ธรรมมีอยู่ตลอดอนันตกาล
วันที่ 2 พฤษภาคม 2527 เวลา 19:00 น. ความยาว 58.41 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗

ธรรมมีอยู่ตลอดอนันตกาล

ธรรมะถ้าได้มีช่องทางซึมซาบเข้าสู่ใจ ย่อมปรากฏมีลักษณะอาการต่าง ๆ กัน เช่นเดียวกับฝ่ายอธรรมที่กลมกลืนกันกับใจ ย่อมจะทำให้ใจมีความรู้สึกแปลก ๆ ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา รสของความรักเป็นอย่างไรก็รู้ นั่นก็คือรสของกิเลส รสของความชังเป็นอย่างไรก็รู้ นั่นก็เป็นรสของฝ่ายอธรรม รสของความโลภของความโกรธโมโหโทโส รสของความอิจฉาพยาบาทปองร้าย ความเคียดแค้นต่าง ๆ รสแห่งความรื่นเริงบันเทิง รสแห่งความหวังในแง่ต่าง ๆ จะจริงหรือไม่จริงไม่สำคัญขอให้ได้หวัง เหล่านี้เป็นรสของกิเลสของอธรรมทั้งมวล ย่อมจะทราบภายในใจของผู้รับสัมผัสและอยู่ใต้อำนาจของมันโดยไม่ต้องสงสัย

นี่คือรสของฝ่ายอธรรมซึ่งกลมกลืนกับใจมาเป็นเวลานาน ไม่มีเวลาขยับขยาย ให้อันหนึ่งแสดงอาการหนึ่งออกมา ขณะหนึ่งแสดงอาการอย่างหนึ่งออกมา พร้อมทั้งรสชาติของมันผลิตออกมาด้วย ให้สัมผัสสัมพันธ์กับความรู้ ให้รู้ว่าเป็นอย่างไรต่ออย่างไร แม้จะให้ชื่อให้นามได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ แต่ความรับทราบในรสชาติต่าง ๆ ที่แสดงออกมา เพราะความโลภความโกรธความหลงราคะตัณหาเป็นต้นนั้น เจ้าของไม่มีทางที่จะปฏิเสธ นอกจากยอมรับโดยถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะเป็นความที่เด่นอยู่ภายในจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการใดแสดงออกมา ทั้งตัวเหตุทั้งตัวผลของมันจะมาพร้อม ๆ กัน

รักมีเหตุอันหนึ่งให้รัก รักเป็นเหตุอันหนึ่งที่จะให้เกิดรสชาติขึ้นมา นี่เรียกว่าเหตุซ้อนเหตุ มันซ้อนกันอยู่เช่นนั้น แต่ละอย่าง ๆ สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับใจซึ่งเป็นผู้รู้นี้ทั้งนั้น รสชาติเหล่านี้ไม่มีใครในโลกนี้จะปฏิเสธได้ในความรู้สึกของตัวเอง แม้จะไม่พูดให้ใครต่อใครฟังก็ตาม แต่เป็นความยอมรับกันอยู่โดยหลักธรรมชาติหาความสงสัยไม่ได้ ที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นอาการของฝ่ายอธรรมซึ่งมีอำนาจ และขณะที่มีอำนาจอยู่ภายในจิต ครอบงำจิต แสดงพิษภัยต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในจิต ส่วนมากไม่เห็นว่าเป็นโทษ มักจะเห็นว่าเป็นคุณทั้งนั้น ไม่ว่าจะพิษร้ายแรงขนาดไหนจิตยังพอใจรับพอใจแสดง เช่น ความโกรธ ความฉุนเฉียว นี้เป็นความทุกข์ ความเคียดแค้นเป็นความทุกข์มากมาย จิตยังยอมรับสิ่งเหล่านี้ นั่นแหละรสชาติของอธรรมปรากฏภายในจิตใจ ตามเหตุการณ์ของมันหนักเบามากน้อยเพียงไร ผลจะแสดงออกมาตามนั้น นี่คือสิ่งที่คลุกเคล้าอยู่กับใจ ใจย่อมรับทราบโดยไม่สงสัย ไม่ว่าใจของผู้ใดก็ตามยอมรับกันทั่วดินแดน

ทีนี้แยกออกมาไปสู่ด้านธรรมะ อันหนึ่งเป็นอธรรม อันหนึ่งเป็นธรรม ธรรมหากได้บุกเบิกสิ่งเหล่านี้ออกไป ให้ธรรมได้ปรากฏตัวขึ้นภายในใจ เริ่มแต่เหตุที่จะให้เกิดธรรม เพราะเบื้องต้นได้ยินได้ฟังได้อ่าน ได้เห็นในตำรับตำราให้เกิดความเชื่อขึ้นมา แล้วพยายามขวนขวายบำเพ็ญให้เป็นด้านธรรมะขึ้นมา ย่อมจะมีรสชาติปรากฏขึ้นมาเช่นเดียวกันกับรสชาติของฝ่ายอธรรม เมื่อความพอใจความเชื่อความเลื่อมใสความมุ่งมั่นปรากฏขึ้นภายในใจก็แสดงว่า กระแสแห่งธรรมฝ่ายเหตุได้เริ่มปรากฏตัวขึ้นมาแล้ว ผลก็เริ่มแสดงขึ้นมาในระยะเดียวกัน แม้เจ้าตัวจะไม่ทราบว่าเป็นผล ให้ชื่อว่าเป็นผลก็ตาม แต่ก็ทราบด้วยการยอมรับเช่นเดียวกันกับฝ่ายอธรรม

เมื่อได้ปรับปรุงจิตใจให้ธรรมได้ปรากฏขึ้นที่ใจหรือล่วงไหลเข้าสู่ใจ เพราะธรรมมีอยู่รอบใจเช่นเดียวกัน แต่กิเลสซึ่งเป็นฝ่ายอธรรมมีอำนาจเหนือกว่าจึงเข้าอยู่วงใน ธรรมอยู่วงนอกหรือธรรมมีอำนาจน้อย แม้อยู่ภายในจิตก็แสดงตัวออกมาไม่ได้ เพราะถูกครอบงำจากฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า เมื่อได้บุกเบิกด้วยวิธีการดังพระพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนไว้จะเป็นกรณีใดแง่ใดก็ตาม ย่อมจะเป็นทางให้ธรรมทั้งหลายปรากฏขึ้นภายในจิตมากน้อย ดังท่านสอนให้อบรมจิตตภาวนา วิธีการท่านสอน ๆ เพื่อให้ธรรมปรากฏขึ้นที่ใจนั่นแล

เวลานี้มีแต่ฝ่ายอธรรมปรากฏแสดงตัวอยู่อย่างเด่นชัด อย่างองอาจกล้าหาญ ธรรมไม่มีอำนาจที่จะแสดงออกมาได้ ท่านจึงสอนวิธีการที่จะทำให้ธรรมแสดงตัวออกมาได้เช่นเดียวกับฝ่ายอธรรม เช่น ให้นั่งสมาธิภาวนา จะกำหนดวิธีใดก็ตามตามแต่จริตชอบในธรรมบทใด เช่น คำบริกรรม พุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ หรือกำหนดอานาปานสติ ลมหายใจเข้าหายใจออก ให้รู้อยู่ทุกระยะแห่งลมสัมผัสอวัยวะมีจมูกเป็นต้น เข้าและออกมีความรู้สึก ไม่ให้คิดปรุงไปในแง่ใด ๆ

เพราะความคิดปรุงในแง่ใดนั้นเป็นทางเดินของกิเลส แสดงว่ากิเลสออกก้าวเดิน ธรรมไม่ได้ก้าวเดิน ธรรมเริ่มจะก้าวเดินในขณะที่มีสติ กำหนดดูลม ลมเข้าก็รู้ลมออกก็รู้ หรือกำหนดบริกรรมภาวนาในธรรมบทใด เช่น พุทโธ จิตรู้อยู่กับคำว่า พุทโธ ๆ ไม่ปรุงไม่แต่งไปไหน ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสผลักดันให้ปรุงออกไป แต่ปรุงเรื่องของธรรมคือพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ เท่านั้น มีความรู้สึกสืบต่ออยู่ นี่ชื่อว่าบุกเบิกทางเพื่อให้ธรรมได้ปรากฏ หรือบุกเบิกทางเพื่อให้ธรรมก้าวเดินได้ เริ่มตั้งแต่สติก้าวเดินได้

จากนั้นความรู้ที่สืบเนื่องกันเป็นลำดับเพราะสติเป็นผู้ควบคุม ก็ก้าวเดินได้เป็นระยะยาวไปโดยลำดับลำดา จนกลายเป็นใจที่มีความสงบเพราะการก้าวเดินแห่งธรรม ทั้งสติทั้งความรู้สืบเนื่องกัน กลายเป็นความรู้ที่แนบแน่น เป็นความรู้ที่สงบ เป็นความรู้ที่เย็น นี่คือผลแห่งธรรมได้ปรากฏขึ้นแล้วจากเหตุแห่งการก้าวเดินของธรรม ผลก็ปรากฏตามกันมา นี่ขั้นเริ่มแรกแห่งธรรมปฏิบัติที่จะสัมผัสสัมพันธ์ในจิตใจของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เริ่มปรากฏอย่างนี้

ส่วนการให้ทาน การรักษาศีล ก็มีรสมีชาติไปแต่ละอย่าง ๆ หากไม่ชัดเจนไม่แน่ใจเหมือนรสชาติของจิตตภาวนา ซึ่งเป็นทางที่ให้ธรรมสัมผัสขึ้นในขณะนั้น ๆ และเด่นขึ้นโดยลำดับ สุดท้ายผลแห่งการให้ทาน การรักษาศีล จะไหลรวมเข้ามาสู่จุดเดียวกัน เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ ไหลรวมเข้ามาสู่ทำนบใหญ่เช่นนั้น นี่ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่ามีอยู่ตลอดอนันตกาล มีอยู่ที่ไหนพูดไม่ได้ เพราะอยู่ทั่วไป เช่นอย่างอากาศมีอยู่ทั่วไป แต่ใครจะเป็นผู้สัมผัส ก็นอกจากร่างกายของเราเท่านั้น เดินไปไหนก็สัมผัสเรื่องเย็นเรื่องร้อนไม่ปฏิเสธ เพราะกายนี้เท่านั้นเป็นผู้จะสัมผัสดินฟ้าอากาศทั้งหลาย ไม่ว่าในสถานที่ใด ๆ ก็ตาม

เรื่องธรรมของพระพุทธเจ้า เอาท้องฟ้ามหาสมุทรมาเทียบก็ยังไม่ได้กว้างขวาง เอาไตรโลกธาตุมาเทียบก็ยังไม่กว้างขวางเท่าธรรม ไม่ละเอียดลออเหมือนธรรม ธรรมนี่ครอบหมดขอบเขตจักรวาล ทั้งแดนสมมุติและแดนวิมุตติ ไม่มีจุดไหนดอนใดที่ธรรมจะไม่แทรกอยู่

ถ้าเราอยากจะทราบเรื่องธรรมทั้งหลายกว้างแคบลึกตื้นหยาบละเอียดเพียงไร จงปรับจิตใจของตนให้เข้าสู่ระดับธรรมเป็นลำดับลำดาไป ตั้งแต่เริ่มแห่งขั้นสมาธิเป็นลำดับถึงขั้นปัญญา ทะลุถึงวิมุตติหลุดพ้น แล้วจะจะทราบได้อย่างชัดเจนไม่ต้องถามใครทั้งนั้น เพราะคำว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี้ประกาศกังวานอยู่ภายในจิตของผู้รู้นี้แล้ว รู้โดยสมบูรณ์ สนฺทิฏฺฐิโก ก็เต็มภูมิสมบูรณ์เช่นเดียวกัน ไม่ทราบว่าจะไปถามใคร เพราะสมบูรณ์เต็มที่แล้วในการสัมผัสสัมพันธ์ธรรมทั้งหลาย หรือรู้ธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าข้างนอกไม่ว่าข้างใน ใจเป็นผู้รู้ทั้งนั้น

เวลานี้เรากำลังพยายามที่จะทำธรรมให้ซึมซาบให้สัมผัสสัมพันธ์กับใจ จึงต้องตะเกียกตะกาย ต้องพยายาม เพราะเหตุไรจึงต้องพยายาม จึงต้องตะเกียกตะกาย เพราะฝ่ายต่ำมีกำลังมาก เวลานี้อยู่ภายในจิตใจ กระดิกพลิกแพลงออกในแง่ใดมุมใด มีแต่ฝ่ายต่ำนี้ทำงานก่อนทั้งนั้น สกัดลัดกั้นให้ธรรมก้าวเดินออกไม่ได้

เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเวลาตั้งสติ สังเกตดูก็รู้ เริ่มตั้งสติจะไปสักกี่วินาที มันจะมีความผลักดันออกมาจากภายในใจ เพราะกิเลสแท้ ๆ อยู่ที่ใจผลักดันออกมาที่นั่น ผลักดันออกมาให้คิดให้ปรุงให้แต่งในเรื่องราวทั้งหลาย ที่เคยคิดเคยปรุงเคยแต่งมาแล้วทั้งนั้นแหละ นอกจากนั้นก็ปรุงลม ๆ แล้ง ๆ หาเหตุหาผลหาความสัตย์ความจริงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้คิดเฉลียวใจว่าเป็นความผิดถูกชั่วดีประการใดพอที่จะให้พินิจพิจารณาหรือให้ละให้เว้น ให้เห็นโทษเห็นภัยแห่งความคิดปรุงนั้น ๆ ย่อมคิดเหลวแหลกแหวกแนวอยู่ตลอดเวลาภายในจิตใจ

เพราะฉะนั้นเวลาบังคับจิตใจให้เข้าสู่ระดับธรรมเพื่อธรรมจะได้ก้าวเดิน เช่น นั่งสมาธิภาวนากำหนดสติลงไปสู่งานของตน เช่น งานภาวนาหรืองานบริกรรมภาวนาจะไม่กี่นาที เมื่อเราจับหลักของธรรมยังไม่ได้ จะถูกผลักดันออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ผลักดันออกมาให้เกิดความเสียดาย ให้เกิดความอยากคิดอยากปรุง ให้เกิดความอยากสำคัญมั่นหมายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทั้ง ๆ ที่เคยรู้เคยเห็นเคยสัมผัสสัมพันธ์ เคยปรุงเคยแต่งกันมานานแสนนานจนกี่กัปนับไม่ถ้วน แม้แต่ในปัจจุบันชาตินี้ก็นับไม่ได้แล้วเพราะมากต่อมาก มันยังไม่อิ่มไม่พอ ยังเสียดายยังอยากคิดอยากปรุง เพราะฉะนั้นมันจึงผลักดันออกมาจากกิเลสตัวหิวโหยนี้แล นี่เป็นอย่างนั้น

ทีนี้เวลาเราพยายามตั้งสติให้ดี จึงต้องฝืนที่นี่นะ ต้องพยายามต้องฝืน ต้องมีสติต้องจดจ่อระมัดระวังให้ธรรมได้ก้าวเดิน สติจดจ่อต่องาน งานคือคำบริกรรมหรือการกำหนดอานาปานสติเป็นต้น ให้ได้ทำงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยทำความเข้าใจกับตนและทำความรู้สึกตนว่าโลกนี้เหมือนไม่มี อะไร ๆ ไม่มี มีเฉพาะลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก ลมผ่านเข้าหรือลมผ่านออกก็ไม่ได้นิยมว่าเป็นลมหรือไม่เป็นลม กำหนดให้ทราบเฉพาะความปรากฏคือลมนั้นแหละ สัมผัสกับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ดั้งจมูกเป็นต้น สัมผัสเข้าสัมผัสออกก็รู้

เราจะกำหนดว่าเป็นลมหรือไม่เป็นลมไม่สำคัญ ที่สำคัญก็คือให้รู้ในขณะที่ขันธ์นี้แสดงตัว สัมผัสเข้าสัมผัสออก ลมกับความรู้สัมผัสกัน สิ่งที่มาสัมผัสความรู้ที่เรียกว่าลมนั้น เราให้ชื่อให้นามไม่ให้ชื่อไม่ให้นามไม่สำคัญ สำคัญที่ไม่ให้เผลอ นั่นไม่พยายามจะเป็นไปได้อย่างไร ต้องได้ใช้ความพยายาม ต้องอดต้องทนพินิจพิจารณา ประหนึ่งในขณะนั้นเหมือนไม่มีอะไรเลยในโลกเข้ามาเจือปนจิตใจ มีแต่งานกับความรู้ที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เท่านั้น นี่ก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง

เมื่อจิตมีผู้ตามรักษาคือสติบังคับให้ทำงานอยู่โดยสม่ำเสมอ เกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวโยงกันไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน เพราะฝ่ายต่ำมาทำลายหรือมากีดขวาง ใจย่อมจะสงบเย็นขึ้นมา พอใจสงบเย็นขึ้นมาเท่านั้นผลย่อมเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นมาแล้วในธรรมขั้นสมถะนี้ บางครั้งถึงกับขาดไปเลยก็มี แต่ผู้ฟังอย่าได้คาดได้หมาย ให้เป็นตามหลักธรรมชาติของตัวเอง นี่ท่านพูดถึงเรื่องความมีความเป็นของท่านต่างหาก ซึ่งเราอาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ หรืออาจจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เหตุของเราที่จะพาให้เป็นผลขึ้นมาจากการบำเพ็ญ

บางครั้งมันขาดไปหมดเลย ไม่เพียงแต่สงบเท่านั้น ปรากฏว่าขาดหมดเหลือแต่ความรู้ เหมือนกับเป็นเกาะอยู่ในท่ามกลางน้ำมหาสมุทรทะเลใหญ่ทะเลหลวงนั้นแล เกาะนั้นหมายถึงความรู้ที่เด่นดวงอยู่โดยเฉพาะ นอกจากนั้นเป็นสมมุติทั้งหลาย ไม่ได้มาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่ขันธ์

ขั้นสมาธิก็เป็นได้อย่างนี้ แต่เราให้ชื่อเฉย ๆ เราพูดได้เต็มปากแต่เพียงว่าบางครั้งเวลาบำเพ็ญสมถธรรม จิตสงบตัวลงได้ถึงขนาดนั้นก็มี นั่น เมื่อได้ปรากฏเช่นนี้แล้วทำไมรสแห่งธรรมจะไม่ปรากฏอย่างเด่นชัดภายในความรู้อันนั้น เมื่อรสแห่งธรรมขั้นสมถะหรือขั้นสงบราบคาบได้ปรากฏขึ้นเช่นนี้ ทำไมใจจะไม่มีความกระหยิ่มยิ้มย่อง ไม่กระตือรือร้น ไม่ตื่นเต้นภายในตัวมีเหรอ สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยปรากฏ เราไม่เคยรู้เคยเห็น พึ่งมารู้มาเห็นมาเป็นในขณะที่เราภาวนานี้เท่านั้น นี่ก็เป็นเครื่องปลูกศรัทธา หรือเสริมศรัทธาที่มีอยู่แล้วให้มีกำลังมากขึ้นด้วยความประจักษ์ใจ

เรื่องความเพียรความอุตส่าห์พยายามจะโหมตัวมา เพราะธรรมเหล่านี้เป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญมาก ศรัทธาเกิดแล้วความมุ่งมั่นก็ตั้งขึ้นมา ทีนี้ศรัทธากับความมุ่งมั่นที่จะให้ได้ให้ถึงมีน้ำหนักมากเพียงไร เรื่องความเพียรเรื่องความอุตส่าห์พยายามไม่ว่าจะเป็นจะตาย จะเป็นธรรมเข้ามาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ได้กลัวเป็นกลัวตาย กลัวแต่จะไม่รู้ไม่เห็น อยากรู้อยากเห็นเป็นกำลัง นี่ความอยากประเภทนี้เรียกว่ามรรคแสดงตัวขึ้นแล้ว แข่งกับความอยากของฝ่ายต่ำซึ่งเคยอยากมา ทำแต่ความรุ่มร้อนให้เรา ความอยากอันนี้ไม่ได้ทำความรุ่มร้อน ความอยากอันนี้เป็นธรรมชาติที่จะลบล้างความอยากซึ่งเป็นอธรรมไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงสิ้นสุดวิมุตติหลุดพ้นไปโดยสิ้นเชิง แล้วความอยากนี้ก็หายไป

ความอยากอันเป็นตัวกิเลสไม่ต้องพูด มันบรรลัยไปแล้วความอยากนี้ถึงจะหาย ก็อยากดับทุกข์อยากพ้นทุกข์ อยากฆ่ากิเลสให้วอดวายไปหมด เมื่อฆ่าได้สมใจแล้วจะเอาอะไรมาอยากอีก อยากฆ่าอะไร อยากพ้นหาอะไรพ้นทุกข์ เพราะพ้นแล้ว อยากบริสุทธิ์ที่ไหนก็บริสุทธิ์แล้ว นั่น อยากประเสริฐที่ไหนก็ประเสริฐแล้วโดยหลักธรรมชาติเห็นอย่างชัดเจน ความอยากนี้ก็หลุดลอยไปเองโดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงต้องแต่ง ไม่ต้องสลัดปัดทิ้งแต่ประการใด

นี่เรื่องธรรมที่ว่าธรรมมีอยู่ ก็เช่นเดียวกันกับอธรรมที่มีอยู่ภายในใจ หรือกิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ภายในใจ ย่อมแสดงอาการต่าง ๆ ให้เราได้เห็นได้รู้อยู่ประจักษ์ทุกดวงใจไม่มีเว้น ใจจึงเท่ากับฟุตบอล ถูกเตะให้กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ไม่หยุดไม่ถอย นี่เรื่องของกิเลสปรากฏภายในจิตใจเป็นอย่างนั้น ใครจะสงสัยล่ะ สิ่งที่ปรากฏเหล่านั้นจะให้ชื่อว่ากิเลส ให้ชื่อว่าฝ่ายต่ำฝ่ายสูงก็ตาม มันล้วนแต่ฝ่ายต่ำทั้งนั้น ที่แสดงตัวอยู่ภายในจิตของผู้ไม่มีธรรมจิตตภาวนาภายในใจเลย ก็ติดก็พันก็เชื่อ ยอมรับกันโดยหลักธรรมชาติไปอย่างนั้น ไม่มีที่จะให้รู้โทษรู้กรณ์ของมัน เห็นโทษเห็นพิษเห็นภัยของมัน เพราะฉะนั้นมันจึงได้สนุกกล่อมสนุกเหยียบย่ำทำลาย สนุกขยี้ขยำจิต

หากเป็นสิ่งที่ฉิบหายวายปวงไปได้ จะไม่มีจิตดวงใดเหลือค้างในสามแดนโลกธาตุนี้แม้ดวงเดียวเลย จะแหลกไปหมด แต่นี้เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่เหนียวแน่นมั่นคงทนทานมาก ถึงจะได้รับความทุกข์ความลำบาก เพราะความขยี้ขยำบีบบี้สีไฟของกิเลสประเภทใดก็ตาม ทุกข์ก็ย่อมยอมรับว่าทุกข์ ทุกข์มากขนาดไหนถึงมหันตทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่ฉิบหายก็คือจิตดวงนี้ จึงได้รอดตัวออกมาในภพในชาติต่าง ๆ ถึงปัจจุบันที่เรารู้ ๆ เห็น ๆ อยู่นี้ ก็คือจิตดวงที่ไม่เคยตายนี้แล แต่ถูกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้คลุกเคล้าตลอดเวลา แสดงทั้งเหตุแสดงทั้งผลให้เป็นอยู่ภายในจิตอยู่อย่างนั้นไม่มีเวลาหยุดยั้ง นอกจากเวลาที่หลับสนิทซึ่งกิเลสพักตัวเท่านั้นจิตจึงได้พักตัว ว่าคืนนี้หลับสนิทดี แน่ะ นี่ละการได้พักจิตมีอยู่เพียงเท่านั้น

ทีนี้เมื่อได้ก้าวเข้าสู่ธรรม เพื่อให้ธรรมก้าวเดิน ด้วยวิธีการปฏิบัติมีจิตตภาวนาเป็นสำคัญแล้ว ธรรมก็จะเริ่มเดินดังที่กล่าวนี้ แต่ธรรมมีอำนาจน้อยในขั้นเริ่มแรก ต้องได้ใช้การฝ่าฝืนใช้การบังคับบัญชา ใช้การกดขี่ข่มเหงฝ่ายต่ำอย่างมาก แต่ส่วนมากก็พูดว่าทรมานจิต ก็ทรมานกิเลสที่อยู่กับจิตนั่นแหละไม่ใช่ทรมานอะไร ทุกวิธีการจะหักโหมขนาดไหนเอาเป็นเอาตายเข้าแลกเข้าต่อกรกัน ก็คือการต่อสู้กับกิเลสไม่ใช่การต่อสู้กับจิต

จิตเป็นสิ่งที่ประเสริฐอยู่แล้ว แต่ถูกรุมล้อมถูกย่ำยีตีแหลกจากกิเลสประเภทต่าง ๆ จิตจึงเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเจ้าของ เมื่อเจ้าของได้ช่วยอย่างนั้นให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว จะว่าทรมานจิตได้ยังไง จิตจะมาเห็นโทษของการทรมานนี้ยังไง นอกจากจะเห็นคุณค่าของการทรมาน ของการต่อสู้กับกิเลส ของการฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลส ให้เห็นเป็นความสุขความสงบเย็นใจขึ้นมาโดยลำดับ ๆ เท่านั้น นี่แหละที่ว่าได้หักโหมกันหักโหมอย่างนี้ ต่อสู้อย่างนี้

ในขั้นเริ่มแรกหนักไปอีกอย่างหนึ่ง ขั้นต่อไปก็หนักไปโดยลำดับ ขั้นเริ่มแรกนี้หนักทางร่างกาย จิตก็ได้หักโหมกันเต็มที่ ร่างกายก็ต้องได้ทดได้สอบได้ตัดทอนกันลง อาหารการบริโภคการเป็นอยู่หลับนอน นอนมากเป็นอย่างไรกิเลสแสดงไหม แสดงเพิ่มกำลังขึ้นมากมาย ฉันมากเป็นอย่างไรกิเลสเพิ่มกำลังขึ้นไหม

แต่พึงทราบนักปฏิบัติทั้งหลาย ไม่ควรจะสงสัยเลยว่าการนอนมากเป็นเรื่องส่งเสริมกิเลสให้กำเริบตัวขึ้นมาได้อย่างชัดเจน การฉันมากก็เป็นการเพิ่มกำลังของกิเลสให้มีกำลังมากขึ้นโดยไม่ต้องสงสัย การฝึกฝนทรมาน การจิตตภาวนาจึงก้าวไม่ค่อยออกหรือก้าวไม่ออก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอยู่มาก ที่มีอำนาจกดขี่บังคับจิตใจให้ก้าวไม่ออกทางสมถธรรม

ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องได้สังเกตในเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องความพากความเพียรของตน การกินอยู่หลับนอนเป็นยังไง จึงต้องได้ระวัง อยากจะนอนขนาดไหนก็ต้องได้ทนไม่ให้เป็นไปตามนั้น อยากฉันมากขนาดไหน กินมากขนาดไหน ก็ต้องได้ลดให้หย่อนลงไป เพราะเอาธรรมเข้าไปว่า ไม่ใช่เอาเรื่องของกิเลส กิเลสมันอยากมันหิวมันโหย ได้เท่าไรไม่พอ นั่นเรื่องของกิเลส เมื่อให้ตามใจชอบของกิเลสแล้วมันมีกำลังมากมันก็ทับเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาตามธรรม ธรรมเห็นว่าขนาดนี้พอ พออยู่ได้พอเป็นไปได้ เพื่อรสแห่งธรรมจะได้ปรากฏยิ่งกว่ารสของอาหารการบริโภค ยิ่งกว่ารสของกิเลสนี้เป็นไหน ๆ แล้วก็ฟาดฟันหั่นแหลกกัน นี่ละทุกข์ตรงนี้

ในการปฏิบัติ เบื้องต้นถ้าไม่มีการทรมานมีการฝึกทางกายหักโหมทางกายบ้างย่อมเป็นไปได้ยาก สำหรับผมเองเคยดำเนินมาอย่างนั้น เวลาธาตุขันธ์มีกำลัง เอะอะนิดหนึ่งคอยแต่จะเสริม นิดหนึ่งคอยแต่จะเสริม จึงต้องได้ระมัดระวังให้กดลงไว้เสมอ ให้หิว ๆ โหย ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเรื่องของกิเลสชอบแล้วต้องตัดลง ๆ การนอนก็ให้น้อยที่สุด พอตื่นแล้วไม่ซ้ำ รีบลุกทันทีไม่ซ้ำ นั่น การฉันก็เหมือนกันผ่อนหนักผ่อนเบา สุดท้ายมีแต่ผ่อนเรื่อย ๆ เป็นจำนวนมาก เอาเรื่อย แล้วจากนั้นก็อด จิตจึงพอก้าวไปได้ นี่ได้เห็นอย่างชัดเจน

สำหรับจริตนิสัยส่วนมากถูกกับวิธีการที่กล่าวมาเหล่านี้ ไม่ค่อยผิดแหละ นอกจากขิปปาภิญญาเท่านั้น ถ้าขิปปาภิญญาก็ไม่สำคัญอะไรนัก เพราะกำลังจิตของท่านพร้อมที่จะพุ่งอยู่แล้ว ธรรมดาของพวกเราที่เคยนอนจมอยู่กับกิเลสมาเป็นเวลานานฝึกยาก ๆ ทรมานยาก ๆ อย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นภัยได้ทั้งนั้นแหละ จึงต้องได้สังเกตกันการปฏิบัติ

ให้ธรรมได้ออกลวดลายบ้างซิ เริ่มแต่สมาธิธรรมได้ปรากฏขึ้นมา นี่รสของธรรมปรากฏแล้วภายในจิต จะมีกว้างแคบขนาดไหน เราถือเอาความสัมผัสระหว่างจิตกับธรรมที่ปรากฏกันอยู่นี้เท่านั้น เช่นเดียวกับอากาศ อากาศจะกว้างแคบขนาดไหน เราถือเอาความร้อนความเย็นที่ปรากฏมาสัมผัสร่างกายของเรานี้โดยเฉพาะ ๆ ไปที่ไหนก็ทราบว่าร้อน ๆ หรือหนาว ๆ อยู่เฉพาะนี้ ที่อื่น ๆ มันจะหนาวหรือไม่หนาว ร้อนหรือไม่ร้อนไม่สำคัญ เพราะกายต่างหากเป็นผู้สัมผัส ต่อเมื่อกายก้าวไปที่ไหนจึงย่อมรับความสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งไปเรื่อย ๆ ว่าที่นั้นร้อนที่นี้เย็นที่นี้หนาว

ธรรมก็เหมือนกัน ถ้าลงได้สัมผัสแล้ว ไปที่ไหนก็สัมผัสอย่างนี้ สัมผัสอยู่ที่ใจของเรา เช่นเดียวกับอากาศสัมผัสอยู่ที่กายของเรานี้แล เพียงธรรมได้ปรากฏขึ้นมาแล้วส่วนอธรรมทั้งหลายก็จะค่อยจางไป นี่เป็นขั้นหนึ่งของการฝึกทรมานที่หนักและหักโหมกันพอประมาณหรือหักโหมกันมาก ในขั้นเริ่มแรกที่จะให้จิตได้รู้เรื่องรู้ราวให้พอสงบตัวเย็นใจได้หายใจบ้าง ต้องเอากันอย่างหนัก

เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็เพลิน มีความสงบสบายไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะกิเลสตัวสำคัญ ๆ ที่เคยผลักดันออกไปให้คิดถึงรูปถึงเสียงถึงกลิ่นถึงรสราคะตัณหาสงบตัวลงไป อันนี้ละตัวสำคัญมาก มันกวนใจมากนะราคะตัณหานี่ กวนเอามากทีเดียว ตัวนี้เป็นตัวร้ายแรงที่สุดในวงวัฏจักรนี้ ตัวนี้แสดงอย่างผาดโผนมากทีเดียว เมื่อตัวนี้สงบลงไปเท่านั้นก็พอมีพอเป็นพอไป พอปลงจิตปลงใจได้ จากนั้นให้พิจารณาทางด้านปัญญา อย่าอยู่เฉย ๆ

เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ว่าข้างนอกไม่ว่าข้างใน เพราะสมุทัยเป็นไปได้ทั้งข้างนอกข้างใน ติดรูปข้างนอกไม่ใช่สมุทัยเหรอ อยู่ข้างนอกนั่น เอารูปนั้นเป็นเหตุ ตัวสมุทัยจริง ๆ อยู่ที่จิตไปยึดเหนี่ยวเอารูปเอาเสียงเอากลิ่นเอารสภายนอกเข้ามาคละเคล้าอยู่ภายในจิตใจ จนกลายเป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะสิ่งภายนอกได้ เราพิจารณาสิ่งภายนอกให้เป็นมรรคทำไมพิจารณาไม่ได้ แยกส่วนแบ่งส่วนพินิจพิจารณาให้เป็นเหมือนป่าช้าผีดิบ เอาให้เห็นชัดเจนอย่างนั้นนักปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้าก็ให้ไปพิจารณาอย่างนี้เอง

ธรรมเหล่านี้สด ๆ ร้อน ๆ เพราะกิเลสทุกประเภทสด ๆ ร้อน ๆ ธรรมทำไมจะล้าสมัย เอามาแก้สิ่งสด ๆ ร้อน ๆ ที่เผาเราให้เดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ กิเลสตัวไหนที่ล้าสมัยไปแล้วมีไหม เวลามันเผาเราตัวไหนมันก็เป็นฟืนเป็นไฟไปเหมือนกันหมด ทำไมธรรมจะล้าสมัย เอามาแก้กิเลสปราบกิเลสให้บรรลัยลงไปจากใจจะล้าสมัยที่ไหน นำเอามาใช้ซิ

การพิจารณาแยกส่วนแบ่งส่วนของธาตุของขันธ์ทั้งภายนอกภายในให้สนใจจริง ๆ เช่นเดียวกับเราสนใจจ่อในสมาธิด้วยสติของเราเอง สนใจทางปัญญาก็จ่อทางด้านปัญญา มีสติตามควบคุมให้ได้การได้งานในสิ่งนั้นจริง ๆ เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหน หากจะแย็บออกมาจนได้เรื่องปัญญา พอแย็บออกมาเข้าใจแล้วสะดุด แย็บ ๆ ครั้งหนึ่งสองครั้งเข้าไป นี่เรียกว่าได้เงื่อนแล้วได้พยานแล้ว จิตก็ก้าวเดินเรื่อย สติปัญญาก้าวเดินไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็เข้าใจสิ่งนั้นเข้าใจสิ่งนี้ เข้าใจอันใด ๆ ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งเต็มที่แล้วปล่อยได้ ๆ เป็นลำดับ นี่ละเรื่องปัญญาฆ่ากิเลสตัดกิเลสตัดอย่างนี้

สมาธิเป็นแต่เพียงทำให้สงบ ปัญญาเป็นฝ่ายฆ่าฝ่ายถอดฝ่ายถอน เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในอันดับต่อไป ถึงกาลเวลาที่ควรจะพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ต้องเสียดายสมาธิ ไม่ต้องมาเป็นห่วงเป็นใยความสงบ ให้หมุนลงปัญญาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มที่เต็มฐาน เป็นปัจจุบันธรรมตลอดเวลาในการพิจารณาทางด้านปัญญา เช่นเดียวกับเราพิจารณาภาวนาทางด้านสมาธิ ไม่ห่วงปัญญา ให้เป็นปัจจุบันธรรมปัจจุบันจิตกับงานของตนอยู่โดยสม่ำเสมอ จนกว่าจะถอยออกมาแล้วจึงพิจารณาทางด้านปัญญา ทำงานไม่ให้ก้าวก่ายกัน

ถึงวาระที่จะทำอะไรให้มีความจริงจังนักปฏิบัติ อย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ ดังที่เคยเห็นอยู่นี้ ผมหนักใจนะ หนักใจถึงขนาดมากทีเดียว เพราะมันสัมผัสสัมพันธ์ทางตาทางหูตลอด นอกจากไม่พูด ผมเองเป็นผู้แนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนเพื่อความดิบความดีเพื่ออรรถเพื่อธรรม ทุ่มเทลงอย่างไม่มีอัดมีอั้นไม่มีคำว่าเสียดาย ไม่มีลี้มีลับ ธรรมบทใดที่จะเป็นประโยชน์แก่หมู่เพื่อน ได้ถอดถอนออกมาค้นออกมาโกยออกมาทุ่มให้หมด เพราะฉะนั้นเวลาเห็นอากัปกิริยาของหมู่ของเพื่อนที่แสลงหูแสลงตา ขัดต่ออรรถธรรมทั้งหลายแล้ว จึงทนคิดไม่ได้อดคิดไม่ได้ ต้องได้คิด จากนั้นถ้าจะพูดว่าหนักใจก็หนักใจ มันไม่สมเหตุสมผลกับการแนะนำสั่งสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหมู่เพื่อคณะ ควรจะเห็นใจ ทั้งเห็นใจตัวเองทั้งเห็นใจครูบาอาจารย์ที่แนะนำสั่งสอน แล้วเอาลงให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ไม่มีอะไรที่น่าเสียดายแหละสามแดนโลกธาตุ มีแต่ดินน้ำลมไฟอากาศธาตุเท่านั้นเอง ถ้าพูดถึงเรื่องจิตก็จิตกับบาปกับบุญ นี่มันก็คลุกเคล้ากันอยู่ตลอดเวลา ทุกข์ก็เคยทุกข์มาแล้ว สุขก็เคยสุขมาแล้ว เราไม่ต้องสงสัยว่าตกนรกอเวจีที่ไหน จิตดวงนี้ช่ำชองมากในสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่มีอะไรที่จะไปตกนรกอเวจีขึ้นสวรรค์ชั้นพรหมนอกจากจิตดวงเดียวนี้ เคยไปมาหมดแล้ว มันก็เป็นของเก่าอย่างนั้นละ ผ่านไปผ่านมาเพราะอยู่ในกฎ อนิจฺจํ

เรื่องของสมมุติแล้วย่อมเป็นกฎ อนิจฺจํ ทั้งนั้น ไม่มีอะไรแน่นหนาถาวรพอที่จะตายใจได้เลย นอกจาก นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ซึ่งเลยจากกฎแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ไปแล้วเท่านั้น จึงเป็นธรรมชาติที่ตายตัวไว้ใจได้ตลอดเวลาแม้ทรงขันธ์อยู่ก็ตาม ขอให้จิตได้ถึงธรรมชาติอันนี้เถอะไม่มีอะไรเสียดาย ไม่มีอะไรสงสัย ตายเมื่อไรตายได้ อยู่ ๆ ได้ ตาย ๆ ได้ ไม่สงสัยไม่ห่วงใยอะไรทั้งนั้น ไม่หวังพึ่งอะไรเลย จะว่าพึ่งตัวเองก็ไม่มักไม่หมาย หากพอดิบพอดีกันอยู่อย่างนั้น

นี่ละขอให้ธรรมตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก จนกระทั่งถึงขั้นปัจจุบันที่กล่าวอยู่เวลานี้ ได้เข้าสัมผัสสัมพันธ์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับใจเถอะ อยู่ที่ไหนก็เป็นธรรมหมดที่นี่ กระจายออกทั่วแดนโลกธาตุทั้งสมมุติทั้งวิมุตติทั่วถึงกันหมดเลย ไม่ต้องพูดแต่เพียงว่าแดนสมมุติโลกธาตุนี้เท่านั้น

กิเลสมีอยู่ในแดนโลกธาตุนี้ ๓ ไตรภพ จึงเรียกว่า ๓ ภพ ไตรแปลว่าสามนั่นแหละ ในไตรภพนี้เป็นเรื่องของอธรรมมันท่องเที่ยว เป็นบ้านเป็นเรือนของมัน แต่เมื่อธรรมได้ครอบเข้าไปแล้วหมดเลย ทั้งสามแดนโลกธาตุนี้ ทั้งแดนแห่งนิพพานไม่สงสัย นั่นละธรรมเมื่อได้กระจายแล้วกระจายหมด ยิ่งกว้างขวางลึกซึ้งกว่ากิเลสเป็นไหน ๆ

ด้วยเหตุนี้ท่านผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลายจึงโฆษณาด้วยความถึงพระทัยถึงใจ แก่พวกสัตว์ทั้งหลายมีพวกเราพุทธบริษัทเป็นสำคัญ โก นุ หาโส กิมานนฺโท ? นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเรน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ. ก็เมื่อโลกสันนิวาสนี้มันรุ่มร้อนไปด้วยฟืนด้วยไฟอยู่ตลอดเวลา เผาลนอยู่ไม่มีวรรคมีตอนเลย พวกท่านทั้งหลายรื่นเริงบันเทิงหัวเราะกันหาอะไร ทำไมไม่เสาะแสวงหาที่พึ่ง ซึ่งเป็นของเลิศของประเสริฐยิ่งกว่านี้เป็นไหน ๆ เล่า นั่น เหมือนอย่างตะโกนบอกไฟ ๆ ๆ ตะโกนบอก ยักษ์ผี บอกอยู่งั้น ว่าเป็นมิตรเป็นสหายที่ไหน ให้กิเลสหลอกเฉย ๆ เราสงสัยที่ตรงไหน

เกิดในอัตภาพนี้เป็นยังไง ที่ได้เคยสัมผัสสัมพันธ์มากับสิ่งต่าง ๆ ด้วยอัตภาพด้วยขันธ์อันนี้เป็นยังไง ได้รับความวิเศษวิโสอะไรบ้าง ความคิดความปรุงก็ปรุงมาพอ ความเห็นก็เห็นมาพอ ได้ยินมาพอ สัมผัสสัมพันธ์มาพอ มีอะไร ใครได้ของวิเศษวิโสมาอวดกันบ้าง มันก็เท่าเดิม ไม่ว่าท่านว่าเราเหมือนกันหมด

เอาธรรมออกมาซิ ให้จิตได้สัมผัสธรรมดูซิ จะได้ประกาศกังวานขึ้นในหัวใจตัวเอง แม้ไม่ได้ประกาศให้ใครทราบก็ตาม จะประกาศกังวานขึ้นที่หัวใจของตนเอง อิ่มพอ ๆ โดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงอิ่มเต็มที่ พอหมดทุกสิ่งทุกอย่าง อนาลโย หมดเรื่องอาลัยตายอยากกับแดนแห่งป่าช้า แดนแห่งสมมุติทั้งสามนี้คือแดนแห่งป่าช้านั่นแหละ เกิดตาย ๆ อยู่ที่นี่ พ้นจากนี้แล้ว ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส หมดเรื่องเสียทีเถอะเรื่องเกิด ๆ ตาย ๆ นี่ ทุกข์ไม่มีละ ท่านว่าอย่างนั้น

นี่พูดถึงเรื่องธรรมมีอยู่และความสัมผัสสัมพันธ์ธรรม เช่นเดียวกับจิตที่สัมผัสสัมพันธ์กับฝ่ายอธรรมนั่นแล เมื่อมันมีมากมันก็สัมผัสสัมพันธ์กันมาก ทุกข์ก็มากฝ่ายอธรรม ฝ่ายธรรมเมื่อมีมากก็มีความสุขมาก เย็นมาก สุขมีมากเท่าไร จนกระทั่งธรรมกับใจเป็นอันเดียวกันแล้วหมดที่จะพูด พูดอะไรไม่ถูก เพราะไม่ใช่แดนที่จะนำมาพูดกัน จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิตล้วน ๆ แล้ว ถ้าว่าสบายก็แสนสบาย จะว่าล้านสบายก็จะเป็นไรไป หากพูดติดปากกันว่าแสนสบาย ๆ ล้านสบายก็ได้ เลยความสุขความทุกข์ไปโดยประการทั้งปวงแล้ว สุขโลก ๆ ทุกข์โลก ๆ เลยไปหมด นี่การปฏิบัติ

ธรรมของพระพุทธเจ้านี้แลเป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ เป็นธรรมที่ทันสมัย เป็นเครื่องมือที่เยี่ยมที่สุดในการปราบกิเลส ไม่มีเครื่องมือใดในสามแดนโลกธาตุนี้จะเสมอเหมือนได้ ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจที่กิเลสผลิตขึ้นมา ทั้งตัวของมันเองเอาแหลกได้ด้วยอรรถด้วยธรรมเหล่านี้แหละ สติธรรม ปัญญาธรรม สำคัญมาก พละ ๕ ท่านกล่าวไว้แล้ว ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นั่นเกี่ยวโยงกัน

เฉพาะศรัทธาเชื่ออย่างธรรมดาก็มี ศรัทธาที่เชื่อในวงปฏิบัตินี้มีรสชาติมากนะ เพราะเป็นรสประจักษ์ วิริยะก็เหมือนกัน วิริยะของความเพียรแท้เป็นยังไง วิริยะในวงปฏิบัติเป็นยังไง ความเพียรทั่ว ๆ ไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง สติของในวงปฏิบัติเป็นยังไง และวงปฏิบัติเป็นขั้น ๆ แห่งธรรมทั้งหลายเป็นยังไงไปอีก ปัญญาก็เหมือนกัน สมาธิก็เหมือนกัน สมาธิเป็นขั้น ๆ โดยลำดับเห็นประจักษ์เจ้าของ ๆ

ธรรมเหล่านี้บรรจุอยู่ที่ใจนี่หมด เปิดออกมาก็จะได้เห็นถ้าเปิดด้วยภาคปฏิบัติ ถ้าไม่เปิดด้วยภาคปฏิบัติ ไปเปิดดูแต่คัมภีร์ใบลานก็เห็นแต่ตัวหนังสือกับกระดาษเท่านั้นละ เปิดดูอ่านดูจนกระทั่งวันตายไม่สำเร็จผลไม่สำเร็จประโยชน์ กิเลสยังเต็มตัว หัวเราะด้วยซ้ำไป ถ้าเปิดด้วยวิธีภาคปฏิบัติดังท่านสอนไว้ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แล้วไม่ต้องพูด จะเปิดเผยขึ้นมาที่ใจนี่ กิเลสเต็มหัวใจเปิดเผยอยู่ในหัวใจของเรา แม้เราโง่ขนาดไหนทุกข์เรายังยอมรับว่าทุกข์ เพลินยังยอมรับว่าเพลิน

เมื่อธรรมแทรกเข้าไป ทำลายสิ่งเหล่านี้เข้าไป เป็นยังไงทำไมจะไม่รู้ รสของธรรมเป็นยังไง ความสว่างกระจ่างแจ้งของธรรมเป็นยังไง รสชาติของธรรมเป็นยังไง ทำไมจะไม่รู้ ต้องรู้ นี่ละท่านว่าปัญญา ปัญญาสุดยอดคือปัญญาอัตโนมัติ แหลมคมละเอียด ตั้งแต่ขั้นกระเทือน ปัญญาอัตโนมัติมีตั้งแต่ขั้นผาดโผนไปถึงขั้นละเอียดนั้นเป็นแบบน้ำซับน้ำซึม เหมือนกระดาษซึมนั่นแหละ

กิเลสละเอียดลงไป สติปัญญาอันเป็นเครื่องมือปราบกิเลสก็ละเอียดตามกันไป ๆ ถ้ากิเลสไม่หมดจากหัวใจเสียเมื่อไรแล้ว ปัญญาประเภทนี้จะไม่หยุดทำงาน จะลุกลามไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดเชื้อแล้วไฟก็ดับเอง นี่ตปธรรม เมื่อเชื้อแห่งวัฏจักรหมดไปแล้วก็ดับเอง ไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว ทรงแต่วิมุตติ เสวยวิมุตติ ฟังซิ ท่านพูดออกมาว่าเสวย ๆ

เพราะโลกมีสมมุติท่านก็ว่าเสวยวิมุตติ ท่านไม่ได้เสวยเหมือนเราเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนานี่นะ ท่านยกออกมาเทียบกับสมมุติว่าเป็นคู่เคียงกันเท่านั้นเองว่าเสวยวิมุตติ ความจริงท่านไม่ได้เสวย เอาอะไรมาเสวย ถ้าเสวยแบบโลก ๆ วิมุตตินั้นก็เป็นเวทนา ๓ ไปละซิ นี่ท่านไม่มี ท่านว่าเสวยวิมุตติสุขท่านก็ว่าอย่างนั้น เข้าให้ถึงก็รู้เอง เสวยหรือไม่เสวยก็รู้เอง

ให้พากันตั้งอกตั้งใจนะ ผมนี้เหนื่อยลงทุกวัน ๆ ดังที่เห็นนี่น่ะ ผมไม่ได้แน่นอนนะ วันหนึ่งเป็นอย่าง ๆ นี้ใจของผมเป็นยังไงพวกท่านทั้งหลายก็ทราบแล้ว มันพอไปไม่อยู่ต้องไป พอทำต้องทำ แต่นี้เมื่อมันไม่ควรไปได้ไม่ควรทำได้ มันก็ไปก็ทำไม่ได้ ฝืนเหตุฝืนผลฝืนไปไม่ได้ ฝืนความจริงฝืนไม่ได้ ให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าเห็นสิ่งใดสำคัญยิ่งกว่าธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้ จะปรากฏขึ้นที่ใจของเราทุก ๆ ท่านนี่แหละ ซึ่งมีการปฏิบัติอย่างเข้มงวดกวดขัน

อย่าเผลอไผลไปกับอะไร อย่าติดใจกับอะไร เพราะเป็นสิ่งที่เคยผ่านเคยรู้เคยเห็นมาแล้ว เป็นของเก่าทั้งนั้น ของเป็นเดนมาแล้วทั้งหมด แต่กิเลสมันเสกสรรปั้นยอขึ้นมาให้เราหลงเฉย ๆ ว่าเป็นของใหม่เอี่ยมเรื่อย ธรรมพอจะทำประกอบเข้าไป กิเลสเป่าพรู้ดเดียวให้เป็นของเดนไปหมด เป็นของล้าสมัยไปหมด กิเลสกลายเป็นของทันสมัยขึ้นมา นี่เพราะมันมีอำนาจมาก ทีนี้เราไม่รู้กลมายาของมันน่ะซิ

พิจารณาให้แน่ลงไปภายในจิตของเราเถอะ แล้วมันก็ทราบชัดโดยไม่ต้องสงสัย พระพุทธเจ้าปรินิพพานกี่พระองค์ ว่านานเท่าไรตามกาลนิยมสมมุตินิยมกันนั้น จะปรากฏสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ที่จิตดวงเดียวนี้แหละ ฉันใดฉันนั้นในที่นี่ได้เลย พระสาวกมีจำนวนเท่าไรก็ไม่สงสัย นี้ฉันใดนั้นฉันนั้น นั้นฉันใดนี้ฉันนั้นทีเดียว แล้วไม่พูดว่าฉันนั้นฉันใดเสียด้วยซ้ำไป ประจักษ์ทีเดียวพอเลยกับความจริงทั้งหลายอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า แต่ความจริงไม่ประเสริฐนอกจากสัจธรรมทั้งสี่ไป ความจริงอันนี้เป็นความจริงอันประเสริฐ นอกจากสัจธรรม

สัจธรรมท่านว่าทุกข์ก็เป็นความจริงอันประเสริฐ สมุทัยเป็นความจริงอันประเสริฐ คือไม่เคลื่อนไหวเป็นอย่างอื่น ต้องเป็นอย่างนั้น ทุกข์ต้องเป็นทุกข์ สมุทัยแหล่งผลิตทุกข์มันต้องผลิตของมันไม่เป็นอย่างอื่น นั่นความหมาย มรรคเครื่องปราบกิเลสต้องปราบไม่เป็นอย่างอื่น นั่นความหมายว่าอย่างนั้นนะ คือไม่เคลื่อนไหวไปกับสิ่งใด ๆ ทั้งนั้น นิโรธความดับทุกข์เพราะอำนาจของมรรคมีกำลัง ต้องดับโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ดับ ๆ โดยลำดับลำดา นี่ท่านเรียกว่าสัจธรรม อันที่ว่าจริงอันประเสริฐ อันนั้นนอกจากสัจธรรมอันนี้ไป โดยอาศัยมรรคสัจเป็นผู้หนุนเป็นผู้ตัดสิ่งที่ไม่ประเสริฐทั้งหลาย สิ่งที่เลวทรามต่ำช้าทั้งหลายออก จนกลายเป็นธรรมทั้งดวงขึ้นมาที่จิตทั้งดวงนั้น

เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าพอสมควร เทศน์ไปเทศน์มาก็รู้สึกเหนื่อย


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก