งานคว้าเอาวิมุตติธรรมมาครอง
วันที่ 9 พฤษภาคม 2525 เวลา 19:00 น. ความยาว 46.31 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕

งานคว้าเอาวิมุตติธรรมมาครอง

การแก้กิเลสไม่ว่ากิเลสประเภทใด อยู่ในหัวใจดวงใด ในครั้งใดสมัยใด ย่อมเป็นสิ่งที่แก้ยากด้วยกันทั้งนั้น เราอย่าให้กิเลสแทรกเข้ามาในจิตใจว่าการแก้กิเลสนี้แก้ยาก จะเป็นการตัดทอนกำลังความอุตส่าห์พยายามของตนลงโดยไม่รู้สึกตัว คำว่ายากนั้นคือเรื่องของกิเลส คำว่าจะแก้จะถอดจะถอนให้ได้โดยลำดับ จนกระทั่งแก้หรือถอดถอนได้โดยสิ้นเชิง ไม่ยอมให้ซากกิเลสยังเหลืออยู่บนหัวใจแม้นิดเลยนั้น เป็นเรื่องของธรรมเป็นเรื่องของผู้เชื่อธรรม เป็นเรื่องของผู้หวังพ้นกิเลสภัยจากธรรม เป็นเรื่องของผู้หวังพึ่งธรรม จงจำให้ดีและถึงใจตลอดไป

การจะทำความดีประเภทใดๆ เฉพาะนักบวชเราคือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อแก้กิเลสโดยตรง กิเลสย่อมจะแทรกเข้ามาว่าเป็นของยาก ว่าเป็นของลำบาก ว่าเป็นความทุกข์ทรมาน ว่าเป็นของเหลือวิสัยจะทำได้ ว่าเป็นความบีบบังคับมากผิดงานทั้งหลายที่เคยทำมา นี่คือการต้านทานของกิเลสที่จะให้ท้อถอยอ่อนแอ หรือลดละงานที่เป็นความดีนั้นไปเสีย แล้วถูกกิเลสฉุดลากไปตามทางอันดั้งเดิมของมันโดยไม่รู้สึก การเรียนเรื่องของกิเลส ต้องเรียนให้รู้ไปในขณะเดียวกันกับที่เราประกอบความพากเพียรทุกๆ ประโยค เพราะกิเลสจะแทรกเข้าไปทุกระยะ โดยที่เราไม่รู้ว่าความคิดความเห็นดังที่กล่าวมาโดยย่นย่อนี้เป็นกิเลส ทั้งๆ ที่นั่นคือความคิดความเห็นอันเป็นกิเลสโดยตรง ที่กีดขวางทางดำเนินเพื่อจะแก้หรือจะถอดถอนมันออกจากใจ

ธรรมทุกประเภทเพื่อตัดเพื่อฟัน เพื่อถากถางสิ่งกีดขวางคือกิเลสทั้งมวลออกจากใจทั้งนั้น มิใช่สิ่งเป็นภัยให้ทุกข์แก่ผู้บำเพ็ญ กิเลสต่างหากที่เป็นภัยและให้ทุกข์แก่สัตว์โลกเรื่อยมา ท่านผู้เสาะแสวงธรรมมาได้นี้ท่านยากหรือไม่ยาก แต่พระองค์ไม่ได้ทรงคำนึงถึงเรื่องความยากความลำบากนั้น เพราะเป็นเรื่องของกิเลสที่เป็นภัยให้ทุกข์แก่พระองค์อยู่แล้ว แต่จะคำนึงถึงความเพียรพยายามด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะให้เป็นผลสำเร็จตามความมุ่งหมายเท่านั้น จนผ่านพ้นไปได้ด้วยความเพียรพยายาม มิใช่เพราะความท้อถอยน้อยใจ และนำธรรมของจริงมาสั่งสอนพวกเราจนกระทั่งปัจจุบันนี้ นี่คือศาสดาของเราท่านดำเนินอย่างนี้ จงยึดเป็นหลักใจและความเพียรทุกด้าน เพื่อต่อต้านและปราบปรามกิเลสให้สิ้นซากไป ใจจะประเสริฐเลิศเลอในไตรภพ อุทานได้ว่า เรียนจบแล้วการเกิดตายในแวดวงของกิเลส

เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต อย่ากลายเป็นบ๋อยของกิเลสในคราบแห่งพระไป จะผิดความมุ่งหมายและทางดำเนินแล้วไม่ถึงจุดหมายปลายทางได้ ดังที่พวกเราทั้งหลายทำความพากเพียรมาตั้งแต่วันบวชจนกระทั่งถึงบัดนี้ ผลแห่งธรรมที่บำเพ็ญมานั้นปรากฏอย่างไรบ้าง หากปรากฏบ้างก็พอจะมีทางหลุดลอยหรือเล็ดลอดออกมาจากเงื้อมมือของกิเลสได้เป็นลำดับ หากยังไม่เห็นผลอะไรเลย ก็คือเรายังจมอยู่ในอำนาจของมันหาทางออกยังไม่ได้นั่นแล ทั้งๆ ที่กำลังประกอบความพากเพียรอยู่ก็อยู่ในความครอบงำของมัน ความกระตุกของมันจนก้าวไม่ออก นี่จงคิดคำนึงให้มากบวกกันกับความเพียรทุกประโยคเพื่อเป็นกำลังหนุนกัน

สติปัญญาเป็นสำคัญ เคยพูดเสมอไม่เคยละเว้นในธรรมทั้งสองประเภทนี้ เพราะเป็นเครื่องมือที่ทันเหตุทันผลกิเลสทุกประเภทมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมเครื่องหนุน กิเลสตัวใดที่จะไม่ถือจิตเป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่เหยียบย่ำทำลายของตนย่อมไม่มี ถ้าจะพูดเหมือนกับสิ่งที่มีวิญญาณก็ว่า กิเลสรักที่สุด สงวนที่สุดก็คือใจ ธรรมรักที่สุด สงวนที่สุดก็คือใจ แต่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่มีวิญญาณ แต่เป็นสิ่งที่เหนียวแน่นอยู่โดยหลักธรรมชาติของมันอย่างนั้น จึงต้องได้ทำความพยายามอย่างมีแบบมีฉบับ มีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์เป็นเครื่องดำเนินอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่สักแต่ว่าทำ ไม่สักแต่ว่านั่งภาวนา เดินภาวนาเฉยๆ สติต้องติดแนบกับจิตเป็นเครื่องรักษาจิตอยู่เสมอ

จิตจะถูกกิเลสผลักดันออกไปทางใด ย่อมแสดงความกระเพื่อมขึ้นมาให้รู้ให้เห็นเฉพาะอย่างยิ่งสังขารขันธ์ เพราะถูกผลักดันออกมาจากภายในให้คิดให้ปรุงเรื่องของกิเลสทั้งมวล ขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วมันไม่ยอมให้คิดไม่ยอมให้ปรุง ไม่ยอมให้จำให้คาดให้หมาย แต่ให้คิดให้ปรุงให้คาดให้หมายให้สำคัญไปในแถวของกิเลสทั้งมวล เพราะเวลานี้กิเลสมีอำนาจเหนือขันธ์ มีสัญญา สังขารขันธ์ เป็นต้น จึงต้องใช้ขันธ์เหล่านี้เป็นเครื่องมืออยู่ตลอด และสิ่งนี้เป็นมรดกของมันที่ผลิตขึ้นมาด้วย ธรรมยังไม่มีกำลังวังชาพอที่จะยึดเอาขันธ์เหล่านี้มาใช้เพื่อประโยชน์ของตนได้ตามความต้องการ จึงถูกยื้อแย่งแข่งดีกันอยู่เสมอระหว่างกิเลสกับธรรม

นักปฏิบัติจงประมวลกองทุกข์ทั้งมวลมาสู่ภพชาติปัจจุบันนี้ หากสมมุติว่าเราเกิดในภพนั้นกองทุกข์เท่าภูเขาลูกนั้น ภพนั้นเท่าภูเขาลูกนั้นๆ ในสามแดนโลกธาตุนี้ จะมีตั้งแต่กองแห่งทุกข์ของเราคนเดียวเป็นภูเขาหมด หาที่ปลงที่วางทุกข์ของผู้อื่นไม่ได้เลย เพียงแต่ทุกข์ของเราคนเดียวนี้ก็เต็มหมดทั้งสามแดนโลกธาตุนี้แล้ว แล้วใครเป็นผู้แบกผู้หามผู้รับภาระในกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ก็คือใจเท่านั้นเป็นผู้รับภาระแต่ผู้เดียว เท่าที่เราลืมเนื้อลืมตัวในสิ่งที่เป็นมาแล้ว ทั้งๆ ที่เป็นความทุกข์ความทรมาน เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงน่าเข็ดน่าหลาบเพียงไร ก็เพราะความจำความรู้ตามสิ่งที่เคยเป็นมานั้นเราลืมไปหมด จำไม่ได้ ถูกลบล้างไปหมดด้วยความหลงลืม จึงเป็นเหมือนว่าเรานี้ไม่เคยเกิดเคยตาย ไม่เคยได้รับความทุกข์ความลำบากในภพใดชาติใด สูงๆ ต่ำๆ ลุ่มๆ ดอนๆ และไม่เคยมีความทุกข์กดขี่บังคับทรมานจิตใจของเรามาเลย จึงทำให้เกิดความประมาทลืมตัวได้เพราะความหลงลืมเหล่านี้

หากเราสามารถหยั่งทราบความเป็นมาของเราแล้ว จะไม่มีสิ่งใดเลยในสามแดนโลกธาตุนี้จะน่ากลัวน่าขยะแขยงน่าเข็ดหลาบ ยิ่งกว่ากองทุกข์ที่ผลิตออกมาจากความเกิดนั้น จะเป็นตัวภัยที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงและน่ากลัวน่าเข็ดหลาบที่สุด ในขณะเดียวกันความพากเพียรที่จะตะเกียกตะกายออกจากกองเพลิงใหญ่เหล่านี้ก็จะมีกำลัง สติซึ่งไม่เคยมีเลยก็จะมี ปัญญาที่จะเสาะแสวงหาทางเล็ดลอดออกไปให้พ้นไฟประลัยกัลป์นี้ก็จะมีขึ้นมาตามๆ กัน ความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทนจะเป็นธรรมเกี่ยวโยงติดแนบเป็นอันเดียวกัน และหมุนตัวออกไปได้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะมีพลังมากเนื่องจากความเข็ดหลาบ เนื่องจากความกลัวทุกข์เป็นพลังหนุน

เช่นเดียวกับเรากลัวเสือ เสือวิ่งตามไล่กัด หวุดหวิดๆ อยู่แล้ว ใครจะไปนอนคอยให้เสือกัดเสือกินอยู่แบบคนตายแล้วเล่า นอกจากจะหมดกำลังเสียจริงๆ ไปไม่ได้แล้วถึงจะยอมล้มลง และตัวสั่นหมดท่าให้มันกัดกินไป หากยังพอตะเกียกตะกายได้แล้วจะไม่มีรายใดเลยนอนคอยให้เสือกินอยู่ท่าเดียว สิ่งที่รับผิดชอบตามสัญชาตญาณในตัวเรามีเท่าไร ต้องตะเกียกตะกายเพื่อหนีตายไปพร้อมๆ กันหมดนั่นแล แต่ทุกข์นี่ร้ายกว่าเสือร้อยเท่าพันทวี เพราะเคยเป็นมามากเป็นมานานในจิตใจของเราแต่ละดวงๆ และในภพของเราแต่ละภพแต่ละชาติ ประมวลมาแล้วไม่มีที่เก็บ เต็มไปหมด ทำไมจะไม่กลัวเมื่อเห็นประจักษ์ใจอยู่เช่นนั้น

แต่นี่ก็เพราะความหลงความลืม อวิชชามันปิดมันกั้นไว้เสีย มาถูกกระทบกระเทือน มาโดนแล้วโดนเล่า แบกแล้วแบกเล่า ถูกเผาลนแล้วเผาลนเล่าก็ลืมไปหมดเสียจำไม่ได้ จึงเป็นเหมือนว่ามีทุกข์เพียงเล็กน้อยและนอนใจตามนิสัยของคนที่โดนยาสลบจากโมหะอวิชชาไม่คิดหาทางฟื้นตัว จึงทำให้นอนใจไม่อยากประกอบความพากเพียร เพื่อตะเกียกตะกายให้รอดพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ได้ ความจริงแล้วเป็นดังที่อธิบายมานี้

ในเรื่องความทุกข์ทั้งมวล เป็นสิ่งที่น่ากลัวน่าขยะแขยง น่าเข็ดหลาบ ไม่มีอันใดเสมอ ในเราแต่ละรายๆ นี้เคยเป็นมาเช่นนั้นแล้ว แล้วยังจะต้องแบกหามหรือทนความทุกข์ความทรมาน ซึ่งจะแผดเผาเพราะอำนาจกิเลสไปอีกกี่กัปนับไม่ถ้วน ถ้าไม่รีบสลัดปัดทิ้งเสียด้วยความพากเพียร ด้วยการแก้การถอดถอนต้นเหตุของมันคือตัวกิเลสให้หมดจากใจโดยสิ้นเชิงและหายห่วงแต่บัดนี้ ไม่มีทางอื่นเป็นทางหลีกเลี่ยงทุกข์ทั้งหลายซึ่งฝังจมอยู่ภายในใจ ถ้าไม่จ่อความพากเพียรเข้าไปสู่จุดนั้น ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านทรงดำเนินและดำเนินมา และประกาศธรรมให้พวกเราทั้งหลายทราบทุกวันนี้ สอนด้วยความเห็นภัยและเห็นคุณอย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งใดจะจริงแท้แน่นอนเสมอธรรมของพระพุทธเจ้าและความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย

เราเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อสาวกทั้งหลาย ต้องน้อมเข้ามาสู่จิตใจ ให้เห็นว่าภัยที่กล่าวแล้วทั้งหมดนั้นเป็นภัยที่สดๆ ร้อนๆ เผาอยู่ในจิตใจนี้เรื่อยมา จะเป็นอดีตมาแล้วก็คือเผาอยู่ที่จิตใจดวงปัจจุบันนี้ จะรับเคราะห์กรรมต่อไปในอนาคตข้างหน้าก็ไม่ใช่ผู้ใดจะมารับแทน นอกจากใจดวงนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นภาชนะของกองทุกข์ทั้งหลายอยู่แล้ว จึงควรอย่างยิ่งที่จะประกอบความพากเพียรด้วยความขะมักเขม้นเป็นความดูดดื่ม ปีติยินดีที่จะหลุดพ้นออกจากกองทุกข์ได้ด้วยความตะเกียกตะกายนี้ โดยไม่คิดคำนึงถึงว่าการประกอบความพากเพียรนี้เป็นความลำบาก อันเป็นแง่แห่งความหลอกลวงของกิเลสประเภทนั้นๆ ที่แทรกไปโดยลำดับในประโยคแห่งความเพียร

การทำสมาธิภาวนา ผู้ฝึกหัดเบื้องต้น ก็มีธรรมหลายบทหลายบาทที่ควรจะเลือกได้ตามจริตนิสัยที่ชอบของตน เช่น อานาปานสติ ก็เคยอธิบายให้ฟังแล้ว ผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินก็มี พึงกำหนดลมหายใจเข้าออก ลมนั้นสัมผัสที่ตรงไหนมากกว่าเพื่อน เช่น ดั้งจมูกเป็นต้น เป็นที่สัมผัสเด่นชัดของลมที่ผ่านเข้าออกมากกว่าเพื่อน พึงกำหนดความรู้อยู่ในจุดที่ลมสัมผัสนั้น ด้วยความมีสติระมัดระวัง อย่าได้ส่งใจไปอื่น อย่าคาดเหตุคาดผลนอกเหนือจากหลักความจริง คือจิตกับลมที่สัมผัสสัมพันธ์กันนั้น นั่นคือหลักความจริงอยู่ที่ตรงนั้น ผลจะปรากฏขึ้นที่นั่นแห่งเดียว

ลมเข้าก็ให้ก็รู้ ลมออกก็ให้รู้ แต่ไม่ให้ตามลมเข้าไปและออกไป ให้ทำความรู้อยู่กับลมอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องคาดต้องคิด ไม่ต้องหาภาระความยุ่งเหยิงวุ่นวายใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องงานของตนในขณะนั้น ให้มีความรู้กับลมที่สัมผัสกันเท่านั้น นี่คือการภาวนาด้วยความถูกต้อง และจะหยั่งเข้าสู่ความสงบจนได้ไม่สงสัย ถ้ามีสติกำกับอยู่กับลมดังที่กล่าวแล้ว

การภาวนาด้วยลมก็ดี ด้วยธรรมบทใดก็ดี เราไม่มุ่งหมายจะเอาลมและเอาธรรมบทนั้นๆ มาเป็นหลักเป็นเกณฑ์เป็นสาระแก่นสารเป็นมรรคผลนิพพาน เป็นความหลุดพ้นจากทุกข์ แต่เราหมายเอาใจดวงที่รู้ๆ อยู่นี้ต่างหาก เหตุที่อาศัยธรรมเหล่านั้นหรือบริกรรมในธรรมบทนั้น หรือนำธรรมบทนั้นๆ มาภาวนาก็เพราะจิตของเรายังไม่มีที่ยึดที่เกาะ จึงต้องอาศัยบทธรรมนั้น ๆ มีลมหายใจเป็นต้น เป็นที่ยึดที่เกาะของจิต เพื่อจิตจะได้ตั้งเนื้อตั้งตัวตั้งหลักตั้งฐานได้ในจุดนั้นๆ หรือในธรรมนั้นๆ แล้วหยั่งเข้าสู่ความสงบได้ เมื่อจิตสงบลงไป ความรู้นี้จะเด่นชัด แม้ที่สุดคำบริกรรมที่กำลังบริกรรมอยู่นั้นก็กลมกลืนเป็นอันเดียวกันกับความรู้ คำบริกรรมนั้นก็หมดความจำเป็นในขณะที่จิตได้เข้าสู่ความสงบอันควรปล่อยวางคำบริกรรมได้แล้ว

อานาปานสติก็เช่นเดียวกัน ไม่ผิดอะไรกัน เมื่อลมละเอียดลงไปๆ ก็รู้ คำว่าลมละเอียดก็ได้แก่จิตละเอียดไปตามกัน เมื่อถึงขั้นที่ละเอียดเต็มที่ของลมแล้ว ๑.ลมเหมือนไม่มี ๒.ปรากฏชัดเจนในจิตว่าลมนี้หมดไป ลมหมดไปก็หมดไป เราไม่ได้ภาวนาเอาลม แต่เราภาวนาเอาจิต เมื่อจิตรู้อยู่แล้ว นั้นแลคือจุดหมายที่เราต้องการ ให้อยู่กับความรู้นั้นเสีย ไม่ต้องไปกังวลกับลมที่ละเอียดลงไปและหายไปแล้วนั้น เราตามถึงความรู้แล้ว ลมก็ส่งถึงความรู้นั้น แล้วลมก็หมดปัญหาไป

ไม่ต้องไปคาดไปคิด กลัวเป็นกลัวตายเพราะลมหมดไป เนื่องจากความรู้มีอยู่แล้วจะไม่ตาย อยู่กับความรู้นั้น เมื่อควรแก่กาลแล้วก็ขยับตัวออกมา ลมก็มีมาตามเดิม ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีอยู่ตามปกติของเรา เป็นแต่เพียงว่าจิตของเราไปยึดไปสำคัญต่างๆ ในอาการนั้นว่าเป็นอย่างนั้น อาการนี้เป็นอย่างนี้ แล้วกวนตัวเองหาความสงบไม่ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงภาวนาเพื่อการปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ให้ยึดลมหรือคำบริกรรมนั้นเพียงอารมณ์เดียว เพื่อจิตจะได้เข้าถึงความรู้อันแท้จริง นี่การภาวนาเบื้องต้นเป็นอย่างนี้ ให้ยึดนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์และเข้าใจว่าไม่ผิด ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเห็นความแปลกประหลาด ความสงบไม่เคยเห็นก็จะเห็น ความเย็นใจความแปลกและอัศจรรย์ก็จะเห็นไปโดยลำดับลำดาตามความละเอียดของจิตของการภาวนา

นี่คือภาคสมถะ ก็เคยได้อธิบายให้ฟังแล้ว ภาคสมถะนั้นไม่กว้างขวางมากมายนัก มีจิตเป็นที่รวมดังที่กล่าวนี้ จะภาวนาบทใดก็ตาม ตามแต่ความถนัดของจริตจิตใจเรา นำมาบริกรรมได้ทั้งนั้นไม่ขัด

ส่วนปัญญา นี้ต้องได้ใช้ความคิดความอ่าน พาคิดพาอ่านพาพิจารณาไตร่ตรอง ปัญญาถ้าไม่ใช้ก็จะนอนจมอยู่กับความสงบนั้น แล้วก็ไม่ถึงไหน มีแต่ความสงบอยู่เพียงเท่านั้น ไม่เปลี่ยนสภาพของตัวเองให้มีความละเอียดแยบคาย และสอดส่องมองทะลุเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งฝังจมอย่างละเอียดอยู่ภายในจิต จึงต้องใช้ปัญญาพินิจพิจารณา เฉพาะอย่างยิ่งรูปขันธ์เป็นสำคัญ คือกายนี้ ไม่ว่ากายนอกกายใน ให้ถือเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณาเสมอไป ตามแต่ถนัดในกาลใดเวลาใด จะควรพิจารณาข้างนอกหรือข้างใน รูปนอกหรือรูปใน กายนอกหรือกายใน กายเขาหรือกายเรา ร่างกายใครก็ตาม แม้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ขัดข้อง พิจารณาได้ทั้งนั้น เพราะเป็นธรรมเหมือนกันรวมอยู่ใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา รวมอยู่ในปฏิกูลโสโครก เพื่อความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดีด้วยกัน พึงพิจารณา

ปัญญาถ้าไม่นำออกใช้จะไม่ก้าวออก จะไม่ปรากฏว่ามีปัญญาเลย จะเห็นแต่ความรู้เด่นชัดละเอียดลอออยู่ภายในเท่านั้น ซึ่งความรู้นั้นก็เป็นความรู้ที่กลืนกิเลสทั้งหลายนับแต่ รูปูปาทานกฺขนฺโธ เวทนูปาทานกฺขนฺโธ เป็นต้นไป ยึดอยู่ในรูปขันธ์ ความรู้ที่ยึดอยู่ในรูปขันธ์ ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ ถึงจะละเอียดก็ละเอียดอยู่ในความยึด ถอนไม่ได้ถ้าไม่ใช้ปัญญาออกแยกแยะพิจารณา มีรูปขันธ์เป็นสำคัญในขั้นเริ่มแรก แต่จะแยกไปทางเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ ตามโอกาสอันเหมาะสมในเวลานั้นก็ไม่ขัดข้อง ทั้งๆ ที่เรากำลังพิจารณารูปขันธ์ จิตใจซึมซาบจะซึมซาบไปถึงเวทนาขันธ์ เช่น สุข ทุกข์ เฉยๆ หรือสัญญา สังขารขันธ์ก็ตามเป็นธรรมไปด้วยกันทั้งนั้นในขณะนั้น และพิจารณาได้ด้วยกันตามความเหมาะสม

การพิจารณาในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นการทำงานเพื่อถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นี้ ด้วยความรู้แจ้งแทงทะลุของปัญญาด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ผิด ให้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่านอนใจ ปัญญาจะเกิดจะมีขึ้นด้วยการนำออกใช้ ด้วยการชอบใคร่ครวญไตร่ตรอง ข้างนอกก็ตามข้างในก็ตาม พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า หากจะสะดุดในขณะใดขณะหนึ่งจนได้ถ้านำออกใช้ นอกจากไม่นำออกใช้ มีแต่ความสงบก็จมอยู่นั้นตลอดไป จิตไม่มีทางที่จะเปลี่ยนสภาพออกสู่ความแยบคาย เห็นความสว่างกระจ่างแจ้งในความจริงทั้งหลายได้เลย

เพียงสงบตัวเท่านั้นก็เหมือนหินทับหญ้า เวลาหินทับอยู่หญ้าก็ไม่เกิด พอยกหินออกเท่านั้นหญ้าก็เกิด ถ้าเป็นปัญญาแล้วขุดค้นมันทั้งรากไม่มีเหลือ ปัญญานี้เพื่อที่จะขุดค้นตัวอุปาทานซึ่งฝังจมอยู่ตามรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และถอนออกด้วยปัญญา จงพิจารณาให้ดีและถือเป็นกิจจำเป็นเช่นเดียวกับสมถธรรมคือความสงบ

พิจารณากี่ครั้งกี่หนอย่าไปนับอย่าไปคำนึงคำนวณ สิ่งที่มุ่งหมาย สิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งคือความรู้แจ้ง พิจารณาครั้งนี้ไม่แจ้งไม่ชัด พิจารณาอีกจนแจ้งจนชัด อย่าเอาเวล่ำเวลาเข้ามาทำลาย กำหนดเวลาเท่านั้นเวลาเท่านี้ กำหนดเท่านั้นครั้งเท่านี้ครั้ง มันเป็นเรื่องของโลกเป็นเรื่องของกิเลส ให้กำหนดลงสู่ความจริง ให้รู้จริงเห็นจริงด้วยการพิจารณาทางปัญญา จนแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วปล่อยวางไป นั้นคือความจริง นี่เป็นธรรมแท้ ให้กำหนดอย่างนี้

ร่างกายก็แยกเข้าไป นับแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูให้ดี นี่คือความจริง มันหาความสวยความงามไม่ได้ หาความจีรังถาวรไม่ได้ หาความสุขในร่างกายเหล่านี้ไม่เจอ หา อตฺตา คือเป็นตัวตนเราเขา พอที่จะยึดเป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายได้ไม่มี ท่านจึงว่า อนตฺตา ตนที่ไหน เป็นรากเป็นฐานที่ไหน มันจะพังอยู่ตลอดเวลา และมันพังของมันไปตลอดเวลาด้วยอำนาจแห่งอนิจธรรมบังคับอยู่แล้ว หวังเอาอะไรกับมัน

ดูเข้าไปให้ตลอดทั่วถึง บังคับจิต มีสติในขณะที่พิจารณา อย่าทำสักแต่ว่าทำแล้วเร่ๆ ร่อนๆ เถลไถลออกไปโน้นไปนี้ กลายเป็นสัญญาอารมณ์ และเป็นโลกเป็นกิเลสไปเสีย จะหาปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นผลจะปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อสติปัญญากลายเป็นสัญญาอารมณ์ไปตามโลกตามสงสาร ตามกิเลสตัณหาไปเสีย ไม่มีทางที่จะได้รู้ได้เห็นในสิ่งที่เป็นจริงอยู่นี้ได้เลย จึงต้องอาศัยความพยายาม เอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติน่ะ

อย่าไปคาดไปหมาย กว้างแคบ ลึกตื้น หยาบละเอียดที่ไหนออกไปจากวงเบญจขันธ์ กิเลสอยู่ในวงเบญจขันธ์นี้ มืดก็มืดอยู่ที่นี่ ติดอยู่ที่นี่ ทุกข์ร้อนอยู่ที่นี่ บีบบังคับอยู่ที่นี่ ล้วนแล้วแต่อำนาจของกิเลส อำนาจของทุกข์ซึ่งเกิดจากความผลิตของกิเลสทั้งมวล อยู่ในขันธ์ในใจของเรานี้ การพิจารณาจึงค้นคว้าลงไปให้เห็นตามความจริงของมัน

ดูภายนอกภายใน หนังเป็นอย่างไร คลี่คลายออกให้เห็นตามความจริงไม่ได้มีปลอมเลย สิ่งที่ปลอมว่าสวยว่างาม ว่าจีรังถาวรนั้นคือเรื่องของกิเลสทั้งมวล มันปักเสียบไว้หมดรอบอวัยวะทั้งภายในภายนอก หลอกหลอนว่าเป็นของน่ารักใคร่ชอบใจ เป็นของจีรังถาวร เป็นสมบัติอันพึงใจ มันพึงใจที่ไหน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พึงใจที่ไหน สิ่งที่พึงใจคือความหลุดลอยจากสิ่งเหล่านี้ พ้นจากสิ่งเหล่านี้ต่างหาก นั้นคือสิ่งที่พึงใจดังพระพุทธเจ้าทั้งหลายท่านตรัสรู้ธรรม ท่านเบิกท่านเพิกท่านถอนสิ่งจอมปลอมทั้งหลายเหล่านี้ออก เหลือแต่ความรู้ตามเป็นจริงล้วน ๆ จิตก็ไม่เกาะไม่ยึด อุปาทานที่เคยยึดมั่นถือมั่นในร่างกายหรือในขันธ์นี้มานานเท่าไร ถอดถอนออกหมดด้วยพระปรีชาญาณหยั่งทราบตลอดทั่วถึง จึงกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้นมา เรานักปฏิบัติถ้าเดินตามรอยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้จะไปไหน ผลจะพึงเป็นที่พอใจโดยไม่ต้องสงสัย ในการปฏิบัติธรรมให้ปฏิบัติอย่างนี้

พิจารณาให้แหลกละเอียด ถือร่างกายนี้เป็นสนามรบหรือเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา เป็นเวทีที่รบกับกิเลส ความยึดมั่นถือมั่น ความมืดบอดทั้งหลาย ด้วยปัญญาความสอดส่องมองทะลุไปตามหลักธรรมคือหลักความจริง ให้เห็นไปทุกแง่ทุกมุมว่าเป็นความจริงล้วนๆ ความปลอมก็จะขาดลอยไปโดยลำดับ เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงเต็มหัวใจแล้วย่อมสลัดปัดทิ้งทั้งอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์เป็นต้น ทั้งปล่อยวางการพิจารณาขันธ์คือรูปขันธ์เสียได้ในขณะนั้น สิ่งใดที่สัมผัสสัมพันธ์กับใจควรพิจารณากันต่อไป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็พิจารณาในทำนองเดียวกันนี้ นอกจากเราจะแยกเรื่องอสุภะอสุภังออก กลายเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปตามขั้นของสภาวธรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับอสุภะอสุภังเหมือนร่างกาย ก็พิจารณาอย่างนั้น ความเข้าใจซึมซาบเข้าไปโดยลำดับลำดา ร่างกายนี้พิจารณาจะออกมาชั่วระยะ เพียงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาเพื่อรู้แจ้งแทงทะลุ เพื่อถอดเพื่อถอนอุปาทานในร่างกาย เพราะรู้แล้ว พิจารณาพอแล้ว รู้ชัดภายในจิตใจว่าพอแล้ว ไม่มีใครบอกก็รู้

เวทนาที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย มันก็ทำให้รู้ไปตามกัน นอกจากเวทนาทางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดกว่ากันเข้าไปอีก สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นอาการอันหนึ่งๆ ที่ออกมาจากใจ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอาการ ฟังแต่ว่าอาการๆ มันเป็นยังไง มันเป็นของจริงของจังเมื่อไร เต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกันหมด มีอยู่เต็มตัวของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทั้งนั้น และใช้ปัญญาพินิจพิจารณา อย่าสนใจกับกาลกับสถานที่กับเวล่ำเวลา อย่าสนใจกับโลกกับสงสารนี้ว่ามีกว้างแคบมีมากมีน้อยในบรรดาสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ ยิ่งกว่าการสนใจกับการพินิจพิจารณาในงานของตนนี้ ประหนึ่งว่าโลกธาตุนี้ไม่มีอะไร มีเฉพาะงานที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ในเวลานี้เท่านั้น นั่นคือความพากเพียรโดยแท้จริงในขั้นของจิตขั้นนี้เป็นอย่างนั้น

แม้ขั้นอื่นๆ ก็เหมือนกัน เช่น เราจะทำสมาธิภาวนา ก็ให้ปล่อยวางเสียทั้งหมดในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่พิจารณาและเคยเกี่ยวข้องกัน อย่าเป็นสัญญาอารมณ์กับมัน ให้มีแต่คำบริกรรมนี้เท่านั้น นอกนั้นเหมือนไม่มี เหมือนโลกไม่มี คือไม่คิดไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ให้คิดให้ปรุงเฉพาะคำบริกรรมอันเดียวเท่านั้น แม้ขั้นเริ่มแรกก็เป็นเช่นนั้น ยิ่งเข้ามาขั้นอันละเอียด ขั้นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเหมือนไม่มีอะไร มีเฉพาะสิ่งที่มาสัมผัสสัมพันธ์กันกับจิตกับสติปัญญา ให้รับรู้กันเป็นระยะๆ เกิดดับๆ เป็นระยะๆ ตามรู้ตามเห็นกันเป็นระยะๆ ขุดกันไปค้นกันมาอยู่อย่างนั้นเป็นระยะๆ จนกระทั่งรอบตัว

เมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงทั้งรูป ทั้งเวทนาในขันธ์รูปอันนี้ ทั้งสัญญาความจำได้หมายรู้ ทั้งสังขารที่คิดปรุงขึ้นยิบแย็บๆ ทั้งวิญญาณความรับทราบจากสิ่งภายนอกแล้วสิ่งเหล่านี้จะมีปัญหาอะไร ก็มีแต่อาการที่ยิบแย็บๆ อยู่เพียงเท่านั้น จะถือเอาสาระสำคัญอะไรก็ไม่ได้ และรู้ชัดตามเป็นจริงด้วย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอาการเหล่านี้ด้วย จิตย่อมจะสัมผัสสัมพันธ์ตัวเข้าไปเรื่อยๆ สติปัญญาหมุนตัวเข้าไปๆ ทีนี้วงกว้างวงแคบของกิเลสจะเห็นได้ชัด ทีแรกมันยืดเยื้อยืดยาวไปหมด ระโยงระยางไปทั่วโลกดินแดนเราไม่เคยเห็น สัญญาอารมณ์มันก็ไปคาดไปหมาย ให้หลงยึดหลงถือหลงลมหลงแล้งไปหมดนั่นแล เราก็ยังยอมเชื่อมัน เขาพูดเรื่องอะไรๆ อยู่กี่ทวีป มันก็ไปยึดมาเป็นอารมณ์ ถือเป็นเหมือนของจริงของจัง ปั้นภาพขึ้นมาหลอกตนเองอยู่ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน นี่ตื่นเงา เราก็ยังตื่นเงานั้นๆ แล้วยังจะไปเสียดายความตื่นเงาของตนอย่างไรอีก ทีนี้ก็ย่นเข้ามา เมื่อพิจารณารู้แจ้งเห็นชัดแล้วก็ปล่อยเข้ามา เรื่องเงาไกลๆ มันก็ปล่อยเข้ามา ตื่นเงาไกลๆ ก็ปล่อยเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงธาตุถึงขันธ์ ปล่อยกันเข้าไปจนกระทั่งถึงใจ ปัญญาสอดแทรกเข้าไปภายในใจ

ตัวใจนั้นคือรังอวิชชา รังของภพของชาติ เมื่อถูกตัดขาดจากสิ่งเกี่ยวข้องกันหมดแล้วไม่มีทางออก สะพานของอวิชชา ทางเดินของอวิชชาก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้ถูกตัดเข้าไปเป็นลำดับลำดาและตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ยังเหลือแต่อวิชชาที่อยู่ในจิตที่เรียกว่าอุโมงค์ แล้วจ่อสติปัญญาขนาบลงไปตรงนั้น นั่นคือสมมุติอันละเอียด นั่นคือสิ่งที่ติดอันละเอียด นั่นคือภพอันละเอียดอยู่ตรงนั้น ภพอยู่ที่นั่น ชาติอยู่ที่นั่น ทุกข์อยู่ที่นั่น สติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกลงไป จนธรรมชาตินั้นแตกกระจายออกไปไม่มีเหลือแล้ว ความรู้นั้นแลที่ท่านเรียกว่าวิมุตติ

เมื่อสมมุติอันละเอียดคือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ได้ถูกทำลายลงไปแล้วด้วยสติปัญญาอันทันสมัย จิตวิมุตติก็แสดงตัวเต็มที่ไม่มีอะไรเหมือน ขึ้นชื่อว่าสมมุติทั้งมวลไม่มีอะไรเหมือน เพราะนั้นไม่ใช่สมมุติ นั่นเป็นวิมุตติ แม้จะอยู่ในธาตุในขันธ์ก็อยู่โดยหลักธรรมชาติอัตโนมัติของตนไม่ถูกบังคับบัญชา ไม่ต้องบังคับบัญชา ว่าอย่ายึดนั้นอย่าถือนี้ อย่าหลงนั้น นั่นเป็นสมมุติอย่ายึด แต่เป็นหลักธรรมชาติ จริงใครจริงเรา

ขันธ์ทั้งห้าซึ่งถือว่าเคยเป็นข้าศึก เพราะกิเลสพาให้เป็นข้าศึกก็กลายเป็นความจริงเสมอกันไป รูปก็จริง เวทนาในรูปขันธ์ได้แก่สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จริง สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็สักแต่ว่าจำ ๆ ก็เป็นความจริง สังขารเพียงคิดปรุงยิบแย็บๆ เกิดไปพร้อมดับไปพร้อม เกิดกับดับพร้อม ก็เป็นความจริงอันหนึ่งๆ สักแต่ว่ารับทราบๆ แล้วดับไปๆ ตามหลักธรรมชาติของมัน เพราะไม่มีตัวคอยยึดคอยถือ คอยเกาะคอยเกี่ยวให้เป็นสิ่งที่ยืดยาวต่อไปเหมือนที่อวิชชาเป็นตัวการมีอยู่ เหล่านี้จึงกลายเป็นของจริงตามหลักธรรมชาติของตน จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วก็เป็นความจริงของตนเต็มภูมิ ระหว่างขันธ์ห้ากับจิตที่บริสุทธิ์อยู่ด้วยกัน ก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน กิเลสที่เคยให้ความกระทบกระเทือนต่อจิตใจมามากน้อยเป็นเวลานานเท่าไรก็ยุติ หรือสลายลงไปแล้วหมดปัญหาตั้งแต่ขณะนั้นไป

ขึ้นชื่อว่าปัญหาทั้งมวลที่เกี่ยวกับจิตดวงนั้น ไม่มีอีกต่อไปตลอดอนันตกาล นิพพานเที่ยง เที่ยงที่ตรงไหน เราค้นหาซิ หานิพพานเที่ยง ให้เห็นความจริงของนิพพานเที่ยงแล้วก็หมดปัญหา ให้เห็นความจริงของศาสดาองค์เอกแต่ละองค์ๆ แล้วก็หมดปัญหา ให้เห็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ทุกๆ องค์ที่ท่านเป็น สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ มาตั้งแต่กาลไหนๆ เมื่อจิตเอกธรรมเอกแล้วก็หมดปัญหา ไม่มีอะไรผิดแปลกต่างกัน ขึ้นชื่อว่าจิตวิมุตติแล้วเป็นหลักธรรมชาติอันเดียวกันหมด หานิพพานเที่ยงก็หมดการหา นิพพานอยู่ที่ไหนก็หมดปัญหา พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกท่านปรินิพพานแล้วท่านอยู่ที่ไหนก็หมดปัญหาลงในขณะเดียวกัน เพราะธรรมชาตินั้นเป็นเครื่องยืนยันอย่างประจักษ์ใจอยู่แล้ว สงสัยไปไหน เมื่อถึงขั้นไม่สงสัยจะบังคับให้สงสัยก็สงสัยไม่ได้ นั่นละความจริง จริงเสมอกัน

ที่เราทั้งหลายกราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่เวลานี้กราบธรรมชาติอันนั้นเอง ธรรมชาติอันนี้เป็นจุดถ้าพูดว่าเป็นจุด เป็นหมายแห่งการยึดการเกาะของสัตว์โลกชาวพุทธเรา กล่าวเปล่งวาจาระลึกทางใจถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จึงไม่เป็นโมฆะ เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล เต็มไปด้วยอรรถด้วยธรรม เต็มไปด้วยความจริง ดังที่เราทั้งหลายได้กราบไหว้บูชามาเป็นประจำจิต

จงทำให้ถึงความจริงเถอะ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ จะเป็นธรรมแท่งเดียวอยู่กับใจดวงที่บริสุทธิ์นั้นไม่สงสัย อยู่ที่ไหนก็เหมือนกราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงขั้นผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคตแล้วก็เป็นอันเดียวกันไม่มีทางสงสัย แล้วทีนี้ เอ้า เทียบกันกับเรื่องความทุกข์ทั้งมวลที่เป็นตัวมหาภัย ที่น่าเข็ดหลาบ น่าขยะแขยง น่ากลัวอย่างยิ่ง กับสิ่งที่น่าพึงใจอย่างยิ่งนี้ว่า ปรมํ สุขํๆ คุ้มค่ากันไหม และคุ้มค่ากันกับความเพียรไหม

ทุ่มความพากเพียรลงไป พึ่งเป็นพึ่งตายกับธรรม ทุกข์ยากลำบากไม่สนใจ เพราะเป็นเรื่องของกิเลส การตะเกียกตะกายเพื่อหนีภัยจะถือเป็นความทุกข์ยากอยู่ต้องนอนจมอยู่กับภัย จะวิ่งจากเสือร้ายเพื่อความรอดตายของตัวเองกลัวจะลำบาก ก็ต้องยอมให้เสือร้ายกัดกินเป็นอาหารเสียซิ เป็นยังไง ใครจะยอมให้เสือร้ายกัดกินเป็นอาหาร ถ้ามีกำลังพอตะเกียกตะกายได้อยู่ เสือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากไม่ใช่เหรอ เสือทั้งตัวที่อ้าปากจะกัดอยู่แล้วนั้น กับเราทั้งคนที่จะเป็นอาหารของเสืออยู่เวลานั้น เมื่อกำลังวังชาชีวิตจิตใจยังมีอยู่ พอตะเกียกตะกายได้อยู่ ใครจะไปยอมให้เสือกัดกินเป็นอาหารเล่า นี่ก็เหมือนกัน มหาภัยมหาทุกข์นี้ยิ่งร้ายกว่าเสืออีก ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านตัว เรายังจะยอมให้มันกัดมันกิน มันบีบมันคั้นอยู่ตลอดไปอย่างนี้เหรอ สติปัญญากำลังวังชามีอยู่ต้องตะเกียกตะกาย ความทุกข์ความลำบากไม่สนใจ ในขณะที่จะหนีให้รอดพ้นจากภัยนั้น เหมือนกับจะหนีให้รอดพ้นจากความเป็นเหยื่อของเสือ ต้องตะเกียกตะกายสุดฝีเท้า

ผู้ปฏิบัติตนเพื่อจะตะเกียกตะกายให้พ้นจากกิเลสอันเป็นภัยร้ายที่สุด เปรียบเหมือนเสือหรือยิ่งกว่าเสือนั้น ก็ต้องตะเกียกตะกายให้เต็มกำลังความสามารถของตน ชีวิตหัวใจขาดที่ไหนขาดไป เอ้าตายก็ตาย ตายในแนวรบ ในแดนแห่งนักรบ ไม่ใช่แดนแห่งนักหลบ หลบนั้นหลีกนี้ ให้กิเลสคาบเอาๆ กลืนเอาๆ ถือว่าตนเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดหรือนั่น ทำความเพียรอ่อนๆ แอๆ เหยาะๆ แหยะๆ หาที่หลบหลีกปลีกตัวว่าตัวเป็นผู้ฉลาด ปลีกเข้าไปหากิเลสให้มันกลืนเอาๆ เป็นคนฉลาดแล้วเหรอ เราต้องคิดแง่เหล่านี้ ไม่คิดไม่ได้

การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้ว่าท่านผู้หนึ่งผู้ใด แต่ผลิตอุบายทั้งหลายขึ้นมาให้ท่านทั้งหลายได้นำไปคิด เพื่อต่อสู้ภัยที่มีอยู่ภายในหัวใจของตน ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มสติกำลังความสามารถ ถ้าอุบายใดที่ควรจะคิดได้ด้วยตนเอง นั้นละยิ่งเป็นอุบายที่เหมาะสมยิ่งกว่าครูบาอาจารย์ที่หยิบยื่นให้เป็นไหนๆ และกินไม่หมด ใช้ไม่หมด พิจารณาเท่าไรไม่มีวันหมดวันสิ้นไปเลย ท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา จะหลุดพ้นด้วยปัญญานี้เท่านั้นเป็นสำคัญ เอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติ

อย่าทำเร่ๆ ร่อนๆ ให้ถืองานนี้เป็นงานชิ้นเอก เป็นงานคู่ชีวิตจิตใจ เป็นงานพึ่งเป็นพึ่งตาย งานที่จะหลุดพ้นจากเสือร้ายอันสำคัญ คืองานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี้เท่านั้น งานนอกนั้นเป็นแต่เพียงอาศัยชั่วกาลชั่วเวลา ไม่ถือเป็นสาระสำคัญอะไรมากนัก ยิ่งกว่างานคือการถอดถอนกิเลสให้แหลกแตกกระจายออกจากใจ คว้าเอาวิมุตติธรรมขึ้นมาครองตลอดอนันตกาล นี่เป็นงานที่เยี่ยม เป็นผลที่เยี่ยมไม่มีอะไรเสมอ จงพากันตั้งอกตั้งใจพินิจพิจารณา

หู ตา มีให้ดูซึ่งกันและกัน อย่าให้มีความขัดข้องยุ่งเหยิงหรือกระทบกระเทือนกันเป็นอันขาด นั้นเป็นกิเลสประเภทหยาบๆ เรามาตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้มองดูหัวใจตนเอง อย่าไปตีความหมาย อย่าไปคิดถึงเรื่ององค์นั้นไม่ดี องค์นี้โง่ องค์นั้นฉลาด องค์นั้นไม่ดีอย่างนั้น องค์นี้ไม่ดีอย่างนี้ มากยิ่งกว่าการคิดถึงเรื่องเจตสิกธรรมของตนที่เสาะหาเรื่องหาราวอยู่ภายนอก ไม่ได้มามองดูความผิดความพลาดความเคลื่อนไหวของตัวของจิตว่าเป็นประการใดบ้าง ด้วยสติปัญญานั้นไม่ควรเลย ให้ดูตรงนี้ผู้ปฏิบัติ

หากมีเหตุมีผลหรือมีกาลอันควรที่จะควรแนะนำตักเตือนสั่งสอนกันได้ ให้ยอมรับซึ่งกันและกัน จึงเรียกว่าเป็นนักธรรมะ อย่าให้กิเลสมาแฝง อวดดิบอวดดีว่าตนรู้ตนฉลาดแล้วไม่ยอมลงใคร สอนก็ไม่ยอมรับ นั่นคือเรื่องของกิเลสไม่ยอมรับธรรม และเป็นข้าศึกต่อกันขึ้นมาก็เพราะกิเลสพาให้เป็นข้าศึก ไม่ใช่ธรรมพาให้เป็นข้าศึก

ผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อยู่ด้วยกันจะมากจะน้อย อยู่ได้ทั้งนั้น เหมือนอวัยวะเดียวกัน เพราะเจตนามุ่งอรรถมุ่งธรรมด้วยกัน ความผิดความพลาดอาจมีได้ด้วยกัน แต่การมองกันในแง่อรรถแง่ธรรม มองกันในแง่ให้อภัยมองกันในแง่เมตตานี้เป็นธรรมล้วนๆ อยู่ด้วยกันได้ด้วยความผาสุกเย็นใจตลอดไป ตนเองก็ไม่เดือดร้อน ตนเองก็ไม่สำคัญว่าตนเองสูงกว่าผู้หนึ่งผู้ใด นอกจากจะอยู่ด้วยความถูกต้องแห่งธรรมเท่านั้น นี่เป็นความอยู่เป็นสุขระหว่างแห่งกันและกันที่มาอยู่ร่วมกัน

ข้อวัตรปฏิบัติก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ อย่าให้มีหนักมีเบาในรายนั้น รายนี้ ตั้งหน้าตั้งตาทำด้วยความเห็นสารคุณจริงๆ เพราะข้อวัตรปฏิบัตินี้ทำเพื่อเราด้วยกันทั้งนั้น แม้จะเป็นกิจส่วนรวมก็คือเพื่อตัวเองๆ อยู่นั้นแล

การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรจึงขอยุติเพียงแค่นี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก