การแสวงโลก การแสวงธรรม
วันที่ 18 สิงหาคม 2526 เวลา 19:00 น. ความยาว 100.31 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖

การแสวงโลก การแสวงธรรม

โลกที่ไม่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ ก็ไม่ผิดอะไรกับสัตว์โลกที่มีอยู่เป็นอยู่ทั่วดินแดน ไม่มีอะไรแปลกต่างกัน สิ่งที่จะให้มนุษย์กับสัตว์แปลกต่างกันก็คือศาสนา เพราะศาสนานี้ต่างจากโลก โลกทั่ว ๆ ไปก็เรียกว่าโลกทั้งนั้น ศาสนาไม่ใช่โลก เพราะฉะนั้นจึงมีความแปลกต่าง เมื่อจิตใจมาสัมผัสสัมพันธ์กับศาสนาจะเป็นศาสนาใดก็ตาม ส่วนมากเป็นเรื่องธรรมทั้งนั้น แม้ผู้เป็นเจ้าของศาสนาจะไม่สามารถรู้ตลอดทั่วถึงของธรรม แต่ธรรมก็มีอยู่ในศาสนานั้น ๆ อยู่โดยดี เพราะเจตนาของผู้สอนศาสนาเป็นธรรม จึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ถือศาสนานั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีและดีมาก ผิดกับผู้ไม่มีศาสนาเลยเป็นไหน ๆ เพราะนี้เป็นคู่เคียงกับใจโดยตรง เป็นที่ยึดที่ให้ความสุขความไว้วางใจ ตามสัดตามส่วนของศาสนานั้น ๆ และของธรรมขั้นนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดีอีก

พูดในวงพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาเป็นศาสดาสอนโลก ย่อมเป็นธรรมเต็มภูมิคือเต็มพระทัย ในพระทัยนั้นเป็นธรรมทั้งดวง จึงสอนศาสนาได้มีความถูกต้องแม่นยำ วิชาธรรมที่นำมาใช้นี้ก็มิใช่ได้มาแบบโลก ๆ ต้องได้มาด้วยวิธีการของธรรม การเสาะการแสวง การขวนขวาย การอุตส่าห์พยายามทุกอย่าง ผิดกับโลกเขาทั้งนั้น เป็นลำดับ ๆ มาตั้งแต่การบำเพ็ญธรรมภาคพื้น ๆ ไปจนถึงธรรมอันละเอียดสูงสุด มีความแปลกต่างจากอาการของโลกโดยลำดับไป ธรรมจึงไม่เป็นโลก จิตที่รู้ธรรมเห็นธรรมด้วยการประพฤติปฏิบัติ จึงเป็นจิตที่แปลกต่างจากโลกไปโดยลำดับ ถ้ามีโลกทั้งสองก็เรียกว่าเป็นคนละโลกไปเลย

พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์เป็นสยัมภู คือทรงรู้เอง การทรงรู้เองนั้นก็คือไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมาสั่งสอน เพราะผู้มาสั่งสอนนั้นต้องเป็นศาสดา ถึงจะมาสั่งสอนภูมิของผู้ที่จะเป็นศาสดาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่มี ศาสดาจึงมีได้เพียงพระองค์เดียว ๆ ด้วยการขวนขวายของศาสดาแต่ละองค์ วิธีการต่าง ๆ ที่จะเริ่มภูมิอรรถภูมิธรรมขึ้นภายในพระทัยของศาสดาแต่ละองค์นั้น จึงต้องเป็นมาโดยลำพังพระองค์เองเพื่อความเป็นสยัมภูคือรู้เองเห็นเอง เพราะขวนขวายเอง ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งจะมาแนะมาบอกมาสอน เพราะผู้มาแนะมาบอกมาสอนนั้นเป็นวิสัยของสามัญชนธรรมดา ความรู้ธรรมดาจะมาสอนภูมิศาสดาเพื่อความเป็นศาสดาย่อมไม่ได้

ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จึงต้องขวนขวายโดยลำพังพระองค์ทั้งนั้น วิธีการขวนขวายจะผิดหรือถูกประการใด ก็ต้องเป็นอุบายวิธีของพระสติปัญญาของแต่ละศาสดาที่จะพึงขวนขวายเอง จึงเริ่มไปตั้งแต่ความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทน สติปัญญา เริ่มแปลกจากโลกไปตั้งแต่เริ่มแรกแห่งการปฏิบัติเพื่อความเป็นศาสดาในพระชาตินั้นของแต่ละศาสดา เวลาได้เป็นผลมาแล้วจึงเป็นสยัมภูเต็มพระองค์ คือไม่มีใครจะมาให้อุบายเพิ่มเติมได้เลย เป็นสิ่งที่เหมาะสมด้วยภาคปฏิบัติภาคค้นคว้า จนกระทั่งถึงภูมิแห่งธรรมที่ทรงรู้ทรงเห็น เป็นเรื่องทรงขุดค้น ทรงอุตส่าห์ขวนขวาย ทรงรู้ด้วยพระองค์เองทั้งนั้น จึงให้นามว่าสยัมภูทุก ๆ พระองค์บรรดาศาสดาที่มาสอนธรรมในแดนพุทธศาสนานี้

เราจะเห็นได้จากภาคปฏิบัติ แม้จะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าก็ตาม นี่ได้เงื่อนได้เห็นเหตุผลต้นปลายจากศาสดาทรงสั่งสอน แต่วิธีการที่ผู้นั้นจะนำไปขุดค้น จะนำไปขวนขวาย จะนำไปพินิจพิจารณาในแง่ใดก็ตาม จะเป็นเรื่องของผู้นั้นโดยเฉพาะ ไม่ใช่จะยึดเอาศาสนธรรมนั้นเข้ามากางเหมือนเขากางแบบแปลนแผนผังเช่นนั้น นั่นใช้ไม่ได้เลย ฉะนั้นจึงมอบให้ในวงปัจจุบันของผู้นั้นจะขุดค้นด้วยสติกำลังความสามารถ โดยยึดหลักส่วนใหญ่ที่ท่านสอนเป็นแนวทางไว้เท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือไปจากนั้นเป็นวิสัยของผู้บำเพ็ญนั้นจะขวนขวายเอาเอง เช่นอย่างปัญญา เอ้า ท่านก็แสดงไว้ทั้งดุ้น คือกลาง ๆ ธรรมะส่วนใดแง่ใดก็เป็นกลาง ๆ ของส่วนนั้นแง่นั้น ที่จะแตกแขนงไปจากส่วนกลางจากส่วนนั้นแง่นั้น นั้นเป็นอุบายวิธีการ เป็นการขวนขวายของผู้บำเพ็ญแต่ละราย ๆ จะพึงทำให้เกิดให้มีขึ้นในตน นี่ละหลักของการปฏิบัติธรรมการรู้ธรรมเห็นธรรมโดยแท้จริง

ไม่แต่พระพุทธเจ้า แม้สาวกยังมีร่องรอยที่จะพึงขวนขวายหรือว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เคลือบแฝงอยู่นั้นแหละ เมื่อปรากฏผลขึ้นมาแล้วจึงเป็น สนฺทิฏฺฐิโก คือรู้เฉพาะเจ้าของที่ขวนขวายเฉพาะเจ้าของ เหตุจะหนักเบามากน้อยลึกตื้นหยาบละเอียด เป็นสิ่งที่เจ้าของรู้เจ้าของ เป็นเจ้าของขวนขวายขึ้นมา ผลปรากฏขึ้นมามากน้อยจนกระทั่งเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของผู้บำเพ็ญนั้น ๆ จะพึงทราบโดยเฉพาะเท่านั้น ผู้อื่นทราบให้ไม่ได้ ผู้อื่นไปแนะให้ไม่ได้ในความจริงอันนั้น นี่พระพุทธเจ้าท่านจึงแสดงว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา การประกอบความเพียรเพื่อยังกิเลสทั้งหลายให้เหือดแห้งไปจากจิตใจนั้น เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายจะพึงขวนขวายเอง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฟังว่าทั้งหลาย เป็นแต่เพียงผู้ชี้บอกแนวทางให้เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงได้แนะนำหรือเตือนหมู่เพื่อนเสมอในอุบายวิธีการต่าง ๆ ที่สอนก็สอนทั้งดุ้น ถึงจะว่าละเอียดตามความรู้สึกของหมู่เพื่อนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังในอรรถธรรมบางแง่บางบทก็ตาม แต่ก็ยังไม่จัดว่าเป็นความละเอียดเท่าเจ้าของปฏิบัติและรู้ขึ้นมาเอง นั่นเป็นความละเอียด เป็นความตายตัวของผู้ปฏิบัติและของผู้จะรู้จะเห็นหรือผู้รู้ผู้เห็นจำเพาะตน นั่นจึงเป็นของจริงแท้ เป็นผู้ขวนขวายหามาด้วยลำพังตนเอง ธรรมประเภทต่าง ๆ เหมือนกับท่านยกให้เราทั้งดุ้น ให้เราไปเจียระไนไปแจงออกด้วยสติปัญญา ด้วยอุบายวิธีการของเราเอง นี่เป็นความชอบธรรม นี่เป็นทางเดินของผู้จะรู้จะเห็นธรรมทั้งหลายจะเป็นอย่างนี้

เพียงแต่ยึดโอวาทยึดคำสอนของครูบาอาจารย์และไปกางเช่นเดียวกับเขากางแผนที่นั้น เป็นไปไม่ได้ในหลักปฏิบัติ เราเพียงถือเอาเงื่อนนั้นมาเป็นหลักใจ แล้วแจงจากเงื่อนใหญ่ที่ท่านสอนไว้นั้นออกไปเป็นแขนงเล็ก ๆ น้อย ๆ แขนงใดก็ตาม ให้เป็นอุบายของเราเอง เป็นเรื่องสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความขวนขวายของเราเอง นั่นละเราจะได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้เคยเห็นขึ้นมาเอง โดยไม่มีใครหยิบยกหรือยื่นให้เรา นั่นเป็นสิ่งที่ภูมิใจ เป็นสิ่งที่แน่ใจของเราโดยแท้ เป็นธรรมแท้สำหรับเรา ไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นใด แท้ไปโดยลำดับลำดาของขั้นแห่งธรรม เรื่องความคาดความหมายเอามาใช้การใช้งานอะไรไม่ได้ในวงปฏิบัติ ที่จะเข้าด้ายเข้าเข็มกันจริง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของเจ้าของผู้บำเพ็ญนั้นจะพึงขวนขวายเองทั้งนั้น จึงขอให้พากันจำในข้อนี้เอาไว้

เวลานี้ศาสนานับวันมีสิ่งที่เป็นภัย สิ่งที่เป็นข้าศึกหนาแน่นขึ้นโดยลำดับ แม้ในวงชาวพุทธของเราเอง โดยไม่มีเจตนาจะทำลายหรือจะขัดแย้งมันก็ยังมีได้ เพราะสิ่งที่ขัดแย้งที่ทำลายนั้นไม่ขึ้นกับเจตนา มันก็ขัดได้แย้งได้ทำลายได้ นี่คือภาคแห่งความจำ ภาคแห่งความคาดคะเน จะไปตรงกับความจริงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เขาออกเป็นหนังสือว่า ถ้าผู้ใดหรือพระองค์ใดยังมีการนอนหลับอยู่แล้ว พระองค์นั้นไม่ใช่พระอรหันต์ นั่น พระอรหันต์แท้ไม่ได้หลับ เพียงพักผ่อนธาตุขันธ์เท่านั้น ส่วนจิตใจของท่านตื่นอยู่ตลอดเวลา คือหมายเอา ชาครธรรม ที่มีอยู่ประจำจิตที่บริสุทธิ์ของท่านนั้นน่ะ แต่เวลาเอานำออกมาพูดด้วยความจำด้วยความคาดคะเนจึงผิดกันไปคนละโลก หาเข้าใกล้ชิดกับความจริงนั้นแม้แต่น้อยไม่ เลยกลายเป็นคนละเรื่องขึ้นมา

การหลับนอนเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ก็ทราบด้วยดีอยู่แล้ว แล้วผู้รู้อันบริสุทธิ์ซึ่งครองร่างอยู่นั้นคืออะไร คือ ชาคร หมายถึงธรรมชาติที่ตื่นอยู่นอกจากวงสมมุติทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้น อาการแห่งความทราบในวงแห่งขันธ์จะเป็นอาการใดก็ตามเป็นเรื่องของขันธ์ เป็นเรื่องของสมมุติ อาการเหล่านี้ระงับตัวลงไปก็เรียกว่าขันธ์ระงับ ธรรมชาตินั้นเป็น ชาคร อยู่นอกสมมุติคือขันธ์อันนี้ ไม่ได้อยู่ในวงสมมุติคือขันธ์อันนี้ แม้จะอยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ก็ตาม ชาคร นั้นคือ ชาคร เมื่อหลับก็เป็นเรื่องของขันธ์นี้ระงับตัวลงไป ไม่ใช้อาการทุกส่วนของขันธ์ของสมมุติที่มีอยู่ในขันธ์นี้ ส่วน ชาคร นั้นขันธ์จะตื่นไม่ตื่นจากหลับก็ตาม ชาคร ก็คือ ชาคร อยู่นั้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหลับและตื่น นั่น

นี้เอามาคาดซี เลยกลายเป็นเรื่องพระอรหันต์นอนหลับอยู่แล้วไม่ใช่พระอรหันต์ นี่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความคาดความหมาย ความจดความจำ กับความจริงมันต่างกันอย่างไร ต่างกันอยู่มากทีเดียวหรือต่างกันเอามาก อาการทั้งหมดที่แสดงในขันธ์ล้วนเป็นสมมุติด้วยกันทั้งนั้น เพราะขันธ์เป็นรากฐานของสมมุติอยู่แล้ว ขันธ์กระดิกอะไรออกมาก็เป็นสมมุติทั้งหมด พอขันธ์ระงับตัวลงไป สมมุติในวงขันธ์นี้ก็ระงับตัวไปด้วย แล้ว ชาคร นั้นจะมามีส่วนได้ส่วนเสียกับขันธ์นี้อย่างไร เพราะไม่ใช่ฐานะที่จะมาเกี่ยวข้องกันได้ หรือมาสัมผัสสัมพันธ์กันเหมือนโลกทั่ว ๆ ไปได้ ต่างอันต่างเป็นหลักธรรมชาติของตัวอยู่เช่นนั้น

ความรู้ที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้น เราจะนำมาพูดเกี่ยวกับเรื่องความรู้เช่นเดียวกับความรู้ในขันธ์นี้พูดไม่ได้ อันนี้มันหยาบ ๆ นี่ รู้เด่นอยู่ในขันธ์อันนี้ก็เป็นเรื่องสมมุติอันหนึ่ง นั่น ไม่ต้องพูดถึงว่ารู้ด้วยการคิดการปรุง รู้ด้วยการรับทราบสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับขันธ์ทุกอายตนะ แม้แต่ความรู้อยู่ธรรมดาโดยลำพังตนเองที่เด่น ๆ นี้ก็เป็นเรื่องสมมุติอันหนึ่ง นั่น ที่นอกจากนี้ไปคืออะไร นั่นพูดไม่ได้ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้ แต่ไม่รู้แบบที่รู้อยู่ในวงขันธ์ อันนี้เป็นเรื่องอาการของสมมุติทั้งมวล จะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ที่ไหนได้เพราะเป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด จะเอาไปใช้ในวิมุตติได้เหรอ ใช้ไม่ได้

ธรรมชาติที่เป็นวิมุตติ ที่เป็นความรู้ของวิมุตติอย่างแท้จริงแล้วพูดไม่ได้นี่ เพราะไม่ใช่สิ่งนี้ทั้งนั้น นั่น ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นเราก็เหมือนว่าสิ่งนั้นไม่มี จะมีแต่ความรู้ที่เด่น ๆ อยู่ในขันธ์เห็น ๆ ชัด ๆ กันอยู่นี้เท่านั้นว่าเป็นความรู้ที่วิเศษวิโสอะไรไป มันวิเศษอะไรความรู้เหล่านี้ สิ่งที่ว่าวิเศษนั้นไม่ได้พูดว่าวิเศษ ไม่ได้พูดว่าเลว ไม่ได้พูดว่าอะไร บรรดาที่เป็นสมมุตินั่นต่างหาก แม้อยู่ในขันธ์ก็ไม่ใช่ขันธ์ ลองปฏิบัติดูซิ จำให้ดีคำพูดคำนี้ท่านทั้งหลายผู้ปฏิบัติ จะประกาศกังวานขึ้นในตัวในเมื่อเต็มภูมิที่ควรจะรู้จะเห็นธรรมประเภทนี้แล้ว จะไม่ปรากฏว่านมนานผ่านไปกี่ปีกี่เดือนอะไรสำหรับคำพูดของครูอาจารย์ ตลอดถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้แล้วประการใดก็ตาม จะสด ๆ ร้อน ๆ อยู่กับความรู้อันเป็นหลักธรรมชาติของมัชฌิมาโดยหลักธรรมชาติของตนนั้นแล

เพราะฉะนั้นการรู้การเห็นการพูดอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับตนเองในแง่ธรรมะต่าง ๆ แล้ว จะไม่เป็นที่แน่ใจได้เลย จึงควรปฏิบัติให้รู้ให้เห็นด้วยตนเอง จะพูดหรือไม่พูด จะแสดงออกมามากน้อยหรือไม่แสดงเป็นที่แน่ใจอยู่ตลอด เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมแน่ใจอยู่แล้ว

วิธีการของการปฏิบัติก็ได้อธิบายผ่านมาเมื่อสักครู่นี้ ขอให้ใช้ความคิดพินิจพิจารณาละเอียดถี่ถ้วน อย่านำเรื่องโลกคือเรื่องกิเลสเข้ามาแย่งชิง เข้ามายึดเรากุมอำนาจเราเป็นเครื่องมือของมัน ทั้ง ๆ ที่ประกอบความพากเพียรอยู่ เราก็คิดเป็นนิสัยแบบโลก ๆ ให้รู้อย่างนั้นให้เห็นอย่างนี้ ให้เป็นขั้นนั้นให้เป็นภูมินี้ไปหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนิสัยของโลกนิสัยของกิเลส ซึ่งเคยทำลายธรรมมาเป็นเวลานานอยู่แล้ว แล้วก็มาทำลายอยู่ในวงความเพียรของเราโดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้

ขอให้ยึดในหลักปัจจุบันเสมอในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ขุดค้นลงในสติปัฏฐาน ๔ นี้แลคือคลังแห่งธรรมอยู่ตรงนี้ ในอริยสัจ ๔ ให้ฝังใจให้ลึก ธรรมทั้งสองประเภทนี้ใหม่เอี่ยมอยู่ในตัวเรานี้แล ผลที่จะได้จากสัจธรรมทั้งสี่และสติปัฏฐาน ๔ นี้ก็ใหม่เอี่ยมอยู่ในจุดเดียวกัน ไม่มีกาลไม่มีสถานที่ที่จะว่าใหม่หรือเก่า นอกจากพูดว่าใหม่เอี่ยมตลอดเวลาเท่านั้น ไม่ใช่จะใหม่ระยะนี้แล้วไปเก่าในระยะนั้น คือเป็นธรรมของจริงล้วน ๆ จึงพูดได้ว่าใหม่เอี่ยมตลอดเวลาไม่ละความจริงนี้ จะเอาความคร่ำคร่าไปใส่ให้สัจธรรมนี้ได้อย่างไร จงพิจารณาตรงนี้

ทุกข์ก็ขอให้ยอมรับว่าทุกข์ แต่อย่าเอาตัวของเราเข้าไปเป็นเขียงรองในทุกข์นั้น จะถูกทุกข์นี้สับเอาแหลก ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ ผู้ที่รู้ว่าทุกข์มีอยู่ ให้กำหนดเรื่องความทุกข์ทางกายนี่เป็นสิ่งสำคัญมากในขั้นเริ่มแรก มันทุกข์ตรงไหนให้แยกแยะดูเรื่องความทุกข์ ที่เรียกว่าทุกขเวทนา เด่นกว่าเพื่อนก็คือทุกขเวทนา ในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ในขณะที่นั่งประกอบความเพียรนาน ๆ ก็ดี สัจธรรมอันนี้จะเด่นมากกว่าเพื่อน เมื่อสัจธรรมอันนี้เด่นแล้ว เราจะเอาตัวของเราไปรองสัจธรรมนี้ว่าเราเป็นทุกข์ แน่ะ นี่จะทำให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอท้อแท้แล้วปล่อยวางงานการพิจารณานี้ไปโดยไม่ต้องสงสัย

เพื่อความถูกต้องกับเหตุการณ์ที่กำลังแสดงขึ้นคือทุกขสัจ คือความจริงเท่านั้นที่เราต้องการ จะทุกข์มากทุกข์น้อยให้ดูจุดของทุกข์เต็มหัวใจ สติมีเท่าไรจ่อเข้าไป ปัญญามีเท่าไรคลี่คลายออกดูระหว่างทุกข์กับกาย กายนั้นอวัยวะส่วนไหนชิ้นใดที่ปรากฏว่าเป็นทุกข์เด่นกว่าเพื่อนในวงแห่งกายนี้ แยกดูด้วยความอยากรู้จริงเห็นจริง อย่านำคำที่ว่าอยากหายทุกข์ อยากให้ทุกข์หายเข้ามาเกี่ยวข้อง จะหลวมตัวเข้าไปให้กิเลสสับเอา ความอยากนั้นคือกิเลสแท้ ๆ คืออยากหายนั้นนั่นแหละท่านเรียกว่าความอยากเป็นกิเลส

ความอยากรู้จริงเห็นจริงในสิ่งที่ปรากฏอยู่ที่เรียกว่าธรรมนี้ ความอยากนี้เรียกว่ามรรค เอา อยากลงไป อยากเท่าไรยิ่งขุดยิ่งค้นเป็นมรรคให้เห็นความจริง แยกดูกายกับทุกขเวทนานี้เป็นอันเดียวกันจริง ๆ ไหม แยกดูแล้วย้อนดูใจกับทุกขเวทนากับกายทั้งสามอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เด่นมากอยู่ในร่างกายของเรา แล้วเป็นอันเดียวกันไหม ย้อนหน้าย้อนหลังด้วยความสนใจ ด้วยสติที่จดจ่อสืบเนื่องกัน ให้ปัญญาเป็นผู้ทำงานแยกแยะ แยกตรงไหนจ่อตรงนั้น ดูความจริงในตรงนั้น ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ดูความจริงของทุกขเวทนาให้เด่นให้ชัดด้วยสติ แยกไปทางร่างกายส่วนใดก็ตามเป็นเหมือนกันนี่ไหม เป็นเหมือนทุกขเวทนานี่ไหม ทุกขเวทนานี้เป็นเหมือนร่างกายส่วนนั้น ๆ ไหม เป็นอันเดียวกันไหม ถ้าเป็นเหมือนกันก็เป็นอันเดียวกัน

เวลาแยกแยะเข้าไปด้วยสติปัญญาแล้วมันไม่ใช่อันเดียวกัน นั่น ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติแห่งความจริงของตนเท่านั้น แล้วเพิ่งเกิดขึ้นและตั้งอยู่แล้วยังจะต้องดับไป กายนี้ปรากฏมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งบัดนี้ ค่อยเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยการบำรุงรักษา ทุกชิ้นทุกส่วนของร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด แล้วจะนำเข้ามาบวกให้เป็นเรื่องของทุกข์ ทุกข์เป็นเรื่องของกาย กายกับทุกข์เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร นี่การพิจารณาด้วยปัญญา จิตก็เป็นสภาพที่รู้ ๆ เวลาทุกขเวทนานี้ยังไม่เกิด จิตก็รู้อยู่เช่นนี้ เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากน้อยจิตก็รู้อยู่เช่นนี้ เวลาทุกขเวทนาดับไปจิตก็รู้อยู่เช่นนี้ แล้วเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร

ถ้าเป็นอันเดียวกันจริง ๆ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นความรู้ถึงจะปรากฏ ทุกข์ดับไปแล้วความรู้ก็ต้องดับไปตามความทุกข์นั้น จึงเรียกว่าเป็นอันเดียวกัน แต่นี้ทุกข์ก็เป็นทุกข์ รู้ก็เป็นรู้ ทุกข์มากทุกข์น้อย ผู้ที่รู้ ๆ นี้ไม่ลดความรู้ของตน รู้อยู่โดยสม่ำเสมอ นี่จึงเรียกว่าจิต แยกดูให้เห็นชัดเจนตามหลักความจริง อย่าเอาความกลัวตายเข้ามาเกี่ยวข้อง กลัวตายนั้นแหละคือสมุทัย ต้องการแต่อยากรู้อยากเห็นความจริง อย่าหมายอย่าคาดอันใดในขณะที่พิจารณากันอยู่เวลานั้น ร่างกายจะแตกก็ให้แตก นั่นเป็นเรื่องของกายจะแตก เรื่องของความรู้นี่ไม่ได้แตก ที่จะพิจารณาสัจธรรมทั้งหลายให้เข้าใจประจักษ์ด้วยสติปัญญาของตนนี้ไม่แตก สิ่งเหล่านั้นจะแตกให้แตกไปเลย อย่าเอามาคาดมาหมาย อย่าเอามากีดขวางทางเดินคือสติปัญญาเพื่อความรู้จริงเห็นจริงในสภาวธรรม ได้แก่สัจธรรมคือทุกขสัจและสมุทัยสัจ

การพิจารณาแยกแยะตีต้อนกันไปมานี้ เป็นการที่จะหาเหตุหาผลของสมุทัย คือตัวสำคัญมั่นหมายว่านั้นเป็นทุกข์นี้เป็นทุกข์ ว่าเราเป็นทุกข์ ว่าขาของเราเป็นทุกข์ หนังเราเป็นทุกข์ เอ็น เนื้อ กระดูก เป็นทุกข์ นี่เป็นเรื่องของสมุทัยที่ไปเที่ยวปักปันเขตแดนเอาไว้เป็นขั้นเป็นตอนโดยลำดับลำดาทั่วสรรพางค์ร่างกาย สติปัญญาสอดแทรกลงไป สติปัญญาสอดแทรกเห็นชัดตรงไหน ความสำคัญที่ว่านี้จะถอนตัวออกมา ๆ สุดท้ายเมื่อความสำคัญนี้ถูกตีต้อนเข้ามาด้วยปัญญาแล้วจะหดตัวเข้ามา ๆ ทุกข์ที่ว่าเป็นอยู่ในร่างกายนั้น สายยาวเหยียดของมันที่ไปยึดไปถือได้แก่ความสำคัญเป็นตัวเหตุ ให้ยึดให้ถือว่าทุกข์นี้เป็นเราก็หดตัวเข้ามา สุดท้ายหดเข้ามาสู่ใจ ถึงใจเลย อ๋อ อาการอันนี้เองพาให้เกิดทุกข์ ทุกข์อันนั้นก็มีอยู่อย่างนั้น อาการอันนี้พาให้เกิดทุกข์ขึ้นอีกประการหนึ่งต่างหาก

พอความสำคัญนี้ได้หดตัวเข้ามาแล้ว แม้ร่างกายนั้นจะเป็นทุกข์อยู่ก็สักแต่ว่าทุกข์ นั่น ช่วงนี้ก็รู้ตัวเอง จิตก็รู้ตัวเอง ไม่ไปสำคัญ ทุกข์ก็เป็นของจริงขึ้นมาเต็มส่วนหนึ่งในขั้นนี้แล้ว นั่น กายก็เป็นความจริงขึ้นมาประจักษ์ใจเต็มส่วน จิตก็เป็นความจริงขึ้นมาประจักษ์ตัวเองเต็มส่วน ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วไม่กระทบกัน แม้ทุกขเวทนาจะแสดงอย่างแรงกล้าหรือสาหัสประการใดก็ตาม ก็ไม่มีอะไรที่จะมากระทบกระเทือนจิตใจ ยิ้มได้หัวเราะได้สบายถ้าจะหัวเราะ นั่น ไม่กระทบกัน มันกระทบก็เพราะเอาไปประสานกัน ฝืนหลักธรรมชาติหลักความถูกต้อง ฝืนหลักธรรม นำทุกขเวทนานำกายเข้ามาบวกกับใจ เลยกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีนี้ก็สร้างทุกข์ขึ้นมาทับถมหรือเผาไหม้ตัวเองกลายเป็นทุกข์ทางใจขึ้นมาอีก

เพื่อความรอบคอบ เพื่อการเห็นความจริงอย่างแจ่มแจ้งในสัจธรรมซึ่งเกี่ยวโยงกันทั้งหมด เช่น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้เป็นธรรมเกี่ยวโยงกัน เราไม่ต้องไปคาดไปหมายว่าพิจารณาทุกข์แล้วจะพิจารณาสมุทัย แล้วจะนำมรรคมาใช้พิจารณามรรค แล้วถึงจะทำความแจ้งในนิโรธ นั่นเป็นความคาดความหมายไม่ใช่ความจริง ท่านเขียนไว้ตามอาการของธรรมเหล่านี้ ของความจริง ๔ อย่างนี้ว่ามีลักษณะต่างกันอย่างนี้นี้ต่างหาก ไม่ใช่ท่านจะให้เราไปปฏิบัติต่อสัจธรรมอย่างนี้ แล้วไปปฏิบัติต่อสัจธรรมอันนั้น แล้วต่อสัจธรรมอย่างนั้น เรียงรายไปอย่างนั้นไม่ถูก ท่านพูดไว้ตามอาการ

การกำหนดรู้ทุกข์ก็เพื่อจะสาวสาเหตุของทุกข์ว่าอะไรมันเป็นทุกข์ เป็นมาจากอะไร เป็นมาจากไหน ด้วยสติปัญญาซึ่งทำหน้าที่อยู่ในขณะเดียวกัน เมื่อเข้าใจแล้วคำว่านิโรธความดับทุกข์ทางใจก็ย่อมดับโดยลำดับลำดาของกำลังสติปัญญาที่เป็นมรรค เมื่อสติปัญญามีกำลังเต็มที่ สามารถฟาดฟันกิเลสให้พังทลายลงไปจากจิตโดยสิ้นเชิงแล้ว นิโรธความดับทุกข์ก็ดับเต็มที่ พึ่บเดียวเท่านั้นไม่มีอะไรเหลือเลย และไม่มาดับอีก นั่นก็เกี่ยวกับกิริยาเช่นนั้นเรียกว่านิโรธ เป็นกิริยาของมรรคที่มีกำลังปราบกิเลสให้สิ้นเชื้อลงไปแล้ว ทุกข์ที่เป็นผลก็ดับไปพร้อม ๆ กัน เป็นอาการของสัจธรรมแต่ละอย่าง ๆ เท่านั้น

เมื่อได้ทำงานเต็มที่เรียนสัจธรรมจบรอบหมดแล้ว สัจธรรมทั้งสี่นี้ก็หมดปัญหาต่อกัน ทุกข์ในใจก็ไม่มีเพราะสมุทัยสิ้นเชื้อไปแล้ว สมุทัยเป็นสาเหตุให้ทุกข์ทางใจเกิดขึ้น ได้สิ้นเชื้อไปแล้วทุกข์ทางใจหมดไป เพราะมรรคมีกำลังสังหารสมุทัย เมื่อทุกข์ดับไป กิริยาแห่งการดับทุกข์และสมุทัยนั้นแลท่านเรียกว่านิโรธ แล้วก็หมดปัญหากันไปโดยสิ้นเชิง มรรคก็ไม่ทำหน้าที่จะถอนกิเลสตัวใดอีก ประเภทใดอีก ผู้ที่รู้ว่ากิเลสดับไปแล้วทุกข์ดับไปแล้ว และสติปัญญามีกำลังพอดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงแล้ว นั้นคือผู้บริสุทธิ์ นั่นละที่นี่อันนั้นธรรมชาตินั้นนอกจากสัจธรรมทั้งสี่

สัจธรรมทั้งสี่นี้เป็นทางก้าวเดิน พอพ้นจากนี้แล้ว ธรรมชาติที่รู้ว่าทุกข์ สมุทัย ดับไปด้วยสติปัญญานั่นไม่ใช่สัจธรรม นั่นคือธรรมชาติที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ตรงนั้น สิ่งเหล่านี้มันจะเป็นเศษเป็นเดนอยู่ภายในร่างกายก็ทราบ เช่น ทุกข์ในเรื่องร่างกายมันก็เป็นของมันอยู่เช่นนั้นแหละ แต่ทุกข์ทางใจเพราะสมุทัยเป็นเครื่องเสริมไฟไม่มี เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ท่านจึงไม่มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนาทางใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ดับไปแล้วเอาอะไรไปเป็นเวทนา สิ่งเหล่านี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเวทนาขึ้นมา กิเลสเป็นผู้สร้างทุกข์ขึ้นมาทางใจ กิเลสดับไปจากใจแล้วเอาอะไรมาสร้างทุกข์ให้ใจได้รับความทุกข์หรือสุข มรรคเป็นกิริยาดับกิเลสลงไปแล้วก็สิ้นหน้าที่ของตน สุขที่เป็นหลักธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์นั้นท่านก็ให้ชื่อว่า ปรมํ สุขํ ซึ่งไม่ใช่สุขเวทนานี้ เป็นสุขในหลักธรรมชาติที่นอกเหนือไปจากวงสมมุติอีกทั้งมวลแล้ว

ธรรมที่กล่าวมาทั้งมวลนี้อยู่ไหนเวลานี้ สัจธรรมทั้งสี่กังวานอยู่ในจิตของเราทุก ๆ ท่าน สติปัฏฐาน ๔ ก็เกี่ยวโยงกัน เวลาทำหน้าที่เกี่ยวโยงกันเช่นเดียวกับทำหน้าที่สัจธรรมทั้งสี่นี้ อย่าไปเข้าใจอย่าไปแยกไปแยะไปเรียงลำดับลำดาในการปฏิบัติ จะผิดจากหลักความจริงทั้งมวลแล้วจะไม่เกิดผลอันใดขึ้นมา วงปฏิบัติเป็นเช่นนี้ พิจารณากายแล้วจะพิจารณาเวทนา แล้วจะไปพิจารณาจิต แล้วจะพิจารณาธรรม พอจ่อลงไปในกายนั้น อะไรมีอยู่ในนั้นมันก็รู้ ลงสติปัญญาได้หยั่งลงไปแล้วทั้งกายทั้งทุกข์ทั้งสุขจะรู้กันตรงนั้นเพราะเกี่ยวโยงกัน เวทนาจิต จิตก็เป็นผู้พิจารณาแท้ ๆ ทำไมจะไม่รู้ตัวเอง ธรรมคืออาการต่าง ๆ ที่แสดงอยู่ในวงสติปัฏฐาน ๔ นี้ยังจะแยกกันไปไหน จะไปอยู่ในที่เร้นลับที่ไหน มันก็ทราบไปโดยลำดับภายในวงแห่งสติปัฏฐาน ๔ นั้นแล มันทำงานเกี่ยวโยงกัน

หนักตรงไหนคือสัมผัสสัมพันธ์ที่ตรงไหนมาก ให้กำหนดนั้นเป็นจุดการพิจารณา เช่น พิจารณากาย เอ้า เวลาพิจารณากาย ทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไรพิจารณาทุกข์ มันหากบอกตัวของมันเองให้พอเหมาะพอดีนั่นแหละ เมื่อเวลาพิจารณาทุกข์มันก็วิ่งเข้าหากาย พิจารณากายก็วิ่งเข้าหาทุกข์ สุดท้ายก็วิ่งเข้าหาใจ แน่ะ ประสานตรงนั้น นี่การพิจารณาหลักความจริงเป็นเช่นนี้ พิจารณาให้ดีผู้ปฏิบัติ อย่าทำเหลาะ ๆ แหละ ๆ ให้มีความจริงใจ

หลักวิชาทั้งมวลนี้ต้องเป็นผู้ปฏิบัติที่จะผลิตขึ้นมาใช้สำหรับตัวเอง หลักวิชาฆ่ากิเลสเราจะเอาสติปัญญาแบบโลก ๆ มาใช้ไม่ได้ ต้องเป็นสติปัญญาแบบธรรมในวงปฏิบัติของเราเองพิจารณา ขุดค้นขึ้นมาผลิตขึ้นมา ตามขั้นตามภูมิแห่งสติปัญญาที่ควรจะพิจารณาได้โดยลำดับลำดาไป จนกระทั่งถึงเป็นสติปัญญาแห่งธรรมล้วน ๆ ได้แก่ มหาสติมหาปัญญา นี่ไม่เกี่ยวกับโลกใด ไม่เกี่ยวกับวิชาของโลกแขนงใดเลย เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาภายในตัวเอง เกิดขึ้นมาภายในตัวเอง มีกำลังขึ้นมาภายในตัวเอง แก้กิเลสภายในตัวเองไปโดยลำดับลำดา

นี่ละการแก้กิเลส เราจะเอาวิชาของโลกซึ่งเป็นเรื่องกิเลสมาใช้มันใช้ไม่ได้ ต้องเอาวิชาที่เกิดขึ้นจากธรรม สติที่ตั้งสติ ธรรมดาของกิเลสตั้งไม่ตั้งมันก็เป็นสติของกิเลสโดยดีอยู่แล้ว แน่ะ ไม่เห็นสนใจจะตั้ง แต่ถ้าเป็นสติของธรรมแล้วต้องตั้งต้องส่งเสริม ปัญญาของทางโลกอันเป็นเครื่องมือกิเลสแล้วก็ใช้กันอยู่ที่เห็น ๆ นั่นแหละ มันลำบากลำบนที่ตรงไหน แต่ปัญญาทางด้านธรรมะนี้ต้องได้ใช้ความคิด ฝึกให้คิด หัดให้คิด บังคับให้คิด ตั้งสติ บังคับจิตใจให้ดีด้วยสติ นั่น มีการบังคับบัญชากัน จดจ่อต่อเนื่องกันอย่างเอาจริงเอาจัง นี่หลักของการตั้งสติ หลักของการบำรุงสติก็คือรักษาสติให้ดี หลักการผลิตปัญญาขึ้นมาก็ต้องบังคับให้คิดให้อ่านในแง่นั้นแง่นี้ นี่ละเรียกว่าวิชาหรือปัญญาที่เกิดขึ้นทางด้านธรรมะ ต้องเกิดขึ้นด้วยวิธีนี้

ท่านว่าสมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญานั้นหนุนอย่างนี้เอง พอสมาธิมีกำลังปรากฏขึ้นภายในตัวแล้ว จิตย่อมไม่หิวโหยต่ออารมณ์นั้นอารมณ์นี้ซึ่งเคยเป็นมา อิ่มตัวในขั้นนี้แล้วพาให้พิจารณาทางด้านปัญญา บังคับให้พิจารณาก่อนในขั้นเริ่มแรก ไม่งั้นจิตมันติดอยู่ในสมาธิในความสุขของสมาธิสงบร่มเย็นนี้ จะไม่สนใจทำงาน ซึ่งจะได้ความละเอียดแหลมคมมากยิ่งกว่านี้ หรือความสุขอันละเอียดยิ่งกว่านี้ถ้าไม่ได้ใช้การบังคับบัญชา ต้องใช้บังคับบัญชาให้พินิจพิจารณา จนกว่าสติปัญญานี้พอจะตั้งตัวให้เห็นเหตุเห็นผล เช่นอย่าง ทุกฺขํ อย่างนี้ หรืออสุภะอสุภัง ก็ค่อยปรากฏขึ้นมา แต่ก่อนมีแต่คาดแต่หมาย ครั้นใช้ปัญญาพินิจพิจารณาหลายครั้งหลายหน คำว่าอสุภะอสุภังก็ค่อยเด่นขึ้นภายในจิตใจ เด่นขึ้นทางปัญญา เมื่อเด่นขึ้นแล้วเห็นผล เมื่อเห็นผลแล้วสติปัญญาต้องมีแก่ใจขยับตัวเข้าไป พิจารณาเข้าไปจนแจ้งชัดขึ้นมาโดยลำดับ ๆ อสุภะที่รู้เองเห็นเองจากการปฏิบัตินี้กับอสุภะที่จำมานั้นผิดกันคนละโลก นั่นที่นี่

นี่แหละที่ว่าสติปัญญาเป็นเรื่องของธรรมผลิตขึ้นมาเอง เป็นเรื่องผู้ปฏิบัติจะผลิตขึ้นมาเอง แม้แต่เราเรียนในปริยัติ เราจะเอานั้นมากางเหมือนแผนที่ก็ไม่ได้ไม่เป็นอสุภะให้ เป็นแต่สัญญาความจำเฉย ๆ ไม่เป็นความจริงขึ้นมาตามหลักธรรมชาติของอสุภะที่มีอยู่ในร่างกายนี้เลย นั่น จึงต้องได้ใช้ปัญญาสอดแทรกเข้าไปพิจารณาเข้าไป ทีแรกต้องใช้การบังคับเพราะปัญญายังไม่เห็นผลของตัวเอง ต่อเมื่อได้ปรากฏผลขึ้นมาโดยลำดับลำดาแล้วจะมีแก่ใจ แล้วขยับไปเรื่อย ๆ ทั้งผลก็ปรากฏให้เป็นที่สุขสบาย เบาไปโดยลำดับลำดา เพราะการถอดการถอน เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงไปโดยลำดับ แล้วสติปัญญาก็จะก้าวเดิน ๆ เรื่อยเทียว นั่น ต่อจากนั้นสติกับปัญญาก็ไปด้วยกัน กลมกลืนกันจนกระทั่งเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา นี่ที่นี่เป็นวิชาธรรมแท้ ๆ เป็นวิชาธรรมล้วน ๆ ที่นี่

เราไม่ต้องไปคิดหาอุบายจากวิชาโลกวิชาใดเข้ามาช่วยแก้กิเลส มันหากเป็นหากผุดขึ้นมา เราผลิตขึ้นมาเอง เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ เกิดขึ้นมาไม่หยุดไม่ถอย นี่จึงว่าเป็นสิ่งที่ว่าอจินไตย ไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่น่าจะคิด ไม่น่าจะไปคำนึงคำนวณว่าสติปัญญานี้มีความกว้างแคบละเอียดแหลมคมแค่ไหน ขอให้รู้ด้วยตนเองเถอะ พิจารณาด้วยตนเอง ละเอียดแหลมคมหรือกว้างแคบขนาดไหนจะรู้ด้วยตนเอง ๆ เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ทั้งเรื่องของสติ ทั้งเรื่องของปัญญา ทั้งเรื่องของการฆ่ากิเลสหมดไปมากน้อย เป็นวิชาของตัวเองทั้งนั้น เรียกว่าวิชาธรรมแท้

เราจะนำสติปัญญาทางโลกวิชาทางโลกมาใช้แก้กิเลสฆ่ากิเลสไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของวิชาธรรมที่ผลิตขึ้นมาภายในตัวเอง โดยอาศัยตำรับตำราที่ได้เรียนมามาเป็นหลักเกณฑ์เอาไว้ ส่วนการที่จะปฏิบัติหน้าที่ตนเองนั้นต้องเป็นเรื่องของเราโดยเฉพาะ ๆ จนกระทั่งรู้ชัดเห็นชัด ดื่มด่ำในความพากเพียร เห็นโทษก็เห็นโดยลำดับลำดาจนเห็นอย่างถึงใจ เห็นคุณแห่งธรรมแล้วเห็นคุณค่าของปัญญาก็เห็นโดยลำดับลำดา จนกระทั่งเห็นอย่างถึงใจ เมื่อทั้งสองอย่างคือทั้งเห็นโทษเห็นคุณอย่างถึงใจแล้ว ทำไมพลังของใจจะไม่มีอำนาจมาก ต้องมีอำนาจมาก พุ่ง ๆ แน่ะ

ที่นี่เราจะได้เห็นชัดเจนว่า ความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอความท้อแท้เหลวไหล เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล เมื่อก้าวมาถึงขั้นนี้แล้วมันหายหน้าไปหมด ความที่ว่านิสัยน้อยวาสนาน้อย ปัญญาหยาบ เป็นคนอาภัพวาสนา เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสมากล่อมไม่ให้เราดำเนินทางด้านธรรมะ ให้ออกจากเงื้อมมือของมันหรือจากอำนาจของมัน แต่พอสลัดมันออกได้ด้วยวิธีความเพียรเช่นนี้แล้ว เราจึงเห็นได้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเพลงของกิเลสกล่อมใจทั้งนั้น เพราะมันไม่มีคำว่าขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่จะเอาให้รู้ให้เห็น มีแต่จะเอาให้หลุดพ้นจากความกดขี่บังคับของกิเลสนี้โดยถ่ายเดียวเท่านั้น จนถึงขั้นว่า เอ้า ถ้าหากกิเลสยังมีอยู่ภายในจิตใจนี้คำว่าถอยนี้เป็นมีไม่ได้ คำว่าแพ้นี้เป็นมีไม่ได้ นอกจากตายเท่านั้น แน่ะ มีมาเท่าไรเป็นอันว่าทุ่มแก่กัน ๆ มีแต่ให้รู้ไม่รู้ตาย ให้พ้นไม่พ้นตายเท่านั้น

คำว่าแพ้นี่มีไม่ได้ คำว่ามีไม่ได้นี่คือมีเต็มหัวใจแล้ว ว่ามีไม่ได้ ฟังซิมันเต็มหัวใจแล้ว นอกจากจะให้ชนะถ่ายเดียว ให้หลุดพ้นเห็นประจักษ์โดยถ่ายเดียว เวลานี้ก็เห็นประจักษ์มาโดยลำดับลำดาแล้วแต่ยังไม่ได้เต็มภูมิ จะเอาให้เต็มเอาให้ชนะอย่างเด็ดขาด ทีนี้ความขี้เกียจขี้คร้านมันจะมาแอบมาซ่อนอยู่ตรงไหนเวลาไหนขณะใดมันไม่มี เมื่อไม่มีแล้วก็รู้ละซีว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องกดถ่วง เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล เอาจนกระทั่งกิเลสพังหมดก็ด้วยสติปัญญาของธรรมที่เราผลิตขึ้นมาเอง เป็นสติปัญญาของธรรมล้วน ๆ เป็นความเพียรของธรรมล้วน ๆ ถึงกิเลสพังไม่มีอะไรเหลือแล้ว ที่นี่ไอ้เรื่องความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายามซึ่งเป็นเหตุ ๆ เมื่อถึงผลอันสมบูรณ์แล้วเหตุเหล่านี้ก็หมดไปไม่มีอะไรเหลือ สติปัญญาก็เป็นสติปัญญาธรรมดา ถึงเวลาที่จะใช้ก็ใช้ไป ส่วนสติปัญญาสำหรับแนวรบนั้นรบอะไร แน่ะ หากเป็นในตัวเอง หากรู้ในธรรมชาติของตัวเองโดยไม่มีใครบอกใครสอน จึงเรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก สนฺทิฏฺฐิโก พอเหมาะพอควรแก่ผู้ปฏิบัติแก่ผู้รู้ผู้เห็นไปโดยลำดับลำดานั่นแล จนกระทั่งเหมาะสมเต็มที่ภายในจิตใจ

อย่าหนีจากหลักสัจธรรมทั้งสี่ จะพิจารณานอกก็ตาม มันติดตรงไหนให้นำมาแยกมาแยะ เอาให้เห็นตามความจริง เพราะความจริงมีอยู่แท้ ๆ มีแต่กิเลสมันมาพรางตาไว้เฉย ๆ มาปิดตาไว้ให้เห็นไปตามเรื่องของมันทั้ง ๆ ที่เหลวไหลหาความจริงไม่ได้ มันหลอกขนาดนั้นเชื่อมันได้อยู่เหรอ เช่นอย่างว่าร่างกายนี้เป็นของสวยของงาม มันสวยตรงไหน เอ้าดูซิตั้งแต่ตาเนื้อ ๆ นี้ก็เห็นกันอยู่แล้วนี่ ไม่ใช่คนตาบอดทำไมจะไม่เห็น ถึงตาบอดจมูกมันก็บอก แน่ะ เพราะจมูกไม่บอดนี่ มันเห็นกันอยู่รู้กันอยู่ หยั่งลงไปให้เห็นความจริงซิ ถ้าถึงขั้นอสุภะก็ให้มันเห็นชัดเจนอย่างที่ว่านั่น ปัญญาจะเห็นแท้ ๆ เมื่อนำมาใช้อยู่เสมอ จะหนีจากหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไปนี้ไม่ได้เลย เพราะเป็นความจริงแท้ ๆ นี่ ไม่ได้ปลอมเหมือนกิเลส

กิเลสมันปลอมร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัญญาจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลานี้เราจะนำธรรมมาใช้ปราบสิ่งที่จอมปลอมเหล่านั้นให้มันหมดให้มันสิ้นซากไปจากใจ ใจจะไม่ได้รับความทุกข์ จะไม่เป็นนักโทษ ถูกออกจากที่คุมขังนี้ไปสู่ที่คุมขังนั้น ออกจากภพนี้ไปสู่ภพนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นที่คุมขังอันอยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้งมวลมันดีที่ไหน ให้พ้นอำนาจของกิเลสเสียเท่านั้นเราจะเห็นเป็นยังไงที่นี่ โลกนี้เป็นยังไง ขันธ์อันนี้แหละที่เคยอยู่ด้วยกัน ใจดวงนี้แหละที่เคยรู้เคยเห็นมาแต่ก่อน กับขณะที่กิเลสหลุดลอยไปหมดแล้วเป็นยังไง เห็นขันธ์นี้เห็นเป็นยังไงบ้างที่นี่ เห็นจิตนี้เห็นเป็นยังไงบ้าง ถ้าว่าเป็นสองโลกก็เป็นคนละโลกไปเลย ถ้าไม่ว่าสองโลกก็คือว่าสมมุติกับวิมุตติเป็นยังไง มันก็รู้ในตัวเอง

ถามหาที่ไหนพระนิพพาน ขอให้เอากิเลสให้มันแหลกไปเถอะ ตัวนี้แหละตัวมันให้คาดให้หมาย ตัวมันทำลายมรรคผลนิพพานความดีของเรา ฟาดให้มันพังลงไปหมดแล้วไม่ต้องถาม จะถามอะไรก็เป็นความดีอยู่แล้วเต็มหัวใจถ้าว่าดี แน่ะ ก็เต็มอยู่แล้ว ไม่มีใครเข้ามาขัดมาแย้ง มีแต่กิเลสเท่านั้นมันขัดแย้งหัวใจ บีบบังคับหัวใจให้ทำงานหรือให้อยู่ตามปกติสุขไม่ได้ มีกิเลสเท่านั้นแหละในสามแดนโลกธาตุนี้ เราอย่าเข้าใจว่าดินฟ้าอากาศต้นไม้ภูเขา แผ่นดินทั้งแผ่นนี้มาเป็นภัยมาเป็นอันตรายต่อจิตใจเลย มีกิเลสเท่านั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา เป็นต้น มีเท่านี้ ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียดของมัน เป็นพิษเป็นภัยทั้งหมด เป็นเครื่องกดขี่บังคับจิตใจให้เราได้เป็นนักโทษเพราะมันได้ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นจึงปราบลงให้มันเรียบอย่าให้เหลือซากอยู่ภายในใจเลย นั่นละจะแสนสบายขนาดไหนวิเศษขนาดไหน ไม่ต้องถามไม่ต้องเสกสรร หากเป็นอยู่ภายในจิตใจ คาดโน้นคาดนี้ หมด แม้ที่สุดภพชาติ จะไปเกิดที่ไหน ๆ หมด ตายแล้วไปเกิดที่ไหนหมด ชีวิตร่างกายนี้จะตายเมื่อไร หมด ไม่ไปสนใจก็รู้กันอยู่แล้วว่าดินก็เป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ตายไม่ตายก็เห็นกันอยู่นี้ นั่นมันก็รู้อยู่ใจเป็นใจ แน่ะ ไม่มีอะไรเข้ามาบีบบังคับพอให้ใจดิ้น คาดโน้นคาดนี้ การที่ใจกระเสือกกระสนกระวนกระวายก็เพราะมีสิ่งบีบบังคับมันนั่นแล เมื่อไม่มีอะไรเป็นสิ่งบีบบังคับ เป็นอิสระในหลักธรรมชาติเต็มตัวแล้ว มีอะไรเข้าไปเกี่ยว นั่นละท่านว่าแสนสบาย บรมสุขก็ตรงนั้นเอง

การห่วงหมู่เพื่อนก็เป็นห่วงดังที่ว่านี้ ไม่อยากจะรับมาก..รับพระรับเณร แต่ก็จำต้องได้รับเพราะเห็นหัวใจของแต่ละดวง ๆ มีคุณค่า แสวงหาที่พึ่งที่เกาะครูอาจารย์ เพราะตนยังไม่สามารถจะพึ่งตนเองได้ ต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์เป็นไม้เท้าหรือเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นที่ยึดเป็นที่เกาะ เราเห็นใจเพราะเราเคยเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์มาแล้ว ทำไมจะไม่เห็นใจจะไม่รู้เรื่องของหมู่เพื่อน นี้แหละเป็นเหตุที่จะให้รับไว้มาก แต่การรับไว้มากโทษของมันก็มีอีก ไม่ใช่ว่าจะเห็นแต่คุณค่าของใจถ่ายเดียว ใจนั้นมันทำให้เป็นพิษได้ถ้าผู้ปฏิบัติแต่ละราย ๆ ไม่รอบคอบในตัวเอง ไม่มองให้รอบข้างข้างหน้าข้างหลัง ทั้งท่านทั้งเราที่อยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากน้อย เป็นอย่างไรที่จะปฏิบัติต่อกันให้เป็นความราบรื่นสงบร่มเย็น ปฏิบัติอย่างไร ถ้าไม่คิดอย่างนั้นมันก็ย้อนเข้ามาคิดตั้งแต่เรื่องของตัวเองอย่างเดียว นั้นแหละมันกระทบกัน ให้พากันระมัดระวัง ให้รู้ทั้งนอกให้รู้ทั้งใน รู้ทั้งท่านรู้ทั้งเรา หัวใจท่านเป็นยังไงหัวใจเราเป็นยังไง ถ้ามุ่งอรรถมุ่งธรรมต่อกันแล้วอยู่ด้วยกันได้ มากน้อยสบายทั้งนั้นแหละ สงบสุขไปหมด

ก่อนอื่นอะไรผิดก็ตามอย่าด่วนไปตำหนิว่าคนอื่นคนใดผิด ให้ดูตัวเองให้รอบคอบเสียก่อน เอ้า สมมุติว่าผู้นั้นผิดก็ให้เห็นว่าผิด แต่ก็ให้ ๆ อภัย เพราะเป็นสิ่งที่ควรให้อภัยได้ก็ต้องให้อภัย แล้วมีเหตุผลกลไกอะไรก็พูดกันตามเรื่อง ผู้ที่ตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติด้วยกันแล้วให้ยอมรับกันทันที เพราะความถูกต้องนั้นคือธรรม เรามาแสวงหาธรรมไม่เอาความถูกต้องจะเอาอะไร เอาทิฐิมานะมันเป็นเรื่องของกิเลสเป็นฟืนเป็นไฟเผาตัวเองแล้วก็เผาคนอื่น นั่น ต้องคิดอย่างนี้เสมอนักปฏิบัติอยู่ด้วยกันมากน้อย

ตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติอดอาหารหรือวิธีการต่าง ๆ ก็ให้พึงพิจารณาตัวเอง อดมากอดน้อยเป็นยังไง ได้ผลยังไงบ้าง อย่าทำไปสุ่มสี่สุ่มห้าแบบด้นเดาเกาหมัดมันก็ไม่เกิดประโยชน์เหมือนกัน คือเหล่านี้เป็นอุบายวิธีช่วยความเพียรของเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องฆ่ากิเลสเพราะการอดอาหารอย่างเดียว อันนั้นเป็นอุบายเป็นเครื่องหนุน การจะฆ่ากิเลสต้องฆ่าด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อันนี้ต่างหากนะ ให้พิจารณา การอดอาหารอดมากอดน้อยให้คำนึงถึงผลเป็นยังไงบ้าง มีสติมีปัญญารอบการปฏิบัติของตัว วิธีการต่าง ๆ ที่เรานำมาทำมาบำเพ็ญที่เรียกว่าความเพียร ๆ นี้มันเหมาะสมอย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้นสติปัญญาจึงต้องรอบ ต้องใช้ทั้งวิธีการปฏิบัติทั้งฆ่ากิเลสด้วยสติปัญญานี้ไม่เว้น อะไรก็ตามต้องได้นำมาใช้เสมอ ๆ ขอให้ทุก ๆ ท่านได้นำไปพินิจพิจารณา การปฏิบัติต่อตัวเองวิธีการใดที่เป็นผลเป็นประโยชน์ก็ให้ทำในวิธีการนั้นได้ หรือจะเสริมไปโดยวิธีใดเป็นอุบายของเจ้าของเอง คนอื่นจะไปบอกไปบังคับไม่ได้มันผิด

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร รู้สึกเหนื่อยแล้ว

พูดท้ายเทศน์

เพราะฉะนั้นจึงต้องไปหาในที่กลัว ๆ ทั้ง ๆ ที่ผมเป็นคนขี้ขลาดนะ ตั้งแต่เป็นฆราวาสผมก็ขี้ขลาด เป็นพระก็ขี้ขลาด แต่เรื่องธรรมนี่ซิมีอำนาจเหนือกว่าความขี้ขลาด จึงต้องหาดัดสันดานเจ้าของในที่เช่นนั้น ๆ หาอยู่ตามป่าตามเขา คือจิตมันตั้งท่านี่ ความตั้งท่าก็คือสติ ไปในที่บางแห่งเหมือนกับว่าหมดคุณค่าราคาหมดเลยในตัวของเรา เหมือนผ้าขี้ริ้ว เหมือนกับว่าพูดภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า “โสตาย” คือสละตายเลย นี้กลับภาวนาดี แน่ะ มันแปลกนะ เวลาสละเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้วความกลัวก็เลยหายหมด อยู่ปกติเราไม่ได้รบกับมันแหละความกลัวนี่นะ มันสละเสียทุกอย่างแล้วก็เลยหายกลัว อยู่สบายไป เวลามันกลัวแก้มันด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างนั้นเราก็แก้ มันหายด้วยการทรมานด้วยการฝึกกัน อันนี้เพียงเอาความสละตายเข้าไปเท่านั้นก็เลยหายกลัว ทีนี้จิตก็สบาย ภาวนาดี

ท่านสอนให้ไปอยู่ในป่าในเขาในที่ไหน ๆ ที่เปลี่ยว ๆ คนเราไม่มีที่พึ่งก็มาหวังพึ่งตัวเองละซี ทีนี้จิตก็ย้อนเข้ามา ก็อาศัยพ่อแม่ครูบาอาจารย์เรานี่ละเป็นหลัก ไปอยู่โน้นก็ออกเที่ยว ถ้าอยู่แถวใกล้เคียงประมาณสัก ๑๕ หรือ ๑๖ กิโลนี้ก็มากลับได้ ถ้าไปอยู่ไกลก็นาน ๆ ต้องเป็นเดือนหรือเดือนกว่า ๆ ถึงจะมาทีหนึ่ง..มันไกล เช่นอย่างมาทางอำเภอวาริชภูมิกับหนองผือ มันไกลนี่ เดินทางนี้ต้องค้างคืนหนึ่งกว่าจะไปถึง รถราไม่ต้องไปถามหามัน ไม่คิดถึงมันละแต่ก่อน ถ้ามาอย่างนี้แล้วต้องนาน ๆ ถึงจะได้กลับไปทีหนึ่ง เป็นเดือนสองเดือน ถ้าอยู่แถวใกล้เคียง ๑๔-๑๕ กิโลนี้อยากมาวันไหนเวลาไหนก็มา เพราะข้อข้องใจเกิดขึ้นแล้วอยู่ไม่ได้แหละต้องมา พอฉันเสร็จแล้วก็ล้างบาตร เก็บบาตรแล้วก็บึ่งเลยคนเดียว

ไปถึงโน้นก็ประมาณสัก ๑๑ โมงเช้า พอตอนบ่ายโมงบ่ายสองโมงท่านก็ออกจากที่แล้ว ขึ้นหาท่าน มีธุระอะไรก็ทำเสียก่อน อยากจะกลับไปที่พักเราเมื่อไรก็ช่าง บางทีจนกำลังมืดค่อยไป ก็ภาวนาไปนี่ไปคนเดียว เสือก็เยอะนะแต่มันไม่สนใจยิ่งกว่าการภาวนา สนใจกับการภาวนานี้ มันดงทั้งนั้นนี่หนองผือ แถวนั้นมีแต่ดงทั้งนั้น ดงเสือทั้งนั้น แต่แทนที่มันจะมาเป็นอารมณ์กับเสือ…ไม่ อยากไปเมื่อไรก็ไป กลางคืนไม่ได้จุดไฟนะไปที่พักเจ้าของ บุกไปอย่างนั้นละ เพราะทางแคบ ๆ พอไปได้ ภาวนาเรื่อยไป

โอ้โฮ ทุกข์ยากลำบากมาก เรื่องการฆ่ากิเลสนี่ฆ่ายากจริง ๆ นะ ไม่มีอะไรฆ่ายากยิ่งกว่ากิเลส จึงกล้าพูดละซิ ไม่มีอะไรแหลมคมยิ่งกว่ากิเลส ความฉลาดแหลมคมนี้ แหม ๆ อย่างนั้นแหละ ถ้าผลิตสติปัญญาซึ่งเป็นฝ่ายธรรมนี้ไม่ทันมันแล้วมันก็เหยียบหัวเรา ๆ จึงต้องสอนเสมอ เพราะพูดด้วยความถึงใจนี่นา ไม่ได้พูดแบบลูบ ๆ คลำ ๆ เราพูดอย่างนี้ไม่ใช่อวดนะ ถ้าสิ่งใดที่เคยผ่านมาแล้ว นำสิ่งที่ผ่านมาแล้วทั้งเหตุทั้งผลมาพูดให้ฟัง สุดท้ายที่มันมาเด่นชัดก็คือว่าไม่มีอะไรฆ่ายากยิ่งกว่าฆ่ากิเลส งานใดก็ตามไม่มีงานใดหนักยิ่งกว่างานฆ่ากิเลส แน่ะมันลงนั้นหมด อุบายวิธีอะไรก็ตาม สติปัญญามีเท่าไรได้ทุ่มมาหมด งานอื่น ๆ เราไม่เห็นได้ใช้สติปัญญาเอานักหนา อันนี้แหม…

แต่มันใช้อยู่ภายในนี่ ไม่ได้มาสมองแสมงอย่างเขาว่า ใช้สมองใช้แสมง ถ้าเป็นความจำน่ะใช้สมอง ผมก็เคยจำ ผมก็เคยเรียน เวลาเรียนมาก ๆ ความจำนี้มาใช้อยู่ที่สมอง สมองทื่อหมดเลยไม่จำอะไรให้ ต้องได้หยุดเสียก่อนเพราะมันเหลือแต่ใจที่จะเอา ๆ ทีนี้ความจำมันไม่จำให้ มันทื่ออยู่บนสมอง แต่เวลามาใช้ทางด้านสติปัญญาทางด้านธรรมะนี้ไม่ได้ขึ้นสมองนี่นา ไม่มีในสมอง แต่มีอยู่ตรงนี้ ถ้าว่าสงบก็สงบอยู่ตรงนี้ตรงกลางนี้ มันละเอียดลออไปขนาดไหน จิตมีความผ่องใสยังไงก็รู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่ตรงนี้ ๆ เวลาสงบอยู่เป็นสมาธิ เป็นพื้นฐานของสมาธิก็สงบอยู่ตรงนี้ตรงกลางนี่ แน่ว ทีนี้เวลาออกทางด้านปัญญาก็ออกอยู่ในนี้ภายในนี่ ๆ หมุนติ้ว ๆ อยู่ภายในไม่ได้ขึ้นสมองเลย นี่เรื่องธรรม ความจริงกับความจำ ความจำต้องเอามาใช้บนสมอง ทำงานในสมอง ความจริงภาคปฏิบัตินี้อยู่ภายในใจหมุนติ้ว ๆ

ทำยังไงพระเราจะไม่ได้หลักได้เกณฑ์สักองค์ พอเป็นรากฐานของตัวเองและศาสนาต่อไป ให้ประชาชนพระเณรทั้งหลายได้ยึด ผมวิตกวิจารณ์อยู่มากนะเรื่องนี้ เพราะเห็นโทษเรื่องของกิเลสมันเผาคนก็อดคิดไม่ได้ นี่ละที่ว่าพระพุทธเจ้า มหาการุณิโก นาโถ เพราะท่านเห็นโทษของกิเลสเสียพอแล้วเต็มพระทัย สัตว์โลกทั้งหลายไม่เห็นก็เมตตาสงสารน่ะซิ จึงทุ่มโอวาทคำสั่งสอนลง ลำบากลำบนอะไรก็ตาม เพราะพระเมตตามีกำลังมากเกินกว่าจะมาเป็นกังวลกับเรื่องทุกข์ลำบากของพระองค์ พิษภัยของมันขนาดนั้นแล ท่านผู้เห็นแล้วท่านเห็นอย่างนั้น เวลามันกล่อมแล้วไม่เห็นไม่รู้นี่ จึงเรียกว่ามันละเอียดมาก แหลมคมมากจึงบอก มันออกเพลงไหนหลงทั้งนั้นมนุษย์เรา

ไม่งั้นมันจะกล่อมโลกได้ทั้งสามแดนโลกธาตุนี้เหรอ สามแดนโลกธาตุนี้ล้วนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ไม่ว่าภพไหน ๆ มีแต่อยู่ในอำนาจของมันทั้งนั้น ไม่ได้เหนือมันไปได้เลย มีพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้นพ้นอำนาจของมันไป เพราะฉะนั้นท่านเห็นโทษของมันเต็มพระทัยแล้ว กับความเห็นคุณของธรรมเต็มพระทัยเช่นเดียวกัน ทำไมท่านจะไม่มีเมตตาสอน พระเมตตาหากมีกำลังมาก เรื่องความลำบากลำบนจึงไม่เป็นข้อขัดขวางการดำเนินเพื่อผลประโยชน์แก่โลก

ถ้ายังไม่พ้นเรื่องกามราคะไปก็ยังไม่เห็นโทษของกิเลสมากนะ พอผ่านนี้ไปแล้วนั่นละเห็นภัยของกิเลสมีมากน้อยเห็นตรงนั้นละ เห็นคุณค่าของธรรมก็ตรงนั้นละ นั่นละที่ว่าหมุนเป็นอัตโนมัติ เพราะความเห็นโทษเห็นคุณพาให้หมุนเป็นพลังสำคัญมากทีเดียว ตัวนี้ละกล่อมเอามากที่สุดกว่าเพื่อน กามราคะกล่อมมากเชียว ถ้าผ่านนี้ไปแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกล่อมแบบผาด ๆ โผน ๆ เหมือนอันนี้ มีก็มีเป็นแบบน้ำซับน้ำซึม

สติปัญญาที่ใช้อยู่ในวงอสุภะที่จะพังทลายกามราคะนี้ ต้องเป็นสติปัญญาประเภทน้ำโจนลงมาจากภูเขา สติปัญญาต้องแรงมาก สั่นสะเทือนไปหมด ปรากฏว่าเป็นอย่างนั้นนะ เพราะอันนี้มันรุนแรง สติปัญญาที่จะต่อสู้กันก็ต้องเป็นของรุนแรงโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง จะว่าเราตั้งใจไม่ตั้งใจก็ไม่ใช่ หากพอเหมาะพอสมกันกับว่ามัชฌิมา กิเลสประเภทนี้รุนแรงมาก สติปัญญาที่นำมาใช้ปราบกิเลสประเภทนี้จึงต้องรุนแรงไปตาม ๆ กัน จึงเหมือนกับว่าน้ำที่ไหลโจนลงมาจากภูเขา หรือไหลลงมาจากหน้าผา อย่างนั้นละสติปัญญาขั้นนี้

พอผ่านรูปกายนี้ไปก็เป็นนามธรรม มันเป็นอัตโนมัติแบบน้ำซับน้ำซึมไป ไหลริน ละเอียด อสุภะตอนเกี่ยวกับรูปกายนี้มันรุนแรง สติปัญญารุนแรง พอผ่านอันนี้ไปแล้วมันก็เบาไปอย่างน้ำซับน้ำซึม ไหลรินอยู่งั้นไม่ขาดวรรคขาดตอน ไหลรินอยู่อย่างนั้น นี่ละที่ว่าเพลินกับงานนะ ตั้งแต่ขั้นอสุภะไปจนถึงนั้นแล้วจิตนี้จะไม่อยากเกี่ยวข้องกับใครเลย คือมันเสียการเสียงาน อยู่คนเดียววันยังค่ำ ลืมวันลืมคืนลืมเวล่ำเวลา เพราะมันอยู่กับงาน งานนี้เป็นงานอัตโนมัติ มันหมุนของมันอยู่ติ้ว ๆ ที่นี่ หมุนนี่คือแก้ หมุนถอดหมุนถอน ไม่เหมือนหมุนมัดเข้ามาอย่างแต่ก่อน แต่ก่อนมันเป็นอัตโนมัติด้วยอำนาจของกิเลส เห็นก็ผูกเข้ามามัดเข้ามา ได้รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย มีแต่ผูกเข้ามามัดเข้ามา ๆ โดยอัตโนมัติของมัน นั่น ทีนี้พอถึงขั้นอัตโนมัติของสติปัญญานี้มีแต่คลี่คลายออก ๆ แก้ออก ๆ เรื่อย ๆ เป็นอัตโนมัติไป หากทันกันแล้วก็เป็นธรรมจักร

กล่าวอย่างแต่ก่อนจิตมันเป็นวัฏจักร พอถึงขั้นเป็นธรรมจักรแล้ว ธรรมจักรนี้จับวัฏจักรนี้หมุนเพื่อถอนตัวกลายเป็นอัตโนมัติเหมือนกัน ไม่งั้นไม่ทันกัน ตามขั้นตอนของกิเลสนั่นแหละ ส่วนกิเลสหยาบอันนั้นก็ออกสู้กันอย่างรุนแรง พอถึงขั้นละเอียดนี้เป็นน้ำซับน้ำซึม พอสุดท้ายเข้าไปมันละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ นี่ก็ทำให้เพลินอยู่งั้นตลอด เพราะฉะนั้นถึงอยู่กับหมู่เพื่อนไม่ได้ผมน่ะ ในระยะตั้งแต่นี้ไปแล้วอยู่กับหมู่เพื่อนไม่ได้ แต่ก่อนก็ชอบอยู่คนเดียวอยู่แล้ว ทีนี้พอมาพิจารณาธรรมะขั้นนี้จิตขั้นนี้แล้วยิ่งอย่างนั้นเลย กับหมู่เพื่อนไม่อยากให้ใครไปด้วยมันเสียเวล่ำเวลา มันเหมือนกับน้ำไหลบ่า คือตามหลักธรรมชาติของสัญชาตญาณคนเรา ไปด้วยกันก็รับผิดชอบกันลึก ๆ อยู่งั้นแหละ ไปสองเป็นสอง ไปสามเป็นสาม ไปคนเดียวไม่ต้องมีอะไร ถ้าน้ำก็ไหลลงช่องเดียวพุ่ง ๆ ๆ

เป็นกับตายก็อยู่คนเดียว อยากกินก็กินไม่อยากกินก็ไม่กิน นั่น เป็นธรรมดาสบายเลย กี่วันไม่กินก็ช่างมัน แต่ไปกับหมู่กับเพื่อนถ้าเราไม่ฉันไม่กินหมู่เพื่อนเป็นยังไงนี่ต้องได้คิด มันก็ไม่สะดวก ถ้าไปคนเดียวแล้วปล่อยเลย เดินไปทั้งวันก็เป็นเดินจงกรมไปทั้งวันเป็นความเพียรตลอดอยู่งั้น เมื่อถึงขั้นธรรมมีอำนาจเป็นอย่างนั้นแหละ กิเลสอ่อนตัวลงไปเท่าไรยิ่งมีอำนาจจนกระทั่งมันหมอบ กิเลสหมอบอย่าว่ามันกลัวเรานะ มันฉลาดนี่ ต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นกันอยู่งั้น เจอจนได้ ฆ่าไปเป็นวรรคเป็นตอน ๆ ตั้งแต่ทีแรกนะ ตัดกิ่งนั้นตัดกิ่งนี้ถ้าเป็นกิ่งก็ดี ถ้าเป็นกิเลสก็ฆ่าตัวนั้นฆ่าตัวนี้เลย ประเภทต่าง ๆ ของกิเลสนี้มันมากต่อมาก เป็นชิ้นเป็นอันเข้าไปเรื่อย ๆ

จนถึงขั้นวาระสุดท้ายอันนั้นไม่ต้องบอก ถึงขั้นเป็นเองมันเป็นเอง ถ้าเราจะพูดให้เต็มปากก็ว่า อย่างขั้นอวิชชา ใครจะไปตั้งใจถอนมัน มันเป็นอัตโนมัติ พอถึงที่จะเป็นของมันแล้วพรวดเดียวเลย อันนี้พรวดเดียวเท่านั้น นอกนั้นตัดมาเป็นลำดับลำดา พอถึงรากแก้วแล้วมันพรวดเดียว นั่น แล้วหมดไปเลย

นี่ละมันอยู่กับจิต ไม่มีอยู่ที่ไหนอยู่กับจิต ไม่มีทางออก ก็ดังที่เคยเทศน์นั้นแล้ว สะพานทางเดินของมันตัดเข้ามา ๆ ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง ปล่อยวางมาโดยลำดับลำดา ทีนี้มันก็หดตัวเข้าไป ๆ จะไปเสาะแสวงหาอาหารมันไปไม่ได้นี่ ทางรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นทางเดินออกไปจากตา หู จมูก นี้ก็พิจารณาเข้ามาตัดเข้ามา ๆ วนเข้ามาจนกระทั่งถึงกายนี้ พังมันเข้าไปอีก ตัดเข้าไป ๆ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีแรกก็ว่าอันนี้เป็นนั่นอยู่ ทีนี้พิจารณาเข้าไป ๆ ก็เป็นกิ่งละเอียดเข้าไป ๆ นั่นแหละ ก็เข้าไปสุมอยู่จุดเดียว จากนี้เป็นแต่เพียงกิริยาอาการที่ดุ๊กดิ๊ก ๆ ก็เห็นชัด นั่น

นี่ละที่ว่าภาคปฏิบัติ สนฺทิฏฺฐิโก เห็นอย่างนั้นจะว่าไง รู้อยู่อย่างนั้น ใครจะมาค้านสามแดนโลกธาตุก็ไม่สนใจฟัง เพราะความจริงอยู่กับเราไปฟังใคร เขาพูดอยู่ปากเขาโน้น ความจริงอยู่กับเรานี่ เห็นกันอยู่รู้กันอยู่นี่ นี่แล้วพระพุทธเจ้าศาสดาเพียงองค์เดียวจึงสามารถสอนโลกได้ทั้งสามโลก ความจริงอยู่กับพระองค์หมด เราเพียงขี้หมูขี้หมา เท่ากับหนูตัวหนึ่งเท่านั้นก็ยังพอเอามาพูดได้วะ ความจริงเต็มอยู่ในหัวใจนี่สงสัยที่ไหน ไปงมเงาที่ไหนกัน

อาการทั้งห้านี้ พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ตามความละเอียดของมัน เช่น เวทนาภายในจิตมันก็มีของมัน สุขละเอียดก็มีทุกข์ละเอียด แน่ะ เป็นคู่กันอยู่นั้น นี่ละเวทนาทางจิต เพราะมันยังปล่อยตัวไม่ได้ รากฐานของมันยังมี..อวิชชา นั่นละมันยึดอยู่นั้น ไม่มีที่ยึดมันก็ไปยึดใจน่ะซิ ทีแรกมันก็ยึดไปหมด พอถูกตัดออกด้วยปัญญาเข้าไป ๆ แล้วไม่มีทางยึด มายึดทางกาย ตัดทางกายเข้าไป แล้วก็ไปยึดพวกนามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาเข้าไป ชัดเข้าไปปล่อยเข้าไป ๆ สุดท้ายยังเหลือแต่ใจไม่มีทางไป มันก็ไปติดเสียจนได้ นี่เวลามันยังไม่รอบนะ

แต่ว่าสติปัญญาขั้นนี้ไม่ได้ติดแบบจมนี่นะ ถึงจะติดมันก็จ่อของมันอยู่นั้น พิจารณาของมันอยู่นั้น หากติดหากพิจารณา มันอยู่เฉย ๆ ไม่ได้สติปัญญาขั้นนี้เป็นอัตโนมัติก็บอกแล้ว คือแสดงว่าเรื่องยังมีอยู่มันถึงต้องหมุนอยู่นั้นแหละ เราจะเห็นได้ชัดเวลามันหมดเรื่องแล้วมันก็หมดหมุนเลย แน่ะ นี่ซิที่เป็นสักขีพยานกัน คือมันเป็นเหมือนกับไฟได้เชื้อ ทีนี้เชื้อมันอยู่ในหัวใจนี่ ในใจนี่ มันก็หมุนของมันอยู่นั่น อะไรแย็บออกมามันก็รู้เสียว่านี้เป็นอาการ แย็บออกมาอันใดเป็นอาการมันก็รู้เสีย ตัวจริงเป็นยังไง แน่ะ หมุนกันอยู่นั่น หมุนไปหมุนมามันก็ไม่พ้น แล้วมันก็พรวดฟ้าดินถล่มเป็นไรวะเวลามันถอน ก็มันเคยฝังอยู่ในหัวใจมานานแสนนานเท่าไร เวลาถอนตัวออกไปมันจะไม่เหมือนฟ้าดินถล่มยังไง

ถ้าจะพูดแบบโลกก็เหมือนกันกับว่าสะเทือนโลกธาตุนั่นแล้ว ความตื่นความตกใจหรือความอัศจรรย์มันมาพร้อม ๆ กันหมด ความเห็นภัย เวลาภัยมันล้มระนาวไปแล้วถึงมาเห็นมัน โอ้โห ๆ แล้วความอัศจรรย์ก็ขึ้นในขณะเดียวกันทั้งสองอย่าง มันก็กระเทือนน่ะซิ อวิชชาจมลงไปฟ้าดินถล่ม วิชชาวิมุตติโผล่ขึ้นมาเป็นในขณะเดียวกัน ไม่แสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์ในขณะนั้นจะไปแสดงขณะไหน ไม่มีขณะไหนที่จะสะเทือนถึงสามแดนโลกธาตุถ้าจะพูดถึงแดนโลกธาตุ

พอขณะของมันสิ้นลงไปแล้วมีแต่ความอัศจรรย์เหนือโลก ทีนี้มันก็ทำให้เกิดความท้อใจ นี่มันก็ย้อนไปถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกันนะ ที่ว่าทรงปรารถนาจะเป็นศาสดาสอนโลก พอถึงภูมินั้นแล้วเลยเกิดท้อพระทัยทำความขวนขวายน้อย ว่านี้เป็นสิ่งสุดวิสัยของโลกที่จะรู้ได้เห็นได้ในทีแรก เพราะยังไม่กระจายไปถึงปฏิปทานี่ มาเห็นเฉพาะในวงปัจจุบันนี่ ว่าเป็นสิ่งที่สุดวิสัยของโลกที่จะรู้ได้เห็นได้ สอนไปยังไง โลกกับอันนี้ไม่ใช่เป็นวิสัยจะเข้ากันได้ พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้นในขณะนั้น จะไปสอนอะไรกัน ถ้าพูดภาษาของเราก็ว่าไปสอนที่ไหนเขาจะว่าเราบ้า ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นบ้า ไม่สอนมันสบายอยู่นี้ พอถึงวันตายเท่านั้นก็พอแล้ว แน่ะ ขืนสอนใครเขาจะว่าบ้า แน่ะ

ขณะที่เป็นอยู่ในวงปัจจุบันยังไม่กระจายไปถึงปฏิปทาเป็นอย่างนั้น จากนั้นมาก็แย็บไปละที่นี่ เอ้า ถ้าว่าเป็นของอัศจรรย์เหนือโลกเหนือสงสาร ไม่มีใครที่จะรู้ได้เห็นได้แล้วเราเป็นอะไร แน่ะ เราเป็นมนุษย์ทำไมเราจึงรู้ได้เห็นได้ รู้ได้เพราะอะไร ทีนี้มันก็วิ่งไปถึงปฏิปทาซิ นี่เพราะเหตุนั้น ๆ แน่ะ ก็เมื่อพูดให้เขาฟัง แนะนำสั่งสอนเขาตามเหตุตามผล ตามอุบายตามทางเดินมานี้มันก็รู้ได้เห็นได้น่ะซิ แต่เรายังรู้ได้เพราะอย่างนั้น ๆ เขาทำไมเขาจะรู้ไม่ได้เพราะเหตุนั้น ๆ เหมือนกันกับเราวะ แน่ะ ทีนี้ก็มีแก่พระทัยหรือแก่ใจ อ๋อ ก็เบิกกว้างละที่นี่ ทางจะไกล บ้านอยู่ไหนจะไกลแสนไกลทางมีก็ไปถึงกันได้ บ้านกี่ชั้นกี่หับ เอ้า ทางมีก็ขึ้นได้นี่ ขึ้นบันไดขึ้นลิฟต์อะไรก็แล้วแต่ มันขึ้นได้ แน่ะ อันนี้มีทางนี่ ปฏิปทาเครื่องดำเนินมีนี่ทำไมจะรู้ไม่ได้ ขอให้สอนให้ถูกต้องตรงตามความจริงนี้เถอะ ผู้มุ่งความจริงมีอยู่ไม่ใช่จะเหลวไหลเหลวแหลกไปเสียหมด ผู้มุ่งความจริงมีอยู่ ความจริงกับความจริงก็เข้ากันได้สนิทซี เข้ากันได้ง่ายซี นั่น

ทีนี้ก็ปลงพระทัยลงสอน เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา อันนั้นผิด ๆ อย่าไป มัชฌิมาปฏิปทาขึ้นให้ไปตรงนี้ทางนี้ กามสุขัลลิกานุโยค ผิด อัตตกิลมถานุโยค ผิด ทางผิดทางแยก อย่า ๆ แยกไป มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป ขึ้นเลย นี่ ๆ ทางเดินตรงนี้ เอ้า พิจารณาอันนี้ บอกให้เหยียบลงไปตรงไหนก็เหยียบลงไปในสัจธรรมทั้งสี่นี้ เหยียบตรงนี้หนา บอก นั่นเห็นไหม สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป จะให้ก้าวลงที่ไหน เอ้า ก้าวลงที่นี่พูดง่าย ๆ ลงในสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอ้า ลงในสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม เอ้า ๆ นี่ละทางนี้ละ เหยียบลงตรงนี้นะ เอาสติปัญญาเหยียบลงตรงนี้ คือหยั่งลงตรงนี้พูดง่าย ๆ นั่นบอกแล้ว ทีนี้ก็พุ่ง ๆ ซิ

รูปํ อนตฺตา เวทนา อนตฺตา สญฺญา อนตฺตา สงฺขารา อนตฺตา นั่นเห็นไหม อนัตตลักขณสูตรน่ะ อันนั้นก็ อนตฺตา อนตฺตา ปล่อย ๆ อย่ายึด ปล่อย ๆ เรื่อย ๆ อันนี้ก็ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีแต่ขวากแต่หนามมีแต่ฟืนแต่ไฟ ปล่อย ๆ อย่าเหยียบอย่าย่าง อย่าไปแตะอย่าไปจับอย่าไปยึดถ้าไม่อยากให้ถูกเผาทั้งมือนั่นพูดง่าย ๆ ว่างั้น เหมือนกับว่าตีข้อมือไว้ เอา ก้าวนี้ ตีขาไว้ก้าวไปตรงนี้อย่าก้าวไปตรงนั้น ก้าวไปเรื่อย เอา อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นทางเดิน พิจารณานี้ ปล่อยไปเรื่อยเข้าใจเรื่อย ๆ นั่น วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาตีติ ท่านถึงรู้จะว่าไง แต่พูดตามความจริงนี้ผมก็พูดได้แค่นั้นละ

สำหรับอนัตตลักขณสูตร ถ้าหากเราจะพูดตามสูตรนี้จริง ๆ สำหรับจิตผมนี้ไม่สนิทนะ แต่อาทิตตปริยายสูตรผมลงร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ ผมว่าถ้าจะคิดว่าท่านเทศน์มามากแล้วท่านย่นเอามานี้ผมก็ไม่สนิทใจ มันเลยไปลงเอาผู้ที่จดจารึกเสียมากนะ ผู้จดจารึกเป็นคนประเภทใด นั่น ถ้าเป็นพระอรหันต์จดจารึกแล้วจะเต็มภูมิ เหมือนอย่างอาทิตตปริยายสูตร อันนั้นผมหาที่แย้งไม่ได้เลย ภาคปฏิบัติลงได้อย่างสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี้ไม่เป็นอย่างนั้น อนัตตลักขณสูตรนี่ไม่ลงจิตนี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนตฺตา พออันนี้เป็น อนตฺตา แล้วเบื่อหน่ายไปเลย นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจฺจติ ไปเลย คือเมื่อเบื่อหน่ายในอาการทั้งห้านี้แล้วย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้วย่อมหลุดพ้น

เบื่อหน่ายเพียงห้านี้หลุดพ้นได้ยังไง ถ้าภาคปฏิบัติมันไปกองอยู่ในจิตนั้นน่ะ เห็นได้ชัด ๆ ในภาคปฏิบัติ เราเป็นอย่างนี้นี่นะ คือเอาความจริงนี้ออกมายันกัน พอถึงอาทิตตปริยายสูตร แหม แจงละเอียดมากนะ รูเปสุปิ จกฺขุสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ นิพฺพินฺทติ คือเบื่อหน่ายทั้งทางรูปทั้งทางตาทั้งทางเสียงทั้งหู ย้อนหน้าย้อนหลังเรื่อย ๆ ตลอดถึงสิ่งที่มาสัมผัสสัมพันธ์กันทำให้เกิดสุขบ้างทุกข์บ้างอะไรบ้าง เลยเบื่อหน่าย ๆ ไปหมด ทั้งสุขทั้งทุกข์เรื่อยไปจนกระทั่งถึง มนสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ธมฺเมสุปิ นิพฺพินฺทติ แล้วก็ วิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ ว่าไปหมด เบื่อหน่ายในจิต เบื่อหน่ายในธรรมคือสิ่งที่มาสัมผัสกับจิต อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากจิตเบื่อหน่าย แล้วเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นจะเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นเวทนาอะไร ๆ ขึ้นมาเบื่อหน่ายหมด ๆ แน่ะ ละเอียดมากนะ เข้าถึงจิตแล้วนี่ เบื่อหน่ายเข้าถึงจิตแล้วก็ถึงธรรมซี ธรรมก็หมายถึงอวิชชาอยู่ในนั้นจะว่าไง เข้าถึงนั้นหมดเลย จนแตกกระจายไปแล้ว นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เรื่อยไป นี้ลงเต็มที่ผม แต่อนัตตลักขณสูตรนี้ไปถึงขันธ์ ๕ ไปนั้นหมด

เลยถามเจ้าคุณ…ท่านก็พูดไปตามแบบปริยัติเสีย เราก็ โอ๋ย ไม่เอาละปริยัติเราก็เรียนมาเหมือนกันนี่หว่า จะให้ท่านแยกมาทางภาคปฏิบัติท่านไม่แยก ท่านก็พูดงั้น ๆ ก็ถูกต้องแล้ว เราก็เลยหยุด ก็เราพูดไม่ได้พูดด้วยความหนักใจอะไรนี่ เราพูดตามความจริงในภาคปฏิบัติที่ปฏิบัติมาอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ๆ แต่ทำไมอันนั้นมันเป็นอย่างนั้นเท่านั้นเอง เราไม่ได้ไปแบกไปหามไปยึดถือนี่วะ ถึงวาระที่ควรจะพูดกันเพื่อปรับปรุงความเข้าใจหรืออะไรกันให้มีแง่คิดกันบ้าง แต่ท่านก็ไม่ไปนั้นเสีย ท่านไปปริยัติของท่านเสีย ปริยัติเราก็เรียนเหมือนกันจะเอาปริยัติมาอวดกันอะไร มันก็คัมภีร์เดียวกันสูตรเดียวกัน เรียนมาด้วยกันจำได้ด้วยกัน คำแปลก็รู้ได้ด้วยกัน แน่ะ ก็เลยหยุด โอ๊ย ไม่ถามละว่ะ

อนัตตลักขณสูตรแจงไปถึงขันธ์ ๕ จบแล้วก็ไปเลย เบื่อหน่ายจิตนั่นยังไม่ถึง เอ๊ ทำให้คิดไปถึงเรื่องผู้รจนา นี้ทำให้คิดไปหลายแง่เหมือนกันนะทุกวันนี้ ตั้งแต่ก่อนผมไม่ได้คิดอะไรมากนักนะ แต่เกี่ยวข้องกับผู้รจนาคัมภีร์เหล่านั้น ๆ เป็นคนประเภทใด ถ้าเป็นประเภทอรหันต์แล้วจะถึงใจ ๆ มาโดยลำดับเลย เพราะเอาความจริงออกมา อันนั้นกางมา ความจริงอันนี้อยู่ในหัวใจนี้มันวิ่งถึงกันปั๊บ ๆ ประสานกันอย่างนี้ ทีนี้เอาแต่ความจำ ท่านว่าอะไรเอาแต่ความจำเข้าไปใส่มันไม่มีคุณค่า มันหลุดมันขาดมันตกไปได้นี่ ถ้าลงความจริงฝังอยู่ในหัวใจแล้ว ว่าไปตรงไหนมันสัมผัสสัมพันธ์กัน ประสานกันอย่างนี้ ๆ มันก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย

เอ้า เรายกตัวอย่างเช่น เราจะไปเขียนประวัติของพระอรหันต์ เอาลองดูซิ เพียงความจำเรานี้จะเขียนประวัติของพระอรหันต์ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นไปไม่ได้ ผมว่างั้นเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์เขียนประวัติของพระอรหันต์แล้วเต็มหมดเลย แน่ะ เพราะความจริงเป็นอันเดียวกัน ท่านผ่านไปแล้วก็ตาม ความจริงอันนี้รู้กันอยู่นี้มันไม่ผ่าน วิ่งถึงกันได้ปุบ ๆ ๆ เลย แน่ะ นั่นซิตอนถึงขั้นธรรมละเอียดละซิตอนมันจะไปไม่ได้ เอาเพียงความจำเฉย ๆ ไปไม่ได้ถ้าไม่มีความจริงเป็นเชื้อวิ่งถึงกันประสานกันกับประวัติของท่าน นั่นน่ะมันสำคัญ เราไม่รู้เป็นยังไง โง่ก็โง่เถอะแต่มันอาจหาญแบบความโง่นี่นะ ว่าเราอาจหาญแบบโง่ ๆ นี่ละเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่

โอ๋ ใครจะไปชัดยิ่งกว่าจิตรู้จิตวะ ใครจะไปชัดยิ่งกว่าจิตรู้ความจริงวะ ฉะนั้นถึงได้กล้าพูดว่าสามแดนโลกธาตุไม่มีอะไรที่จะมาคัดค้านได้มาลบล้างได้ ถ้าลงจิตได้ถึงความจริงแล้ว เพียงอันเดียวเท่านั้นพอแล้ว เพราะฉะนั้นถึงได้กล้าพูดว่า พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นสามารถสอนโลกได้ทั้งสามแดนโลกธาตุ เพราะอะไร เพราะความจริงเต็มพระทัย แน่ะ เหล่านั้นเขามีความจริงอะไร ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน หมื่นทั้งหมื่น แสน ๆ ล้าน ๆ ก็มีแต่ปลอม ๆ ไปหมด อันนี้อันเดียวเท่านั้นจริงเลย แน่ะ หมัดเดียวพอ

พูดไปพูดมาเลยไปใหญ่ เอาละเลิก


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก