เต็มดวงใจเท่านั้น

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้งสามนี้เป็นธรรมสามัคคีกันขาดไปไม่ได้ ถ้าอยากเห็นกิเลสหลุดลอยออกจากใจ ถ้าอยากเป็นผู้รับเหมากิเลสทั้งมวลกองเต็มหัวใจ ก็เพียงเรียนเอา จดจำเอาแต่ชื่อของมันก็พอตัวแล้ว แทบเดินไม่ไหว เพราะหนักคัมภีร์ใบลานที่เรียนจดจำมาเปล่า ๆ โดยเข้าใจว่าตนเป็นปราชญ์ฉลาดพอตัว ทั้งที่กิเลสเต็มหัวใจ

การปฏิบัติ เช่น จิตตภาวนา คือการปฏิบัติต่อจิตใจตัวเอง เป็นการเรียนเรื่องจิตใจของตนโดยตรง วิถีใจชอบคิดไปในทางใดบ้าง มีมากน้อยหนักเบาไปในทางใด ? ทางดีหรือชั่ว มีธรรมคือสติปัญญาเป็นต้น เป็นเครื่องพิสูจน์อารมณ์อยู่เสมอ ธรรมท่านสอนไว้อย่างไร อะไรที่ควรเอาชนะ ที่ควรจะระวัง ที่ควรจะดับ ที่ควรจะส่งเสริม ท่านบอกไว้หมด

เช่น จิตมีความฟุ้งซ่านซึ่งเป็นการก่อกวนตัวเอง เวลาฟุ้งซ่านมากก็ก่อกวนมาก ทำลายตนมาก ให้พยายามระงับดับความคิดเหล่านั้นด้วยอุบายต่าง ๆ มีสติปัญญาเป็นสำคัญ ตามแต่จะเห็นควร เช่น การกำหนดภาวนา มีธรรมบทใดเป็นหลักยึดแทนอารมณ์ที่เคยทำให้ฟุ้งซ่านนั้นเสีย จิตก็ย่อมมีทางสงบลงได้ พอจิตสงบลงได้ก็ทราบว่า จิตพักงานที่แสนวุ่นวายลงได้เป็นพัก ๆ เพียงเท่านี้ก็พอทราบเบื้องต้นแห่งการภาวนาว่า มีผลเป็นความสงบสุขทางใจ ถ้าเป็นโรคก็ถูกกับยา หรือระงับลงแล้วด้วยยา พอมีทางพยาบาลรักษาให้หายได้โดยลำดับ จนหายขาดได้ด้วยยาขนานต่าง ๆ จิตใจต้องสงบเย็น เห็นผลโดยลำดับด้วยธรรมแขนงต่าง ๆ จนถึงขั้นบริสุทธิ์ได้ด้วยธรรม

เมื่อจิตมีพลังทั้งหมดมั่นคงเข้าไปเป็นลำดับ ๆ ก็ย่อมทราบชัด และทราบเรื่องของธาตุของขันธ์ไปโดยลำดับ โดยทางปัญญาเป็นอย่างนั้น ๆ จนทราบว่า ธาตุขันธ์เหล่านี้มันไม่ใช่อย่างเดียวกัน แม้จะอาศัยกันอยู่ราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ตาม เปรียบเทียบเหมือนกับเรามาอาศัยอยู่ในบ้าน บ้านนั้นเป็นบ้าน เราเป็นเรา จะอยู่ในบ้านเราก็เป็นเราคนหนึ่ง ต่างคนต่างอยู่ เป็นแต่อาศัยกันอยู่ชั่วกาล ฉะนั้นบ้านจึงไม่ใช่เรา เราจึงไม่ใช่บ้าน บ้านเป็นสมบัติของเรา ธาตุขันธ์เป็นสมบัติของเราคือใจ แต่เรานี้ไม่ใช่บ้านและเราไม่ใช่ธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์ไม่ใช่เรา แต่เพียงอาศัยและเป็นความรับผิดชอบกันอยู่ ฉะนั้นเราจะเรียกว่าธาตุขันธ์เป็นของเราตามสมมุติก็ไม่ผิด แต่อย่างไร ๆ มันก็เป็นคนละอย่างอยู่ดี

การเรียนจิตตภาวนาย่อมทราบความจริงไปโดยลำดับ ๆ ดังที่อธิบายมา และการเรียนเช่นนี้เป็นภาคปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสโดยตรง

ครั้งพุทธกาลท่านเรียนเพื่อปฏิบัติกำจัดกิเลสต่าง ๆ ออกจากใจจริง ๆ ไม่ได้เรียนเพื่อเอาชื่อเอานามของกิเลสบาปธรรม และชั้นภูมิ ตรี โท เอก มหาเปรียญ อย่างเดียว โดยมีใบประกาศนียบัตรรับรอง อันเป็นราวกำแพงรักษาความปลอดภัยให้กิเลสผาสุกสนุกแพร่พันธุ์ออกลูกออกหลาน สร้างบ้านสร้างเรือนที่ขับถ่ายบำรุงบำเรอบนหัวใจสัตว์โลก ดั่งที่เป็นอยู่เห็นอยู่นี้เลย

