พากันตั้งใจฟังให้ดี คนจะดีเพราะความประพฤติ มีกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมเป็นเครื่องควบคุม ดำเนินในกรอบของกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับเพื่อความสงบของส่วนรวม หลักธรรมวินัยก็เป็นกฎข้อบังคับเพื่อความประพฤติเฉพาะตนและเกี่ยวกับส่วนรวมด้วย ถ้าต่างคนต่างมีกฎข้อบังคับเป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอแล้ว โลกก็มีความร่มเย็น เฉพาะอย่างยิ่งพระที่บวชในศาสนา และมีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องปกครอง ดำเนินตามหลักธรรมหลักวินัยไม่ลดละปล่อยวาง ไม่เคร่งจนหาเหตุผลหลักเกณฑ์ข้ออรรถข้อธรรมรับรองไม่ได้ และไม่หย่อนยานจนถึงกับมองหาหลักธรรมหลักวินัยไม่เจอ เพราะทั้ง ๒ อย่างนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย
หลักธรรมวินัยนั้นก็อยู่ในหลักมัชฌิมา แม้จะหย่อนยานลงไปก็อยู่ในกรอบของธรรม ส่วนวินัยนั้นหย่อนไม่ได้ คงเส้นคงวา ไม่มีที่แจ้งที่ลับ ต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักพระวินัยทุก ๆ ข้ออยู่เสมอ ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อและทุกอิริยาบถด้วย นี่คือหลักวินัย ส่วนหลักธรรมมีการลดหย่อนผ่อนผัน เรียกว่ามีเคร่งบ้างหย่อนบ้าง แต่พระวินัยไม่ได้เรียกว่าเคร่งว่าหย่อน ให้ถูกต้องตามหลักพระวินัย ดังที่พูด ๆ กันว่า ปฏิบัติเคร่งเกินไป อันหมายได้ ๒ อย่าง เคร่งทั้งธรรมทั้งวินัย หรือเคร่งส่วนใดส่วนหนึ่ง เคร่งวินัยหรือเคร่งธรรมแยกได้ แต่อย่างไรก็ตามให้เคร่งไว้เสมอ อย่าให้หย่อนยาน ให้เจ้าของได้ภูมิใจในความเคร่งของตน ที่ดำเนินตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ปลีกแวะออกจากรั้วที่กั้นกิเลสอาสวะ หรือความผิดต่าง ๆ ไว้โดยรอบ อย่าข้ามออกไป อย่าปีนรั้วธรรม รั้ววินัยออกไป
หลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องมือ ถ้าจะเทียบกับการก่อสร้างแล้วก็คือเครื่องมือที่ดีเยี่ยม จะปลูกตึกรามบ้านช่องใหญ่โตรโหฐาน แน่นหนามั่นคงหรือสวยงามประการใด ขึ้นอยู่กับนายช่างและเครื่องมือเป็นสำคัญ เราผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือในฝ่ายเหตุก็ต้องทำอย่างนั้น ให้มีความเผื่อไว้เสมอ อย่าเข้าใจว่าตนนี้เคร่งพอตัวแล้ว จะเป็นการลืมตัวหรือทะนงตัว เป็นทิฐิมานะยกตนข่มท่านก็ไม่ถูก ให้เชื่อตัวเองเสมอว่าให้เคร่งไว้เสมอ สำหรับตัวเองไม่สำหรับใคร เพราะผู้รับผิดชอบตัวเองในทางถูกหรือผิด สุขทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความถูกหรือผิดนั้น เป็นเรื่องของเราเองโดยเฉพาะ ถ้ามากไปกว่านั้น ก็กระเทือนถึงหมู่เพื่อน หากเป็นทางพระวินัยก็ให้เกิดความรังเกียจกัน
ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์ที่แตกร้าว หรือแตกสามัคคีกันจนเข้ากันไม่ติด ก็ขึ้นอยู่กับหลักพระวินัยที่ปฏิบัติยิ่งหย่อนต่างกัน คำว่าเพียงยิ่งหย่อนเท่านั้นก็ไม่น่าฟังแล้ว ถ้าเป็นพระวินัยก็คือข้ามเกินข้อห้าม ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ข้ามไป ๆ เรื่อย ๆ จนดื้อด้านภายในจิต ไม่ละอายบาปภายในตัว และไม่ละอายหมู่เพื่อนที่อยู่ร่วมกัน หนักเข้าก็กลายเป็นทิฐิมานะ เห็นเป็นความถูกต้อง และเหยียบย่ำ ๆ ทำลายหลักธรรมหลักวินัย และโต้ตอบผู้อื่นที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยทิฐิมานะ ไม่ลงรอยกันได้เลย แล้วก็แตกกันได้เพราะเหตุแห่งการปฏิบัติย่อหย่อนดังที่ว่ามานี้
ในครั้งพุทธกาลก็เคยมี ที่พระแตกเป็นนานาสังวาส ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็มีพระธรรมกถึกกับพระวินัยธร เกิดทะเลาะกันด้วยเข้าไปถ่ายในส้วมแล้วเหลือน้ำในกระบอกไว้ ซึ่งผิดพระวินัย ผู้วินัยธรก็เตือน เราสรุปความเอาเลยว่าเตือนแล้วไม่ยอมรับ เอาแต่เงื่อนขนาดนี้ ถ้าพูดไปยืดเยื้อก็จะยาวเสียเวล่ำเวลาไป เมื่อความไม่ลงรอยกันมีขึ้น การกระทบกระเทือนกันย่อมมีเพราะผู้หนึ่งก็มีหลักพระวินัยยืนยัน เหตุที่จะให้เกิดความขยะแขยงไม่ยอมเข้าร่วมสังฆกิจสังฆกรรมกันเพราะพระวินัยนี้ เอาจนต้องแตกร้าวแต่ยังเข้ากันได้ เพราะความเห็นโทษ
พระพุทธเจ้าก็เสด็จหนีไปอยู่ป่าเลไลยก์ ให้ช้างอุปถัมภ์อุปัฏฐากอยู่เพียงพระองค์เดียวในพรรษาหนึ่ง ปล่อยให้พวกนี้กัดกัน พวกคนเก่ง ๆ กัดกัน พระเก่ง ๆ กัดกัน ๆ ก็ไม่ถึงไหน พวกญาติโยมก็ตัดเครื่องสนับสนุนโดยลำดับ ๆ ขนาดพระพุทธเจ้าเสด็จหนีไปแล้ว พระเหล่านี้ดีได้ยังไง วิเศษวิโสยังไง พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทไกล่เกลี่ย ให้รู้เรื่องผิดเรื่องถูก ยังไม่ยอมรับ ยังถือดิบถือดี ยิ่งกว่าศาสดาด้วยแล้ว สมควรแล้วหรือที่ประชาชนทั้งหลายจะให้การสนับสนุนด้วยปัจจัยทั้งสี่ ก็ต่างคนต่างเลิกกันไป
พระก็จะตายซิ นั่นโทษแห่งความผิดของตนที่ไม่ยอมเห็นโทษ แสดงขึ้นมาแล้ว จึงต้องมาขอพระอานนท์ ให้ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมา ก็แสดงว่ายอมรับแล้วตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จมา เมื่อพระองค์เสด็จมาก็ประกาศชี้แจงเรื่องเหตุเรื่องผล แล้วก็ยอมรับกันหมด ยอมตนเป็นผู้ผิดทั้งสองฝ่าย เข้ากันได้สนิทด้วยความเป็นธรรม ถ้าความเป็นธรรมแม้จะแตกร้าวกันไปแล้วก็เข้ากันได้สนิท ถ้าไม่ใช่ธรรม หรือฝืนธรรมฝืนวินัยอยู่แล้วยังไงก็เข้ากันไม่ติด
นี่พระพุทธเจ้าก็ประทานพระโอวาท ในเวลาพระสงฆ์เหล่านั้นยอมตนแล้ว ปรากฏว่าได้สำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมาย พระในขณะนั้น ทั้งฝ่ายพระธรรมกถึก ซึ่งมีบริษัทบริวารตั้งห้าร้อย ทั้งฝ่ายพระวินัยธร ซึ่งก็มีบริษัทบริวารมาก ๆ เหมือนกัน ก็ต่างฝ่ายต่างได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน ในเวลาที่พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาท มากมายทั้งสองฝ่าย นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงเรื่องความหย่อนยานของพระวินัย ไม่ใช่ของดี
หลักพระวินัยต้องยึดให้คงเส้นคงวาเสมอ ทีนี้ก็ปฏิบัติตามหลักธรรม เมื่อศีลบริสุทธิ์อยู่แล้ว สำหรับผู้บวชมาเพื่อรักษาศีลรักษาธรรม บำรุงธรรม ต้องให้ศีลหมดจดอยู่สมอ เป็นที่อบอุ่นใจ แล้วก็ดำเนินทางด้านจิตตภาวนา เมื่อดำเนินทางด้านจิตตภาวนา จิตก็ไม่ส่ายแส่วุ่นวายไปเพราะความผิดในแง่พระวินัย ไม่มีความกังวล ตัดนิวรณ์เหล่านี้เสียได้ ใจก็เข้าสู่จุดแห่งธรรมด้วยความสะดวก แล้วปรากฏเป็นความสงบร่มเย็นขึ้นมา ท่านจึงเรียกว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิอันศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก สำหรับนักบวชผู้รักษาพระวินัยก็ให้เป็นผู้รักษาจริง ๆ ให้ดำเนินตามนี้
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก นั่น ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี่เป็นหลักธรรมอันสำคัญ มีความเกี่ยวโยงกันอยู่เช่นนี้ ฉะนั้นนักบวชเราจึงควรสนใจอย่างยิ่งในหลักธรรม หลักวินัย ครั้งพุทธกาลท่านปฏิบัติดำเนินอย่างไรจึงปรากฏว่า ท่านองค์นั้น สำเร็จอยู่ในเขาลูกนั้น อยู่ในป่านั้น อยู่ในถ้ำนั้น ด้วยอิริยาบถนั้น ๆ ท่านองค์นั้นสำเร็จอยู่ในที่นั่น ๆ ในป่าในเขาลำเนาไพร
จะมาจากสกุลใดก็ตาม คือมีทั้งสกุลพระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน คนธรรมดา เป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เมื่อออกมาบวชแล้วตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติ กำจัดนิวรณ์ สิ่งที่จะกีดขวางทางเดินของตนที่เกี่ยวกับ เรื่องบ้านเรื่องเรือน สมบัติพัสถาน ญาติมิตรสาโลหิตทั้งหลาย เพื่อนฝูงมากน้อยเพียงไร พยายามตัดออกให้หมด เหลือเพียงแต่เพศแห่งพระปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลนิพพานเท่านั้น การตัดสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นของตัดได้ง่าย ๆ ต้องฝึกจิตฝึกใจ คือฝืนใจอย่างเต็มที่ ฝืนใจ คำว่าฝืนก็คือฝืนกิเลส ตัวมันเหนียวแน่นอยู่ภายในจิตใจด้วยหลักธรรม ต้องยอมอดยอมทน กัดฟันสู้ คนเราไม่จากกันเวลาเป็นก็จากกันเวลาตาย เอาข้อนี้เข้ามาตัด
ถ้าเราต้องการความพ้นทุกข์จริง ๆ แล้วก็ให้มุ่งต่อธรรม เชื่อธรรมยิ่งกว่าเชื่อกิเลส กิเลสต้องเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความห่วงใยวุ่นวาย กังวลไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างทุกชิ้นทุกอัน ทั้งกว้างแคบไม่มีประมาณ นี้คือเรื่องของกิเลสหาความแน่นอนไม่ได้ มีแต่หลอกจิตใจให้เพลิดเพลินไปอยู่ ส่ายแส่อยู่อย่างนั้นตลอดเวลาหาความสงบไม่ได้ นี่คือเรื่องของกิเลสเป็นเครื่องก่อกวนจิตใจของเราเรื่อยมา เรื่องของธรรม ก็คือเข้าไปกำจัดสิ่งเหล่านี้ด้วยความอดความทน ท่านจึงเรียกว่าวิริยะ ให้พยายามเพียร เพียรละเพียรตัด ขันติความอดกลั้นขันตี คือความอดทน
เพราะกิเลสต้องรบกับธรรมเสมอ ธรรมก็ปราบกิเลส กิเลสก็รบกับธรรม ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กันนั้น ได้รับความทุกข์ความยากความลำบากมาก ไม่ใช่อะไรเป็นข้าศึก กิเลสก็อยู่ภายในใจของเรา ธรรมก็ผลิตขึ้นภายในใจของเราเอง ใจเป็นสนามรบหรือเป็นเวทีของกิเลสกับธรรมที่ต่อสู้กัน เมื่อต่อสู้หนักเข้า ๆ กิเลสก็ค่อยพ่ายแพ้ไปโดยลำดับ ๆ ธรรมก็มีอำนาจมากขึ้น ๆ ความฝืนความอดความทนความทุกข์ทรมานซึ่งเคยเป็นมาก็ค่อยลดหย่อนผ่อนผันลงไป ๆ
ผลแห่งการปฏิบัติธรรมคือความสงบเย็นใจก็ค่อยปรากฏขึ้นมาเรื่อย ๆ นี่เป็นเครื่องดูดดื่มเป็นเครื่องอาศัย เป็นเครื่องชี้ให้เห็นหลักฐานพยานแห่งการปฏิบัติธรรมมาผลเป็นอย่างนี้ ๆ ทีนี้ความมีแก่ใจก็เริ่มขึ้นมาโดยลำดับ ศรัทธาก็เพิ่มขึ้น วิริยะคือความเพียรก็เพิ่มขึ้น ขันติคือความอดความทนต่อความเพียรของตนก็เพิ่มขึ้น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องสนับสนุนธรรม ที่จะให้ปราบกิเลสราบลงไปโดยลำดับ ๆ นั้น ก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับด้วยกันหมด เพราะมีอยู่ในหัวใจดวงเดียวกัน
นี่พระสาวกทั้งหลายท่านได้บรรลุธรรม ท่านบรรลุเพราะท่านฝืนกิเลส ท่านตั้งหน้าตั้งตาสู้จริง ๆ กับกิเลส การสู้กิเลสเราจะเอาอะไรไปสู้ มีแต่กำลังเฉย ๆ มีแต่กำปั้นสู้มันได้เหรอ มันต้องมีอาวุธ กิเลสคือจอมวัฏจักร อะไรจะแหลมคมยิ่งกว่ากิเลสไม่มีในโลกนี้ มันฝังอยู่ภายในจิตใจของสัตว์โลก และทำสัตว์โลกให้โง่ ส่วนกิเลสนั้นฉลาดยอดเยี่ยมที่สุดเหนือหัวใจของสัตว์โลก เพราะฉะนั้นสัตว์โลกจึงยอมจำนนต่อกิเลสโดยไม่มีเงื่อนไข
เหมือนกับว่าในโลกอันนี้มีแต่กิเลสเป็นของวิเศษวิโสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จึงไม่ได้นึกว่าจะมีอะไรวิเศษแปลกต่างไปกว่ากิเลสนี้อีก หรือยิ่งกว่ากิเลสนี้ จนกว่าได้ฟังอรรถฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงปราบกิเลสซึ่งเป็นตัวข้าศึก เป็นตัวฉลาดแหลมคม บนพระทัยพระองค์ท่านด้วยพระปรีชาสามารถฉลาดรู้แทงทะลุ หรือปราบกิเลสทั้งหลายจนราบหมด เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ นี้คือความประเสริฐ ที่แปลกต่างจากกิเลสทั้งหลาย ที่โลกทั้งหลายมีเราเป็นต้น คือเราตถาคตเป็นต้นก็ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขแต่ก่อนมา บัดนี้ได้ทราบแล้ว
นี่แหละพระองค์ได้นำธรรมะนี้ออกแสดงแก่สัตว์โลก จึงเป็นเรื่องสองอย่างขึ้นมา ทีแรกมีแต่กิเลสจมอยู่ภายในจิตใจสัตว์ ไม่ทราบจะเอาอะไรมาเทียบเคียง ไม่ทราบจะเอาอะไรมาเป็นคู่แข่งขันหรือวัดเหวี่ยงกัน มีแต่กิเลส อะไร ๆ ก็แต่กิเลส ๆ เชื่อตามกิเลสไปหมด เหมือนกับไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะแปลกต่างจากกิเลสไป พอที่จะยึดถือสิ่งนั้น แล้วปล่อยกิเลสนี้ได้เลย ต่อเมื่อได้ฟังอรรถฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาท มีเบญจวัคคีย์เป็นต้น ได้รู้จริงเห็นจริงตามธรรมนี้แล้ว กิเลสก็หลุดลอยไป ความวิเศษเพราะความหลักแหลมแห่งสติปัญญา จึงปรากฏขึ้นภายในใจของท่าน ปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่ คือเป็นอรหัตบุคคล เบญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้า
จากนั้นธรรมก็ประกาศกระจายทั่วไปทุกแห่งทุกหนตำบลหมู่บ้าน บ้านน้อยเมืองใหญ่ พระสาวกทั้งหลายช่วยประกาศให้พระพุทธเจ้า ทรงเบาพระภาระลงบ้าง แม้พระองค์เองก็ทรงประกาศอย่างเต็มพระทัยเหมือนกัน นี่จึงมีสองอย่างขึ้นมา โลกจึงได้เลือก คือ มีสีดำบ้าง สีขาวบ้าง อันนี้สีดำ อันนี้สีขาว ชอบสีอะไร อันนี้ของดี อันนี้ของเลว ชอบอะไร แต่ก่อนมีแต่กิเลส เลวขนาดไหน มันทำคนให้เลวขนาดไหน คนคนนั้นก็ยังว่าดี ยังว่าตัวดี โลภจนตาดำ ตาแดง โกรธจนอกเจ้าของจะแตก หลงงมงายจนจะไม่เป็นผู้เป็นคน ก็ยังว่าตัวดี เพราะไม่มีคู่แข่ง ไม่มีสิ่งเทียบเคียง
ต่อเมื่อได้รับอรรถธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าไปเทียบเคียงโดยเหตุโดยผลแล้ว ก็เรียกว่าเป็นคู่แข่งกันขึ้นมา มีช่องทางหรือมีอุบายมีทาง พอที่จะแยกแยะกันออกได้ว่าเราจะเลือกเอาอันไหน ความเลวกับความดี กิเลสแต่ก่อนไม่นึกไม่สงสัยว่ามันเลวยังไง ความโลภมันเลวยังไง ความโกรธมันเลวยังไง ความหลงมันเลวยังไง ราคะตัณหามันเลวยังไง เราไม่ทราบ มีแต่ดิ้นไปตามมันโดยถ่ายเดียว ไม่มีช่องมีทาง ไม่มีข้อคิดที่จะแยกแยะว่านี่มันถูกหรือผิด เป็นโทษหรือเป็นคุณประการใด ไม่มีโอกาสที่จะคิด เพราะอำนาจของกิเลสมันเหนือเรา เราไม่มีความเฉลียวฉลาดเท่ามัน จึงต้องถูกฉุดลากไปในภพน้อยภพใหญ่ สุขทุกข์ยังไง ลำบากลำบนแค่ไหนต้องยอมรับทั้งนั้น
ถ้ากิเลสลงได้บังคับบัญชาถูไถให้ไปแล้วเป็นหลีกเร้นไปไม่ได้ ต่อเมื่อได้รับอรรถได้รับธรรม คือการอบรม ธรรมเป็นของประเสริฐ เมื่อปฏิบัติแก้ไขกิเลสไปโดยลำดับ ความโลภมันเป็นโทษอย่างนั้น มันไม่ดีอย่างนี้ ความโกรธเป็นโทษอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ความหลงเป็นโทษอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้เป็นต้น ส่วนธรรมคือความละความโลภ แล้วเป็นยังไงคนมีความโลภน้อยเป็นคนสบาย คนไม่มีความโลภสบายที่สุด คนมีความโกรธน้อยค่อยสบาย คนมีความโกรธมากเป็นทุกข์ที่สุด โลภมากเป็นทุกข์ที่สุด หลงมากเป็นทุกข์ที่สุด คนมีโลภน้อยโกรธน้อยหลงน้อย มีความสุขมากกว่าคนประเภทแรกนั้น
คนละความโลภความโกรธ ความหลงได้มากเท่าไร ด้วยธรรมเป็นเครื่องปราบปราม หรือธรรมเป็นเครื่องซักฟอก ยิ่งมีความสุขขึ้นโดยลำดับ เมื่อมีความสุขขึ้นโดยลำดับเพราะการปฏิบัติแล้ว เราย่อมเห็นโทษของความโลภ ความโกรธ ความหลงไปโดยลำดับ ตามคุณธรรมของเราที่สูงขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งแก้ไขหรือถอดถอนออกหมด ขึ้นชื่อว่าเป็นกิเลสซึ่งเป็นตัวภัย ไม่ว่าประเภทใด ได้ขาดกระจายออกไปจากจิตใจหมดแล้ว นั่นแลคือผู้ประเสริฐ ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง รู้เท่าทันหมด เมื่อไม่มีสิ่งก่อกวนให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ไม่มีสิ่งยุแหย่ ไม่มีสิ่งฉุดลาก ไม่มีสิ่งทำให้จิตใจกระเพื่อมขุ่นมัว ใจย่อมสบายหายทุกข์ไปโดยประการทั้งปวง
ผู้ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ย่อมเป็นผู้สบายสุดยอดตลอดอิริยาบถและกาลสถานที่ ยืนก็ไม่มีอะไรกวนใจ เดิน นั่ง นอน ก็ไม่มีอะไรกวนใจ เพราะสิ่งกวนใจได้แก่กิเลสอย่างเดียวเท่านั้น ได้สิ้นไปจากใจแล้วด้วยอำนาจแห่งธรรม มีศีล มีสมาธิ ปัญญาเป็นต้น ปราบลงเรียบร้อยหมดแล้ว อยู่สถานที่ใดกาลใด ไม่ว่ามืดว่าแจ้งว่าสว่างอยู่ที่ไหนอยู่ได้ทั้งนั้นเพราะไม่มีสิ่งกวนใจ ให้อยู่คนเดียวทั้งวันทั้งคืน เมื่อชีวิตยังมีอยู่ก็อยู่ได้สบาย ๆ เพราะอยู่ด้วยความพอตัวของใจที่อิ่มตัวแล้ว ไม่หิวโหย ความหิวโหย คือเรื่องของกิเลสทั้งมวล หิวมาก หิวน้อย คือความมีกิเลสมากน้อย ไม่หิวเลยก็คือไม่กิเลสเครื่องทำให้หิว อยู่ไหนจึงสะดวกสบายทั้งนั้น
นี่คือผลแห่งการปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส ด้วยความยากลำบากเพียงใดก็ตาม ความยากลำบากเหล่านี้เป็นต้นทุน อย่าถือว่าเป็นอุปสรรค อย่าทำจิตใจให้ท้อถอย เพราะความลำบากแห่งการประกอบความพากเพียร เราพากเพียรหนักเบาขนาดไหน ทุกข์เพียงไรก็ตาม ก็ทุกข์เพื่อผลประโยชน์อันดีและผลประโยชน์อันดีเลิศ จึงไม่ควรถือความทุกข์ความลำบากเหล่านี้ เป็นอุปสรรคเครื่องกีดขวางทางเดินให้ก้าวไปไม่ออก ดีไม่ดีก็ท้อแท้อ่อนแอ ถ้าอ่อนลงไปก็ไปหากิเลสนั่นแหละ ให้มันเหยียบย่ำทำลายทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนทุกภพทุกชาติ กิเลสเป็นอย่างนั้น
กิเลสเป็นผู้จูงมนุษย์ เป็นผู้จูงสัตว์โลกไปตามกระแสของกิเลส นอกจากนั้นผลที่ทำขึ้นซึ่งฝังอยู่ภายในจิตใจนั้น ย่อมมีทั้งสุขทั้งทุกข์ เรียกว่าวิบาก ที่ทำขึ้นเพราะอำนาจของกิเลสก็ได้รับความทุกข์ความลำบาก เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งธรรมคือคุณงามความดีก็ได้รับความสุขความสบาย ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ก็เพราะเชื้อของจิตพาให้เกิด เราอย่าเข้าใจว่าอันใดพาให้จิตเกิด ปฏิบัติให้รู้ภายในจิตใจนี้
พระพุทธเจ้าที่เปล่งพระอุทานออกมาว่า "อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว" เราเป็นผู้ประเสริฐเหนือโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว เราหมดแล้วซึ่งภพซึ่งชาติ พระองค์ประกาศออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ เพราะกำจัดกิเลสตัวเป็นเชื้อให้เกิดภพเกิดชาติหมดไปแล้วโดยสิ้นเชิงจากพระทัย ไม่ใช่ประกาศด้วยความด้นเดาเกาหมัด ธรรมะที่ประกาศออกมาจึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกบททุกบาท ทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่าธรรมขั้นใด
เพราะพระทัยของพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์ ด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมแล้ว จึงได้นำธรรมะนั้นออกมาแสดงแก่สัตว์โลก ด้วยความอาจหาญตามหลักความจริงที่ทรงรู้เห็นแล้วนั้น จึงเรียกว่า สวากขาตธรรม คือตรัสไว้ชอบแล้ว ผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้แล้วนี้ย่อมเป็นนิยยานิกธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ไปโดยลำดับ ๆ จนพ้นจากทุกข์ไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีแวะเวียนในภพใดชาติใดอีก
เราอย่าไปค้นดูภายนอก ดูคัมภีร์ก็เถอะ เราไม่ประมาท เรายกบูชาไว้เสมอ ตำรับตำราท่านประกาศเอาไว้ เราอ่านเข้าไปเป็นแต่ความจำยิ่งกว่าความจริงไปเสียหมด ถ้าหากว่าอ่านลงไปเข้าใจแล้วเป็นความจริงขึ้นมา ผู้นั้นจะทราบความจริงภายในตน เพราะธรรมทั้งมวลที่แสดงไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นแสดงออกไปจากจิตใจ ชี้เข้ามาที่จิตใจ ซึ่งเป็นตัวเหตุ ตัวกิเลสตัณหาอาสวะ ตัวพาให้เกิดแก่เจ็บตาย อยู่ที่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้น ไม่อยู่ที่อื่น การที่ท่านประทานเอาไว้นั้นก็ชี้เข้ามาภายในนี้
แต่เราเรียนไม่ได้เรียนน้อมเข้ามาสู่ภายในตน เรียนเตลิดเปิดเปิงออกไปข้างนอก ยิ่งลุ่มยิ่งหลงไปเสียยิ่งกว่าไม่ได้เรียนเสียอีก มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ดีไม่ดีเกิดตัณหาอาสวะมากเพิ่มพูนขึ้นอีกเพราะการเรียน เพราะเหตุไร เพราะเข้าใจว่าตนรู้ เรียนได้นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก มหาเปรียญ จบพระไตรปิฎกเท่าไรก็ยิ่งเกิดทิฐิมานะ จนก้าวขาไม่ออกไปแล้วมันหนักความรู้ ความจริงมันหนักทิฐิมานะ มันหนักความสำคัญมั่นหมายตนต่างหาก ไม่ใช่หนักความจริง ถ้าความจริงแล้วไม่หนัก
ผู้ปฏิบัติจึงย้อนเข้ามาสู่ตน เรียนเรื่องอะไรก็ตาม ให้พึงย้อนเข้ามาสู่จิตซึ่งเป็นตัวกลาง เพราะธรรมทั้งมวลสอนเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ สอนสัตว์ตัวใดก็ตาม จะเล่าถึงเรื่องนิทาน เกี่ยวกับเรื่องพระสูตรก็ตาม ก็เป็นเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องความทุกข์ความลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องของจิตผู้พาให้เกิดตายเนื่องมาจากกิเลสเป็นตัวสำคัญทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องวินิจฉัยใคร่ครวญเข้ามาหาหลักความจริง หลักความจริงอันยอดเยี่ยมคืออะไร ก็คือสติปัฏฐาน ๔ หนึ่ง สัจธรรมทั้ง ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หนึ่ง นี้ยอดแห่งธรรมลงมาที่นี่
ถึงจะแสดงไป ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ออกมาจากต้นใหญ่ ๔ นี้แหละ เป็นต้นอันใหญ่โต สติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ นี้ให้น้อมเข้ามาให้รู้ความจริง เรียนไปเราจำได้แต่ชื่อ มันไม่ได้ฆ่ากิเลสตายสักตัวเดียว แล้วกิเลสจะเบาบางไปจากจิตใจได้ยังไง จำชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ส่วนตัณหาร้อยปอดเราไม่ได้คิดนี่นะ มันร้อยอยู่ในปอดในจิตนี่เราไม่ได้คิด เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้ามาแก้ตรงนี้
เพียงเรียนเท่านั้นไม่สำเร็จ เรียนพอจำได้เป็นปากเป็นทางแล้ว ให้น้อมเข้ามาเป็นเครื่องปฏิบัติดำเนินดังที่สาวกทั้งหลายท่านดำเนินตามพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนแล้ว ในเบื้องต้นก็เป็นปริยัติ พระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทสอน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้ท่านทั้งหลายได้นำงาน ๕ ชิ้นนี้เป็นต้น คือครอบหมดอวัยวะทุกส่วนที่รวมตัวของสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ เข้าไว้ใน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้ ให้นำงาน ๕ ชิ้นนี้ไปประพฤติปฏิบัติเถิด เพราะขณะที่ประทานพระโอวาทตอนบวชนั้นเวลาไม่พอ อุปัชฌายะจึงต้องสอนเพียงแค่นั้นเสียก่อน
ตจปัญจกกรรมฐาน แปลว่ากรรมฐานมีหนังเป็นที่ ๕ แปลออกมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วก็ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ฟังซิ คือให้อนุโลมปฏิโลมย้อนหน้าถอยหลัง ด้วยการพิจารณา ให้เห็นชัดเจน ต่อสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ภายในตัวนี้ เอ้า เรามอบงานให้แล้ว ให้ทำงานให้สำเร็จนะ งานนี้เป็นงานสำคัญ เมื่อทำสำเร็จแล้ว รื้อภพรื้อชาติรื้อวัฎสงสาร ความเกิดแก่เจ็บตายนั้น จะหมดสิ้นไปจากใจซึ่งเป็นตัวสำคัญ ให้เรียนนี้ พอเรียนนี้เข้าไปมาก ๆ เข้าใจมาก ๆ ทั่วสกลกาย เพราะอวัยวะต่าง ๆ มันเหมือนกันหมด เมื่อเข้าใจอันหนึ่งแล้ว ก็ทำให้กระจายไปทั่วถึงบรรดาอวัยวะที่มีอยู่ภายในร่างกาย และกระจายออกไปข้างนอก ไม่ว่าสัตว์ บุคคลผู้ใดรายใด มันเหมือน ๆ กันนี้
เมื่อประทานงาน ๕ ชิ้นนี้ให้แล้ว ก็บอกสถานที่ นี่งานของพระผู้ปฏิบัติ มุ่งหน้ามุ่งตาเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ พระพุทธเจ้าประทานงานนี้ให้มี เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น นี่คืองานของพระ งานอันศักดิ์สิทธิ์ งานอันสำคัญ แล้วก็ประทานพระโอวาท ในสถานที่ที่จะควรประกอบการงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความราบรื่นปลอดภัย ไม่ต้องก่อความกังวลวุ่นวาย คือสถานที่เช่นไร
ท่านก็สอนอีกว่า รุกฺขมูลเสนาสนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุตฺสาโห กรณีโย บรรพชาอุปสมบทแล้วให้ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ตามถ้ำ เงื้อมผาต่าง ๆ อันเป็นที่เหมาะสมแก่งานประเภทนี้ แล้วพยายามทำอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด นั่นพระพุทธเจ้าประทานไว้นี้ ต่อจากนั้นสำนักงานของพระผู้มุ่งความพ้นทุกข์ ส่วนมากจึงอยู่ตามป่าตามเขาตามร่มไม้ชายป่า คือทางจงกรมบ้าง แคร่สำหรับนั่งภาวนาบ้าง นั้นคือสำนักงานของพระ สถานที่ทำงานของพระก็คือในป่าในเขาที่เป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
นี่ครั้งพุทธกาลพระท่านทำงานอย่างนี้ ท่านเสาะแสวงหาทำงานในสถานที่ดังกล่าวนี้ เพราะฉะนั้นผลงานของท่านจึงปรากฏว่า องค์นั้นสำเร็จโสดา องค์นี้สำเร็จสกิทาคา องค์นั้นสำเร็จอนาคา องค์นั้นสำเร็จอรหัตผล เป็นอริยบุคคลอันสูงสุดในโลกขึ้นไปโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงความสูงสุด เพราะงานประเภทที่พระพุทธเจ้าประทานไว้นี้ และสถานที่อันเหมาะสมเหล่านั้น
ผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพื่อถอดถอนกิเลสและเพื่อมรรคผลนิพพาน ดังธรรมที่ประทานไว้เพื่อมรรคผลนิพพานแก่สัตว์โลก ก็พึงปฏิบัติตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้นี้จะไม่ขัดแย้งต่อธรรม เมื่อไม่ขัดแย้งต่อธรรมแล้วก็ไม่ขัดแย้งต่อมรรคผลนิพพาน และเป็นเครื่องปราบกิเลสไปโดยลำดับ ไม่ส่งเสริมกิเลส งานนี้ไม่ใช่งานส่งเสริมกิเลส งานอื่นเราไม่แน่ใจเพราะพระพุทธเจ้าไม่แสดงไว้ ให้ท่านทั้งหลายนำไปคิดให้มากตรงนี้
เวลานี้งานไม่ได้เป็นไปอย่างนี้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นี้ มันปลีกออกนอกลู่นอกทาง จนกลายเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นจริงเป็นจังของศาสนธรรมไปหมดแล้วเวลานี้ เอาศาสนาเป็นโล่ไปเฉย ๆ แล้วเอางานอื่นมาทำ ส่วนมากกลายเป็นงานสั่งสมกิเลสทิฐิมานะ ใครจะมีทิฐิมานะยิ่งกว่าพระ เอ้า ถือตนว่าเป็นพระมีศีล ๒๒๗ นี่เป็นความสำคัญของตน แล้วเป็นเพศที่เขาเคารพนับถือ เขาไม่ค่อยจะพูดจะว่าอะไรต่อหน้าต่อตา อย่างมากก็ซุบ ๆ ซิบ ๆ กัน เพราะเขาเคารพผ้าเหลือง
ผ้าเหลืองนี้เป็นของสำคัญมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้า แม้เขาไม่เคารพพระแต่เขาก็เคารพผ้าเหลือง เราก็ได้ใจสนุกสั่งสมทิฐิมานะขึ้นมา อยากทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ นี่ยิ่งเป็นการสั่งสมกิเลสตัณหาอาสวะทิฐิมานะ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่กิเลสตัวน้อยตัวใหญ่ลูกเต้าหลานเหลนขึ้นมา ถึงปู่ย่าตายาย เลยมากองอยู่หัวใจพระนี้ทั้งหมด แทนที่จะตัดจะชำระสะสางมันออกไป เลยกลายเป็นเรื่องสั่งสมเลี้ยงดูมันเสียอย่างอิ่มหมีพีมันไปเลย แล้วมรรคผลนิพพานจะมีอยู่ที่ไหน มันก็มีแต่ความโลภความโกรธความหลงทั้งวันทั้งคืนจนลืมเนื้อลืมตัวนั่นแหละ
พระหลงนี่ยิ่งร้ายกว่าฆราวาสหลงจะว่าไง เรายังไม่ทราบเหรอ เขายกยอสรรเสริญว่าเราเป็นพระ ๆ ยังไม่ระลึกความเป็นพระของตนบ้าง แต่ไปคว้าเอาสิ่งที่เลวทรามทำลายเรื่องของพระนั้นมีมากต่อมาก โดยไม่คำนึงถึงตนเลยนี้ มันเป็นความดีความชอบธรรม เป็นความฉลาดของพระตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วเหรอ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะพินิจพิจารณาด้วยกันทั้งนั้น เพราะเป็นนักปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าเป็นจอมปราชญ์ฉลาดเหนือโลกมาสั่งสอนสัตว์โลก ไม่ได้สั่งสอนให้โง่เขลาเบาปัญญา และเฉพาะอย่างยิ่งสั่งสอนพระ ทำไมพระจะโง่ล่ะ สั่งสอนพระก็เพื่อความฉลาด เพราะเป็นผู้นำของประชาชนทั้งหลาย ทำไมเราจะต้องโง่ยิ่งกว่าประชาชนในภาคปฏิบัติธรรมนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนั้นให้พากันตั้งอกตั้งใจ เอ้า เป็นก็เป็นเถอะ ตายก็ตายเถอะ เรื่องโลกนี้โลก อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ในกรอบแห่งความตายด้วยกัน เอ้า ตายให้ตายดี ทุกข์ก็ให้ทุกข์ด้วยความพากเพียร เราเคยทุกข์มาแล้วเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่การงานมามากน้อยเพียงไร เคยทุกข์มาพอประมาณ หรือทุกข์มาอย่างสาหัสแล้ว ทุกข์เพราะประกอบความเพียรนี้ทำไมจะทนไม่ไหว
กิเลสมันจะเหนือธรรมไปได้ยังไง กิเลสตัวไหนตัวมันเก่งกล้าสามารถเหนือธรรมไปได้มีไหม ถ้าหากว่ากิเลสมีตัวเก่งกล้าสามารถเหนือธรรมไปได้แล้ว พระพุทธเจ้าก็อุบัติขึ้นในโลกไม่ได้ สาวกอรหัตอรหันต์ก็บรรลุธรรมเป็นขั้นอรหันต์เป็นบุคคลพิเศษขึ้นไม่ได้ การที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมเป็นผู้วิเศษก็ดี สาวกอรหัตอรหันต์ทั้งหลายได้บรรลุธรรมจนกลายเป็นผู้วิเศษ ถึงกับเราได้เปล่งวาจาถึงท่านว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นี้ก็ดี ก็เพราะว่าไม่มีกิเลสตัวใดที่จะมีอำนาจเหนือธรรม และฉลาดแหลมคมเหนือธรรมของพระพุทธเจ้าไปได้
ธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องปราบกิเลส เป็นสิ่งที่แหลมคมมากที่สุดยิ่งกว่ากิเลสทั้งหลาย จึงสามารถปราบกิเลสได้ แล้วยกจิตให้พ้นจากทุกข์ไปโดยสิ้นเชิงไม่มีสิ่งใดเหลือเลย เมื่อเรานำธรรมของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพื่อตนเองและเพื่อปราบปรามกิเลส ทำไมเราจึงจะโง่เขลาเบาปัญญา ทำไมเราจะเอาความท้อแท้อ่อนแอเข้ามาเป็นเครื่องสนับสนุนกิเลส แทนที่จะสนับสนุนธรรม มันเข้ากันได้แล้วเหรอกับพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้ให้มีความขยันหมั่นเพียร
เอ้า ฟันลงไปซี เราฟันเราไม่เป็นไร ฟันเราคือฟันกิเลส ฟาดมันลงไป กิเลสมีความผาดโผนขนาดไหนมัชฌิมาปฏิปทาต้องฟาดเครื่องมืออันผาดโผน ต่อสู้กิเลสให้มันพังทลายลงไป เราอย่าเอากบไปไสต้นไม้ทั้งต้นไม่ถูก ไม้ต้นหนึ่งจะเอามาทำบ้านทำเรือนเครื่องมือเขามีกี่เครื่อง พิจารณาดูซิ มีทั้งขวานทั้งเลื่อยทั้ง.หลายอย่างหลายประการ ทั้งกบทั้งสิ่วทั้งอะไรต่ออะไรมีมากมาย กว่าจะมาสำเร็จรูปเป็นไม้เป็นแผ่นกระดานขึ้นมา จนกระทั่งถึงกลายเป็นบ้านเป็นเรือนเขามีเครื่องมือกี่ประเภท
นี่เครื่องมือปราบกิเลสจะมีเพียงประเภทเดียวเท่านั้นได้เหรอ อะไรจะฉลาดแหลมคมยิ่งกว่ากิเลส และอะไรจะหยาบยิ่งกว่ากิเลส อะไรจะละเอียดยิ่งกว่ากิเลสไม่มีในโลกนี้ นอกจากธรรมเท่านั้น ธรรมนี้เหนือกิเลสอยู่โดยลำดับ ๆ ต้องปราบลงด้วยเครื่องมืออันหนัก มัชฌิมามีหลายประเภท นี่มัชฌิมาสำหรับกิเลสประเภทผาดโผน กิเลสประเภทดื้อด้าน นี่มัชฌิมาของกิเลสประเภทที่รองลงมา นี่มัชฌิมาของกิเลสประเภทละเอียด นี้มัชฌิมาของกิเลสประเภทละเอียดโดยลำดับ ๆ จนกระทั่งมัชฌิมาเครื่องปราบกิเลสประเภทที่ละเอียดสุด นั่น มีหมด ทำไมเราไม่เลือกเฟ้นเราไม่ค้นหามาปราบกิเลส
กิเลสอยู่ในหัวใจเราอยู่ทั้งวันทั้งคืนมันทำไมอยู่ได้ ธรรมะจะผลิตขึ้นมาเพื่อปราบกิเลส ทำไมผลิตขึ้นมาไม่ได้ เราก็เสียโง่กิเลสละซี ถ้าเสียโง่กิเลสจะเป็นศิษย์ตถาคตได้ยังไง พระพุทธเจ้าไม่เสียโง่กิเลส สาวกทั้งหลายไม่ได้เสียโง่กิเลส เราทั้งวันทั้งคืนยืนเดินนั่งนอนตลอดกาลมีแต่เสียโง่กิเลส ๆ แพ้ราบ ๆ ตลอดเวลา เอาชัยชนะมาจากไหน เราจะอยู่ได้ด้วยความหวังอันใด ถ้ามีแต่ความแพ้ตลอดอย่างนี้ ใช้ไม่ได้เลย เราต้องผลิตขึ้นมาสติปัญญาอย่าลดละท้อถอย
นี่ได้ปฏิบัติมาเต็มสติกำลังความสามารถก่อนที่จะได้มาสั่งสอนหมู่เพื่อน ได้ออกมาสังคมถึง ๒๐ กว่าปี แต่ก่อนอยู่ในป่าในเขา ไม่นึกว่าจะมีลูกศิษย์ลูกหาประชาชนพระเณรเข้ามาเกี่ยวข้องเราเลย ก็นึกว่าจะตายคนเดียวด้วยเวลาประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น เพราะเอาจริงเอาจัง เมื่อได้เชื่อธรรมจาก..ยกตัวอย่างเอาใกล้ ๆ นี้เลยตามความรู้สึกของจิต ตามความถนัดของใจเรานี้ คือได้รับโอวาทจากท่านอาจารย์มั่นอย่างถึงใจ สมกับความมุ่งมั่นของเราแล้วก็ถึงใจ เมื่อได้ถึงใจแล้วการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างถึงใจ ๆ
การที่กล่าวมาทั้งนี้ได้ทำมาแล้วทั้งนั้น บางครั้งบางคราวถึงกับจะตาย เอา ตายก็ตายไม่ถอย เรื่องถอยไม่มี ไม่ตายให้รู้ แต่มันก็ไม่ตาย เรื่องความรู้นั้นรู้ เวลาเราเข้าตะลุมบอนถึงสงครามตะลุมบอนแล้ว มันได้อุบายขึ้นมาอย่างไม่คาดไม่ฝัน ได้ความอัศจรรย์ขึ้นมาในเวลานั้น จึงทำให้เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า คนเรานี่ไม่ได้โง่อยู่ตลอดไป ถึงเวลาจนตรอกจนมุมจริง ๆ ไม่มีผู้อื่นใดเข้าช่วยแล้ว อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนจะผุดขึ้นมาทันที คือช่วยตัวเองเต็มสติกำลัง เมื่อผลปรากฏขึ้นมาจากคำว่าช่วยตนเอง ด้วยความพากเพียรโดยลำพังตนเองแล้ว มันก็เป็นสักขีพยานอันสำคัญในธรรมทั้งหลายขึ้นไปโดยลำดับ ๆ นี่ละ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ให้พึงทราบไว้
ถึงคราวจะฉลาด ฉลาดคนเรา เมื่อจนตรอกจริง ๆ ใครจะไปนอนตายเฉย ๆ ต้องคิดหาทางออกจนได้ เอาเต็มสติกำลังความสามารถ จนกระทั่งหัวใจขาดดิ้นไปแล้วนั้นละมันถึงจะไม่พยายาม ต้องพยายามเต็มเหนี่ยวเวลานั้น แล้วก็ต้องได้อุบายขึ้นมาจนได้ ต่อสู้กิเลสพังทลายลงไป เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาเพราะอุบายวิธีนี้ เพราะปฏิปทาแบบนี้ เราก็ยึดไว้เป็นหลัก ๆ เป็นสักขีพยานด้วย ยึดไว้เป็นหลักด้วยเป็นคติเครื่องดำเนินต่อไปด้วย ทีนี้คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ก็เป็นไปเรื่อย ๆ ในธรรมทั้งหลาย นี่ละการประพฤติปฏิบัติ เอาให้จริงให้จัง
คำว่ามรรคผลนิพพานอย่าไปสงสัยว่าอยู่กับกาลอยู่กับสถานที่นะ อยู่กับข้อปฏิบัติต่างหาก ธรรมะทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าประทานไว้นี้ ประทานเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้นไม่ได้ประทานไว้เพื่ออะไร ไม่ได้ประทานไว้เพื่อกาลเพื่อสถานที่ แต่ประทานไว้เพื่อผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานต่างหาก ให้นำมาปฏิบัติ กิเลสอยู่ที่ไหนเวลานี้ คำว่าทุกข์เป็นผลเกิดขึ้นมาจากกิเลส จะทุกข์ธาตุทุกข์ขันธ์ซึ่งไม่ใช่ตัวกิเลสก็ตาม แต่ธาตุขันธ์นี้ก็เป็นผลของกิเลสที่พาให้เกิด
ทุกข์อันสำคัญก็คือทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความคิดฟุ้งซ่านรำคาญในแง่ต่าง ๆ อันเป็นการสั่งสมกิเลสขึ้นมาท่านเรียกว่าสมุทัย เราจะปราบด้วยอะไรถ้าไม่ปราบด้วยมรรค คือสติปัญญาเป็นสำคัญ มีความเพียรเป็นเครื่องหนุนหลัง ปราบที่ตรงนี้อย่าไปปราบที่ตรงไหน มันรกรุงรังที่ตรงไหนให้ถากถางลงไปที่ตรงนั้น ความเตียนโล่งจะปรากฏขึ้นที่นั่นเอง ไม่ปรากฏขึ้นที่ไหน ขึ้นที่รก ๆ นั้นแหละ มันรกตรงไหนให้ถางลงไป เอาไฟเผาเข้าไปแล้วความโล่งก็ปรากฏขึ้นมาเอง
นี่มันรกรุงรังด้วยกิเลสตัณหาอาสวะต่าง ๆ เต็มอยู่ภายในจิตใจนี้ ให้ถากถางลงไปด้วยสติด้วยปัญญาศรัทธาความเพียรอย่าลดละท้อถอย แล้วก็นิโรธคือความดับทุกข์ เมื่อกิเลสตายไปแล้วทุกข์มันจะเกิดมาจากไหน กิเลสตายไปเพราะอำนาจของมรรคคือสติปัญญาเป็นสำคัญ กิเลสดับไปมากเท่าไรทุกข์ก็ดับไปเรื่อย ๆ เป็นนิโรธขึ้นมาเป็นขั้น ๆ สุดท้ายก็นิโรธเต็มภูมิจะว่าไง นี่การปฏิบัติ
ให้เป็นที่แน่ใจในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ประทานไว้แล้วไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี นี้แลจะเป็นศาสดาแทนเราตถาคต เมื่อเราตถาคตผ่านไปแล้ว หรือพูดง่าย ๆ ว่าเมื่อตถาคตตายไปแล้ว ธรรมวินัยนี้แลจะเป็นองค์ศาสดาแทน พูดไม่มีผิดไม่มีเพี้ยนพูดอย่างตรงไปตรงมาเลย เมื่อผู้ทรงธรรมทรงวินัยอยู่ตราบใดขณะใดเวลาใด ผู้นั้นคือมีศาสดาอยู่ครองหัวใจอยู่ตลอดเวลา เวลารู้ธรรมก็รู้ที่ตรงนั้นไม่รู้ที่ตรงไหน รู้ขึ้นจากหลักธรรมหลักวินัยนี้เอง ฝ่ายเหตุก็คือการประพฤติปฏิบัติ ฝ่ายผลก็คือความสุขขึ้นมาเป็นขั้น ๆ
ตะกี้นี้พูดถึงเรื่องอริยสัจ ๔ มีอยู่ที่ไหน มีอยู่ในใจของเรานี้ ได้พูดถึงเรื่องนิโรธจุดดับ คำว่านิโรธดับก็ดับเพราะมรรคได้แก่สติปัญญาทำลายกิเลสลงไป นิโรธก็ดับ ดับไปเป็นลำดับ ๆ จนกระทั่งดับกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วนิโรธก็ทำหน้าที่เต็มภูมิ จากนั้นแล้วก็หมดปัญหา ทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดทราบ ท่านบอกไว้เพียงกิริยาเท่านั้น ทุกข์เกิดขึ้นมากับใจเรา เราไม่ใช่คนตายทำไมเราจะไม่รู้ กำหนดไม่กำหนดก็รู้ว่าจิตเป็นทุกข์ถ้าผู้มีสติอยู่แล้ว ท่านบอกให้เอานี้เป็นต้นเหตุ
มันทุกข์เพราะอะไรให้ค้นเข้าไปหาสาเหตุ คือตัวกิเลสเป็นสาเหตุอันสำคัญ ค้นเข้าไปหาสาเหตุจะเอาอะไรค้นถ้าไม่เอาสติปัญญาคิดค้นเข้าไป เอาความเพียรหนุนหลัง เอาความเพียรนี้เหมือนกับว่าตัดหนามจุกก้นไปจุกทางไป ไม่ให้มันถอยหลังได้เลย เอาหนามไสก้นเข้าไปเลย ค้นเข้าไปจนกระทั่งได้ถอดถอนกิเลสสมุทัยออกหมดแล้ว นิโรธเป็นขึ้นมาเอง เพราะเป็นผลของมรรคนี่นะ
พอทุกข์ดับไปแล้วอะไรที่นี่ที่ไม่ดับ ทุกข์ก็ดับเป็นกิริยาเป็นสมมุติ สมุทัยก็ดับเพราะเป็นกิริยาเป็นสมมุติ มีเกิดได้ดับได้ มรรคมีศีลสมาธิปัญญาเป็นต้นก็ดับเพราะเป็นสมมุติด้วยกัน นิโรธเมื่อทำหน้าที่ดับกิเลสทั้งหลายแล้ว นิโรธก็หายไป ผู้ที่ไม่หายผู้ที่รู้ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั้นคืออะไร คือผู้ที่รู้ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดับไปนั้นคืออะไรผู้นั้นไม่ดับ ผู้นั้นแลคือผู้บริสุทธิ์ ผู้นั้นเหนือสัจธรรมทั้ง ๔
สัจธรรมทั้ง ๔ นี้เป็นสมมุติด้วยกันทั้งสองภาค ภาคทุกข์กับสมุทัยเป็นฝ่ายกิเลสก็ดี ภาคนิโรธกับมรรคอันเป็นฝ่ายแก้ฝ่ายดับก็ดีนี่ก็เป็นสมมุติ สิ่งใดที่เป็นสมมุติสิ่งนั้นย่อมมี อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีเกิดมีดับได้ แต่ผู้บริสุทธิ์ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดับไปแล้วคืออะไร ผู้นั้นไม่ดับ นี่แหละผู้ไม่เกิดก็คือผู้นี้
ตัวนักท่องเที่ยวดังพ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านแสดงไว้ เราได้เขียนในประวัติของท่านก็คือผู้นี้ นักท่องเที่ยวคือจิตดวงนี้ อะไรเป็นสาเหตุให้มันท่องเที่ยว ผู้ปฏิบัติจะต้องทราบประจักษ์เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายทราบ เพราะธรรมนี้บอกเรื่องให้ทราบ ประกาศสอนเพื่อให้ทราบทั้งนั้น ให้ทราบของจริงที่มีอยู่ในตัว สวากขาตธรรมตรัสไว้ชอบ ชอบอะไรก็คือว่าค้นลงไปซี อะไรพาเป็นสาเหตุให้จิตเกิดอยู่ไม่หยุดไม่ถอย นั่นละเราปฏิบัติเข้าไปเท่าไรยิ่งเห็นชัดเข้าไป เช่นเดียวกับเราต้องการปลาในหนองนี้ เราวิดน้ำออก ๆ วิดออก เมื่อน้ำลดลงไปเท่าไรปลาก็รวมตัวลงไป ๆ วิดออก ๆ จนหมดน้ำ ปลาก็รวมตัวหมดมองเห็นได้หมด เป็นปลาชนิดใดบ้าง มีมากมีน้อยรวมตัวลงไปให้เห็นชัดเจน
นี่เราก็วิดกิเลสตัณหาอาสวะออกซี มันเป็นน้ำท่วมหัวใจนี่จะว่าไง วิดออก ๆ ด้วยความเพียรของเรา ทีนี้เรื่องอุปาทานความสำคัญมั่นหมายไปยึดอะไร ๆ บ้าง มันก็หดตัวเข้ามา ๆ พอรู้แจ้งรู้ชัดแล้วต้องปล่อย ปล่อยเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงขันธ์ ๕
เบื้องต้นมันก็ยึดทางรูป ทางเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วโลกธาตุดินแดนมันยึดไปได้หมด มันรักมันชังไปได้หมด สำคัญมั่นหมายไปได้หมด ทีนี้พอพิจารณาเข้าใจแล้วมันถอนตัวเข้ามา ๆ จนมารวมตัวอยู่ในขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็มาเข้าใจในรูปนี้ว่าเป็นอะไรแล้วก็ถอน แล้วก็เข้าใจในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความจริงของมันอีก ด้วยความจริงของสติปัญญาอีกแล้วถอน รู้เท่า ๆ ถอนอุปาทาน รู้เท่าถอนอุปาทาน กิเลสอาสวะก็รวมตัวเข้าไปสู่จิตแห่งเดียว
นี้ละเหมือนกับวิดน้ำ วิดน้ำมาจากโลกธาตุโน่น มันติดรูป ติดเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสอันใด เอา พิจารณามันไป การพิจารณานั้นเพื่อให้เข้าใจนั่นเอง เหมือนกับวิดน้ำ เมื่อเข้าใจแล้วจิตต้องถอนตัวเข้ามา ๆ จนกระทั่งถึงขันธ์ ๕ พิจารณาขันธ์ ๕ จนเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วถอนตัวเข้ามาอีก เข้าไปสู่จิตดวงเดียว นั่นเห็นตัวปลาชัดแล้วที่นี่ ตัวเกิดก็เห็นที่นี่ จิตริก ๆ ๆ มันไม่มีที่ยึด แต่ก่อนมันยึดรูป ยึดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกมาเป็นสายยาวเหยียดมันรู้มันเห็นนี่ เห็นด้วยปัญญา
อันนี้จะไปเห็นด้วยสัญญาเรียนจบพระไตรปิฎกก็เถอะไม่ใช่คุย แบกภพชาติอยู่นั้นตลอดไปถ้าไม่ปฏิบัติให้เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้แก้ได้ด้วยความจริง รู้ได้ด้วยความจริง ไม่ใช่รู้ได้ด้วยความจำเฉย ๆ แก้ได้ด้วยความจำเฉย ๆ นี่นะ ต้องแก้ด้วยความจริง ปฏิบัติเข้าไปอย่างที่ว่านี่ พอรู้แล้วมันไม่ยึด ก็เหมือนอย่างเราจับคองูขึ้นมาจากสุ่มหรือจากแหอะไรก็ตาม เราเข้าใจว่าเป็นปลาไหลหรือเป็นปลาอะไร พอยกขึ้นมารู้ชัดว่างูเท่านั้นมันสลัดปั๊วะเดียวเท่านั้น มันจะไปถือไว้ทำไมไม่ใช่ปลานี่นะ มันอสรพิษนี่ อันนี้เมื่อพิจารณาเห็นโทษของมันอย่างชัดเจนแล้วก็สลัดเหมือนกันนั่นเอง สลัดเข้าไป ๆ จนกระทั่งถึงจิต
ทีนี้เมื่อถึงจิต กิเลสรวมตัวเข้าไปสู่จิตหมดแล้วไม่อยู่ ไม่มาเกาะไม่มายึดในรูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลายก็ดี ปล่อยตัวเข้าไปหมด เหมือนกับว่ามันลดลงไป ๆ จนกระทั่งรวมตัวเข้าไปสู่ใจดวงเดียว แล้วเห็นตัวปลาได้ชัด ปัญญาพิจารณาลงนั้นฟาดฟันลงจุดนั้น จุดที่ปลาไปรวมตัวอยู่ที่จุดนั้น ไม่ต้องเอาไว้แม้แต่จิต จะสงวนไว้ทำไมถ้าจิตเป็นของจริงแล้วจิตไม่ฉิบหาย เอ้า ฟาดลงไป มันมีความสำคัญอะไรว่าจิตเป็นเรา เราเป็นจิต ว่าจิตเราผ่องใส จิตเรามีความสง่าผ่าเผย จิตเราเป็นของอัศจรรย์ นี่ละคืออวิชชาหลอก หลอกชัด ๆ อย่างนี้แหละ ถ้าสติปัญญาไม่ทันมันก็จะถือว่าจิตนี้ละ ไม่มีอะไรที่จะถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ถือแล้วมันมาถือจิตนี้ ถ้าสติปัญญาไม่ทัน
เพราะฉะนั้นสติปัญญาขั้นมหาสติมหาปัญญาจะทนไปไม่ได้ที่จะไม่รู้ ก็ฟาดลงไปตรงนั้น แล้วธรรมชาติที่เป็นตัวอวิชชาจริง ๆ ตัวปลาใหญ่จริง ๆ มันจะทลายลงไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ นั้นแลที่นี่ภพจะหามาจากไหนมันรู้แล้วที่นี่ ตัวพาให้เกิดแก่เจ็บตายคือตัวไหนมันก็รู้ ทีนี้เมื่อธรรมชาติอันนี้ดับไปแล้ว ตัวไหนล่ะจะพาให้เกิดให้ตายอีกแต่นี้ต่อไป ไม่มีก็รู้ประจักษ์ นี่คือรู้ด้วยความจริง จริงอย่างนี้จึงเรียกว่าจริง พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่มาลูบ ๆ คลำ ๆ จำได้แต่ชื่อแต่นามของกิเลสตัณหาอาสวะ แล้วก็ถือเอา ๆ ถือเอาตั้งแต่กิเลสแบกเต็มหัวใจ ต้องทำอย่างนี้ซิ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้แยกกันไม่ออก เรียนรู้แล้วให้ปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วความรู้แจ้งแทงตลอดจะรู้ขึ้นมาโดยลำดับ จนกระทั่งทะลุปรุโปร่งไปหมด
เอาแค่นี้ละ