แบบฉบับอันยอดเยี่ยม
วันที่ 5 กันยายน 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 50.13 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๒

แบบฉบับอันยอดเยี่ยม

ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับได้เป็นอย่างดี ไม่มีแบบฉบับใดจะเสมอเหมือนทั้งทางเหตุและทางผล เป็นธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมด้วยกันทั้งนั้น เพราะผู้เป็นต้นของศาสนาก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นแบบฉบับทุกอย่างแล้วสำหรับสัตวโลกทั้งหลายจะพึงยึดถือเป็นหลักใจและข้อปฏิบัติเต็มกำลังความสามารถของตน ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อนแต่อย่างใด

พูดถึงเรื่องความอุตส่าห์พยายาม ความอดทน ความขวนขวายทุกด้าน ความตะเกียกตะกาย ความเป็นนักต่อสู้ ความเป็นนักปกครองพระองค์และพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย เหล่านี้เยี่ยมทุกอย่าง ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำได้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรา เพียรก็เพียรจนสำเร็จ อดทนจนถึงสลบไสลในบางครั้งก็ยังไม่ลดละความพากเพียร ทรงสามารถทุกสิ่งทุกอย่างจนสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในเญยยธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ และเป็นสิ่งที่โลกจะพึงรู้เห็นตามพระองค์ได้ไม่สุดวิสัย ตามภูมิของตนที่จะพึงรู้พึงเห็นได้ เนื่องจากการปฏิบัติได้

เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นพอเหมาะสมแล้วกับสัตวโลกซึ่งมีหลายคณะด้วยกัน ท่านเรียกว่าพุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี เดี๋ยวนี้ท่านเอาสามเณรเข้าแทน อุบาสก อุบาสิกา นี่คือผู้จะสามารถรับพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ คำว่าศาสดาย่อมเป็นผู้เฉลียวฉลาดทั้งอุบายแนะนำสั่งสอน ว่าธรรมะประเภทใดที่สมควรแก่บุคคลจำพวกใด ไม่ทรงสั่งสอนให้นอกเหนือไปจากกำลังความสามารถของพุทธบริษัทหรือสัตวโลกทั้งหลายจะพึงทำหรือปฏิบัติตามได้และรู้เห็นได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นศาสดาองค์เอกในการที่จะนำอุบายมาแนะนำสั่งสอนโลก

สั่งสอนมนุษย์ก็ประเภทหนึ่ง สั่งสอนภิกษุก็เป็นขั้นหนึ่ง สั่งสอนฆราวาสทั่ว ๆ ไปเป็นอีกขั้นหนึ่ง สั่งสอนฆราวาสผู้มีการประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับพระสงฆ์ก็สอนเช่นเดียวกันกับพระสงฆ์ ตามแต่แง่ธรรมนั้นจะมีหนักเบาอย่างไร สำหรับผู้ปฏิบัติที่รู้เห็นนั้น จะพึงนำมาทูลถวายพระองค์และทูลถามในข้อข้องใจของภูมิจิตภูมิธรรมนั้น ๆ พระองค์จะทรงชี้แจงให้เหมาะสมกับภูมิของผู้นั้นเป็นที่พอใจไม่สงสัย ไม่มีทางผิดพลาด ไม่ว่าจะสั่งสอนมนุษย์ นอกจากมนุษย์แล้วยังทรงสั่งสอนเทวดา นี่ใครเคยเห็นไหมเทวดา นอกจากจะฉุดลากเอาความรู้ความเห็นของจอมปราชญ์ที่ฉลาดเหนือโลกนั้น เข้ามาสู่ความรู้ความเห็นของตนที่เต็มไปด้วยมูตรด้วยคูถ คือกิเลสตัณหาอาสวะประเภทมืดบอด ให้เป็นไปตามใจของตนเท่านั้น

ธรรมย่อมมีทั้งภายในภายนอก มีทั้งหยาบทั้งละเอียด สิ่งต่าง ๆ ที่ธรรมเกี่ยวข้องที่ธรรมกล่าวถึง ที่พระองค์ท่านนำมาสั่งสอน ก็ย่อมมีทั้งธรรมฝ่ายละเอียด ธรรมส่วนกลาง ธรรมส่วนหยาบ และวัตถุส่วนหยาบ สิ่งอันละเอียด เช่น นามธรรมหรือพวกกายทิพย์กายเทพ ดังที่เราทั้งหลายได้ยินอยู่เสมอ ได้อ่านเสมอในตำรับตำรา พระสูตรมีความจริงฉันใด พระวินัย พระอภิธรรม มีความจริงเท่าเทียมกัน ไม่มีสูตรใดใน ๓ ปิฎกนั้นจะเป็นธรรมจอมปลอม พอที่จะนำมาสั่งสอนโลกด้วยความจอมปลอมว่า ศาสดาทางด้านนี้เป็นศาสดาจริง ด้านหนึ่งเป็นศาสดาจอมปลอม การอบรมสั่งสอนสัตวโลกจึงนำทั้งธรรมจริงและธรรมปลอมมาสั่งสอนสัตวโลกอย่างนั้นไม่มีในพระศาสดาทุก ๆ พระองค์ ตามหลักธรรมมีเช่นนั้น เราจะลงใจก็ควรลงใจได้แล้วกับพระพุทธเจ้า

ควรจะสั่งสอนเทพชั้นใดภูมิใด พระองค์ก็ทรงนำธรรมนั้นไปสั่งสอนตามขั้นตามภูมิของผู้ละเอียดทางด้านของกายและทางด้านจิตใจ เช่นเดียวกับสอนมนุษย์นี้ เพราะธรรมเป็นของกลาง จิตใจนั้นแม้จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ก็ตามมีความละเอียดหยาบเช่นเดียวกัน เพราะคำว่าจิตนี้เป็นนามธรรม สิงสถิตอยู่ได้ในร่างต่าง ๆ แต่ว่าเครื่องมือของเขามันอาภัพ เช่นอย่างสัตว์เขาไม่สามารถจะทราบได้ว่าบุญบาปเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายที่ไม่ทราบบุญบาปดีชั่วนรกสวรรค์ กิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ นั้นเลย เพราะเขาไม่ทราบทั้ง ๆ ที่เขาก็ทำอยู่ทุกวัน แต่ทำด้วยความไม่รู้ ส่วนมนุษย์สามารถที่จะทราบได้ในธรรมแง่ใด เช่น พระไตรปิฎกนี่มนุษย์สามารถที่จะทราบได้ ผู้หนึ่งไม่สามารถผู้หนึ่งก็สามารถปฏิบัติได้และสามารถทราบได้

เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎกทั้งสามนั้นจึงเป็นธรรมที่สมบูรณ์แบบตามที่พระองค์ประทานไว้แล้ว ไม่ว่าจะกล่าวเรื่องพระสูตร พระสูตรท่านกล่าวเรื่องอะไรก็เป็นจริงตามนั้น พระวินัยก็เหมือนกัน พระอภิธรรมก็เหมือนกัน แต่รวมแล้วต้องเป็นจิตนี้เป็นผู้รับรอง เป็นผู้จะสัมผัสรับรู้ในสิ่งทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น อย่างอื่นจะรับรู้ได้ทางหูทางตาก็มี แต่ไม่สามารถที่จะรับรู้โดยทางใจเป็นเฉพาะก็มี ใจสามารถที่จะรับทราบสิ่งเฉพาะได้นั้นมีมากมายก่ายกอง

นี่ละพระโอวาทของพระพุทธเจ้าแยกตามขั้นตามภูมิเป็นอย่างนี้ จึงเป็นแบบฉบับแก่โลกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะแนะนำสั่งสอนในแง่ใด เช่น ท่านพูดถึงเรื่องความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทน ความประหยัดมัธยัสถ์ ความไม่ลืมเนื้อลืมตัว ความไม่เถลไถล ความมีข้อบังคับ มีธรรมเป็นเครื่องบังคับจิตใจ ให้มีใจเป็นหลักมีใจเป็นธรรมดังนี้ ไม่ว่าพระหรือฆราวาสนำไปประพฤติปฏิบัติได้ผลได้ประโยชน์ทั้งนั้น ธรรมนี้เป็นธรรมกลาง ๆ

ความอุตส่าห์พยายามทางพระเราก็ให้เน้นหนักลงทางความเพียร เพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะประเภทต่าง ๆ ด้วยความอุตส่าห์พยายามของเรา ความอดความทนของเรา สติปัญญาก็ทุ่มเทลงในการคุ้ยเขี่ยขุดค้นที่จะทำลายกิเลส ซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตใจนี้ให้แตกกระจัดกระจายออกไปโดยลำดับ เพราะอำนาจของสติปัญญาที่ได้อบรมตนอยู่เสมอด้วยความพากเพียร ความอุตส่าห์พยายาม สืบเนื่องต่อกันไม่ขาดวรรคขาดตอน

เป็นฝ่ายฆราวาสก็นำไปประพฤติได้ตามหน้าที่การงาน นอกจากนั้นยังจะทำจิตใจของตนให้สงบ มีแบบมีฉบับมีเหตุมีผลมีหลักมีเกณฑ์อีกด้วย ไม่เป็นคนเถลไถลเร่ร่อนหาหลักเกณฑ์ไม่ได้ ไม่มีแบบฉบับใดที่จะสมบูรณ์แบบที่โลกจะนำไปประพฤติปฏิบัติ ทั้งทางฆราวาสและทางพระยิ่งกว่าแบบฉบับแห่งพระพุทธศาสนา ที่พระองค์ได้ประทานไว้แล้วนี้

เฉพาะอย่างยิ่งเราเป็นนักปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอย่างใดนี่เป็นข้อสำคัญมาก เรามีหน้าที่อันใดเวลานี้ แล้วเราบวชมาเพื่ออะไร ต้องทราบความมุ่งหมายแห่งการบวชของตน ในครั้งพุทธกาลท่านบวชมาเพื่อชำระกิเลส สะสางกิเลส ปราบปรามกิเลส ซึ่งเป็นข้าศึกต่อจิตใจตลอดถึงหน้าที่การงาน ภพชาติสูงต่ำดีชั่วสุชทุกข์ประการใด ๆ นั้น ขึ้นกับเรื่องของกิเลสเรื่องบุญเรื่องบาปนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ขุดค้นลงที่จิตใจ ใจนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ร่างกายตายไปสลายไป แต่จิตใจไม่ยอมตาย แต่เราไม่อาจทราบได้ถ้าไม่ทราบทางด้านปฏิบัติ นี่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนอย่างนี้

บวชมาเพื่ออะไร เราบวชมาเพื่อดังที่กล่าวมาแล้วนี้ หน้าที่การงานของสมณะคือของนักบวชคืออะไร ในครั้งพุทธกาลหน้าที่การงานของท่านก็คือการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา นี้คืองานของพระผู้ตั้งใจจะถอดถอนกิเลส เพราะความเห็นภัยในวัฏสงสาร ต้องเป็นผู้สร้างสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ความอุตส่าห์พยายามทุกด้านขึ้นให้มีกำลังพร้อม ๆ กันไปโดยลำดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อได้รับการบำรุงรักษาอยู่เสมอ ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ นี่จิตของเราทำไมจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไม่ได้เมื่อมีการบำรุงรักษาอยู่โดยชอบธรรม ต้องเป็นจิตที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปได้

จิตพระพุทธเจ้าก็ดี จิตของสาวกทั้งหลายก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นจิตที่ฝังจมอยู่กับกิเลสมาเป็นเวลานานเช่นเดียวกับจิตของพวกเรา ๆ ท่าน ๆ นี้ไม่ผิดกันเลย พูดถึงเรื่องกิเลสก็เป็นกิเลสประเภทเดียวกัน ทำไมท่านสามารถชำระสะสางท่านให้หลุดพ้นไปได้ กลายเป็นสรณะของโลกไม่มีวันจืดจางตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

คำว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ไม่ใช่เพียงพระพุทธเจ้าของเราพระองค์เดียวเท่านั้น ยังหมายถึงพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ที่ได้ตรัสรู้เป็นศาสดาสอนโลกเป็นลำดับมา คำว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ก็คือธรรมเป็นของจริงมาดั้งเดิม ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดที่จะตรัสรู้หรือค้นพบ ก็ค้นพบพระธรรมซึ่งเป็นหลักธรรมชาติซึ่งมีอยู่ประจำโลกนี้แล้วโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

คำว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ที่เรากล่าวถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ก็ไม่ใช่พระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเพียงองค์ปัจจุบันนี้เท่านั้น ยังหมายถึงพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ ทุก ๆ พระองค์อีกด้วย และท่านเหล่านี้เมื่อสรุปความลงแล้วล้วนแล้วแต่เกิดในท่ามกลางแห่งมูตรแห่งคูถ คือกิเลสตัณหาอาสวะ ทำไมท่านสำรอกปอกหรือชะล้างออกให้สะอาดได้ จนได้เป็นผู้วิเศษวิโสได้ถึงสรณะ และพวกสัตวโลกทั้งหลายได้ถือท่านเป็นสรณะ ก็เพราะความพากเพียร ในหลักสำคัญท่านกล่าวไว้ก็มี ๔ ข้อ

ฉันทะ คือความพอใจในหน้าที่การงานของตนอันเป็นทางถอดถอนกิเลส สำหรับหน้าที่ของพระเป็นอย่างนั้น และความรู้สึกของพระโดยถูกต้องก็เป็นอย่างนั้น

วิริยะ เพียรเสมอ ไม่ว่าจะกิจนอกการในต้องมีความพากเพียร มีความจงใจ

จิตตะ มีความฝักใฝ่ ใกล้ชิดกับตนอยู่เสมอคือใจ และหน้าที่การงานเมื่อมีความฝักใฝ่ใคร่ต่อกิจการงานนั้น ๆ อยู่ด้วยความสนใจแล้ว ย่อมเป็นไปด้วยความราบรื่นดีงามไม่ค่อยผิดพลาด

วิมังสา เป็นสิ่งสำคัญมากคือดวงปัญญา ต้องมีความรอบคอบทั้งกิจนอกการใน เฉพาะอย่างยิ่งการภาวนา เวลาจะใช้ปัญญาต้องใช้ให้เต็มเหตุเต็มผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอัตราของสติปัญญาของตนที่มีอยู่มากน้อย และพยายามบำรุงปัญญา คือชอบคิดอ่านไตร่ตรองต่าง ๆ ทั้งภายนอกภายใน สงเคราะห์เข้าสู่ธรรมคือหลัก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เพื่อจะถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นของตน อันเป็นตัวกิเลสฝังจมอยู่ภายในจิตใจนี้ให้ออกไปได้ สลายจากจิตใจกลายเป็นอิสระขึ้นมา นี่ธรรมทั้งสี่ข้อนี้เป็นสำคัญมาก

ฉะนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งหลายจึงอย่าลืมตัว ให้มีความระมัดระวังตัวอยู่เสมอ อย่าเข้าใจว่ากิเลสกับเราจะชินกัน เช่นเดียวกับไฟชินกับเราไหม อยู่ด้วยกันมากี่ปีกี่เดือนตั้งแต่วันเกิดลองเอาไฟนั้นมาจี้เราดูซิร้อนไหม ถ้าจี้เมื่อไรร้อนเมื่อนั้นก็แสดงว่าไฟกับเรานั้นไม่ชินกัน ทีนี้กิเลสกับเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใดย่อมเป็นเหมือนไฟ ถ้าเราจะพิจารณาให้เห็นตามความจริงของกิเลสแล้วต้องเป็นเหมือนไฟ ท่านจึงเรียก ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา ไม่เป็นไฟท่านจะเรียกว่าไฟได้ยังไง

พระพุทธเจ้าไม่ใช่องค์อุตริ ท่านพูดตามหลักความจริง เป็นแต่เพียงว่าเราไม่พิจารณาตามหลักความจริง ปีนเกลียวกับธรรมอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็เป็นข้าศึกกันกับธรรม คือกิเลสของเรานั้นแหละเป็นข้าศึกกับธรรมโดยเราไม่รู้สึกตัวและไม่มีเจตนา ถึงจะเจตนาไม่เจตนาก็เป็นกิเลส เช่นเดียวกับไฟเจตนามาจี้ตัวเอง หรือไม่มีเจตนาไปเหยียบมันเข้าก็ร้อนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังรักษา อย่าเคยชินกับกิเลสทุกประเภทซึ่งเป็นข้าศึกเหมือนกันกับไฟ

อยู่ที่ไหนไม่ว่ายืนเดินนั่งนอนให้มีความอุตส่าห์พยายาม มีความตั้งสติสตัง หน้าที่ของเรามีอย่างนี้ เป็นกับตายเราก็มอบไว้กับ พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ จุดสุดท้ายก็คือจะมอบไว้กับความหลุดพ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวงเท่านั้น นี่เป็นงานของเรา เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเดือดร้อนนอนครางอะไรเลย จตุปัจจัยไทยทานเป็นมาอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ เพราะท่านผู้ใจบุญหวังอนุโมทนาศรัทธา ยินดีกับท่านผู้หวังดีผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่มากอยู่แล้วเวลานี้ไม่บกพร่อง

มันบกพร่องแต่เราที่ตั้งหน้าตั้งตาออกแนวรบต่อกิเลสตัณหาอาสวะ เพื่อจะได้ของดิบของดีชัยชนะคือชนะกิเลส ออกไปสั่งสอนโลกนั้นซิสำคัญ ที่ตนสอนตนไม่ได้จะสอนโลกได้ยังไง ตนมีความบกพร่องอย่างไรการสอนโลกก็ต้องบกพร่องอย่างนั้น ตนมีความสมบูรณ์เต็มที่ สอนโลกก็ต้องสมบูรณ์เต็มที่ เพราะสอนออกมาจากความรู้จริงเห็นจริงของตน เรียกว่าวิชาเต็มภูมิธรรมะเต็มใจ การแสดงออกทุกแง่ทุกมุมต้องเป็นอรรถเป็นธรรม เป็นแง่ให้คิดให้อ่านให้ไตร่ตรองให้เกิดผลเกิดประโยชน์ได้ทั้งนั้นจึงชื่อว่าธรรม

ธรรมไม่เคยทำความพินาศให้แก่โลกแม้แต่นิดหนึ่งไม่เคยมี นอกจากกิเลสเท่านั้นทำความเดือดร้อนให้แก่โลกแก่เรา เราจึงควรสนใจในจุดนี้ให้มาก ยืนเดินนั่งนอนอย่าเป็นผู้เผลอสติ ให้ระมัดระวังสติ สติเป็นสิ่งสำคัญในวงความเพียร ปัญญาจะพิจารณาไปมากน้อยสติต้องเป็นผู้กำกับเสมอ เราจะเห็นได้เวลาสติปัญญากลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวนั้น นั่นแหละเราจะทราบได้อย่างชัดเจน สติกับปัญญาจะพรากจากกันไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าท่านอัศจรรย์โดยความจริง ธรรมของท่านที่อยู่ในพระทัยก็เป็นธรรมที่อัศจรรย์โดยหลักธรรมชาติ มาสั่งสอนโลกก็เป็นธรรมอัศจรรย์ แต่พอมาคละเคล้ากับสิ่งไม่อัศจรรย์ สิ่งเหลวไหลโลเล สิ่งสกปรกโสมม ธรรมจึงกลายเป็นเหมือนไม่มีคุณมีค่าอะไรเลย เป็นอย่างนั้น เราจึงพยายามทำตัวให้มีคุณค่าสำหรับเป็นภาชนะรับธรรมของพระพุทธเจ้าโดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นศีล ขั้นสมาธิเป็นขั้น ๆ ปัญญาเป็นภูมิ ๆ จนถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นด้วยความสัตย์ความจริง จะเป็นผู้อัศจรรย์ภายในตัวเอง โดยไม่ต้องหาสิ่งใดมาเสกสรรปั้นยอแหละ จะเป็นขึ้นโดยหลักธรรมชาติแห่งธรรมซึ่งเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว ทำไมจิตใจเข้าไปสัมผัสธรรมซึ่งเป็นของประเสริฐอยู่แล้วจะไม่ประเสริฐไปโดยลำดับ ๆ มีอย่างเหรอ ต้องประเสริฐ

จิตไม่เคยสงบจิตมีตั้งแต่ความวุ่นวายยุ่งเหยิง เพราะอำนาจของกิเลสก่อกวนทับถมโจมตีอยู่ตลอดเวลา จะหาความสุขความอัศจรรย์ความแปลกประหลาดมาจากไหน มองไปไหนก็เห็นเป็นฟืนเป็นไฟเหมือนกันทั้งภายนอกภายใน หาสิ่งที่จะประเสริฐภายในจิตใจไม่มีเลย โลกมันก็แคบไปหมด อยู่ที่ไหนก็เหมือน ๆ ว่าจะเป็นอย่างเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ของดีมีอยู่ นี่เพราะความไม่ฉลาดของเรา เพราะฉะนั้นจงฟิตสติปัญญาขึ้นให้มีความเฉลียวฉลาด ทำจิตให้มีหลักมีเกณฑ์

พูดถึงเรื่องสมาธิ เอ้า ถ้ากำหนดให้จิตสงบด้วยวิธีการใด ก็ให้ตั้งหน้าตั้งตามีสติสตังเอากันจริงกันจังให้เห็น นั่นละธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของจริง พระองค์ทำจริงทำไมเรามาทำเล่นเข้ากันได้เหรอ ท่านทำจริงรู้จริง เราทำเล่นก็รู้เล่นน่ะซีมันรู้ความจริงได้ที่ไหน มีแต่รู้อย่างของจอมปลอมหลอกอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำจริงแล้วต้องปรากฏ สมาธิจะหนีพ้นจิตนี้ไปไม่ได้ จิตตัวยุ่งเหยิงวุ่นวายนี้แหละ เพราะกิเลสเข้าแทรก กิเลสเข้าทำงาน กิเลสเข้าเป็นเจ้าของ จึงต้องใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรหมุนติ้วเข้าไปตรงนั้น

มันจะหมุนไปไหนมันจะยุ่งไปไหนจิตนี้ สติบังคับให้อยู่กับที่ ให้อยู่กับธรรม ให้อยู่กับงานที่กำหนดพิจารณาอยู่นั้นโดยถ่ายเดียว เป็นกับตายเวล่ำเวลาไม่ต้องกำหนด กำหนดเฉพาะความรู้เท่านั้น โลกอันนี้ไม่ให้มีอะไรมาปรากฏในความรู้ ให้มีแต่ความรู้กับธรรมที่สัมผัสกัน เช่น เราบริกรรมก็ดีหรือกำหนดอานาปานสติ ก็ให้มีเฉพาะนั้นเท่านั้น อย่าให้จิตผลักดันออกไปคิดเรื่องนั่นเรื่องนี่เข้ามายุ่งเหยิงวุ่นวาย

นั้นแหละที่จิตมีความเผลอตัวไปเสมอหาความสงบไม่ได้ เพราะจิตนี้เผลอตัวมันโผล่ออกไปข้างนอกโดยที่เราไม่รู้ ถ้าเราตั้งความรู้ไว้เฉพาะว่าโลกนี้ไม่มี ให้ทำความเข้าใจอย่างนั้น มีอยู่ก็ตามทั้ง ๆ ที่ธาตุขันธ์นี้เป็นโลก แต่ในขณะนี้ไม่ให้ความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโลกนั้นเข้ามาแทรกจิตได้ ให้มีแต่จิตกับธรรมที่กำลังทำงานต่อกันอยู่เท่านั้น แล้วมันจะไปไหน มันต้องสงบได้

นี่เคยทำมาแล้วไม่ใช่มาคุยให้หมู่เพื่อนฟังเฉย ๆ โดยโอ้ ๆ อวด ๆ งานทางโลกก็ทำมาเต็มสติกำลังความสามารถ แต่เรายังไม่เคยเห็นงานใดที่เราเคยผ่านมาแล้ว จะเป็นงานหนักหนายิ่งกว่างานฝึกหัดจิต ตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกที่จะให้มีความสงบเย็นใจ เพราะมันยิ่งกว่าลิงกว่าค่างบ่างชะนี มันหลุกหลิก ๆ มันดิ้นรนกวัดแกว่งอยู่ตลอดเวลา นี่ละเรื่องของกิเลสเข้าแทรกสิงใจเป็นเจ้าของของใจ

ทีนี้เราจะนำธรรมเข้าไปให้เป็นเจ้าของของจิต ให้เข้าแทรกจิตแทนที่กิเลส จึงต้องได้ใช้ความพยายามกันเต็มเม็ดเต็มหน่วย บางครั้งเอาตายก็ตาย มันจะไปไหนเกิดมาแล้วต้องตาย เขาไม่ได้นั่งสมาธิภาวนาเขาก็ตาย สัตว์ในโลกนี้ตายด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่จะเดินเลยป่าช้าไปได้ที่ว่าไม่ต้องตาย อยู่ค้ำฟ้าได้หรือโลกอันนี้ นี่จะตายในสนามรบคือการต่อสู้กับกิเลสก็ให้เห็น จะเป็นยังไงให้เห็น ถ้าหากว่าเราไม่ตายก็ให้รู้ นั้นแหละที่นี่ไม่ตาย จะรู้ขึ้นมาจนได้

ถ้าลงจิตได้หมุนติ้วเข้าสู่จุดซึ่งเป็นรวงรังของกิเลสอยู่ภายในนั้นและธรรมอยู่ภายในจุดเดียวกันนั้นแล้ว จะไม่พ้นที่กิเลสจะหมอบราบลงไป อย่างน้อยสงบตัวลงไป ให้ธรรมคือความสงบจิตมีความเย็นสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นภายในจิตใจ อันเป็นผลที่จะให้เราเกิดความแปลกประหลาดและอัศจรรย์ภายในตัวเอง และเป็นเครื่องเพิ่มศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพุทธศาสนา ตลอดถึงมีกำลังทางด้านความพากเพียร ความอดความทนทุกแง่ทุกมุม รวมตัวเข้ามาเป็นกำลังเพื่อจะต่อสู้กับกิเลสประเภทต่าง ๆ ให้ได้ชัยชนะไปโดยลำดับ ๆ โดยไม่ต้องสงสัย นี่การทำจริงเป็นอย่างนี้

เวลาจะทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำเฉพาะสมาธิ อย่าไปสนใจกับเรื่องปัญญาใด ๆ ทั้งนั้นในขณะต้องการความสงบ ให้เป็นความสงบจริง ๆ ท่านเรียกว่าสมถะ หรือเราจะพิจารณาร่างกายขึ้นลงเหมือนกับว่าเที่ยวกรรมฐาน กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงานอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องการความพ้นทุกข์ ก็คืออาการ ๓๒ นี้ เราจะพิจารณาขึ้นพิจารณาลงเที่ยวกรรมฐานอยู่ภายในร่างกายนี้ก็ไม่ผิด ให้อยู่ตรงนี้ก็ได้ ด้วยความมีสติ จิตจะพ้นไปไม่ได้ต้องสงบ นี่เป็นขั้นของสมาธิในเบื้องต้นทำอย่างนี้

ในขั้นของปัญญา เมื่อจิตมีความสงบตัวพอสมควรแล้วจิตก็มีความอิ่มตัว ไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ นำจิตที่มีความสงบอิ่มตัวนี้ไปพิจารณาในแง่ต่าง ๆ แห่งธรรม เช่น อาการ ๓๒ ทั้งภายนอกภายในได้ทั้งนั้น เป็นปฏิกูลก็ตาม เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ตาม นี้เป็นหลักความจริง คำว่าปฏิกูลใครก็เห็นใครก็รู้กันอยู่เพราะมีอยู่กับทุกคนพระพุทธเจ้าไม่ได้โกหก คำโกหกสิ่งโกหกที่เป็นอยู่กับเรานี้ซิ ไม่มีก็หาเรื่องเข้ามา นี่มันปลอมมันแปลง จึงเรียกว่ากิเลสเครื่องจอมปลอม

คนมีที่ไหนหาดูให้ดีซิ เอาตามหลักธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ว่าของสวยของงามอยู่ที่ไหน ของหอมหวนชวนชมอยู่ที่ไหน มันมีแต่ของปฏิกูลโสโครกเต็มเนื้อเต็มตัวเรา ตั้งแต่ภายนอกเข้าไปสู่ภายในหมดทั้งร่างนี้ เต็มไปด้วยของปฏิกูลโสโครก เต็มไปด้วยกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตามหลักธรรมท่าน มีที่ตรงไหนที่เป็นไปตามกิเลสที่เราคาดคะเนไปตามว่า อันนั้นสวยอันนี้งาม อันนั้นเรา อันนี้เป็นของเราซึ่งเป็นการปีนเกลียวหรือต่อสู้กับธรรมรบกับธรรมเท่านั้น

เรื่องของกิเลสต้องเป็นข้าศึกต่อธรรมเสมอไป ความคิดของเราเป็นเช่นนี้เรียกว่าความคิดที่เป็นข้าศึกต่อธรรม จึงต้องกลับความคิดนี้ให้เข้ามาสู่อรรถสู่ธรรม คือพิจารณาให้เป็นของปฏิกูล ให้เห็นตามความจริงแห่งความปฏิกูลนี้ ชื่อว่าเห็นตามเป็นจริง เพราะสิ่งนี้เป็นจริงอย่างนั้น ถ้าพูดถึง อนิจฺจํ คือความแปรสภาพ ทุกฺขํ ความเป็นทุกข์ก็ดี อนตฺตา สภาพหาตนหาบุคคลไม่ได้ในสิ่งที่ปรากฏตัวหรือรวมตัวอยู่นี้ เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น มันก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นตนเป็นตัวเป็นสัตว์เป็นบุคคล นี้คือความจริงของธรรม

ถ้าเราพิจารณาเห็นตามนี้แล้วกิเลสก็ต้องหลุดลอยไป ความจอมปลอมต้องหลุดลอยออกไป ๆ มีแต่ความจริงเด่นขึ้นมาตามขั้น เบื้องต้นก็จะเป็นของปฏิกูลเสียก่อน พอเลยจากขั้นปฏิกูลแล้วก็พิจารณาเป็นธาตุก็กลายเป็นธาตุไป เมื่ออันใดก็เป็นอย่างนั้นเป็นธาตุไปหมดแล้ว ใครจะไปหาติดธาตุเอาเฉย ๆ อันนั้นงามอันนี้ไม่งาม จะไปสำคัญมั่นหมายจะไปติดมันได้ยังไง ก็มันไม่งามเห็นอยู่ชัด ๆ เหมือนอย่างกองมูตรกองคูถอยู่ตามถนนหนทางที่เราเดินไป ใครจะกล้าไปเหยียบมัน ก็ทราบอยู่แล้วว่านี้คือกองมูตรกองคูถ เราเทียบได้อย่างนั้น จิตก็ไม่เข้าไปแตะไม่เข้าไปเกี่ยว เมื่อได้รู้ตามความจริง เช่นเดียวกับเราได้มองเห็นกองมูตรกองคูถอยู่ตามถนนแล้วเราก็หลีกได้ นี่จิตก็หลีกได้อย่างนั้น

อุบายวิธีนี้เป็นอุบายวิธีถอดเสี้ยนถอดหนามคือกิเลสประเภทต่าง ๆ ที่หลอกให้จิตใจของเราสำคัญมั่นหมายไปตาม แล้วก็เป็นข้าศึกต่อตัวเองหาความสงบสุขไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ว่ามาภาวนา มันไม่ได้ภาวนา มันยุ่งไปเฉย ๆ กับเรื่องทั้งหลาย ขณะหนึ่งที่มีสตินั้นเพียงขณะเดียว ขณะที่หาสติไม่ได้และนอกจากนั้นยังให้กิเลสฉุดลากไปตามที่ต่าง ๆ ตามอารมณ์ต่าง ๆ นี้มีสักเท่าไร ๙๕ % เป็นอย่างน้อย แล้วเราจะหาความสงบสุขเย็นใจมาจากที่ไหน เมื่อ ๙๕ % เป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด ๕ % นั้นเป็นเรื่องของธรรมะ จะมีกำลังพอต้านทานกันได้เหรอ เราต้องผลิตสติปัญญาขึ้นให้มีเปอร์เซ็นต์สูงโดยลำดับ ๆ

พูดถึงขั้นปัญญาก็เหมือนกันเอาให้จริงให้จัง พิจารณาแยกหน้าแยกหลัง พิจารณาทดสอบตามอุบายวิธีของตนอย่าอยู่เฉย ๆ ในขั้นที่จะควรพิจารณาเป็นปัญญาแล้ว อย่าคอยให้ครูบาอาจารย์มาแนะทุกแง่ทุกมุม ท่านจะแนะให้แต่หลักใหญ่ ๆ เท่านั้น ส่วนแขนงต่าง ๆ ที่เราจะตีแผ่ออกไปด้วยสติปัญญาของเรา หรือกำลังวังชาของเรานั้นเป็นของเรา เราพิจารณาได้มากน้อยเพียงไรก็เป็นสมบัติของเราแท้ นั่นแหละคือสมบัติของเรา

เมื่อพิจารณาลงไปก็เห็นจริง รู้จริง เมื่อรู้จริงตรงไหนถอนสิ่งปลอมออกไป รู้จริงมากน้อยเพียงไรสิ่งจอมปลอมถอนตัวออกไป ๆ รู้จริงหมดทั้งร่างกาย อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดแต่ก่อนก็ถอนตัวออกไป เพราะตัวจอมปลอมว่าเป็นเราเป็นเขานี่มันถอนตัวออกไป จิตก็ถอนตัวเข้ามา นี่ส่วนร่างกายพิจารณาให้เห็นชัดเจน จะพิจารณาภายนอกก็ตามภายในก็ตามเป็นธรรมด้วยกัน ถ้าพิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอนเพื่อรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ว่าภายนอกไม่ว่าภายในถูกด้วยกันทั้งนั้น เป็นมรรคด้วยกัน นอกจากพิจารณาผิดภายในภายนอกเป็นพิษทั้งนั้น สำคัญอยู่การพิจารณา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เราใช้ปัญญาพิจารณาตามทางของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว ภายนอกก็ตามภายในก็ตาม เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสความกังวลวุ่นวายยึดถือได้ทั้งนั้น

เราเองถนัดทั้งภายนอกภายในนั่นแหละ พิจารณาภายในกับภายนอกเอามาเทียบเคียงกันได้ทุกสัดทุกส่วน หาแง่สงสัยไม่ได้แล้ว มันจะไปติดกับอะไรจิตนั่นน่ะ ที่มันติดก็เพราะมันหลงมันไม่รู้ ถึงท่านสอนว่าอย่างนั้น ๆ มันจะรู้แต่เพียงความจำเฉย ๆ ความจริงมันยังไม่เข้าถึงตัว เพราะฉะนั้นทางภาคปฏิบัติจึงต้องใช้ความจริง คือปฏิบัติจริง ผลปรากฏขึ้นมาเป็นความรู้จริงนั้นแหละที่นี่ เมื่อรู้จริงแล้วก็ปล่อย

ไม่ว่าสิ่งใดรู้จริงแล้วปล่อยวางไปโดยลำดับ เช่นร่างกายอย่างนี้เหมือนกัน รู้แจ้งเห็นจริงอย่างชัดเจน จะว่าเป็นธาตุก็ซึ้งภายในจิตใจ จะว่าเป็นของปฏิกูลโสโครก หรือเป็นไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ซึ้งเสมอกันไปหมดแล้วหาที่แย้งไม่ได้ เป็นความจริงทั้งหมด จิตต้องถอนตัวออกจากอุปาทานความยึดมั่นภายในกายของตนอย่างประจักษ์ใจไม่ต้องถามใคร ความยึดมั่นถือมั่นเป็นอย่างไรแต่ก่อนมีโทษอย่างไรบ้าง โทษแห่งความยึดมั่นถือมั่นทำให้หนักหน่วงถ่วงจิตใจลงไปมากน้อยเพียงไร นานเท่าไรเรารู้ เพราะมันกดถ่วงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อปัญญาได้พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงในธาตุในขันธ์ใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ของส่วนแห่งร่างกายทุกส่วนได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วทำไมจิตจะไม่ถอน ต้องถอนตัวออกมาอย่างเด่นชัดทีเดียว หมดอุปาทานความยึดกายถือกาย เพราะพิจารณาเห็นจริงด้วยปัญญาแล้วถอนออกมาหมด เรียกว่าเป็นอิสระไปขั้นหนึ่งแล้ว

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เรียกว่าขันธ์ ๔ เป็นหมวดเป็นกอง แปลว่าหมวดว่ากอง ขันธะ ๆ นั่น กองเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเปกขาเวทนา มีทั้งส่วนร่างกายและจิตใจ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิดความปรุงในเรื่องต่าง ๆ ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน เรียกว่าสังขาร วิญญาณ ความรับทราบในเมื่อสิ่งภายนอกเข้ามาสัมผัส เช่น รูปสัมผัสตา เสียงสัมผัสหูเป็นต้น เมื่อสิ่งนั้นผ่านไปความรับรู้นี้ก็ดับไปพร้อมกัน ท่านเรียกว่าวิญญาณ มันก็มีแต่เพียงอาการอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น เอาตนเอาตัวเอาสาระแก่นสารที่ไหนมี

เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา สุขก็สักแต่ว่าสุข ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ เฉย ๆ ก็สักแต่ว่าเฉย ๆ จะเอาจริงเอาจังกับมันได้ยังไง มันเป็นความจริงของมันแต่ละอย่าง ๆ เมื่อได้พิจารณาถึงขั้นนี้แล้วใจทำไมจะไม่จริง ใจไปหลงว่าเวทนาเป็นนั้นเวทนาเป็นนี้ เวทนาเป็นข้าศึกตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะตัวก็เป็นผู้เสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้มันก็เผาเอาละซิ เมื่อปัญญาได้หยั่งทราบถึงเรื่องเวทนาทั้งสาม สุข ทุกข์ เฉย ๆ ว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สัญญา สังขาร วิญญาณก็พิจารณาแบบเดียวกันนั้นจนซึ้งถึงใจเต็มที่ เข้าใจเต็มที่ เช่นเดียวกับการพิจารณาส่วนร่างกายแล้วจิตก็ต้องถอน หมดความยึดมั่นถือมั่นในรูปกายทั้งหมด ในเวทนา สุข ทุกข์ เฉย ๆ ทั้งหมดในส่วนร่างกายนี้เว้นแต่ภายในจิตที่ยังไม่สามารถ

เวทนาจิตมี สุข ทุกข์ เฉย ๆ เหมือนกัน สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิดความปรุงดีชั่ว คิดขึ้นขณะใดก็ดับขณะนั้นเหมือนฟ้าแลบ วิญญาณ เกิดแล้วดับ เกิดเพื่อความดับเท่านั้นไม่ได้เพื่ออื่นใด ไม่เพื่อสาระแก่นสาร ไม่เพื่อสัตว์เพื่อบุคคล เกิดแล้วก็ดับไป ๆ นี่มีสาระที่ตรงไหน เมื่อพิจารณาให้เห็นตามความจริงซึ้งภายในสิ่งเหล่านี้แล้วจิตย่อมถอน ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถอน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ภายในจิต จิตเป็นจิต อาการเหล่านี้เป็นอาการเหล่านี้ แม้จะอยู่ด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับผู้หญิงผู้ชายที่อยู่ด้วยกันมากน้อย ย่อมรู้ได้ชัดว่านั้นคือหญิงนี้คือชาย นี่ย่อมรู้ได้ชัดว่านั้นคือรูป นั้นคือเวทนา นั้นคือสัญญา สังขาร วิญญาณ นี้คือจิต นั่น นี่ละรู้ทางภาคปฏิบัติรู้อย่างนี้ แต่ต้องพิจารณาอย่างที่ว่านี้

เมื่อปล่อยวางในสิ่งเหล่านี้หมดแล้ว ความยึดมั่นในอาการเหล่านี้ก็ไม่มี ทางเดินของกิเลสซึ่งเป็นตัวสำคัญอันฝังอยู่ภายในจิตใจนั้นก็ไม่มี เพราะไม่มีทางเดิน ออกมาทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่มี ออกไปทางรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสก็ไม่มี เพราะปัญญาตัดขาดหมดแล้ว เรียกว่าตัดสะพานเข้ามา ตัดเข้ามา ๆ จนถึงตัวของเราคือขันธ์ ๕ ตัดเข้ามาด้วยปัญญาดังที่ว่านี้ เห็นแจ่มแจ้งชัดเจน จิตทั้งดวงก็มีแต่กิเลสกับจิตเท่านั้น

กิเลสไม่มีอยู่ในรูป ไม่มีอยู่ในเวทนา ไม่มีอยู่ในสัญญา ไม่มีอยู่ในสังขาร ไม่มีอยู่ในวิญญาณ แต่ก่อนมีอยู่ในสิ่งเหล่านี้ มาแทรกมาซ่อนตัวอยู่หมดทุกแง่ทุกมุมเป็นเราเป็นของเราเสียทั้งนั้น พอสติปัญญาไล่ต้อนเข้าไป ๆ หมดแล้วเข้าสู่จิต เมื่อเข้าสู่จิตแล้วการที่จะพิจารณาจิตจึงเป็นหน้าที่ของสติปัญญาอีกเช่นเดียวกัน นี่หมดความกังวลในการพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ต้องอาศัยความเกิดความดับของสังขารที่คิด เป็นสาเหตุที่จะต้องหยั่งเข้าสู่ตัวกิเลสอันแท้จริงคืออวิชชา เกิดดับ ๆ รู้ได้อย่างชัดเจน

ทีนี้เมื่อมีแต่ความรู้อันเด่นดวงไม่สับปนกับอาการใดของขันธ์ทั้งห้านี้ เราย่อมจะเห็นได้ชัด รู้จิตก็รู้ได้ชัดเวลานั้น แม้อวิชชาอยู่ในจิตเราก็ไม่เข้าใจว่าเป็นอวิชชา เพราะอวิชชานี้ละเอียดแหลมคมมาก เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญจิตเข้าไปถึงขั้นนี้ ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์ซึ่งเคยผ่านไปแล้วมาแนะนำ จะไม่เข้าใจเลยว่านี้เป็นกิเลส นี้เป็นอวิชชา จะเห็นว่าเป็นทองทั้งแท่งทั้ง ๆ ที่ทองเก๊มันแทรกอยู่นั้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยจิตดวงนั้นซึ่งตามหลักธรรมชาติของมันที่เข้าไปรวมตัวอยู่แล้ว ย่อมแสดงความสว่างกระจ่างแจ้ง ความสง่าผ่าเผย ความอัศจรรย์ ทำให้เกิดความอ้อยอิ่งติดใจอยู่ในจิตดวงนั้น นั่นแหละปล่อยอะไรหมดแล้วก็ไปยึดจิต ติดจิตอยู่นั้น นั่นละอุปาทานในจิต เลยเข้าใจว่ามีแต่จิตอย่างเดียว ไม่ได้นึกเลยว่ามีเสือโคร่งเสือดาวอยู่กับจิตนั้นคืออวิชชา

แม้ขั้นสติปัญญาอัตโนมัติหรือมหาสติมหาปัญญาก็ตาม ยังต้องหลงเพลงของอวิชชาจนได้ เพราะอวิชชาเป็นจอมแห่งไตรภพ ไม่มีกิเลสประเภทใดที่จะแหลมคมละเอียดลออยิ่งกว่าอวิชชา ภายนอกที่มันแสดงออกมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงหยาบ ๆ เรายังหลง ไม่หลงโลกทั้งหลายโลภกันได้ทำไม โกรธกันได้หาอะไร หลงกันหาอะไร ก็เพราะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของจริง เป็นสิ่งที่จะพึงทำ มันจึงปรากฏแสดงอยู่ทั่วโลกทั่วสงสาร ถ้ารู้ตามเป็นจริงแล้วโลภหาอะไร โกรธหาอะไร หลงหาอะไร อันนี้จิตเวลามันหลงจิตมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เป็นความละเอียดสุด จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาธรรมชาติอันนั้น

เช่นเดียวกับพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาคลี่คลายดูธรรมชาตินั้น ดูความเคลื่อนไหว มี ขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วจะละเอียดขนาดไหน ความเคลื่อนไหวซึ่งแสดงเรื่องไตรลักษณ์ย่อมมีเสมอ แต่เป็นส่วนละเอียดตามส่วนของมัน พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจได้ชัด ถูกทำลายด้วยสติปัญญาไม่มีเหลือ คำว่าองอาจกล้าหาญ สง่าผ่าเผย สว่างกระจ่างแจ้ง น่าอ้อยอิ่งติดใจสลายไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือเลย เหลือแต่ธรรมชาติที่รู้ ๆ ที่นี่ รู้อันนั้นกับรู้ของอวิชชาที่ครอบอยู่นั้นผิดกันราวฟ้ากับดิน หินกับเพชร

นั่นแหละเรื่องผลของงานแห่งผู้ปฏิบัติทั้งหลายมีผลสุดท้ายคืออันนี้ ได้แก่ความหลุดพ้นหรือการทำลายกิเลสทุกประเภท ซึ่งเป็นเชื้ออันสำคัญพาให้เกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ คือธรรมชาติอันนี้แล ที่เกิดในภพน้อยภพใหญ่สูง ๆ ต่ำ ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ สุขบ้างทุกข์บ้างนั้น เกี่ยวกับเรื่องวิบากอีก เพราะอวิชชาเป็นพื้นฐาน วิบากก็รองกันลงมา กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสก็คืออวิชชาพาให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้วก็ได้รับผลของกรรมเป็นวิบาก นั่นละที่พาให้สัตว์ไปเกิดภพน้อยภพใหญ่

ค้นดูให้ดี เราเป็นนักเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย ทำไมจึงให้ท่านนำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา ขนาดนั้นเรายังทราบไม่ได้ เรายังไม่เชื่อท่านเราจะเชื่อใคร ถ้าจะเชื่อเรามันก็จมอยู่อย่างนี้ วันไหนที่จะฟูขึ้น วันไหนที่จะล่องลอยพ้นจากกองทุกข์เพราะอำนาจแห่งความเกิดแก่เจ็บตายนี้ได้เล่าถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าจะเชื่อใคร นี่ละให้เชื่อในทางภาคปฏิบัติ

พิจารณาลงไป เราจะเห็นได้ชัดเรื่องกระแสของจิตที่มันเคยพัวพันกับอดีต อนาคต เกี่ยวข้องกับสิ่งใดอันเป็นสื่อเป็นทางที่จะพาให้เกิดแก่เจ็บตายในภพน้อยภพใหญ่ แม้จะเป็นภพสูงก็ตามก็คือภพคือชาติคือเรื่องของสมมุติ ต้องมีความทุกข์เจือปนอยู่เสมอตามส่วนแห่งภพนั้น ๆ ไม่ใช่ของดี ตัดลงไปขาดสะบั้นลงไปด้วยอำนาจของสติปัญญา จนกระทั่งถึงขาดภายในจิตซึ่งเป็นตัวเชื้อจริง ๆ ได้แก่อวิชชา นั้นละเชื้อจริง ๆ อยู่ตรงนั้น เอาให้ขาดสะบั้นลงจากนั้นแล้ว ทำไมจะไม่ทราบว่าจะตายอีกหรือไม่ตายอีก จะเกิดอีกหรือไม่เกิดทำไมจะไม่ทราบ

พระพุทธเจ้าท่านทราบได้ยังไง ท่านทราบได้อย่างนี้ ทราบได้ด้วยภาคปฏิบัติ ไม่ได้ทราบด้วยภาคจดจำศึกษาเล่าเรียนมาเฉย ๆ ท่านทราบด้วยภาคปฏิบัติให้รู้จริงเห็นจริง ขาดสะบั้นออกหมด ที่นี่ภพไหนจะมาอีก ตัวจะตั้งภพตั้งชาติ ตัวเป็นเชื้ออันสำคัญได้ถูกทำลายลงแล้วโดยสิ้นเชิงเห็นประจักษ์ด้วยปัญญาไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว เหลือแต่ธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ เกิดได้ยังไงแล้วจะดับได้ยังไงรู้เห็นอยู่นั้น จะสูญไปได้ยังไง รู้ ๆ อยู่นี้สูญไปได้ยังไง หลักธรรมชาตินี้ลบได้ยังไงความจริง ความบริสุทธิ์ก็คือความจริง เราจะไปลบความบริสุทธิ์อันเป็นความจริงของจิตนั้นได้อย่างไร มันจึงเป็นเรื่องงมเงา เป็นเรื่องเกาหมัดสำหรับพวกเรา เอาให้ถึงจริงซิ พระพุทธเจ้าท่านสอนจริงเพราะท่านรู้จริง

สิ่งเหล่านี้ไม่นอกเหนือไปจากจิตของเราทุก ๆ คน เอาลงค้นให้พบ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วมันหมดเองเรื่องอดีต ปัญหาหมดไป อนาคตที่จะไปเกิดในภพใดชาติใดสูงต่ำขนาดไหน ได้รับความสุขความสบายยังไงเสวยยังไง หมดปัญหา ปัจจุบันก็รู้เท่า ก็รู้เท่าทันอยู่ตลอดเวลา ยึดที่ไหนกิเลสไม่มีแล้วไม่ยึด แม้แต่ความบริสุทธิ์ก็ไม่ยึดตัวเอง เพราะไม่ใช่กิเลส

ถ้ากิเลสอยู่ที่ไหนต้องพาให้ยึดทั้งนั้น มีมากมีน้อยยึดตามมากตามน้อย มีกิเลสมากน้อยเพียงไรพาให้ยึดอยู่ตลอดเวลา แม้ที่สุดมีอยู่ในจิตมันยังต้องยึดจิตจนได้ เมื่อทำลายออกจากจิตนั้นเสียโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะยึด มีแต่ความบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น หาความยึดไม่ได้เพราะไม่มีสิ่งเป็นสาเหตุให้ยึด กิเลสไม่มี นั่นละกิเลสเป็นสาเหตุให้ยึดไม่มี นั่นละรู้ตรงนั้น

นี่ละ สนฺทิฏฺฐิโก ท้าทายอยู่ตั้งแต่วันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ทีแรก สั่งสอนโลกทีแรกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ธรรมะนี้ไม่เคยล้าสมัย เป็นมัชฌิมาปฏิปทาท่ามกลางนี้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเองเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่กับตนทุกคน และวิธีการที่จะให้รู้ให้เข้าใจก็ทรงสอนไว้แล้วว่า มัชฌิมาปฏิปทา มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น สัมมาสมาธิ เป็นที่สุด นี้แก่นแห่งธรรม แก่นแห่งปฏิปทา เอานำมาปฏิบัติ อยู่ที่ไหน ท่านเรียกว่ามรรคทางดำเนินหรือเครื่องแก้ทุกข์ เครื่องประหัตประหารกิเลสทั้งหลายก็คือมัชฌิมาปฏิปทานี้เอง

เอาให้จริงให้จัง เราเป็นนักปฏิบัติอย่าให้เสียท่าเสียที อย่ามานอนอยู่เฉย ๆ สถานที่เหล่านี้ไม่ใช่โรงเลี้ยงหมู เอาให้จริงให้จัง พระพุทธเจ้าไม่ใช่หัวหน้าเลี้ยงหมูนี่ ศาสนธรรมก็ไม่ใช่อาหารปรนปรือหมู พระองค์ได้ค้นแทบล้มแทบตายจึงพบ มาสั่งสอนโลกเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนี้ เอ้า ตามหลักธรรมพระพุทธเจ้า ดำเนินตามนั้นจะเป็นไปไหนถ้าไม่เป็นไปตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่เป็นอย่างอื่น เอ้า ทำให้จริงให้จังก็แล้วกัน

อยู่ด้วยกันก็ยังเห็นอยู่นี่ เห็นความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ความไม่มีสติสตัง ออกไปแล้วจะเอาความเฉลียวฉลาดแหลมคมมาจากไหน เพราะฉะนั้นจึงต้องดุด่าว่ากล่าวกันเรื่อย ๆ พอมองเห็นพับเปิดแล้ว เปิดช่องบกพร่องให้เห็นแล้ว พอมองเห็นก็ดี พูดออกมาได้ยินก็ดี มีแต่ช่องบกพร่องเสมอ ถ้าหากว่าเป็นนักมวยแล้วตรงนั้นละตรงที่จะตาย เปิดไว้แล้ว ๆ นี่ก็กิเลสมันสับเอา ๆ ยำเอาต่อยเอา ๆ ในช่องว่าง ว่างเพราะความไม่มีสติ ว่างเพราะความไม่มีปัญญารอบคอบตัวเอง

กิเลสมันแหลมคม ไม่มีอะไรแหลมคมยิ่งกว่ากิเลสในโลกอันนี้ แต่เมื่อไปครอบผู้ใดแล้วทำคนนั้นให้โง่ ตัวกิเลสนั้นแหลมคม ฉลาดมากที่สุด จึงได้ครองโลกวัฏจักรนี้ เพราะอำนาจของกิเลสทั้งนั้นเป็นผู้ครอง เราอย่าเข้าใจว่าอันใดเป็นเจ้าอำนาจให้ครองโลกวัฏจักร คือความเกิดแก่เจ็บตายของสัตวโลก ถ้าไม่ใช่กิเลสจะเป็นอะไร เราอยากจะทราบชัดก็ค้นลงไปที่หัวใจเราซิ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้มันจะทราบที่ตรงนั้น เมื่อกิเลสทุกประเภทหมดไปจากใจแล้วใครจะมาครอง ไม่มีใครครอง เป็นอิสระเต็มที่ ฉะนั้นขอให้พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

พูดท้ายเทศน์

ดังที่พูดแล้วนี่กรรมฐาน ๆ สาวกทั้งหลายท่านวิเศษเพราะสร้างหัวใจนะ ไม่ได้วิเศษเพราะสร้างนู่นสร้างนี่วัตถุต่าง ๆ โชว์กันเหมือนบ้า มันเลยบ้าไปแล้ว บ้าไม่ค่อยก่อความเดือดร้อนแก่คน แต่นี้มันก่อนี่นะ ยุ่งไปหมด ไม่ได้สร้างเลยอยู่ไม่ได้ มันคันก็ต้องได้เกาเหมือนหมาขี้เรื้อน เจ้าของมีเงินที่ไหน ไม่กวนบ้านกวนเมืองเอาอะไรมาสร้าง นั่นละมันลอกบ้านลอกเมือง เที่ยวปอกเที่ยวลอกไปหมด ไปที่ไหน

ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส อะไร เป็นผีแหละไป ใครจะอยากพบอยากเห็นคอยจะเอาห้าเอาสิบนั่นซิ มันดีแล้วเหรออย่างนั้น ไปที่ไหนไปแบบพระซิ ไปแบบสบาย ทำตัวให้สบายทางด้านจิตใจ กิเลสตัวใดมารบกวนให้จับมันไว้ให้ดี ฟาดให้แหลกไปเลย มันแสดงออกแง่ใดแง่ที่นอกเหนือจากธรรมไปแล้วมีแต่กิเลสทั้งนั้นแหละ ฟาดมันลงไป ก็เราบวชมาสู้กิเลสฆ่ากิเลส เราไม่ดูกิเลสที่หัวใจจะดูที่ไหน กิเลสเกิดที่หัวใจให้ดูที่ตรงนี้แล้วค้นหาสาเหตุของมัน ขุดออกมาทั้งรากแก้วรากฝอยจะเหลืออะไร

อย่าอ่อนแอนะนักปฏิบัติ ต้องทำตัวให้ใหม่อยู่เสมอให้เป็นปัจจุบัน อย่าไปคิดถึงเรื่องความพากเพียรที่จะทำไปข้างหน้า จะเป็นยังไงต่อยังไง นั่นละสร้างความท้อใจให้ตัวเอง นั่นก็คือเรื่องอุบายของกิเลส เราทำมาอย่างนั้น ๆ ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ได้รับความลำบาก นั่นเป็นอุบายของกิเลสมันดักหน้าดักหลังให้ไปไม่ได้แล้วติดจมปลักอยู่นั้นแหละ ในวงปัจจุบันมันก็ท้อถอยซิไม่ได้เรื่องได้ราว แล้วจะหาทางออกทางไหนที่นี่ หาทางออกก็เป็นทางออกหากิเลสเสีย ไม่ใช่ทางออกหาธรรม ถ้าไม่ใช่ความกล้าหาญชาญชัยความเอาเป็นเอาตายสู้กับกิเลส นั่นคือทางออกแท้ ตามทางของพระพุทธเจ้าแท้ หาทางออกที่กล่าวมาเหล่านี้มีแต่หาทางออกให้กิเลสสับหัวเอา

เรียนเรื่องหัวใจจบแล้วอะไรจะสบายยิ่งกว่าในโลกอันนี้ เรียนหัวใจให้จบซิ ตัวกองทุกข์ก็อยู่ที่หัวใจ กองทุกข์มาจากไหน มาจากกิเลส ฆ่ากิเลสตายแล้วทุกข์จะมาจากไหน มันไม่มีทางเกิด แสนสบาย พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ พูดไม่หยุดไม่ถอย แต่ยังไงก็ไม่ซ้ำซากเหมือนกิเลสเหยียบหัวคนเหยียบหัวพระ อันนี้ไม่ทราบว่าซ้ำหรือไม่ซ้ำก็ไม่รู้แหละ กดไว้ตลอดเวลา ซ้ำก็พูดเป็นพักเป็นตอน ๆ ว่าซ้ำ แต่กิเลสกดหัวใจนี่ซิกดอยู่ตลอดเวลา

เอาละที่นี่เลิกกันละนะ มีเท่านั้นละ


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก