จิตของสัตว์โลกที่ถูกวัฏจักรครอบงำให้กลายเป็นวัฏจิต เป็นจิตที่หมุนเวียน นี่ไม่มีวิชาใดในสามแดนโลกธาตุนี้จะแก้จะถอดจะถอนจะชะล้างมันได้ นอกจากวิชาธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นคำว่าธรรมกับโลกจึงไม่เคยสาบสูญไปจากโลกสมมุติอันนี้ เพราะเป็นเครื่องแก้กัน เช่นเดียวกับร้อนกับหนาว มืดกับแจ้ง เป็นเครื่องแก้กันอย่างนี้
ธรรมท่านว่ามีอยู่ตลอดอนันตกาล แต่ก็อาศัยผู้ที่จะคิดค้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ เช่น นำมาถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านี้แก่สัตว์โลก โดยอุบายวิธีการแนะนำสั่งสอน และการปฏิบัติเป็นยุค ๆ คราว ๆ ไป ที่ว่าพระพุทธเจ้ามาอุบัติแต่ละพระองค์ ๆ ก็คือทรงนำธรรมะหรือรื้อฟื้นธรรมะที่เป็นของมีอยู่นี้ ขึ้นมาทำประโยชน์แก่โลกนั้นแล
เราทั้งหลายได้มาบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่เลิศประเสริฐโดยหลักธรรมชาติ และนับว่าเป็นบุญวาสนาบารมีของเราอย่างยิ่ง ที่จะได้พยายามตักตวงเอาคุณงามความดี มาแก้สิ่งลามกทั้งหลายออกจากใจของตน อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะโอกาสก็อำนวยเต็มที่แล้วในนักบวชของเรา เฉพาะเมืองไทยนี้นักบวชเป็นผู้มีโอกาส มีอิสระมากยิ่งกว่าใคร ๆ เนื่องจากทางบ้านเมืองก็ให้โอกาส ทั้งความเคารพนับถือ ไม่กล้ามาแตะต้องอาจเอื้อมพระเรากลัวจะเป็นบาปเป็นกรรม เพราะผ้ากาสาวพัสตร์หรือผ้าเหลืองนั้น เป็นเครื่องหมายแห่งท่านผู้วิเศษคือพระพุทธเจ้า ปกคลุมหุ้มห่อนักบวชคือพระเราอยู่แล้ว
หากเราจะสั่งสมทิฐิมานะขึ้นในความเป็นพระ โดยสำคัญหรือโดยอ้างตนว่าเป็นพระ เพื่อจะสั่งสมกิเลสให้มากมูนยิ่งกว่าฆราวาส ก็ได้อย่างเต็มหัวใจ ไม่มีใครเกินพระ นี่พูดถึงการไม่คิดในแง่เดียวว่า พระนี้เป็นเพศแห่งการชำระสะสาง เป็นเพศเสียสละ แต่กลับกลายเป็นเพศสั่งสมกิเลสตัณหาอาสวะขึ้นมาภายในจิตใจ โดยอาศัยโอกาสอำนวยก็ได้ เพราะความสำคัญนั่นน่ะ อาศัยโอกาส อาศัยเพศอำนวยขึ้นมาให้ทำความชั่วช้าลามกขึ้นภายในตัวได้โดยไม่ต้องสงสัย จึงเป็นไปได้ทั้งดีทั้งชั่ว ไม่ใช่บวชแล้วจะไม่ทำความชั่ว กิเลสไม่เคยขึ้นกับว่าการบวชหรือไม่บวช เพราะกิเลสไม่ได้บวชกับใคร ไม่มีใครเป็นอุปัชฌาย์กิเลสได้เลย นอกจากธรรมซึ่งเป็นเครื่องปราบกันเท่านั้น
สมัยปัจจุบันนี้ทั้ง ๆ ที่ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าก็ประกาศกังวานอยู่อย่างสด ๆ ร้อน ๆ เกี่ยวกับเรื่องมรรคผลนิพพาน บุญ บาป นรก สวรรค์ แต่เพราะธรรมเหล่านี้อยู่ในท่ามกลางแห่งข้าศึก คือฝ่ายต่ำ ได้แก่กิเลสซึ่งครอบงำอยู่ทุกหัวใจไม่เลือกหน้า มันมีอำนาจสามารถที่จะผลักดันความรู้ความเห็นที่มันบรรจุไว้อย่างเต็มที่แล้วนั้น ออกมาทางกาย ทางวาจา ความประพฤติต่าง ๆ ซึ่งเป็นการลบล้างศาสนธรรมสด ๆ ร้อน ๆ ของพระพุทธเจ้าได้โดยไม่ต้องสงสัยเหมือนกัน นี่ละเวลานี้กำลังเป็น
บาปก็ไม่มีแล้ว เพราะธรรมชาติที่ปิดหัวใจของสัตว์โลกนั้น มันปิดให้มืดให้ดำให้มิดไปหมด ไม่ให้เห็นบาป ไม่ให้รู้บาป ทั้ง ๆ ที่ใจก็รู้ ๆ แต่ไม่ให้รู้ว่าเป็นบาป แน่ะ ให้รู้และให้อยากทำในสิ่งที่ธรรมชาตินี้ต้องการเท่านั้น จึงไม่เชื่อว่าบาปมี ไม่เชื่อว่าบุญมี ไม่เชื่อว่านรกมี สวรรค์มี พรหมโลก นิพพานมี ทั้ง ๆ ที่ธรรมเหล่านี้สิ่งเหล่านี้มีประจำโลกประจำธรรมมาเป็นเวลานาน จนไม่มีใครสามารถอาจนับได้ สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับโลก ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มีโลกก็ไม่ควรจะมี ทุกข์ก็ไม่ควรจะมีในหัวใจสัตว์
นี่ทุกสิ่งทุกอย่างสัตว์แบกหามอยู่ตลอดเวลา ความทุกข์จะเป็นหัวใจใดร่างกายใดที่ไม่มีความทุกข์มีเหรอ ร่างกายเป็นภาชนะของทุกข์ ใจก็เป็นภาชนะของทุกข์ เพราะเชื้อของทุกข์ฝังอยู่ที่ใจ ต้นลำของมันเกิดอยู่ที่ใจนั้น จะไม่ให้มันผลิดอกออกผลมาอย่างไร ต้องผลิดอกออกผลขึ้นมาให้เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน นี่มีอยู่ที่ใจและกายของสัตว์ ถ้านรกไม่มี หรือบาปไม่มี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ควรจะมีในสัตว์ แต่สัตว์ก็แบกหามกันอยู่ แล้วก็ถูกปิดกั้นไม่ให้เชื่อในบาปในบุญ ในนรก สวรรค์ไปเสีย นี่จึงชื่อว่ามันละเอียดขนาดนั้นนะ ไม่ให้สัตว์รู้เลย
ถ้าต่างคนต่างรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโทษ ใครจะมานอนจมโทษอยู่เล่า นอนอยู่ในถ้ำเสือที่มันกำลังจะงับคออยู่แล้ว ใครจะไปกล้าร้องเพลงเพลินอยู่ในถ้ำเสือเช่นนั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ แต่เท่าที่ได้เพลิดเพลินอยู่นั้น ก็เพราะไม่ทราบว่าถ้ำนั้นมีเสือและถ้ำนั้นเป็นภัย จึงต้องได้รับภัยเรื่อย ๆ มา เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจนั่นเอง
ถ้าลงทราบว่ากิเลสเป็นภัยในหัวใจ ด้วยอรรถด้วยธรรมมีสติธรรม ปัญญาธรรม เป็นต้น ได้สอดส่องมองเห็นไปโดยลำดับลำดา ตั้งแต่ลูกเต้าหลานเหลนของเสือร้าย ได้แก่กิเลสประเภทต่าง ๆ จนกระทั่งถึงเสือโคร่งใหญ่หรือยักษ์ใหญ่ กลืนสัตว์ทั้งสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มีวันอิ่มพอ ตายแล้วกลืน ๆ เท่านั้น หากได้รู้อย่างนี้แล้ว ใครจะไม่ตะเกียกตะกายหนี จากแดนแห่งความเป็นอาหารของสัตว์ประเภทนี้อยู่ตลอดเวลาได้ ต้องตะเกียกตะกายสุดเหวี่ยง แขนขาดขาดไป ถ้าขายังมีก็จะต้องตะเกียกตะกาย จนกระทั่งไปไม่รอดจริง ๆ หมดความหมายจริง ๆ แล้วถึงจะหายใจปลา ให้มันงับให้มันกลืนไป
ผู้ปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นที่ไม่รู้เรื่องกิเลสว่าเป็นภัย ย่อมจะเพลินในกิเลส หลงในกิเลส ติดในกิเลส เพราะฉะนั้นความรักจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความหลงได้เป็นอย่างดี ความชัง ความเกลียด ความโกรธ เป็นบ่อเกิดแห่งความหลงได้เป็นอย่างดี อย่าว่าแต่ความรักทำให้ติด สิ่งที่ลึกลับออกจากความรักก็เป็นเหตุให้ติดมันถึงติดได้
โลกเราถ้ารู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยใครจะมาฝืนรัก ฝืนโกรธ ฝืนเกลียด มันไม่รู้เพราะไม่มีสิ่งที่เหนือกว่านี้ ไม่มีสิ่งที่ควรให้รู้ให้เห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นภัย จึงต้องยอมจมกันอยู่อย่างนี้ทั้งท่านทั้งเรา สัตว์ทุกประเภทไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสามารถจะเข้าใจได้เลย จึงไม่เสาะแสวงหาทางออก ปล่อยให้เป็นอาหารของมันอยู่เป็นประจำ ๆ ทั้งสามแดนโลกธาตุ ไม่มีจิตดวงใดสัตว์ตัวใดที่จะพ้นจากความเป็นอาหารของธรรมชาตินี้ ให้กลืนอยู่ตลอดเวลาได้
เราจะเห็นได้เวลาปฏิบัติธรรม ในขั้นเริ่มแรกเกิดความเชื่อความเลื่อมใส นี่ก็คืออุปนิสัยที่ฝังอยู่ภายในนั้นแหละกับตัวพิษตัวภัย อยู่ในใจดวงเดียวแต่เป็นธรรม อันนั้นเป็นข้าศึก อันนี้เป็นคุณแฝงอยู่ในใจดวงเดียว เช่น สัตว์ผู้ทำดีได้ไปเกิดในสถานที่ดีคติที่เหมาะสมเป็นกาลเป็นเวลาเป็นภพเป็นชาติไป เหล่านั้นล้วนแล้วแต่คุณธรรมที่เป็นฝ่ายดีบันดลบันดาลพาให้เสาะให้แสวงพาให้บำเพ็ญ ก็ได้อาศัยอันนั้นแหละไป เพราะตอนนั้นยังไม่มีกำลังมาก เมื่อได้บำเพ็ญให้มีกำลังมากเข้าไป เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา เป็นวิธีการหรือเป็นงานที่จะบุกเบิกเพิกถอนทุกสิ่งทุกอย่างทั้งโทษทั้งคุณ ให้เห็นประจักษ์ชัดเจนโดยไม่ต้องสงสัย
เมื่อเริ่มบำเพ็ญก็ตะเกียกตะกาย คอยที่จะล้มกับมันอยู่จนได้ ทั้ง ๆ ที่เราก็ทราบจากการได้ยินได้ฟังว่า ความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอ ความท้อแท้ เหล่านี้เป็นเรื่องของฝ่ายต่ำที่ปักเสียบขวากหนามไว้โดยไม่ต้องสงสัย เราก็ทราบแต่มันไม่ถึงใจ เพราะได้ยินแต่คำบอกเล่าจากครูจากอาจารย์จากตำรับตำราเฉย ๆ ยังไม่เห็นด้วยตาของตัวเองก็ยังไม่ฝังใจเชื่อ ต่อเมื่อได้ปฏิบัติอรรถธรรม เริ่มแต่สมถธรรมได้ปรากฏขึ้นภายในใจ ใจจะเปลี่ยนสภาพความรู้สึกขึ้นมาแปลก ๆ ต่าง ๆ จากความเป็นเดิมของตน เข้าสู่ความสนใจ เข้าสู่ความเชื่อในสมถธรรมหรือในธรรมทั้งหลายไปโดยลำดับ
คำว่าสมถธรรมก็มีหลายอาการ มีหลายขั้นหลายภูมิ สมถธรรมที่มีความสงบประหนึ่งราวกับว่าขาดสะบั้นไปหมดจากอารมณ์ทั้งหลายที่เคยเกี่ยวข้อง ก็มีในบางกาลบางเวลา นี่ก็พอที่จะถือเอาเป็นความอัศจรรย์ ความฝังใจในอจลศรัทธา เชื่อต่อมรรคต่อผลได้โดยไม่ต้องสงสัยขั้นหนึ่งเหมือนกัน นี่ก็เป็นกำลังเพิ่มขึ้นมา จากนั้นก็เห็นคุณค่าอจลศรัทธาฝังใจในผลที่ตนได้เคยปรากฏแล้ว แม้วันหลังวาระต่อไปจิตจะไม่มีความสงบอย่างนั้นก็ตาม แต่ความเชื่อที่เคยเป็นแล้วอย่างนั้นไม่ยอมถอน ฝังลึกลงไปเรื่อย ๆ เชื่อแน่แล้ว ความเพียรความตะเกียกตะกายก็มีกำลังขึ้นมา
นี่ละที่ว่ามีธรรมเครื่องส่อง มีธรรมเป็นเครื่องวัดเครื่องตวง เครื่องเทียบเคียงกัน หรือเป็นคู่แข่งกันกับฝ่ายอธรรมที่เคยมีอำนาจครอบหัวใจเรามานาน ให้เกิดแต่ความฟุ้งซ่านรำคาญ กอบโกยเอาความทุกข์ขึ้นมาเผาลนจิตใจไม่ว่าหน้าร้อนหน้าหนาว ฤดูกาลใด ๆ มีแต่เป็นฟืนเป็นไฟอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีธรรมเป็นเครื่องเทียบเคียง เป็นเครื่องทดสอบ เป็นคู่แข่งกัน แทรกกันเข้าไปแล้ว ย่อมมีทางเลือกคนเรา
อ๋อ แต่ก่อนจิตเคยเป็นอย่างนั้น ๆ เป็นทุกข์อย่างนั้น ๆ เห็นโทษของมันในขณะเดียวกัน บัดนี้จิตได้ปรากฏความสงบเย็นใจขึ้นมา และเย็นใจขึ้นมา เป็นคุณค่าที่ให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส ความอุตส่าห์พยายามมาพร้อม ๆ กัน นี่ถ้าเมื่อมีสองแล้วย่อมมีทางเลือกคนเรา ของสิ่งเดียวไม่ทราบจะเลือกอะไร ก็มันมีอันเดียว มองในหัวใจมีแต่ไฟอย่างเดียว ไม่เคยปรากฏว่าจะมีน้ำมีความเย็นเข้าเคลือบแฝงเป็นคู่แข่งบ้างเลย แต่พอได้ปรากฏสมถธรรมเป็นน้ำที่เย็นฉ่ำภายในจิตใจแล้ว ย่อมมีทางคิดคนเรา
เอ้า อุตส่าห์พยายาม นี่จิตค่อยเคลื่อนไหวตัวเองมาโดยลำดับอย่างนี้ จากพื้น ๆ เป็นจิตที่มีความสงบเย็นใจ จิตมีสมาธิย่อมมีความเพียรผิดกันกับจิตที่ไม่เคยมีสมาธิมีความสงบเลยอยู่มากมาย หากเป็นไปในจิตดวงนั้นเอง แล้วขยับไปสู่ด้านปัญญา คำว่าปัญญานี้ทุก ๆ ท่านก็จะเข้าใจแล้ว เพราะ ๑) ในตำรับตำรามีเต็มไปหมดอยู่แล้ว ๒) ก็เคยได้ยินได้ฟังได้อธิบายให้ฟังแล้ว ปัญญาคืออะไร คือความเฉลียวฉลาด ความคิดแยบคายไตร่ตรองในเหตุในผล ในสิ่งดีชั่วที่สัมผัสสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา หรืออารมณ์อดีต อนาคตอะไรก็แล้วแต่เถอะ ถ้าเคยเป็นกิเลสก็เป็นปัญญาธรรมได้ เป็นมรรคได้เหมือนกัน ในสิ่งเหล่านั้นมันพลิกกลับตัวเอง
เริ่มตั้งแต่พิจารณาอสุภะอสุภังในสกลกายของเราและของคนอื่นสัตว์อื่น ดังท่านให้ไปเยี่ยมป่าช้า ล้วนแล้วแต่ไปพิจารณากองอสุภะอสุภัง กอง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ที่โลกทั้งหลายเสกสรรปั้นยอเพราะอำนาจของกิเลส ว่าเป็นของดีวิเศษวิโสมีคุณค่ามาก แน่นหนามั่นคง จีรังถาวร มีความสุขความเจริญ เป็นหลักเป็นเกณฑ์ หาวันสิ้นซากวายชนม์ไปไม่ได้ ให้แก้สิ่งเหล่านี้ด้วยการพินิจพิจารณาในอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ลบล้างความจอมปลอมทั้งหลายเหล่านี้ออก
เบื้องต้นเห็นภายนอกก่อนก็มี ดังท่านสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ก็คือสอนให้พิจารณา พอเห็นอาการของสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างไรแล้ว จะได้เทียบเข้ามาสู่ร่างกายของตนทุก ๆ อาการว่าเป็นไปได้อย่างนั้น เกิดความมั่นใจขึ้นมา ทีนี้ได้ถือเอาสกลกายของตนนี้เป็นแดนป่าช้าภายในตัวเอง และแยกแยะไปตรงไหนกับส่วนภายนอกภายในได้กันทุกสัดทุกส่วน ถ้าเป็นอสุภะอสุภังก็เหมือนกัน ถ้าเป็นไตรลักษณ์คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เหมือนกัน นี่คือปัญญาเริ่มออกก้าวเดิน
ส่วนมากจะก้าวเดินไปแถวรูปกายเป็นสำคัญ เพราะกายนี้เป็นประเภทที่หนักหน่วงมาก ถ้าพูดถึงเรื่องติดก็ติดมาก หนักมาก รักก็กระเทือน ชังก็กระเทือน เกลียด โกรธ กระเทือน เพราะเป็นวัตถุหยาบ อารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในทางดังกล่าวนี้จึงกระเทือนมาก มีแต่อารมณ์อย่างรุนแรง แต่เมื่อได้พิจารณาเห็นตามความจริงของมันโดยลำดับซ้ำ ๆ ซาก ๆ ดังเคยพูดในเทปหรือในหนังสือ และเคยเทศน์ให้ฟังไม่รู้กี่พันกี่หมื่นครั้งแล้ว จิตย่อมจะเข้าใจในความจริง เพราะความจริงมีอยู่โดยแท้ เป็นแต่เพียงว่าความจอมปลอมที่เสกสรรปั้นยอจากกิเลสนี้มันทับมันถมหนาแน่น เกินกว่าจะพิจารณาได้เพียงครั้งหนึ่งครั้งเดียว จึงต้องถากแล้วถากเล่า ชำระแล้วชำระเล่า ขุดแล้วขุดเล่า จึงจะถึงความจริงขึ้นมาได้
เมื่อพิจารณาร่างกายส่วนต่าง ๆ ดังที่กล่าวนี้ จะเป็นภายนอกก็ตามภายในก็ตาม ประจักษ์ใจเสียเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จะเป็นเช่นเดียวกับจิตที่ไม่เคยได้รับความสงบ แต่มาสงบให้เห็นประจักษ์ และสงบอย่างแนบแน่นด้วย จนเป็นเหตุให้ฝังใจ เกิดความอัศจรรย์ ความรู้ทางด้านปัญญานี้ก็เหมือนกันเช่นนั้น เพียงได้ประจักษ์ครั้งหนึ่งครั้งเดียวเท่านั้นจะฝังรากลึกลงไป หยั่งลงเป็นอจลศรัทธาในทางปัญญาไม่ลดละท้อถอย
คราวนี้พิจารณาได้อุบายอย่างนี้ขึ้นมา คราวต่อไปพิจารณาได้อุบายอย่างนั้นขึ้นมา ส่วนที่จะให้เป็นแบบเดียวกันจริง ๆ นั้นไม่ได้แน่นอนนัก นักปฏิบัติจึงไม่ควรที่จะคาดจะหมายในผลที่เคยเป็นมาแล้วด้วยการพิจารณาโดยอุบายใดก็ตาม ปรากฏให้เป็นปัญญาขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องร่างกายอสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ก็ตาม ส่วนมากไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนเก่า จะมีการยักย้ายผันแปรไปเรื่อย ๆ แต่อยู่ในวงอสุภะอสุภัง วง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ด้วยกัน แม้ต่างก็ต่างโดยอาการ หลักใหญ่เป็นอันเดียวกัน
จะเป็นอย่างไรก็ตาม จิตย่อมจะเชื่อไปตามนั้น เมื่อถึงขั้นที่ควรเชื่อถึงขั้นที่ควรจะฝังลงสู่ความจริงแล้ว จิตย่อมฝังลงทันที ๆ เพราะปัญญาพาให้ฝัง ปัญญาพาให้รู้ ปัญญาพาให้เข้าใจความจริงทั้งหลาย จิตเป็นผู้ก้าวเดินตามปัญญาเท่านั้น เพราะจิตเป็นผู้ต้องหาถูกจำจองอยู่ด้วยกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ปัญญาเป็นผู้ชักจูง ปัญญาเป็นผู้รื้อถอนสิ่งเหล่านี้ออกให้จิตเบาภาระลงโดยลำดับ ปัญญารู้แจ้งชัดเจนไปโดยลำดับลำดา
นั่นแหละที่นี่ปัญญาก็เป็นอจลศรัทธาของปัญญา ทีนี้ไม่ว่างงานแหละ ถ้าลงได้จับไตรลักษณ์ขึ้นพิจารณา จะเป็นไตรลักษณ์ใดก็ตาม จับอสุภะอสุภังขึ้นพิจารณาจนประจักษ์ใจได้เพียงครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งต่อไปจะกระจายตัวออกไป ขยายออกไป กว้างออกไปเรื่อย ๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ คำว่า ทุกฺขํ ก็มีความละเอียดเข้าไป อนิจฺจํ อนตฺตา ละเอียดเข้าไปตามลำดับลำดาของสภาวธรรมนั้น ๆ และความรู้ความเห็นของสติปัญญาที่หยั่งทราบตามกำลังของตนจะเปลี่ยนสภาพไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับสิ่งเหล่านั้น จิตก็เปลี่ยนสภาพอาการของตนเข้าสู่ความละเอียดเรื่อย ๆ เข้าไป
นี่ปัญญาที่กล่าวนี้ เบื้องต้นเราต้องอาศัยอุบายวิธีการจากครูจากอาจารย์ ที่คอยแนะนำพร่ำสอนมาเป็นภาคปฏิบัติ คือนำไปปฏิบัติตัวเองจนปรากฏผลขึ้นมา เมื่อได้ปรากฏผลขึ้นมาดังที่กล่าวนี้แล้ว นั่นละที่นี่ปัญญาจะสร้างตัวขึ้นมาเอง จะหมุนตัวอยู่ภายในวงสัจธรรมนี้ไม่ลดละท้อถอย
หากเราจะพิจารณาย้อนหลังไปถึงความท้อแท้อ่อนแอ ความตำหนิตนว่าอำนาจวาสนาน้อย ว่าตนเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เหล่านี้จะหมดไป ๆ ความขี้เกียจอ่อนแอนี้จะหมดไปก่อนเพื่อน ความท้อแท้เหลวไหลต่าง ๆ จะหมดไปโดยลำดับลำดา คำว่ามีอำนาจวาสนาน้อยโง่เขลาเบาปัญญานี้ก็ค่อยหมดไปเหมือน ๆ กัน จะมีแต่ความมุ่งมั่นขันแข็งในการที่จะทำจิตนี้ให้หลุดพ้นจากทุกข์ หรือให้รู้ตามความจริงในสภาวธรรมทั้งหลายดังที่เคยรู้เคยเห็นมาแล้วเป็นลำดับ จะให้รู้ละเอียดกว้างขวางลึกซึ้งเข้าไปยิ่งกว่านี้ จนกระทั่งถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความขยันหมั่นเพียรของจิตนั้นเอง
นี่จิตเป็นอัตโนมัติของความเพียร เป็นอัตโนมัติของสติของปัญญา ของความอดความทน กลายเป็นอัตโนมัติไปตาม ๆ กันหมด สิ่งที่กล่าวมานั้นเมื่อย้อนไปพิจารณาแล้วจึงได้ทราบชัดว่าเป็นกิเลสทั้งมวล ความกลัวเป็นกลัวตายเหล่านี้ไม่ใช่อะไรปักเสียบขวากหนามเอาไว้ มีแต่กิเลสทั้งนั้น สลับซับซ้อนย้อนหน้าย้อนหลัง กระดิกพลิกแพลงไปตรงไหนถูกแต่ขวากแต่หนามของกิเลส ในระยะที่ควรจะถูก ในระยะที่ออกจากวงล้อมของมันไม่ได้ เมื่อจิตได้ก้าวเข้ามาเช่นนี้แล้ว เราพิจารณาย้อนหลังจะเห็นได้ชัดเจนดังที่กล่าวมานี้ และความมุ่งมั่นที่จะทำจิตให้ถึงความหลุดพ้นนั้นมีกำลังมาก
ความมุ่งมั่นนี้เป็นแม่เหล็กอันสำคัญทีเดียว เนื่องมาจากความได้รู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรมส่วนต่าง ๆ เป็นเชื้อของจิตให้เกิดความเชื่อ ให้เกิดความฝังใจ ความมุ่งมั่นซึ่งเคยมีอยู่แล้วก็เพิ่มกำลังขึ้น สุดท้ายความมุ่งมั่นนี้จะพุ่ง ๆ ดึงไปหมด ความกลัวเป็นกลัวตายไม่มีเหลือ มีแต่เป็นก็เป็นตายก็ตายไม่สนใจ ขอให้รู้ให้เห็นสิ่งที่เป็นคุณและที่เป็นภัยทั้งหมดนี้ไปในขณะเดียวกัน ๆ จนกระทั่งถึงแดนสว่างโล่งโถงโปร่งไปหมด ที่เรียกว่า อวกาศของธรรม อวกาศของจิต มีเท่านั้น นี่เรียกว่าเป็นปัญญาอัตโนมัติ ปัญญานี้เป็นจิตตภาวนา สร้างขึ้นภายในตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยอะไรในขณะที่ผลิตที่คิดที่พินิจพิจารณา วิธีการต่อสู้กับข้าศึกคือกิเลสประเภทต่าง ๆ นั้น จะผลิตตัวขึ้นมาเองให้ทันกับเหตุการณ์นั้น ๆ ช้าบ้างเร็วบ้างมีได้เป็นได้
และมีครูบาอาจารย์คอยแนะ เช่น เวลาติดปัญหาอย่างนี้ เป็นต้น ดังสาวกท่านติดปัญหาจะไปทูลถามพระพุทธเจ้า มีพระอัญญตรภิกขุเป็นตัวอย่าง พอเดินไปใต้ถุนพระคันธกุฎีก็พอดีฝนตก ขึ้นทูลถามปัญหายังไม่ได้ เลยยืนอยู่ข้างล่าง ตอนนั้นจิตของท่านสติปัญญาของท่านพิจารณาธรรมตลอดเวลา เข้าสู่ภูมิจิตภูมิธรรมอันละเอียด เป็นความเพียรอัตโนมัติอยู่แล้ว เมื่อได้เห็นฝนตก น้ำฝนหยดย้อยลงมาจากชายคามากระทบน้ำข้างล่าง อาศัยความกระทบกันตั้งเป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาแล้วดับไป ตั้งขึ้นมาดับไป
ท่านก็เทียบถึงเรื่องความปรุงความแต่งภายในจิตที่เรียกว่าสังขารจิต นี่มันเกิดขึ้นจากจิต สังขาร ความคิดความปรุงอันนี้เกิดขึ้นดับ คิดดีก็ดับ คิดชั่วก็ดับ ปรุงเรื่องอะไรมีแต่เกิดกับดับ เหมือนกับน้ำตกลงมามากน้อยมีแต่เกิดกับดับ ๆ เพียงเท่านั้น ๆ ท่านย้อนมาพิจารณานี้ได้ความ บรรลุธรรมเสียในขณะนั้น โดยอาศัยน้ำเป็นต้นเหตุ เลยไม่ขึ้นไปทูลถามพระพุทธเจ้า พอฝนหยุดเท่านั้นก็กลับไปกุฎีของตน นั่นเพราะอะไร เพราะเมื่อเข้าถึงที่ถึงฐานแล้ว สนฺทิฏฺฐิโก นี้ประกาศกังวานในตัวเอง ไปทูลถามพระพุทธเจ้าทำไม เพราะความจริงเป็นอันเดียวกัน
นี่ก็เหมือนกัน เมื่อถึงวาระที่จะเป็นสติปัญญาขึ้นมาแล้วต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อข้องใจ อยู่ใกล้ครูใกล้อาจารย์อยู่ใกล้พระพุทธเจ้า ใครจะอยากชักช้าให้เสียเวล่ำเวลา ก็ต้องพุ่งตัวเข้าถึงพระองค์ท่าน หรือพุ่งตัวเข้าถึงครูอาจารย์ให้ท่านแนะนำ เพราะท่านรู้ก่อนเห็นก่อนมาทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พอเล่าเรื่องความเป็นของตนถวายท่าน ท่านจะกระจายออกให้ฟังทันทีเลย แล้วก็ผ่านไปได้โดยไม่ต้องเสียเวล่ำเวลาเหมือนเราต่อสู้โดยลำพังเราเองนั่นเลย นี่สิ่งสำคัญในการพิจารณา เราอาศัยท่านเป็นบางกาลบางเวลาที่เกิดข้อข้องใจในระหว่างกิเลสกับธรรมที่กำลังต่อสู้กัน ยังหาทางแยกทางแยะหาทางแพ้ทางชนะกันไม่ได้ เมื่ออาศัยครูอาจารย์คอยแนะ หลังจากเราได้ถวายธรรมะท่านแล้วจะเข้าใจทันที จากนั้นเราก็ตะลุมบอนของเราเอง หากเป็นไปเอง แก้ปลดเปลื้องกันไปในตัว
เรื่องปัญญาขั้นนี้พูดไม่ได้ว่ากว้างแคบขนาดไหน ละเอียดแหลมคมเพียงใด พูดไม่ถูก เอากิเลสเป็นประมาณ กิเลสละเอียดแค่ไหนสติปัญญาก็ต้องตาม ๆ กันไปโดยลำดับลำดา ผลสุดท้ายสติปัญญาต้องเหนือกว่า ไม่เช่นนั้นวัฏจิตวัฏจักร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จะพังทลายลงไม่ได้ อันนี้ต้องเหนือ นี่เรียกว่าปัญญาอัตโนมัติ ในครั้งพุทธกาลท่านว่ามหาสติมหาปัญญา
เหมือนกับว่าสุดเอื้อมหมดหวังเวลานี้ชาวพุทธเรา พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ๒,๕๐๐ ปีแล้ว โน่นให้กิเลสมันหลอกไป ๒,๕๐๐ ปีโน้น แต่กิเลสฝังจมอยู่ในใจนี้มากี่ปีกี่เดือนกี่กัปกี่กัลป์ ทำไมไม่เห็นครึไม่เห็นล้าสมัย ไม่เห็นเป็นกาลเป็นนานอะไร นี่เสียเปรียบมันตรงนี้เอง มันหลอกไปเมืองอินเดียโน้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้หลายปีมาแล้วโน้น ให้กิเลสมันอยู่นี้ กี่ปีกี่เดือนมันไม่ให้คิด เราเสียโง่มันโดยลำดับลำดา
ธรรมะที่พระองค์ตรัสไว้นั้นตรัสไว้เพื่ออะไร แน่ะ ก็เพื่อชำระสะสาง เพื่อฆ่ากิเลส แล้วกิเลสอยู่ตรงไหน กิเลสไปอยู่อินเดียนั้นเหรอ กิเลสตายพร้อมกันกับพระพุทธเจ้านิพพานนั้นเหรอ กิเลสตายตั้งแต่สมัยโน้นเหรอ นั่น เดี๋ยวนี้มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจ ธรรมะของพระพุทธเจ้าออกจากไหนถ้าไม่ออกจากใจ นั่น ทุกข์อยู่ตรงไหน สมุทัยอยู่ตรงไหน มรรค นิโรธ จะไปอยู่อินเดียได้ยังไง ถ้าไม่ใช่ให้กิเลสมันใส่ยาพิษให้เป็นบ้าไปเมืองอินเดียอินโด เราก็ไม่ควรจะเป็นบ้าไปโน้น ถ้าไม่ถูกกิเลสมันฝังยาพิษให้เป็นบ้า ฉีดยาบ้าเข้าไปเสียให้เป็นบ้ากันหมด
ผลสุดท้ายก็สุดเอื้อมหมดหวัง พุทธศาสนาก็เลยมีแต่ชื่อ ธรรมก็มีแต่ชื่อ แต่กิเลสมีเต็มตัวนี่ซิ กิเลสได้เปรียบตลอดเวลา เอ้า พิจารณาตามความจริง ทุกข์ สมุทัย อยู่ตรงไหน มรรค สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป มี สมฺมาสมาธิ เป็นที่สุด อยู่ตรงนั้น แน่ะ ท่านสอนไว้ตรงนี้สด ๆ ร้อน ๆ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป หมายถึงองค์ปัญญา สมฺมาสติ นี่คือเครื่องฆ่ากิเลส ผลิตขึ้นมา กิเลสอยู่ที่ตรงไหน อยู่ที่จิต มรรคก็ผลิตขึ้นมาที่จิต ฆ่ากันลงที่จิตนี้ ให้แหลกแตกกระจายไปที่นี่ แล้วถามหาพระพุทธเจ้าที่ไหน ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นตรงไหนน่ะ ก็เห็นตรงที่ความบริสุทธิ์ สนฺทิฏฺฐิโก ประกาศกังวานอยู่ในนั้น ไปสงสัยพระพุทธเจ้าที่ตรงไหน นั่นจึงชื่อว่า ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมพระพุทธเจ้า
แต่นี้มันมีกิเลส สรณํ คจฺฉามิ ละซิ เราไม่รู้นี่ว่าเราเป็นกิเลส ฺสรณํ คจฺฉามิ ให้มันหลอกอยู่ทุกแง่ทุกมุม ธรรมะท่านบอกมัชฌิมา ๆ ปฏิปทา มัชฌิมา แปลว่า ท่ามกลาง เหมาะสม กิเลสประเภทไหนมาน่ะ ผลิตมัชฌิมาขึ้นให้พอเหมาะกันกับการปราบกิเลสประเภทนั้น ๆ นี่มัชฌิมา กิเลสโผนมามัชฌิมาโผนไป กิเลสโหดร้ายมัชฌิมาโหดดี ฟาดกันลงไป เอาให้แหลกแตกกระจายภายในจิต นี่ท่านเรียกว่ามัชฌิมา ไม่ใช่แบบที่พวกชาวพุทธเราทั้งหลายไม่ว่าท่านว่าเรา คิดอย่างนั้นเหมือนกันนั่นแหละ เพราะทางไม่เคยดำเนิน เราไม่เคยเข้าต่อสู้กับสงคราม จึงไม่รู้ว่าจะใช้อาวุธประเภทไหน ๆ ต่อข้าศึกชนิดใดประเภทใด จึงใช้ผิด ๆ พลาด ๆ สุดท้ายก็แพ้
ถ้าลงได้เคยเข้าต่อสู้กับข้าศึกสงครามมาแล้วมันฉลาดเอง วิธีการต่อสู้ตลอดถึงศาสตราวุธชนิดใดที่จะนำมาต่อสู้กับข้าศึกมันเข้าใจเอง ๆ เหมือนนักมวยขึ้นต่อยกันน่ะ แพ้เขาที่ตรงไหนมันก็แก้ของมันเอง ไม่แก้..ตาย แก้ไม้มวยของกันและกันต้องแก้วิธีนั้นแก้วิธีนี้ นี่แพ้กิเลสประเภทไหนตรงไหนก็แก้ตรงนั้น ๆ นี่ก็เหมือนกัน มัชฌิมาเป็นสิ่งแก้ลำกันกับกิเลส กิเลสประเภทไหนแสดงออกมา แพ้ด้วยวิธีการใด มรรคปฏิปทาคือสติปัญญาผลิตขึ้นมาให้ทันกันและแก้กันตรงนั้น ๆ นั่นแหละมัชฌิมาฟังเอา ยิ่งสติปัญญาขั้นอัตโนมัตินี้ด้วยแล้วไม่มีอะไรเหมือน ความลึกซึ้งไม่มีอะไรลึกซึ้งเท่า ความกว้างขวางไม่มีอะไรกว้างขวางเท่า พูดไม่ถูก ขอให้กิเลสผ่านมาเถอะ กิเลสจะอยู่ซอกไหนมุมใด จะตามต้อนกันได้หมดเมื่อถึงขั้นละเอียดแหลมคมแล้ว
ธรรมพระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้พอประมาณเท่านั้น แล้วแต่ผู้พิจารณาจะนำมาถอดถอนแก้ไขกิเลสของตัวเองภายในจิตใจ ซึ่งกิเลสเหล่านี้ท่านก็ไม่ได้จดจารึกไว้ในคัมภีร์มากมายอะไรนัก เรียกว่าพอประมาณ ธรรมะที่เป็นเครื่องปราบกิเลสก็เหมือนกัน เมื่อเข้าถึงขั้นสมรภูมิคือการรบพุ่งชิงชัยกับกิเลสด้วยภาคปฏิบัติแล้ว หากจะรู้เองในเจ้าของ กำลังวังชาปฏิปทาของเจ้าของหนักเบามากน้อย ต่อกรกับกิเลสประเภทใด เป็นยังไง ได้ผลอย่างไร แพ้ยังไง ชนะยังไง เป็นครูสอนมาโดยลำดับลำดาและฉลาดไปในตัว จนกระทั่งกิเลสพังหมดไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว นั่นแหละที่นี่พ้นแล้วจากวัฏฏะหรือเรือนจำ ได้แก่ธรรมชาติที่คุมขังในวัฏจักรนี้
ในหนังสือจึงได้เขียนไว้ว่า อวกาศของจิต อวกาศของธรรม เวิ้งว้าง หมดเครื่องดึงดูด แต่ก่อนอยู่ด้วยความดึงดูด ถูกบีบบังคับเอาไว้ตลอดเวลา อะไรดึงดูด ก็มีกิเลสเท่านั้นดึงดูด พอกิเลสได้สิ้นซากไปหมดแล้ว อะไรจะมาดึงดูดในโลกนี้
สามแดนโลกธาตุนี้เราก็ไปว่าเอาเฉย ๆ นี่ เมื่อไม่มีสิ่งยึดสิ่งถือภายในจิตใจแล้ว สักแต่ว่าไปอย่างนั้นเอง ว่ามีก็มี ว่าไม่มีก็ไม่มี เพราะไม่มีใครไปยึดไปถือ มีแต่ความรู้ล้วน ๆ ซึ่งไม่ใช่สมมุติ แล้วจะไปกังวลกันหาอะไร พิจารณาซิ กาลก็ไม่มี สถานที่ไม่มี เวล่ำเวลาไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติ จิตนั้นเป็นวิมุตติ คือหลุดพ้นไปแล้วจากสิ่งเหล่านี้ จะมาเกาะเกี่ยวกันหาอะไร ว่ามีก็มีไปตามโลกเขาอย่างนั้น เอ้อมี ว่าเป็นก็เอ้อเป็น ว่าอันนั้นเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้นไปตามเรื่องของเขา เพราะเราก็เคยเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เคยรู้อยู่แล้ว
ทีนี้เวลามันถอนตัวเข้ามาก็รู้อยู่แล้วว่าถอนตัวเข้ามา โลกนี้จะหนาแสนหนามันก็เป็นอวกาศไปหมดเสีย ภายในจิตใจไม่มีอะไรเข้าเกาะเข้าเกี่ยวเข้าขัดเข้าขวางให้ยุ่งเหยิงวุ่นวายเหมือนแต่ก่อน จึงทราบได้ชัดว่ามีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้นเป็นเจ้าปัญหา พอกิเลสหมดไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร แน่ะ
เรื่องธาตุขันธ์นี่ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีอะไรเข้าครอง ธรรมเข้าครองธรรมไม่ยึดนี่ ธรรมไม่กดขี่บังคับธาตุขันธ์ ธรรมนำธาตุขันธ์เป็นเครื่องมือทำประโยชน์ให้โลกให้สงสารไป ขันธ์จึงเป็นเหมือนหางจิ้งเหลนขาด ดุกดิก ๆ อยู่ตามธรรมชาติของตัวเอง คือไม่มีใครเข้าไปเป็นเจ้าของไปยึดไปถือ ไปเป็นพิษเป็นภัย แต่ก่อน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่เป็นตัวสำคัญ ก่อให้เป็นสังขาร เป็นวิญญาณใหม่ซิ ขันธ์ทั้งห้านี้ก็เป็นเครื่องมือของกิเลสเต็มไปหมดเลย กลายเป็นขันธ์ทั้งห้าก็เป็นกิเลส ทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องมือก็เป็นกิเลส เพราะกิเลสครอบหัวมัน พอกิเลสหมดไปแล้ว ขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ
อย่างท่านแสดงไว้ว่า เตสํ วูปสโม สุโข ฟังซิ เราอย่าไปแปลในแง่เดียวซิ ความระงับสังขาร ๆ ทำไมเป็นความสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ ระงับสังขารอะไร จะให้เห็นปัจจุบันทันตาของเราในวงปฏิบัติ ก็ระงับสังขารที่เป็นตัวสมุทัย คือระงับดับกิเลสทั้งหมดนั้นซิ กิเลสไม่มีเหลือแล้วสังขารนี้ก็ไม่เป็นสมุทัย คิดปรุงเรื่องอะไรก็เป็นอิสระธรรมดา ๆ เป็นขันธ์ล้วน ๆ รูปก็ไม่มีใครมายึดมาถือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ เป็นความจริงโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ๆ ไม่มีใครมายุ่งมาเกี่ยว
จิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ จิตก็ไม่ไปยุ่งไปเกี่ยว จิตก็จริงเต็มหัวใจของจิตเสีย แน่ะ ท่านจึงว่า เตสํ วูปสโม สุโข ความระงับดับเสียซึ่งสังขารทั้งหลายนั้นเป็นความสุข ท่านว่า สุขปัจจุบันก็สุข เพราะสังขารอันนี้ไม่กวนไม่เสียบไม่แทง พอระงับสังขารนี้ ทั้งสังขารร่างกาย ทั้งสังขารขันธ์นั้น ๆ หมดแล้วก็ เตสํ วูปสโม สุโข อีกเหมือนกัน สุโข นั่นเป็นบรมสุขเสีย ปรมํ สุขํ เสีย นี่แหละท่านว่าขันธ์ล้วน ๆ เป็นอย่างนั้น อยู่ด้วยกันก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน เจ็บไข้ได้ป่วยก็เจ็บ แต่วิมุตติจิตนั้นไม่เข้ามายุ่งกับสมมุตินี่ซิ อยู่ด้วยกันก็เป็นความจริงของตัวเองอยู่โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องเสกสรรปั้นยอ
เอ้า ทุกข์ขนาดไหนก็ทุกข์ หิวก็ทราบว่าหิว ดังพระพุทธเจ้ารับสั่งพระอานนท์ให้ตักน้ำมาเสวย วันเสด็จไปเพื่อปรินิพพาน นั่น หิวกระหาย แล้วใครจะไปว่าพระพุทธเจ้าทรงเสวยทุกขเวทนาเหรอนั่น ถ้าเป็นคนตาบอดก็ต้องว่าแหละ จะไม่เสวยไง ก็หิวน้ำนี่ ความจริงแล้ว อานนท์ รถเรานี่มันจะไม่ถึงไหนแล้วแหละ มันขาดน้ำ ไปตักน้ำมาเติมรถหน่อย มาใส่รถหน่อย พอให้ได้ขับขี่ไปถึงที่ของมัน ความหมายว่างั้น คนขับไม่ได้เป็นไร รถมันขาดน้ำต่างหาก คนขับก็หมายถึงจิตตวิสุทธิละซิ
อานนท์ ลาดผ้าสังฆาฏิลง เราจะพักผ่อน พักเครื่องมันพูดง่าย ๆ พักเครื่องให้รถสักหน่อยแล้วค่อยก้าวไปทีหลัง เหล่านี้เป็นเรื่องของขันธ์นี่ ความทุกข์ความลำบากเพราะความหิวความโหย เพราะความอ่อนเพลีย เป็นเรื่องของทุกขเวทนา เวทนานี้เป็นขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์นี่ จิตนั้นเป็นไตรลักษณ์ได้ที่ไหน
การดำเนินตนเพื่อถึงวิสุทธิจิต ก็อาศัยไตรลักษณ์ทั้งสามนี้เป็นทางเดิน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา พิจารณานี้ให้รอบตัว เมื่อรอบตัวเต็มภูมิแล้วจิตก็ผ่าน จิตผ่านไปแล้วจะไปเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ที่ไหนอีก จิตจะเป็นไตรลักษณ์นั้นหรือ ถ้าจิตเป็นไตรลักษณ์แล้ววิเศษอะไร นิพพานก็เป็นไตรลักษณ์ วิเศษวิโสอะไร ให้มันเห็นประจักษ์ซินักปฏิบัติ เห็นประจักษ์แล้วหายสงสัย มีกี่ร้อยกี่พันหายสงสัยหมด ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าแหละ นั่นละจิตที่บริสุทธิ์แล้วจะมาเสวยเวทนาที่ไหน จิตที่บริสุทธิ์แล้วมีเวทนาที่ไหน เวทนานี้เป็นสมมุติต่างหาก จิตนั้นเป็นวิมุตติแล้วเข้ากันได้ยังไง เป็นอฐานะนี่ โดยหลักธรรมชาติ รู้ ๆ เห็น ๆ อยู่นั้นน่ะจะว่ายังไง
ถ้าเราจะเทียบก็เหมือนกับเราจ่อไฟเข้ากอไผ่ เผากอไผ่ทั้งกอลองดูซิ ราดน้ำมันเข้าไป เสียงกอไผ่ระเบิดนี้เหมือนฟ้าถล่ม ไฟก็ส่งเปลวจรดเมฆโน่น ปึงปั้ง ๆ ส่งเปลวจรดเมฆ เหมือนกับว่าไฟนั้นมีวิญญาณมีจิตมีใจ ฟืนคือกอไผ่นั้นก็เหมือนมีจิตมีใจมีวิญญาณ เหมือนกับต่อสู้กัน ความจริงแล้วไฟรู้ความหมายของมันไหมว่ามันร้อนมันหนาวมันเย็น มันเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่รู้ ไฟก็ไม่รู้ความหมายของตัวเองและไม่รู้ความหมายของไฟ แต่ก็เผาไหม้กันอย่างระเบิดเปิดเปิงให้เห็นชัด ๆ อยู่ด้วยตาของเรา ได้ยินด้วยหูของเรานั่นแหละ ดูซิ
ผู้ที่รู้จริง ๆ ก็คือคนที่ยืนดูอยู่นี้ ไฟกับฟืนมันเผาไหม้กันฉันใด ขันธ์นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ระหว่างรูปขันธ์กับทุกขเวทนาขันธ์บีบบังคับกันก็เหมือนกันทำนองนั้น ทำให้หงิกให้งอ บางทีอาจให้เป็นเสียงร้องเสียงครางไป อือ ๆ อี ๆ ไปก็ได้ เหมือนกับไฟระเบิดกอไผ่ปึงปัง ๆ นั่นแหละ
แต่จิตที่บริสุทธิ์จะมาเป็นอะไรกับอันนี้ล่ะ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในนั้นแหละ ขันธ์ก็เป็นขันธ์จะมีอะไรกัน อันนี้มันเป็นไปได้ ทำให้งอให้หงิกให้กระตุกกระติก ให้บางทีทิ้งเนื้อทิ้งตัวไปได้ เพราะเส้นมันกระตุก มันเป็นขันธ์ เหมือนกับว่าไฟกับฟืนไหม้กันนั่นแหละ ระเบิดปึงปัง ๆ มันอยู่เป็นสุขได้เมื่อไร อันนี้ก็เหมือนกัน เวลามันรัดตัวกันเข้าเต็มที่แล้วก็อาจมีกระดุกกระดิกหรือเป็นในแง่ต่าง ๆ เช่น นิสัยที่เคยมีครวญครางอาจเป็นได้พระอรหันต์น่ะ แต่จิตของท่านไม่เป็น
เป็นด้วยอาการของขันธ์ที่มันกระทบกระเทือนกันนี้ เวลาสุดท้ายของมันที่จะแตกกระจายออกจากกันมันเป็นได้ เรายอมรับอันนี้ แต่เรื่องจิตของพระอรหันต์ที่เข้ามาสุงสิงกับอันนี้ ให้มามั่วมาสุมมาหลงใหลอันนี้ นั่นเป็นอฐานะ เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นที่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณารู้เห็น ที่ว่าพระอรหันต์นิพพานในท่าต่าง ๆ กันนั้น เราจึงเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะจิตของท่านไม่ได้อยู่ในอำนาจของขันธ์เหมือนสามัญชนทั่ว ๆ ไปนี่ ท่านจึงนิพพานในท่าต่าง ๆ ได้ตามอัธยาศัยของผู้มีจิตใจที่อยู่เหนือโลกแล้ว