ทุก ๆ ท่านที่มาอย่าลืมเจตนาของตนที่มุ่งมาศึกษาอบรมกับครูกับอาจารย์ ด้วยการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่โลกถือว่าเป็นสิ่งสำคัญหรือเป็นสารคุณ เราได้น้อมเชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นของประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลกทั้งสามนี้ จึงได้มอบกายถวายตัวพร้อมทั้งจิตใจ สละทุกสิ่งทุกอย่างที่โลกรักสงวน เข้ามาสู่เพศแห่งความเป็นนักบวช เพื่อจะปลดเปลื้องภาระที่เป็นสิ่งขัดข้องหรือข้าศึกต่อการบำเพ็ญสมณธรรมด้วยการบวช
การบวชก็คือการละเว้นในสิ่งที่โลกทั้งหลายทำกัน แต่มาประกอบบำเพ็ญธรรมตามทางของนักบวชและเจตนาของตน ด้วยเหตุนี้เจตนาจึงวางไว้เป็นรากฐานของใจทุก ๆ ขณะ อย่าได้ลืมเจตนาหรือความมุ่งมั่นเพื่ออรรถเพื่อธรรมทุกขั้น จนถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งไว้ แล้วดำเนินตามเจตนาของตนอย่าได้ลดละ จะทุกข์ยากลำบากเพียงไรอย่าให้กิเลสแสดงอุปสรรคขึ้นมาให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอภายในใจ เพราะสิ่งที่กล่าวนี้หุ้มห่ออยู่ภายในจิตใจ จะต้องแสดงออกก่อนอรรถก่อนธรรม ทั้ง ๆ ที่เรามุ่งมั่นต่อธรรมอยู่แล้ว แต่สิ่งนี้จะแทรกจะแซงความคิดความเห็นความรู้สึกในแง่ต่าง ๆ ที่เป็นอรรถเป็นธรรมอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้มีสติระมัดระวังตั้งใจ
ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่าการบวชก็เป็นของยาก บวชแล้วที่จะประพฤติปฏิบัติตามหลักสวากขาตธรรมก็เป็นของยาก ความเป็นอยู่แห่งความเป็นนักบวชถ้าถือเอาโลกมาเป็นประมาณแล้วก็เป็นของยาก แต่ถ้าถือตามเจตนาของนักบวชที่ดำเนินตามหลักธรรมแล้ว ไม่มีอะไรที่จะง่ายยิ่งกว่าความเป็นอยู่ของนักบวชและงานของนักบวช
เพราะงานของนักบวชเราไม่ได้เป็นงานส่วนได้ส่วนเสียล่มจมต่าง ๆ ไม่ได้เป็นงานที่ต้องถูกบังคับด้วยวันด้วยปีด้วยเดือน ด้วยสัญญาข้อตกลงหรือข้อบังคับต่าง ๆ เป็นงานอิสระ เป็นงานของผู้ดำเนินนั้นจะพึงดำเนินไปด้วยอิสระและด้วยความตั้งใจของตน ไม่มีอะไรมากีดมาขวางมาบีบบังคับให้ต้องทำอย่างนั้นให้ต้องทำอย่างนี้ แต่เราเป็นผู้บีบบังคับสิ่งที่เคยบังคับจิตใจของเรา คือ กิเลสประเภทต่าง ๆ นั้นต่างหาก หากจะเป็นความลำบากก็ลำบากด้วยการบังคับสิ่งชั่วช้าลามกภายในจิตใจของตนให้ออกไป จึงไม่ถือว่าเป็นความทุกข์ความลำบาก
การดำเนินการงานของพระถ้าตามอรรถตามธรรมตามเจตนาของพระแล้วเป็นงานที่ราบรื่นดีงาม งานจะเกิดผลเกิดประโยชน์ทั้งส่วนตนเป็นเบื้องต้นและผู้เกี่ยวข้องโดยลำดับไม่ต้องสงสัย ไม่มีคำว่าส่วนได้ส่วนเสีย เพราะงานนี้ไม่ใช่เป็นงานขึ้นอยู่กับข้อบังคับของผู้อื่นผู้ใด นี่หมายถึงงาน ความเป็นอยู่ก็ง่ายสะดวกสบาย พูดถึงการสนับสนุนของประชาชนศรัทธาก็พร้อมอยู่เสมอ เฉพาะวัดเรานั้นรู้สึกจะเหลือเฟือ เพราะการสนับสนุนของประชาชนผู้มีใจบุญทั้งหลาย
ปัจจัยทั้งสี่ จีวร บิณฑบาตอาหารการบริโภค ที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้ไข้ พอเป็นไปและสมบูรณ์อยู่โดยสม่ำเสมอ การขบการฉันการใช้สอยของพระตามหลักแห่งศาสดาแล้วก็ไม่สิ้นเปลือง ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อันเป็นกิริยาหรือเรื่องของโลกเข้ามาแฝง จึงมีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครจะสะดวกยิ่งกว่าพระที่โลกชาวพุทธเฉพาะอย่างยิ่งเมืองไทยเรา ถือเป็นจิตใจจริง ๆ แม้รัฐบาลก็ถือพุทธศาสนาและส่งเสริม เพราะฉะนั้นจึงเป็นความสะดวกสบายทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความเป็นอยู่ของสมณะเป็นอยู่อย่างอิสระไม่มีใครมาบีบบังคับ มารีดมาไถมากดขี่ข่มเหง จะเอาอันนั้นจะให้ทำอย่างนี้ อยู่ด้วยความสะดวกสบายในอิริยาบถต่าง ๆ ให้ความเป็นอิสระ ด้วยความเทิดทูน ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสและหวังบุญจากผู้ปฏิบัติเป็นธรรมนั้นโดยแท้ การบำเพ็ญก็เป็นอิสระ ความเป็นอยู่ก็เป็นอิสระ นี่ถ้าพูดตามหลักธรรมเป็นอย่างนี้
แต่ถ้าพูดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่เป็นมาร คอยกีดขวาง คอยกั้นกาง คอยบีบบังคับเพราะเคยมีอำนาจมานานนั้น ก็เป็นของยากที่จะปลีกตัวออกมาในทางธรรม ยากในการปฏิบัติต่ออรรถต่อธรรม เช่น เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา รักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ กลายเป็นของยากไปหมด เพราะกิเลสฝ่ายต่ำพาให้ยาก พาให้ลำบาก กีดขวางไว้อยู่เสมอไม่ให้มีช่องทางเดิน เพื่อความหลุดพ้นจากอำนาจของมัน จึงเป็นความยากสำหรับคนที่จะบวชได้ ในเมื่อมีความเห็นดีเห็นชอบรื่นเริงบันเทิงไปกับอารมณ์เหล่านี้อยู่ แต่ผู้เห็นโทษเห็นภัยในเรื่องของมันทุก ๆ เรื่อง และเห็นคุณค่าแห่งธรรม ย่อมปลีกตัวออกได้ด้วยความสะดวกสบาย
การประกอบความพากเพียรจะยากลำบากเพียงไรก็เป็นไปด้วยความเต็มใจ ความเต็มใจความพอใจความรักใคร่ในงานใดมีอยู่ประจำใจแล้ว งานนั้นแม้จะยากลำบากเพียงไร ก็ไม่เห็นเป็นอารมณ์ว่าเป็นของยากเป็นของลำบาก เพราะสิ่งที่เราต้องการนั้นมีอำนาจเกินกว่าที่จะมาถือความลำบากรำคาญนี้มาเป็นอุปสรรค จึงคล่องตัวในการประกอบความพากเพียร อดก็ยอมอด อิ่มก็ยอมรับว่าอิ่ม ถึงคราวที่จะอดก็อด ถึงคราวที่อิ่มก็อิ่ม ถึงคราวลำบากก็ต้องลำบาก ถึงคราวทุกข์ก็ต้องทุกข์ในการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคน ยอดคนก็คือยอดเรา เราเป็นคนคนหนึ่ง การฝึกฝนทรมานผู้อื่นผู้ใดก็ตาม อย่าสนใจมากยิ่งกว่าการฝึกฝนทรมานตนเองในขั้นประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระสิ่งที่หยาบโลนทั้งหลายอยู่ภายใน อันเป็นการกีดขวางต่ออรรถต่อธรรมทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์อยู่เสมอ
ใจตามปกติย่อมถูกกดถ่วงอยู่ด้วยเรื่องต่าง ๆ จนไม่สามารถจะนับอ่านได้ว่าเป็นเวลานานเพียงไร ท่านจึงเรียกว่าอจินไตย อจินฺเตยฺโย ไม่ควรไปคิดไม่ควรไปคำนึง ว่าจิตนี้มีมาแต่เมื่อไร กิเลสเป็นเครื่องกดถ่วงจิตใจ หรือแทรกสิงจิตใจพาให้เกิดให้ตายนั้นมานานเท่าไร เราอย่าคิดให้เสียเวล่ำเวลา ท่านเรียกว่าอจินไตย ไม่ควรคิด เสียประโยชน์และทำจิตใจให้ท้อแท้อ่อนแอ อันเป็นฝ่ายของกิเลสต่าง ๆ เช่นเดียวกับหนามยอกเท้าเรา ไม่ต้องไปถามว่าหนามนี้เป็นหนามสกุลใด มีอยู่ที่ใดต้นลำของมัน และเกิดมาตั้งแต่นานเท่าไร สิ่งที่ถูกก็คือรีบถอนหนามออกมาหรือบ่งออกทันที มียาอะไรรีบหามาบำบัดรักษานั้นคือความถูกต้อง
เวลานี้หนามคือกิเลสกำลังยอกอยู่ภายในจิตใจ จะมาจากสกุลใดก็ตาม เกิดมาช้านานเพียงไรก็ตาม ไม่ต้องไปคำนึงให้เสียเวล่ำเวลา ยิ่งกว่าการถอดถอนหนามคือกิเลสนี้ออกจากจิตใจด้วยความเพียรของตน จนสุดกำลังความสามารถเท่านั้น นี่เป็นความถูกต้องเหมาะสมตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะนี้อยู่ในวงแห่งฐานะคือสิ่งที่เป็นไปได้ ส่วนที่จะไปย้อนหลังท้าวหาเรื่องหาราวของกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่กลุ้มรุมจิตใจมาเป็นเวลานานเท่าไรนั้นไม่เกิดผลเกิดประโยชน์อะไร ถ้าเป็นหนามยอกเท้ากว่าจะได้เหตุได้ผล หรือยังไม่ได้เหตุได้ผลด้วยซ้ำ ไม่ยอมถอนหัวหนามออก ค้นคว้าหาสกุลหนามอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ผลสุดท้ายฝ่าเท้าก็เน่าเฟะ เสียไปหมดทั้งฝ่าเท้าและอวัยวะส่วนอื่น ๆ พลอยให้เสียไปด้วย
การคิดไปถึงเรื่องกิเลสกับจิตใจที่เคยพัวพันกดขี่บังคับหรือเป็นพิษเป็นภัยกันมานานเท่าไร มาแต่กัปใดกัลป์ใดนั้น ก็เช่นเดียวกับคนที่ถามถึงเรื่องหนามว่าเกิดมาจากสกุลใด หนามประเภทใดนั้นเอง อันใดที่เป็นอฐานะพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ไม่ให้ยุ่ง ในส่วนใดที่เป็นฐานะที่ควรเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนลงในจุดที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบ สิ่งที่ไม่ควรก็บอกว่าไม่ควร อย่าฝืนอย่าดื้อดึงคิดไปทำไป สิ่งที่ควรให้คิดให้ค้นให้พินิจพิจารณาให้ปฏิบัติไป
ตามหลักธรรมท่านก็กล่าวไว้ว่า อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ, ยทตีตมฺปหีนนฺตํ อปฺปตฺตฺจ อนาคต.ํ ปจฺจุปฺปนฺนฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ. ย่นเข้ามา อดีตที่ล่วงมาแล้วนานเพียงไรก็ตามอย่าไปยุ่ง เพราะสิ่งนั้นผ่านมาแล้วเป็นไปแล้ว จะเป็นดีเป็นชั่วเป็นสุขเป็นทุกข์ประการใดก็เป็นไปแล้ว อย่าไปยุ่งไปเป็นอารมณ์กับมันให้เสียเวล่ำเวลา อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็เป็นเรื่องของอนาคต อย่าไปยุ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร มันไม่เกิดประโยชน์ ให้พิจารณาในวงปัจจุบันซึ่งเป็นความเหมาะสม อันเป็นทางหลุดพ้นนี้เท่านั้น แม้จะพิจารณาทางด้านอนาคตก็ต้องย่นเข้ามาในหลักปัจจุบัน
เพราะปัจจุบันคือความเป็นอยู่เวลานี้ เป็นผู้รับภาระทั้งมวล ไม่ว่าอดีตที่ล่วงมาแล้ว ไม่ว่าอนาคตที่ยังไม่มาถึง ถ้าจิตไปไขว่คว้าหาก็ต้องมาเป็นภาระให้แบกหามและได้รับความทุกข์จนได้ไม่สงสัย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้พิจารณาในวงปัจจุบัน
การปฏิบัติธรรมให้เล็งอรรถเล็งธรรม เล็งขนบประเพณีของพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน ตลอดถึงธรรมที่ท่านประทานไว้แล้วอย่างใดเป็นหลักเครื่องดำเนินของใจ อย่านำสิ่งอื่นใดเข้ามาเป็นใหญ่มากีดมาขวางมาทำลายกิจการงานอันชอบธรรมของตนให้ด้อยและเสียไป ไม่ใช่ทาง นี่เราบวชเป็นพระเต็มภูมิของสมมุติที่ยอมรับกันแล้ว สิ่งที่ยังไม่เต็มภูมิก็คือความพากเพียรและอรรถธรรมที่เราต้องการ จึงพยายามบำเพ็ญให้เต็มภูมิความสามารถของเรา
สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรมีเท่าไร ให้ทุ่มเทกันลงเพื่อถอดเพื่อถอนหัวหนามคือกิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งเสียดแทงอยู่ภายในจิตใจไม่มีวันถอนเลยนี้ ให้ออกไปจากจิตใจโดยลำดับลำดา ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี้ นี่เป็นเครื่องมืออันทันสมัย เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบความเพียร จะมีทางหลุดพ้นไปได้โดยลำดับ ให้มีความหนักแน่นต่อแดนพ้นทุกข์
ความที่เคยจมอยู่ในโลกนี้นั้นไม่มีผู้ใดสงสัย เพราะเป็นผู้รับภาระ เป็นผู้เคยล่มจมอยู่กับความเกิดแก่เจ็บตายอันเต็มไปด้วยกองทุกข์นี้ด้วยกันทุกรายไม่ว่าสัตว์ว่าบุคคลบรรดาที่มีวิญญาณครอง เป็นแต่เพียงไม่ทราบความเป็นมาของตน และไม่ทราบวิธีออกวิธีแก้ไข ไม่ทราบทางออกหรือไม่สนใจต่อการศึกษาเพื่อหาทางออกเท่านั้น จึงยอมจมกันอยู่ สิ่งที่จมกันอยู่นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำจิตใจของสัตวโลก กดขี่บังคับจิตใจอย่างนั้นตลอดมา หากจะเลิศจะเลอก็เลิศไปแล้ว วิเศษวิโสไปแล้ว เราทุกคนเคยโดนสิ่งเหล่านี้มาเสียมากต่อมาก จึงไม่ควรสงสัยว่าจะมีชิ้นดีอะไรอีกในแดนแห่งสมมุติอันเป็นแดนครองอำนาจของกิเลสนี้
ธรรมท่านกล่าวไว้ว่าประเสริฐ เช่น โลกุตรธรรม ธรรมเหนือโลก ฟังซิ อะไรที่เหนือโลกนี้ไม่มีไม่ปรากฏ เป็นโลกด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด ไม่ว่าชั้นใดภูมิใดของกำเนิดสูงต่ำที่เกิดตามอำนาจแห่งกรรมของตน ตั้งแต่นรกมหาอเวจีขึ้นมาจนกระทั่งถึงพรหมโลกขั้นสุดท้ายคือสุทธาวาส ๕ ชั้น ได้แก่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิษฐา ยังมีสมมุติแฝงอยู่ทั้งนั้น ยังไม่ได้จัดว่าเป็นโลกุตระอันสมบูรณ์ เป็นแต่เพียงว่าก้าวเข้าสู่กระแสแห่งโลกุตระ นับแต่พระโสดาขึ้นไป พระสกิทาคา พระอนาคา เมื่อพ้นจากนั้นไปแล้วเรียกว่าโลกุตระอย่างเต็มภูมิ ได้แก่ อรหัตภูมิหรืออรหัตผล
นี่คือธรรมเหนือโลก เหนือขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นสุดยอด มีเท่านี้ที่เป็นที่เหนือโลกได้นอกนั้นไม่มี จะละเอียดขนาดไหนก็ยังอยู่ในสมมุติตามขั้นภูมิของตน เมื่อสมมุติยังมีชาติอยู่มากน้อยละเอียดเพียงไร พึงทราบว่าทุกข์ต้องแทรกอยู่ในนั้นละเอียดมากน้อยไปตาม ๆ กัน ไม่บริสุทธิ์พุทโธเต็มที่เต็มฐานเหมือนจิตที่บริสุทธิ์แท้ที่เรียกว่าอรหัตภูมิ อันเป็นจิตที่เป็นธรรมเหนือโลกโดยถ่ายเดียวแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นท่านผู้ใดกล่าว เป็นท่านผู้ใดประกาศไว้ ถ้าไม่ใช่ศาสดาองค์เอกที่ทรงรู้ทรงเห็นประจักษ์พระทัยแล้ว เทียบเคียงกันถ้าหากจะเทียบเคียง ก็เทียบเคียงได้ทุกสัดทุกส่วนหาที่สงสัยไม่ได้แล้วระหว่างโลกกับธรรมภายในพระทัยของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวนั้น เพราะแหล่งแห่งสมมุตินี้พระองค์ก็เคยท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากสมมุติแล้วพระจิตนี้เป็นอย่างไรพระองค์ก็ประจักษ์พระทัยไม่สงสัย จึงได้ยกธรรมที่ประจักษ์พระทัยอย่างเต็มดวงแล้วนั้นขึ้นมาว่าโลกุตรธรรม นี่คือธรรมที่เหนือโลกแท้ วิเศษกว่าโลกทั้งหลายโดยแท้
ไม่มีสิ่งใดในสามแดนโลกธาตุนี้จะเป็นคู่แข่งได้ ถ้ายังเป็นคู่แข่งได้ก็ไม่เรียกว่าเหนือ นี่เหนือโดยประการทั้งปวง นี่คือศาสดาองค์เอกได้ประกาศสอนไว้ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าองค์เอก การดำเนินการประพฤติปฏิบัติขอให้เข้าร่องเข้ารอยแห่งทางของศาสดาที่ทรงดำเนินมาแล้ว และธรรมที่ประกาศสอนไว้ พระสงฆ์สาวกแต่ละองค์ ๆ ที่เป็นสรณะของเรานี้ สมบูรณ์ด้วยธรรมที่กล่าวที่เรียกว่าโลกุตรธรรมแล้วทั้งนั้นไม่เป็นที่สงสัยว่าจะตกค้างอยู่ในสมมุติใดแม้ละเอียดอ่อนที่สุด เป็นท่านผู้วิเศษล้วน ๆ แล้วทั้งนั้น ธรรมก็เป็นโลกุตรธรรมอันเป็นธรรมที่บริสุทธิ์สุดส่วนไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน
เราทั้งหลายมาปฏิบัติงานเพื่อผลเหล่านี้ เพราะฉะนั้นงานของเราที่ทำจึงต้องให้ต่างจากงานทั้งหลายที่โลกทำกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่ผิดจากโลก เพียงแต่ผ้ากาสาวพัสตร์นุ่งเหลืองห่มเหลืองโกนผมโกนคิ้วเท่านั้นใครก็ทำได้ไม่เป็นสิ่งสำคัญอะไรเลย เพราะนี้เป็นเครื่องประกาศให้โลกทราบ และประกาศให้ตนได้ทราบประจักษ์ใจว่า เป็นเพศนี้เหมาะสมกับงานนี้ จึงต้องดำเนินงานของตนให้ผิดจากงานทั้งหลาย
เฉพาะอย่างยิ่งสติเป็นธรรมสำคัญมาก ปัญญาใช้เสมอในเวลาถูกสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ สติรักษาจิตเสมอเรียกว่าเป็นผู้ปลอดภัย ตาเคยดูเคยเห็นแล้วลบบวกคูณหารดูได้ผลมากน้อยเพียงไร หูจมูกลิ้นกายเคยสัมผัสสัมพันธ์กับโลกนี้มามากน้อยเพียงไรนานเท่าไรตั้งแต่วันเกิดมานี้ ตลอดถึงจิตที่เกี่ยวกับธรรมารมณ์ ซึ่งถือเอาสิ่งสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกายนั้นเข้ามาเป็นอารมณ์เรียกว่าธรรมารมณ์ ได้ผลมากน้อยเพียงไรพอที่จะเสียดายในความคิดความเห็น ความได้ยินได้ฟัง ความสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เต็มโลกอยู่โดยปกติธรรมดาของเขา
การคิดไปตามโลกตามสงสารก็เป็นกิจธรรมดาดังที่โลกเขาคิดกัน ไม่ได้ผิดแปลกจากความคิดของโลกเขาเลย จะเรียกว่าเป็นความคิดความเห็นความดูความได้ยินได้ฟังความสัมผัสสัมพันธ์อันมีสติปัญญา ซึ่งเป็นแนวทางถอดถอนของพระได้อย่างไรถ้าเราไม่นำมาพิจารณานำมาคลี่คลาย จะไม่ผิดอะไรจากโลกเขา เพราะตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นมีด้วยกันทุกคน ต้องสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นคู่เคียงกัน เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นต้น ผู้จะออกจากทุกข์ผู้จะถอดถอนกิเลส ซึ่งมีสาเหตุเกิดขึ้นมาจากความสัมผัสสัมพันธ์นี้ ต้องถอดถอนด้วยสติด้วยปัญญา
บังคับไม่ควรดูไม่ดู ไม่ควรฟังไม่ฟังในสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อธรรม ไม่ควรสัมผัสสัมพันธ์ไม่สัมผัสสัมพันธ์ ไม่ควรคิดควรปรุงไม่คิดไม่ปรุง คำว่าควรคืออะไร ควรจะคิดให้เป็นอรรถเป็นธรรม นั่นควร เพราะจิตติดสิ่งเหล่านี้ คิดเพื่อแก้เพื่อถอดเพื่อถอน เป็นความคิดความเห็นความดูความฟังเป็นอรรถเป็นธรรมจึงเรียกว่าควร นอกนั้นต้องบังคับ เพราะมีสิ่งอันหนึ่งผลักดันอยู่ภายในให้เกิดความหิวความกระหาย แต่ไม่ได้แบบหิวกระหายอย่างเราหิวข้าวกระหายน้ำอย่างนี้ มันหิวด้วยอำนาจของกิเลสต่างหาก ไม่มีวันเพียงพอไม่มีวันอิ่ม หากจะคล้อยตามเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มไฟเผาตนขึ้นโดยลำดับทวีคูณ ด้วยเหตุนี้จึงต้องหักต้องห้ามต้องกลั่นต้องกรองให้ละเอียดลอออยู่ภายในใจของเราเสมอ นี่เรียกว่าทำงาน
ให้ทุก ๆ ท่านทราบไว้ว่างานนี้คืองานของพระแท้เป็นอย่างนี้ ไม่ได้เหมือนงานของโลก เดินไปก็ให้มีสติประคับประคองใจ ให้รู้อยู่ภายในตัวของเรา เรียกว่าผู้มีงานอันชอบธรรม ผู้มีธรรมรักษาใจ และพิจารณาไตร่ตรองดูสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กันนั้นให้ตรงตามความเป็นจริง อย่าฝืนความเป็นจริง นั่นเป็นเรื่องของกิเลส อันใดที่ฝืนความจริงสิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิเลสอย่านำมาใช้ ให้พยายามผลักดันหรือหักห้ามเต็มกำลังความสามารถของตนอย่าเสียดาย การเสียดายรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ด้วยการอยากเห็นอยากได้ยินได้ฟังอยากสัมผัสสัมพันธ์นั้น คือเสียดายกองทุกข์ เสียดายฟืนเสียดายไฟมาเผาลนจิตใจไม่ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขไปได้เลย
เพราะสิ่งเหล่านี้เคยดัดสันดานสัตวโลกมานานแล้วทำไมจะไม่ดัดสันดานเรา แม้จะเป็นนักบวชก็ดัดสันดานได้เมื่อผิดทาง เพราะฉะนั้นจงเดินตามทางก้าวตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอันเป็นทางปลอดภัยไร้ทุกข์ ฝืนกันเสมอจึงชื่อว่าเป็นการต่อสู้กับกิเลส ไม่ฝืนไม่เรียกว่าการต่อสู้ สิ่งใดที่เป็นความราบรื่นเป็นความชอบตามปกติวิสัยของจิตใจสามัญชนเรานี้ ร้อยทั้งร้อยเป็นกิเลสทั้งมวล ให้ทราบไว้อย่างนี้เสมอ จึงต้องหักต้องห้ามฟาดฟันกันลงไป
ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ไม่ต้องสงสัย ว่าทุกข์ประเภทนี้จะทำคนหรือทำเราให้ล่มจม นอกจากจะเป็นการเทิดทูนหรือเป็นปุ๋ยอันดีงาม ที่จะให้เราถึงแดนแห่งความพ้นทุกข์เพราะความทุกข์ที่เป็นไปด้วยความเพียรอันชอบธรรมนี้เท่านั้น นี่เป็นหลักสำคัญของผู้ปฏิบัติ ให้ปักใจลงให้ลึกเหนือกิเลสเสมอ อย่าให้กิเลสตามเหยียบย่ำทำลายกดขี่บังคับในอิริยาบถและความคิดต่าง ๆ ไม่ถูกต้องตามทางเดินของศาสดาผู้หลุดพ้นทุกข์ไปแล้ว และประกาศสอนธรรมไว้เพื่อถอดถอนให้พ้นทุกข์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าทัน
ไม่ควรสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างในสามแดนโลกธาตุนี้ เพราะเวลานี้เราอยู่ในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วสงสัยไปหาอะไร ส่วนธรรมเรายังไม่เคยรู้เคยเห็นยังไม่เคยสัมผัสสัมพันธ์ภายในใจ รสของกิเลสที่ผลิตออกมานั้นเราได้เคยสัมผัสสัมพันธ์ ได้เห็นเหตุเห็นผลกับมันพอสมควรแล้ว แม้จะยังไม่มีปัญญาอันลึกซึ้งแหลมคมขนาดไหนก็พอจะทราบ แต่ทุกข์เพราะการบำเพ็ญธรรมหรือทุกข์เพราะธรรมนี้เรายังไม่เคย ทุกข์เพราะธรรมนี้เกิดเพราะความเพียรเพื่ออรรถเพื่อธรรมย่อมเป็นทุกข์บ้าง
ให้ยกศาสดามาเป็นแบบเป็นฉบับ พระองค์ถึงขั้นสลบไสล เราเพียงแค่นี้ยังไม่สลบไสลเหตุใดจึงจะยอมตายก่อนแล้ว ต้องยกท่านผู้ดียกท่านผู้เลิศยกธรรมที่เลิศ เข้ามาเป็นเครื่องฉุดลากจิตใจของเรา อย่ายกกิเลสเข้ามาเพราะกิเลสนั้นยกไม่ยกมันก็เหยียบย่ำทำลายจิตใจของเราอยู่แล้ว มันจะยกตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ไม่เคยมีในกิเลสตัวใด ไม่ว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายลูกหลานของกิเลสมันเป็นประเภทที่ก่อกวนทำลาย ยุแหย่บีบบังคับสัตวโลกทั้งนั้น ไม่ปรากฏว่ากิเลสตัวใดมีความรู้ความเห็นที่เป็นอรรถเป็นธรรมมายกยอจิตใจของตนให้พ้นจากทุกข์ เพราะการปฏิบัติหรือคล้อยตามมันนั้นเลย เราจึงไม่ควรเชื่อมันเสียจนฝังใจและฝังจม
ความฝังใจเพราะการเชื่อมันนั้นเป็นเรื่องของเพลงมันกล่อมอย่างสนิท ขอให้ธรรมได้กล่อมใจแทนเพลงของกิเลสบ้างเถิด เราเป็นนักปฏิบัติ เอ้า ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์แต่ไม่ถอย เอาจนกระทั่งถึงกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้นดับสลายไป ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียรนี้ก็จะดับไปเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีที่เพียรไม่มีที่ละไม่มีที่ต่อสู้ ไม่มีสิ่งต่อสู้จะต่อสู้กับอะไรพอให้เกิดทุกข์เพราะการต่อสู้นั้น ๆ เวลานี้ที่ยังมีความทุกข์อยู่ก็เพราะมีการต่อสู้ เพราะมีสิ่งต่อสู้ จึงต้องเป็นนักสู้เสมอไม่ถอยหลัง
จิตที่ไม่สงบก็พยายามเอาให้สงบด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งสติทั้งปัญญาเรานำมาใช้ได้ทุกวิถีทางแห่งความฉลาดความแยบคายของเรา เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนคนให้โง่ สอนให้ฉลาดทั้งมวล เราเป็นนักปฏิบัติสละทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเพื่องานอันเดียวนี้เท่านั้น ทำไมจะไม่ได้เหตุได้ผลในงานของตน ตลอดถึงผลที่ปรากฏขึ้นภายในจิตคือความสงบเย็นใจ ทำไมจะมีไม่ได้ จะไม่นอกเหนือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานี้ไปได้เลย ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมที่รื้อฟื้นสัตวโลกให้พ้นจากทุกข์ได้เป็นจำนวนมากมายมาแล้ว เป็นธรรมที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการปราบกิเลสอยู่ตลอดเวลา ทำไมเรานำมาประกอบมาปฏิบัติจะเป็นภัยต่อเรา และกลายไปเป็นคุณต่อกิเลสมีที่ไหนกัน ไม่มี
สงบได้แค่ไหนอุบายแห่งปัญญาที่จะนำมาใช้ในกาลอันควรเหมาะสมกันแค่นั้น การพินิจพิจารณาตามโอกาสที่เรียกว่าปัญญา เอ้า พิจารณาลงไป อย่าไปคาดไปคิดว่าให้สมาธิไปก่อนให้ปัญญาเดินตามหลัง ควรจะใช้ปัญญาเมื่อไรให้ใช้ ควรจะใช้ในทางด้านสมาธิเพื่อความสงบเย็นใจเมื่อไร เอาตั้งหน้าตั้งตาทำลงไปไม่ผิด ไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับลำดา เอาความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน ที่เรียกว่ากิเลสนั้นแหละเป็นเหตุการณ์ที่เหมาะสม ถืออันนั้นเป็นประมาณ ควรจะพิจารณาแยกแยะด้วยสติปัญญาขณะไหนผาดโผนเพียงไรเอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่าท้อถอย ควรที่จะทำให้สงบก็เอาให้สงบให้อยู่ในเงื้อมมือของนักปฏิบัติ ไม่มีคำว่ามาก่อนมาหลัง
แต่พื้นเพของธรรมที่ท่านแสดงไว้เป็นกลาง ๆ นั้นว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาที่มีสมาธิอบรมย่อมเดินคล่องแคล่วสะดวก ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. จิตที่ปัญญาเป็นเครื่องรักษาเป็นเครื่องสนับสนุน เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสภายในจิตนั้น ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้โดยชอบ นี่ท่านพูดเป็นลำดับลำดาไว้อย่างนี้เป็นส่วนมาก แต่ส่วนที่เราจะนำมาใช้เป็นกรณีสำหรับเหตุการณ์ของเรานั้นไม่มีประมาณ กิเลสจะแหลกเหลวไปด้วยวิธีการใดนั้นแหละเหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น ๆ นี่เป็นหลักสำคัญ
เพราะกิเลสที่แท้จริงนั้นไม่ได้เรียงลำดับ ว่าความโลภมาที่ ๑ ความโกรธมาที่ ๒ ความหลงมาที่ ๓ หรือความหลงมาที่ ๑ ความโกรธมาที่ ๒ ความโลภมาที่ ๓ ความรักมาที่ ๑ ความชังมาที่ ๒ หรือความชังมาที่ ๑ ความรักมาที่ ๒ มันเป็นกิเลสผูกมัดจิตใจบีบคั้นจิตใจของสัตว์ได้ทั้งนั้นไม่ว่าประเภทใดแสดงออกมาเป็นกิเลสทั้งมวล ทำให้เกิดความทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการแก้กิเลสเมื่อเหมาะสมกับเหตุการณ์ใดขณะใด ควรจะใช้สติหรือใช้ปัญญาให้ใช้ในเวลานั้นทันทีจึงจะทันกับกิเลสประเภทต่าง ๆ ซึ่งมันไม่มีการเรียงคิว เราจะไปปฏิบัติแบบเรียงคิวอยู่นั้นลูบนั้นคลำนี้ไปเท่านั้นเองไม่เกิดประโยชน์อะไร นี่หลักปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัตินั้นคือการเข้าสู่สงครามต่อสู้กับกิเลส ย่อมจะทราบเรื่องราวของกิเลสได้เป็นอย่างดีโดยลำดับไป
การกล่าวสมาธิก็กล่าวซ้ำ ๆ ซาก ๆ จิตสงบด้วยอารมณ์ใดนี่ก็เคยพูดแล้ว แต่ก็มีท่านผู้มาศึกษาสับปนกันอยู่เรื่อย ๆ จำต้องได้อธิบายซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เสมอ การทำจิตให้สงบท่านก็อธิบายไว้แล้ว ธรรมใดที่เป็นที่ถนัดใจเหมาะกับจริตของตน ให้พึงนำธรรมนั้นมาบริกรรมภาวนา เช่น พุทโธ ๆ หรืออัฏฐิ ๆ ว่าอัฏฐิ ๆ กำหนดเอากระดูกชิ้นใดก็ตามเข้ามาเป็นคำบริกรรมอยู่นั้นก็ได้ หรือจะกำหนดเฉพาะอัฏฐิ ๆ เท่านั้นก็ได้ ไม่ให้จิตเผลอส่งไปที่ไหน มีสติกำกับงานของตน นี่ท่านเรียกว่าอารมณ์แห่งสมถะเพื่อความสงบใจ ก็ให้ทำตามนั้นจริง ๆ ไม่ต้องสนใจกับความคิดความปรุงใด ๆ นอกจากความคิดปรุงที่เกิดขึ้นจากคำบริกรรมภาวนาของตนเท่านั้นแล้วจิตก็จะสงบ
คำว่าปัญญาคือการสอดส่อง คืออาการแห่งความแยบคายของจิตพินิจพิจารณาแง่นั้นแง่นี้ทดสอบ เหมือนกับบวกลบคูณหาร นี่เรียกว่าปัญญา เริ่มตั้งแต่การพิจารณาร่างกาย ร่างกายภายนอกร่างกายภายในเป็นสัจธรรมเหมือนกัน เมื่อพิจารณาให้เป็นสัจธรรมเป็นได้ทั้งภายนอกภายในไม่มีอันใดเป็นปัญหา ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค ไม่มีอะไรขัดต่อธรรม เป็นธรรมด้วยกันทั้งนั้น พิจารณาได้ เราจะยกร่างกายของเราเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา จะยกส่วนใดก็ยกได้ ถนัดตรงไหน ผมหรือขนหรือเล็บหรือฟันหรือหนัง
เฉพาะอย่างยิ่งหนังเป็นสิ่งสำคัญบาง ๆ นิดเดียว ฟังให้ซึ้งนะ ความจริงเป็นอย่างนั้น ธรรมเป็นอย่างนี้โดยแท้ หนาอะไรไม่มีอะไรบางยิ่งกว่าหนัง ผิวของมันบาง ๆ เท่านั้นหุ้มห่อกองปฏิกูลไว้ทั้งร่าง ปิดร่างเขาร่างเรามองไม่เห็นเลยสิ่งบาง ๆ เท่านั้นมันปิดไว้ พรางตาไว้เท่านั้น บุรุษตาฟางก็มืดมิดปิดตาไปหมด เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนว่า ตโจ ๆ ตจปริยนฺโต หนังหุ้มอยู่เท่านั้นทำให้โลกทั้งหลายหลงกัน ปัญญาพิจารณาซิดูตั้งแต่ผิวมันก็เต็มไปด้วยมูตรด้วยคูถของสกปรก พวกเหงื่อพวกไคลมันก็เป็นน้ำ ขี้เหงื่อขี้ไคลมันก็เป็นคูถอยู่แล้ว
บังคับปัญญาให้เดินอย่าให้เถลไถลไปไหน จดจ่อต่อเนื่องกันดู จะเห็นตรงไหนก็เห็นเถอะเป็นร่างกายอันเดียวกันหมด สัจธรรมอันเดียวกัน ขณะที่ดูหนังเรากำหนดที่ตรงไหนจับตรงนั้นไว้ให้แม่นยำ ทีนี้หนังนั้นจะเคลื่อนย้ายไปไหนตามความรู้สึกในขณะที่พิจารณา ว่าสูงไปต่ำไปเป็นต้น อย่าไปสำคัญมั่นหมายกับความสูงความต่ำแห่งอาการที่ตนพิจารณาอยู่นั้น แล้วเปลี่ยนแปลงโยกย้ายมาตั้งใหม่ เช่นเดียวกับที่เคยอธิบายถึงเรื่องอานาปานสติเป็นต้น ว่าตั้งลมไว้ที่ดั้งจมูกแล้วกลับกลายเป็นสูงไปต่ำไปอย่างนี้ไม่ต้องไปหมาย ให้รู้อยู่กับลม สูงกับต่ำไม่ปล่อยลม นั้นแหละความจริงอยู่ตรงนั้น
อันนี้หนัง เนื้อ อะไรก็ตามในขณะที่พิจารณาร่างกายนี้ พิจารณาหนังแล้ว บางทีขยายตัวออกไปหมดทั้งร่างใหญ่โตขึ้น ๆ ไม่ต้องตื่นเต้นไม่ต้องตกใจ ดู ใหญ่ขนาดไหนผู้รู้มีอยู่ครอบไปหมดนี้ มันจะใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาผู้รู้ก็รอบ...ครอบหมด มันจะครอบโลกธาตุผู้รู้นี้ก็ครอบมันได้ มันจะใหญ่จะโตจะสูงขนาดไหนก็คือกองอสุภะอสุภังคือร่างกายของเรานี้แหละ ดูให้จิตแนบอยู่ตรงนั้น จะสูงจะต่ำอย่าไปสำคัญ ให้สำคัญอยู่ที่ตรงรู้ ๆ หนังจะค่อยเปื่อยค่อยพังไปยังไงมีลักษณะอย่างไรให้ดูอยู่ตรงนั้น จะกระจายไปไหนก็ให้รู้ ความรู้กับสิ่งที่พิจารณานั้นให้ติดแนบกันเสมอ อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่าสูงไปต่ำไป หรือร่างกายนี้มันแตก ร่างกายของเราแท้ ๆ มันไม่ได้แตก นี่มันจะมาหลอกเราตรงนี้นะ ก็มันจะแตกอย่างนั้นนี่ เราพิจารณานี้ปัญญาหยั่งทราบไว้ก่อน หยั่งทราบไว้ล่วงหน้าเป็นความถูกต้องแล้ว พิจารณาได้อย่างชัดเจน
กิเลสมันหลอกเราว่าสวยว่างามทั้ง ๆ ที่เป็นของปฏิกูลโสโครกหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ทำไมเราจึงยอมเชื่อมัน ทีนี้เราพิจารณาตามหลักความจริงคือธรรมว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลโสโครก เป็นสิ่งที่จะต้องแตกสลายต้องทำลาย พังทลายลงไปหมดทั้งร่างนี้ ทำไมเราจะไม่เชื่อ นี่เป็นความจริงแท้ ความไม่เชื่อนั้นคือเรื่องของกิเลสขวางธรรม มาปิดกั้นธรรมไม่ให้เดินด้วยความสะดวก เพราะฉะนั้นจึงปัดนั้นออก แยกสติปัญญาเข้าสู่จุดแห่งความจริง หนึ่ง ความเป็นปฏิกูลมันเต็มไปหมดทั้งร่างนี้แล้วตั้งแต่เรายังไม่ได้พิจารณา ทำไมจะมาลูบ ๆ คลำ ๆ ว่ามันสวยงามอยู่ได้ถ้าไม่ใช่บุรุษตาฟาง ไม่ใช่คนตาบอด ถ้าเป็นตามอรรถตามธรรมแล้วมันก็จริงอยู่แล้วอย่างนั้น เอ้า พิจารณาเรื่องอนิจฺจํ มันก็แปรอยู่ตลอดเวลาทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายของเรานี้ ทุกฺขํ บีบอยู่สงสัยที่ตรงไหนความทุกข์ทั้งหลาย แล้วอนตฺตา ฟังซิคำว่า อนตฺตา อะไรเป็นเราเป็นของเรา
ถ้าพูดถึงปฏิกูลก็ความปฏิกูลเป็นเราได้ยังไง ถ้ากองปฏิกูลเป็นเราได้มูลสดมูลแห้งอยู่ตามถนนหนทางก็เป็นได้ละซิ เพราะเป็นของปฏิกูลด้วยกัน อันนั้นเรายังไม่ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา อันนี้เราจะถือว่าเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไรมันเป็นสภาพอย่างเดียวกัน แยกจิตแยกปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดตามความจริงแล้ว คำว่าอุปาทาน ๆ ความยึดมั่นถือมั่น เกิดขึ้นจากกิเลสหลอกให้เราลุ่มเราหลง เราถึงแบกถึงหามกองปฏิกูลกองอสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบนี้หนักเท่าไรก็ไม่ยอมให้ปล่อยให้วาง ไม่ยอมให้เห็นโทษต่างหากเป็นเรื่องของกิเลสหลอกต่างหาก
เรื่องของธรรมต้องปล่อยต้องวาง เมื่อเข้าใจมากน้อยเพียงไรจะค่อยถอนตัวเข้ามา ๆ เมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงเต็มภูมิของร่างกายที่พิจารณารอบแล้วนี้นั้น อุปาทานจะถอนเข้ามาหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ นี่คือการพิจารณาด้วยปัญญา ให้เดินอยู่ตามนี้พิจารณาตามนี้ งานเรามีเท่านี้ เอ้า จะแยกไปข้างนอกก็ดู ทั่วโลกธาตุนี้ก็เหมือนกันหมดมีอะไรผิดแปลกต่างกัน พอที่จะติดอกติดใจเพลิดเพลินรื่นเริงไปกับมันด้วยความลุ่ม ๆ หลง ๆ ที่เคยเป็นมาแล้ว พิจารณาให้เห็นลงตามความจริง นี่เรียกว่าปัญญา มันจะได้ด้วยวิธีใดเป็นอุบายเป็นวิธีการหรือเป็นตามจริตนิสัยของผู้พิจารณา จะเอามาเป็นแบบเป็นฉบับให้ผู้หนึ่งผู้ใดอย่างตายตัวก็ไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของแต่ละราย ๆ ที่จะหาความแยบคายต่อตนเองเพื่อตัวเองได้ปล่อยวางสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ร่างกายนี้แหละเป็นสำคัญต้องพิจารณา
นี่พูดให้ฟังเพียงเอกเทศหรือว่าทั้งดุ้นก็ได้ตามแต่ท่านผู้ฟังทั้งหลายจะไปแยกแยะพินิจพิจารณา ตามสติกำลังหรือจริตนิสัยของตน นั่นเป็นอีกแง่หนึ่งไม่มีสิ้นสุด คำว่าปัญญาแล้วไม่สิ้นสุดอยู่กับผู้ใด หากเป็นความถนัดใจของผู้นั้นจะพิจารณาให้เป็นความแยบคายต่อตนเอง พูดถึงการพิจารณาทางวิปัสสนา นี่ท่านเรียกว่าปัญญา วิปัสสนาแปลว่าความเห็นแจ้ง คือเห็นแจ้งตามเป็นจริง ไม่ได้เห็นแบบมืดดำกำตาอย่างที่เราเห็นอยู่นี้ เห็นอะไรหลงอันนั้นยึดอันนั้น นี่เห็นแบบอวิชชา
วิปัสสนานี้เห็นแบบธรรม รู้แบบธรรม ปล่อยวางแบบธรรม เห็นแบบกิเลส รู้แบบกิเลส ยึดถือแบบกิเลส แบกกองทุกข์แบบกิเลสไม่ใช่แบบธรรม จึงต้องพลิกความรู้สึกอันเป็นฝ่ายกิเลสควบคุมนั้นเข้ามาสู่ธรรม ให้ธรรมคือสติปัญญาควบคุมงานของตนให้เห็นตามเป็นจริงที่มีอยู่กับตัวนี้ทุกคน พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าถือเป็นงานจำเป็นสำคัญในชีวิตจิตใจของเรา นี่คืองานของพระ ให้เป็นอย่างนี้จึงเรียกว่างานของพระ
ถ้าพูดถึงเรื่องความทุกข์ภายในร่างกาย เมื่อพิจารณาธาตุขันธ์ลงถึงขนาดนี้แล้วมีปัญหาอะไรกับทุกข์ กายก็เป็นกายทุกข์ก็เป็นทุกข์ ต่างอันต่างจริงของมันอยู่แล้ว หลงไปที่ไหน ทุกข์เกิดขึ้นดับไปก็คือกองไตรลักษณ์นั่นเอง สภาพร่างกายนี้ก็กองไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามกาลตามเวลาตามปัจจัยของมันที่จะสืบต่อกันไปได้มากน้อยเพียงไร มันก็สลายตัวลงไปเท่านั้น จึงเรียกว่า อนิจฺจํ นี่การพิจารณาปัญญา เวลาจะทำให้เป็นสมถะคือความสงบ ก็ต้องเอาจริงเอาจังเช่นเดียวกัน สติเป็นของสำคัญที่จะต้องบังคับ
เมื่อสติปัญญามีทางเดินมีต้นทุน รู้วิธีพิจารณาแล้วสมาธิก็เบาไป เรื่องปัญญาก็เบาไป ถึงจะยากลำบากก็รู้วิธี เหมือนกับงานที่เราเคยทำอยู่แล้ว ยากลำบากเพียงไรก็พอทำได้ทั้งนั้น เพราะรู้วิธีทำ สำคัญที่ไม่รู้วิธีทำนี้ ทั้งยากทั้งไม่รู้วิธี ยุ่งไปหมด นี่การพิจารณาเบื้องต้นภาวนาเบื้องต้น ทั้งยากทั้งลำบากทั้งไม่รู้วิธีพิจารณา จึงเป็นเหมือนกับโดดเข้ากอไผ่หนาม ๆ ทั้งกอนั่นแหละ แหลกไปหมดทั้งตัว แต่พอรู้วิธีแล้วทุกข์ลำบากเพียงไรก็เพลิดก็เพลิน พอทำไปทั้งนั้นเพราะรู้วิธีทำ
นี่แยกประเภทให้ทราบถึงเรื่องการพิจารณาด้วย ถึงเรื่องของขันธ์ด้วย ขันธะ แปลว่า กองหรือว่าประเภท หรือแปลว่าหมวด แล้วแต่จะว่าตามความถนัดใจเราแยกเอาเถิด กองก็กองทุกข์นั่นแหละ นี่มันถึงใจถ้าว่ากองทุกข์ ตั้งแต่พื้นเท้าถึงศีรษะมันกองทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์อยู่ได้หมดในสิ่งเหล่านี้ เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ เป็นไตรลักษณ์ด้วยกัน เป็นสัจธรรมอันหนึ่งคือความจริงอันหนึ่ง สัญญา ความหมาย หมายออกมาจากใจนั้นแหละแต่เป็นอาการของใจ
เมื่อปัญญาได้ก้าวในส่วนร่างกายนี้ไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็ค่อยทราบไปตาม ๆ กัน เพราะมันเกี่ยวโยงกัน แม้ในขณะที่เราพิจารณาร่างกาย มันยังสามารถจะพิจารณาทุกขเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปในขณะเดียวกันได้เพราะเกี่ยวโยงกัน เราไม่ถือว่าอันดับนั้นอันดับนี้ อันดับ ๑ อันดับ ๒ อันดับ ๓ แต่เราถือการพิจารณาเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาพที่เราเคยติดเคยข้องเคยสงสัยนี้ให้แจ่มแจ้งเข้าไปเท่านั้น และปล่อยวางได้เท่านั้นเป็นสำคัญกว่าอื่น ที่ได้แนะไว้ก็เพื่อให้เป็นที่เข้าใจ
เช่นอย่างสัญญา ละเอียดมากในภาคปฏิบัติ ในวงขันธ์ ๕ นี้ไม่มีอะไรละเอียดยิ่งกว่าสัญญา มันเหมือนกระดาษซึมมันซึมออกไป ไปหมายได้เป็นภาพขึ้นมาได้อย่างสบาย สังขารยังแย็บออกมาเป็นความคิดความปรุง แต่สัญญานี้มันเยิ้มออกไป ถ้าสติปัญญาไม่ทันไม่รู้ เมื่อสติปัญญาทันแล้วปิดไม่อยู่ รู้เอง เมื่อรู้แล้วทำไมจะพูดไม่ได้และทำไมจะละไม่ได้ถ้าสติปัญญาพอ สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ ก็ขันธ์ วิญญาณก็รับทราบแย็บ ๆ ทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ที่สัมผัสกันกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วก็ดับไป ๆ ตามสิ่งนั้นผ่านไป ๆ ก็มีเท่านั้น นี่การพิจารณา งานของพระ เอาให้จริงให้จัง
งานนี้เป็นงานถอดงานถอน งานค้นหาธรรมอันประเสริฐ ต้องแย่งกิเลสต้องต่อสู้กิเลสที่ไปเที่ยวปักเสียบไว้หมดทุกแง่ทุกมุมทั้งภายนอกภายใน ตัวจอมปลอมหลอกสัตวโลก สามโลกธาตุไม่มีสัตวโลกตัวใดจะเหนือกิเลสนี้ไปได้ มันครอบเป็นเจ้าอำนาจไว้หมด จึงเหมือนกันกับเรือนจำ ใครจะว่าสุขว่าสบายขนาดไหน ก็เหมือนกับนักโทษชื่อว่านายดี นายสุขอยู่ในเรือนจำนั้นแล มันสักแต่ว่าเท่านั้น โน่นผู้เขาไม่ติดคุกติดตะรางต่างหาก เขาจะชื่อว่านายสุขหรือไม่นายสุขก็ตาม คนนั้นเป็นอิสระกว่านักโทษในเรือนจำ
นี่ก็จิตมันติดคุกถูกควบคุมบังคับบัญชา คุกก็หมายถึงวัฏวนนี้แหละ กิเลสเป็นผู้บงการ กิเลสเป็นผู้ควบคุม กิเลสเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้บีบบี้สีไฟ หาความสุขความสบายไม่ได้ ถ้าจะตายเสียจริง ๆ มันก็เอาอาหารเครื่องล่อลวงมาหลอกเสียบ้างพอให้เพลินเสียนิด ๆ แล้วมันก็บีบเข้าไป เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนั้น เมื่อได้พิจารณาสิ่งจอมปลอมที่มันปักเสียบไว้นี้โดยตลอดทั่วถึงแล้ว กิเลสก็แตกบ้านแตกเมืองได้เหมือนกัน จะมีแต่เราแพ้มันอย่างเดียวหรือ มันก็แพ้เราได้ด้วยธรรมนี่แหละเป็นสิ่งที่พาให้ชนะ ชนะมันไปได้โดยลำดับ ๆ
เผาเข้าไปตรงรูป เผาเข้าไปตรงเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ เผาเข้าไปที่สัญญา เผาเข้าไปที่สังขาร เผาเข้าไปที่วิญญาณ ด้วยสติปัญญา เผาแหลกละเอียดเข้าไป เผาบ้านของมัน มันก็ไม่มีอยู่ เลื่อนเข้าไปสู่อุโมงค์คือใจอันเป็นฐานเดิมที่เดิม ที่ฝังเชื้อของมันอย่างจมมิด นั่นก็ตปธรรมเผาเข้าไปอีกตรงนั้น วิปัสสนาอันทันสมัย นั่นแหละเรียกตปธรรมที่ทันสมัย ไฟที่แผดเผาที่สุดเหนือกิเลส เผากิเลสแตกแหลกกระจายไปเลยภายในจิต กิเลสหาที่ตั้งบ้านตั้งเรือนไม่ได้ แล้วอันไหนจะไปเกิดที่นี่
ก็กิเลสเป็นผู้พาให้เกิดที่เรียกว่าตั้งบ้านตั้งเรือนตั้งธาตุตั้งขันธ์ในภพน้อยภพใหญ่ ถูกตปธรรมคือสติปัญญาอันแหลมคมที่เราได้ฝึกมาตั้งแต่ต้นจนถึงอวสาน ถึงขั้นเกรียงไกรแล้ว ก็ฟาดกันลงที่ตรงนั้นแหลกกันที่ตรงนั้น กิเลสหมดที่นี่ เผาบ้านกิเลสหมดภายในหัวใจนี้เป็นจุดสุดท้าย เมื่อกิเลสถูกเผาแหลกหมด ด้วย กุสลา ธมฺมา คือความฉลาดแหลมคมของเราแล้ว นั่นแหละผลคือธรรมอันประเสริฐ ที่ท่านว่าโลกุตรธรรมอันสุดยอดได้ปรากฏขึ้นแล้วที่ใจ
ใจกับธรรมได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวโดยสมบูรณ์เต็มที่แล้ว นั้นแลท่านว่าเอาตัวรอดเป็นยอดคน คนคือเราแต่ก่อนก็ต่ำช้าเลวทรามก็คือเรา โง่เง่าเต่าตุ่นก็คือเรา ให้กิเลสเหยียบอยู่เหมือนมูตรเหมือนคูถก็คือเรา บัดนี้ได้ผ่านพ้นไปหมดแล้วในสิ่งที่กล่าวเหล่านี้ เหนือกิเลส กิเลสหมดไปแล้วมันจะเหนืออะไรอีกในจิตดวงนั้นก็ไม่มี นอกจากจะเหนือสมมุติที่มีอยู่เท่านั้น นั่นท่านเรียกว่าโลกุตรธรรม คือ ธรรมเหนือสมมุติ สูงกว่าสิ่งทั้งปวง นี่คือผลของการปฏิบัติตามทางศาสดาที่ประทานไว้แล้ว ประทานเพื่อธรรมเหล่านี้แลไม่ใช่ประทานเพื่ออะไร
ธรรมที่ประทานไว้นี้เป็นธรรมที่สด ๆ ร้อน ๆ เป็นธรรมที่เหมาะสมตลอดเวลาที่จะปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในจิตใจของเราให้แหลกแตกกระจายไปได้โดยไม่ต้องสงสัย ฉะนั้นขอให้ทุกท่านจงฝังให้ลึกในธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้ ว่าเป็นธรรมจะปราบกิเลสให้บรรลัยโดยไม่ต้องสงสัยด้วยความเพียรของเราแต่ละท่าน ๆ เอาให้หนักแน่นทำอะไรให้จริงให้จัง อย่าเหลาะแหละ ๆ เก้ง ๆ ก้าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างให้มีสติกำกับเสมอทั้งภายนอกภายใน นี้แลคือผู้มีความเพียร ผู้มีสติ ผู้ไม่ลืมตัวอยู่ตรงนี้
พื้นฐานที่จะให้รู้อรรถรู้ธรรม ขึ้นอยู่กับความไม่ลืมตัว ความมีสติ และต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงมหาสติมหาปัญญา คือต่อกันอย่างเป็นแถวไปเลย ไม่มีวรรคใดตอนใดว่าขาดสติขาดปัญญา นั่นแหละที่นี่ธรรมเหล่านี้แหละเป็นธรรมที่ควรจะเผาบ้านเผาเรือนเผาภพเผาชาติของกิเลสให้แหลกละเอียดภายในจิตใจ เหลือแต่ใจที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วอยู่ไหนก็อยู่เถอะ อยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์แห่งสมมุตินี้แล แต่ไม่ใช่ขันธ์ไม่ใช่สมมุติ เช่นเดียวกับท่านว่าธรรมมีอยู่ตลอดเวลานั่นแล มีอยู่ในท่ามกลางแห่งโลกธาตุนี้แล แต่ไม่ใช่โลกธาตุนี้เป็นธรรม
ธรรมเป็นธรรม โลกธาตุเป็นโลกธาตุ แดนสมมุติเป็นแดนสมมุติ วิมุตติเป็นวิมุตติ ธรรมภายในใจคือวิมุตติธรรมภายในใจก็เช่นเดียวกัน อยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์แต่ไม่ใช่ขันธ์ หากเป็นความบริสุทธิ์โดยเฉพาะของตนต่างหาก จงพากันตั้งอกตั้งใจพินิจพิจารณา อย่าให้เสียความเป็นพระ อย่าให้เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยเพศและข้อปฏิบัติ เป็นธัมมานุธัมมปฏิปันโน ปฏิบัติธรรมเหมาะสมกับธรรมที่จะให้ถึงความพ้นทุกข์ แล้วคำว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต จะเห็นขึ้นจากการปฏิบัติและผลแห่งการปฏิบัติของตนโดยลำดับ จนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์วิมุตติหลุดพ้นเต็มดวงใจ นั้นคือเห็นตถาคตเต็มองค์โดยไม่ต้องสงสัย
การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควร หยุดเพียงเท่านี้