ความเพียรเราต้องฝืน
วันที่ 18 กรกฎาคม. 2523 เวลา 19:00 น. ความยาว 32.57 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓

ความเพียรเราต้องฝืน

มนุษย์และสัตว์เกิดมาในท่ามกลางแห่งความวุ่นวาย เพราะธาตุขันธ์เป็นต้นเหตุสำคัญที่จะให้อยู่ตามความสะดวกสบายไม่ได้ ปากท้องมีจำต้องขวนขวายหามาเยียวยารักษา ไม่ว่ามนุษย์และสัตว์เหมือนกันทั่วโลก การงานต่างๆเกิดขึ้นเพราะปากท้องเป็นสำคัญ คนและสัตว์จึงต้องมีงานประจำหน้าที่และเพศของตน ไม่มีใครอยู่เฉย ๆ ได้ในแดนมนุษย์รวมทั้งสัตว์ด้วย มีงานประจำตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง บรรดาสัตว์ก็มีอย่างนั้น

ส่วนมนุษย์นี้ยังมีอะไรๆ อีกมากและที่เด่นขึ้นไปกว่าสัตว์ เกี่ยวกับความโลภความไม่รู้จักประมาณไม่มีเมืองพอ มนุษย์มีความโลภมากกว่าสัตว์เป็นพิเศษ จะว่ามนุษย์ฉลาดหรือมนุษย์โง่ก็แล้วแต่จะพิจารณาเอา ถ้าพูดตามขอบเขตเหตุผลความพอดีของมนุษย์มันก็มี ที่ว่ามนุษย์มีภาระมากกว่าสัตว์นั้น ความจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะความโลภมีมากจนน่าเกลียดน่ากลัว เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงกลัวกัน แม้แต่มนุษย์ด้วยกันยังอดกลัวมนุษย์ประเภทโลภมากไม่ได้

ถ้าลำพังปากท้องการบริโภคใช้สอย สำหรับความจำเป็นเรื่องของมนุษย์เราก็ไม่มากนัก บรรดาภาระก็จะไม่ทำให้หมุนตัวเป็นเกลียวไปตลอดเวลา ย่อมจะมีโอกาสพอพักผ่อนได้บ้าง แต่นี้เป็นเรื่องพิเศษที่ทำให้หมุนคือกิเลส ความไม่เคยมีเมืองพอติดตัวบ้างเลย

คำว่ากิเลสก็มีหลายชนิดและมีหลายเรื่องหลายราวผสมกันเข้า ซึ่งล้วนแต่เป็นกิ่งเป็นแขนงและเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งนั้น มาทำให้มนุษย์เราต้องหมุนตัวเป็นเกลียว รวมแล้วเรียกว่างาน มนุษย์ไม่มีวันที่จะอยู่ได้เฉยๆ ว่างๆ โดยไม่มีงานและห่วงงาน ต้องวิ่งเต้นขวนขวายอยู่เช่นนั้นเป็นประจำ

เราเป็นมนุษย์เหมือนกับโลกวุ่นวายทั่วไปก็จริง แต่เราเป็นเพศนักบวช มีความรู้ความเห็น เจตนาและความมุ่งหมายผิดจากโลกทั้งหลายไปคนละแง่ละทาง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระตลอดกิริยามารยาทการแสดงออกต่างๆ จึงมีแตกต่างจากโลกอยู่ไม่น้อย การแสดงออกของนักบวชคือพระเรา ย่อมแสดงออกด้วยความมีสติ ด้วยความคิดอ่านไตร่ตรองเรียบร้อยพอประมาณ ก่อนแสดงออกมาทางกาย วาจา ตลอดความประพฤติ แม้อยู่ภายในก็ยังต้องพินิจพิจารณากันว่า สิ่งใดที่เป็นความคิดผิดถูกประการใดบ้างแล้วค่อยแสดงออกมาเป็นความประพฤติ เป็นกิจการงานของพระที่จะต้องทำอย่างนั้นเสมอไป

งานประจำอันเป็นงานสำคัญหรือหน้าที่ของพระโดยตรงก็คือ การบำเพ็ญภาวนารักษาสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ให้สมบูรณ์ตามเพศของตน ไม่ให้ด่างพร้อยและขาดทะลุได้ นอกจากนั้นก็บำเพ็ญความพากเพียรในด้านจิตตภาวนา เดินจงกรมเพื่อชำระจิตใจให้มีความสะอาดผ่องใส มีความสงบเยือกเย็น นั่งสมาธิภาวนาให้จิตได้รับความสงบเย็นใจ เพราะงานของจิตมีอยู่ตลอดเวลาไม่เลือกกาลสถานที่อิริยาบถ แต่มีความคิดปรุงอยู่เช่นนั้น เรียกว่างานประจำไม่มีว่าง ไม่มีวันเสาร์วันอาทิตย์ มีแต่ความคิดปรุงอยู่เสมอ นี้คืองานประจำจิต

เราต้องการจะเลือกเฟ้นงานซึ่งเกิดขึ้นภายในจิต ให้เป็นงานที่เหมาะสมเป็นสารคุณหรือเป็นประโยชน์แก่เรา จึงต้องระงับดับความคิดปรุงทั้งหลายที่เป็นเครื่องก่อกวนจิตใจลงไปโดยลำดับ โดยทำงานทางจิตตภาวนาเข้าแทนที่ เพื่อใจได้รับความสงบเยือกเย็น ปล่อยวางภาระทั้งหลายคือความคิดปรุงต่างๆ เสียได้ แม้ที่สุดเมื่อจิตได้รับความสงบตามภูมิของตนแล้ว ยังปล่อยวางคำบริกรรมภาวนาหรือบทธรรมต่างๆ อีกวาระหนึ่ง เข้าพักจิตอยู่ด้วยความสงบเย็นใจ จนถึงวาระที่จิตถอยตัวออกมาเป็นปกติ นี่ก็เป็นคุณสมบัติอันหนึ่งที่ควรพยายามสั่งสมให้เกิดให้มีขึ้นภายในใจ เพราะเป็นอัตสมบัติโดยแท้

ปัญญา คือ ความคิดอ่านไตร่ตรองในทุกแง่ทุกมุมทั้งภายนอกทั้งภายใน ทั้งใกล้ทั้งไกล อดีตอนาคตที่มาสัมผัสสัมพันธ์กับใจ ให้สติปัญญาได้พิจารณาไตร่ตรองเลือกเฟ้นด้วยดี สิ่งที่ควรปล่อยก็ปล่อย สิ่งที่ควรยึดไว้เป็นหลักใจเป็นสารคุณต่อจิตใจต่อไปก็ยึดไว้ สิ่งใดที่ไม่เป็นสาระก็เลือกเฟ้นตัดออกโดยลำดับ แม้จะเสียดายเพียงไรก็ทราบแล้วว่าสิ่งนั้นไม่เป็นสารคุณอันใด นอกจากเป็นพิษภัยต่อจิตใจโดยถ่ายเดียว

เพราะฉะนั้นงานของนักบวชจึงเป็นงานที่หนัก เพราะความฝืนกระแสของจิตซึ่งเคยคิดมาดั้งเดิมด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา ถ้าเป็นทางก็เป็นทางเตียนโล่งราวกับมีผู้คอยปัดกวาดอยู่ตลอดเวลา เพราะคิดทั้งวันทั้งคืนคิดกลับไปกลับมา วกเวียนอยู่ในเรื่องของเก่านั่นแหละจนราบรื่นไปเอง นี่แลกระแสแห่งความคิดที่เป็นไปเพราะอำนาจกิเลสพาให้คิด ย่อมคิดได้อย่างสะดวกสบาย จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็คิดได้ใช้คล่องทั้งนั้น เพราะกิเลสเครื่องหมุนจิตนั้นมันคล่องแคล่วชำนาญในตัวของมันอยู่แล้ว เหมือนน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำนั่นแล

แต่การหักห้ามสิ่งเหล่านี้ ด้วยประโยคพยายามที่เรียกว่าความเพียรนั้น จึงต้องมีความจงใจ มีเจตนาและฝืนกันไม่เบาเลยในขั้นเริ่มแรก ความคิดใดก็ตาม คำพูดใดก็ตาม การกระทำใดก็ตาม ในงานใดก็ตาม จำต้องใช้ความพิจารณาและหักห้ามในสิ่งไม่ควรอยู่เสมอ จะถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญไม่ได้ จะเป็นการส่งเสริมความประมาทให้มากขึ้น และกลายเป็นคนไม่มีอะไรสำคัญในตัวเลย จนกลายเป็นโมฆภิกษุไปได้ไม่สงสัย ฉะนั้นจงพากันระมัดระวังให้มากตลอดไป ไม่ว่ากิจนอกการภายในให้ถือว่าเป็นงานและผลของงานเพื่อเราทั้งสิ้นตลอดไป

การต้องการความสะดวกสบายโดยไม่ต้องฝืนนั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องฝืน ถ้าไม่ฝืนก็เรียกว่า นั่นคือการปล่อยใจไปตามกระแสของกิเลสให้ผลักดันไปอย่างคล่องตัวโดยไม่สงสัย ฉะนั้นผู้บำเพ็ญทุกๆ รายจึงต้องฝืนกิเลสประกอบความเพียรและความดีทั้งหลายไม่ฝืนไม่ได้ ยิ่งเราเป็นนักปฏิบัติก็เหมือนเป็นนักต่อสู้ เราต้องฝืน อยู่ด้วยความฝืน ยืน เดิน นั่ง นอน ด้วยความฝืนกิเลสต่อสู้กิเลสทุกอาการไม่มีถอย ไม่มีการปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส

การอยู่ด้วยความสะดวกสบายตามนิสัยเดิมนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเพียรไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อสู้ มันเป็นเรื่องของกิเลสทำงานบนหัวใจทั้งสิ้น การปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจของกิเลสดังที่เคยเป็นมานั้น ไม่สมควรอย่างยิ่งสำหรับพระปฏิบัติเรา นอกจากจะมีความหนักแน่นมั่นคงในหน้าที่การงานของตนเป็นพื้นฐานของใจประจำอิริยาบถโดยลำดับเท่านั้น และจงถือว่ากิจนี้งานนี้เป็นสาระเหนือชีวิตของเรา เพราะชีวิตนี้ลงเอยกันแค่ตาย ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรานี้เป็นคุณสมบัติประจำใจ เกี่ยวพันกับใจไปในอนาคตไม่มีสิ้นสุดเหมือนร่างกาย

ถ้าได้พยายามบำเพ็ญตัวเราเต็มสติกำลังความสามารถแล้ว คุณสมบัตินี้จะสนิทติดแนบกับใจตลอดไป ในขณะเดียวกันก็จะตัดกระแสแห่งการท่องเที่ยวในวัฏสงสารซึ่งเคยเป็นมาอย่างยืดยาวนาน และจะเป็นไปอย่างยืดยาวนานให้สั้นลงโดยลำดับ จนถึงขั้นตัดขาดโดยสิ้นเชิง ปรากฏแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ภายในใจโดยถ่ายเดียว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมอันสูงส่ง ไม่มีคุณธรรมใดจะสูงส่งยิ่งกว่าและนอกเหนือไปจากใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วนั้นเลย นี่แหละการประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว เป็นธรรมสมบัติอันสว่างกระจ่างแจ้งอยู่กับใจและหายห่วงโดยประการทั้งปวง

เพราะฉะนั้นการประกอบความเพียรทุกประโยคจึงต้องฝืน ฝืนทุกระยะ อย่าหาความสะดวกสบายตามนิสัย เพราะนั้นเป็นทางเดินของกิเลสผลักดันให้ไปตามอำนาจของมันต่างหาก เราต้องการความผาสุกเพราะการปราบปรามกิเลสให้ลดน้อยลง และดับไปเป็นขั้นๆ ตอนๆ จนกิเลสหมดสิ้นไปจากใจต่างหาก ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของธรรมและความมุ่งหมายของเราด้วยใจจริง

งานนี้เป็นงานชำระสะสางกิเลส ไม่ใช่งานสั่งสมกิเลสอาสวะ จึงต้องคำนึงถึงความพ้นทุกข์จากกิเลสเสมอ อย่าคิดสิ่งใดให้มากนอกเหนือไปจากความจดจ่อดูความเคลื่อนไหวของใจที่กิเลสพาให้เป็นไป ต้องใช้ความสนใจอย่างมาก สติและปัญญาจดจ้องและพินิจพิจารณาอยู่โดยสม่ำเสมอ จิตที่มีการอารักขานั้นเทียบกับเด็กมีพี่เลี้ยงคอยดูแลรักษาอยู่เสมอย่อมปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายได้อย่างง่ายดาย

จิตใจที่มีสติปัญญาคอยเข้มงวดกวดขัน คอยระมัดระวังสิ่งที่เป็นภัยอยู่โดยสม่ำเสมอ ย่อมได้รับความปลอดภัยและสงบเย็น มีสติปัญญาเป็นเครื่องระลึกรู้และพิจารณาฟาดฟันหั่นแหลก สิ่งที่มาเกี่ยวข้องและกีดขวางลวงใจนั้น ให้ขาดลงไปโดยลำดับๆ ใจย่อมปลดเปลื้องภาระลงได้เป็นพักๆ ตอนๆ ภาระก็คือของหนักที่กดถ่วงจิตใจนั้นแล

เมื่อปัญญาตัดขาดภาระเหล่านั้นไปเป็นขั้น ๆ ตอน ๆ จิตใจย่อมมีความสงบเย็น มีความผ่องใส มีความสง่าผ่าเผยองอาจกล้าหาญ จากนั้นก็กล้าหาญชาญชัย ไม่มีหวั่นต่อกิเลสตัวใดทั้งสิ้น ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วไม่ว่าประเภทใดเป็นสู้ไม่ถอย ใจกล้าหาญเต็มภูมิเพราะเชื่อกำลังสติปัญญาศรัทธาความเพียรของตน

เมื่อยังเชื่อตนไม่ได้ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปก่อน เหมือนฟุตบอลที่ถูกเตะนั่นแหละ กลิ้งไปโน้นกลิ้งไปนี้ เดี๋ยวถูกเตะออกไปข้างนอกเดี๋ยวถูกเตะเข้ามาข้างใน เตะวกไปเวียนมา ถูกขยี้ขยำด้วยฝ่าเท้าอยู่ทำนองนั้น โดยไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะยุติเมื่อไร จนแหลกแตกกระจายไปในที่สุด นี่แหละการท่องเที่ยวในวัฏสงสารเหมือนฟุตบอลที่ถูกฝ่าเท้าเขาเตะกลิ้งไปกลิ้งมาในสนามกีฬานั่นแล

นี่ก็คือกิเลสมันถีบมันเตะจิตใจของเราให้เข้าสู่ภพนั้นให้เข้าสู่ภพนี้ แม้ในวงปัจจุบันคือในอัตภาพนี้ ก็ยังถูกมันเตะกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ด้วยความไม่มีสติ ด้วยความไม่มีปัญญาเครื่องคัดค้านต้านทานหรือต่อสู้กัน พอให้มีความสงบสุขต่อจิตใจได้บ้างเลย น่าทุเรศเวทนาเอานักหนา ที่นักปฏิบัติภาวนาเราเสียเปรียบให้กิเลสในสนามรบน่ะ ฉะนั้นจงทำความเข้าใจกับตนอยู่เสมอ อย่าปล่อยวางหน้าที่การงานอันสำคัญของตน ให้กิเลสคว้าเอาอาวุธเรากลับมาทำลายเราบนเวทีแห่งความเพียร ครูอาจารย์ทนดูไม่ได้จะกระอักเลือดตายต่อหน้าเวทีนั่นแล เพราะอับอายขายหน้าเกินกว่าจะทนดูต่อไปได้

อย่าเห็นงานใดเป็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศเลอ ยิ่งกว่างานแก้กิเลสงานปราบกิเลสที่ทำด้วยความเพียร เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งธรรมทั้งหลายภายในใจ พระพุทธเจ้าจะประเสริฐเลิศโลกขึ้นมาเพราะงานประเภทที่เรากำลังทำอยู่เวลานี้ ท่านทรงทำมาแล้วทั้งฝ่ายเหตุคือการต่อสู้วิธีต่อสู้และผลเป็นที่พอพระทัยแล้ว จึงได้นำอุบายวิธีต่างๆ นี้มาสอนพวกเราให้ดำเนินตาม จงดำเนินตามหลักของศาสดาสมกับคำอุทิศต่อท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ จงถือพระองค์เป็นที่ฝากเป็นฝากตายในแนวรบ ให้บรรจบลงด้วยชัยชนะ ธรรมมากน้อยตั้งแต่สมาธิธรรม ปัญญาธรรมเป็นขั้นๆ ขึ้นไปจะปรากฏขึ้นจากใจของผู้ปฏิบัติโดยลำดับ ตลอดถึงวิมุตติธรรม แยกกันไม่ออก เมื่อการปฏิบัติดำเนินเป็นไปตามคลองธรรมที่ประทานไว้ จะต้องได้รับผลอย่างนั้นแน่นอน ไม่มีอะไรมากีดกั้นได้

จงนึกน้อมถึงพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าสิ่งใด และนึกถึงธรรมเป็นหลักใจอยู่โดยสม่ำเสมอ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่เลือกกาลสถานที่ เวลาเกิดความท้อถอยอ่อนแอขึ้นมาในขณะใดให้พึงทราบว่า นั้นคือกิเลสเข้าเหยียบย่ำทำลายจิตใจแล้ว ไม่ใช่อะไรที่ไหนมาทำให้อ่อนแอท้อแท้ คือตัวกิเลสโดยแท้นั่นเอง

จงระลึกถึงพระสงฆ์ที่ท่านอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายมาก่อนพวกเรา จนได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า การเป็นอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแต่ละองค์นั้น ไม่ใช่เป็นของหาได้อย่างง่ายดาย ต้องเอาชีวิตจิตใจเข้าแลกเสียเป็นส่วนมากดังในตำรับตำราท่านแสดงไว้ ส่วนเราจะมาล้างมือเปิบเอาเฉยๆ มันก็ขัดต่อสรณะที่ท่านดำเนินมา และขัดต่อธรรมของพระพุทธเจ้าด้วย จึงไม่ควรอุตริคิดทำกัน จะเป็นปฏิปทาแหวกแนวศาสนธรรมของศาสดา ผู้มีความเพียรนั้นแลจะเป็นผู้หลุดพ้นจากทุกข์ไปได้อย่างแน่นอน ความไม่เพียร ความขี้เกียจอ่อนแอ แต่ขยันกินขยันนอน หมูสู้ไม่ได้ แต่จะหลุดพ้นกิเลสกองทุกข์นั้น ไม่เคยมีในแบบแผนตำรับตำราฉบับใดเลย จึงอย่าหาธรรมนอกตำรา (คลังกิเลส) มาแข่งศาสดา

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรนำความอ่อนแอท้อถอยซึ่งเป็นข้าศึกต่อความเพียร เข้ามาใช้ในวงการปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส จะเป็นการขัดแย้งต่อศาสนธรรมและหลักของศาสดาที่ทรงสอนไว้โดยถูกต้องทุกแง่ทุกมุม ตลอดการดำเนินของท่านและสาวกทั้งหลายที่เป็นตัวอย่างอันดีเยี่ยมแก่พุทธบริษัท จะเป็นการขัดแย้งไปหมด จะเป็นข้าศึกต่อท่านด้วย เป็นข้าศึกต่อศาสนธรรมด้วย จงพากันยึดหลักนี้ไว้ภายในใจอย่าได้ลดละปล่อยวาง ความพยายามตะเกียกตะกายทั้งหลายจะเป็นมงคลแก่ตัวเราเองและวงพระศาสนาไม่มีประมาณ

จงคิดให้ถึงใจกับตนเองว่า เราเป็นศิษย์ตถาคตองค์ลือนามในหมู่สัตว์ จะไม่ยอมถือความลำบากลำบนในการประกอบความพากเพียรเข้ามากีดขวางลวงใจ เพราะเป็นอุบายของกิเลสหลอกเรามานาน ทำอย่างไรจะมีความเข้มแข็งมีความกล้าหาญชาญชัย อุบายใดที่จะเป็นไปเพื่อการส่งเสริมเราให้มีการก้าวหน้าทางด้านธรรมะเป็นขั้นๆ ไปนั้น เราจะพยายามคิดหาอุบายนั้น มาต่อต้านกันกับความท้อถอยอ่อนแอตลอดไป ไม่ยอมให้กิเลสที่เคยหลอกใช้เรามานานนำมาหลอกใช้ และบังคับทรมานเราอีกต่อไป เมื่อชีวิตสติปัญญาเรายังพอผลิตพอคิดค้นขึ้นมาต่อสู้กับกิเลสมีอยู่ นี่คือการปลุกใจตัวเองเพื่อความกล้าหาญในการรบการต่อสู้กับศัตรูหมู่ปัจจามิตรทั้งหลาย และเพื่อมีกำลังใจอยู่เสมอ ไม่หลงกลของกิเลสที่คอยกระซิบหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ส่วนสติปัญญาอันเป็นอาวุธสำคัญ เราพอคิดค้นขึ้นมาใช้ได้กับทุกคนที่สนใจคิดและเปลื้องตน ไม่เป็นธรรมที่เหลือวิสัยอะไรเลย

การนั่งสมาธิที่จะให้มีความสงบด้วยอารมณ์ของสมถะ ก็ให้ทำอย่างจริงจังตามหลักของสมถะ เวลาจะพิจารณาทางด้านปัญญาก็อย่าหวงสมถะอย่าห่วงสมถะ คืออย่าไปห่วงสมถะคือความสงบใจ ให้ทำงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยทางด้านปัญญาจริงๆ อย่าให้งานสมถะและวิปัสสนาก้าวก่ายกัน จะรู้เห็นสิ่งใดก็ให้รู้เห็นด้วยปัญญาที่จดจ่อต่อแขนงกันจริงๆ จะเห็นได้ชัดโดยลำดับว่ากิเลสลดน้อยลงไปเพียงไร ตลอดถึงกิเลสขาดเป็นวรรคเป็นตอนไปก็ทราบด้วยปัญญา เพราะปัญญาเป็นเครื่องถอดถอนกิเลสทุกประเภท ไม่มีอันใดจะนอกเหนือสติปัญญานี้ไปได้เลย ในวงแห่งเครื่องมือการชำระซักฟอกกิเลสออกจากจิตใจ

สมาธิเป็นต้นทุนให้จิตใจได้รับความสงบ ไม่หิวโหย ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง เป็นจิตที่อิ่มตัวกับอารมณ์ทั้งหลาย เวลานำไปใช้ทางด้านปัญญา จิตก็ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะจิตมีความอิ่มตัวด้วยความสงบ ผิดกับจิตที่ไม่สงบและแสดงความหิวโหยโรยแรง ยุ่งเหยิงวุ่นวายส่ายแส่ทุกแง่ทุกมุมด้วยสัญญาอารมณ์ต่างๆ อยู่มาก การบังคับจิตประเภทนี้เข้ามาสู่ด้านปัญญา ก็เถลไถลไปตามสัญญาอารมณ์นั้นเสีย ไม่เป็นปัญญาความแยบคายให้ตามต้องการ

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนว่า สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา สมาธินั้นแหละเป็นต้นทุนของปัญญา หรือเป็นเครื่องหนุนปัญญาให้ทำงานด้วยความสะดวก ให้ทำงานตามหน้าที่ของตนด้วยความคล่องแคล่วไม่อืดอาดเนือยนาย นั่น แม้ท่านสอนไว้อย่างนี้ก็จริง เมื่อถึงคราวที่เราจะใช้ปัญญามาปฏิบัติต่อจิตดวงที่ผาดโผนโลดเต้นไปด้วยอารมณ์ต่างๆ อันเป็นเรื่องของกิเลส ก็ให้นำ สติ ปัญญามาใช้ให้ทันกับเหตุการณ์ดังที่เคยกล่าวไว้แล้วในปัญญาอบรมสมาธิ

จิตคิดไปในแง่ใดมุมใดอันเป็นเรื่องของกิเลส ตามต้อนมาด้วยสติปัญญา จนกระทั่งจิตหรือกิเลสมันจนตรอกจนมุม ยอมรับความจริงจากปัญญาแล้วสงบตัวลงไป นั่นแลเรียกว่าการทรมานจิตทันกับเหตุการณ์

ความสงบประเภทนี้มีความแกล้วกล้ามาก มีความอาจหาญมาก ทั้งขณะที่สงบตัวลงก็ลงได้อย่างอาจหาญรู้เหตุรู้ผลที่เป็นมาโดยลำดับ เวลาถอนขึ้นมาแล้วก็มีความกล้าหาญชาญชัย มีความกระหยิ่มต่องานของตนที่ทำมาแล้ว และยึดไว้เป็นหลักใจไม่มีวันลืมกระทั่งวันตาย นี่เป็นอุบายหนึ่งที่เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ

อุบายที่สมาธิอบรมปัญญาก็คือเรื่องสมถะ อุบายของปัญญานี้ใช้ปัญญาอบรมจิตให้เป็นสมาธิ โดยไล่ตีต้อนจิตที่กำลังผาดโผนโจนทะยานนั้นให้เข้าสู่ความสงบได้ด้วยการยอมจำนนต่อปัญญา กาลใดขณะใดที่ควรจะนำมาใช้ในธรรมแง่ใด เราก็นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของเราเอง ไม่มีอะไรผิด และขัดข้องในวงความเพียรของผู้ปฏิบัติที่ต้องการความแยบคายให้ทันกับกลมายาของกิเลส ที่เคยฉลาดแหลมคมบนหัวใจมาแต่กาลไหนๆ

การเกิดตายไม่ควรสงสัยแล้ว เพราะเราเป็นตัวเกิดตัวตายมาตลอดอยู่แล้ว ความทุกข์ความลำบากที่ติดตามมากับความเกิด ต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายคือ ตาย ไม่มีระยะห่างกันเลยกับตัวเรา ชาติปิ ทุกฺขา เวลาเริ่มเกิดอยู่ในท้องแม่มันก็ทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่แล้ว เป็นแต่จำไม่ได้เท่านั้น เวลาตกคลอดออกมาก็ออกมาจากช่องแคบ ซึ่งเป็นความทุกข์ความทรมานอย่างมากมาย เรียกว่าเดนตาย ถึงได้เป็นมนุษย์ขึ้นมา แต่พากันมองข้ามเหตุการณ์อันรุนแรงนี้ไปเสีย เพราะคนใดที่เกิดขึ้นมาเป็นลูกเป็นหลานของตน ใจพุ่งไปทางความดีอกดีใจไปเสีย ความทุกข์ความลำบากที่เด็กเผชิญและตกคลอดมานั้นไม่ได้คำนึงกัน จิตเพลินมองข้ามความจริงไปเสีย ชาติปิ ทุกฺขา เลยไม่เห็นโทษแห่งความเกิดเรื่อยมาและยังจะมองข้ามเรื่อยไป ไม่มีการย้อนจิตกลับมาคิดกันบ้างพอได้เห็นโทษของความเกิด อันเป็นเครื่องหมายของผู้นับถือพุทธศาสนาและผู้ปฏิบัติธรรม

ต่อจากนั้นก็ไปตำหนิความตาย ไม่อยากตายกันมีแต่อยากเกิดท่าเดียว เมื่อผิดแต่ต้นมาแล้วตอนปลายมันก็ผิดเรื่อยไป ถ้าพิจารณาให้เห็นความจริงตามหลักธรรมชาติอันเป็นหลักธรรมแล้ว ว่าการเกิดนี้มีความทุกข์มากน้อยเพียงไร ได้เห็นประจักษ์ตาประจักษ์ใจแล้ว การแก่ชราคร่ำคร่าลงไป มันก็มีทุกข์ติดแนบไปโดยลำดับๆ ไม่ขาดวรรคขาดตอนเลยเรื่อยมา จนถึงวาระสุดท้ายนั่นแหละถึงตายไป ก่อนจะตายก็มีความทุกข์แสนสาหัสจนทนไม่ได้จึงต้องตายนั่นเอง

นี่เป็นไปอยู่กับสัตว์กับบุคคลทุกภพทุกชาติ ทุกอัตภาพร่างกาย ไม่มีอัตภาพใดที่จะเดินข้ามความทุกข์นี้ไปได้ นับแต่วันเกิดจนถึงวันตาย ต้องเป็นไปกับความทุกข์อย่างแนบสนิทติดกันแยกไม่ออก นี่ความจริงที่มีอยู่กับสัตว์โลก มีอยู่กับเราทุกคน

เราเป็นนักคิดนักพินิจพิจารณา มีสติปัญญาเป็นเครื่องมือบุกเบิกให้เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ ทำไมจะไม่รู้ไม่เห็นเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่กับตัวเราเอง เราก็เคยผ่านมาอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ก็มีอยู่กับอัตภาพร่างกายนี้ ขึ้นชื่อว่าทุกข์ไม่ทุกข์ที่ไหน นอกจากเบญจขันธ์กับจิตใจที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่นี่เท่านั้น จึงควรพิจารณาแยกแยะให้เห็นตามหลักความจริง ไม่ควรสงสัยเรื่องความเกิด ว่าจะมีความสุขความสบายสำราญบานใจในภพนั้นภพนี้ มันเต็มไปด้วยทุกข์ดังกล่าวนี้ทั้งนั้นแหละ

สิ่งที่เป็นสาเหตุของเรื่องนี้คืออะไร ท่านกล่าวไว้แล้วว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ , จนกระทั่งถึง ชาติปจฺจยา ชรามรณํ โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ. เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส, สมุทโย โหติ. นั่นแหละปลายของมัน ผลของมันเป็นไปจากอวิชชา นี่แหละตัวผลิตทุกข์ทั้งหลาย จับสัตว์ไสเข้าไปในภพในชาติ ไสเข้าไปในกองทุกข์ก็คือกิเลสตัณหาอวิชชานั่นแลเป็นตัวการจะเป็นอะไรไป

ถ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นภัยต่อตนเองอยู่แล้ว ทำไมความเพียรจะไม่แก่กล้าสามารถจะไม่บากบั่นภายในตน จะเป็นไปได้เหรอมนุษย์เราทั้งคนน่ะ นอกจากจะพิจารณาแบบเผินๆ ความขี้เกียจเต็มตัว หัวใจเป็นคลังกิเลสอยู่เต็มล้นเหลือบัญชีไปเสียอีก

มองอะไรดูอะไรก็ให้กิเลสพาดูให้กิเลสพามอง ให้กิเลสพาทำ ให้กิเลสพาคิด มันก็เป็นไปตามเรื่องของกิเลสเป็นผู้คิดบัญชีเอาเสียหมดละซิ เรื่องของธรรมที่บ่นเพ้อกันอยากรู้อยากเห็น จึงไม่ปรากฏแม้แต่เงาภายในใจและกิริยาที่แสดงออก ถ้าธรรมพาคิดธรรมพามอง ธรรมพาพินิจพิจารณาแล้วจะไม่ข้ามความจริง จะตรงเป๋งกับความจริงทุกระยะ และทราบความจริงอย่างซึ้งใจไปโดยลำดับไม่ต้องไปถามใคร เพราะสัจธรรมมีอยู่กับทุกคน

คำว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ มีอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีอยู่ในธาตุขันธ์ในจิตใจของเรานี้ สมุทัย อริยสจฺจํ ถ้าไม่มีอยู่ในใจจะมีอยู่ที่ไหน มันสัมผัสสัมพันธ์และบีบบังคับใจเราอยู่ตลอดเวลา ทำไมจะไม่เห็นถ้าใช้สติปัญญาพิจารณาแบบนักธรรมะ มรรคปฏิปทา หมายถึงอะไรถ้าไม่หมายถึง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาสมาธิเป็นที่สุด ซึ่งมีอยู่ภายในกายในใจของคนๆ เดียวนี้จะหมายถึงอะไร นี้แหละเป็นเครื่องบุกเบิก เป็นเครื่องสอดส่องมองดูทุกขสัจ สมุทัยสัจ ให้เห็นทะลุปรุโปร่งไปหมดด้วยมรรคสัจมีสติปัญญาเป็นสำคัญ

เมื่อมองทะลุไปแล้วสมุทัยมันก็ขาดลงไปโดยลำดับๆ นิโรธ คือความดับทุกข์นั้นเป็นผลของมรรคที่ทำหน้าที่ได้มากน้อยเพียงไร กิเลสตายไปมากน้อยทุกข์ก็ดับไปเรื่อยๆ นิโรธก็แสดงตัวขึ้นมาเรื่อยๆ นิโรธไม่ได้ทำงานแก้กิเลส นิโรธเกิดขึ้นจากการที่กิเลสดับไปเพราะอำนาจของมรรค ทุกข์จึงดับไปพร้อมในระยะเดียวกันนั้น จนวาระสุดท้ายทุกข์ก็สิ้นไปหมดจากใจ ท่านเรียกว่า เรียนสัจธรรมจบ เพราะสัจธรรมทั้งมวลมีอยู่ที่ตัวของเรานี้ ในตำรับตำราจะมีมากน้อยเพียงไร ท่านไม่ได้ชี้ไปไหนนี่ ไปดูซิในตำรา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ชี้เข้ามาที่กายที่จิตของสัตว์ของเราของท่านนี้ทั้งนั้น จงพิจารณาเข้ามาจุดนี้ นี้คือจุดแห่งความจริง อย่ามองข้ามความจริงนี้ไปจะไม่เจอความจริงตลอดไป ถ้ามองข้ามนี้แล้ว

ฉะนั้นท่านจึงสอนให้มองเข้ามาสู่ความจริง คืออริยสัจที่มีอยู่ภายในกายในใจของเรานี้เป็นความจริงอยู่ตลอดเวลา ใครจะวินิจฉัยใคร่ครวญหรือจะนอนหมกจมกันอยู่ที่นั่นมันก็เป็นสัจธรรมอยู่โดยตรง ถ้าพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงก็รู้สัจธรรม เมื่อรู้สัจธรรมแล้วก็ละสัจธรรมทั้งหมดเพราะอันนี้เป็นทางก้าวเดิน ผู้ที่หลุดพ้นหรือผู้ที่จะก้าวข้ามหรือรู้เท่าในสัจธรรมทั้งสี่ รู้รอบสัจธรรมทั้งสี่นี้แล้วหมดห่วง ก็คือจิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วนั่นแล นั่นไม่ใช่สัจธรรม

สัจธรรมมีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้งสองฝ่ายนี้เป็นคู่ปรับกัน เป็นคู่อริกันหรือเป็นเครื่องแก้กัน ทุกข์กับสมุทัยเป็นฝ่ายผูกมัด นิโรธกับมรรคเป็นฝ่ายแก้ฝ่ายถอดถอน ฝ่ายระงับดับลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งดับลงโดยสิ้นเชิง หลังจากความดับแห่งกิเลสทั้งหลายโดยสิ้นเชิงแล้วนั้นแล คือความหลุดพ้นของจิต จากนั้นจิตก็ไม่เป็นสัจธรรมต่อไปอีก

ในขณะที่จิตยังมีกิเลสหุ้มห่ออยู่นั้นเป็นสัจธรรมทั้งดวงทีเดียว พอชำระซักฟอกกิเลสอันเป็นสมุทัยสัจออกจากใจหมดแล้ว ใจก็กลายเป็นความจริงอันประเสริฐ แต่ไม่ใช่ความจริงในอริยสัจ เป็นความหลุดพ้นของตัวเอง อันนี้ไม่ใช่สัจธรรม การพิจารณาจึงเป็นกิริยาทั้งนั้น เมื่อถึงขั้นที่หมดกิริยาแล้ว สัจธรรมทั้งสี่นี้ก็เป็นอันว่าหมดหน้าที่ไป เช่น มรรคเป็นเครื่องดำเนินแก้กิเลสก็หมดหน้าที่ไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ

นี้แหละคือการตัดภพตัดชาติตัดกิเลสตัณหา ไม่ให้มีเกี่ยวข้องภายในจิตใจได้อีกเลยตลอดอนันตกาล ไม่มีกาลใดสมัยใดที่ทุกข์จะเข้ามาสัมผัสสัมพันธ์ใจได้อีก หรือตนจะไปโดนทุกข์ที่ตรงไหนภายในใจอีก ภพนั้นภพนี้ไม่มีในจิตแล้วทุกข์จะมีที่ไหนได้ ก็มีแต่ความบริสุทธิ์พุทโธเท่านั้น นอกจากทุกข์ประจำขันธ์ซึ่งพระพุทธเจ้าแลสาวกก็ยอมรับรู้แต่ไม่ยึดเท่านั้นเอง

นี่คือผลแห่งการประพฤติปฏิบัติกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกอยู่ภายในใจ ด้วยความพากเพียร อย่าลดละท้อถอย ให้เอาให้จริงให้จังต่องานของตนอย่างยิ่ง อย่าเห็นงานใดเป็นสิ่งที่วิเศษวิโสยิ่งกว่างานของพระเรา นี่แหละพระเรามีงานอย่างนี้ นี่แลงานของพระในครั้งพุทธกาลท่านมีอย่างนี้กันทั้งนั้น องค์ใดออกจากสกุลต่างๆ มาบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าหรือสำนักใดก็ตาม เมื่อได้สดับตรับฟังพระโอวาทของพระพุทธเจ้าให้เต็มที่เต็มฐานแล้ว ก็ออกประกอบความพากเพียรที่เรียกว่าทำงาน เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาชำระจิตใจประจำตนไม่ลดละ จนบรรลุผลสำเร็จดังใจหวัง นี่ละงานคือการชำระจิตใจ

ชำระมันทำไมจิตใจน่ะ ก็มันเต็มไปด้วยของสกปรกรกรุงรังอยู่ภายในนั้นมาตั้งกัปตั้งกัลปนับไม่ถ้วนแล้ว จึงต้องชำระสะสาง และสิ่งนี้แลเป็นตัวเหตุที่พาให้ได้รับความทุกข์ความทรมานในภพน้อยภพใหญ่เรื่อยมา จึงต้องชำระมันออกให้หมด ด้วยกิจการงานเหมาะสมของเราที่ดำเนินอยู่นี้ เมื่อชำระเสร็จสิ้นลงไปแล้ว อดีตก็หมด อนาคตก็หมดความหมายไปโดยประการทั้งปวง เพราะจิตนั้นบริสุทธิ์เต็มตัวแล้ว แม้ปัจจุบันก็รู้เท่า ไม่ยึดทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบัน รู้ตามความจริงโดยตลอดทั่วถึง ไม่มีจุดมีต่อมที่ไหนอีกแล้ว นั่นแลคือการเสร็จงานอันวิเศษ กลายเป็นคนวิเศษขึ้นมาภายในตัวเอง ซึ่งแต่ก่อนหาคุณค่าไม่ได้

จงสนใจพินิจพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง เอาร่างกายนี้เป็นตัวเหตุ เป็นสนามรบ เป็นสถานที่คลี่คลายดูความจริง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จนกระทั่งอาการ ๓๒ สิบสอง มีแต่ความจริงล้วนๆ ภายในตัวเรา จงมองลงไปตามจุดความจริงดังที่ท่านสอนไว้นั้น จะเห็นความจริงเต็มกายเต็มหัวใจ ตลอดถึงกระแสของใจที่ไปคิดสำคัญมั่นหมายว่านั้นเป็นเรานี้เป็นของเรา รูปเป็นเรา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเราเป็นของเรา

ความสำคัญมั่นหมายเหล่านั้นมันจะหมดความหมายไปทันที เพราะความเสกสรรทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล เมื่อปัญญาได้ชะล้างเข้าไปตรงไหนแล้ว จะมีแต่ความจริงล้วนๆ ปรากฏขึ้นมา ความจอมปลอมทั้งหลายที่เคยเสกสรรปั้นยอต่างๆ นั้นจะหายหน้าไปหมด ปรากฏแต่ความบริสุทธิ์ที่ไม่ยึดไม่ถือสิ่งใด เพราะรู้เห็นตามความจริงเต็มส่วนแล้ว นี่คือการปล่อยวางอุปาทานในขันธ์ ปล่อยวางอุปาทานในจิตปล่อยด้วยอุบายดังกล่าวมา

เมื่อปล่อยวางหมดแล้วก็ไม่ได้บอกว่าเลิศ หากรู้ภายในตัวเอง ไม่มีการเสกสรรปั้นยออีกแล้วที่นี่ อยู่ตามความจริง อยู่ตามหลักธรรมชาติ ไม่สำคัญตนว่าสูงยิ่งกว่าผู้อื่นผู้ใด ไม่สำคัญตนว่าต่ำต้อยน้อยหน้ากว่าผู้ใด ไม่ยกตนข่มผู้หนึ่งผู้ใด แล้วไม่นึกคิดนำเรื่องของผู้ใดเข้ามาเป็นอารมณ์เหยียบย่ำทำลายตน ต่างอันต่างจริง ข้างนอกก็จริงข้างในก็จริง ใจก็จริง จริงทุกสิ่งทุกอย่างแล้วไม่กระทบกระเทือนกัน นั่นคือความอยู่สบายในระหว่างขันธ์กับจิต อยู่สบายในระหว่างโลกกับเรา เพราะรู้เท่าทันหมดแล้วไม่ไปเกาะไม่ไปยึด ก็ไม่มีอะไรมากระทบกระเทือน

พอสิ้นวาระของธาตุขันธ์ที่สืบต่อกัน มันก็สลายตัวลงไปตามหลักธรรมชาติของขันธสมมุติ ซึ่งเราก็ได้พิจารณารอบตัวไว้หมดแล้ว ย่อมไปอย่างสุคโต ไปอย่างเป็นสุข สุขอันนี้ไม่ใช่สุขธรรมดาในวงสมมุติ เป็นบรมสุขที่เรียกว่า ปรมํ สุขํ ปรมํ สุขํ ได้แก่ท่านผู้ที่ไปจากธาตุจากขันธ์จากอุปาทานโดยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรห่วงใยเลย เป็น อนาลโย คำว่า อนาลโย คือความหมดอาลัย ก็หมดที่ใจนี้เองไม่ใช่หมดที่ไหน อย่าเที่ยวตะครุบเงากัน

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมของจริง จงอย่าไปคาดไปหมายเรื่องมรรคผลนิพพานว่าจะอยู่ในสถานที่ใด นอกจากจะอยู่ในท่ามกลางแห่งสัจธรรมทั้งสี่นี้เท่านั้น ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย พึงทราบว่าสัจธรรมทั้งสี่ สติปัฏฐานสี่ซึ่งมีอยู่กับกายกับใจเรานี่แลคือตลาดแห่งมรรคผลนิพพาน ให้ดูตรงนี้ให้ดี แล้วจะเป็นที่ยอมรับภายในตัวเองยิ่งกว่าผู้หนึ่งผู้ใดมาบอกมาสอนเป็นไหนๆ ปจฺจตฺตํ รู้จำเพาะตน สนฺทิฏฺฐิโก เห็นเองประจักษ์ใจหายสงสัย

ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมสำคัญ ที่จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติให้ปรากฏผลขึ้นกับตัวเอง ด้วยความเข้มแข็งทางด้านความเพียรและเข้มแข็งทุกด้านทุกทาง ข้อวัตรปฏิบัติภายนอกภายในมีความกลมกลืนกัน เพราะภายนอกก็เกี่ยวกับเรื่องภายใน คือใจเราเอง ข้างนอกเหลวไหลข้างในก็โลเล ถ้าข้างนอกดีข้างในก็ดี แน่นหนามั่นคงไปทุกสัดทุกส่วน เพราะเราทำเพื่อเรา ไม่ได้ทำเพื่อผู้หนึ่งผู้ใด

จงเอาให้จริงให้จัง ให้เห็นธรรมวิเศษที่มีอยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์นี้คืออะไร คือ จิตที่บริสุทธิ์จากการชำระซักฟอกด้วยตปธรรม เมื่อจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้วไม่ต้องเสกสรร หากรู้ชัดๆ ว่าแตกต่างกับสิ่งทั้งปวงในแดนสมมุติ แตกต่างจากทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่มีอะไรเหมือนจิตเหมือนธรรมที่บริสุทธิ์เป็นอันเดียวกัน คือ ธรรมเป็นจิต จิตเป็นธรรม จิตกับธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ไม่เหมือนสิ่งใด จะรู้ภายในตัวของผู้ปฏิบัติเอง จงพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นอัตสมบัติของตนให้ได้ เพราะนักบวชเราพร้อมทุกอย่างแล้วทางการรบเพื่อจบพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่เลิศในหัวใจของผู้เรียน ผู้ปฏิบัติและรู้เห็น

หยุดแค่นี้แล


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก