ความสกปรกเท่านั้น มันก็เสียตัวของมันเอง เราดีอยู่เสมอ ถ้าหากว่าเราไม่ดี ใครจะชมเชยขนาดไหนก็เถอะ มันก็เท่าเดิมนั่นแหละ อยู่ที่ตรงนี้เรื่องศาสนา เรื่องความจริงเป็นสำคัญ ไหนมันถึงไม่ได้เรื่อง การปฏิบัติเหลาะ ๆ แหละ ๆ หาความจริงจังไม่ได้ ที่จะมาพูดให้ฟังเรื่องหลักการภาวนาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เงียบ ! ไม่ได้เรื่องอะไรเลย เป็นเพราะเหตุไร ของจริงมีอยู่ประจำแท้ ๆ ในกาย ในจิตของตัวเอง สอนก็สอนลงที่นี่ ที่ของจริงนี่ ซึ่งควรจะพินิจพิจารณา ค้นคว้าตามหลักความจริงให้เห็นขึ้นมารู้ขึ้นมา ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านทรงบำเพ็ญมา และบำเพ็ญมา ท่านไม่หนีจากหลักสัจธรรม
ความจริงอยู่ที่นี่ ขุดค้นลงที่นี่ มันไม่รู้ได้เหรอ ต้องรู้ ไม่มีเรื่องสมัย กาลสถานที่อันใด ที่จะมากีดขวางบังคับปฏิปทาเครื่องดำเนินอันถูกต้องดีงามของผู้ปฏิบัติดีอยู่แล้ว ให้แคล้วคลาด จากผลที่จะพึงได้รับมากน้อยตามกำลังของตน หลักการปฏิบัติเป็นของสำคัญ ไปตื่นลมตื่นแล้งอยู่งั้น
เดี๋ยวนี้ศาสนามีแต่ลมนะ ลมปาก เรียนเสียจนปากจะฉีกแล้วได้ลมนั้นมาก็มาอวดน้ำลายกัน เหมือนสุนัข แล้วกัดกันด้วยน้ำลายฟุ้งนั่น กัดกัน จำเอาแต่ชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะ จำชื่อของอรรถของธรรมของมรรคผลนิพพาน ได้แต่ชื่อเท่านั้นก็ว่าตัวรู้ตัวฉลาด กิเลสตัวเดียวไม่หลุดลอยออกเลย หัวใจร้อนยิ่งกว่าภูเขาไฟทั้งลูก ไม่เห็นโทษของตัวเองบ้างเลยได้เรื่องอะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี่ธรรม ๓ ประการนี้เกี่ยวเนื่องกัน ปริยัติได้แก่การศึกษา อย่างน้อยเบื้องต้นพระอุปัชฌายะให้โอวาทสั่งสอนแล้ว นั้นคือปริยัติ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง เป็นต้น แล้วก็ย้อนกลับมา ให้พิจารณาอาการเหล่านี้ถอยหน้าถอยหลังจนเป็นที่เข้าใจ ด้วยความมีสติ ด้วยความจงใจ ทำอย่างจริงจัง นี้แลคือกุญแจเปิดมรรคผลนิพพาน นี้แลคือเครื่องปราบกิเลส กิเลสมันชอบยึดชอบถือสิ่งเหล่านี้ นี่ก็ปริยัติ เรียกว่าได้เรียนมาแล้ว
จากนั้นก็ รุกฺขมูลเสนาสนํ สอนอีกแล้ว นิสฺสาย ปพพชฺชา ตตฺถ เต ยาวชีวํ อุสฺสาโห กรณีโย เป็นต้น บรรพชาอุปสมบทแล้ว ให้เธอทั้งหลายไปเที่ยวอยู่ตามรุกขมูล ร่มไม้ ชายป่า ชายเขา ว่ากันไปเรื่อย ตามถ้ำ เงื้อมผา ในป่ารกพงไพร ที่ไหนจะเป็นที่สะดวกกายสบายใจในการบำเพ็ญสมณธรรม ให้อยู่ในสถานที่นั้นแล้วทำความอุตส่าห์พยายามอย่างนี้ตลอดชีวิตเถิด นั่น นี่คือปริยัติได้เรียนมาแล้วทุกคนจากอุปัชฌายะ ทำไมไม่ทราบว่าปริยัติคืออะไร
จากนั้นก็ปฏิบัติตาม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่านให้พิจารณาอย่างไร เอ้าพิจารณาลงไปซิ ผมมันเป็นยังไง ความสกปรกโสมมของมัน ทำไมถึงเทิดทูนมันนักหนาชมเชยมันนักหนา เพียงตกลงไปหาอาหารซึ่งเป็นที่รับประทานเท่านั้น เส้นเดียวเท่านั้นก็ขยะแขยงกัน แน่ะมันเป็นยังไงถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นของดีของสะอาด ทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น ขยะแขยงกันทำไม กลืนลงไปหมดนั้นเป็นไร ที่เกิดที่เป็นอยู่มันเป็นยังไงผม ขนมันอยู่ในที่สกปรก เกิดจากที่สกปรก ในร่างกายนี้เป็นบ่อแห่งความสกปรก กองแห่งความสกปรกทั้งสิ้น ปฏิกูลโสโครกทั้งนั้น แล้วสิ่งเหล่านี้เกิดจากสถานที่นั้น ตัวของมันเองก็เป็นตัวปฏิกูลโสโครกอยู่แล้ว พิจารณาลงไปให้เห็นตามความจริง
เล็บก็ดูเอา ฟันก็กระดูกนั่นแหละ ตัวสกปรก ต้องล้างอยู่เรื่อยไม่งั้นเหม็นฟัน หนังหุ้มกระดูกอยู่นี่ ถึงพอดูกันได้แล้วก็หลงกันด้วยหนังนี้เท่านั้น บาง ๆ พิจารณาซิ โลกจะว่าฉลาดได้ยังไงเมื่อมาหลงแค่นี้ หนังเฉย ๆ ก็เสกสรรปั้นยอว่าสดสวยงดงาม ว่าเป็นหญิง เป็นชาย เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทั้งที่หาความจริงอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่ความจริงสักแต่ว่าธาตุ สักแต่ว่าขันธ์เท่านั้น นี่ภาคปฏิบัติพิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้ พิจารณาไม่หยุด ไม่ถอย ทำไมจะไม่รู้
จิตอย่าปล่อยมันไปที่อื่น เคยปล่อยมาพอแล้วมันเกิดประโยชน์อะไรบ้าง เราควรจะนำมาบวกมาลบกัน ตั้งแต่วันเกิดมา มันเคยคิดเคยปรุงเรื่องอะไรตั้งแต่ยังไม่บวช ปล่อยจิตปล่อยใจเสียจนเสียเนื้อเสียตัวไปมีมากมาย เสียผู้เสียคนเพราะการปล่อยใจ เวลานี้เราจะรักษาใจให้เป็นของมีคุณค่า อันใดที่ไม่ดีสำรอกปอกออกจากใจ ให้ใจได้รับความสงบร่มเย็นด้วยการปฏิบัติ
เฉพาะอย่างยิ่งเราเป็นนักบวชอยู่แล้วนี่ มีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ตามความมุ่งมั่นของตนที่คิดเอาไว้ พิจารณาให้เห็นชัดเจนซิ อันไหนอาการใดที่เป็นที่เหมาะสมไม่ว่าแต่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ยังเนื้อ เอ็น กระดูก และอื่น ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายนี้ เหมาะสมอาการใด กำหนดพิจารณาอาการนั้นเป็นอารมณ์ของใจได้ทั้งนั้น
ที่ท่านบอกไว้ ตจปัญจกกรรมฐาน กรรมฐานมีหนังเป็นที่ห้านี้ คือครอบไว้หมดเลย พอถึงหนังแล้วหยุด เวลาไม่พอในการอบรมสั่งสอนกุลบุตรขณะที่บวช ท่านจึงสอนเพียงแค่นี้ จากนั้นก็อธิบายต่อไปถึงเรื่องอาการ ๓๒ มันเป็นอาการ ๆ รวมกันเข้าก็เรียกว่า สัตว์ ว่าบุคคล ก็เรียกกันไปอย่างนั้นแหละ มันมีความจริงที่ไหน เรามาถือมาจริงมาจังว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย ว่าของสวยของงาม สกปรกขนาดไหนก็มาเสกสรรปั้นยอเอา ฝืนความจริงก็มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนละซิ จะเอาความสุขความสบาย ความเบาอกเบาใจมาจากที่ไหน
เพราะฉะนั้นท่านถึงได้เปิดเผยสิ่งเหล่านี้ด้วยตจปัญจกกรรมฐาน พิจารณาแยกแยะดูให้ดี ออกจากนั้นก็เข้าถึงเนื้อ ถึงเอ็น ถึงกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า พิจารณาให้แหลกไปหมดเป็นไร ให้มันหนีไปไหนจิต ปล่อยไปไหนก็ปล่อยไปแล้ว มีแต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย นำมาสู่ตนเอง เพราะการปล่อยใจ นี่การรักษาใจจะมีความทุกข์ความลำบากขนาดไหน ก็เป็นความทุกข์เพื่อจะถอดถอนกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งเป็นตัวข้าศึก ทุกข์อันนี้ทุกข์มีคุณค่า ไม่ได้ทุกข์แบบลอย ๆ นำไฟมาเผาเราอยู่เฉย ๆ เหมือนความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยใจ มันผิดกันตรงนี้
ทุกข์เพราะการรักษาใจกับทุกข์เพราะการปล่อยใจเป็นยังไง เทียบกันซิ ทุกข์เพราะการปล่อยใจนี้เป็นเรื่องของกิเลสตัณหาอาสวะฉุกลากไป ปล่อยไปตามมัน คล้อยไปตามมันแล้วขนทุกข์เข้ามาเผาลนหัวใจ ไม่มีหยุดหย่อน ไม่มีอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน มีแต่ฟืนแต่ไฟ อันเป็นผลเกิดขึ้นจากการปล่อยใจ
นี่ความทุกข์ในการบังคับบัญชาจิตใจ ให้อยู่ในร่องรอยในกรอบแห่งธรรม เพื่อจะถอดถอนกิเลสซึ่งเป็นตัวข้าศึกสำคัญนี้จะทุกข์ขนาดไหน แม้ทุกข์ขนาดไหน สุขก็จะเกิดขึ้นขนาดนั้น นี่เป็นความทุกข์ที่มีคุณค่า เป็นความทุกข์ที่ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นจนเป็นที่พอใจ ควรรับทุกข์อันนี้ ควรสู้ไม่ควรถอย ถ้าเป็นลูกศิษย์ตถาคตมุ่งต่อมรรคผลนิพพานแล้ว
มีอะไรที่ประเสริฐเลิศโลกในสามโลกธาตุนี้ก็ฟังซิ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ครอบอยู่หมดแล้ว เราจะหวังเอาอะไรเป็นที่พึ่ง มีแต่จิตดวงเดียวที่จะแก้ให้ออกนอกโลกสมมุตินี้ จิตเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเราอยู่ตลอดเวลา เรายังไม่ทราบอยู่เหรอ กิเลสประเภทนั้นเข้ามาเหยียบย่ำ กิเลสประเภทนี้เข้ามาเหยียบย่ำ ทำลายอยู่ไม่หยุดไม่ถอยทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน จิตใจมีความทุกข์ความลำบากเพราะสิ่งเหล่านี้ย่ำยี ฉะนั้นจึงเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากเราผู้เป็นเจ้าของ คือ สติปัญญา เป็นสำคัญ มีความเพียรเป็นเครื่องหนุน ที่จะช่วยเหลือจิตใจให้ได้รับความสงบ ไม่ถูกสิ่งเหล่านี้ฉุดลาก เหยียบย่ำทำลายเสียทั้งวัน ทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน โดยถ่ายเดียว
จิตเมื่อได้รับการบังคับบัญชาการรักษาการบำรุงอยู่เสมอ ต้องมีวันหนึ่งจะต้องหยั่งเข้าสู่ความสงบหนีกำลังของมรรคไปไม่ได้ มรรคคือสติเป็นสำคัญ ความเพียรหนุนอยู่ตลอดเวลา ความอดความทนทุ่มลงไปซิ เราเอาความอดความทนไปทุ่มใส่อย่างอื่น เราทุ่มมาพอแล้วเกิดประโยชน์อะไร เวลานี้เราจะเอาความอดความทน ความพยายามทุกสิ่งทุกอย่าง ในอิทธิบาททั้ง ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มุ่งเข้ามาสู่จุดเดียวนี้
เอ้า ทุกข์ก็ทุกข์ ตายก็ตายด้วยความเพียรไม่เป็นไร เราสวดกุสลาของเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องกลัวว่าใครจะมาสวดกุสลาให้ เอาซิ เอาให้ได้สวดกุสลากิเลสเป็นไร ถ้าเรามีกุสลาแล้วกิเลสต้องตาย ถ้าเราไม่มีกุสลาแล้ว อกุสลานั่นกิเลสเหยียบย่ำทำลายเผาเราตลอดเวลา เผาทั้งเป็นนี่แหละ กิเลสมันเผามาตั้งแต่วันเกิด ออกจากนั้นก็เผาไปภพน้อยภพใหญ่ เผาไปทุกภพทุกชาติไม่หยุดไม่ถอยมีแต่กิเลสเผาเรา เราไม่เคยได้เผากิเลสสักที
นี่เราพยายามจะเผากิเลสด้วย กุสลา ธมฺมา คือ ความเฉลียวฉลาด สติปัญญามีเท่าไรทุ่มลงไป ทุกข์ก็ทุกข์ โลกนี้เกิดมาในท่ามกลางแห่งความทุกข์ จะเอาความสุขความสบาย โดยที่ไม่ประกอบเหตุอันใดเลย อยู่เฉย ๆ ให้ได้เป็นความสุขขึ้นมานี้ มันได้ยังไง ไม่ใช่คติธรรมดา เราเป็นนักรบ ต้องสู้ไม่ถอย ลองพิจารณาตามที่ว่านี้ซิ มันจะไปไหนพ้นไปไหนได้วะ ถ้ามีความจริงจังกับการพิจารณาจริง ๆ ต่อสู้กันด้วยสติปัญญา เพียงต่อสู้อดทนอยู่เฉย ๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่ใช่ทาง
ทุกข์เท่าไร สติปัญญาหมุนติ้วเข้าไป ๆ เอ้า ไม่มีที่ออกไม่ต้องออก มีแต่พุ่งบุกหน้าเลย เอ้า จะตายก็ตายข้างหน้าไม่ถอยหลัง นี่ละความจริงเวลาจะเกิด เกิดขึ้นเวลาจนตรอกนั่นแหละ สติปัญญาทุ่มลงไป ๆ เมื่อไม่มีทางออกมีแต่ทางสู้อย่างเดียวแล้วสติปัญญาเกิด เราได้หลักเสียวันหนึ่งเท่านั้น ทีนี้ความเข้มแข็ง ความอาจหาญมันเกิดขึ้นเอง ความอดทน ความทนทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นชื่อว่า เป็นความดี ที่จะสนับสนุนสติปัญญาให้เป็นเครื่องแก้กิเลสแล้วมาพร้อม ๆ กันนั่นแล
เราสอนหมู่เพื่อน สอนด้วยความจริงใจ ได้เคยปฏิบัติมาอย่างไร เอานิสัยกิริยานั้นแหละมาสอนหมู่เพื่อนเพราะเคยได้ผลอย่างนั้น จะสอนแบบอ่อย ๆ แล้วแต่จะเป็นไป เราไม่เคยได้ผลได้ประโยชน์ เคยปฏิบัติมาเป็นอย่างนั้น
ธรรมดา ๆ บางทีเรายังต้องคิดถึงหมู่ถึงเพื่อนแล้วเอามาวินิจฉัยใคร่ครวญดูกับตัวเอง เอ๊ เวลาอยู่กับหมู่เพื่อน ในขณะที่อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์ใหญ่เรา ตอนที่จิตของเรายังไม่ได้หลักได้เกณฑ์อะไรเลย กำลังฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมวุ่นวาย ทั้ง ๆ ที่มุ่งไปหาของจริงกับท่าน แต่กิเลสมันไม่ได้มุ่งหาของจริงกับเรา มันก็เดินตามแถวกิเลส เมื่อเป็นเช่นนั้นไปอยู่กับท่าน มันก็ฟุ้งซ่านวุ่นวายอยู่อย่างนั้น เป็นฟืนเป็นไฟอยู่ภายในตัวเอง มันน่าละอายจะตายไป แต่ก็จะทำยังไงมันสุดวิสัย
เราก็พยายามทำความพากความเพียร กลางคืนบางคืนไม่นอน ฟาดมันตลอดรุ่ง เดินจงกรม เอาตั้งแต่ฉันจังหันฟาดจนเที่ยง ฉันจังหันแล้ว มันก็ไม่ได้เรื่อง ตั้งให้คิดดูหมู่เพื่อน เห็นหมู่เพื่อนนั่งทำนั้นทำนี้ ป๊อก ๆ แป๊ก ๆ อยู่ธรรมดา เอ๊ หมู่เพื่อนท่านก็ไม่เห็นเข้มงวดในทางความเพียร ถ้าพูดถึงเรื่องความพากเพียร เราดูอาการภายนอกของท่านก็ไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าไรนัก ท่านทำไมถึงได้มีความอยู่สบายเป็นสุข ไอ้เรานี้ทำความพากเพียรก็ว่าแทบล้มแทบตาย แต่ทำไมจิตใจเราถึงร้อนเหมือนฟืนเหมือนไฟ ทีนี้เราจะเอาแบบท่านเหล่านั้นมาใช้จะเป็นยังไง
ความเสาะความแสวงหา ความเทียบหาเหตุหาผล หาหลักความจริงมันคิดนะจิต มาทดลองดูวันสองวัน อู๋ย กิเลสมันยิ่งโหมหน้าเข้ามาไม่ทราบว่าทางด้านไหนต่อด้านไหน โอ๋ย ไม่ได้ นั่นเอาละนะที่นี่นะ เราลองทดลองดูนี้ ยิ่งเป็นการหมอบต่อกิเลสให้มันเหยียบย่ำทำลายเอา เป็นอย่างนี้ไม่ได้นิสัยเรา กิเลสมันไม่สงบด้วยวิธีนี้ก็พลิกทันที กลับหลังปั๊บทันที อย่างนั้นละที่นี่เป็นอยู่อย่างนั้น เรื่องความเพียร อยู่เฉย ๆ ไม่เคย ไม่อยู่ อยู่ทำไม เอากันอยู่อย่างนั้น
นิสัยของเรามันหยาบ เราก็พูดว่ามันหยาบ ต้องหนักสำหรับผมเองนี้หนักมาก หากว่าจะทำลูบ ๆ คลำ ๆ ไปธรรมดา ๆ อยู่ไป นั่งไป นอนไป คุยกันไปกับหมู่เพื่อน แล้วเท่านั้นละ มันไม่ได้เรื่อง เหมือนกับว่าตะลุมบอน หันหน้าหนีไม่ได้ หลับตาพริบเดียวหมัดมาแล้ว หมัดกิเลสมันเร็วยิ่งกว่าอะไร ต้องได้หมุนกันติ้ว ๆ ไม่เอา นิสัยอย่างนั้นไม่ได้แล้วกับเรานี่ ไม่สมควรกัน เรามันหยาบ เอาต้องเอาขั้นหยาบ ตามเรื่องของเรา
ทีนี้ก็ฟาดกันไปตามเรื่องนั่นแหละ ซึ่งเราดำเนินมาโดยตลอด มันมีแต่วิธีการอย่างนี้ทั้งนั้น แล้วจะมาสอนหมู่เพื่อนให้ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เอานะดีนะอย่างนั้นอย่างนี้ ผมสอนไม่ได้ จึงทำให้เข้าใจในเรื่องครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่เป็นอาจารย์สอนหมู่คณะ มีท่านอาจารย์มั่นเป็นต้น เผ็ดร้อนมากทีเดียว เราพยายามสืบเสาะตั้งแต่ท่านดำเนินปฏิปทา เบื้องต้นเรื่อยมา หมู่เพื่อนทั้งหลายที่อาศัยอยู่กับท่านทีละ ๔๐, ๕๐ นู่นน่ะ ไม่ใช่น้อย ๆ ในเบื้องต้นที่ท่านยังไม่ได้ไปเชียงใหม่ ท่านเผ็ดร้อนมากทีเดียว ไล่พระหนีมีมากมาย องค์ไหนมาเก้ ๆ กัง ๆ มาทำอะไรผิด ๆ พลาด ๆ ท่านไล่หนีเลย
คำว่าไล่หนี คือท่านรำคาญ ไม่ได้หมายถึงผิดสิกขาบทวินัยเยียวยาไม่ได้ หรือว่าเข้าสงฆ์ไม่ได้ ไม่ได้หมายอย่างนั้น ท่านรำคาญธรรมดานี่แหละ คือไม่อยากเห็น อืด ๆ อาด ๆ เนือยนายอะไร ผิดนั้นพลาดนี้ด้วยความไม่ตั้งใจ เผอ ๆ เรอ ๆ เหม่อ ๆ มอง ๆ อะไรอย่างนั้น ท่านไล่หนีเรื่อย ๆ นี่เราทราบมาโดยลำดับลำดา นั่นฟังซิท่านเป็นยังไง เพราะท่านไม่ใช่คนประเภทนั้น ท่านเอาจริงเอาจังทุกอย่าง เมื่อเป็นเช่นนั้น กิริยาที่ออกมาก็ออกมาจากนิสัย จึงต้องแสดงอย่างเด็ด ๆ เผ็ด ๆ ร้อน ๆ อยู่เสมอ จนกระทั่งท่านมรณภาพมีนิสัยอย่างนั้นเรื่อยมา ไม่มีละอือ ๆ เออ ๆ อย่างนั้นอย่างนี้
เพราะท่านไม่เห็นคุณค่าของความอือ ๆ ออ ๆ ว่าจะเป็นอรรถเป็นธรรมให้แก้กิเลสคนได้ มีแต่เรื่องขนาบฟาดฟันลงไป ขนาบกิเลสนั่นเอง ปลุกใจผู้มาศึกษาให้มีกำลัง ท่านอาจารย์ขาวนี่ก็ฟังซิ เผ็ดร้อนขนาดไหน สอนพระสอนเณร ดุพระดุเณรแหลกเลย เพราะนิสัยท่านเป็นอย่างนั้น เอาจริงเอาจัง เด็ดเดี่ยวอาจหาญ ทำความเพียรนี้วันหนึ่งทำทางจงกรมไว้ ๓ แห่งก็มี ฉันจังหันเสร็จแล้ว ไปเดินสายนี้ ฟัดจนกระทั่ง นู่นเที่ยง หยุด แล้วพักผ่อนหน่อยหนึ่ง ตอนบ่ายลงเดินจงกรมสายนี้จนค่ำ บูชาพระพุทธบูชาพระธรรม เอ้าทีนี้พอตกมืดมาเดินจงกรมอีกสายหนึ่งนี่บูชาพระสงฆ์ ท่านว่า เอาจริงเอาจัง คลาดเคลื่อนไม่ได้ เอาให้ได้อย่างนั้น
นั่นฟังซิ ท่านมีความสัตย์ความจริง ทุกข์ก็ทุกข์ยอมรับว่าทุกข์แต่ไม่ถอยในการแก้กิเลส เพราะกิเลสทำให้เกิดทุกข์ แล้วการแก้กิเลสจะไม่มีทุกข์ได้ยังไง มันต้องมีเป็นธรรมดา เอาจริงเอาจัง
เขาดูถูกเหยียดหยามศาสนา ก็ดูถูกเหยียดหยามเราผู้ปฏิบัติไม่ตรงตามหลักธรรมหลักวินัย ทำที่น่าดูถูกน่าตำหนิเขาถึงได้ตำหนิ เราจะไปตำหนิเขาหรือว่าเขาทีเดียวไม่ถูก เราต้องเล็งถึงตัวของเรา ถ้าหากเราดีอยู่แล้ว ใครจะตำหนิมาสักกี่ร้อยกี่หมื่นกี่แสนปากก็ตามเถอะ มันเป็นลมปากเท่านั้นแหละ มันไม่ได้มากระเทือนเราเพราะเราดีอยู่แล้วมันจะถูกได้อย่างไร สำคัญที่ว่าเรานี่แหละเป็นผู้ที่รู้เรื่องอะไรยิ่งกว่าใครในตัวของเราเอง ให้พยายามแก้ไขตรงนี้
การพิจารณาก็ให้ย้ำแล้วย้ำเล่า ดูให้เห็นชัดเจน ในขณะที่จะพิจารณาทางด้านปัญญา เที่ยวกรรมฐานข้างบนข้างล่าง อยู่ในสกลกายนี้ ขึ้นเบื้องบนลงเบื้องล่าง ด้านขวาง สถานกลาง รอบไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้าใจ ไม่ให้สติหนีจากใจ นี่เที่ยวไปพอแล้ว เที่ยวจนรอบโลกธาตุก็ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ทีนี้จะเที่ยวรอบธาตุรอบขันธ์อันนี้ ซึ่งเป็นกองวัฎฎะใหญ่โตขนาดไหน มันเคยสั่งสมมาเป็นเวลานาน จะเที่ยวรอบวัฎจักร ซึ่งมีอยู่ในขันธ์อันนี้ด้วยสติ ด้วยปัญญา ศรัทธา ความเพียรของเรา เอ้า บังคับลงไป ไม่ให้จิตไปไหน มันจะพ้นไปได้หรือ
เราเคยเห็นผลแล้วในการบังคับจิตอย่างโลดโผน เอ้าเป็นก็เป็น ตายก็ตาย มันจะไปไหนวะจิตนี่ พอตั้งท่า เอ้า คิดไปไหนเอาไปซิ บางทีตามนะ เอา ! จะคิดอะไร คิดออกมา พอคิดออกมาปั๊บจับปุ๊บเลย ตามกันค้นกัน พิจารณากัน ชี้แจงเหตุผลให้มันทราบทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งจิตยอมจำนน เอ้า จะไปไหนอีก เลยถอยเข้ามา ๆ เข้ามาถึงร่างกาย กำหนดพิจารณาร่างกายอีกทีหนึ่ง หมุนติ้วลงเลยนั่น มันพ้นความทรมานไม่ได้
เพราะจิตมันผาดโผนเรื่องการประพฤติปฏิบัติ เรื่องความพากเพียรต้องผาดโผนด้วยกัน สติปัญญาต้องผาดโผนไม่เช่นนั้นไม่ทันกับกิเลสตัวผาดโผน กิเลสหนักมือ เราต้องหนักมือยิ่งกว่ากิเลส กิเลสถึงจะหมอบ ถ้าเพียงเสมอกันก็เพียงยับยั้งกันไว้เท่านั้น ต้องหนักกว่ากิเลส กิเลสก็หมอบ นี่ก็ได้เห็นเหตุเห็นผลประการหนึ่งแล้ว อ๋อ จิตนี่พ้นจากการฝึกการทรมานไม่ได้ มันจะพยศขนาดไหนก็เถอะ ถ้าลงได้ตั้งท่าพยายามที่จะทรมานกันแล้ว พ้นไปไม่ได้เชื่อชัดถนัดใจ เพราะได้ทำแล้ว และได้เห็นผลอย่างนี้ประจักษ์แล้ว เป็นสักขีพยานอันหนึ่ง
หาอุบายพิจารณาซิ เวลาจะพิจารณาทางด้านปัญญาก็หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงตัวเอง จึงเรียกว่าปัญญา มีแต่ครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้ หยิบยื่นให้แล้วหลุดไม้หลุดมือไปก็ไม่ได้เรื่องได้ราว เจ้าของคิดเองก็ไม่ได้ เวลาท่านสอนก็ยึดเอาไปไม่ได้ มันจะได้ประโยชน์อะไร ถึงคราวที่จะทำให้ได้สมาธิ ก็เอาให้มันอยู่ในนี้ มันไม่ได้เป็นสมาธิในจิตโดยเฉพาะ ก็ให้มันเป็นสมาธิอยู่ภายในร่างกายนี้ อย่าให้จิตหนีซิ บังคับอยู่ในส่วนร่างกายนี้ ให้มันเป็นสมาธิอยู่ในขั้นนี้ ขั้นร่างกาย ขั้นธาตุขั้นขันธ์อันนี้ ออกจากนั้นเข้าไปเป็นสมาธิอยู่ภายในจิต สงบแน่ว มีหลายพักหลายตอนด้วยอุบายปัญญาของเราที่พิจารณา
ทุกวันนี้อายุขนาดนี้มันยิ่งเป็นเหตุให้พิจารณาใคร่ครวญ เทียบเคียงเหตุผลถึงเรื่องโลกเรื่องธรรม เรื่องผู้คนสัตว์ทั้งหลาย มันไม่อยู่ละจิตถึงเวลาจะพิจารณา มันแยกแยะไปหมด ถึงเรื่องสาระสำคัญในโลกนี้ที่โลกทั้งหลายอยู่กัน อยู่กันยังไง ทำไมจึงเพลิดจึงเพลินกันเอานักหนาไม่รู้เนื้อรู้ตัว ลืมเนื้อลืมตัวอยู่ทั้งแก่ ทั้งหนุ่ม ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเพศหญิงเพศชาย แม้ที่สุดเพศนักบวชก็ตัวเก่งไปคนละทิศละทาง มันเป็นเพราะเหตุใดโลกนี้มันถึงได้ติดข้องกันเอานักหนา เอามาพิจารณาเทียบเคียง แยกโน้นแยกนี้ไปถึงวัตถุต่าง ๆ ไปหมด จนกระทั่งถึงเงินถึงทองข้าวของสมบัติเป็นแก้วแหวน เพชรนิลจินดา มาพิจารณาทั้งหมด มันก็มีตั้งแต่เรื่องแร่ธาตุ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่เห็นมีคุณค่าเหนืออะไรกันนักหนา ตามหลักธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น แล้วทำไมจึงต้องติดกันเอานักหนา
มีแต่อยากเจริญ ๆ อย่างเมื่อเช้านี้ ที่เขามากราบนี้ เขามาขอพรสองคนที่มาจากนครปฐมน่ะ ขอพรให้การค้าขายมีความเจริญ อ๋อ ให้มันเจริญจิตใจซิ อย่าให้เจริญแต่ทางการค้าการขาย หัวใจไม่อยากให้เจริญบ้างเลย นี่ใส่ปัญหาเข้าไปแล้ว ให้หัวใจเจริญเถอะน่ะ ถ้าลงหัวใจเจริญแล้ว อะไรจะเจริญ อะไรจะเสื่อม มันไม่วิตกวิจารณ์ มันสบายอยู่ตลอดเวลาถ้าหัวใจเจริญ ถ้าหัวใจไม่มีความเจริญ มีแต่ความเสื่อม มีแต่เป็นฟืนเป็นไฟ อะไรจะเจริญก็เถอะ มันไม่พ้นจากไฟเผาตัวอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ หลักใหญ่มีอยู่อย่างนี้
พิจารณาเต็มความสามารถนั่นแหละ ถึงเวลามันจะพิจารณามันเอาจริงเอาจังนะ นั่งคนเดียวนี้เงียบ จิตมันเหมือนกับน้ำซับน้ำซึม มันไหลรินละเอียดลออ มันแยกมันแยะ มันไปทั่วโลกธาตุ จะว่าจะหวังเอาประโยชน์อะไรก็ไม่ใช่นะ มันผิดกันกับแต่ก่อน แต่ก่อนพิจารณาอะไรมีแต่เพื่อจะถอดจะถอน จะแก้ไข จะตัดจะฟัน ให้มันขาดสะบั้นออกจากตน เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นข้าศึกทั้งนั้นกับจิต และสิ่งที่มีอยู่ภายในจิตนี้เป็นข้าศึก เมื่อข้าศึกข้างในข้างนอกมันเข้าประสานกันแล้ว มันก็เหมือนกับไฟกับเชื้อนั่นเอง เมื่อเข้าประสานกันแล้วปั๊บ ก็เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา เราก็ต้องพิจารณาอย่างนั้น ไม่มีเวลาที่จะพิจารณาแยกแยะตามหลักความจริงธรรมดา ๆ ทีนี้เมื่อมีโอกาสแล้วก็เป็นของตัวเอง อยู่คนเดียวไปคนเดียว
เดินบิณฑบาตก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับหมู่เพื่อน มีใครเดินตามหลังซุบซิบ ๆ มันพิจารณาไม่สะดวก มันเป็นตามจริตนิสัยของเรานี่เอง ไม่ได้คุ้นกับอะไร ไม่คุ้นกับใครทั้งนั้น แม้แต่ธาตุแต่ขันธ์อันนี้อยู่ด้วยกันก็ไม่เห็นคุ้นกันนี่จะว่าอะไร จะไปคุ้นกับผู้ใด นี่หากเวลาจะพิจารณาธรรมในแง่ใดนี้มันก็สะดวก เดินไปกำหนดไป พิจารณาไปเรื่อย ๆ มันรื่นเริงบันเทิงภายในจิต พอได้ความแล้ว ๆ ก็ปล่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ นี่เรื่องพิจารณาเรื่องโลกเป็นอย่างนั้น
โลกใครก็อยากจะเจริญ เจริญการค้าการขาย เจริญด้วยเงินด้วยทอง ด้วยการทำมาหาเลี้ยงชีพให้มีความเจริญ เจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ เจริญด้วยความมีหน้ามีตา มีแต่อยากเจริญทั้งนั้น หัวใจไม่เคยคำนึงที่ว่าอยากให้มันเจริญ เพราะเป็นจุดใหญ่ จุดสำคัญแท้ ๆ แห่งความเจริญ แห่งความเหมาะสม แห่งความสมหวัง ไม่สนใจอยากจะให้เจริญ มีแต่อยากให้อันนั้นเจริญ อันนี้เจริญ มันเป็นความสุขอะไรบ้าง มันมีแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาตัว นั่นแหละคือหาเกาในที่ไม่คัน นี่ยกมาเป็นคติให้หมู่เพื่อนทั้งหลายพิจารณา
โลกทั้งหลายต้องการความเจริญด้วยวัตถุนั้น วัตถุนี้ นาก็ให้มีสักกี่ร้อยกี่พันแปลง ตึกรามบ้านช่องก็ให้มีสักกี่ร้อยกี่พันชั้นมีสักกี่แห่ง มีตลาดลาดเลเต็มไปหมด โรงแรมห้องแถวไหนมีแต่ของเจ้าของไปหมด ไปที่ไหนมีแต่ของเจ้าของทั้งหมด ทั้งแผ่นดินนี่ ว่าเจริญ ๆ มันบ้าวัตถุ รู้ไหมจิตมันเป็นบ้าแล้วหาความสุขได้ยังไง มันไม่ได้ หลงอารมณ์ไปเฉย ๆ หลงลมไปอย่างงั้นละ หลงอารมณ์
ถ้าใจไม่เจริญแล้ว จะมีเท่าไรมันก็เท่านั้นแหละไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นของสำคัญ พยายามปรับปรุงจิตใจ โลกถ้าหากว่ามีธรรมภายในจิตใจแล้ว วัตถุเจริญภายใน จิตใจก็เจริญ วัตถุเหล่านั้น สมบัติเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์แก่ผู้มีธรรมอันเจริญภายในจิตใจ หรือผู้มีธรรมในใจ สมกับมีสมบัติแท้ ถ้าไม่มีธรรมแล้วก็อย่างว่า
นี่เราไม่ได้มุ่งอะไรกับเรื่องโลกเรื่องสงสารนั้น มีแต่จะทำจิตใจให้เจริญอย่างเดียวเท่านั้น ทำไมมันจึงเป็นไปไม่ได้ การปฏิบัติศาสนาเพื่อความเจริญของใจล้วน ๆ ภาคปฏิบัติ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น มีตั้งแต่อุบายวิธีการหรืองานที่จะทำจิตใจให้มีความเจริญขึ้นมา ทำไมจิตใจมันไม่เจริญ มันเป็นเพราะเหตุไร ถ้าไม่ใช่เพราะความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ ความสะเพร่ามักง่าย เข้ามาเหยียบย่ำทำลายอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นนิสัย เข้ามาบวชแล้ว ก็ไม่ปล่อยไม่ละนิสัยอันเป็นกิเลสตัณหาอาสวะนั้น ยังเอาเข้ามาเหยียบย่ำทำลายหัวใจของพระอยู่มันได้เรื่องอะไร
ทำไมไม่เอานิสัยของพระพุทธเจ้ามาใช้ นิสัยของสาวกมาใช้ ท่านเปลี่ยนแปลงหมด มาจากฆราวาสเหย้าเรือน จะเป็นเศรษฐี กุฎุมพี พระราชามหากษัตริย์ พอก้าวเข้ามาสู่วงพระศาสนา ได้บรรพชาอุปสมบทในศาสนาแล้ว ดำเนินตามหน้าที่อันนั้นเลย ด้วยความมุ่งมั่น อดทนต่อกิจการของตน คือ ความหลุดพ้น ท่านจึงหลุดไป พ้นไป ๆ พ้นไปเรื่อย ๆ นั่นผลปรากฏขึ้น จิตไม่เจริญมันจะพ้นได้หรือ พ้นจากกิเลสได้หรือ จิตต้องเจริญ เจริญเป็นลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงเจริญเต็มที่แล้วปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิง
เพราะใจเป็นของสำคัญ เลิศด้วยใจ สัตว์ทั้งหลายมนุษย์ทั้งหลายเลิศด้วยใจ ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นสำคัญ อยู่ที่จุดนี้ อย่าละอย่าถอน อย่าปล่อยอย่าวาง อย่าเหยียบย่ำทำลายจุดนี้ไป อย่ามองข้ามไป ให้ดูให้ดี ตรงนี้เป็นจุดที่เจริญ ที่เหมาะสมที่สุด ถูกต้องที่สุดตามหลักธรรม หรือตามหลักแห่งความถูกต้องทั้งหลาย ที่บรรดานักปราชญ์ทั้งหลายที่ท่านได้รู้แล้วเห็นแล้ว ท่านสอนลงในจุดนี้ ให้พากันจับจุดนี้ให้ดี อย่าเห็นสิ่งใดวิเศษวิโสยิ่งกว่าใจ ซึ่งจะทำให้วิเศษขึ้นมาได้
เอาแค่นี้แหละ
พูดท้ายเทศน์
พ่อแม่ครูจารย์กับเรานี่ต้องมีอะไรเกี่ยวกัน เพราะตอนท่านเพียบทางร่างกาย เราก็เพียบทางจิตใจเสีย จึงได้ไปทางโน้นก่อน ทำให้เรางงหนหนึ่งเหมือนกันนะ แต่เพราะนิสัยที่ใช้ปัญญาอยู่แล้วนั่นมันไม่ได้เผลอตัวไปพอนาทีอะไรเลย นี่ก็พิจารณาตอนตี ๓ ตอนดึก ๆ สงัดนั่นแหละมันสนุกพิจารณา คือมันเหมือนกับน้ำไหลริน น้ำซับน้ำซึมนั่นนะปัญญาขั้นนี้ มันไม่หยุดเลย มันหมุนมันติ้ว ๆ ซึ้ง ๆ พิจารณาอยู่นี่ มันไม่แบบผาดโผน เหมือนขั้นพิจารณาอสุภะ อสุภะนี้มันผาดโผนมาก ผึง ๆ จนกระทั่งเหมือนกับว่ากายเราไหวไปตาม
ปัญญาขั้นนี้ก็เหมาะกับกิเลสขั้นนี้ แน่ะ มันพอเหมาะกันนี่ พอเข้าไปถึงนั้นแล้ว กิเลสค่อยละเอียดลงไป สติปัญญาก็ละเอียดตามกันลงไปไม่ผาดโผน หากไหลรินอยู่นั้นตลอด พิจารณาอยู่นี้มันมีอะไรชอบกล ตี ๓ กำหนดอวิชชา เพราะไม่มีที่กำหนดอะไรก็หมดแล้ว พวกรูป พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาอะไรมันก็เข้าใจหมด มันไม่ยอมรับ มันสนใจตั้งแต่จุดนั้น จึงแย็บออกมา ๆ เป็นสังขาร แย็บออกมาพับดับพับ แย็บออกมาพับดับพร้อม ๆ สติปัญญามันทันโดยหลักธรรมชาติ มันไม่มีวาระไหนที่จะเผลอตัวไปได้ มันเป็นหลักธรรมชาติของมัน อ๋อ เป็นอย่างนี้
ทีนี้มันกำหนด พออวิชชาไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันมีลักษณะ ถ้าหากเราจะพูดเปรียบก็ว่า เหมือนมันแสดงนี้ให้เราเห็น จับปั๊บแล้วก็วาง จับปั๊บวาง ทีนี้ความรู้มันก็แทรกกันเข้าปั๊บ จับปั๊บพอวางปล่อยนี้ ปล่อยมือนี้มันตาย พอจับปั๊บก็เกิด..ตาย, เกิด..ตาย อยู่งั้นแหละ มันเข้าใจอย่างงั้นนะ ทีนี้พอปล่อยพับนี่ไม่จับอีก ไม่จับอีกคือว่าตายแล้วมันไม่เกิดอีกที่นี่ มันไม่ไปเกิดอีก มันไม่ไปจับอีก มันไม่กระทบกับใคร พอมันปล่อย มันปล่อยเอง นี่มันเสร็จสิ้นแล้วหรือ ทีนี้พออันนั้นมันขาด เอ นี่มันสิ้นแล้วหรือ เอ้า ! ถ้าว่าสิ้นแล้ว ทำไมสงสัยว่างั้น มันแก้กันปั๊บ พอว่างั้นปั๊บ มันก็รู้ ได้สติทันที อู๋ย ยังไม่สิ้น
คือในขณะเดียวนั่นแหละ มันทำให้เรางงได้เหมือนกัน นี่มันไม่ใช่สิ้นแล้วเหรอ กำหนดปุ๊บขึ้นมาเลยมันคิดเองนะ ถ้าว่าสิ้นแล้วทำไมสงสัย มันก็เข้าใจทันทีว่ายังไม่สิ้น นี่มันเคยหลอกเหมือนกันนะ แต่มันแค่ขณะเดียวเท่านั้นแหละ มันก็ค่อย ๆ แบกกลับมาขึ้นวัดดอยฯ อีก บวชหมอเจริญนี่แหละเหตุมันน่ะ เจ้าคุณบังคับให้ไปบวชหมอเจริญ แล้วก็โดดขึ้นเขาวัดดอยฯ นี่มันก็ไหลรินอยู่นั้น ไอ้เรื่องจุดเรื่องต่อมนี้มันก็ไปเรื่อย อยู่ที่วัดดอยฯไปเป็นที่วัดดอยฯ ก็แบกไปแบกมาแล้วก็ขึ้นไปวัดดอยฯอีก ต้องแบกภาระอวิชชานี่
กำหนดไปอะไรมันก็ไม่มีที่กำหนด อะไรมันก็ปล่อยหมด มีแต่อันเดียวเท่านั้น เห็นยิบแย็บ ๆ อยู่ ออกจากความสว่าง คือจุดนี้มันจะตายตัวของมันอยู่นั้น ถ้าเราแก้ไม่ตกนะ ความสว่างมันตายตัว แต่มันพ้นวิสัยของสติปัญญาไปไม่ได้ เพราะสติปัญญานี้ถึงจะลืมตัวก็ตามในขณะนั้น แต่การสังเกตมันไม่ถอยนี่ มันเป็นคู่กันอยู่ บางทีเป็นลักษณะเฉา ๆ เฉาตามขั้นของจิตนี่ เดี๋ยวใส เดี๋ยวเศร้า มีลักษณะเศร้า แต่เศร้าก็เศร้าอย่างละเอียด หากไม่พ้นสติปัญญานี้ไปได้ พอจับรู้ได้ ทั้ง ๆ ที่พยายามระมัดระวังรักษาไม่ให้มีอะไรมาแตะต้องได้เลย นี่ความหลงของมัน ถึงความพยายามรักษาก็รักษา อวิชชา ถูกอยู่เรื่องมรรคก็ถูก แต่เรื่องอวิชชาก็ไม่ผิด เรื่องโมหะ ของมหาสติ มหาปัญญานี่ มันเผลอตัวได้
เพราะมันอัศจรรย์ขนาดนั้นแหละ คิดดูซิจนขนาดสติปัญญาขั้นนี้หลง จึงต้องไปรักษามัน ไม่อยากให้อะไรมาแตะมาต้อง อะไรมาสลัดปุ๊บ ๆ เลย อย่างนั้นแหละ สติปัญญาขั้นนี้มันรวดเร็ว อะไรเข้ามาพับ พับไปเลย ๆ มันรักษา นี่ตอนมันเผลอ เผลอได้ แต่นี้มันก็ไม่พ้น เพราะมันวินิจฉัยอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีงานทำนี่ ข้างนอกไม่มี อะไรมันก็ปล่อยหมดแล้วไม่สนใจ เวลาพิจารณามันไม่ยอมรับทั้งนั้น จึงเรียกว่ามันพอ นี่แหละมันประจักษ์ใจอย่างนั้น
อะไรก็มีแต่ยิบแย็บ ๆ ดีเกิดขึ้นก็ดับ ชั่วก็ดับ ปรุงเรื่องอะไรมีแต่เรื่องเกิด เรื่องดับ มีเท่านั้น ไม่เห็นมีอะไร ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่นั่น แต่ผลนั่นซิที่ทำให้เราสะดุดใจ บางทีมันใสเด่นเข้าไปอีกก็มี แล้วมันค่อยเศร้าเข้ามาตามขั้นของมัน ละเอียด ๆ มันก็จับได้ เอ ทำไมหากว่ามันเป็นของจริงจริง ๆ มันทำไมจึงต้องมีอย่างนี้เป็นอย่างนี้วะ จากนั้นก็ถอยละนะ ย้อนเข้ามาละที่นี่ สติปัญญาที่รักษามันไว้ แล้วกลับเข้ามาต่อสู้มัน มาวินิจฉัยมันน่ะ
เอ ทำไมจิตดวงเดียวทำไมจึงเป็นได้หลายอย่างนักวะ เดี๋ยวว่าดี เดี๋ยวว่าชั่ว เดี๋ยวว่าสุข เดี๋ยวว่าทุกข์ เดี๋ยวว่าผ่องใส และเดี๋ยวว่าเศร้าหมอง แต่มันเป็นความละเอียดของมัน ไม่ว่าสุขก็ตามทุกข์ก็ตาม เป็นความละเอียดตามขั้นของจิต เศร้าก็ดี ใสก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มันเป็นความละเอียดของจิต แต่ให้จับได้อยู่ตลอด ก็เอามาวินิจฉัย ทำไมจิตดวงเดียวจึงเป็นได้หลายอย่างนักนะ ทีนี้จ่อ ทำไมเป็นได้หลายอย่างนัก สงสัย จิตดวงเดียวนี่ ก็จ่อสติเข้าไป
เดี๋ยวอันหนึ่งก็ผุดขึ้นมา ธรรมหรืออะไรก็แล้วแต่จะพูด คำว่าใสก็ดี คำว่าผ่องใสก็ดี คำว่าเศร้าหมองก็ดีขึ้นมา โอ้โห เป็นบทเป็นบาทนะ คำว่าสุขก็ดี คำว่าทุกข์ก็ดี คำว่าผ่องใสก็ดี คำว่าเศร้าหมองก็ดี ธรรมสองเงื่อนนี้เป็น อนตฺตา นะ ว่าอย่างนั้นขึ้น พอว่าอย่างนั้นมันจึงเป็นเหมือนกับว่าภาพอันหนึ่งที่มันขึ้นเป็นข้อเทียบเคียงกันนั้น เหมือนกับว่ามะพร้าวมีกะลาเดียวนี้ มันออกถึงสองหน่อ หน่อหนึ่งทางเศร้าหมอง หน่อหนึ่งทางผ่องใส หน่อหนึ่งทางสุข หน่อหนึ่งทางทุกข์ พูดง่าย ๆ มันเป็น อนตฺตา นะ ทั้งสองนี้มันขึ้นมาจากกะลาอันเดียวนี้ คือทั้งสองอย่างนั้นมันขึ้นมาจากใจดวงเดียวนี้ จากธรรมชาติอันนี้อันเดียว อันที่ว่าเป็นรากฐานใส ๆ นี่
พอทางนี้ขึ้นอย่างนั้นพับ งงเลยเรา ตรงนั้นนะ จะว่าพิจารณาอะไรอยู่ก็ไม่ใช่ จะว่าจ่ออยู่ในจิตดวงนี้ก็ไม่เชิง นี่ตรงนี้จิตเป็นกลางจริง ๆ เราจึงยอมรับเรื่องพระอานนท์เรื่องอิริยาบถ ๔ คือ ตอนนั้นท่านจะอะไรท่านก็ไม่เชิง พิจารณาอะไรก็ไม่เชิง จะเผอเรอไปข้างนอกก็ไม่ไป จิตดวงนี้ไม่ไปละไปอย่างนั้นน่ะ จะจดจ่อทำงานอะไรแท้ก็ไม่ใช่
อันนี้จิตก็อยู่ในจังหวะที่กำลังเฉย ๆ ธรรมดา จะว่าจ่อนี้ก็ไม่เชิง จะว่าทำอะไรอยู่ก็ไม่ใช่ อยู่ธรรมดา เหมือนกลาง ๆ ในขณะนั้น มันถึงได้พุบขึ้นเลย ที่ว่าเป็นหน่อมะพร้าวออกจากกะลาเดียวนี้ มันคว่ำนี้ลงเลย พอคว่ำปุ๊บไปพร้อมกันหมดเลย คือดวงสว่างนี้ละมันไปกระจายไปหมด ที่สว่างอัศจรรย์ นี่ละมะพร้าว มะพร้าวทั้งลูก หน่อดีชั่ว สุขทุกข์มันเป็นคู่กัน มันเกิดจากอันนี้ มันก็ไปด้วยกันทั้งสอง พอคว่ำปุ๊บมันก็ผ่านไปเลยหายพร้อม
อะไรที่นี่ หลังจากนั้นแล้วมีอะไร นั่นแหละความอัศจรรย์แท้ พอกองขี้ควายนี้ถูกปัดออกไปเท่านั้น อันนั้นคืออะไร นั่นละที่อัศจรรย์แท้ มันถึงได้มาเห็นโทษ โอ้โห มันก็เหมือนกับกองขี้ควายกองหนึ่งดี ๆ ทำไมจึงไปหลงมัน โอ้โห ๆ ละที่นี่ เกิดความสลดสังเวช เห็นโทษอันนี้ก็เห็น เห็นคุณค่าอันนั้นก็ถึงใจทุกอย่าง โห หาที่ไหนหาธรรม ธรรมอยู่ที่ไหน ๆ อโธอธัง อุทานนะพูดง่าย ๆ อโธอธัง อุทาน โอ้โฮ ๆ เกิดความสลดสังเวช
เกี่ยวกับเรื่องความหลงของตัวเองนี้ก็สลดสังเวช ถึงใจ ความอัศจรรย์นี้ก็ถึงใจ ทั้งสองอย่างถ้าว่าถึงใจแล้ว น้ำตาก็ร่วงละซิ มันอยู่ได้เหรอ แล้วจะว่าร้องห่มร้องไห้อะไร หัวเราะน้ำตามันก็ร่วง ถูกควันไฟน้ำตามันก็ร่วง สลดสังเวชอันนี้น้ำตามันก็ร่วง แต่ธรรมชาติอันนั้นไม่ได้เป็นอย่างนี้ โอ้โห ๆ มันเกิดทีแรกเห็นทีแรก เป็นของอัศจรรย์จนบอกอะไรไม่ถูก เพราะเวลานั้นเรายังไม่สนใจคิดกับเรื่องอะไรกว้างแคบขนาดไหน ไม่ได้คิดอะไร คิดแต่เรื่องที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ ขณะที่ดวงสว่างมันหายไปนี้อย่างเดียวเท่านั้น แล้วก็มาเทียบเคียงถึงเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล เรื่องเพื่อนฝูง เรื่องมนุษย์ทั้งโลก ผู้จะปฏิบัติเพื่อธรรมดวงนี้
มันเกิดความท้อใจ เพราะเอาผลมาพูด ไม่ได้คิดถึงเหตุ โห ! ลงขนาดนี้แล้วจะไปสอนใครได้ สอนใครเขาก็หาว่าบ้าไปหมดโลกนี่ ใครจะไปสามารถรู้ได้ ลงถึงขนาดนี้แล้ว โห พูดให้ใครฟัง เขาจะหาว่าบ้า อยู่สบาย ๆ พอยังชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ พอถึงวันตายก็พอแล้ว ไปพูดให้ใครฟังเขาก็จะหาว่าบ้ากันทั้งโลก พูดได้ยังไง ก็เกิดความขวนขวายน้อยละซิ ไม่อยากพูดอะไรทั้งนั้น พูดให้ใครฟังก็ไม่เกิดประโยชน์ มันสุดวิสัยที่มนุษย์จะรู้ มันว่ายังงั้นนะทีแรกนะ เบื้องต้นมันยังไม่ได้คิดวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางออกไป
แต่ก็ไม่นาน เพราะจิตดวงนี้มันจะไปนอนใจได้ยังไง สิ่งที่ไม่นอนใจมีอยู่ พูดภาษาสมมุติเราก็ โทนโท่เห็นอยู่นี่ ประจักษ์อยู่นี่ เฝ้าอยู่ทั้งวันทั้งคืนจะไม่รู้ไง แต่ก่อนเห็นแต่ขี้ครอบหัวใจดวงนั้น หลังจากนั้นมาจิตแย็บออกมา เอ้า ถ้าหากว่าเป็นของสุดวิสัยจริง ๆ มนุษย์ทั้งหลายรู้ไม่ได้ เราเป็นมนุษย์หรือเป็นอะไร ทำไมถึง รู้ได้ รู้ได้เพราะเหตุใด ทีนี้มันก็ต้องกระจายออกไปถึงปฏิปทา อ๋อ ถ้าหากว่ามีปฏิปทาการดำเนินแล้วยังไงก็รู้ได้ แน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านทำไมรู้ได้ รู้ได้เพราะเหตุไร เพราะปฏิปทา สาวกท่านทำไมรู้ได้ รู้ได้เพราะปฏิปทาการดำเนิน ทีนี้ทำไมจะไม่รู้ได้ เมื่อมีปฏิปทาการดำเนินให้ตรงเป๋ง ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว พ้นไปไม่ได้ ต้องรู้ ทีนี้มันก็ขยายออกไป มีแก่ใจ มันถึงย้อนไปเรื่องพระพุทธเจ้า มันเอานี้เป็นสักขีพยานนี่นะ เมื่อมีสักขีพยานมันพูดไปได้ทั้งนั้นแหละ เมื่อไม่มีสักขีพยานแล้วมันพูดไม่ได้ เช่นอย่างเราจับผู้ร้ายแล้วไม่มีของกลางจับได้เหรอ นั่นฝ่ายชั่วเป็นอย่างนั้น ฝ่ายดีก็มันมีของกลางอยู่แล้วนี่ ว่านี้คืออะไร รู้ได้ยังไง เพราะเหตุไร เพราะเหตุนั้น ๆ เมื่อสั่งสอนอบรมคนให้คนได้เข้าใจตามนี้ ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติตามนี้แล้ว ยังไงก็รู้ได้เช่นเดียวกันนี้ ทีนี้ก็มีแก่ใจ
พระพุทธเจ้าทีแรกทรงทำความขวนขวายน้อยไม่อยากสั่งสอนสัตว์โลก ทั้ง ๆ ที่ปรารถนาเป็นศาสดาสั่งสอนโลกมาอยู่แล้ว แต่พอเข้าถึงนั้นจริง ๆ แล้ว ทำความขวนขวายน้อย เราแน่ใจว่าเป็นอย่างนี้ ในเบื้องต้นที่พระองค์ยังไม่ทรงวินิจฉัยใคร่ครวญอะไรให้กว้างออกไปกว่าจุดที่อัศจรรย์นั้น เหมือนกับมีนี้อย่างเดียว ไม่มีอะไรจะเอื้อมเข้ามาถึงได้เลย ความจริงก็มาด้วยปฏิปทา เอื้อมเข้ามา ๆ เมื่อถึงที่แล้วก็ค่อยผลักออกซิบันไดจะว่าอะไร เราพรากจากบันไดได้เมื่อถึงที่แล้ว นี่ปฏิปทาเข้ามา พอถึงที่แล้วมันก็พรากกันได้ปฏิปทา
หลังจากนั้นก็มีแก่พระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์โลก คือพระเมตตาสุดส่วนอยู่แล้ว แต่ไม่ทราบจะสอนได้ยังไง เขาจะหาว่าบ้าอย่างว่านั่นแหละ พอแยกแยะออกมาถึงปฏิปทาแล้ว อ๋อ ได้ ๆ พระเมตตาก็เต็มส่วน ทางพระเมตตาก็เดินได้ที่นี่ หลังจากนั้นก็ พฺรหฺมา จ โลกา ฯ ท้าวมหาพรหมมาอาราธนา แน่ะ เป็นวาระที่สอง เมื่อพระองค์ทรงปลงพระทัยแล้วด้วยเหตุผลอันนี้ จะว่าไง
เอาซิเอาให้จริงจัง เราอย่าไปคาดนะคาดมรรคผลนิพพาน การพูดให้ฟังนี้ก็ไม่ให้มาคาด ให้เป็นกำลังใจ ไม่ให้มาคาด ให้ดำเนินตามหลักปฏิบัติในวงปัจจุบันธรรม นิสัยของเราเป็นอย่างไรให้ดำเนินตามนิสัยนั้น ขอให้ยึดหลักธรรมเป็นหลักไว้ก็แล้วกัน จะรู้นั้นเห็นนี้ อย่าไปคาดไปคิด หากเกิดขึ้นภายในตัวนิสัยของเจ้าของเอง นั่นเป็นผล ตกแต่งไม่ได้ ตกแต่งเหตุนี้ เอา เอาให้ดี เอาให้จริงให้จัง จะเข้าใจโดยลำดับ ๆ เมื่อถึงหนองอ้อนี่แล้วก็หายสงสัยทั้งหมดนั่นแหละ มันปล่อยหมดที่นี่ หมดกังวลทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าแดนสมมุติแล้วปล่อยโดยสิ้นเชิงว่างั้นเลย ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่านี้ แม้แต่ส่วนที่ว่ายิ่งนี้ก็ไม่ยึดตัวเองอีกแหละ
เลิกกันละนะ