ภัยของจิตคือกิเลสเท่านั้น
วันที่ 13 มีนาคม 2525 เวลา 19:00 น. ความยาว 58.31 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕

ภัยของจิตคือกิเลสเท่านั้น

ในแดนสมมุตินี้มีจิตเป็นผู้รองรับ รับทราบว่าดี ว่าชั่ว ว่าสุข ว่าทุกข์ นอกนั้นไม่มีอะไรรับทราบว่าอะไรมีหรือไม่มี สุข ทุกข์ประการใด ไม่มีสิ่งใดรับทราบ นอกจากจิต ทั้งจิตสัตว์ จิตบุคคล คำว่าจิตก็คือตัวรู้ มีตัวรู้นี้เท่านั้นเป็นผู้ทราบสิ่งที่มาสัมผัส หรือไม่สัมผัส จิตนี่สามารถรับทราบได้ และสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตก็ไม่มีอะไรที่เกินกิเลส ตามหลักธรรมท่านให้ชื่อไว้รวม ๆ ว่ากิเลส มีกี่ประเภท ก็รวมอยู่ที่จิต แสดงออกที่จิต

จิตจึงเป็นสถานที่แสดง หรือสถานที่อยู่ของกิเลสอย่างพร้อมมูลไม่มีเวลาบกบาง(บกบาง = ลดลง) เวลาสงบก็เข้าไปอยู่ในจิตนั้นเสีย เวลาแสดงตัวออกมาก็แสดงออกมาจากที่นั่น หากไม่มีการชำระแก้ไขด้วยแล้ว จะว่าอนันตกาลระหว่างจิตกับกิเลสก็ไม่ผิด จะเรียกว่าอนันตจิตก็ไม่ผิด คือหากาลหาเวลาไม่ได้เลย กิเลสไม่เคยหลุดลอยออกจากจิตใจโดยไม่มีการชำระดัดแปลงแก้ไข แต่การสั่งสมตัวของกิเลสนั้น สั่งสมอยู่เป็นประจำที่จะทำงานเพื่อการพรากตนจากจิตนั้น กิเลสไม่เคยทำ ไม่เคยมี และไม่เคยให้มี เป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ภายในจิตดวงเดียวนี้เท่านั้น ไม่ว่าจิตสัตว์ จิตบุคคลกิเลสเกิดได้ทั้งนั้น แสดงได้ทั้งนั้น ภัยของจิตจึงมีกิเลสอย่างเดียวเป็นสำคัญ

รากเหง้าเค้ามูลของกิเลสพระพุทธเจ้าท่านแสดงไว้แล้วอย่างละเอียดลออ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น นี่คือ รากเหง้าเค้ามูลของกิเลสโดยแท้ แยกแขนงออกไปเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง นอกนั้นเป็นแขนงออกไป แต่ละแขนงยังแยกเป็นแขนงย่อย ๆ ออกไปอีกมากมายจนหาประมาณไม่ได้ เหมือนต้นไม้แต่ละต้น แตกกิ่งใหญ่ กิ่งเล็ก เล็กเป็นลำดับลำดาลงไปรอบลำต้นของมัน

เพียงแต่กิ่งใหญ่กิ่งเดียว เราไปนับแขนงเล็กของมันก็ไม่มีการสิ้นสุดยุติลงได้ เพราะมีมากต่อมาก กิ่งของกิเลสที่แตกจากกิ่งใหญ่ของมัน เช่น แตกจากความโลภ ความโกรธ ความหลงแต่ละกิ่งใหญ่ ๆ ทั้งนั้นก็พอตัว แล้วทุกกิ่งไม่ว่ากิ่งใหญ่ กิ่งย่อย ไม่ว่ารากเหง้าเค้ามูลของมัน ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นตัวพิษตัวภัยที่ฝังจมอยู่ภายในจิตใจ และแสดงตัวอยู่กับจิตใจนี้ทั้งมวล ไม่มีสถานที่อื่นใดที่จะแสดงเรื่องของกิเลสออกได้ นอกจากใจเท่านั้น แสดงออกได้ที่ใจ เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ

ด้วยเหตุนี้การแก้กิเลสจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะความฝังจมนั้นเป็นสิ่งที่ลึกมาก ถ้าเราจะเทียบทางลึก ลึกจนหาประมาณไม่ได้ว่าลึกขนาดไหน จมลงอย่างมิดมองไม่เห็นเลย ภพชาติที่เตยเกิดมามากน้อยในจิตดวงหนึ่ง ๆ นั้นไม่สามารถจะนับอ่านตนเองได้ เพราะลึกแสนลึก มากต่อมาก และผลของมันที่แสดงเป็นความทุกข์ร้อนออกมา แต่ละภพละชาตินั้นก็มีมากต่อมาก ไม่สามารถจะนับอ่านได้เลย เนื่องจากความฝังลึกของกิเลส และผลิตตัวออกมาเป็นความฝังลึกในชาติในภพ ในทุกข์น้อยใหญ่ต่าง ๆ มันมีอยู่เป็นประจำ และผลิตอยู่เป็นประจำ

การแก้ไขถอดถอนกิเลสจึงเป็นเรื่องใหญ่โต ผู้ที่จะมาเป็นศาสดา ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นผู้ตั้งท่าตั้งทางเตรียมพร้อมมาเป็นเวลานาน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็เป็นบารมีขึ้นมา แต่ละประเภท ๆ ของบารมีนั้น ๆ ต้องได้ตั้งหน้าตั้งตาสร้างจริง ๆ เตรียมเนื้อเตรียมตัวเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถ โดยลำดับลำดา ยิ่งสร้างไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความวิ่งเต้นขวนขวายมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พอกับ หรือเพื่อให้เป็นกำลังที่จะถอดถอน สิ่งที่ฝังจมอย่างลึกลับ หรืออย่างลึกซึ้งนี้ให้ตื้นขึ้นมา ย่นเข้ามา ภพชาติแทนที่จะมากเต็มภูมิของมัน ก็ให้ลดน้อยลงมา ๆ ดังพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันเป็นตัวอย่าง สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นความเด่นทั้งนั้น

พูดถึงการให้ทาน ในโลกไม่มีใครเสมอเหมือนพระพุทธเจ้าครั้งเป็นพระเวสสันดร คือจะเสียสละโดยสิ้นเชิง ให้รักษาศีลพระองค์ก็ทรงยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างความลำบากลำบนที่ทรงบำเพ็ญพระองค์ในเวลานั้น จนกระทั่งได้มาเป็นสิทธัตถราชกุมาร เป็นพระชาติสุดท้ายที่เสียสละหมด เสียสละทั้ง ๆ ที่ยังมีความห่วงใยเสียดาย สละราชสมบัติพัสสถานทุกบ้านเรือน บริษัท บริวาร ไพร่ฟ้าประชาชี ออกประหนึ่งว่าขั้วพระทัยจะหลุดลอยออกไปตาม ๆ กัน กับสิ่งที่เสียสละนั้น พระองค์ก็ทรงยอมรับ และตัดพระทัยไปด้วยความฝ่าฝืน และเสด็จไปด้วยความยากความลำบาก นี่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยคพยายามแห่งการถอดถอนกิเลสออกจากใจทั้งมวล ไม่มีประโยคใดที่พระพุทธเจ้าจะทรงได้รับความย่อหย่อนผ่อนปรนจากกิเลส ว่าไม่ให้ฝืนไม่ให้อดทน ไม่ให้เข้มแข็ง ไม่ให้บึกบึน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะต้องใช้กำลังบึกบึนด้วยกันทั้งนั้น

เวลาทรงบำเพ็ญ พระองค์ก็ทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ทุกพระอิริยาบถ จะไม่มีพระอิริยาบถใดเลยเป็นความสะดวกสบาย ทั้งความเป็นอยู่ธรรมดา ทั้งประโยคแห่งความพากเพียร มีแต่หมุนไปตามความมุ่งมั่น ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น กำลังวังชาทุกสิ่งทุกอย่างทุ่มเข้ามาสู่ความพากเพียรทั้งหมด เป็นหรือตายก็ต้องทุ่มเข้ามา ไม่ถือความเป็นความตาย เป็นสิ่งที่มีสารคุณมากกว่าธรรมที่พระองค์ทรงมุ่งหวัง คือแดนแห่งความตรัสรู้เป็นศาสดาของโลกและเป็นสยัมภูด้วยตามหลักธรรมชาติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ต้องรู้เอง เรียนเอง รู้เอง ปฏิบัติเอง

ไม่มีใครที่จะมาสั่งสอนภูมิของศาสดาได้ นอกจากพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้นจะเป็นผู้ตะเกียกตะกายทุกแง่ทุกมุม ดังที่ทรงบำเพ็ญผิด ๆ พลาด ๆ มาบ้าง ย่อมถือเป็นธรรมดาของสยัมภู ที่จะตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง ไม่ทรงเสาะแสวงหา อันเป็นความสมหวัง จากผู้หนึ่งผู้ใด เป็นความที่ตะเกียกตะกายโดยลำพังพระองค์เอง จึงต้องทรงทำความเพียรด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน

แต่การอดพระกระยาหาร ๔๙ วันนั้น เจตนาของพระองค์กับพวกเราทั้งหลายที่อดกันนี้มีผิดกันอยู่มาก การอดพระกระยาหารของพระองค์นั้น เพื่อการตรัสรู้ด้วยวิธีการนั้นจริง ๆ ไม่มีจิตตภาวนาเข้าเคลือบแฝงเลย จึงผิดกันที่ตรงนี้ แต่สิ่งที่เหมาะสมกับจิตตภาวนา ที่จะเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย ก็ไม่พ้นจากการที่ทรงอดพระกระยาหารผ่านมาแล้วนั้นเลย จะเห็นได้เวลาพระองค์เสวยพระกระยาหาร ในวันเดือน ๖ เพ็ญที่ทรงอดมาได้ ๔๙ วัน แล้ว วันนั้นเป็นวันคำรบที่ ๕๐ วัน ก็เสวยพระกระยาหารของนางสุชาดา แล้วก็หมุนเข้าทางจิตตภาวนา

ทรงถืออานาปานสติ เป็นหลักของการภาวนา ซึ่งเป็นความถูกต้อง ตามหลักการที่จะให้ตรัสรู้ได้ พระองค์จึงทรงรู้ได้โดยลำดับ นับแต่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ฯ หรือ ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม และทรงรู้ไปโดยลำดับลำดา ถึงขั้นละเอียดลออ จนได้ตรัสรู้ธรรม ในคืนวันเดือนหกเพ็ญนั้น นี่ก็ที่เกี่ยวกับการอดพระกระยาหาร คือตอนนั้นพระองค์ไม่มีกำลังอะไรที่จะมาทับถมในทางร่างกายเลย มีแต่พระจิตล้วน ๆ ซึ่งพร้อมที่จะรับธรรมอันถูกต้อง คือรับการดำเนิน และธรรมอันถูกต้องอยู่แล้ว

เมื่อกำหนดอานาปานสติลงไป พระจิตจึงมีความละเอียดลออเข้าไปโดยลำดับอย่างรวดเร็ว ทางด้านกายก็พร้อมแล้ว ไม่มีคำว่าเป็นภัย ไม่มีคำว่าเป็นการทับถมจิตใจให้อืดอาดเนือยนายลำบากลำบน มีแต่ความคล่องแคล่วภายในจิต คือภายในพระจิตของพระองค์เกี่ยวกับการดำเนิน พิจารณาทางด้านจิตตภาวนาโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จึงได้ตรัสรู้ขึ้นมา หากพระองค์ทรงพิจารณาอานาปานสติตั้งแต่ระยะที่กำลังทรงอดพระกระยาหารอยู่นั้น ก็ไม่น่าจะผิดพลาดมาเป็นเวลานาน อาจได้ตรัสรู้ก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

สรุปความในการบำเพ็ญของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ละเอียดลออสุขุมคัมภีรภาพ ถ้าพูดถึงในหน้าที่การงานหยาบ ๆ ก็ไม่มี มีแต่ความละเอียดลออ พระกระยาหารที่อยู่ ที่อาศัยทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เสด็จไปมา มีแต่ความราบรื่นดีงาม ด้วยการตกแต่งจากไพร่ฟ้าประชาชี ที่เขาถือว่าเป็นสมมุติเทพ คือเทวดาโดยสมมุติได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จึงไม่ทรงมีอะไร ลำบากลำบนทางพระกาย แต่เวลาเสด็จออกผนวช ทรงบำเพ็ญพระองค์แล้ว พระกายนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับฟุตบอลที่ถูกเตะ ถูกกลิ้งกันอยู่ตลอดเวลา

ตั้งแต่ขณะที่เสด็จออกทรงผนวช จะไม่ได้รับความสะดวกสบายอะไรจากอาหาร การบริโภค ที่อยู่ ที่อาศัย เครื่องนุ่งห่มใช้สอย ยาแก้โรคแก้ภัยใด ๆ ทั้งสิ้น มีความบีบบังคับ ทั้งส่วนพระกายของพระองค์ และภายในพระทัย ถูกบีบบังคับอยู่ด้วยสิ่งสัมผัสต่าง ๆ คือบีบบังคับอยู่ด้วยความหิว ความกระหาย ความลำบากลำบนในทางร่างกาย บีบบังคับอยู่ด้วยความห่วงใยพัวพันเกี่ยวกับกิจบ้านการเมืองที่พระองค์ทรงทำหน้าที่ปกครองมาเป็นเวลานาน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากมหาศาลตามโลกสมมุตินิยม พระองค์ก็ทรงตัด เพราะเหตุนั้น จึงต้องได้รับความลำบากลำบน ทั้งทางพระกายและพระจิต

กว่าจะได้มาตรัสรู้ก็เป็นเวลา ๖ ปี ทรงตกนรกทั้งเป็นอยู่นั้น พอผ่าน ๖ ปีมาแล้ว พระกายก็เคยชินต่อสิ่งเกี่ยวข้องต่าง ๆ คืออาหารปัจจัยทั้งหลาย แล้วก็เริ่มมีขึ้นมา เนื่องจากที่เขาได้ทราบว่าพระสิทธัตถราชกุมารได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาแล้ว และประกาศธรรมให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสแก่ประชาชนผู้มีอุปนิสัยปัจจัยที่ควรจะรับธรรมนั้น ๆ อยู่แล้ว ทางพระจิตก็ได้ตรัสรู้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะเข้าบีบบังคับพระองค์เหมือนอย่างแต่ก่อน นี่หากว่าจะได้รับความสะดวกทางพระกาย ก็ได้รับความสะดวกหลังจากการตรัสรู้แล้ว รับการสะดวกทางพระทัยก็ได้รับหลังจากตรัสรู้แล้ว

ที่กล่าวมาทั้งมวลนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการตะเกียกตะกาย เป็นวิธีการแห่งการรบการต่อสู้กับกิเลสซึ่งเป็นตัวเหนียวแน่นแก่นวัฎวนฝังอยู่ภายในจิตใจ ไม่ใช่เป็นของที่จะถอดถอนได้อย่างง่ายดาย พอจะตักเอาตวงเอาเหมือนน้ำเหมือนท่า นี่เราทั้งหลายเป็นลูกศิษย์ที่มีครู จงพยายามเดินตามร่องรอยของพระพุทธเจ้า หากจะเกิดความลำบากลำบนขึ้นมา จะทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอ อันจะเป็นฝ่ายกิเลสได้รัดได้เปรียบ ก็ขอให้ฟิตตัว พลิกตัวเสียใหม่ด้วยอรรถ ด้วยธรรม โดยนำพระพุทธเจ้ามาเป็นสรณะทั้งทางด้านจิตใจและการดำเนินตาม

ธรรมเกิดขึ้นมาจากความลำบากลำบนของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกที่เราทั้งหลายได้กล่าวอ้างเป็นสรณะอยู่นี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้เดนตายมาด้วยกันแทบทั้งนั้น เราจึงไม่ควรถือว่าธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย เพราะอำนาจของกิเลสที่ปิดบังอยู่นั้น จะเปิดช่องเปิดทางให้เอง โดยไม่ต้องบำเพ็ญสิ่งใด ๆ หรือเปิดทางให้เอง เพราะความดำริ ความคิดต้องการอยากได้ หรืออยากรู้อยากเห็นธรรมเท่านั้น ต้องได้มีการต่อสู้กับกิเลสเป็นระยะ ๆ ตามขั้นภูมิของมัน ความหนักเบาของการต่อสู้กิเลสก็ต้องหนักเบาไปตามกำลังของกิเลส ที่มีหนาบางมากน้อย ลึกตื้น หยาบละเอียดแค่ไหนนั้นแล

จึงไม่ควรนำความท้อแท้อ่อนแอทางด้านจิตใจเข้าไปเป็นเครื่องมือปราบกิเลส จะกลายเป็นเครื่องมือเสริมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว เครื่องมือปราบกิเลสต้องเป็นความขยันหมั่นเพียร ความอดความทน ความพินิจพิจารณา ไตร่ตรองหาเหตุหาผล คือความปลดเปลื้องปล่อยวางอยู่เสมอ เป็นผู้ไม่นอนใจ ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ ทุกข์ที่ถูกทางกำลังดำเนินอยู่ ตามหลักธรรมนี้ไม่มีอะไรเสียหาย จะเป็นทุกข์ในอิริยาบถใดก็ตาม ทุกข์ด้วยวิธีการต่อสู้กับกิเลสประเภทใดก็ตาม ไม่มีความเสียหายทั้งนั้น นอกจากทุกข์ในเรื่องผิดทางก็เป็นความลำบากเปล่า ๆ

นี่เราก็ได้ยินได้ฟังมาแล้ว อุบายวิธีการต่อสู้กับกิเลส หรือแก้ไขถอดถอนกิเลสนั้น ถอดถอนวิธีใดแก้ไขวิธีใด จึงไม่ควรสงสัยในคำสั่งสอนที่ท่านแสดงไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบ มีกิเลสนี้เท่านั้นเป็นตัวการหนุนจิตหนุนใจให้รับความลำบากลำบน ให้รัก ให้ชัง ให้เกลียด ให้โกรธ ให้ยินดีในสิ่งนั้น ไม่ยินดีในสิ่งนี้ ให้ไปยึดอารมณ์นั้น ปรุงอารมณ์นี้ขึ้นมาอยู่ไม่หยุดไม่ถอย นี่ล้วนแล้วแต่เป็นพิษเป็นภัย มีแต่กิเลสนี้อย่างเดียว

จิตหาความสงบสุขไม่ได้ ก็เพราะอำนาจของกิเลสบีบบังคับให้หมุนไปเปลี่ยนมาอยู่เช่นนั้น ไม่ใช่อะไรเป็นเครื่องบีบบังคับ ถ้าหากว่าเราท้อแท้อ่อนแอต่อความเพียรที่จะถอดถอน หรือแก้ไขตัวเองเพื่อกิเลสจะได้ลดน้อยลงไปจนถึงขั้นหมดไป ก็ถือเป็นความลำบากลำบนแล้วก็ไม่มีทางเดิน เพื่อความพ้นทุกข์ได้เลย นี่เป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นมากสำหรับเรา ผู้เป็นนักบวช เพื่อความพ้นทุกข์

ทุกข์นี้ไม่มีสิ่งที่น่าสงสัย ทุกข์ในกายก็เหยียบย่ำทำลายเราอยู่ตลอดเวลา สงสัยที่ตรงไหน ทุกข์มากทุกข์น้อยย่อมเคยประสบพบเห็นมาด้วยกัน จะเป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บหัว ตัวร้อน ประการใด มันก็เป็นเรื่องของทุกข์ทั้งมวล หิวกระหายก็เป็นเรื่องความทุกข์ทั้งมวล ในอิริยาบถต่าง ๆ ที่ไม่สม่ำเสมอ ก็เป็นเรื่องความทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบกระเทือนร่างกาย ล้วนแล้วแต่ทำร่างกายนี้ให้เกิดความทุกข์ ให้เรารู้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา

จึงไม่น่าสงสัยที่ตรงไหนว่าจะมีของดิบของดีภายในร่างกายอันนี้ นอกจากเป็นเรือนของทุกข์โดยถ่ายเดียวเท่านั้น ส่วนสุขไม่ค่อยปรากฏในร่างกาย มีแต่ความทุกข์เด่นอยู่ตลอดเวลา เจ็บนั้น ปวดนี้ล้วนแล้วแต่ส่วนร่างกาย ถ้าจิตก็ลุ่มหลงเป็นกังวลกับความเจ็บปวดของร่างกายนี้ด้วยแล้ว ก็ย่อมเป็นภัยแก่จิตใจขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เป็นโรค ๒ ชั้นขึ้นมา เป็นโรคกังวล โรควุ่นวายส่ายแส่ อยากให้หาย อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากอยู่สบาย มีแต่ความอยากอันเป็นเรื่องของกิเลสเข้าบีบคั้น

เรื่องของกิเลสไม่เคยสร้างคุณงามความดี และความสุขความเจริญ เป็นที่สมหวังให้แก่ผู้ใดทั้งนั้น เราจึงไม่ควรสงสัย ไม่ควรที่จะไปเชื่อกิเลสอยู่ตลอดไป ธรรมทั้งหมดนี้เพื่อให้รู้กลมายาของกิเลสทั้งมวล ไม่ใช่ธรรมเป็นเครื่องหลอกลวงให้หลงตามกลกิเลส กลมายาของกิเลส แต่เป็นเครื่องให้รู้กลมายาของกิเลสทุกประเภท ที่แสดงหรือทำงานอยู่ภายในจิตใจของตน ผู้ปฏิบัติจงดูจุดนี้ให้ละเอียดลออ และสม่ำเสมอทุกอิริยาบถ ทุกอาการที่เคลื่อนไหว มีสติเป็นเครื่องยืนยันในความเพียรของตน จากนั้นก็ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง อย่าได้ปล่อยวาง

มันไม่มีอะไรสงสัยแล้วแหละสำหรับโลกอันนี้ เมื่อความเกิดเป็นตัวเหตุแล้วก็ความแก่ เจ็บตาย ก็ตามกันมา ซึ่งล้วนแล้วแต่หาบหามทุกข์มาเต็มตัว ๆ ด้วยกันทั้งนั้น แต่ละอาการที่แสดงตัวออกมาให้ผิดปกติ มีแต่เป็นเรื่องหาบหามกองทุกข์มาทับถมโจมตีเราอยู่ตลอดเวลาทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงไม่ควรจะสงสัย นี่ที่ว่าทุกข์ ไม่มีอะไรจะทุกข์ จะรับยืนยันทุกข์ได้เหมือนจิต จิตนี้ทุกข์ทั้งสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือรับผิดชอบของตน เช่นร่างกาย สมบัติต่าง ๆ จิตเป็นผู้รับผิดชอบ

สมบัติภายนอกไม่เท่าไร สมบัติภายในร่างกายนี้ จิตนี่ถือเป็นความสนิทสนม กลมกลืนประหนึ่งว่า เป็นอันเดียวกันกับตนจริง ๆ นี่ยิ่งเป็นความกังวลห่วงใย จนกลายเป็นสัญชาตญาณขึ้นมา เพราะกิเลสเสริมให้เป็น นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น จะมีแต่สัญชาตญาณล้วน ๆ ไม่มีอุปาทาน ไม่มีกิเลสพาให้เป็น ผิดกันอยู่ที่ตรงนี้เท่านั้น และทำไมจะไม่เกิดความทุกข์เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทุกข์ต้องเสียดแทงจิตอยู่ตลอดเวลา เพราะกิเลสยื่นให้เสมอ ๆ ล้วนแล้วตั้งแต่ยาพิษ

เรายังไม่รู้เห็นกลมายาของมันแล้ว ก็จะแหวกทางจากมันไปได้อย่างไร จึงต้องอาศัยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร พินิจพิจารณา เรามีงานอันเดียวเท่านี้ เพื่อความพ้นทุกข์ด้วยความเพียรของเรา กิจการงานอื่นมีผู้รับรองไว้หมด ชีวิตชีวาฝากไว้กับญาติกับโยม ประชาชนศรัทธาทั้งหลาย ผู้ใจบุญมีอยู่มากมาย ในประเทศไทยของเรานี้เป็นแดนพระพุทธศาสนา เป็นแดนแห่งคนใจบุญ ถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว จึงไม่ควรคิดว่ากลัวตาย ด้วยความอดอยากขาดแคลน ในปัจจัยทั้ง ๔ ให้กลัวตั้งแต่จะไม่พ้นจากทุกข์ที่บีบบังคับอยู่ตลอดเวลา ภายในร่างกายและจิตใจนี้เป็นสำคัญมาก ยิ่งกว่าความกลัวความกังวลกับสิ่งอื่นใด

งานการอันใดโลกเขาก็ทำอยู่แล้ว ไม่ควรจะไปกังวล งานการที่เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสให้หมดจากใจนี้เป็นงานสำคัญมาก เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชเราถือเป็นงานเยี่ยมที่สุด เป็นงานหลักจิตหลักใจ เป็นงานประจำชีวิตชีวาจริง ๆ ไม่ใช่งานเล็กน้อย จงพยายามทำงานของตนให้สมบูรณ์ เริ่มต้นตั้งแต่ทำจิตให้สงบ

จิตทำไมจะสงบไม่ได้ เราทราบอยู่แล้วว่าจิตสงบไม่ได้เพราะอารมณ์ ความคิดความปรุง ความแต่ง ความสำคัญมั่นหมาย ทั้งอารมณ์อดีต อารมณ์อนาคต คว้าเอามายุ่งอยู่ภายในจิตใจเป็นผู้ทำงาน จึงหาเวลาว่างไม่ได้สำหรับงานของจิต ที่จะสงบตัวลงไปไม่มี ถ้าไม่ทำให้มี ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยการพิจารณาการภาวนา

การภาวนาเบื้องต้น เราก็เอางานทางด้านธรรมะเข้าไปทับหรือแทนที่งานของกิเลส งานกิเลสคิดปรุงแต่งเรื่องนั้น เรื่องนี้ เพื่อสั่งสมตัวตนขึ้นมาให้มีกำลังมาก แต่งานของธรรม เช่นงานบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ บทใดก็ตาม แม้จะเป็นงานก็ตาม แต่นี้เป็นงานทางด้านธรรมะเพื่อจะทำจิตใจของเราให้สงบ เอาให้เน้นหนักลงไปในงานอันนี้ เปลี่ยนงานจากเรื่องงานของกิเลส เข้ามาเป็นงานของธรรม แล้วจะเป็นเครื่องปราบปรามกิเลส หรือทำกิเลสให้สงบตัวลงได้ด้วยงานประเภทนี้ คืองานบริกรรมภาวนา เอาให้จริงให้จัง

อย่าเหลาะ ๆ แหละ ๆ นั้นไม่ใช่ทางของนักบวชผู้ปฏิบัติ และไม่ใช่เรื่องของศาสนธรรม ความเหลว ๆ ไหล ๆ โยก ๆ คลอน ๆ ความเอาจริง หาจริง หาจัง หาหลัก หาเกณฑ์ไม่ได้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของกิเลสอยู่ฉากหลังทั้งนั้น เรียนเข้าไป เรียนเรื่องของกิเลส จะไม่ทราบเรื่องของกิเลสไม่มี ถ้าตั้งใจเรียนจริง ๆ มันมีอยู่ทุกระยะ ทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียด เราก็หลงกลมายาของมันอยู่ตลอดไม่ว่า กลมายาหยาบ กลาง ละเอียด หลงได้ทั้งนั้น ถ้าสติปัญญาไม่ทัน

ด้วยเหตุนี้จึงต้องสั่งสม สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ให้มากโดยลำดับ ๆ จนมีกำลังเต็มตัว พูดถึงสมาธิก็เอาให้สงบ ไม่นอกเหนือไปจากอำนาจแห่งธรรมที่นำมาใช้ มาปฏิบัตินี้ได้อยู่ตรงนี้ เอาให้จริงให้จัง จนมีความสงบได้ มันจะผาดโผนโลดเต้นขนาดไหนก็เถอะจิตนี่ เพราะอำนาจของกิเลสพาให้เป็น จะไม่นอกเหนือไปจากธรรม คือ วิริยธรรม สติธรรม ปัญญาธรรม ขันติธรรมไปได้เลย อันนี้แหละเป็นเครื่องปราบกิเลส ถ้าพากันนำเข้ามาใกล้ชิดติดกับใจของตนอยู่เสมอ อย่าได้ปล่อยวาง อย่าได้ห่างเหินธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นธรรมพาเราให้หลุดพ้นจากแดนแห่งนรกทั้งเป็นทั้งหลายซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของเราเอง เอาจนมันสงบ

เมื่อจิตมีความสงบได้มากน้อยเพียงไร หลังจากนั้นแล้ว ให้พยายามนำจิตออกพิจารณาทางด้านปัญญา อย่าไปถือขั้นนั้นขั้นนี้ของสมาธิว่าควรแก่ปัญญาหรือไม่ควรแก่ปัญญา ให้ถือเรื่องความสงบ จิตสงบมากน้อยมีความอิ่มตัวให้ปรากฎ ไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ เพราะความสงบคือโอชารสอันสำคัญของจิต จากนั้นแล้วก็ให้พิจารณาทางด้านปัญญา เอาร่างกายของเรานี้แหละเป็นต้นเหตุสำคัญยิ่งกว่าอื่น แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งภายนอกไม่สำคัญ นี่หมายถึงร่างกายของเรา เป็นสำคัญอันดับหนึ่ง จึงต้องให้พิจารณา เช่น กาย เวทนา จิต ธรรม ก็หมายถึง กาย เวทนา จิต ธรรม ของแต่ละราย ๆ แห่งผู้ประกอบความพากเพียรนั้นแลเป็นหลักเป็นที่ตั้ง

เอาพิจารณาลงไป ถ้าพิจารณาทางร่างกาย ดูเข้าไปตั้งแต่ผิวหนัง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นของสวยงามที่ตรงไหน ดูให้ชัดเจนตามหลักความจริง อย่าให้กิเลสแทรกเข้ามา ปลอมตัวเข้ามา มันปลอมตัวเข้ามาว่านั้นสวยนี่งาม ว่าผมงาม ขนงาม เล็บสวยงาม ฟันสวยงาม เนื้อหนังมังสาสวยงาม อวัยวะทั้งตัวนี้สวยงาม ทั้งภายในภายนอกมันเหมามันเสกเข้าไปได้หมดว่า นั้นก็สวยงาม นี้ก็สวยงาม จะสกปรกรกรุงรังขนาดไหน จนจะดูไม่ได้ มันก็เสกสรรว่าสวยงาม นี่คือกลมายาของกิเลสทั้งมวล เอาพิจารณาลงไป

จับตรงไหนจับให้แม่นยำ ให้รู้อยู่ตรงนั้น อย่าเสียดายความรู้เพื่อไปรู้อะไรอีก ในขณะพิจารณาให้จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่กับสิ่งนั้นจริง ๆ เช่นพิจารณาผม หรือขน หรือเล็บ หรือฟัน หรือหนัง อะไรก็ตามที่มีความถนัดกับจริตของตน แล้วให้กำหนดพิจารณา จับนั้นเป็นจุดแรก เหมือนกับไฟที่จ่อเข้าไปในเชื้อของไฟ จ่อเข้าไปแล้ว มันจะค่อยปรากฎเป็นไฟขึ้นมา แล้วจะลุกลามไปตามเชื้อของมันที่มีมากน้อย กว้างแคบขนาดไหน ปัญญาก็เหมือนกัน ปัญญานี้เหมือนไฟเผากิเลสนั้นแล กิเลสมันกองไว้ตรงไหน มันปักมันปันเขตแดนเอาไว้ตรงไหน มันเสียบ มันแทงไว้ที่ตรงไหน ปักเสียบไว้ที่ตรงไหน พิจารณาเข้าไป

เฉพาะอย่างยิ่งหนังเป็นสำคัญ มันหุ้มห่อร่างกายของเรานี้ให้หลง อย่างแบบจมลึกไปได้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นอย่างนั้นแล้ว นี่คือความจอมปลอมของกิเลส นี่ความจริงของธรรมดูให้ดี ตั้งแต่ผิวแท้ ๆ ผิวหนังว่าเป็นของสะอาดสวยงาม มันสวยงามอะไร เต็มไปด้วยขี้เหงื่อ ขี้ไคล คือขี้ทั้งนั้น นิดเดียวเท่านั้นความบางของมัน ผิว ฟัง แต่ว่าผิวหนัง พอผิวถลอกไปนิดเท่านั้นก็เยิ้มออกมา บรรดาสิ่งที่สกปรกโสมม ไม่พึงปรารถนาทั้งหลายจะเยิ้มออกมาเลย เช่น เลือดปุพโพโลหิต ถ้ายิ่งตายไปแล้วปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนองพุพองเต็มไปหมดทั้งร่าง แม้แต่หนังที่ว่าสวย ๆ งาม ๆ ก็เป็นตัวพุตัวพอง ตัวเน่าตัวเหม็น เหมือนกันไปหมดกับสิ่งภายในที่มันหุ้มห่อเอาไว้ มันสวยงามที่ตรงไหน นี่แหละปัญญาให้พิจารณาอย่างนี้

อย่าเสียดายความคิด ความปรุงไปในแง่อื่น ๆ ให้สงวนความคิดนี้ให้เข้าอยู่ในจุด สัจธรรม หรือสติปัฎฐาน ๔ คือ กายดูให้ดี ดูไปตลอดทั่วถึง ให้จิตเพลินอยู่ในนั้น บังคับนั้นเรียกว่าปัญญา ในขั้นเริ่มแรกที่ยังไม่รู้ยังไม่เห็น บังคับให้ทำงานหรือให้พิจารณา อย่าเสียดาย ความคิดความปรุง ที่เคยคิด เคยปรุงกับเรื่องนั้น เรื่องนี้มาแล้ว ตั้งแต่วันเกิด จนกระทั่งถึงบัดนี้ ที่เราภาวนาอยู่นี้ ไปเสียดายอะไร ความเสียดายสิ่งนั้นก็คือ ถูกกิเลสมันฉุด มันลากออกไปนั้นแล ฉุดขนาดไหนก็ไม่ไป จะเอาตรงนี้ คำสอนลงที่ตรงนี้ จะพิจารณาตรงนี้ เอ้า พิจารณาตั้งแต่ตัวที่ว่าสวย ๆ งาม ๆ ผิว ๆ มันนี้แหละ แล้วสุดท้ายมันก็เป็นอย่างเดียวกันหมดกับภายใน

ยิ่งพิจารณาเข้าภายในมากเพียงไรมันดูได้เมื่อไรร่างกายของคนเราคนหนึ่ง ๆ นั้น แล้วฝืนความจริงไปหาอะไร ดูให้เห็นชัดเจน เมื่อเห็นชัดเจนแล้วจิตนี้จะเกิดความสลดสังเวชภายในตัวเอง จิตเกิดความสลดสังเวช เพราะการเห็นความจริงมากน้อยเพียงไร จิตใจยิ่งอ่อน ยิ่งนิ่ม ยิ่งเบาหวิว ๆ ไปโดยลำดับลำดา ที่รู้ ที่เห็น ที่ปัญญาซึมซาบเข้าไปนั้นแล มันยิ่งซึ้ง ๆ เข้าไปโดยลำดับ

จากนั้นก็กำหนดลงไปอีกจนกระทั่งสิ่งเหล่านี้พุพองหนองไหลไปแล้ว ยังต้องแตกกระจัดกระจายออกจากกัน ออกจากส่วนผสมของมัน แปรเป็นซากอสภไปหมดทั้งร่างกาย ไม่ว่าแตกไปตรงไหน กลายเป็นซากอสภไปทั้งนั้น เป็นของปฏิกูลโสโครกไปทั้งมวล อยู่ในกายก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แตกออกไปจากกายด้วยความเป็นกองสกปรกโสมมนี้แล้ว ก็กลายเป็นสิ่งสกปรก เลอะเทอะไปหมดเลย

จากนั้นก็ค่อยเหี่ยวค่อยแห้งลงไปตามสภาพของมัน น้ำที่มันเยิ้มอยู่ด้วยความเน่า อยู่กับสิ่งที่เน่าที่เหม็นนั้น มันก็ค่อยแห้ง เหือดแห้งของมันไป กลิ่นก็ค่อยเปลี่ยนสภาพของมันไป รูปร่างต่าง ๆ ของสกลกายที่แตกกระจัดกระจายไปนี้ ก็เปลี่ยนผิวพรรณ เปลี่ยนสีสันวรรณะ เปลี่ยนสภาพของตัวไปโดยลำดับลำดา จนกลายเป็นเรื่องแห้งกรอบไปเรื่อย ๆ แล้วสุดท้ายส่วนที่แข็ง ๆ นี้ก็ซึมซาบกลมกลืนกันไปกับแผ่นดิน น้ำก็ค่อยเหือดแห้งออกไปจากร่างกาย เป็นไอไปตามอากาศ ซึมซาบลงในแผ่นดิน นี่ตามสภาพของมันเป็นอย่างนี้ ส่วนลม ไฟ ก็ไปตามสภาพของตนเท่านั้น เมื่อหมดความอบอุ่นแล้ว ไฟมันก็หมดไป ลมหายใจเป็นต้น เอาหายใจมาจากไหน

คนตายแล้วก็สลายของมันไปหมด แล้วอันใดเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา มองดูแล้วเห็นแต่แผ่นดินทั้งแผ่นมันกลมกลืนเป็นอันเดียวแล้วกับแผ่นดินที่เราเหยียบย่ำไปมาอยู่นี้ ถ้าว่าน้ำก็กลายไปเป็นน้ำแล้ว น้ำน่ะหรือเป็นคน น้ำน่ะหรือเป็นเรา เป็นเขาเป็นหญิงเป็นชายเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นของสวยของงาม ถ้าน้ำเหล่านั้นเป็นของสวยของงาม น้ำที่ไหนก็ต้องงามหมดสวยหมด ติดหมดซิ นี้ทำไมจึงมาหมายมั่นปั้นมือเอากับน้ำที่กิเลสมันเสกสรรปั้นยอว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่ละอายตนบ้างเหรอ

ปัญญาเมื่อสอดแทรกเข้าไป ว่าดินก็แผ่นดินที่เหยียบไปมานี้ แล้วร่างกายที่เป็นธาตุดินนี้มันผิดแปลกกันยังไง มันก็ไม่เห็นผิดแปลกกันเวลากลายจากสภาพแห่งความเสกสรรปั้นยอนี้ลงไปแล้วก็ไปเป็นดินตามสภาพเดิม พิจารณาให้เห็นชัดเจนอย่างนั้น เมื่อลงถึงขนาดนี้แล้ว จิตเหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้านั้นแล ความละเอียดลออของจิต ความนิ่มนวลของจิต ความซึ้งของจิต ความสุขของจิต ความสลดสังเวชของใจ ก็แสดงตัวอย่างเต็มที่ ๆ ๆ ไปโดยลำดับลำดา

ทีนี้เรื่องอุปาทาน จะไปยึดมั่นถือมั่น ก็เมื่อมันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มันเต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครก หลังจากนั้นก็เต็มไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นธาตุเดิมของเขาแล้ว ไปติดมันอะไร นั่น เมื่อซึ้งแล้วก็ถอนความยึดมั่น ถือมั่น สำคัญผิดนั้นออกมาโดยลำดับลำดา แล้วพิจารณาแล้ว พิจารณาเล่า ครั้งนี้พิจารณาอย่างนี้เป็นสิ่งที่ฝังลึก หยั่งใจ แล้วเป็นอจลศรัทธา เชื่อมั่นอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตน ที่พิจารณาเห็นแล้วว่า สิ่งนี้เป็นนี้ สิ่งนั้นเป็นนั้นตามความจริง

วันหลังพิจารณาอีก โดยไม่ต้องไปยึดอารมณ์ที่เคยพิจารณามาแล้ว ความรู้ความเห็นที่เคยเป็นเคยไปผ่านมาแล้วนั้น เอาหลักปัจจุบันซึ่งผลิตขึ้นมาอีก พิจารณาด้วยอุบายใดก็ตาม ไม่ต้องไปคาดไปหมาย ของเก่าที่เอามาพิจารณาแล้วว่าให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างที่เป็นมาแล้ว นั่นเป็นความคาดความหมาย

ให้หยั่งลงในหลักปัจจุบัน คือร่างกายนี้อีกเท่านั้นแหละพิจารณาไปอย่างนั้น เมื่อหลายครั้งหลายหน มันก็ยิ่งชัดเจนเข้าไป ชัดเจนเข้าไป จากนั้นก็คล่องแคล่ว คล่องตัว การพิจารณารวดเร็วขึ้นเป็นลำดับลำดา แล้วมองเห็นทั้งภายนอกภายในเหมือนกันหมด ถ้ายังไม่แตก เราเด่นในอวัยวะใด อวัยวะนั้นจะแสดงตัวขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งภายในภายนอก

เช่นหนังหุ้มกระดูก ห่อกระดูกก็เห็นเป็นอย่างนั้น ถ้าเห็นร่างกระดูก ก็เห็นเป็นร่างกระดูกไปอย่างนั้น ถ้าเนื้อก็มีแต่เนื้อเต็มตัวแดงโร่ ฉาบทาไปด้วยปุพโพโลหิตน้ำเน่าน้ำหนอง มันสวยงามที่ตรงไหน น่ารักใคร่ชอบใจที่ตรงไหน นี่คือความคล่องแคล่วว่องไวของจิต จะเป็นไปอย่างนั้นจนกลายเป็นพื้นฐานของจิตให้เห็นได้อย่างชัดเจนประจำตัว แล้วก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของปัญญาที่มีความฉลาดแหลมคมโดยลำดับ

จากนั้นสิ่งเหล่านี้ก็กระจายหายไปหมด ว่าเป็นร่างกระดูกก็ดี ว่าเป็นอะไรก็ตามในอวัยวะส่วนนี้ ส่วนนั้นส่วนของใครก็ตาม เลยค่อยกลายจางหายไป ๆ จากจิต เปลี่ยนสภาพไปด้วยอำนาจของปัญญาที่มีความละเอียดไปโดยลำดับลำดา สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นก็หมด อุปาทานขันธ์ คือในรูปขันธ์นี้ก็หมด สิ่งที่มันสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ในร่างกายนี้ก็คือเวทนาขันธ์ เมื่ออันนี้ละเอียดลออลงไปแล้วทุกขเวทนาก็ไม่มีอำนาจที่จะมาซึมซาบ ทุกขเวทนาในขันธ์นี่ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปซึมซาบภายในจิตใจของเราให้เกิดความทุกข์ความลำบากเพราะขันธ์ไม่สะดวกสบาย เพราะขันธ์เป็นทุกข์ได้เลย

นี่การพิจารณา ขั้นนี้เป็นขั้นที่ ถ้าพูดถึงปัญญาก็ผาดโผนมาก ใช้กำลังบึกบึนจริง ๆ เป็นปัญญาที่ผาดโผนมาก ถ้าเป็นการรบก็เรียกว่าตะลุมบอนกันอย่างเต็มที่ สนั่นหวั่นไหวไปหมดนั่นแหละ ถ้าหากเราจะเทียบออกไปสู่ภายนอกที่ปัญญาขั้นนี้พิจารณา เมื่อจิตใจมีความเมื่อยหิวอ่อนเพลีย เพราะทำงานด้วยการพิจารณาอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ย่อมมีความอิดเหนื่อยเมื่อยล้าเหมือนกัน ต้องเข้าพักสมาธิ

คำว่าสมาธิพัก คือพักสงบใจ เรียกว่าพักงานของใจ ให้เข้าสู่ความสงบ ปราศจากความคิดปรุงใด ๆ ทั้งสิ้น เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ หากมันไม่เข้า เราจะใช้คำบริกรรม คำใดก็ตาม เอ้าใช้ ไม่มีคำว่าสูงเกินไป ต่ำเกินไป เพราะธรรมทั้งนั้น สูงต่ำที่ตรงไหน ฝ่าเท้าเรากับหัวเรา มันอยู่ด้วยกันในร่างกายอันเดียวกันนี้ มันสูงต่ำที่ตรงไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อเรานำคำบริกรรมเข้ามาใช้กำกับจิต เพื่อไม่ให้คิดปรุงไปกับเรื่องปัญญานี้ เราก็นำมาใช้บังคับให้จิตมีความสงบตัวด้วยสมถะจริง ๆ เหมือนหนึ่งว่าเราไม่เคยใช้ทางปัญญาเลย คือไม่สนใจกับความคิดความปรุงด้วยปัญญา สนใจแต่ความปรุงด้วยคำบริกรรม ให้รู้อยู่เพียงอันเดียวนี้เท่านั้น จิตก็สงบเอง

พอสงบแล้วย่อมได้กำลัง เพราะพักงาน พอถอยออกมาก็พิจารณาทางด้านปัญญา ทีนี้ไม่ต้องห่วงสมาธิเอาให้เต็มเหนี่ยวทางด้านปัญญา จะรู้จะเห็นสิ่งใดมากน้อย หยาบละเอียดเพียงไร เอาให้เต็มฝีมือของปัญญาของสติที่กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปอยู่โดยลำดับลำดานั้น แล้วความรู้จะชัดเข้าไปโดยลำดับ และเป็นตามขั้นตามภูมิของตน เปลี่ยนสภาพไปเรื่อย ๆ อาการของสิ่งพิจารณาก็เปลี่ยนสภาพไป อาการของปัญญาคือปัญญาที่แสดงออก ก็เปลี่ยนสภาพไปจากความหยาบเข้าสู่ความละเอียด ละเอียดเรื่อยไปโดยลำดับลำดา

นี่เราพูดถึงเรื่องการพิจารณารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ ก็ดังที่เคยอธิบายมาแล้วกี่ครั้งกี่หน นั่นเป็นบาทเป็นฐานเป็นแนวทาง ที่จะให้ผู้อบรมทั้งหลายได้นำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนให้เป็นผลประโยชน์ขึ้นมาจากการจากงานของตนจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแต่มายึดเอาแนวทางของท่านไปเป็นสมบัติของตัวเอง นั่นมันกลายเป็นปริยัติ กลายเป็นความจำไปเสียไม่ใช่เป็นเรื่องของปัญญาที่จะเข้าสู่ความจริง

การพิจารณาเพื่อให้เห็นความจริงเข้าสู่ความจริงนี้ เป็นเรื่องของปัญญานำมาใช้นำมาพินิจพิจารณา ทุกขเวทนาเกิดขึ้นในกายก็เป็นเวทนาของมันเต็มตัวไม่ใช่กาย กายก็เป็นกายเต็มตัวไม่ใช่เวทนา จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา เฉย ๆ อุเบกขาเวทนาก็ตาม มันก็เป็นเวทนาทั้ง ๓ อยู่โดยตรง กายของเราก็เป็นกายอยู่โดยตรง จะมาถือว่าเป็นเราเป็นของเรา มาถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ยังไง นี่พูดถึงเรื่องเวทนาทางกาย

ส่วนเวทนาทางจิต เป็นสิ่งที่ละเอียดมากย่อมมีเสมอไป หากไม่ได้แสดงความรุนแรงเหมือนเวทนาทางกาย เช่น ทุกขเวทนาเป็นต้น เมื่อหมดปัญหาทางร่างกายก็รู้ในตัวเอง ไม่จำเป็นจะต้องให้ใครมาบอกว่าจะพิจารณาอะไรต่อไปนี้ เมื่อหมดปัญหามันก็ปล่อยของมันเพราะรู้ เมื่อรู้แล้วก็ปล่อยเอง ปล่อยเองแล้วก็หมดปัญหาไม่พิจารณา สิ่งใดที่จิตมีความสัมผัสสัมพันธ์อยู่ จิตก็จะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่สัมผัสสัมพันธ์ เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารกับวิญญาณนี่สำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งสัญญามันหมายได้อย่างซึ้งมากทีเดียว

แต่ยังไงก็ตามในอาการทั้ง ๕ นี้ เราจะจับจุดใดก็ถูกด้วยกันทั้งนั้น มันลุกลามหากันหมด เชื่อมโยงไปถึงกัน สังขารความคิดปรุง คิดเรื่องอะไรขึ้นมามันก็ดับ ไม่ว่าคิดดีคิดชั่ว คิดเรื่องอดีตอนาคต ก็ปรากฎขึ้นในความคิดที่เป็นตัวปัจจุบัน เกิดที่ตรงไหนก็ดับที่ตรงนั้น แล้วเป็นสัตว์เป็นบุคคลที่ไหน เพียงความแย็บ ๆ ของจิตที่แสดงตัวหรือกระเพื่อมตัวออกมาเท่านั้นเป็นสัตว์เป็นบุคคลไปแล้วเหรอ มันไม่ได้เป็นสัตว์เป็นบุคคล มันเป็นสังขารคือความปรุงความกระเพื่อมของจิตต่างหาก

สัญญาความจำได้ ความจำนั้นหรือเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นเขา เป็นเรา ความจำเพียงจำแล้วดับของมันไป เป็นสัตว์เป็นบุคคลได้อย่างไร มันเป็นเพียงอาการอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ที่แสดงออกมาจากจิตแล้วก็ดับ แล้วก็ดับ ๆ เวลาค้นหาตัวจริงจริง ๆ มันไม่มี คำว่าสัตว์ว่าบุคคลว่าเราว่าเขา นี่เป็นความเสกสรรปั้นยอของโลกสมมุติ ซึ่งได้มาจากกิเลสเป็นผู้มอบให้ พูดง่าย ๆ แล้วก็เป็นไปตามเรื่องของมันต่างหาก จึงถือว่าเป็นของจริงของจัง ทั้ง ๆ ที่มันปลอมร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเป็นของจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความเชื่อกิเลสร้อยเปอร์เซ็นต์นั่นเอง

เวลาพิจารณาแยกแยะให้เห็นตามความจริงนี้แล้ว เรื่องปลอม ๆ ทั้งหลายนั้น มันก็ค่อยหมดไป ๆ จนกระทั่งไม่มี กับอาการทั้ง ๕ นี้สักแต่ว่าอาการหนึ่ง ๆ เท่านั้น ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ มันก็รวมตัวลงไป ๆ การรบกับกิเลส การฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลส กิเลสไปหลบซุ่มซ่อนอยู่ที่ไหนมันยึดมันถือที่ตรงไหน ปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกเข้าไปตรงนั้นจนเห็นข้อเท็จจริงของกันและกันแล้วก็ปล่อยกันเองได้ จะพิจารณาไปอะไรอีก

อันไหนที่ยังเป็นปัญหา จิตจะไปสัมผัสสัมพันธ์และสนใจในสิ่งนั้น พิจารณากันจนกระทั่งหมดปัญหาเช่นเดียวกัน รูปขันธ์เป็นของหยาบ ปัญญาขั้นนี้ก็รอบตัวพอแล้วปล่อยได้แล้ว สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นของละเอียด ปัญญาขั้นที่เหมาะสมกันก็ยังมี ที่จะต้องพิจารณาให้รู้ให้เห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอะไรต่ออะไรกัน จนกระทั่งเข้าสู่ความจริงด้วยกัน รูปก็สักแต่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ สักแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น หาได้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเขาเป็นเรา เป็นหญิงเป็นชายที่ไหนไม่ก็รู้ได้ชัด

นี่เมื่อรู้ได้ชัด ก็เรียกว่าสิ่งจอมปลอมทั้งหลายเหล่านี้ ได้ถูกลบล้างแล้วด้วยปัญญา ปัญญาธรรม สติธรรม นี่เราต้อนเข้าไป กิเลสถูกต้อนละที่นี่ ถูกต้อนด้วยธรรม มันไปหลบซ่อนอยู่ที่รูป ตีแตกกระจายออกจากรูปนี้เสีย หลบซ่อนทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตีเข้าไป ตีเข้าไป จนแตกกระจายหายสงสัยในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร วิญญาณว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จนกระทั่งไม่มีที่ไป เพราะถูกตัดสะพานที่เชื่อมโยงกันเข้าไปโดยลำดับ ๆ แล้ว เหลือแต่ความรู้กับส่วนละเอียด

นั่นละที่นี่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา หมดแล้วบริษัทบริวาร ที่เคยใช้เคยสอยกันมาเคยเรืองอำนาจบังคับบัญชาสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วยอำนาจของตน ก็หมดอำนาจไปหมดแล้ว เพราะถูกตัดขาดฟาดฟันหั่นแหลกจากสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ยังเหลือโดดเดี่ยวอยู่ภายในจิต ก็กำหนดพิจารณาในลักษณะเดียวกัน ถึงปัญญาขึ้นนี้แล้วเป็นน้ำซับน้ำซึม

คำว่าขี้เกียจขี้คร้านมันหมดมาตั้งแต่โน้นแล้ว ตั้งแต่พิจารณาร่างกายได้รู้จริงเห็นจริงกับส่วนร่างกาย แล้วตะลุมบอนกันเข้าไปจนแหลกแตกกระจายไปแล้ว ตั้งแต่นั้นเรื่องความเพียรเป็นอัตโนมัติมาโดยลำดับจากโน้นมา ไม่มีคำว่าหยุดว่าถอย ไม่มีคำว่าท้อแท้อ่อนแอ ไม่มีคำว่าขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่ความหมุนตัวเป็นเกลียวตลอดเวลา เป็นธรรมจักรอยู่ภายในจิต

หมุนออกกิริยาใดอาการใด แสดงออกอาการใด มีแต่อาการที่จะต่อสู้ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสทั้งมวล นี่แหละอาการของจิตที่แสดงออก คือปัญญานี้ก็เป็นอาการของจิต แต่พลิกมาเป็นอาการของจิตโดยธรรม ด้วยธรรม คือสติปัญญาเพื่อแก้เพื่อถอดเพื่อถอน อันนี้เป็นอาการของจิตเพื่อถอดเพื่อถอน อาการของจิตประเภทหนึ่งเป็นสมุทัย คิดปรุงไปในแง่ใดเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล เพราะกิเลสบงการให้คิดให้ปรุง เมื่อหมดสิ่งเหล่านี้แล้วมันก็รวมตัวเข้าไป บงการไปคิดอะไรอีกไม่มีทางบงการออกไป เพราะปัญญารอบหมดแล้ว มีแต่เรื่องของจิต

จิตนั้นถ้าลงกิเลสมีอวิชชาเป็นต้นได้กลมกลืนหรือแทรกสิงอยู่ภายในนั้นแล้วจะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ได้อย่างไร ถ้าเป็นอาหารก็มีทั้งกระดูกทั้งก้างควรแก่การรับประทานโดยสิ้นเชิงแล้วเหรอ นั่น ถ้าเราจะถือเอาทั้งจิตนี้ว่าเป็นเรา ก็เหมือนกับกินไก่และกินปลาทั้งกระดูกทั้งก้างนั่นแล แล้วติดคอตายจนได้ ก้างก็รู้ว่าก้างเก็บมันออก กระดูกรู้ว่ากระดูกเอามันออก ก็มีแต่เนื้อล้วน ๆ นี่กิเลสอวิชชามันอยู่ด้วยกัน พิจารณาฟาดกันลงไปนั้น เคี้ยวให้แหลกแตกกระจายลงในจิตอวิชชานั้นด้วยปัญญา เรียกว่าเคี้ยวให้แหลก เคี้ยวลงไปตรงนั้น ขบลงไปเคี้ยวลงไปจนแหลก

อวิชชาแตกกระจายออกจากนั้นแล้ว มีอะไรเข้าครองจิตที่นี่ แดนสมมุติทั้งมวลนี้ได้แตกกระจายไปจากจิตแล้ว แม้รู้อยู่ก็ตามที่นี่ ไม่ได้รู้แบบวัฎจักรวัฎจิต ที่มาหมุนจิตให้เป็นไป เป็นธรรมจักรแบบนี้ รู้หมดโดยสิ้นเชิงในแดนสมมุตินี้จะว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะเป็นความคิดของจิตแย็บ ๆ แต่ละขณะ ขณะเท่านั้น เนื่องจากไม่มีเชื้ออยู่ภายในนี้ให้เป็นสมมุติเกี่ยวโยงกันไปถึงสิ่งภายนอกเลย แล้วมันก็เข้ากันไม่ติดระหว่างวิมุตติกับสมมุติก็แยกกันที่ตรงนี้ ถ้าว่ามีก็เราไปให้ความหมายเขาต่างหาก แล้วเราก็ไม่หลง

เราให้ชื่อให้นามเขาต่างหาก ว่าสิ่งนั้นเป็นนั้นสิ่งนี้เป็นนี้ เขาเองเขาไม่ได้ว่าเป็นนั้นเป็นนี้ เราเองเป็นผู้ไปคิดไปปรุง เราก็รู้เราอยู่แล้วว่าเราคิดปรุงสิ่งนั้น ๆ ตามสมมุตินิยมเขา ตัวเองก็ไม่หลง ถ้าไม่มีสิ่งให้หลงอยู่ภายในใจ ถ้าไม่มีสิ่งให้ติดให้ข้องอยู่ภายในใจ คิดเรื่องอะไรก็ไม่ติด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สัมผัสสัมพันธ์กันทั้งวันทั้งคืน ก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รส ก็เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กายอยู่โดยดี ก็เป็นจิตอยู่โดยดี ไม่ได้เป็นอื่นเป็นใดไปให้กำเริบเสิบสานต่อไปอีก จึงว่าหมดเชื้อที่นี่แหละ

การแก้กิเลสยากหรือไม่ยากให้พากันพิจารณา ให้มุ่งผลอันประเสริฐเลิศเลอนั้นเป็นของสำคัญ ไม่มีความทุกข์ใดที่จะยิ่งกว่าความอยู่ใต้อำนาจของกิเลสที่บีบบังคับอยู่ตลอดเวลา หาอิริยาบถที่ว่างที่ปล่อยวางกันไม่ได้นี้เลย เรื่องความทุกข์นี่ทุกข์มาก ทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์ไม่มีหยุดมีถอย แล้วมากขนาดไหนนับได้เมื่อไร พอจิตได้สลัดตัวออกไปจากนี้แล้วไม่มีอะไรจะเป็นอิสระยิ่งกว่าจิตที่ผ่านพ้นแล้วจากกิเลสวัฎวน ถึงจะมีขันธ์ครองอยู่ก็รู้ว่าทุกข์ หิวก็รู้ว่าหิว กระหายก็รู้ว่ากระหาย เจ็บนั้นปวดนี้ก็รู้ หากสักแต่ว่ารู้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปเหยียบย่ำทำลายจิตใจได้เหมือนแต่ก่อนเลย เป็นอิสระตายตัวอยู่เช่นนั้น

นี่คือผลแห่งการพิจารณา ผลแห่งการต่อสู้กับกิเลส ยากกับง่ายเพียงไรก็ตาม เวลาเป็นผล ความทุกข์ทั้งมวลนั้นกลายมาเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีกำลังวังชา จนสามารถสลัดตัวออกจากกิเลสตัณหาอาสวะทั้งมวลได้โดยสิ้นเชิงไม่มีเหลือ นี่ท่านว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ฟังซิ ปรมํ อะไรจะมี ปรมํ นอกจากนิพพานเท่านั้นไม่มีอะไร ปรมํ นอกจากความพ้นจากกิเลส ตัณหา อาสวะ โดยประการทั้งปวงแล้วไม่มีอะไรเป็นปรมํ

กิเลสไม่เคยมี ปรมํ นอกจากจาก ปรมํ ทุกฺขํ เท่านั้น ทุกข์แสนสาหัสทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าอยู่ใต้อำนาจของกิเลสแล้วเป็นทุกข์ ตั้งแต่ส่วนย่อยถึงทุกข์อย่างยิ่งไม่มีอะไรเทียบ เมื่อพรากจิตออกจากกิเลสโดยประการทั้งปวงแล้ว ปรมํ สุขํ ไม่มีสุขใดที่จะเกินสุขที่หลุดพ้นจากกิเลสนี้ไปได้เลย ความทุกข์ทั้งมวลก็กลายมาเป็นปุ๋ย สนับสนุนให้จิตนี่หลุดพ้น แล้วเป็นความเสียหายที่ตรงไหน เราจึงต้องไปอิดหนาระอาใจต่อการประกอบความพากเพียรโดยเห็นว่าเป็นทุกข์

เรานอนจมอยู่กับกิเลสมาเป็นเวลานานเท่าไร เราทำไมไม่เอามาคิดบวกลบคูณหารกันบ้าง เกิดภพใดชาติใดจมอยู่กับกองทุกข์ทั้งมวลนั้นมีมากมีน้อยเพียงไร ขณะที่จะประกอบความพากเพียรแต่ละขณะ ๆ แต่ละเวล่ำเวลา เพื่อถอดถอนกิเลสให้หลุดพ้นไปจากจิตใจ เพื่อเอา ปรมํ สุขํ ทำไมจะเห็นว่าเป็นของยากของลำบาก ถ้าไม่ใช่ถูกกล่อมจากกิเลสอย่างแนบสนิทแล้วเท่านั้น ให้นำไปพิจารณาเทียบเคียงให้ได้สัดได้ส่วน สำหรับผู้ปฏิบัติไม่ได้ปฏิบัติเพื่อโง่ต่อกิเลส เราปฏิบัติเพื่อฉลาด เพื่อจะตัดฟันหั่นแหลกกับกิเลสให้อยู่ใต้อำนาจของเรานี้ต่างหาก ไม่ใช่เราปฏิบัติเพื่อให้กิเลสเป็นเจ้าอำนาจ เป็นเจ้าหลอกลวงต้มตุ๋นเราอยู่ตลอดเวลา

โง่กับกิเลสเราเคยโง่มานานแล้ว คราวนี้เอาให้ฉลาด ให้ทันกิเลส ให้เหนือกิเลส ด้วยอำนาจของธรรม มีธรรมเท่านั้นที่กิเลสยอมรับว่าแหลมคมจริง มีอำนาจจริง ปราบกิเลสได้อยู่ ได้จริง นอกจากนั้นกิเลสไม่กลัว เพราะฉะนั้นจึงต้องนำธรรมเข้ามาพินิจพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามนี้เราจะได้เป็นสุข ทีนี้สุขตลอดไป ไม่มีกาลนั้นกาลนี้

ความทุกข์ความลำบากในการประกอบความพากเพียรนั้นเป็นกาลเป็นเวลา ช้าบ้างเร็วบ้างมันก็มีเวลาที่จะจบสิ้นกันลงได้ ทุกข์เพียงเท่านั้นจะเป็นไรไป ไอ้ทุกข์ที่จมอยู่กับกิเลสไม่มีเวล่ำเวลานี้เอามาเทียบกันดูซิ อันไหนมีน้ำหนักมาก อันไหนที่น่ากลัวที่สุด ทุกข์ที่จมอยู่กับกิเลสนั้นแลเป็นทุกข์ที่น่ากลัวที่สุด จนหาเวลาที่จะหลุดพ้นตัวไปไม่ได้เลย แต่ทุกข์เพราะการประกอบความเพียรที่จะฆ่ากิเลสนี้ มีเวล่ำเวลาที่จะผ่านพ้นไปได้ มีเวลาที่จะดับ คือยุติกันได้

ในหลักสติปัฏฐาน ๔ ท่านก็พูดไว้แล้ว ว่าผู้ดำเนินตามหลักสติปัฐฐาน ๔ นี้ อย่างช้าไม่เลย ๗ ปี สำเร็จ ไม่โสดา สกิทา อนาคา ก็ต้องอรหันต์เรื่อย ๗ ปี ๗ เดือน ลงมาถึง ๗ วัน แล้วโดยลำดับตามความช้าเร็วของแต่ละอุปนิสัย ของแต่ละผู้มีความสามารถมากน้อยต่างกัน ท่านไม่ได้ว่า นี่ว่าเจริญสติปัฏฐานแล้วจะนอนจมอยู่กับกิเลส มีแต่จะว่าคนที่ไม่เจริญธรรมไม่ภาวนานั้นแลคือผู้นอนจมกับกิเลสต่างหาก ท่านไม่ได้บอกนี่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฎฐาน ๔ นี้แล้วนอนจมกับกิเลสเรื่อยไป ท่านไม่ได้ว่า

เราเป็นนักปฏิบัติต้องคิด ต้องแยกต้องแยะ ไม่งั้นไม่ทันกลมายาของกิเลส ซึ่งมันหลอกลวงอยู่ตลอด ทุกขณะที่แย็บออกมามีแต่เรื่องหลอกเรื่องหลอนทั้งนั้น ปลอมทั้งเพ ๆ ขอให้รู้กลมันเถอะจะรู้ทุกระยะนั่นแหละ มันแสดงออกยังไง ๆ กลมายาของกิเลส แต่เมื่อรู้จริง ๆ จนกระทั่งปราบมันให้เรียบวุธภายในหัวใจแล้ว ไม่มีกิเลสตัวใดมาแสดง เราพูดทั้งนี้พูดถึงเรื่องมันแสดงออกจากผู้ใด เมื่อรู้แล้วต้องรู้รอบ จึงว่ารู้รอบ

ปริญญา ๆ ก็แปลว่าความรู้รอบ เช่นอย่างเปรียญ ๆ นี่ก็เหมือนกัน เปรียญกับปริญญา คือรู้รอบ นั่นรู้รอบทางความจำเอาให้รู้รอบทางความจริงซิ ให้มันรู้รอบจิตแล้วเป็นยังไง ปริญญานี้กับปริญญานั้นเป็นยังไง ต่างกันยังไง ปริญญานี้เป็นปริญญาเอก มีอันเดียวเท่านั้นไม่มีอะไรเป็นคู่แข่ง ปริญญาเอก จิตเป็นเอก เอกจิตเอกธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วหาธรรมที่ไหนที่นี่ หาพระพุทธเจ้าที่ไหน หาพระสงฆ์ที่ไหน หลักธรรมชาติแท้ ๆ ลงในจุดเดียวกันนี้ ไม่สงสัยในจิตของเราแล้วจะสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ที่ตรงไหน เพราะเป็นความจริงอันเดียวกัน เท่ากันไม่มีคำว่ายิ่งหย่อนกว่ากัน ยอมรับอันนี้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วก็ยอมรับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่จะสงสัย

นี่แหละการประพฤติปฏิบัติ เวลาผลปรากฎขึ้นมาในครั้งสุดท้ายเป็นอย่างนี้ ทุกข์เรียกหาก็ไม่มีละที่นี่ เมื่อกิเลสตายไปแล้วไม่มีอะไรจะมาสร้างทุกข์ขึ้นมาในหัวใจอีกมีก็จะมีแต่เพียงร่างกายที่กระดุกกระดิกที่ยังต่อเนื่องกันอยู่ ปัจจัยเครื่องอาศัยยังสืบเนื่องกันอยู่ก็มีอาการเป็นธรรมดา มีหิวมีกระหายอยากหลับอยากนอนเป็นธรรมดา ก็ไม่เห็นมีความหมายอะไรที่จะทำให้จิตใจกระเพื่อมหรือหวั่นไหวไปตาม จึงว่าต่างอันต่างจริง

เอาละพอสมควรแล้ว หยุดเท่านี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก