โลกคือหมู่สัตว์ไม่เคยอยู่ด้วยความสะดวกสบายโดยไม่มีเครื่องบังคับ ต้องมีเครื่องบังคับอยู่ตลอด ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์น้ำสัตว์บก มีเครื่องบังคับให้ต้องเคลื่อนไหวไปมา เสาะแสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ จัดทำกันอยู่ไม่หยุดไม่ถอยทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอน มีตั้งแต่เรื่องความจำเป็นบังคับ นี่ถ้าพูดตามหลักแห่งความจำเป็น นอกจากนั้นสิ่งไม่จำเป็นก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา เป็นเครื่องบังคับสลับซับซ้อนยุ่งเหยิงวุ่นวายภายในหัวใจตลอดร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ จนถึงกับกำลังไม่พอกับความต้องการและความสับสนเหล่านั้น ที่ถือหัวใจเป็นที่ทำงานหรือเป็นเครื่องหมุนเพื่อความต้องการของตน นี่โลกเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น
เฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์เรา จะอยู่ประเทศใด ทวีปใด ชาติชั้นวรรณะใด ในป่าในบ้าน ในเมืองนอกเมือง มีแต่ความหมุนติ้วอยู่ด้วยหน้าที่การงาน เพราะเรื่องธาตุเรื่องขันธ์เป็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่บังคับให้ต้องทำงาน แล้วยังมีอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ลึกลับสำหรับผู้ไม่ได้ศึกษาอบรมมาเลย ได้แก่ตัวหยาบ ๆ คือกิเลส ตัวโลภ นี่สำคัญมาก มันจะเอาให้ตายจริง ๆ โลภไม่มีวันหยุดวันถอยไม่มีวันเพียงพอ ได้มาเท่าไรมากน้อยเพียงไร ยิ่งเป็นเหมือนกับเครื่องเสริมไฟให้ส่งเปลวสูงขึ้นโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งตายไปเปล่า ๆ หาความสุขไม่ได้เลยในบุคคลคนนั้น ทั้ง ๆ ที่เสาะแสวงหาความสุขตั้งแต่เริ่มแรกมาจนกระทั่งวันตายหาไม่เจอ ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้มีอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นไปแล้ว ต้องเป็นอย่างนั้น
หากถือเอาความจำเป็นเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ หามาเพื่อเยียวยารักษาตามธรรมดา ก็ย่อมมีเวลาพักผ่อนได้อย่างสะดวกสบาย แต่ความโลภนี้มันไม่มีเมืองพอ จึงหาเวลาพักผ่อนไม่ได้ ได้เท่านี้ต้องอยากได้เท่านั้น ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่จะตามทันมันได้เลย โลกจึงต้องหมุนติ้วอยู่ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้เป็นสำคัญ ที่เกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ซึ่งมีความบกพร่อง ต้องการสิ่งเยียวยารักษาและกิเลสตัวหาเมืองพอไม่ได้นี้ เป็นตัวใหญ่มากทีเดียว เพียงลำพังปากท้องเครื่องใช้ไม้สอยสำหรับธาตุขันธ์พอเป็นอยู่ปูบายสำหรับโลกทั่วไปในวงมนุษย์เราก็พอทำเนา แต่ถ้ากิเลสตัณหาเหล่านี้มันเข้าบงการเป็นหัวหน้างานแล้ว โลกไหนก็โลก คนใดก็คนเถอะ ชาติชั้นวรรณะใดก็ตาม จะต้องหมุนติ้วอยู่ด้วยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบังคับ จนกระทั่งลมหายใจหมดก็ไม่เจอความสุขแม้แต่น้อยเลย เจอตั้งแต่กองทุกข์ เพราะพวกนี้พวกเสาะแสวงหาความทุกข์ทั้งนั้น
ธรรมชาติอันนี้พาสัตวโลกให้เสาะแสวงหาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาลนตัวเองอยู่ตลอดเวลา หาความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ที่ไหน แต่โลกก็ไม่เห็นโทษของมัน จึงต้องได้หมุนตัวไปตามมันอยู่เช่นนั้น เมื่อสรุปความแล้วโลกเรานี้ จึงไม่มีใครว่างจากการจากงานจากความยุ่งเหยิงวุ่นวาย หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่เช่นนั้น เอ้า สรุปเรื่องเกี่ยวกับเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ โลกก็ต้องเสาะแสวงหามาเยียวยารักษา ก็ต้องวุ่นวายอยู่เรื่อยมา ทำงานก็ต้องทำจริง ๆ ไม่ทำจริง ๆ ก็ไม่พอปากพอท้อง ความทุกข์ก็เกิดขึ้น โลกจึงได้หมุนไปตามการตามงาน
ทีนี้ย่นเข้ามาหาสมณะคือนักบวชนักปฏิบัติของเรา ให้พึงถือโลกเป็นหลักสำคัญว่า เขาไม่มีเวลาว่างงานของเขาเลย งานของพระก็ไม่ควรให้มีเวลาว่าง เพื่อถอดถอนกิเลสตัณหาอาสวะ นี่คืองานสำคัญแท้ของสมณะเรา เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา อันเป็นงานสำคัญของตน ในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ให้ปราศจากสติ ซึ่งควบคุมงานภายในของตนที่ทำอยู่นั้นโดยสม่ำเสมอ นี่เรียกว่าเป็นผู้มีงาน สมกับเพศและหน้าที่ของตนโดยแท้ ดังพระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วทุกประการ
ในครั้งพุทธกาลเราวาดภาพตามตำรับตำราที่ท่านจดจารึกเอาไว้ ท่านจดเอาไว้ตามหลักความจริงที่เป็นมา เพราะฉะนั้นเวลาเราอ่านตำราแล้วจึงวาดภาพเรื่องของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายได้โดยไม่ผิด จะเห็นพระอาการของพระพุทธเจ้าที่แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่มีเรื่องอื่นเรื่องใดนอกจากเรื่องถอดถอนกิเลสอาสวะด้วยความพากเพียร สั่งเสียพระบ้าง คือทรงสั่งเสียบ้าง ทรงให้การอบรมให้เห็นคุณค่าในสถานที่ที่จะบำเพ็ญบ้าง ให้เห็นคุณค่าแห่งความเพียรของตนบ้าง รวมแล้วมีแต่เรื่องให้พระบำเพ็ญความพากเพียรให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยสมกับงานของสมณะจริง ๆ
เราจะเห็นได้บรรดาพระสาวกทั้งหลายที่ออกมาจากสกุลต่าง ๆ มาบวช ศึกษาอบรมกับพระพุทธเจ้า ไม่มีงานใดกิริยาใดที่เป็นเรื่องของโลกเข้าไปเคลือบแฝงเลย จะคุยกันมากน้อยเพียงไรที่เรียกว่า ธรรมสากัจฉา กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ท่านสนทนากันเพื่อความรู้จริงเห็นจริงในอรรถในธรรม เป็นสิริมงคลทั้งสองฝ่าย ได้รับประโยชน์จากกันเป็นอย่างดี ไม่ว่ามากน้อยเพียงไรบรรดาธรรมที่ท่านสนทนากัน อยู่ในวงแห่งสัลเลขธรรมที่เคยแสดงมาแล้วเสมอนั้นแล ไม่ได้นอกเหนือไปจากนั้นเลย
การพูดกันก็พูดด้วยความชมเชย พูดด้วยความยินดี พูดด้วยความใฝ่ใจจริง ๆ ในธรรมทั้งหลาย ไม่ได้สักแต่ว่าพูดปรารภหรือสนทนากัน เช่นอย่างความมักน้อยอย่างนี้ ก็ตัดภาระธุรังอะไรออกหมด ให้พอเป็นไปได้เท่านั้น ความมักน้อยนี่เป็นเครื่องตัดภาระเครื่องกดถ่วงออกเสียให้มีแต่ความพากเพียร ไปด้วยความคล่องตัว ถ้าลดลงมาก็ว่าสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิดไม่เสาะแสวงหาสิ่งไม่มีไม่เป็น มาก่อกวนวุ่นวายตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นการรบกวนเขาไม่ดีเลย อยู่ในสัลเลขธรรม อปฺปิจฺฉตาความมักน้อย สนฺตุฏฺฐี คือความยินดีตามมีตามเกิดแห่งปัจจัยทั้งหลาย ไม่ยินดีไปมากกว่าที่เกิดขึ้นมีขึ้นภายในตน ไม่รบกวนผู้ใด เป็นผู้เลี้ยงง่ายเสมอ ท่านว่า สุภโร เป็นผู้เลี้ยงง่าย สนฺตุสฺสโก จ สุภโร จ เป็นผู้สันโดษยินดี เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับใครทั้งนั้น
วิเวกตา สนทนากันก็ เป็นยังไงไปอยู่สถานที่นั่น ได้รับความสงบสงัดดีไหม สถานที่เป็นอย่างไร ดินฟ้าอากาศตลอดถึงน้ำท่าที่เป็นที่อาศัย สถานที่ประกอบความพากเพียร เป็นไปด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจไหม นั่นท่านสนทนากัน วิเวกตา ชอบในที่สงัด สงัดดีไหม
วิริยารัมภา การประกอบความเพียรเป็นอย่างไรบ้าง ได้อุบายแปลก ๆ ต่าง ๆ ในสถานที่เช่นนั้นดีไหม องค์นี้ก็ถามองค์นั้น องค์นั้นก็ถามองค์นี้เหมือนกัน เพราะต่างองค์ต่างไปหาสถานที่เช่นเดียวกันนี้ เมื่อได้ทราบว่าดีแล้ว หากว่ามีโอกาสท่านเหล่านั้นก็อาจจะไป มีโอกาสท่านเหล่านี้ก็อาจจะไปสู่สถานที่เช่นนั้น เพราะเป็นที่เหมาะสมต่อการประกอบความพากเพียร
อสังสัคคณิกา ไม่คลุกคลีกับผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ต้องพูดถึงเรื่องประชาชนญาติโยมซึ่งเป็นสิ่งภายนอกนั้นเลย แม้แต่พระก็ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกัน จะพูดกันเฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น เพราะไม่ให้จิตส่งกระแสออกไปสู่ภายนอกให้มากไป ซึ่งเป็นการข้ามความจำเป็นหรือหลักความเพียรที่มีอยู่ในตนนี้ไปเสีย ให้เสียเวล่ำเวลาไป พูดก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโลกเรื่องสงสารอันเป็นเครื่องสั่งสมกิเลส หรือส่งเสริมกิเลสที่มีอยู่แล้วให้พองตัวขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว พูดหลายครั้งหลายหนก็ชินจนด้าน เลยพูดธรรมไม่ลงถ้าไม่ได้พูดโลกแล้วอยู่ไม่ได้ ทุรนทุรายเหมือนคนจะตาย นี่คือจิตมันเป็นโลกเสียทั้งดวงในหัวใจของพระ ถ้าจิตเป็นธรรมแล้วจะไม่หิวโหยกับเรื่องของโลกใด ๆ ทั้งนั้น นอกจากมีความอิ่มพอ หรือมีความดูดดื่มภายในธรรมทั้งหลาย แสดงออกมาอาการใดมีแต่ธรรมล้วน ๆ เป็นที่ซาบซึ้งถึงจิตใจซึ่งกันและกันในระหว่างผู้สนทนากัน
ศีล ก็ระมัดระวังรักษาอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นสมบัติอันล้นค่าภายในตัวของเรา
สมาธิ จะทำให้เกิดได้ด้วยวิธีใด สนทนากัน สนทนาถึงเรื่องศีล สนทนาเรื่องสมาธิ เป็นยังไงจิตใจเป็นยังไง มีความสงบเยือกเย็นดีไหม อยู่ในที่เช่นนั้น ๆ การประกอบความเพียรเป็นยังไง จิตใจได้รับความสงบเยือกเย็นไหม ความเยือกเย็นขนาดไหน ใครมีความรู้สึกยังไงในการประกอบความเพียรที่ปรากฏผลขึ้นมาก็เล่าสู่กันฟัง เป็นเครื่องส่งเสริมซึ่งกันและกันให้มีความดูดดื่ม มีกำลังใจในการประกอบความพากเพียร
ปัญญา พิจารณาได้ความแยบคายอย่างไรบ้าง ถามกันถึงเรื่องปัญญา เมื่อถามถึงเรื่องปัญญาแล้ว ไม่ไปวิมุตติจะไปที่ไหน เพราะปัญญาเป็นเครื่องปราบปรามสิ่งที่รกรุงรังภายในจิตใจทั้งหลายให้หลุดพ้นถึงขั้นวิมุตติ นี่ละท่านบำเพ็ญมาแต่ก่อน สนทนากันท่านสนทนาอย่างนี้ นี่หลักของพุทธศาสนาแท้ หลักของพระแท้ งานของพระแท้ การพูดการจาสนทนาของพระแท้ท่านเป็นอย่างนี้ ให้พากันจดจำหลักเกณฑ์นี้ไว้ อย่าให้ห่างจากจิตใจของตน อย่าเห็นว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่น่าคุยน่าสนทนา มากยิ่งกว่าสัลเลขธรรมทั้ง ๑๐ ประการที่มีคุณค่าอันวิเศษต่อจิตใจของเรานี้ อันนี้เป็นสำคัญ
ผู้ใดก็ตามถ้าลงได้มีความเน้นหนักลงใน ๑๐ ข้อนี้จะเป็นข้อใดก็ตาม จะวิ่งถึงกันหมด กิเลสเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นที่สุดก็ตามเถอะ สิ่งที่เก่งกว่ากิเลสยังมี ที่จะต้องปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือมี คืออะไร คือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วทุกบททุกบาททุกแง่ทุกมุม ซึ่งก็มีอยู่ในตัวของเรา ท่านบอกอุบายวิธีการที่มีอยู่ในตัวของเรา ซึ่งมันผูกมัดกันด้วยความสำคัญของเรา แล้วให้แก้กันออกด้วยอุบายต่าง ๆ แห่งธรรมที่ท่านสอนไว้
อย่างที่ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ก็ติดอันนี้ สัตวโลกทั้งหลายติดกันตรงนี้ ก็มาสอนที่ตรงนี้ ดูให้ดี มีอยู่ในที่นี่ ความติดพันความสำคัญซึ่งเป็นเรื่องปลอมทั้งหลายนั้น มันแทรกของจริงอยู่นี้ มันดัดแปลงแต่งเอาใหม่ทั้งหมด กิเลสมันไม่ได้เป็นไปตามธรรม ธรรมว่าเป็นของไม่งาม เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นอสุภะอสุภัง เป็นสิ่งที่แตกสลายได้ เสื่อมไปทุกเวลา เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา แต่กิเลสมันไม่เป็นอย่างนั้น มันดัดแปลงเสียใหม่ หลอกเราเรายังหลง
ทั้ง ๆ ที่ตาเราก็เห็นอยู่สิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร ถ้าเอามาเทียบกับธรรม มาเป็นคู่แข่งกับธรรมแล้ว เอาตามความจริงก็เหนือธรรมไปไม่ได้ ธรรมต้องมีน้ำหนักเต็มตัว ว่าเป็นของปฏิกูล นั่นเราดูซิ มันหอมที่ไหนร่างกายของเราทุกส่วน มันไม่ปฏิกูลได้อย่างไร เท่านี้ก็ทราบแล้ว แต่มันเปลี่ยนขึ้นมาว่ามันสวยมันงาม มันสวยงามที่ตรงไหน ว่าสะอาด ๆ ที่ตรงไหน มีตั้งแต่สิ่งที่มันปลอมขึ้นมาแทรกขึ้นมา ปลอมขึ้นมา แต่เราไปเชื่อของปลอมมากยิ่งกว่าที่จะพิจารณาตามธรรมพระพุทธเจ้า ให้เห็นเป็นของจริงตามธรรมท่าน เพราะฉะนั้นมันจึงฝืนธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่เราประกอบความเพียรอยู่นั้นแหละ เป็นการปีนเกลียวกันกับธรรม เลยกลายเป็นข้าศึกต่อธรรมไปโดยไม่รู้สึกตัว ในขณะเดียวกันความเห็นเหล่านี้ก็กลายเป็นข้าศึกต่อตัวเราเองไม่ใช่ที่ไหน มันจึงไม่รู้ไม่เห็น
เหมือนกับว่าธรรมของพระพุทธเจ้าสุดเอื้อมสุดวิสัยของมนุษย์เรา เฉพาะอย่างยิ่งของเราที่จะปฏิบัติให้รู้ให้เห็น ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ธรรมท่านสอนไว้ มันสุดวิสัยไปเสียหมด เพราะความรู้ความเห็นมันไม่เป็นไปตามธรรม มันเป็นไปตามกิเลสเสียทั้งหมด เรื่องกิเลสเป็นเรื่องขวางธรรมอยู่แล้ว เมื่อความรู้เห็นเป็นไปตามกิเลสเชื่อกิเลสไปเราก็เป็นคนขวางธรรม แล้วมันจะบรรลุเป้าหมายแห่งธรรมตามพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
ท่านจึงสอนให้พิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ คลี่คลายแยกแยะออกอยู่โดยสม่ำเสมอ วาระหนึ่งจนได้ที่จะรู้จะเห็นตามหลักความจริงของธรรมที่สอนไว้ ท่านว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ตรัสไว้ชอบแล้ว ฟังซิธรรมตรัสไว้ชอบแล้ว มันไม่ชอบอยู่ที่หัวใจของเราที่เต็มไปด้วยสิ่งจอมปลอมคือกิเลสทั้งหลายเท่านั้น จึงต้องพยายามแหวกจากกิเลสจอมปลอมนั้นเข้ามาสู่ความจริงในธรรมว่าตรัสไว้ชอบแล้ว
ร่างกายเป็นยังไง เป็นอสุภะอสุภัง เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี่คือความจริง พยายามคลี่คลายดูจุดนี้ไม่เห็นเอาให้เห็น เห็นภายในใจ ตาเนื้อเห็นอยู่แล้วนี่ ปฏิเสธพระพุทธเจ้าไม่ได้ เห็นอยู่ทุกอย่าง แปรสภาพก็เห็นอยู่ ทุกข์ก็เห็นอยู่ อนตฺตา ถือเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาที่ไหน มันก็มีแต่ดินน้ำลมไฟถ้าพูดตามสมมุติขั้นนี้ จากนั้นก็ทุกชิ้นทุกส่วนภายในร่างกายนี้ ก็เป็นตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไตรลักษณ์เต็มอยู่หมด อยู่ด้วยกันนั่นแหละทั้งสามไตรลักษณ์นี้ คลี่คลายไปหลายครั้งหลายหนก็เข้าใจ
สติเป็นสำคัญในการประกอบความพากเพียร เราจึงเน้นเสมอเรื่องสติ เพราะเคยเห็นคุณค่าของสติมาแล้วด้วย เคยเห็นโทษแห่งความขาดสติมาแล้วด้วย จึงได้นำมาสอนอย่างเต็มหัวใจหรือเต็มปาก เวลาเราประกอบความพากเพียร วันไหนสติไม่ค่อยดีการพิจารณาก็ไม่ค่อยแจ่มแจ้ง นี่หลักใหญ่อยู่ตรงนี้ สติผู้ควบคุมงานขาดวรรคขาดตอน งานก็ขาดวรรคขาดตอนไปตามสติ นี่ละที่ว่าความเพียรขาดวรรคขาดตอนขาดตรงนี้ ถ้าสติดีอยู่การพิจารณาทางด้านปัญญา จับลงไปเกาะลงไปมันติดปั๊บ ๆ พุ่งไปเลย ทะลุไปเลย ถึงความจริงตามขั้นภูมิกำลังของตนโดยไม่ต้องสงสัย
ถ้าวันไหนพิจารณาไม่ติดเพราะสติไม่ดี เกาะแล้วผิดพลาดไป เกาะแล้วหลุดไป ๆ ความจริงก็ไม่เด่น เพียงขั้นนี้ก็พอทราบได้อยู่แล้ว โน่นที่เราจะเห็นได้ชัดเจน ถ้าความเพียรติดพันกัน เป็นเนื้อเป็นหนังของความเพียรจริง ๆ เป็นชิ้นเป็นอันเป็นเหตุเป็นผล เป็นความเพียรร้อยเปอร์เซ็นต์ ๆ เป็นระยะ ๆ ไป ก็ตอนสติปัญญาอัตโนมัติ นั่นจึงเห็นได้ชัดทีเดียว
อะไรมาเกาะไม่ติด สลัดปุ๊บ ๆ ด้วยอำนาจของสติปัญญาที่รู้ทันกันตลอด ตั้งไม่ตั้งก็ตาม ฟังแต่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติก็แล้วกัน อะไรมาสัมผัสพับนี้ก็เหมือนกับว่าเตือนสติและปัญญาให้ตื่นในขณะเดียวกัน หรือให้รู้สึกตัวกับสิ่งนั้นในขณะเดียวกัน ปกติก็รู้สึกตัวอยู่แล้ว แต่เมื่อมีสิ่งที่มาสัมผัสก็รับทราบกับสิ่งนั้นทันที แล้วคลี่คลายกันไปโดยลำดับทันที จนกระทั่งเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วปล่อย ๆ เรื่อย ความเพียรจึงขึ้นอยู่กับสติ ขอให้ทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เราอยากรู้อยากเห็นคุณค่าแห่งธรรมที่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติทั้งหลาย มีพวกเราเป็นต้นที่ตั้งหน้าตั้งตามาศึกษาจากที่ต่าง ๆ มามุ่งอรรถมุ่งธรรมมีเจตนาอย่างเดียวกัน ขออย่าลืมความตั้งอกตั้งใจความมุ่งหมายของตนที่มา ในเวลาประกอบความพากเพียร อย่าให้กิเลสมันหลอกให้เถลไถลไปโน้น เถลไถลไปนี้ มีแต่เรื่องกิเลสจูงจมูกอยู่ตลอดเวลา จิตไม่ได้หยั่งเข้าถึงธรรมได้เลย ถูกแต่กิเลสหลอกจับฉุดลากออกไปจากช่องแห่งธรรมที่จะควรรู้ได้เห็นได้ ช่องนี้ช่องนั้น เช่น ช่องทุกฺขํ ช่องอนิจฺจํ ช่องอนตฺตา ช่องอสุภะอสุภัง มันลงช่องนี้ไม่ได้ มันลงแต่ช่องที่กิเลสหลอกลวงไปเสีย เรียกว่าลงช่องหลอกลวง หลอกตัวเองไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่เห็นผลเห็นประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นจึงเอาให้จริงให้จัง
เทศน์สอนหมู่เพื่อนมาก็ไม่รู้กี่ปีกี่เดือน เทศน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยหมดภูมิความสามารถที่จะให้ยิ่งไปกว่าที่เทศน์มาแล้วนี้ เป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับเรา ใครจะประพฤติปฏิบัติให้รู้ให้เห็นขึ้นภายในใจมันก็น่าจะเป็นอยู่แล้ว น่าจะเป็นไปได้แล้ว ถ้าหากว่าไม่เหลวไหลไม่เถลไถลเสียภายในจิตของตนทั้งที่ประกอบความเพียรอยู่นั้นเท่านั้นก็ไม่มีอย่างอื่น มันน่าจะรู้ สิ่งเหล่านี้อยู่กับตัวแท้ ๆ ขุดค้นลงไปตรงนี้ ทำไมความสงบเมื่อไม่มีอะไรกวนจิต เพราะการบังคับได้ไม่ให้จิตไปยุ่งกับสิ่งใด สติบังคับไว้เสมอทำไมจิตจะสงบตัวไม่ได้
การที่สติตั้งไม่อยู่หรือสติเผลอ เป็นเหตุให้จิตถูกกิเลสลากไปด้วยความเคยชินต่อนิสัยของกิเลสอยู่แล้ว อย่างนั้นมันก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว นั่งภาวนาก็มีแต่ง่วงเหงาหาวนอนหาความสงบไม่ได้ นอกจากสงบแบบหลับเท่านั้น เพียงขั้นสมาธิก็ไม่เห็นถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ปรากฏ ได้ยินแต่ชื่อนั่นแหละว่าสมาธิ ๆ แปลว่าความตั้งมั่น อะไรมันตั้งมั่น ความเพียรก็ไม่มั่น มันเถลไถลไปตามกิเลสเสียหมดเอาความมั่นมาจากไหน เมื่อตัวเหตุไม่มั่นผลคือความสงบใจ ให้เป็นความสงบอย่างแน่นหนามั่นคงจะมีได้อย่างไร ผลเกิดขึ้นจากเหตุต่างหาก
นี่เพียงขั้นสมาธินี้ก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าพูดถึงขั้นปัญญาด้วยแล้วก็ยิ่งละเอียดเป็นลำดับ ๆ ไม่มีอะไรที่จะกว้างยิ่งกว่าปัญญา สมาธิเมื่อเต็มภูมิแล้วก็อยู่ เหมือนกับน้ำเต็มตุ่มแล้วอยู่ แต่ปัญญานี้ไม่เป็นอย่างนั้นไม่มีขอบเขต ซึมซาบไปได้หมดทุกแง่ทุกกระทง ไม่ว่ากว้างว่าแคบแล้วแต่เหตุการณ์ที่ควรจะให้พิจารณาไปถึงไหนไปได้ทั้งนั้น ปัญญาไม่มีขอบเขต ส่วนสมาธินี้มีเท่าที่ได้ปฏิบัติมาเป็นอย่างนั้น ถ้าเต็มภูมิของสมาธิแล้วจะให้ยิ่งกว่านั้นไปอีกก็ไม่ได้ กำหนดทีไรมันก็อยู่แค่นั้น ละเอียดก็ถึงขั้นสุดของสมาธินั่นเท่านั้น ไม่ใช่ละเอียดแบบวิมุตติหลุดพ้น ไม่ใช่ละเอียดเพื่อความหลุดพ้น มันละเอียดตามกำลังของสมาธิที่เต็มภูมิแล้วอย่างนี้ก็เต็มที่อยู่นั้นเสีย นอกจากนั้นก็ไม่เพิ่ม นี่ถึงว่ามีขอบมีเขต ถ้าเป็นน้ำก็เต็มตุ่ม ถึงขอบปากแล้วอยู่ ส่วนปัญญาไม่เป็นเช่นนั้น หมุนติ้วไปตลอดไม่ว่ากว้างว่าแคบลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหน สติกับปัญญานี้ตามกันไปได้ทั้งนั้นจนเป็นที่เข้าใจ ๆ ซึ้ง
ด้วยเหตุนี้เองพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้า จึงผิดกับพระสาวกทั้งหลายอยู่มากมาย เพราะพระปัญญามีความฉลาดแหลมคมสมภูมิศาสดาเอกของโลก ต้องกระจายหมดทั่วโลกธาตุ สามารถทราบได้หมด ปัญญาไม่มีขอบเขต ถือขั้นสมมุติเป็นเกณฑ์เลย เต็มสมมุตินั่นแหละ ขั้นวิมุตติก็หลุดพ้นไปแล้วไม่ต้องกล่าวถึง จะพิจารณาตามโลกสมมุตินี้ พระองค์ทรงสามารถรู้แจ้งตลอดทั่วถึง ที่เรียกว่าโลกวิทู ไม่มีขอบเขต
เพราะฉะนั้นการพิจารณาทางด้านปัญญาของเรา ควรจะให้มีเป็นคู่เคียงกันไปกับการอบรมสมาธิในกาลอันควรจะพิจารณา อย่าไปยุ่งแต่กับสมาธิด้วยความขี้เกียจ จะพิจารณาอะไรก็ขี้เกียจ หาอุบายตั้งปัญหาขึ้นถามตัวเอง ยกขันธ์นี้เป็นที่ตั้ง จะเป็นขันธ์นอกขันธ์ในก็ตามเอามาแยกแยะพินิจพิจารณา เฉพาะอย่างยิ่งขันธ์ในของตัวของเรานี้ตัวสำคัญ
ไอ้เรานี่ได้ความแยบคายจากเวทนาขันธ์ เราเอาจริง ๆ ทุกข์นี่ ทุกขเวทนามัดตัวเข้าไปไม่มีทางออกนี้หมุนติ้ว ๆ จนกระทั่งมันแตกกระจายไปหมด รู้ตลอดทั่วถึงของทุกขเวทนาว่ามันเกิดขึ้นมาได้ยังไง เกิดขึ้นมาเพราะเหตุไร จนถึงขั้นความจริงทั้งกายทั้งเวทนาทั้งจิต เวลามันจนตรอกมันฟิตของมันเองไม่ยอมถอย ถอยไปได้ยังไง ถึงขั้นไม่ยอมถอยมันถอยไม่ได้ ต้องเอาจริงเอาจัง นั่นละขั้นนั้นแหละเป็นขั้นที่เห็นความอัศจรรย์ เป็นขั้นที่เชื่อตัวเองได้ เชื่อว่าตัวนี้มีสติปัญญาได้จริง เพราะผลิตขึ้นมาเวลาจนตรอก
คนเราจึงไม่ได้โง่อยู่ตลอดไป ถ้าจะนำ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มาใช้ นอกจากหวังจะพึ่งพิงคนอื่นไปเรื่อย ๆ เป็นนิสัยของมนุษย์ หวังพึ่งแต่ผู้อื่นไม่สนใจที่จะมาพึ่งตัวเอง มันจึงไม่ค่อยได้เหตุได้ผลอะไร อยู่กับครูอาจารย์ก็พึ่งแต่ครูอาจารย์ไปเสีย ที่จะมาพึ่งตัวเองในเวลาที่ควรจะพึ่งมันก็ไม่สนใจจะพึ่ง ไม่สนใจจะคิด ไม่สนใจจะต่อสู้สิ่งที่มันผูกมัดรัดรึงอยู่ภายในจิตใจของตัวเอง ก็ไม่ได้อุบายต่าง ๆ ก็ช่วยตัวเองไม่ได้
ส่วนที่เด่นจริง ๆ ก็คือทุกขเวทนาสำหรับเราเอง เด่นมากเห็นประจักษ์ อาจหาญทุกครั้งที่เข้าตะลุมบอนกัน เมื่อสละเป็นตายลงสู่ความเพียรนี้แล้วรู้ได้ทุกครั้งไม่เคยพลาดเลย เพราะมันทุ่มลงไปตรงนั้นหมด ชีวิตจิตใจมอบไปหมดแล้ว จะไปเถลไถลไม่ได้กระแสของจิต คิดไปนอกลู่นอกทางไม่ได้เป็นอันขาดว่างั้นเลย นี่มันถึงต้องเป็นทุกข์มาก ทุกข์ในร่างกายเพราะทุกขเวทนาบีบบังคับแล้วยังไม่แล้ว จิตยังต้องกระสับกระส่ายจะคิดไปโน้นไปนี้อีก บังคับจิตที่จะคิดอย่างนั้นด้วย ไม่ยอมให้คิดออกไป เอ้า จะทุกข์ก็ตามจะเป็นก็ตามจะตายก็ตาม ให้หมุนอยู่กับตรงนี้
พระพุทธเจ้าท่านว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ท่านบอกเป็นสัจธรรมอย่างยิ่ง ไม่เป็นอื่นเป็นสัจธรรมท่านบอก เอาให้เห็นสัจธรรมเป็นยังไง ว่าทุกข์นี้เป็นของจริงจริงยังไง เมื่อพิจารณารอบกันทุกสัดทุกส่วนแล้ว ทุกข์ก็เป็นของจริงจริง ๆ สักแต่ว่าทุกข์อยู่เท่านั้นไม่ปรากฏว่าทุกข์เขามีความหมายในตัวของเขาเอง และมาให้ทุกข์แก่เรา เขาไม่มีความหมาย สักแต่เป็นความจริงอันหนึ่งอยู่เท่านั้น ร่างกายทีแรกเราก็เหมาเอาว่าร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้หรือหมดทั้งร่างนี้ว่าเป็นตัวทุกข์ ส่วนว่าเป็นตัวเราเป็นของเราไม่ต้องพูด อันนี้มันเป็นมาแล้ว เอากันในขณะนั้น
ในขณะมันกำลังชุลมุนวุ่นวายอยู่กับทุกข์นั้น มันถือว่าธาตุขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นทุกข์ แยกหาจริง ๆ เอา อันไหนเป็นทุกข์ ธาตุขันธ์ส่วนไหนว่ามันเป็นทุกข์จริง ๆ ไล่เข้าไป ๆ จิตจ่อเข้าไป สติจ่อเข้าไป บังคับเข้าไปไม่ยอมให้ถอย เป็นกับตายก็มอบกันไว้ที่นี่ จะออกไปไหน ความเป็นความตายอยู่ที่ขันธ์นี้ อย่าหนีจากขันธ์ ให้รู้ในขันธ์นี้ขึ้นชื่อว่ารู้ความจริง มันขุดค้นคว้าย้อนหน้าย้อนหลัง ย้อนไปดูเวทนาก็ดูจริง ๆ ดูให้ถึงใจ มาดูร่างกายส่วนไหนที่ว่ามันเป็นทุกข์ ก็ดูจริง ๆ จนถึงใจ เมื่อถึงใจแล้วก็ถึงความจริง ย้อนดูจิตอีก เทียบเคียงทุกสัดทุกส่วน
๓ อย่างนี้เป็นสำคัญ กาย ทุกขเวทนา จิตที่มันพัวพันกันอยู่ จิตนั่นแหละไปพัวพันกาย จึงต้องพิจารณานั้นแล้วแยกเข้ามาหาจิต แยกมาหากาย แยกมาหาทุกขเวทนา แยกมาหาจิต ตลบทบทวนไม่รู้กี่ครั้งกี่หนไม่ต้องพูด เอาจนกระทั่งเข้าใจ เห็นเป็นความจริงอย่างเต็มสัดเต็มส่วนหาทางสงสัยไม่ได้แล้ว ๑) ทุกข์ดับวูบไปหมดเลย ๒) ทุกข์ไม่ดับก็ตามแต่หาความกระเทือนใจไม่ได้ ต่างอันต่างจริงไม่มีความกระทบกระเทือนใจ แม้ร่างกายจะแตกไปในขณะนั้นก็ไม่มีอะไรสะทกสะท้านภายในจิตใจ เพราะต่างอันต่างจริงแล้ว
จะไม่อาจหาญได้ยังไงเมื่อถึงความจริงด้วยกันทุกสัดทุกส่วนเต็มภูมิแล้ว ไม่มีกระทบกันด้วย ระหว่างทุกข์กับใจก็ไม่กระทบกัน ขันธ์กับเราก็ไม่กระทบกัน ต่างอันต่างจริง จึงเรียกว่าต่างอันต่างจริง เมื่อถึงขั้นความจริงแล้วไม่กระทบกัน พระอรหันต์ทั้งหลายเวลาท่านนิพพาน ท่านจึงนิพพานได้อย่างสะดวกสบาย เพราะไม่มีอะไรกระทบกัน ท่านเป็นความจริงล้วน ๆ อยู่แล้วในหลักธรรมชาติของจิตท่าน สิ่งเหล่านี้ท่านก็เห็นว่าเป็นความจริงอยู่แล้ว จะมีอะไรมากระทบกระเทือนท่านพอให้เกิดความระส่ำระสายกระวนกระวายเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป ท่านไม่เป็น
เรื่องของขันธ์จะดิ้นจะดีดไปตามลักษณะของขันธ์นั่นเป็นสภาพอันหนึ่ง จะเอาเข้าไปบวกกันกับจิตไม่ได้ เช่น แข้งขาอวัยวะมันดิ้นมันดีดของมันเหล่านี้เป็นต้น มันเป็นอาการอันหนึ่งของขันธ์ที่แสดงตัว เหมือนกับไม้ที่ถูกไฟเผาแล้วนั่น เช่นใบไม้ถูกไฟเผากรอบเกรียม ไม้ไผ่ฟังเสียงระเบิดปึงปัง ๆ เหมือนกับของมีหัวใจ เหมือนกับไม้นั้นเจ็บปวดเพราะไฟเผา ที่จริงไม้ไม่มีความเจ็บปวดในตัวเอง ไฟก็ไม่มีความหมายในตัวเองหากเป็นอย่างนั้น ระหว่างไม้กับไฟเผากันเป็นอย่างนั้น นี่ระหว่างขันธ์กับทุกขเวทนามันแผดเผากันก็เป็นเช่นนั้น จึงไม่ส่งผลเข้าไปกระทบกระเทือนจิตใจได้ เมื่อจิตใจได้ถึงขั้นภูมิแห่งความจริงเต็มส่วนโดยหลักธรรมชาติของตนแล้ว ย่อมเป็นอย่างนั้น
ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะตายในอิริยาบถใด จะเสียท่าเสียที ไม่เสียท่าเสียที ไม่ว่าอิริยาบถใดไม่มีอาการใดที่จะไปทำลายจิตใจของท่าน ที่บริสุทธิ์อยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติ ให้กลายเป็นความเศร้าหมองหรือเป็นกุปปธรรมกำเริบขึ้นมา เป็นไปไม่ได้ เมื่อจริงตามส่วนแล้วก็เป็นอย่างนั้น
นี่ก็พยายามให้หมู่เพื่อนได้ประกอบความพากเพียร ไม่ให้มีงานการอะไรนอกจากงานเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนานี่เท่านั้น ถือเป็นงานอย่างยิ่ง อยู่ที่ไหนให้ทำงานของตนเอง เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาใจอยู่เสมอ ปัญญาคอยสอดส่องอย่าให้จิตมันเถลไถลไปได้ เคยเป็นมาพอแล้วไม่เห็นโทษของมันในเวลาประกอบความพากเพียร ในเวลาที่ควรจะเห็นโทษมันด้วยสติปัญญาของตน เราจะไปเอาเวลาไหนมาเห็นโทษของมันถ้าไม่เห็นในเวลานี้ ก็หมดหวังเท่านั้นมนุษย์เรา
เอาให้จริงให้จังซิ กลัวจะตาย กลัวจะลำบาก จะบังคับต่อสู้กับกิเลสบ้างก็กลัวลำบากเสีย เลยล้มไปทางฝ่ายกิเลสให้มันเหยียบย่ำทำลายเอาเสีย เลยไม่มีทางคำว่าชนะกิเลสได้ ถ้าตัวเองชนะกิเลสไม่ได้แล้วเราหาความสุขไม่เจอแหละ ในชีวิตของพระเรานี่ นอกจากเราได้ชนะกิเลสตัวใดแล้วเราก็เป็นอิสระในกิเลสตัวนั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเอาให้หมดไม่มีกิเลสตัวใดตกค้างอยู่ภายในจิตใจแม้แต่น้อยแม้แต่ปรมาณูเลย นั้นละจึงเป็นอิสระเต็มตัว
อยู่ไหนอยู่เถอะที่นี่ มันหมดความหมายไปหมดแล้วแหละเรื่องโลกธาตุนี้มันเป็นสมมุติด้วยกัน รู้เท่าทันหมดแล้ว จิตก็เป็นจิต ธาตุขันธ์สมมุติต่าง ๆ ก็เป็นไปตามสภาพของเขา นั่นเป็นอิสระตลอดเวลา แม้ขันธ์จะยังมีอยู่ มีสิ่งรบกวนอยู่ เป็นทุกข์ความลำบากมันก็ไม่กระเทือนถึงใจ ใจมีแต่ความรับผิดชอบที่จะต้องปฏิบัติธาตุขันธ์ไปตามเรื่องราวที่เขายังมีความเป็นสืบต่ออยู่เท่านั้น จะไปเป็นอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ความกระวนกระวายนั้นท่านไม่มี จึงว่าเป็นอิสระ แล้วจะไม่เห็นโทษแห่งกิเลสที่มันเคยครอบงำหัวใจมานาน ว่ามันทำจิตใจให้มีความชอกช้ำขุ่นมัว ได้รับความทุกข์ความทรมานมากน้อยได้อย่างไร เมื่ออันนั้นหมดไปแล้วมันก็เห็นได้อย่างชัด อ่านได้อย่างเต็มปากเต็มใจนั่นแหละ
เดินจงกรม นั่งอยู่มันง่วงลงเดินซิ หาอุบายวิธีแก้เจ้าของ คนเราถ้าง่วงมันก็อยากนอนเท่านั้นละ นอนก็เคยนอนมามากแล้วได้ผลได้ประโยชน์อะไร เพียงบำบัดเยียวยาธาตุขันธ์ไปเป็นกาลเป็นเวลา ความเพียรนี้เพื่อแก้กิเลสโดยตรง การนอนไม่ใช่เป็นการแก้กิเลส เป็นการบำบัดธาตุขันธ์ ระงับธาตุขันธ์พอมีกำลังแล้วนำมาใช้ในงานการแก้การถอดถอนกิเลสด้วยความเพียร ความเพียรนี้เองเป็นงานที่ชำระกิเลส
การหลับนอนไม่ใช่เป็นการชำระกิเลส แต่มันจำเป็นที่จะต้องพักผ่อน ก็ให้เห็นไปตามเรื่องความจำเป็นนั้น อย่าถือเอาความสุขในการนอน ดังพระพุทธเจ้าท่านสอนพระโมคคัลลาน์ อย่าหวังความสุขในการนอน ท่านว่าอย่างนั้น หาอุบายวิธีเปลี่ยนแปลงแก้ไขความง่วงเหงาหาวนอนไม่รู้กี่อุบายพระพุทธเจ้าทรงสอน ถ้าว่าการนอนเป็นของดีทำไมจึงไม่รับสั่งพระโมคคัลลาน์ให้นอนเสียให้จมไปเลยนะโมคคัลลาน์ ถึงพระนิพพานในหมอนนั้นแหละทั้ง ๆ ที่กำลังหลับครอก ๆ นั่นแหละ พระองค์ไม่เห็นสอนอย่างนั้น
นอกจากสอนให้หลีกหมอนเท่านั้น ให้หาอุบายนั้นให้หาอุบายนี้ แหงนดูบนฟ้าอากาศอะไร ๆ อย่างนี้เป็นต้น ถ้ามันยังไม่หายให้ทำอย่างนั้น ๆ หากมันจำเป็นจริง ๆ มันเพียบเต็มที่ ก็พักให้มันเสีย นี่หมายความว่าพัก ร่างกายมันเพียบ ไม่ใช่หวังเอาความสุขในการนอน ท่านย้ำอีกว่าอย่าหวังความสุขในการนอน เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นการแก้กิเลส ความเพียรต่างหากเป็นการแก้กิเลส คิดให้ถึงใจซิอุบายเหล่านี้
ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเวลามาอยู่ด้วยกัน อย่าคิดถึงเรื่องใดมากยิ่งกว่ากระแสของจิตที่คิดออกมาในแง่ธรรม หากจะคิดถึงหมู่เพื่อน มันคิดเรื่องอะไรเกี่ยวกับหมู่เพื่อน มันคิดเป็นธรรมไหม ถ้าคิดไม่เป็นธรรมมันก็คิดกระทบกระเทือนหมู่เพื่อน ก็แสดงว่าจิตดวงนี้เป็นมาร ไปเที่ยวกระทบกระเทือนคนอื่น เหยียบหัวใจตัวเองออกไป ถ้าไม่แก้ตรงนี้ก็จะเป็นไปอีกเรื่อย ๆ มองกันให้มองในแง่เมตตา มองกันในแง่ให้อภัย มองกันในแง่เหตุผลนั้นแหละหลักใหญ่อยู่ตรงนั้น ต่างคนต่างมุ่งความจริงต่อกันแล้วพูดกันรู้เรื่องง่าย ๆ ทิฐิมานะเป็นเรื่องของกิเลสเอามาใช้ในวงปฏิบัติได้ยังไง เพียงเท่านั้นมันก็ปราบกันอยู่แล้ว
หัวใจนั้นแหละตัวมันดิ้นมันดีด มันแสดงภาพอย่างนั้นภาพอย่างนี้ เรื่องของอันใดก็ตามเรื่องของเพื่อนฝูงก็ตาม มันจะมีภาพออกไปจากตัวเองนี้ ทำให้เป็นความกังวลวุ่นวายไปต่าง ๆ นานา กระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน ก็เพราะกิเลสนั่นแหละ ธรรมแท้ไม่กระเทือน กิเลสพาให้กระเทือนเสมอไม่มากก็น้อย ให้พึงระมัดระวัง เราเป็นนักปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้อย่าให้มาเหยียบย่ำทำลายจิตใจของเราได้ ถึงจะต้องกระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน เลวดูไม่ได้เลย
ถ้าลงต่างคนต่างดูหัวใจตนเองอยู่แล้ว จะทราบความกระเพื่อม ความคะนองของใจมันชอบคะนองไปทางไหน คือคำว่าคะนองมันอยู่ไม่เป็นปกติ มันหาเรื่องอยู่เรื่อย ๆ ความคึกความคะนอง ไม่ใช่หมายถึงคะนองความกำหนัดยินดีอะไร คะนองเรื่องไหนมันก็เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นต้องระมัดระวัง
งานของเราที่จะทำให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนเว้นแต่หลับ ก็คืองานภาวนา ให้ถือเป็นหลักเป็นเกณฑ์สำคัญ งานนี้แหละเราพึ่งเป็นพึ่งตายกับงานนี้ ไม่งั้นเราบวชมาทำไม อยู่อย่างโลกเขา โลกเขาสมัครใจอยู่กันอย่างนั้นทั้งนั้น เราก็เป็นคนหนึ่งในโลกเขาทำไมเราไม่สมัครใจอยู่นั้น จิตใจของเราก็ยังพัวพันในสิ่งนั้น แต่คิดเห็นแง่ของธรรมที่จะเป็นไปดีกว่านั้น เราจึงต้องได้สละความเป็นฆราวาสเข้ามาสู่ความเป็นนักบวช และประกอบการงานของนักบวชอย่างนี้ เราจะท้อถอยในงานของเราอยู่แล้วก็ไม่มีทางที่จะรู้เห็นและปลดเปลื้องกิเลสซึ่งเป็นเหมือนกับโลกเขาได้เลย เรากับโลกเขาก็ไม่แปลกต่างกัน
สีผ้าไม่สำคัญ สำคัญที่จิตใจ เปลี่ยนที่จิตใจ ผ้านี้เพียงเป็นเครื่องหมายของนักบวชเท่านั้น ของนักปฏิบัติ ของนักต่อสู้ ผ้ากาสาวพัสตร์นี้คือผ้าชัยชนะเลิศโลกมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าแล้ว เรานำมาใช้นี้ นี่ธง ธง ๓ สี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เราได้สวมธงนี้เข้าไปในร่างแล้วเราต้องเป็นนักรบ เอาให้จริงให้จังต่อทุกสิ่งทุกอย่างด้วยเหตุด้วยผล สติปัญญาเป็นสำคัญในการพิจารณาไตร่ตรอง เอาให้จริงให้จัง
ทำไมจะไม่รู้ กว้างศอกยาววาหนาคืบนี่เท่านั้นในขันธ์นี้ มันใหญ่โตอะไรนักหนา สติปัญญาจ่อลงไปตรงนี้ทำไมจะไม่รู้จะไม่เห็น จิตมันเคยคึกคะนองมาพอแล้วได้ผลดีจากมันอะไรบ้าง ทีนี้เราจะบังคับไม่ให้คิดยุ่งเหยิงวุ่นวายกับอารมณ์เหล่านั้นที่เคยคิดมาแล้ว ให้เข้าสู่ความสงบเยือกเย็นด้วยภาวนาของเรา เราทำไมเราจะทำไม่ได้ บังคับมันไม่ได้ ไม่บังคับจะเรียกว่าต่อสู้กันได้ยังไง กิเลสฉุดลากไปเราบังคับเอาจิตย้อนกลับเข้ามา ชื่อว่าต่อสู้กัน ฉุดลากกัน
เอาให้จริงจังซี มีอะไรจริงจังแล้วกิเลสก็อ่อนข้อลงไป พอเราอ่อนมันก็แข็งข้อขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงต้องให้แข็งอยู่เรื่อย ๆ แข็งด้วยธรรมขั้นนี้ แข็งด้วยความเพียรขั้นนี้ แล้วแข็งด้วยความเพียรขั้นนั้นขึ้นไป สติปัญญาขั้นนี้สติปัญญาขั้นนั้น แข็งขึ้นไปเรื่อย ๆ ซี กิเลสมันก็อ่อนลงไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็พ้นไปได้
ให้เห็นอยู่ภายในใจนี่ความหลุดพ้นเป็นยังไง ทำไมพระพุทธเจ้าท่านตรัสออกมาได้อย่างเต็มพระโอษฐ์ เพราะท่านทรงรู้อย่างถึงพระทัย ไม่มีใครไปบอกก็ตามถ้าลงรู้อย่างถึงใจแล้วพูดได้ด้วยกันนั่นแหละคนเรา พระสาวกก็เหมือนกัน ธรรมเป็นธรรมแท่งเดียวกัน อุบายวิธีการแก้กิเลสก็ออกไปจากธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วอย่างเดียวกัน กิเลสตัวไหนจึงจะมีอำนาจวาสนาเหนือธรรมไปได้ไม่มี
เรายังไม่เคยเห็น ธรรมที่ไม่มีอำนาจเหนือกิเลสก็ไม่มี นอกจากตัวเราเองที่จะนำธรรมเข้ามาปฏิบัติ กำลังของเราไม่พอ ยกธรรมเครื่องศาสตราอาวุธคือธรรมนั้นขึ้นมาไม่ได้ มันอ่อนเปียกไปหมดด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสมันเคาะข้อมือเราตีข้อมือเรา ตีแข้งตีขาให้ก้าวไม่ออกเดินไม่ไหว เดินโซซัดโซเซไปด้วยความง่วงเหงาหาวนอน ไปด้วยความเผอเรอต่าง ๆ แบบไม่มีสติสตังเท่านั้น มันจึงไม่รู้อย่างนั้น เพราะถูกกิเลสเหยียบย่ำทำลายเตะถีบลงไปแหลกไปหมด ตั้งขึ้นมาไม่ได้ เราจะหวังมรรคผลนิพพานหวังความพ้นทุกข์ที่ตรงไหน มันไม่มี สิ่งที่จะมีได้เพราะอะไร ก็มีได้ดังที่กล่าวมานี้
เอ้า หนักต้องสู้ซี เราเป็นนักสู้แล้วนี่ ก็เคยทราบอยู่แล้วว่ากิเลสเป็นตัวสำคัญ เป็นข้าศึกอันใหญ่โตมากในหัวใจเราหัวใจโลก เวลานี้เราจะต่อสู้กิเลสจะทำอย่างสะดวกสบายไปไม่ได้ กิเลสมีน้ำหนักมากขนาดไหน กิเลสประเภทนี้ประเภทนั้นมีน้ำหนักมากขนาดไหน กำลังของเราต้องเอาให้ทานน้ำหนักมันได้ และเหยียบย่ำทำลายมันลงไปได้ด้วยกำลังของเรา นั่นถึงจะได้ชัยชนะ ผู้ปฏิบัติต้องเป็นอย่างนั้น
ความท้อแท้อ่อนแอไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้าและสาวก ทำอะไรก็ให้พินิจพิจารณาอย่าสักแต่ว่าทำ ฝึกหัดนิสัยให้มีปัญญารอบตัวเองภายนอกภายใน เวลานำมาใช้ภายในก็รอบตัว สั่งสมสติปัญญาสั่งสมจากกิริยาอาการภายนอก ทำอะไรก็ให้มีสติให้มีปัญญาพินิจพิจารณาไปด้วย เวลาเข้ามาใช้ภายในก็นี้แหละกิริยาแห่งจิตที่แสดงออกไปเป็นสติปัญญานี้แล จะนำเข้ามาใช้ภายในแก้กิเลสอยู่ภายในนี้ ให้หมดไปได้โดยลำดับเพราะความฉลาดรอบคอบของตัวเอง
แสดงเพียงเท่านี้รู้สึกเหนื่อย
พูดท้ายเทศน์
จิตตอนนั้นถูกกิเลสมันคว่ำลงไปเสียจนมิด ฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นไม่เข้าใจ แต่มันดีอย่างหนึ่งไม่เคยตำหนิท่านนะ นี่เห็นไหม รู้ไหมว่าเราโง่ขนาดไหน ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ทางฝ่ายปริยัติ แม้แต่เทศน์สมเด็จฯก็เคยฟัง เข้าใจหมด ทีนี้พอมาฟังเทศน์ท่านอาจารย์มั่นซึ่งปรากฏชื่อลือนามกระเดื่องมานานแล้ว ไม่เข้าใจนี้ นี้ทราบแล้วยังว่าเราโง่ขนาดไหน ตำหนิเจ้าของ ฟังไป ๆ ปฏิบัติทุกวันนี่ เราปฏิบัติเราไม่หยุดทางด้านจิตใจ เหมือนกับว่าเราพยายามหงายปากหม้อของเราขึ้นไม่หยุดด้วยความเพียรของเรา เราก็ค่อยเข้าใจ ๆ พอจิตมันเป็นไปเท่านั้นละที่นี่นะ ก็แก้ไม่หยุดบำรุงไม่ถอยจะไม่เป็นไปได้ยังไง
จิตอยู่ในความรับผิดชอบของเรา เรารับผิดชอบตลอด บำรุงรักษาอยู่ตลอด มันก็ค่อยฟื้นตัวขึ้นมา ๆ แล้วก็รับทราบธรรมที่นี่ กระแสของธรรมเข้าถึงที่นี่ ค่อยซึ้งเข้าไป ๆ จิตมีความละเอียดเข้าไปเท่าไรยิ่งซึ้ง ๆ จนกระทั่งว่าเป็นหูโยมแม่นั่นละ ใครเทศน์ก็ตามถ้าไม่ใช่ท่านอาจารย์มั่นไม่ฟังโน่นน่ะ มันเป็นหูโยมแม่ไปแล้ว ถึงขนาดนั้นละ ฟังองค์เดียวเท่านั้นว่างี้เลย ซึ้งก็เพราะว่าใจมันรับนี่ ท่านเทศน์ท่านถอดออกจากของจริงที่ท่านรู้ท่านเห็นอยู่แล้ว อยู่ภายในใจของท่าน มหาสมบัติอยู่ภายในใจของท่าน ท่านถอดออกมาให้เราดู นี่ ๆ เห็นไหม ๆ หลับตาอยู่ทำไม ความหมายว่างั้น
มัวแต่หลับตาอยู่ทำไม ลืมตาซี นี่น่ะ ๆ เห็นไหมของจริง นี่น่ะเห็นไหมแก้วดวงวิเศษเห็นไหม นี่น่ะ ๆ อยู่อย่างนั้น เรายังหลับ ดีไม่ดียังเอาเข็มเย็บตาทั้งสองอีกนั่นน่ะมันหลับขนาดนั้น ที่นี่พอมันเปิดตาคือตาใจขึ้นเท่านั้น ทีนี้หมอบราบเลยเทียว แหมมันซึ้งจริง ๆ ท่านอาจารย์มั่นเทศน์นี่ ท่านเทศน์แต่ละครั้งอย่างน้อย ๒ ชั่วโมงนะ บางทีถึง ๔ ชั่วโมงก็มี เสียงท่านกังวานดังจนกระทั่งกลางทุ่งก็ได้ยิน แต่จะไม่ได้ศัพท์ได้แสงเท่านั้นละหากได้ยิน เพราะอำนาจของธรรม พลังของธรรมท่านพุ่ง ๆ ๆ เทศน์ทีแรกก็ไม่ค่อยเท่าไรนัก เหมือนรถเคลื่อนออกนั่นละ ค่อยเอื่อย ๆ ๆ พอได้จังหวะแล้วก็พุ่ง ๆ ๆ ทีนี้เอาละที่นี่
จะหาใครเทศน์เหมือนท่านหาตัวจับยาก ไม่เคยได้ยินคำว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ ไม่เคยได้ยินเลย ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ คือท่านพูดออกมาด้วยความถนัด ด้วยความจริงจังในจิตจริง ๆ ไม่มีคำว่าเห็นจะ คงจะ ไม่มี มีแต่ต้อง ๆ ๆ บังคับเข้าไปเลย เหมือนตีตราลงไปปึ๋ง ๆ ธรรมแต่ละบทละบาทที่ท่านแสดงออกมา ไม่มีคำว่าเห็นจะหรืออาจจะนี้ไม่มี มีแต่คำว่าต้อง ๆ ๆ บังคับลงไปสู่ความจริงตามความจริงนั่นเลย
เทศน์เผ็ดร้อนเราพูดทั่ว ๆ ไปเราว่าเผ็ดร้อน ถ้าพูดในวงปฏิบัติเราแล้วไม่พูดอย่างนั้นจะพูดยังไง ไม่ทำอย่างนั้นจะให้ทำยังไง ก็กิเลสมันมาไม้นั้นเราก็ต้องตีไม้นั้นซิ กิเลสมาแบบนี้เราต้องตีแบบนี้ มาช่องไหนตีช่องนั้น มาไม้ไหนตีไม้นั้น มาเพลงไหนตีเพลงนั้น นั่นคือวิธีการฆ่ากิเลสนั่นแหละ อธิบายไว้ทั้งหมด พูดทั่ว ๆ ไปเราว่าเผ็ดร้อน ถ้าพูดตามความจริงแล้ว นั่นแหละคือการฆ่ากิเลสฆ่าอย่างนั้นว่างั้นเลย