กิเลสไม่ชินชาต่อผู้ใด
วันที่ 11 มีนาคม 2526 เวลา 19:00 น. ความยาว 53.48 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖

กิเลสไม่ชินชาต่อผู้ใด

ความรู้สึกในตัวของเราทุกแง่ทุกมุมที่แสดงออก ให้เป็นความรู้สึกเกี่ยวข้องกับหลักธรรมหลักวินัยอยู่เสมอ อย่าได้ลืมตัว พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญเป็นศาสดาของพวกเราก็ดี พระธรรมที่ปรากฏให้เราทั้งหลายได้พอมองเห็นร่องเห็นรอยอยู่ทุกวันนี้ก็ดี พระสงฆ์ท่านที่เป็นสรณะได้กราบสนิทอยู่ทุกวันนี้ก็ดี ทั้งสามรัตนะนี้เฉพาะพระพุทธเจ้าและสาวกท่านดำเนินหรือเคลื่อนไหวทุกแง่ทุกกระทง เป็นการเคลื่อนไหวและการดำเนินเพื่อเหยียบย่ำทำลายกิเลสไม่ว่าประเภทใด ๆ อยู่ตลอดเวลาและทุกอิริยาบถ พระธรรมที่ปรากฏขึ้นมา ให้เราทั้งหลายได้กราบไหว้หรือโลกได้กราบไหว้เวลานี้ เกิดขึ้นมาจากการปราบปรามสิ่งปกคลุมหุ้มห่อทั้งหลายออก ธรรมจึงได้ปรากฏเด่นขึ้นมาในพระทัยของพระพุทธเจ้า

ให้พึงคำนึงเสมอ อย่ามีความชินชาต่อความเป็นอยู่ต่อเพศของตน เพราะกิเลสไม่เคยชินชาต่อผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าประเภทใดของกิเลส ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งปกคลุมหุ้มห่อจิตด้วยความไม่มีชินชา พอจะเบื่อหน่ายกับจิตดวงนั้น ๆ แล้วปล่อยวางทิ้งไว้เสีย ให้เหลือแต่ใจไม่มีกิเลส เพราะกิเลสเบื่อหน่ายภายในจิตใจของสัตว์โลกอย่างนี้ไม่มี ตลอดกัปไหนกัลป์ใดก็ตาม ต้องเป็นอยู่เช่นนั้นตลอดไป ถ้าไม่มีสิ่งไปชำระสะสางหรือปราบปรามสิ่งเหล่านี้ออก สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความเบื่อหน่ายอิ่มพอในตัวเองและสิ่งที่ตนอาศัยอยู่ เช่นใจของสัตว์โลก จะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ตลอดไป

ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติธรรมจึงจะทำความชินชาต่อการประพฤติปฏิบัติต่อเพศของตนไม่ได้ ขัดต่อหลักธรรมซึ่งเป็นเครื่องขัดเกลาหรือชำระกิเลส แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น บรรดาความชินชาทั้งหลายที่มีอยู่ในหัวใจของเรา พึงทำความรู้สึกตัวรอบอวัยวะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตัว และสิ่งเกี่ยวข้องภายนอกที่เรียกว่า อายตนะภายนอก อยู่เสมอ อย่าทำความชินชา อย่าทำความอิดหนาระอาใจต่อการแก้ไขถอดถอน การชำระสะสาง การระมัดระวังตน เพราะสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นสมบัติเดิมของกิเลสทั้งนั้น ไม่ใช่สมบัติของธรรมที่จะนำไปแก้กิเลสได้ เพราะเป็นสมบัติของกิเลสอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะเพิ่มพูนความเป็นกิเลสให้หนาแน่นขึ้นภายในจิตใจ เพราะความท้อแท้อ่อนแอเป็นต้น

ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องตั้งท่าตั้งทางระมัดระวังตนอยู่เสมอ เพราะเวลานี้เราเป็นนักบวช และได้ก้าวออกสู่ทางด้านปฏิบัติ จึงเท่ากับเข้าสู่สงครามแล้ว อันข้าศึกนั้นไม่อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจของเรานี้แล แต่เวลายังไม่ได้ตั้งจิตตั้งใจที่จะชำระแก้ไขหรือปราบปรามซึ่งกันและกันแล้ว ก็เหมือนกับเราไม่ได้รบสงคราม ขณะที่เราไม่ได้รบสงครามนั้น สงครามมีความสงบภายในใจของเราหรือไม่ นี่เราก็ไม่ได้คิด ยิ่งขณะที่เราไม่ได้มีการต่อสู้ มีการระมัดระวัง มีการแก้ไขถอดถอนกับข้าศึกศัตรู ได้แก่กิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยแล้ว นั้นแลเป็นเวลาที่กิเลสทั้งหลายเรืองอำนาจเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ไม่ว่าจะแสดงออกทางด้านจิตใจ และส่งออกตามอายตนะภายในสู่อายตนะภายนอก นับแต่ตาออกไปถึงรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่การงานแห่งการกว้านกิเลส กว้านฟืนกว้านไฟเข้ามาเผาลนจิตใจของเรา โดยไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีเครื่องคัดค้านต้านทานกัน เนื่องจากเรานอนใจเสียจนเกินตัว เข้าใจว่าเวลานี้ไม่ได้รบสงครามก็เป็นเวลาที่สงบ

ความจริงเวลาที่ไม่ได้มีการต่อสู้กันนั้นแล เป็นเวลาที่สงครามกำเริบมาก คืบคลานเข้ามา เหยียบย่ำเข้ามา ผลที่เราเจอจึงมีแต่เรื่องความทุกข์ความทรมานทางด้านจิตใจ ดีไม่ดีร่างกายก็ชอกช้ำไปด้วย เมื่อมันมากต่อมากขึ้นพลอยกระเทือนถึงส่วนร่างกายด้วย เช่นอย่างคนคิดมาก ๆ เสียใจมาก ๆ ร่างกายย่อมซูบผอม ดีไม่ดีเป็นบ้าเป็นโรคประสาทไปเลย กินไม่ได้นอนไม่หลับ นี่คือข้าศึกศัตรูมันกำเริบ เพราะไม่มีทางต่อสู้ ไม่รู้เรื่องการต่อสู้กันว่าเป็นอย่างไรเลย แต่นี้เรารู้ พระพุทธเจ้าทรงสอนทุกแง่ทุกมุมแล้ว

แบบแผนการดำเนินของพระพุทธเจ้านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินปราบกิเลสให้ราบไปทั้งมวล ปฏิปทาที่สาวกท่านดำเนินมาทั้งมวล ตลอดวิธีการที่ท่านปฏิบัตินั้น เป็นปฏิปทาและวิธีการปราบปรามกิเลสให้เรียบราบไปหมดทั้งนั้น จงนำวิธีการหรือปฏิปทาของท่านมาดำเนิน ให้เข้าใกล้ชิดสนิทติดแนบกับใจของเราอย่าได้ปล่อยวาง นี้แลคือเป็นผู้ถือศาสตราอาวุธด้วยความตั้งอกตั้งใจ ด้วยความมีสติสตัง ความระมัดระวังต่อสู้ข้าศึกศัตรูซึ่งแสดงตัวอยู่ภายในใจ และมาจากภายนอก เพราะสื่อภายในไปเกี่ยวข้องติดต่อกันมา จึงต้องได้ใช้ความระมัดระวังเสมอ

ใจที่ถูกกดขี่บังคับ แม้จะมีความรู้ก็ไม่เต็มภูมิ เหมือนอย่างนักโทษในเรือนจำ ไม่ใช่จะมีแต่คนโง่เขลาเบาปัญญาถ่ายเดียว คนเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องมีอยู่เยอะในเรือนจำนั้น นักโทษเป็นราย ๆ ที่มีความรู้ความฉลาดมีอยู่มาก แต่ความรู้ความฉลาดเหล่านั้น ๆ ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะมีสิ่งกดขี่บังคับให้ทำไม่ได้อยู่นั่นแล

ใจแม้จะรู้ขนาดไหนก็ตาม เมื่อถูกสิ่งกดขี่บังคับบีบไว้ ความรู้จึงแสดงออกได้ในแง่ของสิ่งที่มีอำนาจอยู่นั้นบงการเท่านั้น สิ่งใดที่ผู้มีอำนาจหรือกิเลสประเภทต่าง ๆ ไม่บงการแล้วก็รู้ไม่ได้ ถูกปิดถูกกำบังไว้หมด เหมือนดวงไฟจะมีอยู่ก็ตาม เมื่อแก้วครอบดำไปหมดแล้วมองหาดวงไฟย่อมไม่เจอ จะส่งแสงสว่างกระจ่างแจ้งให้เต็มดวงของตนก็ส่งไม่ได้ เพราะถูกครอบอยู่ด้วยแก้วครอบอันดำทั้งหลาย จิตที่ถูกครอบอยู่ด้วยกิเลสตัวมืดดำกำตาทั้งหลาย จึงแสดงออกได้ในความรู้อันเป็นทางของกิเลสเปิดให้ทำหน้าที่ของมัน เพื่อผลประโยชน์ของมันเท่านั้น

ความรู้จะมีมากน้อยเพียงไรที่อยู่ภายในใจ ก็แสดงออกให้เป็นความแยบคายอะไรไม่ได้ จึงรู้ไปแบบงู ๆ ปลา ๆ รู้แบบสามัญชน รู้แบบคนมีกิเลส จะมีความฉลาดแหลมคมหรือเรียนวิชาการได้สูงต่ำขนาดไหน ก็อยู่ในความปิดบัง อยู่ในการบีบบังคับของความมืดอันนั้นอยู่จนได้ ไม่มีความรู้ใดที่จะเหนือจากสิ่งมืดดำเหล่านี้สอดแทรกออกไป กระจายตัวออกไป ให้เป็นแสงสว่างกระจ่างแจ้ง ย้อนมองกลับคืนมาเห็นความมืดดำของสิ่งที่ครอบงำจิตใจนี้ได้

นี่แหละคำว่าความรู้อยู่ในวัฏจักร ความรู้ของสามัญชน ก็คือความรู้เทียบกันได้กับความรู้ของนักโทษในเรือนจำนั่นแล ไม่มีอะไรจะแยบคายยิ่งกว่าความรู้ที่เป็นอยู่เพราะอำนาจของกิเลสบีบบังคับหรือครอบงำไว้ เมื่ออยากจะทราบ ให้ดำเนินตามหลักธรรมอันเป็นเครื่องทำลายสิ่งมืดดำทั้งหลายนี้ไปโดยลำดับลำดา เราจะทราบได้ภายในตัวของเราเอง เอ้า เบื้องต้นรู้ซ่านออกไปไหนก็ล้วนแล้วแต่ความฟุ้งซ่านเพราะอำนาจของกิเลสฉุดลากไป รู้ไปเรื่องไหนเป็นแต่เรื่องของกิเลสจับจองไว้หมด กิเลสบงการเสียหมด ทีนี้บังคับจิตไม่ให้ออกรู้แบบนั้น ให้รู้แบบธรรม

ที่นี่ท่านก็สอนเรื่องบทภาวนา จะบริกรรมภาวนาก็ตาม จะกำหนดธรรมบทใดก็ตาม ให้รู้อยู่จุดเดียว อย่าไปรู้ในสิ่งทั้งหลายที่เคยรู้เคยเห็นเคยสัมผัสสัมพันธ์มาแล้วเหล่านั้น นั้นเป็นความรู้ที่ออกจากการบงการหรือบีบบังคับของกิเลสให้รู้ให้สัมผัสสัมพันธ์ ผลจึงเป็นเรื่องของความทุกข์อันเป็นผลประโยชน์ของกิเลสโดยถ่ายเดียว หาผลแห่งธรรมปรากฏให้เป็นความสงบเย็นใจบ้างไม่มีเลย ธรรมจึงยอกย้อน ซึ่งสวนทางกันกับความรู้ของกิเลส ในขั้นต้นให้รู้เข้ามาภายในใจนี้ก่อน ไม่ให้รู้กับสิ่งทั้งหลายต่อไป เฉพาะอย่างยิ่งให้บริกรรมภาวนาที่ท่านเรียกว่า สมถภาวนา

ธรรมบทใดที่จะเป็นเครื่องกำกับ ที่เป็นเครื่องยึดของจิตให้จิตเข้าสู่จุดเดียว ความมีอารมณ์อันเดียวกับธรรมบทนั้น ให้บังคับจิตอยู่กับธรรม กับอารมณ์แห่งธรรมบทนั้น ๆ ให้รู้อยู่โดยเฉพาะ เมื่อสติบังคับจิตไม่ให้ส่ายแส่ออกไปสู่ความรู้ที่เคยเป็นมาของตน ให้รู้อยู่ในจุดที่ธรรมแสดงบอกนี้เท่านั้น ก็จะเกิดความสงบขึ้นมา ความเย็นใจขึ้นมา ความสว่างขึ้นมาภายในตัวเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับกิเลส เป็นความสว่าง เป็นความผ่องใสขึ้นภายในตัวของตน มองเห็นได้โดยลำดับและมองเห็นได้อย่างชัดเจน

ท่านสอนให้กำจัดสิ่งที่ปิดบังหุ้มห่อเพราะความฟุ้งซ่านรำคาญ เกี่ยวกับเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลาย ให้เข้าสู่ความรู้อันเดียวคือธรรม เพราะธรรมไม่เป็นข้าศึก อาศัยธรรมบทนั้นภาวนาอยู่โดยลำดับลำดา ใจเมื่อได้ยึดธรรมเป็นหลักย่อมมีความทรงตัวได้ ย่อมกลายมาเป็นตัวของตัวได้ตามขั้นของจิต ตามขั้นของธรรม เมื่อใจมีความสงบใจย่อมเย็น ใจย่อมสบาย ใจย่อมมีความสว่างไสวภายในตัว นี่เป็นสมบัติของใจ เป็นสมบัติของธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเรา พยายามอบรมจนกระทั่งจิตมีความสงบมาก ละเอียดแนบแน่น ความสว่างภายในตัวเองก็สว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมา ละเอียดลออขึ้นมา

ท่านสอนปัญญาในอันดับต่อไป ตั้งแต่ขั้นสมาธิ ทีแรกก็ให้มีปัญญาแฝงกันไปตามขั้นแห่งสมาธิ ตามขั้นของปัญญา เรียกว่า วิปัสสนา พิจารณาแยกแยะสิ่งที่เคยสำคัญมั่นหมาย อันเป็นเรื่องปิดบังความจริงไว้ทั้งมวล ให้รู้เล็กรู้น้อย รู้แคบรู้กว้าง รู้ลึก ๆ เข้าไปโดยลำดับ ชื่อว่ากระแสของธรรมกระจายความมืดคือเมฆ ได้แก่กิเลสทั้งหลาย ซึ่งปิดกำบังจิตใจไว้ ให้กระจายตัวออกไป ให้จางออกไป จิตใจสามารถทราบสิ่งทั้งหลายได้ด้วยปัญญาธรรม

ที่นี่ความรู้ที่เคยอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ก็ค่อยขยายตัวออกไปได้ด้วยธรรมเป็นเครื่องส่งเสริม ด้วยธรรมเป็นเครื่องกำจัดความมืดทั้งหลายออก ความรู้ก็กระจายออกไป เอ้า แยกธาตุแยกขันธ์ แยกอายตนะภายในของตน แล้วแยกสภาวธรรมที่เป็นส่วนภายนอก เทียบเคียงกันให้ได้ทุกสัดทุกส่วน รวมลงใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ปัญญายิ่งแตกกระจายออกไปตามแขนงต่าง ๆ แห่งสภาวธรรมซึ่งมีไม่มีสิ้นสุด สติปัญญาก็ไม่มีสิ้นสุด ที่จะทราบตามเรื่องแห่งความจริงทั้งหลายเหล่านั้น

นี่ละความรู้เบิกกว้างออกไป ๆ อย่างนี้ ภายในก็เย็น ภายในก็สบาย ขณะเดียวกันภายในที่เคยกดเคยถ่วง ก็ถูกถอดถูกถอนออกด้วยปัญญาไปในขณะเดียวกันกับความสว่างกระจ่างแจ้งที่เห็นได้ด้วยการพิจารณานั้น ๆ จิตหรือความรู้นี้ก็เบิกกว้างออกไป ละเอียดเข้าไปโดยลำดับ สิ่งไม่เคยรู้ก็รู้ สิ่งไม่เคยเห็นก็เห็น ทำไมจึงไม่เคยรู้ก็รู้ ก็เพราะสิ่งที่ไม่เคยรู้นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่ามีสิ่งปิดบังหุ้มห่อใจดวงนี้ไว้ ไม่ให้เห็นสิ่งที่มีอยู่นั้นตามความเป็นจริง จึงเหมือนกับสิ่งนั้นไม่มี มีแต่สิ่งจอมปลอมปกคลุมหุ้มห่อจิตใจอยู่โดยถ่ายเดียว

เมื่อธรรมคือปัญญาธรรมได้สอดแทรกเข้าไปตรงไหน ก็ย่อมจะสว่างกระจ่างแจ้งเข้าไป ทั้งส่วนหยาบที่มีอยู่ก็เห็นตามความเป็นจริง ทั้งส่วนกลาง ส่วนละเอียด อันใดมีอยู่อย่างไรก็เห็นตามความจริง สิ่งที่เคยสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อันเป็นเรื่องจอมปลอม ก็ถอดถอนความสำคัญมั่นหมายออกมา เพราะความรู้จริงเห็นจริงเปิดออกได้โดยลำดับ นี่ที่ว่าสิ่งไม่เคยรู้ก็รู้ ส่วนหยาบก็เหมือนกัน ส่วนกลางส่วนละเอียดที่ไม่เคยรู้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่ ก็ทำให้รู้ รู้ไปโดยลำดับจนถึงขั้นละเอียด

สิ่งที่ปกคลุมมีหลายขั้นหรือมีหลายชั้น เช่น ความสำคัญความติดในวัตถุหยาบ ๆ เช่นรูปกาย นี่ก็เรียกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุหยาบ เป็นกิเลสประเภทหยาบปกคลุมจิตใจ เมื่อเปิดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกได้ด้วยอำนาจของปัญญาแล้ว สิ่งที่ปิดบังในท่ามกลางก็คือ ขันธ์ ๔ พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งปิดบังแต่ละอย่าง ๆ ทั้งนั้น ต่างกันแต่ความหยาบละเอียดแห่งสิ่งปิดบังนั้น ๆ ปัญญาที่ได้ฝึกฝนอบรมตนมา ซึ่งเป็นคู่ควรกับสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมทราบสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงเช่นเดียวกับส่วนหยาบ แล้วปล่อยวางสลัดปัดทิ้งออกจากตัวของตัวได้แก่ใจ ที่เรียกว่า ถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น

จิตยิ่งสว่างกระจ่างแจ้งออกไปโดยลำดับ เพราะสิ่งที่ปิดบังหนึ่งชั้น ได้แก่วัตถุหยาบ มีรูปกายเป็นต้น ส่วนปานกลาง มีพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นสำคัญ ก็เปิดออกด้วยปัญญาขั้นนี้ แล้วเปิดเข้าไป ส่วนที่ละเอียดสุดปกคลุมหุ้มห่อจิตอย่างละเอียดสุด ปัญญาก็ละเอียดสุด กำจัดกันออกได้โดยสิ้นเชิง ได้แก่เชื้อแห่งภพแห่งชาติ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นวาระสุดท้าย เปิดออกหมดด้วยอำนาจของสติปัญญา ที่เป็นของคู่ควรกันกับการปราบกิเลสที่ปกคลุมหุ้มห่ออย่างละเอียด ออกหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ นั้นแลที่นี่จิตที่เคยรู้มาแต่ก่อนเป็นมาอย่างไร กับจิตนับแต่ขณะที่สิ่งหุ้มห่ออันละเอียด ไม่ต้องพูดถึงอย่างหยาบอย่างกลาง อันละเอียดนั้นได้สลายตัวไปหมดแล้ว ความรู้นี้เป็นอย่างไร

นี่แหละที่เรียกว่า ความรู้เป็นอิสระ ความรู้ไม่มีอะไรปิดบัง ความรู้ไม่มีอะไรบีบบังคับ ความรู้ไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งใด ขึ้นชื่อว่าสมมุติในสามแดนโลกธาตุนี้ ได้สลัดปัดทิ้งออกหมดแล้ว อยู่เหนือสภาพสมมุติทั้งหลายแล้ว จึงเป็นความรู้ที่เต็มตัวเต็มภูมิของใจของอรรถของธรรม ไม่มีอัดไม่มีอั้น ไม่มีขอบเขตว่ากว้างว่าแคบ ว่าลึกตื้นหยาบละเอียด รู้ไปได้หมดทุกแห่งทุกหน ไม่ว่าสภาพหยาบ กลาง ละเอียดตลอดทั่วถึง เพราะไม่มีสิ่งใดมากีดกันนี่ ความรู้ประเภทนี้แลเป็นความรู้ประเภทที่อัศจรรย์

ท่านกล่าวไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า ญาณํ อุทปาทิ นั่น ไม่เพียงแต่ใจเท่านั้น เมื่อได้เปิดสิ่งทั้งหลายที่ปกคลุมหุ้มห่อนี้ออกหมดแล้วนั้น ญาณํ อุทปาทิ ก็ได้เกิดขึ้น คือเป็นขึ้นภายในใจดวงนั้นแล วิชฺชา อุทปาทิ ก็ปรากฏขึ้นในใจดวงนั้น อาโลโก อุทปาทิ ก็ได้ปรากฏขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เวิ้งว้างไม่มีอะไรเป็นขอบเป็นเขต เพราะคำว่าขอบว่าเขตนั้นเป็นสิ่งสมมุติทั้งมวล จะเรียกว่าอวกาศของจิตเทียบกับอวกาศของโลกก็ไม่ผิด

ไม่มีอะไรเป็นเครื่องดึงดูด รูปก็มี เสียงก็มี กลิ่นก็มี รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ก็มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ก็มีอยู่อย่างสมบูรณ์ด้วยกัน แต่ไม่มีสิ่งใดมาดึงดูดจิตใจนี้ มากดขี่บังคับจิตใจนี้ ไม่มีเชื้อภายในจิตใจที่จะให้ดูดดื่มกับสิ่งทั้งหลาย นับแต่ธาตุขันธ์ของตนออกไปสู่สภาวธรรมภายนอกไม่มีประมาณ หมดความดึงดูด เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน สัมผัสสัมพันธ์ก็สักแต่ว่าสัมผัสสัมพันธ์ไปเท่านั้น ไม่ติดไม่พัน ไม่อัดไม่อั้น ไม่ตีบไม่ตัน ไม่มีอะไรมาบังคับบัญชา เป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากสมมุติทั้งมวลอยู่ตลอดเวลา

นั่นคือจิตที่เป็นวิมุตติ คือจิตที่ทรงความรู้เต็มภูมิของตน ในขณะที่ยังครองขันธ์อยู่ก็เห็นได้อย่างชัด ๆ ไม่มีอะไรมาปิดมากีดมากั้นมากัน เป็นความรู้อิสระ ผิดกับความรู้ดั้งเดิมที่เคยเป็นมา ถ้าจะเทียบว่าเป็นโลกทั้งสอง ก็เรียกว่า คนละโลก ถ้าไม่เทียบก็เรียกว่า ความรู้ของวัฏโลกกับความรู้ของวิวัฏธรรม เทียบกันได้เท่านั้น

นี่ละพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ท่านปราบกิเลสตัวกีดกัน ตัวปกคลุมหุ้มห่อให้อยู่ในขอบเขต ให้อยู่ในข้อบังคับ ให้อยู่ในเรือนจำ ออกได้โดยสิ้นเชิง แล้วทำลายหมดตลอดเรือนจำ สถานที่หรือสิ่งคุมขัง สิ่งที่เป็นอำนาจบีบบังคับทั้งหลายไม่มีเหลือ เรือนจำก็ทำลาย ผู้ควบคุมอยู่ในเรือนจำก็ทำลาย ทำลายหมด

นี่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบทนี้เป็นพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงอุทานเสียเองว่า

อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ

คหการํ คเวสฺสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ

คหการก ทิฏฺโฐสิ ปุน เคหํ น กาหสิ

สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ

วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

นี่เป็นพระพุทธภาษิตที่ทรงพูดเย้ย ถ้าจะพูดแบบโลก ๆ พูดเย้ยพูดถากเจ้ากิเลสตัณหาอวิชชา โดยใจความย่อ ๆ ก็ว่า “เมื่อญาณความรู้แจ้งเห็นจริงที่ทันสมัยในการปราบข้าศึกศัตรูของเรา ยังไม่เกิดยังไม่มี เราจำต้องเสาะแสวงหา และท่องเที่ยวไปในสังสารจักรสังสารวัฏนี้หาประมาณไม่ได้” ที่เรียกว่า อเนกชาติ ไม่ใช่เพียงชาติหนึ่งชาติเดียวเท่านั้น จนนับประมาณไม่ได้ และก็เสาะแสวงหานายช่างเรือนคือเจ้าตัณหา คือเป็นไปตามนายช่างเรือน คือตัณหามีอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ซึ่งเป็นเรื่องหาบกองทุกข์ทั้งมวล

ท่านว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ การเกิดแต่ละครั้ง ๆ นั้นเป็นเรื่องของกองทุกข์ทั้งมวล ปุนปฺปุนํ บ่อย ๆ ๆ นั่นละคือการเกิด เกิดบ่อยเท่าไรก็ทุกข์บ่อยเท่านั้น ในขณะเกิดก็เป็นทุกข์ เป็นตัวผลคือตัวเกิดขึ้นมาแล้ว จนกระทั่งถึงวันตายก็เป็นทุกข์ มรณมฺปิ ทุกฺขํ นั่น สุดท้ายเป็นทุกข์

“ดูก่อน นายช่างคือตัณหา ผู้สร้างบ้านสร้างเรือนให้เรา” ท่านว่า พูดง่าย ๆ “บัดนี้เราได้เห็นตัวเจ้าเสียแล้ว เจ้าไม่สามารถที่จะสร้างบ้านสร้างเรือนคือภพชาติให้เราต่อไปอีกได้แล้ว ซี่โครงอันเป็นฝาเรือนของท่านนั้น ได้ถูกเราทำลายให้เสร็จไม่มีเหลือแล้ว” เรือนยอดคืออวิชชานั่นแหละตัวสำคัญ ท่านว่า “เรือนยอดเราได้ขจัดหมดแล้ว จิตของเราได้ถึงแล้วซึ่งวิสังขาร อันสมมุติใด ๆ เข้าปรุงแต่งไม่ได้แล้ว และได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาได้แก่พระนิพพาน” นี่เป็นพุทธภาษิตที่ท่านแสดงไว้

ก่อนอื่นพระองค์ไม่ได้ประกาศธรรมบทนี้ขึ้นมา พอไปเจอเข้าอย่างจัง ๆ เท่านั้น และทำลายกิเลสเหล่านี้ได้โดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว จึงได้อุทานขึ้นมา หรือแสดงเป็นการเยาะเย้ยกันตามหลักสมมุตินิยม แต่ในหลักธรรมชาติของพระพุทธเจ้าหรือของจิตดวงนั้นแท้ ๆ แล้วท่านก็จะไปว่าอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นก็เป็นสภาวธรรมหรือเป็นสภาพหนึ่งเท่านั้น

การแก้ก็แก้ด้วยสภาวธรรมอันเป็นฝ่ายแก้นี้ต่างหากเท่านั้น เมื่อหมดสิ้นอันนี้ไปแล้วก็หมดปัญหาไป นี่ท่านกล่าวให้เป็นบุคคลาธิษฐานเทียบกับธรรมาธิษฐาน เพื่อจะได้เป็นน้ำหนักแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้ได้มีความสะดุดใจในเรื่องข้าศึกว่า เป็นข้าศึกจริง ๆ สิ่งที่เป็นคุณก็เป็นคุณจริง ๆ ให้มีความหนักแน่น ให้มีความดูดดื่ม เมื่อความหนักแน่นความดูดดื่มความมุ่งมั่นภายในจิตใจมีแล้ว มันทำได้หมดนั่นแหละคนเรา

การประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง สาวกทั้งหลายท่านก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง หัวใจเต็มตัวอยู่เช่นเดียวกัน เมื่อมีความเชื่อความเลื่อมใส ได้ฟังเหตุฟังผลเรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องคุณเรื่องโทษอย่างถึงใจแล้ว ทำไมจะไม่มีกำลังเพื่อแหวกว่ายตะเกียกตะกายตนออก เพื่อก้าวเข้าสู่มหาคุณ ได้แก่ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา คือความสิ้นไปแห่งความอยากทั้งมวล นับแต่ส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียดสุด เรียกว่าตัณหาทั้งนั้น หมด ต้องเป็นไปได้ กำลังใจเป็นสำคัญ ลงกำลังใจได้เข้าจุดไหนแล้วเป็นแหลกแตกกระจายไม่มีเหลือ ไม่มีกำลังใดที่จะมีอำนาจมากยิ่งกว่ากำลังใจ ขอให้ได้เกิดความเชื่อความถึงใจเถอะ การทำก็ถึงใจ ความมุ่งมั่นก็ฝังใจ ความเพียรเป็นมาเอง

การที่จะพยายามปลูกฝังศรัทธาความเชื่อขึ้นในเบื้องต้น พอได้เห็นผลอันเป็นเชื้อแห่งความอุตส่าห์พยายามต่อไปนี้ เป็นความลำบากด้วยกันทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าพระพุทธเจ้า ไม่ว่าสาวก แต่ความพยายาม ความตะเกียกตะกายนี้เป็นทางที่ถูกต้องดีงาม ที่สามารถจะยังเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ไปได้ด้วยกัน จึงเป็นสิ่งที่ควรสนใจใฝ่ใจ เป็นสิ่งที่ควรหนักแน่นในธรรมเหล่านี้ อย่าปล่อยให้กิเลส หรืออย่าปล่อยช่องว่างให้กิเลส เข้ามาฉวยเอาธรรมทั้งหลายไปกินเสีย จะเหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า ๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร สัตว์โลกมีด้วยกันทั้งนั้น

ทุกท่านที่มาอบรมศึกษา จงนิมนต์อบรมศึกษาให้ถึงใจ อย่าสักแต่ว่ามาเฉย ๆ ไม่เกิดประโยชน์อันใด มาเพื่อศึกษา ทางหู ทางตาทางไหน สัมผัสสัมพันธ์เข้ามาสู่ใจ ให้ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาเพื่อเลือกเฟ้นสิ่งที่ผิดที่ถูก แล้วยึดไว้ในสิ่งที่เป็นสาระ อันใดไม่ดีให้รีบกำจัดปัดเป่าออกไป อย่าได้อยู่ด้วยความประมาทนอนใจ สิ่งเหล่านี้เราเคยอยู่แล้ว และเคยเป็นพิษเป็นภัยต่อเรามามากต่อมากแล้ว ถ้าเราไม่เชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า เราไม่มีทางจะออกจากกองทุกข์มหันตทุกข์นี้ได้ตลอดไป มีธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องจะฉุดลากเราให้ออกไปได้ จึงต้องพยายามในธรรมทั้งหลาย วิริยธรรมเป็นสำคัญ

หลักใหญ่ก็คือสติธรรม ปัญญาธรรม วิริยธรรมเป็นเครื่องหนุนให้สติธรรม ปัญญาธรรม ทำหน้าที่สืบเนื่องกันไป และขยายตัวให้เป็นวงกว้างและละเอียดแหลมคมเข้าไปเป็นลำดับ กิเลสมีอยู่มากน้อยจะมีอยู่ที่หัวใจนี้เท่านั้น ไม่มีอยู่ที่ไหน สติปัญญาผลิตขึ้นที่หัวใจ ความเพียรหนุนที่ใจ จะไม่พ้นจากความพังทลายแห่งกิเลสทั้งหลายไปได้ด้วยธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้เลย ธรรมนี้เป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ เหมาะสมกับการปราบกิเลสอยู่ตลอดเวลา ขอให้นำเข้ามา ขอให้ส่งเสริมให้ผลิตขึ้นให้มีกำลังกล้า อย่าได้นอนอกนอนใจ

เราจงถือเอาชาติปัจจุบันของเรานี้ เป็นหลักประกันแห่งความทุกข์ทั้งหลาย ตลอดถึงชาติความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย ทั้งอดีตที่เป็นมาแล้วและอนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้า จะไม่นอกเหนือจากจิตดวงที่ฝังยาพิษ คือเชื้อแห่งความเกิดไว้ภายในตัวเองนี้เลย จะพาให้ไปเกิดในสถานที่ต่าง ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ สูง ๆ ต่ำ ๆ เพราะอำนาจแห่งวิบากกรรมดีชั่วที่กิเลสพาให้ทำ นี่เป็นหลักความจริง ให้หนักแน่นลงที่ตรงนี้

อย่าไปลูบ ๆ คลำ ๆ เดือนปีนาทีโมง สถานที่นั่นสถานที่นี่ ว่าเกิดหรือไม่เกิด เคยเกิดหรือไม่เคยเกิด เคยตายหรือไม่เคยตาย ชาติหน้ามีหรือไม่มี อย่าไปหลงกลมายาของกิเลสที่วาดภาพออกหลอกตัวของเรา แต่ตัวของมันเองเหยียบย่ำทำลายอยู่ภายในจิตใจของเรานี้ และเหยียบย่ำทำลายไปทุกภพทุกชาติ ก็คือกิเลสนี้เองพาให้เกิดพาให้ตาย จะเป็นผู้ใดในสามแดนโลกธาตุนี้ มีกิเลสเท่านั้นพาให้เราเกิดเราตายเรื่อยมา ทำไมเราจะหลงกลมายาของกิเลส ว่าเคยเกิดหรือไม่เคยเกิด เคยตายหรือไม่เคยตาย แล้วชาติหน้ามีหรือไม่มี ทำไมจะหลงกลของมันอีก

ธรรมประกาศกังวานอยู่ทุกระยะเวลา เฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันนี้ก็ประกาศมาได้ ๒,๕๐๐ ปี ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ตะกี้นี้ได้ยกพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าประทานเสียเองหรืออุทานเอง เป็นความจริงแค่ไหนลงศาสดาได้อุทานขึ้นมาเสียเอง เรายังจะเห็นกิเลสทั้งหลายวิเศษยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าอยู่เหรอ เราจึงไปเชื่อมันว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ตายแล้วสูญหรือไม่สูญ หรือจะได้เกิดอีก แบกทุกข์มาเพราะกิเลสพาให้เกิดให้ตายเท่าไรแล้ว เรายังไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่เหรอ

ธรรมประกาศกังวานอยู่ตลอดมาตั้งแต่วันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เฉพาะองค์ปัจจุบันนี้ ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ นั่น ตะกี้นี้ก็ยกขึ้นแล้ว ตั้งแต่ อเนกชาติสํสารํ นายช่างเรือนคือตัณหาได้แก่อะไร ถ้าไม่ได้แก่พวกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหล่านี้จะได้แก่อะไร อยู่ที่ไหนเวลานี้ อยู่ที่ใจ มันสูญไปไหน ทำไมภพชาติจะสูญเมื่อกิเลสนี้ยังไม่สูญ ภพชาติจะเอาสูญมาจากไหน ก็กิเลสเป็นผู้ผลิตภพผลิตชาติขึ้นแท้ ๆ ให้เห็นอย่างปัจจุบันทันตาอยู่เวลานี้ ตัวของเรานี้ตัวภพตัวชาติหรือตัวอะไร เห็นอยู่เวลานี้ ใครเป็นผู้ผลิตขึ้นมาถ้าไม่ใช่กิเลสตัวนี้ ตัวที่พระพุทธเจ้าประกาศกังวานให้เราทั้งหลายได้ทราบตัวมหาภัยอยู่ตลอดมา ตั้งแต่ อเนกชาติสํสารํ จนกระทั่งถึง วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา

แน่หรือไม่แน่พระพุทธเจ้า เราจะกราบใครถ้าไม่กราบพระพุทธเจ้าพระองค์เอก ที่ทรงอุทานออกมาด้วยความรู้จริงเห็นจริงของพระองค์นี้ เราจะกราบใคร หรือจะกราบกิเลสตัวตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดอยู่หนา ทุกข์หรือไม่ทุกข์หนานั่นเหรอ ก็มันอยู่บนหัวใจเรา กิเลสตัวนี้อยู่ที่หัวใจเรา ลากเราไปเกิดที่นั่น ลากเราไปเกิดที่นี่ แล้วยังสงสัยอะไรอีก ผลก็เห็นกันอยู่นี้ เป็นรูปเป็นกายอยู่เวลานี้ ความทุกข์ความลำบากแม้ภายในจิตใจมันก็ผลิตทุกข์ขึ้นมาให้เราเห็นอยู่เป็นประจำ เรายังไม่ทราบอยู่เหรอว่ากิเลสพาให้เราเป็นทุกข์ แล้วเรายังไม่ยอมเชื่อธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่เหรอว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ นั่น สารธรรมที่สำคัญมากก็คือ อเนกชาติสํสารํ นี้ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศเสียเอง และทรงเย้ยตัณหาคือกิเลสประเภทต่าง ๆ ก็ประกาศอยู่แล้ว

อย่างที่กล่าวมาตะกี้นี้ คหการก ทิฏฺโฐสิ ดูก่อนนายช่างเรือน คือตัณหานี้ เธอตัวที่พาให้เกิดให้ตาย ลากเราไปในภพนั้นภพนี้ ภพน้อยภพใหญ่ ให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน ทุกข์มหันตทุกข์เพราะเธอนี้ เราได้เห็นหน้าแล้ว เธอตัวสำคัญ แต่ก่อนเราไม่รู้เราไม่เห็น เห็นแต่ความทุกข์ รู้แต่ความทุกข์ที่บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นผู้ผลิตทุกข์ขึ้นมา ไม่เห็นตัวสำคัญที่เอาลูกศรทิ่มแทงเรา บัดนี้เราเห็นแล้วทั้งลูกศรด้วย ทั้งผู้ที่ทิ่มศรมาด้วย พูดชัด ๆ ว่าอย่างนี้

ปุน เคหํ น กาหสิ ต่อไปนี้เจ้าจะไม่สร้างบ้านสร้างเรือน คือภพคือชาติให้เราได้อีกแล้ว นั่นท่านประกาศขนาดนั้น จะสร้างได้เฉพาะที่เป็นมาแล้วเท่านั้น บัดนี้เราได้เห็นหน้าเห็นตา พร้อมทั้งฆ่าให้แหลกไม่มีอะไรเหลือแล้ว เจ้าไม่อาจสร้างบ้านสร้างเรือน คือตัวภพตัวชาติให้เราได้อีกต่อไปแล้ว อะไร ๆ ถูกทำลายหมดดังที่กล่าวไปแล้วนั้น เรือนยอดหมายถึงอวิชชาเราขจัดแล้ว จิตเราถึงซึ่งวิสังขาร เหนือสิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลายแล้ว อย่ามาปรุงได้อีกเลย อย่าเข้าใจว่าจะมาปรุงได้อีกเลย จิตเราได้ถึงแล้วซึ่งนิพพาน ได้แก่ ตณฺหานํ ความอยากแม้ละเอียดสุดอันเป็นเรื่องของกิเลส ขาดสะบั้นไปหมดแล้ว

เราไม่เชื่อพุทธอุทานนี้จะเชื่อใคร กิเลสมันอุทานที่ตรงไหน ว่าได้รับความสุขความสบายเพราะมันนั้นน่ะ พิจารณาซิ ทำไมจึงเชื่อเอาเสียนักหนา เชื่อเอาแบบไม่ลืมหูลืมตา แล้วยังจะเชื่อมันอีกแบบไม่ลืมหูลืมตาตลอดไปเหรอ พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ประกาศกังวานอยู่ ทำไมไม่น้อมศีรษะลงไปรองฝ่าพระบาทท่าน เพื่อจะได้กำจัดปัดภัยทั้งหลายที่ติดตามเราแนบสนิท ๆ มานี้ให้กระจายตัวออกไป

การแสดงธรรมให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง ตามหลักความจริงที่มีอยู่ในหัวใจของเราทุก ๆ รายทุก ๆ องค์ตลอดสัตว์โลกทั่ว ๆ ไป มีกิเลสตัวนี้นะตัวสำคัญมาก ตัวโกหกมายาแสนกลอยู่ตรงนี้หมด ละเอียดแหลมคมมาก จึงต้องได้ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณา จนกระทั่งถึงได้เห็นตัวของมันดังที่พระพุทธเจ้าทรงเย้ยหยันนั่น ทรงพูดเย้ยทรงพูดถากพูดถาง ได้เห็นหน้าเธอแล้ว มิหนำซ้ำยังทำลายอีกแหลกไปเลย เห็นที่ไหน หน้ากิเลสอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจ ทำลายที่ใจแล้วความสิ้นภพสิ้นชาติก็สิ้นที่ใจ สิ้นก็คือสิ้นทุกข์นั่นแหละ สาเหตุที่ให้เกิดทุกข์ก็คือกิเลส สิ้นกิเลสก็สิ้นภายในใจนั้นเอง เมื่อสิ้นกิเลสแล้วก็สิ้นเชื้อที่จะพาให้เกิดต่อไปอีก ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ถึงแล้วซึ่งแดนแห่งพระนิพพาน แปลเอาความเลยอย่างนั้น

ธรรมเหล่านี้มีอยู่แต่ครั้งพุทธกาลนั้นเหรอ กิเลสประเภทที่มองเห็นหน้ามันนั้น มีแต่พระพุทธเจ้าเห็นหน้ามันเท่านั้นเหรอ มันมีหน้ามีตาแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเหรอ ครั้งเรานี้กิเลสไม่มีหน้าเหรอ กิเลสไม่เคยสร้างความทุกข์ให้เราเหรอ เราถึงไม่เห็นมันและเห็นโทษของมัน ธรรมะศักดิ์สิทธิ์วิเศษมีอยู่กับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายเท่านั้นเหรอ มาถึงพวกเราแล้วเป็นธรรมเมาไปหมดแล้วเหรอ อย่างที่หลวงปู่แหวนท่านว่า เอามาใช้ซิ

เราเข้าสู่สงคราม ก็คือต่อสู้กับกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตของเรา ด้วยวิริยธรรม สติธรรม ปัญญาธรรม อุตสาหธรรม ขันติธรรม นี่เป็นสำคัญ หมุนตัวลงไป ทุกข์ขนาดไหนก็ทุกข์เถอะ เคยทุกข์มาแล้วเพราะกิเลสย่ำยีตีแหลก แม้แต่ความทุกข์ที่เราประกอบความเพียรนี้ก็เพราะการแก้กิเลสนั้นเอง ธรรมแท้ไม่ได้ให้ทุกข์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย ความทุกข์ที่แก้กิเลสก็คือว่าทุกข์เพราะการแก้กิเลสต่างหาก ไม่ใช่ทุกข์เพราะธรรม เราทำไมไปตำหนิติเตียนว่าการบำเพ็ญธรรมเป็นทุกข์ กิเลสสร้างทุกข์ให้เราจนมองหาตัวไม่เจอ แล้วแก้กิเลสออกเป็นการแก้ยากขนาดไหน ทุกข์ยากขนาดไหน จึงทำไมไม่คิดตรองตรงนี้บ้าง

ว่ากิเลสนี้ทั้งแก้ก็ยาก ทุกข์ก็ทุกข์ แก้ก็ได้รับความทุกข์ความลำบากเพราะมัน ทำไมจึงไปตำหนิเอาว่าการบำเพ็ญธรรมการปฏิบัติธรรมเป็นของยาก กิเลสพาให้ยากทำไมไม่ว่ากัน ปัญญาย้อนเข้าไปซิถ้าอยากจะทันกิเลส นี่ก็กิเลสมันหลอกเราว่าการบำเพ็ญธรรมยาก การทำสมาธิภาวนายาก เดินจงกรมยาก การแก้กิเลสยาก ก็กิเลสพาให้ยากทั้งนั้นธรรมไม่ได้พาให้ยาก คิดให้มันถึงกันซิกับกิเลส ไม่งั้นจะทำลายกิเลสได้ยังไงปัญญาไม่ทันกัน

เราทำไมจึงเอาโทษไปโยนใส่อรรถใส่ธรรม ซึ่งเป็นของวิเศษเลิศโลกมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทำไมไม่โยนโทษอันเป็นหลักความจริงให้แก่กิเลสตัวจริงล้วน ๆ ในเรื่องก่อทุกข์ให้สัตว์โลกบ้าง หรือทำไมไม่โยนทุกข์ให้กิเลสซึ่งเป็นตัวเหตุอันสำคัญว่ามันเป็นตัวสำคัญ ทำไมจึงโยนทุกข์ให้ไปหาธรรมนู้น มันถูกต้องที่ไหนให้กิเลสพาโยน ถ้าธรรมพาโยนก็ย้อนลงไปหากิเลสนั่นซิ โยนเข้าไปหากิเลสนั่นซิ

การทุกข์ยากลำบากอยู่ทุกวันนี้ เพราะการประกอบความพากเพียร ก็คือเพื่อแก้กิเลสนั่นเองไม่ใช่เพื่อแก้ธรรมนี่นะ ธรรมท่านไม่ได้เป็นนักโทษ จิตเราเป็นนักโทษเพราะกิเลสบีบบังคับต่างหาก ธรรมไม่ได้มาบีบบังคับ ไม่ว่าธรรมประเภทใดไม่เคยบีบบังคับหัวใจของโลก ธรรมจึงเป็นสิริมงคล ธรรมจึงเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ให้ความสุขความเจริญแก่โลกมาแต่กาลไหน ๆ ไม่ได้เหมือนกิเลส

กิเลสต่างหากเป็นผู้ให้ทุกข์ให้ร้อน ให้ความเป็นฟืนเป็นไฟ ทรมานจิตใจของสัตว์โลกเรื่อยมา ในภพน้อยภพใหญ่มีแต่กิเลสพาให้เป็นทั้งนั้น ทีนี้เราจะแก้กิเลสออกจากใจของเรา การแก้ยากแก้ง่ายขนาดไหน ก็เป็นเรื่องการต่อสู้กับกิเลสแก้กิเลส เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลไม่ใช่เรื่องของธรรมพาให้เราทุกข์ พิจารณาซิ ถ้าเราพิจารณาตามหลักความจริงเช่นนี้ ถูกต้องตามความจริงเช่นนี้ เราก็ไม่หนักอกหนักใจในการประกอบความพากเพียร

สำคัญที่โยนความทุกข์ไปให้ธรรมนี้ซิ พอจะแก้กิเลสแล้วโยนความทุกข์ไปให้ธรรม ตำหนิติโทษธรรมเสียให้กิเลสได้ใจ ให้กิเลสเอาเป็นเครื่องมือเสียหมด มันก็ก้าวเข้าสู่ความเพียรไม่ได้ คอยแต่จะล้มจะตายเพราะกิเลสกล่อมกิเลสหลอก ไม่เคยเห็นความทุกข์ความลำบากเพราะกิเลสเป็นต้นเหตุนี้เลย เลยกลายเป็นว่าธรรมเป็นต้นเหตุให้ได้รับความทุกข์ความลำบากไปเสีย

รู้ไหมว่าพวกเรานี้หลงกลมันมาเท่าไร แม้แต่เข้าสู่สงครามเข้าสู่ทางจงกรมนั่งสมาธิภาวนาแล้ว ยังให้กิเลสกล่อมได้ ให้ไปตำหนิติเตียนธรรมนู้น ไม่ให้ตำหนิติเตียนกิเลสเลย แล้วกิเลสจะถลอกได้ยังไงเมื่อไม่ย้อนสติปัญญาอันเป็นหลักธรรมเข้าไปสู่หัวกิเลส ตีหัวกิเลสลง มันยากที่ไหน ธรรมท่านไม่ได้พายากนี่ ตัวกิเลสนี้ต่างหากพายาก ฟัดหัวมันลงให้มันแหลกนี้ อย่างนั้นถึงถูกเรื่องของนักปฏิบัติโดยอรรถโดยธรรม ถูกต้องตามความเป็นจริง

เอ้า ให้กิเลสหมดไปซิในหัวใจนี่เป็นยังไง ใจดวงนี้น่ะ ตั้งแต่ก่อนเคยถูกบีบบังคับอยู่ตลอดเวลา หาความสว่างสร่างซาอะไรไม่ได้เลย ยังไม่เห็นโทษของมัน เอาให้เห็นโทษของมัน ให้แก้มันได้ ฆ่ามันให้แหลกดังพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานขึ้นมา หรือว่าพุทธภาษิตในปฐมกาลก็ถูก เอาให้เห็นดำเห็นแดงกันอย่างนั้นซิ ธรรมนี้เพื่อความเห็นจริง เพื่อความเห็นดำเห็นแดงกัน ให้เข้าสู่ความจริงล้วน ๆ กิเลสเป็นยังไงให้เห็นกันให้รู้กันซิ มันอยู่ในหัวใจเราแท้ ๆ นี่ ธรรมก็อยู่ในหัวใจของเราแท้ ๆ สอนอยู่ที่ใจ กังวานอยู่ที่ใจ นำมาแก้กันซิปราบกันซิจะเป็นอะไรไปนักปฏิบัติ

เราเสียดายอะไรทุกวันนี้ ความเสียดายเหล่านั้นเป็นเรื่องของความเสียดายกิเลสทั้งหมด เรายังจะกล้าเสียดาย เรายังจะดื้อด้านเสียดายอยู่เหรอ เรามาปฏิบัติธรรมเอาให้จริงจังซิ เมื่อถึงขนาดที่ว่ากิเลสบรรลัยไปหมดแล้ว ความรู้นั้นไม่ต้องบอกที่นี่ ไม่มีขอบมีเขต สิ่งไม่เคยรู้-รู้ไปหมด เห็นได้หมด นอกจากพูดหรือไม่พูดเท่านั้นเอง สามารถที่จะพูดได้อย่างเต็มปากถ้าจะนำมาพูดนะ อ๋อ เท่าที่จิตไม่สะดวก รู้อะไรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เห็นอะไรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นเรื่องกิเลสทั้งมวลครอบหัวเอาไว้ จึงรู้อะไรก็รู้ตามประสีประสาอยู่ในอำนาจของกิเลส พอกิเลสพังไปหมดแล้วความรู้นี้เป็นยังไง นั่น

อ๋อ มีกิเลสเท่านั้นปิดหัวใจ คือความรู้อันนี้เอาไว้ ไม่มีอะไรในสามแดนโลกธาตุนี้ปิดความรู้นี้ไม่ให้แสดงตัวเต็มภูมิเต็มที่เต็มฐาน มีกิเลสเท่านั้น มันก็รู้ชัด ๆ น่ะซิ เพราะมันไม่มีอะไร เวลากิเลสหมดไปจากใจจริง ๆ มีอะไรเป็นขอบเป็นเขต มีอะไรเป็นที่ติดที่ข้องที่ตีบที่ตันไม่มี นั่น เอาให้มันจริงจังนักปฏิบัติ

ผู้มาศึกษาอบรมก็ฟังให้ถึงใจ ประพฤติปฏิบัติให้จริงให้จังซิ ธรรมะสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ กังวานอยู่ในหัวใจเราทุกคน ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ประกาศให้เห็นชัด ๆ อยู่นี้มีอดีตอนาคตที่ไหน ปรากฏอยู่ในปัจจุบันของเรานี้ทุกขณะ สมุทัย อริยสจฺจํ กิเลสมีที่หลับที่นอนเมื่อไร มีหมอนมีมุ้งที่ไหน มันทำงานอยู่บนหัวใจของเราตลอดเวลา ทำไมมรรคจะฆ่ากิเลสจึงจะมีแต่เสื่อแต่หมอนมัดเต็มตัว ว่าดับทุกข์ก็มีแต่เรื่องดังครอก ๆ ดับทุกข์ นั้นเหรอพระพุทธเจ้าพาดับทุกข์ ดับบนเสื่อบนหมอนที่มัดติดตัวแล้วหลับไม่ตื่นดังครอก ๆ นั้นเหรอนิโรธความดับทุกข์น่ะ นั่นคือนิโรธของคนตาย ถ้าหมดลมหายใจแล้วก็ตายเท่านั้นแหละจึงดังครอก ๆ

เอาละพอ พูดเท่านั้นแหละ เหนื่อย พูดไปพูดมา


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก