นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา
วันที่ 27 สิงหาคม 2524 เวลา 19:00 น. ความยาว 63.17 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔

นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา

 

        คำว่า ศาสนธรรม ที่แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือของท่านผู้รู้ นี้เป็นร่องรอย นี้เป็นอาการแห่งธรรม ทั้งฝ่ายเหตุคือการดำเนิน ทั้งฝ่ายผลเป็นอาการทั้งนั้น คือเป็นร่องรอยที่จะเข้าสู่ธรรมอันแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในใจ สัมผัสรับรู้กันทุกขั้นแห่งธรรมภายในใจ ใจเป็นที่สถิตแห่งธรรมทุกขั้นทุกภูมิ ตั้งแต่ธรรมขั้นต่ำจนกระทั่งสูงสุดวิมุตติพระนิพพาน มีใจเท่านั้นเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่ง มีอันเดียวคือใจ นอกนั้นเป็นเพียงเครื่องมือ

        เพราะฉะนั้นคำว่าศาสนธรรมนี่คือวิธีการของท่านผู้รู้ ท่านผู้ฉลาดได้ทรงดำเนินมาแล้ว เช่น พระพุทธเจ้าของเราผู้เป็นเจ้าของแห่งศาสนธรรม ที่เราทั้งหลายได้กราบไหว้บูชาอยู่เวลานี้ ท่านปฏิบัติตามอาการแห่งธรรม ที่แสดงให้โลกทั้งหลายฟังนี้แล ทั้งฝ่ายละและฝ่ายบำเพ็ญทรงดำเนินมาอย่างนี้ การพูดถึงเหตุแห่งการละความชั่วและเหตุแห่งการบำเพ็ญความดี เหล่านี้เป็นอาการเป็นกระแสของธรรม

สำหรับธรรมแท้ที่อยู่ในพระทัยของพระพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะหยิบออกมาพูดได้เหมือนอาการแห่งธรรมเหล่านี้เลย เพราะฉะนั้นจึงประกาศสอนโลกด้วยวิธีการต่าง ที่เรียกว่ากระแสหรืออาการแห่งธรรม เพื่อโลกทั้งหลายจะได้ดำเนินตามวิธีการที่ถูกต้องดีงามนี้ แล้วจะเข้าถึงองค์ธรรมแท้เป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงธรรมแท้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ นี่คือความจริงของธรรมแท้เป็นอย่างนี้ ท่านจึงเรียกว่าศาสนธรรม

        เช่นท่านจดจารึกไว้ตามคัมภีร์ใบลาน นั่นแหละคือแนวทางที่จะก้าวเข้าสู่ธรรมแท้ บอกวิธีละบอกวิธีบำเพ็ญ บอกทั้งสิ่งที่เป็นโทษ บอกทั้งสิ่งที่เป็นคุณ ไว้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และก็ให้ดำเนินตามวิธีการที่ทรงแสดงไว้นั้น หรือตามตำรับตำราที่ท่านจดจารึกไว้นั้น เหมือนกันกับเราตามรอยเท้าแห่งโค โคเราไปปล่อยไว้ที่ไหนเมื่อจะไปตามเอาโคตัวนั้น เราไม่แน่ใจว่ามันไปอยู่ในสถานที่แห่งใด เพื่อความแน่ใจจึงต้องไปตามรอยที่เราไปปล่อยไว้นั้น โดยลำดับลำดาจนกระทั่งถึงตัวโค เมื่อถึงตัวโคแล้วรอยที่เราตามเหล่านั้นก็หมดปัญหาไป เพราะโคกับเท้าแห่งโคที่เหยียบย่ำไปนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

        การดำเนินตามศาสนธรรม ที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วด้วยความถูกต้องดีงาม ก็เช่นเดียวกับเราตามรอยโค ไม่ปลีกไม่แวะจับรอยตั้งแต่ต้นจนถึงตัวโค การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ปล่อยร่องรอยแห่งธรรมที่สอนไว้โดยถูกต้อง ยึดความถูกต้องนั้นเป็นหลักฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติโดยลำดับลำดา ก็ย่อมจะเข้าถึงธรรมเป็นขั้น เข้าไป เพราะผลแห่งธรรมเป็นหลายขั้น นับแต่ขั้นสมาธิ คือความสงบเย็นใจขึ้นมา นี่ก็เป็นธรรมประเภทหนึ่งหรือขั้นหนึ่ง จะนอกเหนือไปจากวิธีการที่ท่านแสดงไว้แล้วไม่ได้

        เช่น สมถวิธี จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นสมถะ คือความสงบใจได้ ท่านก็อธิบายวิธีการให้ทราบ ในตำราบอกว่ามีถึง ๔๐ ห้อง ๔๐ วิธีการ  นี่ท่านผู้ศึกษาทั้งหลายก็แน่ใจว่าทราบกันทั่วถึงแล้ว   เช่น อนุสติ ๑๐ อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นวิธีการแต่ละอย่าง แล้วกำหนดบทใดก็ตาม หรือวิธีการใดก็ตาม ให้ติดแนบอยู่กับใจ ด้วยความมีสติ นี่หมายถึงบทบาทแห่งธรรมนั้นถูกจริตนิสัยของตน ยึดเป็นหลักฐานมั่นคงไว้ในการบำเพ็ญเพื่อความเป็นสมถะ คือ ความสงบใจ มีสติตามรักษางานของตนที่ทำอยู่โดยสม่ำเสมอ คำว่าความสงบ กับความสงบอันแท้จริงนั้น จะเข้ากันได้ด้วยวิธีการที่กล่าวนี้ นี่ก็เป็นเหมือนกับตามรอยโคเข้าไปเช่นเดียวกัน

        เพราะฉะนั้นศาสนธรรมจึงมีมากมายกว้างขวาง ตามจริตนิสัยของสัตว์โลกซึ่งไม่เหมือนกัน แม้จะมีความดีความชั่ว มีกิเลสตัณหาอาสวะอยู่ภายในจิตใจเช่นเดียวกันก็ตาม แต่มีข้อหนักเบาต่างกัน และมีแง่ต่าง กันตามจริตนิสัย ด้วยเหตุนี้อุบายแห่งธรรมที่จะสั่งสอนผู้นั้นๆ ให้ได้รับประโยชน์แต่ละรายๆ จึงต้องมีหลายวิธีการ เมื่อรวมแล้วพอประมาณก็ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

        เทียบแล้วก็เหมือนกับนายแพทย์ผู้ฉลาด เรียนจบวิชาแพทย์มาอย่างเรียบร้อย ได้รับการทดสอบทุกแง่ทุกมุม ทั้งหยูกทั้งยา ทั้งวิชาแพทย์เห็นผลเป็นที่พอใจแล้วก็นำมารักษาโรคของคนและสัตว์ แล้วโรคของคนไข้นั้นน่ะมีประเภทต่าง กัน ถ้าหมอจะมีความรู้เพียงแง่ใดแง่หนึ่งเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคที่มีชนิดต่าง หรือประเภทต่าง กันนั้นให้หายไปได้ ด้วยเหตุนี้วิชาแพทย์จึงต้องกว้างขวาง ยาจึงต้องมีมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกันกับโรคที่มีชนิดต่าง จะได้หายสำหรับผู้มาอาศัยหรือรักษากับหมอ ธรรมของพระพุทธเจ้าก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แล้วยังกว้างขวางมากมายจนหาประมาณไม่ได้

        เพราะคำว่าพุทธวิสัยไม่ใช่วิสัยคนธรรมดาสามัญของเรา และไม่ใช่วิสัยของพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลส เป็นจิตที่บริสุทธิ์เพียงเท่านั้น ยังเป็นวิสัยสามารถของพระพุทธเจ้า อันกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งกว่าใครๆ ในโลก ยิ่งกว่าพระอรหันต์องค์ใด อีกด้วย จึงสมนามว่าเป็นศาสดาสอนโลก

สัตว์โลกที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากน้อยเพียงไร เพียงแต่มนุษย์ก็จำนวนมากพอแล้ว ยังต้องมีเทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม นับจำนวนไม่ได้ ดังที่เห็นในตำราว่า พวกเทพทั้งหลาย คำว่าเทพนั้นเป็นคำรวม เทวดา อินทร์ พรหม เรียกว่าเทพทั้งนั้น บรรลุมรรคผลจำนวนเป็นแสน ล้าน ฟังซิ ถ้ามีจำนวนน้อยจะไปสำเร็จอะไรถึงจำนวนขนาดนั้นเล่า ต้องมีจำนวนมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระองค์แต่ละครั้งละคราว

        การประทานพระโอวาทด้วยความเฉลียวฉลาด เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกตามขั้นตามภูมิ ตามอุปนิสัยของตนนั้น จึงต้องเป็นอุบายเป็นความเฉลียวฉลาดอันกว้างขวางลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า ที่จะประทานแก่สัตว์โลกแต่ละขั้นละภูมิ ให้ได้รับผลประโยชน์เป็นที่พึงพอใจทั่วหน้ากัน ที่นี่ย่นมาถึงขั้นมนุษย์เรา ซึ่งเป็นสถานที่ประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้าอย่างเปิดเผย ก็ประทานพระโอวาทแก่สัตว์โลกทั่ว ไป ในพุทธกิจของพระพุทธเจ้านั้น มี อย่าง แต่เราจะไม่ยกเป็นบาลีขึ้นมา จะอธิบายเป็นเนื้อความไปเลยว่า

ตอนบ่าย - โมงเย็น ประทานพระโอวาทแก่ประชาชน นับแต่พระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฏุมพี พ่อค้า ประชาชน คนธรรมดาทั่ว ไป ให้ได้รับผลประโยชน์ นอกจากนั้นยังจะมีผู้ทูลถามปัญหาข้อข้องใจในแง่ต่าง กับพระพุทธเจ้าอีกด้วย ทั้งทรงสั่งสอนเป็นส่วนรวมเพื่อให้ได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน ทั้งแยกแยะตอบปัญหาให้เป็นที่เข้าใจแก่ผู้ถาม และได้รับประโยชน์จากผู้ฟังปัญหานั้นโดยทั่วกันอีกด้วย แต่ละครั้ง จะพึงเป็นอย่างนั้นเสมอไป

        แล้วในแง่แห่งธรรมที่ประทานแก่พุทธบริษัท เช่น พวกฆราวาสญาติโยม จะมีจำนวนมากมายขนาดไหน ในวันหนึ่ง ตอนมืดเข้าไปก็ประทานพระโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้มุ่งมาแล้วเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นของนักบวชเหล่านี้ เป็นความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ถึงเหตุถึงผล ถึงจิตถึงใจ ถึงอรรถถึงธรรมแท้ๆ

        พระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่จะประทานแก่พระสงฆ์เหล่านั้น จะเหมือนการประทานแก่ญาติโยมได้อย่างไร จึงต้องประทานให้เหมาะสมกับเจตนา กับความมุ่งมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนมากมารับพระโอวาทจากพระองค์ในขณะนั้น มีทั้งพระสงฆ์ที่เป็นปุถุชนธรรมดา มีทั้งพระสงฆ์ที่มีภูมิอรรถภูมิธรรม ภูมิสมาธิเป็นลำดับลำดา มีทั้งพระสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ พระโสดา สกิทาคา อนาคา ขึ้นไป จนกระทั่งพระอรหันต์ท่านก็มีความยินดีเอิบอิ่มในการได้ยินได้ฟัง

        เพราะปราชญ์ทั้งหลายไม่อิ่มธรรม การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าจึงต้องให้ละเอียดแยบคาย และทั่วถึงในบรรดาภูมิอุปนิสัยและขั้นแห่งธรรมของท่านผู้มาศึกษาอบรมและได้ยินได้ฟังในขณะนั้น พระโอวาทเหล่านี้ต้องลึกซึ้งต้องเหมาะสมกับผู้มาฟัง กับบริษัท คือ ภิกษุบริษัท

ทีนี้พอนับแต่เที่ยงคืน นี่ท่านก็พูดไว้พอประมาณว่าเที่ยงคืน เพราะส่วนมากพวกเทพจะมาในเวลาสงัด มักมาในเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว แต่จะมาก่อนมาหลังนั้น มีจำนวนไม่น้อย ท่านหากคาดเอาไว้ว่าเที่ยงคืนเป็นเวลาที่เหมาะสมเป็นส่วนมากของเทพทั้งหลายที่มา แล้วเทพที่มาเหล่านั้นไม่ใช่เป็นพวกหนึ่งพวกเดียว และไม่ใช่ชั้นหนึ่งชั้นเดียวของพวกเทพด้วย ที่มาฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง ถ่ายเทกันมา การประทานโอวาทแก่เทวดาทั้งหลายนั้น ก็ต้องให้เหมาะสมกับภูมิของเทวดา ที่เป็นภูมิละเอียดของกายทิพย์ ตลอดถึงภูมิอุปนิสัยจิตใจของเทพแต่ละองค์  ซึ่งมีแง่หนักเบาต่างกัน

        การแสดงธรรมจะแสดงแบบเดียวไม่ได้ ต้องแสดงหลายแง่หลายกระทง ทั้งลึกทั้งตื้น ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด พร้อมกันไปหมดในเวลานั้น แล้วนอกจากนั้นยังแก้ปัญหาเทวดาอีกด้วย เป็นพวกๆ เป็นคณะๆ ไป แต่ละครั้งๆ ธรรมที่ประทานแก่เทพทั้งหลายเหล่านั้นต้องเป็นธรรมที่เหมาะสมกับเทพขั้นนั้นๆ ไม่ผิดพลาดไปได้ สมนามว่าศาสดาของโลก ตลอดถึงอินทร์ พรหม ไม่นอกเหนือไปจากพระโอวาทอันฉลาดแหลมคมของพระพุทธเจ้าไปได้เลย

        เมื่อสรุปความ พอแก้ปัญหาแล้ว ตอนปัจฉิมยามก็ทรงเล็งญาณดูสัตวโลกว่าผู้ใดจะมีอุปนิสัยสามารถบรรลุอรรถธรรม คือมีความเบาบางภายในจิตใจ สามารถที่จะบรรลุอรรถธรรมได้อย่างรวดเร็ว และจะมีอันตรายต่อชีวิตเสียก่อนที่จะได้รับผลอันเป็นที่พึงใจนั้น เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์ก็เสด็จไปโปรดคนนั้นก่อนอื่น

นี่แหละการทรงเล็งญาณดูสัตวโลกนี้ใครสามารถในโลกนี้ จะสามารถเล็งญาณดูอุปนิสัย ดูภพดูชาติ ดูความหนักความเบาแห่งกรรมของสัตว์โลก จนกระทั่งถึงอุปนิสัยสามารถจะบรรลุธรรมขั้นสูง หลุดพ้นจากโลกวัฏจักรวัฏวนนี้ไปได้ มีใครในสามโลกธาตุนี้จะทำได้เหมือนพระพุทธเจ้า คำว่าเล็งญาณดูสัตวโลกก็มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น

        นี่แหละพุทธภาระหรือพุทธกิจของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เหมือนกิจไม่ได้เหมือนงานของโลกทั่ว ไป เป็นกิจเป็นการเป็นงานเป็นภาระที่โลกทำไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงทำโดยพระองค์เอง ด้วยความสามารถฉลาดแหลมคม สมความเป็นศาสดาของโลก ตอนเช้าก็เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์โลก

        คำว่าโปรดสัตว์นั้น เวลาเขาได้เห็นพระพุทธเจ้าตาก็เป็นบุญเป็นกุศล จิตใจก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเพราะเห็นท่านผู้วิเศษ วิเศษในพระทัยด้วยแล้ว ยังวิเศษด้วยพระอากัปกิริยาที่เคลื่อนไหวของพระองค์ แล้วได้ทำบุญให้ทานใส่บาตรกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ขณะที่พระองค์ทรงรับสั่งสิ่งใดออกไปด้วยเหตุผลที่จำเป็นซึ่งควรจะรับสั่ง ขณะนั้นก็เป็นการโปรดสัตว์ไปในตัว ตามเหตุผลของศาสดาที่ไม่มีการปราศจากเหตุผลประจำองค์ศาสดาอยู่เสมอ เรียกว่าพุทธกิจ พุทธกิจทั้ง นี้ไม่มีใครสามารถจะทำได้เหมือนพระพุทธเจ้าเลย

        นี่พูดถึงธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่ามีจำนวนมากมายเพียงไร เราพิจารณาเพียงเท่านี้ แล้วประกาศสอนธรรมอยู่ถึง ๔๕ พระพรรษา วันหนึ่งคืนหนึ่งเดือนหนึ่งปีหนึ่ง มีสัตว์โลกเข้ามาเกี่ยวข้องพระพุทธเจ้ามากน้อยเพียงไร ที่จะต้องประทานพระโอวาทให้เหมาะสมกับจริตนิสัย ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังแต่ละราย ไปไม่ให้ผิดหวังนั้น มีจำนวนมากเพียงไร ถ้าจะมีเพียง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เท่านี้ ไม่พอกับภูมิแห่งศาสดา และไม่พอกับอุปนิสัยของสัตว์โลกซึ่งเป็นเหมือนคนไข้แต่ละประเภท จะไม่เกิดประโยชน์อะไรสมภูมิของความเป็นศาสดาเลย

        เพราะเหตุนั้นธรรมที่ทรงสั่งสอนโลกจึงมีจำนวนมากต่อมาก อย่าว่าเพียง ๘๔,๐๐๐ เท่านี้เลย เป็นล้าน ในบรรดาอุบายที่สั่งสอนสัตว์โลก จะไม่ซ้ำกัน ถ้านิสัย จริตนิสัยของผู้นั้น กิเลสประเภทต่าง ของผู้นั้นไม่ซ้ำกัน การประทานพระโอวาทเพื่อประโยชน์แก่ผู้นั้น แก้ปัญหาแก่ผู้นั้น หรือแก้กิเลสช่วยผู้นั้น ทำผู้นั้นให้เกิดประโยชน์จะไม่มีการซ้ำกันเลย จะซ้ำกันเฉพาะที่มีนิสัยคล้ายคลึงกันเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นพระโอวาทจึงมีจำนวนมากไม่มีอัดมีอั้น ในการแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก หรือแก้ปัญหาโลกแต่ละราย ให้ได้รับผลประโยชน์จากพระองค์ นี่เรียกว่าภูมิของศาสดาเป็นอย่างนี้

        ธรรมที่ทรงสั่งสอนจึงมีจำนวนมาก เท่าที่ท่านจดจารึกไว้ว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ท่านจดไว้เพียงพอประมาณ ถ้ามากกว่านั้นก็จะเหลือเฟือฟั่นเฝือไปหมด แทนที่จะได้รับประโยชน์จะกลายเป็นการสับสนวุ่นวายแล้วไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด จึงมีไว้สำหรับความจำเป็น และมีไว้สำหรับหลักใหญ่ เท่านั้น ส่วนปลีกย่อยที่พระองค์ทรงแนะนำสัตว์โลกทั่ว ไปนั้น ไม่ได้นำเข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้เลย นี่ภูมิของพระพุทธเจ้า

        ที่กล่าวทั้งหมดว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ดี ที่มากยิ่งกว่านี้เต็มภูมิของศาสดาที่สั่งสอนโลกก็ดี เหล่านี้เป็นอาการของธรรมทั้งมวล ไม่ใช่องค์ของธรรมแท้ที่มีอยู่เฉพาะในพระทัยของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้นผู้ปฏิบัติจึงคำนึงถึงพระโอวาทอันเป็นแนวทางที่ถูกต้องดีงาม เฉพาะอย่างยิ่งคำว่ามัชฌิมาปฏิปทานี้ถึงใจไม่มีข้อสงสัย ให้นำหลักนี้เข้ามาประพฤติปฏิบัติต่อตนเอง และคำว่ามัชฌิมาปฏิปทานั้น

        ให้พึงทราบว่ากิเลสมีเล่ห์มีเหลี่ยมร้อยสันพันคมขนาดไหน จึงสามารถครอบงำสัตว์โลกให้อยู่ใต้อำนาจได้ ทั่วทั้ง โลกธาตุไม่มีสัตว์โลกตัวใดจะนอกเหนือจากอำนาจของกิเลสไม่ครอบงำไปได้ ด้วยเหตุนี้คำว่ามัชฌิมาในการแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก หรือเครื่องมือเป็นเครื่องปราบกิเลส ซึ่งเป็นตัวฉลาดแหลมคมร้อยสันพันนัยนั้นจึงต้องมีครบ มีเล่ห์มีเหลี่ยมเลยร้อยสันพันนัยไป จึงจะทันกับกิเลสประเภทต่าง ประเภทหยาบ ประเภทกลาง ประเภทละเอียด

        มัชฌิมาจะเอาเพียงกลาง เข้าไปใช้อย่างเดียวนี้ พึงทราบว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่เถรตรง พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนโง่ พระพุทธเจ้าคือจอมปราชญ์ พระพุทธเจ้าคือจอมปราบกิเลสทั้งหลายจนราบเรียบภายในพระทัยแล้ว จะปราบด้วยความเป็นเถรตรงได้อย่างไร ต้องปราบด้วยความฉลาดแหลมคมมากเหนือกิเลสทุกประเภท จนไม่มีเหลือในพระทัยของพระพุทธเจ้า เพราะการปราบปรามมันด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง นี้แลคำว่ามัชฌิมาที่ออกจากศาสดา จึงเป็นมัชฌิมาที่ฉลาดแหลมคมมากต่อกิเลสประเภทต่าง ทันกับกิเลสทุกประเภทไป ปราบราบเรียบไปได้ทุกประเภท ด้วยอำนาจแห่งมัชฌิมาประเภทนั้น ให้พึงทราบอย่างนี้

        คำว่ามัชฌิมาคือสายกลาง คำว่าสายกลางนั้นโลกทั้งหลายจะต้องคิดกันแบบว่า ตรงไปตรงมาเฉย ไม่ได้คำนึงถึงว่ากิเลสมันตรงไปตรงมาไหม อันใดจะมีความปลิ้นปล้อนหลอกลวงร้อยสันพันคม พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วยิ่งกว่ากิเลสในโลกนี้ไม่มี เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาจึงจะเป็นธรรมแบบเถรตรงไปไม่ได้ จะถูกกิเลสจูงจมูก ธรรมทั้งหลายกลายเป็นบ๋อยของกิเลสไปหมด ธรรมจะเหนือกิเลสเหนือโลกไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาจึงต้องเหนือกิเลสทุกประเภท

        คำว่ามัชฌิมาคือเครื่องมืออันเหมาะสมกับการปราบกิเลสทุกประเภทไป กิเลสอย่างหยาบแสดงขึ้นภายในจิตใจ เราจะเอาอะไรเข้าไปปราบความหยาบโลนของกิเลส ความดื้อด้านของกิเลส ซึ่งแสดงขึ้นมาในจิตใจของเราโดยแท้ อุบายวิธีใดที่จะทันกับกิเลสประเภทดื้อด้านหาญสู้ต่อธรรม เราต้องนำประเภทที่เหี้ยมโหดต่อกิเลส ประเภทที่แหลมคมกว่ากิเลสเข้าต่อสู้กับกิเลสประเภทนั้น

        ด้วยเหตุนี้เองการประพฤติปฏิบัติจึงมีความทรหดอดทน มีความเฉลียวฉลาดรอบตัวอยู่เสมอ มีความตั้งหน้าตั้งตา มีความต้านทาน มีความอุตส่าห์พยายาม มีความคิดไหวพริบปัญญาให้ทันกับอาการของจิต ซึ่งกิเลสผลักดันออกมาเป็นลวดลายแห่งการต่อสู้กับธรรมแต่ละอาการ ให้ทันกัน ไม่เช่นนั้นไม่ทัน นี่คือวิธีการที่ถูกต้องแท้กับคำว่ามัชฌิมา

        อันเรื่องเครื่องมือที่จะปราบกิเลสนั้น ในวงปฏิบัติถ้าผู้ปฏิบัติให้เป็นไปตามอรรถตามธรรม ตามสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว จะพอฟัดพอเหวี่ยงกันไปตั้งแต่ต้นทาง เมื่อได้เหตุได้ผลได้ต้นทุนเข้ามาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ภายในจิตใจ ด้วยการปฏิบัติด้วยการต่อสู้กับกิเลสประเภทนั้น พอสมควรแล้ว จะทราบวิธีการปฏิบัติต่อกิเลสประเภทที่ละเอียดยิ่งกว่านั้นเข้าไปโดยลำดับ ด้วยเครื่องมือคืออุบาย สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรของตนเอง นี่การนำมัชฌิมามาใช้ให้เหมาะสมกับกิเลสประเภทต่าง นี่เรียกว่าเหมาะสม

        มัชฌิมาคือความเหมาะสม กิเลสหยาบมัชฌิมาต้องหนักมือ กิเลสกลาง มัชฌิมาก็ให้เป็นขนาดเหมาะสมกับการปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือ กิเลสละเอียดลงไป มัชฌิมามีสติปัญญาเป็นต้น จะละเอียดแหลมคมเข้าไปโดยลำดับ ทันกันไปโดยลำดับ และฆ่ากันไปเรื่อย หมดไปเรื่อย ภายในจิตใจ นี่ให้พากันเข้าใจคำว่ามัชฌิมาในหลักธรรมชาติ หรือในหลักของการปฏิบัติที่ประสบเหตุการณ์จริง เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นแบบเถรตรง

        จะทำความพากเพียรบ้าง อุตส่าห์พยายามบ้าง มีความทุกข์ความลำบากต่อการประกอบความเพียรบ้าง ก็ถูกกิเลสมันหลอกเสียว่านี่มันจะเคร่งเกินไป แน่ะทำพอดี คำว่าพอดีนั้นคือมัชฌิมาของกิเลสเราหาได้ทราบไม่ มัชฌิมาของกิเลสมันแทรกอยู่ทุกแง่ทุกมุมแห่งมัชฌิมาของธรรม เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาของธรรมอันแท้จริงที่จะปราบกิเลสนั้นจึงก้าวไม่ออก เพราะถูกมัชฌิมาของกิเลสกล่อมไปเสียหมด จะนั่งภาวนาชั่วกาลชั่วเวลากี่ชั่วโมง ก็ถูกกิเลสมากล่อมเสียว่ามันจะเกินมัชฌิมาไป เคร่งเกินไป หนักเกินไป ไม่เหมาะไม่ถูกต้องกับหลักมัชฌิมา ถูกกล่อมไปเสียอย่างนี้

        เวลาทุกข์เกิดขึ้นภายในร่างกาย เพราะโรคภัยไข้เจ็บก็ดี เพราะการนั่งมากก็ดี จะทนต่อทุกข์นี้ไปก็จะเป็นการเคร่งเกินไป คำว่าทนต่อทุกข์นี้คือทนสู้ ไม่ใช่ทนอยู่เฉย แบบคนสิ้นท่า ทนสู้ทุกขเวทนา พิจารณาแยกแยะดูเวทนาคือความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในกายเป็นต้น เจ็บตรงไหนมาก ปวดตรงไหนมาก เจ็บแข้ง เจ็บขา เจ็บเข่า เจ็บบั้นเอว หรือเจ็บตรงไหนที่เด่นกว่าเพื่อน จิตจ่อเข้าไปตรงนั้น แยกดูให้เห็นความจริงทั้งร่างกายส่วนนั้นว่าอันใดเป็นทุกข์

        ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งปัจจุบัน ในขณะที่นั่งภาวนาหรือในขณะที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่นี้ เขาเป็นร่างกาย เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นเอ็น เป็นกระดูก มาตลอดสายจนกระทั่งบัดนี้ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เกิดมาจากโน้น พึ่งปรากฏในขณะนี้ ทำไมจึงจะถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กายเป็นทุกข์ ทุกข์เป็นกาย เลยกลายเป็นเรื่องของเราที่จะต้องแบกทุกข์ไปเสียทั้งหมดว่าเราเป็นทุกข์ นี่กิเลสมันแทรกเข้าไปเช่นนี้

        เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกให้เห็นตามความจริงของมัน ในจุดที่ทุกข์มากที่สุดนั้นแหละ เอาเวทีไปตั้งที่ตรงนั้น ขึ้นเวทีตรงนั้น แยกดู เอ้า หนังเจ็บเหรอ เนื้อเจ็บเหรอ เนื้อเป็นทุกข์เหรอ หรือกระดูกเป็นทุกข์ ว่าตรงไหนให้จิตจ่อเข้าไป ว่าหนังก็ให้เห็นลักษณะของหนังชัดเจนประจักษ์ใจ ว่าเนื้อเป็นทุกข์ก็ให้ดูเนื้อตรงที่ว่ากำลังเป็นทุกข์นั้นให้ชัดเจนด้วยสติด้วยปัญญาของตน หรือกระดูกเป็นทุกข์ ดูกระดูกให้ชัดเจน กระดูกมีรูปลักษณะ คือ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก มีรูปมีลักษณะสีสันวรรณะ

        ทุกข์นี้ไม่ใช่รูป ไม่มีรูปไม่มีลักษณะ ไม่มีสีสันวรรณะ เป็นแต่แสดงความปรากฏของตนขึ้นมาให้เป็นที่ไม่พอใจแก่เราเท่านั้น นี่เรียกว่าทุกข์ แล้วมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร แล้วแยกแยะเข้ามาสู่ใจ หรือใจนี่หรือเป็นทุกข์ เอ้า ถ้าว่าใจเป็นทุกข์จริง แล้ว เวลาทุกข์ดับไปใจจะดับไปด้วยไหม หากเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ทุกข์ดับไปใจต้องดับไปด้วย

        เอ้า ถ้ากายเป็นทุกข์ เวลาทุกข์นี้ดับไปกายต้องดับไปด้วย เนื้อต้องดับไปด้วย หนังต้องดับไปด้วย เอ็นต้องดับไปด้วย กระดูกต้องดับไปด้วย แต่นี้ทุกข์พึ่งปรากฏมาในขณะนี้แล้วจะดับไปในขณะต่อไป ทั้ง ที่ เนื้อ หนัง เอ็น กระดูกไม่ได้ดับไปด้วยเลย แล้วจิตใจผู้ที่รับรู้ทุกข์ทั้งหลาย ก็ไม่ได้ดับไปด้วยเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นทำไมจึงไปสำคัญมั่นหมาย จึงไปเข้าใจว่านี้เป็นเราเป็นของเรา ว่าหนังเป็นทุกข์ ว่าเนื้อเป็นทุกข์ ว่าเอ็น กระดูก เหล่านี้เป็นทุกข์ ว่าใจเป็นทุกข์ มันผิดไปเท่าไรแล้วนี่ ผิดจากหลักความจริง

        ว่าตรงไหนให้จดจ่อลงที่ตรงนั้น เอาให้เห็นจริงเห็นจัง นี้คือมัชฌิมาที่เหมาะสม แต่มัชฌิมาของกิเลสนั้นทนไม่ไหว นี่เดี๋ยวจะตายนะนี่นะ เดี๋ยวจะไม่ได้ทันถึงมรรคผลนิพพานจะตายก่อนนะ นั่นคือมัชฌิมาของกิเลสมันกล่อม แล้วเชื่อง่ายด้วยผู้ปฏิบัติเพราะเคยถูกกล่อมมาเสียนานแล้ว ไม่เคยเห็นโทษของมัน ไม่เคยเห็นความจอมปลอมของกิเลสประเภทต่างๆ ที่เคยกล่อมมาเป็นเวลานานนั้นเลย เนื่องจากธรรมอันเป็นของจริงยังแทรกเข้าไม่ถึงใจ

        เมื่อธรรมได้แทรกเข้าถึงใจแล้ว เรื่องความสำคัญต่าง ให้หนายิ่งกว่าภูเขาทั้งลูกนี้ก็เถอะจะแตกกระจายไปหมด ร่างกายนี้จะแตกกระจายไปหมด ด้วยอำนาจของสติปัญญาคลี่คลาย ตีกระจายให้แหลกแตกเป็นความจริงไปด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดนอกเหนือไปจากความจริงนี้เลย กิเลสที่มาหลอกลวงแทรกแซงอยู่ทุกขุมขน ทุกเนื้อ ทุกหนัง ทุกเอ็น ทุกกระดูก ทุกอวัยวะก็แตกบ้านแตกเมือง แตกความจอมปลอมของตนออกไปหมด ยังเหลือแต่ความจริงล้วน นั่นละความจริงเป็นอย่างนั้น

        เวลาพิจารณาที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่พิจารณาสักว่าลวก ไป เอาให้เห็นจริงเห็นจังในขณะนั้น ทุกข์จะหายก็ตามเราจะตายก็ตาม ไม่สำคัญยิ่งกว่าความต้องการความจริง ให้เห็นความจริงระหว่างแห่งทุกข์ คือระหว่างทุกข์กับจิต ระหว่างทุกข์กับกาย นี่เป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการอยากรู้อยากเห็น คำว่าสัจธรรมเป็นของจริง เช่น ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐนั้นจริงอย่างไร

        ถ้าเราต้องการอยากจะเห็นทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐ เราก็พิจารณาดังที่กล่าวนี้ อย่างไรก็ปิดไม่อยู่ ประหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ที่ตรงหน้านี้ไม่สงสัย เพราะความจริงอันนี้เหมือนกันกับที่ประทานไว้แล้วว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างประจักษ์ใจ แล้วเราจะสงสัยพระพุทธเจ้าที่ตรงไหน

        ตลอดถึงสมุทัยก็เหมือนกัน มรรค นิโรธ ธรรมที่กล่าวทั้ง นี้นั้น เราอย่าเข้าใจว่าอยู่คนละแห่งละหน จะต้องพิจารณาคนละครั้งละคราว การพิจารณาค้นคว้าหาความจริงจากทุกข์ จากกายจากใจ ในขณะที่ทุกขเวทนากำลังกล้าสาหัส นั้นแลคือเป็นเวลาที่เราพิจารณาสัจธรรมทั้ง พร้อมกันไปในตัวอย่างสมบูรณ์แล้ว นี่หลักปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่จะไปเรียงรายพิจารณาทุกข์ แล้วจึงจะดับสมุทัย แล้วจึงจะทำนิโรธให้ดับทุกข์ แล้วพิจารณานิโรธ แล้วจึงจะไปพิจารณามรรคนั้นผิดทั้งเพ

        ท่านเรียงไว้เป็นลำดับลำดาเฉย ความจริงแท้ไม่เป็นเช่นนั้น มันกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสัจธรรมทั้ง นี้ พอทุกข์เกิดขึ้น ท่านว่าทุกข์ให้กำหนดรู้ จะไม่รู้อย่างไรเราไม่ใช่คนตาย ทุกข์เกิดขึ้นตรงไหนก็ต้องรู้ คำว่าให้กำหนดรู้นั้นหมายถึงว่าให้รู้ด้วยสติเพื่อความพิจารณาต่างหาก ท่านจึงว่าพึงกำหนดรู้ ทุกข์เกิดขึ้น นี่ทุกข์เกิดขึ้นแล้วนะ มีสติแล้ว ตั้งท่าลงไปพิจารณาถึงเรื่องทุกข์

        ทุกข์นี้เป็นสาเหตุมาจากอะไร อะไรเป็นทุกข์ นี่คือเรื่องของมรรคได้แก่สติปัญญาแล้ว อะไรเป็นผู้สำคัญมั่นหมาย มันเกิดมาจากอะไรแยกแยะลงไป หนังเป็นหนัง เนื้อเป็นเนื้อ เอ็นเป็นเอ็น กระดูกเป็นกระดูก อวัยวะทุกส่วนเป็นความจริงตามสภาพของมันอยู่อย่างนั้น แล้วมันมาเป็นทุกข์ได้อย่างไร ทุกข์มันก็เป็นทุกข์ สักแต่ว่าปรากฏขึ้นมาได้ในทั่วอวัยวะ แต่แล้วก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน เมื่อเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร นี่คือสติ คือปัญญาแล้ว คือการค้นคว้าหาความจริงอยู่แล้ว ความสำคัญมั่นหมายที่เคยยึดเคยเหนี่ยวนั้น ที่เรียกว่าเป็นสมุทัย มันก็ดับลงไปในขณะนั้นๆ

        นิโรธความดับทุกข์ คือความกระวนกระวายภายในจิตใจ มันก็ระงับดับไปโดยลำดับๆ ทำหน้าที่ไปตามมรรค ไม่ใช่นิโรธทำหน้าที่ของตนเอง เป็นเรื่องของมรรคต่างหากทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่เข้าใจกิเลสหรือตัดกิเลสไปขาดมากน้อยเพียงไร ความดับทุกข์เพราะอำนาจของกิเลสก็แสดงขึ้นมาโดยลำดับลำดา นี่เรียกว่ามัชฌิมาเป็นอย่างนี้

        ผู้ปฏิบัติอย่ากลัวตาย ให้กลัวจะไม่เห็นความจริงนี้มากกว่า ถึงวาระที่ควรจะทุ่มกันต้องทุ่มบ้าง เป็นก็เป็นตายก็ตาย แต่สติปัญญาเป็นสำคัญ อย่าทนเฉย นะ ทนทุกข์เฉย ไม่เกิดประโยชน์ ทุกข์ก็ทุกข์เพื่อจะรู้จะเห็นในความทุกข์ในสิ่งให้เกิดทุกข์ และอะไรเป็นทุกข์ที่แท้จริง ให้เห็นเป็นความจริงด้วยกัน ทั้งทุกข์ที่เรียกว่าทุกขเวทนา ทั้งกายทั้งจิต เมื่อต่างอันต่างรู้ตามเป็นจริง ว่าทุกข์ก็สักแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาตามหลักธรรมชาติของตน กายก็มีเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาตามธรรมชาติของตน จิตก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่รับรู้ในสิ่งทั้งหลาย เมื่อต่างอันต่างจริงด้วยความประจักษ์ใจแล้วเช่นนี้ แม้ทุกข์จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรก็ไม่กระทบกระเทือนถึงจิตใจ ไม่กระวนกระวาย เพราะต่างอันต่างจริง ประการหนึ่ง ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นในร่างกายดับไป จะดับหรือไม่ดับก็ตามมันก็คือของจริงนั่นแล นี่การประพฤติปฏิบัติให้พิจารณาอย่างนี้

        ที่กล่าวมานี้กล่าวถึงเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ถึงคราวที่จะทุ่มกันลงให้หนักมือให้ถึงเป็นถึงตาย เพื่อเอาความวิเศษวิโสขึ้นมาจากสัจธรรมทั้ง นี้ก็ต้องทุ่มกันลงไป ถึงคราวที่จะลดหย่อนผ่อนผัน มันหากเป็นไปเองภายในตัวของเราไม่มีใครบอกก็รู้เอง ถึงขั้นจะผ่อนสั้นผ่อนยาวก็รู้ ถึงขั้นจะทุ่มกันอย่างหักโหมก็รู้ภายในตัวเอง แต่จะปฏิบัติไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ อย่างสะดวกสบายเฉยๆ เมยๆ ไปอย่างนั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล ถ้าว่ามัชฌิมาก็มัชฌิมาของกิเลส อยู่ในท่ามกลางหัวใจเราผูกมัดหัวใจเรา ไม่ใช่มัชฌิมาที่แก้หัวใจเรา ผิดกันอย่างนี้พึงเข้าใจผู้ปฏิบัติ

        เบื้องต้นได้กล่าวถึงเรื่องธรรมแท้ ธรรมแท้จะเกิดขึ้นที่ใจ ใจเท่านั้นเป็นธรรมชาติที่จะรับทราบธรรมทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่ผู้รับทราบ เป็นแต่ทางเดินของจิต เป็นเครื่องมือของจิต ที่จะขวนขวายหาอรรถหาธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดินออกสู่ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส จิตเป็นผู้ตามรับทราบในสิ่งต่าง ที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ นี่จึงว่าเป็นเครื่องมือ ถ้าเราเดินออกด้วยมรรคเป็นเครื่องมือ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสผลักดันออกไปนั้นเป็นเครื่องมือของสมุทัย ของกิเลสล้วน ไม่มีธรรมเข้าเจือปนเลย

        การปฏิบัติธรรมจึงต้องอาศัยอุบายวิธีการที่มีในตำรับตำรา หรือครูอาจารย์แนะนำสั่งสอนแล้ว นั้นแลเป็นความไม่ลูบ คลำ เป็นการถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้โอวาทสั่งสอนเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผล การแนะนำสั่งสอนนั้นจะไม่ผิดไม่พลาด เพราะสอนตามหลักความจริงที่ได้ดำเนินมาแล้ว เป็นที่แน่ใจ สำหรับผู้ฟังทั้งหลายจะได้ยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์เป็นข้อปฏิบัติ ไม่ต้องทำให้เสียเวล่ำเวลา เสียประโยชน์ มีความทุกข์ยากลำบากเปล่า โดยการลูบ คลำ จดจ่อลงตรงไหน ฟาดฟันลงตรงไหนเป็นความจริงทั้งนั้น เพราะถูกต้องตามโอวาทที่ท่านพาดำเนินมาแล้ว

        วิธีการเหล่านี้เป็นอาการของธรรมทั้งหมด จนกระทั่งผลได้ปรากฏขึ้นมามากน้อยจะทราบที่ใจ ใจเป็นผู้รับทราบ ใจเป็นภาชนะอันเหมาะสมอย่างยิ่งของธรรมทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดทั่วทั้งโลกธาตุนี้จะสัมผัสสัมพันธ์รับทราบธรรม และเป็นที่สถิตอยู่แห่งธรรมเป็นภาชนะแห่งธรรมได้เหมือนใจ เพราะฉะนั้นธรรมจะมีอยู่เต็มโลกเต็มสงสารก็ตาม จึงไม่มีความหมายสำหรับใจที่ไม่สนใจกับธรรมทั้งหลาย เช่นเดียวกับหม้อที่คว่ำปากไว้ จะเอาน้ำในบึงในบ่อในมหาสมุทรทะเลมาเทลงก็ไม่มีคำว่าขังอยู่ เทลงเท่าไรก็ไหลทิ้งไปหมด จิตใจที่คว่ำไม่ยอมรับธรรมทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น จึงเป็นใจไม้ไส้ระกำเกินไป ไม่ใช่ใจคนไม่ใช่ใจผู้ปฏิบัติ

        ใจผู้ปฏิบัติมีความจดจ่อต่ออรรถต่อธรรม แล้วธรรมจะเกิดขึ้นสัมผัสที่ใจ รับรู้ที่ใจโดยลำดับลำดา จนกระทั่งกลายเป็นธรรมทั้งแท่งขึ้นมาที่ใจ ใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ประจักษ์ที่ใจ ไม่ได้มีที่หู ที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ไม่ได้มีที่ดินฟ้าอากาศหรือฟ้าแดดดินลม ต้นไม้ภูเขา โลกธาตุนี้ไม่มีที่สถิตของธรรมได้ มีใจดวงเดียวเท่านั้นเป็นที่สถิตของธรรม เป็นผู้รับทราบธรรม เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม เป็นผู้บริสุทธิ์วิมุตติหลุดพ้น ก็คือใจดวงนี้เท่านั้น นอกนั้นไม่มีคำว่าหลุดพ้นหรือติดอยู่ มีใจดวงเดียวเท่านี้เป็นผู้ติดและเป็นผู้จะหลุดพ้น

        เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทุกแง่ทุกมุม จึงปฏิบัติเพื่อใจดวงนี้ให้เหมาะสมกับธรรมทั้งหลาย ดังพระพุทธเจ้าประทานไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต คือเห็นธรรมที่ใจไม่ได้เห็นที่ไหน เห็นธรรมมากน้อยเพียงใดก็ชื่อว่าเริ่มเห็นตถาคตเข้าไปโดยลำดับ เห็นธรรมเต็มดวงถึงความบริสุทธิ์เต็มภูมิ ชื่อว่าเห็นตถาคตเต็มองค์ ไม่นอกเหนือไปกว่านี้เลย ฉะนั้นขอทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติเอาให้จริงให้จัง

        ของวิเศษวิโสอยู่ที่ใจไม่อยู่ที่อื่นที่ใด ไม่อยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ไม่อยู่ที่ดินน้ำลมไฟ ไม่อยู่ที่ทวีปนั้นทวีปนี้ ไม่อยู่ที่โลกนั้นโลกนี้ แต่อยู่ที่ใจ เป็นแต่เพียงว่าถูกกิเลสตัวจอมปลอมมันครอบหัวใจไว้ มีอำนาจครอบหัวใจไม่ให้ใจกับธรรมเข้าสัมผัสสัมพันธ์กันได้ พอจะเป็นเครื่องสืบต่อให้มีแก่จิตแก่ใจ ขยายอำนาจแห่งธรรมภายในจิตใจของตนออกให้รู้แจ้งเห็นชัด ทั้งโทษคือกิเลสตัวครอบงำ ทั้งคุณคือธรรมที่รู้ที่เห็นได้เหล่านั้น เพราะอำนาจกิเลสมันครอบ

        เมื่อได้เปิดกิเลสออกด้วยข้อปฏิบัติ ดังสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วนี้ เราจะไม่สงสัย ความรู้ความวิเศษวิโส ความพอดิบพอดี ความพอแล้ว ความอยู่เป็นสันติสุขไม่ดิ้นรนกระวนกระวายกับสิ่งใดทั่วทั้งแดนโลกธาตุนี้จะประจักษ์ที่ใจ เมื่อใจพอตัวแล้วด้วยการประพฤติปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น นี่คือการปฏิบัติธรรม ธรรมแท้อยู่ที่นี่ จะเกิดที่นี่

        ธรรมนั้นมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่กาลไหนๆ มาเป็นอนันตกาล ธรรมไม่เคยสิ้นสูญจากโลก แต่ใจผู้ที่จะรับสัมผัสสัมพันธ์ หรือรับทราบธรรมและให้เป็นที่สถิตของธรรมนั้นไม่ยอมรับเท่านั้น ธรรมจึงเป็นเหมือนไม่มี แม้จะมีอยู่เพียงไรก็เป็นเหมือนไม่มี ผู้จะมีธรรมในใจต้องเป็นผู้สนใจในธรรม เป็นผู้ปฏิบัติธรรม แล้วธรรมจะเข้าสู่จิตใจ เพราะจิตใจเป็นผู้เอื้อม จิตใจเป็นผู้ยึด จิตใจเป็นผู้ถือ จิตใจเป็นผู้ปฏิบัติ จิตใจเป็นผู้จดจ่อ จิตใจเป็นผู้ดู จิตใจเป็นผู้แสวงหา ทำไมจิตใจจะไม่สัมผัสสัมพันธ์ธรรมเล่าเพราะธรรมมีอยู่แล้ว นั่นเอาตรงนั้น เอาให้จริงให้จัง

        หนักเบาทราบกันอยู่แล้วการประพฤติปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดกิเลส กิเลสเป็นตัวที่เหนียวแน่นมั่นคงมาก เป็นตัวที่ฉลาดแหลมคมที่สุด ในโลกธาตุนี้ไม่มีอันใดเกินกิเลส แล้วคำว่ากิเลส ก็ไม่มีอยู่ในที่อื่นใด ตั้งรากตั้งฐานตั้งบ้านตั้งเรือนอยู่ภายในจิตใจนี้เช่นเดียวกัน การสัมผัสสัมพันธ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายนั้น สัมผัสสัมพันธ์เพื่อกิเลส

        ลงจิตได้เป็นกิเลสและกิเลสมีอำนาจแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ใจของเราจะสัมผัสสัมพันธ์อะไรเป็นไปเพื่อกิเลสทั้งมวล เข้ามารวมเต็มอยู่ในหัวใจ ใจจึงต้องมืดมิดปิดตัวเองหาทางออกไม่ได้ นอกจากหมุนไปตามกิเลสที่พาให้เกิดในภพน้อยภพใหญ่อยู่ไม่หยุดไม่ถอย มีทั้งสุขทั้งทุกข์ สุขมันก็ชุบเลี้ยงไว้เท่านั้นเองแหละพอไม่ให้ตาย ส่วนทุกข์นั้นบีบคั้นเข้าไปเรื่อย ทีนี้เมื่อเราประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็เรียกว่าเริ่มที่จะทำลายรวงรังของกิเลส ที่มันครอบอยู่ในหัวใจอย่างมืดมิดปิดตานี้ให้ออกไปโดยลำดับ ตั้งแต่เริ่มสมถะ ออกทางด้านปัญญาไปเรื่อย ปัญญาเป็นสำคัญ

        ถึงกาลที่จะใช้ปัญญาให้ใช้ เราอย่าอยู่เฉย มีความสงบสบายแล้วอยู่เสีย นั่นก็คือความนอนใจ ก็ไม่พ้นจากความถูกกิเลสกล่อมอีกแหละ เพราะคนเราหาความสบาย พอสบายที่ตรงไหนอยากอยู่นั้นเสียไม่อยากจะก้าว ความสบายไม่มีเพียงแค่สมาธิเท่านั้น ยังจะมีละเอียดลออยิ่งกว่านั้น จนกระทั่งถึงความหลุดพ้นเสียโดยประการทั้งปวงนั้นแลคือความสบายยอดเยี่ยม ได้แก่ ปรมํ สุขํ

        ด้วยเหตุนี้ปัญญา เมื่อถึงเวลาที่พิจารณาให้พิจารณาแยกแยะดูธาตุดูขันธ์ ดูทั้งภายนอกภายใน ไม่ว่าหญิงว่าชายว่าสัตว์ว่าบุคคล พิจารณาให้เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยสติด้วยปัญญาอย่างแท้จริง แล้วจะได้เหตุได้ผลจากสิ่งเหล่านั้น เข้ามาหนุนจิตใจของตนและเป็นอุบายเพิ่มขึ้นไปเรื่อย พิจารณาภายในคือร่างกายของตน กับพิจารณาภายนอกร่างกายของสัตว์ของบุคคลหญิงชาย ก็มีสภาพเป็นอันเดียวกัน เหมือนกันโดยหลักธรรมชาติ ปัญญาหยั่งทราบ ย้อนหน้าย้อนหลังตลบทบทวนหลายครั้งหลายหน ย่อมจะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง และถอดถอนกันเข้ามาเอง จนกระทั่งถอดถอนได้หมดโดยสิ้นเชิง นี่ขอสรุปความเอาเลย เพราะอำนาจของปัญญา

        เมื่อปัญญาได้มีความเฉลียวฉลาดรอบทั้งส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด เข้ามาถึงภายในจิตรอบโดยตลอดทั่วถึงแล้วนั่นแหละที่นี่ นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ความสว่างไหนจะเสมอด้วยปัญญามีหรือในโลกนี้ ไม่มี กิเลสมันละเอียดขนาดไหนปัญญาสอดแทรกรู้เห็นหมด ฟาดฟันหั่นแหลกแตกกระจายไปหมด นี่ละปัญญาจึงเป็นของสำคัญมาก ให้ใช้เวลาที่ควรใช้ อย่าอยู่ด้วยความสงบเฉย เวลาสงบก็ให้สงบเสีย พอถอยจากความสงบแล้วให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา นี้จะเป็นงานที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สม่ำเสมอ ไม่หนักไม่เบาในทางหนึ่งทางใด จนถึงกับว่าติด สงบก็ติดความสงบเสีย พิจารณาปัญญาถึงขั้นเพลิน เพลินจริง นี่ก็เคยได้อธิบายให้ฟังแล้วจึงไม่ซ้ำอีก เพราะเวลาก็พอสมควร ทั้งเหนื่อยทั้งลำบากในธาตุในขันธ์แล้ว จึงให้พากันพิจารณา

        สติเป็นสำคัญ ขอให้ถือเป็นกิจเป็นการเป็นงานประจำตน อย่าถือว่าเป็นสิ่งที่หนักหน่วงถ่วงจิตใจลำบากลำบน เพราะการถอดถอนกิเลส กิเลสกดถ่วงหัวใจเรามานานแล้วเราลำบากแค่ไหน ไม่ได้อิดหนาระอาใจต่อมันบ้างเหรอ เวลาจะมาใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียร อุตส่าห์บึกบึนต่อสู้กับกิเลส ทำไมจะเห็นความทุกข์เพียงเท่านี้ว่าเป็นความทุกข์อันใหญ่หลวง ถึงกับกั้นทางตัวเองให้ก้าวไม่ออก นี่ก็แพ้กิเลสอีก ไม่มีทางที่จะต่อสู้กับกิเลสให้ได้ชัยชนะไปได้เลย จึงจำธรรมเหล่านี้ไว้ให้ดีเพื่อเป็นสิริมงคลประดับตนเอง ให้ได้เห็นความพ้นทุกข์ ให้เห็นความวิเศษ

        คำว่าวิเศษวิโส พระพุทธเจ้าวิเศษที่ไหน ให้ดูใจให้ปฏิบัติต่อใจให้ดี พระสาวกอรหัตอรหันต์ท่านวิเศษอย่างไร คำว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นกลายที่ตรงไหน ให้เห็นประจักษ์ใจของเราแล้วจะหายสงสัย คำว่า พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมองค์ลงมาสู่ใจ ใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วไม่สงสัย

จึงขอยุติเพียงเท่านี้ เหนื่อยละ

พูดท้ายเทศน์

        พวกอภิธรรมก็มาหาผม อาจารย์ใหญ่ของอภิธรรมละมาแต่ไม่กล้าจะมาถามหรือไงนา จะเอาอภิธรรมมาถามผมแต่ไม่เคยเอามาถาม ถามก็ถามซิ จะใส่ใต้คางนั่นน่ะ มันจับจ้ออยู่ตรงนี้แล้วนี่จะว่าไง ไม่ใช่คุย อภิธรรมไปจากไหน นั่น ใครเป็นผู้รู้อภิธรรมถ้าไม่ใช่จิต นั่น กิริยาอาการของอภิธรรมทั้งหลายไปจากไหน แน่ะ จะมาว่าอะไรรู้แต่ลำต้น อาการของมันทั้งหมดก็ต้องรู้ซิ มีเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง เหมือนต้นไม้มีต้นเดียวเท่านั้นแหละ แต่กิ่งมันไปนับดูซิ รากฝอยมันมีเท่าไรประมาณได้ยังไง จะไปหานับกิ่งนั้นกิ่งนี้ ใบนั้นใบนี้ อันนั้นรากฝอยนั้นรากฝอยนี้ กว่าจะมาถึงต้นมันเลยตายก่อน

        หวดมันเข้าไปซิ ขุดมันลงไป ขุดลงไป รากฝอยมีอะไร ขุดลงไปจนกระทั่งถึงรากแก้ว ถอนพรวดขึ้นมาแล้ว เอาซิ กิ่งจำเป็นไปนับมันอะไร มีกี่กิ่งมันตายไปด้วยกันหมดนั่นแหละไม่มีเหลือ ขอให้ลงในวงสัจธรรมนี้เถอะ นี้แหละรากแก้วรากฝอยอยู่ตรงนี้ ฟัดมันลงตรงนี้ ฟันลงตรงนี้ ขุดลงตรงนี้ อย่าไปหลงกิริยาอาการภายนอก

        พอพูดอย่างนี้ก็ระลึกถึงท่านเจ้าคุณ...คือหมอเขามาบวช ดูเหมือนเขาลาราชการมาบวชหรือไงนะ แล้วเขาเขียนแผนที่อวิชชาไว้ โอ๊ย เป็นวง เขาเขียนไว้ก็ดีของเขานะ เพราะพวกนี้พวกนักเขียนนี่ เขาเขียนเป็นวงของอวิชชาเป็นอย่างนั้น สังขารเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มาดูนี่ท่านอาจารย์..ท่านเรียกอาจารย์ มาดูนี่ นี่เขาเขียนแผนที่ของอวิชชาว่างั้น ขำดี มาดู "ผมไม่ดูละขี้เกียจดู เสียเวล่ำเวลา" ว่างี้เลยผม ถ้าจะปฏิบัติตามเขียนนี้ถึงวันตายมันก็ไม่รู้อวิชชาละนา อวิชชาไม่ได้เป็นแบบเขียนนี่นา แบบเขียนกับอวิชชามันผิดกันคนละโลก เราปฏิบัติอวิชชาปฏิบัติตามแบบนี้ตายทิ้งเปล่า นา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา.... เอ้าต่อแขนงกันไปโน้น

        จับมันลงต้นตออวิชชานี้ กิ่งแขนงมันอยู่ที่ไหน ฟาดกันลงตรงนั้นซิ ให้มันม้วนชาดกไปเลย "อย่างนั้นเหรอ "(ท่านฟังด้วยความสนใจ)"อย่างนั้นแหละ" เขียนอย่างนี้มันหลอกเจ้าของ อย่าเข้าใจว่าจะแก้กิเลสได้แม้สักนิดหนึ่งเลยแบบแผนนี้น่ะ แก้ไม่ได้เราบอกอย่างนี้เลย นี้ยืนยันได้เลยว่า "แก้ไม่ได้"(ว่างี้เลย) เอ้า ถ้าอยากจะทราบเรื่องอวิชชา ไม่ต้องมาเขียนแปลน ฟาดมันลงไปหัวใจนี้ซิ มันเขียนเรื่องเกี่ยวโยงเกี่ยวกับเรื่องอะไร รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส  พิจารณามัน  อย่าให้หนีเรื่อง  อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตาเถอะ อสุภะอสุภัง เอามันตรงนี้ นี่ละตรงที่จะม้วนชาดกอวิชชา ฟาดลงไป นี้

        สุดท้ายอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มันไปรวมที่หัวใจทั้งหมดนั้นแหละ อสุภะอสุภังมันก็รวมที่หัวใจ จะเป็นผู้รู้ผู้เห็น เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วนี่ เพียงแต่มาเขียนแปลนเขียนจนวันตายไม่ได้เรื่องอะไร ผมเลยไม่อ่าน ผมไม่อ่าน เสียเวลา (ก็เป็นกันเองนี่กับท่านเจ้าคุณ...ถ้าคนอื่นผมก็พูดอีกแบบหนึ่งไม่ได้พูดแบบเดียวกัน) ทำให้กิเลสมันหัวเราะ เอาให้กิเลสมันร้องไห้เป็นไร จะเอาอะไรมาหลอก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อย่ามาหลอกเลย จะเอาแบบโลกมาใช้กับธรรมไม่ถูก มันคนละโลก

        แม้แต่ปริยัติไม่ได้ประมาทนะ ปริยัติเราเรียนมาแท้ นี่ ในขณะที่ไม่ควรจะไปเกี่ยวข้องปริยัติ ไปเกี่ยวข้องยุ่งหมดไม่เกิดประโยชน์ อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูดให้ผม ผมไม่ลืม ฝังหัวใจลึกที่สุดไม่มีวันถอน ไปหาท่านเป็นวันแรกเสียด้วย "เออ! ท่านมหาก็เรียนมามากพอสมควรจนเป็นมหา แต่อย่าว่าผมประมาทธรรมของพระพุทธเจ้านะ (พอว่าอย่างนั้นยกมือขึ้นเลยนะ) ธรรมท่านเรียนมามากน้อยให้ยกบูชาไว้เสียก่อน เวลานี้ยังไม่เกิดประโยชน์สำหรับท่าน ให้ท่านพยายามทำจิตของท่าน เอาจิตของท่านให้ได้ ให้มีความสงบเยือกเย็น เอาตรงนี้นะ

        อย่าไปยุ่งกับปริยัติที่เรียนมามากน้อย เวลานี้ยังไม่สมควร จะก่อความวุ่นวายให้เจ้าของเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ (ท่านว่างั้น) ทำจิตของเราให้มันสงบให้ได้นะ จะสงบด้วยวิธีไหนเอาให้มันสงบให้ได้ ตรงนี้ (ท่านว่างั้นนะ) เมื่อถึงคราวที่มันจะวิ่งออกถึงกันแล้วประสานกันแล้วเอาไว้ไม่อยู่" (ท่านว่างี้นะ) แหม! ถึงใจนะ "เมื่อถึงกาลเวลาที่ควรจะวิ่งประสานกันระหว่างปริยัติกับปฏิบัติแล้วจะเอาไว้ไม่อยู่ จะต้องวิ่งถึงกันตลอดเวลา" (ท่านว่าอย่างนี้) แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริง นี่ ได้ปฏิบัติมาแล้ว

        พอว่างั้นแล้วก็เอาอย่างท่านว่า เพราะผมเถรตรงนี่นะ เชื่อครูบาอาจารย์แล้วจะไปแย้งท่านได้ยังไงเมื่อเชื่อแล้ว ฟาดแต่จิตลงไปจนมันได้รับความสงบ พอสงบแล้วมันก็อยู่นั่นเสีย จนกระทั่งท่านลากออกสู่คัมภีร์ (พูดง่ายๆ)"มันควรจะวิ่งหาคัมภีร์ก็วิ่งซิ"(เหมือนอย่างนั้น) ทีนี้ไล่ออกทางด้านปัญญา พอออกด้านปัญญาแล้วนั่นละที่นี่ มันรู้มันเห็นอะไร นี้มันวิ่งสู่ปริยัติ ทั้งฝ่ายแก้ฝ่ายถอดฝ่ายถอน ผลที่ปรากฏแล้วยังต้องเอาปริยัติมายืนยันอีกที ทั้งที่แน่ในใจแล้วยังต้องเอาปริยัติมายืนยัน การปฏิบัติในแง่นี้เป็นยังไง เอาปริยัติเข้ามาเทียบปุ๊บ

        ในขณะปัญญามันวิ่ง มันวิ่งของมันเอง ประสาน ถึงขั้นประสานอย่างที่ท่านว่าไม่ได้ผิดเลยนี่นะ ไม่ยอมได้ยังไงก็ความจริงเป็นอย่างนั้น เมื่อไปถึงขั้นนั้นแล้วมันเป็นอย่างที่ท่านว่าจริง เอาไว้ไม่อยู่ ยังไงต้องวิ่งประสานกันอย่างท่านว่า "แต่เวลานี้ยังไม่เกิดประโยชน์ อย่านำปริยัติเข้ามายุ่งนะ จะเกิดสัญญาอารมณ์ แทนที่จะให้ได้รับความสงบเป็นพื้นเป็นฐานที่จะพิจารณาต่อไป มันจะเป็นไปไม่ได้ (ท่านว่า) ผมไม่ลืม

เอาละ เหนื่อยละ เพียงเท่านี้

 


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก