รากแก้วของศาสนา
วันที่ 11 กันยายน 2527 เวลา 19:00 น. ความยาว 48 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๗

รากแก้วของศาสนา

ไม้ต้นไหนกุดด้วนเข้าเสียอย่างเดียว ไม้ต้นนั้นเริ่มขาดความสมบูรณ์และนับวันจะตายลงโดยลำดับ จนกระทั่งตายไปได้โดยไม่ต้องสงสัย สัจธรรมก็เช่นเดียวกัน เป็นหลักยืนตัวต่อความจริงทั้งหลาย ไม่มีอะไรที่จะจริงยิ่งกว่าสัจธรรมทั้งสี่นี้ ไม่ว่าส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด รวมลงได้ในสัจธรรมทั้งสี่ทั้งนั้น ถ้าบกพร่องในสัจธรรมทั้งสี่นี้แล้วก็แสดงว่า ผู้นั้นมีความบกพร่องในการปฏิบัติ ในการนับถือพระพุทธศาสนา

สำหรับคนบกพร่องในศาสนานั้นมีอยู่มากมาย แต่ยังไงก็ตามความเชื่อในสัจธรรมหรือสัจธรรมที่ประกาศสอนไว้นี้ยังคงอยู่ทั้งสี่อริยสัจแล้ว ก็ชื่อว่าศาสนายังคงเส้นคงวา สามารถที่จะนำผู้ดำเนินให้ถึงจุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องสงสัย เช่น คำว่าทุกข์เป็นสิ่งให้พึงกำหนดรู้ รู้เพื่อเห็นโทษของมันนั้นเอง ไม่ใช่รู้เพื่อหลง เพื่อเพลิดเพื่อเพลินเพื่อลืมเนื้อลืมตัว ใครจะไปมีความยิ้มแย้มแจ่มใสในความทุกข์ ปกติธรรมดาก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ผู้ปฏิบัติยังจะไปห้าวหาญต่อความทุกข์ ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อความทุกข์มีอย่างเหรอ นอกจากจะพิจารณาให้เห็นโทษของความทุกข์

สิ่งที่เป็นภัยต่อโลกทุกวันนี้คืออะไรถ้าไม่ใช่ทุกข์ สุขเคยเป็นภัยต่อผู้ใดเมื่อไรไม่เคยมี แต่ความทุกข์นี้มีมากมีน้อย จะเป็นส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด นับทั้งส่วนร่างกายและจิตใจล้วนเป็นภัยทั้งนั้น เป็นความทรมานอย่างมาก ฟังแต่ท่านแปลตามศัพท์ ทุกฺขํ แปลว่า ทนไม่ได้ นั่นฟังซิ พอทุกข์เกิดขึ้นจะทนไม่ได้ นั่งสงบอยู่ก็ตัวไหวใจไหวไปเลย นั่น ท่านแปลตรงตามศัพท์จริง ๆ ใครเป็นขึ้นมาคนนั้นทนไม่ได้ ต้องขยับเขยื้อนต้องดิ้นต้องดีด ต้องเสาะแสวงหาสิ่งมาเยียวยาแก้ไข

จากนั้นท่านก็แปลออกไปอีกว่า ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ ชาติความเกิดก็เป็นทุกข์ ทำให้เป็นเช่นเดียวกันกับทุกข์ที่ท่านพูดไว้กลาง ๆ ว่าทนไม่ได้ เข้าไปแทรกอยู่ในชาติความเกิดก็ต้องดิ้นรนกระวนกระวายเพราะทนไม่ได้ อยู่ในความแก่ก็กระเสือกกระสนกระวนกระวายเพราะทนไม่ได้ พยาธิความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็กระเสือกกระสนกระวนกระวายเพราะทนไม่ได้ เวลาตายก็เช่นเดียวกัน จนกระทั่งสุดความสามารถเพราะทนไม่ได้ถึงกับต้องตายไป นี่เป็นสิ่งที่สัตว์พึงปรารถนาแล้วเหรอ

ธรรมของพระพุทธเจ้าประกาศกังวานมานานแล้ว เรื่องทุกข์ที่เป็นภัยต่อโลก ไม่มีอะไรเป็นภัยยิ่งกว่าทุกข์ พาให้เกิดก็คือกิเลสซึ่งเป็นสาเหตุก่อทุกข์นี้แล เกิดขึ้นมาก็ ชาติปิ ทุกฺขา แล้วก็ ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ มีแต่ทุกข์ยาวเหยียดไปตลอดสาย จนกระทั่งถึงตายไปก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ หมดอัตภาพนี้แล้วเชื้อของทุกข์ยังมีอยู่ภายในจิต จะต้องไปก่อภพกำเนิดเกิดขึ้นมาแบกหามทุกข์อีกร่ำไป หาจุดหมายปลายทางไม่ได้ตลอดกาลไหน ๆ ถ้าไม่มีสัจธรรมฝ่ายมรรคเข้าไปแก้ไปถอดไปถอน เพื่อตัดทอนวัฏวนให้น้อยเข้ามา จนกระทั่งถึงสิ้นไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องบอกทุกข์สิ้นไปเอง เพราะสาเหตุแห่งทุกข์ได้แก่สมุทัย ได้ถูกสังหารแล้วด้วยมรรคมี สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรเป็นสำคัญ

นี่ละคำว่าสัจธรรมเป็นของจริงจริงอย่างนี้ ทุกข์ไม่เคยแปรเป็นอย่างอื่น ไม่เคยให้คุณต่อผู้ใด ทุกข์ต้องเป็นทุกข์วันยังค่ำ ใครโดนเข้าทนไม่ได้ทั้งนั้น จึง ทุกฺขํ แปลว่าทนไม่ได้ ตามหลักธรรมชาติของทุกข์คือทนไม่ได้ ทุกข์จะอยู่โดยลำพังไม่เคยมี ต้องมีสิ่งที่เกี่ยวข้องอาศัย เช่น อาศัยร่างของสัตว์ จิตใจของสัตว์ จึงทำให้กายและใจของสัตว์ทนไม่ได้ นี่ละจริงอย่างนี้ศาสนา

สิ่งที่เป็นภัยพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ว่าเป็นภัยจริง ๆ ไม่ได้เป็นความหลอกลวง ไม่ได้ผิดแปลกจากสิ่งที่ตรัสไว้แม้แต่น้อย เพียงแค่ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เป็นของจริงล้วน ๆ คือเป็นทุกข์แท้ไม่เป็นอื่น สิ่งที่เป็นคุณก็ทรงแสดงว่าเป็นคุณ เพราะทรงสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้มาแล้วอย่างโชกโชน ถึงได้ผ่านพ้นมาเป็นศาสดาเอกสอนโลกได้ ต้องนำสิ่งที่ทรงรู้ทรงเห็น ทั้งที่เป็นโทษเป็นภัยและเป็นคุณนั้นแลออกมาสั่งสอนโลก จึงสั่งสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อนแม้แต่น้อย

สมุทัย อริยสจฺจํ เคลื่อนตัวออกมาเมื่อไรเป็นก่อเรื่องก่อราวทั้งนั้น ไม่มีที่จะก่อความดิบความดีให้สัตว์โลกได้รับความสุขความสบาย ได้รับความรื่นเริงบันเทิงที่จะเป็นไปเพื่อความสุขอันดีงาม มีแต่รื่นเริงลงไปเพื่อความโศกเศร้าเหงาหงอยเท่านั้น เพราะเป็นเครื่องล่อ เช่นเดียวกับเหยื่อที่อยู่ปลายเบ็ดล่อปลาตัวโง่เท่านั้น เมื่อติดเบ็ดเข้าไปแล้วเหยื่อก็หาความหมายไม่ได้

นี่ความรื่นเริงบันเทิงของสัตว์โลกซึ่งเท่ากับเหยื่อนั้นก็หาความหมายไม่ได้ เมื่อเจอเบ็ดคือกองทุกข์เข้าไป เพราะอันนี้เป็นฉาก เหยื่อเป็นฉากหน้า เบ็ดเป็นฉากหลัง มันอยู่ข้างหลังนั้น สมุทัยนี้ทำความทุกข์ความทรมานให้แก่โลกมาทุกหย่อมหญ้าทุกตัวสัตว์ ไม่มีสัตว์ตัวใดที่จะผ่านพ้นสมุทัยคือกิเลสประเภทเหล่านี้ไปได้เลย ต้องถูกสิ่งเหล่านี้ธรรมชาติเหล่านี้เป็นผู้หมุนเป็นผู้พัดผู้ผัน เป็นผู้บีบบี้สีไฟ หนุนกันไปเพื่อให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทั้งนั้น นี่เป็นหลักธรรมชาติของมัน ถ้าแก้ไม่ได้จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

ใครจะเชื่อว่าทุกข์ไม่มี ภพชาติไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มีก็ตาม หลักธรรมชาติอันนี้ก็คือสร้างทุกข์สร้างภพสร้างชาตินั่นแล ไม่ได้สร้างความสิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ได้สร้างความหลุดพ้นจากทุกข์เพราะอำนาจของมันแม้แต่น้อยมาแต่กาลไหน ๆ นี่ก็เป็นความจริงอันหนึ่งเรียก สมุทัย อริยสจฺจํ สมุทัยเป็นของจริงอย่างนี้ เคยนำสัตว์โลก หมุนสัตว์โลก ผลักสัตว์โลกให้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงในภพน้อยภพใหญ่ กี่กัปกี่กัลป์เป็นมาอย่างนี้ไม่มีจบไม่มีสิ้น ถ้าไม่มีมรรคสัจคือความดีเข้าไปแก้เสียอย่างเดียวเท่านั้นจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม สัตว์โลกที่จมอยู่ในนี้ก็เพราะความเชื่อมัน มันถึงได้หมุนสัตว์โลกให้จมอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ในสามภพนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์โลกทั้งนั้น ไม่ได้เป็นที่อยู่ของท่านผู้สิ้นกิเลสอาสวะแล้วแม้แต่รายเดียวเลย นี่ความจริงของธรรมชาตินี้ พาสัตว์โลกให้หมุนอยู่ในสามภพนี้แหละ สามแดนโลกธาตุนี้ สามภพสามภูมินี้ นี่ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง

นิโรธคือความดับสนิท นั่นเป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากความดีงามทั้งหลายได้แก่มรรคสัจ มี สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต จนกระทั่ง สมฺมาสมาธิ การทำคุณงามความดีประการใดก็ตาม ซึ่งเกี่ยวโยงกันกับมรรค ๘ สงเคราะห์เข้าในมรรคนี้หมด เพราะกิ่งก้านแขนงก็ออกไปจากไม้ต้นนี้ คือ มรรค ๘ นี่แหละเป็นเครื่องสังหารกิเลสตัวเป็นภัยตัวเป็นข้าศึก ตัวกอบโกยทุกข์ขึ้นมาเผาลนสัตว์ทั้งหลาย และตัวผลักสัตว์ทั้งหลายให้เกิดในภพน้อยภพใหญ่ไม่มีจบสิ้นลงไปได้เลยก็คือมรรค สรุปลงแล้วคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ละเป็นเครื่องสังหาร

ตั้งแต่เริ่มแรกเราพูดถึงทางด้านปฏิบัติ เริ่มแรกแห่งการฝึกการทรมาน ได้แก่การนั่งสมาธิภาวนา นี่คือการเข้าห้ำหั่นกับกิเลส เพราะกิเลสมันจะหมุนจิตอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับฟุตบอลที่ถูกเตะกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่เช่นนั้น แล้วพยายามหักห้ามจิตไม่ให้หมุน เพราะกิเลสพาให้จิตหมุน ไม่ใช่ขันธ์ธรรมดาหมุน ขันธ์ธรรมดาคือขันธ์ล้วน ๆ ดังขันธ์พระอรหันต์ นั้นไม่มีความหมายอะไรที่จะให้เกิดภพเกิดชาติ นี้ต่างกัน แต่ขันธ์ที่เป็นสมุทัย เช่น สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสมุทัย เวทนาขันธ์ก็ออกจากสมุทัยมาเป็นทุกข์

เวลาฝึกหัดภาวนาให้พยายามระงับขันธ์ที่เป็นตัวสมุทัยนี้ไว้ แล้วเอาขันธ์ที่เป็นมรรคขึ้นมาแทนที่ เช่น เราบริกรรมภาวนาธรรมบทใดก็ตาม นั่นแหละคือให้ขันธ์ทำงานโดยธรรม ไม่ได้ทำงานด้วยอำนาจของสมุทัยพาให้ทำ จึงต้องได้ห้ำหั่นกัน ภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย มีสติสตังตั้งมั่นอยู่ในคำบริกรรมภาวนาของตน จนกระทั่งจิตสงบได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเป็นธรรม นี่คือการต่อสู้สมุทัยให้ระงับตัว ให้อ่อนกำลังลงไปเพื่อจิตจะได้รับความสงบ

เมื่อจิตมีความสงบแล้วจะเป็นพลังขึ้นมา ความเชื่อก็มี เชื่อในผลที่ตนได้รับความสงบจากความปราศจากสมุทัยรบกวน และจากธรรมที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดความสงบ ได้แก่คำบริกรรมภาวนา ความเพียรก็เพิ่มขึ้น คือศรัทธาความเชื่อมั่นในผลที่ปรากฏเป็นความสงบเย็น ทำให้เกิดความพอใจในอันที่จะทำหน้าที่ของตน ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าธรรม เป็นกำลังรวมตัวเข้ามาหาจุดแห่งความเพียร ที่จะทำให้ยิ่งกว่านั้นให้สงบมากกว่านั้น นี่เรียกว่ามรรค จนจิตมีความสงบได้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยสงบเลย

จากนั้นก็เร่งความเพียร ทางด้านปัญญาก็ออกพิจารณาใคร่ครวญดู เพราะจิตมีพลัง จิตสงบตัวย่อมอิ่มตัว ย่อมไม่ฟุ้งเฟ้อ ย่อมไม่ฟุ้งซ่านเป็นความรำคาญขึ้นมาในใจ แล้วนำปัญญาออกพินิจพิจารณาตามความสัตย์ความจริงที่มีอยู่ ทุกชิ้นทุกอันในร่างกายของเราหรือในขันธ์ของเรานี้ ซึ่งมีแต่ความจริงล้วน ๆ ให้ปัญญาได้หยั่งเข้าสู่ความจริงอันนั้น เพื่อจะลบล้างความจอมปลอมที่ถูกเสกสรรปั้นยอมาจากกิเลส ว่านั้นเป็นเรานี้เป็นของเรา นั้นเป็นของสวยนี้เป็นของงามเป็นต้น ให้ลงอยู่ในหลักธรรมชาติ เช่น ผมสักแต่ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สักแต่ว่าแต่ละอย่าง ๆ เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นของสวยของงามแต่อย่างใด

นอกจากนั้นยังคลี่คลายเข้าไปจนถึงความปฏิกูลโสโครกของมัน ผมมันสะอาดที่ตรงไหน ตัวของมันก็เป็นธรรมชาติที่สกปรก หรือเป็นธรรมชาติที่ปฏิกูลอยู่แล้ว ที่เกิดเกิดขึ้นในสถานที่เช่นไร สถานที่เกิดก็เป็นสถานที่ปฏิกูลโสโครก ที่อยู่ก็โสโครก ขน เล็บ ฟัน มีแต่ธรรมชาติที่สกปรกโสโครกด้วยกันและอยู่ด้วยกัน เต็มไปด้วยกองปฏิกูลโสโครกหมดทั้งร่างนี้ทั้งภายนอกภายใน นี่คือความจริงที่เป็นอยู่ในร่างกายของคนของสัตว์ทุกร่างเป็นเช่นนี้

ปัญญาหยั่งทราบลงไปตามหลักความจริง ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปจากนี้ โดยถูกหลอกของกิเลสไปว่าเป็นของสวยของงาม ที่มาปักเสียบเอาไว้อย่างจอมปลอม ทีนี้พิจารณาจนเห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ ควรจะแยกจะแยะออกไป ขยับขยายออกไปให้เป็นกอง อนิจฺจํ แปรสภาพในร่างกายนี้ก็ให้เห็นด้วยปัญญา สิ่งนั้นแปรลงไปสิ่งนี้แปรลงไป คำว่า ทุกฺขํ ก็ไม่ต้องพูดแหละ เพียงนั่งภาวนาอยู่เวลานั้นมันก็บีบบังคับอยู่แล้วเห็นชัด ๆ

อนตฺตา เมื่อรวมความลงแล้ว สิ่งเหล่านี้อะไรที่มาประกาศตนว่าเป็นเราเป็นของเรา ให้เราผู้ที่เชื่อมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรานั้นได้เชื่อถือมันว่าเป็นความจริง มันไม่มีอะไร มีเป็นสภาวธรรม ๆ แต่ละอย่าง ๆ ซึ่งทรงความจริงตามหลักธรรมชาติของตนไว้เท่านั้น และประชุมรวมกันอยู่เป็นก้อนอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจิตเป็นผู้รับผิดชอบและเป็นตัวอุปาทาน ประสานงานทั้งหลายเหล่านี้ให้ได้ทำหน้าที่ของตัว ตามอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของประสาทและร่างกายทุกส่วน อย่างไรก็ไม่พ้นความยึดมั่นถือมั่นที่เต็มไปอยู่ในธาตุในขันธ์อันนี้ นี่มันก็มีเท่านั้น ปัญญาหยั่งทราบลงไป

การพิจารณาให้พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ ถืออันนี้เป็นทางเดิน ถืออันนี้เป็นงานเป็นการ ในขณะพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ต้องสนใจกับเรื่องสมาธิ ว่ามีมากมีน้อยหรือไม่มี เพราะเราพิจารณาสัจธรรมด้วยกัน เป็นสัจธรรมด้วยกัน สมาธิก็เป็นสัจธรรมประเภทหนึ่ง ต่างวาระกันที่จะต้องทำ ไม่เป็นสัจธรรมทางด้านปัญญา เมื่อพิจารณาแล้วพิจารณาเล่าย่อมจะทราบในวาระใดวาระหนึ่งไม่สงสัย แทงหลายครั้งหลายหน เจาะหลายครั้งหลายหน ย่อมทะลุถึงความจริงได้

แม้น้อยก็ตาม จะเป็นเรื่องใหญ่โตคือเป็นความสัตย์ความจริง เป็นสักขีพยานขึ้นมาให้เรารู้เราเห็นด้วยปัญญาของเราเอง ไม่ใช่ปัญญาความสำคัญมั่นหมายที่จำมาจากครูจากอาจารย์ แต่เป็นปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในความจริงนี้ด้วยตัวเอง แม้น้อยก็ตามก็เป็นเรื่องใหญ่โตมากภายในจิตใจของเรา ทำให้จิตใจตื่นเต้น เกิดความสลดสังเวชในสิ่งที่ตนแบกตนหามอยู่ ด้วยความเป็นของปฏิกูลโสโครกนี้มานาน เพิ่งจะได้พบได้เห็นกันวันนี้ ได้รู้กันวันนี้ แล้วก็มีกำลังใจมากมายทีเดียว ในขณะที่รู้ที่เห็นสิ่งเหล่านี้ตามความจริงแม้ขณะหนึ่งก็ตาม จิตใจจะเบาหาที่เทียบไม่ได้ แม้พิจารณาร่างกายอยู่ก็ตาม ในขณะนั้นร่างกายเป็นเหมือนไม่มี ทั้งที่พิจารณาร่างกายตัวเองนั่นแล เพราะจิตเพลินอยู่กับอาการต่าง ๆ ของร่างกายในภาพที่ตนกำลังพิจารณานั้น ร่างกายส่วนหยาบนี้เลยหายไปเงียบเหมือนไม่มี นั่น การพิจารณา

ถึงวาระที่จะให้เข้าสู่ความสงบ ก็ไม่ต้องไปกังวลกับทางด้านปัญญา ว่าจะคิดอย่างนั้นจะพิจารณาอย่างนี้ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่เพื่อความสงบโดยบทธรรมของตนหรือโดยวิธีใดก็ตาม ผู้ชำนาญแล้วย่อมไม่เกี่ยวกับบทธรรม พอกำหนดนี้จิตจะสงบลงได้ทันทีทันใด นี่ไม่สงสัย แต่จิตที่ยังไม่ได้ที่ได้ฐาน ยังไม่ชำนิชำนาญในทางสมาธิภาวนา ย่อมจะต้องอาศัยคำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับ นอกจากนั้นยังมีถี่มีห่างต่างกัน ถ้าจิตมันยังจะแย็บ ๆ จะคอยออกนอกลู่นอกทางอยู่แล้ว คำบริกรรมก็ให้ถี่เข้าไปขยับเข้าไป ความตั้งใจตั้งเข้าไปเรื่อย ๆ ตั้งอยู่ในหน้าที่อันเดียวเหมือนกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเลย

ความอยากคิดนั้นคิดนี้มันจะอยากขึ้นที่ใจ มันจะผลักจะดันออกมาให้เกิดความกระเพื่อมในความคิดความปรุงต่าง ๆ ถ้าใจได้จ่อลงไปในจุดแห่งความรู้นั้นแล้วจะเห็นความกระเพื่อม จะเห็นความดันของสังขารที่จะปรุงออกมา สัญญาจะหมายออกมาโดยไม่ต้องสงสัยเช่นเดียวกัน นอกจากเราจะตื่นเงามันไป พอมันผลักดันออกมาแล้วก็ปล่อยให้มันผลักดันออกไป ก็ตื่นเงาคือภาพของมันที่หลอกเรื่องนั้นเรื่องนี้ รูปนั้นรูปนี้ไปแหละ ออกไปข้างนอกแล้ว

มันออกไปจากใจไม่ได้ออกไปจากไหน เมื่อใจไม่ให้มันคิด ให้รู้อยู่กับใจแล้วย่อมไม่มีเรื่อง เรื่องภาพนั้นภาพนี้ก็ไม่มี เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไม่มี เรื่องหญิงเรื่องชาย เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องเศร้าโศกเสียใจเพลิดเพลินรื่นเริงก็ไม่มี เพราะไม่มีผู้หลอกออกไปให้เป็นเช่นนั้น มันสังขาร สัญญาหลอกต่างหาก ให้เราตื่นภาพของตัวเองอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันอิ่มพอ ไม่มีคำว่านี้เป็นภาพอดีตมากี่วันกี่ปีกี่เดือน นี้เป็นเรื่องราวของอนาคตซึ่งยังไม่มาถึง ไม่เคยคิดไม่เคยคำนึง เพราะมันวาดภาพออกมาในวงปัจจุบันของกิเลสมาหลอกเราอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ก็ตื่นเงาของมันไปเรื่อย ๆ นี่ถ้าไม่กำหนดดูตรงจุดที่มันกระเพื่อมแล้ว มันจะเป็นภาพออกมาหลอกเจ้าของ เลยลืมจุดผู้รู้นี้เสีย ก็เลยเพลินไปตามอาการของมัน สมาธิก็เหลวไหลไปเลย

เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้คำบริกรรมให้ถี่ยิบลงไปจนจิตสงบได้ ให้มันทำงานอยู่กับคำบริกรรม ให้มันปรุงอยู่กับคำบริกรรม เพราะความปรุงอันนี้เป็นมรรค ความปรุงของสิ่งหลอกลวงเหล่านั้นเป็นสมุทัย เราแยกจิตออกมาให้ปรุงในทางมรรค ได้แก่บทธรรมนี้ ให้อยู่ในนี้จิตย่อมสงบได้ อุบายวิธีเปลี่ยนแปลงการทำความเพียรของตนแล้วแต่ผู้บำเพ็ญจะเห็นสมควร ควรเดิน ควรยืน ควรนั่ง ควรนอนด้วยวิธีการใดในทางความเพียร ให้เป็นที่ถนัดของตัวเอง ส่วนมากก็อิริยาบถสองคือนั่งและเดิน ยืนก็มีเป็นบางครั้งบางคราว นี่หลักของการทำจิตให้สงบทำเช่นนั้น

เวลาจะพักก็พัก เวลาตื่นขึ้นมาแล้วก็ให้ทำหน้าที่ของตัวเองเสมอ จิตใจย่อมจะสงบเยือกเย็นและจะมีความแยบคาย เพราะสมาธิก็มีปัญญาก็มี ตามขั้นภูมิของสมาธิและขั้นภูมิของปัญญาเป็นคู่เคียงกันไป ใจย่อมเย็นสบาย เมื่อกิเลสไม่ก่อกวนมากเสียเท่านั้นก็สบาย เพียงขั้นสมาธินี้ก็เพลินก็สบาย สงบเย็น มองดูอะไรก็รู้สึกว่าจะเยือกเย็น ไม่ได้ปิดหูปิดตาอยู่อย่างแต่ก่อนที่ไม่มีสมาธิ นี่ผิดกันตรงนี้

ยิ่งปัญญาได้ออกกว้านรู้สิ่งทั้งหลายจนกระทั่ง เอ้า พูดตามภูมิ มันครอบโลกธาตุไปเลย ปัญญากระจายไปหมด ถึงวาระที่จะออกแล้วห้ามไม่อยู่ เป็นหลักธรรมชาติของนิสัย หลักธรรมชาติของปัญญา ที่มีความสามารถกว้างแคบขนาดไหน จะประมวลเข้ามาสู่วงสัจธรรมทั้งนั้น ให้รู้แจ้งเห็นจริงโดยลำดับลำดาแล้วปล่อยวางกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งย่นเข้ามาสู่หลักใหญ่ได้แก่ร่างกาย ซึ่งรวมไปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วรวมในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕

ย่นเข้ามา แยกแยะดูให้เห็นชัดเจนด้วยปัญญา ซึ่งมีความแหลมคมเข้าโดยลำดับลำดา จนกระทั่งทราบชัดตามความเป็นจริงแล้ว ไม่เคยปล่อยก็ปล่อยเห็นอย่างชัดเจน ปล่อยให้เจ้าของรู้ให้เจ้าของเห็นอย่างชัดเจน เช่น อุปาทานในกาย เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงเต็มที่แล้วเอาไว้ไม่อยู่ บังคับไม่ได้ที่ว่าจะไม่ให้ปล่อย เพราะพิจารณาเพื่อรู้ การยึดการถือนั้นยึดเพราะความหลงตามความจอมปลอม จึงยึดความจอมปลอมว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อเห็นจริงตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้แล้ว ย่อมจะปล่อยวางของจอมปลอมเข้ามาตามหลักความจริง เพราะเราพิจารณาเพื่อความจริง ย่อมจะเห็นความจริงภายในตัวแล้วถอนตัวออกมา นี่หลักของการพิจารณา

เรื่องกาย เวทนา จิต ๓ อย่างนี้เกี่ยวโยงกัน จะพูดว่าให้พิจารณานั้นก่อนพิจารณานี้ทีหลังไม่ได้ในภาคปฏิบัติ เพราะมันสัมผัสสัมพันธ์กัน ผู้เข้าสู่ในวงธรรมทั้งสามนี้ย่อมจะทราบตัวเอง เช่นเดียวกับนักมวยเขาต่อยมวย ควรจะขึ้นเข่าขึ้นศอกขึ้นเท้าขึ้นหมัด ระยะไหนที่เหมาะนักมวยจะทำหน้าที่เอง นี่ก็เหมือนกัน จิตควรจะหมุนเข้าสู่เวทนา หมุนเข้าสู่กาย หมุนเข้าสู่จิต ในระยะใดขณะใดนั้น เป็นความเหมาะสมของจิตที่จะแยกแยะหาความจริงใส่ตน จึงบอกไม่ได้ว่าให้พิจารณานั้นก่อนพิจารณานี้ทีหลัง แต่ส่วนมากก็กายคตาเป็นพื้นสำคัญ ส่วนมากพิจารณานี้ก่อน

ทั้ง ๆ ที่กำลังพิจารณานี้อยู่ เมื่อเวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้น จิตมันหมุนไปหาทุกขเวทนาก็ได้ เพราะเป็นวงสัจธรรมด้วยกัน แล้วทีนี้พิจารณาประสานกัน แยกแยะดูให้เห็นสิ่งใดเป็นอะไร ๆ จนกระทั่งเข้าถึงจิตซึ่งเป็นตัวสำคัญมั่นหมาย สัญญามันออกมาจากจิตมาว่าอันนั้นเป็นทุกข์อันนี้เป็นทุกข์ ความจริงทุกข์ก็เป็นทุกข์อันหนึ่งเท่านั้นไม่ได้เป็นอะไร กายแต่ละส่วน ๆ ก็เป็นกายแต่ละส่วน ๆ แต่ละอาการของตนอยู่เท่านั้น ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นเวทนานั้น หากจิตนี้เองเป็นผู้ไปสำคัญมั่นหมายคือสัญญา

เพราะเหตุไรถึงว่าจิตนี้ไปสำคัญ เพราะตัวอวิชชาตัวหลอกอยู่ภายในจิตมันย่อมจะหลอกออกไป ทีนี้เวลาพิจารณาเข้ามา ๆ เมื่อสมุทัยหดตัว อวิชชาหดตัวเข้าไปในเวลานั้น เพราะถูกตัดข้างนอกเข้าไป ความสำคัญมั่นหมายอะไรแยกแยะดู ๆ จนกระทั่งเข้าใจแล้วมันก็ไม่กล้าออกมาสำคัญมั่นหมาย สุดท้ายจิตก็จริง กายก็จริง เวทนาคือทุกข์ก็จริง จิตก็จริงในขณะนั้น ต่างอันต่างจริงไม่ประสับประสานกัน ไม่คละเคล้ากันแล้วไม่กระทบกัน นี่การพิจารณาภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้

จะว่าให้พิจารณาอันนั้นก่อนพิจารณาอันนี้ทีหลังพูดไม่ได้ แต่ภาคพื้นแห่งการพิจารณาในขั้นเริ่มแรกนี้ ส่วนมากก็หนีกายไปไม่พ้นแหละ ต้องพิจารณากายดังที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น เมื่อจิตได้ถอยเข้ามาเป็นความจริงของตัวแล้วย่อมปล่อยวาง ทุกขเวทนาจะมีมากน้อยเพียงไรก็ไม่กระทบกระเทือนกัน นี่การพิจารณาเป็นเช่นนั้น และเกิดความอาจหาญไม่สะทกสะท้าน แม้ทุกข์ในกายนี้จะมีมากเพียงไรก็ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว เพราะไม่กระทบกระเทือนจิต จิตย่อมเป็นจิตเต็มตัวแม้จะอยู่ในภูมิของอวิชชาครอบหัวอยู่ก็ตามเถอะ ย่อมเป็นเช่นนั้น

จนกระทั่งได้พังทลายตัวอวิชชาออกหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว ปัญหาทั้งมวลก็หมด เรียนสัจธรรมจบตรงนั้นเอง เรียนสติปัฏฐาน ๔ จบ จบอยู่ที่จิต จบอยู่ที่อวิชชาบรรลัย หากอวิชชายังไม่พังสัจธรรมก็ยังเรียนไม่จบ พออวิชชาพังทลายลงจากใจเท่านั้น เรียกว่าเรียนสัจธรรมจบ ทุกข์ก็เรียนจบ สมุทัยก็เรียนจบ มรรคก็เรียนจบ นิโรธก็เรียนจบ ผู้ที่รู้ว่าเรียนทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จบนั้นคือผู้บริสุทธิ์ นั้นไม่ใช่สัจธรรม นอกไปจากวงสัจธรรมซึ่งเป็นวงสมมุตินี้แล้วโดยประการทั้งปวง

ทุกข์หาที่ไหนมาที่นี่ ทำไมจะไม่รู้เรื่องของจิตที่ถูกอวิชชามันฉุดมันลากให้เกิดในภพน้อยใหญ่ ตั้งแต่รากฝอยของมันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าถึงรากแก้วของมัน ตัดขาดสะบั้นลงมาหมดแล้ว ต้นไม้ต้นนี้จะไปเกิดที่ไหนอีก นั่น เห็นชัดเจนอย่างนั้น เผาไม่เผาฝังไม่ฝัง ทิ้งไว้อย่างนั้นมันก็ตาย พออวิชชาได้พังลงไปเท่านั้นไม่บอกว่าไปเกิดเสียก็ไม่เกิด บอกให้ไปเกิดเสียก็ไม่ไป เพราะสิ้นเชื้อแล้ว เชื้อของภพของชาติที่ให้สัตว์ทั้งหลายได้เกิดแก่เจ็บตายทุกถ้วนหน้ากันนี้ ก็คืออวิชชาดวงเดียวที่ครอบจิตเท่านั้นไม่มีอะไรเลย รู้เห็นอย่างประจักษ์ใจทีเดียว นี่นักปฏิบัติ จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก เกิดเต็มภูมิ ยันได้เลย พูดได้เต็มปากถ้าจะพูด เพราะรู้ได้อย่างเต็มใจ

มีกิเลสเท่านั้นพาให้สัตว์เกิด นั่น ไม่มีอะไรพาให้สัตว์เกิด พอธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้ออันสำคัญได้พังทลายลงไปแล้ว ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ เห็นอยู่กับตัว ไม่มีอะไรเป็นเครื่องสืบต่อ เป็นเอกเทศของตัวเอง ระหว่างสมมุติกับวิมุตติแยกกัน ถ้าพูดเป็นสองโลกก็เป็นคนละโลกแล้ว ถ้าเป็นหินก็เป็นหินหักแล้วเอามาต่อกันได้ยังไง มาต่อมันก็ไม่เหมือนธรรมชาติของมัน เอามาต่อก็มาจ่อ ๆ ไว้เฉย ๆ มันไม่ติด เหมือนอย่างจิตกับขันธ์ที่อยู่ด้วยกัน มันก็จ่อ ๆ กันอยู่เท่านั้นมันไม่ติด เป็นหลักธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์แล้วกับขันธ์ ที่ทำหน้าที่ต่อกันรับผิดชอบกันเพียงเท่านั้น ไม่ได้มากไปกว่านั้น และไม่มีอะไรมาบังคับ เหนือสิ่งบังคับทั้งหมดแล้ว นี่คือความจริงล้วน ๆ แห่งความบริสุทธิ์เป็นเช่นนี้

นี่ละท่านว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ผู้ไม่เกิดก็คือผู้บริสุทธิ์จากเชื้อแห่งความเกิดโดยประการทั้งปวงแล้วเท่านั้น นอกนั้นเกิดทั้งเพ เกิดแล้วไม่ว่าตายทั้งเพจะว่าอะไร มันตายทั้งเพทุกข์ทั้งเพ นี้ซิถึงได้อัศจรรย์พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาได้อย่างไร ไม่มีใครบอกใครสอนเลย อันนี้หนาแน่นยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดในสามแดนโลกธาตุนี้ เป็นตัวมหาอำนาจครอบไว้หมดทุกดวงจิตของสัตว์ ไม่มีใครที่จะเล็ดลอดออกไปได้เลย แต่พระพุทธเจ้าโผล่ขึ้นมาได้นี่อัศจรรย์ไหม โดยไม่มีใครแนะนำสั่งสอนเลย โผล่ขึ้นมาได้ด้วย สยัมภู ทรงรู้เองเห็นเองไม่มีใครแนะนำสั่งสอน

พวกเรายังแนะนำสั่งสอนกันแล้วกันเล่าแทบล้มแทบตาย ยังไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ไม่พ้นที่กิเลสจะมาฉุดมาลากเอาไปกิน กำลังทำลาบกำลังทำอะไรอยู่ กิเลสเอาไปกินเสียเจ้าของไม่ได้กิน กำลังปรับปรุงอรรถธรรมเพื่อจะได้อาศัย ถ้าภาษาโลก ๆ เราก็เรียกว่าเพื่อจะได้อยู่ได้กินโอชารส ก็ให้กิเลสคว้าเอาไปกินเสีย มันไม่ได้เรื่อง ท่าภาวนาท่าใดก็ให้มันเอาไปกินเสีย ๆ นี่ซิ ได้รับการแนะนำสั่งสอนอยู่ถึงขนาดนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้ แล้วไม่อัศจรรย์พระพุทธเจ้าจะอัศจรรย์อะไร

เอ้าทีนี้ความรู้ของพระพุทธเจ้ากับความรู้ของสาวกต่างกันอย่างไร เพียงสาวกท่านก็อัศจรรย์ในท่านแล้ว จิตไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น-เห็น จิตไม่เคยเป็น-เป็น นั่น แล้วพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไรทำไมจะไม่รู้ไม่เห็น เมื่อเป็น อาโลโก อุทปาทิ ขึ้นมาเต็มแล้ว จกฺขÿ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ เต็มภูมิเต็มพระทัยของพระพุทธเจ้าแล้ว ทำไมจะไม่รู้ไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่ในสามแดนโลกธาตุนี้ ไม่งั้นจะทรงสอนโลกได้ถึงสามแดนโลกธาตุเหรอ ไม่รู้ไม่เห็นสอนกันได้ยังไง ไม่เห็นเทวดาสอนเทวดาได้ยังไง ไม่เห็นอินทร์พรหมสอนอินทร์สอนพรหมได้ยังไง ไม่เห็นเปรตเห็นสัตว์นรกจะสอนได้ยังไง นำสิ่งเหล่านี้มาพูดได้ยังไง

เพราะไม่ใช่ศาสดาองค์ด้นเดา ทรงรู้จริงเห็นจริงทุกอย่าง ตั้งแต่สัจธรรมที่ทรงรู้แจ้งเห็นจริงยังมาประกาศกระเทือนโลกอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ทำไมสิ่งเหล่านั้นจะเป็นของปลอมไป เพราะเป็นธรรมของจริง เต็มไปด้วยความมีอยู่เป็นอยู่ของตนด้วยกันทั้งนั้นกับสัจธรรม ซึ่งมีประจำอยู่ในสัตว์และสังขารทั้งหลายนี่

บาปไม่มีอะไรเผาโลกอยู่เวลานี้ บุญไม่มีโลกทรงตัวได้ยังไง คนดีมีได้ยังไง แน่ะ นรกไม่มีสัตว์ทั้งหลายได้รับทุกข์ทรมานได้ยังไง จะเป็นทุกข์ทรมานได้ยังไง สวรรค์ พรหมโลกไม่มี พระพุทธเจ้าสอนเทวดาอินทร์พรหมได้ยังไง พวกผู้ตาดีท่านไม่มีปัญหานี่ พวกตาบอดไปเที่ยวลบล้าง แล้วก็สร้างปัญหาขึ้นมาเผาตัวเองโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ก็คือพวกกิเลสครอบงำหัวใจนั่นเอง ท่านผู้พ้นจากกิเลสท่านไม่มีปัญหากับสิ่งเหล่านี้ นอกจากท่านเมตตาสงสารท่านทุเรศเท่านั้นเอง นี่ละที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาโลกอย่างหาที่เปรียบหาประมาณไม่ได้ ก็เพราะความเห็นโทษอย่างถึงพระทัยในวัฏจักรวัฏจิต ที่พาหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเพราะอำนาจของกิเลส

จึงต้องสอนลงให้ถึงเหตุถึงผลถึงพริกถึงขิงถึงความจริงทั้งฝ่ายโทษฝ่ายคุณ ด้วยพระเมตตาล้วน ๆ เรื่อยมา แม้จะปรินิพพานยังต้องประทานพระโอวาทไว้อีก พาดบันไดเอาไว้สะพานเอาไว้ ทำกรุยหมายป้ายทางเอาไว้ เพื่อสัตว์โลกทั้งหลายผู้ที่มีอุปนิสัยอยู่ จะได้ตะเกียกตะกายไปตามพระองค์แล้วค่อยหลุดพ้น แม้ไม่ถึงที่สุดวิมุตติพระนิพพานก็พอผ่อนหนักเป็นเบา เพราะอำนาจแห่งความดีของตน และเพราะอำนาจแห่งหลักธรรมพระพุทธเจ้าที่สัตว์โลกทั้งหลายได้เกาะ ก็ยังดีกว่าถูกกิเลสฉุดลากไปตลอดเวลานั้นเป็นไหน ๆ

ฉะนั้นขอให้ทุกท่านได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าเห็นแก่ความท้อถอยอ่อนแอและความทุกข์ความลำบาก สิ่งเหล่านี้เราเคยมาอย่างจำเจ จนหาสิ่งที่จะเอามาเทียบมาเคียงมาวัดมาตวงกันไม่ได้แล้ว มันเต็มหัวใจด้วยกัน และเป็นตัวสร้างภพสร้างชาติ เป็นตัวพาให้เกิดแก่เจ็บตายไม่ใช่ตัวไหน ดินน้ำลมไฟมันก็เป็นสภาพของมันอยู่ยังงั้น แต่ผู้นี้เข้าไปแทรกไปสิงไปเกี่ยวไปข้องไปพัวพัน ดินน้ำลมไฟจึงได้กลายขึ้นมาเป็นภพเป็นชาติ เป็นสัตว์เป็นบุคคลดังได้ให้ชื่อให้นาม

นอกจากนั้นยังยึดยังถือว่านี้เป็นเรานี้เป็นของเรา ทั้ง ๆ เป็นดินน้ำลมไฟเป็นธาตุต่าง ๆ ของมันก็ยังไม่อาย เพราะกิเลสไม่พาให้อาย ไม่มีอะไรจะหน้าด้านยิ่งกว่ากิเลสที่ด้านที่สุด คอยแทรกคอยแซงคอยลบล้างความจริงของจริงตลอดเวลา มันจะอายได้ยังไง เมื่อกิเลสได้ครอบหัวใจใดเข้ามากน้อย ย่อมทำให้เกิดความหน้าด้านขึ้นมาในอรรถในธรรม ลบล้างธรรมได้

รู้สึกเหนื่อยแล้ว เอาแล้วนะ เพียงเท่านี้แหละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก