เราจะให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายหัวใจอยู่ตลอดเวลา เพราะความไม่มีธรรมได้ยังไง เราเป็นผู้มาปฏิบัติธรรมต้องเอาธรรมเป็นหลักใจอยู่เสมอ จะฝืดจะเคืองหนักเบามากน้อยให้มีธรรมเป็นเครื่องทำงานทางฝ่ายเหตุ บังคับบัญชาจิตใจอยู่เสมอ เพราะใคร ๆ ก็ทราบแล้วว่ากิเลสกับธรรมนั้นเป็นข้าศึกกัน ในเมื่อจะแก้ไขหรือชำระกันต้องเป็นข้าศึกกัน ถ้าไม่ยอมแก้ไขชำระตัวเอง กิเลสก็เป็นเจ้าอำนาจไม่มีธรรมเข้าแทรกได้เลย
อาการทุกอย่างที่ไหวตัวออกมาตั้งแต่จิตถึงวาจาทางกิริยามารยาทคำพูดคำจา เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลเป็นผู้ฉุดผู้ลากผู้ชัก จิตเลยเป็นเหมือนหุ่นไป ไม่มีความหมายในตัวเองอะไรเลย ถ้ากิเลสเป็นเจ้าอำนาจเป็นอย่างนั้น แล้วจะเอาความดิบความดีความวิเศษวิโส ความสุขความสบายภายในจิตใจจากกิเลสมันไม่ได้อะไร มีตั้งแต่เหยียบย่ำทำลายลงไปเรื่อย ๆ พิจารณาให้ซึ้งซิสิ่งเหล่านี้ นั่นจึงเรียกว่ากิเลสเป็นข้าศึกต่อความสงบสุข หรือเป็นข้าศึกต่อธรรม
เราตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราต้องยึดธรรมเป็นหลัก เป็นกับตายก็ยึดธรรมไว้เป็นหลัก ยากลำบากในการแก้ไขดัดแปลงหรือฝึกทรมานตนเองขนาดไหนเราก็ทราบว่าเราทำงานเพื่อเราเอง ผลประโยชน์อันดีงามที่เกิดขึ้นจากการฝึกทรมานลำบากหนักเบามากน้อยเพียงไรเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นของผู้อื่นผู้ใดพอที่จะไม่นำพา วันเวลาเสียไปวันหนึ่ง ๆ ล่วงไปเรื่อย ๆ ประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นจากการประกอบความพากเพียร คือต่อสู้กับกิเลสไม่มีอะไรเลย ก็เท่ากับขาดทุนไปทุกวัน การค้าการขายถ้ามีแต่ขาดทุนอย่างเดียวก็ต้องล่มจม ไม่มีใครจะประคองตัวไปได้
การต่อสู้แบบใดเช่นเขาเล่นกีฬากัน ถ้ามีแต่แพ้อย่างเดียวก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ต้องผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เราแพ้เพราะเหตุใดก็ต้องนำเหตุนั้นเข้ามาวินิจฉัยใคร่ครวญ แก้ไขดัดแปลงใหม่แล้วเข้าต่อสู้อีก นี่เราแพ้กิเลส ตั้งแต่ก่อนเรายังไม่เคยสู้เราหมอบราบกับมันอยู่เสมอ จึงไม่ทราบว่าอะไรเป็นกิเลส กิเลสกับเราเป็นอันเดียวกันมาดั้งเดิม จนไม่มีความรู้สึกสำนึกเลยในโลกของเรากว้างแสนกว้าง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาแสดงเหตุแสดงผล ถึงแง่งอนโทษกรรมของกิเลสที่มันทรมานจิตใจสัตว์ก็ไม่มีใครจะทราบ ตลอดถึงวิธีการแก้ไขดัดแปลงหรือปราบปรามกิเลสด้วยวิธีการใด ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนไว้โดยอรรถโดยธรรมก็ไม่มีใครจะทราบ ก็ต้องยอมให้กิเลสเหยียบย่ำทำลายอยู่อย่างนั้นตลอด หาทางออกไม่ได้ เพราะไม่ทราบจะหาทางไหน ไม่มีทางออก ไม่รู้ทางออก ไม่มีอุบายวิธีใดที่จะเป็นความรู้ความฉลาดโดยลำพังตนเอง ที่ไม่ได้รับจากครูจากอาจารย์จากคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องดำเนินเลยใครจะรู้
เกิดมาก็เกิดกับกิเลส อยู่กับกิเลส ตายกับกิเลส วกไปเวียนมามีตั้งแต่เรื่องของกิเลสทั้งมวลในหัวใจเรา ได้รูปได้กายมาก็เพราะเรื่องของกิเลส ได้รูปได้กายมาแล้วก็เป็นเครื่องมือของมันอย่างเต็มตัวทั้งหมด ผลที่มันผลิตขึ้นมาก็มีแต่ความทุกข์เดือดร้อนก็ควรจะทราบ พระเราไม่ทราบไม่มีใครทราบเรื่องของกิเลสเรื่องของกองทุกข์ ที่เกิดขึ้นจากความผลิตขึ้นมาของกิเลส หรือเกิดขึ้นมาเพราะผลของกิเลส เช่น วิบากขันธ์ของเรานี้ก็เป็นผลอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากกิเลส ถึงกิเลสไม่เข้ามาแทรกมันมันก็เป็นทุกข์ได้ เช่น เจ็บหัวตัวร้อนเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ก็สืบเนื่องมาจากวิบากคือผลของกิเลสให้มาเป็นรูปเป็นกาย มาเป็นเรือนรังของโรคจนได้ พิจารณาหลายแง่หลายมุมซิผู้ปฏิบัติ นั่งอมลิ้นอยู่ทำไม
ความคิดถึงเวลาที่คิดต้องคิดซอกแซกหลายแง่หลายมุม คิดไปคิดมาก็ได้อุบายขึ้นมา หลายวันได้อุบายขึ้นมาแต่ละอุบายนี้ก็ยังดี ดีกว่าไม่เคยคิดไม่สนใจ ถ้าภาวนาเพื่อความสงบมันก็ไม่พอจะได้เรื่องความสงบ เพราะสติไม่มี ความมุ่งมั่นมีน้อย ความมุ่งมั่นมีมากความเพียรก็เป็นไปตามกัน ความขยันหมั่นเพียร ความอดความทนก็มีกำลัง สำคัญที่ความมุ่งมั่นเป็นหลักใจ ถ้าความมุ่งมั่นมีน้อยความเพียรเหลวทั้งนั้น
การตั้งสติ จะเป็นสติได้ด้วยดีก็เพราะความเพียร เพราะความพอใจในการบำเพ็ญ นี่ได้เคยฝึกมาแล้วรู้เรื่องรู้ราวพอสมควร จึงกล้าพูดต่อหมู่ต่อเพื่อน สติล้มลุกคลุกคลานจนหาชิ้นดีไม่ได้ก็เคยเป็นแล้ว กิเลสมันเหยียบหัวเราต่อหน้าต่อตาทั้ง ๆ ที่เราสู้กับมัน มันเหยียบเราลงอย่างแหลกแบนไปเลยต่อหน้าต่อตา เพราะกำลัง อุบายวิธีอะไร ๆ ก็ไม่มีพอสู้มันได้ อย่างนั้นก็เป็นเห็นมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามไม่หนีความมุ่งมั่นเป็นหลักเครื่องดำเนิน
ความมุ่งมั่นนี่เป็นสำคัญมากทีเดียว มุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์ มุ่งมั่นต่อผลที่ตนจะพึงได้พึงถึงตามความต้องการของตน เมื่อความมุ่งมั่นคือเข็มทิศตั้งไว้ดีแล้ว สิ่งที่จะมาส่งเสริมความมุ่งมั่นให้สำเร็จไปเป็นวรรคเป็นตอนเป็นขั้นไป เช่นความเพียร ความอุตส่าห์พยายาม ความอดความทนหนักเอาเบาก็สู้ค่อย ๆ ตามกันมาเอง รวมกันเข้าเป็นพลัง
ถึงจะมืดตื้อขนาดไหนก็เถอะ ถ้าลงความมุ่งมั่นสัมปยุตไปด้วยธรรมเครื่องสนับสนุน คือความพากเพียรเป็นต้นแล้ว จะต้องมีวันสว่างวันหนึ่งจนได้ ทั้งที่ผู้นั้นปกติสู้มันไม่ได้ บางทีเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมา แต่มันไม่นานนะ มันเกิดขึ้นมาชั่วขณะ ๆ เพราะสติเราไม่ทัน ปัญญาเราไม่ทัน กิเลสเหยียบย่ำเอา ต่อสู้กับมันสู้มันไม่ได้ มันแสดงให้เห็นต่อหน้าต่อตาอยู่ชัด ๆ ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้แต่กำลังไม่มี เกิดความเสียอกเสียใจเพราะสู้กิเลสไม่ได้ ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าเคียดแค้นผูกอาฆาตกัน แต่ผูกอาฆาตระหว่างธรรมกับกิเลสนี้ไม่เป็นอาฆาตเหมือนอย่างโลก เรียกว่ามุมานะต่อสู้ขบเขี้ยวขบฟันใส่กัน หลายครั้งหลายหนก็เอาจนได้
เราเคยพูดเสมอว่านักภาวนานักบวชเรา สรุปลงแล้วคือนักปฏิบัติ ถ้าจิตหาความสงบไม่ได้แล้ว ไม่เห็นเลยความอัศจรรย์ของศาสนาคืออะไร อัศจรรย์อย่างไร เพราะตัวเองไม่มีคุณค่าอะไรแล้วจะเอาอะไรไปเป็นเครื่องรับความแปลกประหลาดอัศจรรย์ของศาสนา พอที่จะให้รู้ขึ้นมาภายในจิตใจหรือประจักษ์ใจได้มากน้อยล่ะ มันไม่รู้มันไม่มี เพราะจิตก็ร้อนอยู่ทั้งดวงเหมือนกับไฟไหม้แกลบ อย่างน้อยก็เหมือนไฟไหม้แกลบ มันสุมอยู่นั้นไม่ถึงกับลุกโพลงแสดงเปลวออกมา วูบวาบ ๆ กับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องฟืนเรื่องไฟของกิเลส เผาลนจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวายทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะเอาอะไรเป็นของอัศจรรย์
ในจิตมีแต่ไฟ โยนอะไรเข้าไปก็ไหม้หมด ๆ ถ้าไม่พยายามดับด้วยการต่อสู้ของเรา จนจิตมีความสงบแล้วเย็นขึ้นมา นั่นละที่นี่เริ่มเห็นคุณค่าของใจ คุณค่าของตน เริ่มเห็นคุณค่าของศาสนาไปตั้งแต่จิตเริ่มมีความสงบ พอทรงตัวได้ จิตใจไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวแส่ส่ายเป็นบ้าเหมือนแต่ก่อน บ้าคิดบ้าปรุงนั่นแล้วจะบ้าอะไร บ้าของนักปฏิบัติก็คือความคิดความปรุง ความฟุ้งซ่านวุ่นวายของจิต
เราต้องทดสอบบวกลบกันเสมอ ความคิดตั้งแต่ตื่นขึ้นมานี้มันคิดเรื่องอะไรบ้าง คิดเรื่องโลกเรื่องสงสารซึ่งเคยคิดมาแล้วตั้งแต่วันเกิดวันรู้จักเดียงสาภาวะมาจนกระทั่งบัดนี้มันได้ผลประโยชน์อะไร ถ้าไม่ปรากฏว่าเป็นผลประโยชน์อะไร เพราะความคิดปรุงตามอำนาจของกิเลสที่พาให้เป็นไปแล้ว เราก็ควรที่จะเห็นโทษแห่งความคิดเหล่านั้น แล้วพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านั้นมาเป็นความคิดทางด้านธรรมะ มาเป็นความคิดทางด้านสติทางด้านปัญญา ทางด้านความพากเพียร ทางแง่อรรถแง่ธรรมใดก็ตาม เพื่อได้สติขึ้นมาหรือได้คติได้อุบายขึ้นมาเป็นลำดับลำดา เพราะความคิดปรุงอันเป็นฝ่ายมรรค คือเป็นเรื่องของปัญญา นี่เราก็พลิกมาอย่างนี้
เราเสียดายอะไรกับความคิด มันเสียดายนะจิตนะ เจ้าของนั่นแหละเป็นผู้ปรุงขึ้นมาแล้วก็หลอกเจ้าของ เจ้าของนั่นแหละลืมเนื้อลืมตัวดูดดื่มไปตามความคิดนั้น ๆ จนเพลินไม่รู้สึกตัวเลย ทั้ง ๆ ที่นั่งภาวนาแต่ระงับความคิดความปรุงซึ่งเป็นเรื่องก่อกวนจิตใจไม่ได้ เลยกลับตรงกันข้ามไปวิ่งตามเขาเสีย เห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปเสียด้วยความคิดที่หลอกตนเอง ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ไม่มีทางสงบได้
ต้องฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป อย่าคิดอย่าเสียดายความคิดอันเป็นเรื่องของกิเลสมากน้อยเพียงไร ให้ทราบว่ากิเลสกำเริบ เราอย่าว่าเป็นความคิดกำเริบเฉย ๆ มันไม่ถึงใจ ต้องบอกว่ากิเลสกำลังกำเริบ อยากคิดเรื่องนั้น อยากคิดเรื่องนี้ อดีตผ่านมากี่ปีกี่เดือนไม่ทราบว่าผ่านไปถึงไหนแล้ว ยังมาปรุงเป็นเรื่องเป็นราวหลอกเจ้าของ ยั่วยวนเจ้าของ ชักชวนเจ้าของ กดขี่บังคับเจ้าของให้ชอบอกชอบใจ สนใจคิดเรื่องนั้นอยู่เรื่อย ๆ เรียกว่ากิเลสกำเริบ
เราก็บังคับฉุดลากเข้ามาด้วยสติของเรา เอาตายก็ตาย บังคับไม่ให้คิดในเรื่องนั้นเป็นอันขาด ให้มาคิดเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรม นั่นเป็นเรื่องของกิเลสเป็นเรื่องฟืนเรื่องไฟ เผาลนจิตใจ ก็เพราะความคิดความปรุงของตัวเองนั่นแล เรื่องทั้งหลายแหล่ก็เป็นเรื่องของจิตเป็นผู้คิดปรุงขึ้นมา ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความจริงออกจากจิตนี้ทั้งนั้น ส่วนเรื่องจริง ๆ ไม่ทราบมันหายไปไหน มันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นแต่ลม ๆ แล้ง ๆ อยู่ภายในจิต ตื่นลมตื่นแล้งอยู่ภายในจิตตัวเอง
เหมือนกับฉายภาพยนตร์ ตัวจริงมันไปไหนก็ไม่รู้ มาฉายภาพยนตร์ในจอแล้วยังมาตื่นกันอยู่นั้น เป็นบ้าตื่นเงา นี่พิจารณาอย่างนี้ มีสติบังคับ ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์ อย่าถอยหลังอย่าปล่อยให้กิเลสเหยียบย่ำไป ทั้ง ๆ ที่สติปัญญามีพอจะต่อสู้กัน ให้ทราบเสมอว่ากิเลสมักจะกำเริบอยู่ตลอดเวลา เวลานี้เราจะระงับความกำเริบของกิเลสที่ทำให้คิดปรุงในแง่ต่าง ๆ เป็นสิ่งก่อกวนจิตใจ และเพิ่มทุกข์ขึ้นมาเพิ่มกิเลสขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็เพิ่มทุกข์ขึ้นมาเรื่อย ๆ นี่ไม่ใช่ทางเดินของเรา เราผู้ปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสต่างหาก ไม่ได้มาปฏิบัติเพื่อส่งเสริมหรือคล้อยตามกิเลสให้มาเหยียบย่ำทำลายตนเสียจนแหลกเหลวหมด หาชิ้นดีไม่ได้ภายในจิตใจ
ความสงบมองหาก็ไม่เจอ ความฉลาดแยบคายมองหาก็ไม่เจอ เพราะไม่ได้มอง ไม่ได้จดจ่อกับสิ่งเหล่านี้ แต่ไปจดจ่อกับเรื่องของกิเลสซึ่งเคยเป็นมาแล้ว ให้ทุกข์มาแล้วแต่กาลไหนก็ไม่ยอมเห็นโทษนั่นเอง หลักสำคัญอยู่ตรงนี้ ให้ทำความเข้าใจกับตัวเองด้วยดี การปฏิบัติธรรมก็คือการทำความเข้าใจกับตน คำว่าตนในสถานที่นี้ก็เป็นเรื่องของกิเลสของตนนั่นเอง เอาให้แน่ให้แม่นยำเข้าไปโดยลำดับ
เอ้า ภาวนา อุบายวิธีใดที่จะพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อได้สติสตังได้ความสงบเยือกเย็นก็หาอุบายเอง อย่าคอยแต่ครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้ อย่างนั้นมันเป็นสมบัติของท่าน ถ้าเราไม่ได้ผลิตขึ้นมาใช้โดยลำพังเราเองแล้วจะไปไม่รอด ท่านยื่นให้แง่ไหนเราก็ได้เฉพาะแง่นั้นอย่างมาก หรือมิฉะนั้นก็หลุดไม้หลุดมือไปเสียไม่เกิดประโยชน์อะไร
ความที่ตนคิดค้นหาอุบายขึ้นมาโดยลำพังตนเองนี้มันเป็นสมบัติของตัวแท้ แล้วมีการแตกแขนงกิ่งก้านสาขาออกไปเรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด ความสว่างกระจ่างแจ้งของจิตก็ค่อยปรากฏขึ้น ความกว้างขวางของสติปัญญาก็ค่อยเบิกกว้างออกไป ๆ พิจารณาออกไปเรื่อย ๆ นี่คือทุนเป็นสมบัติของตัวเองที่คิดขึ้นมาได้เอง ผิดกันกับท่านหยิบยื่นให้อย่างมากทีเดียว นั่นท่านเพียงหยิบยื่นให้พอเป็นแนวทาง เรามาตีกระทู้ กระทู้แปลว่ามัดไว้ มาตีมัดนั้นให้แตกกระจายเป็นแขนงออกไป ให้เป็นความเข้าใจของตนเองขึ้นภายในใจของตนเอง นั่นละเป็นผลสำหรับเราโดยแท้
งานใดจะไปหนักยิ่งกว่างานแก้กิเลส งานสั่งสมกิเลสความสำคัญของเราไม่ได้ว่าหนัก ถึงจะหนักเราก็พอใจทำ แต่งานแก้กิเลสนี้เราไม่ค่อยพอใจทำ ทั้ง ๆ ที่ความคิดก็ว่าอยากทำ เวลาเข้าถึงสนามรบจริง ๆ แล้ว ยอมแพ้ยกมือไหว้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชกได้ต่อยนั่นแหละ นี่ก็ยกมือไหว้กิเลส มีแต่ความยอมแพ้อยู่ตลอดจะหาชัยชนะมาได้ยังไง เคยพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ พูดแล้วพูดเล่าถึงเรื่องสติ บังคับในที่ทุกสถาน ไม่ว่าจะบังคับเพื่อความสงบของใจ ไม่ว่าจะบังคับเพื่อการพิจารณา ต้องมีสติกำกับความรู้ไปอยู่โดยสม่ำเสมอด้วยความจดจ่อต่อเนื่องกันไป สติตามไปถึงไหนความเพียรก็ไปตรงนั้น ถ้าขาดสติเสียเมื่อไรความเพียรก็ไม่มีความหมายอะไรเลย
สติจึงเป็นของสำคัญ เกิดขึ้นจากจิตนั้นแหละ แต่เป็นเครื่องรักษาจิตได้ เป็นเครื่องบังคับจิตได้ ตัวจิตเองมีแต่ความรู้เฉย ๆ เมื่อพิจารณาให้ถึงขั้นละเอียดอาจจะทราบเองในคำที่ว่านี้ สติเป็นสิ่งที่ยิบแย็บ ๆ เป็นสิ่งที่กระเพื่อมออกมา กระเพื่อมแล้วก็เป็นสติขึ้นมา แต่ความรู้นั้นเป็นธรรมชาติของตัวเอง มีแต่รู้เฉย ๆ รู้ไม่รู้จักว่าดีว่าชั่วว่าผิดว่าถูก สักแต่ว่ารู้ แต่มันมีอันหนึ่งที่เป็นเครื่องบังคับจิตใจที่มีแต่รู้นั้น ให้ทำนั้นทำนี้ตามสิ่งนั้นต้องการ สิ่งนั้นก็คือกิเลส ใจก็คือเครื่องมือของกิเลส
อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป ไม่ทราบว่าเป็นกลางวันกลางคืน ไม่ทราบว่าผิดว่าถูก ไม่ทราบว่าดีว่าชั่วประการใด ความรู้สึกที่กิเลสบังคับให้ทำสิ่งใดให้พูดสิ่งใด ก็ทำไปตามเรื่องพูดไปตามเรื่อง เหมือนคนบ้าที่อยู่ตามถนนหนทางเราก็เห็นแล้ว นั่นละคนมีแต่ความรู้เฉย ๆ ไม่มีสติ เราดูคนบ้าก็แล้วกัน นั่นเรียกว่าสติไม่มีเลย มีแต่ความรู้จึงเป็นไปตามยถากรรม อยากจะนั่งที่ไหนไม่ว่ากลางถนนหนทาง ไม่ว่าสี่แยกไฟเขียวไฟแดงไม่สนใจ นั่งอยู่ประหนึ่งว่าอย่างสะดวกสบายอย่างอิสระ
ความจริงเขาไม่ได้มีความหมายละว่าเขาสะดวกว่าเขาอิสระ ถ้าเขามีความรู้สึกอย่างนั้นแล้ว เขาก็มีความรู้สึกในทางผิดถูกดีชั่ว จะไม่มานั่งอยู่ในสถานที่เช่นนั้นได้เลย แต่นี้ก็เป็นเพราะมีแต่เพียงความรู้ แล้วความรู้นั้นไม่ใช่ความรู้ที่บริสุทธิ์ เป็นความรู้ที่มีกิเลสหุ้มห่อเสียอย่างเต็มตัว สติเอื้อมเข้าไม่ถึงเลย
ปัญญาก็ให้พึงทราบ จิตนี้ถ้าลงขาดสติมาก ๆ แล้วเป็นคนบ้านั่นแหละดูเอา คนเราธรรมดานี้ยังมีสติรักษาอยู่ตามสามัญชนธรรมดาทั่ว ๆ ไป มีสติสตังรู้จักผิดจักถูกดีชั่ว ถึงไม่รู้ลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ก็รู้อยู่เหมือนกันทั่ว ๆ ไป จึงเรียกว่าคนดีไม่ใช่คนเสียสติ ไม่ใช่คนเป็นบ้า ทีนี้เราจะฝึกจากขั้นปกติของจิตนี้ จากขั้นปกติของสติที่มีอยู่ธรรมดานี้ให้เป็นขั้นของผู้ฝึกหัดอบรม ให้ปรากฏเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการฝึกหัดอบรมของตน เพื่อความมีสติ ให้มีสติขึ้นไปเรื่อย ๆ สืบต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ สตินี้เด่นขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะการฝึก
เฉพาะอย่างยิ่งขณะภาวนา เป็นขณะที่เราจะได้เห็นเหตุเห็นผลผลรบระหว่างกิเลสกับสติ อันเป็นธรรมประเภทหนึ่ง ว่าได้ต่อสู้กันอย่างไร ในขณะที่เราตั้งใจไว้อย่างเต็มใจว่าจะไม่ให้เผลอ ไม่ให้จิตคิดปรุงไปในทางใดได้ ในขณะที่เราต้องการความสงบไม่ต้องการความคิดปรุงเช่นทางด้านปัญญา เวลานั้นเราไม่ใช้ปํญญา เราต้องการจิตให้มีความสงบ เราจะเอาความสงบเป็นพื้นฐานแห่งความสุข ที่เกิดขึ้นมาในความสงบเวลานั้นเท่านั้น เราก็ตั้งหน้าตั้งตาตั้งสติ
ไม่ต้องไปคาดไปหมายกับกาลสถานที่เวล่ำเวลาที่ไหน กับบุคคลผู้ใดเรื่องใดเข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่ความรู้กับอารมณ์แห่งธรรมที่ สมมุติว่าเราบริกรรมก็ให้มีแต่ความรู้กับคำบริกรรมสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่โดยเฉพาะ ๆ ไม่ต้องคาดหน้าคาดหลัง แยกออกทางซ้ายทางขวา ทางทิศเหนือทิศใต้ทิศตะวันตกตะวันออกที่ไหนแหละ ให้มีแต่ความรู้กับธรรมคือคำบริกรรมที่สัมผัสกันแย็บ ๆ และไม่มุ่งหมายไม่คาดผลว่าจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้างเลย แม้นิดก็ไม่ไปคาด ให้มีสติอยู่จำเพาะหน้า ท่านเรียกสติจำเพาะหน้าดังสติปัฏฐานท่านแสดงไว้นั้น
สติก็สักแต่ว่าฟังซิ ปติสฺสติมตฺตาย ในสติปัฏฐาน ๔ คือ สักแต่ว่าสตินะนั่น อตฺถิ กาโย กายมีอยู่ อตฺถิ กาโยติ อตฺถิ เวทนาติ อตฺถิ จิตฺตนฺติ อตฺถิ ธมฺมาติ เป็นต้นนะ กายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่ แล้วสักแต่ว่ามีเท่านั้น สรุปความลงแล้ว ปติสฺสติมตฺตาย ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ คือให้สติเข้าไปตั้งไว้ที่จุดนั้น ให้ทำความเข้าใจว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฺปฏฺฐิตา โหติ. อตฺถิ เวทนาติ....เหมือนกัน ว่าแบบเดียวกัน เนื้อความที่แปลก็อย่างที่ว่า คือสักแต่ว่ารู้เท่านั้น ท่านไม่ให้ยึดไม่ให้หมาย หมายใกล้หมายไกลหมายนอกหมายอันใดทั้งหมด บริกรรมก็ให้มีอยู่เท่านั้น
นั่นละเราจะทราบว่าสติเป็นยังไงจะทรงตัวได้ไหม ความพยายามของเรานี้จะทรงตัวได้ไหม พอให้สติสืบเนื่องกันในขณะบริกรรม ถ้าเผลอสติต้องปรุงแย็บทันที ถ้าไม่เผลอมันก็จะเป็นลักษณะเหมือนกับว่าผลักดันออกมา ๆ เป็นลักษณะให้รู้เรื่อง แล้วกระเพื่อมแย็บ สติมีแล้วมันเข้าใจขณะนั้น มันกระเพื่อมแย็บ พอกระเพื่อมแย็บออกมานี้มันก็เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาแล้ว เป็นเรื่องสัตว์เรื่องบุคคล เรื่องผู้นั้นผู้นี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมา พอสังขารแย็บขึ้นมาได้ สัญญาซึ่งเป็นความละเอียดยิ่งกว่าสังขารนี้มันซืบออกมาเป็นเรื่องเป็นราวเลย ความหมายของมัน ไม่จำเป็นต้องกระเพื่อม สัญญาละเอียดขนาดนั้น แต่ยังไงก็ไม่เหนือสติไปได้เลย
สติจะทราบทุกอาการของขันธ์ นามขันธ์นี้ เช่น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แสดงอาการอย่างไร ละเอียดขนาดไหนสติจะตามทันรู้ทัน เมื่อมีสติควรจะรู้ทันแล้ว ถ้าไม่มีสติก็ปรุงวันยังค่ำ สำคัญมั่นหมายคืนยังรุ่ง ยึดมั่นถือมั่นจนยกไม่ขึ้น หลังจะหักก็ไม่รู้เพราะไม่มีสติ สติจึงสำคัญมากทีเดียว เราพูดอะไรก็ตามถ้าเกี่ยวกับเรื่องธรรมเรื่องปฏิปทาเครื่องดำเนินเพื่อแก้หรือเพื่อถอดถอนกิเลส ถ้าไม่ได้พูดสติแล้วเราพูดไปไม่ได้ เหมือนกับว่าขาดธรรมอันใหญ่หลวงทีเดียว สติเป็นของสำคัญมาก ตามที่เคยปฏิบัติมาสติเป็นพื้นเป็นฐานอยู่ตลอดมา
ปัญญาจะเกิดขึ้นมาเป็นเรื่องของปัญญาได้อย่างชัดเจน ก็ต้องอาศัยสติเป็นผู้ควบคุมงานในการพิจารณา เพราะการพิจารณาในเบื้องต้น ปัญญาจะไม่ค่อยเห็นผลเห็นประโยชน์ ไม่เห็นคุณค่าของการพิจารณาทางด้านปัญญาเท่าไรนัก จึงต้องอาศัยสติเป็นผู้ควบคุมในงานที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น จนกว่าปัญญาจะได้เหตุได้ผลแล้วเห็นคุณเห็นโทษไปโดยลำดับ ๆ แล้ว ปัญญาก็ตั้งหน้าเดิน ส่วนสตินั้นก็ต้องแนบกันไปโดยลำดับ สติปัญญาจึงเป็นเหมือนว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลมกลืนกัน พอเรื่องอะไรมาสัมผัสแย็บก็เท่ากับมาปลุกสติ ให้สติรับรู้พร้อมกับความรู้นั้น แล้วปัญญาก็ตามกัน ตามกันไปเรื่อย ๆ นี่การฝึกสติมีความละเอียดไปโดยลำดับ ๆ อย่างนั้น
พอจิตได้รับความสงบจิตก็เยือกเย็น อารมณ์ที่ส่งไปตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเคยเป็นมาดั้งเดิมนั้น ให้พึงทราบว่านี้อารมณ์แห่งความเป็นไฟ ที่จะมาเผาลนจิตใจของเราให้เดือดร้อนวุ่นวาย อย่ากล้าอย่าหาญอย่าเสียดายไปคิดไปปรุงกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องฟืนเรื่องไฟเข้ามาเผาลนจิตใจของตนโดยแท้ให้ระมัดระวัง คิดก็คิดอยู่ภายในวงอรรถวงธรรมซึ่งจะเป็นเครื่องแก้หรือถอดถอนกิเลสโดยลำดับ จึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลส ไม่ใช่เพื่อสั่งสมกิเลสขึ้นมาด้วยความคล้อยตาม ด้วยความอ่อนไปตามเขาเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เรียกว่าผู้ประกอบความเพียร ไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติ
เรากล่าวถึงเรื่องสมาธิหรือความสงบ วิธีการที่จะให้จิตมีความสงบ ผู้กำหนดอานาปานสติก็ให้รู้อยู่จำเพาะลม อย่าไปคาดไปหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างไร ลมนี้จะไปอย่างไรมาอย่างไร ยังไม่ถึงกาลที่จะวิพากษ์วิจารณ์แยกแยะเรื่องลมเรื่องอาการต่าง ๆ เราไม่ต้องสงสัยถ้าต้องการความสงบ ก็ต้องพิจารณาอารมณ์ของสมถะ คือไม่คิดไม่ปรุงเรื่องอะไร จ่ออยู่ในจุดเดียวนั้นเรียกว่าอารมณ์สมถะ อารมณ์เพื่อความสงบของใจ
วิปัสสนาแปลว่าความรู้แจ้งเห็นจริงไปโดยลำดับ ๆ นั้นคือการใคร่ครวญ การพินิจพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อถึงกาลถึงเวลาที่จะพิจารณาทางด้านปัญญาแล้วก็ไม่ห่วงความสงบ เวลานี้ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว เวลานอนก็นอนเสียให้สบายเพื่อสงบอารมณ์สะดวกสบาย เวลาตื่นขึ้นแล้วนี่จะทำงานแล้วเวลานี้ ไม่ต้องไปห่วงนอน ทำลงไป แดดก็ตาม ฝนก็ตาม เมื่อเราพอทนได้แล้วเราสู้ทั้งนั้น นอกจากมันร้อนเสียเป็นฟืนเป็นไฟทนไม่ไหวก็ต้องเข้าร่มพักผ่อน มันหนาวเสียจนสะบั้นสั่นไปหมดทั้งตัว ทำงานทำการอะไรไม่ได้ก็ต้องเข้าร่มพักตามกาลตามความจำเป็น
สติปัญญาก็เหมือนกัน เรามันหมุนเสียจนเลยเขตเลยแดนเตลิดเปิดเปิง เราก็รั้งกลับมาเสีย มันหากรู้ผู้ปฏิบัติถ้ามีผู้แสดงให้ทราบล่วงหน้าไว้แล้วอย่างนี้ เวลาไปปรากฏขึ้นภายในตัวเอง ธรรมที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายแสดงไว้นั้นจะวิ่งเข้าประสานกันทันที ๆ แต่ในขณะที่จิตของเรายังไม่เข้าใจไม่เห็นผลในสิ่งเหล่านั้นดังที่ท่านกล่าวไว้นี้ มันก็จำไม่ได้ พอเรื่องของเราได้ปรากฏขึ้นมาในลักษณะนั้นแล้ว มันจะวิ่งเข้าถึงกันทันที ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นถึงวาระที่ปัญญาจะพักตัวเองทางด้านสมาธิ เจ้าของก็รู้เอง แล้วยับยั้งปัญญาให้พักได้ ให้ทำงานคนละวรรคละตอนอย่างนั้น
แต่อย่างไรก็ตามเรื่องสติไม่ควรให้ห่างเหินจากตัวเอง ไม่ว่าจะทำกิจการงานอันใดก็ตาม ให้พยายามระมัดระวัง ให้มีสติอยู่กับตัว ไม่อยู่กับคำบริกรรมก็ให้อยู่กับความเคลื่อนไหวของตัว เป็นสัมปชัญญะอยู่ในตัวเอง ออกจากนั้นพอที่จะเข้าถึงบทใดที่ตนเคยพิจารณาเคยบริกรรมก็ต้องเข้า นั่นเป็นบทเฉพาะจิตไปอยู่กับอันนั้น อยู่กับอารมณ์อื่นร้อน อยู่กับคำบริกรรมไม่ร้อน เพราะคำบริกรรมเป็นบทธรรม เป็นเครื่องช่วยจิตใจให้มีความเยือกเย็นเป็นสุข อารมณ์อย่างอื่นมันเป็นฟืนเป็นไฟเป็นพิษให้ร้อน ให้ทำความเข้าใจกับตนไว้อย่างนี้เสมอ อย่าไปคุ้นอย่าไปสนิทติดใจกับอารมณ์อะไร รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเป็นฟืนเป็นไฟมาดั้งเดิมอยู่แล้วกับตัวเองทราบได้ทุกคน
เวลานี้จะมาแก้ไขสิ่งเหล่านี้จึงไม่ควรไปสนใจซึ่งเป็นการขัดข้องต่อธรรม และความคิดเช่นนั้นเป็นการส่งเสริมกิเลสเพื่อทำลายธรรม ที่ควรจะได้จะถึงของตนเองให้เสียไป ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างจริงจัง มรรคผลนิพพานนั้นมีอยู่กับหัวใจนั้นแหละ อย่าไปสงสัยที่ไหนให้เสียเวล่ำเวลาเปล่า ๆ ภาวนาลงไป ศีลก็คือธรรมส่วนหยาบ ให้ชื่อว่าศีล เมื่อธรรมได้เข้าถึงใจแล้ว ศีลก็ไหลเข้ามาสู่ธรรมนี้เสีย ยิ่งธรรมกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ศีลมีหรือไม่มีก็ไม่สนใจ หากรู้ความควรไม่ควรกับตัวเอง เป็นอย่างนั้น
สมาธิคือความสงบใจ หรือความมั่นคงของใจ ก็ต้องให้มั่นคงไปตั้งแต่เหตุคือทำจริงจัง ทำด้วยความมุ่งมั่นต่อผลคือความสงบเย็นใจจริง ๆ เอาจริงเอาจังซี เป็นสมาธิก็ให้มันเห็น แล้วความสงบใจอันเป็นส่วนผลก็ปรากฏขึ้นมา อยู่กับใจดวงนี้แหละไม่อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็สอนลงที่ใจ เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ ข้าศึกอยู่ที่ใจจะไปสอนที่อื่นแก้ที่อื่นผิดกับความจริง ท่านจึงสอนลงที่นี่ สมาธิทุกขั้นจะปรากฏขึ้นที่ใจของนักภาวนา ปัญญาทุกภูมิคือความเฉลียวฉลาดในการแยกแยะ พิจารณาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ จะเป็น อนิจฺจํ ก็เห็นชัดด้วยปัญญา ทุกฺขํ ก็เห็นชัด อนตฺตาในขันธ์ทั้งห้านี้ก็เห็นชัดด้วยปัญญาจริง ๆ แล้วมันปล่อยวางเอง
ถ้าลงปัญญาได้ซึ้งเข้าถึงจิตใจ กับซึ้งต่อความจริงทั้งหลายอย่างเต็มตัวแล้วไม่ต้องบอก เรื่องความถอดถอน ความยึดมั่นถือมั่น ถอนมาเอง เท่าที่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องการอยากยึดอยากถือแต่เป็นเพราะเราไม่รู้ไม่เข้าใจ อำนาจของกิเลสมีมากกว่าเรา เพราะธรรมสอนไปอย่างหนึ่ง กิเลสเสี้ยมสอนไปอย่างหนึ่ง เรามันเคยกับกิเลสมานาน กิเลสเสี้ยมสอนเพียงบทเดียวบาทเดียวเราเชื่อแล้ว ส่วนธรรมกี่บทกี่บาทมันก็ไม่ถึงใจเพราะกิเลสมีอำนาจมากกว่า จึงเอนไปทางกิเลสเสมอ ดีไม่ดีล้มไปกับทางกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว มันจึงยากตรงนี้
ในขณะที่จะแยกกันออกระหว่างจิตกับกิเลสนี้มันก็เหมือนกับแม่เหล็ก ดึงเหล็กออกจากแม่เหล็กมันดูด แม่เหล็กใหญ่โตมีกำลังมาก รถยนต์ทั้งคันมันก็ดึงดูดเอาไว้ได้ ขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้เพราะแรงของความดึงดูดคือแม่เหล็ก จิตกับกิเลส กิเลสมันเป็นแม่เหล็กอันสำคัญ มันดึงดูดจิตไว้ไม่ให้แยกตัวออกมาสู่อรรถสู่ธรรมได้เลย ในระยะขั้นเริ่มแรกมันหนักขนาดนั้น จึงต้องใช้กำลังวังชา เพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด ต้องเอาเป็นเอาตายเข้าว่า เราจะเห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในใจ หลังจากนั้นไปแล้วก็ค่อยเบาลงไป ๆ แต่เรื่องความพากเพียรนี้ต้องหนักไปโดยลำดับตามขั้นตามภูมิของกิเลสมีมากมีน้อย ต้องทำงานไปโดยลำดับ อันนั้นมันต้องหมุนไปอยู่อย่างนั้น
หากมีต้นทุนภายในใจแล้วก็พอหมุนกันไป คือจิตใจก็ไม่รุ่มร้อน จิตใจมีความสงบเย็น ไม่คิดไม่วุ่นไม่วายไม่แส่ส่ายไปหาเรื่องโลกเรื่องสงสาร มีแต่หมุนติ้วอยู่กับการถอดถอนกิเลสอาสวะต่าง ๆ ซึ่งมันแทรกมันสิงอยู่ภายในขันธ์ทั้งห้านี้พูดง่าย ๆ แทรกอยู่ในกายว่ากายเป็นเราเป็นของเราเป็นต้น เวทนาเป็นเราเป็นของเรา ทั้งสุขทั้งทุกข์อะไรเฉย ๆ เกิดขึ้นมาทั้งทางส่วนร่างกายและทางจิตใจ ก็มาเหมาเอาว่าเป็นเราเป็นของเรา เพราะความไม่เข้าใจ ความไม่รู้มันก็ต้องยึด สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ นั่นก็ถือว่าเป็นเราเป็นของเราไปหมด ทีนี้แยกแยะด้วยสติปัญญาให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วมันถอยตัวของมันเอง
กิเลสไม่มีที่ซ่อน จะไปซ่อนอยู่ที่กายปัญญาก็ปราบปรามกวาดต้อนออกมาหมดแล้ว จะไปแทรกอยู่ในเวทนาทางกาย ปัญญาก็กวาดต้อนออกมาหมดแล้ว เห็นชัดเจนแล้ว สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญญาก็ตามค้นจนหมดเห็นแจ้งชัดเจนแล้ว ไม่มีที่ไปมันก็ไหลลงเข้าสู่จิตเท่านั้นเอง ตัดสะพานของมัน มันออกมาติดต่อสืบเนื่องกันกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ก็ตะล่อมมันเข้ามา มาอยู่ที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเรา ปัญญาก็ตะล่อมตัวเข้ามา
เมื่อถึงขั้นตะล่อมเมื่อถึงขั้นปราบปราม เมื่อถึงขั้นถอดถอนแล้วปัญญาต้องทำหน้าที่เต็มภูมิ ไม่มีการที่จะแบ่งรับแบ่งสู้ เป็นก็เป็น ตายก็ตาย ขอให้รู้ให้เข้าใจในสิ่งที่ตนจะพึงรู้ ในสิ่งที่ตนอยากรู้ ในสิ่งที่ตนอยากละ ให้ละได้ถอนได้เป็นที่พอใจ ตายก็ตาย นั่น เมื่อถึงขั้นนี้มันต้องหนักทางความเพียร อยู่ที่ไหนก็เป็นความเพียรอยู่ตลอดเวลา
กิเลสถูกตัดสะพานเข้ามา ๆ ไปหลบซ่อนอยู่ในอะไร ก็ถูกไล่กวาดต้อนเข้ามา ๆ สุดท้ายก็มาอยู่ในขันธ์ ไล่ในขันธ์นี้แล้วสุดท้ายก็วิ่งเข้าสู่จิต กระแสนี้หมดไปเหลือแต่ตัวจิต กิเลสไม่มีทางเดินอยู่ภายในจิตเท่านั้นเอง ขึ้นชื่อว่าปัญญาแล้วเชื้ออยู่ที่ไหนก็ต้องตามเข้าไปจนได้ จนหมดเชื้อ หมดเชื้อจะไปหมดที่ไหน เชื้อแห่งความเกิดก็ฝังอยู่ที่จิต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่จิต อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ จะดับด้วยวิธีใดถ้าไม่ดับด้วยปัญญา เมื่อปัญญาได้เข้าถึงตัวจริง เพราะกิเลสเป็นจอมกษัตริย์จอมวัฏจักร ซึ่งกลมกลืนกันกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนไม่สามารถจะแยกได้ มันก็แยกได้เมื่อถึงขั้นสติปัญญาที่ควรแยกได้แล้วรอไม่ได้ ฟาดฟันหั่นแหลกแตกกระจายไปหมด
ไม่มีชิ้นใดที่เหลือขึ้นชื่อว่าชิ้นแห่งสมมุติ แม้ปรมาณูไม่มีเหลือเลย นั่นมันถึงจะหมดปัญหา ถ้าว่าชัยชนะก็เต็มภูมิ เป็นที่ภูมิใจ ความเพียรเราสละชีวิตมาเอาเป็นเอาตายเข้าว่ามาโดยลำดับ ตั้งแต่เริ่มประโยคพยายามมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ได้ถึงความสมบูรณ์แล้ว ความมุ่งมั่นได้สิ้นเสร็จสำเร็จลงแล้วในบัดนี้ ทีนี้ความมุ่งมั่นต่อไปนั้นอีกหมดปัญหา ความเพียรเพื่อละกิเลสตัวใดได้ละไปหมดแล้ว ความเพียรเพื่อละกิเลสก็หมดปัญหากันไป ความมุ่งมั่นเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในมรรคผลนิพพานก็ว่า หรือว่าธรรมอันเป็นยอดธรรมก็แล้วแต่จะพูดก็หมดปัญหากันไป
ภาระทั้งหมดที่เคยสู้กันแบบเป็นแบบตายก็มายุติกันลงตรงที่กิเลสคือข้าศึกมันหมดไปจากใจนั่นแล เพราะฉะนั้นความเพียรทั้งมวลจึงเป็นความเพียรเพื่อฆ่ากิเลส ต่อสู้กับกิเลสโดยถ่ายเดียว เมื่อกิเลสได้สิ้นสุดลงไปจากจิตใจแล้ว ความเพียรทั้งมวลก็เป็นอันว่ายุติกันลงได้โดยหลักธรรมชาติ โดยอัตโนมัติ เป็นอิสระ นั่นละคุ้มค่า ความเพียรที่ทุ่มเทมาเอาชีวิตเข้าเป็นตัวประกันก็คุ้มค่า
งานของการปฏิบัติธรรม งานแห่งกรรมฐานนี้แม้จะเป็นงานอันยิ่งใหญ่ก็ตาม แต่ยังมีเวลาเสร็จสิ้นลงได้ งานของโลกจะเป็นงานยิ่งใหญ่หรือไม่ใหญ่ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดได้ทำงานของโลกให้สำเร็จเสร็จสิ้นลงไปแล้วค่อยตายไป มีแต่ตายไปกับความพะรุงพะรังกับหน้าที่การงานของตนที่ทำยังไม่เสร็จทั้งนั้น ไม่มียกเว้นแม้เปอร์เซ็นต์เดียวเลย เรื่องของโลกเป็นอย่างนั้น จะว่างานใหญ่หรือไม่ใหญ่ เรายังจะอาจหาญอยากจะไปสู้กับงานของโลกอยู่เหรอพิจารณาซิ
โลกไม่มีผู้ใดรายใดสัตว์ตัวใดบุคคลผู้ใด ที่จะไปทำงานของโลกให้สำเร็จเสร็จสิ้นลงไป หน้าที่การงานทุกสิ่งหายห่วงแล้ว ตายไปด้วยสุคติเป็นที่หวังไม่เคยปรากฏ มีแต่ตายไปด้วยความห่วงความใย แบกภาระธุรังเต็มไปหมดในหัวใจ เพราะงานไม่สำเร็จกันทั้งนั้น แต่งานปฏิบัติศาสนา งานของเราที่ทำนับตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่ท่านเรียกว่ากรรมฐาน แปลว่าที่ตั้งแห่งงานอันสำคัญ เราเริ่มมาตั้งแต่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่อุปัชฌายะท่านมอบให้ในวันบวชเรื่อยไปโดยลำดับ นี่เป็นงานที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นงานใหญ่โตมาก จะทำเล่น ๆ ไม่ได้ ต้องทำอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เพื่อธรรมอันวิเศษเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์เป็นที่พอใจ
งานนี้ก็ค่อยขยายตัวออกไป ทีแรกก็คับ ๆ แคบ ๆ นิด ๆ เดียว ๆ เพราะท่านสอนให้พอดีกับกำลังของผู้เริ่มฝึกหัดใหม่ เช่น เกสา หรือโลมา หรือนขา หรือทันตา ตโจ จะเอาบทใดบาทใดก็แล้วแต่ เอาแค่นั้นละ พิจารณาขึ้น ๆ ลง ๆ พิจารณาอนุโลมปฏิโลมอยู่แค่นั้น หรือจะเอาเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้เพื่อไม่ให้มันกว้างขวาง ไม่ให้มันฟั่นเฝือจนเกินไป จะเหลือกำลังของตนที่เริ่มฝึกหัด เอาจนได้เหตุได้ผลกับงานนี้แล้วก็จะค่อยขยายตัวไปเรื่อย ๆ งานก็เป็นวงกว้างไป
ทีแรกก็กำหนด เกสา ๆ หรือโลมา ๆ หรือตโจ ๆ เพียงเท่านั้น ครั้นต่อไป ตโจ นี่มันหุ้มหมดทั้งตัวนี่ ความรู้มันจะซ่านไปรอบตัว เอ้า เวลาถลกหนังออกแล้วเป็นยังไงคนทั้งคน นั่น เริ่มกระจายแล้วที่นี่ เมื่อเข้าถึงขั้นปัญญาแล้ว ถลกหนังออกแล้วดูกันได้ไหม ความสวยความงามมีไหมไม่ว่าทั้งหญิงทั้งชาย จะเป็นวัยหนุ่มวัยสาววัยไหนก็ตามเมื่อเอาหนังออกแล้วดูกันได้ไหม ดูไม่ได้เลย มีแต่แมลงวันเท่านั้นจะมาดู คนนี้ดูกันไม่ได้ ดูเข้าไปลึกเข้าไปในเข้าไปเรื่อย ๆ งานของเราขยายออกไปเรื่อย ๆ อย่างนั้น จนกระทั่งดูอย่างตลอดทั่วถึงแล้วก็หายห่วงไปเอง ๆ ไม่ว่าชิ้นใด ๆ
ถ้าลงสติปัญญาได้ตามเข้าไป ๆ พอเข้าใจแล้วปล่อยวาง ๆ ผลสุดท้ายก็จนกระทั่งว่าปล่อยวางที่ใจ เมื่อปล่อยวางที่ใจแล้วก็เป็น วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เสร็จแล้วพรหมจรรย์นี้เสร็จแล้ว งานทั้งมวลที่ได้อุตส่าห์ทำมา ที่ว่างานกรรมฐานนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้วในขณะนี้ ในขณะที่ปลงภาระอันใหญ่หลวงภายในจิตใจ จากนั้นก็หมดปัญหากันไป
นี่ละงานมายุติกันที่นี่ มีเวลาเสร็จสิ้นลงได้ งานทางศาสนา งานแก้งานถอดถอนกิเลส แต่งานสั่งสมกิเลสหาความสิ้นสุดไม่ได้เลยจนกระทั่งวันตาย ตายไปกับกิเลส เกิดมากับกิเลส อยู่กับกิเลส ทุกข์เพราะกิเลส เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา ไม่ว่าสัตว์ว่าบุคคลผู้ใด เรายังจะไม่มีแก่ใจที่จะประกอบความเพียร ทำไมเราจะไม่เห็นเป็นของอัศจรรย์ ทำไมไม่กระตือรือร้นตรงนี้ พลิกจิตใช้ความคิดแยกเทียบเคียงกันอย่างนั้นซิ แล้วจะหนีเหตุผลไปได้ยังไง สติปัญญาหว่านล้อมกันอยู่แล้ว มันก็ต้องยอมจำนนเอาจนได้
งานเสร็จแล้วสบายที่นี่ อยู่ไหนก็อยู่ไป ร่างกายนี้จะเอาอะไรกับมันถึงวาระมันก็ไปของมัน มันไปอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว เราก็เรียนรู้มันหมดแล้วเป็นห่วงเป็นใยอะไรกับมัน ท่านจึงว่าเรียนธรรมก็คือเรียนเรื่องตัวเอง เรียนเรื่องของจิต เรียนเรื่องของธาตุของขันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตน เรียนไปหมดตลอดทั่วถึงแล้วมันก็หมดปัญหา ปล่อยวางลงเสียตั้งแต่ชีวิตลมหายใจยังไม่ปล่อยตัวเอง เราปล่อยไปเสียก่อนอุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานในจิตปล่อยไปเสียหมด สบายเสียตั้งแต่ยังไม่ตาย สบายแสนสบาย
เอาละพอแค่นี้