เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
ทางเดินเพื่อพ้นทุกข์
คำว่าโลกวุ่นวาย ส่วนมากคิดไปสู่ภายนอก ด้วยความติดใจแน่ใจด้วยว่าโลกวุ่นวาย ความจริงแล้วโลกอยู่ที่หัวใจของสัตว์และบุคคลแต่ละรายๆ ไม่เว้น อยู่กับจิต ความวุ่นสร้างขึ้นที่จิต แสดงอยู่ที่จิต เหมือนโรงงานที่เปิดแล้วไม่มีวันปิดนั่นแล ผู้จะระงับดับความวุ่นวายของโลกได้ ต้องเป็นผู้ปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะกับการปฏิบัติตัวเอง การดูความวุ่นวายของโลกกับการดูความวุ่นวายของใจ อันเป็นสถานที่ผลิตขึ้นแห่งเรื่องทั้งหลายจนกลายเป็นโลกวุ่นวาย ก็ไม่พ้นจากจิตดวงนี้ไปได้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องมองดูที่นี่ จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมปฏิบัติตน
เราดูภายนอกหาความสิ้นสุดยุติไม่ได้ ดูตั้งแต่วันรู้จักเดียงสาภาวะมาจนกระทั่งวันตาย หาความระงับดับความวุ่นวายของโลกซึ่งเกิดขึ้นที่ใจนี้ไม่ได้ ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้มีทางทราบได้ และทราบได้โดยลำดับภายในหัวใจของตน อันเป็นสถานที่ผลิตหรือที่เกิดที่อยู่ของความวุ่นวายทั้งหลาย โลกย่อมเป็นอยู่เช่นนั้น เพราะคำว่าโลกกับคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันไปตลอดสายแยกไม่ออก ถ้าจิตไม่ไปสร้างความวุ่นวายไปสำคัญมั่นหมายสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาเป็นเรื่องราวกับตัวเองแล้ว แม้สิ่งใดจะเป็นเช่นไรก็เป็นอยู่ตามความจริงของเขา ใจเราก็สะดวกสบาย เพราะมีความเฉลียวฉลาดรอบตัวในการปฏิบัติต่อสิ่งที่มาเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับเรา
คำว่ามารก็ไม่อยู่ที่อื่นที่ไกล ท่านว่ากิเลสมาร นั่น กิเลสคุณมีที่ไหนเคยได้ยินไหม ไม่เคยมี ท่านกล่าวไว้ล้วนแล้วแต่กิเลสมาร ไม่ว่าประเภทใด คำว่ากิเลสแล้วย่อมอยู่ที่จิตและเกิดขึ้นที่จิต สร้างความวุ่นวายให้ที่จิต รังควานที่จิต บีบบังคับอยู่ที่จิต จึงเรียกว่ากิเลสมาร สิ่งอื่นไม่ใช่มาร ตัวกิเลสนี้แลเป็นตัวมารอันใหญ่หลวงภายในใจของเราของท่านทุกรูปทุกนามไม่มีเว้น เว้นแต่พระอรหันต์ท่านเท่านั้นที่ไม่มีกิเลสมารเข้าไปเคลือบแฝงหรือแอบแฝงได้
ธรรมะเครื่องปราบมาร พระพุทธเจ้าประทานไว้สมบูรณ์แล้ว ไม่มีข้อหนึ่งข้อใดบกพร่อง สมกับคำว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว นั่น เพราะรู้ชอบเห็นชอบ การตรัสออกมาด้วยความรู้ความเห็นอันชอบอันเป็นความจริงล้วนๆ นั้น จึงไม่มีการผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไหน ตรงต่อความจริงทุกสิ่งทุกอย่างทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ทั้งวิธีการละทั้งวิธีการบำเพ็ญ ทรงแสดงไว้โดยถูกต้องทุกแง่ทุกมุม เหมาะสมกับการแก้ไขถอดถอน และเหมาะสมกับการบำเพ็ญทุกแง่ทุกมุมทุกขั้นทุกภูมิไป ไม่มีข้อที่น่าสงสัยในพระโอวาทที่แสดงไว้แล้ว
นิยยานิกธรรม เป็นธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์โดยถ่ายเดียว คือนำสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายนั้นแล ออกจากใจซึ่งเป็นคลังแห่งพิษภัยและกองทุกข์ทั้งหลาย ความสุขความสบายเริ่มแต่ความสุขเย็นใจขึ้นไป ถึงขั้นสว่างกระจ่างแจ้งด้วยปัญญาเป็นขั้นๆ จนถึงวิมุตติหลุดพ้น อันเป็นธรรมที่พึงปรารถนาของเราทุกท่าน จะพึงรู้เห็นจากการประพฤติปฏิบัติของตน
งานของพระที่เป็นงานประจำ เหมาะสมกับเพศและหน้าที่ของเราโดยแท้จริงนั้น พระพุทธเจ้าประทานให้แล้ว ยก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ขึ้นเป็นงานชิ้นสำคัญๆ เพราะสถานที่เหล่านี้หรือวัตถุที่กล่าวเหล่านี้เป็นที่ซ่องสุมของกิเลสทุกประเภท รวมอยู่ในที่นี่ การคลี่คลายขยายดูสิ่งเหล่านี้ด้วยสติปัญญาของตน ซึ่งเป็นการทำลายหรือซักฟอกสิ่งซึมซาบคือกิเลสทั้งหลายออกได้โดยลำดับ จึงไม่ใช่งานเล็กน้อย เป็นงานจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะกิเลสเข้าไปแทรกอยู่หมดทุกแง่ทุกมุมในบรรดาอาการที่กล่าวมา เฉพาะอย่างยิ่งมีห้าอาการนี้ เพราะเป็นอาการอันใหญ่ มี ตโจ เป็นสำคัญมากในตัวสัตว์บุคคลทั่วๆ ไป
ในร่างกายของเราทุกร่างนี้ ดูให้ถึงตามหลักความจริง มีหนังเท่านั้นเป็นเครื่องฉาบทาเอาไว้ เป็นเครื่องหลอกตาลวงใจของสัตว์โลก ฉะนั้นท่านจึงนำของจริงเข้ามาเพื่อกำจัดของปลอมที่เสกสรรปั้นยอไว้นั้น ให้จางหายไปด้วยความจริง ตโจ แลว่าหนัง ปริยนฺโต หุ้มห่ออยู่โดยรอบร่างกาย นี่เป็นเครื่องพรางตาของสัตว์ไม่ให้มองเห็นความจริง จึงต้องใช้ความพินิจพิจารณาคลี่คลายเอาเพียงหนังบางๆ เท่านี้แหละออก แล้วจะเยิ้มไปด้วยสิ่งสกปรกทั้งหลาย หมดทุกชิ้นทุกอันภายในร่างกายนี้ไม่มีข้อยกเว้นเลยว่าจะไม่เป็นอสุภะอสุภัง ไม่เป็นสิ่งปฏิกูลโสโครก เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ทั้งนั้น มีหนังเท่านั้นเป็นเครื่องหุ้มห่ออยู่ภายนอก ให้หลงภายในว่าเป็นเหมือนกับภายนอกนี้ ความจริงไม่ได้เหมือน สิ่งภายนอกบางๆ เท่านั้นที่ปกคลุมหุ้มห่อเอาไว้ นอกนั้นเป็นก้อนปฏิกูลโสโครกทั้งหมด ยิ่งลึกยิ่งในเข้าไปเท่าไรก็ยิ่งน่าขยะแขยงเต็มไปด้วยสิ่งไม่พึงปรารถนา
เราแต่ละคนๆ นี้ก็คือกองอสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบเราดีๆ นี่แล นี่คือความจริงไม่ใช่ความปลอมดังกิเลสเสกสรรปั้นยอเอาไว้ว่าสัตว์ว่าบุคคล ว่าเป็นของสวยของงาม แต่หาของสวยของงามตามคำที่กิเลสเสกสรรไว้อย่างฝังใจนั้นไม่มีเลย มีแต่ของปฏิกูลทั้งนั้นตามหลักธรรม นี่เพียงขั้นนี้ก็ทำให้สลดสังเวชแล้วภายในร่างกายของเรานี้ไม่มีอะไร อะไรที่จะเป็นสาระเป็นแก่นสาร อนิจฺจํ ก็ตีตราไว้อยู่แล้วอย่างแน่นหนามั่นคง ว่าไม่มีชิ้นใดที่จะเป็นสิ่งจีรังถาวร พอที่จะยึดว่าเป็นเราเป็นของเราได้ตลอดไป นอกจากเพียงอาศัยมันอยู่เท่านั้น
ถ้าพูดถึงเรื่องความสุข เราเคยเห็นอวัยวะต่างๆ นี้แสดงความสุขให้เราเห็นมีชิ้นใดบ้างไม่ปรากฏ เวลาพบเห็นกันถามเรื่องสุขเรื่องทุกข์กันก็ถามว่า เป็นยังไงสบายดีเหรอ เพียงโรคไม่แสดงตัวขึ้นมาในร่างกายเท่านั้นก็ไปเหมาเอาแล้วว่า ร่างกายนี้มีความสบาย ก็พูดกันไปแบบสุ่มๆ เดาๆ ว่า สบายดี นั่ คำว่าสบายดีก็หมายถึงตอนนั้นโรคไม่กำเริบ หรือว่าโรคภัยต่างๆ นอนหลับยังไม่ตื่นเท่านั้นเอง หาความสุขจริงๆ ภายในร่างกายนี้ไม่มี จะมีก็เฉพาะเวลารับประทานอาหารสัมผันสัมพันธ์กับสิ่งที่ตนต้องการบ้างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ก็ไม่พ้นที่จะเข้าไปจุนเจือสิ่งที่บกพร่อง เช่น ความหิวความกระหายซึ่งเป็นความทุกข์อยู่แล้วจนได้แหละ แน่ะ ก็เพียงเข้าไปเยียวยากันเท่านั้น
เราเอาความสุขความสบายจากร่างกายนี้ที่ไหนกัน มองดูแล้วมันไม่มี รับประทานอาหารว่าเอร็ดอร่อย ก็เพียงไปเยียวยาความหิวความกระหาย สัมผัสสัมพันธ์ลิ้นนิดหน่อย ผ่านเข้าไปพอรู้ว่ามีรสอย่างนั้นมีรสอย่างนี้ยิบๆ เท่านั้นหายไปแล้วไม่มีเหลือ แล้วจะว่า สุขํ ที่ไหน สุขในการรับประทานก็เพียงผ่านลิ้นประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ไม่กี่ชั่วโมงทุกข์เพราะความหิวกระหายก็เริ่มเกิดขึ้นอีกแล้วๆ อยู่นั่นแล
ทีนี้คำว่า ทุกฺขํ นั้นเป็นสิ่งที่เด่นชัดอยู่แล้วว่า ร่างกายส่วนต่างๆ นี้มีการบีบบังคับกันไปในตัว ส่วนจิตใจก็ถูกบังคับด้วยกิเลสตัณหาประเภทต่างๆ ไม่มีเวลายับยั้งตั้งตัวได้เลย ถ้าใช้สติปัญญาพิจารณาแล้ว จะเห็นกองพิษกองภัยเต็มอยู่ทั้งร่างกายและจิตใจของตนอยู่โดยสม่ำเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยบกพร่องในกายในใจ สิ่งที่บกพร่องก็คือสติปัญญาเป็นต้นเท่านั้น ถ้าพิจารณารู้เห็นแล้วจะคว้ามายึดมาถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นสิ่งที่น่ารักใคร่พึงใจได้อย่างไร ยึดไม่ลง เมื่อทั้งสองนี้กลมกลืนกันเป็นเรื่องอนิจฺจํ ทุกฺขํ ไปด้วยแล้ว คำว่า อนตฺตา เราจะถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขาที่ไหน มันไม่มี ธรรมอันแท้จริงเป็นอย่างนี้
สิ่งที่จอมปลอมก็คือ นิจฺจํ สุขํ อตฺตา แฝงกันขึ้นมานี้ สวมรอยธรรมและมีอำนาจแผ่กระจายครอบหมดทั้งร่างกายและจิตใจ กายเป็นของปลอมนั้นกลับกลายเป็นของจริงไปเสียทั้งสิ้น นี่เพราะความเสกสรรปั้นยอของกิเลสประเภทต่างๆ ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจ
ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องใช้ความพินิจพิจารณาอย่างละเอียดลออ ตามหลักธรรมอันเป็นของจริงนี้ เพื่อปราบปรามแก้ไขหรือซักฟอกสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ที่ปักเสียบไว้ทั่วสรรพางค์ร่างกายเหมือนกับเสี้ยนกับหนาม ให้ออกจากร่างกายและจิตใจโดยลำดับจนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิง
เราจะเห็นได้ชัดเจนที่นี่ ไม่มีใครมาบอกก็ตาม ความจริงบอกอยู่แล้วภายในร่างกายและจิตใจ เพราะธรรมมีอยู่ที่นี่ ความจริงมีอยู่ที่นี่ เมื่อพิจารณาตามหลักความจริงย่อมจะเห็นความจริง เมื่อเห็นความจริงแล้วย่อมปล่อยวางสิ่งจอมปลอมทั้งหลายออกได้โดยลำดับที่ความจริงเข้าถึง แล้วปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิง จากนั้นก็เป็นอิสรเสรีไม่มีคำว่าเราว่าเขา สักแต่ว่าอาศัยกันไปชั่วระยะกาลของสิ่งสมมุติที่ได้เกี่ยวข้องกันมาแล้วเท่านั้น ส่วนจิตก็ไม่ติดไม่พัน ไม่แบกไม่หามด้วยอุปาทาน เพราะความลุ่มหลงเป็นสาเหตุ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ และร่างกายทุกส่วนก็เป็นของจริงตามหลักธรรมชาติของเขา จิตไม่ไปเปลี่ยนแปลงปั้นยอเขาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อีกต่อไป ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้ว ย่อมไม่กระทบกระเทือนกัน จึงอยู่เป็นผาสุกโดยหลักธรรมชาติปราศจากสิ่งเสกสรร
หากร่างกายจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วยมากน้อย ก็ทราบชัดว่าร่างกายมีความวิกลวิการผิดปกติไปตามสภาพของมัน ทุกขเวทนาก็แสดงขึ้นไปตามความวิการของร่างกายส่วนต่างๆ เรื่องก็มีเท่านั้น เมื่อความวิการของร่างกายสงบตัวลง ทุกขเวทนาก็สงบตัวลง หรือเมื่อถึงขีดถึงแดนของมันเยียวยารักษาไม่ได้แล้ว ร่างกายก็แสดงความวิการของตนเต็มที่ ทุกขเวทนาก็แสดงเต็มที่เป็นเงาตามตัวไปในนั้น แล้วกระจายออกจากกันไปตามความจริงของใครของกัน จิตที่รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วก็อยู่ตามความจริงของตน ไม่มีความหวั่นไหวหรือกระทบกระเทือนตนเอง นี่คือผลแห่งการพิจารณารู้รอบ หรือทำงานเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว นับตั้งแต่กรรมฐาน ๕ ไปถึงอาการ ๓๒ ซึ่งเป็นส่วนรูปกายนี้ เข้าถึงเวทนา ทั้งกายเวทนาทั้งจิตเวทนาไปโดยลำดับ
สัญญา ความจดจำได้หมายรู้ซึ่งเป็นอาการอันหนึ่ง เป็นเงาของจิตเพียงเท่านั้นไม่ใช่ตัวจริงของจิต การรับทราบจากสิ่งมาสัมผัสที่เรียกว่าวิญญาณก็เป็นทำนองเดียวกัน มีแต่อาการ มีแต่เงา ความจำที่เรียกว่าสัญญาก็เป็นอาการอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปต่างๆ หาความแน่นอนไม่ได้ ท่านจึงเรียกว่า รูปํ อนิจฺจํ, เวทนา อนิจฺจา, สญฺญา อนิจฺจา, สงฺขารา อนิจฺจา, วิญฺญาณํ อนิจฺจํ เป็นสิ่งที่แปรสภาพอยู่ตามหลักธรรมชาติของเขา จึงไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งจะควรถือเอาแม้แต่ชิ้นเดียวหรืออาการเดียว
การพิจารณาให้รู้เท่าทันและปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ จนกระทั่งเชื้อของมันที่จะให้เกิดขึ้นมาเป็นรูปเป็นกาย เป็นภพเป็นชาติซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตใจ ก็ไม่ทนสติปัญญาที่มีความฉลาดแหลมคมทันกันไปได้ และแผ่กระจายออกไปโดยตลอดทั่วถึงภายในกายในจิต เชื้อแห่งภพแห่งชาติท่านกล่าวไว้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ก็ตัวอวิชชาซึ่งเป็นตัวสำคัญ จอมกษัตริย์วัฏจักรที่มีอยู่ภายในจิตนั้นแล มันผลักดันออกมาให้คิดให้ปรุงให้สำคัญมั่นหมายลูบๆ คลำๆ ไปต่างๆ นานาจนไม่มีประมาณ
ท่านว่า อวิชฺชาปจฺยา สงฺขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ มีความต่อเนื่องกันไป อันนี้ท่านพูดตามอาการๆ ต่อเนื่องกันของอวิชชา จึงเป็นเหมือนว่าเป็นสายยาวเหยียดไปจนกระทั่งหาที่สิ้นสุดยุติไม่ได้ ความจริงมันเป็นอยู่กับจิต แม้แสดงอาการสืบเนื่องกันยาวเหยียดตามที่ท่านแสดงไว้ ก็แสดงอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ มิได้ยืดยาวเป็นสายโทรเลขดังที่คาดคิดกัน คือคำที่ว่าอวิชชาทำให้เกิดสังขารนั้น เราแยกออกมาใช้ทางมรรคเพื่อทำลายอวิชชาก็ได้ดังนี้
สังขารที่ปรากฏคิดปรุงขึ้นมาด้วยอำนาจของอวิชชานั้นเป็นอย่างหนึ่ง สังขารที่คิดปรุงขึ้นมาด้วยอำนาจของธรรมพาให้คิดให้ปรุง เช่น การไตร่ตรองพินิจพิจารณาอรรถธรรมแง่ต่างๆ เป็นอีกอย่างหนึ่ง การคิดปรุงขึ้นมาตามธรรมชาติของตนซึ่งเป็นขันธ์ล้วนๆ ของพระอรหันต์ ไม่มีอะไรเข้าเคลือบแฝง ไม่มีอะไรมาบังคับ เป็นสังขารประเภทหนึ่ง สังขารประเภทนี้ไม่มีพิษมีภัย ไม่เหมือนสังขารที่เกิดขึ้นมาจากความผลักดันของอวิชชา หรืออวิชชาบังคับให้คิดให้ปรุง นี้คิดมากเพียงไรเป็นพิษเป็นภัยทั้งนั้น เพราะเป็นฝ่ายสมุทัยเครื่องผูกมัด คำว่าสังขารจึงแยกได้ ๓ ประเภท คือประเภทสมุทัย ประเภทมรรค และประเภทสังขารของพระอรหันต์ซึ่งเป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้าเจือปน
วิญญาณ ความรับทราบ ให้เกิดสังขาร ให้เกิดวิญญาณ ให้เกิดอายตนะความสัมผัสสัมพันธ์อย่างนี้ มันอยู่ในจิตดวงเดียวนี้ทั้งนั้น ท่านแยกไปตามความละเอียดสุขุมลุ่มลึกของพระพุทธเจ้า ภูมิของศาสดา ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องไปไล่ไปเลียงให้เป็นแบบเป็นฉบับยืดยาว จะกลายเป็นแปลนบ้านแปลนเรือนแบบโลกๆ ไป ซึ่งความจริงของการปฏิบัติมิได้เป็นเช่นนั้น
จงย้อนเข้ามาพิจารณาตรงนี้จะรู้หมด นับตั้งแต่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ถึงสมุทโย โหติ และรอบหมดตั้งแต่ อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ จนกระทั่ง เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ รวมอยู่ที่ใจนั้นทั้งสิ้น ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากนี้เลย ที่ท่านอธิบายเป็นลูกโซ่ไปนั้น ท่านอธิบายอาการของอวิชชาแสดงตัวต่างหาก จุดรวมของอวิชชา และจุดจบของอวิชชาแท้อยู่ที่การพิจารณาจิตอวิชชาตามกำลังสติปัญญาที่ควรแก่กันแล้วเท่านั้น เรื่องของอวิชชาพาปรุงให้เป็นขันธ์ มันเป็นขันธ์ของสมุทัย ไม่ได้เป็นขันธ์อยู่ตามธรรมดาของตน
เมื่อพิจารณาทำลายรังของภพของชาติคือจิตอวิชชาแตกกระจายออกไปแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะไปตั้งภพตั้งชาติอีก แม้เจ้าตัวก็ทราบ ถึงจะไม่เคยทราบมาก่อนก็ตาม ดังพระพุทธเจ้าทรงทราบเป็นพระองค์แรก แล้วพระสาวกทั้งหลายทราบตามลำดับกันมาอย่างเต็มหัวใจแล้ว ท่านไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าในเรื่องเหล่านี้เลย เป็นไปตาม สนฺทิฏฺฐิโก ของผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเอง เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาดในความรู้ความเห็นอันจะเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติดีนั้นๆ คำว่ารู้รู้อย่างนี้
คำว่าภพชาติหมด หมดที่จิตไม่ได้หมดที่ไหน ภพชาติมีมากน้อยที่เคยเกิดแก่เจ็บตายมาเท่าไร แม้จะตามนับภพนับชาติไม่ได้ก็ตาม แต่ก็ไม่พ้นหลักปัจจุบันจิตที่แสดงให้เห็นอยู่ภายในใจ ว่าจิตจะไปเกี่ยวข้องหรือผูกพันกับสิ่งใดอีกอันจะพาให้เกิดให้ตายต่อไปอีกไม่มี นี่แลธรรมของพระพุทธเจ้าพิสูจน์กันที่จิต พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่พิสูจน์ด้วยการท่องการจดจำการเล่าเรียนมาเฉยๆ ซึ่งได้แต่ชื่อแต่นามของกิเลสตัณหาอาสวะ ได้แต่ชื่อแต่นามของอรรถของธรรมของมรรคผลนิพพาน ตัวของกิเลสตัณหาอาสวะแท้ฝังอยู่ภายในจิตใจไม่มองดูเลย มรรคผลนิพพานซึ่งถูกกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่างๆ ครอบเอาไว้ก็ไม่มองดูเพราะไม่สนใจมอง เพราะฉะนั้นการเรียนเฉยๆ ไม่ได้สนใจในภาคปฏิบัติจึงไม่เกิดประโยชน์อะไร
ท่านจึงสอนให้ถือเป็นความจำเป็นในธรรมทั้งสามที่เกี่ยวโยงกัน คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียน นับตั้งแต่ศึกษาจากอุปัชฌายะในกรรม ๕ นั้นเป็นลำดับไป ปฏิบัติ คือนำเอาสิ่งที่ตนเข้าใจ ที่ตนรู้แล้วศึกษามาแล้วนั้นไปปฏิบัติ คลี่คลายขยายดูให้เห็นตามหลักความจริง ดังที่เราพิจารณากรรมฐานหรือปฏิบัติกรรมฐานนี้แลเรียกว่าภาคปฏิบัติ เมื่อมีภาคปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธอันเป็นผลจะพ้นจากงานนี้ไปไม่ได้ เพราะงานเป็นต้นเหตุ งานเป็นแม่บทที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นเป็นลำดับ จนถึงความรู้แจ้งแทงตลอดหายสงสัยในธรรมทั้งปวง
จิตเป็นของลึกลับมาก เมื่อกิเลสยังครอบอยู่จะพิสูจน์ท่าใดก็ไม่มีทางรู้ นอกจากภาคปฏิบัติเท่านั้น ไม่มีอะไรจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นความจริงของจิตได้เหมือนการปฏิบัติจิตตภาวนาเลย พระพุทธเจ้าเองก็ทรงปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชนถึงขั้นสลบไสล พระสาวกก็ปฏิบัติมาแล้วด้วยกัน เรียกว่าท่านทำงานทางภาคปฏิบัติมาแล้วทั้งนั้น จึงได้ผลเป็นที่พอพระทัยและพอใจ ไม่ใช่เพียงเรียนมาแล้วกิเลสก็หลุดลอยไปเอง ต้องมีการปฏิบัติด้วยผลจึงจะปรากฏจนถึงขั้นสมบูรณ์ได้
นี่แลการพิสูจน์จิตซึ่งเป็นของลึกลับในขณะที่กิเลสครอบงำอยู่ จึงต้องพิสูจน์ด้วยภาคปฏิบัติอันเป็นงานเพิกถอนกิเลส จนกระทั่งเข้าถึงกระแสของจิตถึงตัวจิตโดยสมบูรณ์ และเกิดความอาจหาญชาญชัยไม่สะทกสะท้านดังที่เคยเป็นมา เพราะตนเป็นผู้รู้เองเห็นเอง เนื่องจากตนเป็นผู้ปฏิบัติมาและรู้มาประจักษ์ใจ จึงหาความสะทกสะท้านไม่ได้ สามารถพูดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถเต็มธรรม เต็มตามความจริง ดังพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นศาสดาเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น สามารถประกาศธรรมสอนโลกได้โดยตลอดทั่วถึง
ขอให้รู้ความจริงแห่งธรรมขั้นนั้นๆ ด้วยการปฏิบัติของตนเถอะจะพูดได้ ถ้าไม่รู้พูดไม่ถูก เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของจิตเป็นเรื่องลึกลับสลับซับซ้อนมาก เพราะกิเลสพาให้สลับซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องธรรมพาให้สลับซับซ้อน นี่ละโลกเราที่ได้หลงกันหลงโลกหลงสงสาร หลงความเกิดแก่เจ็บตายของตนซึ่งเคยเป็นมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่อย่างนั้นยิ่งกว่าฟุตบอล ก็ยังหลงและลบล้างความเป็นมาของตนได้ โดยเห็นว่าตนไม่เคยเกิดตนไม่เคยตาย ตนไม่เคยทุกข์เคยลำบาก ตนไม่เคยตกนรกหมกไหม้ ตนไม่เคยไปสวรรค์ชั้นใดๆ
ความจริงสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจิตดีชั่วทั้งนั้น จิตดีก็ไปสูง จิตไม่ดีก็ไปต่ำ จิตดีก็เป็นสุข จิตชั่วก็เป็นทุกข์ สถานที่อยู่ของผู้มีสุขมีทุกข์ก็คือนรกสวรรค์ อบายภูมิทั้งสี่จนถึงพรหมโลก เหมือนกับสถานที่อยู่ของนักโทษและผู้หาโทษมิได้นั่นแล มันมีอยู่อย่างนั้นจะไปลบล้างได้ยังไง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกิเลสพาลบล้าง มันปิดมันบังสิ่งที่เคยเป็นมาของตนเสียอย่างมิดชิดชนิดปิดหูปิดตามองไม่เห็น แล้วก็ยึดเอาความมองไม่เห็นนั้นมาลบล้างสิ่งที่มีว่าไม่มีไปเสียโดยไม่คิดสะดุดใจบ้างเลย นี่ละคนเราที่ทำชั่วปล่อยตัวจนจมมิด และหมดหวังทั้งที่ร่างกายและชีวิตยังมีลมหายใจอยู่ ก็เพราะอำนาจกิเลสตัวพาคนให้มืดบอดนี่แล มิใช่ดินฟ้าอากาศมืดแจ้งพาให้เป็น
ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติจึงเป็นการพิสูจน์ที่แน่นอน ที่จะเห็นผลตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ เพราะตรัสไว้ตามความมีอยู่เป็นอยู่ของทุกสิ่งทุกอย่าง จิตเป็นวิสัยที่จะรู้จะเห็นสิ่งมีอยู่เป็นอยู่ทั้งหลายได้เต็มกำลังของตัว ทำไมจะไม่รู้ไม่เห็น ต้องรู้ต้องเห็นได้ เมื่อมีเครื่องมือช่วยบุกเบิกเพิกถอนต้องรู้เห็นได้ตามฐานะและกำลังของตน เฉพาะอย่างยิ่งกิเลสประเภทต่างๆ มีมากน้อย ต้องรู้ได้ละได้โดยลำดับด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ ขออย่าให้กิเลสเข้ามาทำงานแทนที่ในวงความเพียรโดยไม่รู้สึกตัวเถอะ นี่สำคัญมาก จงระวังด้วยดีทุกระยะไป อย่าเผลอตัวเปิดช่องให้มัน
กิเลสนี้สอดแทรกรวดเร็วยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก แหลมคมมากไม่ทันมันง่ายๆ จึงต้องพูดเสมอถึงเรื่องสติ สตินี่เป็นสิ่งที่จะทันกับกิเลส เมื่อสติมีแล้วจิตก็ย่อมจะปลอดภัยตามฐานะของตนไปโดยลำดับ จากนั้นก็ปัญญาเป็นเครื่องมืออันสำคัญเป็นขั้นๆ ของปัญญา สามารถฟาดฟันกิเลสประเภทต่างๆ ได้ตามกำลังของตนและขาดสะบั้นไปด้วยปัญญา จนไม่มีกิเลสตัวใดเหลือภายในใจเลย
อยู่ที่ไหนก็อยู่เถอะที่นี่ พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนานไปสักกี่ปีกี่เดือนกี่พระองค์ ไม่คิดไม่สงสัยให้เสียเวล่ำเวลา เพราะความจริงที่เป็นอยู่เต็มหัวใจนี้มีอยู่กับตนแล้ว มีรูปลักษณะอย่างไรที่จะแปลกต่างกันกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสาวกทั้งหลายไม่มี เป็นธรรมชาติอันตายตัวเหมือนกันนี้ทั้งสิ้น นั่นละความจริงขั้นเอกขั้นเต็มภูมิแล้วเหมือนกัน
อยู่ที่ไหนก็เป็นพุทธะ เป็นธรรมะ เป็นสังฆะ ถ้าจะแยกเป็นอาการนะ ถ้าพูดตามหลักธรรมชาติอันแท้จริงแล้ว ธรรมะอันเดียวเท่านั้นพอ จิตได้กลายเป็นธรรมไปทั้งดวงแล้ว ธรรมกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว เพราะฉะนั้นคำว่าพุทธะทั้งหลายนั้นจึงไม่เป็นที่สงสัย หายสงสัยทั้งมวล และเข้ากับหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต นี้แลธรรมแท้ นี้แลคือตถาคตแท้เป็นอย่างนี้ พระสรีระนั้นเป็นเรือนร่างของพุทธะไม่ใช่องค์ของพุทธะ ธรรมะแท้ เป็นเพียงเรือนร่างเท่านั้น จึงมีการเสื่อมสลายแปรปรวนไปได้ตามกาลของมัน ข้อสำคัญขอให้ใจได้ดื่มธรรมเถิด ก็เท่ากับได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตามฐานะตามกำลังของตนที่มีธรรมในใจ เมื่อได้ถึงธรรมเต็มภูมิก็ได้เฝ้าศาสดาเต็มองค์ไม่สงสัย
การปฏิบัติเป็นสำคัญมาก ขอให้ทุกท่านพยายามเต็มสติกำลังความสามารถ ทุกข์ชนิดใดเราเคยผ่านมาแล้วด้วยกันไม่เป็นที่สงสัย สุขใดก็ตามที่มีในโลกนี้ พ้นจากความสัมผัสสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราไปไม่ได้เลย เราจะต้องเป็นผู้รับทราบทั้งนั้นในสิ่งเหล่านี้ จึงไม่น่าจะสงสัยกับอะไรอีกแล้วในโลกนี้ สิ่งที่เรายังไม่ได้ดื่มดังจอมปราชญ์ทั้งหลายท่านแสดง และตรัสออกมาจากความรู้ความเห็นความเป็นจริงของท่าน ความเสวยของท่านจริงๆ นั้นเรายังไม่พบเรายังไม่เห็น เริ่มตั้งแต่สมาธิคือความสงบใจ ก็เป็นความสุขประเภทหนึ่งที่แปลกจากโลกอยู่แล้ว ความสุขของสมาธิเป็นขั้นๆ เป็นความสุขที่แปลกจากโลกเป็นขั้นๆ ไปเช่นเดียวกัน ปัญญาเป็นขั้นๆ ที่ได้ตัดกิเลสตัวเสนียดจัญไรออกไปเป็นลำดับ ก็เป็นความสุขประเภทหนึ่งๆ จนกระทั่งปัญญาตัดกิเลสทั้งหลายขาดจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว นั่นเป็น ปรมํ สุขํ เรียกว่าสุขในวิมุตติธรรมล้วนๆ ไม่มีสิ่งใดเข้าไปเจือปนเลย
นี่เรายังไม่เคยเห็นยังไม่เคยพบ ได้ยินแต่ชื่อของสมาธิ ได้ยินแต่ชื่อของปัญญาขั้นนั้นๆ ได้ยินแต่ชื่อของมรรคผลนิพพาน ได้ยินแต่ชื่อแต่เสียงท่านบรรลุ ยังไม่เห็นตัวจริงของความบรรลุ ยังไม่เห็นตัวจริงของความบริสุทธิ์ ยังไม่เห็นตัวจริงของความสิ้นจากกิเลสทั้งหลายว่ามีความเลิศประเสริฐประการใดบ้าง ทำไมพระพุทธเจ้าก็เป็นคนธรรมดา สาวกทั้งหลายก็เป็นคนธรรมดา พอตรัสรู้ธรรมบรรลุธรรมแล้วกลายเป็นผู้วิเศษไปได้หมด เป็นเพราะเหตุใด นี่ละการรู้ของจริงมีความแปลกต่างกันไปโดยลำดับอย่างนี้
เราเองก็เถอะ ขอให้รู้ธรรมเหล่านี้เป็นลำดับลำดาขึ้นไปจนกระทั่งวิมุตติหลุดพ้น ความวิเศษโดยหลักธรรมชาตินั้นจะไม่มีใครมาเสกสรรปั้นยอก็ตาม เราไม่เสียดาย เราไม่เกี่ยวข้อง เราไม่กังวล ขอให้ถึงตัวจริงแล้วเป็นที่พอใจ ความพอใจไม่ได้พอด้วยความเพลิดเพลินแบบผาดๆ โผนๆ พอใจด้วยความเหมาะสมกับธรรมชาติ พอใจด้วยความพอดิบพอดีกับธรรมชาติ ท่านว่านิพพานคือเมืองพอฉันใด ความพอใจอันนี้ก็มีความพอตัวคงเส้นคงวาฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นอันเดียวกัน
ธรรมที่กล่าวมาเหล่านี้เรายังไม่เคยพบเคยเห็น ใครพูดทางไหนเรื่องใดเราก็ตื่น ตาก็ตื่น หูก็ตื่น ใจก็ตื่น ซึ่งล้วนแต่พูดเพราะอำนาจของกิเลสตัณหาความมืดดำกำตาทั้งนั้น ไม่ได้พูดด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง พูดอยู่ในวงของสมมุติ เห็น ได้ยิน สัมผัสสัมพันธ์จากวงสมมุติ มาพูดสู่กันฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ โลกนั้นโลกนี้ บ้านนั้นเมืองนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้พากันตื่น เพราะกิเลสพาให้ตื่น ตื่นอยู่ตลอดเวลาไม่เคยเห็นโทษของมันเลย ทั้งๆ ที่ก็เคยเป็นมาอย่างนั้นแล้ว
ที่กล่าวมาเหล่านี้มีอันใดวิเศษ ทำคนให้วิเศษได้ ทำคนให้เป็นที่พึงใจแก่ตัวเองได้ ให้เป็นที่แน่ใจได้ ไม่ปรากฏ ควรเอามาทดสอบกันกับธรรมกับผู้รู้ธรรมกับท่านผู้ปฏิบัติธรรม ท่านผู้รู้ธรรมเห็นธรรม ท่านผู้มีธรรมเป็นสมบัติ ท่านผู้มีความสุขในธรรม เพราะท่านเหล่านี้ท่านเป็นผู้ที่เคยมีความสุขความทุกข์ในโลกมาพอตัวเช่นเดียวกับเราๆ ท่านๆ ไม่เป็นที่สงสัย เหตุใดเวลาท่านประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจึงกลายเป็นผู้วิเศษขึ้นมา ถ้าความรู้ความเห็นความเป็นความสุข สิ่งที่ท่านรู้สิ่งที่ท่านเห็นนั้นไม่เป็นของวิเศษเลยโลกเลยสงสารแล้ว ท่านจะเป็นผู้เลยโลกเลยสงสารเหนือโลกเหนือสงสารได้อย่างไร
นี่เป็นหลักสำคัญที่เราจะนำมาเทียบเคียงทดสอบ จะลบล้างความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความตื่นเต้นไปตามโลกตามสงสารเสียได้ จะไม่มีสิ่งใดเข้ามายุแหย่ก่อกวนจิตใจได้อีก เนื่องจากอำนาจแห่งความเชื่อความเลื่อมใส ความเอาจริงเอาจังมันถึงใจทุกอย่าง การปฏิบัติธรรมก็มีกำลัง ความเพียรก็เป็นความเพียร เพราะความมุ่งมั่นเป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดอันสำคัญ มุ่งมั่นต่อความสุข มุ่งมั่นต่อรสต่อชาติต่อมรรคผลนิพพาน ที่ท่านผู้วิเศษทั้งหลายได้พบได้เห็นแล้วเป็นผู้วิเศษขึ้นมา เราอยากเป็นเช่นนั้น เราอยากพ้นทุกข์เช่นนั้น เราอยากเห็นสุขประเภทนั้น
เอ๊า ที่นี่ย่นเข้ามาย่อเข้ามาถึงทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ไม่นอกเหนือไปจากงานที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นเลย นี่เป็นงานบุกเบิกเบื้องต้น เอ้า ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ เราเป็นผู้เริ่มจะดับทุกข์ด้วยความพากเพียร ด้วยทั้งมีครูมีอาจารย์คอยแนะนำสั่งสอนข้ออรรถข้อธรรมให้ไม่ไขว่คว้า แม้ผู้สอนก็ขอเรียนท่านทั้งหลายโดยตรงว่า ไม่ได้มีความสงสัยใดๆ ในข้ออรรถข้อธรรมที่นำมาสอนหมู่เพื่อน สอนด้วยความถึงใจของตัวเองทุกอย่าง ออกจากความถึงใจของตนทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งความรู้ความเห็นมากน้อยที่เป็นมาจากการปฏิบัติ ได้ถอดออกมาจากหัวใจจริงๆ ไม่ได้เที่ยวตะครุบนั้นลูบคลำอันนี้เอามาสอนแบบปาวๆ แบบด้นๆ เดาๆ เราไม่ด้น เราพูดตามความจริง สอนตามหลักความจริง และสอนด้วยความแน่ใจ จึงไม่เป็นที่สงสัยในการสอนทุกแง่ทุกมุมแห่งธรรม ทุกขั้นทุกภูมิแห่งธรรม ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะยึดและทรงไว้ได้มากน้อยตามกำลังของตน วิธีสอนก็แน่ใจว่าไม่ผิด
นี่คือเบื้องต้นแห่งการบุกเบิกดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านผู้ใดมีจริตนิสัยชอบพิจารณาในแง่ในอาการใดของอาการ ๓๒ แห่งร่างกายนี้ เอ๊า พิจารณาเถอะเหมือนกันหมด สำคัญที่จริตนิสัยชอบ จับแขนซ้ายก็กระเทือนถึงแขนข้างขวา จับเท้าซ้ายก็กระเทือนถึงเท้าข้างขวา จับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งกระเทือนถึงกันหมดเพราะเป็นอวัยวะเดียวกัน พิจารณาอาการใดก็ตามจะวิ่งถึงกันหมด เพราะเป็นกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นกองอสุภะอสุภังซึ่งจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งแทงทะลุไปตามๆ กันหมด สำคัญที่จริตนิสัย พิจารณาให้จริงให้จัง อย่าทำเล่นๆ กิเลสและมรรคผลนิพพานไม่ใช่ของเล่น
อย่าเสียดายกระแสของจิตที่กิเลสมันผลักดันออกมา วาดภาพหลอกเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ทำงานอันแท้จริงที่จะรื้อถอนมันได้เลย เพราะอำนาจของมันมาก พอทำอันนี้สักครู่เดียวเท่านั้น มันจะฉุดลากไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ อันเป็นเรื่องเป็นทางเดินของมันทั้งนั้น นั่นแหละมันแสวงหารายได้ แล้วเหยียบย่ำหัวใจเราตลอดเวลาไม่เข็ดหลาบกันเหรอ ความทุกข์เป็นยังไง เพียงหนามยอกเข้าฝ่าเท้ามันก็เจ็บจะตายอยู่แล้ว ให้ภพชาติที่เต็มไปด้วยทุกข์มันยอกลงไปทุกภพทุกชาติตั้งกัปตั้งกัลป์ ไม่เข็ดหลาบตรงนี้จะเข็ดหลาบตรงไหนนักธรรมะน่ะ ไม่พิจารณาสิ่งนี้จะพิจารณาอะไร เอาให้เห็นแจ้งเห็นจริงด้วยการปฏิบัติซิ
พิจารณาอะไรเอาให้จริงให้จัง อย่าเสียดายความคิดความปรุง เรื่องอดีตอนาคตมันเป็นไปจากจิตดวงนี้เป็นผู้หลอกอย่างเดียวเท่านั้น มืดกับแจ้งเขาเป็นปัจจุบันของเขาตลอดมา มืดกับแจ้งๆ เป็นอยู่อย่างนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้แหละ ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศหรือฟ้าแดดดินลม มันเป็นสภาพอันหนึ่ง ความจริงอันหนึ่งแต่ละอย่างๆ มันไม่มาให้ความสุขความทุกข์เราแต่อย่างใด เราเองเป็นผู้ไปหลง เป็นผู้ไปเพลิดเพลิน เป็นผู้ไปโศกเศร้า เป็นผู้ไปสำคัญมั่นหมายกับสิ่งเหล่านั้น แล้วก่อทุกข์ขึ้นมาภายในหัวใจตนเองต่างหาก ถ้าเราอยู่เป็นสุขๆ สงบสุขๆ ไม่ไปยุ่งกับสิ่งเหล่านั้น อะไรจะมาทิ่มแทงหัวใจเราได้ ก็ตัวอวิชชา ตัวสังขาร ตัวสัญญาอันเป็นตัวพิษภัยที่อยู่ภายในนี้แลเป็นผู้คว้าโน้นคว้านี้ หลอกโน้นหลอกนี้ หลอกอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ผู้เชื่อก็เชื่อไม่หยุดไม่ถอย จมไปกับมันไม่มีหยุดหลุดพ้น ไม่มีวันเบื่อหน่ายอิ่มพอเลย มันน่าหลอกมันถึงหลอก เพราะมนุษย์และพระธุดงคกรรมฐานเราหลอกง่ายเชื่อง่ายจะตายไป หั่นหอมกระเทียมแล้วค่อยมาหลอกให้ขึ้นเขียงสับยำก็ยังได้
ทีนี้นำธรรมเข้ามาเป็นงานแทนกิเลส ทำงานอะไรทำให้จริงให้จัง ในขณะที่ทำงานนั้นเหมือนโลกใดๆ ไม่มี มีเฉพาะงานภาวนาเท่านั้นในหัวใจ พิจารณาดูมันร่างกายนี้ตั้งแต่ข้างบนลงไปข้างล่าง ข้างล่างขึ้นไปข้างบน ดูทั้งข้างในข้างนอก เทียบเคียงกันให้ได้ทุกสัดทุกส่วน หลายครั้งหลายหนหลายตลบทบทวน จนเป็นที่เข้าใจด้วยสติปัญญา เรื่องความเบื่อหน่ายอิ่มพอในสิ่งเหล่านี้จะเป็นขึ้นมาเอง เมื่อสติปัญญาหยั่งลงไปถึงไหน พอตัวที่ตรงไหนแล้ว ถอดเองถอนเอง อุปาทานเป็นผลอันหนึ่งที่มาจากความหลง มันจึงยึด ถ้ารู้แล้วก็ถอนของมันเอง เหมือนนิโรธความดับทุกข์ เมื่อมรรคฆ่ากิเลสตายไปแล้วจะเอาทุกข์มาจากไหน ทุกข์ก็ดับไปเอง เพราะกิเลสต่างหากเป็นผู้ก่อทุกข์ขึ้นมา นี่การพิจารณาก็ให้พิจารณาอย่างนั้น มรรคคือสติปัญญาเป็นต้นเป็นเครื่องประหารกิเลส เมื่อกิเลสดับไป ทุกข์ก็ดับไป กิริยาแห่งทุกข์ดับไปนั่นแลท่านให้นามว่า นิโรธ อันเป็นผลของมรรคผู้ทำงาน นิโรธมิได้ทำหน้าที่ดับกิเลสแต่อย่างใด
ให้ทราบเสมอการประกอบความพากเพียร ว่ากิเลสมันแทรกอยู่ตลอดเวลา แม้ตั้งใจอยู่ขนาดนั้นมันยังเป็นความรู้สึกว่าลำบากลำบน ความรู้สึกว่าลำบากลำบนนั้นแลกิเลสมันแทรกอยู่ มันจะให้ถอย ฉะนั้นจึงว่ากิเลสละเอียดมาก เวลาพิจารณาเข้าไปรู้เข้าไปเท่าไรจึงทราบเรื่องของกิเลสกลมายาของกิเลส มันมีเป็นขั้นๆ ตอนๆ มีไปโดยลำดับลำดา เดินจงกรมมันก็ตามอยู่อย่างนั้น นั่งภาวนามันก็นั่งอยู่ด้วย เพราะมันอยู่กับใจเรา เผลอเมื่อไรต่อยเมื่อนั้น ถ้าสติปัญญาของเราทรงตัวอยู่ได้มันก็รอดูอยู่
จนกระทั่งสติปัญญาเรามีความแก่กล้าแล้ว ก็เริ่มปราบมันละที่นี่ ปราบมันได้โดยลำดับๆ จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อสติปัญญาแก่กล้า กิเลสตัวหยาบๆ ถูกประหัตประหารไปโดยลำดับ จนกระทั่งตัวหยาบๆ หายหน้าไปหมดไม่มีเหลือ และรู้ชัดด้วยว่าได้ฆ่าตายแล้วภายในใจ ทีนี้ต้องค้นหากิเลส สติปัญญาขั้นนี้ไม่มีคำว่าเผลอ นั่นฟังซิเมื่อถึงขั้นมันเกรียงไกรเป็นอย่างนั้นแล ขั้นล้มลุกคลุกคลานก็รู้กัน เวลานี้กำลังล้มลุกคลุกคลาน เอ้า ตั้งเข้าสติ ทนการบำรุงรักษาอยู่เสมอไปไม่ได้ นี้คือทางเดิน นี้คือทางเจริญของจิตทางเจริญของธรรมอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ความอุตส่าห์พยายาม ความบึกบึนความอดทนและต่อสู้อยู่ไม่ถอย นี่แหละคือทางเดินเพื่ออรรถเพื่อธรรม ทางเดินเพื่อการปราบกิเลสให้ราบไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึงสติปัญญาอันเกรียงไกรแล้วเป็นอันเดียวกัน สติอันใดปัญญาอันนั้น พอมีอะไรมาสัมผัสก็กระเทือนถึงกันทันที คว้ามับๆ นำมาพิจารณา เข้าใจแล้วปล่อยๆ แม้อยู่ปกติก็รู้ตัวอยู่เช่นนั้น นั่นแหละท่านว่าสติปัญญาอัตโนมัติ หรือ มหาสติมหาปัญญา
เราได้ยินแต่ชื่อก็คาดคะเนเดาไปอย่างนั้นแหละ ว่ามหาสติมหาปัญญาเป็นอย่างไร พอเข้าถึงใจแล้วรู้เอง อ๋อ เป็นอย่างนี้ แล้วจะสงสัยอะไรที่นี่ สงสัยมหาสติมหาปัญญาในครั้งพุทธกาลกับครั้งนี้สงสัยที่ไหนกัน เพราะเป็นอย่างเดียวกันนี้
ตอนนี้กิเลสหมอบเพราะกิเลสมันละเอียดแหลมคมนี่ มันไม่หมอบไม่ได้ต้องถูกประหารแหลก ต้องหาที่หลบซ่อนด้วยอุบายของมัน ปัญญาของเราก็ตามกันอีกขุดค้นกันอีก พอเจอพับก็แสดงว่าได้งานหรือว่าเจอข้าศึกแล้ว ฟาดฟันกันลงไปแหลกแตกกระจาย จุดสุดท้ายก็ถึงจอมกษัตริย์ของมันได้แก่ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่มันครอบหัวใจแล้วพรางตาเราไว้ กลายเป็นความสว่างไสว กลายเป็นความสง่าผ่าเผย กลายเป็นความองอาจกล้าหาญ กลายเป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ให้ติดให้พันมัน ให้อ้อยอิ่งกับมันจนได้ เพลงกลอนสุดท้ายของกิเลสคืออวิชชาแสดงอย่างนี้ สติปัญญาอัตโนมัติพอมาถึงเพลงกล่อมบทสุดท้ายของอวิชชานี้ ชักเคลิบเคลิ้มหลงใหลไปบ้าง เนื่องจากมันไพเราะเพราะพริ้งจริงๆ
แต่อย่างไรก็ตาม คำว่ามหาสติมหาปัญญาแม้จะติดก็ไม่ได้นอนใจ พิจารณาใคร่ครวญอยู่เสมอ จนกระทั่งตีแตกกระจายลงไปไม่มีเหลือ นั่นละที่นี่ ได้ทั้งชื่อได้ทั้งการปฏิบัติ ได้ทั้งผลเป็นที่พอใจ
นี่แหละผลของการปฏิบัติตัวเอง ไม่มีอะไรที่จะยากยิ่งกว่าสอนตัวเอง ปฏิบัติตัวเอง ปราบปรามกิเลสซึ่งเป็นตัวดื้อด้านที่สุดภายในหัวใจของตัวเอง เมื่อปราบได้แล้วไม่มีอะไรวิเศษยิ่งกว่าจิตดวงที่หลุดพ้นแล้วจากสิ่งกดขี่บังคับทั้งหลาย เป็นอกาลิกจิต อกาลิกธรรม คือไม่มีกาลไม่มีสถานที่เวล่ำเวลา เป็นธรรมชาตินั้นอยู่เช่นนั้น กาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง สถานที่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ท่านให้ชื่อว่านิพพานเที่ยง จะหมายถึงอะไรถ้าไม่หมายถึงใจดวงคงเส้นคงวาตายตัวแล้วนั้นไม่มีสิ่งที่จะหมาย หมายไม่ถูก ไม่ใช่สิ่งที่หมาย เพราะนั่นไม่ใช่สมมุติ ไปหมายก็ไม่ถูก ธรรมชาตินั้นไม่ใช่ธรรมคาดหมาย รู้อยู่กับใจโดยเฉพาะ ปัญหาและทุกข์ทางใจทั้งมวลสิ้นสุดลงที่ อกาลิกจิต อกาลิกธรรม นี่แล
อยู่ที่ไหนอิริยาบถใดก็ตาม ความมีสติให้ระมัดระวังเสมอ ให้มีอยู่เสมอ นี่แหละวิธีการปฏิบัติ อย่าเอาเรื่องความทุกข์ความยากความลำบากซึ่งเป็นสื่อสารของกิเลสเข้ามายุ่งกวน จะมาทำลายวงงานของเราจนได้ ให้ระมัดระวังเสมอ ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์แต่ไม่ถอย เอ๊า ถ้าเหนื่อยมากก็พักผ่อนเสียก่อน โลกสงสารเขาก็พักเหมือนกัน เขาก็เหนื่อยเหมือนกัน เขาก็ทุกข์เหมือนกันกับงานต่างๆ งานใดไม่มีทุกข์ไม่มีในโลกนี้ เป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ก็จำต้องทำกันเพราะความจำเป็น นี่ก็เป็นความจำเป็นของเราที่อยากพ้นจากทุกข์ต้องยอมรับกัน ทำไปไม่ถอย เวลาพักก็พัก เวลาสู้ก็สู้ไม่ถอย สุดท้ายก็ไปได้หลุดพ้นได้ ไม่สุดวิสัยของ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนหลุดพ้นจากทุกข์ได้เพราะความเพียรไปได้
เอาละขอยุติ
พูดท้ายเทศน์
นิสัยของผู้ใจเด็ดเรามองดูก็รู้ อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี่ โอ้โฮ มองดูเฉยๆ ก็น่ากลัวแล้วนะ จะไม่ให้กิเลสกลัวยังไงตั้งแต่เรายังกลัว กิเลสมันฉลาดยิ่งกว่าเราทำไมมันจะไม่กลัววะ มันต้องกลัวละซิ อย่างนั้นแหละครูบาอาจารย์ที่ทรงอรรถทรงธรรมทรงคุณงามความดีต้องเด็ด ปราบความชั่วลงได้ ต้องเด็ดๆ ไม่เด็ดไม่ได้ความชั่วมันรุนแรงเท่าไร ความดีต้องเด็ดต้องรุนแรง ไม่เด็ดไม่รุนแรงไม่ได้ แพ้น็อก เหมือนที่นี่สกปรก สกปรกมากน้อยเพียงไร เราจะเอาน้ำเพียงแก้วเดียวไปเทลงมันไม่สะอาดใช่ไหมล่ะ ทำไมมันถึงจะสะอาด น้ำต้องมาก สมมุติว่ากองมูตรกองคูถเต็มไปหมดก็ต้องฟาดกันหมดถังเลย ไม่ใช่ถังแบบธรรมดาๆ นะ แบบใหญ่ๆ ใส่ปั๊วะเดียวแตกกระจายไปหมด นั่นมันสะอาดด้วยน้ำที่มีกำลังมากกว่า
ความเด็ดจึงผิดกับคำว่าดุ เพราะเอาจริงเอาจังต่อทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเหตุผล พากันเอาไปพิจารณาหนา การฝึกเจ้าของจะทำอ่อนๆ แอๆ ไม่ถูกทาง อยากให้มีความเข้มแข็งในด้านการต่อสู้กับกิเลส ไม่ปล่อยให้กิเลสเข้มแข็งมาเหยียบย่ำทำลายเรา เราไม่มีทางต่อสู้กับกิเลส มีแต่ความอ่อนแอท้อแท้เหลวไหลใช้ไม่ได้
ผู้ต้องการความสะอาดความดีจากธรรม ธรรมเป็นยังไง ท่านสอนว่ายังไง จะปราบกิเลสประเภทไหนด้วยธรรมประเภทใด ท่านจึงเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญา สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ นี่แสดงไว้ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คำว่ามัชฌิมาที่จะสามารถยังความรู้ทั้งหลายที่กล่าวมานี้ให้เกิด คือ ญาณกรณี ก็เป็นญาณหยั่งทราบอย่างละเอียดแหลมคมมาก ปัญญาหยั่งทราบแหลมคมรองญาณลงมา วิชฺชา โพธิ ความตรัสรู้ เหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว นิพฺพานาย ความเป็นไปเพื่อนิพพานล้วนแล้วตั้งแต่ออกจากมัชฌิมาปฏิปทานี้ทั้งนั้น ไม่ได้นอกเหนือไปจากมัชฌิมาเลย
ทีนี้คำว่า มัชฌิมา เป็นยังไง มัชฌิมาตามหลักความจริงกับมัชฌิมาที่เราพบเราจดเราจำด้นเดากันมามันผิดกันไหม ผิดกันมาก ยกตัวอย่างเช่น มีทหารสองคน ทั้งสองคนนั้นเรียนหลักวิชายุทธศาสตร์เต็มภูมิเหมือนกัน แต่คนหนึ่งไม่ได้เข้าสู่แนวรบ คนหนึ่งเข้าสู่แนวรบอย่างโชกโชนจนชีวิตเหลือเดนตายออกมา บุคคลทั้งสองนี้ใครจะพูดเหตุการณ์ตามความจริงของการรบในสงคราม ได้ถูกต้องแม่นยำและฉาดฉานกว่ากันเล่า ก็ต้องยอมรับเลยทีเดียวว่า ผู้ที่เข้าสู่สงครามนั้นแลเป็นผู้ที่พูดได้ทุกแง่ทุกมุม ตามเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบได้เจอได้เห็นด้วยตามา ถึงชีวิตเล็ดลอดออกมาได้ ถ้าโง่ก็ต้องตาย ต้องฉลาดถึงจะรอดพ้นมาได้
ทีนี้คำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ว่าเดินทางสายกลาง มันกลางยังไง เราเรียนมา มัชฌิมาปฏิปทา ว่าเดินทางสายกลาง คือไม่ให้ยิ่งนักไม่ให้หย่อนนัก แล้วเดินยังไงถึงจะไม่ยิ่งถึงจะไม่หย่อน ถึงจะถูกตามหลักมัชฌิมาความมุ่งหมายของธรรมแท้ นี่พอจะนั่งภาวนานิดหนึ่ง กลัวเจ็บกลัวปวด กลัวจะล้มจะตาย กลัวร่างกายจะวิกลวิการ กลัวจะเป็นบ้าเป็นบอ โอ นี่มันจะเคร่งเกินไป แน่ะ เข้าใจไหมล่ะ จะให้ทานแต่ละชิ้นๆ โอ๊ย ไม่ได้นะนี่มันสิ้นเปลือง เอาไปใช้นั้นใช้นี้เสียดีกว่า นี่เป็นยังไง ทีนี้เราเข้าใจไหมว่านี้มัชฌิมาของใคร ถ้าจะไปทางธรรมมันจะเกินไปนี่ แต่ถ้าไปทางกิเลสเป็นถึงไหนถึงกัน ไม่คำนึงถึงมัชฌิมาว่าเป็นยังไงเลย นี่มันเป็นมัชฌิมาของใคร มันก็มัชฌิมาของกิเลสนั่นเอง เพราะกิเลสมันมีมัชฌิมาเหมือนกันกับเรา
เวลาจะทำคุณงามความดี อยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพานก็กลัวเป็นตัณหาเสีย บทเวลาอยากตกนรกทั้งเป็นไม่คิดว่ามันเป็นตัณหาหรือไม่นี่น่า ไม่คิด เข้าโรงบ้าโรงบาร์มันเป็นตัณหาหรือไม่น่า ไม่คิด ดื่มสุรายาเมา การละเล่นทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเรื่องของอบายมุข มันเป็นมัชฌิมาหรือไม่น่า มันเป็นตัณหากิเลสหรือไม่น่า ไม่คิด พอคิดแยกมาด้านอรรถด้านธรรม มันกลายเป็นเคร่งเกินไป อะไรเกินไปเสียหมดนี้เป็นยังไง นี่เป็นความเห็นของกิเลสลากจูงไม่คิดบ้างหรือ กิเลสมันตบมันแต่งให้เรียบหมดเลย มัชฌิมาของมันแท้ๆ ก็คือ กลางเสื่อกลางหมอนนั่นแล ถ้าจะภาวนาละก็ โอ๊ย ไม่ไหว เหนื่อยยากลำบาก สู้นอนไม่ได้ นอนเสียดีกว่า แน่ะ ฟังดูซิ แล้วก็ลงกลางเสื่อกลางหมอนนั่นแล พอจะเดินจงกรมหย็อกๆ แหย็กๆ นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ บ้าง เหมือนจะเอาไปฆ่า ถูกมัดไว้เหมือนลิงดิ้นกระวนกระวาย นั่นกิเลสมันดีดมันดิ้นมันจะให้ปล่อยจาก พุทโธ ที่จะพาหนีจากอำนาจของมัน จะทำทานก็ดี จะรักษาศีลก็ดี จะเจริญภาวนาก็ดี กลัวแต่จะล้มจะตายไปหมด มีแต่กิเลสมันกีดมันกันมันขัดมันขวางไว้ทั้งนั้น เราไม่รู้ว่ามัชฌิมาของกิเลสเป็นอย่างไง มันกล่อมมาตลอดเวลาอยู่แล้ว
นี่พูดถึงเรื่องของนักรบที่เรียนวิชามาด้วยกันทั้งสองคน ผู้หนึ่งเข้าสู่แนวรบอีกผู้หนึ่งไม่ได้เข้าสู่แนวรบ ย่อมเทียบกันได้กับการเรียนการปฏิบัติ ผู้เข้าสู่แนวรบทางด้านปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส ผู้นั้นละเป็นผู้พูดมัชฌิมาได้ถูกต้องแม่นยำ เพียงเรียนจดจำมาเฉยๆ ไม่ได้ประมาท เรียนมาเท่าไรก็เรียน จำเท่าไรก็จำเถอะ การจดจำไม่ว่าแต่จำได้ชื่อของกิเลสธรรมดา จำได้กระทั่งโคตรแซ่ของกิเลสมันก็ไม่มีความหมายอะไรถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็เหมือนกับเราจำชื่อของเสือร้ายต่างๆ ได้นั่นแหละ เสือร้ายกลุ่มนั้นๆ มันทำหน้าที่อะไร มันไปหากินทางไหน มันชอบไปทำอะไร เราก็จำได้ ชื่อมันว่าอย่างนั้นๆ จำได้ อย่าว่าจำแต่ชื่อเสือร้ายได้เลย จำกระทั่งโคตรแซ่มันได้ แต่ไม่ได้ใช้ภาคปฏิบัติเข้าไปเกี่ยวข้องเลยนั้น ก็เสือร้ายที่จำชื่อได้นั่นแหละทำลายโลกอยู่เรื่อยมา เพียงจำชื่อเฉยๆ จึงไม่เกิดประโยชน์ ต้องมีภาคปฏิบัติวางแผนการ ไอ้เสือร้ายพวกนั้นๆ มันไปทำหน้าที่ปล้นสะดมที่ไหนๆ กันบ้าง เอ้าทีนี้วางแผนการออกภาคปฏิบัติ ดักโน้นดักนี่ ก็จับมันได้เท่านั้นเอง บ้านเมืองก็สงบเย็น นี่คือภาคปฏิบัติ
กิเลสตัณหาก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละ ต้องมีภาคปฏิบัติ พอรู้แล้วก็ไปปฏิบัติ ให้ทานเป็นยังไงเราก็ได้ให้ทาน รักษาศีลเป็นยังไงเราก็ได้รักษา ภาวนาเป็นยังไงก็ได้ทำ ทำตามนี้เรียกว่าภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจำเฉย ๆ ให้ทานได้ผลอย่างนั้น รักษาศีลได้ผลอย่างนี้ ภาวนาได้ผลอย่างนั้น สวรรค์เป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนั้น ว่าไปเฉยๆ จำได้เฉยๆ ไม่สนใจปฏิบัติก็ไม่ได้ไป ก็ไม่ได้ผล
ทีนี้ย่นเข้ามาถึงภาคปฏิบัติ วิธีการต่อสู้กับกิเลส กิเลสเคยเป็นข้าศึกกับธรรมแต่ไหนแต่ไรมา พระพุทธเจ้าก็สอนแล้วว่ากิเลสเป็นข้าศึกของธรรม กิเลสอยู่ที่ไหนที่นี่ กิเลสอยู่ที่หัวใจคน ธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมอยู่ที่หัวใจคน เพราะฉะนั้นคนจึงต้องต่อสู้กับกิเลส การต่อสู้กิเลสต้องมีทุกข์บ้างเป็นธรรมดา กิเลสออกมาไม้ไหน ออกมาวิธีการใด กลใดอุบายใด ธรรมก็ต้องหมุนเข้าไปๆ วิธีหลบหลีกปลีกตัว วิธีต่อสู้ วิธีตบต่อย วิธีฆ่าฟัน วิธีปราบปรามกิเลสต้องเป็นไปตามนโยบายของธรรม มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นต้น หมุนกันไปหมุนกันมา กิเลสก็ค่อยพังลงไปๆ ด้วยภาคปฏิบัติ นี่ละเรียกว่า มัชฌิมา
เอ้า อยากลงไป การอยากพ้นทุกข์ อยากได้บุญได้กุศล อยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน อยากเท่าไรอยากไปเถอะเป็นมรรคทั้งนั้น ไม่ใช่ความอยากเป็นตัณหาถ่ายเดียวนี่ อยากอะไรมีแต่เป็นตัณหา ถ้าจะไม่ให้เป็นตัณหาก็เหมือนอย่างคนตายแล้วล่ะซิ ความอยากก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี นั่นเหรอคนไม่มีกิเลสตัณหาคนประเภทนั้นเหรอ วิเศษไหมนั่นน่ะ มันไม่ได้วิเศษวิโสอะไรก็คนตาย รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง คนไม่ตายมันต้องอยากนั้นอยากนี้ แต่ระวังอย่าให้มันอยากไปทางผิดเท่านั้นแหละ ถ้าอยากไปทางผิดมันเป็นกิเลสเป็นตัณหา ถ้าอยากไปทางถูกเป็นมรรค ให้พากันเข้าใจเอาไว้
ความอยากมีกำลังแรงกล้าเท่าไรความเพียรยิ่งเด็ดเดี่ยว ความอยากความมุ่งมั่นเป็นมรรค คือทางดำเนินเพื่อพ้นจากทุกข์ อยากไปสวรรค์อยากไปนิพพาน อยากหลุดพ้นจากทุกข์ นี่แหละเป็นความอยากที่รุนแรง และเป็นความกล้าหาญแห่งการต่อสู้ ความพากเพียร ความอดความทน ความเป็นนักต่อสู้ ถูกความอยากเพื่อไปนิพานเพื่อพ้นทุกข์นี้ดึงเข้ามาเป็นกำลังอันเดียวกัน หมุนติ้วเลย ไม่มีคำว่าวันว่าคืนว่าปีว่าเดือน มีแต่การต่อสู้กันตลอดเวลา เด็ดไหมที่นี่ เวลาความอยากถึงขนาดนั้นแล้ว ต้องเด็ดนักปฏิบัติ กิเลสมีมากน้อยเท่าไร เอ๊า เอาให้พัง นั่นคำว่าถอย ถอยไม่ได้ มีแต่จะเอากิเลสให้พัง เอ๊า ถ้ากิเลสไม่พัง เราจะพังก็พังถ้าสู้มันไม่ได้นะ แต่คำว่าแพ้ไม่มีในใจ มันเตะเราตกเวทีลงไป ขึ้นมาใหม่ ต่อยกัน มันเตะตกเวทีลงไป ขึ้นมาใหม่ ต่อสู้กันอยู่นั่น หลายครั้งหลายหนกิเลสก็ถูกเราเตะตกเวทีได้เหมือนกัน หลายครั้งหลายหนถูกเตะถูกต่อยแต่ละครั้งแต่ละหนนี้มันเป็นบทเรียนทั้งนั้น
เราแพ้กิเลสตรงไหน แพ้กิเลสด้วยกลอุบายของมันแบบใด เราแก้อุบายของมันแบบนั้น ต่อไปก็สู้กันได้ๆ ทีนี้พอเวลากิเลสค่อยเบาบางลงไป เรื่องของอรรถของธรรม คือสมาธิก็ดี สติก็ดี ปัญญาก็ดี ความพากเพียรก็ดีก็มีกำลังมากขึ้นๆ ทีนี้กิเลสต้องหมอบเพราะมันสู้ไม่ได้ สู้อรรถสู้ธรรมไม่ได้ แต่ก่อนมีแต่เราหมอบ หมอบที่ไหนก็ถูกกิเลสตบต่อยเอาเรื่อย นอนอยู่ก็ร้อง นอนอยู่ก็คราง นั่งอยู่ก็คราง ยืนอยู่ก็อยาก เดินอยู่ก็อยากก็หิว อยู่ที่ไหนก็มีแต่ความรักความชัง ความเกลียดความโกรธเต็มหัวใจ มีแต่กิเลสเหยียบย่ำทำลาย พอถูกสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรฟาดฟันลงไปแล้ว อยู่ที่ไหนก็ไม่มีเพราะกิเลสหมอบ หมอบไปหมอบมา ขุดค้นหากันไม่หยุดไม่ถอย เจอตัวไหนฆ่าตัวนั้น ๆ เอาจนกิเลสแหลกแตกกระจายไม่มีอะไรเหลืออยู่ในหัวใจแล้ว นั่นละที่นี่ เอ้า พูดเรื่องกิเลสจะเป็นประเภทไหน พูดได้เต็มปาก กิเลสหลุดลอยไปด้วยเหตุผลกลไกอะไร พูดได้เต็มปาก ความบริสุทธิ์ภายในหัวใจไม่มีกิเลสเข้ามาเหยียบย่ำตีแหลกเหมือนแต่ก่อน พูดได้เต็มปาก นั่น
นี่ละผู้ออกแนวรบ พูดได้เต็มปาก ไม่เหมือนเราจำได้เฉยๆ นะ จำได้เฉยๆ พูดก็พูดไปตามแบบตามแผนนั้นแหละ แยกไปนิดหนึ่งก็แยกไม่ได้ ไม่ทราบจะแยกไปยังไง แต่ผู้ที่เข้าสู่แนวรบมันแยกมันแยะ ไม่เพียงว่าวิชาแนวรบบอกอย่างนั้น จงเดินไปตามแถวนั้น แต่มันเดินซอกแซกซิกแซ็กไปได้หมด แล้วแต่จะพอหลบหลีกปลีกตัวเพื่อความพ้นภัยหรือเพื่อความชนะ ได้แง่ไหนมันเอาทั้งนั้นนักรบ
นี่ก็เหมือนกัน นักรบกับกิเลส มันควรจะชนะด้วยแง่ไหน ธรรมาวุธพระพุทธเจ้ามีอยู่หมด ให้คิดขึ้นมาด้วยสติปัญญาของตน คนเราไม่จนตรอก พอเวลาถึงคราวจนตรอกจริงๆ แล้ว สติปัญญาผลิตขึ้นมาช่วยตัวเองได้แล้วต่อสู้กับกิเลสให้แหลกไปได้ จนไม่มีกิเลสเหลือแล้ว นั่นแหละที่นี่ กิเลสมันจะยกกองพลกองพันมาจากที่ไหน อยู่หัวใจดวงใดมันรู้หมด เพราะถูกปราบลงหมดแล้วจากหัวใจ นี่ละภาคปฏิบัติ นี่ล่ะที่ว่ามัชฌิมาปฏิปทา กิเลสโผนมามัชฌิมาโผนไป กิเลสยกกองทัพใหญ่มามัชฌิมาปฏิปทาก็ต้องเอากองทัพใหญ่สู้กัน ทางโน้นเผ็ดร้อนทางนี้ก็เผ็ดร้อน ทางโน้นผาดโผนทางนี้ก็ผาดโผน นั่นจึงเรียกว่า มัชฌิมา คือความเหมาะสมๆ กันกับการปราบกองทัพข้าศึก ข้าศึกมีจำนวนมากกองทัพเรามีจำนวนน้อย อาวุธเรามีจำนวนน้อยไม่ทันเขาใช้ไม่ได้ ต้องแพ้ อาวุธของเขามีขนาดไหน กองทัพของเขามีจำนวนเท่าไร อาวุธของเราต้องมากกว่าเขา กองทัพของเราต้องมากกว่าเขามันถึงจะชนะ นี่ละกองทัพธรรมท่านว่า กิเลสมีกองทัพขนาดไหน สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรก็ต้องหมุนตัวเข้าไปให้หนักมือๆ สุดท้ายกิเลสก็หงายตูม ไม่ต้อง กุสลา มาติกาให้มัน เราก็ได้ธรรมอันเลิศแล้ว
เมื่อกิเลสมันหงายตูมลงไปแล้ว อยู่ไหนก็อยู่เถอะโลกธาตุนี่ ถามหาทำไม ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน จะไปเกิดสวรรค์หรือจะไปเกิดพรหมโลกหรือจะไปเกิดนรก ไม่สนใจ ไม่มีอะไรรู้ยิ่งกว่าใจ ปกติใจนี้ก็เป็นนักรู้อยู่แล้ว ก็ยิ่งรู้ตามเหตุตามผล ตามอรรถตามธรรมอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วสงสัยไปไหน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมีเพียงพระองค์เดียว เพราะอุบัติได้ยาก พ้นได้ยาก ตรัสรู้พระองค์แรกก็แหวกว่ายจากกองกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเป็นกองข้าศึกขึ้นมาโดยลำพังพระองค์เดียว มาประกาศธรรมสอนโลกให้พวกเราทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติตาม นับว่าเป็นลาภของเราอย่างประเสริฐ เกิดในท่ามกลางพระพุทธศาสนาแท้ๆ เอาให้จริงให้จัง ประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลประโยชน์ซิ ศาสนาพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นตุ๊กตาเครื่องเล่นของเด็ก
ธรรมะเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าคือตลาดแห่งมรรคผลนิพพานอยู่โดยดีนั่นแล ไม่ได้มีคำว่าล้าสมัย นอกจากคนล้าสมัยเสียเองเท่านั้น จึงให้กิเลสมันหลอกให้หาเรื่องหาราวว่าธรรมะล้าสมัย คนปฏิบัติธรรมเป็นคนครึคนล้าสมัย คนเข้าวัดเข้าวาเป็นคนครึเป็นคนล้าสมัย ศาสนธรรมไม่มีมรรคมีผล มรรคผลนิพพานไม่มีปฏิบัติไปเท่าไรก็ลำบากเปล่าๆ มีแต่กิเลสมันหลอก มันหลอกเท่าไรก็เชื่อมันเท่านั้น ล่มจมกับมันไปเรื่อยๆ หาชิ้นดีไม่ได้ ทำไมเราจึงยอมเชื่อมันถึงขนาดนั้น กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ เราไม่ได้เคยเปล่งวาจาถึงมันสักที มีแต่ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เท่านั้น บทเวลากิเลสแย็บทีเดียวเท่านั้นหงายตูมๆ มันได้เรื่องอะไร พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ มีความหมายอะไร ก็มีแต่ความหมาย กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ เท่านั้นละซิ ถึงไม่เปล่งวาจาถึงมันก็ตาม ความเชื่อมันยอมตามมัน จนไม่รู้สึกสำนึกตัวนั้นแลเรียกว่า กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ เหลนของกิเลสก็ สรณํ คจฺฉามิ ปู่ย่าตายายของกิเลสก็ สรณํ คจฺฉามิ อะไรของกิเลสก็หมอบราบ สรณํ คจฺฉามิ ไปหมด พวกเรามันพวก กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ พิจารณาซิ
เอาให้เด็ดผู้ปฏิบัติธรรม อยากเห็นของจริง มีอยู่ในหัวใจของทุกคนนั่นแหละ พระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกขาด ขอให้ปฏิบัติเถอะ ไม่สงสัยมรรคผลนิพพาน กิเลสมันมีกาลมีสมัยที่ไหน มันอยู่ในหัวใจเราตลอดเวลา ทำไมมันไม่เห็นถูกติถูกว่าบ้างว่ากิเลสล้าสมัย กิเลสทุกประเภทครึๆ ทั้งนั้น กิเลสหมดสมัยนิยมไปแล้ว เลิกยุ่งกับมัน ไม่เห็นคิดไม่เห็นว่ามันบ้าง ทำไมธรรมเครื่องแก้กิเลสจึงจะหมดไปสิ้นไป ธรรมนี่เป็นของคู่กันอยู่แล้ว นอกจากกิเลสมันกล่อมเราไม่ให้เอาธรรมมาปราบมันเท่านั้น กลัวมันจะหมดอำนาจไป เพราะกิเลสกลัวธรรม มันจึงหลอกพวกเราไว้ไม่ให้เข้าหาอรรถหาธรรม พากันจำให้ดีนะ
เอาละขี้เกียจเทศน์ให้นักปฏิบัติ กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ ฟัง |