แดนสิ้นสมมุติ
วันที่ 10 กันยายน 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 48.43 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๒

แดนสิ้นสมมุติ

อย่าเห็นว่าความเพียรพยายามทุกด้านที่จะยังกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ ว่าเป็นของหนักหนา เป็นของลำบาก อย่าไปคิดอย่างนั้น เป็นความขัดกับหลักธรรมที่ท่านสอนให้อุตส่าห์พยายาม ให้อดให้ทน นี่คือหลักธรรม ความเห็นว่าการงานเพื่อถอดถอนกิเลสด้วยจิตตภาวนาเป็นของยากแล้ว ก็คือความคิดประเภทนั้นให้พึงทราบว่าเป็นกิเลส ซึ่งเคยเป็นข้าศึกต่อธรรมมาเป็นเวลานานแสนนานตั้งแต่กาลไหน ๆ มา เวลาเราประกอบความเพียรมันจะแสดงอากัปกิริยาขึ้นมา เพราะจะต่อสู้กับธรรม ทำให้เกิดความท้อแท้อ่อนแอแล้วหาอุบายพลิกแพลงจิตให้คิดไปในแง่ต่าง ๆ สุดท้ายก็ลงความย่อหย่อนอ่อนแอ มันก็เหยียบหัวไว้อีกเสีย

ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเป็นผู้ฉลาด คอยสังเกตเจตสิกธรรมที่คิดขึ้นมา เป็นแง่ธรรมะเพื่อถากถางกิเลส หรือเป็นกิเลสเพื่อเหยียบย่ำทำลายธรรมในหัวใจดวงเดียวกันนี้ นี่เป็นหลักใหญ่ที่เราจะต้องคิดด้วยกัน ต้องเป็นนักคิดนักเหตุผล สังเกตเจตสิกธรรม

สังขาร คำว่าสังขารเป็นได้ ๒ อย่าง สังขารเทวทัตคอยทำลายตัวเอง หรือคอยทำลายอรรถธรรมนั้นประการหนึ่ง สังขารฝ่ายมรรคเพื่อจะถอดถอนหรือปราบปรามกิเลสนั้นประเภทหนึ่ง คือออกจากความคิดความปรุงนั่นแหละ เป็นแถวเป็นแนวมีความหมายไปในทางดีหรือชั่ว ก็เรียกชื่อไปตามความหมายของเจตสิกธรรมที่แสดงออก เช่นเป็นไปในทางสั่งสมกิเลสหรือกีดขวางธรรม ท่านเรียกว่าเป็นสมุทัย หากเป็นไปเพื่อความบุกเบิกทางเดินของตนเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ นั่นท่านเรียกว่ามรรค คือทางดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์

ให้สังเกตจิตนั้นแหละทำหน้าที่ความคิดความปรุงอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับลูกฟุตบอลถูกเตะไปทางโน้นแล้วเตะไปทางนี้ กลิ้งไปกลิ้งมาอยู่โดยลำพังไม่ได้ เรื่องจิตจะอยู่โดยลำพังตนเองได้อย่างไร เพราะกิเลสมันเต็มอยู่ซึ่งเป็นเหมือนกับเท้าที่จะคอยเตะจิตใจให้เอนโน้นเอนนี้ คิดโน้นปรุงนี้อยู่ตลอดเวลา จึงต้องอาศัยหลักธรรมะเข้าไปแก้สิ่งที่เป็นข้าศึกเหล่านี้ ให้ค่อยหมดไป ๆ โดยลำดับ ด้วยความพากเพียร ด้วยความพยายามความอดความทน ไม่อดไม่ทนก็ไม่เรียกว่าเป็นผู้มุ่งต่อการต่องานอย่างแท้จริง ไม่มีความพากเพียรก็ไม่เรียกว่าเราเดินตามทางของตถาคต หรือไม่เดินตามทางของนักปราชญ์ ความเพียรในธรรมทั้งหลายนี้มีไว้เพื่อคนจะเป็นคนดี ความอุตส่าห์พยายามก็พยายามในทางที่ชอบ

ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ ในโลกนี้เกิดมาในท่ามกลางแห่งทุกข์ จะให้มีความสุขอยู่โดดเดี่ยวหาความทุกข์มาสัมผัสไม่ได้หรือมาเจือปนไม่ได้นั้นไม่มีในโลกนี้ เฉพาะอย่างยิ่งทุกข์ในขันธ์เป็นทุกข์ที่ร้ายแรงหรือหนักหน่วงถ่วงตัวเอง ให้ได้รับความทุกข์ความทรมานมากยิ่งกว่าส่วนร่างกาย ความแสดงที่เด่นมากที่สุดในเรื่องความสุขความทุกข์ก็คือใจ

เราอย่าเข้าใจว่ากายนี้แสดงความสุขเด่นให้เห็น นอกจากเป็นความทุกข์ขึ้นมาเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยแสดงเด่น แต่เรื่องความสุขเมื่อร่างกายเป็นปรกติแล้ว ไม่เห็นแสดงความสุขให้เรารู้เรื่องรู้ราวอะไร มันอยู่เฉย ๆ ธรรมดา จะแสดงความเด่นชัดแต่เวลาไม่ปกติธาตุวิการต่าง ๆ เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคชนิดใดก็ตามเป็นสิ่งที่แสดงความทุกข์ให้เด่นขึ้นในร่างกาย ถ้าจิตใจยังไม่ได้รับการอบรม จิตใจก็เป็นโรควุ่นวายไปตามนั้นอีก เป็น ๒ โรคด้วยกัน

แต่ส่วนจิตใจนั้นเป็นส่วนที่เด่นทั้งสองอย่าง คือทั้งความสุขความทุกข์ เด่นมากทีเดียว เวลาเป็นความสุขก็เห็นได้อย่างชัดเจน มีความปีติรื่นเริงบันเทิง ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม จะแสดงความสุขให้ปรากฏอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกัน เวลาทุกข์ใจหรือสุขใจก็แสดงให้เห็นประจักษ์ใจนี้อย่างเด่นชัดยิ่งกว่าร่างกายที่แสดงความสุขเป็นไหน ๆ

เราเลยไม่อยากพูดว่าร่างกายนั้นมีความสุข นอกจากแสดงแต่ทุกข์มีแต่ความทุกข์เท่านั้น เวลาปกติของร่างกายที่ไม่เป็นโรคเป็นภัยอะไรเลย ไม่เห็นแสดงความสุขความสบายให้เราเห็น อยู่เฉย ๆ ธรรมดา แต่เวลาทุกข์เกิดขึ้นนั้นแหละแสดงขึ้นมากตามส่วนแห่งโรคที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย แล้วจิตก็หลวมตัวเข้ามาด้วยความลุ่มหลง มายึดมาถือมางัดมาง้างภูเขาทั้งลูกให้มันกลิ้งไปได้ มันจะกลิ้งไปได้ยังไง หลักความจริงคือ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มันเต็มอยู่ในร่างกายซึ่งเป็นใหญ่ยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก เราจะไปงัดง้างมันได้ยังไง เราต้องพิจารณาให้เห็นตามความจริงของสิ่งเหล่านี้ จิตถึงจะปลดเปลื้องหรือถอดถอนตัวออกมาด้วยความรู้เท่าทันการณ์ ไม่หลงกลมายาของทุกขเวทนาทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจ

ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้ใช้ความพินิจพิจารณาดูจิตอยู่เสมออย่าปล่อยวาง จิตเป็นสมบัติอันล้นค่าถ้าฝึกฝนอบรมได้แล้ว เวลานี้ยังไม่แสดงผลหรือยังไม่แสดงความแปลกประหลาด หรือยังไม่แสดงคุณค่าออกมาให้เห็น ก็เพราะสิ่งที่ไม่มีคุณค่าครอบงำจิตนั้นอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยการชำระสะสางเต็มสติกำลังความสามารถของเรา

จิตนี้แหละเป็นตัวตั้งตัวตี ทั้งการเกิดแก่เจ็บตายท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ทั้งความทุกข์ความสุขที่แสดงอยู่ตลอดเวลา อยู่กับใจดวงนี้ทั้งนั้นไม่ออกจากที่อื่นใด แล้วจิตนี้แลจะเป็นตัวตั้งอันสำคัญเวลาชำระให้ถึงขั้นบริสุทธิ์แล้วยิ่งเด่นชัด นี่ละเป็นตัวตั้งอันสำคัญหรือเป็นหลักเกณฑ์อันตายตัว พูดอย่างนี้ถูกกับความจริง คำว่าหลักเกณฑ์อันตายตัวนั้นหมดห่วง อดีตที่เป็นมาแล้วก็มารวมอยู่ในปัจจุบันที่บริสุทธิ์นี้เสีย อนาคตที่จะเป็นไปข้างหน้า สถานที่เวล่ำเวลาของจิตนี้จะไปไหน จะวกวนไปที่ไหนมาที่ไหน ก็มารู้เท่าอยู่กับปัจจุบันนี้เสีย เต็มภูมิอยู่ในปัจจุบัน อิ่มพออยู่ในปัจจุบันนี้เสีย ไม่มีความหิวความกระหายโยก ๆ คลอน ๆ ไป เอนไปอดีตอนาคตไปในเรื่องต่าง ๆ เพราะจิตคงตัวเต็มที่แล้ว นี่ยิ่งเด่นกว่าเรื่องทั้งหลายบรรดาที่จิตผ่านมาหรือเป็นมาโดยลำดับ เพราะฉะนั้นจิตจึงควรได้รับการอบรมซักฟอกให้เข้าถึงจิตแท้โดยไม่ลดละความเพียร

สติเป็นของสำคัญได้พูดเสมอ พูดอะไรก็ตาม เทศน์ไม่ว่าเทศน์ในสถานที่ใดให้เราปราศจากเรื่องการพูดถึงสตินี้เสีย ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการประกอบความพากเพียร ไม่ว่าหน้าที่การงานอะไรถ้าขาดสติแล้วเรียกว่าเสียมาก ยิ่งความเพียรด้วยแล้วสติเป็นของสำคัญมาก ต้องระมัดระวังและรักษาอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นสัมปชัญญะขึ้นมาภายในตัวเอง

คือสติตามหลักธรรมที่ท่านแปลไว้ว่า สติคือความระลึกได้ ความระลึกความรู้เป็นระยะ ๆ ที่กำหนดขึ้นมา เมื่อกำหนดไปนาน ๆ ใช้ไปนาน ๆ อบรมไปนาน ๆ บำรุงไปนาน ๆ เลยกลายเป็นสัมปชัญญะขึ้นมา นี่เป็นอันดับที่สอง พออันดับที่สามก็เป็นสติอัตโนมัติ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วไม่ต้องระมัดระวัง หากเป็นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง รู้อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงหลับ จะทบทวนดูเรื่องความรู้สึกของตน ว่าได้มีความพลั้งเผลอจากจิตอย่างไรบ้าง หรือพลั้งเผลอจากเหตุการณ์ที่มาสัมผัสสัมพันธ์ใจนี้อย่างไรบ้าง โดยปล่อยให้สิ่งไม่ดีทั้งหลายเหยียบย่ำทำลายจิตที่ไม่มีสติ ปราศจากสติเพียงขณะหนึ่งนี้ไม่มีเลย นั่นท่านจึงเรียกว่าสติอัตโนมัติ ถ้าจะพูดถึงในครั้งพุทธกาลก็คือมหาสตินั่นเอง

คำว่ามหาสติกับมหาปัญญานี้เป็นคู่เคียงกันแยกกันไม่ออกสำหรับผู้ปฏิบัติ พอสติระลึกรู้ปัญญาจะวิ่งตามกัน สังขารความคิดปรุงภายในใจ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสที่เข้ามาสัมผัสทางตาหูจมูกลิ้นกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่หยาบ ๆ นี้เลย แม้แต่จิตที่ปรุงขึ้นภายในตัวเอง ยังไม่เห็นผ่านสตินี้ไปได้ สติจำต้องรับทราบทุกขณะที่จิตกระเพื่อมตัวออกปรุงแต่งในเรื่องต่าง ๆ ปัญญาจะต้องติดตามทันที ๆ ระงับดับไปโดยทันที ๆ นอกจากแขนงไหนที่เราจะยึดไว้เพื่อพิจารณา จนกระทั่งได้ความชัดเจนแล้วถึงจะปล่อยวางไปนั้น แขนงนั้นก็ยังคงเส้นคงวา ยังคงที่อยู่กับเราจนกว่าพิจารณาเรียบร้อยแล้วปล่อยลงไป

ตามธรรมดาเพียงความสัมผัสเท่านั้น สัมผัสปรุงขึ้นพับดับพร้อม สัมผัสทางนอกก็เหมือนกัน ตาหูจมูกลิ้นกายกับรูปเสียงกลิ่นรส พอสัมผัสกันพับ ๆ ก็ดับไปพร้อม ๆ ๆ โดยหลักธรรมชาติของมัน ไม่ต้องไปกำจัดไปปัดเป่ามัน เพราะได้กำจัดมาหมดแล้ว รู้เท่าทันหมดแล้ว จิตเมื่อรู้เท่าทันหมดในสิ่งภายนอกต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อรู้เท่าทันภายในขันธ์ก็เป็นอย่างนั้นอีกเหมือนกัน ผลสุดท้ายสังขารเป็นสิ่งละเอียด สัญญาเป็นสิ่งละเอียดมาก เพราะเป็นนามธรรม เกิดขึ้นสติปัญญายังสามารถรู้เท่าทัน

นี่คือผลแห่งการอบรมสติ ฝึกฝนตนด้วยปัญญาในทางคิดค้นเรื่องต่าง ๆ แห่งธรรม แล้วจะค่อยเคยชินไปโดยลำดับไม่สงสัย นี่คือทางเดินของพระพุทธเจ้า ทางเดินของพระสาวกท่านผู้หลุดพ้นจากทุกข์ไปแล้ว ท่านเดินอย่างนี้ท่านทำอย่างนี้ ท่านไม่ลดละท้อถอยความพากเพียร เพราะฉะนั้นเราเป็นลูกศิษย์ตถาคต ปรากฏตนชัด ๆ อยู่แล้วว่าเป็นนักบวชและเป็นผู้บำเพ็ญเพื่อความหลุดพ้น จงยึดหลักทางเดินของพระพุทธเจ้าเข้าฝังไว้ในจิตใจอย่าลดละท้อถอย

ทุกข์อะไรก็ทุกข์เถอะ ขอให้กิเลสได้หลุดลอยไปโดยลำดับ ๆ เพราะงานของเราที่ทำ ความทุกข์นั้นมีอยู่ด้วยกัน โลกนี้เป็นโลกแห่งกองทุกข์ โลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่สงสัยว่าผู้ใดอยู่ในสถานที่ใดจะไม่สัมผัสสัมพันธ์กับโลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เราไม่ได้อยู่เหนือโลกแห่ง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทำไมจะไม่เป็นทุกข์ แม้ไม่ประกอบความเพียรมันก็เป็นทุกข์ เอ้า ให้เป็นทุกข์ด้วยการประกอบความเพียรนี้ดีกว่าจะอยู่เป็นทุกข์เฉย ๆ ไม่เห็นเกิดประโยชน์อันใด เอาให้จริงให้จังนักปฏิบัติ

ธรรมะหรือมรรคผลนิพพานนั้นเหมือนกับท้าทายอยู่ภายในจิตนี้นะ อย่าเข้าใจว่าอยู่ที่อื่นใด ทุกข์ความทรมานทางด้านจิตใจหาความสบายไม่ได้ ก็เด่นอยู่ที่ใจมากกว่าร่างกาย สมุทัยคืออะไร ท่านสรุปความลงว่า นนฺทิราคสหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี เสยฺยถีทํ กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา นี้คือเรื่องของสมุทัย จิตสัมปยุตไปด้วย นนฺทิราค คือความรื่นเริงบันเทิง ไปถึง กามตณฺหา ภวตณฺหา วิภวตณฺหา นี้เป็นส่วนใหญ่ของสมุทัย

แล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่ใจ เชื้อของมันอยู่ที่ใจ เมื่อเชื้ออยู่ภายในใจแล้วจึงแตกกิ่งแตกก้านแตกแขนงออกมา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางสัญญาอารมณ์ นี่คือทางเดินของกิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณาแก้ไขปลดเปลื้องสิ่งใดที่จิตไปติดข้อง ติดข้องเพราะเหตุใด ให้ค้นคว้าจนได้เห็นชัดเจน

ติดรูปก็แยกธาตุดูรูปให้เห็นชัดเจน ให้จิตหายสงสัยแล้วถอยตัวเข้ามาเอง รูปเป็นยังไง รูปคนรูปหญิงรูปชายเป็นยังไง แยกดูเนื้อดูหนังดูเอ็นดูกระดูก ผม ขน เล็บ ฟัน ให้หมดตั้งแต่ภายนอกเข้าสู่ภายใน ดูให้ถึงเหตุถึงผล สติกับปัญญาให้จดจ่อต่อเนื่องกันไปอย่าลดละ อย่าสักแต่ว่าทำอย่างนั้นไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ความเพียร ไม่ใช่ทางเดินของนักปราชญ์ ทางเดินของนักปราชญ์ต้องมีความเข้มข้น มีความจดจ่อต่อเนื่องกันด้วยความมุ่งมั่นต่อความรู้แจ้งแทงตลอดในสิ่งที่กำลังสงสัยยังไม่เข้าใจ เอาให้เข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ความสงสัยจะหายไปเอง ความยึดมั่นถือมั่นที่เรียกว่าอุปาทานนั้นก็ถอนตัวออกมาเอง เพราะรู้แล้วจะไปสำคัญมั่นหมายอะไรอีก นั่นคือการพิจารณา

เรายกให้เพียงเอกเทศอันหนึ่งเพื่อจะได้ตีแผ่ออกไปตามจริตนิสัย หรืออุบายของแต่ละราย ๆ สมมุติว่าจิตติดรูป เอ้า แยกอย่างนั้นแล้วแยกเข้ามาภายในตัวเองให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งไม่ว่าข้างนอกข้างใน เอามาพิจารณาเถอะไม่ผิด เป็นมรรคได้ด้วยกันทั้งนั้น จิตติดข้างนอก รักชังข้างนอก เป็นสมุทัยมาจากข้างนอก จิตรู้เท่าทันในสิ่งภายนอกด้วยอุบายของสติปัญญาเป็นมรรค เครื่องแก้ถอดถอนความสงสัย ความยึดมั่นถือมั่นของตนได้โดยลำดับเข้ามาภายในใจนี้

การปฏิบัติจึงสำคัญอยู่ที่ความเพียร เราอย่าคาดมรรคผลนิพพาน อย่าไปคาดกาลสถานที่เวล่ำเวลาซึ่งเป็นความผิดทั้งเพ กิเลสเวลามันเกิดขึ้นมันไม่ได้นิยมกาลสถานที่ เวล่ำเวลาที่ไหน มันเกิดที่หัวใจของเราเวลานี้ให้เอาลงจุดนี้ กิเลสเกิดที่ไหนก็เหมือนกับไฟมันเกิดที่นั่น ให้ดับลงที่นั่น สติปัญญาตั้งจดจ่อลงตรงนี้ อย่าไปสำคัญกาลสถานที่เวล่ำเวลา

ทุกข์ สมุทัย มีอยู่กับใจดวงนี้ ทุกข์คือความทุกข์ใจ ทุกข์กายก็เป็นทุกขสัจอันหนึ่งเกี่ยวกับร่างกาย ทุกข์ใจเป็นทุกขสัจอันหนึ่งเกี่ยวกับใจโดยเฉพาะ แล้วก็สมุทัยเป็นเรื่องของใจโดยเฉพาะดังที่กล่าวแล้ว กามตณฺหา ความหิวความโหยในกาม ภวตณฺหา ความหิวความโหยอยากเป็นนั้นเป็นนี้ วิภวตณฺหา ความอยากในของไม่มี แน่ะ ไม่มีก็อยาก เกิดมาแล้วไม่อยากตายมันมีได้ที่ไหน วิภวตณฺหา แล้วรวมแล้วมันก็อยู่ที่ใจ

นิโรธ นั่นท่านพูดถึงผลของมรรคคือความดับทุกข์ ความดับทุกข์นี้ดับไปโดยลำดับตามกำลังของมรรคคือสติปัญญาเป็นต้น เป็นผู้แก้ไขถอดถอนได้ หรือปราบปรามกิเลสให้ระงับดับลงไปได้เป็นลำดับ ๆ นิโรธ คือความดับทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นจากกิเลสคือสมุทัยนั้น ก็ดับไปโดยลำดับ ๆ เมื่อมรรคมีสติปัญญาเป็นต้นมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพียงไร กิเลสก็ยิ่งหมดไป ๆ เพราะวันหนึ่ง ๆ ที่เราถอดถอนกิเลสออกจากหัวใจด้วยความเพียรอันสามารถ มีสติปัญญาเป็นสำคัญ หรือด้วยมหาสติมหาปัญญาไม่หยุดหย่อน

เราจะได้เห็นเรื่องของกิเลสหลุดลอยออกจากใจ เหมือนกับถูกฆ่าไปตลอดสาย ไม่ว่าจะเดินจงกรม ไม่ว่าจะนั่งสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะขบจะฉัน เดินไปไหนมาไหน สติปัญญาทำงานปราบปรามกิเลสอยู่ตลอดเวลาไม่มีการละเว้นแม้ขณะหนึ่งเลย นอกจากพักผ่อนนอนหลับหรือพักจิตให้เข้าสู่ความสงบคือสมาธิเสียเท่านั้น สติปัญญาประเภทนี้จึงไม่ทำงาน พอออกจากนั้นแล้วจะต้องทำงานไปตลอด เมื่อทำงานตลอดก็เหมือนกับว่ารบกับกิเลสไปตลอดเวลา จนกระทั่งกิเลสหมดไป ๆ คือหมดอยู่ที่จิตนี่นะไม่ได้หมดอยู่ที่ไหน อย่าไปคิดที่อื่น

กิเลสตัณหาอาสวะมันพอกพูนอยู่ที่จิต สติปัญญาผลิตขึ้นมา ความอุตส่าห์พยายามความพากเพียรหนุนเข้าไป แล้วเราจะได้เห็นกิเลสมันหลุดลอยออกไปจากจิตโดยลำดับ จนกระทั่งได้คุ้ยเขี่ยขุดค้นหากิเลสส่วนละเอียด เพราะถึงขั้นที่ปัญญามีอำนาจแล้วกิเลสย่อมหมอบหาที่หลบซ่อน หลบซ่อนที่ตรงไหนก็ถูกปัญญาคุ้ยเขี่ยขึ้นมาทำลายเสียจนเรียบไป ๆ ไม่มีสิ่งใดเหลือ

เรื่องของกิเลสนี้กว้างขวางมาก ตามอำนาจของกิเลสที่จิตใจของเรายังไม่เคยชำระมา ถ้าพูดถึงรูปก็ทั่วโลกธาตุกว้างขนาดไหน เสียง-เสียงอะไรมันก็ติด เสียงดีมันก็ติด เสียงชั่วมันก็ติด เสียงดุเสียงด่ามันก็ติด เสียงสรรเสริญชมเชยมันก็ติด รูปก็เหมือนกัน เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มันติดได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าเป็นกิเลสทั่วขอบเขตจักรวาล แต่เวลาพิจารณาแล้วมันก็คือกระแสของใจผู้ไปยึดไปเหนี่ยว ไปสำคัญมั่นหมาย ไปหลงเท่านั้น พิจารณาเข้าใจแล้วก็ปล่อยเข้ามาถอยเข้ามาดังที่เคยพูดอยู่เสมอ วงแคบเข้ามา

งานของเราที่แผ่ไปทั่วโลกธาตุมันก็แผ่ เพราะงานพาให้แผ่ออกไป กิเลสพาให้เป็น แล้วก็ตีตะล่อมเข้ามาจนกระทั่งผลสุดท้ายก็มีอยู่เพียงในขันธ์ นอกนั้นปล่อยได้หมดด้วยอำนาจของสติปัญญาไม่สงสัย หยุดการพิจารณาได้เลย รูปก็ตาม เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกหยุดได้เลย ไม่สนใจจะพิจารณาเพราะรู้แล้วพิจารณาหาอะไร นั่นมันรู้ชัดภายในใจ รู้หมดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร อะไรไปยึดอะไรไปถือ ผู้ยึดถือก็คือใจ ใจรู้แล้วใจถอยออกมาแล้วใจปล่อยวางแล้ว ไปพิจารณาหาอะไร

จากนั้นจิตก็มาพัวพันอยู่ภายในร่างกายของเจ้าของ ขันธ์-ขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เอ้า แยกพิจารณาให้เห็นชัดเจน จะเป็นส่วนใดอาการใดก็ตามในร่างกายนี้ กระเทือนไปหมดทั่วทั้งร่างนั้นแหละ เราถนัดในอาการใดกำหนดอาการนั้น จะเป็นเรื่อง อนิจฺจํ ก็ตาม เป็น ทุกฺขํ ก็ตาม เป็น อนตฺตา ก็ตาม เหมือนกันหมด ยึดได้ไตรลักษณ์ใดก็เท่ากับได้ทั้งสามไตรลักษณ์ เพราะทำงานเกี่ยวโยงกันไปหมด และรู้อาการใดพิจารณาอาการใดก็กระจายไปทั่วอาการทั้งหลายในส่วนร่างกาย จนรู้รอบขอบชิดไปหมดภายในร่างกายด้วยปัญญาดังพระพุทธเจ้าสอน

ติดร่างกาย ติดกระดูกติดหาอะไร ติดเนื้อติดหนังติดหาอะไร มันเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาที่ไหน เนื้อก็เป็นเนื้อ เอ็นก็เป็นเอ็น กระดูกก็เป็นกระดูก หนังก็เป็นหนัง แต่ละอาการ ๆ มันเน่าเฟะทั้งนั้น แล้วความเน่าเฟะนี้เป็นเราได้ยังไง เป็นของเราได้อย่างไร แล้วกระจายลงไปจนกระทั่งเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟจากความเน่าเฟะนี้แล้ว เปื่อยผุพังลงไปสลายลงไป กลายไปเป็นธาตุเดิม ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเราได้ยังไง ดินก็ทราบกันแล้วว่าเป็นดินมาถือว่าเป็นเราได้ยังไง น้ำก็เป็นน้ำก็รู้อยู่แล้ว มาเป็นเราเป็นของเราได้ยังไง เราเห็นแล้วน้ำตามท้องนา ลมมันก็พัดไปพัดมานั้นเอามาเป็นเราได้ยังไง ไฟเราก็เห็นอยู่เอามาเป็นเราได้ยังไง นี่คือปัญญา

พิจารณาจนชัดเจนเห็นประจักษ์ในจิตจริง ๆ ท่านจึงเรียกว่าปัญญาแท้ เห็นซึ้งรู้ซึ้งถอนตัวออกมาด้วยปัญญาที่ซาบซึ้งแล้วในความจริงทั้งหลายเหล่านั้น กลายมาเป็นความจริงอันหนึ่งภายในจิต เวทนาก็เหมือนกัน นักพิจารณาเวทนานักกล้าหาญนักพลิกแผ่นดิน เอาให้แผ่นดินถล่มภายในนี้สู้กับเวทนา นี่อันหนึ่งเก่งมาก อาจหาญที่สุดถ้าลงได้พิจารณาแยกเรื่องทุกขเวทนา มันเป็นอยู่ที่ไหนดังที่เคยพูดแล้ว สับมันลงไปฟันมันลงไป คลี่คลายมันออกไป จิตจดจ่อต่อเนื่องอย่าให้เผลอสติ

เอ้า ตายก็ตายถึงคราวแล้วอยู่ที่ไหนก็ตาย โลกนี้เป็นโลกแห่งป่าช้าเป็นโลกแห่งความเกิดตาย นักภาวนาตายก็ให้เห็นเสียที ไม่ต้องนิมนต์พระที่ไหนมากุสลา เวลานี้เรากำลังทำกุสลาคือความฉลาดให้แก่ตัวเองอยู่แล้ว จำเป็นอะไรจะต้องนิมนต์พระมาให้ลำบากลำบน มากุสลา ธมฺมา ให้บุญอะไร เรากำลังให้บุญคือให้ความสุขแก่เราอยู่แล้ว ค้นลงไปไม่ต้องกลัวไม่ต้องอยากให้มันหาย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นมากน้อย เอาให้จริงจังให้ถึงความจริง ให้เห็นหน้าเวทนาอย่างชัดเจน เห็นกายทุกส่วนอย่างชัดเจน ว่าเป็นสักแต่ว่าอาการนั้น ๆ เท่านั้น เห็นเวทนาทุกอาการที่แสดงขึ้นมาสักแต่ว่าเวทนาเท่านั้น ไม่เป็นอื่นนอกไปจากนั้นเลย จากนั้นก็ไม่พ้นจิตผู้ไปเกี่ยวข้อง แล้วก็ย้อนเข้ามากำหนดดูจิตก็สักแต่ว่าจิต อันนั้นก็สักแต่ว่าเวทนา นี้ก็สักแต่ว่ากาย

ทีนี้เมื่อต่างอันต่างสักแต่ว่าไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน ไม่มีอะไรสำคัญมั่นหมายต่อกันเลยแล้ว ความจริงก็เต็มส่วนทั้งสามอย่าง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วจิตก็ไม่กระเทือน ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยดูได้อย่างสบาย ไม่สะทกสะท้าน เพราะดูด้วยปัญญา รู้เท่าแล้วในทุกขเวทนาทั้งหลาย มันเห็นชัดอย่างนี้ จากนั้นก็เห็นชัดเข้าไปด้วยความซึมซาบของปัญญา เวทนาจะละเอียดขนาดไหน เช่น สุขเวทนา ส่วนมากจิตเมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดลอออย่างยิ่งแล้วจะมีแต่สุขเวทนาเด่น สุขเวทนาอันนี้ก็ให้พึงทราบ

เราอย่าเข้าใจว่าทุกขเวทนาเป็นทุกข์ สุขเวทนาถ้าเราหลงก็เป็นสมุทัยได้เหมือนกัน นั่นแยกให้เห็นชัด ๆ อย่างนี้ซิ เราไม่เคยได้เห็นว่าสุขเป็นสมุทัย เห็นแต่ทุกฺขํ อริยสจฺจํ กิเลสเป็นเครื่องผลิตทุกข์ขึ้นมาท่านเรียกว่าสมุทัย ความสุขที่เกิดขึ้นภายในจิต ถ้าจิตลุ่มหลงในความสุข ติดอยู่ในสุขนั้น จิตอันนี้ก็เป็นสมุทัยได้ถ้าจิตหลง เอ้า แยกแยะให้เห็นชัดเจน ปัญญาไม่สิ้นสุดกับผู้ใด สุขละเอียดก็ทราบ แล้วในขณะเดียวกันทุกข์ละเอียดก็ทราบว่าเป็นทุกขเวทนา นี่คือยังเป็นสมมุติ

การพิจารณานามธรรมทั้งสี่ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราจะพิจารณาอาการใดก็ตามเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าจะต้องไปพิจารณาหมดทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ ทั้งสัญญาอะไรเหล่านี้ ไปนับกันเฉย ๆ นั้นเป็นเรื่องโครงการ ถ้าเป็นโครงการแล้วเป็นการเรียงลำดับ กลายเป็นเรื่องโลกไปเสียไม่ใช่เรื่องธรรม เรื่องธรรมต้องเป็นเรื่องปฏิบัติ

จะพิจารณาอาการใดก็ตามให้เป็นความจริง ให้รู้ด้วยความจริง พิจารณาจริง ๆ จนรู้ความจริงแล้วเป็นความจริงมาทั่วถึงกันหมด วิ่งเข้าถึงกันประสานกันได้ทั้งนั้น เช่นอย่างพิจารณาเวทนา มันก็ประสานไปถึงสัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วพิจารณาไปหลายครั้งหลายหน ก็สามารถตัดขาดไปได้หมดเหมือนกัน เป็นรูปก็ขาดจากความยึดถือ อุปาทานในรูปก็หมด พิจารณาเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ไม่ว่าแต่ทุกข์เฉย ๆ เลย สุขก็รู้เท่า สุขเวทนาในส่วนร่างกายมันรู้เท่ามันปล่อย

สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิดความปรุงก็มีแต่แย็บ ๆ ออกมาแล้วเกิดพร้อมดับพร้อม เราจะเอาเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลที่ไหน เห็นแต่ความเกิดความดับที่กระเพื่อมอยู่ภายในจิตแย็บ ๆ เท่านั้น เห็นอย่างนั้นเห็นด้วยปัญญา วิญญาณก็เหมือนกัน รับทราบสิ่งภายนอกที่มาสัมผัส ในขณะที่สิ่งนั้นสัมผัสผ่านไปอันนี้ก็ดับไปก็มีเท่านั้น ความรู้แท้คือจิตไม่ได้ดับ

พิจารณาลงไปจนกระทั่งกิเลสไม่มีที่หลบซ่อน หมด หลบซ่อนทางรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ถูกฟาดฟันหั่นแหลกไปหมดไม่มีเหลือ วิ่งเข้ามาสู่ขันธ์ ๕ หดตัวเข้ามาสู่ขันธ์ ๕ ค้นคว้าคุ้ยเขี่ย ไฟตปธรรมเผาเข้าในขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้น เอ้า ไล่เข้าไป เมื่อแยกรูปได้เห็นชัดตามความเป็นจริงแล้วก็เหมือนสิ่งภายนอก เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเท่านั้น จิตจะไปยึดถืออะไรเพราะซึ้งด้วยปัญญาแล้วปล่อยทันที

สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีแต่อาการดึ๊กดั๊ก ๆ อยู่อย่างนั้น เรื่องของเขาก็เป็นอย่างนั้น เขาไม่มีความหมายในเขาเลย เราไปให้ความหมายเขาแล้วก็ไปหลงเขาต่างหาก เมื่อปัญญาได้พิจารณาไตร่ตรองให้เห็นซาบซึ้งจนถึงใจแล้วปล่อยหมด รูปก็ปล่อย เวทนาก็ปล่อย สัญญา สังขาร วิญญาณปล่อยทั้งนั้น เหลือแต่จิต กิเลสอวิชชายังมีอยู่ที่จิต แต่จิตไม่มีทางออก ทางเดินไม่มีถูกตัดสะพานหมดแล้ว จะออกทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย ก็ตัดแล้วด้วยปัญญาประเภทหนึ่ง จะออกมาสู่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตนเป็นของตนแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ถูกตัดด้วยปัญญาประเภทหนึ่งอีกแล้ว ประเภทนี้เรียกว่าประเภทอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ

ไม่มีทางไปวิ่งเข้าสู่จุดเดิมละที่นี่ จุดที่เคยอยู่เคยเป็นใหญ่เป็นโต เคยปกครองมานาน ปกครองโลกวัฏจักรวัฏจิต วัฏจิตก็กิเลสอยู่วัฏจิต อวิชชาอยู่ที่จิตได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว นอกนั้นกิ่งก้านสาขาทางเดินออกเดินเข้าเพื่อกว้านหาอาหารหมด ถูกทำลายหมดแล้ว เหลือแต่จิตดวงเดียว จิตก็ขุดค้นลงไปตรงนั้น

นั้นแหละที่นี่กิเลสรวมตัว ปัญญาครอบลงไปนั้นด้วยการถือจิตเป็นเป้าหมายแห่งการพิจารณา โดย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกันกับสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นแต่เพียงว่าเป็นส่วนละเอียด ยิ่งกว่าสภาวธรรมทั้งหลายที่เคยพิจารณามาแล้ว ไม่ได้เอา จิตก็ไม่เอา เอ้า จิตจะฉิบหายก็ให้ฉิบหาย ยกตัวจิตขึ้นมาจะเอาเป็นเหมือนฟุตบอลก็ได้ เตะลงไปตรงนั้น ยันลงไปตรงนั้น ถีบลงไปตรงนั้น เหยียบย่ำลงไปตรงนั้น

เอ้า ถ้าหากว่าจิตไม่ทนต่อการพิสูจน์แล้ว กิเลสประเภทนี้ดับไปแล้วจิตจะดับไปด้วยก็ให้ดับ ไม่ต้องเสียดายไม่ต้องอาลัย ฟาดลงไป สิ่งใดเป็นสมมุติสิ่งนั้นเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะดับของมันไปเอง จิตที่บริสุทธิ์แล้วไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปครอบงำได้เลย ยิ่งเด่นดวง นั่นละท่านว่าอิสรธรรมอิสรจิตอยู่ที่ตรงนั้น ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานบรรลุที่ตรงนั้น ไม่ใช่บรรลุกาลโน้นสถานที่โน่นที่นี่พอจะคว้าไปโน้นคว้าไปนี้ให้เสียเวล่ำเวลา

ให้กำหนดลงตรงนี้ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ เครื่องปกปิดหุ้มห่อจิตใจอยู่ที่ใจนั้น มรรคเครื่องเปิดทุกข์ สมุทัยออกอยู่ที่ตรงนี้ คือ สติปัญญา แล้วนิโรธเป็นผลพลอยได้ เมื่อฆ่าสมุทัยหรือทำลายสมุทัยลงไปแล้วทุกข์ก็ดับไปเอง กิริยาแห่งทุกข์ดับไปท่านเรียกว่านิโรธ ไม่ได้ทำงานอะไรแหละ นิโรธเป็นแต่กิริยาที่ดับทุกข์ ๆ เพราะอำนาจของมรรคเท่านั้น

เมื่อถึงขั้นเอาให้แหลก-แหลกให้หมด ไม่ได้เอาไว้เลยขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่มีเหลือภายในจิต จิตจะฉิบหายไปก็ให้ฉิบหายถ้าจิตไม่ทนต่อการพิสูจน์ จนกระทั่งแหลกหมด แล้วสุดท้ายก็จิตไม่ดับ มีแต่อวิชชาซึ่งเป็นตัวสมมุติตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดับ นั่นละท่านว่า ปุญญปาปปหินบุคคล ผู้มีบุญและบาปอันละเสียได้แล้ว ละที่ตรงนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้ที่ตรงนั้น ท่านดับภพดับชาติดับกิเลสตัณหา เป็นบุคคลที่เลอเลิศก็เป็นที่ตรงนั้น เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นศาสดาเอกของพระองค์ก็เป็นที่ตรงนั้นที่จิต สาวกทั้งหลายท่านก็เป็นที่ตรงนั้นด้วยอุบายวิธีที่กล่าวมานี้เป็นเครื่องชำระกิเลส นอกนั้นไม่มีอะไรจะไปแก้กิเลสได้ถ้าไม่ใช่หลักธรรมของพระพุทธเจ้า

กิเลสไม่กลัวอะไรในโลกนี้ กลัวแต่ธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาเราจะประกอบความพากเพียรด้วยธรรม กิเลสจึงต้องขัดต้องแย้งเสมอ คัดค้านจนกระทั่งเราลืม เพลงของมันกล่อมเราไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัว ความเพียรมันถึงได้ง่อมแง่ม ๆ ไม่เป็นหน้าเป็นหลัง ถ้าเป็นอย่างนี้ผมก็หนักใจเหมือนกัน แล้วก็มากด้วย พระมากขึ้นทุกวัน ๆ จะทำไงหมู่เพื่อนมา เห็นใจหมู่เพื่อนเราก็คิด ถ้ามีมากจะเหลวไหลนะ มีน้อยจึงเข้มข้นดี แกงหม้อใหญ่มันก็โหรงเหรงมีแต่ผักบุ้งนั่นแหละ แกงหม้อเล็ก ๆ รสชาติดี นี่ให้พยายามถึงจะใหญ่ก็ตามให้แยกเป็นหม้อเล็ก ๆ แต่ละคน ๆ ให้มีความเข้มข้นต่อตัวเอง อย่าลดละความพากเพียร

ให้เห็นภัยต่อกิเลสเสมอสำหรับผู้ที่จะหลุดพ้นจากกิเลส มุ่งความหลุดพ้น มุ่งพระนิพพานแดนแห่งความสูญสิ้นแห่งสมมุติทั้งปวง ให้เป็นผู้เห็นโทษในกิเลสทุก ๆ ประเภท ให้กำหนดอยู่ที่จิต ดูที่จิต พิจารณาที่จิตจะไม่ผิดหวัง ตรงนี้เป็นจุดที่ถูกต้องแม่นยำมาตั้งแต่กาลไหน ๆ ไม่เพียงจะมีอยู่เวลานี้เท่านั้น เคยมีมาอย่างนี้แล้ว

กิเลสทุกประเภทเป็นสิ่งที่เคยมีมาแล้วในจิตใจของสัตว์โลก ธรรมะจึงต้องมีประเภทเดียวเท่านั้น เพราะกิเลสมันก็มีอย่างเดียวประเภทเดียวเหมือนกัน คือเป็นภัยต่อจิตใจทุกชนิด รวมแล้วว่าเป็นประเภทเดียวที่เป็นภัย ไม่มีประเภทไหนที่จะให้คุณ ธรรมะเท่านั้นเป็นเครื่องที่จะปราบกิเลสให้อยู่ในเงื้อมมือได้นอกนั้นไม่มี กิเลสไม่กลัว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องประกอบความเพียร ให้ระมัดระวังกิเลสจะมาทำลายธรรมทำลายความเพียรของเราให้ล้มเหลวก็แล้วกัน

เอาแค่นี้ก่อน


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก