เมื่อมีความรู้สึกผิดปกติขึ้นมาในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่จิตเป็นผู้รับผิดชอบ และอุปาทานยึดมั่นอยู่นั้นแล้ว จะต้องแสดงอาการความไม่ดีขึ้นภายในจิตใจ โรคหัวใจจึงกำเริบได้ง่ายและเรื้อรัง ระงับไม่ค่อยลงด้วย เมื่อเราได้ชำระสะสางไปโดยลำดับ ๆ อย่างน้อยก็ให้จิตมีความสงบ ความสงบเป็นความร่มเย็นเป็นที่อยู่อาศัยของจิตก็ยังสบายพระเรา ถ้าหากไม่มีความสงบภายในจิตเลยก็ไม่ผิดอะไรกับฆราวาสเขา แล้วก็เดือดร้อนอยู่ภายในจิตด้วย วุ่นวายส่ายแส่
เพราะฉะนั้นจงกำหนดอรรถธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนไว้แล้วอย่างไร ทุกคัมภีร์ชี้บอกแต่เรื่องการสำรวมระวัง ระวังทวารทั้งหก อายตนะภายนอกกับอายตนะภายในจะกระทบกัน ไม่ให้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส นี่คือท่านบอกไม่ให้ยินดี ฟังให้ถึงใจซิ จึงเรียกว่าธรรมตรัสไว้ชอบแล้วไม่ผิด ไม่ให้ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสเวลาเข้ามาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
การไม่ให้ยินดีเราจะทำยังไง เราต้องมีการบังคับบัญชาการพิจารณาแก้ไขหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ยินดียินร้าย ไม่เช่นนั้นไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติ ต้องมีความจดจ่อต่อเนื่องกันกับการรักษาจิตของตนอยู่เสมอ จึงชื่อว่าผู้ภาวนาหรือผู้รักษาใจ การรักษาใจนอกจากนั้นก็บำรุงใจ รักษาไม่ให้ไปยุ่งกับสิ่งต่าง ๆ บำรุงก็คือทำความสงบร่มเย็นให้แก่ใจ แล้วพิจารณาโดยอุบายทางด้านปัญญา เพื่อถอดเพื่อถอนสิ่งต่าง ๆ บำรุงใจด้วยความพากเพียรในแง่ต่าง ๆ เป็นการบำรุงทั้งนั้น
เราเคยเป็นพระหนุ่มน้อยมาแล้ว กิเลสพะรุงพะรังภายในหัวใจนี้เคยเป็นมามากต่อมากแล้ว ไม่ลืมทุกข์คราวเป็นฆราวาสไม่ค่อยจะจดจะจำอะไรนัก แต่ทุกข์ในเวลาเป็นพระทุกข์ภายในจิตใจในเวลาเป็นพระนี้รู้สึกว่าจะจดจำได้ดี และเป็นคติได้อย่างเหมาะสมอย่างยิ่งทีเดียว เริ่มออกปฏิบัติจิตมันดิ้นมันดีด เวลาจะเข้าด้ายเข้าเข็มจริง ๆ กิเลสตัณหาอาสวะแต่ก่อนเวลาเรียนหนังสืออยู่ก็เหมือนไม่มี แต่เวลาออกมาปฏิบัติที่จะเข้าด้ายเข้าเข็มจริง ๆ มันกลับมาชนเจ้าของต่อสู้เจ้าของ ต้องฟัดต้องเหวี่ยงกันเต็มที่เต็มฐาน
ตั้งแต่วันปฏิบัติมาผมไม่เคยได้รับความสะดวกสบายอยู่เฉย ๆ ได้เลย เป็นปกตินิสัยของเราอย่างนี้ด้วย ทำทำจริง ๆ นี่ เพราะความมุ่งมั่นต่ออรรถต่อธรรมไม่ใช่มุ่งมั่นอย่างธรรมดา มุ่งมั่นเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นความแน่นหนามั่นคงอยู่ภายในจิตใจ เพราะก่อนที่จะออกประพฤติปฏิบัติได้มีความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนธรรมอยู่แล้ว ว่ามรรคผลนิพพานเป็นสิ่งที่เราจะพึงได้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะความเชื่อของเราว่ามรรคผลนิพพานมี ถึงยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ตาม เมื่อได้ไปรับโอวาทจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นแล้ว นั่นเป็นอันว่าปลดเปลื้องลงได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นความเชื่อตามสามัญลิขิตว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีสงสัยแล้วเรื่องมรรคผลนิพพาน เพราะท่านเปิดเผยออกมาให้ฟังทุกแง่ทุกมุม
นั่นละที่นี่ความมุ่งมั่นก็สมบูรณ์เต็มที่ ไม่มีแบ่งสู้แบ่งรับกับแง่ใดให้เป็นความสงสัยพอที่จะให้ความมุ่งมั่นนั้นลดน้อยถอยลงไป มีแต่เพิ่มความมุ่งมั่นขึ้นโดยลำดับ เมื่อเป็นเช่นนั้นความเพียรก็ต้องหนัก ปกติมันหนักมาแล้วตั้งแต่ออกมาปฏิบัติทีแรก พอเริ่มออกมาก็ตั้งใจจะภาวนาเพื่อให้เห็นจิตดวงที่เคยเห็นเคยรู้แล้วตั้งแต่สมัยเรียนหนังสืออยู่โน้น จิตเคยแสดงความอัศจรรย์ให้เห็น เราจำไม่ลืมจนกระทั่งทุกวันนี้ จิตเราที่แสดงความแปลกประหลาดอัศจรรย์ให้เห็น ๓ หนเท่านั้นเรียนหนังสืออยู่ตั้งหลายปี เพราะการทำภาวนาเราทำอยู่ไม่หยุดมันหากไม่เป็น
เวลาออกปฏิบัติแล้วทีนี้จะเอาจิตดวงนี้ให้ได้ นี่เป็นภาคพื้นนะ หมายถึงว่าขั้นเริ่มแรก ยังไงจะต้องเอาจิตดวงที่เคยรู้เคยเห็นที่แปลกประหลาดอัศจรรย์นั้นให้ได้ แล้วให้ได้โดยลำดับไม่มีคำว่าถอย เมื่อเป็นเช่นนั้นการต่อสู้กับกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเป็นข้าศึก ที่เป็นเจ้าอำนาจเคยบังคับบัญชาจิตใจของเรามา จนกระทั่งจิตหมอบจมไม่เคยเห็นโทษของมันเลยนั้นนานเท่าไรเราไม่ทราบเลย แล้วจะฟาดจะฟันจะฟัดจะเหวี่ยงออกจากจิตใจด้วยวิธีการใด ต้องทำสุดกำลังความสามารถเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากันเลย เมื่อเป็นเช่นนั้นความเพียรต้องหนัก ต้องทุกข์ต้องลำบาก
แต่ว่าทุกข์เพื่อจะถอดถอนกิเลสก็เหมือนกับคนเป็นทุกข์ พวกนักมวยกำลังต่อยกันนั่น ถึงทุกข์ก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความทุกข์ เพราะความระมัดระวังตัวและความที่จะต่อยเขาให้อยู่ในเงื้อมมือ ให้น็อกเขา มันมีกำลังมากกว่าที่จะมาคิดเรื่องความทุกข์ความลำบากในเวลาชกหรือต่อยกัน นี่เราก็ลืมไปถึงเรื่องที่จะมาคิดเรื่องความยากความลำบากในการประกอบความเพียร เพราะความมุ่งมั่นมันอยู่โน้นมันหนักยิ่งกว่านี้ มีแต่จะต่อสู้กันไปเรื่อย ๆ ๆ มันไม่พ้นวิสัยของเรา ขอให้ฟังให้ถึงใจนะ
มีทุกคนแหละกิเลส หาบมาเต็มหัวใจด้วยกันทุกคน แม้ผมผู้เทศน์นี้ก็ตัวหาบกองกิเลสกองวัฏจักรมากี่ภพกี่ชาติ จนไม่อาจสามารถจะนับอ่านได้ แต่เป็นความที่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องภพชาติที่สืบเนื่องมาโดยลำดับ ๆ เป็นของมีประจำจิตที่มีอวิชชาฝังใจโดยไม่ต้องสงสัย อันนี้เราเชื่อ มีพันเปอร์เซ็นต์เราก็เชื่อพันเปอร์เซ็นต์ ใครจะมาคัดค้านใครจะมาลบล้างความเชื่อของเราที่ฝังลงขนาดนี้แล้วเป็นไม่ได้ ในสามโลกธาตุนี้ไม่มีอันใดที่จะมาถอดถอนความเชื่อของเราอย่างนี้ให้หมดไปได้ ว่าไม่เคยเกิดไม่เคยตาย เราไม่สงสัย เพราะเรามาจับหลักฐานพยานภายในจิตใจของเราได้เมื่อปฏิบัติเข้าถึงธรรมขั้นละเอียดโดยลำดับ ๆ เราจับได้อย่างชัดเจน ต้นสายปลายเหตุมาจากไหนพาให้เกิดแก่เจ็บตายเป็นเพราะอะไร อะไรเป็นสาเหตุ ที่จะเป็นไปข้างหน้าอะไรเป็นสาเหตุ ก็อันที่เคยเป็นสาเหตุนั้นแลจะพาให้เป็นไปในอนาคต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย
การทุกข์เราก็ทุกข์มาพอแล้ว เราอย่าเห็นว่าอะไรมันดีในโลกนี้ มีแต่พุทธ ธรรม สงฆ์ สรุปแล้วธรรม พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถรื้อเรายกเราให้พ้นจากทุกข์ได้ด้วยอำนาจแห่งความพากเพียรของเราที่นำธรรมขึ้นมาประคับประคองตนเอง อย่าไปคิดถึงเรื่องอะไรในโลกนี้ว่าจะเป็นของแปลกประหลาดอัศจรรย์ พอที่จะให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามจนลืมเนื้อลืมตัวและลืมความพากเพียร ลืมอรรถลืมธรรมซึ่งเป็นของประเสริฐอยู่แล้วนี้ กลายเป็นของไม่มีราคาไปเสีย โดยไปเห็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าราคาว่าเป็นสาระสำคัญ นั่นเป็นความเห็นผิด เป็นความเห็นไปตามกิเลสซึ่งเคยคล้อยตามมันมาแล้วโดยไม่รู้สึกตัว
ธรรมต้องคัดค้านเสมอ ค้านกับกิเลส เพราะกิเลสคัดค้านธรรมเสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องสั่งสมสติปัญญาขึ้นให้พอกับความต้องการ สติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญที่จะฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสทุกประเภท ไม่มีประเภทใดจะนอกเหนือสติปัญญาศรัทธาความเพียรนี้ไปได้เลย เอาให้หนักแน่นนักปฏิบัติ เราเป็นพระทั้งองค์เป็นผู้ชายทั้งคน บุรุษทั้งคน เป็นอาชาไนยในตัวเอง เอาให้จริงให้จัง อย่าไปคิดท้อแท้อ่อนแอ ความคิดท้อแท้อ่อนแอนั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล ไม่ใช่เรื่องของธรรม ไม่ใช่เราประพฤติธรรม ความคิดเช่นนั้นไม่ใช่ความคิดเพื่ออรรถเพื่อธรรม เป็นความคิดฝ่ายสมุทัยที่จะเพิ่มกิเลสขึ้น แล้วทำให้เราเกิดความท้อถอยอ่อนแอลงไปโดยลำดับ ผลประโยชน์ที่จะพึงได้จะไม่ปรากฏเลย ไม่สมเจตนาที่เรามุ่งมั่นมาเพื่ออรรถเพื่อธรรม
กิเลสมันแทรกอยู่กับเราตลอดเวลา เผลอไม่ได้ เอ้า จำตรงนี้ให้ดี เผลอเมื่อไรกิเลสต้องแทรกทันที ๆ มันคอยทีอยู่เสมอ คือคอยทีสติปัญญา เผลอเมื่อไรเป็นออก สังขารเผลอเมื่อไรเป็นปรุง สัญญาความหมายนี้ยิ่งละเอียดกว่าสังขาร เท่าที่สังเกตดูในขันธ์อันนี้ สังขารปรุงแย็บออกไปเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สัญญานี้มันไม่ได้แย็บ เวลาเรากำหนดขันธ์มันเงียบสนิท ว่าขันธ์ใดจะแสดงออกก่อนหน้าหลังเวลามันแสดง สัญญาขันธ์นี่มันจะค่อยซึมซาบออก เหมือนกับกระดาษซึม ซึมออกไปจนเป็นภาพขึ้นมา ทำให้สังขารปรุงไปตามภาพนั้นจนได้ ปรุงเป็นเรื่องเป็นราวไปเพราะภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มันแสดงขึ้นมาเอง สัญญามันวาดภาพขึ้นมา มันสร้างขึ้นมาเอง สังขารก็จับอันนั้นปรุงแต่งเรื่อยไปโดยไม่มีสิ้นสุด
นี่เวลาเราเผลอ เผลอเป็นไม่ได้มันเป็นอย่างนั้น หนักก็ทน เราอย่าไปสนใจกับเรื่องคำว่าหนักว่าเบาว่าลำบากลำบนผู้ปฏิบัติ พระพุทธเจ้าของเราทรงดำเนินมาแล้วในทุกแง่ทุกมุม แง่ใดที่เห็นว่าเหมาะสมแก่การสั่งสอนสัตวโลกให้เป็นไปเพื่อความลัดความตรงความสะดวกสบาย พระพุทธเจ้าทรงเลือกเฟ้นไว้หมดพระสติกำลังของพระองค์แล้ว ก็เห็นแต่มัชฌิมาปฏิปทานี้เท่านั้น อย่างอื่นไม่เห็น นี่เรียกว่าลัดที่สุด อันเป็นทางลัดทางตรงที่สุดมัชฌิมาปฏิปทา ไม่มีสิ่งใดที่นอกเหนือไปจากนี้ ให้พยายามดำเนินตามนี้ ถึงจะยากง่ายก็ยากง่ายอยู่ในทางตรง เราเดินทางลัดเดินทางตรงอยู่แล้ว ยากก็ช่างมัน เดินทางอ้อมนั่นซิ ทั้งยากทั้งอ้อมทั้งคดทั้งโค้ง ดีไม่ดีหลงทางไปเลยไม่ถึงจุดหมายปลายทางได้ ให้ยึดหลักให้ดี
ทำจิตใจให้องอาจกล้าหาญ พลิกแพลงเปลี่ยนแปลง คอยสังเกตดูกิเลสมันคอยกระซิบกระซาบขึ้นมาภายในจิต มันอยู่ในจิตนะกิเลสอย่าเข้าใจว่าอยู่ที่อื่น ในคัมภีร์ใบลานมีแต่ชื่อกิเลสบาปธรรมเท่านั้นแหละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะตัณหา กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ท่านว่า แตกแขนงออกไปอย่างนั้น แตกแขนงออกไปอย่างนี้ พระสูตรก็ดี พระวินัยก็ดี พระปรมัตถ์ก็ดี เราไปเห็นแต่ชื่อเท่านั้นแหละ ว่าพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ชื่อของอรรถของธรรม ชื่อของกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ที่แสดงอยู่ภายในจิตใจของสัตวโลก พระพุทธเจ้าแสดงลงมาที่นี่
เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้วได้หลายร้อยปีถึงได้มีผู้จดจารึก ทำให้เป็นกรุยเป็นหมายไว้ในคัมภีร์ใบลาน เป็นแผนที่ทางเดิน เราทั้งหลายจึงได้ไปอ่านนั้นแล้วก็ไปติดกันเสียที่ตรงนั้น เรียนได้มากได้น้อยเท่าไรก็ถือความจดความจำนั้นว่าเป็นของตัวเสีย ว่าตัวรู้ตัวฉลาด ทั้ง ๆ ที่กิเลสความเผาลนอยู่ภายในจิตใจร้อนยิ่งกว่าภูเขาไฟทั้งลูก ไม่ได้ลดหย่อนลงไปเลยเพราะความจำเป็นเหตุนั้น นอกจากเพิ่มกิเลสขึ้นด้วยความสำคัญตนว่ารู้ฉลาดเพราะเรียนมากเท่านั้นไม่เห็นมีอย่างอื่นใด นั่นละเรียนผิดไป ไม่ได้ปฏิบัติตามที่เรียนมา
เรียนให้ถูกก็จำชื่อกิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ จำวิธีการของอรรถของธรรมที่ท่านแนะไว้ เพื่อการแก้ไขถอดถอนหรือปลดเปลื้องกิเลสอาสวะ ได้จากนั้นแล้วย้อนเข้ามาสู่ตัวจริงว่าอยู่ที่ไหน กิเลสบาปธรรมอยู่ที่ใจ คำว่าราคะความกำหนัดยินดีอยู่ที่ไหนถ้าไม่เกิดขึ้นที่ใจ โทสะความประทุษร้ายหรือโกธะความโกรธเกรี้ยวต่าง ๆ อยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่ใจ แสดงขึ้นที่ใจ โมหะความลุ่มความหลงก็ดี ความโลภก็ดี ความอยากความทะเยอทะยานเหล่านี้อยู่ที่ไหน หนังสือท่านไม่ได้แสดงความโลภ ความโกรธ ความหลงให้เราได้เห็นนี่ อยู่ในคัมภีร์ แต่ใจนี้มันแสดงอยู่ตลอดเวลา นี่อยู่ตรงนี้ ให้ย้อนเข้ามาตรงนี้ กิเลสมันอยู่ตรงนี้อย่าไปมองดูคัมภีร์ นั่นท่านชี้เข็มทิศเข้ามาหาใจ
เราไม่ประมาทธรรมนอกธรรมใน ธรรมนั้นเป็นธรรมนอกเพื่อชี้แจงเข้ามาสู่ธรรมใน ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นกรุยหมายป้ายทางบอกเข้ามา เข็มทิศชี้เข้ามาตรงนี้ เข้ามาที่ใจนี้ ให้เราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัตินี้ ว่าอย่างนั้นต่างหาก เราอย่าไปหลงเพลินกลายเป็นหนอนแทะกระดาษโดยไม่รู้สึกตัว เอาตรงนี้ซิ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ตรัสรู้ที่ตรงนี้
ให้มีความอาจหาญร่าเริง วิธีการปฏิบัติของเราแต่ละองค์ ๆ ให้มีสติปัญญาเป็นสำคัญนะ การประกอบความเพียรสติเป็นสำคัญอันดับแรกทีเดียว เป็นภาคพื้น แม้การเริ่มต้นฝึกหัดก็ต้องใช้สติ มีสติเป็นภาคพื้นเสมอ เราจะใช้ทางด้านปัญญาไม่ว่าปัญญาขั้นใด สติเป็นของสำคัญอีกเช่นเดียวกัน ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ สติจึงเป็นของจำเป็นอยู่ตลอดเวลา ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า สติ สมฺพตฺถ ปตฺถิยา สติจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวงท่านว่า ฟังซิทั้งปวง ไม่มีเลือกไม่มีเว้น ครอบหมดเลย ไม่ว่าจะทำกิจการงานภายนอกภายในสติต้องมี ให้พยายามฝึกให้ดี
อย่าไปสนใจกับอะไร อย่าไปคิดว่าอะไรมาเป็นภัยต่อเรา ว่ารูปมาเป็นภัยต่อเรา เสียงมาเป็นภัยต่อเรา กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่าง ๆ มาเป็นภัยต่อเรา คนนั้นคนนี้มาเป็นภัยต่อเราอะไร มันเป็นความคิดความปรุงของจิตใจซึ่งออกจากใจนี้เองไปปรุงเป็นภาพเป็นเรื่องเป็นราวนั้นขึ้นมาก่อกวนตัวเองต่างหาก ผู้ก่อเรื่องนี้ขึ้นมานั้นคือใจ ใจเป็นผู้ก่อเรื่อง ว่าเรื่องมีอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ดูตรงนี้ เมื่อดูตรงนี้อยู่ไม่หยุดไม่ลดไม่ละ เราจะต้องทราบว่าที่ก่อเรื่องที่หาเรื่องให้เกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายนั้นคือที่ไหน จะรู้ที่ใจเท่านั้น
พอใจสงบเงียบลงไปมันไม่มีเรื่องนี่ โลกก็เหมือนไม่มี ถึงจะมีก็ตามไม่มีใครไปให้ความหมายมัน ความรู้อยู่กับตัวเองไม่ได้ไปให้ความหมายสิ่งใดทั้งหมด แม้ที่สุดขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ในตัวเองเมื่อจิตไม่ไปให้ความหมายมันเสีย ขันธ์ ๕ ก็เป็นเช่นเดียวกับวัตถุต่าง ๆ ที่เราเห็นอยู่ด้วยตาเนื้อของเรานี้ เหมือนดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งมีอยู่ภายนอกมันมีความหมายในตัวของมันที่ไหน เราไปให้ความหมายมัน ไปให้ชื่อให้นามมัน นั่นน้ำ นั่นลม นั่นไฟ นั่นต้นไม้ นี่ภูเขา นั้นอยู่นั้น ว่าไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดจุดหมายปลายทาง ร่ายบ้าไปจิตไม่มีสติปัญญา
เมื่อจิตไม่ไปให้ความหมายเสีย จิตระมัดระวังตัวดีก็ไม่มีอะไร เราก็ได้สนุกค้นตัวเหตุที่ก่อเหตุก่อเรื่องก่อราวอยู่ภายในใจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าจิตของเรายังเสียดาย สนใจรู้สิ่งนั้น สนใจรู้สิ่งนี้อยู่แล้ว นั้นแหละคือเรื่องกิเลสมันผลักดันออกไปให้เราคิดกับเรื่องภายนอกมากยิ่งกว่าเรื่องภายใน กิเลสมันหลอกออกไปโน้นให้เราตะครุบเงามันโน้น ตัวกิเลสจริง ๆ มันอยู่ที่ใจไม่ได้ตะครุบมัน ไม่ได้ขยำขยี้มันตรงนี้ ฉะนั้นจึงต้องสนใจลงที่จุดนี้
ถ้าจิตไม่มีจุดที่ควรจะจับได้ว่ามันปรุงที่ตรงไหน เอ้า จะตั้งคำบริกรรมก็ตั้งให้แน่นแม่นยำ ให้รู้อยู่กับคำบริกรรม ไม่เอาอะไรละเอาคำบริกรรมนี้เท่านั้น จะเป็นพุทโธหรือเป็นอะไรก็ตามให้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่ไม่หยุดไม่ถอยแล้วความรู้มันก็ค่อยสืบเนื่องเข้ามา กระแสของจิตซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ก็สู้ความตั้งใจสู้การบังคับบัญชาจิตด้วยสติไม่ได้ แล้วก็จะตะล่อม ๆ เข้ามาสู่จิต เป็นความสงบเย็นขึ้นมา นั่นเห็นได้ชัด นี่อันหนึ่ง
การพิจารณากายก็เหมือนกัน จะพิจารณาอสุภะเป็นของปฏิกูลโสโครก ภายในร่างกายทุกสัดทุกส่วนไม่มียกเว้นก็คือร่างกายอันนี้แหละเป็นกองปฏิกูล นี่ตามหลักความจริง ความปีนเกลียวของธรรมความรู้สึกของเรา ความรู้ความเห็นของเราที่ปีนเกลียวธรรมว่า เป็นเราเป็นของเราเป็นสัตว์เป็นบุคคลนั้นคือตัวกิเลสอย่างแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้พยายามแก้ตรงนี้ด้วยการแยกธาตุแยกขันธ์ แยกอวัยวะส่วนต่าง ๆ มาให้เห็น ทั้งเป็นฝ่ายปฏิกูล ทั้งเป็นฝ่ายธาตุ
อะไรเป็นธาตุ ปฐวีก็ธาตุ อาโปก็ธาตุ วาโยก็ธาตุ จนกระทั่งมาถึงมโนก็ธาตุ เข้ามานี้ นี่แหละพิจารณากาย เรื่องร่างกาย เรื่องความตาย เกิดมาแล้วตาย คนตายมีคุณค่าอะไรไหม ไม่เห็นมีคุณค่าสู้ปลาตัวหนึ่งก็ไม่ได้ ปลาตัวหนึ่งตายนี้เขาเอาเข้าตลาด สัตว์ต่าง ๆ ตายเนื้อหนังเอาเข้าตลาด มีประโยชน์ไปหมดทุกชิ้นทุกอันของมัน แต่มนุษย์เรานี้ตายไม่เห็นมีประโยชน์อะไรถ้าไม่ทำประโยชน์ให้เกิดเสียตั้งแต่บัดนี้ ยิ่งเราเป็นพระด้วยแล้ว เป็นเพศพิเศษด้วย แล้วหน้าที่การงานของเราก็มีเฉพาะการบำเพ็ญตัวให้ได้รับความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ โดยมีประชาชนศรัทธาทั้งหลายเขาสนับสนุน ไม่มาวุ่นวายให้เราได้รับความลำบากลำบนเกี่ยวข้องกับการติดต่อหรือปฏิสันถารต้อนรับเขา มีแต่หน้าที่ของเราทำโดยถ่ายเดียว เอาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เรามีหน้าที่อันนี้ต้องเอาให้เด็ดเอาให้จริง พิจารณาความตายเอาให้เห็นชัด ๆ เรื่องความตาย ตายอยู่เต็มโลกเต็มสงสารตายทั้งหญิงทั้งชายทั้งสัตว์ทั้งบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนมีแต่ป่าช้าของสัตว์ แม้ที่เรานั่งอยู่นี้ก็มีป่าช้าของสัตว์ สัตว์เล็ก ๆ น้อย ๆ มันตายเกิดอยู่ตามแถวนี้ เราไม่หมายไปเฉย ๆ ว่าที่นี่คือป่าช้า เราว่าแต่ศาลา ในร่างกายอันนี้ก็เหมือนกันไม่ใช่มีแต่ร่างกายของเรา สัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายนี้มีอยู่จำนวนมาก เช่น เชื้อโรคอยู่ภายในเต็มไปหมดมันก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง แล้วมีอะไรเป็นของสวยของงามน่ารักใคร่ชอบใจ พิจารณาแยกให้เห็นตามความเป็นจริงของพระพุทธเจ้า ความเห็นของกิเลสนั้นว่าเป็นของสวยของงาม ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ว่าเป็นเราเป็นของเรา ถึงขนาดอุปาทานยึดมั่น ตะปูตีก็ยังไม่แน่นเหมือนอุปาทาน ถอนไม่ขึ้นง่าย ๆ เพราะอำนาจของกิเลสความสำคัญตนนี่มันสู้กันกับธรรม นี้เราพยายามแก้ถอดถอนความสำคัญเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ด้วยธรรมะคือสติปัญญาศรัทธาความเพียรของเรา เอาให้เห็นใหัชัด
กำหนดลงจนกระทั่งเห็นมันตายจริง ๆ มันจะไปไหน ความตายเป็นความจริงแท้ ๆ ทำไมจิตเราไม่ยอมรับความจริงเป็นเพราะเหตุไร ความปฏิกูลโสโครกในร่างกายส่วนต่าง ๆ เต็มไปหมดไม่มีข้อยกเว้นนี้ก็เป็นความจริงอยู่แล้ว เป็นอย่างนั้นจริง ๆ อยู่แล้วทำไมจิตเราไม่เห็น เป็นเพราะเหตุไร ค้นให้เห็นซิ เปิดออกให้เห็นด้วยสติปัญญาของเรา
งานนี้เป็นงานของเราโดยเฉพาะไม่มีใครช่วยได้ ครูบาอาจารย์ก็ช่วยแต่อุบายต่าง ๆ ดังที่อธิบายให้ฟังนี้เรื่อยมานั่นเอง ที่จะทำหน้าที่ของตัวเองเป็นเรื่องของเราช่วยตัวเราเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน หรือพึ่งตัวเอง เมื่อได้อุบายต่าง ๆ จากท่านแล้วก็นำไปใช้ จะเป็นประโยชน์แก่เราในขณะที่ฟังซึ่งเป็นภาคปฏิบัติก็ขณะที่ฟังธรรมได้รับความสงบเย็นใจ หรือมีอุบายอันใดอันหนึ่งที่ยึดจากครูบาอาจารย์ในขณะที่ท่านแสดงธรรม นอกจากนั้นแล้วเราก็ต้องไปช่วยตัวเราเองเป็นของสำคัญ เอาให้จริงให้จัง
ผมเป็นห่วงหมู่เพื่อนมากจริง ๆ นะ จึงต้องได้อบรมอยู่เสมอไม่ปล่อยไม่ละ ถึงเจ้าของจะมีความลำบากลำบนบ้าง แต่พอที่จะถูไถกันไปได้ก็ถูไถ เรื่องภายนอกเราไม่ค่อยสนใจ ประชาชนก็เป็นโลกหนึ่ง อยู่คนละโลก เรานี้อยู่ในโลกที่พร้อมแล้วในโลกแห่งศาสนา ที่พร้อมแล้วที่จะทำตัวให้หลุดพ้นจากทุกข์ไปได้ด้วยความเพียรของเรา ซึ่งมีหน้าที่อันเดียวนี้เท่านั้นพระเรา อะไรก็ไม่อยากให้เข้ามายุ่งมากวน ให้พระได้บำเพ็ญเพียรด้วยความสะดวกสบาย เพราะเป็นจุดสำคัญของผู้บำเพ็ญศาสนาเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงภายในจิตใจ ต้องด้วยอำนาจแห่งความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา โดยความมีสติสตังเป็นความเพียรอย่างเต็มตัวนี้เป็นของสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่น
เราไม่เห็นงานใดที่จะเป็นของประเสริฐเลิศเลอในโลกนี้พอที่จะให้เกิดความสนใจ แล้วเขวจากหลักอันนี้ไปคว้าโน้นคว้านี้ มายุ่งมาก่อมาสร้างวุ่นวาย เป็นการรบกวนความพากเพียรอันสำคัญ งานอันสำคัญนี้ให้เสียไป นอกจากมีความจำเป็นเท่านั้นถึงจะทำ ไม่จำเป็นไม่ให้ทำ ให้ทำอันนี้ ทุ่มเทสติกำลังวังชาที่จะไปในแง่อื่น ๆ งานอื่น ๆ เข้ามาสู่งานแก้กิเลสตัณหาอาสวะนี้มันก็เป็นประโยชน์กว่าอะไรอื่น ๆ
เวลามีกิเลสอยู่มากภายในใจมันก็ทุกข์ ไม่ได้ทุกข์เพราะอะไรแหละใจทุกข์ ทุกข์เพราะกิเลสเท่านั้น ให้เราทราบอย่างถึงใจว่าทุกข์มีมากขนาดไหนให้ทราบว่ากิเลสมีมากขนาดนั้น เสริมทุกข์ขึ้นผลิตทุกข์ขึ้นให้ใจได้รับความเดือดร้อน ไม่มีอันใดที่จะทำใจให้ได้รับความเดือดร้อนนอกจากกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น ฟังให้ถึงใจจำให้ถึงใจ เห็นโทษให้ถึงใจ เห็นว่ากิเลสเป็นภัยก็ให้เห็นอย่างถึงใจ เราจะได้ประกอบความพากเพียรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและถึงใจเช่นเดียวกัน จึงจะทันกันกับกิเลสตัณหาอาสวะซึ่งเคยเรืองอำนาจมาเป็นเวลานาน กี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วน เรายังจะพอใจเกิดพอใจตายเพื่อหาบหามกองทุกข์น้อยใหญ่อยู่เหรอ
มีผู้ใดที่แปลกประหลาดกว่าโลก ทั้งสามโลกนี้มีใคร ก็มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเป็นพระองค์แรกทีเดียว ทรงรู้ทรงเห็นภัยของกิเลส นอกจากนั้นไม่มีใครเห็นภัยไม่มีใครเห็นโทษของกิเลส ไม่ว่าความโลภ ไม่ว่าความโกรธ ไม่ว่าความหลง ราคะตัณหา หลงดิ้นตายไปกับมันหมดนั่นแหละ ให้มันลากถลอกปอกเปิก เกิดแล้วเกิดเล่าตายแล้วตายเล่าในภพน้อยภพใหญ่ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ หาตัวประกันไม่ได้ แล้วแต่กรรมของตัวเอง กรรมของตัวเองก็ไม่เป็นที่แน่นอนว่าได้ทำอะไรกันมาบ้าง
พระพุทธเจ้าท่านสามารถชำระ ให้เห็นโทษในสิ่งนี้ โลภ โกรธ หลง เห็นโทษอย่างประจักษ์พระทัย แก้หรือทำความเพียรห้ำหั่นกันอย่างเต็มที่เต็มฐาน ถึงจะตายพระองค์ก็ไม่ถอย จนกระทั่งได้ปราบปรามสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากพระทัย กลายเป็นพระทัยที่บริสุทธิ์ขึ้นมา เป็นศาสดาเอกของโลก นี่ละความรู้ความเห็นของพระพุทธเจ้าแปลกจากโลกทั้งหลาย ทั้งสามโลกธาตุไม่มีใครได้ความรู้ความเห็นอันฉลาดปราชญ์เปรื่องนี้มาปราบสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจได้เหมือนพระพุทธเจ้าเลย มาสั่งสอนสัตวโลกก็สั่งสอนอย่างนี้แหละ เฉพาะอย่างยิ่งพวกเราที่ฟัง ตั้งหน้าตั้งตาหรือมุ่งหน้ามาแล้วเต็มเม็ดเต็มหน่วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่จะมาประพฤติปฏิบัติตนและฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าให้ถึงใจ ปฏิบัติให้ถึงใจก็มีพวกเรานี้เท่านั้น เอาให้จริงให้จัง
เราอยากให้หมู่เพื่อนได้รู้ได้เห็น ให้เกิดความสงบทางใจด้วยจิตตภาวนาของตนจริง ๆ นอกจากความสงบในทางจิตตภาวนาแล้ว อยากจะให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาตามที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าข้างนอกไม่ว่าข้างในถ้าจะพิจารณากายก็ดี เอ้า ข้างนอกมันจะเพลินในการพิจารณาข้างนอก เอามาตั้งไว้ข้างหน้าซี ไม่ว่าเป็นรูปหญิงรูปชาย รูปตัวสำคัญที่มันเป็นข้าศึกต่อจิตใจดี ๆ นั้นแหละ อิตฺถี รูปํ เอามาตั้งไว้พิจารณาคลี่คลาย
ถ้ายังไม่แน่ใจอย่าด่วนเอาเข้ามาใกล้ ดูห่าง ๆ เสียก่อน กำหนดตั้งภาพขึ้นมา กำหนดลงให้เปื่อยให้ผุพังแตกเน่าสลายไปหมด กำหนดแร้งกาหมากิน ยื้อแย่งกันยุ่งไปหมดเต็มดงเต็มป่านี้เป็นไร มีกี่ซากกี่ศพมีกี่รูป เอามากองตั้งเป็นแถวแล้วกำหนดดูให้ดาดาษไปด้วยของปฏิกูลโสโครก เป็นป่าช้าผีดิบให้เห็นอย่างชัด ๆ ออกจากนั้นย้อนเข้ามาหาตัวเอง เทียบกันลงได้ทุกสัดทุกส่วน
พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า บังคับจิตให้เดินอยู่ตามแถวนี้ ไม่ให้ไปเดินในความสวยความงาม มันงามที่ไหนสวยที่ไหนไม่มี มันหาเรื่องเฉย ๆ นี่ กิเลสหาเรื่องขนาดนั้นก็ยังเชื่อมนุษย์เรา เฉพาะอย่างยิ่งเรายังเชื่อมันได้ หาความงามที่ไหนมี มันมีแต่กองปฏิกูล เอากองปฏิกูลมาดูให้เห็นประจักษ์ตาทำไมจะไม่ยอมเชื่อพระพุทธเจ้า เอาให้จริงจังซิ จากนั้นแล้วขยับเข้ามา พิจารณานั้นแล้วพอเห็นจิตมีความกล้าหาญ เอ้า ขยับเข้ามาอีก ขยับเข้ามา เอามันใกล้ ๆ ดูให้เห็นชัดเจน จากนั้นเอาให้มันสวยงามขึ้นมา สวยงามขนาดไหนปรุงขึ้นมา แล้วอสุภะราดมันลงไป เหมือนกับเอาน้ำมันราดลงไปแล้วเอาไฟ จ่อเข้าไปนี้มันลุกโพลงเป็นเปลวไปเลย
นี่อุบายสติปัญญาแล้วแต่ใครจะคิดเป็นมรรคทั้งนั้นที่พูดเหล่านี้ อุบายเหล่านี้เป็นมรรค สังขารคือความปรุงนั่นแลถ้ากิเลสเป็นผู้บังคับให้ปรุงสังขารเป็นสมุทัย ถ้าฝ่ายธรรมะปรุงเป็นอรรถเป็นธรรมเครื่องแก้กิเลส ดังที่แยกแยะออกเป็นอสุภะอสุภังของปฏิกูล เป็นป่าช้าผีดิบ จนแตกกระจัดกระจายสลายลงไปเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ นี้เป็นสังขารที่เป็นฝ่ายมรรคเครื่องแก้เครื่องถอดถอนความว่าสวยว่างาม ความเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นสัตว์เป็นบุคคล ให้ละลายกลายจากความเป็นเหล่านี้เสีย ลงไปเป็นธาตุดินน้ำลมไฟ แล้วใครจะไปสำคัญมั่นหมายไปรักไปชอบมันอะไรดินน้ำลมไฟ
กองไว้ป่าช้านั้นเราเห็นไหมคนตาย ใครจะไปชอบอะไรคนตาย มองดูแล้วดูได้เมื่อไร เกิดความสลดสังเวชขยะแขยงจะตายไป แล้วทำไมจึงมาเสกสรรว่ามันเป็นของสวยของงาม ย้ำแล้วย้ำเล่าพิจารณาอยู่นั้น สติปัญญาบังคับอย่าให้หนีไปไหนจึงชื่อว่าต่อสู้กันกับกิเลส ถ้าหากว่าเราปล่อยค่อย ๆ พิจารณาค่อย ๆ แล้วหาย ๆ ๆ พอแล้ววันแล้วคืนแล้วปีแล้วเดือนใช้ไม่ได้เลยอย่างนั้น ไม่จัดว่าผู้ต่อสู้ ไม่จัดว่าผู้ทำงานเพื่อเหตุเพื่อผลเพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างแท้จริงแก่ตัวเอง ผิดลักษณะของลูกศิษย์ตถาคต ต้องให้จริงจังทำงาน
มีหลายอุบายวิธีเรื่องปัญญาที่เราจะนำมาใช้ เอ้า ปัญญาใช้ขั้นไหนก็เถอะ สงบไม่สงบหาอุบายใช้ให้ได้ มันสงบด้วยการพิจารณานี้ก็เอาให้ได้ มันจะสงบด้วยบทบริกรรมภาวนาก็ให้ได้ หรือสงบด้วยความเป็นผู้มีฐานจิตอยู่แล้ว กำหนดเมื่อไรก็สงบ นั่นก็เป็นอันว่ารู้วิธีแล้วนั้น ต่อจากนั้นให้พิจารณาทางด้านปัญญา อย่านอนกอดความสงบอยู่เฉย ๆ นี่เคยติดมาแล้ว เคยพูดให้หมู่เพื่อนฟังไม่ทราบกี่ร้อยกี่พันหนแล้วแหละ เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากจะพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ
หมู่เพื่อนเคยได้ยินแล้ว เราเคยติดสมาธิมาเท่าไร เพียงสมาธิมันก็ได้แค่นั้นไม่ได้มากมายยิ่งกว่านั้น พอใช้ปัญญาลงไปนี้มองเห็นสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกันมากน้อยเพียงไร มันตัดมันฟาดฟันหั่นแหลกกันไปโดยลำดับ คุ้ยเขี่ยขุดค้นขึ้นมาเท่าไรยิ่งเห็น ๆ ยิ่งฟันกันแหลกไปด้วยสติปัญญา สติปัญญาก็เป็นการฟิตตัวเอง เป็นการฝึกซ้อมตัวเองให้มีกำลังกล้าขึ้นด้วยการพิจารณาอย่างนั้นอีกด้วย สติก็เหมือนกัน เพลินต่อการพิจารณา สติปัญญาก็ไปตาม ๆ กัน
นี่เป็นอุบายวิธีของแต่ละราย ๆ ที่จะหาคิดขึ้นมาใช้โดยลำพังตนเอง เป็นแต่เพียงว่าเราพูดให้ฟังเป็นกลาง ๆ แล้วแยกแยะออกไปใช้เป็นสมบัติของตนขึ้นมา คิดได้อ่านได้ปรุงได้พิจารณาได้โดยอุบายของตัวเองนั่นเป็นสมบัติของตนแท้ อันนี้เป็นแต่ครูบาอาจารย์หยิบยื่นให้ อย่าให้หลุดไม้หลุดมือไปเสียไม่เกิดประโยชน์ ให้เอาต้นทุนที่ได้ไปจากท่านนี้ไปค้ากำไรให้เกิดขึ้นจากตัวเองโดยความคิดของตัวเอง ๆ นั้นแหละเป็นของดี
นี่ได้พิจารณาหมดโลกธาตุนี้เต็มสติกำลังความสามารถ ยิ่งทุกวันนี้ไม่มีการมีงานอันอื่นใดแล้วมันอดไม่ได้ที่จะไม่ให้คิดตามนิสัยของจิต สัมผัสอะไรจะนำมาพิจารณา เดินไปตามถนนหนทาง นั่งรถนั่งราไปนี้กายเหมือนหัวตอแต่จิตไม่ได้เหมือนหัวตอนี่ มันกำหนดพับ ๆ ๆ ตามเรื่อย พอเข้าใจแล้วปล่อย แล้วสัมผัสปั๊บเอาอีก ๆ พิจารณา นี่เป็นนิสัยของจิตเราเป็นอย่างนั้น แล้วประมวลเข้ามาก็ไม่เห็นมีอะไร อันนี้ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องของกิเลส มันมีแต่เรื่องของกิเลสหลอกคนให้เป็นบ้ากันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งแผ่นดิน
ถ้าเราพูดอย่างนี้โลกเขาก็จะว่าบ้า แต่กิริยาที่แสดงออกนั้นเขาไม่รู้นี่นะจะว่าไง ว่าอะไรพาให้แสดงออกมาในกิริยาอย่างนั้น ๆ เราทราบนี่ เพราะเราได้เคยพิจารณามาแล้ว มันเคยเป็นในหัวใจเราแล้ว เราได้เคยพิจารณาแล้ว เราได้เคยแก้มันมาโดยลำดับ ๆ แล้ว จนกระทั่งรู้มันอย่างชัดเจน เมื่อมันแสดงอยู่ในผู้ใดยามใดไม่ว่าหญิงว่าชาย เดินไปไหนมันแสดงยังไง ๆ บ้างมันรู้หมด มันเข้าใจทันที ๆ เขาไม่เข้าใจเขาไม่รู้ก็เห็นใจเขาเพราะเขาไม่เคยศึกษา เขาไม่เคยเข้าใจวิธีแก้ไขและเขาไม่เคยแก้ไขจะให้เขารู้ได้ยังไง ก็เป็นไปตามภาษีภาษาอย่างนั้น
ใครจะเรียนความรู้มากน้อย ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มันก็ไม่พ้นที่จะเอากิเลสขึ้นอยู่บนหัวใจจนได้ ความเรียนรู้มามากน้อยมันกลายเป็นเครื่องมืออันทันสมัยของกิเลสด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีธรรมะเข้าไปแทรก แล้วกิเลสจะได้สนุกใช้คนฉลาดนั้น เรียนมามากมันก็ฉลาดมีความรู้ลึก ๆ ทีนี้กิเลสซึ่งเป็นของลึกซึ้งอยู่แล้วมันก็ยิ่งชอบใจมันได้เครื่องมืออันดี นั่นแหละถ้าไม่มีธรรมแล้วคนที่เรียนมามากมายก่ายกอง มีอำนาจวาสนามากเท่าไรยิ่งทำความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและผู้อื่นได้มากมาย โดยที่เจ้าตัวก็ไม่ทราบว่าตนได้ทำความเดือดร้อนแก่ตัวเอง แต่การทำความเดือดร้อนให้คนอื่นนั้นอาจทราบได้ถ้าไม่หนาด้วยวิชาจนเกินไป
แต่อย่างไรก็ตามความโลภความทะเยอทะยานอยาก ความหลงอำนาจวาสนาจนลืมเนื้อลืมตัวนี้ มันบีบบังคับมันปิดหูปิดตาไม่ให้รู้ ถ้ามีธรรมบ้างต้องรู้ จะโลภไปอะไรนักหนา ตายแล้วก็เห็นแต่ กุสลา ธมฺมา แล้วก็อยู่ในโลงไม่เห็นได้เรื่องอะไร เผาเข้าไปแล้วพอไฟดับลงไปเกลี่ยออกมาก็เห็นมีแต่กระดูกเถ้าถ่านเท่านั้น มีเท่านั้นได้อะไร แล้วจะตื่นไปอะไรนักหนา ความทำอะไรพออยู่พอกินแล้วก็เป็นสุขในโลกอันนี้ แล้วจะโลภหาอะไรนักหนา
มีแต่ว่าจะมีความสุขเพราะความโลภ ความโลภเคยทำความสุขให้คนที่ไหน ความโกรธความโมโหโทโสเคยทำคนให้มีความสุขที่ไหน ไฟราคะตัณหาเวลาเกิดขึ้นทำให้คนดิ้นตายเหมือนหมาเดือน ๙ เดือน ๑๐ นั้นน่ะหาความสุขได้ที่ไหนมันเหมือนกังหัน พอโรคอันนี้สงบลงไปมันไม่ได้ดิ้นนี่ ยิ่งจิตมีความสงบลงไปโดยลำดับ ๆ ก็ไม่ดิ้นด้วยเรื่องเหล่านี้ ฟาดให้มันขาดจากหัวใจไปเลยไม่มีสิ่งเหล่านี้มากวนใจแล้วอะไรจะมาดิ้น อะไรจะมากวนใจ ไม่มีอะไรกวนใจนั่นละท่านว่าอิสระ
ก็เห็นได้ชัดละซิที่นี่ ภัยตัวสำคัญก็โลภอันหนึ่งตัวก่อตัวกวนตัวเหยียบย่ำทำลายให้เกิดความเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ หลงอันหนึ่ง ความโกรธอันหนึ่ง ราคะตัณหาหนึ่ง มีแต่ตัวใหญ่ ๆ นี่ละไฟทั้งกอง ๆเหมือนภูเขาไฟเผาหัวใจอยู่ตลอดเวลา เราไม่เห็นโทษของมัน ทีนี้เราเห็นแล้ว นั่นมันชัดเจนอยู่ภายในจิตใจ เมื่อได้อ่านอันนี้ให้ชัดเจนแตกกระจัดกระจายในคัมภีร์กิเลสตัณหาอาสวะ พร้อมทั้งการถอดถอนได้อย่างสมความมุ่งมาดปรารถนา มองไปไหนก็มองซี แล้วทำไมจะไม่รู้มันปิดได้เหรอ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเหมือนกันนี่ เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นแต่เราไม่พูดเท่านั้นกิริยาอาการซึ่งมันแสดงออกอะไร ๆ เป็นกิเลสพาให้แสดงแต่ผู้นั้นหาได้รู้ไม่
เราจึงพยายามเรียนกลมายาของกิเลสซึ่งแสดงอยู่ในตัวของเรา เฉพาะอย่างยิ่งในใจของเรา เรียนให้เห็นชัดเจน และพิถีพิถันกับการประคองใจ สังเกตดูใจอย่าเห็นอะไรเกิดเป็นเรื่อง จะเป็นเรื่องความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ราคะตัณหาก็ดี ให้พึงทราบมันเกิดขึ้นจากใจ ใจเป็นผู้ปรุงใจเป็นผู้แต่งใจเป็นผู้หิวโหย ให้ดูตัวนั้น มันหิวโหยกับเรื่องอะไร เอาเรื่องเหล่านั้นมาคลี่คลายออกดู มันต้องการอะไรเอานั้นมาคลี่คลายออกดูเพื่อให้เห็นแล้วหายสงสัย
เช่นอย่างรูปเป็นต้น ผู้ชายก็หมายถึงรูปหญิงเป็นข้าศึกกัน เอ้า คลี่คลายดูให้เห็นชัดเจน มันเป็นหญิงที่ไหนเป็นชายที่ไหนดูให้ชัดเจน ถ้าพูดถึงเรื่องเป็นลำดับลำดาไปก็มีแต่เนื้อหนังเอ็นกระดูกเท่านั้น ออกจากนั้นก็มีแต่ของปฏิกูลโสโครกภายในภายนอกเยิ้มไปหมด เต็มไปด้วยของปฏิกูลมันสวยที่ตรงไหน จากนั้นก็เอาให้มันพังทลายลงไป ตายแล้วมันพุมันพองมันเน่ามันเหม็นแตกกระจัดกระจายลงไป กลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ใจเห็นได้อย่างชัดเจน
ความสำคัญมั่นหมายนั้นก็ค่อยเบาลง ๆ ความจริงค่อยเด่นขึ้น ๆ จริงในเรื่องอสุภะอสุภังปฏิกูลโสโครกป่าช้าผีดิบ แล้วก็จริงไปถึงธาตุ เรื่องธาตุต่าง ๆ พอเข้าถึงขั้นธาตุเป็นความจริงอันละเอียดแล้วอะไรจะวุ่นอะไรจะมากวนจิต นี่ละการแก้เจ้าของให้แก้อย่างนี้ สติปัญญาเอาให้ดี อย่าอยู่เฉย ๆ หาอุบายพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงตัวเอง
อยากให้รู้ให้เห็นเหลือเกินเต็มหัวใจเพราะธรรมะคือมรรคผลนิพพานเหมือนกับอยู่แค่เอื้อมนี่นะ อยู่กับหัวใจเจ้าของ ความหลุดความพ้นจากสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ที่นี่ กิเลสตัวเป็นภัยขยี้ขยำหัวใจอยู่ตลอดเวลามันก็อยู่ที่ใจนี้แท้ ๆ ไม่อยู่ที่อื่น สติปัญญาที่จะหยั่งลงไปให้แทงทะลุกิเลส แทงสันหลังกิเลสให้ขาดกระจัดกระจายลงไป แทงหัวปอดกิเลสให้ขาดกระจัดกระจายไปจากใจ ก็ไม่พ้นจากสติปัญญาไปได้ ก็อยู่ที่เรานี้ ทำไมจึงแทงไม่ทะลุสักที แทงกิเลสไม่ถูกสักที กิเลสแทงเรามันทำไมจึงปั๊บใดปั๊บนั้นล่ะไม่มีผิดมีพลาด ก็คือกิเลสแทงหัวใจเรา แต่เราจะแทงกิเลสกี่ร้อยกี่พันครั้งมันไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร แทงเงามันเสียไม่ได้แทงตัวจริง มันหลอกไปโน้นไปนี้ตัวจริงมันอยู่ที่นี้กิเลสมันหลอก ตัวหลอกอยู่ที่นี่ มันวาดภาพหลอกทางโน้นเราก็วิ่งตามเงามันเสียเลยไม่ได้เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นให้ย้อนเข้ามาดูตัวเหตุ อยู่ที่ใจนี้ไม่อยู่ที่อื่น สงบก็สงบลงที่นี่ กิเลสสงบ - สงบลงที่นี่ สติปัญญาอยู่ที่นี่ที่จะปราบกิเลสให้สงบได้ ตลอดถึงราบลงไปไม่มีเหลืออยู่ที่นี่ เอาให้จริงให้จัง
พูดไป ๆ รู้สึกเหนื่อย ๆ
พูดท้ายเทศน์
อยากทราบว่าจิตเป็นอย่างไร พอได้รับการอบรมให้มีความสงบขึ้นพอประมาณแล้วก็ทราบได้ชัด จุดของความรู้กับขันธ์อยู่ด้วยกันก็ยังพอทราบได้ว่า จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ถึงจะยังไม่ชัดก็พอทราบได้ ความสงบเย็นใจ ความผ่องใส ความคล่องตัวของจิตก็ค่อยเปลี่ยนแปลงไปตามความเพียรที่ชำระได้มากน้อย ที่เปลี่ยนแปลงมากเห็นได้ชัด ๆ ก็เปลี่ยนแปลงตอนใช้ปัญญาพิจารณา กิเลสค่อยหลุดลอยออกไปด้วยอำนาจของปัญญาเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความคล่องตัวของจิตมากขึ้น
เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อาการของจิต เปลี่ยนหมายถึงเปลี่ยนไปเพื่อความละเอียด เมื่อเราปฏิบัติบำรุงอยู่เสมอค่อยเปลี่ยนเรื่อยไปสู่ความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับลำดา เพราะเหล่านี้เป็นสมมุติทั้งนั้น
จนกระทั่งหมดสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตหรือแทรกซึมกับจิต แม้ส่วนละเอียดสุดเช่นอวิชชาเป็นต้นแล้วจึงหาความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คงเส้นคงวา ความเปลี่ยนแปลงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ อย่างว่า เปลี่ยนแปลงตามขั้นของสมมุติที่อยู่ภายในจิต ทางดีก็เปลี่ยน เปลี่ยนเข้าสู่ความละเอียด เพราะดีก็เป็นสมมุติ ชั่วก็เป็นสมมุติ บาปเป็นสมมุติ บุญเป็นสมมุติ เมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดแล้วก็เข้าใจ พอเลยจากนั้นแล้วท่านจึงกล่าวว่า ปุญฺญปาป ปหินบุคคล ผู้มีบุญและบาปอันละเสียแล้ว ก็คือว่าสมมุติทั้งดีและชั่ว ไม่ว่าหยาบละเอียด ได้ละโดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่มีอะไรเหลืออยู่ภายในจิตนั้นเลยขึ้นชื่อว่าสมมุติ เหลือแต่ความรู้ตามหลักธรรมชาติล้วน ๆ
เพราะฉะนั้นในการแปลว่า สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ผ่องแผ้วมันก็คู่เคียงกับความผ่องใส เราจึงไม่สนิทใจนัก ถ้าได้เพิ่มคำว่าผ่องแผ้วจนถึงความบริสุทธิ์แล้วเราแน่ใจ ดังในธรรมท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้เป็นประภัสสร คือผ่องใส แต่เพราะอาศัยกิเลสที่จรมา อาคันตุกะหมายถึงความจรมาของกิเลสจึงทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว คำว่าจิตเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น หมายถึงจิตเดิมของวัฏจักร
พระองค์ไม่ได้บอกว่าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ เพราะเหตุไร เพราะจิตเดิมของใครก็ตามมีอวิชชาเป็นรากฐานฝังรากลงอย่างลึกอยู่ภายในจิตใจด้วยกันทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตคนจิตสัตว์ ท่านจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้ผ่องใส ประภัสสรคือความผ่องใส แต่เพราะอาศัยกิเลสที่จรมา คือภายในจิตนี้สัมผัสกับสิ่งใดก็นำอารมณ์อันนั้นเข้ามาหาตัวเอง ที่เรียกว่าจรมา ท่านพูดตามขั้นสมมุติเป็นขั้น ๆ ไป ทีนี้เมื่อเวลาชำระจนถึงขั้นบริสุทธิ์เต็มส่วนแล้ว คำว่าประภัสสรก็หมดปัญหาไป
คำว่าประภัสสรพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ในคัมภีร์ธรรมบท ผู้ปฏิบัติก็ต้องเจอ ถึงจิตประภัสสรก็ถึงขั้นจิตอวิชชานั่นเอง มีแต่ความประภัสสรความสง่าผ่าเผยของอวิชชาต่างหาก เพราะเป็นเรื่องกิเลสประเภทหลอกลวงอันละเอียดแหลมคมที่สุดไม่มีอะไรเกินอวิชชา ถ้าถึงขั้นนั้นจึงผ่องใส เมื่อผ่องใสเป็นประภัสสรแล้วก็หลงอยู่นั้น เอาอันนี้มาประดับหน้าร้านนึกว่าเป็นของดิบของดี จนกว่าอันนี้สลายลงไปแล้ว เพราะคำว่าประภัสสรนั้นแหละคือตัวเชื้อที่พาให้เกิด เมื่ออันนั้นหมดไปแล้วก็ไม่มีจุดมีหมายภายในจิตใจ
เราก็ปฏิบัติมาโดยลำดับจิตเป็นสมาธิก็มีจุดแห่งความสงบของตน มีฐานแห่งความสงบของตนเป็นลำดับมา จิตเป็นสมาธิแนบแน่นเท่าไรก็ยิ่งมีฐานอันแน่นหนามั่นคงไม่หวั่นไหวกับอะไรง่าย ๆ เพราะฉะนั้นคำว่าสมาธินี้จึงเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตได้ดี จิตไม่วุ่นวายส่ายแส่ ไม่หิวโหยกับอารมณ์อะไร เพราะอาศัยอาหารคือสมาธิเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่เสมอ
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา เพราะจิตได้รับอาหารแล้วไม่หิวโหย ให้นำจิตที่มีความอิ่มตัวในทางสมาธินี้ออกไปคิดค้นทางด้านปัญญา จะทำงานให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ได้เหมือนจิตที่กำลังหิวโหยวุ่นวาย เราจะพิจารณาปัญญามันกลายเป็นสัญญาอารมณ์ไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เสียหมด
นอกจากเวลาจนตรอกจนมุมที่เราจะนำมาใช้ในบางกาล เช่นอย่างที่เขียนไว้ในปัญญาอบรมสมาธิ คือมันจนตรอก ทำยังไงมันก็มีแต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย มันเป็นยังไงหือ นั่นเอาละที่นี่ เป็นกรณีพิเศษขึ้นมา มันจะไปไหนจิตนี่ว่ะ ตามค้นขุดค้นเอาเสียจน..ไม่ยอมให้หนีจากวงกรรมฐานไปได้เลย ตามคุ้ยเขี่ยขุดค้นจนจิตหมอบเพราะปัญญาตีตะล่อมเข้ามา ๆ มันสงบแน่วด้วยอำนาจของปัญญา สงบได้อย่างอาจหาญทีเดียว
ปัญญาพาให้จิตสงบนี้อาจหาญมาก พอถอนขึ้นมาก็มีความสง่าผ่าเผย นี่เป็นกรณีหนึ่ง เป็นบางกรณี ถ้าไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้เพราะความจริงในภาคปฏิบัติเป็นได้อย่างนั้นในบางราย ถึงจะไม่ทุกรายไปก็ตาม มันมีได้ในบางราย ดังที่เราเขียนนี้เราเป็นแล้วนี่ เรานำความเป็นของเรามาเขียนไม่ใช่เราไปอุตริอะไร มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เวลาจิตมันไม่หยุดไม่ถอย ทีแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะลงกันขนาดนั้น มันหากปั๊บโน้นปั๊บนี้ พิจารณาอะไรจะกำหนดอะไรมันไม่อยู่ไม่ยอมรับ มันปั๊บโน้นปั๊บนี้เป็นยังไงวะ ใส่กันเท่านั้นซิ เอ้า มันจะไปไหนจิตนี้ มันจะรวดเร็วขนาดไหนวันนี้จะตามกันให้รู้ ขุดค้นลงไปทางด้านปัญญา ตีตะล่อมเข้ามา ๆ ก็เหมือนตะลุมบอนนั่นแหละจนกระทั่งมันหมอบ
หมอบด้วยปัญญานี้หมอบจริง ๆ จิตลงสู่ความสงบก็ลงอย่างอาจหาญชาญชัย ถอนขึ้นมาก็อาจหาญสง่าผ่าเผยทั้งลงไปทั้งถอนขึ้นมา นี่เป็นกรณีหนึ่งต่างหาก ส่วนกรณีทั่ว ๆ ไปดังที่ว่าสมาธิอบรมปัญญาก็ดังที่ว่า สมาธิเป็นเครื่องหนุนของปัญญา อาหารทางสมาธิเป็นอาหารของจิตได้ดี เป็นเครื่องหนุนปัญญาให้พิจารณา ทำหน้าที่ไม่หิวโหยวุ่นวายกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอที่จะวิ่งเต้นเผ่นกระโดดกลายเป็นสัญญาอารมณ์ ให้ทำงานอะไรทำเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งหน้าตั้งตาทำให้ นี่ละสมาธิอันนี้ละเป็นฐานอันหนึ่ง
ทีนี้เวลาเราพิจารณาทางด้านปัญญามาก ๆ ฐานสมาธิที่เป็นอยู่นี้หายหมด ดูซิ จะว่าเป็นเหมือนคนไม่มีสมาธิไม่ได้นะ เพราะความรู้สึกทั้งสิ้นหมุนไปกับทางปัญญาเสียหมด มันไม่เข้ามามีความรู้สึกอยู่จำเพาะตัวให้เป็นสมาธิ ออกจากพลังของสมาธินี้แล้วไปเป็นปัญญา หนุนทางด้านปัญญา ทีนี้ฐานของสมาธิที่เคยเป็นนั้นเลยหายหมด มันไปไหนเวลาคนถาม พูดแบบทิ้ง ๆ ว่างั้นเถอะ เป็นยังไงภาวนา โอ๊ย ไม่ได้เรื่องอะไร สมาธิก็เหลวแหลกไปหมด เราก็ว่าอย่างงั้นไปเสีย
ความจริงมันไม่ได้เหลวนี่หากพูดไปอย่างงั้นแหละ มันเหลวอะไรมันทุ่มไปหาปัญญาหมดแล้วเวลานี้ สมาธินี้กลายไปทางปัญญาเสียหมดแล้ว ไม่ยอมมาอยู่มาพักอาศัยเลย เพราะฉะนั้นเวลาเราให้พักจิตนี้จึงต้องได้หักห้ามหรือรั้งกันอย่างเต็มเหนี่ยว บังคับให้เข้ามาอยู่ภายในความสงบมันก็เข้า แต่ว่ามันฝืนเข้ามานะ ฝืนเราไม่ได้มันก็จำใจเข้ามา เพราะสติปัญญาขั้นนี้บังคับได้นี่ มันไม่มีอะไรมีแต่จิตกับอาการของจิตคือสติปัญญาเท่านั้น ไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง อะไรจะมาฉุดมาลากจิตไปให้เถลไถลไปทางอื่นไม่มีนี่ เมื่อเป็นเช่นนั้นบังคับก็บังคับออกมาจากงานต่างหาก งานที่ทำด้วยปัญญานั้นให้เข้ามาสู่ความสงบเพื่อพักตัว แล้วก็บังคับไว้นั้นไม่ให้ออก
จนกระทั่งเอาพุทโธอัดเข้าไป นี่เราไม่ลืมนะ พุทโธถี่ยิบไม่งั้นมันจะออกไปทำงาน ไม่ใช่จะออกไปเพลิดเพลิน เพลิดเพลินอะไรมันไม่ได้สนใจกับอะไรนี่ ทั้งโลกธาตุนี้ไม่เคยสนใจกับใครเลยในระยะนั้นจิตขั้นนั้นภูมินั้น มีแต่ความเพลินในการพิจารณาจึงเรียกว่าอุทธัจจะ คือเพลินต่องานของตนเกินไป ท่านก็เรียกว่าเป็นสังโยชน์อันหนึ่งเหมือนกันเพราะไม่พอดี ที่ควรจะพักจิตให้อยู่ในความสงบเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน เพื่อเป็นกำลังของทางปัญญา มันก็ไม่พักเสีย
เวลาจะตายจริง ๆ ก็ต้องมาพักจนได้ มันจะไปไหน มันจะตายมันก็ต้องปล่อยจอบปล่อยเสียมเอง คนจะตายจะไปจับจอบจับเสียมขุดอยู่ยังไง นี่มันจะตายเพราะการพิจารณา เมื่อยหิวอ่อนเพลียจนจะตายแล้วมันก็ต้องถอยเข้ามาจนได้ ระงับอยู่ในองค์สมาธิแน่ว บังคับไม่ให้ออก จนกระทั่งเห็นว่ามีความสบาย เบาไปหมดที่นี่นะ ปล่อยงานเบาไปหมดสบาย พอได้กำลังในตัวแล้วก็ปล่อย พอปล่อยพับก็ผึงเลย ทีนี้หมุนติ้วกับงานเลย
ในขั้นนี้ฐานสมาธิไม่มีสำหรับผมเองเป็นอย่างนั้น ฐานสมาธิมีจนแน่นหนามั่นคงเพราะเราสั่งสมหรือเราอยู่กับสมาธิ เราบำเพ็ญเพื่อสมาธิอยู่โดยตรงไม่มีเวลาหยุดยั้ง มีแต่ความสงบ ๆ มันก็มีละซี ปัญญาไม่ใช้ พอออกทางด้านปัญญาแล้วจนถึงขนาดหมุนติ้วไปแล้ว ฐานสมาธิเลยหายหมด ทีนี้อันหนึ่งที่มันเป็นความผ่องใส ไม่ใช่ฐานสมาธิ มันเป็นอะไรอีกอันหนึ่ง ปัญญาที่ชำระมันได้แล้วยิ่งมีความผ่องใส ถึงเวลามันว่างมันก็ว่างได้อย่างชัดเจน
เรานี่พูดได้อย่างเต็มปากเลยเรื่องความว่างของจิต ว่างต่อร่างกาย ว่างต่อสิ่งทั้งหลาย ตาเห็นก็เหมือนพอเป็นเงา ๆ จะมองดูภูเขาทั้งลูก มองดูก้อนหินใหญ่ ๆ ทั้งก้อนมันก็เป็นเงา ๆ แต่ส่วนใหญ่ของจิตมันว่างหมด เหมือนไม่มีก้อนหินมีแต่เงาเฉย ๆ เดินไปบนแผ่นดินนี้ ก็เป็นเพียงเงา ๆ มันทะลุไปหมด มันเป็นเอง ร่างกายไม่ต้องพูดละ มันก็เหมือนแก้วครอบตะเกียงเจ้าพายุนั่นแหละ ร่างกายข้างในมันใสสว่างอยู่ข้างในจ้า มันแทงทะลุออกมาหมดเป็นเหมือนแก้วครอบตะเกียงเจ้าพายุนั่นแหละ มันเป็นเองของมัน นี่ว่างตามฐานสมาธิหรือว่างตามฐานของจิต
ว่างตามฐานสมาธิเราไม่สนิทใจ ถ้าว่างตามฐานของจิตนั้นสนิทใจ ในสมาธิมันก็ว่าง ว่างเฉพาะสมาธินั้น แต่กำหนดออกไปข้างนอกมันก็ไม่ว่าง พอจิตว่างตามฐานของตนจริง ๆ ดูไปไหน ๆ มันก็ว่างไปหมด แต่มันยังไม่ว่างตัวเองนั่นซี บทเวลามันจะเสร็จจะสิ้นของมัน มันต้องมาพิจารณาตัวเองนั่นแหละจนกระทั่งตัวเองว่าง
มองไปไหนก็เห็นอันนั้นว่างอันนี้ว่างแต่ตัวเองมันไม่ว่าง มันแบกภาระอยู่นั้น แบกอวิชชาตัณหาเต็มตัวอยู่นั้น คำว่าตัณหาไม่ได้หมายถึงตัณหาแบบหยาบ ๆ นะ ตัณหาความอยากก็หมายถึงความรัก ความชอบใจ ความติดความสนิทสนมกับความผ่องใสของจิตนั่นแหละ ก็ต้องได้มาพิจารณานี้จนกระทั่งอันนั้นมันกระจายออกไปเสียหมดไม่มีอะไรเหลือ ทีนี้มันก็ว่าง ว่างตรงสมาธิหนึ่ง ว่างตามฐานของจิตหนึ่ง ว่างจนไม่มีอะไรเหลือทั้งจิตก็ว่าง ส่วนภายนอกก็ว่าง ฐานของจิตเองก็ว่าง มันถึงหมดปัญหา จะพิจารณาอะไรไปอีกมันก็รู้เอง
คำว่า สนฺทิฏฺฐิโก ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย นี่หมายถึงว่ารู้เองเห็นเอง ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มันก็รู้ ไม่สงสัย มีเงื่อนอะไรต่ออีก จะทำงานอะไรต่อไปอีก ก็รู้ชัดแล้วว่าไม่มีอะไรที่จะทำต่อไปแล้ว จะทำอะไร ทำกับอะไร อะไรก็ไม่มาเกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องพอที่จะให้สืบสาวราวเรื่องกันไป ตัวจิตนี้อยากจะว่าจิตเท่านั้นที่นี่ จะเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาก็ไม่มีเสีย หมด ความสมมุติติดสมมุติอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่มีเสีย จะทำอะไรอีก
นั่นละความยากลำบากมาแต่ต้นจนอวสาน ยากมาโดยลำดับลำดา ยากตามขั้นของงาน งานสมาธิเป็นงานหยาบก็หนักทั้งส่วนร่างกายด้วย การฝึกฝนทรมานร่างกาย เช่น อดหลับอดนอนผ่อนอาหารอดอาหารอย่างนี้ก็เป็นทุกข์ นั่งสมาธิภาวนานาน ๆ ก็เป็นทุกข์ มันเกี่ยวกับเรื่องฝึกหัดทางด้านสมาธิก็ลำบาก พอจิตเป็นไปแล้วมันก็ลำบากทางด้านจิต จนกระทั่งจิตเป็นไปละเอียดเท่าไรก็ยิ่งมีความลำบากในงานของจิต แต่ก็ไม่ได้สนใจความลำบากนั้นให้นอกเหนือไปจากงานที่กำลังทำเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิต เพราะฉะนั้นถึงว่าลำบากลำบน
เวลาไปสุดกำลังความสามารถของตัวเองแล้วก็อยู่เอง สติปัญญาที่หมุนเป็นธรรมจักรติ้ว ๆ นั้นก็หมดปัญหาไปเองเป็นอัตโนมัติด้วยกันทั้งนั้น ความเพียรที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่ด้วยสติปัญญาก็หมดปัญหาไปเอง ก็ไม่ทราบจะเอามาแก้อะไร ปัญญาก็เพื่อจะคลี่คลายตัดฟันหั่นแหลกกับกิเลส กิเลสประเภทไหนมีอยู่ในจิตไหม เมื่อแน่ใจว่าไม่มีแล้วจะไปฟันอะไร ฟันลมฟันแล้งอะไร
มีสิ้นสุดได้งานของทางธรรม งานทางโลกหาสิ้นสุดไม่ได้ ตั้งแต่วันเกิดมามีงานนั้นงานนี้เรื่อยมาจนกระทั่งวันตาย ไม่เคยเห็นสำเร็จเสร็จสิ้นอะไรไปได้เลย ใครตายไปก็ตายไปเพราะความห่วงความใยกับการกับงานกับญาติมิตรเพื่อนฝูงยุ่งไปหมด ไม่มีจิตดวงใดที่จะไปด้วย สุคโต หายห่วงหรือ อนาลโย หมดความอาลัย มีแต่ตายไปด้วยความหม่นหมองวุ่นวาย พัวพันกับสิ่งเกี่ยวข้องผู้เกี่ยวข้องทั้งนั้น แล้วจะหาความสุขมาจากไหน ไปก็แบกภาระอันหนักไปด้วยความห่วงใย งานที่ทำก็ไม่สำเร็จ ตายแล้วคนอื่นก็มาทำแทนสืบต่อกันไปเรื่อย
ไม่เห็นมีใครทำสำเร็จงาน งานนี้สำเร็จงานนั้นมา ๆ เขาก็ยังทำกัน แต่เราจะไปอาจหาญเหรอ อาจหาญชนะงานเหล่านี้ ให้งานนี้อย่างทางโลกสำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนเราถึงจะตายมันเป็นไปได้เหรอ เราเชื่อแน่ในความคิดของเราความรู้สึกของเราได้เหรอ ถ้าเราไม่เชื่อแน่อันไหนที่เป็นความจริงความแน่นอนดังพระพุทธเจ้าสอนไว้ ว่างานนี้ให้มันถึงขั้น วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ มันเสร็จจริง ๆ ไม่มีกิเลสตัวไหนที่จะมาดิ้นมาดีด ฟื้นตัวขึ้นมาแล้วมาทำลายเรา มาต่อสู้กับเราอีกไม่มี
ถ้าลงหมดอย่างราบไม่มีเหลือแล้ว ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วหมดเท่านั้นแหละ ตั้งแต่ขณะนั้นแล้วไม่มีที่เราจะได้สะดุดใจว่า เอ๊ะ กิเลสเหล่านี้ก็นึกว่าเราได้ฆ่ามันฉิบหายตายไปหมด ชำระมันหมดไปแล้ว มันมีขึ้นมาได้ยังไง ไม่มี จึงว่ามันตายหรือว่ามันหมด หมดจริง ๆ ก็ไม่มีละซิ นั่นละที่นี่จากนั้นก็สบาย สบายเกี่ยวกับเรื่องความกวนใจความยุ่งเหยิงวุ่นวาย กิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ มาเผาลนหัวใจเหมือนกับภูเขาไฟหมด ภูเขาไฟถูกน้ำอรรถน้ำธรรมชะล้างเสียจนไม่มีเหลือ ดับหมดไฟราคะไฟตัณหา ราคคฺคินา โทสคฺคินา โมหคฺคินา ดับหมดด้วยน้ำคือมัชฌิมาปฏิปทา เย็นไปหมดละที่นี่
เมื่อน้ำได้สาดลงไปที่กองไฟใหญ่ที่เผาลนจิตใจอยู่นั้นให้ดับมอดไปไม่มีเหลือแล้ว มีแต่ความเย็นฉ่ำตลอดอนันตกาลด้วย ไม่มี อกาลิโก ท่านว่ายังไง อกาลิกจิต อกาลิกธรรม อันเดียวกันแหละ ถ้าลงไปถึงนั้นแล้วธรรมกับจิตเป็นอันเดียวกัน จะว่าจิตก็ได้ว่าธรรมก็ได้ ท่านไม่ขัดไม่ข้องไม่แย้งใครทั้งนั้นแหละ ขอให้กิเลสตัวแย้งเก่ง ๆ ดับไปเถอะ ไม่มีอะไรจะแย้งไม่มีอะไรจะค้านกันได้ เจ้าของจะหาที่ค้านเจ้าของก็หาไม่ได้เพราะกิเลสตัวค้านไม่มี กิเลสตัวค้านธรรม มีน้อยค้านน้อยมีมากค้านมาก ขัดแย้งมาก ไม่มีแล้วตายไปหมดไม่มีอะไรจะมาคัดมาค้านมาขัดมาแย้ง สบาย แน่ะ สิ้นสุดได้นี่งานของพระเรา เอาให้จริงให้จังซิ
อยู่ที่หัวใจแท้ ๆ อย่ามองหนีไปอื่น สติปัฏฐาน ๔ เอาให้จริงให้จัง จะในสติปัฏฐานใดก็ตาม เวลาพิจารณาสติปัฏฐานใดเอาให้แน่ให้ติด อย่าลูบ ๆ คลำ ๆ ลูบนั้นคลำนี้ไม่จริงไม่จัง กลายเป็นคนจับจดเลยไม่เป็นชิ้นเป็นอันไม่เป็นหน้าเป็นหลัง เลยเรียกว่างูๆ ปลา ๆ ไปเสีย ถ้าว่างูหรือก็ไม่ใช่ สงสัยจะว่าปลาหรือก็ไม่ใช่ ไม่แน่ใจสงสัย งู ๆ ปลา ๆ ว่างั้น