ชั้นภูมิของท่านที่ได้รับส่วนผลจากการปฏิบัติ ก็เป็นกัลยาณชน อริยชน เป็นขั้น ๆ โดยสนฺทิฏฺฐิโก เป็นเครื่องรับรองตัวเองตามหลักความจริงของภูมิธรรมนั้น ๆ สมกับธรรมเป็นสวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชอบ ได้ผลเป็นที่พึงใจตามพระประสงค์ที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลกด้วยธรรมของจริง อันประกอบด้วยพระเมตตาเต็มพระทัยไม่เคยบกพร่องแต่ต้น จนถึงเวลาจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน องค์พยานวาระสุดท้าย คือพระสุภัททะปัจฉิมสาวก ผู้บวชในราตรีจะปรินิพพาน ซึ่งตั้งหน้าทำความเพียร ยังกิเลสทั้งมวลให้สิ้นซากในคืนวันนั้น จากพระโอวาทที่ประทานโดยเฉพาะ หลังจากนั้นก็ประทานปัจฉิมโอวาทแก่พระสงฆ์ที่ประชุมพร้อม เพื่อการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ โดยใจความสำคัญว่า

ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลายให้ทราบว่า (สัจธรรมที่มีติดแนบอยู่กับตัว) คือ สังขารทั้งหลายที่เกิดขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง คือ (สังขารภายในได้แก่ ความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ทุกขณะ ทั้งดี ชั่ว กลาง) ล้วนดับไปโดยสติปัญญา ด้วยความไม่ประมาทเถิด

เหล่านี้คือพระเมตตาล้นฝั่งแห่งโลกธาตุ ที่ประกาศแก่มวลสัตว์เรื่อยมาจนวาระสุดท้าย สรุปความแล้วก็ลงไปรวมที่ใจ

ใจจึงควรได้รับการอบรม อย่างน้อยก็พอรู้วิถีทางเดินของตน และรู้วิถีของจิตไปโดยลำดับด้วยวิธีจิตตภาวนาว่า  ปกติจิตของสามัญชนชอบคิดไปในทางใด หนักไปทางใด จิตจะมีความบึกบึนหรือมีความเสาะแสวงในทางนั้นเสมอ ถ้ามีสติมีปัญญาคอยสอดส่องคอยสังเกตอยู่แล้ว เราจะพบเห็นว่าจิตนี่ชอบไปในทางนั้นมาก เมื่อจิตคิดในทางนั้นมาก ก็ทำให้เกิดความสนใจว่าทางนั้นมันเป็นอะไร? เป็นทางดีหรือทางชั่ว เป็นทางผูกมัดหรือทางแก้ทางถอดถอน? ถ้าเป็นทางผูกมัด เป็นทางสั่งสมความชั่วหรือความทุกข์เกิดขึ้นมาแก่เรา เราก็พยายามแก้ไข พยายามหัก พยายามหักห้าม นี่มันมีทางแก้กันได้อย่างนี้

การพยายามอยู่โดยสม่ำเสมอไม่มีการลดละ ย่อมจะมีทางหักห้ามสิ่งไม่ควรนั้นได้ จนกระทั่งหักห้ามไว้ได้ และตัดขาดจากกันไปได้ เหมือนคนตัดไม้ ตัดฟันครั้งหนึ่งไม่ขาด ฟันสองครั้งเข้าไป สามครั้ง สี่ครั้งเข้าไป จนกระทั่งไม้นั้นขาดจริง ๆ เพราะความพยายามตัดอยู่เสมอ

การตัดกระแสของจิตที่ชอบคิดในเรื่องไม่ดี ด้วยความพยายามในทางดีอยู่เสมออย่างนี้ ย่อมเป็นไปได้ทำนองเดียวกัน เมื่อตัดสิ่งใดขาดไปจากจิตแล้ว ก็ทราบว่าสิ่งนั้นได้ขาดไปแล้วจากใจ เงื่อนที่จะต่อให้จิตเกิดความทุกข์ความลำบาก เพราะความคิดเช่นนั้นไม่มีอีกต่อไป

กิเลสประเภทใดที่จิตชอบคิด ชอบยึดเหนี่ยว ชอบยึดมั่นถือมั่น ก็คิดแก้ไขในแง่นั้นมาก ๆ พึงกำหนดพิจารณาแก้ไขกันโดยทางสติปัญญาอย่างสม่ำเสมอ ต่อไปกิเลสประเภทนั้นหรือความคิดประเภทนั้นก็ค่อยอ่อนกำลังลงไป สติปัญญาค่อยแก่กล้าขึ้นมาจนกระทั่งสามารถตัดขาดได้ไม่มีเหลือ

การพยายามด้วยความเพียรตัดขาดไปทีละกิ่งสองกิ่งของกิเลส ก็นับว่าเป็นมงคลแก่ตัวเราโดยลำดับ ถ้าเป็นต้นไม้ก็ต้องตัดขาดทีละกิ่งสองกิ่ง ถ้าเป็นรากไม้ต้นหนึ่งๆ มันมีรากมากน้อยเพียงไรก็พยายามตัดมัน จนกระทั่งโค่นล้มลงไปจนกระทั่งรากแก้วไม่ให้เหลือหลอ ด้วยความพยายาม คือพยายามตัดทีละรากสองรากเข้าไป จนกระทั่งมันทนไม่ไหว เพราะการตัดโดยสม่ำเสมอ ตัดโดยไม่หยุดหย่อน ไม่ลดละ มันก็ขาดล้มลงโดยไม่สงสัย

เรื่องกระแสของกิเลสที่ออกมาจากจิตมันมีมากมายเช่นเดียวกับรากไม้ รากฝอยนั่นแหละสำคัญ รากแก้วมันมีรากเดียว ไอ้ตัวกิเลสก็มีตัว “อวิชชา”อันเดียวเท่านั้นแหละเป็นหลักใหญ่ นั่นแหละเรียกว่ารากแก้วของกิเลส ให้พยายามตัด มันแตกแขนงออกไปมากมายก่ายกอง คือมันแตกออกมาทางตาไปสู่รูป แล้วมีรูปอะไรบ้าง นั่นแหละมันแตกแขนงไป เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ยั่วจิตให้คิดไปทางกิเลส

ทีนี้ในทางเสียง เสียงอะไรบ้าง มันก็แตกแขนงออกไปเป็นรากฝอยไปเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ทราบว่า รากฝอยก็คือรากฝอยของกิเลสตัวนี้เอง จะรากฝอยอะไรกัน เสียงเป็นลักษณะใด ถ้าเป็นเสียงที่จะทำให้เกิดกิเลสขึ้นมา ก็ทราบว่าเป็นเรื่องของกิเลสด้วยกัน เราก็พยายามตัด พยายามแก้ คลี่คลายเสียงนั้น

รูปมันเป็นอะไร ถึงรักถึงชอบ ถึงเกลียดถึงโกรธ แยกออกไป ใครเป็นผู้โกรธ โกรธเพราะเรื่องอะไร จิตเป็นผู้โกรธ โกรธเรื่องอะไร โกรธแล้วมันได้ประโยชน์อะไร ความโกรธเป็นความรุ่มร้อน เป็นความทุกข์ ทำไมขยันโกรธ? โกรธแล้วมันได้ประโยชน์อะไร โกรธให้ตัวเองค่อยยังชั่ว ไอ้โกรธให้คนอื่นซึ่งตัวเองก็เป็นทุกข์ แล้วเขาก็เป็นทุกข์ ยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานใจทั้งสองคน คือทั้งตนและเขาขึ้นอีกมากมาย

การโกรธให้ตัวเองยังมีทางที่จะแก้ไขได้ดีกว่าโกรธให้คนอื่น แม้จะเป็นกิเลสก็ยังพอจะถอดถอนความโกรธนี้ได้ แต่ส่วนมากไม่ยอมโกรธตัวเอง ที่จะให้บังเกิดอุบายปัญญาพอแก้ความโกรธตัวเองได้

การไปโกรธคนอื่นเหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ จงแยกแยะดู พิจารณาด้วยดี รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มันมีเป็นแขนง ๆ ไป ออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกายนี้แหละ แล้วจึงมาสู่ใจ คือ “ธรรมารมณ์”โดยอาศัย รูป เสียง ฯลฯ ที่เคยสัมผัสมาแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ของใจ ให้นำมาครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นการสั่งสมกิเลสประเภทหนึ่ง ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ มันแตกแขนงออกมา คือแตกออกมาจากใจ สติปัญญาหยั่งทราบอยู่ภายในใจและแก้ไขกันไปเรื่อย ๆ ไม่ลดละท้อถอย หนีไม่พ้นถ้าลงสติปัญญาจดจ่อตรงนั้น ไม่ทราบในวาระนี้ต้องทราบในวาระต่อไปจนได้ ไม่ทราบมากก็ต้องทราบน้อย ทราบไปโดยลำดับ ๆ ก็ค่อยทราบมากไปเอง ค่อยตัดขาดไปเอง ทราบตรงไหนแล้วก็ค่อยละไป ละกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งละได้ขาดจากกันไปจริง ๆ นี่การตัดกิเลสท่านตัดอย่างนี้ เช่นเดียวกับที่เราตัดรากฝอยของต้นไม้ ตัดไปตัดมาก็ไม่มีรากอะไรเหลืออยู่ สุดท้ายก็เหลือแต่รากแก้ว ก็ถอนขึ้นมาหมดไม่มีเหลือ

เราตัดและถอนต้นไม้ให้ตายด้วยวิธีนี้ เราจึงถอดถอนกิเลสด้วยวิธีเดียวกัน ด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร จนกิเลสตายเกลี้ยง เราก็แสนสบายบรมสุข

เรื่องของจิต ภพชาติมันอยู่ที่จิต ความสูญไม่ทราบมันอยู่ที่ไหน เราไม่เห็น ในคัมภีร์ก็ไม่มีว่าสัตว์ตายแล้วสูญ มีแต่ตายแล้วเกิดถ้ากิเลสยังมีอยู่ในใจ ทำไมจึงไปเหมามันได้ว่าตายแล้วสูญนั่นน่ะ จึงเอามาพูด แต่ภพชาติมันไม่สูญนี่นะ มันอยู่ที่จิต ทำไมเราจึงไม่ดูที่ตรงนี้ ? ไปหาด้นเดาเกาที่ไม่คันให้มันถลอกปอกเปิกเป็นทุกข์ไปทำไม เราเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นชาติที่ฉลาด ทำไมจึงมาโง่ต่อเรื่องของตัว หากมีผู้มาว่าพวกเราบัดซบจะไม่อายเขาหรือ? หรือว่าไม่อาย ต้องโกรธเขาซิ ดังนี้ก็ยิ่งไปใหญ่ ขายตัวสองต่อสามต่อจนไม่มีสิ้นสุด เพราะความโง่ตัวเดียวพาให้เป็นเหตุใหญ่

ใครแสดงภพชาติขึ้นมาให้เราเห็นในระยะนี้ เรานั่งอยู่ในเวลานี้ ?

ถ้าไม่มีเกิดมันจะมีรูปมีกายมาอย่างไร? ตอนเกิดนั้น มันเอาอะไรมาเกิด ถ้าไม่เอาของมีอยู่มาเกิดจะเอาอะไรมาเกิด? ธาตุขันธ์อันนี้มาจากอะไร? ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นร่างกาย ก็เอาสิ่งที่มีอยู่มาประสมกัน ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มาผสมกันเรียกว่า “ส่วนผสม” อาศัยจิต จิตก็มีอยู่จึงเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ ของไม่มีอยู่จะเอามาได้อย่างไร นี่มันล้วนแล้วแต่อาศัยสิ่งที่มีอยู่มาประกอบกันเข้าเป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิงเป็นชาย เป็นต้นไม้ภูเขาอย่างนี้เป็นต้น มันมีอยู่ทั้งนั้น ถ้าไม่มีจะประกอบกันขึ้นมาไม่ได้ ปรากฏตัวขึ้นมาไม่ได้ แล้วเราว่า “สูญ” ขณะนี้มันสูญหรือไม่สูญ? เรามาจากไหนถึงได้มาเกิดอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าสูญจริงแล้วมันมาเกิดได้อย่างไร นั่น

ถ้าอะไร ๆ ก็สูญแล้วจะมาปรากฏตัวได้อย่างไร ก็เพราะมันไม่สูญนั่นเองจึงมาปรากฏตัวเป็นเราเป็นท่าน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เรื่อยมาดังที่รู้ ๆ เห็น ๆ อยู่นี้ ที่เราว่า“สูญ”นั้น ไม่คิดอายสิ่งที่มีอยู่เต็มโลกบ้างหรือ? หลวงตาบัวนี่อายจึงไม่กล้าคิดว่าตายแล้วสูญ

นี่คือปัญญาแก้ตัวเอง พิจารณาแยกแยะมันลงไป ร่างกายมันเอามาจากสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่มีอยู่จึงปรากฏตัวขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีก็ปรากฏขึ้นมาไม่ได้ นี่แหละภพชาติคือกิเลสอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นเชื้อความสืบต่อของภพของชาติ เป็นกำเนิดเกิดมีที่โน่นที่นี่ มันมีเชื้อของมัน มีสืบต่อกันอยู่ที่ในจิตใจดวงนี้ ตัวนี้จึงเป็น “ตัวภพ”ตัวนี้จึงเป็น “ตัวชาติ” ตัวนี้เป็นตัวไม่สูญ เป็นตัวเกิด ตัวแก่ ตัวเจ็บ ตัวตาย มันอยู่ที่ตรงนี้และรวมอยู่ที่นี่ทั้งหมด

ความสูญนั้นมองไม่เห็น มันสูญได้อย่างไร ? ตัวสูญอยู่ที่ไหน? เห็นแต่ความมีอยู่ภายในจิตใจ ความสูญภายในจิตใจนั้นมันไม่มี ไม่เห็นไม่ปรากฏ แล้วใจนั้นจะสูญได้อย่างไรเมื่อมันไม่มีสิ่งที่จะให้สูญ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั้งนั้น แล้วเราจะเอาอะไรมาให้มันสูญ ข้อสำคัญคือความสำคัญมันหลอกคนต่างหาก ความจริงแล้วเป็นอย่างนี้ มันมีอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างภายในจิตใจ คือพร้อมที่จะเกิด เพราะสิ่งที่จะทำให้เกิดมีอยู่มากภายในจิต รากเหง้าเค้ามูลของความเกิดก็คือ “อวิชชา” นี่คือตัวให้เกิด ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ถ้าตัวนี้ยังไม่หมดไปจากจิตใจเมื่อใด ต้องเกิดวันยังค่ำตลอดกัปตลอดกัลป์ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่มีต้นมีปลายเลย ต้องเกิดแล้วตาย ๆ อยู่อย่างนี้ เพราะเชื้อความเกิดมันมีอยู่ภายในใจ นี่เป็นของจริงที่ประจักษ์อยู่ภายในใจเราเอง

จงปฏิบัติจิตตรงจิตนี้ ดูตรงนี้ด้วยสติปัญญา แล้วตัดเชื้อความเกิดกันที่ตรงนี้ จะสิ้นสงสัยเรื่องตายเกิดหรือตายสูญทั้งมวล เพราะสุดท้ายก็ผู้ที่สำคัญว่าตายแล้วสูญนั้นแลไปเกิดอีก ได้รับความทุกข์ความลำบากจากที่ตนเข้าใจว่า เมื่อตายแล้วมันก็หมดเรื่อง ไม่มีอะไรที่จะสืบต่อข้างหน้าแล้ว คิดอยากทำอะไรก็ทำ อยากทำบาปอยากทำอะไรก็แล้วแต่ ตามใจทุกอย่างในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เมื่อตายแล้วหมดความหมาย

ทีนี้เมื่อมันไม่หมดความหมายตามความสำคัญตนเล่า ใครจะเป็นคนรับความชั่วช้าลามกทั้งหลายเหล่านั้น? ก็คือเราเองเป็นผู้รับ เมื่อเป็นเช่นนั้นเรากล้าเสี่ยงแล้วเหรอ? ทั้ง ๆ ที่เป็นมนุษย์ที่กำลังมีคุณค่าอยู่ทั้งคน และเป็นคนรับผิดชอบเราอยู่ตลอดมา เหตุไรเราจะต้องยอมเสียท่าเสียทีไปล่มจมขนาดนั้นด้วยอำนาจของกิเลสมันครอบงำ ด้วยความสำคัญที่ผิดอย่างมหันต์ ให้บุญไม่ยอมรับ มาหลอกลวงตนเองถึงขนาดนั้น จงรีบคิดเพื่อหาความจริงจากธรรมของจริงเครื่องพิสูจน์ และปราบปรามกิเลสตัวนั้นให้สิ้นไป ไม่ควรนอนใจนอนจมอยู่กับมัน แบบไม่รู้สึกตัวดังที่เคยเป็นมากี่กัปนับไม่ถ้วนอยู่แล้ว ไม่งั้นจะสายเกินกาลนานเกินจะแก้ได้ เวลาตายจะไม่มีกุสลาติดตัว (กุสลาคือความฉลาด)

ความจริงมีอยู่ทำไมเราจึงไม่ดู? ความจริงก็คือใจและสัจธรรม ใจนี้มันไม่สูญนะ เชื้อกิเลสเชื้อแห่งภพแห่งชาติก็อยู่กับใจนี่เอง ตัวประกันตัวตีตราที่จะให้เกิดมันอยู่กับจิตใจนี้ แล้วจะสูญไปไหน? จะสูญได้อย่างไร นี่คือความจริง ความจริงลบไม่สูญมันสูญไม่ได้ แต่ความสำคัญนั้นมันสูญได้ สูญได้ตามความสำคัญซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส แต่ความจริงมันไม่สูญ แล้วบาปบุญคุณโทษที่ทำลงไปก็เข้าไปอยู่ในจิต ไม่ได้ไปอยู่ที่อื่น เพราะจิตเป็นโรงงาน ผลิตออกมาจากที่นั่นเอง ผลดีชั่วก็เข้าไปรวมตัวอยู่ที่จิตนั่น

น่านน่ะความจริงจะไปไหน มันเกิดกันที่นั่น ผสมกันที่นั่น ดีชั่วมันอยู่ที่จิต จิตจะไปเกิดในสถานที่ใดภพใดแดนใดก็ตาม มันไปด้วยกำลังแห่งกรรม กรรมและวิบากแห่งกรรมมันผลักไสให้ไป แน่ะ มันจะสูญไปไหน ตายแล้วมันพร้อมเสมอที่จะเกิด จะเกิดสูงต่ำขนาดไหนนั้น มันแล้วแต่อำนาจแห่งกรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจซึ่งตนสั่งสมไว้นั่นแหละ นี่เป็นหลักความจริง

การเรียนเรื่องความจริงเหล่านี้ จึงต้องเรียนลงที่ใจ พิจารณาลงที่ใจนี้ ดังที่กล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ว่า ให้ตัดตรงนั้นลงมาหาตรงนี้ ลงมาด้วยจิตตภาวนา คือเราทราบได้ด้วยปัญญา ใจมีความสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใด มีความสุขสมใจกับสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทางดีหรือชั่ว เป็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งชั่ว เราตามรู้เสมอด้วยจิตตภาวนา เราต้องทราบ เมื่อทราบแล้วพยายามแก้ไข พยายามตัดฟันด้วยอุบายของสติปัญญา จนกระทั่งตัดขาด ตัดขาดไป ๆ โดยลำดับ ๆ

ท่านพิจารณาทาง “จิตตภาวนา” หรือท่านว่า “นั่งกรรมฐาน” ท่านนั่งอย่างนี้แหละ จะไปนั่งอยู่ในป่าในเขา จะนั่งอยู่ “รุกขมูล” ร่มไม้ที่ไหนก็เถอะ ก็ฝึกนั่งเรียนความเป็นไปของจิต เรียนเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรียนเรื่องกิเลส การสั่งสมกิเลส และวิถีทางเดินของกิเลส ความดื้อ ความโลภความหลงมันอยู่ที่จิต มันเกิดที่จิต มันหลั่งไหลจากจิตนี้ไปเป็นภพต่าง ๆ ให้เราลุ่มหลง บันเทิง โศกเศร้าเสียใจ มีแต่เรื่องที่ออกไปจากจิตนี้ทั้งนั้น การเรียนจึงต้องเรียนลงที่นี่ จะต้องรู้สิ่งเหล่านี้ประจักษ์ใจด้วยสติปัญญาแน่นอน คือต้องทราบทั้งดีทั้งชั่วโดยลำดับ ๆ แล้วตัดขาดออกจากกันเรื่อย ๆ แล้วจิตก็หดตัวเข้ามา ๆ เพราะขาดสิ่งที่เคยสืบต่อ หดตัวเข้ามา ย่นเข้ามา ๆ สู่วงแคบ และตัดภาระเข้ามาโดยลำดับ นี่แหละคือการตัดภพตัดชาติ ตัดส่วนหยาบเข้ามาเรื่อย ๆ ตัดเข้ามาสู่ความละเอียด ตัดเข้ามา

ในที่สุดร่างกายของเรานี้ก็เห็นชัดตามเป็นจริงว่า “มันเป็นแต่เพียงธาตุขันธ์เท่านั้น” นั่นคือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มาผสมกันเข้า มีตัวคือจิตเป็นเจ้าของมายึดครอง แล้วก็ว่าเป็นรูปเป็นกายเป็นหญิงเป็นชาย เป็นสัตว์เป็นบุคคล เมื่อทราบชัดแล้วก็สลัดภายในจิตอีก รูปก็สักแต่ว่ารูป เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ ก็สักแต่ว่าเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราโดยประจักษ์ใจ นี่ปัญญาพิจารณาทราบลงไปอย่างนี้ เมื่อทราบชัดแจ้งแล้ว ใครจะไปกล้าถือว่าเป็นเรา ใครจะไปกล้าแบกหามสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่กล้ายึดไม่กล้าแบกหาม เพราะหนักเหลือทนอยู่แล้ว เพราะปัญญาหยั่งทราบหมดแล้วจะไปกล้าอย่างไร

ที่กล้าไม่เข้าเรื่องก็คือ พวกเราที่เป็นนักด้นเดาเกาหาที่ไม่คันให้เกิดทุกข์เปล่า ๆ เท่านั้น ส่วนท่านที่รู้จริงเห็นจริง ท่านสลัดปัดทิ้งด้วยสติปัญญา ไม่มีอุปาทานเหลือเลย

สติปัญญาเป็นธรรมสำคัญมากตามหลักความจริง คือที่รู้จริงเห็นจริง คือปัญญาเป็นผู้รู้ผู้ฉลาด ตามรู้ตามเห็นความจริงเป็นอย่างนั้นแล้ว เราจะไปกล้าฝืนความจริงได้อย่างไร ว่าไม่ใช่เรา โดยทางปัญญาแล้ว เราจะยังไปถือ ถือก็ถือแต่ก็ไม่ใช่ปัญญา มันเป็นเรื่องของกิเลสอยู่โดยดี การแก้นี้ต้องแก้ด้วยปัญญา รู้ด้วยปัญญา ละด้วยปัญญา ทุกประเภทของกิเลสไม่นอกเหนือสติปัญญาไปได้แต่ไหนแต่ไรมา

นี่แหละการเรียนเรื่องการตัดภพตัดชาติ การเรียนเรื่องวิถีของกิเลส การตัดกิเลส ท่านทำกันอย่างนี้ จนกระทั่งรู้ธาตุขันธ์ ก็สักแต่ว่าธาตุว่าขันธ์ คือรู้ตามเป็นจริงแล้วก็ปล่อยวางลงไปเอง

การบอกให้ปล่อยเฉย ๆ ไม่เกิดผล ต้องปัญญาเป็นผู้พาให้ปล่อย เมื่อเข้าใจแล้วก็ปล่อย ปล่อย ๆ สิ่งไหนยังไม่เข้าใจก็พิจารณาค้นคว้าเข้าไปจนกระทั่งถึงความจริง เข้าใจเต็มภูมิแล้วก็ปล่อย สุดท้ายมันมีอะไรอยู่อีก การตัดรากฝอยไปเป็นลำดับมันก็ถึงรากแก้วเท่านั้นเอง เมื่อตัดรากแก้วจนไม่มีอะไรสืบต่อกันแล้ว ภพชาติก็ขาด อย่างอื่นมันก็ขาดไปด้วยตามลำดับ ที่ยังเหลือชิ้นสุดท้ายนั้นคืออะไร? ย้อนสติปัญญาเข้ามาจนถึงตัว นั่นคือ “อวิชชา” ที่เรียกว่า “รากแก้ว” นี่แหละคือตัวกิเลสแท้ กิ่งก้านสาขาของกิเลสได้ถูกตัดขาดหมดแล้ว ยังเหลือแต่ตัวกิเลสแท้ ๆ ได้แก่ตัว “อวิชชา”

ทีนี้ “อวิชชา” อยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่จิตเท่านั้น อวิชชาไม่อยู่ที่อื่น มันครอบอยู่กับจิต จนกระทั่งจิตเองก็เข้าใจว่าอวิชชานั้นเป็นตน ตนเป็นธรรมชาติอันนั้น นี่แหละเมื่อปัญญายังไม่ทราบชัด แต่ก็ทนไม่ได้ เพราะฟังคำว่า “ปัญญา ๆ” เถิด มีความฉลาดแหลมคมมาก เมื่อนำมาใช้ในสิ่งใดก็ต้องเห็นความจริงในสิ่งนั้น ดังนั้นเมื่อนำมาใช้ในจิตที่มีกิเลส คืออวิชชาอยู่ที่นั่น ทำไมจะไม่ทราบ ทำไมจะทำลายกันไม่ได้ จะตัดขาดจากกันไม่ได้ เมื่อกิเลสชนิดอื่น ๆ ปัญญาสามารถตัดขาดได้ แล้วสิ่งนี้ทำไมปัญญาจะไม่สามารถตัดขาดได้เล่า ปัญญาต้องสามารถตัดขาดได้

เมื่อตัดขาดกิเลสตัวสำคัญนี้แล้วต้องทราบชัดประจักษ์ใจ ถ้าจะพูดก็พูดได้เต็มปากไม่กระดากอายหรือสะทกสะท้านกับสิ่งใดหรือผู้ใด ถ้าจะพูดแบบโลก ๆ ก็ต้องเรียกว่ารู้ชัด ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ หมดปัญหากันเสียทีเรื่องความเกิดความตาย เรื่องความทุกข์ทรมานในวัฏสงสาร ภพน้อยภพใหญ่ที่เคยเป็นมากี่กัปกี่กัลป์จนนับไม่ถ้วน เพราะตัวนี้พาให้เป็นไป ตัวนี้พาให้เกิดตัวนี้พาให้ตาย ตายแล้วเกิดซ้ำเกิดซากไม่หยุดไม่ถอย ทุกข์ซ้ำ ๆ ซาก ๆ มายุติกันเสียแล้วคราวนี้

ยุติด้วยอะไร? อะไรถึงต้องยุติ? น่าน ยุติลงที่ฆ่าเชื้ออันใหญ่ขาดกระเด็นออกจากใจแล้ว เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ที่เรียกว่า “ความบริสุทธิ์” นั้นเป็นจิตแท้ เป็นธรรมแท้ ไม่มีสิ่งใดเข้าไปเคลือบแฝงเลยแม้นิดเดียว ผู้นี้แลเป็นผู้ไม่เกิด ทีนี้สิ้นสุดแล้ว แต่ไม่ใช่สูญแบบที่มองไม่เห็น ค้นคว้าไม่เจอก็หาว่าไม่มี แล้วก็เดากันอย่างนั้นตามวิสัยของโลกด้นเดา

เรื่องกิเลสที่พาให้ด้นเดาเอาด้วยความสำคัญ เหมาเอาด้วยความสำคัญ จึงได้รับความทุกข์เพราะกิเลส แต่ก็ยังไม่เห็นโทษของกิเลสที่พาให้ด้นเดา พาให้สำคัญมั่นหมายทั้งที่ไม่จริงตลอดมา จึงมีแต่ของปลอมเต็มตัวเต็มหัวใจ ทุกข์จึงเต็มหัวใจด้วย

เมื่อเรียนรู้ถึงความจริงทุกสิ่งทุกอย่างด้วยวิธีการปฏิบัติแล้ว ความปลอมมันก็สลายตัวไป จึงได้เห็นโทษชัดเจนว่า เหล่านี้มีแต่ความจอมปลอมทั้งหมด ที่เราได้รับความทุกข์ความทรมานมาจนถึงปัจจุบันชาติที่เราจำได้เพียงเท่านี้ มันก็เป็นความทุกข์เพราะกิเลสตัวนี้เท่านั้น ถ้าเป็นธรรมก็ไม่ทำให้เราเกิดทุกข์ เมื่อมีธรรมล้วน ๆ ภายในจิตแล้ว อะไรจะมาทำใจให้มีทุกข์อีกต่อไปเล่า ต้องไม่มี นั่นแน่ อย่างนี้แหละเรียนธรรมปฏิบัติธรรมภายในจิตใจ คือเรียนธรรมภาคปฏิบัติภาคภาวนา เห็นจริงอย่างนี้ ชัดเจนอย่างนี้ กิเลสแตกกระจายชนิดไม่เป็นขบวน

ในเรื่องวิธีปฏิบัตินี้ไม่ใช่วิธีจำ แต่เป็นวิธีแก้กิเลส ทำงานกับกิเลสทำอย่างนี้ เมื่อกิเลสสิ้นสุดไปแล้วภายในใจ ใจที่เป็นเจ้าของปัญหามาแต่ก่อนเพราะกิเลสพาให้เป็น ก็สิ้นสุดกันไปเองไม่มีสิ่งใดเหลือเลย นี่แหละความสิ้นสุดของวัฏฏะ แต่ไม่ใช่ความสูญซึ่งเป็นความแสลงต่อความจริง คือความมีอยู่อย่างยิ่ง

ถ้าว่า “ความสูญของวัฏฏะ” นั้นถูกต้อง เพราะวัฏฏะภายในใจไม่มีต่อไปอีกแล้ว สูญสิ้นแห่งความสืบต่อของภพชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตายแท้ ภพชาติต่อจากนั้นไม่มีอีก นี่เป็นความสูญสิ้นโดยธรรมโดยความจริง ถ้าว่า “ความสูญ” อย่างนี้ถูกต้อง แต่คนและสัตว์ตายแล้วสูญสิ้นโดยประการทั้งปวง อะไรไม่มีเลยอย่างนี้ ขัดต่อความจริง

ใจเมื่อถึงความจริงเต็มที่แล้วก็ถึงความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แสดงขึ้นชัดในจิตใจ จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิต จึงไม่ใช่ความสูญ

อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วกิเลสสูญไปหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในพระทัยแล้ว ต้องอาศัยความบริสุทธิ์นั้นแลประกาศธรรมสอนโลกมาเป็นเวลา ๔๕ พระพรรษา ถึงได้เสด็จปรินิพพาน ถ้าความบริสุทธิ์นี้ได้สูญสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าจะเอาอะไรมาประกาศศาสนาเล่า? ขณะที่สิ้นกิเลสแล้วถ้าจิตก็ได้สูญไปด้วย แล้วทรงเอาอะไรมาสอนโลกเล่า? ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ไม่ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์ซึ่งไม่ได้สูญนั้นแล้ว จะออกมาจากไหน?

นี่แหละเรียนธรรมให้ถึงนี้แล้วหายสงสัย ปัญหาทั้งปวงก็หมดสิ้นไปไม่มีเหลือเมื่อเรียนจบ ทราบปัญหาภายในใจโดยตลอดทั่วถึงแล้ว อยู่ไหนก็อยู่เถอะ เพราะความสมบูรณ์พูนผลอยู่ที่ใจนี้ ความสุขอันสมบูรณ์มีอยู่ที่ใจนี้ ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว คนเราจะไม่ได้บ่นเรื่องความทุกข์ความลำบาก จะยอมดำเนินตนไปตามเหตุผลคือหลักธรรม ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ จนก็ยอมรับว่าจน มีได้มาเสียไปเป็นธรรมดา

เรียนธรรมรู้ตามความจริงชองธรรมแล้วไม่บ่น ทุกข์ก็ยอมทนรับตามเหตุตามผล มีก็รับตามเหตุตามผลไม่ปีนเกลียวกับธรรม ใจก็สบาย แม้จะมีกิเลสที่ยังละไม่ได้ ก็ไม่ถึงกับต้องเดือดร้อนแบบไม่มีขอบเขตเหตุผล ยังพอปลงพอวางได้

แต่ถ้าไม่สนใจเกี่ยวข้องกับธรรมเลย ไม่นำธรรมมาวินิจฉัยใคร่ครวญ ก็มักไม่มีเหตุผลเครื่องทดสอบ มีแต่ความต้องการของใจที่กิเลสบงการอย่างเดียว ความต้องการนั้นแลจะพาคนล่มจมฉิบหาย ความต้องการนั้นแลจะทำลายจิตใจคนให้เสียอย่างไม่มีประมาณ ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ ๆ ตลอดกาลสถานที่ไม่มีอะไรอื่น คือความต้องการชนิดนั้นไม่มีเหตุผล มีแต่อยากตะพัดตะพือ อยากจนไม่สนใจทราบว่าอะไรเป็นพิษอะไรเป็นภัย อยากได้อะไรคว้าไปกิน มันไม่หยุดหย่อนผ่อนคลาย ยิ่งอยากยิ่งต้องการก็ยิ่งเพิ่มความคิดความปรุงแต่งไม่ถอย ยุ่งไม่หยุด ความทุกข์ทรมานภายในใจก็ยิ่งมากขึ้น ๆ ได้รับการส่งเสริมเท่าใดก็ยิ่งคิดมากขึ้นแบบไฟได้เชื้อ ดีไม่ดีสติลอย เลยเป็นบ้าไปเลย น่าน พอเห็นโทษของความอยากความทะเยอทะยานชนิดไม่มีธรรมเป็น “เบรก” ไหมล่ะ? ถ้าพอเห็นโทษของมันบ้างก็ควรพยายามแก้ไข อย่าอยู่เปล่าแบบคนสิ้นท่า

วันนี้พูดเรื่อง “วัฏจักร” พูดเรื่องความสูญความไม่สูญ ตามหลักความจริงเป็นอย่างนี้ ศาสนาจึงเป็นธรรมที่เหมาะสมที่สุดที่จะพิสูจน์ความจริง สมควรแก่เวลาเพียงเท่านี้

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก