การอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากย่อมเป็นสิ่งไม่สะดวกต่อการบำเพ็ญ เพราะการบำเพ็ญเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก การอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องที่หยาบ มีการกระทบกระเทือนกันได้ง่าย แสดงออกง่าย นี่หมู่เพื่อนก็มาเป็นจำนวนมากมาอยู่ด้วยกัน ต่างสำนักต่างถิ่นต่างฐาน แต่ก็ยังดีที่อยู่ในแวดวงแห่งการปฏิบัติเหมือน ๆ กันไม่ขัดกันมาก การอยู่ด้วยกันมากทุกสิ่งทุกอย่างต้องอืดอาดเนือยนาย ควรจะเร็วก็เร็วไม่ได้ เหมือนรถบรรทุกของหนักไม่คล่องตัว
เหตุที่ว่าลำบากก็เพราะว่าสติปัญญาของเราไม่ทันสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อเรา แล้วก็ไปเป็นข้าศึกต่อคนอื่น เรื่องทำนองนี้สติปัญญาไม่ทัน ถ้ามีสติมีปัญญาคอยระมัดระวังภายในใจเสมอ การแสดงออกแต่ละอย่างของสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อธรรม ย่อมจะทราบได้ทุกระยะ ๆ ที่แสดงออก และไม่มองสิ่งอื่นสิ่งใดมากไปกว่ามองจุดแห่งเหตุที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอภายในใจของตัว นี่สำคัญมากในการปฏิบัติ เพื่อจะกำจัดกิเลสสิ่งที่ทำให้เป็นโทษเป็นทุกข์แก่ตนและผู้อื่น จึงต้องระวังกัน
คำว่ากิเลสนี้เป็นศัพท์เป็นคำพูดทางศาสนา คือสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความดีงามทั้งหลาย และเป็นสิ่งที่กีดขวางต่อความสุขความเจริญทั้งภายในภายนอก ไม่นอกเหนือไปจากสิ่งนี้เลย แต่ไม่ทราบเรื่องของมันได้ง่าย ๆ ถ้าไม่ใช้การพิสูจน์ด้วยหลักธรรมของพระพุทธเจ้า นำมาสอดส่องมองดูอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัติต้องเป็นผู้สอดส่องมองดูเรื่องของตัวคือใจนั้นอยู่เสมอ ใจนั้นแลเป็นที่อยู่ทั้งฝ่ายกิเลสและธรรม มีอยู่ที่จุดเดียวกัน แต่ส่วนมากกิเลสเป็นเจ้าอำนาจ เคยครองหัวใจมาเป็นเวลานานแล้ว จึงเป็นสิ่งที่มีความรวดเร็วและเด่นมากทุกอาการที่แสดงออก ยิ่งกว่าธรรมะที่แสดงออกได้บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อยังไม่มีความสามารถ ไม่มีกำลังพอ เพราะการปฏิบัติยังไม่เฉลียวฉลาดพอกับสิ่งที่จะควรรู้ควรเห็นอันเป็นฝ่ายต่ำ
เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงแสดงออกได้ง่าย ทำลายได้เร็ว ทำลายตัวเรานั่นแหละ ผู้ปฏิบัติจึงควรสนใจให้มากสมกับหน้าที่ของตนที่มาบวช เว้นกิจทุกสิ่งทุกอย่างแล้วในบรรดาฆราวาสเขาจัดเขาทำกัน ชีวิตจิตใจมอบไว้กับชาวโลก ปัจจัยทั้งสี่ จีวรเครื่องนุ่งห่ม บิณฑบาตอาหารทุกประเภทสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นไป เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรมได้ด้วยความสะดวก ที่อยู่ที่อาศัย ยาแก้โรคแก้ภัย มีพร้อมมูลอยู่แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่บกพร่อง ความบกพร่องอย่างแท้จริงก็คืองานของเราที่จะให้เป็นไปตามหน้าที่นี้รู้สึกว่าบกพร่องอยู่เสมอมา ไม่ค่อยจะมีเวลาสมบูรณ์ได้
งานของเราคืออะไร งานแก้กิเลสตัณหาอาสวะด้วยความพากเพียร มีสติปัญญาเป็นสำคัญที่กำกับงานนั้น นี่คืองานของนักบวช งานของผู้ปฏิบัติที่เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่ส่วนมากงานนี้ไม่ค่อยสมบูรณ์ งานนี้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมีสิ่งมาคอยแบ่งเอาไปกินอยู่เสมอ ถ้าเป็นต้นไม้เมื่อนำมาปลูกก็ถูกตัวแมลงอะไร ๆ มากัด กัดเรื่อย ๆ จนผลิใบออกไม่ได้ แล้วจะมีความงอกงามเป็นดอกเป็นผลได้อย่างไร สมณธรรมของผู้บำเพ็ญที่ไม่มีสติไม่มีปัญญา เป็นความอ่อนแอท้อแท้เหลวไหล ย่อมเปิดทางให้สิ่งที่เป็นข้าศึกเข้ามาทำอันตรายได้อย่างง่ายดาย
การเปิดทางนี้นักปฏิบัติมักเปิดอยู่เสมอโดยเจ้าตัวไม่รู้ รู้แต่ว่าตนทำความเพียร ความเพียรนั้นก็เป็นไปกับด้วยสิ่งเหล่านี้ ค่อยแทรกสิงกินของดีอยู่ภายในโดยไม่รู้สึกตัวอีกเช่นเดียวกัน เผลอเมื่อไรนั้นแลคือเปิดช่องเปิดทางให้ข้าศึกเกิดขึ้นทำลายตัวเอง ได้รับสิ่งสัมผัสภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเข้ามาสู่อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็อาศัยอารมณ์ภายนอกนั้นแลเป็นสื่อเป็นทางแล้วกว้านเอาอารมณ์ที่เป็นพิษนั้น ๆ เข้ามาทำลายตนเอง เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่ความไม่มีสติ ทั้ง ๆ ที่ประกอบความพากเพียรอยู่นั้นแล ใจก็ออกไปเสาะแสวงหาข้าศึก หายาพิษเข้ามาเผาลนตนเองอยู่ต่อหน้าต่อตานั่นแล นี่การปฏิบัติที่เรามักเปิดช่องเปิดทางดังที่ว่านี้อยู่เสมอ โดยทั่วไปของผู้ปฏิบัติที่ยังไม่มีสติปัญญาสามารถทันกับเหตุการณ์เหล่านี้ จึงมักเป็นด้วยกันทั้งนั้น ต้องได้เตือนไว้ให้ทราบด้วยกัน
ทำอะไรก็ตามสติอย่าได้ปราศจากตน อย่างน้อยให้มีความรู้สึกตัวอยู่ทั่วอวัยวะที่เคลื่อนไหว จัดนั้นทำนี้ให้มีความรู้สึกตัวอยู่นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ สติจ่อลงไปจุดนั้นจุดนี้เรียกว่าสติ การจะปฏิบัติตนให้มีความก้าวหน้า ต้องระมัดระวังสิ่งที่เป็นข้าศึก และต้องบำรุงสติ เข้มแข็งในทางความพากเพียรอย่าลดละปล่อยวาง อย่าเห็นสิ่งใดว่าเป็นของเลิศของประเสริฐยิ่งกว่าธรรมที่จะนำเราให้พ้นจากทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ของดี แม้สัตว์เดรัจฉานก็กลัวกันทั้งนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์เราว่ามีความฉลาดกว่าสัตว์จะกลัวความทุกข์นั้นเลย สัตว์เดรัจฉานเขายังกลัว
นี่เราเป็นผู้เห็นภัย บวชมาด้วยความเห็นภัย ปฏิบัติเพื่อความเห็นภัยทำไมจึงไม่เห็นภัย ทั้ง ๆ ที่ภัยมีรอบอยู่ภายในจิตใจทุกขณะที่จิตคิดออกมา เป็นเรื่องของภัยทั้งนั้น ถ้าไม่ได้จดจ่อต่อเนื่องกันด้วยความเพียร ให้รู้กันอยู่ทุกระยะแล้ว ภัยจะต้องมีอยู่รอบด้านตลอดกาลทุกเมื่อภายในจิตของผู้ปฏิบัติ คือนักบวชของเรานั้นแล ให้พึงทราบอย่างนี้ไว้เสมอ
การฝึกจิตก็คือการปราบปรามต่อสู้กับสิ่งที่มีอำนาจบังคับจิตอยู่นั้น ท่านให้ชื่อว่ากิเลส แยกประเภทนั้น แยกประเภทนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกิเลสด้วยกัน ท่านบอกส่วนใหญ่ ๆ ไว้ว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา นี่เป็นประเภทใหญ่ ๆ ส่วนปลีกย่อยกิ่งก้านสาขาของกิเลสแต่ละประเภท ๆ นั้นประมาณไม่ได้ นี่กองอยู่ภายในจิตใจของเรานี้ไม่ได้อยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้แลที่นำความทุกข์มาให้สัตว์โลกได้รับอยู่ตลอดมา ตลอดถึงตัวของเราเอง เราก็ได้รับเช่นเดียวกับโลกทั่ว ๆ ไป เพราะมีสิ่งเหล่านี้ด้วยกัน ที่นี่เราว่าเราเห็นโทษ-เห็นโทษอันใด ถ้าไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นโทษ ก็เท่ากับว่าไม่เห็นโทษนั้นแล
การประกอบความเพียรเราอย่ากลัวทุกข์ ยิ่งกว่าทุกข์ที่กิเลสผลิตขึ้นมาให้ได้รับ นั้นเป็นทุกข์ที่หนักหน่วงถ่วงจิตใจมาเป็นเวลานานหลายกัปหลายกัลป์นับไม่ถ้วน เราไม่สงสัยเรื่องจิตที่เป็นนักท่องเที่ยวเกิดตาย ๆ ตัวนี้เป็นตัวสำคัญมาก สิ่งที่จะพาให้จิตดวงนี้ได้ท่องเที่ยวเกิดนั้นตายนี้ ดังที่สัตว์โลกเป็นกันนั้น ก็คือเชื้อของมันบังคับขับไสจิตให้ไปสู่ที่นั่นที่นี่นั่นแล นอกจากเป็นเชื้อแล้วยังมีวิบากที่จะพาให้จิตนี้ไปเกิดในที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อีก โดยมีสุขมากมีทุกข์น้อย มีทุกข์มากมีสุขน้อยสับปนกันไปตลอดภพตลอดชาติมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ไม่นอกเหนือไปจากจิตที่ฝังยาพิษอันเป็นเชื้อให้เกิดอยู่ภายในนี้เลย อันดับต่อไปก็คือวิบากพาให้เป็นสูง ๆ ต่ำ ๆ ในภพชาติไม่สม่ำเสมอกัน
เราอย่าไปหาที่อื่น สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับใจ ใจเป็นตัวเหตุ ใจเป็นตัวเกิด เหตุที่พาให้ใจเกิดท่านกล่าวไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้น นี้แลคือเชื้อแท้ เชื้อแห่งวัฏจักรไม่มีความอิ่มพอในการเกิดตายก็คือเชื้ออันนี้เป็นต้นเหตุ ฝังอยู่ภายในจิต จากนั้นก็แตกแขนงออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุดไม่มีความอิ่มพอ กิเลสจึงหาความอิ่มพอภายในใจของสัตว์ไม่ได้ มีมากมีน้อยไม่เคยว่าเพียงพอ นี่ละสาเหตุที่พาให้จิตดวงนี้มาเกิดตายอยู่ไม่หยุด
การที่เราจะจดจำมาเฉย ๆ นั้นไม่มีทางที่จะทราบความจริงจากธรรมชาตินี้ได้ จึงต้องอาศัยหลักการปฏิบัติ ในการปฏิบัติเบื้องต้นท่านให้พยายามสำรวมจิตของเราเข้าสู่ความสงบ ที่เรียกว่าสมถกรรมฐาน ทำจิตให้มีความสงบเยือกเย็น กระแสของจิตที่ส่งไปในที่ต่าง ๆ จะรวมตัวเข้ามา การรวมตัวเข้ามาแห่งกระแสของจิตเข้ามาสู่จิตดวงเดียวนี้ ความเด่นแห่งความรู้นั้นย่อมปรากฏขึ้นได้อย่างรวดเร็วตามความสงบของจิตมีมากน้อยต่างกัน ยิ่งมีความสงบมากความสุขนั้นยิ่งเด่นมาก ความรู้นั้นยิ่งเด่นมาก
นี่แหละความรู้ให้รวมตัวเข้ามานี้ก่อน พอความรู้รวมตัวเข้ามา พอได้รับความสุขความสบาย มีทางที่จะพิจารณาคลี่คลายดูกิเลสประประเภทต่าง ๆ ที่พาให้ยึดถือที่ตรงไหน ๆ ได้บ้างแล้ว ท่านจึงให้พิจารณาทางด้านปัญญา แยกอาการทั้งหลายออก เฉพาะอย่างยิ่งภายในขันธ์ของตน มีรูปขันธ์เป็นสำคัญ ท่านจึงสอนว่าเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไปถึงตโจแล้วหยุด เพราะเป็นประโยคใหญ่หุ้มห่อทั่วสรรพางค์ร่างกาย
โลกที่หลอกกันให้ลุ่มหลงก็เพราะตโจ ได้แก่หนังหุ้มห่อนี้เท่านั้น หลงกันก็หลงหนังไม่ใช่หลงอะไร นี่เป็นต้นเหตุอันสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาสอนมาถึงจุดนี้แล้วท่านจึงหยุด ให้พอเหมาะสมกับเวลานั้นในการบวชกุลบุตรทั้งหลาย เราก็นำมาพิจารณาในบรรดาธรรมที่ท่านมอบ หรือว่างานที่ท่านมอบให้แล้วนั้น ถนัดในอาการใดก็ให้พิจารณาในอาการนั้น แล้วคลี่คลายให้เห็นตามความจริงของมันทุกระยะ ๆ ทุกสัดทุกส่วน
ทีแรกจะเห็นส่วนใดก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน ย่อมจะกระจายไปทั่วถึงกันและเป็นความจริงเสมอกันหมด นี่คือปัญญา เมื่อปัญญาได้คลี่คลายออกไปเช่นนี้ย่อมจะทราบเรื่องความยึดมั่นถือมั่นที่ตรงไหนเพราะความสำคัญผิดของตน การพิจารณาทางด้านปัญญาเป็นเหตุที่จะคลี่คลายให้ถึงความจริง เมื่อใจได้รู้ความจริงในขันธ์มีรูปขันธ์เป็นต้น ความยึดมั่นถือมั่นที่เคยฝังจมอยู่ภายในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนี้ย่อมหดตัวเข้ามา ๆ นี่คืออุบายวิธีแก้กิเลสฆ่ากิเลส ให้รู้เท่าทันกิเลส ท่านสอนให้พิจารณาอย่างนี้
เราค้นหาสาเหตุที่พาให้สัตว์เกิดตายมีเราเป็นสำคัญ ให้คลี่คลายดูอย่างนี้ จากนั้นก็พิจารณาละเอียดลงไป รูปขันธ์แหลกละเอียดภายในตนแล้ว รูปขันธ์ภายนอกรูปภายนอกก็หมดปัญหาไปพร้อม ๆ กัน เพราะเป็นสิ่งที่เหมือนกัน หรือจะนำภายนอกเข้ามาพิจารณาเทียบเคียงกับภายในก็ไม่ขัดข้อง เพราะเป็นสภาพธรรมเหมือนกัน จนเข้าใจแจ่มแจ้งได้อย่างชัดเจนแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นยึดมากเพียงไรก็ถอนตัวเข้ามามากเพียงนั้น
ส่วนละเอียดก็เป็นขั้นของปัญญาอันละเอียด เช่น พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นนามธรรม ก็พิจารณาคลี่คลายไปเช่นเดียวกันนี้ สภาพเหล่านี้เป็นเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยกันหมด ไม่ปรากฏว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลแม้แต่ชิ้นเดียวในสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ เมื่อปัญญาได้หยั่งทราบตามความจริงนี้แล้วก็ต้องถอนตัวเช่นเดียวกัน
นี่คือการรื้อภพรื้อชาติรื้อกิ่งก้านสาขาของอวิชชารื้อเข้ามาอย่างนี้ เพื่อให้ถึงความจริงอันแท้จริงของสิ่งที่พาให้เกิดตายคืออะไร เมื่อได้พิจารณาสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจนแล้ว จิตก็ย่อมตะล่อมตัวเข้ามา เรียกว่ากวาดต้อนกิเลสเข้ามา เข้ามาสู่จุดรวม จุดรวมของกิเลสประเภทต่าง ๆ รวมอยู่ที่ไหน ทีแรกก็ซ่านไปอยู่ตามสรรพางค์ร่างกายธาตุขันธ์ ทั้งรูปขันธ์นามขันธ์มีอยู่เต็มไปหมดตั้งแต่กิเลสยั้วเยี้ยเต็มไปทั้งร่าง เวลาถูกต้อนถูกตีถูกฟาดฟันหั่นแหลกเข้ามา ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ย่อมรวมตัวเข้าไป
กิเลสประเภทที่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายอันเป็นประเภทหนึ่ง ก็ฉิบหายไปแล้วตั้งแต่ขณะที่รู้แจ้งเห็นจริงแล้วถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นภายในกายประเภทนี้ก็สลายไปแล้ว ประเภทที่ละเอียดกว่านั้นก็รวมตัวเข้าไปสู่ขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่พ้นปัญญาที่จะตีตะล่อมเข้าไป ผลสุดท้ายก็หมดปัญหาเข้าไปโดยลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่จิต นั่นแหละที่นี่กษัตริย์ของวัฏจักรคืออวิชชา นี่ละการพิสูจน์เรื่องการเกิดตาย ดังพระพุทธเจ้าทรงพิสูจน์มาแล้วจนรู้แจ้งเห็นจริง ได้นำความจริงทั้งฝ่ายเหตุฝ่ายผลออกแสดงแก่สัตว์โลก พระองค์ทำอย่างนี้
ทีนี้เมื่อเข้าถึงจุดนั้นแล้วตัดแล้วกิ่งก้านสาขาของกิเลสอวิชชา บริษัทบริวารของกิเลสอวิชชาไม่มีเหลือ ก็เหลือแต่อวิชชาอันเดียวที่ติดเกาะแน่นอยู่ภายในจิต ก็ไม่พ้นจากสติปัญญาที่แหลมคมซึ่งจะฟาดฟันหั่นแหลกกันให้แตกกระจายไปจนได้ เมื่อถึงขั้นที่จะทำลายอวิชชานั้นรอไว้ไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งสัมผัสสัมพันธ์ ไม่มีสิ่งที่จะรบจะฆ่าฟันหั่นแหลกกันอีกต่อไปแล้ว นอกจากนั้นราบไปหมดแล้ว กิเลสตัณหาอาสวะที่ไปเกาะอยู่ตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้ถูกทำลายมาเป็นลำดับ กวาดต้อนมาเป็นลำดับ ก็เข้าสู่จุดนั้นคืออวิชชาแห่งเดียว
พิจารณาจุดนั้นลงไป เพราะนั้นก็เป็นสมมุติ คำว่าสมมุติก็จะต้องมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ในตัวของมันพร้อมมูลเช่นเดียวกับสมมุติอื่น ๆ เมื่อสติปัญญาได้หยั่งเข้าถึงจุดนั้นจนแตกกระจายไปแล้ว ภพชาติหายไปไหนทำไมจะไม่รู้ เราเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ตามความจริงด้วยการปฏิบัติจริงอยู่แล้วทำไมจะไม่รู้ นี่การพิสูจน์เรื่องความเกิดตายในภพชาตินั้น ๆ พิสูจน์อย่างนี้ เมื่อได้เข้าถึงขั้นความจริงเต็มภูมิแล้วสงสัยที่ไหน สงสัยอะไร เคยเกิดเคยตายมาเพราะอะไรก็ทราบว่าเพราะเหตุนั้น ทีนี้หมดแล้วเรื่องความเกิดตาย หมดที่ไหน ก็หมดที่จุดผู้รู้อย่างเต็มที่แล้วนั้น ว่าไม่มีอะไรอีกแล้วตั้งแต่นี้ต่อไป อดีตก็ตัดขาด อนาคตก็รู้เท่าทัน ปัจจุบันก็ไม่ยึด เห็นตามความเป็นจริงโดยตลอดทั่วถึง นั้นแลคือผู้ทำลายภพทำลายชาติ
ทีนี้ก็มีภาษิตบทหนึ่งที่แสดงขึ้นมาว่า ทุกฺขํ นตฺถิ อชาตสฺส ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด ผู้ไม่เกิดนั้นเป็นผู้สูญผู้สิ้นไปไหน ผู้ไม่เกิดก็คือผู้บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์นั้นแลคือธรรมชาติที่วิเศษที่อยู่เหนือโลกสมมุติทั้งมวล เรื่องกิเลสตัณหาอาสวะที่เคยครอบงำอยู่แต่ก่อน ได้แตกกระจายไปหมดเพราะอำนาจของสติปัญญา สติธรรม ปัญญาธรรม ได้ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป ทีนี้หายสงสัย
จะเอาอะไรมาสงสัยเพราะเรื่องทั้งหมดมันอยู่กับตัวของเรา ความสงสัยคือเรื่องของกิเลส แก้ความสงสัยหมดโดยสิ้นเชิงแล้วกิเลสก็หมดไปพร้อม ๆ กัน เหลือแต่ธรรมะที่บริสุทธิ์ จิตเป็นธรรม ธรรมเป็นจิตอันเดียวเท่านั้น หาอะไรที่นี่ ปัญหาทั้งมวลก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น นั้นละงานของเราตั้งแต่เริ่มแรกประพฤติปฏิบัติมา ตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เกี่ยวโยงกันมาสุดสิ้นที่อวิชชาสิ้นซากไปจากใจ วันนี้อธิบายอย่างย่อ ๆ ย่น ๆ เข้ามาในการพิสูจน์เรื่องความเกิดแก่เจ็บตายซึ่งมีอยู่ประจำจิต
จิตเป็นตัวการท่องเที่ยว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นตัวเหตุตัวปัจจัยหมุนกันมาโดยลำดับ ๆ ท่านจึงเรียกว่าวัฏจักร มันหมุนตัวของมันอยู่ตลอด อยู่นิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ เมื่อทำลายวัฏจักรนี้ออกแล้วด้วยธรรมจักรคือสติปัญญาหมุนติ้วแล้ว จากนั้นก็เป็นวิวัฏจักร หยุดความหมุนแล้ว หมุนด้วยกิเลสก็หมดไป หมุนด้วยธรรมเครื่องแก้กิเลสก็หมดไป เพราะกิเลสสิ้นไปแล้ว ธรรมจักรเครื่องฟาดฟันหั่นแหลกซึ่งหมุนตามกิเลสก็หมดไป ยุติกันทั้งสองอย่าง กลายเป็นวิวัฏจักรขึ้นมาภายในจิตดวงนั้น นี่การปฏิบัติธรรม
ธรรมของพระพุทธเจ้าอะไรจะจริงแน่ยิ่งกว่านี้ไม่มี สวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบแล้วชอบอย่างนี้เอง อุบายวิธีการต่าง ๆ ทรงสอนไว้อย่างพร้อมมูลหมดแล้ว นิยยานิกธรรมนำผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่ทรงสอนไว้แล้วนั้น ให้พ้นจากเครื่องผูกมัดรัดรึงอันเป็นตัวทุกข์ทั้งหลายออกโดยลำดับ ๆ จนสิ้นไปโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือ เราไปหามรรคผลนิพพานที่ไหน คาดลม ๆ แล้ง ๆ ไปที่ไหนกัน
กิเลสมันอยู่ที่ไหนเวลานี้ ความคาดความด้นเดาคืออะไร ความสงสัยสนเท่ห์คืออะไรถ้าไม่ใช่กิเลส แล้วก็มาหลอกเราให้ล่มจมไปตามมันอีก ความเพียรที่ตั้งท่าตั้งทางว่าจะประกอบให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ถูกกิเลสกล่อม และทำลายให้แหลกไปหมด เหลือแต่ตัวเราเฉย ๆไม่เกิดประโยชน์อะไร
เอาให้จริงซินักปฏิบัติ ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นของจริงทุกอย่างไม่ใช่เป็นของหลอกลวง ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรมาหลอกลวงตนเองด้วยอำนาจของกิเลสเสี้ยมสอนหรือกระซิบกระซาบ ต้องยกธรรมขึ้นต่อสู้เสมอจึงจะได้เหตุได้ผล อยู่ที่ไหนอย่าเผลอสติ อย่าเห็นสิ่งใดยิ่งกว่าจิต จิตเป็นสมบัติอันล้นค่า แต่เวลานี้เป็นจิตที่ต่ำทรามก็เพราะสิ่งต่ำทรามมันครอบจิตอยู่นั้นจึงหาคุณค่าไม่ได้ สุดท้ายก็เห็นว่าอันนั้นดีอันนี้ดีไปหมด เพราะเราไม่มีของดี มีแต่ของชั่วของต่ำทรามครอบอยู่ตลอดเวลา เมื่อชำระสะสางสิ่งนี้แล้วไม่ต้องบอก จิตจะเด่นขึ้นโดยลำดับ ๆ ตามคุณภาพของตน แล้วเด่นขึ้นจนเต็มดวง
อะไรจะเลิศยิ่งกว่าจิตดวงที่เด่นขึ้นอย่างเต็มดวงด้วยความบริสุทธิ์นี้เล่า ในโลกทั้งสามนี้ไม่มีอะไรเสมอแล้ว นี่ละการดำเนินปฏิปทาตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นบริสุทธิ์ งานของเราที่เคยได้รับความทุกข์ความลำบากเพราะการต่อสู้กับกิเลสมาโดยลำดับ หนักเบามากน้อย มายุติกันลงที่จุดนี้ เรื่องความทุกข์ในธาตุในขันธ์ใคร ๆ ก็ยอมรับด้วยกัน แต่ผู้บริสุทธิ์ยอมรับความทุกข์ในขันธ์เพียงรับทราบเท่านั้น ไม่ได้รับด้วยความแบกความหาม ด้วยความยึดมั่นถือมั่นถึงกับต้องเป็นโรคชนิดหนึ่งขึ้นมาภายในจิตใจ ให้เสียดแทงจิตใจมากยิ่งกว่าโรคทางกาย
ท่านผู้ที่รู้เท่าทันแล้วไม่เป็นอย่างนั้น ทุกข์ที่เกิดขึ้นมากน้อยก็ได้เรียนแล้วเข้าใจหมดแล้วว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ เป็นของจริงตามส่วนแห่งทุกข์ เป็นของจริงตามส่วนแห่งสมุทัย เป็นของจริงตามส่วนแห่งมรรค เป็นของจริงตามส่วนแห่งนิโรธ ผู้ที่รู้เท่าสิ่งที่เป็นของจริงทั้งหลายเหล่านี้คือผู้บริสุทธิ์ นั่นคละเคล้ากันที่ไหน เมื่อถึงต่างอันต่างจริงแล้วเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นข้าศึกต่อกันอีก ตายก็ยอมตาย ทุกข์ยากลำบากแค่ไหนมันก็เท่านั้นแหละ ทุกขเวทนามันก็ไม่เลยตาย แล้วก็ไม่สามารถที่จะแทรกแซงซึมซาบเข้าไปถึงจิต ให้ได้รับความกระทบกระเทือนและเอนเอียงไปได้ ถ้าเรียนรู้ให้จบถึงเรื่องสัจธรรมทั้งสี่นี้แล้ว ย่อมคงเส้นคงวาภายในจิตใจ หมดความหวั่นไหวโดยประการทั้งปวง
ภาระทั้งมวลในการประกอบความพากเพียรก็เป็นอันว่ายุติกันลงไป นี่งานทางด้านธรรมะมีความสิ้นสุดยุติลงได้อย่างนี้ เมื่อทำให้เต็มที่เต็มฐานเต็มสติกำลังความสามารถ จนถึงจุดแห่งความสิ้นสุดของสมมุติแล้ว งานทั้งหลายที่เคยประกอบมาก็ยุติได้ นอกจากงานไปตามเรื่องตามราวธรรมดาเท่านั้น ไม่ใช่งานฆ่ากิเลส ไม่ใช่งานถอดถอนกิเลส ก็ทำเช่นโลกทั่วไป
พวกเราปฏิบัติจิตตภาวนากันทำอย่างไร ไม่ได้มีงานอะไรมีแต่งานภาวนา ทำไมไม่ได้เหตุได้ผล ความเหลาะแหละคลอนแคลนนี่เป็นสำคัญ ความอยากได้ความสุขตามความหลอกลวงของกิเลส ไม่ได้เป็นความสุขโดยอรรถโดยธรรม ทุกข์ก็ให้ทุกข์โดยธรรม ทุกข์ด้วยความเพียรเป็นธรรม สุขก็ให้สุขโดยธรรม เพราะผลที่เกิดขึ้นจากความเพียรนั้นทำจิตให้เป็นสุข อย่าได้สุขเพราะความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ ซึ่งเป็นเหมือนกับเขาเอาอาหารมาให้หมูกินก่อนหน้าที่เขาจะนำไปฆ่าเท่านั้นเป็นประโยชน์อะไร นี่ก็เหมือนกันอย่าทำให้กิเลสหัวเราะ
เรามาปฏิบัติเพื่อให้สิ่งที่เป็นข้าศึกนี้หลุดลอยไปจากใจ ทำไมจึงจะกลายเป็นเรื่องสั่งสมความทุกข์ขึ้นมา สั่งสมกิเลสขึ้นมา มันก็ขัดต่อหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เราว่าเป็นข้าศึก ๆ นั้นอะไรเป็นข้าศึก กิเลสเป็นข้าศึกกับธรรมเป็นมาตั้งแต่กาลไหน ๆ เมื่อเป็นข้าศึกกับธรรมแล้วกิเลสอยู่ที่ไหน ธรรมอยู่ที่ไหน กิเลสอยู่กับใจ ธรรมถ้าเกิดก็เกิดที่ใจมีที่ใจ แล้วกิเลสกลับมาเป็นข้าศึกต่อใจ กลับมาเป็นข้าศึกต่อธรรมเสียเอง เราจะหวังผลประโยชน์จากอะไร
เราเองเป็นข้าศึกต่อเรา เป็นข้าศึกต่อศาสนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ภายในหัวใจของเรา แต่กลับให้กิเลสมาย่ำยีตีแหลกไปหมด มีอะไรเป็นผลที่จะพึงพอใจสำหรับเรานักปฏิบัติเล่า คิดให้ดีนักปฏิบัติ อย่าหลงไปตามโลกตามสงสารซึ่งเป็นเรื่องกลมายาของกิเลสทั้งนั้น เวลานี้กิเลสกำลังแผ่อานุภาพมาก เห็นได้อย่างชัดเจนด้วยสายหูสายตาของเราไปที่ไหนไม่สงสัย ดูแย็บเดียวก็รู้ถ้าเป็นผู้ได้เคยผ่าน เป็นผู้ได้เคยต่อสู้กับกิเลสมาอย่างเต็มที่แล้ว กิเลสแสดงออกในแง่ใดมุมใด ไม่ว่ากับสัตว์กับบุคคลรู้ทั้งนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เคยฝังอยู่ในหัวใจเรามานาน และเคยต่อสู้กันมาถึงขนาดไหนเราทราบมันแล้ว ถ้าหากเราไม่เคยกับเรื่องเหล่านี้แล้ว เราจะไม่เห็นอาการทั้งหลายแสดงออกเป็นกิเลสหรือเป็นอะไร อยากจะพูดว่าร้อยทั้งร้อยเป็นกิเลสทั้งมวลในการแสดงออกจากกิริยาของสัตว์ของบุคคล ไม่มีธรรมที่จะแย็บขึ้นมาให้พอได้ชมบ้างเลย
แม้ที่สุดในขณะประกอบความเพียรอยู่ก็มีแต่กิเลสมันแผ่อำนาจอยู่ตลอดเวลา เราจะหาธรรมมาเป็นสง่าราศีประดับจิตใจของเราให้มีความสวยงามได้อย่างไร ต้องเอาให้ทันกิเลสซิ สติปัญญาพระพุทธเจ้าสอนอยู่ตลอดเวลามีทุกคัมภีร์ปราศจากสติปัญญาที่ไหน นี่ละธรรมอันสำคัญเครื่องที่จะให้รู้เรื่องของข้าศึกอยู่ภายในจิตใจของเรา เอาให้จริงให้จังซิ ขุดลงภายในจิต
การปฏิบัติภาวนาให้ดูจริตนิสัยของตนเหมาะกับการพิจารณาอย่างไร แล้วก็พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงเสมอ ด้วยอุบายวิธีความฉลาดของเราไม่งั้นไม่ทันกับกิเลส พอทำไป ๆ มันชินชาก็มี เมื่อยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์มักจะชินชาต่อความเพียรของตน แล้วก็กลายเป็นกิเลสแทรกขึ้นมาภายในนั้นโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เพราะมันแหลมคมมากกิเลส ไม่มีอะไรแหลมคมยิ่งกว่ากิเลสในโลกทั้งสามนี้ แล้วในขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรที่จะแหลมคมเหนือกิเลสเหมือนธรรมอีกแหละ ธรรมจึงปราบได้ นอกนั้นไม่มีอะไรจะปราบกิเลสได้ เพราะฉะนั้นจงเทิดทูนธรรมนี้ขึ้น
วิริยธรรมคือความพากเพียร ขันติธรรม อดกลั้นขันตี สติธรรม ปัญญาธรรม นำมาใช้เสมอให้ติดแนบกับตัวเองอย่าได้ปล่อยวาง ธาตุขันธ์เหล่านี้มีแต่เรื่องจะค่อยแก่ค่อยชราลงไป ผลสุดท้ายก็กองลงไปในธาตุเดิม เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ อะไรที่เป็นสาระสำคัญที่เราจะได้เป็นเครื่องยึดถือ เป็นเครื่องพึ่งพิงของใจ และอะไรที่ท่านเรียกว่าใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ จะเป็นสมบัติของผู้ใดถ้าไม่เป็นสมบัติของผู้ปฏิบัตินี้ ไม่มีทางที่จะเป็นของผู้อื่นใดได้เลย
เวลานี้เราพร้อมแล้วด้วยความเป็นสมณะ เป็นนักบวช และพร้อมแล้วที่จะเข้าแนวรบได้ทุกวิถีทาง ความเพียรทุกด้านพระพุทธเจ้าทรงทดสอบเรียบร้อยแล้วว่าเหมาะกับมนุษย์ เฉพาะอย่างยิ่งเหมาะกับนักปฏิบัติ ทำไมความพากเพียรทุกวิถีทางที่จะฆ่ากิเลสจึงจะเหลือวิสัยเราทำไม่ได้มีอย่างเหรอ พระพุทธเจ้าท่านเป็นใคร ท่านไม่ได้เป็นเทวบุตรเทวดามาจากที่ไหน เป็นคนเหมือนกันกับเรา สาวกทั้งหลายท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา กิเลสของท่านกับกิเลสของเราประเภทเดียวกัน แล้วท่านแก้กันได้อย่างไรท่านถึงได้เป็นผู้วิเศษวิโส ว่า พุทฺธํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ควรแก่ความเป็นสรณะฝากเป็นฝากตายของโลกแห่งชาวพุทธเราล่ะ เราทำไมจะไม่เป็น สรณํ คจฺฉามิ สำหรับเราได้ด้วยอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นไปได้เหรอ เราเป็นนักบวชแท้ ๆ จะให้เหลวไหลเหลวแหลกไปได้หรือ ต้องเอาให้จริงให้จังซินักปฏิบัติ
ให้เป็น สรณํ คจฺฉามิ ของตนได้ด้วยความเพียรของตน เมื่อถึง สรณํ คจฺฉามิ ในตัวเองแล้วอยู่ที่ไหนอยู่เถอะ ไม่มีหวั่นมีหวาดมีเสียวมีวุ่นวายกับอดีตอนาคตแหละ พอตัวอยู่ในหลักปัจจุบันคือจิตที่บริสุทธิ์ถ่ายเดียว นี่ละธรรมมีความพอ ไม่เหมือนโลกไม่เหมือนกิเลสตัณหา ที่ว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำมหาสมุทรทะเลก็ไม่ได้ลึกกว้างขวางยิ่งกว่ากิเลสตัณหาอาสวะ ท่านว่า
เมื่อเข้าถึงธรรมเป็นลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงขั้นธรรมพอตัวแล้ว ไม่มีความหิวความโหยความกระวนกระวาย ธรรมมีความพอส่วนกิเลสไม่มีความพอ เผาได้วันยังค่ำคืนยังรุ่ง เช่นเดียวกับไฟไม่พอในเชื้อทั้งหลาย เอามาเท่าไรเป็นเผาไหม้แหลกหมด กิเลสก็เหมือนกัน ทำตามมันเท่าไรก็ถูกเผาแหลกไปเท่านั้น ที่จะให้กิเลสพาคนเราอยู่ในความพอดิบพอดีเป็นไม่ได้ ไม่ว่าปู่ย่าตายายของกิเลส ไม่ว่าพ่อแม่ลูกเต้าหลานเหลนของกิเลส เป็นประเภทเดียวกันทั้งนั้น เป็นประเภทที่พาสัตว์โลกให้หิวโหยกระวนกระวาย หาความพอดียับยั้งตัวไม่ได้ นอกจากธรรมเท่านั้นจะเป็นเครื่องยับยั้งตัวได้ เพราะฉะนั้นจงพยายามสร้างธรรมที่จะเป็นเครื่องยับยั้ง ให้ถึงความพอหรือเมืองพอเต็มหัวใจนี้ ด้วยความพากเพียรของเราอย่าลดละท้อถอย เอาให้จริงให้จัง
สาระสำคัญอยู่ที่จิต อยู่ที่ความเพียรที่จะทำจิตให้มีสาระ อยู่ที่ไหนอย่าได้เผลอ ให้มีสติสตังบังคับตนเอง อย่าเสียดายสิ่งใดในโลกนี้ มีแต่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มไปหมดเสียดายอะไร เอาให้ถึงแดนที่ปราศจาก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซิคืออะไร แดนแห่งสันติธรรมอันราบคาบ ได้แก่ความบริสุทธิ์ของใจ นั้นแหละตรงนั้นไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปเกี่ยวข้องได้ นั่นละที่ว่าความสุขความเย็นใจอันหาอะไรเสมอเหมือนไม่ได้ ก็เพราะไม่มีอะไรเข้าไปกวน ขึ้นชื่อว่าสมมุติมากน้อยไม่มีปัญหา แม้จะสัมผัสสัมพันธ์กันทางตา หู จมูก ลิ้น กายของเราในเวลาทรงขันธ์อยู่ก็ตาม ก็เพียงแต่สักว่ารับทราบ ๆ เท่านั้น ไม่สามารถที่จะเข้าไปซึมซาบถึงหลักธรรมชาติที่พอตัวแล้วนั้นได้เลย นั่นถึงว่าพอ ไม่หิว ไม่อยากเห็นไม่อยากได้ยินไม่อยากฟังไม่อยากอะไรภายในจิต พอแล้วทุกอย่างพออยู่ที่จิต เอาให้ถึงเมืองพอ
หิวก็ให้หิวความเพียร อย่าไปหิวเรื่องตามกิเลสตัณหาอาสวะ ให้หิวเพื่ออรรถเพื่อธรรมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ดื่มลงไปด้วยความอุตส่าห์พยายามความพากความเพียร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย โลกนี้มีป่าช้า ผู้ประกอบความเพียรจนถึงขั้นตายก็ยังไม่เคยได้เห็น ให้มันเห็นเสียทีว่ะมันเป็นยังไง ความทุกข์ที่เป็นมาในธาตุในขันธ์ในภพชาตินั้น ๆ อันติดแนบมากับจิตกับอวิชชานี้สงสัยที่ไหน ดูปัจจุบันนี้ก็รู้ย้อนสะท้อนไปหมด ไกลแสนไกลเท่าใดก็คือออกจากหลักปัจจุบันที่เป็นอยู่เวลานี้
นี่ยังดีเราเป็นชาติมนุษย์ ถ้าเป็นชาติอบายภูมิด้วยแล้วจะเป็นยังไง ความทุกข์จะขนาดไหน ได้รับความทรมานขนาดไหนคิดดูซิ ได้เป็นมาแล้วด้วยกันทั้งนั้นสงสัยอะไรในสิ่งเหล่านี้ซึ่งเคยผ่านมาแล้ว แต่วิสุทธิธรรมเรายังไม่เคยผ่าน เอาซิตั้งแต่สมาธิขึ้นไปถึงขั้นปัญญา เอาให้ผ่านไปตามทางสายธรรมซิ เมื่อถึงวิสุทธิธรรมแล้วพอทุกอย่าง ไม่สงสัยไม่วุ่นวาย อยู่เย็นเป็นสุข สุขํ วต สุขํ วต อยู่ไหนก็สุขหนอ ๆ สุขไม่จืดไม่จาง สุขไม่มีคำว่าเหือดว่าแห้ง คำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปทำลายสุขประเภทนั้นไม่มี เอาให้จริงจังอย่างนั้นผู้ปฏิบัติ