ติดสมาธิ เพลินในปัญญา
วันที่ 29 มีนาคม 2522 เวลา 19:00 น. ความยาว 56.1 นาที
สถานที่ : วัดป่าบ้านตาด
| |
ดาวน์โหลดเพื่อเก็บไว้ในเครื่อง
ให้คลิกขวาแล้วเลือก Save target as .. จาก link ต่อไปนี้ :
ข้อมูลเสียงแบบ(Win)

ค้นหา :

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

ติดสมาธิ เพลินในปัญญา

 

ฤทธิ์ของใจนี้มีกำลังมาก ครั้งแรกพระพุทธเจ้าตรัสรู้เฉพาะพระองค์เดียว ทีนี้ก็ทรงแนะนำสั่งสอนสาวกผู้พร้อมแล้วในบุคคลประเภทที่ ๑ ที่เรียกว่าอุคฆฏิตัญญู ผู้พร้อมที่จะรู้จะเห็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว วิปจิตัญญูก็รองกันลงมา นี่เกิดในสมัยที่เหมาะสมกับพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมา ถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือน รถก็ดี ใหม่เอี่ยม คนขับก็มือดี ถนนก็ราบเรียบ เมื่อพร้อมกันทั้งสามอย่างนี้แล้ว การเดินทางก็ย่อมสะดวกและถึงรวดเร็ว พระพุทธเจ้าผู้ให้โอวาทสั่งสอนก็เยี่ยม พระโอวาทที่ทรงสั่งสอนทุกแง่ทุกมุมทรงกลั่นกรองมาแล้วจากความบริสุทธิ์พระทัย ซึ่งได้ทรงรู้ทรงเห็นมาก่อนแล้ว ผู้ฟังก็ฟังด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นต่อความจริงล้วน ๆ

เพราะฉะนั้นผลจึงปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วว่า องค์นั้นบรรลุโสดา องค์นั้นสกิทาคา องค์นั้นอนาคา องค์นั้นอรหัตมรรคอรหัตผล เป็นลำดับลำดา เหมือนว่าธรรมของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น ประกาศออกหน้าร้านให้คนเห็นทุก ๆ คน ไม่อยู่ลึกลับอะไรเลย หรืออยู่สองฟากทางคนเดินผ่านไปมา ก็เห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนที่เป็นอย่างนั้นก็มี ส่วนที่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็มี ส่วนที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง ย่อมแสดงด้วยสวากขาตธรรมทั้งนั้น แสดงโดยชอบ ๆ ตรัสโดยชอบทุกอย่าง ไม่มีแง่สงสัยว่าจะเป็นอย่างอื่น นอกจากถูกต้องกับความจริงล้วน ๆ โดยลำดับในธรรมทุกขั้น บรรดาผู้ฟังก็ฟังเพื่อความจริงทั้งหลายในธรรมทุกขั้นเหมือนกัน ซึ่งควรจะรู้จะเข้าใจ หรือจะบรรลุธรรมในขั้นใดแล้ว จึงต้องบรรลุไปได้ ตามความมุ่งหมายของธรรมที่สอนเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงทั้งหลาย และตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนสัตวโลกให้รู้จริงเห็นจริง

ผู้ที่ลดลำดับจาก อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ลงมาก็คือเนยยะ ผู้ที่ควรแนะนำสั่งสอนได้ ผู้นั้นประกอบด้วยความพากเพียรพยายาม หนักก็เอาเบาก็สู้ ฟังแล้วฟังเล่าหลายครั้งหลายหนด้วยความอุตส่าห์พยายาม หรือด้วยความตะเกียกตะกายเหมือนอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่พ้นไปได้ที่จะไม่ให้รู้ให้เห็นธรรมทั้งหลาย ดังสาวกทั้งหลายท่านรู้ครั้งพุทธกาล ด้วยเหตุนี้คำว่ามัชฌิมาปฏิปทานั้น จึงเป็นธรรมเหมาะสมอยู่ทุกกาลทุกสมัย หรือจะพูดได้ว่าทุกบุคคลผู้มีความมุ่งมั่นต่อธรรมทั้งหลาย จะพึงได้รับสนองตอบแทนด้วยมรรคผลนิพพานเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล

เพราะธรรมนั้นเป็นสวากขาตธรรม ตรัสเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือเหมาะสมอยู่ตลอดเวลาในการแก้กิเลสทุกประเภท กิเลสประเภทหยาบโลนก็ต้องใช้มัชฌิมาประเภทหนักมือ เหมือนเขาปลูกบ้านสร้างเรือนหรือตึกรามบ้านช่อง มีเครื่องมือตั้งมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกับการก่อสร้างซึ่งมีหลายขั้นหลายตอน หากมีเครื่องมือเพียงอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้นจะปลูกบ้านสร้างเรือนขึ้นให้เป็นหลังไม่ได้ นี่ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน คำว่ามัชฌิมาปฏิปทานั้น แปลให้ถึงใจสำหรับผู้ปฏิบัติแล้ว ในความรู้สึกของผมเองที่ได้ปฏิบัติมา มัชฌิมาปฏิปทา คือ เป็นธรรมเหมาะสมในการแก้หรือปราบปรามกิเลสทุกประเภทอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกิเลสประเภทใดที่จะนอกเหนือไปจากมัชฌิมาปฏิปทานี้ได้เลย

ด้วยเหตุนี้ธรรมนี้จึงเป็นท่ามกลางที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติด้วยความตั้งใจ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอง จึงเรียกว่ามัชฌิมา ท่ามกลางอยู่เสมอ พอดีเสมอ เวลากิเลสมันผาดโผนเราต้องใช้ความบึกบึน มีการต่อสู้กันอย่างหนักมือ นี่คือเครื่องมือประเภทหนึ่งสำหรับกิเลสประเภทนี้ กิเลสประเภทลดลงไปกว่านั้น เครื่องมือที่เรียกว่ามัชฌิมาก็ปฏิบัติให้เหมาะสมกันเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งกิเลสเข้าสู่ขั้นละเอียด หรือละเอียดยิ่ง คำว่า มัชฌิมาปฏิปทาก็กลายเป็นธรรมอันละเอียด และละเอียดยิ่งไปตาม ๆ กัน จนถึงขั้นมหาสติมหาปัญญา มหาวิริยะ คือเพียรอยู่ตลอดเวลาไม่มีการหยุดยั้งเลย นอกจากพักในสมาธิและพักธาตุขันธ์ด้วยการหลับนอนเท่านั้น

พอตื่นขึ้นมาสติปัญญาอันเป็นเครื่องมือสำคัญกับความเพียรเป็นเครื่องหนุน จะต้องเข้าสู่แนวรบคือกิเลสประเภทละเอียด และละเอียดสุดนั้นตลอดไปไม่มีการท้อถอยเลย นี่เรียกว่ามัชฌิมาประเภทหนึ่งแห่งธรรม เป็นเครื่องแก้หรือปราบปรามกิเลส เมื่อกิเลสทุกประเภทได้หมอบราบลงไปหรือฉิบหายไปหมดจากใจแล้ว มัชฌิมาปฏิปทาทุกประเภท ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือก็หมดความจำเป็นไป เช่นเดียวกับเขาปลูกบ้านสร้างเรือน เมื่อสำเร็จเป็นหลังเรียบร้อยทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอันใดที่จะต้องส่งเสริมเพิ่มเติมอีกแล้ว เสร็จโดยสมบูรณ์แล้ว เครื่องมือก็เก็บไว้ในที่ควร สถานที่ควร

เมื่อกิเลสได้สิ้นสูญไปจากจิตใจ ไม่มีส่วนใดแม้ละเอียดสุดเหลืออยู่แล้ว คำว่ามหาสติมหาปัญญา มหาวิริยะ คือความเพียรกล้า ก็หมดปัญหากันไปเองหรือหมดความจำเป็น จะนำมาใช้ก็ใช้ในวงสมมุติธรรมดา ๆ สติก็ดี ปัญญาก็ดี ใช้ในวงสมมุติธรรมดาไม่ได้ใช้เพื่อแก้กิเลสตัณหาอาสวะประเภทใด ความพากเพียรก็เหมือนกัน เพียรไปแบบเดียวกัน ธาตุขันธ์ยังมีชีวิตอยู่ระหว่างขันธ์กับจิตเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบกัน

ใจผู้ครองร่างกายคือขันธ์อันนี้ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในขันธ์ เมื่อขันธ์ทำงานมาก เกิดความเมื่อยหิวอ่อนเพลีย เช่นความคิดความปรุงของใจเกี่ยวกับเรื่องสังขาร สัญญาที่นำไปใช้งานต่าง ๆ มากไป ขันธ์ก็รู้สึกมีความอ่อนเพลียเปลี้ยลงไปโดยลำดับ ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เข้าพักสมาธิเพื่อระงับขันธ์ให้อยู่สะดวกสบาย จิตก็ไม่กังวลที่จะไปใช้ขันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือนั้น เพื่อให้ระงับตัวลงไปแล้วเกิดความสุขความสบายขึ้นมา ที่เรียกว่าทิฏฐธรรมวิหารธรรม บรรดาพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านใช้มาประจำจนกระทั่งวันปรินิพพาน เพราะฉะนั้นคำว่าประกอบความเพียรของท่านจึงมีไปตลอดวันนิพพาน แต่ไม่ได้เป็นความเพียรประเภทที่ถอดถอนกิเลส หากเป็นความเพียรเพื่อระหว่างขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกันโดยความสะดวกสบายไม่กำเริบ อายุขัยก็เป็นไปโดยสมบูรณ์ นี่พูดถึงเรื่องสติปัญญาที่หมดภาระในการแก้และการถอดถอนกิเลสแล้ว ก็มาใช้ในวงสมมุติตามธรรมดามีขันธ์เป็นสำคัญ

เราทั้งหลายบวชมาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาอย่างเอกทีเดียวในความรู้สึกของเราที่เคยปฏิบัติมา เราเชื่อมั่นร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่ามีพันเปอร์เซ็นต์ เราก็เชื่อถึงพันเปอร์เซ็นต์ ไม่มีคำว่าเศษว่าเหลือว่าบกพร่องอะไรเลย เชื่ออย่างเต็มหัวใจด้วยการปฏิบัติเป็นสิ่งทดสอบต่อความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นทุกแง่ทุกมุม เฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักปฏิบัติมีหน้าที่อันเดียวที่จะไถ่ถอนกิเลสอาสวะ

การทำงานให้ทำเหมือนพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอน ที่ทรงดำเนินมา และสาวกทั้งหลายท่านดำเนินมา การทำงานคือความเพียร เพียรในสถานที่เช่นไร เพียรกับอะไร สถานที่เช่นนั้นสิ่งนั้นเรียกว่างาน การประกอบงาน คือเดินจงกรม นั่งสมาธิ มีสติระลึกรู้อยู่กับงานของตนที่ทำเรียกว่าทำงาน งานนี้เป็นงานสำคัญ คืองานรื้อถอนกิเลสซึ่งเป็นตัวภัยฝังอยู่ในจิตใจ ให้พาเกิด แก่ เจ็บ ตาย หมุนไปเวียนมากี่กัปนับไม่ถ้วน

เจ้าของก็ไม่อาจสามารถทราบได้ว่า เคยหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง มากี่ภพกี่ชาติ มิหนำซ้ำยังหลงเรื่องของตัว ลืมเรื่องของตัวไปโดยสิ้นเชิง ๆ หรือไปอย่างสนิท กลับพลิกความเห็นอันมืดตื้อเข้ามาทำลายตนเสียอีกว่าตายแล้วสูญ นี่แหละกิเลสเป็นภัยต่อจิตใจของเราเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องประกอบงานให้เข้มแข็ง เพื่อรื้อถอนตนออกจากภัยเหล่านี้

งานในเบื้องต้นสำหรับผู้ฝึกฝนอบรมใหม่ ก็คือบริกรรมภาวนา เพราะตามธรรมดาของจิตจะต้องซ่านไปทั่วสรรพางค์ร่างกายคือรู้ไปหมด แต่ยึดเอาหลักเอาเกณฑ์ไม่ได้ว่าตัวรู้แท้ ๆ ความรู้แท้ ๆ อยู่ที่ไหน อะไรมาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้ไปหมด แต่จับตัวไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการลำบากสำหรับผู้เริ่มฝึกหัดภาวนาที่จะหาตัวจริงจากจิตใจ

จึงต้องอาศัยการภาวนาด้วยบทบริกรรม คือมีอารมณ์เป็นเครื่องพึ่งพิงของใจหรือเป็นที่ยึดของใจเสมอมา ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าจนกระทั่งบัดนี้ ในกรรมฐานท่านที่จะเหมาะกับจริตจิตใจในกรรมฐานใดก็ตาม ท่านแสดงไว้ถึง ๔๐ ห้องกรรมฐาน สรุปลงแล้วก็มีอานาปานสติ หรือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น อารมณ์เหล่านี้แหละเป็นเครื่องยึดของจิต ผู้เริ่มภาวนาพึงกำหนดธรรมที่ตนเห็นว่าเหมาะกับจริต เป็นความสะดวกในการบำเพ็ญในการบริกรรมในการกำหนด

เช่น กำหนด อานาปานสติ ก็ให้ทำความรู้สึกอยู่กับลมที่สัมผัสส่วนใดมาก เช่น ดั้งจมูก เป็นต้น ก็ให้ทำความรู้ไว้กับที่ลม สัมผัสเข้าสัมผัสออกนั้น เช่นเดียวกับบุคคลที่ยืนเฝ้าประตู ดูคนที่ผ่านเข้าออกไม่ลดละสายตา นี่ก็ไม่ลดละสติ ลมหายใจเข้าก็เหมือนกับคนเข้าประตู ลมหายใจออกก็เหมือนคนออกประตู เราทำความรู้ด้วยสติของเราอยู่ตรงนั้น ตรงลมนั่น ไม่ต้องตามลมเข้าไป

เหมือนกับผู้เฝ้าประตู ไม่ต้องตามคนเข้าไปในห้อง ไม่ต้องตามคนออกไปนอกห้องเลยประตูไป เป็นแต่เพียงว่ายืนอยู่ที่ประตู คอยรับทราบคนที่ผ่านเข้าออกไม่ลดละสายตาเท่านั้น นี่สติก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน หากเราจะตามลมเข้าไป ตามลมออกมา ย้อนไปย้อนมา จะเป็นการเพิ่มภาระอันหนักให้แก่เรา ซึ่งเริ่มปฏิบัติอีกที่ไม่มีกำลังพอที่จะรับภาระให้มากเกินไป เลยกลายเป็นความกังวลไป แทนที่จะได้รับประโยชน์เลยเหลวไหลไปเสีย ด้วยเหตุนี้เพื่อให้เหมาะสมกับวิธีตั้งลมเพื่อให้เป็นที่ยึดของจิต จึงควรตั้งในที่ใดก็ตามที่เราเข้าใจว่าลมสัมผัสที่นั่นมากและถนัด ที่จะกำหนดในจุดนั้นมาก เราพึงกำหนดจุดนั้น ยกตัวอย่างเช่น ดั้งจมูก เป็นต้น ลมเข้าก็สัมผัส ลมออกก็สัมผัส

ให้ทำความรู้อยู่กับลมไม่ลดละและไม่ต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่สำคัญมั่นหมายเรื่องผลที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นเช่นใดบ้าง เป็นต้น จะเป็นความกังวลแล้วจิตจะพรากจากงาน หรือสติจะพรากจากงานที่กำลังทำ ตามลมหายใจ ไม่ทันทุกระยะ ขาดวรรคขาดตอนไปเสีย ซึ่งก็เป็นการขาดการกระทำและขาดผลไปด้วยในขณะเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ การกำหนดเบื้องต้น จึงต้องอาศัยสติเป็นสำคัญให้มีความระมัดระวังตั้งอกตั้งใจ แต่อย่าทำจนกระทั่งเกร็งตัวไปหมด ให้ทำความรู้อยู่ด้วยความมีสติ ลมเข้าลมออก ลมเข้าลมออกให้รู้ รู้ ๆ เมื่อสติกับลมมีความสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เสมอแล้ว ลมหายใจนั้นในเบื้องต้นรู้สึกหยาบ ครั้นนานเข้า ๆ ก็รู้สึกละเอียด ละเอียดลงไป ๆ จนกระทั่งไม่ปรากฏในความรู้สึกเลยว่าลมมี คือลมได้หายไปในความรู้สึก

เมื่อลมหายไปแล้ว สิ่งที่ไม่หายคืออะไร และขณะที่ลมหายไปมักจะเกิดปัญหาขึ้นมาแก่ผู้ปฏิบัติอยู่เสมอว่า เมื่อลมหายไปแล้ว นี่จะไม่ตายเหรอ ลมหมดไปแล้วนี่ เกิดความตกใจขึ้นมา นี่คือการรบกวนจิตใจ หรือกระตุกใจของตน ซึ่งจะเข้าสู่ความสงบหรือความละเอียดนั้น ให้กลับตัวมาสู่จิตหยาบเสีย เลยได้เพียงแค่นี้ ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น เพื่อตัดปัญหาข้อนี้ จึงพึงทำความเข้าใจว่า แม้ลมจะหายไปก็ตาม เมื่อเราทราบในความรู้สึกของเราว่าลมนี้ละเอียดลงไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งหายไปจริง ๆ ในความรู้สึก พึงทำความเข้าใจว่า แม้ลมจะหายไปก็หายไปเถอะ เมื่อความรู้คือจิตนี้ยังครองร่างอยู่แล้วไม่ตาย เราไม่ต้องกลัวตาย ในขณะที่หลับเราก็ไม่เคยได้กังวลกับลมที่หายใจเข้าออก เราก็ไม่เห็นตาย ในขณะนี้เรายิ่งมีความรู้สึกอย่างชัดเจนอยู่ด้วยว่า ลมได้หายไป ความที่รู้ว่าลมหายไปนั้นยังไม่ได้หายไป คือผู้รู้ มีอยู่กับตัวของเรา เพียงเท่านี้ก็ตัดปัญหานี้ให้ขาดออกไปได้ ไม่เป็นกังวลและไม่มีสิ่งกวนใจต่อไป และไม่เป็นมารของใจในจิตนี้ด้วย จิตก็ยิ่งละเอียด

เมื่ออะไร ๆ ก็หายไปหมด ลมตั้งแต่ขั้นหยาบขั้นกลางขั้นละเอียดยิบ จนกระทั่งถึงหายไปหมดในความรู้สึก นี้คือจิตละเอียดละที่นี่ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว จะเหลือแต่ความรู้สักแต่ว่ารู้อย่างละเอียด ให้รู้อยู่ตรงนั้น อยู่กับความรู้นั้น ให้อยู่กับความรู้นั้น ไม่ต้องสำคัญมั่นหมายไปไหน เรื่องเป็นเรื่องตายนั้นอย่าเอาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการทำลายจิตตภาวนาขั้นนี้ให้หยาบกลับคืนมา จิตจะไม่ทรงตัวและก้าวเข้าถึงความละเอียด และทรงตัวอยู่ด้วยความละเอียดนั้น

ผู้กำหนดคำบริกรรมธรรมบทใด ก็พึงทำในลักษณะเดียวกันนี้ ตามจริตนิสัยที่ชอบในคำบริกรรมบทใด จิตเมื่อได้มีที่ยึดมีสิ่งกำกับใจ มีสติเป็นผู้ควบคุมงานแล้ว จิตจะมีหลักมีเกณฑ์ พอกระแสของจิตรวมตัวเข้ามาสู่บทบริกรรม หรือเข้ามาสู่งานของตนที่กำลังทำอยู่โดยลำดับแล้ว ความรวมตัวของจิตจะเข้าเป็นจุดแห่งความสงบ จุดแห่งความเด่นแห่งความรู้ แล้วจะมาเด่นอยู่ในจุดเดียวนี้

นี่แหละวิธีการที่เราจะจับเอาความรู้ให้ได้เห็นชัดเจน ว่าความรู้อย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เราจะทราบได้ด้วยหลักวิธีการภาวนาเท่านั้น แต่จะไม่มีทางทราบได้ด้วยวิธีอื่นใด โดยทางคาดคะเนหรือโดยความสำคัญมั่นหมายเอาอย่างนี้ จะเป็นไปไม่ได้ แต่วิธีการนี้เป็นไปได้ เมื่อรวมเข้าหลายครั้งหลายหน จิตมีความสงบเย็นตัวเข้าหลายครั้งหลายหน นอกจากจิตมีความสงบตัวและมีความสบายในขณะนั้นแล้ว ความสงบหลายครั้งหลายหนนั้นแล เป็นการสร้างฐานแห่งความมั่นคงของใจ

คือความสงบนั้นมั่นคงขึ้นโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งเป็นฐานของจิตที่สงบ เรียกว่ามีสมาธิแล้วที่นี่ นั่นทีแรกก็ได้สมาธิก่อน ปรากฏเป็นครั้งเป็นคราวแล้วก็หายไป ๆ หลายครั้งหลายหนเข้าไปก็เลยสร้างฐานแห่งความมั่นคงของตนขึ้นมาจนเป็นสมาธิโดยปกติของจิต แม้แต่คิดปรุงเรื่องอันใดอยู่ก็ตาม เมื่อย้อนเข้ามาดูจิตของตนเอง เราจะเห็นฐานของจิตว่าเป็นฐานที่มั่นคงอยู่ภายในตัวโดยเฉพาะ ๆ นี้เรียกว่าจับผู้รู้ได้แล้ว ผู้รู้เข้ารวมตัวสร้างตัวเข้าเป็นฐานแห่งความรู้แล้ว นี่เกิดขึ้นจากจิตตภาวนา

เมื่อจิตมีความสงบเช่นนี้เราก็มีความสุข ความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวายกับโลกกับสงสาร อันเป็นนิสัยสันดานของจิตที่มีกิเลสเข้าครอบงำ หรือกิเลสผลักไสให้ออกไปคิดนั้น ก็ย่อมสงบตัวลงไป ๆ ทีนี้กลายเป็นความสบาย เมื่อจิตแม้เป็นเพียงสมาธิเท่านั้น เราก็รู้สึกว่ามีฐานที่ปลงที่วาง มีที่พักผ่อนหย่อนใจเหมือนกับเดินไปตามหนทางได้อาศัยร่มไม้เวลาแดดจัด ๆ และมีน้ำท่าเป็นที่อาบดื่มสบาย ๆ เมื่อจิตทำการทำงานวุ่นไปกับการกับงาน ซึ่งเป็นทางถอดถอนกิเลสและทำจิตให้สงบนานไป จิตก็เข้าสู่ความสงบพักตัวเองสบาย นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

ท่านเขียนไว้ในตำราว่า สมาธินั้นคือชื่อของสมาธิ ไม่ใช่สมาธิแท้ ปัญญา วิมุตติ หลุดพ้น เป็นชื่อของปัญญา เป็นชื่อของวิมุตติ เป็นชื่อของความหลุดพ้น แต่สมาธิอันแท้จริง ปัญญาอันแท้จริง วิมุตติหลุดพ้นอันแท้จริงนี้เป็นขึ้นที่จิตของผู้ปฏิบัติ ปรากฏขึ้นที่นี่ หลุดพ้นกันที่นี่ คำว่ากิเลสตัณหาอาสวะ ที่ท่านจดจารึกไว้ในตำรับตำรามีแต่ชื่อทั้งนั้น และวิธีบอกแนะแนวทางในการแก้และการถอดถอนกิเลสไว้

ผู้ได้รับได้อ่านได้ศึกษาอบรมจากนั้นแล้ว จึงต้องย้อนเข้ามาทำงานของตัวเองตามอุบายที่ท่านสอนไว้ เช่น ท่านสอนว่าให้ทำภาวนาอย่างนั้น ๆ ดังที่อธิบายมาเมื่อสักครู่นี้เป็นต้น นั่นแหละเรานำอุบายนั้นเข้ามาปฏิบัติต่อตัวเอง จนปรากฏผลขึ้นมาเป็นสมาธิ เป็นสมาธิชั่วคราว เป็นสมาธิอย่างหยาบ ๆ เป็นสมาธิอย่างละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนเป็นฐานแห่งสมาธิอยู่กับใจเป็นปกติ ทั้ง ๆ ที่ออกจากที่ภาวนาแล้วก็ไม่ละฐานคือความสงบและความแน่นหนามั่นคงของใจ นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ สมาธิอยู่ที่จิตนี้

เมื่อจะพิจารณาทางด้านปัญญา ก็หยุดการที่จะทำให้จิตสงบนั้นไว้ก่อนเป็นวรรคเป็นตอน แต่ใช้กิริยาแห่งความคิดปรุงเพื่อปัญญา เพราะปัญญาก็เกิดขึ้นจากสังขารฝ่ายมรรค คิดไตร่ตรองด้วยความแยบคาย มีไตรลักษณ์เป็นสายทางดำเนินของสติของปัญญา พิจารณาให้เห็นตามความจริง เราจะแยกแยะร่างกายนี้ออกด้วยวิธีใดก็ตาม เช่น พิจารณาให้เห็นอสุภะ พิจารณาให้นี้เป็นเรื่องความเป็นความตาย ตามแต่ถนัด ให้นึกถึงความตายที่มีอยู่ภายในตัว พิจารณาเรื่องความตาย

ในร่างกายของเรานี้ทุกส่วนล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องวัตถุแห่งความตายทั้งสิ้น เป็นสภาพแห่งความแตกสลายทำลายหรือตายทั้งสิ้น มีส่วนไหนชิ้นไหนที่พอไว้วางใจได้ พอให้เย็นอกเย็นใจไม่มี ถ้าเราจะพิจารณาเรื่องความตายก็ให้พิจารณาอย่างนี้

พิจารณาเรื่องอสุภะอสุภังซึ่งเป็นของปฏิกูลโสโครก ก็เต็มไปด้วยความโสโครก ไม่มีอะไรที่จะโสโครกยิ่งกว่าร่างกายของมนุษย์และสัตว์ เอ้า พิจารณาให้ถึงความจริง นี่เรียกว่าปัญญา พิจารณาข้างนอกก็ได้พิจารณาข้างในก็ได้ เมื่อพิจารณาเพื่อการถอดถอนเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว เป็นมรรคด้วยกันทั้งนั้น

อาศัยการพิจารณาเรื่องสังขารนี่ กลายไปเป็นปัญญา สังขารอันที่กิเลสเอาไปใช้ก็เป็นสมุทัย สัญญาที่กิเลสเอาไปใช้ก็เป็นสมุทัยเป็นกิเลสขึ้นมา ผลก็คือความทุกข์ เมื่อธรรมเอามาใช้สังขารก็เป็นปัญญาขึ้นมา สัญญาก็เป็นเครื่องมือของธรรมขึ้นมา

เราคาดเราหมายในสกลกายว่าอย่างไรบ้าง เมื่อยังไม่มีปัญญาความเฉลียวฉลาดแหลมคม ทำกระเสือกกระสน ก็ต้องอาศัยสัญญาความคาดเสียก่อนหมายเสียก่อน ว่าสิ่งนั้นตามลักษณะความจริงของมันมันเป็นอย่างนั้น หนังเป็นอย่างนั้น เนื้อเป็นอย่างนั้น เอ็นเป็นอย่างนั้น กระดูกเป็นอย่างนั้น จนกระทั่งเข้าถึงภายในร่างกาย เป็นของปฏิกูลด้วยกันทั้งหมดในอวัยวะทุกชิ้นทุกส่วนนี้ หาความสะอาดสวยงามดังที่โลกสมมุติไม่มีเลย เสกสรรกันไปอย่างนั้น

ทั้ง ๆ ที่มันเป็นความจอมปลอม กิเลสทำให้จอมปลอมก็ต้องเชื่อกิเลส เมื่อเชื่อกิเลสก็เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของจริง เมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของตน จึงเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนขึ้นภายในใจ เช่น แตกสลายลงไปหรือตายอย่างนี้ มันยังไม่ถึงกาลที่จะตายนี่ ไม่ถึงกาลมันตายได้อย่างไร ต้องถึงกาลของมัน ความไม่ถึงกาลนั้นเป็นเรื่องของเราปักปันเขตแดนเอาต่างหาก นี่แหละความสำคัญ

การพิจารณาทางด้านปัญญา ให้พิจารณาอย่างนี้ เราจะแยกออกส่วนใดก็ตาม ขอให้ถนัดในขันธ์ทั้งห้านี้ เฉพาะอย่างยิ่งรูปขันธ์เป็นสำคัญ พิจารณาถึงเรื่องปฏิกูล พิจารณาถึงเรื่องอสุภะ ถึงความเป็นความตายความแตกสลายทำลาย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้า ก็เพราะยังไม่เห็นป่าช้าภายในตัวของตัวนั่นเอง ให้ไปดูภายนอกเสียก่อน

แต่ก่อนโน้นเวลาคนตายแล้ว คงไปทิ้งเกลื่อนอยู่อย่างนั้นแหละในป่าช้า ไม่มีการเผาการฝังกัน เพราะฉะนั้นจึงสอนให้ไปดูซากอสภ ซากอสภที่ตายใหม่เป็นอย่างนั้น ตายเก่าเป็นอย่างนี้ แล้วอุบายวิธีสอน สอนอุบายวิธีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับซากอสภ ให้ไปทางเหนือลม อย่าไปทางใต้ลม ถ้าหากว่าจิตยังไม่สามารถ อย่าด่วนไปดูรูปที่เป็นปรปักษ์ต่อตนซึ่งเพิ่งตายใหม่ ๆ ให้ไปดูสภาพที่มันตายเก่าเสียก่อนและไม่เป็นข้าศึกต่อตน จนกระทั่งมีความสามารถแล้ว จะมาดูสภาพที่เพิ่งตายและเป็นวิสภาคแก่ตัวเอง เช่น รูปหญิง เป็นต้น สำหรับผู้ชายเป็นข้าศึกกันอย่างนี้ เรื่องกิเลสกับธรรมเป็นข้าศึกกันตอนนี้

ท่านสอนวิธีให้เข้าไปดู แล้วก็แยกแยะออกโดยกำหนดออกดูให้เห็นชัดเจน เมื่อกำลังสติปัญญาเพียงพอ สมควรที่จะพิจารณาซากอสภชนิดไหนชนิดใด ย่อมพิจารณาได้หมด ไม่ว่าตายเก่าตายใหม่ ไม่ว่าหญิงว่าชาย พิจารณาถึงเรื่องความตาย ลงสภาพแห่งความตายอย่างประจักษ์ใจแล้วมันไม่มีหญิงมีชาย ไม่มีความสวยความงามตกค้างอยู่นั้นเลย พอที่จะให้ติดจิตติดใจไปทางฝ่ายกิเลส ท่านจึงสอนให้พิจารณาและไปเยี่ยมป่าช้า

เมื่อเห็นสิ่งนั้นประจักษ์กับจิตใจแล้ว นำสิ่งนั้นน้อมเข้ามาสู่ตัวเองจนได้หลักได้เกณฑ์ภายในตัวเองแล้ว ทีนี้การไปเยี่ยมป่าช้าภายนอกก็ค่อยหมดปัญหาไป ๆ เพราะยึดป่าช้าภายในได้แล้วด้วยสติปัญญาของตนโดยอาศัยป่าช้าภายนอกเป็นแนวทาง หรือเป็นเชื้อพอได้หว่านผลเข้ามาที่ร่างกายของเราเอง เพราะฉะนั้นการเยี่ยมป่าช้าในธุดงค์ข้อนี้จึงเป็นธรรมสำคัญมาก ไม่ใช่ธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นธรรมสามารถที่จะรื้อวัฏสงสารออกจากจิตใจได้จริง ๆ ให้พิจารณาอย่างนี้

เมื่อพิจารณานั้นน่ะ พิจารณาหลายครั้งหลายหนไม่สำคัญ สำคัญคือความเข้าใจ เราอย่าไปนับว่าเราพิจารณาเท่านั้นครั้งแล้วก็แล้ว เท่านั้นครั้งแล้ว เราไม่ได้ภาวนาเพื่อนับ เพื่อเอาจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่เราพิจารณาเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ว่า ให้พิจารณาเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงชัดเจนทั้งภายนอก ป่าช้าภายนอกก็เห็นชัด ป่าช้าภายในของตนก็เห็นชัด แล้วความยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าเขาว่าสวยว่างามมันจะมีมาได้ที่ไหน เพราะถูกธรรมลบล้างหมดแล้ว กิเลสประเภทที่เสกสรรปั้นยอขึ้นมาว่าสวยว่างาม ว่าเป็นสาระแก่นสารนั้น คือเรื่องของกิเลส ปัญญาได้สอดส่องมองทะลุไปหมด และลบล้างสิ่งจอมปลอมทั้งหลายออกหมดแล้วเหลือแต่ความเป็นจริง

ถ้าพูดถึงธาตุก็มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น มีอยู่ในร่างกายจะมีอะไร ไม่ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อันใดมันก็เป็นธาตุเหมือนกันหมดถ้าพิจารณาเป็นธาตุ น้ำก็เป็นธาตุน้ำไปเสีย ลมก็เป็นธาตุลม ส่วนแข็งก็เป็นธาตุดินไปเสียแน่ะ ไฟก็เป็นธาตุไฟไปเสีย พิจารณาหลายครั้งหลายหนหากซึ้งเข้าไปเอง เมื่อรู้ชัดเจนแล้วย่อมปล่อยวางรูปขันธ์ ปล่อยวางเป็นอันดับแรก เมื่อเข้าใจรูปขันธ์ชัดเจน อันเป็นส่วนหยาบนี้ชัดเจนแล้ว จิตย่อมปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์นี้

จากนั้นจิตก็ซึมซาบเข้าไปถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะเป็นอาการใดก็ตามใน ๔ อาการนี้ คือใน ๔ ขันธ์นี้ แล้วแต่จิตมีความสัมผัสสัมพันธ์ที่จะชอบพิจารณาในอาการใด แล้วจะซึมซาบไปถึงอาการทั้งหลายโดยลำพังตนเอง เหมือนเราจ่อไฟเข้าไปสู่เชื้อไฟ เข้าสู่ฟืนหรือสู่ขยะฝอยหรืออะไรก็แล้วแต่ กองขยะนั่น พอจ่อไฟเท่านั้นมันมีสิ่งที่จะทำให้ไหม้อยู่ที่ตรงไหน มันลุกมันลามของมันไปเรื่อย ๆ ๆ ขอแต่มีเชื้ออยู่ที่ไหน มันก็ไหม้ไปเรื่อย ๆ

อันนี้ขึ้นชื่อว่าสติปัญญาแล้วก็ย่อมเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน พิจารณาจับจุดใดจุดหนึ่งได้เท่านั้นก็ค่อยกระจายไปเอง ๆ รอบหมดทั้งขันธ์ห้า รูปก็ทราบแล้วว่ารอบมาแล้วปล่อยมาแล้ว เวทนา ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สัญญา ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิดความปรุงซึ่งหลอกตนอยู่ตลอดเวลานี้ก็รู้เท่าทัน

วิญญาณ ความรับทราบเวลาสิ่งภายนอกคืออายตนะภายนอกมากระทบอายตนะภายใน เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้เกิดความรู้ขึ้นมาแย็บ ๆ ตามอาการของสิ่งนั้นสัมผัสสั้นยาวแล้วดับไป ๆ นี้ท่านเรียกวิญญาณ เป็นอาการอันหนึ่งเท่านั้น เป็นอาการของจิต เหมือนแสงหิ่งห้อยนั่นเอง ปรากฏขึ้นแย็บแล้วก็ดับไปพร้อม ๆ สังขารเหมือนกัน ปรุงขึ้นมาพับก็ดับไปพร้อม ๆ ปรุงเรื่องดีก็คือเรื่องหัวใจเจ้าของปรุงขึ้นมาเอง ย่อมชื่อว่าเจ้าของปรุงขึ้นมาเอง แล้วเจ้าของก็หลงเรื่องดีเรื่องชั่วของตัวเอง อยู่กับเรื่องตลอดเวลา ให้สังขารหลอกอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพิสูจน์ นี่หลักสำคัญอยู่ตรงนี้

เราพิจารณาในขั้นนี้จะเป็นขั้นที่เพลินที่สุด บรรดานักปฏิบัติ เพราะเหตุไรจึงเพลิน เพราะสังขารเป็นผู้ที่กระจายเรื่องออกมาเรื่อย ๆ ปรุงเรื่องนั้น ปรุงเรื่องนี้ สัญญาคอยจับคอยหมายสิ่งนั้นสิ่งนี้ สัญญานี่ละเอียดกว่าสังขารมากทีเดียว ในหลักปฏิบัติรู้สึกว่าสัญญานี่หมายละเอียดมากจริง ๆ แต่อย่างไรก็ไม่ทนสติปัญญาที่เราฝึกซ้อมมาอย่างเกรียงไกรได้ ต้องรู้ต้องเข้าใจ นี่การพิจารณา นี่แหละคือการขุดค้นกิเลส

กิเลสเข้าไปแทรกอยู่ตามอาการเหล่านี้ แทรกอยู่ในรูปกายนี่ก็ทุกสัดทุกส่วน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าดีว่าชั่วอะไร ๆ พึงปรารถนาไม่พึงปรารถนาที่มีในกาย มันถือว่าเป็นของมันทั้งนั้น มันยึดหมด นี่อุปาทานที่เกิดขึ้นจากกิเลสหรือว่าเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เพราะความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนี้จึงต้องยึด เมื่อได้คลี่คลายเห็นตามความเป็นจริงของมันอย่างชัดเจนแล้วก็หายสงสัย นั่นแหละคือความถอนอุปาทาน สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีลักษณะเดียวกันนั้น

การพิจารณาดังที่กล่าวแล้ว อย่าถือการนับเป็นความเพียรเป็นผลที่พึงได้รับ ให้ถือความรู้แจ้งเห็นจริงเป็นสำคัญ พิจารณาจนเป็นที่เข้าใจ เมื่อเข้าใจอย่างเต็มภูมิแล้วย่อมปล่อย ถ้ายังไม่เข้าใจเต็มภูมิยังไม่ปล่อย นั่นแหละต้องพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่หยุดไม่ถอย เมื่อจิตมีความอ่อนเพลียเพราะการทำงานด้วยการพิจารณาซึ่งเป็นงานของจิตประเภทหนึ่ง เราก็เข้าพักสมาธิ ปล่อยวางอาการแห่งจิตที่คิดปรุงในแง่ต่าง ๆ ที่เรียกว่าปัญญานั้นเสียโดยสิ้นเชิง แม้เราจะย้อนเข้ามาบริกรรมในธรรมบทใดที่เราเคยบริกรรมในขณะที่ทำภาวนาเบื้องต้นแห่งสมาธิก็ตาม หรือจนชำนาญในทางสมาธิแล้วเหมือนขั้นปัญญาก็ตาม เราจะนำเอามาบริกรรมได้เพื่อให้จิตอยู่ในจุดเดียว หรือกำหนดลมหายใจดังที่เราเคยพิจารณา ให้จิตอยู่ในจุดเดียว แล้วสงบตัวเข้าไปก็ได้

นี่คือจิตพัก พักอาการแห่งความคิดความปรุง ความพินิจพิจารณาในแง่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานของจิตเข้าสงบตัวอยู่เป็นหนึ่งสบาย พอควรแก่กาลแล้วจิตก็ถอยออกมา ถอยออกมาจากความสงบแล้วดำเนินทางด้านปัญญาต่อไป ในขณะที่จะให้จิตสงบเราปล่อยโดยประการทั้งปวง เรื่องของปัญญาไม่นำเข้ามายุ่ง ไม่นำเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเลย ในขณะที่ออกทำงานเรื่องของสมาธิก็ไม่ให้ไปเกี่ยวข้อง คือทำงานคนละเวล่ำเวลาให้เป็นงานนั้นจริง ๆ เช่น งานจะทำจิตให้สงบตัวก็ตั้งหน้าทำให้สงบ จนจิตสงบได้อย่างใจหมาย เมื่อควรแก่กาลแล้ว จิตถอยออกมาแล้วทำงาน

เมื่อจิตได้เริ่มทำงานแล้วเรื่องสมาธิก็ไม่ไปยุ่ง ไม่ไปเป็นอารมณ์กับสมาธิว่าจะต้องพักอย่างนั้นอย่างนี้ ให้พิจารณาตลอดไป จนกระทั่งเป็นที่เข้าใจโดยลำดับ ๆ เมื่อเหนื่อยแล้วพัก ได้กำลังแล้วออกพิจารณา นี้คือปฏิปทาที่เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติ

เราได้เคยดำเนินมาแล้ว เราเห็นโทษแห่งความผาดโผนของเรา ในขณะที่จิตเป็นสมาธิก็ติดใจสมาธิจนกลายเป็นสมาธิขี้เกียจขึ้นมาโดยตัวเองไม่รู้สึก คือจิตเป็นสมาธิขนาดว่าจะให้สงบเมื่อไรได้ทั้งนั้น เพราะความชำนาญ นี่เราเคยเป็นแล้ว อยู่ธรรมดานี่แหละพอกำหนดจะให้สงบนี่แน่วในทันที เพราะชำนาญ ทีนี้เมื่อเป็นเช่นนั้นเวลาจิตถอยออกมาที่จะพิจารณาสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนกับคนขี้เกียจจับจอบจับเสียมขึ้นมาจะฟาดจะฟันจะขุดอะไรต่ออะไรนี้รู้สึกว่าหนัก แดดก็ร้อน อุ๊ยไม่ไหวเข้าพักเสียดีกว่า เข้าไปนอนเสียไม่ได้งานอะไร เข้าอยู่ในสมาธินั้นเสีย นี่อุปมาเป็นอย่างนั้น

การพินิจพิจารณาสิ่งนั้นสิ่งนี้เหมือนเราออกไปทำงาน ยกจอบยกเสียมขึ้นขุดนั้นฟันนี้อย่างนั้นแหละ มันขี้เกียจ แล้วเข้ามาพักอยู่ในร่มนี่เสีย แดดก็ไม่ถูก จอบอะไรก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องหนักมือ แต่ไม่ได้งานอะไร นี่จิตที่เข้ามาพักแต่สมาธิถ่ายเดียวโดยไม่คิดค้นทางด้านปัญญา แล้วเห็นว่าการพิจารณาเหล่านั้นเป็นความลำบากลำบน ผู้นั้นก็เลยติดสมาธิโดยไม่รู้สึกตัว นี่เราเคยเป็นแล้ว เราเห็นโทษแห่งความติดสมาธิจึงได้นำเรื่องเหล่านี้มาอธิบายให้หมู่เพื่อนทั้งหลายได้ทราบ ว่าทางที่เหมาะสมราบรื่นสม่ำเสมอคือวิธีการเช่นไร ก็คือวิธีการดังที่อธิบายผ่านมาแล้วนี้

การพักจิตใจในสมาธิอย่างเดียว ให้สมาธินี้เป็นปัญญาไปเลยนั้น ไม่มีทางจะเป็นได้ ท่านว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิเมื่อศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก นั่นคือหมายถึงว่าศีลเป็นพื้นอยู่แล้วสำหรับนักบวชเรา ไม่ได้มีความเดือนร้อนวุ่นวายอะไร ที่ว่าศีลของตนด่างพร้อยต่าง ๆ พอที่จะให้เป็นนิวรณ์กั้นกางไม่ให้จิตเข้าสู่ความสงบ เมื่อทำสมาธิด้วยความตั้งอกตั้งใจหรือความมีสติ ก็เป็นสมาธิขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีนิวรณ์เครื่องก่อความเดือดร้อนให้แก่ตน ว่าศีลไม่บริสุทธิ์

สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก นั่นก็คือหมายความว่าจิตที่เป็นสมาธิพร้อมแล้วที่จะออกดำเนินทางด้านปัญญาได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีความบกพร่องอะไรเลย ถ้าเทียบก็เหมือนกับอาหารนั้น เครื่องปรุงอาหารนั้นได้มารวมตัวไว้หมดแล้ว เป็นแต่ยังไม่ปรุงอาหารให้สำเร็จรูปขึ้นมาเท่านั้น เครื่องแกงเครื่องอะไร ๆ ได้ทำหมดแล้ว นี่สมาธิพร้อมแล้ว มีกำลังพร้อมแล้ว ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย ไม่ส่ายไม่แส่ ไม่หิวไม่โหยกับอารมณ์ใด ๆ เพราะอิ่มตัว

สมาธิคือจิตที่อิ่มตัว อิ่มตัวกับอารมณ์ทั้งหลาย แต่ไม่ได้หมายถึงว่าอิ่มด้วยความถอดถอนกิเลสอาสวะหมดแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นแต่เพียงว่าอิ่มตัวไม่หิวโหย ทีนี้เมื่อจิตมีความอิ่มตัวไม่หิวโหยกับอารมณ์ต่าง ๆ เช่น จิตฟุ้งซ่านรำคาญดังทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีสมาธิ เรานำออกพิจารณาอะไร จิตย่อมทำหน้าที่ตามที่เราสั่งทุกอย่าง ๆ พิจารณาอะไรเป็นสิ่งนั้นขึ้นมาเห็นได้อย่างชัดเจน

เพราะจิตไม่เถลไถล ไม่แฉลบออกไปนอกลู่นอกทาง ทำงานตามที่ปัญญาพินิจพิจารณาอย่างไรแล้วก็เป็นผลขึ้นมา เมื่อปรากฏเป็นผลขึ้นมาโดยลำดับ ๆ แล้วก็เข้าพักอย่างที่ว่า นี้ละคำว่าสมาธิอบรมปัญญาอบรมอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วจะเป็นปัญญาขึ้นมาเอง อย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ เรายืนยันได้เลย ในทางภาคปฏิบัติเราเคยติดสมาธิมาแล้วถึง ๕ ปี คอยแต่มันจะเกิดปัญญาก็ไม่เห็นเกิดอะไร และเลยไม่ค่อยจะเกิดปัญญาหรือไม่เกิด มีแต่พอหนักเข้าก็ว่าความรู้อันเด่น ๆ นี้แหละจะเป็นนิพพาน ๆ

มันเลยไม่เป็นนิพพาน มีแต่กองกิเลส กิเลสรวมตัวอยู่เท่านั้น เมื่อพิจารณาออกทางด้านปัญญาถึงได้รู้เหตุรู้ผล เพราะสมาธิพร้อมตัวอยู่แล้ว พิจารณาอะไรก็เข้าอกเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ พอเข้าใจเท่านั้นก็เห็นผล เมื่อเห็นผลแล้วก็เกิดความดูดดื่มในการพิจารณา ทีนี้ก็เอาอีกแหละทีนี้นะ เวลาติดสมาธิก็ติดเอาเสียจนไม่ถอย ไม่ยอมถอยที่จะออก เพลินในสมาธิ เพลินเสียจนขี้เกียจพิจารณาทางด้านปัญญา เห็นว่าการพิจารณาปัญญาไม่จำเป็นเท่าการดูความรู้อันนี้เห็นเด่น ๆ อยู่นี้ นี่แหละจะเป็นนิพพาน นี่แหละจะเป็นผู้บริสุทธิ์ มีแต่นี่แหละ ๆ อยู่อย่างนั้น

ก็เหมือนอย่างเครื่องปรุงแกงทั้งหลายนี่แหละ มันจะเป็นแกงอะไร ผักก็เป็นผัก หญ้าก็เป็นหญ้า พริกเป็นพริก อะไรก็เป็นอะไรอยู่อย่างนั้น เนื้อเป็นเนื้อ ปลาเป็นปลา แต่มันไม่เป็นแกงให้เห็นอยู่ต่อหน้านั้นแหละ มันหากไม่เป็นแกงถ้าแม่ครัวไม่นำมาปรุง หรือถ้าเราไม่นำมาปรุงให้เป็นแกงประเภทใด เป็นอาหารประเภทใด มันเป็นไปไม่ได้

นี่สมาธิก็รวมตัวแล้ว กิเลสรวมตัวเข้ามา จิตจึงมีความสงบ แต่เราจะคลี่คลายกิเลสตัวใดออกมาเพื่อทำลายมันด้วยปัญญา เราไม่สนใจ นี่จึงเรียกว่าหลงในสมาธิ เพื่อให้เหมาะสมเมื่อมีความสงบจะเป็นความสงบขั้นใดก็ตาม ควรแก่ปัญญาขั้นนั้น ๆ ทุกขั้นของสมาธิไป เราพิจารณาทางด้านปัญญาได้

ทีนี้เวลาพิจารณาทางด้านปัญญา เอ้าเพลิน ถ้าไม่มีใครสั่งสอนไว้ไม่มีใครแนะแนวทางไว้แล้วต้องติด ต้องผิดด้วย เวลาพิจารณาเห็นคุณค่าของปัญญาแล้ว เตลิดเปิดเปิงไม่ยอมพักในสมาธิ เห็นว่าการพักในสมาธินอนอยู่เฉย ๆ ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร การพิจารณามีรู้แจ้งเห็นจริงไปโดยลำดับ ๆ นั่นแหละเป็นความผิดอีก

เมื่อเป็นเช่นนั้นเพื่อความเหมาะสมในขณะที่พิจารณาทางด้านปัญญา เอ้า ให้พิจารณา ในเวลาที่จะพักสมาธิให้พัก เหมือนกับในเวลาที่จะทำงาน เอ้า ทำลงไปให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะขุดดินฟันไม้ฟันอะไรก็แล้วแต่ เอาให้เต็มเหนี่ยว แต่เวลาอิดหิวเมื่อยล้าแล้วให้เข้ามาพักผ่อนรับประทานอาหาร เอ้า อาหารจะสิ้นเปลืองไปหมดไป เสียเวล่ำเวลาไปก็ไม่เป็นไร เพราะเราทำเพื่อให้กำลังของทางร่างกายที่จะประกอบงานต่อไปอีก อันนี้การพักสมาธิก็เพื่อเป็นพลังของจิตที่จะดำเนินทางด้านปัญญาต่อไปอีกได้ เสียเวลาก็ไม่เป็นไร

นี่พิจารณาทางด้านปัญญา เพื่อความเหมาะสม เพื่อความรอบคอบ เพื่อความราบรื่น ไม่ผาดโผน ไม่หนักในแง่ใดแง่หนึ่ง จึงต้องมีวาระต่างกันอย่างนี้ ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ ให้เป็นที่แน่ใจ ได้ดำเนินมาอย่างนี้ เคยหลงแล้ว หลงสมาธิก็เคยหลง เคยติดมาพอแล้ว เอ้า เพลินกับปัญญาก็เคยเพลินมาพอแล้วเหมือนกันจนแทบจะเป็นจะตาย

เพลินทั้งคืนไม่ได้นอนเลย ปัญญาเดินอยู่ตลอดเวลา กลางวันยังไม่ได้พักนอนอีก ปัญญาเดินตลอดเวลา เดินนานเข้า ๆ ร่างกายก็อ่อนเพลียจนจะตายละที่นี่ เหนื่อย จึงต้องมายับยั้งทางสมาธิ เมื่อมันจะตายจริง ๆ ไปไม่ไหวก็ต้องถอยมาหาสมาธิ ให้พักสบาย ๆ สักหน่อย พอพักสบายแล้วก็เห็นคุณค่าของสมาธิ อ๋อ เป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็ก้าวละ พอก้าวแล้วเมื่อมันเหนื่อยก็เข้ามาพัก ๆ มันเป็นบทเรียนเหมือนกัน ผิดแต่ละอย่าง ๆ นี้เป็นบทเรียนแต่ละอย่าง ๆ จนกระทั่งมันทะลุไปพ้นไปได้ ถ้าดำเนินแบบที่ว่านี่

ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ ให้เห็นงานของพระเป็นงานสำคัญ งานของพระคือยังไง งานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้คืออะไร ได้เคยพูดให้ท่านทั้งหลายฟังแล้ว ตั้งแต่ขณะบวชทีแรกพระองค์ทรงมอบงานให้เลย เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คือปริยัติที่ได้ศึกษามาในเบื้องต้นจริง ๆ แล้วภาคปฏิบัติก็ให้พิจารณาอนุโลมปฏิโลม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา แน่ะ อนุโลมปฏิโลม พิจารณาเหมือนเขาคราดนา คราดไปคราดมา จนกระทั่งมูลคราดมูลไถแหลกละเอียด โดยไม่ต้องไปนับเที่ยวมัน เอาให้มันแหลกละเอียด

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ค้นกันไปค้นกันมา ยอกย้อนกันไป นี่แหละคือการทำงาน เรียกว่างานของพระ งานนี้เป็นงานสำคัญ งานรื้อกิเลสตัณหาอาสวะ วัฏสงสารออกจากจิตใจ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่หลวงมาก

สถานที่ทำงาน คือที่เช่นไร รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย บวชในพุทธศาสนาแล้ว ให้ท่านทั้งหลายพยายามไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่าชายเขา ตามถ้ำเงื้อมผา อันเป็นสถานที่เหมาะสมกับงานประเภทนี้ และพยายามทำความอุตส่าห์ตลอดชีวิตเถิด นี่แหละคือสถานที่ทำงานของพระ

สาวกทั้งหลายท่านทำงานอันนี้ ท่านได้เป็นผู้วิเศษวิโส พ้นจากความเกิดแก่เจ็บตาย ท่านทำอย่างนี้ เราก็ดำเนินตามทางของท่านแล้วกิเลสจะไปไหน ถ้าไม่ตายเพราะความเพียรประเภทนี้ กิเลสครั้งนั้นกับกิเลสครั้งนี้มันเหนียวแน่นต่างกันอย่างไร มันไม่ได้เหนียวแน่นต่างกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสประเภทไหน ๆ ก็คือกิเลส เอ้า เหนียวแน่น ธรรมก็เหนียวแน่นเหมือนกัน

มัชฌิมาปฏิปทาครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็เป็นมัชฌิมาธรรมอันเดียวกัน เรียกว่าออกมาจากสวากขาตธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ชอบแล้วเหมือนกันหมด ให้นำเข้ามาประกอบให้ถูกสัดถูกส่วนเถอะ กิเลสจะขาดกระเด็นลงไปโดยลำดับ ๆ ทางจงกรมก็กิเลสตาย ฆ่าฟันมันในทางจงกรม นั่งอยู่ก็ฆ่ากิเลสด้วยสติปัญญา ศรัทธาความเพียร ยืนอยู่ก็ฆ่ากิเลส เดินอยู่ก็ฆ่ากิเลส ฆ่าอยู่ด้วยความเพียร นี่แหละเรียกว่างาน

ทีนี้งานฆ่ากิเลส ฆ่าไปฆ่ามา ฆ่าเข้าไปโดยลำดับ ๆ จนไม่มีสิ่งใดเหลือ เอ้า รู้แจ้งเห็นจริงในรูปขันธ์ก็เหมือนฆ่ากิเลสตัวอุปาทานยึดขันธ์เอาไว้แล้วนี่ รู้แจ้งเห็นจริงในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่าง ๆ ก็เท่ากับว่า ได้ฆ่าอุปาทานในขันธ์นี้แล้วด้วยสติปัญญาของเรา แน่ะ

ออกจากนี้ไปไหนที่นี่ กิเลสก็รวมตัวเข้าไป หาทางเดินไม่ได้ จะเดินออกมาทางรูป รูปก็ได้ถูกตัดขาดแล้วด้วยปัญญา ความยึดมั่นถือมั่นในรูปก็ไม่มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นทางเดินออกมาของกิเลส ก็ได้พิจารณาตะล่อมเข้าไป ๆ จนขาดหมดแล้ว ขันธ์ทั้งห้ารู้เท่าทันหมดแล้ว ก็ยังเหลือแต่จิตดวงเดียว กิเลสรวมตัวเข้าไปสู่จิตดวงเดียวเท่านั้น ไม่มีทางออกทางเดิน ตัดหมดกิ่งก้านสาขาที่ไหน ตัดเข้าไป ๆ เหลือแต่รากแก้วอันเดียว กิเลสก็รวมตัวเข้าไปสู่จิต นี่การพิจารณาทางด้านปัญญามันเห็นได้ชัด ๆ อย่างนี้

เมื่อรวมตัวเข้าไปเช่นนั้นแล้ว สติปัญญาประเภทฟาดฟันหั่นแหลก ก็คือมหาสติมหาปัญญานั้นเอง ก็ฟาดกันลงไปที่นั่น แหลกละเอียด เอ้า จิตจะฉิบหายไปก็ให้ฉิบหาย มันมีความสง่าผ่าเผย มีความผ่องใสอยู่ในจุดนั้น นั้นแลคือตัวอวิชชาแท้ นางบังเงา เรามองดูอวิชชาคาดอวิชชานี่ คาดเหมือนเสือโคร่งเสือดาว เหมือนยักษ์เหมือนผี แต่เข้าไปเจออวิชชาจริง ๆ ถูกอวิชชากล่อมเสียหลับสนิท แม้สติปัญญาเป็นอัตโนมัติหรือมหาสติมหาปัญญาก็เคลิ้มหลับไปโดยไม่รู้สึกตัว นั่น เราจะเห็นได้ชัด ๆ ว่ากิเลสนั่นละเอียดขนาดไหน

ตั้งแต่เพียงสมุนของกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง หยาบ ๆ นี่เรายังหลงมันไปโดยลำดับ ความโลภก็เห็นได้ชัด ๆ ว่าเป็นความหยาบ ความโกรธก็เห็นได้ชัด ๆ ว่าเป็นสิ่งที่หยาบที่สุด แสดงออกมาในรายใด รายนั้นเหมือนยักษ์เหมือนผี ความหลงงมงาย วันคืนปีเดือน หลงเนื้อหลงตัว ลืมเนื้อลืมตัว อันนี้มันก็เป็นของหยาบ จะดูความหลงจิตนั้นน่ะซึ่งเป็นตัวอวิชชาแท้ มันยิ่งละเอียดกว่านี้ ทำไมอวิชชานั้นซึ่งเป็นจอมกษัตริย์จะไม่แหลมคมยิ่งกว่ากิเลสประเภทดังที่กล่าวมา คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งหลายเหล่านี้ อะไรจะไปแหลมคมยิ่งกว่าอวิชชา เราก็ยังหลง ทำไมสิ่งหยาบ ๆ อย่างนี้ก็ยังหลง แล้วเมื่อเข้าถึงขั้นอวิชชาแล้วทำไมจะไม่หลง มันต้องหลง เพราะอวิชชานี้ละเอียดกว่าสิ่งเหล่านี้ นั่นแหละจอมวัฏจักร เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยสติปัญญาอัตโนมัติหมุนติ้วเข้าไป พิจารณาเข้าไป เอาให้มันขาดกระเด็นไปทั้งจิต จิตจะฉิบหายก็ให้รู้

อะไรที่มีความสง่าผ่าเผย ความผ่องความใสให้รักให้สงวนอยู่นี้ ถ้าไม่ใช่อวิชชาเป็นเครื่องหลอกให้เรายึดเราถือ อะไร ๆ ก็ปล่อยมาหมด แต่ตัวจิตแท้ ๆ ทำไมไม่ปล่อย อวิชชาอยู่ที่นั่น เกาะอยู่ที่นั่น เมื่อฟาดเข้าไปที่นั่นแล้วกระเด็นออกไป ไม่มีอะไรเหลือ ดับสนิท เมื่ออันนี้ดับสนิทแล้วอะไรที่นี่จะเป็นเครื่องยึดมั่นถือมั่น ไม่มีแล้ว

นี่แหละ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ งานที่เราได้รับมอบจากอุปัชฌายะตั้งแต่วันบวชนั้นได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้วในขณะนี้ แล้วงานที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี เป็นอันว่าสิ้นสุด งานนี้จบสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ตั้งแต่ขณะนี้ไปเรื่องของเรากับกิเลสไม่ได้มีอะไรกันอีกแล้ว ได้ชื่อว่าเผาศพกิเลสในวาระสุดท้าย ก็คือเผาตัวอวิชชาซึ่งมีภายในจิตด้วยมหาสติมหาปัญญาให้แหลกละเอียดไปหมด นั้นแลที่นี่หมดภาระ เปลื้องหมดเป็นอิสระอิสโรอยู่กับใจ

ไม่มีคำว่ากาลสมัย อกาลิกจิต อกาลิกธรรม ได้แก่จิตดวงบริสุทธิ์นั้นแล ธรรมก็คือนั้น จิตก็คือนั้น ทีนี้ใครจะสมมุติว่าไงไม่สนใจเมื่อได้รู้อันนี้เต็มใจแล้ว ก็สมมุติตั้งกันไปอย่างนั้นเองต่างหาก นิพพาน ๆ ว่าไป ผู้ที่รู้นิพพานจริง ๆ ท่านไม่สนใจกับคำว่านิพพาน เหมือนอย่างป้ายวัดติดไว้หน้าวัดนั่นแหละ วัดนั้นวัดนี้ เพื่อคนอื่นที่ไม่รู้วัดนั้นต่างหาก เขาจะได้รู้ว่าวัดนี้คือวัดอะไร คนที่อยู่ในวัด พระเณรที่อยู่ในวัดไม่จำเป็นจะต้องไปอ่านป้าย เพราะรู้แล้วไม่จำเป็น นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่รู้ถึงเหตุถึงผลรู้ถึงความสัตย์ความจริงอย่างเต็มที่แล้ว หมดปัญหาที่จะแย้งตนเองและแย้งสิ่งใดทั้งนั้น

เอาละเอาแค่นี้


** ท่านผู้เข้าชมทุกท่านโปรดทราบ
    เนื่องจากกัณฑ์เทศน์บางกัณฑ์มีความยาวค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความเร็วในการเปิดเว็บไซต์ ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านเนื้อหากัณฑ์เทศน์บางส่วนจากเว็บไซต์ และให้ทำการดาวน์โหลดไฟล์กัณฑ์เทศน์ที่มีนามสกุล .pdf ไปเก็บไว้ในเครื่องของท่านแทนการอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากเว็บไซต์

<< BACK

หน้าแรก