ธรรมกับโลกอยู่ด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน ทางโลกย่อมมีจิตใจส่งออกภายนอกไม่มีวันย้อนกลับมีแต่คิดเรื่องนอก เรื่องโลกเรื่องสงสาร เรื่องบ้านเรื่องเมือง เรื่องได้เรื่องเสีย ได้เปรียบเสียเปรียบ เอารัดเอาเปรียบ คิดไปในแง่ใดก็เป็นเรื่องโลก ๆ ไปหมด ท่านจึงเรียกว่าโลก กิริยาการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจาเป็นโลกไปทั้งนั้น นั่นท่านเรียกว่าโลก ไม่เหมือนธรรม จึงเรียกคนละอย่าง ธรรมนั้นย้อนกลับ ทั้งคิดข้างหน้า ทั้งย้อนถอยกลับคิดเรื่องโลกเรื่องเรา เรื่องถูกเรื่องผิด เรื่องดีเรื่องชั่ว แล้วย้อนเข้ามาสู่ตัวเสมอ เพื่อหาเหตุผลเป็นที่ยุติในทางที่ถูกต้องดีงาม สิ่งที่ควรละเว้น ก็ต้องละเว้นตามหลักเหตุผลนั้น สิ่งที่ควรทำก็ต้องทำตามหลักเหตุผล และทำด้วยความเต็มใจทั้งสองอย่าง ทางละเว้นในสิ่งไม่ดีก็ต้องละเว้นจริง ๆ การประกอบในสิ่งที่ดีก็ เป็นไปด้วยความสนใจจดจ่อจริง ๆ ท่านจึงเรียกว่าธรรม
รวมแล้วการเรียนธรรมก็คือการเรียนเรื่องของตัว เทียบกับโลกสงสารซึ่งเป็นลักษณะอย่างเดียวกัน โลกจะกว้างแสนกว้างคนจะมีจำนวนมาก สัตว์มีจำนวนมากทั้งสัตว์น้ำสัตว์บก คนชาติชั้นวรรณะนั้นนี้ตามสมมุตินิยม เมื่อเทียบในความเป็นไปความเป็นอยู่ ความเคลื่อนไหวในแง่ต่าง ๆ ย่อมเป็นเหมือน ๆ กัน นี่จึงเรียกว่าส่งออกไปภายนอก ย้อนจิตกลับเข้ามาภายในเพื่อทบทวนเหตุผลต้นปลาย หาทางยุติว่าจะเอาอย่างไรดี
ถ้าพูดตามหลักความจริงแล้ว เรื่องโลกก็คือเรื่องความผูกพัน เรื่องธรรมก็คือเรื่องปล่อยวาง คือความปล่อยวาง เรื่องของโลกย่อมมีแต่ความผูกพัน เรื่องของธรรมมีแต่เรื่องแก้เรื่องถอดเรื่องถอนความผูกพัน คำว่าผูกพันก็ผูกพันอันเป็นแถวทางที่จะให้เกิดความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุดจุดหมายปลายทาง เป็นโลกไปล้วน ๆ ก็เป็นวัฏวนไปล้วน ๆ ทุกข์สุขเจือปนกันไป ส่วนมากมีแต่ทุกข์ สุขเป็นเครื่องล่อเล็กน้อย ความทุกข์นั้นมีจำนวนมากแต่ปิดบังไว้ไม่ให้เห็นไม่ให้รู้ ผู้ที่เป็นผู้ที่รับความทุกข์ ความสุขบ้างเล็กน้อยนั้นก็ไม่ทราบเรื่องของตัวเองที่กำลังเป็นอยู่ ทั้งที่ผ่านมาแล้ว ปัจจุบันและอนาคตซึ่งจะได้รับในกาลต่อไป
เรื่องของโลกเป็นเรื่องหมุนอย่างนั้น คือหมุนไปข้างหน้า แล้วก็วกเวียนกลับย้อนมาโดยเจ้าตัวก็ไม่รู้ ท่านเรียกว่าวัฎวน ก็คือเรื่องของโลก ทีนี้เรื่องของธรรมเป็นเรื่องวิวัฏฏะ คลี่คลายในสิ่งที่เคยผูกพันเกี่ยวข้องกันมา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสี้ยนเป็นหนามต่อตนเอง แก้ไขคลี่คลายสิ่งที่พัวพันกับตนออกไปโดยลำดับ ท่านจึงเรียกว่าเรียนธรรมะก็ดีการปฏิบัติธรรมะก็ดี คือการเรียนเรื่องของตัวและปฏิบัติต่อตัวเองนั่นแล นี่โลกกับธรรมผิดกันอย่างนี้ คือสวนทางกันไป โลกเป็นฝ่ายผูกมัด ธรรมเป็นฝ่ายถอดถอน
ทีนี้เรามาบวชในพระพุทธศาสนาเรียบร้อยแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาจะมาแก้ไขถอดถอน สิ่งที่เคยพัวพันกับจิตใจตนมาเป็นเวลานาน การปฏิบัติของตนจึงจำต้องทวนกระแสของโลก ได้แก่ กระแสของใจที่เคยเป็นมานั้นแล เรียกว่ากระแสของโลก เพราะกระแสของใจนั้นมันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งเครื่องดึงดูดภายในที่เป็นตัวโลกล้วน ๆ ฉุดลากออกไปจึงต้องทวนกระแสกลับเข้ามา ท่านเรียกว่าทวนกระแสโลก คือทวนกระแสของจิตตัวเองนั่นแหละที่มันเคยเป็นมาโดยลำดับลำดา และเป็นไปอย่างนั้นอยู่ประจำขณะจิต ไม่มีเวลางดเว้น หากเราไม่มีสติพินิจพิจารณาด้วยสติจริง ๆ ด้วยความจดจ่อจริง ๆ ด้วยปัญญาพิจารณาจริง ๆ จะไม่เห็นความแปลกต่างระหว่างธรรมกับโลก ในจิตดวงเดียวกันนั้นได้เลย
คำว่าโลก ผู้ปฏิบัติอย่าหมายถึงผู้หนึ่งผู้ใด อันจะเป็นการดูถูกเหยียดหยามยกนั้นยอนี้ ทุ่มลงอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการเหยียบการยกการยออันเป็นเรื่องของโลกไปเสีย ให้ย้อนเข้ามาเรื่องภายในของตัวเอง เหยียบก็เหยียบกิเลสภายในใจของตัว ยกก็ยกธรรมขึ้นเพื่อต่อสู้กับกิเลสนี่เรียกว่าเรียนธรรม ทวนกระเสจิตเข้ามาสู่ทางธรรมเข้ามาอย่างนี้ กระแสจิตล้วน ๆ นั้น หลักธรรมชาติของมันเป็นกระแสของกิเลสโดยตรงที่แสดงออกมา ใช้จิตเป็นเครื่องมือ อาการของจิตแต่ละอาการที่คิดที่ปรุงออกมา ที่สัมผัสสัมพันธ์ในสิ่งต่าง ๆ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเครื่องมือของกิเลสที่จะได้ทำงานในวาระที่สัมผัสนั้นต่อไปโดยลำดับทั้งนั้น
การทวนกระแสแห่งความเป็นมาจนราบรื่นแล้วจึงเป็นการยากการลำบากอยู่เป็นธรรมดา แต่ผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่ถือความยากความลำบากเหล่านี้ ซึ่งจะให้เกิดความท้อถอยอ่อนแออันเป็นเรื่องของกิเลสนั้นเข้ามารบกวนจิตใจ จะมุ่งแต่ผลอันดีที่จะยกยอตนขึ้นด้วยอรรถด้วยธรรม เพื่อปราบปรามสิ่งที่กดถ่วงทั้งหลายให้หมดให้สิ้นหรือเบาบางโดยลำดับเท่านั้น นี่เป็นหลักของผู้ปฏิบัติธรรม
เรียนก็เรียนเพื่อรู้เหตุรู้ผลรู้ดีรู้ชั่วรู้วิธีละวิธีบำเพ็ญ การปฏิบัติก็ปฏิบัติไปตามแถวแนวที่เราได้เรียนมามากน้อย ในเเง่ไรก็ตามก็ปฏิบัติไปตามแง่นั้น แง่ที่เรียนมา ไม่ใช่การปฏิบัติจะเดินสวนทางกันกับการเรียนมานั้นไม่ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านให้นามว่าปริยัติ คือการศึกษาเล่าเรียน เรียนวิธีการทุกสิ่งทุกอย่าง ในการที่จะแก้จะถอดถอนหรือบำเพ็ญจริง ๆ โดยอาการต่าง ๆ หรือวิธีการต่าง ๆ ปฏิบัติก็คือปฏิบัติตามที่ศึกษาเล่าเรียนมานั้นอันเป็นเข็มทิศที่ถูกต้องดีงามมาแล้วจากสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า ผลจึงเป็นสิ่งที่พึงหวังไปโดยลำดับที่เรียกว่าปฏิเวธะ ได้แก่ความรู้แจ้งไปเป็นลำดับลำดาตามกำลังแห่งความพากเพียรและสติปัญญาของผู้ปฏิบัตินั้น ๆ
ไม่ใช่คำว่าปฏิเวธะนี้รู้แจ้งแทงตลอดไปในขณะเดียว หากเป็นไปตามการปฏิบัติของเราเพราะเป็นผล การปฏิบัตินั้นเป็นมรรค มรรคมีกำลังมากน้อยเพียงไรเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดผลขึ้นมาก็มากน้อยตามกำลังของมรรค คือการปฏิบัติของตนนั้นแล นี่การเรียนธรรมการปฏิบัติธรรม ในครั้งพุทธกาลท่านเรียนอย่างนั้น ท่านปฏิบัติอย่างนั้น โดยลำดับลำดามา ไม่ใช่การเรียนกับการปฏิบัติเดินสวนทางกันดังที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบันนี้ นี่เป็นสิ่งที่เดินสวนทางกันระหว่างปริยัติกับปฏิบัติของผู้ทรงจำมาทั้งหลาย โดยถือเอาความทรงจำนั้น มาเป็นตัวของตัวไปเสีย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ดำเนินเหตุแต่ประการใด คือการปฏิบัติยังไม่ปรากฎ แต่ก็เอาผลจากการเรียนนั้นมาเป็นตัวของตัวเป็นความรู้ของตัวเป็นเนื้อเป็นหนังของตัวไปเสีย โดยที่หาความจริงไม่ได้ เพราะนั้นไม่ใช่ความจริง นั้นไม่ใช่ความถูกต้องตามหลักแห่งการเรียน
การเรียนก็คือเรียนเพื่อรู้เพื่อเข้าใจในวิธีการปฏิบัติ เพราะในขณะที่เรียนนั้นกิเลสตัวใดยังไม่ได้หลุดลอยไปเลย เป็นแต่เพียงจำวิธีการที่จะแก้ไขถอดถอนกิเลสแต่ละประเภท ๆ ด้วยอุบายวิธีการของความเพียรมีสติปัญญาเป็นสำคัญเท่านั้น ยังไม่เป็นผลอันใด แต่ที่ว่าเดินสวนทางก็คือว่า เราเอาความจดความจำที่เรียนมามากน้อยนั้นมาเป็นตัวผล ถือว่าเรารู้เราฉลาดไปเสีย ทั้ง ๆ ที่ละกิเลสไม่ได้แม้ตัวเดียว จะจัดว่าเป็นความรู้ที่ชอบธรรมได้อย่างไร มันก็เป็นเพียงความจำ นอกจากนั้นก็สวมเข้าไปอีกว่าเป็นความหลงของผู้เรียนมาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความจริงตามหลักธรรม
ถ้าตามความจริงแล้วเรียนก็ทราบว่าเรียน จำบทจำบาทจำคาถาบาลี จำตำรับตำราวิธีการต่าง ๆ ของท่าน ในการละการบำเพ็ญมาก็ให้ทราบว่าตนได้เรียนมาอย่างนั้น ยังไม่ใช่เป็นตัวมรรคตัวผล ที่กิเลสหลุดลอยออกไปแต่ประการใดเลย จึงต้องก้าวเข้าสู่การปฏิบัติ นั่นแหละที่นี่เป็นเครื่องสืบต่อกันเรียกว่าเรียนถูกต้อง คือเรียนเพื่อปฏิบัติไม่เรียนแบบสวนทางกัน คือการปฏิบัติไม่มี แต่เอาการศึกษาเล่าเรียนนั้นมาเป็นตัวมรรค ตัวผลเสียเอง ทั้ง ๆ ที่มรรคก็ไม่มีผลก็ไม่มี กิเลสไม่หลุดลอยออกไปเลยจากหัวใจ มรรคผลก็ไม่ปรากฎขึ้นภายในใจในขณะที่เรียนนั้นเลย นี่เรียกว่ายังไม่มีผลอันใด แต่ถือว่าการเรียนนี้เป็นผลแล้ว นี่คือการเดินสวนทาง ไม่ถูกต้องตามหลักธรรม คือเดินสวนทางของธรรม
จึงต้องอาศัยการปฏิบัติในภาคต่อจากปริยัติไปแล้ว ดังพระสาวกทั้งหลายสดับธรรมจากพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงพร่ำสอนวิธีการต่าง ๆ แล้วนำธรรมนั้นไปประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น ต้นไม้ชายเขาในป่า ตามถ้ำเงื้อมผา อันเป็นที่สะดวกสบายในการประกอบความพากเพียร เพื่องานนั้น ๆ จะได้สำเร็จไปด้วยลุล่วงไปด้วยความราบรื่นดีงาม ไม่มีอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางใด ๆ เข้ามาวุ่นวาย นั่นละเป็นภาคปฏิบัติ
ภาคปฏิบัตินั้นแล จะเป็นภาคที่ยังผลขึ้นมาตามลำดับลำดานับแต่ขั้นสมาธิ คือความสงบเยือกเย็นภายในจิตใจที่เราจำได้แล้วในทางปริยัติว่า สมาธิ ๆ แปลว่าความสงบร่มเย็น หรือแปลว่าความตั้งมั่น นั่นเป็นชื่อของสมาธิ ยังไม่เป็นสมาธิขึ้นภายในใจของเรา จึงไม่เรียกว่าเราได้ผลแล้วในขณะที่เรียน ได้แต่ชื่อยังไม่ได้ตัว ตัวจริงคือความสงบอันแท้จริงซึ่งจะเกิดขึ้นภายในใจนั้นยังไม่มี มีแต่ชื่อ จึงต้องอาศัยการปฏิบัติ
เมื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ได้เรียนมาแล้ว หรือได้ศึกษามาแล้วจากครูจากอาจารย์ ดังพระสาวกทั้งหลายได้สดับมาแล้วจากพระศาสดาก็ประพฤติปฏิบัติจนปรากฏเป็นสมาธิ คือความเยือกเย็นขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน นั่นเริ่มเป็นผลขึ้นมาแล้ว ถ้าพูดถึงด้านปัญญาก็เช่นเดียวกัน ปัญญาเราก็จำได้ในปริยัติ จนกระทั่งมหาสติมหาปัญญาถึงมรรคผลนิพพานความหลุดพ้น ทะลุปรุโปร่งไปหมดในการศึกษาเล่าเรียนการจำได้มานั้น แต่จิตมันไม่ทะลุ จิตมันไม่เป็นสมาธิ จิตไม่เป็นปัญญาขั้นต่าง ๆ จิตไม่เป็นวิมุตติหลุดพ้น มันก็มีแต่ชื่อของมรรคผลนิพพาน จึงไม่จัดว่านั้นเป็นสมบัติของตนแล้ว เป็นแต่เพียงความจำเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้ต้องการความหลุดพ้นหรือต้องการผลอันเป็นที่พึงใจโดยลำดับขึ้นไป จนกระทั่งถึงความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง ต้องอาศัยการปฏิบัติเป็นภาคพื้นเป็นสำคัญ เมื่อการปฏิบัติมีผลก็จะต้องเป็นไปตามการปฏิบัตินั้น ได้มากได้น้อยผลจะปรากฏขึ้นมาตามนั้น เช่น สมาธินี่เป็นผลเบื้องต้นแล้ว ปรากฏขึ้นที่ใจนั้นแหละ นี่เรียกว่าเป็นผล เริ่มเป็นปฏิเวธะขึ้นมา
แต่ก่อนได้ยินแต่ชื่อของสมาธิ จดจำได้จากคัมภีร์ใบลานจากครูจากอาจารย์ แต่องค์ของสมาธิแท้ยังไม่ปรากฏ บัดนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วด้วยการสมาธิภาวนาของเรา เป็นความสงบเย็นใจขึ้นที่ใจ การพิจารณาทางด้านปัญญา เราก็ได้แต่ชื่อของปัญญาขั้นต่าง ๆ เช่นตรุณวิปัสสนาแล้วก็ไปถึงมหาสติมหาปัญญา นี่มีแต่ชื่อทั้งนั้น
แต่พอเราได้ปฏิบัติทางภาคปัญญา ปัญญาขั้นต่าง ๆ ที่เราเรียนมานั้นก็จะเริ่มปรากฏขึ้นมาภายในจิตใจ จนปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจน และสามารถฟาดฟันกิเลสประเภทต่าง ๆ ให้ขาดสะบั้นไปจากใจเป็นลำดับลำดาจนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นหลุดที่ใจ เพราะปัญญาอยู่ที่ใจ กิเลสอยู่ที่ใจ ฟาดฟันกันลงที่ใจ เมื่อสติปัญญาเหมาะสมกับกิเลสประเภทใด ย่อมจะทำลายกิเลสประเภทนั้นให้หมดสิ้นไปจากใจโดยลำดับ จนกระทั่งถึงปัญญาขั้นสุดยอด ได้แก่มหาสติมหาปัญญาแทงทะลุปรุโปร่งไปหมด กิเลสประเภทใด ๆ จะไม่นอกเหนือปัญญานี้ไปได้เลย จนกระทั่งจิตหลุดพ้น เพราะปัญญาเป็นผู้ปลดเปลื้องฟาดฟันสิ่งที่กดถ่วงหรือผูกพันจิตใจทั้งหลายออกได้โดยสิ้นเชิง
นั่นแหละที่นี่ปัญญาก็เห็นที่ใจรู้ที่ใจ เป็นสมบัติของใจแท้ ไม่ว่าปัญญาขั้นหยาบ ขั้นพื้น ๆ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด และละเอียดสุดได้แก่มหาสติมหาปัญญา นี่เป็นสมบัติของตน ทั้งฝ่ายมรรคคือปัญญาก็ปรากฎ ทั้งฝ่ายผลคือความหลุดพ้นไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงก็ปรากฏขึ้นประจักษ์ใจ นี้คือผลได้รับแล้วผู้นั้น นี่เมื่อเดินตามแนวทางแห่งปริยัติ ปฏิบัติแล้วจะต้องปรากฎปฏิเวธธรรมไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงปฏิเวธหรือปฏิเวธธรรม รู้แจ้งแทงตลอดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเหลือ
เรื่องธรรมกับโลกต่างกันดังที่กล่าวมานี้ คือทวนกระแสเข้ามาดูข้างนอก ทดสอบเข้ามาข้างในเทียบเคียงกันให้ได้ทุกสัดทุกส่วน เพื่อเปลื้องตนเองซึ่งติดอยู่ทั้งสิ่งภายนอกและภายใน การพิจารณาทบทวนย้อนหน้าย้อนหลัง ทั้งออกข้างนอกทั้งเข้าข้างในนี้ พิจารณาเพื่อจะหาทางหลบหลีกปลีกตัวเพื่อทางถอดถอนตัวเอง ที่เกี่ยวกับความผูกพันนั้น ๆ ด้วยอุบายสติปัญญาของตนเอง
การเรียนธรรมก็ดี การปฏิบัติธรรมก็ดี จึงเป็นการเรียนเรื่องของตัว ปฏิบัติต่อตัวเอง โดยเฉพาะ ๆ แล้วก็สามารถที่จะรู้สิ่งภายนอกได้โดยตลอดทั่วถึงว่ามีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ไม่สงสัยเช่นเดียวกัน นี่ที่ท่านให้นามว่าโลกวิทู รู้แจ้งโลกอันเป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ไม่เพียงแต่รู้แจ้งแทงทะลุในเรื่องอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วปล่อยวางเฉย ๆ เพียงเท่านั้น ยังทรงรู้แจ้งแทงทะลุไปจนกระทั่งอุปนิสัยของสัตวโลก ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าใครได้เคยเกิดมาเป็นอะไรต่ออะไรมาโดยลำดับลำดา แทงทะลุไปหมด นี่เป็นคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า
คุณสมบัติของสาวกได้แก่รู้แจ้งแทงทะลุ เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ว่าของเขากับของเราทั่วแดนโลกธาตุนี้มีสภาพเหมือนกันหมด เป็นอันไม่สงสัยหายสงสัยแล้วโดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่าโลกวิทู เป็นคุณสมบัติของสาวกซึ่งได้ด้วยกันทุกองค์อันนี้ เป็นเรื่องปัญญาแทงทะลุไปเทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วน ทั้งภายนอกภายใน เป็นลักษณะนี้ทั้งนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วจะไม่นอกเหนืออนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ไปได้เลย ผู้มีปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งชัดเจนทั้งภายนอกภายในแล้ว ย่อมปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิง การเรียนธรรมเรียนอย่างนี้
การปฏิบัติธรรมก็ให้พึงสังเกตเรื่องจิตใจของตัว อย่าไปสังเกตที่อื่นที่ใดมากยิ่งกว่าใจซึ่งเป็นตัวกระเพื่อมหรือตัวเคลื่อนไหวสู่อารมณ์ต่าง ๆ ที่จะนำข้าศึกเข้ามาสู่ตนอยู่เป็นลำดับลำดาให้มองจุดนี้เป็นสำคัญผู้ปฏิบัติ และอย่านำเรื่องความลำบากลำบนปีนั้นปีนี้จะได้รู้ได้เห็นอย่างนั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้ จะมากีดขวางจิตใจของเราให้เกิดความท้อถอยอ่อนแอท้อแท้เหลวไหลไปได้ เพราะเหล่านี้เป็นอุบายของกิเลส ไม่ใช่อุบายของธรรม
กิเลสย่อมเป็นข้าศึกต่อธรรมอยู่เสมอดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นี่ถึงใจพวกท่านทั้งหลายแล้วยัง กิเลสเคยเป็นข้าศึกต่อธรรมมาตั้งแต่กาลไหน ๆ เมื่อเป็นข้าศึกต่อธรรมแล้ว กิเลสอยู่ภายในใจ ธรรมที่จะเกิดขึ้นภายในใจนี้จึงถูกกีดกันหวงห้ามโดยประการต่าง ๆ ของอุบายแห่งกิเลสทั้งหลาย จะไม่ยอมให้ผ่านไปได้เลยถ้าไม่ฝืนกันจริง ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นคำว่ากาลเวลาก็คือกิเลสปักปันเขตแดนเอาไว้ ถ้าเลยนั้นแล้วก็จะท้อถอยอ่อนแอ นั่งภาวนาก็จะนั่งเอาเวลาเสีย ได้เท่านั้นนาทีได้เท่านี้ชั่วโมง เดินจงกรมก็เดินเอาเวล่ำเวลา ไม่ได้เดินเอาอรรถเอาธรรม อันนั้นเป็นแผนการของกิเลสทั้วมวล ให้พึงพากันทราบเอาไว้ มันมาอย่างสลับซับซ้อน มาอย่างแยบคาย
สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อธรรมนั้นมีอยู่กับใจแทรกอยู่กับใจนั้นแหละ แซงขึ้นมาที่ใจนั่นแหละ เราจึงประกอบความพากเพียรไม่ค่อยเห็นเหตุเห็นผล ไม่ได้ต้นได้ปลาย เพราะกิเลสนี้มันกีดมันขวางอยู่ตลอดเวลา ผลสุดท้ายก็กิเลสนั้นแลพาออกไปอีก ให้ทำลายธรรม นี่เดินจงกรมมานานแสนนานจิตใจไม่เห็นสงบ นั่งสมาธิมานานแสนนานก็ไม่เห็นสงบ การปฏิบัติมาก็นานแสนนาน หลายปีหลายเดือนไม่เห็นได้ผลอะไรเลย นี่ กิเลสมันพาทุ่มให้หนักนะนี่ มันจะเอาให้ล้มระนาวละนะ ความพากเพียรจะล้ม นี่เป็นแผนการของกิเลสทั้งนั้น เราทราบไหมว่านี่คือแผนการของกิเลส ไม่ใช่แผนการของธรรม
ถ้าเป็นแผนของธรรมแล้ว ธรรมวันนี้ไม่ปรากฎผลเอาให้หนักยิ่งกว่านี้จะเป็นอย่างไรไป สติตั้งได้ พระพุทธเจ้าสอนให้ตั้งสติ บำรุงสติ เป็นสิ่งที่บำรุงได้เป็นสิ่งที่อบรมได้ ปัญญาเป็นสิ่งที่อบรมได้ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดให้มีได้ ทำไมจะทำให้เกิดไม่ได้ เอาให้หนักลงไป ๆ นี้คือแผนของธรรม เพื่อจะปราบกิเลสต้องเดินแผนนี้
เราอย่าเอาเครื่องมือ อย่านำกิเลสมาเป็นนายเราในขณะที่เดินจงกรมก็ดี นั่งสมาธิก็ดี ภาวนาทุกแง่ทุกมุมทุกอิริยาบถก็ดี ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ได้เท่านั้นนาทีได้เท่านี้นาที แล้วจิตเหม่อมองคิดไปไหน ฟุ้งซ่านรำคาญ หาจุดหมายปลายทางไม่ได้ หาธรรมแม้นิดหนึ่งแทรกสิงอยู่ภายในกระแสของจิตขณะที่นั่งภาวนาไม่มีเลย มีแต่เรื่องของกิเลสทำงานป้วนเปี้ยน ๆ ออกหน้าออกตาอยู่ภายในจิตใจ แล้วจะเอามรรคผลนิพพานมาจากไหน
ก็เมื่อเราทำงานกับกิเลส เวลาทวงหาผลก็ได้แต่ผลกิเลส แต่เราไม่รู้ว่านั่นคือผลของกิเลส แล้วก็ไปตำหนิธรรมว่า ผลแห่งธรรมไม่ปรากฎ แหลมคมไหมกิเลสดูเอา เอาปฏิบัติไป ถ้าไม่ลงจุดเดียวกันนี้จะลงไหน เพราะความจริงเป็นอยู่นี้ ขอให้สติปัญญาเหนือกิเลสเถิด เราจะรู้กลมายาของกิเลสออกในแง่ใดมุมใดวิธีการใด แทรกแซงตรงไหนบ้าง จุดไหนบ้าง ขณะจิตใดบ้าง จะทราบได้ทันที ๆ เมื่อสติปัญญาเหนือมันแล้ว ถ้าไม่เหนือจะต้องถูกมันกล่อมตลอด ไม่ว่าจะเดินจงกรม ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ อิริยาบถใดที่เราเข้าใจว่าประกอบความเพียร อิริยาบถนั้น ๆ แลเป็นอิริยาบถที่กิเลสทำงานไปในตัวของมันอย่างแยบยล เราจึงไม่มีทางทราบได้ และไม่ปรากฎผลที่ตนมุ่งหมายตามความเข้าใจของตนว่า ทำความเพียรเลย
เพราะกิเลสมันแทรกอยู่ในนั้น กีดกันอยู่ในนั้น ฉุดลากออกจากแนวทางแห่งธรรมที่จะเป็นไปเพื่อความสงบ และในขณะเดียวกันที่จะเป็นไปเพื่อการปราบกิเลสมันจึงไม่ยอมให้ปราบง่าย ๆ ถ้ามีทางที่จะต่อสู้ขัดขวางได้ในแง่ใดแล้ว มันจะต้องทำอยู่เสมอ กิเลสไม่มีคำว่าเกียจคร้าน มีแต่ความขยันหมั่นเพียรเป็นอัตโนมัติของตนโดยลำดับลำดาตั้งแต่ไหนแต่ไรมา และยังจะเป็นต่อไปอีก หากำหนดเวล่ำเวลาสุดสิ้นลงไม่ได้
เราอย่าเข้าใจว่ากิเลสมีความเกียจคร้านท้อแท้อ่อนแอเหลวไหล เวลาเราจะประกอบความพากเพียรนี้มีแต่ความท้อแท้เหลวไหล เพราะกำลังของกิเลสนั้นเอง เวลาไหนเวลากิเลสหลับมีไหม มันพักตัวมีไหม ไม่มี มีแต่เวลาทำงานของมัน นอกจากเวลาหลับสนิทเสียเท่านั้นเป็นเวลาพักงานของกิเลส เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะเห็นกิเลสตัวใดว่าขี้เกียจขี้คร้าน พอที่จะจับมาตีเอาง่าย ๆ ฆ่าเอาง่าย ๆ อย่างสบาย ๆ เหมือนฆ่าปูฆ่าปลานั้นไม่มีทาง ถ้าไม่เอากันอย่างเข้มแข็ง
ใช้สติปัญญาตามหลักธรรม ความเพียรตามหลักธรรม เดินจงกรมก็ตามหลักธรรม นั่งสมาธิก็ตามหลักธรรมอิริยาบถต่าง ๆ ที่ว่าประกอบความเพียรให้เป็นไปตามหลักธรรม นั้นแลจะปราบกิเลสได้นอกนั้นเป็นไปไม่ได้ ขออย่านำเวล่ำเวลาความทุกข์ความยากความลำบากเข้ามาเกี่ยวข้องในวงความเพียรอันเป็นความผิดทั้งเพ และเป็นแผนของกิเลสทั้งมวลให้ทราบไว้เสมอ ตอนที่กิเลสตัวใหญ่ ๆ ตัวเป้ง ๆ มันเต็มอยู่หัวใจนั่นซิ การรบกับกิเลสตัวใหญ่ ๆ ก็เหมือนกับการรบกับข้าศึกใหญ่ ๆ กองทัพใหญ่ ๆ นั้นแล เครื่องมือดี ๆ นั้นแล เราจะทำวิธีไหนถึงจะสู้กองทัพใหญ่ ๆ ของกิเลสเครื่องมือดี ๆ ของกิเลส ความเฉลียวฉลาดในยุทธวิธีของกิเลสไปได้ ถ้าไม่ใช้อุบายวิธีเหนือกิเลสประเภทนั้น ๆ แล้ว มันจะไม่ดับ มันจะไม่ล้มละลาย เราจะไม่ชนะ ต้องหาอุบายใช้อย่างนั้นเสมอ
ผลของมันเราเห็นชัดเจนแล้ว มีแต่ความทุกข์ ไม่ว่าทุกข์กายทุกข์ใจ สำคัญคือความทุกข์ใจเป็นไปโดยลำดับลำดา เพราะกิเลสมันทำงาน ได้แก่ สมุทัยผลิตทุกข์ออกมาเรื่อย ๆ อยู่เฉย ๆ ก็ไม่อยู่ คิดนั้นปรุงนี้ล้วนแล้วแต่ความปรุงความคิด เพื่อผูกพันหรือทิ่มแทงหัวใจตัวเอง นี่ละที่ภาวนาไม่เห็นผล เพราะแผนของกิเลสมันเหนือเราอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่บำเพ็ญภาวนาอยู่นั้นแล มันยั่งเหนือเราอยู่ จึงต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณาศรัทธาความเพียร เอาให้หนักแน่นแก่นนักรบ จึงจะสู้มันได้
จิตนี้จะผาดโผนขนาดไหนก็เถอะ ถ้าลงได้ตั้งหน้าตั้งตาสละเป็นสละตายกันลงทางความเพียร เพื่อจะเห็นเป็นสักขีพยานระหว่างความฟุ้งซ่านของจิตผาดโผนของจิต กับความสงบราบคาบลงด้วยการฝึกทรมานของเรานี้ จะได้เห็นในขณะนั้นแหละ นอกเหนือความเพียรนอกเหนือสติปัญญาไปไม่ได้ นี่แหละแผนการต่อสู้กิเลส อย่าเอาความท้อถอยเข้ามาสู้กับกิเลส นั่นคือบริษัทบริวารของมัน นั่นคือแผนของมันเอง จะเอาไปสู้กับมันได้อย่างไร ต้องเป็นสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อมันเป็นปรปักษ์ต่อมันถึงจะสู้กับมันได้ นอกนั้นเป็นแผนของมันอยู่แล้ว ไม่ควรจะนำไปสู้
ท่านผู้เลิศเราก็ได้กราบไหว้ทุกวันเวลา พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์เลิศเสมอกันหมด พระธรรมถ้าเป็นกิริยาก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าเลิศเหมือนกันหมด เพราะเป็นสวาขาตธรรมด้วยกัน คือตรัสไว้ชอบแล้วเหมือนกันหมด เป็นนิยยานิกธรรม ที่จะนำสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปได้ เพราะอำนาจแห่งสวากขาตธรรม ที่ตรัสไว้ชัดแล้วนั้นเหมือนกันหมด นี่เป็นกิริยา เป็นอาการของธรรม ธรรมแท้ที่จะสัมผัสสัมพันธ์ภายในจิตใจของผู้ปฏิบัตินั้น คือธรรมแท้ ธรรมนั้นแลที่ว่าประเสริฐ ประเสริฐแท้ ๆ เป็นแก่นเอาจริง ๆ ก็คือธรรมในหลักธรรมชาติที่เป็นอยู่นั้นแลมีอยู่นั้นแล แต่ต้องอาศัยอาการแห่งธรรมนี้
เช่น ท่านแนะนำสั่งสอนทางเหตุทางผลนี้เป็นอาการของธรรม ต้องอาศัยนี้เป็นร่องรอย อาการเหล่านี้เป็นเหมือนกับร่องรอยของธรรมแท้ ร่องรอยของพุทธะแท้ เช่นเดียวกับเราตามรอยโค เรานำโคไปปล่อยไว้ที่ไหน เมื่อไม่แน่ใจแล้ว ให้ไปดูจุดที่เราปล่อยนั้น ตามรอยโคตัวนั้นไป แล้วจะถึงตัวโคเอง เมื่อถึงตัวโคแล้วรอยของโคก็หมดปัญหา เพราะรอยของโคก็จะติดอยู่ที่ตัวโคที่เราถึงตัวมันแล้ว
กิริยาอาการแห่งธรรมที่ท่านแสดงทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลเป็นร่องรอยทั้งนั้น เป็นร่องรอยของธรรมแท้ ปฏิบัติตามอาการของท่านแสดงไว้ด้วยสวากขาตธรรมนี้ ชื่อว่าเราเดินตามรอยโค นี่เดินตามร่องรอยแห่งกระแสของธรรมแล้วก็เข้าถึงธรรมเป็นลำดับลำดา ตั้งแต่สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เหล่านี้จะเป็นอาการก็ตาม แต่เริ่มเข้าถึงตัวโดยลำดับแล้ว จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นที่ใจ ใจเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมล้วน ๆ ซึ่งธรรมแท้ ใจกับธรรมเป็นอันเดียวกัน พูดว่าธรรมก็ได้พูดว่าใจก็ไม่ผิด ในขณะที่ยังทรงธาตุทรงขันธ์นี้อยู่ แต่เมื่อได้ผ่านอันนี้แล้วคำว่าจิตหมดปัญหาไปหมด เป็นธรรมทั้งดวงไปเลย
ธรรมแท้นี้แหละประเสริฐ เรากราบทุกวัน กราบธรรมในหลักธรรมชาติอันนี้ กราบทุกวัน พระสงฆ์สาวกก็เช่นเดียวกัน องค์ประเสริฐ ๆ ทั้งนั้น ที่ว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ไม่มีแม้องค์หนึ่งที่ไม่ประเสริฐ เรากราบทุกวัน ท่านประเสริฐเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าประเสริฐเพราะเหตุใด พระธรรมปรากฎขึ้นในพระทัยของพระพุทธเจ้า จนถึงกับได้นำอาการเหล่านั้นมาสอนโลก เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีใด ธรรมเหล่านี้พึ่งมีเฉพาะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เท่านั้นเหรอ ธรรมอันประเสริฐนี้มีมาดั้งเดิม แต่เวลานั้นไม่สามารถจะรู้จะเห็นได้ เพราะความสามารถท่านยังไม่มี เมื่อมีก็เปิดเผยขึ้นมา ใจเท่านั้นเป็นผู้จะรับธรรม สัมผัสสัมพันธ์ธรรมขั้นต่าง ๆ จนถึงขั้นสูงสุดวิมุตติ เต็มที่ของธรรมเต็มอัตราของธรรมที่ว่าประเสริฐแท้ มีใจเท่านั้นเป็นผู้จะสัมผัสรับทราบ เป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อธรรมทั้งหลาย คือใจดวงเดียวนี้เท่านั้น นอกนั้นไม่มี น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ดินเป็นดิน ไฟเป็นไฟ สถานที่ต่าง ๆ อากาศกลางหาวเป็นเรื่องนั้น ๆ ไป ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ผู้จะรับสัมผัสรับทราบธรรม ไม่ใช่สถานที่ที่สถิตอยู่แห่งธรรม มีใจเท่านั้นเป็นสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการสถิตแห่งธรรม และที่เกิดของธรรม และสถานที่บำรุงธรรมก็บำรุงอยู่ที่นี่ รู้กันที่นี่เห็นกันที่นี่
คำว่าประเสริฐ ๆ ในแก้วสามดวงนั้นไม่ถึงใจของพวกเราบ้างเหรอ เป็นอย่างไรถึงไม่ถึงใจ เพราะกิเลสมันกีดกันปิดบังไว้ไม่ให้ถึงใจ ให้ถึงแต่กิเลสทั้งนั้น ความโลภมันถึงใจทุกวัน เชื่อมันทุกวัน ความโกรธเป็นทุกวัน เอาไฟเผาเราทุกวันไม่ยอมเข็ดหลาบ ความหลงงุ่ม ๆ ง่าม ๆ ไม่มีเหตุมีผลเพราะกิเลสตัวแหลมคมนั้นครอบไว้ให้โง่ด้วยความฉลาดของมัน เราติดมันทุกวันไม่เคยจืดจาง เวลานี้รสชาติของกิเลสกำลังมีอำนาจมาก รสชาติของธรรมจึงเกิดไม่ได้ ปรากฎขึ้นไม่ได้ เราจึงไม่เห็นอะไรประเสริฐ พระพุทธเจ้าประเสริฐก็สักแต่ความรู้แย็บเดียวเท่านั้นไม่ถึงใจ พระธรรมว่าประเสริฐก็เพียงแย็บขณะเดียวเท่านั้น พระสงฆ์ว่าประเสริฐก็แย็บในขณะเดียวเท่านั้นแต่ไม่ถึงใจ
การที่จะให้ธรรมเหล่านี้ถึงใจก็ต้องปฏิบัติให้เห็นจริงตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้เชื่อท่านตามนั้น ปฏิบัติตามนั้น อย่าไปเชื่อกิเลสซิ ถ้าเราอยากเห็นธรรม ถ้าเชื่อกิเลสก็จะเห็นแต่กิเลส เจอแต่กิเลส เจอแต่ผลของกิเลสผลิตขึ้นมา วันยังค่ำ มีแต่ความทุกข์ ความทรมาน ความเดือดร้อนวุ่นวาย ความระส่ำระสายฟุ้มเฟ้อเห่อเหิมฟุ้งซ่านรำคาญตลอดเวลา นี้เป็นเรื่องของกิเลสทำงาน และผลของกิเลสผลิตออกมาเป็นความทุกข์ ถ้าเชื่อกิเลสก็เห็นแต่สิ่งเหล่านี้ ถ้าเชื่อธรรมแล้วก็ต่อสู้กับกิเลส ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ เป็นก็เป็นตายก็ตาย ขอให้รู้เห็นตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นที่พอใจ ปฏิบัติลงตรงนี้ ความประเสริฐนั้นก็จะถึงใจ
จะเริ่มถึงใจไปตั้งแต่ขั้นสมาธิ คือความสงบเย็นใจ เพราะเป็นความสงบเย็นผิดกับสิ่งทั้งหลายสงบ ลมสงบ ลมไม่พัดไม่ผันก็ว่าสงบแต่หาความสุขให้คนได้ยาก ไม่เห็นเอาอะไรมาให้ความสุขคน อะไร ๆ สงบก็ไม่ทำความสุขให้แก่คน ใจสงบนี้ทำความสุขให้แก่ตนโดยแท้ นี่เรียกว่าเห็นผล จะเริ่มถึงใจไปตั้งแต่ขั้นแห่งความสงบของจิต เพราะเป็นผลประจักษ์ใจแล้ว ธรรมขั้นนี้ได้สัมผัสสัมพันธ์ถึงใจแล้ว ใจได้เป็นภาชนะของธรรมขั้นนี้แล้ว จากนั้นก็เป็นขั้นของปัญญาไปตามลำดับลำดา สุดท้ายก็เข้าถึงองค์แห่งพุทธะแท้ เข้าถึงองค์แห่งธรรมแท้ เหมือนกับตามรอยโคไม่ปล่อยจนถึงตัวโค
นี่การปฏิบัติตามหลักแห่งสวากขาตธรรมไม่ยอมลดละ ตามหลักแห่งสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้ว เดินตามนั้น เมื่อเดินตามนั้นแล้ว คำว่านิยยานิกธรรม ก็ขนทุกข์ทิ้งออกไป ๆเพราะขนสมุทัยทิ้งออก ทิ้งออกได้มากน้อยก็เท่ากับขนทุกข์ทิ้งออกได้มากน้อยเช่นเดียวกัน เมื่อขนสมุทัยปราบสมุทัยให้เรียบราบไปหมดภายในจิตใจแล้ว ทุกข์จะปรากฎขึ้นที่ใจได้อย่างไร ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ ก็มีแต่บรมสุขเท่านั้นเต็มหัวใจ
นั้นแหละธรรมแท้เต็มหัวใจหายสงสัย คำว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้นไม่ได้ถามที่ไหนแล้ว เอาใจดวงนี้เป็นสักขีพยานเลย ใจดวงนี้เป็นฉันใด พระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น พระธรรมฉันนั้น พระสงฆ์ฉันนั้น พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนานสักเท่าไรไม่มีปัญหา นั้นเป็นกาลเป็นสถานที่ ไม่ใช่นิพพาน ไม่ใช่ธรรมแท้ กาลเป็นธรรมแท้ได้อย่างไร สถานที่เป็นธรรมแท้ได้อย่างไร พ.ศ.นั้น พ.ศ.นี้ วันนั้น ปีนี้ เป็นมรรคผลนิพพานหรือเป็นธรรมชาติของธรรมแท้ได้อย่างไร ธรรมแท้ต้องเป็นธรรมไม่ขึ้นอยู่กับกาล ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่ เวล่ำเวลาทั้งนั้น อยู่ที่ใจ เมื่อใจเข้าถึงธรรม ธรรมกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว หายสงสัยพระพุทธเจ้า ในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในพระธรรมทั้งหลาย ในพระสงฆ์ทั้งหลาย รวมอยู่ในใจดวงเดียวนี้
เพราะฉะนั้นจึงว่าใจเป็นธรรมชาติที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการรับรองมรรคผลนิพพาน เป็นภาชนะที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ไม่มีภาชนะใด สิ่งใดจะเสมอเหมือน เกี่ยวกับความเป็นภาชนะแห่งธรรมทั้งหลาย เวลานี้มันเต็มไปด้วยมูตรด้วยคูถในหัวใจ เป็นภาชนะของกิเลส นอกจากเป็นภาชนะของมันแล้ว ยังถูกมันเหยียบย่ำทำลาย แหลกเหลวเลวร้ายไปวันหนึ่ง ๆ มีแต่สิ่งเหล่านี้ขยี้ขยำจิตใจเราให้หาความสุขไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ แล้วจะเห็นมรรคผลนิพพานเป็นของอัศจรรย์ได้อย่างไร ถ้าอยากจะเห็นมรรคผลนิพพานเป็นของอัศจรรย์ ก็ย่ำยีตีแหลกกิเลสซึ่งอยู่ภายในใจลงไป เช่นเดียวกับมันย่ำยีตีแหลกเรานั่นซิ ศอกกลับบ้างซิ ย้อนกลับต่อสู้กัน ให้เห็นผลประจักษ์ภายในจิตใจ
ธรรมเป็นธรรมสด ๆ ร้อน ๆ แท้ ๆ ธรรมที่ควรแก่การปราบกิเลสทุกประเภทแห่งธรรมอยู่แท้ ๆ ล้าสมัยไปไหน ไปอยู่กับกาลใดสมัยใดเมื่อไร ไม่อยู่กับกาลไม่อยู่กับสมัย เช่นเดียวกับกิเลสไม่อยู่กับกาลกับสมัย แต่อยู่ที่หัวใจคน ธรรมะเมื่อเราผลิตขึ้นมาภายในใจก็อยู่ที่หัวใจเรา แล้วปราบกิเลสไปในตัวนั้นเสร็จ จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
จอมปราชญ์ ก็คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็น ธรรมเป็นของจริงเต็มส่วน พรพระพุทธเจ้าเป็นของจริงเต็มส่วน พระสงฆ์เป็นของจริงเต็มส่วน เป็นธรรมชาติที่ประเสริฐเต็มสัดเต็มส่วน ไม่มีคำว่าปลอมว่าแปลง เราปฏิบัติใจของเราซึ่งเต็มไปด้วยความจอมปลอม เพราะอำนาจแห่งกิเลสตัวจอมปลอมนี้ให้มันสิ้นไปโดยลำดับ ๆ แล้วจะเห็นความจริงขึ้นที่ใจของเรา การรื้อภพรื้อชาติรื้อที่นี่ การล้างป่าช้าล้างที่นี่ เพราะตัวนี้เป็นตัวพาให้เกิดให้ตายไม่ใช่ตัวไหน กิเลสตัวนี้แหละเมื่อล้างอันนี้ออกหมด จิตใจสะอาดเต็มที่แล้ว ก็เป็นอันว่าล้างป่าช้าได้อย่างสะอาดเต็มที่ หมดเชื้อ ไม่ต้องไปหาเกิดอันเป็นการหาความทุกข์ความลำบากในขณะเดียวกันอีกต่อไป
พูดเพียงเท่านี้รู้สึกเหนื่อย ๆ
พูดท้ายเทศน์
ดีไปหมดถ้าธรรมเข้าเป็นเข็มทิศทางเดิน ให้ดีมันเป็นชื่อว่านายดีเต็มอยู่ในเรือนจำก็เยอะ มีแต่ชื่อ ดีด้วยความเสกสรรเฉย ๆ ไม่ดีด้วยคุณภาพ มันก็ใช้ไม่ได้ แต่ธรรมนี้ดีด้วยคุณภาพจริง ๆ ธรรมเท่านั้นที่จะทำคนให้ดี คนที่เกี่ยวข้องกับธรรมเป็นคนดีได้อย่างแท้จริง
ดีเฉย ๆ ด้วยความเสกสรรปั้นยอกันนั้นมันดีแบบโลกดังที่ว่ามานี้ แล้วก็หาความชุ่มเย็นไม่ได้นะ มันผิดกันอยู่ ดีด้วยความเสกสรรปั้นยอ มันดีด้วยลมปากเฉย ๆ ภูมิไปด้วยลมเฉย ๆ ไม่ได้ภูมิด้วยคุณสมบัติปรากฎขึ้นกับตัว ต้องการเป็นคนดีสิ่งที่ควรหักห้ามต้องหักห้ามทันที ให้ห้ามเจ้าของ ถ้าไม่ห้ามก็เสียไปจนได้ ความชอบใจมันไม่ใช่ความชอบใจที่พาให้เป็นคนดี เป็นคนเสียอย่างนี้ จะพาให้เสียโดยลำดับ ก็ห้ามมันเสีย แน่ะ เมื่อเราห้ามได้แล้ว อะไรจะมาเสีย เราห้ามเรา ๆ
จิตใจของเราถ้าลงได้ฝึกจนเป็นนิสัยภายในใจด้วยธรรมแล้วก็เป็นอย่างนั้น ปั๊บอย่างนี้เหตุผลมาพร้อม ๆ ควรไม่ควร ความอยากมันแซงไม่ได้ ถ้าเหตุผลได้แนบกับจิตแล้ว มีแต่เหตุผลควรไม่ควรควรทำหรือไม่ควรทำ ควรไปไม่ควรไป ควรพูดไม่ควรพูด แน่ะ ควรกินควรดื่ม ควรอะไร ๆ หรือไม่ควร มันบอกในตัวเสร็จ ๆ เอาเหตุผลนั้นรักษาตัวก็ดี ถ้าเอาความอยากแล้วแหลก ถ้าเอาความอยากเข้าเป็นเจ้าของแล้ว มันก็เป็นเปรตไปในตัวของคนนั่นแหละ เปรตอย่างไรล่ะ ปากเท่ารูเข็มนี่ ท้องมันเท่าภูเขานี่ ขนเข้าไปเท่าไรก็ไม่อิ่ม
ปากเท่ารูเข็มกับท้องเท่าภูเขา จะสมดุลกันได้ยังไง กินเท่าไรก็ไม่อิ่ม นั่นแหละคือความอยาก ท้องมันเท่าภูเขานี่ เพียงเราจะขวนขวายมาให้มันนี่ มันมีปากเท่ารูเข็ม ที่จะให้มันตามความต้องการของมันไม่ทันมัน มันไม่มีวันอิ่ม ให้เท่านี้มันอยากเท่านั้น ให้เท่านี้มันต้องการเท่านั้น เราให้มันมากเท่าไรมันยิ่งต้องการมาก ที่มันจะสงบตัวลงด้วยความต้องการตามที่ให้แล้วนี้ไม่มี มันต้องขยายตัวออกเรื่อย ท้องมันยิ่งโตขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเขาเรียกว่าเปรต มนุสฺสเปโต ปากเท่ารูเข็มเพราะความโลภมันมาก เอามันชัด ๆ อย่างนี้ เมื่อความโลภมันมากความโกรธก็จะไม่มียังไง ใครมาขัดแย้งผลประโยชน์ได้หรือ ความโกรธมันขึ้นทันที ลืมตัว ท่านว่า มนุสฺสเปโต ถ้าท่านจะเรียกพวกเปรตปากเท่ารูเข็มมันจะเกินไป ท่านก็เลยว่า มนุสฺสเปโต ให้ไปแปลเอา ก็แปลแยกออกไปอย่างว่านี่
ใจเป็นเปรตเป็นผี หาเก็บหาเล็มหาแทะนั้นแทะนี้ไป ไม่มีความอิ่มพอสักที อย่างเขามีลูกมีเมียมีผัวแล้วกี่ร้อยกี่คน มันยังไม่เห็นพอนี่ โรงบาร์โรงบ้าที่ไหนไปดูซิเต็มไปหมด นั่นมันพอที่ไหน คนมีลูกมีเมียมีครอบครัวแล้วทั้งนั้น ผู้หญิงก็เหมือนกัน มันไม่พอด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่เอาศีลธรรมเข้าไปกดไว้ให้เป็นประมาณ พอให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้มีขอบเขต
คนเราถ้ามีขอบเขตก็หาความสุขได้ ถ้าไม่มีขอบเขตหาความสุขไม่เจอ จะมีเมียกี่คนก็เถอะ มีผัวกี่คนก็เถอะ คนนั้นจะเป็นผู้ที่ก่อความทุกข์มากที่สุดภายในตัวเอง อย่าเข้าใจว่าคนนั้นจะมีความสุข เพราะมีเมียมากมีผัวมาก พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนว่า อัปปิจฉตา มักน้อย นี่ความสุขจะเกิดขึ้นตรงนี้ ท่านก็สอนตามจุด อย่างที่ท่านสอนว่า อัปปิจฉตา ให้มักน้อย มักน้อยในอะไร ให้มักน้อยในอารมณ์ ผัวเดียวเมียเดียวพอแล้ว ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับอะไร นั้นไม่ใช่เรื่องของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นจิตก็ไม่ปีนลูกกรง ท่านว่าอัปปิจฉตา ความมักน้อย มักน้อยในอารมณ์ สันตุฏฐี ก็คือความยินดีในสิ่งที่มีอยู่ของตน อย่าไปรุกล้ำสิ่งที่ไม่ใช่ของตน แน่ะ มันขัดธรรมขัดโลกไปที่ไหน
โลกจะได้รับความสุขเพราะนี้ต่างหาก ถ้าเลยนี้แล้วหาความสุขไม่ได้ แล้วก่อเรื่องก่อราวก่อกรรมก่อเวรขึ้นโรงขึ้นศาล ฆ่ากันพินาศ เพราะความไม่ยินดีในของมีอยู่ของตน ถ้าเลยขอบเขตก็คือเลยความพอดี ต้องก่อทุกข์ให้ทั้งเขาทั้งเรานี่แหละ ธรรมไปที่ไหนเหมาะที่นั่น มีขอบเขตที่นั่นพอดีทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าลงธรรมเข้าไปที่ไหน เข้าไปเกี่ยวข้องที่ไหน ความพอดีเกิดขึ้น ความสงบสุขเกิดขึ้น ถ้าไม่มีธรรมแล้วหาความสงบสุขไม่ได้เลย
อย่างที่เขาสร้างระเบิดนิวเคลียร์นิวตรอนเหล่านี้ก็ลองดูซิ ว่าเขาจะมีความสุขหรือนั่น นั้นละตัวไฟ แต่มันไม่รู้จะทำไง ได้สังหารเขาว่าตัวมีอำนาจมีความเฉลียวฉลาด มีอิทธิพลเป็นใหญ่เป็นโต ครอบโลกครอบสงสาร แต่ความตายมันเท่ากัน ความวุ่นอยู่ภายในจิต เพราะขวนขวายสิ่งเหล่านี้ เพื่อทำลายคนอื่น ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง หรือเพื่ออำนาจวาสนาทรงอำนาจวาสนาของตัวไว้ มันก็เป็นกองทุกข์อันเดียวกันหมด คนอื่นเขาก็มีหัวใจนี่นะ
เรายกตัวอย่างนี้มาให้ฟังนะ ไม่ใช่นิทานนะสมัยปัจจุบันนี้ ท่านสิงห์ทองไปเห็นด้วยตาของท่าน วัดอุดมสมพรนี่น่ะ ท่านไปพักอยู่ที่นั่น แล้วก็มีแมวใหญ่ตัวหนึ่งที่เลี้ยงไว้ในวัดอุดมสมพรนั่น มันก็ไปนั่งอยู่หน้าศาลา นั่งสบาย แมวมันเป็นนิสัยเชื่องนี่ ทีนี้พวกเขาขายน้ำย้อมน้ำสี ขายอะไร ๆ เขาก็มา เอาลิงตัวหนึ่งมานั่งบนบ่าเขาละมา พอมาก็ปล่อยลิง เขาไม่ล่ามมันแหละ ก็ลิงของคนปล่อยไปไหนมันก็ไม่ไป เจ้าของไปไหนมันก็วิ่งตามเจ้าของ พอปล่อยมันก็มองเห็นแมวละซิ มันอยู่ไม่เป็นสุข พอมองเห็นแมวก็ไปเล่นกับแมว แมวก็นั่งเฉย ลูบนั้นคลำนี้เข้าไปลูบหางบ้างลูบอะไรบ้างแมวก็เฉย ลูบไปลูบมาก็ลูบไปถูกหน้ามัน มันก็แม้วทีเดียว ก็ตบเสียเปรี้ยงเข้าตรงหน้า นี่ก็ก็อก ๆ ๆ วิ่งขึ้นต้นไม้ ขึ้นไปแล้วยังก็อก ๆ ๆ อยู่ คือแมวมันตบแล้วก็วิ่งขึ้นศาลาเสีย นั่นก็ก็อก ๆ ๆ ๆ วิ่งขึ้นวิ่งลงอยู่นั่นแหละ มันเจ็บมาก มันผูกอาฆาตแล้วนะ มันเจ็บแล้วมันผูกอาฆาต
แมวตัวนี้ ตบเขาแล้วก็แล้วไป ก็ลงไปทางโน้นอีก ๆ นาน ๆ ก็ลงไปทางโน้นอีก ลิงตัวนี้ก็เห็นละซิที่นี่ พอมองเห็นแล้วมันก็ด้อมไปคราวหลังนี่นะ นั่นเห็นไหม ด้อมก็แอบไปข้างหลังเลย แอบไปทางหลังแมวตัวนั้นมันหันหน้าไปทางโน้น ทางนี้ก็ด้อมไป ๆ ไปจับหางกระตุก แมวก็แม้ว ไอ้นี่ก็วิ่งขึ้นต้นไม้ไม่ร้องสักกุ๊กสักแก๊กเลยนะ กูได้ทีแล้วคงว่างั้น กูแก้แค้นมึงแล้ว คงว่างั้นนะ กระตุกหางแมว แมวก็แม้ว ไอ้นี้ก็วิ่งขึ้นศาลา ไอ้นั้นก็โดดขึ้นต้นไม้ นั่น นี่เห็นไหมมันแก้กัน มันแก้แค้นกัน
มนุษย์หัวใจมีนี่ ยิ่งมนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ ก่อกรรมก่อเวรกันอยู่อย่างนั้น มีหัวใจด้วยกัน ท่านถึงว่า น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ เวรย่อมไม่ระงับเพราะเวรตั้งแต่กาลไหน ๆ มา แต่เวรจะระงับเพราะความไม่มีเวรเท่านั้น สถานที่สกปรกโสโครกจะเอาน้ำสกปรกไปล้างให้สะอาดนั้นเป็นไปไม่ได้ การล้างสถานที่สกปรกต้องล้างด้วยน้ำที่สะอาด การชนะจิตใจของคนต้องชนะด้วยความดี เขาโกรธมา เราโกรธรับไม่ได้ เหมือนกับเอาน้ำที่สกปรกไปเทลงในสถานที่สกปรกนั่นเอง มันก็เพิ่มความสกปรกยิ่งขึ้น ต้องชะล้างสถานที่สกปรกด้วยน้ำสะอาด ต้องชะล้างความไม่ดีของเขาด้วยความดีของเราเท่านั้น นี่ธรรม พุทธพจน์ด้วยนะ พระองค์ตรัสเอง จะหาค้านที่ไหนได้
โลกถ้าห่างเหินธรรมก็ก่อความเดือดร้อนยุ่งไปหมดนั่นแหละ จะว่าใครฉลาดเป็นอย่างนั้น ก่อทุกข์ให้กันมันฉลาดเมื่อไร มนุษย์ถ้าลงก่อทุกข์ให้กันไม่จัดว่าฉลาด มันโง่ชะมัด ทั้งที่เจ้าของภูมิใจเจ้าของว่าฉลาด คนอื่นเขาแช่งจะตายแล้ว