ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าและสาวกประกาศพระศาสนา ท่านไม่ได้แบกกิเลสไปประกาศศาสนาเหมือนพวกเรา ท่านแบกธรรมไปเต็มหัวใจท่าน คำว่า "แบก" แบกกิเลสกับแบกธรรมนั้นเป็นคู่กัน กิเลสเป็นของต่ำธรรมเป็นของสูง กิเลสเป็นของชั่ว ธรรมเป็นของดี เป็นคู่กันอย่างนี้ เมื่อได้ประทานพระโอวาทแก่พระสงฆ์ให้เป็นที่เข้าใจจนถึงมีความหนักแน่นภายในจิตแน่ใจแล้ว ก็ทรงประกาศพระศาสนา ในขั้นเริ่มแรกก็ไม่ให้ไปซ้ำรอยกัน ล้วนแล้วแต่เป็นอริยบุคคลแล้ว จึงส่งไปประกาศพระศาสนา อริยบุคคลขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงอเสขบุคคลผู้สิ้นสงสัย ไม่ต้องศึกษาเพื่อถอดถอนกิเลสเพื่อบำเพ็ญสติปัญญาให้แก่กล้าขึ้นไป
นี่ทางดำเนินของพระพุทธเจ้าของพระสาวก เครื่องดำเนินของธรรม ท่านถอดออกไปจากจิตใจ ท่านไม่ได้ไปคว้าเอาตามคัมภีร์ใบลาน แต่ก่อนไม่มีคัมภีร์ใบลาน สอนลงที่ใจให้รู้ที่ใจ ปฏิบัติที่ตัวเองให้เข้าใจธรรมซึ่งมีอยู่กับตัวเองทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว ท่านเรียกว่าอริยสัจ รวมความลงแล้วหรือสติปัฏฐาน ๔ เราพึงคำนึง
นี่กลัวเพื่อนฝูงจะไม่เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ บวชมาไม่กี่พรรษาออกไปแล้วไปเป็นคณาจารย์สอนประชาชน เลยลืมสอนตัวเอง ที่นี้จิตใจเมื่อได้ส่งออกนอกแล้ว ตามนิสัยของจิตซึ่งชอบส่งออกนอกอยู่ตลอดเวลา ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มพูนเรื่องกิเลสให้หนาแน่นขึ้น แม้จะเป็นการสอนประชาชน มันก็เป็นโลกไปได้เพราะจิตใจเป็นโลกอยู่แล้วมันผันแปรไปได้ง่าย ๆ การอยู่กับครูกับอาจารย์ให้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ทางด้านจิตใจ สำเหนียกศึกษาทั้งตาทั้งหูทั้งจิตใจ คิดอ่านไตร่ตรองตามจนกระทั่งมีหลักใจด้วยความพากเพียรที่ได้รับโอวาทจากท่านแล้วไปประพฤติปฏิบัติเป็นผลขึ้นมาเป็นความแน่ใจ แล้วจะสั่งสอนผู้ใดก็ได้ตามกำลังของตน
หากยังไม่ได้อะไรเลยไปอยู่เป็นเอกเทศสอนตนก็ไม่ได้ ทีนี้คนก็ต้องมาเกี่ยวข้องก็ต้องสอนประชาชน เมื่อสอนประชาชนก็ไม่ทราบว่าเอาอะไรไปสอน สุ่มสี่สุ่มห้า ทีนี้ผลก็เลยไม่ได้ทั้งสองอย่าง การสอนตนเป็นสิ่งสำคัญมากเป็นอันดับแรกหรือนัมเบอร์วัน นั่น! สอนตนได้แล้วค่อยสอนคนอื่น นี้เป็นของสำคัญอยู่มากทีเดียวที่เราจะต้องสนใจสำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เสื่อมทางด้านจิตใจ หากว่าธรรมมีอยู่บ้าง ให้พยายามดำเนินตามหลักที่อธิบายให้ฟังนี้
จะไปที่ไหนอยู่ที่ไหนจะไปพักที่ใดต้องคำนึงถึงจิตเสมอ ดูจิตเสมอ อย่าสักแต่ว่าไปสักแต่ว่าอยู่ สักแต่ว่าประกอบความพากเพียร อันนั้นไร้ผล ไม่ใช่หลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนเพื่อการบำเพ็ญจิตให้เจริญรุ่งเรือง ต้องดูจิตของตัวเสมอเป็นของสำคัญ ยิ่งหลักใจยังไม่มีด้วยแล้ว ยิ่งเสื่อมอย่างง่าย ๆ เวลามันเป็นไปในทางต่ำแล้วฉุดไม่อยู่ลากไม่อยู่นะ ไม่ว่าใครจะไปฉุดไปลาก มันไม่ยอมอยู่ทั้งนั้นแหละ อำนาจของกิเลสมันหนักมากทีเดียว มันแรงมากสามารถฉุดไปได้อย่างสะดวกสบาย
ครั้งพุทธกาลท่านอบรม พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรกเป็นประธานในการอบรม พระสงฆ์ที่ไปศึกษากับท่าน ท่านได้สำเร็จโสดา สกิทา อนาคา อรหัตผลขึ้นมา เมื่อถึงขั้นนั้นแล้วพระองค์ก็ทรงปล่อยภาระให้ท่านไปอยู่ตามอัธยาศัยของท่านและแตกแขนงออกไป บรรดาลูกศิษย์ลูกหาก็เข้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์เหล่านั้นแหละองค์สาวกอรหันต์เหล่านั้น ทีนี้หลักเกณฑ์ก็มีไปเรื่อย ๆ แตกกระจายไปตรงไหนมีแต่หลักแต่เกณฑ์มีแต่อรรถแต่ธรรมอยู่กับครูบาอาจารย์องค์นั้น ๆ ความเสื่อมจึงมีน้อย หลักเกณฑ์จึงตั้งได้อย่างสะดวกสบาย
ไม่ได้เหมือนสมัยปัจจุบันนี้ที่จะหาพระอย่างนั้นก็หาไม่ได้ มีแต่เรื่องโลกวุ่นไปหมด ศาสนาจะให้ว่าอยู่ตรงไหน มีแต่เรื่องโลกเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีเหยียบย่ำทำลายศาสนาจนมองหาศาสนาไม่เจอแล้วเวลานี้ ถ้าไม่มองจริง ๆ ไม่เจอ ให้พากันคิดพระสงฆ์สาวกที่ท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ บรรดาสานุศิษย์ท่านก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาอบรม เรื่องโลกท่านไม่เกี่ยวข้องมากมายยิ่งกว่าความสนใจในการสั่งสอนอบรมซึ่งกันและกัน แล้วผู้สดับตรับฟังธรรมนั้นก็ไม่สนใจกับโลกกับสงสารอะไรนอกจากมุ่งต่ออรรถต่อธรรมด้วยความเต็มอกเต็มใจ และประพฤติปฏิบัติตนอย่างเต็มกำลังความสามารถอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น
บรรดาสาวกที่ออกมาจากสกุลต่าง ๆ สกุลพระราชามหากษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพี พ่อค้า ประชาชน ถึงชาวไร่ชาวนาธรรมดา เมื่อเข้าไปบวชแล้ว การประพฤติปฏิบัติเอาหลักธรรมหลักวินัยเป็นกฎเป็นเกณฑ์เป็นแบบเป็นฉบับเพื่อการประพฤติปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงชาติชั้นวรรณะสกุลยศศักดิ์ศฤงคารบริวารอันใดทั้งสิ้น นั่นคือผู้สละโลกเพื่อธรรมแท้ ๆ ท่านปฏิบัติอย่างนั้น นั่นละ ประเพณีดั้งเดิมเป็นมาอย่างนั้นเราพึงคำนึงเสมอ
ผู้ปฏิบัติเพื่อธรรมอันยอดเยี่ยมจึงต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ที่จะมาเป็นข้าศึกก่อกวนตัวเอง อย่าเห็นแก่ความลำบาก ความเห็นแก่ความลำบากก็คือเรื่องเห็นแก่กิเลสนั่นเอง ไม่เห็นแก่ธรรม ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ การได้รับการอบรมศึกษาอยู่เสมอนี่เป็นหลักใหญ่และการได้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่มีเรื่องราวมายุ่งกวน หน้าที่การงานหรือประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องวุ่นวายอันจะเป็นทางให้เสื่อมเสียลงไปง่าย ๆ เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้การประพฤติปฏิบัติก็สะดวก มีครูมีอาจารย์เป็นแม่เหล็กเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจไว้ จิตใจก็มีความชุ่มเย็น แม้ตนจะยังไม่ได้ความชุ่มเย็นความมุ่งมั่นก็มี เพราะมีครูมีอาจารย์คอยชี้แจงเหตุผลอยู่เสมอ โดยถือครูบาอาจารย์องค์นั้น ๆ ที่ท่านมีหลักมีเกณฑ์โดยสมบูรณ์แล้วเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
การปฏิบัติถ้าไม่มีเครื่องดึงดูดมันก็เหลวไปได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติพึงคำนึงถึงสถานที่อยู่ถึงครูบาอาจารย์ผู้ที่คอยให้โอวาทสั่งสอน อย่าไปอยู่สุ่มสี่สุ่มห้าตามใจชอบตามอัธยาศัยของเรา อัธยาศัยของเรามันเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของธรรม ถ้าธรรมแทรกเข้าไปถึงใจหรือธรรมมีอยู่ในใจมากน้อย นั่นแหละอัธยาศัยจะพึงเป็นธรรมไปด้วย หากยังไม่มีธรรมเลยมันก็เป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ จะควรเชื่อได้อย่างไร ต้องปฏิบัติบังคับจิตใจตน เรื่องความอยากมันอยากด้วยกันทั้งนั้นแหละ นี่เคยเป็นมาแล้ว กิเลสมันบังคับบัญชาอยู่กับครูบาอาจารย์นี้มันเหมือนกับมันติดคุกติดตะรางก็มีนะ ดูซี! บางครั้ง แต่รู้กลอุบายของมันไม่ยอมปล่อย เหมือนติดคุกติดตะรางอยู่กับท่านเพราะกลัวท่านดุท่านด่า ไม่ได้อยู่ตามสบาย คำว่าตามสบายก็คือเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรม อยู่ด้วยความระมัดระวัง นั่นเป็นเรื่องของธรรมเพราะสติ ท่านดุด่าว่ากล่าวอยู่เสมอ
ปฏิปทาที่ท่านไม่เคยสั่งผู้ใดให้ไปอยู่ในสถานที่ใดเลย เราก็ไปรู้ไปเห็นกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรานั่นแหละ เราชอบใจเหลือเกิน ใคร ๆ มาขอพระไปอยู่ที่นั่น ขอพระไปอยู่ที่นี่ ท่านก็พูดไปอย่างงั้นแหละพอไม่ให้ขัดใจเขา เอ้อ "ถามดูเถอะ ถามท่านดูเสียก่อน" ท่านก็ว่างั้น "ไปหรือไม่ไป ก็ให้ถามท่านดูเสียก่อน" ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นต้น เวลาอยู่กับท่านพอหน้าแล้งออกไปประพฤติปฏิบัติตามสถานที่ต่าง ๆ แถวบริเวณใกล้เคียงนั้นแหละ ๑๓,๑๔ กิโล ๑๕ กิโลเราไปอยู่ เวลาขากลับเข้ามานี้เขาก็ตามมานิมนต์เขาอยากได้ไปจำพรรษา ยกมาทั้งบ้านนะไม่ใช่น้อย ๆ นะเป็นร้อยนั่น วันนี้ก็มาเดี๋ยวสองสามวันมาอีกบ้านเก่านั่นแหละ
มาหลายครั้งหลายหนท่านก็คงรำคาญก็พูด "ว่าไงท่านมหานี่ เขามานิมนต์ท่านมหาไปอยู่จำพรรษากับเขา ท่านมหาจะว่ายังไง อยู่ที่นั่นก็ดีนะสงัดดี ท่านก็หาอุบายพูดไปอย่างนั้นแหละ" เราก็ตอบเลยเพราะท่านรู้นิสัยเราได้ดี เราก็สนิทกับท่านรักท่านเคารพท่าน คำพูดของเราที่แสดงออกท่านจึงไม่ได้ถือสาอะไร เราก็ไม่มีอะไรสะดุดใจว่าเป็นความประมาทครูบาอาจารย์ "นี่กระผมไม่ได้มาเพื่อญาติเพื่อโยมนี่นะ กระผมมาเพื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์เดียวเท่านั้น พ่อแม่ครูบาอาจารย์อยู่ที่ไหนกระผมจะอยู่ที่นั่น" ว่างั้น "ใครมานิมนต์เท่าไรผมไม่สนใจ" ท่านก็เลยเงียบ ตั้งแต่นั้นมาเขามาอีก "โอ๊ย ท่านไม่ไปล่ะโยมเอ้ย" ท่านก็ว่างั้น ท่านบอกชี้แจงหรือท่านสั่งให้ไปโน้นไปนี้ผมยังไม่เคยเห็น นอกจากเป็นบางกรณีเท่านั้น
นี่หาครูบาอาจารย์องค์ไหนจะเหมือนท่านอาจารย์มั่นเรื่องความฉลาด จัดไปทำไมสั่งไปทำไม เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้มุ่งมาเพื่ออรรถเพื่อธรรมต่อท่านอยู่แล้ว จะไล่ไสส่งท่านไปไหนเพื่อประชาชนหรือ ความเพื่อท่าน ๆ ไม่เกิดประโยชน์ นี่เราเห็นด้วยประจักษ์ในจิตเลยเทียว ประทับใจด้วย เพราะฉะนั้นเวลาถึงคราวของเราที่เพื่อนฝูงได้เสกสรรเป็นครูเป็นอาจารย์เราจึงทำไม่ลง ในสิ่งที่ไม่บังคับเราบังคับไม่ได้เพราะถือธรรมเป็นเกณฑ์ ในสิ่งที่ไม่ควรดุ ดุไม่ได้ สิ่งที่ควรดุรอไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมทั้งนั้น ควรไม่ควรอะไรเป็นเรื่องของธรรมพาให้เดิน
การอบรมสั่งสอนคนอื่นสั่งสอนได้ง่าย ๆ แต่เขาที่จะปฏิบัติตามแค่ไหนเป็นเรื่องของเขา ส่วนการอบรมสั่งสอนตนเองนี้ซิเป็นเรื่องสำคัญมากและสอนยากด้วยนะสอนเรา ใครจะว่าไม่ยาก การสอนตัวเองนี่มันยากที่สุดพระพุทธเจ้าก็ทรงสลบ ๓ หน ฟังซียากไหม นั่นน่ะ ยากหรือไม่ยากขนาดนั้น พระสาวกที่เป็นขิปปาภิญญานี่ร้อยละหนึ่งก็ไม่ได้ หรือหนึ่งในร้อยก็ยังไม่ได้ ก็ต้องยากลำบากเหมือนกับพวกเรานี่ ในสมัยนั้นถ้าเป็นผลไม้ก็เป็นผลไม้ชุดหัวปี ต้นพุทธกาล สักขีพยานที่เป็นเครื่องดูดดื่มจิตใจอย่างซึ้งก็คือพระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมเองจากความรู้ความเห็นของพระองค์อย่างแท้จริง
สอนอะไรไม่ผิดไม่พลาดก็คือพระพุทธเจ้า สอนเป็นที่แน่นอนร้อยทั้งร้อยไม่มีผิดมีพลาด จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม เมื่อเป็นเช่นนั้นธรรมจะไม่เข้าซึ้งถึงใจคนได้ยังไง ต้องซึ้งเพราะพอดี ผู้รับก็รออยู่แล้ว เรียกว่าถ้าผลไม้ก็ว่าเป็นชุดหัวปี ชุดกลาง ชุดสุดท้ายลงมาก็อย่างว่าเสียไปเรื่อย ๆ หัวปีนี่ซิสำคัญ พวกนั้นก็รออยู่แล้ว จึงเรียกว่า อุคฆติตัญญูผู้รู้ได้เร็ว วิปจิตัญญูก็รองกันลงมา จากนั้นก็เนยยะ
พวกเรานี่มันจะเข้าไปถึงขั้นปทปรมะมากกว่าที่จะเป็นเนยยะ เพราะฉะนั้นจึงต้องได้บังคับขับไสกันอย่างเต็มที่ในการประกอบความเพียร ให้เราทราบเหมือนอย่างเราทำนาทำสวน สวนของเรา นาของเรามันทำยากทำง่ายขนาดไหนเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำ ไปทำนาคนอื่นไม่ได้ ไปทำสวนคนอื่นไม่ได้ งานของเรามันยากก็เราก็ต้องทำเพราะว่าเป็นงานของเราไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใด การแก้ถอดถอนกิเลสด้วยความพากเพียรก็จัดว่าเป็นงานของเราแต่ละราย ๆ ไป หนักเบาเราอย่าไปคิดอย่าไปคำนึงให้เสียเวล่ำเวลาให้กิเลสหัวเราะเยาะ
หนักขนาดไหนฟาดกันลงไปจึงเรียกว่านักปฏิบัติ จึงเรียกว่านักต่อสู้เรียกว่านักรบไม่ใช่นักหลบ พอเดินจงกรมย็อก ๆๆ ชะแง้ ๆ มองดูแต่หมอน นั่นละ พวกนักหลบ! นี่เคยได้พูดให้ฟังแล้วเรื่องปฏิปทา เวลากิเลสมันดื้อด้านมันโหดร้ายทารุณ เราก็ต้องใช้มัชฌิมาอย่างถึงเหตุถึงผลกัน ไม่งั้นไม่ได้ มัชฌิมาก็ต้องให้หนักมือให้ถึงกัน หรือเลยกว่านั้น ไม่งั้นกิเลสไม่หมอบ มันยากก็บังคับ การสั่งสอนตนนี้เป็นของที่ยากมาก สั่งสอนคนอื่นสั่งสอนง่าย แต่เขาที่จะปฏิบัติตามเรา เขาก็ยากเหมือนกัน การสั่งสอนเรานี้ซิสำคัญมาก เป็นหลักใหญ่ที่จะต้องปฏิบัติตัวให้รู้ให้เห็น
ธรรมของพระพุทธเจ้าประกาศท้าทายอยู่ในดวงใจนั่นน่ะในตัวรู้ ๆ นั่นน่ะ ไม่อยู่ที่ไหนไม่อยู่กับกาลเวลา สถานที่นั่นที่นี่ แม้ผู้บำเพ็ญไปหาที่นั่นที่นี่ นั่นก็เพื่อไปหาทำเลที่เหมาะแก่การประกอบความพากเพียรเพื่อธรรมซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจและแก้กิเลสซึ่งฝังจมอยู่ภายในจิตใจอันเดียวกันนี้ต่างหาก จึงหมุนจิตของเราลงไปที่นี่ อย่าปล่อยตรงนี้ อย่าไปคาดไปหมายเรื่องกาลนั้นสมัยนี้สมัยโน้นอย่างนั้น สมัยนี้อย่างนี้ สมัยไหนก็คือสมัยของกิเลสและธรรมอยู่ในหัวใจคนนั่นแหละ แก้กิเลสก็จะต้องแก้ด้วยความเพียรเหมือนกันไม่ว่าสมัยโน้นสมัยนี้ ไม่มีความเพียรแก้ไม่ได้กิเลสไม่หลุดลอยไป จึงพยายามอย่าลดละท้อถอย
ครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือที่เป็นที่ยึดที่เหนี่ยวก็ค่อยร่วงโรยไป ๆ อย่างที่เห็นนั้นแหละ ครูบาอาจารย์ร่วงโรยไปแต่ละองค์ ๆ มันเป็นของดีแล้วหรือ กระเทือนทั่วแดนไทยจะว่าไง! ขาดประโยชน์มากมายเท่าไร ทำให้จิตใจของคนเสียไปมากขนาดไหนเราคิด ในขณะที่ควรจะเป็นผลเป็นประโยชน์ ครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่เราก็รีบเร่งขวนขวายตักตวง อย่าไปเห็นว่าสิ่งใดจะเลิศประเสริฐยิ่งกว่าธรรม ไม่มีแล้วในโลกนี้ อะไรก็ตามไม่มีอะไรเลิศยิ่งกว่าธรรม
ธรรมเมื่อได้รู้เป็นระยะ ๆ ไป สิ่งที่เป็นคู่แข่งกันที่เคยยึดเคยถือมาแต่ก่อนมันก็ปล่อยกันไป ๆ ธรรมขั้นนี้ปล่อยคู่แข่งขั้นนั้น คู่แข่งก็หมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดกับกิเลสประเภทใดเหมาะสมกับธรรมประเภทใด เมื่อรู้ธรรมขั้นนี้กิเลสประเภทนั้นมันก็ค่อยหมดไป ๆ ปล่อย! พอยึดนี่ได้ก็ปล่อยอันนั้น ๆ ยึดบันไดขั้นสองก็ปล่อยบันไดขั้นหนึ่ง ยึดบันไดขั้นสามก็ปล่อยบันไดขั้นสอง ปล่อยไปเรื่อย ๆ เมื่อยึดธรรมได้มากน้อย การถอดถอนกิเลสหรือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด มันก็ปล่อยไป ๆ
เพราะเหตุใดจึงต้องปล่อยไป ก็เพราะอำนาจแห่งธรรมนี้มีรสชาติเหนือกว่าสิ่งที่เป็นคู่แข่งหรือเป็นข้าศึกซึ่งเคยยึดถือมาที่เรียกว่า อุปาทาน ๆ โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายแล้วปล่อยหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เรียกว่า สลัดปุ๊บไม่มีอะไรเหลือเลย ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นโดยประการทั้งปวง ถึงขั้นนั้นแล้วปล่อยหมดไม่มีอะไรเหลือ นี่เรียกว่าธรรมเลิศแล้ว ไม่ยึดอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ความบริสุทธิ์ก็จะไปยึดเพื่ออะไร พอตัวอยู่แล้วทุกอย่าง นั่น! นี่ธรรมมีอำนาจอย่างนี้
ฉะนั้นเราอย่าเห็นว่าสิ่งใดที่จะมีความประเสริฐเลิศโลกที่จะเสาะแสวงให้เป็นความสุขความสบายแก่ร่างกายและจิตใจของเรา ร่างกายเราก็พอเป็นพอไปแล้ว บิณฑบาตมาวันหนึ่ง ๆ เป็นยังไงเราดูก็รู้ เต็มบาตรมา อาหารก็พอกพูนจนจะตายเพราะมันเหลือเฟือ ไม่ใช่จะตายเพราะความอดอยากขาดแคลน ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติก็ไม่ทราบว่าท่านพาดำเนินมาแต่ก่อนท่านปฏิบัติอย่างไร ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างวัดป่าบ้านตาดเรานะ ยิ่งสมัยท่านอาจารย์มั่นด้วยแล้ว โอ้โห! น่าสลดสังเวช ท่านเล่าให้ฟังนาน ๆ จะมีทีหนึ่ง พอพูดไปสัมผัสท่านก็เล่าเสียมั่ง เพราะท่านไม่เป็นกังวลกับสิ่งใด
ท่านเล่ามาก็เพื่อเป็นคติของพวกเรานั่นแหละไม่ใช่อะไร พอเรื่องไปสัมผัสท่านก็เล่ามาถึงความอดอยากขาดแคลน กรรมฐานสมัยนั้นเหมือนกับว่าของเกิดขึ้นใหม่ เหมือนไม่เคยมีในวงศาสนานี้เลย ประชาชนทั้งหลายก็ไม่ทราบ เห็นแต่พระอยู่ตามวัดวาอาวาสในบ้านในเมือง ไม่เห็นพระในป่าแบกกลดสะพายบาตรเหมือนอย่างเราไปก็ตื่นตกใจกัน ก็อย่างที่เขียนในประวัตินั่นแหละ เขียนตามความจริง วิ่งหนีระหกระเหินวุ่นกันไปหมด ไปอยู่ที่ไหนเขาเข้าใจว่าพระกรรมฐานนี่ฉันแต่ถั่วแต่งา ไม่ได้นึกว่าฉันเหมือนอย่างโลกทั่ว ๆ ไปเลย มีแต่ข้าวเปล่า ๆ กินมันอย่างนั้น เพราะเราหาอย่างนั้นท่านว่า ท่านพูดก็ถูกของท่าน เป็นเดือนกว่าก็มีท่านว่า จะว่าอะไร มีแต่อย่างงั้นแหละ ต่อมาก็เข้าอกเข้าใจ มีอะไรเขาก็ถวายมา ก็พอได้กิน ความทุกข์ความลำบากดังที่เขียนแล้วในประวัติของท่าน
นั่นละท่านผู้เดินหน้าพวกเราในสมัยปัจจุบันนี้ท่านลำบากขนาดไหน การประกอบความพากเพียรก็เอาตายเข้าว่าทีเดียว ไปอยู่ในที่บางแห่งจนเขาตัดไม้ให้ท่าน เวลาออกมาบิณฑบาตก็ให้ถือไม้นั้นมา ไม้นั่นทำให้แตกตรงปลายเสียบ้าง เที่ยวเคาะเป๊ก ๆ เขาวิตกวิจารณ์กับท่าน กลัวจะมาเจอหมีบ้างเจอเสือบ้างเพราะท่านอยู่ไกลกว่าจะมาบิณฑบาต แถวนั้นสัตว์เสือชุม เช่นอย่างทางอำเภอผือไปทางโน้น เลยเข้าไปข้างในโน่น เรียกว่าบ้านนาหมีนายูง ท่านเคยเล่าให้ฟังเสือชุมมาก อยู่บนถ้ำมันยังเข้าไปหา มันมาตามราวถ้ำมานี่ มาตามทางคนมา ตามทางเรามานี่ ถ้าเป็นหน้าผานี่ก็ขึ้นไม่ได้ มันมาทางนี้เข้ามานี่ ตื่นเช้าเห็นรอยมันอยู่กับแคร่ เป็นแคร่เล็ก ๆ รอยมันเข้ามาถึงนี่เลย โอ้โห!เสือมานี่ มันมาดมท่านโน่นน่ะ ดมในมุ้งนี่นา ดูซี!
ตอนนั้นไม่ทราบว่าเราจะนอนอยู่หรือว่านั่งภาวนาอยู่ก็ไม่รู้ ท่านว่างั้นนะ มันก็มาหนเดียวเท่านั้นแหละ ไม่มาอีก บางทีเด็กเขาไปอะไร ๆ ไปหาท่านก็มี เด็กผู้ชาย ๓ - ๔ คน รีบบอกให้กลับบ้านไปอย่ามาแถวนี้ ไป ๆ ท่านไล่กลับกลัวเสือ เขาก็อยู่บ้านเสืออย่างนั้นเขาคงไม่กลัว นั่นเป็นอย่างนั้น ความลำบากของท่าน อาหารการบริโภคเหมือนกัน เช่นอยู่ทางบ้านโคก นามน แถวหนองผือก็เหมือนกัน อาหารขาด ๆ แคลน ๆ เพราะพระเณรมีมากนี่ อาหารที่ไหนก็ส่งเข้าไปไม่ได้จะว่าไง ก็มีแต่ชาวบ้านเขาเลี้ยงดู
อาหารถ้าเราจะเทียบกับวัดป่าบ้านตาดนี้แล้ว โอ้โห เหมือนฟ้ากับดิน มันห่างไกลกันขนาดไหน แต่พระกรรมฐานท่านไม่ได้สนใจนี่นา เรื่องอาหารการกินมีมากมีน้อยท่านไม่ได้สนใจ ท่านสนใจแต่ธรรม แม้เช่นนั้นท่านยังเอานิด ๆ หน่อย ๆ อีกด้วยซ้ำไปจะว่าอะไร ข้าวไม่ให้อิ่มก็มี ไหนจะไปตะกละตะกลามกับเรื่องอาหารการกินได้ยังไง นี่แหละที่ท่านไม่กังวล ท่านอยู่ได้ทั้งนั้นแหละ แถวนี้เขาก็รู้เรื่องแล้วเขาก็มีความเคารพมาก แต่พระมีมากอาหารก็ต้องมีขาด ๆ เขิน ๆ บ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่ปรากฏว่าองค์ไหนเป็นสัญญาอารมณ์กับเรื่องอาหารการบริโภค เรื่องน้ำอ้อย น้ำตาล โกโก้ กาแฟนี้ไม่มีละ จะเอาอะไรมากิน มันเป็นความเคยชิน ฉันจังหันเสร็จแล้วหายเงียบ ๆ เลย นี่มันเหลือเฟือทุกสิ่งทุกอย่าง การดำเนินปฏิปทาจึงลำบาก
ท่านอยู่อย่างเงียบ เวลาเทศน์นี้ก็ได้ยินแต่เสียงท่าน เงียบ! โอกาสดีท่านก็เทศน์ ที่วัดมันโล่งเหมือนอย่างวัดท่านอาจารย์ฝั้น วัดท่านอาจารย์ฝั้นในป่ามันก็ไม่โล่ง นี่มันโล่งหมดแถวนี้เพราะเป็นวัดเดิม ท่านมาอยู่วัดเก่าเขา ไม่ใช่มาอยู่เองโดยลำพัง พระเณรดูเหมือนตั้งเป็นร้อยกว่าคน แต่มันก็ไม่ถึงนั้น สามสิบสี่สิบ ยั้ว ๆ เยี้ย ๆ อยู่
การสนใจตัวเองนี้เป็นสำคัญ อย่าไปสนใจกับอะไรในโลกนี้ เอาให้เห็น ธรรมมีอยู่กับใจ จิตมันดื้อขนาดไหน เอ้า!ฟาดลงไป มันหนักมือเท่าไรแหละยิ่งดี กิเลสมันหมอบด้วยความหนักมือนั่นแหละ ธรรมหมอบด้วยความอ่อนแอ กิเลสเหยียบย่ำทำลายหัวใจหาความสุขไม่ได้ สุขสฺสานนฺตรํ ทุกฺขํ ใครต้องการความสุขก่อนห่ามแล้วก็นั่นแหละจะได้รับความทุกข์ในกาลต่อไป สุขสฺสานนฺตรํ ทุกฺขํ ทุกฺขสฺสานนฺตรํ สุขํ ใครไม่ต้องการสุขก่อนห่าม เอาฟาดลงไปตายก็ตาย ผู้นั้นจะได้เสวยสมบัติอันพึงใจ อย่าหนีจากหลักสติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นที่รับรองเป็นที่ยืนยัน เป็นที่อยู่ของมรรคผลนิพพาน ในสถานที่แห่งเดียวกันกับกิเลสที่อยู่เวลานี้คือหัวใจ เอาลงไปตรงนั้น ดูให้ดีวิถีของจิต คิดด้วยปัญญา อย่านอนใจอยู่เฉย ๆ
นี่เราวิตกวิจารณ์กับหมู่กับเพื่อน เรื่องหยาบ ๆ มันก็ผิดก็พลาดกันอยู่เสมอไม่ได้ใช้ความคิดอุบายต่าง ๆ อะไรเลยนี่ที่เราวิตกวิจารณ์อยู่มากเป็นกังวลเป็นห่วงเป็นใยหมู่เพื่อน ไม่ใช้ความคิดความอ่านอะไรเลย ทางภายนอกมองเห็นขวางตาอยู่นั่นความไม่ใช้ความคิด ผู้ที่จะแก้กิเลสต้องใช้ปัญญา เอาจริงเอาจังกับทั้งสองด้าน เวลาทำสมาธิก็เอาจริงเอาจัง เอามันสงบด้วยคำบริกรรมไม่ได้ มันฟุ้งไปที่ไหนตามค้นด้วยปัญญา วันนี้ขึ้นเวทีกันเอาเป็นถึงไหนถึงกัน เป็นก็เป็นตายก็ตาย จิตจ่อเข้าไป สติปัญญาฟาดฟันลงไป โห! มันสงบลงให้เห็นต่อหน้าต่อตาขาดผึงไปจากอารมณ์ทั้งหลายลงสู่ความสงบแน่ว
เราจึงกล้าเขียนว่าปัญญาอบรมสมาธิ เราทำได้ผลมาแล้ว เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็เหมือนกับเป็นไปเรื่อย ๆ มีรากมีฐานของสมาธิแล้วก็เป็นสมาธิอบรมปัญญาไปเรื่อย ถึงเวลาจะทำความสงบก็ทำเสีย แต่ปกติฐานของจิตมันมีความสงบอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปหาความสงบมาจากไหน กำหนดรู้อะไรมันก็สว่างไสวอยู่ในจิตของเจ้าของ สงบแน่วอยู่แล้ว เวลาใช้ปัญญาก็ เอ้า ไม่ต้องห่วง ขุดค้นลงไปถึงเรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ข้างนอกก็ตามข้างในก็ตาม หรือมันรักมันชอบรูปไหน เอารูปนั้นมา ให้มันตายอยู่ต่อหน้าต่อตา มันเน่ามันพองให้เห็น แร้งกาหมากินแตกกระจัดกระจาย มีแต่น้ำเน่าน้ำหนองบุพโพโลหิตไหลออกมาต่อหน้าต่อตา
กำหนดพิจารณาอยู่นั้น กิเลสมันเสกสรรว่าสวยว่างาม เรายังเชื่อมัน ฟังซี! มันเป็นของสวยของงามที่ไหนในตัวของสัตว์ของบุคคล มันมีแต่ของปฏิกูลเต็มตัว กิเลสมันเสกมันสรรว่าสวยว่างามเรายังเชื่อมัน ทีนี้เราฟาดความจริงลงไปทำลายกิเลสซี มันสวยงามที่ตรงไหน เอ้า!กำหนดมาดู เอ้า! ยกตัวอย่างใกล้ ๆ เอามาตายให้ดูต่อหน้าซิ มันสวยยังไง มันตายแล้วมันพองขึ้นเป็นยังไง มันแตกออกเป็นยังไง เปื่อยเน่าออกไปจนเหลือแต่โครงกระดูกเป็นยังไง กำหนดแร้งกาหมากิน ยุ่งไปหมดเต็มไปหมดมันเกิดความสลดสังเวช นั่นน่ะน้อมเข้ามาถึงตัวของเราซี พิจารณา เรื่องของเรามันก็เรื่องอย่างนั้นเหมือนกัน มันยึดมันถือเอาอะไรเกิดประโยชน์อะไร มีแต่โทษเหมือนกับว่าคว้าเอาเสี้ยนเอาหนามเอาหอกเอาหลาวมาทิ่มแทงจิตใจตนถ่ายเดียว
ความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละเหมือนกับหอกกับหลาว เมื่อพิจารณาเห็นชัดแจ้งลงไปแล้วจิตใจมันก็ถอยแล้วสงบไม่วุ่นวายกับสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาเข้าไปเรื่อย ๆ จิตก็สงบ พอเป็นต้นทุนแล้ว พอมีความสุข ผู้ปฏิบัติทั้งหลายหากจิตไม่สงบเลยอย่าเข้าใจว่ามีความสุข มีแต่คาดโน้นคาดนี้ มันหลอกไปโน้นไปนี้ ที่โน่นจะสบาย ที่นี่จะดี....ไป มันหลอกไปทั้งนั้นแหละ ผมเคยเป็นหมดแล้ว ถ้าจิตไม่มีรากฐาน ไม่มีความสงบเป็นต้นทุนอยู่ภายในจิตใจแล้ว มันจะหลอกโน้นหลอกนี้ พอจิตมีความสงบแล้วที่นี้ก็เอาล่ะซี ความเพียรก็เร่ง ๆ ความสงบจึงเป็นของสำคัญ ทีนี้มาทางด้านปัญญามันหมุนติ้ว ๆ ไปเลย
เราได้ยินแต่ท่านพูดว่าสมาธิ ๆ อะไรจะเป็นสมาธิถ้าไม่ใช่จิตตัวฟุ้งซ่านอยู่เวลานี้ สงบตัวเข้าเป็นสมาธิ คำว่าปัญญาจะไม่ใช่ตัวจิตตัวหลง ๆ ตัวโง่ ๆ เหล่านี้จะให้เป็นปัญญาจะเอาตัวไหนมาเป็น ฟิตเข้าไปซี ฝึกซ้อมเข้าไป หัดคิดอ่านไตร่ตรองแยกหลายสันหลายคม วันหนึ่งเกิดอุบายหนึ่งขึ้นมา ๆ ขณะหนึ่งเกิดอุบายหนึ่งขึ้นมาเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมันติดต่อสืบเนื่องกันไปโดยลำดับลำดา แล้วกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา เอาล่ะที่นี่เอาละ ทางนี้เบิกกว้างข้างหน้า ข้างหลังตีบตันเข้ามา ๆ พิจารณาอะไรถึงใจ ๆ รู้อะไร รู้ถึงใจทุกอย่าง เมื่อรู้ถึงใจแล้ว ธรรมก็ถึงใจ เมื่อใจเป็นธรรมแล้วทีนี้ก็มีแต่ความเพลิน นั่งไหนก็เพลินด้วยความพากเพียร
เวลาล้มลุกคลุกคลาน เวลากิเลสมันทิ่มมันแทงจนโงหัวไม่ขึ้นก็เห็นมาประจักษ์ใจปราบกิเลสด้วยความทุกข์ความลำบาก จนกิเลสมันหมอบลงไปก็เห็นประจักษ์ใจ เมื่อจิตสงบลงไปก็มีความสุขสบาย จิตไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย ตามปกติจิตจะต้องคิดเรื่องนั่นเรื่องนี่ มีแต่เรื่องโลกเรื่องสงสารเรื่องกิเลสตัณหาอาสวะทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่เดินจงกรมอยู่มันก็ไปยุ่งโน่น มันเดินแต่เท้า จิตใจไม่เดินตามทำนองคลองธรรม เดินไปตามกระแสของโลกนั่น บังคับกันหลายด้านหลายทางแล้วแต่อุบายวิธีที่จะบังคับ จนอันนี้มีความสงบลงได้
พอจิตใจสงบลงได้ เบาใจเย็นใจที่นี่ อยู่ไหนก็ค่อยเย็นใจ ครูบาอาจารย์ที่เคยกลัวเคยอะไรท่าน มันก็พลิกไปหมด พอจิตใจได้หลักได้เกณฑ์ขึ้นมานี้ มีความเชื่อความเลื่อมใสความจงรักภักดีต่อครูบาอาจารย์ ความรักความเลื่อมใสนั้นเพิ่มขึ้น ๆ นี่มีภาชนะรับแล้วที่นี่ ภาชนะคือฐานแห่งจิตที่มีความสงบเป็นเครื่องรับธรรมของท่าน ท่านแสดงไปที่ไหน มันซึ้ง ๆ ๆ กล่อมไปเรื่อย ๆ เทศน์ขนาดไหนนานเท่าไรไม่สนใจกับเรื่องคำว่านาน ๆ ดูแต่ความรู้กับธรรมที่เข้ามาสัมผัส แย็บ ๆ ๆ หมุนติ้ว ๆ ถึงขั้นปัญญาแล้วหมุนไปตาม ขั้นสมาธิก็กล่อมกันลงไปสนิทเทียว ทีนี้เรื่องความกลัวครูบาอาจารย์อย่างหาเหตุหาผลไม่ได้นั้นหมดไป กลัวแต่เหตุแต่ผลอรรถธรรมเท่านั้น กลัวท่านกลัวไปอย่างนั้น ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ภายในจิต นั่งอยู่ไหนก็เป็นความเพียรมันถึงขั้นอัตโนมัติ
สติปัญญาอัตโนมัตินี้ท่านพูดไว้ว่ามหาสติมหาปัญญา เขียนไว้ในตำรามีแต่ชื่อของมหาสติมหาปัญญา ตัวมหาสติมหาปัญญาจริง ๆ อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ใจ ถ้าเราไม่ผลิตขึ้นมาก็มีขึ้นมาไม่ได้ สติแม้นิดหนึ่งก็อยู่ไม่ได้ ปัญญานิดหนึ่งก็มีไม่ได้ ถ้าผลิตขึ้นมาสตินิดหนึ่งก็มีได้ ปัญญานิดหนึ่งก็มีขึ้นมา แล้วเพิ่มขึ้นมา ๆ สติปัญญาก็เลยสืบเนื่องกันไป ต่อเกี่ยวโยงกันไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติเพราะความชำนิชำนาญ คล่องแคล่วแกล้วกล้าในการพิจารณา กิเลสก็ค่อยหมอบลงไป ๆ ถึงขนาดต้องคุ้ยเขี่ยกัน กิเลสส่วนหยาบ ๆ ไม่มีเหลือละ
ถ้าเราไม่สังเกตไม่พิจารณาก็ว่าเป็นพระอรหันต์น้อย ๆ องค์หนึ่ง เมื่อมหาสติมหาปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว สติปัญญาอัตโนมัติ ไม่มีอะไรผ่านได้เลย ฟาดฟันให้แหลกไปทั้งนั้น จนต้องได้คุ้ยเขี่ย ถึงขั้นนั้นต้องคุ้ยเขี่ย พอไปเจอกิเลสประเภทใดก็ตามขึ้นมาแล้ว นั้นแหละชื่อว่าได้งาน เอาละที่นี่หมุนติ้ว ๆ เป็นไม่ถอยจนกระทั่งมันขาดสะบั้นลงไปด้วยเหตุผล คือการพิจารณานั้นมันต้องเข้ากันกับเหตุผลได้ กิเลสถึงจะหลุดลอยไป เรียกว่าเข้าใจแล้วก็คุ้ยเขี่ย คุ้ยเขี่ยก็เป็นงาน ไปเจองานแล้ว ทำงานการถอดการถอนก็เป็นงาน
จึงว่างานของสติปัญญาขั้นนี้ไม่มีว่างเลย ว่างได้ยังไง อยู่เฉย ๆ ได้ยังไง เพราะความมุ่งมั่นหวังความหลุดพ้นไม่มีอะไรที่จะเท่าแล้วในชีวิตจิตใจนี้ ไม่มีความหมายเสียแล้ว มีความหมายแต่ขอให้รู้ให้หลุดพ้นโดยถ่ายเดียวเท่านั้น นี่ความมุ่งมั่นมีกำลังกล้า การพิจารณากิเลสซึ่งเป็นตัวภัยส่วนละเอียดขนาดไหนก็ต้องค้นหาให้เจอ ไม่เจอไม่ได้ เอาให้แหลกละเอียดจนกระทั่งถึงขั้นกิเลสมันหมอบหมด ไม่มีตัวไหนแสดงออกเลย นี่! เพราะตัวหยาบมันฆ่าหมดแล้ว ทางเดินของมันก็ฆ่า ตาหูจมูกลิ้นกาย ทางเดินของรูปเสียงกลิ่นรสที่ประสานกัน มันก็ฆ่ามันทำลาย มันรู้เท่าแล้ว ก็ย่นเข้าไปถึงขันธ์ห้า ๆ กองรูปนี้มันก็รู้เท่าแล้ว จะว่าไง! ก็เหลือแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นของละเอียด ยิบแย็บ ๆ บนจิตรู้ชัด ๆ
พิจารณาหลายครั้งหลายหน สิ่งเหล่านี้ก็เลยรู้เท่าอีก เหลืออะไร ก็เหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ นั่นละมันไปหลงตรงนั้น นั่นละเอียดแค่ไหนที่นี่ มันหลงตรงนั้นแหละ สติปัญญาไปเก้อตรงนั้น ไปหลงเพลงกิเลส เราเคยพิจารณาเป็นอย่างนั้น หลงสัญญา เป็นองครักษ์ให้อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา จนไม่รู้ตัว แต่ก็ทนสติปัญญาอันนี้ไปไม่ได้ เพราะมันรวดเร็วต่อความรู้สึก ต่ออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิต มันมีอาการเปลี่ยนแปลง จะละเอียดแค่ไหนสติปัญญาขั้นนี้ต้องรู้ทัน ๆ สุดท้ายก็พ้นไปไม่ได้เพราะจิตดวงนั้นก็เป็นสมมุติอยู่แล้วนี่ ละเอียดแค่ไหนก็เป็นสมมุติให้เห็น
คำว่าสมมุติจะไม่มีอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ประจำอยู่ได้เหรอ ต้องมี นั้นละความเปลี่ยนแปลงของมันพอแสดงให้เห็นพอจับพิรุธได้ ที่ปัญญาจะต้องสอดส่องเข้ามาตรงนั้นอีกทีจนกระทั่งคลี่คลายให้เห็นชัดเจนแล้ว ทำลายแตกกระจายไปหมดแล้ว อาการที่ว่าเหล่านี้ก็ไม่มี กิเลสอยู่ที่ไหนที่นี่ มันไม่มี ถ้าเป็นหม้อน้ำก็ทะลุก้นหมดแล้ว เอาน้ำที่ไหนมาเทก็เทซีในบึงในบ่อในทำนบ แม้มหาสมุทรก็เอามาเทซี มันจะขังได้ยังไง มันก็ไหลผ่านไปหมด
อารมณ์ไม่ว่าประเภทใดทั้งนั้นไหลผ่านเข้าไปถึงจิต มันก็ผ่านไปเลย ๆ เพราะไม่มีผู้ใดรับรองยึดถือเอาไว้ อุปาทานฉิบหายไปหมด นั่นเรียกว่าสมมุติหมดไป เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วขึ้นชื่อว่าสมมุติในแดนโลกธาตุนี้ สมมุติใดที่จะเข้าไปถึงจิตดวงนั้นได้ไม่มี ท่านจึงเรียกว่าหมดภาระหมดเรื่องก็คือเรื่องของสมมุติที่มีอยู่ภายในจิตใจหรือภายนอกมันก็หมดไปแล้วเป็นลำดับลำดาเข้ามาจนกระทั่งถึงภายในอันเป็นสมมุติสุดท้ายก็ได้แก่อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันก็หมด เมื่อหมดสมมุติอันนั้นแล้ว สมมุติอันนี้มันก็หมดไปเหมือนกันคือหมดปัญหา สติปัญญาขั้นนี้ก็หมดปัญหากันไป
สติปัญญาที่เคยหมุนติ้ว ๆ อยู่เป็นธรรมจักร ไม่ได้นึกว่าจะหยุดจะหายไปได้ พอเรื่องการต่อสู้หรืองานสิ้นสุดลงไป เครื่องมือก็หมดปัญหาไปเองเพราะสติปัญญาก็เป็นสมมุติเหมือนกัน ฟังซี ศีล สมาธิ ปัญญา มัชฌิมาปฏิปทา เครื่องมือทั้งนั้น เรียกทางเดินก็ได้เครื่องมือก็ได้ เมื่อสุดงานไม่มีที่ไปแล้วก็หมด เดินสุดสายแล้ว สติปัญญานี้ก็หมดปัญหาไปเอง จะว่าตนมีสติ ท่านก็ไม่สมมุติ ท่านก็ไม่เสกสรรเสีย จะว่าเผลอสติท่านก็ไม่เสกสรรเสีย เสกอะไรมีอะไร หมดอาลัยสิ้นอาลัยรู้กันอยู่แล้ว ไม่มีเรื่อง บริสุทธิ์ก็รู้กันอยู่แล้ว เวลาจะใช้การใช้งานสติปัญญานี้ก็เป็นมาเอง เราจะใช้การใช้งานเกี่ยวกับเรื่องสมมุติ แต่เกี่ยวกับเรื่องกิเลสแล้ว กิเลสตัวไหนที่จะมาเกิดอีก มันหมดแล้ว
นี่ละท่านว่า อกุปปะขั้นสุดยอด อกุปปะขั้นที่หนึ่งก็โสดาบัน ถึงขั้นโสดาบันแล้วก็เป็นอกุปปธรรม คือไม่กำเริบ กลายมาเป็นตัวเป็นตนอีก สกิทา อนาคา เป็นอกุปปธรรมเป็นขั้น ๆ ตามขั้นของตน คือไม่เสื่อมลงมาขั้นต่ำ ยิ่งอรหัตผลแล้วก็ผ่านไปเลย หมดปัญหา กุปฺปธมฺโม อกุปฺปธมฺโมนั้น เสขบุคคลก็ตั้งแต่โสดาถึงอรหัตมรรคเป็นเสขะ ต้องศึกษาอรหัตมรรค พอก้าวเข้าถึงขั้นผลโดยสมบูรณ์แล้ว อเสขะหมดปัญหาเหมือนอย่างว่าสติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวเป็นเครื่องแก้กิเลส พอกิเลสสิ้นไปสติปัญญาก็หมดปัญหาไปในขณะเดียวกัน เพราะอันนี้ก็เป็นสมมุติ กิเลสก็เป็นสมมุติ สติปัญญาเครื่องมือปราบปรามกิเลสก็เป็นสมมุติ พออันนั้นผ่านไปอันนี้ก็ผ่านไปด้วยกันเพราะเป็นสมมุติด้วยกัน สิ่งที่ไม่ผ่านคืออะไร คือผู้ที่รู้ว่าตนบริสุทธิ์แล้วนั้นแล นี่ละการปฏิบัติ
ผลของการปฏิบัติไม่นอกเหนือจากนี้ไปได้ในสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้นั้นลงจุดนี้หมด เพื่อให้เข้าสู่จุดนี้ทั้งนั้น ตรัสไว้ชอบแล้วทุกอย่าง ไม่มีบกพร่องไม่ว่ากาลใดสมัยใด เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือธรรมเครื่องปราบกิเลสให้ราบได้เหมือนกันหมด จึงไม่สงสัยว่าศาสนาครั้งโน้นกับครั้งนี้จะมีความแตกต่างกันยังไง เมื่อกิเลสไม่มีการแตกต่างกันแล้ว ธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปที่ไหน เปลี่ยนเรื่องเปลี่ยนราวไปไหนก็ธรรมะอันเดิมคือมัชฌิมาที่ทันต่อเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลานั้นแล ท่านเรียกว่ามัชฌิมา เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาหรือเหมาะสมอยู่เสมอ เหมาะสมกับการปราบกิเลสทุกประเภท พากันตั้งอกตั้งใจ สนองความมุ่งมั่นของตนด้วยความเพียรอย่าลดละท้อถอย
เอาละพอ